บทที่ 10
นิคมกถา สรุปและความเห็น (Conclusion and Comment)
โดย
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
Phisit Kotsupho
นิคมกถา ความสรุป
แดนพุทธภูมิ เกิดขึ้นด้วยแรงบันดาลใจจากการที่ผู้เขียนได้ไปสำรวจพุทธสถานอินเดีย
– เนปาล 4 แห่ง ซึ่งเป็นบทต้นๆ ของหนังสือเล่มนี้ ในปีพุทธศักราช
2531 ของโครงการสำรวจพุทธสถานวัดไทยพุทธคยา อินเดีย เป็นการสำรวจครั้งที่ 2 กับคณะสำรวจวัดไทยพุทธคยา
นำโดยพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมมหาวีรานุวัตร(ก่อนมรณภาพ
ดำรงสมณศักดิ์ที่พระสุเมธาธิบดี เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยาสมัยนั้น) ก่อนหน้าที่ผู้เขียนจะได้ร่วมคณะสำรวจนั้น
ทางวัดไทยพุทธคยา ได้นำคณะไป สำรวจหลายแห่งมาแล้ว คือ ที่วัดโฆสิตาราม นครโกสัมพี แห่งแห่งพระเจ้าอุเทน
ปัจจุบัน คือ เมืองอัลลาหบาด(Allahabad) อยู่ทางทิศใต้เมืองพาราณสีลงไป
ประมาณ 150 กิโลเมตร เมืองไพสาลี ที่ปลงพระชนมายุสังขาร วัดอโสการาม เมืองปาฏลีบุตร ของจักรพรรดิอโศก
จนถึง สังกัสสนคร ที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ ไม่ห่างจากเมืองอลิการ์มาแล้ว
แม้การสำรวจที่ผ่านมา จะยังไม่ครอบคลุมพุทธสถานแห่งอื่นๆ
เช่น ที่แสดงมหาสติปัฏฐานสูตร ใกล้เมืองเดลลี นครหลวงอินเดีย ป่ามหาวัน แคว้นวัชชี
ที่เกิดภิกษุณีครั้งแรก หรือ ที่เมืองเวรัญชา สถานที่ทรงบัญญัติพระวินัย ปฐมปาราชิกครั้งแรก เป็นต้น
ที่ยังไม่มีคณะใดไปสำรวจเส้นทางอย่างเป็นทางการทั้งก่อนและในสมัยที่พระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระธรรมมหาวีรานุวัตร(พระสุเมธาธิบดี)ทำโครงการสำรวจ
ผู้เขียนก็ยังดีใจว่า ความประสงค์ของท่านเจ้าคุณพระสุเมธาธิบดี
บันดาลใจให้คณะสำรวจได้เก็บเกี่ยวบรรยากาศ ด้วยการสำรวจแบบลูกทุ่ง ค่ำที่ไหน นอนที่นั่น
สัมผัสพื้นที่ดุจสมัยพุทธกาล แม้จะมิได้เดินทางด้วยเท้า แต่ได้อาศัยรถตู้ของวัดไทยพุทธคยาเป็นพาหนะ
ทำให้ย่นระยะการเดินทางไปได้มาก ถนนหนทางในอินเดียสมัยที่ไปสำรวจนั้น ทางรถยนต์ตามชนบท
นับว่าเป็นทางที่ภาษาปัจจุบัน เรียกว่า อภิมหาอ็อฟโรด แท้จริง ข้ามเขาลงทุ่ง ไม่แพ้ไปกว่า
รายการแข่งรถ Cross Country ข้ามทวีปเลย ผู้เขียนยังจดจำทุกเหตุการณ์ติดตามาตราบทุกวันนี้
กบิลพัสดุ์ เท่าที่อ่านหนังสือพุทธประวัติมาก็มาก เกิดจินตนาการว่า ด้วยเป็นเมืองพระพุทธเจ้าคงจะเหลือค่ายคู
ประตูเมือง และซากพระราชวังเก่าอยู่บ้าง อีกใจหนึ่ง ก็หวั่นๆว่า จะยังมีเหลืออยู่อีกหรือ
ในเมื่อ เป็นปัจจันตนคร เชิงเขาหิมพานต์
ความสงสัยส่วนลึกตามวิสัยปุถุชนที่ว่า พระพุทธเจ้าอาจเป็นเพียงบุคคลในตำนาน
เหมือนตำนานมหาเทพของอินเดียหลายท่าน และพระพุทธเจ้าคงไม่มีตัวตนจริงกระมัง ครั้นไปสำรวจจริง
ก็เป็นอันสิ้นสงสัย จำนนเพราะหลักฐาน ทั้งโบราณคดี และสิ่งที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นประจักษ์พยาน
ที่น่าทึ่งก็คือ ชาวพุทธเนปาล แม้จะเป็นเพียงชนกลุ่มน้อย แต่ก็คงรักษาความเป็นชาวพุทธเอาไว้ด้วยสายเลือดศากยะที่เข้มข้นและอย่างแน่วแน่ต่ออุดมการณ์
ทำการปกป้องพระพุทธศาสนาที่รับสืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ ได้อย่างน่าชมเชยยิ่งนัก
นครเทวทหะ น่าเสียดายที่ไม่พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ค่ายคูประตูเมือง หรือซากเมืองเก่า
พอจะทำให้มั่นใจในหลักฐาน หากมีเวลาได้ไปยังรามคามสถูป ที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนักตามคำบอกเล่าของชาวเนปาล
ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า นี้คือ นครเทวทหะ แห่งพระพุทธมารดา
อย่างไรก็ตาม เพียงได้เห็นแม่น้ำโรหินี ที่ยังคงเรียกนาม โรหินี ตามเดิม ก็แสนจะดีใจแล้วว่า
สีตนครปัจจุบัน คือเทวทหะ
ย้อนมาที่ลุมพินี มีวัดพุทธเนปาล เกิดจากสมาคมมหาโพธิได้สร้างเอาไว้ วัดนี้เป็นที่ต้อนรับผู้จาริกแสวงบุญที่ชาตสถาน
ผู้เขียนไปทุกครั้งก็พักแรมที่นี่ ได้รับความสะดวกสบายตามอัตภาพ เมื่อก่อนหน้านี้
ผู้เขียนเคยไปลุมพินีในช่วงฤดูร้อน แม่จะอยู่เชิงเขาหิมาลัย ไอร้อนในคิมหันตฤดู มิได้ลดดีกรีลงไปกว่าอินเดีย
เคยนำคณะผู้แสวงบุญจากประเทศไทยไปลุมพินีในหน้าหนาว อุณหภูมิก็เย็นเยือกสุดขั้วหัวใจเช่นกัน
บริเวณลุมพินี นอกจากจะมีวัดพุทธเนปาลที่กล่าวมา ก็มีวัดลามะทิเบตอยู่ใกล้กัน ตอนเย็นได้เวลาสวดมนต์ของพระลามะ
ได้ยินเสียงสวดพร้อมเสียงแตรและฉาบดังเย็นเยือก บรรยากาศสงบสะกดให้เกิดสมาธิดีแท้ๆ
สิ่งใหม่ที่ได้เห็นครั้งนั้น คือ อภิมหาโปรเจ็กลุมพินี เห็นเพียงการ ปราบพื้นที่
และแผนผังครั้งนั้น ก็จินตนาการว่า ตอนนี้ ลุมพินีสถาน คงเป็นศูนย์ชาวพุทธทั่วโลกไปสร้างวิหารถวายเป็นพุทธบูชาหนาแน่นแล้วเป็นแน่
เมื่อนั่งที่ ริมสระน้ำ ที่เขาอ้าง่ว่า
สระที่พระนางมหามายาสรงสนานก่อนมีประสูติการพระกุมารน้อย ไม่ห่างวัดมายาเทวี จิตใจก็ล่วงลงสู่ภวังค์รำลึกอดีต จินตนาการเห็นภาพสิทธัตถะกุมารน้อยแรกประสูติ เสด็จดำเนิน
7 ก้าว มีดอกบัวผุดขึ้นรองรับก้าวพระบาท
ประทับยืนเปล่งอาสภิวาจาว่า
“เราเป็นเลิศในโลก เป็นประเสริฐในโลก เป็นผู้เจริญในโลก การเกิดนี้เป็นครั้งสุดท้าย
จะไม่มีการเกิดอีกต่อไป” พระสุรเสียง เหมือนยังดังก้องในบรรยากาศมิลบเลือน
ผลจากความพยายามบำเพ็ญเพียรของพระสิทธัตถะ
เพื่อบรรลุอมฤตธรรม ที่ทำให้หยุดการเวียนว่ายท่องทะเลทุกข์ในวัฏสงสาร พระพุทธเจ้าก็หยุดสาเหตุแห่งการเกิดได้จริง
สั่งสอนเวไนยสัตว์ให้หยุดการเกิดอีกเหลือคณานับ สุดท้ายตื่น ผู้เขียนก็ตื่นจากภวังค์
สำเหนียกสภาวะปัจจุบัน ก็ลุกขึ้นจากขอบสระน้ำ
มองดูเจ้าห่านสีขาวสองตัวลอยเล่นน้ำ ไซ้หาอาหารตามประสาสัตว์ โอ ลุมพินี ดินแดนประสูติ
ทำให้จิตใจหยั่งลงสู่ พุทธานุสสติ ได้อย่างน่าพิสวง
ครั้นได้ตามไป สำรวจสถานที่ ตัดสินพระทัยทรงเพศนักบวชที่ อโนมานที แห่งโสหะเคาระ
ปีนขึ้นไปบนคันคลองชนประทานส่งน้ำของชาวอินเดีย ยืนมองไปที่แม่น้ำอโนมานที สายน้ำกำลังไหลเอื่อยๆลงไปทางใต้ ก็น้อมจิตยึดพุทธานุสสติ
เป็นอารมณ์ สร้างจินตนาการอย่างที่เคยเกิด ณ ลุมพินีอีก มองเห็นภาพเจ้าชายสิทธัตถะ
เปลื้องเครื่องทรงกษัตริย์ ตัดพระเมาลี ทรงเพศอนาคาริก ห่มเพียงผ้าย้อมน้ำฝาดสีน้ำตาลแก่
เห็นนายฉันนะ ผู้ตามเสด็จเหม่อมองด้วยการถอนหายใจ และเห็นม้ากัณฑกะ เล็มหญ้าอยู่ใกล้ๆ
ในเวลารุ่งอรุณของการเสด็จออกผนวชวันนั้น ซ้อนภาพทุ่งนาที่เขียวชอุ่มด้วยพืชพันธ์ผักกาดของกสิกรอินเดีย ขอสารภาพตามตรงว่า บรรยากาศตอนนั้นชักพาไป
และภาพจิตรกรรม ตอนออกมหาภิเนษกรม ที่มีตามฝานังวัดในประเทศไทย
ติดตาฝังใจ จึงทำให้เกิดการสร้างภาพเชิงซ้อน ย้อนอดีตเหตุการณ์ครั้งนั้นขึ้นมา
บทต้นๆ
จึงเป็นส่วนที่ขยายจากรายงานการสำรวจ ที่ได้สรุปตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว ในปีพุทธศักราช 2532 ผู้สนใจ
สามารถสืบค้นได้จากเอกสารดังที่กล่าวมา ขอสารภาพว่า ผู้เขียนมิใช่นักประพันธ์ สำนวนการเขียนจากสิ่งที่ตาเห็นอาจจะพรรณนารายละเอียดได้ไม่ครอบคลุม
ก็ขอประทานอภัย อยากให้ผู้ได้อ่านบทต้นๆของหนังสือเล่มนี้ จงหาโอกาสไปแวะชมสังเวชนียสถานของพระพุทธเจ้าดูสักครั้ง
จะได้เกิดกุศลจิต ทำให้ท่านได้ประสบบุญ สมตามพระดำรัสของพระศาสดาเป็นแน่แท้
เมื่อคิดจะรวมพิมพ์เป็นหนังสือ
เกิดความคิดว่า เท่าที่เขียนไว้นี้ เนื้อหาน้อยเกินไป
บันทึกเพียงเหตุการณ์ของบ้านเกิด เมืองบิดามารดา สถานที่เกิด และสถานที่ออกบวชเท่านั้น ส่วนเหตุการณ์และสถานที่
ที่เหลือเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าหลังการผนวช จนถึงปรินิพพาน อันเป็นส่วนสำคัญของประวัติพระพุทธศาสนากลับขยักเอาไว้
เสมือนว่า เขียนหนังสือไม่จบประโยคก็ละกลางคัน ดูจะไม่งามนัก ประกอบกับเมื่อส่งไปพิมพ์เพียงบทแรก ดร.วิทยา
วิทยอำนวยคุณ เจ้าของหนังสือพิมพ์เส้นทางเศรษฐกิจที่เมตตารับบทความของผู้เขียนหลายเรื่อง
ตีพิมพ์เผยแพร่ ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 8 ปี
กัลยาณมิตรท่านนี้ มีกุศลจิตศรัทธาอย่างยิ่ง อยากอ่านสังเวชนียสถานและประวัติพระพุทธศาสนาส่วนที่เหลือ
ได้ขอร้องว่า เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาร่วมกัน
ขอให้เรียบเรียงเพิ่มเติม และให้ครอบคลุมที่สุด
นั่นคือความหนักใจที่สุด ซึ่งผู้เขียนไม่แน่ใจว่า
จะเรียบเรียงเพิ่มเติมได้ดีเพียงใด สมใจกัลยาณมิตรหรือไม่
เนื้อหาบทต่อมา
ผู้เขียนได้กำหนดตามเหตุการณ์ที่เกิดกับพระพุทธเจ้า จึงได้แบ่งบทออกมาอีก 5 บท
เกี่ยวกับพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้
เล่าถึงการต่อสู้ของชาวพุทธเพื่อได้สิทธิบำเพ็ญศาสนกิจ
บำรุงพระพุทธศาสนาจากนักบวชมหันต์ผู้แอบมายึดครองเป็นเจ้าของหลังจากพระพุทธศาสนาสูญหายไปจากอินเดีย
อิสิปตนะ
มฤคทายวัน สารนาถ ที่แสดงปฐมเทศนา เกิดสังฆรัตนะ ครั้งแรกในโลก
ให้ผู้อ่านได้อ่านพระธรรมเทศนา ธรรมจักกัปปวัตนสูตรเต็มอิ่ม โดยมิได้ตัดตอน
เล่าถึงการสร้างมูลคันธกุฎีใหม่ของ อนาคาริกธรรมปาละ
มหาบุรุษผู้ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในแดนพุทธภูมิ เมืองพาราณสี มนต์ขลังแห่งพระแม่คงคา
แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ สำหรับชำระล้างบาปของชาวฮินดู ที่ยังมีชีวิตก็มาอาบน้ำล้างบาป
และที่เป็นซากศพก็นำมาเผาที่ริมท่าน้ำสำหรับเผาโดยเฉพาะ
ไฟจากกองฟอนเผาศพไม่เคยดับติดต่อกันมาถึง 4,000 ปี
บทต่อมาเป็นการเรียบเรียงพุทธกิจที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญตลอด
45 ปี ว่า พระพุทธเจ้าหลังตรัสรู้ ทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างไร กับผู้ใด
อยู่จำพรรษาที่ไดบ้าง มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในแต่ละพรรษาเรื่องอะไร บทนี้
ไม่สามารถให้รายละเอียดได้หมด จึงเพียงย่อความลงมา อันที่จริง พุทธกิจ 45
พรรษาของพระพุทธเจ้า มีนักเขียนท่านอื่นหลายคนได้ทำหนังสือออกมาเผยแพร่
ให้รายละเอียดถึงพระธรรมเทศนาสูตรต่างๆเกิดขึ้นในละแห่งที่ทรงจำแต่ละพรรษาอย่างสมบูรณ์ หากผู้เขียนจะเขียนเต็มกำลัง คงมีเนื้อหาไม่น้อยไปกว่า
พระไตรปิฎก 45 เล่ม เป็นแน่ จึงนำมาเล่าพอเป็นเครื่องเฉลิมฉลองศรัทธา
จบลงที่พรรษาสุดท้าย และ จบลงที่ศาสนสถานสำคัญ คือวัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์
ศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในแคว้นมคธ และตำนานการสร้างวัดเชตวันมหาวิหาร
เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ที่อนาถปิณฑิกะเศรษฐี
ลงทุนศรัทธาซื้อที่สร้างวัดถวายด้วยการเอาเหรียญกษาปณ์ปูเรียงติดกัน
อยากได้พื้นที่มากเท่าใด ก็ปูให้เต็มเท่านั้น เชตวันมหาวิหาร
พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาถึง 19 พรรษา พระธรรมเทศนาเกิดขึ้นที่พระเชตวัน
มากกว่าที่อื่นๆ
พระเชตวันจึงเป็นศูนย์บัญชาการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสำคัญที่สุดในแคว้นโกศล
สาลวโนทยาน
กุสินารา เป็นอีกบทหนึ่ง ที่ผู้เขียน เล่าจากที่ได้เห็นสมัยที่อยู่อินเดีย
เมื่อเข้าไปมหาปรินิพพานสถูป ได้ก้มกราบพระพุทธรูปปางปรินิพาน เสมือนว่า ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าต่อหน้า
เห็นพระองค์บรรทมหลับด้วยอนุฏฐานไสยาสน์ เกิดการอาลัยพระพุทธองค์อย่างลึกซึ่ง
ถึงเกิดปีติน้ำตาคลอ ผู้เขียนได้เล่าถึงเหตุการณ์ในคืนวันที่ปรินิพพาน ตามลำดับ
ตัดต่อเนื้อเรื่องแบบเหตุการณ์ต่อเหตุการณ์ ฉากต่อฉาก ได้เห็นน้ำพระทัยของพระพุทธเจ้า
ที่ทรงโปรดแด่พระสงฆ์ และบุคคลทั่วไป แม้จนวาระสุดท้าย
มิใช่เป็นห่วงจนนอนตาตายไม่หลับ ดุจคนสมัยนี้ ห่วงทรัพย์สมบัติ
พระองค์ทรงมอบมรดกธรรมแก่พุทธบริษัทอย่างวางพระทัย ยิ่งใกล้วาระสุดท้ายเท่าใด
เราจะได้อ่านถึงความเป็นทีฆทัสสี ผู้มีสายพระเนตรยาวไกล
ให้โอกาสสงฆ์ได้ซักถามปัญหา
อนุญาตการถอนบัญญัติเล็กน้อยที่จะไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสิ่งที่จะเกิดในอนาคตกาล
ประทานวิธีกำหราบภิกษุฉันนะ ข้าเก่าที่ดื้อรั้นไม่ยอมก้มหัวลงให้กับผู้ใด
ด้วยวิธีพรหมทัณฑ์ ปัจฉิมวาจาของพระพุทธเจ้า
คือ จงไม่ประมาท ยังทันสมัย ใช้ได้ในทุกสถานการณ์ แต่ละข้อควรขบคิดอย่างลึกซึ้ง ด้วยตัวท่านเอง
จะเป็นประโยชน์มหาศาลแก่ชีวิตที่ดำรงอยู่
ท้ายสุด
หากผู้เขียนจะมิได้ นำความสำเร็จของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ที่หยั่งรากฝังลึกในดินแดนพุทธภูมิ แพร่ขยายไปทั่วประเทศในทวีปเอเชีย นับแต่
พุทธศักราชที่ 1 ถึง พุทธศตวรรษที่ 18 รวมทั้งประมาณสาเหตุที่ทำให้พระพุทธศาสนาต้องล่มสลาย
คลายมนต์ขลัง ถูกขุดรากถอนโคนจากดินแดนมาตุภูมิ คงเหลือแต่ตำนานที่เล่าขาน
ส่วนหลักฐานถูกฝังไว้ได้พื้นพสุธาอินเดีย เกือบ 800 ปี
จะเป็นการทิ้งสาระสำคัญที่ควรกล่าวในวาระสุดท้าย ความตอนนี้ ส่วนหนึ่งเรียบเรียงจากข้อมูลทางพระพุทธศาสนา
ที่เล่าความแบบศตวรรษต่อศตวรรษ
ในส่วนที่เป็นความเจริญและความเสื่อมของพระพุทธศาสนาในอินเดีย ต้องขออนุญาต
นำบทความของอาจารย์กรุณา กุศลาสัยมาลงทั้งหมด เพราะอาจารย์กรุณา
เล่าได้น่าประทับใจมาก หากผู้เขียนเพียงเล่าสรุปใจความสาระสำคัญ จะมิได้อรรถรส
ความเห็น
อันที่จริง
หนังสือทำนองนี้ มีคนเขียนไว้มาก เก่าก็ที่สุดก็ พุทธจริตะ
ของภิกษุอัศวโฆษนักปราชญ์โบราณท่านหนึ่ง ในภาคภาษาบาลี ก็มีคัมภีร์ศาสนวงศ์ ชินกาลมาลี ปฐมสัมโพธิกถา ในภาษาไทย ก็มี
ตำนานมูลศาสนา ที่เชียงใหม่ และพุทธประวัติ เป็นต้น ในภาคภาษาอังกฤษ
ที่เป็นแรงบันดาลใจให้อนาคาริกธรรมปาละ ต้องมาทำงานเพื่อพระศาสนา ก็คือ หนังสือ The Light of Asia ของ Edwin Arnold กวีชาวอังกฤษ แม้จะมีมาก แต่เป็นการเขียนด้วยกุศลจิต
เพื่อบูชาพระคุณของพระพุทธเจ้า บรมศาสดา ดวงประทีปแห่งโลก งานเขียนและเรียบเรียง
แดนพุทธภูมิเล่มนี้ คงจะมีอะไรที่แตกต่างจากที่ผู้อื่นเขียนมาแล้ว
การได้ฟังมากศึกษามาก ที่เรียกว่า “พหูสูต” ของผู้อ่าน นั่นคือ มงคลสูงสุดตามหลักพระพุทธศาสนา ขอได้โปรดเลือกเก็บเกี่ยวเฟ้นหาสาระที่เป็นประโยชน์
ละเปลือกและกระพี้ที่หุ้มห่อแก่นหรือสาระ นั่นย่อมเป็นวิถีแห่งเมธีชนร่วมสมัย
ขอพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า
จงส่องทางแก่คนหลงทาง จงให้แสงสว่างขจัดความมืดบอดแห่งปัญญา ของผู้ต้องการแสงสว่าง
ตลอดไป.
กรมการศาสนา. พระสุตตันตปิฎก
เล่ม 2 ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร.
กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์การศาสนา
2525.
กรุณา กุศลาสัย. ความเจริญและความเสื่อมของพระพุทธศาสนาในอินเดีย.
สืบค้นจากเวบพระพุทธ ศาสนา
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2548.
กรุณา เรืองอุไร กุศลาศัย. อินเดีย อนุทวีปที่น่าทึ่ง.
กรุงเทพฯ: ศยาม. พิมพ์ครั้งที่ 2, 2538.
ซูม ซอกแซก. ส่งท้ายที่พุทธคยา. หนังสือพิมพ์ไทรัฐ ปีที่ 56 ฉบับที่ 17246
วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน 2548.
เซอร์ เอ็ดวิน อาร์โนลด์, East and West ; A Splendid
ปิ่น มุทุกันต์. บทเรียนจากอินเดีย. กรุงเทพฯ : ป. พิศนาคะการพิมพ์. 2510.
พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). พุทธศาสนากับสังคมไทย.
กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง. พิมพ์ครั้งที่ 2, 2532.
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). พระพุทธศาสนาในอาเซีย.
กรุงเทพฯ. ธรรมสภา, 2540
พระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย. กรุงเทพ : บริษัทพิมพ์สวย จำกัด,
2546.
พระมหาดาวสยาม วชิรปญฺโญ. พุทธสถานที่ถูกลืมในดินเดีย.
กรุงเทพฯ : เม็ดทรายพรินติ้ง, 2547.
พระมหาสุวิทย์ ธัมมสิริ. สาญจิ.
บทความลงในเวบพระพุทธศาสนา สืบค้นวันที่ 11 เมษายน 2548
พระราชธรรมนิเทศ.(ระแบบ ฐิตญาโณ).
ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ. มหามกุฎราช วิทยาลัย. 2536.
พระราชธรรมมุนี (เกียรติ สุกิตฺติ). จดหมายเล่าเรื่องอนาคาริกธรรมปาละ.
กรุงเทพฯ : 2543.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย. พุทธวงศ์.
พร้อมอรรถกถาแปล 91 เล่ม เล่มที่ 73.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย. สคาถวรรค ภิกขุสังยุตต์.
ภาษาบาลี เล่มที่ 16.
พระอุดรคณาธิการ(ชวินทร์ สระคำ). ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในอินเดีย.
กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณ ราชวิทยาลัย.
พิมพ์ครั้งที่ 2, 2534.
พอล จันดาร์ ซาดีส. ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม
ไทย- อินเดีย. กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย. 2537.
พุทธทาสภิกขุ อ.ป. พุทธประวัติจากพระโอษฐ์. พิมพ์ตรั้งที่ 9
, ไชยา : ธรรมทานมูลนิธิ,
2523.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ.2539
ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร เล่ม
10. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราช วิทยาลัย. 2539.
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
วิทยาเขตเชียงใหม่. ตำนานมูลศาสนา. เชียงใหม่ : อนุพงษ์ การพิมพ์.
2544.
มหามกุฏราชวิทยาลัย. ธัมมปทัฏฐกถา แปล ภาค 3
เรื่อง วิฑูฑภะ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราช วิทยาลัย. 2525.
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์. หนังสือสมุดภาพ
แดนพุทธภูมิฉลองชนมายุ 80 ปี พระสุเมธาธิบดี. กรุงเทพฯ : มปป.
วัดสระเกศ. ประวัติวัดสระเกศ.
กรุงเทพฯ : มปพ. 2520
เสถียร โพธินันทะ. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
ฉบับมุขปาฐะ เล่ม 1. กรุงเทพฯ: มหามกุฏราช วิทยาลัย. 2535.
สุนันทา ฟาเบรอ, อารยธรรมอินเดีย. 2548. จาก
http://www.stjohn.ac.th/University
/Press/India / India.html สืบค้นเมื่อ วันที่ 9 เมษายน 2548
หลวงวิจิตรวาทการ. ของดีอินเดีย. กรุงเทพฯ : ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์.
http://www.buddhanet.net/e-learning/history/b_chron-txt.htm
สืบค้น วันที่ 16 มีนาคม 2547.
http://www.thai.net/watcholpratan/wat2.htm 26 เมษายน 2548
http://www.moe.go.th/webrad/tree/tree.htm
สืบค้นวันที่ 14 มีนาคม 2548.
http://www.buddhanet.net/bodh_gaya
สืบค้นวันที่ 13 เมษายน 2548
Mohapatra, Chakradhar.
The Real Birth Place of Buddha. Orissa : Ghantha Mandir Cuttack.1977.
Peppe, William Clakton. Encyclopaedia Britainica. NP.
V. J. Srivastwa.
Guide to Kapilavastu and Lumbini.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น