บทที่
2
เทวทหะ มาตุภูมิ (Devadaha)
โดย
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
Phisit Kotsupho
อดีตรำลึก
:
นครเทวทหะและนครกบิลพัสดุ์
มีความเกี่ยวข้องสืบสายสัมพันธ์กันทางเครือญาติตลอดมามิได้ขาดสาย เป็นเมืองพี่เมืองน้องดุจครอบครัวเดียวกัน
ตามประวัติกล่าวว่า นับแต่ยุคกษัตริย์โอรส
- ธิดาของพระเจ้าโอกกากราชได้สร้างนครกบิลพัสดุ์เสร็จแล้ว พระธิดาองค์ใหญ่ทรงประชวรด้วยโรคผิวหนังเป็นที่รังเกียจของกลุ่มชน จึงเสด็จออกมารักษาตัวที่ป่าใหญ่ข้างภูเขาหิมาลัย และ ณ ป่านั้นเช่นกัน เจ้าครองนครหนึ่ง นามว่า “ราม” หรือ “พระยาราม” ซึ่งพระองค์เองก็ประชวรโรคผิวหนังเช่นกันจึงสละราชสมบัติให้พระโอรสทรงปกครองต่อ พระองค์เสด็จออกป่าเพื่อรักษาอาการประชวร และตรงป่าที่พระองค์ประทับนั้นเป็นป่ากระเบา
หรือ “โกละ” บางแห่งว่า เป็นผลพุทรา ด้วยการเสวยผลกระเบาทุกวันทำให้ทรงหายประชวรจากโรคผิวหนัง และพระยารามก็คงเสด็จอาศัยอยู่ในป่านั้นต่อไป
อยู่มาคืนหนึ่ง พระองค์ทรงได้ยินเสียงสตรีหวีดร้องเพราะความกลัว พระองค์กำหนดทิศทางต้นเสียงได้แล้ว รุ่งขึ้นเช้าจึงเสด็จตามไปดู ได้พบพระธิดาองค์โตของพระเจ้าโอกกากราช ซึ่งหวีดร้องเพราะกลัวเสือที่ได้กลิ่นมนุษย์มาตระกุยปากถ้ำของพระนาง พระยารามสอบถามความเป็นมาได้ความว่า พระนางเองก็ประชวรด้วยโรคผิวหนังเช่นกัน พระยารามจึงนำพระธิดานั้นมารักษาด้วยผลกระเบาจนหายประชวร เพราะความใกล้ชิดและการเอื้ออาทรกัน
กษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์
จึงตกลงใจร่วมชีวิตคู่แบบคนธรรพ์วิวาห์จนมีโอรส ธิดาหลายพระองค์ ความทราบไปถึงพระโอรสผู้ครองรามนคร พระราชโอรสจึงส่งทูตมาทูลเชิญพระยารามบิดาให้เสด็จกลับไปครองเมืองดังเก่า แต่พระยารามปฏิเสธ พระโอรสจึงสั่งให้ราชบริพารโค่นต้นโกละลงเสียแล้วให้สร้างนคร
ณ ตรงที่ต้นโกละนั้น เพราะสร้างเมือที่ต้นโกละ นครแห่งใหม่ อาศัยมงคลนามต้นโกละ ตั้งเป็นต้นราชวงศ์ “โกลิยะวงศ์” ไม่ปรากฏว่า เมืองนั้นชื่อเมืองอะไร สันนิษฐานว่า น่าเป็นเมือง “เทวทหะ” แยกจากเมือง
“รามคาม” ส่วนยุวกษัตริย์และยุวธิดาผู้สร้าง กบิลพัสดุ์ ก็เป็นต้นราชวงศ์ “ศากยะวงศ์” ดังที่กล่าวมา บุตรหลานของราชวงศ์ทั้งสอง ต่างก็อภิเษกสมรสกันและกันเกี่ยวดองเป็นญาติผูกพันหลายชั้นต่อๆ
มา สืบจนชั้นหลัง พระเจ้าสุทโธทนะ
ศากยะวงศ์ ก็อภิเษกกับพระนางสิริมหามายา โกลิยะวงศ์ และ พระสิทธัตถะแห่งศากยะวงศ์ ก็ได้อภิเษกกับพระนางยโสธรา ราชธิดาแห่งโกลิยะวงศ์ เป็นอันดับสุดท้าย
นี่คือสายต้นตระกูลของพระสิทธัตถะ
นครรามคาม ที่โอรสของพระยารามครอง ได้มีสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าเป็น 1 ใน 8 แห่ง ซึ่งได้รับแจกจากนครกุสินาราอยู่ด้วย
ดังความจาก พระไตรปิฎกเล่มที่ 10 ทีฆนิกายมหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ข้อ 236 หน้า
177 ว่า
“พวกเจ้าโกลิยะผู้ครองกรุงรามคาม
ได้ทรงสดับว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานในกรุง กุสิรานา จึงส่งทูตไปถึงพวกเจ้ามัลละ
ผู้ครองกุสินาราว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นกษัตริย์ แม้พวกเราก็เป็นกษัตริย์ จึงควรได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริธาตุบ้าง
จะได้สร้างสถูปบรรจุพระบรมสารีริธาตุและทำการฉลอง” [1]
กษัตริย์ฝ่ายโกลิยะ
คงมีการสืบต่อมาโดยลำดับ และเสื่อมโทรมตามกาลเวลา เมืองซึ่งเคยคับคั่งด้วยผู้คนแต่ก่อน ปัจจุบันนี้ก็เหลือแต่ป่าและเนินดินเท่านั้น
เป็นไปตามกฎของโลกมีเจริญขึ้นก็มีเสื่อมลง
“รามคาม” หรือ
“เทวทหะ” ในสมัยพุทธกาล ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเมืองเดียวกัน หรืออาจเป็นเมืองแฝดกัน
เพราะราชทูตที่ไปขอรับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ มีหลักฐานว่า มาจากรามคาม ไม่ปรากฏว่า มาจาก เทวทหะ
เรื่องนี้อย่างไร ขอฝากผู้อ่านช่วยพิจารณาด้วย
เทวทหะในปัจจุบัน :
ที่ตั้ง นครเทวทหะ จากหลักฐานกล่าวเอาไว้ว่า ยึดลุมพินี เป็นจุดกึ่งกลางแดนต่อแดนระหว่างนครกบิลพัสดุ์ และนครเทวทหะ ซึ่งพระนางมหามายาเทวี ทรงพระครรภ์แก่ ประสงค์จะเสด็จไปประสูติพระโอรส ณ นครเทวทหะ ตามประเพณี แต่เมื่อขบวนเสด็จมาถึงลุมพินีเท่านั้น
ก็ประชวรพระครรภ์ และได้ประสูติพระโอรส คือ พระสิทธัตถกุมาร ในเวลาก่อนเที่ยง ตรงกับวันเพ็ญเดือนหกทางจันทรคติ
ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ในเมื่อ กรุงกบิลพัสดุ์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของลุมพินีประมาณ 22 กิโลเมตร นครเทวทหะ ก็น่าที่จะต้องตั้งอยู่ทางตะวันออก
ของลุมพินี และระยะทางก็ไม่น่าจะห่างกันมากไปกว่า
20 - 24 กิโลเมตร
แผนที่ประเทศเนปาล
คณะสำรวจ ก็อาศัยการคำนวณด้วยเหตุผลนี้ เมื่อจะไปเสาะค้นหานครเทวทหะ จึงยึดเอาลุมพินีเป็นจุดเริ่มต้น มุ่งหน้ามาทางทิศตะวันออกตามถนนลุมพินี
สู่สิทธารถนคร (
“กาฎมัณฑุ” เมืองหลวงของเนปาลปัจจุบัน มาถึงระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 13 - 14
จะมีหมู่บ้านแห่งหนึ่ง แล้วเลี้ยวขวาลงไปทางทิศใต้เลาะไปตามทางเกวียน
ถนนสัญจรแบบชนบท ผ่านทุ่งนาและไร่ข้าวสาลีประมาณ 2 กิโลเมตร ก็จะถึงเนินดิน
2 เนิน ชาวบ้านว่า เป็นซากเมืองเก่า
ก็น่าจะเป็น “นครเทวทหะ” รวมระยะทางตามถนนรถยนต์จากลุมพินีถึงเทวทหะ
ประมาณ 27 กิโลเมตร ระยะนี้ใกล้เคียงกับลุมพินีถึงเมืองกบิลพัสดุ์
ซากนครเทวทหะ ปัจจุบัน
เนินดินซากเมืองเก่าดังกล่าว ปัจจุบันมีนามว่า“สีตนคร”(Sitanagar)เหลือเพียงแต่เนินดิน
2 แห่ง ตั้งอยู่ห่างกันราว 300 -
350 เมตร มีลำธารเล็กๆสายหนึ่ง ไหลผ่านเนินดินทางด้านทิศตะวันออกทั้ง 2 แห่ง บนเนินดินมีต้นไม้เบญจพรรณขึ้นอยู่เป็นกลุ่ม
ๆ คงมีอายุนับร้อยๆปี
รอบบริเวณเนินดินนั้น เป็นทุ่งนาและไร่ข้าวสาลี อาณาบริเวณเนินดินทั้ง 2 แห่ง มีสภาพเป็นเนินสูงกว่าระดับพื้นที่ดินรอบๆ ราว 3 เมตร
ผลการสำรวจ เนินดินหมายเลข 1
มีเนื้อที่ประมาณ
3 - 4 ไร่ มีวิหารก่อด้วยอิฐ มุงกระเบื้องดินเผา เป็นอาคารขนาดเล็ก 2 ´ 3 เมตร สูง 2 เมตร ภายในวิหารมีเทวรูปหินโบราณสีดำ
(สันนิษฐานว่าน่าเป็นพระพุทธรูป) ซึ่งเก่าแก่มาก เทวรูปนั้นแตกหักชำรุดเสียหายมจนจำแนกไม่ออกว่าเป็นส่วนใดของเทวรูป ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นได้ช่วยกันบำรุงรักษาและบูชาเสมอๆ
สังเกตจากเครื่องสักการะบูชาหน้าเทวรูป
มีดอกไม้และฝุ่นสีต่างๆ วางเอาไว้ ตามธรรมเนียมชาวเนปาล สำรวจพื้นที่ออกไปด้านทิศใต้ของเนินดินหมายเลข 1 คณะสำรวจได้พบกองอิฐโบราณขนาดใหญ่ ชนิดของเนื้อดิน ความหนา ความบาง และขนาด
เป็นแบบเดียวกับแผ่นอิฐเผาอย่างที่เก็บรักษาไว้ ที่พิพิธภัณฑ์เมืองกบิลพัสดุ์ วางซ้อนเป็นชั้นๆ ลักษณะคล้ายเป็นกำแพงเมืองหรือไม่ก็เป็นซุ้มประตู
สำรวจไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของเนินดินหมายเลข 1 ระยะห่าง 300 - 350
เมตร พบเนินดินอีกแห่งหนึ่ง ขอเรียกว่า เนินหมายเลข 2 สภาพ เป็นเนินกว้างมีเนื้อที่มากกว่าเนินหมายเลข 1 น่าเสียดายที่ชาวบ้านได้บุกรุกพื้นที่ทำการเพาะปลูก ครอบครองเกือบทั้งหมดแล้ว สิ่งปลูกสร้างที่เหลืออยู่ คือ วิหารหลังเล็กๆ ดุจเนินหมายเลข 1 มีรูปเคารพซึ่งแตกหักวางกองอยู่กลุ่มหนึ่ง ด้านหน้าวิหาร มีศาลาโปร่ง มุงด้วยกระเบื้องดินเผาขนาด 2 ´ 4 เมตร ไม่มีการเทพื้นด้วยคอนกรีต
จากเนินดินทั้ง 2 เนิน สามารถมองเห็นเทือกเขาหิมาลัยอยู่ทางทิศเหนือไม่ไกลนัก วิหารบนเนินหมายเลข 2 นี้ ปลูกอยู่บนซากอิฐ
หิน ซึ่งวางเป็นชั้นๆ ลักษณะดุจเป็นฐานของกำแพงหรือซุ้มประตู พบหินตัดเกลี้ยง เป็นแผ่นหนา ๆ ดุจแผ่นอิฐ มีลวดลายแกะสลัก และวางซ้อนเอาไว้อย่างเป็นระเบียบ
ซากอิฐหินที่เป็นรากฐานเหล่านี้ จะมองเห็นได้ก็ต่อเมื่อลงไปที่ลำธารแล้วมองย้อนขึ้นมาตามตลิ่ง สอบถามชาวบ้านถิ่นนั้น ได้คำตอบว่า เป็นประตูเมืองสีตนคร หรือ เทวทหะนั่นเอง
คณะสำรวจ พยายามสอบถามชาวบ้านว่า มีอะไรที่เป็นโบราณสถาน หรือซากสถูปเจดีย์ทำนองนี้
อยู่ในบริเวณนี้หรือไม่ ได้รับคำตอบจากเจ้าถิ่นว่า นอกจากเนินทั้ง 2 เนินแล้วไม่มีซากอะไรซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงว่าเคยเป็นเมืองเก่ามาก่อน ดุจที่นครกบิลพัสดุ์ สันนิษฐานแบบหยาบๆว่า หรือจะเป็นเพราะวังหรือบ้านเรือนของชาวนครเทวทหะ
สร้างด้วยโครงไม้เป็นหลัก ผ่านกาลนานไปจึงไม่เหลือซากไว้ให้ศึกษา คณะสำรวจรู้สึกเสียดายที่กรมศิลปากร
ประเทศเนปาลไม่ได้ขุดค้นสำรวจและทำรั้วล้อมรอบ อนุรักษ์บริเวณนี้เอาไว้ดุจที่เมืองกบิลพัสดุ์เก่า มิฉะนั้น คงจะได้หลักฐานทางประวัติศาสตร์
ซึ่งจะเป็นประโยชน์สืบค้นต่อไป
สิ่งสำคัญรอบ ๆ บริเวณนครเทวทหะ :
1. กำแพงเมืองเทวทหะ เมื่อย้อนกลับออกมาที่ถนนใหญ่ อีกครั้ง
จะพบคันดินยาวจากเหนือจรดใต้ลักษณะคล้ายกำแพง ยาวมาก ความสูงประมาณ 3 - 5 เมตร ความกว้างที่ฐานประมาณ10 กว่าเมตร มีลักษณะคล้ายกำแพงเมืองเวสาลีที่เมื่อขุดลงไปจะพบฐานรากของป้อมและซากกำแพง ดังนั้น คันเนินยาวเหยียดนี้ที่พบเห็นนี้
น่าจะเป็นกำแพงเมืองเทวทหะ และห่างจากกำแพงเมืองไปทางตะวันตกประมาณ 100 เมตร มีลำน้ำสายหนึ่ง กล่าวว่า เป็นแควของแม่น้ำโรหินี เพราะลำน้ำสายนี้ ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำโรหินี
(จริง) ที่ทิศใต้ประมาณ 3 -
4 กิโลเมตร มีต้นน้ำมาจากเทือกเขาหิมาลัย
2. แม่น้ำโรหินี (Rohini
River) คณะสำรวจ
ครั้นเดินทางย้อนกลับมาทางตำบล บุตวาล (Butwal) ห่างจากเนินเทวทหะ มาประมาณ 6 กิโลเมตร จะข้ามแม่น้ำสายหนึ่ง ตัวสะพานสร้างด้วยโครงเหล็ก
เหมือนสะพานรถไฟ แม่น้ำสายนี้ คือ “แม่น้ำโรหินี” นั่นเอง และภาษาปัจจุบัน ก็คงเขียนชื่อว่า
“โรหินี” เอาไว้ที่คอสะพานโครงสร้างเหล็กนั้นด้วย ต้นน้ำของโรหินีมีกำเนิดมาจากเทือกเขาหิมาลัย ไหลลงไปทางทิศใต้ และมีลำน้ำสายที่กล่าวแล้วไหลมาบรรจบ จากหลักฐานทางพุทธประวัติ แม่น้ำโรหินีเคยเป็นชะนวนเหตุร้ายเกือบจะทำให้พระญาติทั้ง 2 นคร ก่อสงครามแย่งน้ำทำนาแล้ว
ในฤดูน้ำน้อย ชาวนครเทวทหะกักกั้นน้ำเอาไว้ใส่แปลงเกษตรของตน เพราะเมืองอยู่ต้นน้ำ ส่วนชาวกบิลพัสดุ์ อยู่ปลายน้ำ ก็อดน้ำทำนา
เมื่อไม่ได้น้ำพอหล่อเลี้ยวพืชกล้า ชาวกบิลพัสดุ์จึงยกทัพมาจะรบแย่งน้ำกัน จนพระพุทธองค์ต้องเสด็จมาหย่าศึก โดยทรงเตือนให้ทั้งสองฝ่ายพิจารณาเห็นค่าชีวิตของกันและกันมากกว่าค่าของน้ำ การเสด็จมาหย่าศึกแย่งน้ำคราวนั้น
ก็ได้กลายเป็นตำนาน “พระปางห้ามญาติ” อีกปางหนึ่ง หลังจากพุทธปรินิพพาน พระอานนท์เมื่อจะนิพพาน ก็ได้มานิพพานที่ตรงท่ามกลางแม่น้ำโรหินีสายนี้ เพื่อป้องกันมิให้พระญาติทั้ง 2 ฝ่ายต้องวิวาทแย่งชิงอัฐิธาตุของท่าน แต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
แม่น้ำโรหินี
สายเลือดเลี้ยงชาวศากยะและโกลิยะ ต้นเหตุการณ์แย่งน้ำทำนา
แม่น้ำโรหินี ไม่ทราบว่ามีความยาวเท่าใด
และไหลไปบรรจบกับแม่น้ำสายใดในอินเดียทางใต้ไม่ปรากฏ ไม่ได้สำรวจสายน้ำนี้ แต่เมื่อกลับมาจากประเทศเนปาล ผ่านด่านสุเนาสี ในเส้นทาง สุเนาลี– กาเซีย / กุสินารา (Sunauli -
3. รามคามสถูป : (Ramagama Stupa) ได้กล่าวแล้วว่า รามคาม หรือ รามนคร เป็นที่ตั้งสถูปองค์สำคัญของพระญาติฝ่ายโกลิยะ รามคามสถูป ตั้งอยู่ห่างจากนครเทวทหะเก่าไปตามถนนสายกาฏมัณฑุประมาณ 20 กิโลเมตร นับระยะทางจากบุตวาล Butwal 35 กิโลเมตร ตามบันทึกของสมณจีน ถังซำ จั๋ง กล่าวเอาไว้ว่า
“รามคามตั้งอยู่กลางป่าทึบทางทิศตะวันออกของกรุงกบิลพัสดุ์ระยะทาง 500 ลี้ [2]
มีผู้คนอาศัยน้อย ทางด้านทิศตะวันออกของเมือง
มีสถูปก่อด้วยอิฐสูง
100 เชี้ยะ[3] เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่ได้รับส่วนแจกจากนครกุสินาราเป็น 1 ใน 8 แห่งของสถูปสำคัญ”
น่าเสียดายเมื่อผู้เขียนไปทำการสำรวจเมื่อ 26 กุมภาพันธุ์ 2531 ไม่มีเวลาไปถึงรามคามสถูป ด้วยมิได้ตั้งเป้าหมายสำรวจเพราะนอกเส้นทาง มิฉะนั้น คงจะได้หลักฐาน หรือรายละเอียดเกี่ยวกับ เทวทหะ และ รามคาม มากกว่านี้ ประวัติและหลักฐาน เมืองเทวทหะมีจำกัดจำเขี่ยมาก แต่ก็ยังเป็นนิมิตอันดี ที่พระสงฆ์ไทยร่วมกับพระสงฆ์ชาวเนปาล ปรารภว่า จะร่วมกันสร้างพุทธวิหารประจำไว้ที่
นครเทวทหะ หรือ สีตนคร
ตรงบริเวณเนินดินทั้ง 2 แห่ง เพื่อพัฒนาโบราณสถานและการเผยแพร่พระศาสนาสืบต่อไป
[1] ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร เล่ม
10 ข้อ 236 หน้า 177 พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ.2539
(กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 2539).
[2] มาตราวัดระยะ
1 ลี้ = 500 เมตร ดังนั้น 500 ลี้ คงจะประมาณระยะทาง 250 กิโลเมตร ผู้เขียนมีความเห็นว่า ถ้าวัดระยะทางตามมาตรานี้
ดูระยะทางจะไกลเกินข้อเท็จจริงไปมาก สมมติว่า
ถ้า 1 ลี้ เท่ากับ 100 เมตร
ก็น่าจะได้ระยะทาง 50 กิโลเมตร
ซึ่งจากการสำรวจพื้นที่สนามจริงครั้งนี้ ระยะห่างจากกบิลพัสดุ์ - ลุมพินี 22 กิโลเมตรเศษ และระยะทางจากลุมพินี – เทวทหะ 27 กิโลเมตรเศษ รวมแล้ว เกือบ 50 กิโลเมตร ก็น่าจะเป็นระยะที่ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงมากกว่ามาตรา 1
ลี้ เท่ากับ 500 เมตร
[3] ความสูง 1 เชียะ = 33 ซม 33X 100 = 3,300 ซม. จึงสูงเท่ากับ 33 เมตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น