บทที่ 9
พระพุทธศาสนา ในอินเดียและประเทศที่นับถือพุทธศาสนา
(Buddhism in
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
Phisit Kotsupho
ความนำ
หลังสมัยพุทธกาล พระพุทธศาสนา
ก็ยิ่งหยั่งรากลึกลงในสังคมอินเดีย มีองค์กรพุทธบริษัท 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา และสหธรรมิกย่อย
คือ สามเณร และสามเณรี จำนวนมาก รวมตัวเป็นสถาบันศาสนาทำหน้าที่เผยแผ่ อุปถัมภ์และปกป้องพระพุทธศาสนา
ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญแพร่หลายทั้งในอินเดีย และต่างประเทศ เป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติอย่างมีเหตุผล
เป็นที่ยอมรับของสังคมสมัยนั้น มีวัดและวิหารกระจายทุกภูมิภาคของอินเดีย
เหนือจรดใต้ ตะวันออกจรดตะวันตก มีมหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนาสำหรับการศึกษาของพระสงฆ์เกิดขึ้นหลายมหาวิทยาลัย
[1] คือ
1. พุทธศักราช 960 มหาวิทยาลัยนาลันทา อำเภอนาลันทา รัฐพิหาร
2. พุทธศักราช 1000 มหาวิทยาลัยวลภี
อำเภอภวนคร รัฐกุจราต
3. พุทธศักราช 1203
มหาวิทยาลัยโอทันตบุรี อำเภอนาลันทา
รัฐพิหาร
4. พุทธศักราช 1248
มหาวิทยาลัยโสมบุรี อำเภอราชชาฮี บังคลาเทศ(สมัยก่อน อยู่ในชมพูทวีป)
5. พุทธศักราช 1308
มหาวิทยาลัยวิกรมศิลา อำเภอภคัลปูร์ รัฐพิหาร
6. พุทธศักราช 1550
มหาวิทยาลัยชคัททละ อำเภอราชชาฮี บังคลาเทศ
ผังแสดงเวลาการเกิดนิกายและประเทศที่พระพุทธศาสนาแผ่เข้าไป
นับเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1,700 ปี
ที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองในอินเดีย หลังจากนั้นมาอีก 1,000 ปี พระพุทธศาสนา
ก็เสื่อมจากอินเดีย แบบสูญพันธุ์ คงเหลื่อแต่ซากสถูปวิหาร ปล่อยให้รกร้างว่าเปล่า
ถูกลืม และถูกกลืน กลายเป็นประวัติศาสตร์ใต้พื้นดินอินเดียอย่างน่าสงสาร
อย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนาเอง ก็ตกอยู่ในกฎแห่งไตรลักษณ์
มีเจริญมีเสื่อม บางสมัย พระพุทธศาสนาถูกเบี่ยงเบน ถูกกลืนโดยศาสนาฮินดูให้เป็นเพียงส่วนย่อยของศาสนาฮินดู
นับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นอวตารของพระนารายณ์เท่านั้น ในที่สุดพระพุทธศาสนาก็สุญหายจากดินแดนพุทธภูมิ
เสื่อมจากความนับถือของชาวอินเดีย
ไม่มีแม้กระทั้งพระสงฆ์ผู้นำหลักในการประกาศศาสนา
เมื่อกองทัพมุสลิมรุกเข้าทำลาย ไม่เฉพาะพระพุทธศาสนาเท่านั้น
แม้ศาสนาฮินดูก็ได้รับผลกระทบไปมิใช่น้อย นับเป็นเวลาจากนั้นมาอีกร่วม 800 ปี
กว่าพระพุทธศาสนาจะได้รับการ ฟื้นฟูปลุกชีพขึ้นมานำพระพุทธศาสนากลับไปสู่แดนพุทธภูมิอีก
โดยชาวพุทธชาติอื่นๆที่มิใช่ชาวอินเดียเจ้าของศาสนาเดิม นำโดยชาวพุทธศรีลังกา ในราวพุทธศักราช 2434 – 2476 จึงได้มีสถาบันพุทธบริษัท
มีวัดทางพระพุทธศาสนาที่สร้างขึ้นมาใหม่ส่องแสงประทีปแห่งพุทธธรรม ผ้ากาสาวพัตร
กลับไปโบกสะบัดได้อีกครั้งหนึ่ง แม่จะเป็นเพียงจุดเล็กๆ
เมื่อเทียบกับพื้นที่อินเดีย แต่ก็สามารถกล่าวได้ว่า
พระพุทธศาสนาได้หวนกลับคืนสู่อ้อมกอดของมารดาผู้ให้กำเนิดแล้ว ทั้งนี้ ด้วยผลแห่งการทำงานหนักเพื่อพุทธบูชาของชาวพุทธกลุ่มนี้
ส่งให้ชาวอินเดียกลุ่มหนึ่ง นำโดย ดร.เอ็มเบดการ์
อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของอินได้ ได้หันกลับมานับถือพระพุทธศาสนา นำชาวอินเดียจำนวนห้าแสนคน
ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พุทธศักราช 2499 ผู้เขียนไม่อาจเล่ารายละเอียดได้หมดทุกช่วงปี
พุทธศักราช แต่จะพยายามเล่าเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นและกระทบต่อพุทธจักรในอินเดีย
ตามลำดับ พุทธศตวรรษ ดังนี้
เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา
[2]
3 เดือน หลังพุทธปรินิพพาน
การทำสังคายนาครั้งที่ 1 ที่ราชคฤห์ ในการอุปถัมภ์ของพระเจ้าอชาตศัตรู ราชาแห่งมคธ
พระไตรปิฎกที่ปรากฏอยู่ปัจจุบันได้รับการจัดหมวดหมู่เป็นระบบมาตั้งแต่ครั้งนั้น
และสาวกได้ศึกษา ถ่ายทอดกับเป็นประเพณีแบบมุขปาฐะ(ทรงจำและสาธยายจากปากสู่ปาก)
พุทธศักราช 100 พระสงฆ์ประชุมทำสังคายนาครั้งที่
2 เพราะการบิดเบือนพระวินัยของพระสงฆ์ชาววัชชี ในวัตถุ 10 ประการ ทำที่วาลุการาม
นครเวสาลี หรือ ไพสาลี เป็นสาเหตุแห่งการแตกนิกายสงฆ์ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายเถรวาท
และฝ่ายมหาสังฆิกะ(วัชชีบุตร) จึงเกิดลัทธิอาจริยวาทขึ้นมานับแต่นั้น
จะเรียกฝ่าตนว่า มหายาน ในภายหลัง
พุทธศักราช 236
พระสงฆ์ประชุมทำสังคายนาครั้งที่ 3 ที่อโศการาม นครปาฏลีบุตร พระเจ้าอโศกมหาราช
กษัตริย์วงศ์โมรยะ ทรงเปลี่ยนมานับถือถือพระพุทธศาสนา เป็นศาสนูปถัมภก์ ขจัดภัยร้ายของพระพุทธศาสนาด้วยการขจัดพวกเดียรถีย์ปลอมบวช
ทำการบิดเบือนหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา สังคายนาในครั้งนี้ สิ่งใหม่ ที่สำคัญ คือ
พระโมคคัลลีบุตรติสสะ แต่งคัมภีร์กถาวัตถุขึ้นมา
เพื่อตรวจสอบลัทธิคำสอนที่บิดเบือนพร้อมแสดงหลักพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องเอาไว้ รวมเข้าหมวดหมู่ในอภิธรรมปิฎก
ทำให้พระไตรปิฎกภาษาบาลีสมบูรณ์ พระพุทธศาสนา ได้รับการยกย่องเป็นศาสนาหลักของชาติอินเดีย และการเผยแผ่พระพุทธศาสนาออกไปสู่โลกกว้าง
โดยการส่งสมณทูตออกไปยังดินแดนประเทศต่าง ๆ ถึง 9 สายด้วยกัน คือ
1. พระมัชฌันติกะ ไปแคชเมียร์และคันธาระ
2. พระมหาเทวะ ไปมหิสสมณฑล
3. พระรักขิตะ ไปวนวาสะ
4. พระธัมมรักขิตะ ไปอปรันตะ
5. พระมหาธัมมรักขิตะ ไปมหารัฏฐะ
6. พระมหารักขิตะ ไปประเทศโยนะ(ดินแดนในอาณาจักรกรีก)
7. พระมัชฌิมะ ไปหิมวันตะ
8. พระโสณะพระอุตตระ ไปสุวรรณภูมิ(ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มี พม่า ไทย หมู่เกาะสุมาตรา เขมร ลาว เวียดนาม)
9. พระมหินทะ(โอรสของพระเจ้าอโศก) ไปเกาะตามพปัณณิ(ลังกา)
นับเป็นยุคทองของพระพุทธศาสนาครั้งที่ 1
ในอินเดีย
พุทธศักราช 344
พระพุทธศาสนามหายานเริ่มก่อตั้ง มีการแต่งคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตรขึ้นมา
บันทึกทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า ใน พุทธศักราช 611 สมณทูตจากอินเดีย 2 รูป
เดินทางถึงราชสำนักพระเจ้ามิ่งตี่ ราชวงศ์ฮั่น ประเทศจีน ได้รับการต้อนรับ
และพำนักที่จีน ทำงานแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนาออกมาหลายเล่ม
ที่รู้จักกันกระทั่งปัจจุบัน คือ พระสูตร 42 บท (ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า
ภาษาจีนเรียกว่าอะไร ไม่มีเวลาพอที่จะตรวจสอบข้อมูล)
พุทธศักราช 444 เกิดการจารึกคัมภีร์พระไตรปิฎกภาษาบาลีของฝ่ายเถรวาท ลงใบลาน ที่ถ้ำอาโลกะ ใกล้กับมะตะเล
ที่ประเทศศรีลังกา ในระยะนี้ ที่อินเดีย
ก็เกิดคัมภีร์มิลินทปัญหา
ซึ่งบันทึกการถามปัญหาของพระยามิลินท์กษัตริย์เชื้อสายกรีก กับพระนาคเสน
พระภิกษุชาวอินเดีย แต่งโดยพระติปิฎกจุฬาภัย คัมภีร์นี้ เป็นที่รู้จักและศึกษากันอย่างดีในหมู่ชาวพุทธ
พุทธศักราช 544 ที่อินเดียตอนเหนือ
พระพุทธศาสนาได้เจริญอย่างมาก เป็นยุคทองมหายาน พระเจ้ากนิษกะมหาราช
จากราชวงศ์กุษาณ ได้อุปถัมภ์การทำสังคายนาครั้งที่ 4 ที่เมืองชาลันธร หรือ
กาศมีระ(แคชเมียร์) เป็นการสังคายนา ของพระสงฆ์ฝ่ายมหายาน
ซึ่งพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทไม่ยอมรับ
ตามประวัติศาสตร์บันทึกว่า
พระพุทธศาสนาตั้งมั่นในประเทศกัมพูชา ราวพุทธศักราช 643 และในประเทศเวียดนาม ในพุทธศักราช 693 อีหลักฐานหนึ่งว่า เข้ามาหลังจากนี้ 100 ปี เกิดการแต่งคัมภีร์สัทธัมปุณฑริกสูตร
พระสูตรฝ่ายมหายานขึ้นมาอีกคัมภีร์หนึ่ง ในระยะนี้
พระพุทธศาสนาได้แผ่เข้าไปในดินแดนเอเชียกลาง และจีน
เส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
เถรวาทและมหายาน
พุทธศักราช 644
เป็นยุคของท่านนาคารชุน พระภิกษุนักปรัชญาพุทธ ผู้ก่อตั้งสำนักมาธยมิกะ
แต่งคัมภีร์มาธยมิกสูตร
พุทธศักราช 744 การแผ่พระพุทธศาสนา เข้าสู่พม่า กัมพูชา ลาว
เวียดนามและ อินโดนีเซีย เกิดสำนักพุทธปรัชญา โยคาจาร ก่อตั้งโดยท่านไมตรียนาถ
อิทธิพลของพระพุทธศาสนาแผ่ไปถึงเปอร์เซีย(อิหร่าน) ผ่านทางการค้าขาย
พุทธศักราช 844
ท่านอสังคะ และน้องชาย ท่านวสุพันธุ
สองพี่น้องเป็นอาจารย์ที่โดดเด่นของสำนักปรัชญาโยคาจาร นิกายวัชรยาน เริ่มก่อตัวขึ้นที่อินเดีย
ท่านกุมารชีวะ และสมณะจีนฮุยหยวน แปลคัมภีร์ลงสู่ภาษาจีน ปี พุทธศักราช 915
พระพุทธศาสนาแผ่จากจีนเข้าสู่คาบสมุทรเกาหลี
พุทธศักราช 944 นาลันทา มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา ตั้งขึ้นมาในปี
พุทธศักราช 960 ที่อำเภอนาลันทา
แคว้นมคธอินเดีย พระพุทธโฆสาจารย์ ภิกษุชาวอินเดีย เดินทางไปศรีลังกา แต่งคัมภีร์ วิสุทธิมัคค์ และอรรถกถาสำคัญขึ้นมา
เป็นพระอรรถกถาจารย์ สำคัญที่สุดรูปหนึ่งในฝ่ายเถรวาท พระพุทธศาสนาตั้งมั่นในพม่า และเกาหลี หลวงจีนฟาเหียน (Fa-Hsien) เดินทางมาอินเดีย ระหว่างปี พุทธศักราช
942-957 ที่ประเทศจีน เกิดนิกายสุขาวดี(พระอมิตาภะ) พระพุทธศาสนามหายาน แผ่เข้ามายังชวา สุมาตรา
บอร์เนียว โดยการนำเข้ามาของผู้อพยพชาวอินเดีย
หากจะกำหนดความเจริญของพระพุทธศาสนา
ถือว่า ยุคนี้ เป็นยุคทองอย่างแท้จริง เพราะพระพุทธศาสนาทั้งเถรวาทและมหายานเกิดนักปราชญ์นามอุโฆษหลายท่าน
พุทธศักราช 1044 ท่านโพธิธรรม
(ปรมาจารย์ตั๊กม้อ) ผู้ก่อตั้งนิกายฌาน(เซ็น)เดินทางจากอินเดียเข้าถึงจีน ในปี พุทธศักราช
1069 ในยุคราชวงศ์
Sui (พุทธศักราช 1132-1160) เป็นรุ่งอรุณแห่งยุคทองของพระพุทธศาสนาในประเทศจีน
เกิดนิกาย เทียนไท้ นิกายหัวเย็น
นิกายสุขาวดี และนิกายฌาน และในปี พุทธศักราช 1081
พระพุทธศาสนาได้แผ่เข้าสู่ญี่ปุ่น และกลายเป็นศาสนาประจำชาติญี่ปุน ในปี พุทธศักราช1137
ในระยะนี้ ที่ประเทศอินโดนีเซีย พระพุทธศาสนามหายานรุ่งเรืองมาก
ภิกษุณี ญี่ปุ่น
พุทธศักราช 1144
พระเจ้าหรรษะ วรรธนะหรือ พระเจ้า ศีลาทิตย์ ผู้ปกครองอาณาจักรยิ่งใหญ่ในอินเดียตอนเหนือ
เปลี่ยนจากศาสนาฮินดูมานับถือจากพระพุทธศาสนา และถวายการอุปถัมภ์พระสงฆ์อย่างดี ราวปี พุทธศักราช 1145-1207 หลวงจีนเฮี่ยนจัง(Hsuan-Tsang) หรือ พระถังซำจั๋ง เดินทางมาอินเดีย
พุทธศักราช 1244 -1544
ในระยะ 3 ศตวรรษ นี้ มีเหตุการณ์ คือ
พุทธนิกานยิงมะ ตั้งมั่นในทิเบต พระมหาเจดีย์ บอโรบุโด สร้างขึ้นที่ชวา
ที่ญี่ปุ่น เกิดนิกายเท็นได และชินงอน
ส่วนที่ประเทศจีน ได้ตีพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นครั้งแรกใน ปี พุทธศักราช 1526 เรียกว่า ฉบับเสฉวน (
พระสงฆ์เกาหลี
พุทธศักราช 1644 -1844 ในระยะ 2
ศตวรรษ นี้ มีเหตุการณ์คือ ปี พุทธศักราช 1736 กองทัพมุสลิมโจมตีและพิชิต มคธ
ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาในอินเดีย ทำลายพุทธวิหาร และมหาวิทยาลัย วลภี และนาลันทา
อย่างย่อยยับ ในช่วงนี้แหละที่พระพุทธศาสนาถูกกวาดออกไปจากดินแดนอินเดีย
ชาวมงโกลหันมานับถือพระพุทธศาสนานิการวัชรยาน
พระพุทธศาสนาเถรวาท เข้าสู่ประเทศลาว กษัตริย์ผู้ครองเชียงใหม่ และสุโขทัย
รับพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ ในปี พุทธศักราช 1903 หลังจากนั้น
ประเทศลาวและเขมรก็หันมารับลัทธิลังกาวงศ์แบบประเทศไทย
องค์ดาไล ลามะ
ประมุขสงฆ์และผู้นำประเทศทิเบต
พุทธศักราช 2444 -2544
ขอข้ามมาถึง ศตวรรษที่ 25 (ผ่านมา 700 ปี)
พระพุทธศาสนาที่อินเดียสูญพันธุ์ไปแล้วอย่างไม่เห็นรากเค้า พระพุทธศาสนาได้เจริญในดินแดน ศรีลังกา ไทย
และพม่า ในศตวรรษนี้ ชาวพุทธได้พยายามนำพระพุทธศาสนากลับไปที่ดินแดนอินเดีย โดย
อนาคาริก ธรรมปาละ พุทธศักราช 2434 -2476 จนเกิดสมาคมมหาโพธิ์ที่กัลกัตตา เพื่อการต่อสู้เรียกร้องสิทธิในพุทธคยาจากการครอบครองของนักบวชมหันต์
ที่กล่าวมาในตอนที่ว่าด้วยพุทธคยา และต่อสู้เรื่อยมาจนในปี
พุทธศักราช 2474-2475 ก็สามารถสร้างวัดมูลคันธกุฎีวิหารที่สารนาถสำเร็จ
ในต่างประเทศ ได้เกิดพุทธสมาคมที่อังกฤษ
ใน ปีพุทธศักราช 2450 และสมาคมเผยแพร่พระพุทธศาสนา ที่ประเทศเยอรมัน ในปี พุทธศักราช
2456 อีกด้านหนึ่ง ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ได้ตีพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาจีน ฉบับTaishö Shinshü Daizokyö ในปี พุทธศักราช
2467-2472 องค์การพุทธสมาคมโลก(พสล.)
ได้เกิดขึ้นมา ในปี พุทธศักราช 2495 ประเทศพม่า จัดทำสังคายนาครั้งที่ 6
ที่นครย่างกุ้ง ระหว่าง ปี พุทธศักราช 2497-2499
มีพระสงฆ์จากหลายประทศได้รับเชิญให้เข้าร่วมการทำสังคายนาครั้งนี้ ในปี พุทธศักราช 2499 นี่เอง ประเทศต่างๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนา
รวมทั้งประเทศอินเดียแม้จะมิได้นับถือแล้ว ได้จัดงานเฉลิมฉลอง 2,500 ปี ของพระพุทธศาสนา
สำหรับประเทศไทย ก็ได้สร้างพุทธมณฑลขึ้นมา เพื่อฉลอง 25 พุทธศตวรรษ
(มีการสร้างพระเครื่อง รุ่น 25 พุทธศตวรรษขึ้นมาเพื่อระดมทุนสร้างพุทธมณฑล)
ผลจากการฉลองพุทธชยันตี 25 พุทธศตวรรษ ชาวอินเดียจำนวนกว่า
500,000 คน โดยการนำของ ดร. เอมเบดการ์ [3] อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนแรกของอินเดีย ได้ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พุทธศักราช 2499 ที่เมืองนาคปุระ แคว้นบอมเบย์ มีพระภิกษุเป็นสักขีพยานแห่งการประกาศตนเป็นพุทธมามกะ
3 รูป คือ ท่านพระสังฆรัตนเถระ (Ven. M. Sangharatana Thera) พระสัทธราติสสะเถระ (Ven. S. Saddratissa Thera) และพระปัญญานันทะเถระ
(Ven. Pannananda Thera) อยู่ในพิธีนั้น
รัฐบาลอินเดียได้จัดสรรงบประมาณการจัดงาน
ฉลองตลอด 1 ปีเต็มๆ โดยวนเวียนฉลองกันไปตามรัฐต่างๆ รัฐบาลอนุมัติงบประมาณ สร้างถนนเข้าสุ่พุทธสังเวชนียสถานให้ดีขึ้น
สร้างธรรมศาลา เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มาร่วมงานพุทธชยันตีจากประเทศต่างๆ
จัดพิมพ์หนังสือสดุดี พระพุทธศาสนา 2500 years of Buddhism (2500
ปีแห่งพระพุทธศาสนา) เป็นหนังสือวิชาการด้านพระพุทธศาสนา เรียบเรียบโดยนักปราชญ์หลายท่าน
ประธานาธิบดีราธ กฤษนันท์ เขียนคำนำ ทั้งได้ก่อตั้ง
มหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนาขึ้นมาใหม่ที่นาลันทา เรียกว่า มหาวิทยาลัย
นวนาลันทา มี ภิกษุ เจ กัสสปะ
เป็นอธิการบดี อยู่ใกล้กับวัดไทยนาลันทา
ที่ขยายจากที่พักพระสงฆ์นักศึกษา นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังได้เชิญชวนประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา
ไปสร้างวัดที่อินเดีย ทำให้ประเทศไทย ได้ไปสร้างวัดไทยพุทธคยา ที่พุทธคยา รัฐพิหาร
เมื่อ พุทธศักราช 2500 พระพุทธศาสนาแบบทิเบตแผ่เข้าไปโลกตะวันตกก่อนฝ่ายเถรวาท
และวัดเถรวาทแห่งแรกได้สร้างขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี
พุทธศักราช 2509
บัดนี้ พระพุทธศาสนา
ได้กลับคืนไปยังพุทธภูมิ ด้วยความสำนึกกตัญญูต่อพระบรมศาสดา ชาวพุทธทั่วโลก
ได้สร้างวัดไว้ตามพุทธสถานที่สำคัญๆหลายแห่ง เช่นที่ พุทธคยา สารนาถ นาลันทา กุสินารา
สาวัตถี ลุมพินี นิวเดลลี ปูนา นาคปูร์ เป็นต้น สมาคมชาวพุทธที่อินเดียเริ่มมีกำลังเข้มแข็ง
มีการบรรพชา อุปสมบทกุลบุตรชาวอินเดีย และศึกษาพระพุทธศาสนา เพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ก็ได้เปิดสอนสาขาพุทธศาสตร์
หลายสถาบัน คงอีกนานที่พระพุทธศาสนาจะเสื่อมถอยจากอินเดียอีก
ความเจริญและความเสื่อมของพระพุทธศาสนาในอินเดีย [4]
ผู้เขียน
ขอนำผลงานของอาจารย์ กรุณา กุศลาศัย ผู้เชี่ยวชาญ อินเดียศึกษา นักภารตวิทยา
ที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอิน
โดยการไปศึกษาพระพุทธศาสนาและวิชาการสมัยใหม่ตั้งแต่เป็นสามเณร ด้วยแรงใจที่อาจหาญดุจใจราชสีห์ ท่านเดินธุดงค์ไปกับพระฝรั่ง
ผ่านพม่า เข้าสู่อินเดีย ตั้งแต่ปี พุทธศักราช 2500
จนสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา ท่านอาจารย์กรุณา กุศลาศัย
ได้เรียบเรียงไว้อย่างน่าศึกษา ถึงความเจริญและความเสื่อม
ของพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย เพื่อแสดงความเคารพทางวิชาการต่อท่านอาจารย์กรุณา
ผู้เขียนขออนุญาตนำลงทั้งหมด โดยมิได้ตัดทอน เสริมแต่ง แต่ประการใด
ดังต่อไปนี้
ความเจริญของพระพุทธศาสนา
ท่านอาจารย์กรุณา
เล่าว่า “ มูลเหตุสำคัญในอันที่จะส่งเสริมให้ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง
เจริญรุ่งเรือง บรรลุความสำเร็จ เป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชนทั่วไปได้นั้น อยู่ที่เนื้อหาสาระอันเป็นคุณสมบัติประจำของศาสนานั้นๆ
หากนี้เป็นหลักเกณฑ์แห่งความสำเร็จของศาสนาแล้วไซร้ ก็ต้องยอมรับว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เพรียบพร้อมด้วยเนื้อหาสาระ
หรือคุณสมบัติดังกล่าว อย่างสมบูรณ์ที่สุด
อีกประการหนึ่ง
ยุคสมัยและสถานการณ์ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ขบวนการเคลื่อนไหวแห่งศาสนาใหม่
เช่น พุทธศาสนาเจริญได้งอกงามได้รวดเร็วหรือหาไม่
ในศตวรรษที่ 6 และที่ 5
ก่อนคริสต์ศักราชนั้น ในทวีปเอเชียและยุโรป มีการตื่นตัวทางความคิดด้านศาสนาและปรัชญา
อันเป็นการตื่นตัวจากความเชื่อถือทางพหุเทวนิยมไปสู่เอกเทวนิยม หรืออีกนัยหนึ่งจากความเชื่อถือดิบๆ
แบบดั้งเดิมไปสู่ความเชื่อถือที่ลุ่มลึกละเมียดละไม ดังตัวอย่างเช่น ในประเทศจีนมีเล่าจื๊อ
(เกิดปี 570 ก่อน ค.ศ.) และขงจื๊อ (ถึงแก่กรรมปี 470 ก่อน ค.ศ.) ในประเทศเปอร์เชีย
(อิหร่านในปัจจุบัน) มีศาสดาโซโรอาสเตอร์ (ศตวรรษที่ 6 ก่อน
ค.ศ.) ในประเทศกรีซมีโสเครติส (ถึงแก่กรรมด้วยยาพิษ เมื่อปี 399 ก่อน ค.ศ.) และเปลโต
(427-347 ก่อน ค.ศ.) และในประเทศอินเดียก็มีศาสดามหาวีระและพระพุทธเจ้า (563-483 ก่อน ค.ศ.)
ในประเทศอินเดีย
นอกจากเจ้าสำนักหลายท่าน ดังมีข้อความระบุถึงในมหากาพย์ภารตะและมหากาพย์รามายณะ
ตลอดจนในคัมภีร์อุปนิษัทแล้ว ก็ยังมีเจ้าสำนักอื่นอีกบางท่านซึ่งพระพุทธเจ้าทรงวิพากษ์ครั้งแล้วครั้งเล่าอีกว่า
ดำเนินการสอนที่ไม่นำไปสู่วิมุตติ อันได้แก่ การหลุดพ้น (จากการเวียนเกิดเวียนตาย)
โดยย่อแล้วอาจกล่าวได้ว่า อินเดียในยุคนั้นเต็มไปด้วยความคิดที่สับสนขัดแย้ง
คล้ายกับว่าปัญญาชนคนมีความรู้ทั้งประเทศ หมกมุ่นอยู่กับการแสวงหาสัจธรรม โดยหลงลืมการหาประโยชน์ส่วนตัวเสียสิ้น
จำนวนฤๅษีมุนีและปริพาชก (นักบวชผู้ชายนอกพระพุทธศาสนา) นั้น
มีมากมาย อันเป็นสัญญาณแสดงว่าการแสวงหาสัจจะมีความสำคัญที่สุดในยุคนั้น
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ
ดินแดนภารตะทั้งประเทศในสมัยนั้น เร่าร้อนไปด้วยความเคลื่อนไหวทางพุทธิปัญญา
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมยิ่งที่นักคิดผู้ปรีชาสามารถเช่นพระโคดมพุทธเจ้า
ผู้ได้ศึกษานานาลัทธิคำสอนซึ่งมีอยู่ในสมัยนั้นอย่างเชี่ยวชาญทะลุปรุโปร่ง จะได้ออกมาประกาศประสบการณ์คำสอน
ซึ่งพระองค์ได้ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่า ถูกต้องถ่องแท้และสมเหตุสมผลเป็นที่สุด
พระองค์ได้ทรงวิพากษ์และโจมตีวัตรปฏิบัติ ดังต่อไปนี้ คือ
1.
คำอวดอ้างอันไม่สมควรและไร้เหตุผลของพราหมณ์
2.
ประสิทธิภาพการบูชายัญด้วยชีวิตสัตว์ เพื่อสร้างความพอใจให้แก่ทวยเทพ และบันดาลความผาสุกแก่มวลมนุษย์
3.
อภิสิทธิ์และความเคร่งครัดในชีวิตประจำวัน โดยปราศจากเหตุผลของศาสนาพราหมณ์
คำสอนเชิงวิพากษ์และการโจมตีของพระพุทธเจ้า
คงจะเป็นที่พอใจของคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่เห็นด้วยกับระบบสังคมในยุคนั้น ในสายตาของประชาชนเหล่านี้
พระพุทธองค์คือวีรบุรุษของนักคิดใหม่ ผู้เปิดเผยความไม่ถูกต้องของระบบศาสนา ที่เป็นพันธนาการรัดตรึงพวกเขามาเป็นเวลานับได้ร้อย
ๆ ปี คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า “จงเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง”
(อตฺตทีโป อตฺตสรโณ อนญฺญสรโณ) เป็นการเปิดตาให้แสงสว่างแก่คนเป็นจำนวนมาก
พระองค์ได้ทรงสอนว่า มนุษย์ทุกคนเป็นผลแห่งกระทำ (กรรม) ของตนเอง การกราบไหว้วิงวอนพระเจ้าหรือแม้แต่พระพุทธเจ้า
จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น พระองค์ทรงสอนว่าพราหมณ์หรือพระภิกษุเป็นแต่เพียงผู้นำทางจิตวิญญาณเท่านั้น
หาใช่เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับความหลุดพ้นไม่ วิมุตติภาพหรือการหลุดพ้นจากสังสารวัฏ
(การเวียนเกิดเวียนตาย) ขึ้นอยู่กับความเพียรพยายามและความรู้แจ้งของแต่ละบุคคล
มิใช่ขึ้นกับผู้ยิ่งใหญ่ใด ๆ มิใช่ขึ้นกับครู อาจารย์
เทพเจ้าหรือแม้แต่พระพุทธเจ้า พระองค์ทรงสอนว่า “จงพากเพียรเพื่อความหลุดพ้นของตนเองด้วยความไม่ประมาทเถิด”
คำสอนที่เป็นหลัก
เริ่มแรกพระพุทธเจ้าทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ซึ่งถูกครอบงำด้วยอวิชชา
คือความไม่รู้ มิให้ลุ่มหลงเสียเวลาด้วยการถกเถียงถึงปัญหาที่ไร้ประโยชน์ เช่น คนเรามาจากไหน
ตายแล้วจะไปยังที่ใด ฯลฯ ทว่า พระองค์ทรงสอนให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าแห่งความบริสุทธิ์ทางกาย
วาจา และใจ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ให้ตระหนักถึงคุณค่าแห่งศีล สมาธิ และปัญญา พระองค์ทรงย้ำถึงประโยชน์แห่งการศึกษาและภาวนา
อันจะนำไปสู่การรู้แจ้งแห่งสภาวะอันแท้จริงของธรรมชาติ ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา
คำสอนของพระพุทธองค์ที่มีชื่อในภาษาบาลีว่า
“ปฏิจฺจสมุปฺบาท” (กฎแห่งธรรมที่ต้องอาศัยกันเกิดขึ้น)
เป็นที่ประทับใจแก่ปัญญาชน เช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ
และปัญญาชนทุกเพศทุกวัยจำนวนมาก ปฏิจจสมุปบาทสอนให้รู้ว่า สิ่งทั้งหลายในโลกอาศัยกันและกันจึงเกิดมีขึ้น
ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นโดยตัวของมันเอง และไม่มีสิ่งใดที่มีคุณสมบัติถาวรโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงในตัวของมัน
(อนัตตา) ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในสภาพไหลเลื่อนแปรเปลี่ยนอยู่ทุกขณะและตลอดเวลา นิพพานเท่านั้นที่ไม่มีการแปรเปลี่ยน
ไม่ขึ้นอยู่กับกฎแห่งปฏิจจสมุปบาท (อปฏิจฺจสมุปฺปนฺน)
ไม่มีการปรุงแต่ง (อสังขตะ) ไม่มีการเกิด (อชาติ) ไม่มีการเสื่อมสลายหรือตาย (อมตะ)
มนุษย์จะรู้แจ้งในสัจจะนี้ได้ด้วยตนเองและเฉพาะตัว
ไม่มีผู้ใดอื่นจะสามารถช่วยให้เขารู้แจ้งได้ อีกทั้งมนุษย์จะบรรลุสัจจะนี้ได้ก็ด้วยการประพฤติดีปฏิบัติชอบตามคำสอนแห่งอริยสัจ
4 และมรรค 8 กล่าวโดยย่อก็คือ มนุษย์ต้องมีความสมบูรณ์ในเรื่องศีล สมาธิ และปัญญา จึงจะมีดวงตาเห็นธรรม
(ธรรมจักษุ)
พระพุทธองค์มิได้ทรงแตะต้องความเชื่อถือของพราหมณ์ซึ่งมีมาแต่โบราณกาล
เป็นต้นว่า ความเชื่อถือในเรื่องพระพรหมผู้สร้างโลก ฯลฯ แต่พระองค์ทรงย้ำว่า ความรู้หรือความเชื่อถือประเภทนี้
ไม่อำนวยประโยชน์อันใดในการที่จะช่วยให้คนพ้นทุกข์อันเนื่องมาจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย
(สังสารวัฏ) พระองค์ทรงสอนว่าสัจจะหรือความจริงเป็นสิ่งที่ภาษามนุษย์ไม่สามารถจะให้อรรถาธิบายได้
เพราะฉะนั้น สถานบท (Premise) ใด ๆ ในตรรกศาสตร์ (Logic)
จึงไม่สามารถจะนำมาใช้กับสัจจะได้ พระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์เป็นที่จับจิตจับใจปัญญาชนชาวชมพูทวีปในสมัยนั้นมาก
บุคลิกภาพของพระพุทธองค์และเหล่าสาวก
มูลเหตุประการที่สอง
ซึ่งส่งเสริมให้พุทธศาสนาเจริญและแผ่ไพศาลไปอย่างรวดเร็ว ได้แก่ บุคลิกภาพของพระองค์และเหล่าสาวก
ความทันสมัยและสมเหตุสมผลของพุทธศาสนา เป็นที่ดึงดูดความสนใจของปัญญาชนในสมัยนั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนที่มีชื่อเสียงในวรรณะพราหมณ์และวรรณะกษัตริย์
เช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระมหากัจจายนะ และอื่น ๆ
อีกเป็นจำนวนมาก
บรรดาสาวกผู้เต็มไปด้วยความรู้ความสามารถ
อีกทั้งมีบุคลิกภาพและจริยวัตรดีเด่นดังกล่าวมานี้ เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้พุทธศาสนาหยั่งรากลึก
และเผยแผ่ไปอย่างกว้างไกลในดินแดนชมพูทวีป
สาวกของพระพุทธองค์ที่ได้กล่าวนามมาข้างต้น
ต่างก็เชี่ยวชาญในวิชาการต่าง ๆ ทางพุทธศาสตร์ เช่น
พระสารีบุตร
ได้รับการยกย่องเป็นธรรมเสนาบดี มีปัญญามาก เป็นอัครสาวกฝ่ายขวา
และเป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระศาสนา
พระโมคคัลลานะ
ได้รับการยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางมีฤทธิ์มาก
พระมหากัสสปะ
เป็นผู้มีปฏิปทามักน้อย สันโดษ ได้รับการยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางถือธุดงค์
(องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส) หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระมหากัสสปะได้เป็นผู้ริเริ่มและเป็นประธานในปฐมสังคายนา
(การประชุมตรวจชำระสอบทาน และจัดหมวดหมู่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระมหากัจจายนะ ได้รับการยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางขยายความคำย่อให้พิสดาร
ว่ากันว่าพระมหากัจจายนะมีรูปร่างสวยงาม ผิวพรรณดังทองคำ
พระสาวกของพระพุทธเจ้าที่ได้กล่าวนามมานี้
ต่างได้อุทิศสติปัญญาความสามารถในการเผยแผ่พุทธธรรม และได้ดึงดูดสาธุชนจำนวนมากในวรรณะสูง
ตลอดจนผู้มีฐานะร่ำรวยได้ชื่อว่า “เสฏฐี” และแม้แต่ปริพาชก (นักบวชผู้ชายนอกพระพุทธศาสนา) ให้หันมานับถือพุทธศาสนา
บุคลิกภาพและศักดิ์ศรีของพระพุทธองค์ในฐานะที่ทรงเป็นนักบวช
(สมณะ) และปรัชญาเมธีผู้เปรื่องปราด ได้ดึงดูดความสนใจของท้าวพญามหากษัตริย์ซึ่งครองราชย์และมีอำนาจในชมพูทวีปในสมัยนั้น
บรรดาชนชั้นนำเหล่านั้น เช่น พระเจ้าพิมพิสารและหมอชีวกโกมารภัจจ์แห่งแคว้นมคธ พระเจ้าปเสนทิ
อนาถบิณฑิกะ มหาเศรษฐี และนางวิสาขา มหาเศรษฐีนีแห่งนครสาวัตถี แคว้นโกศล
อีกทั้งอัมพปลี หญิงงามเมืองแห่งนครเวสาลี ต่างได้สร้างวัดวาอารามถวายพระพุทธเจ้า ตลอดจนเหล่าภิกษุสงฆ์สาวกของพระองค์อย่างมากมาย
ซึ่งในปัจจุบันซากเศษสิ่งปรักหักพังของอาคารสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ ยังมีปรากฏให้เราอนุชนรุ่นหลังได้เห็นเป็นสักขีพยาน
ราชูปถัมภ์กับพระพุทธศาสนา
ประวัติศาสตร์ชี้ให้เราเห็นว่า
ความเจริญและความเสื่อมของพุทธศาสนานั้น ขึ้นอยู่กับความอุปถัมภ์ หรือการขาดความอุปถัมภ์จากราชามหากษัตริย์
เป็นสำคัญ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง
แต่ในสมัยทายาทของพระเจ้าอโศกในยุคต่อมา พุทธศาสนาถึงแก่ความอับเฉา
ครั้นต่อมาในยุคของกษัตริย์เชื้อสายอินเดียผสมแบคเทรีย
(Indo-Bactria) ได้แก่ Menander (พระเจ้ามิลินท์
ในคัมภีร์พุทธศาสนา) และในยุคของกษัตริย์อินเดียผสม
ต่อจากนี้ พุทธศาสนาตกอยู่ในสภาพอับเฉาจนกระทั่งถึงสมัยกษัตริย์ศักราทิตย์
พุทธคุปตะ และหรรษะ วรรธนะ พุทธศาสนาจึงกลับมีพลังวังชาขึ้นใหม่ ในสมัยราชวงศ์ปาละ
(คริสต์ศตวรรษที่ 8-12) พุทธศาสนาในรูปแบบและวัตรปฏิบัติของลัทธิ “ตันตระ” และ “วัชรยาน” มีอิทธิพลไพศาลในชมพูทวีป โดยเฉพาะในแคว้นเบงกอล แต่เป็นพลังที่วิปริตผิดแปลกไปจากคำสอนเดิมของพระพุทธองค์อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ
และในที่สุดความวิปริตนี้ได้กลายเป็นมูลเหตุสำคัญ ที่ทำให้พุทธศาสนาเสื่อมสลายไปจากดินแดนที่เกิดของตน
ดังเราจะได้ศึกษากันต่อไป
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า
ความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในชมพูทวีปนั้น เกิดจากการอุปถัมภ์ของราชามหากษัตริย์และชนชั้นสูงเป็นปัจจัยประการสำคัญ
แม้ในประเทศอื่นที่พุทธศาสนาแผ่ไปถึง เช่น พม่า ศรีลังกา จีน ทิเบต และไทย ก็มีสภาพคล้ายคลึงกัน
การอุบัติของมหายาน
การอุบัติของพุทธศาสนานิกาย
“มหายาน” ถือกันว่าเป็นวิวัฒนาการที่กว้างไกล
และมีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนา
ความคิดความเชื่อหลักของมหายานที่ว่า
“พระโพธิสัตว์คือสัญลักษณ์ของความเมตตากรุณา อันสัตว์โลกทั้งผองพึงบำเพ็ญและปฏิบัติต่อกัน”
นั้น เป็นความคิดความเชื่อที่จูงใจ และครองใจคน
ไม่เฉพาะในอินเดียเท่านั้น ทว่าในทวีปเอเชียทั้งหมดเลยก็ว่าได้ พุทธศาสนาแบบ “เถรวาท” หรือ “หินยาน” ได้เจริญแพร่หลายไปยังเอเชียตะวันตก (ตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าอโศก)
แต่ต่อมาพุทธศาสนาแบบมหายาน ได้เข้าไปครองแทนที่ และได้แผ่ขยายไปถึงทิเบต จีน
มองโกเลีย เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม ฯลฯ
คำสอนและอุดมการณ์ของมหายานตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความเชื่อในองค์พระพุทธเจ้า
พระโพธิสัตว์ (ผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า) อีกทั้งเทพและเทพีหลายองค์ เช่น
อมิตาภะ อวโลกิเตศวร หรือ ปัทมปาณิ มัญชุศรี สมันตภัทระ หรือ จักรปาณิ อักโษภัย
ไวโรจนะ รัตนสมภพ อโมฆสิทธิ มหาสถามไมเตรยะ หรือ อริยเมตไตรย์ ไภษัชราช อากาศครภ
วัชรปาณิ ตารามารีจี ฯลฯ
อันที่จริงแล้วพระนามของพระโพธิสัตว์เหล่านี้เป็นนามธรรมของคุณสมบัติ
เช่น อวโลกิเตศวร เป็นนามธรรมของความเมตตากรุณา มัญชุศรี เป็นนามธรรมของสติปัญญา ฯลฯ
แต่ก็เช่นเดียวกับคำสอนในศาสนาทั้งหลาย เมื่อกาลเวลาล่วงเลยไป ผู้คนพากันหลงลืมนามธรรม
แต่กลับไปยึดมั่นในรูปธรรม กล่าวคือไม่นำพาต่อคุณสมบัติ เช่น ความเมตตา กรุณา
ทว่าไปยึดมั่นในรูปสมบัติ เช่น อวโลกิเตศวร คือความเมตตากรุณา แต่ได้รับการสมมติให้มีตัวตนเป็นพระโพธิสัตว์
มีฐานะเท่ากับเทพเจ้าองค์หนึ่ง และเมื่อเป็นเทพเจ้าก็ต้องได้รับการบูชากราบไหว้
เซ่นสรวงเอาใจเหมือนเทพเจ้าทั่วไป
ด้วยเหตุนี้จึงมีการรจนาบทกราบไหว้สดุดีที่มีชื่อในภาษาสันสกฤต
(พุทธศาสนานิกายมหายาน ใช้ภาษาสันสกฤตแทนภาษาบาลี
ซึ่งใช้ในนิกายเถรวาทหรือหินยาน) ว่า สฺโตตฺร บ้าง ธารณี บ้าง สฺตวและมนฺตร
(มนตร์) บ้าง พร้อมกันนั้นก็มีการกำหนดพิธีกรรมต่าง ๆ ตามฐานานุรูปของเทพเจ้า
และนี่คือที่มาของ “คาถา” หรือ “มนตร์” (คำเป่าเสกที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์) เช่น “โอม มณี ปทฺเม หุมฺ” (โอมดวงแก้วเกิดในดอกบัว)
ของชาวพุทธทิเบต หรือ “นโม โฮ เรง เก โกยฺ” ของชาวพุทธญี่ปุ่น (นิกายนิจิเรน) ฯลฯ มหายานเชื่อว่า ด้วยการท่องบ่น “คาถา” หรือ “มนตร์” อันศักดิ์สิทธิ์สั้น ๆ เช่นนี้ มนุษย์จะบรรลุความหลุดพ้นจากการเวียนเกิดเวียนตาย
(นิพพาน) ได้
ภาษาทิเบต
โอม มณี ปัทเม หุม
เมื่อเทพเจ้าทั้งชายหญิงเกิดขึ้นมากมายพร้อมกับพิธีกรรมเซ่นสรวงอันละเมียดละไมเช่นนี้
บรรดาสมณะหรือภิกษุสงฆ์ก็พากันหันมาสนใจในการประกอบพิธีกรรมเหล่านี้มากยิ่งขึ้น จนการศึกษาพระธรรมวินัย
ตลอดจนการบำเพ็ญศีลภาวนาหย่อนยานลงไปเป็นเงาตามตัว เราต้องไม่ลืมว่า
การประกอบพิธีกรรมเซ่นสรวงนานาชนิดนั้น นำมาซึ่งลาภสักการะอย่างมากและง่ายดาย
ด้วยประการฉะนี้
ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4 ถึงที่ 7 พุทธศาสนาในอินเดียจึงกลายเป็นศาสนาแห่งพิธีกรรม
แทนที่จะเป็นศาสนาแห่งการค้นคว้าทางปัญญาและเหตุผล อันเป็นวัตถุประสงค์ และเป้าหมายเดิม
ของพระโคดมพระพุทธเจ้า หลวงจีนฮวนฉ่าง (หรือยวนจ่าง) นักจาริกแสวงบุญจากประเทศจีน
ผู้เดินทางไปสืบพระพุทธศาสนาในอินเดีย ใน ค.ศ. 629 ในรัชสมัยพระเจ้าหรรษะวรรธนะ
ซึ่งครองราชย์อยู่ ณ นครอุชเชน (
สาเหตุแห่งการเสื่อมของพุทธศาสนาในอินเดีย
ประวัติศาสตร์ให้บทเรียนว่า
สถาบันหรือขนบธรรมเนียมใด ๆ ก็ตามซึ่งในระยะเริ่มต้น
อาจจะมีคุณูปการหรือประโยชน์ต่อสังคม แต่เมื่อกาลเวลาได้ล่วงเลยไป
หากสถาบันหรือขนบธรรมเนียมนั้น ๆ ไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับกาละเทศะ
สถาบันหรือขนบธรรมเนียมดังกล่าว อาจกลายเป็นอุปสรรคสิ่งขัดขวางต่อการเจริญก้าวหน้าของสังคมนั้นได้
ความจริงข้อนี้
ประวัติศาสตร์มีนิทัศน์อุทาหรณ์ให้เห็นอยู่มากมาย ตัวอย่างเช่น
การแบ่งอาชีพกันทำเพื่อทักษะและความชำนาญ (การแบ่งคนออกเป็นวรรณะในสังคมอินเดียโบราณ)
การประกอบพิธีทางศาสนา การเชื่อถือพระเจ้าหลายองค์ (พหุเทวนิยม)
ของชาวกรีกโรมันและชาวอียิปต์โบราณ การยกย่องระบบกษัตริย์ให้เป็นสมมติเทพ
การเสกคาถาอาคมและปลุกผีสางเทวดา พฤติกรรมเหล่านี้มีประโยชน์ต่อสังคมในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง
แต่เมื่อกาลเวลาได้ล่วงเลยไป พฤติกรรมดังกล่าวกลับเป็นอุปสรรคสิ่งกีดขวาง ที่กล่าวมานี้ฉันใด
พิธีกรรมและวัตรปฏิบัติทางศาสนาจำนวนไม่น้อย ก็น่าจะนำมาเปรียบเทียบได้ฉันนั้น
การแยกตนไปดำรงชีวิตต่างหากของสงฆ์
ในกรณีของพุทธศาสนานั้น
การแยกตนไปดำรงชีวิตต่างหากของสงฆ์ เป็นเหตุสำคัญประการหนึ่ง
แห่งการอ่อนกำลังของพุทธศาสนา
จริงอยู่ในระยะแรก ๆ
แห่งการก่อตั้ง การที่สงฆ์แยกจากสังคมคฤหัสถ์ไปดำเนินชีวิตต่างหาก
เป็นการรักษาความมีระเบียบ ความบริสุทธิ์ผ่องใส
และเป็นการส่งเสริมการศึกษาและความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณ แต่เมื่อกาลเวลาได้ล่วงเลยไป
สงฆ์ได้หลงลืมวัตถุประสงค์เดิมตามคำสอนของพุทธองค์ สงฆ์หันไปหมกมุ่นอยู่กับกิจธุระส่วนตัวเป็นสำคัญ
สงฆ์ทอดทิ้งไม่ดูแลการศึกษา และให้การอบรมด้านศีลธรรม และสติปัญญาแก่ประชาชน หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า
ในระยะแรก ๆ แห่งการก่อตั้งสงฆ์โดยพุทธานุมัตินั้น สงฆ์ได้บำเพ็ญกรณียกิจ ในฐานะเป็นผู้ให้การศึกษา
ฝึกอบรมศีลธรรม และพัฒนาจิตวิญญาณ แก่ประชาชนเป็นอย่างยิ่ง แต่ในกาลเวลาต่อมาอุดมการณ์ด้านนี้ของสงฆ์ได้เลือนลางจางหายไป
พุทธศาสนามีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อพัฒนาการด้านวัฒนธรรมของอินเดีย
และของหลายประเทศในทวีปเอเชีย
พุทธศาสนาเป็นพลังดลใจในศิลปศาสตร์นานาแขนงทั่วเอเชีย แต่ในประเทศอินเดียเองด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว
พุทธศาสนาได้สูญเสียฐานะความเป็นผู้นำทางศาสนา ไปอย่างน่าเสียดาย สัมฤทธิผลของศาสนาใดศาสนาหนึ่งนั้น
ขึ้นอยู่กับประชาชนผู้เป็นบริษัทบริวารของศาสนานั้นด้วย
ศาสนาชิน [หรือเชน] (Jain) ซึ่งมีคำสอนและวัตรปฏิบัติคล้ายคลึงกับพุทธศาสนาอยู่หลายอย่างหลายประการ
มีการจัดตั้งในสังคมฆราวาส (คนทั่วไปที่ไม่ใช่นักบวช) ด้วยเหตุนี้ ศาสนาชินจึงยังคงดำรงสถานะเป็นศาสนาหนึ่ง
ในประเทศอินเดียได้ตราบจนทุกวันนี้ ศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดูก็เช่นเดียวกัน กล่าวคือ
สังคมฆราวาสกับสังคมนักบวชหาได้แยกกันไม่ ทั้งสองเกี่ยวข้องกันอย่างแนบแน่น
พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เกิดในอินเดียศาสนาเดียวที่ไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับวัตรปฏิบัติทางสังคม
พุทธศาสนาไม่มีบทบัญญัติเป็นกิจจะลักษณะในเรื่องเกี่ยวกับการเกิด การตาย หรือการแต่งงานของพุทธศาสนิกชน
พุทธศาสนาให้เสรีภาพในกิจกรรมเหล่านี้อย่างสมบูรณ์ โดยถือว่าเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาในอินเดียก็คือ มหาเศรษฐีอนาถบิณฑิกะ
ผู้เป็นพุทธอุปัฏฐากคนสำคัญแห่งนครสาวัตถี ได้ยกธิดาคนหัวปี ชื่อ มหาสุภัททา
ให้แก่คหบดีแห่งเมืองอุคคนครผู้นับถือศาสนาชิน(ในภาษาบาลีมีชื่อว่า
นิคัณฐนาถปุตตะ)
ความมีใจกว้างหรือการให้เสรีภาพแก่ศาสนิกเช่นนี้
ในทัศนะของปราชญ์บางท่าน (เช่น นายนลินากฺษ ทัตตะ) เห็นว่า แม้ในระยะเริ่มแรกแห่งการก่อตั้งและเผยแผ่จะเป็นผลดีแก่พุทธศาสนา
แต่ในกาลไกลแล้วเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ เพราะทำให้วัตรปฏิบัติของศาสนิกหย่อนยาน เปิดโอกาสให้ผู้มีทัศนะและความเชื่อถือแปลกแยกเข้าไปปะปนและบ่อนทำลายเอกภาพ
การวางตนไม่แทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางสังคมของพุทธศาสนา
การวางตนไม่แทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางสังคม
ของพุทธศาสนา ในระยะเริ่มแรกนั้น เป็นการส่งเสริมให้พุทธศาสนา เจริญแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้เพราะประชาชนมีความพอใจที่พุทธศาสนาให้เสรีภาพ ไม่แทรกแซงเปลี่ยนแปลงหรือเลิกล้มจารีตประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติกันมาแต่เดิม
พระพุทธองค์เป็นปัญญาชน
เป็นนักคิด พระองค์มาจากราชตระกูลที่ดำรงอยู่ในจารีตประเพณี ตลอดจนความเชื่อถือตามระบบของสังคมอันมีพราหมณ์เป็นผู้นำมาแต่โบราณกาล
ในฐานะที่เป็นปัญญาชน นักคิด พระองค์ทรงสะท้อนพระทัยเมื่อได้ทอดพระเนตรเห็น “นิมิต 4” มี คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช อันเป็นเหตุให้พระองค์ทรงโทมนัสถึงกับตัดสินพระทัยออกบรรพชา
ทั้งนี้เพื่อทรงค้นหาวิธีที่คนเราจะได้พบอิสระจากการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยเหตุนี้แม้เมื่อทรงบรรพชาแล้ว
พระองค์ก็มิได้ทรงข้องเกี่ยวกับความเชื่อถือหรือจารีตประเพณีของสังคม พระองค์ทรงปล่อยให้ความเชื่อถือหรือวัตรปฏิบัติเหล่านี้เป็นไปตามสภาพเดิม
พระองค์ทรงมุ่งมั่นอยู่กับการค้นหา “สัจธรรม” ที่ทำอย่างไรคนเราจะได้ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ในคำสอนของพระองค์ที่มีปรากฏในพระสูตรต่าง
ๆ พระองค์ได้ทรงห้ามมิให้เวไนยยนิกรเสียเวลาถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์หรือคาดคะเนในเรื่องที่ไร้ประโยชน์
ไม่นำไปสู่ความหลุดพ้น (นิพพาน) เช่น ความเห็นที่ยึดเอาที่สุด 10 ประการ (อันตคาหิกทิฏฐิ) ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย เป็นต้น
นายนลินากฺษ ทัตตะ ปราชญ์ชาวอินเดียผู้รจนาตำราหลายเล่มเกี่ยวกับพุทธศาสนาในอินเดีย
ได้เขียนแสดงความเห็นไว้ว่า การวางตนไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการทางสังคมของพุทธศาสนาในอินเดียในระยะแรก
ๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่พระพุทธองค์และสานุศิษย์ผู้ปรีชาญาณของพระองค์ยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น
เป็นผลดีแก่การเผยแผ่พุทธศาสนาอย่างแน่นอน แต่เมื่อกาลเวลาล่วงเลยไป และเมื่อไม่มีพระพุทธองค์ตลอดจนสานุศิษย์ผู้ปรีชาญาณเป็นผู้นำและให้แสงสว่าง
ลัทธิความเชื่อตลอดจนพิธีกรรมเก่าๆ ของพราหมณ์ซึ่งมีมาแต่โบราณกาล จึงกลับฟื้นคืนชีพขึ้นอีก
ด้วยเหตุนี้ภายในระยะเวลามิช้ามินานหลังจากพุทธปรินิพพาน
และหลังจากอัครสาวกองค์สำคัญ ๆ ผู้เปรื่องปราดได้ล่วงลับไปแล้ว ประชาชนต่างก็เริ่มลืมเลือนสารัตถะแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้า
และต่างกลับไม่เชื่อถือและประพฤติปฏิบัติตามลัทธิคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ต่างกลับไปเชื่อถือและประพฤติปฏิบัติตามลัทธิคำสอนของพราหมณ์
ซึ่งพระพุทธองค์ทรงคัดค้านและต้องการเปลี่ยนแปลงตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ กล่าวโดยย่อก็คือ
แก่นแห่งศาสนาพุทธ ได้ถูกกระพี้แห่งศาสนาพราหมณ์ ปกปิด หรือบดบังไว้
อย่างแทบจะมองไม่เห็น โดยเฉพาะจากสามัญชนคนธรรมดา
พฤติการณ์ทำนองเดียวกันนี้ได้เกิดขึ้นในประเทศอื่นที่พุทธศาสนาได้แผ่ไปถึง
เช่นในประเทศจีน ทิเบต เนปาล พม่า สยาม ลังกา ญี่ปุ่น ตลอดจนเกาหลี มองโกเลีย และอินโดนีเซีย
ในทุกประเทศที่ได้กล่าวนามมานี้ เป็นความจริงที่พุทธศาสนาได้เข้าไปประดิษฐานอยู่เป็นเวลาช้านาน
ทั้งได้รับความเทิดทูนสักการะอย่างสูงจากประชาชน แต่ในขณะเดียวกันอิทธิพลของวัฒนธรรม
ตลอดจนลัทธิความเชื่อถือ เดิมของท้องถิ่นก็ได้เข้าไปผสมผสานปนเปกับ
คำสอนอันแท้จริงของพุทธศาสนา อย่างแทบจะแยกกันไม่ออก
กล่าวโดยย่อก็คือ “ปรมัตถธรรม” ที่พระโคดมพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ ได้เลือนลางจางหายจนแทบจะสูญความหมาย
ในอินเดีย โดยเฉพาะแล้ว ภายในระยะเวลาไม่กี่ร้อยปีหลังจากพุทธศาสนา แม้ในถิ่นที่พุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรืองที่สุดมาแล้ว
เช่นในรัฐพิหาร อุตรประเทศ และเบงกอล ก็ตาม
ความตกต่ำทางภูมิปัญญาของสงฆ์
สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้พุทธศาสนาเสื่อมอิทธิพลน่าจะได้แก่
ความตกต่ำทางภูมิปัญญาของบุคคลที่เข้ามาเป็นสมาชิกในคณะภิกษุสงฆ์ ตราบใดที่คณะสงฆ์มีสมาชิกที่ทรงความรู้ความสามารถ
เป็นประทีปทางปัญญาให้แก่ปวงชน ตราบนั้นพุทธศาสนาก็อยู่ในฐานะสูงส่ง มีราชามหากษัตริย์ตลอดจนประชาชนคนธรรมดาประกาศตน
เป็นสมาชิกมากมาย แต่หลังจากพุทธปรินิพพานไม่นานก็ปรากฏตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า
ได้มีความหย่อนยานเกิดขึ้นทั้งในทางระดับภูมิปัญญา และในวัตรปฏิบัติของสงฆ์ จนต้องมีการสังคายนากันเป็นระยะ
ๆ ตลอดมา
ในอินเดียสมัยโบราณมีการโต้วาที
(ศาสตรารฺถ) กันในเรื่องของศาสนาที่เป็นสาธารณะ โดยเปิดให้ประชาชนทุกลัทธิความเชื่อถือเข้าฟังได้
ผลของการโต้วาทีมีอิทธิพลของความเชื่อของคนในยุคนั้นมาก ปรากฏว่าในการโต้วาทีเหล่านั้น
ปราชญ์ฝ่ายพราหมณ์-ฮินดู เช่น ท่านกุมาริละ และท่านศังกราจารย์ ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้พิชิต” ปราชญ์ฝ่ายพุทธ
การปรากฏของลัทธิตันตระ
ลัทธิตันตระเป็นวิวัฒนาการขั้นต่อมาของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
ซึ่งได้กล่าวถึงมาบ้างแล้วในตอนต้น
เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ซึ่งเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก
มีอาทิในประเทศอินเดีย อียิปต์ ประเทศจีนยุคกลาง ในตะวันออกกลาง ยุโรป
สหรัฐอเมริกา (ล่าสุดในญี่ปุ่น ได้แก่กรณีโอมชินริเกียว - Aum
Shinrikyo ซึ่งได้สร้างความหายนะทั้งในชีวิตและทรัพย์สินแก่ชาวญี่ปุ่นอย่างมหาศาล)
ชี้ให้เราเห็นว่า ความเชื่อลัทธิทางศาสนานั้น มีอิทธิพลอย่างมากมายต่อพฤติกรรมในชีวิตของมนุษย์
พิธีกรรมหรือวัตรปฏิบัติ อันเกิดจากความเชื่อทางศาสนามากมายหลายกรณี
ซึ่งแรกเริ่มเดิมที เกิดจากเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์อันดีงาม เป็นบุญกุศล
แต่พอกาลเวลาล่วงเลยไป กิเลสของคนกลับแปรเปลี่ยนให้พิธีกรรมหรือ
วัตรปฏิบัติเหล่านั้น หันเหไปในทางที่เลวทรามต่ำช้าสุดที่จะพรรณา
อุปมาที่กล่าวมานี้ฉันใด
อุปไมยก็ได้แก่ลัทธิตันตระ อันเป็น วิวัฒนาการขั้นต่อมาในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
อาจกล่าวได้ว่า
ตันตระเป็นลัทธิความเชื่อและวัตรปฏิบัติที่นำ พุทธศาสนาไปสู่ความหายนะขั้นสุดท้ายในประเทศอินเดีย
ตันตระประกอบด้วยคำสอนหลัก 5
ประการ ที่มีชื่อว่า “5 ม” มี (1)
มัทยะ - เหล้า (2) มางสะ - เนื้อ (3) มัตสยะ - ปลา (4) มุทรา
- ท่าทาง (5) ไมถุน - การเสพสังวาส
ผู้ที่เชื่อในหลักคำสอนของตันตระจะต้องใช้
“5 ม” นี้ประกอบ การบูชากราบไหว้
เพียงเท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการที่จะเข้าใจว่าตันตระคือ
อะไร และทำไมพุทธศาสนาในอินเดียจึงถึงซึ่งกาลอวสานด้วยตันตระ
สมองของมนุษย์นั้นว่ากันว่าเป็นเลิศประเสริฐสุดในบรรดาสัตว์
ทุกชนิดที่มีให้เห็นในโลก แต่ประวัติศาสตร์ก็มีนิทัศน์อุทาหรณ์ให้เราต้องยอมรับและเชื่อว่า
ก็สมองของมนุษย์นี่แหละที่ได้สร้างความชั่วช้าสามานย์ ตลอดจนความพินาศวอดวายที่เลวร้ายที่สุดให้แก่มนุษย์
ทุกวันนี้ “ตันตระ” ก็ยังมีให้เห็นทั่ว ๆ ไปในโลก (รวมทั้งในเมืองไทยด้วย)
อาจจะมีท่านผู้อ่านอยากจะทราบว่าลัทธิตันตระชั่วร้ายอย่างไร
ถึงกับทำให้พุทธศาสนาปลาสนาการไปจากอินเดียอันเป็นดินแดนถิ่นที่เกิด ผู้เขียนก็ขอตอบโดยสังเขปที่สุดว่า
ตันตระนั้นหรือคือลัทธิที่สอนให้คนเชื่อในเวทย์มนต์คาถาอาคม
การทรงเจ้าเข้าผี ตลอดจนทุกสิ่งทุกอย่างที่รวมอยู่ในไสยศาสตร์ ไสยเวท อันมีกำเนิดจากคัมภีร์อาถรรพเวทของพราหมณ์
และอยู่นอกเหนือวิสัย ของปุถุชนคนธรรมดา
อาจกล่าวได้ว่า
ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 12 ชาวอินเดียทั้งประเทศซึ่งเดิมเคยนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
และศาสนาพุทธ ต่างก็ตกอยู่ในความครอบงำของลัทธิตันตระอย่างไม่ลืมหูลืมตา ทั้งนี้ไม่เฉพาะแต่สามัญชนคนธรรมดาเท่านั้น
หากชนชั้นสูงรวมทั้งชนชั้นผู้ปกครองด้วยก็เช่นเดียวกัน
ชาวพุทธถูกรุกรานประหัตประหาร
อิสลามในฐานะเป็นกำลังสำคัญทั้งในทางการเมืองและการศาสนา
ได้แผ่เข้าไปในอินเดียทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยเริ่มตั้งแต่ตอนต้น ของคริสต์ศตวรรษที่
11 และภายในเวลาไม่กี่ร้อยปี ก็สามารถครอบครองดินแดนภาคเหนือ ภาคกลาง
และภาคตะวันออกของอินเดียไว้แทบจะทั้งหมด และครองอยู่ได้เป็นเวลาหลายร้อยปีต่อมา
การที่อิสลามเข้าไปมีอำนาจทางอาณาจักรและศาสนจักรในอินเดียเป็นเวลาหลายร้อยปี
ทำให้อิทธิพลของวัฒนธรรมอิสลามแผ่กระจาย และคลุมครอบชีวิตของชาวอินเดียอย่างลุ่มลึกและกว้างไกล
ซึ่งอิทธิพลนี้ยังมีให้เห็นตราบจนปัจจุบัน โดยเฉพาะในอินเดียภาคเหนือ
ในส่วนที่เกี่ยวกับพุทธศาสนานั้น
อาจกล่าวได้ว่า การปรากฏตัวของอิสลามเป็นมรสุมลูกสุดท้ายที่กระหน่ำให้ “พุทธนาวา” ลำนี้ก็อยู่ในสภาพ “ชำรุด”
เต็มประดา ด้วยท้องนาวาถูกแมงกระพรุนตันตระกัดกิน เป็นรูรั่วน้ำไหลเข้าได้
จวนเจียนจะพลิกคว่ำอยู่แล้ว แต่ “มรสุม” ลูกสุดท้ายที่ทำให้พุทธศาสนาต้องพังพินาศไปจากแผ่นดินอินเดียนั้น แน่นอน
คือ “อิสลาม”
ผู้เขียนขอจบบทความนี้ด้วยการยืมเอาคำพรรณนาของ
พระภิกษุ ดร.อานันท์ เกาศัลยายน
พระอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ภาษาฮินดีให้แก่ผู้เขียนตั้งแต่ชั้น ก ข ค
ซึ่งปรากฏในบทเขียนของท่านชื่อ “How India Lost Buddhism?” มาเสนอท่านผู้อ่านดังต่อไปนี้
“ในขณะที่ความเสื่อมทางศีลธรรมและจิตใจกำลังมาสู่ประชาชาติอินเดียดังได้พรรณามานี้
การแบ่งแยกถือชั้นวรรณะตามศาสนาพราหมณ์ก็กระหน่ำทำให้ชีวิตสังคมอ่อนเปลี้ยลงอย่างที่สุด
และในขณะที่ความ “เร้นลับ” ของลัทธิ “ตันตระ” กำลังทำให้สมองของประชาชนหมดสมรรถภาพอยู่นั้น
กองทัพอันเกรียงไกรของมุสลิมก็เคลื่อนขบวนมาจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ คล้ายกับมรสุมใหญ่ที่กำลังพัดมาเพื่อทำความสะอาดให้แก่สิ่งโสโครกทั้งหลาย
บรรดาโบสถ์วิหารและทรัพย์สมบัติเครื่องบูชาอันมีค่ายวดยิ่ง ซึ่งสะสมกันไว้ตั้งร้อย
ๆ ปี ได้ถูกทำลายพินาศลงด้วยน้ำมือของพวกรุกรานมุสลิม ปฏิมาของพระโพธิสัตว์และเทพยดา
ทั้งหญิงชาย ได้ถูกเหวี่ยงลงจากแท่นบูชาและเผาผลาญไม่มีเหลือ ไม่มีสิ่งใดเป็นเครื่องศักดิ์สิทธิ์
สำหรับนักรบมุสลิมผู้กระหายอำนาจและทรัพย์สมบัติเหล่านี้ “มนตร์”
และพิธีกรรมต่าง ๆ ทางลัทธิ “ตันตระ” ที่เชื่อกันว่า “ขลัง” ยิ่งนักนั้นปรากฏว่าไม่สามารถให้ความคุ้มครองได้
บรรดา “ผู้สำเร็จ” และ “อาจารย์” องค์สำคัญ ๆ
ต่างพากันยืนมือเท้างอต่อหน้ากองทัพมุสลิม ในที่สุดขณะที่พวก “ตันตระ” กำลังประกอบพิธีกรรมและสวด “มนตร์” อยู่อย่างไม่ลืมหูลืมตา แผ่นดินทางอินเดียภาคเหนือก็ตกไปอยู่ในกำมือของมุสลิมอย่างราบคาบ”
การทำมุทรา
กับลูกประคำของลามะ
พระลามะ “ตารานาถ”
ได้บันทึกไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนา”
ของท่านว่า “บรรดาภิกษุสงฆ์เมื่อถูกฆ่าและถูกทำร้ายโดยพวกมุสลิมในศตวรรษที่
12 ต่างก็พากันหนีไปยังประเทศทิเบต และประเทศอื่น ๆ นอกอินเดีย เมื่อภิกษุสงฆ์ไม่มีเหลืออยู่
ทั้งโบสถ์วิหารก็ถูกทำลายลงจนหมดสิ้น จิตใจของพวกฆราวาสพุทธมามกะ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการณ์
ผลก็คือ พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ได้สวามิภักดิ์ต่อพราหมณ์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กันทางเลือดเนื้อและวัฒนธรรมอยู่แล้ว
พวกที่เหลืออยู่ก็หันไปนับถือหรือถูกบังคับให้นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีอำนาจทางการเมืองอยู่ในเวลานั้น
ด้วยประการฉะนี้เองที่พระพุทธศาสนาได้สูญหายไปจากอินเดีย ดินแดนที่เกิดของตน”.
สรุป
เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาในดินแดนพุทธภูมินั้น
จากประวัติศาสตร์ เราได้เห็นทั้งความเจริญถึงขนาดกล่าวได้ว่า
เป็นยุคทองของพระพุทธศาสนา ผ้ากาสาวพัตรโบกสะบัดทั่วอินเดีย มีพุทธสถาน
ปรากฏตามเมืองน้อยเมืองใหญ่ ถึง 84,000 วิหารหรือวัด
เริ่มแต่สมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ราวพุทธศตวรรษที่ 3 รุ่งเรืองถึงขีดสูงสุดในสมัยพระเจ้าหรรษะ
วรรธนะ ถึงสมัยราชวงค์ตุปตะ มีมหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมา
เป็นแห่งเพาะบ่มปัญญาของชาวพุทธด้วยระบบการจัดการศึกษาที่ดี
มีชื่อเสียงขนาดพระสงฆ์จากประเทศจีนต้องไปศึกษาและนำคัมภีร์พระพุทธศาสนากลับมาแปลที่บ้านตนต่างกรรมต่างวาระ ถึง 3 ท่าน คือ หลวงจีนฟาเหียน หลวงจีนอี้จิง
และหลวงจีนเฮี่ยงจัง หรือ พระถังซำจั๋ง ที่คนไทยรู้จักชื่อท่านดี
พระพุทธศาสนาได้แผ่ออกจากอินเดียสู่นานาประเทศโดยพระสมทูตรุ่นแล้วรุ่นเล่า
นั่นคือความเจริญ
แต่สถาบันใดหากสืบทอดมานาน ก็ต้องล่มสลายไปตามกฎอนิจจัง
ทว่า คงมิได้ปล่อยให้กฎเป็นตัวคุม
สิ่งที่เร่งให้พระพุทธศาสนาเสื่อมถอยจากอินเดียเร็วกว่ากฎอนิจจังนั้น
เกิดจากน้ำมือมนุษย์ทั้งผู้หวังดีแต่ไม่เข้าใจอุดมการณ์ที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า
และจากผู้ไม่หวังดีต่อพระพุทธศาสนา ทั้งภัยจากภายใน ที่พุทธบริษัทแตกเป็นก๊กนิกาย
ปรองดองกันมิได้ ทั้งภัยจากภายนอก คือ ศาสนาอินดูที่กลืนพระพุทธศาสนา
กดพระพุทธเจ้าให้เป็นเพียงเทพอวตาร หรือร่างทรงของมหาเทพฮินดู และภัยจากกองทัพมุสลิม เมื่อพุทธศักราช 1504
กษัตริย์ราชวงศ์ Samanid (ค.ศ.864 - 1005) ของอิหร่านแต่งตั้งให้ผู้นำทหารเตอร์กคนหนึ่งเป็นเจ้าครองแคว้น
Khurasan แต่หนึ่งปีต่อมาเกิดทะเลาะกัน
ทหารเตอร์กผู้นี้จึงเข้ายึดแคว้น Ghazni (อัฟกานิสถาน) เสีย แล้วยกทัพเข้าตีอินเดียหลายครั้ง
โดยเฉพาะที่ปัญจาป เพราะเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ แต่ผู้ที่ตีอินเดียได้ คือ
ลูกชายชื่อ มามุด เข้าปล้น เมืองนำของมีค่ากลับไป Ghazni ตัดสัมพันธ์กับอิหร่าน
กลับไปมีสัมพันธ์กับแบกแดด มามุดกลับไปครอง Ghazni ไม่อยู่ครอง ต่อมาชาวเตอร์กจาก Ghor ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของ
Ghazni มาตี Ghazni ได้ จึงหันมาสนใจอินเดีย
Mohammed Ghori (น้องชาย) ตีได้แคว้นสินธุ์และพยายามเข้ารุกรานอาณาจักรพุทธ
ในแคว้นกุจราตก่อน จนได้รับชัยชนะครอบครองอินเดียเหนือทั้งหมด[5] และทำการกวาดล้างผู้ที่ไม่นับถือศาสนาอิสลาม
ทำลายพระพุทธศาสนา หายไปจากอินเดีย
โชคยังดีที่พระพุทธศาสนามิได้ตั้งมั่นเฉพาะในอินเดียเท่านั้น
ยังไปเจริญในประเทศอื่นๆ หลายประเทศในทวีปเอเชีย
ประวัติศาสตร์อันยาวนานของพุทธศาสนาที่เคยเจริญรุ่งเรืองอยู่ในอินเดีย แต่ปัจจุบันกลับไปเจริญในดินแดนอื่น
ชาวพุทธในประเทศเหล่านั้น จึงได้ช่วยกันนำพระพุทธศาสนากลับคืนไปสู่แดนเดิมอีกครั้ง
เป็นความพยามเมื่อ ประมาณ 100 กว่าปีมานี่เอง ที่อินเดียแดนพุทธภูมิเดิม แม้จะมีชาวพุทธใหม่เกิดขึ้นมา ก็เป็นเพียงชาวพุทธกลุ่มหนึ่ง
แถมอยู่ในวรรณะต่ำสุด ตามลัทธิความเชื่อเรื่องวรรณะในศาสนาฮินดู ด้อยทั้งศักดิ์ศรี
อำนาจ และเศรษฐกิจ พุทธศาสนาจึงจำกัดอยู่ในวงแคบ พุทธศาสนิกชนในอินเดียมีจำนวนน้อยมาก
นับเป็นเปอร์เซ็นต์มิได้เลย เมื่อเทียบอัตราส่วนกับประชากรอินเดีย 1,000,000,000(หนึ่งพันล้าน)
คน พวกเขาจึงเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยที่ยังนับถือพระพุทธศาสนาอยู่ปัจจุบัน
จำนวนศานิกชนผู้นับถือศาสนา
ในโลก
ข้อสังเกต
พระพุทธศาสนาจะเจริญในที่ใด
ต้องอาศัยผู้ปกครองและประชาชนในประเทศนั้นให้การอุปถัมภ์ค้ำชู
หากผู้ปกครองและประชาชนอินเดียยังไม่เห็นความสำคัญและให้การส่งเสริม
พระพุทธศาสนาในอินเดีย ก็คงจะหดหายไป เช่นประวัติศาสตร์ที่ผ่าน หรือ อย่างไร
[1] พระมหาดาวสยาม วชิรปญฺโญ, พุทธสถานที่ถูกลืมในดินเดีย, (กรุงเทพฯ : เม็ดทรายพรินติ้ง, 2547), หน้า
4.
[2]
http://www.buddhanet.net/e-learning/history/b_chron-txt.htm
สืบค้น วันที่ 16 มีนาคม 2547
[3] http://www.thai.net/watcholpratan/wat2.htm 26 เมษายน 2548
[4] กรุณา กุศลาสัย,
ความเจริญและความเสื่อมของพระพุทธศาสนาในอินเดีย, สืบค้นจากเวบพระพุทธศาสนา
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2548.
[5]
สุนันทา ฟาเบรอ, อารยธรรมอินเดีย, 2548.http://www.stjohn.ac.th/University/Press/India/India.html สืบค้นเมื่อ วันที่ 9 เม.ษายน 2548
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น