วิถีไทย : วิถีพุทธ
อารัมภกถา
แต่บรรพกาล
ย้อนไปประมาณ พ.ศ. 612 สมัยอาณาจักรอ้ายลาวเมื่อขุนหลวงเม้า
(ลิวเมา) เป็นกษัตริย์ครองอยู่ ในดินแดนจีน พระเจ้ามิ่งตี่ จักรพรรดิจีนแต่งทูตไปสืบศาสนาในประเทศอินเดีย
และกลับสู่ประเทศจีนพร้อมนำสมณทูตชาวอินเดียไปด้วย เมื่อ พ.ศ. 608
พระเจ้ามิ่งตี่ทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา
และได้ส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรอ้ายลาว ขุนหลวงเม้าพิจารณาเห็นว่า
พระพุทธศาสนานี้เหมาะอย่างยิ่งกับนิสัยใจคอของคนไท จึงได้ยอมรับเอามาเป็นศาสนาประจำชาติไทเป็นครั้งแรก เมื่อปี
พ.ศ. 612 (เป็นพระพุทธศาสนาแบบมหายาน)
กาลผ่านมา
เมื่อชนชาติไทยได้อพยพลงมาสู่ดินแดนตอนใต้ของจีน ในดินแดนอาณาจักรเชียงแสน
ตามตำนานสิงหนวัติ ก็ได้นำศาสนาที่ตนนับถือติดตัวมาด้วย หนังสือ “จามเทวีวงส์” ก็ได้บันทึกว่า ในสมัยหริภุญชัย ประมาณ พ.ศ.
1200 พระนางจามเทวี มาครองนครที่สร้างใหม่ ก็ได้นับถือพระพุทธศาสนาตามแบบละโว้
นำพระสงฆ์ทรงไตปิฎกมาเผยแผ่ศาสนาด้วย ตามตำนานมูลศาสนาและ ชินกาลมาลีปกรณ์ ก็บันทึกต่อว่า
ดินแดนไทยถิ่นนี้ ได้รับพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบพุกาม สมัยพระเจ้าอโนรธามังฉ้อ
ราวพุทธศตวรรษที่ 16 มาเสริมความแกร่งของศาสนาพุทธแบบพื้นเมือง
เมื่อพระยามังราย มาตั้งอาณาจักรล้านนา ตั้งนครเชียงใหม่เป็นราชธานี
ก็ได้รับสืบทอดพระพุทธศาสนาตามแบบหริภุญชัยเอาไว้
เมื่อชาวไทยทางตอนกลางได้ประกาศตั้งอาณาจักรสุโขทัยเป็นอิสระจากขอม
ประมาณพุทธศตวรรษที่18 กษัตริย์ไทยก็ได้รับพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ที่เห็นว่าท่านปฏิบัติเคร่งครัดกว่าพระสงฆ์พื้นเมืองเดิม
มาเป็นหลักบำรุงจิตใจ จนพระมหากษัตริย์ เช่น พระยาลิไท สามารถแต่งคัมภีร์ทางศาสนา “เตภูมิกถา
หรือ ไตรภูมิพระร่วง” แสดงหลักความรู้เรื่องปรมัตถธรรม ออกเผยแผ่
เป็นตำราที่กษัตริย์นิพนธ์ด้วยพระองค์เอง เล่มแรก ทางพระพุทธศาสนา
ที่นครเชียงใหม่ ในสมัยพระยากือนา เห็นว่าพระพุทธศาสนาแบบลัทธิลังกาวงศ์เคร่งครัดจึงได้นิมนต์พระมหาสุมนะจากสุโขทัยขึ้นมาเผยแผ่ศาสนาที่อาณาจักรล้านนา
มีหลักฐานคือการสร้างพระบรมธาตุดอยสุเทพ และวัดสวนดอก
ลุถึงสมัยพระยาติโลกราช
พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองถึงขนาดพระสงฆ์ไทยสามารถทำสังคายนาพระพุทธศาสนาด้วยภาษาบาลี
ในดินแดนไทยเป็นครั้งแรก นับเป็นการทำสังคายนาครั้ง ที่ 8 ของโลก ที่วัดมหาโพธาราม(วัดเจ็ดยอด)
นครเชียงใหม่ พ.ศ. 2020 พระสงฆ์ไทยสามารถแต่งคัมภีร์ทางศาสนาเป็นภาษาบาลีออกมาหลายคัมภีร์
เช่น มังคลัตถทีปนี จักวาลทีปนีเป็นต้น เป็นที่ยอมรับในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา
กล่าวได้ว่า นับแต่อดีตกาลมาจวบปัจจุบัน
พระพุทธศาสนาได้เป็นหลักคิด หลักดำเนินชีวิต
เป็นบ่อเกิดขนบจารีตประเพณีและวัฒนธรรมของไทย สร้างนิสัยหล่อหลอมจิตใจของชาวไทยให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะเช่นนี้
เพราะเรานับถือพระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณมาช้านาน
หลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวไทย คือ พระพุทธศาสนา
คนไทยผู้มีอำนาจทั้งหลาย
อย่ามัวกระบิดกระบวน ดัดจริตเพราะภยาคติ โมหาคติ
ด้วยความเกรงอกเกรงใจศาสนิกชนอื่น(คริสตชน และมุสลิมเข้ามาสมัยอยุธยา)
ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เปรียบเสมือนแขกบ้าน แต่ตัวชาวพุทธเจ้าบ้านกลับไม่กล้าประกาศว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย
จงองอาจกล้าประกาศเหมือนประเทศลาว บ้านพี่เมืองน้องหน่อยที่กล้าหาญปราศว่า
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติลาว
มีเหตุผลอะไรมารองรับว่า วิถีไทย คือ วิถีพุทธ
โปรดพิจารณา
วิถีพุทธเป็นอย่างไร
พระพุทธศาสนาถูกมองแยกออกมาได้หลายฐานะ
หากจะยกฐานะที่บริสุทธิ์สูงส่ง ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งความรู้
การตื่นจากความเขลางมงายไร้เหตุผล
เป็นศาสนาที่มุ่งสู่ความสะอาด สงบ และสว่าง ผู้ที่เป็นชาวพุทธพันธุ์แท้
จึงเน้นที่การรู้ตื่น สะอาด สงบ และสว่างด้วยสติปัญญา มากกว่าศรัทธาตาบอด
แต่หากจะมองอีกฐานะที่เป็นเปลือกหุ้มหลักการศาสนา
ก็จะพบพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนาพื้นบ้าน เป็นวิถีดำเนินชีวิตของชาวบ้าน
ศาสนาพุทธได้กลายมาเป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นลมหายใจของชาวบ้าน
เป็นวิถีชีวิตนับแต่เกิดจนกระทั้งสิ้นลมหายใจ เป็นทั้งวิธ๊การและจุดหมายสูงสุดของชีวิต
คำสอนเรื่องความสะอาด สงบ สว่าง และทางสายกลาง จึงเป็นวัฒนธรรม
เป็นจารีตประเพณีแบบไทยพุทธ วิถีพุทธจึงแตกต่างจากวิถีคริสต์
วิถีมุสลิมอย่างชัดเจน
แม้ว่าเราจะมีหลักความเชื่อและหลักปฏิบัติที่ต่างกัน
แต่เราปัจจุบันก็เป็นคนไทย อยู่ร่วมอาศัยแผ่นดินเดียวกันได้ โดยไม่เอาศาสนามาเป็นเครื่องมือสร้างความแตกแยก
ผมมิได้มีเจตนาที่จะทำเช่นนั้น
แต่ด้วยสถานการณ์ที่โลกตกอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์
เห็นว่า หากเราปล่อยให้กระแสโลกย์พัดพาไปโดยไร้ทิศทาง ก็ไม่ทราบว่าจะพบ “หายนะ” หรือ “พัฒนะ” อะไรรออยู่เบื้องหน้า
วัฒนธรรมเก่า กับวิถีชีวิตใหม่ถึงดูแม้จะขัดแย้งกัน
แต่น่าจะปรับจูนให้เข้ากันได้ ก็ไหนว่า
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีรากฐานแบบวิทยาศาสตร์ แล้วมันจะขัดกันจนต้องกีดกันอีกฝ่ายหนึ่งตกถนนไปเลยหรือ
วิถีพุทธไทย
VS วิถีโลกาภิวัตน์
1. ตื่นเช้าทำบุญตักบาตร(สะอาด)
สังคมไทยสมัยก่อน
เป็นสังคมชนบท มีวัดวาอารามเป็นศูนย์รวมทางจิตใจ
มีพระสงฆ์ผู้ทรงศีลเป็นที่เคารพศรัทธา เป็นเนื้อนาบุญกุศล ทุกเช้า
ชาวบ้านจะเตรียมข้าวปลาอาหารเพื่อทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และสืบศาสนทายาท
ได้ทุกวัน เพราะพระสงฆ์ออกบิณฑบาตทุกเช้า เราก็ได้ทำบุญให้ทานทุกวัน ดังจารึกสุโขทัยว่า
“ชาวสุโขทัยมักทำทาน โอยทาน”
หลายคนเข้าใจผิดว่า การที่พระสงฆ์ออกบิณฑบาต
เป็นการขอทานเพื่อยังชีพ อันที่จริง การที่พระสงฆ์ออกบิณฑบาต เป็นการเปิดโอกาสให้คนได้เสียสละความตระหนี่
ได้บริจาคข้าวปลาอาหาร เป็นการทำบุญ ถือว่าพระสงฆ์ท่านออกไปโปรดสัตว์ให้ได้ทำบุญถึงที่
คุณจะไม่ทำท่านก็ไม่ว่าและไม่ขอ
สมัยก่อนเราได้ทำบุญตักบาตร ได้สั่งสมบุญ เก็บบุญทุกเช้า ด้วยอำนาจสังฆคุณบทสุดท้ายว่า
“ท่านเป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก”
ได้ฝากบุญเอาไว้ทุกวันเหมือนฝากเงินกับธนาคาร
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป
สังคมชนบทแม้จะยังมีวัดและพระสงฆ์ออกบิณฑบาตอยู่ แต่วิถีชีวิต
แบบปัจจุบันไม่อำนวยให้
เพราะคนในชนบทส่วนใหญ่ไหลเข้าทำงานในเมืองใหญ่ กระโจนเข้าสู่สังคมที่มีแต่ความรีบเร่ง
มีแต่การแข่งขัน ด้วยข้ออ้างภาวะเศรษฐกิจบีบรัด รีบออกจากบ้านไปทำงานตั้งแต่ก่อนพระสงฆ์จะได้ออกจากวัดมาบิณฑบาต
เขาจึงไม่ได้ตักบาตร แม้ใจอยากจะทำ
วิถีชีวิตแบบศตวรรษที่ 21 เป็นสังคมแบบหลวมๆ
มีหมู่บ้านจัดสรรเกิดเป็นกลุ่มๆ รอบตัวเมือง เป็นสังคมแบบใหม่ที่อยู่แบบตัวใครตัวมัน
คบกันเป็นทางการมากกว่าสังคมเดิม
เคยสังเกตไหมว่า
โครงการหมู่บ้านจัดสรรที่ใหญ่โตมโหราฬ สร้างเครื่องอำนวยความสะดวกทุกอย่างล่อใจให้อยากไปอยู่
แต่ไม่เคยพบว่า
มีโครงการบ้านจัดสรรใดๆเลยที่อ้างว่า จะสร้างวัด สร้างศาสนสถานที่ผู้เข้าอยู่จะได้สัมผัสบุญกุศลเหมือนสังคมแบบชนบท
เปล่าทั้งนั่น ไม่สร้างวัดในโครงการยังพอทำเนา
แถมพระที่เข้าไปบิณฑบาตก็ไม่ทันเจ้าของบ้านที่เร่งรีบออกไปทำงานแต่เช้าตรู่ พระจึงแทบไม่ได้อาหารพอสืบอายุพระพุทธศาสนา
เมื่อเป็นแบบนี้
ผู้ประสงค์บุญตามธรรมเนียม “ตื่นเช้าทำบุญตักบาตร ทำบุญร่วมชาติตักบาตรร่วมขัน” วัดก็อยู่ไกล
เวลาก็ไม่มี จะแก้ปัญหาอย่างไร
ขอเสนอทางออกที่แสนง่าย ประหยัด
และทำได้ทุกวัน แถมเลือกพระที่เคารพนับถือ และเลือกวัดก็ได้ด้วย
เป็นการออมบุญแบบสะสมบุญ ทำนองฝากเงินในบัญชีสะสมทรัพย์อย่างไรอย่างนั้น
ก็วิธี “ออมบุญ” แบบออมสินไงละครับ
ไม่ต้องอ้างเวลาเร่งรีบ ไม่ต้องอ้างว่าอยู่ไกลวัด
เมื่อผมตักบาตรพระสงฆ์
ที่สะดวกก็ไปจัดหาอาหารที่ตลาดสด อยากใส่อะไรก็สั่งแม่ค้าจัดให้ ทั้งอาหารคาว หวาน
น้ำ ผลไม้
หรือไม่ก็ซื้อที่เขาจัดเป็นชุดตักบาตร คำนวณคร่าวๆ ของที่พระฉันได้
มีประโยชน์ ชุดหนึ่งก็ตกที่ประมาณ 25 หรือ 30 บาท
ทีนี้เราก็ไปหาซื้อบาตรออมสิน ที่ร้านสังฆภัณฑ์ หรือกระปุกออมสินมาสักใบ
ทุกเช้า ก็เอาเงิน 30 บาท(หรือแล้วแต่ท่านจะกำหนดตามศรัทธา)
ใส่บาตรทุกวัน ด้วยจิตใจที่มุ่งอุทิศต่อพระสงฆ์ ตั้งใจใส่บาตรออมทุกวัน แล้วเมื่อถึงปลายเดือน
วันหยุด หรือโอกาสพิเศษ เราก็นำกระปุกบาตรออมบุญนั้นไปถวายพระที่เราเคารพนับถือ
หรือถวายเป็นค่าอาหารเช้าเพลที่วัดใดก็ได้
นี่เท่ากับท่านได้ตักบาตรทำบุญทุกวัน
กุศลเกิดทุกวัน ถ้าตอนเช้าลืมหยอดกระปุก กลับมาบ้านตอนเย็นก็หยอดได้
ต้องไม่ลืมหยอด พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การทำบุญบ่อยๆ(สั่งสมบุญ) นำความสุขมาให้”
ไอเดียนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์
2. รักษาศีลเมื่อพรรษา(สะอาด)
เคยอ่านจารึกสุโขทัยว่า “ชาวสุโขทัย...ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน” เลยทำให้คิดไปว่า แล้วในเวลานอกพรรษาล่ะ
เขาไม่รักษาศีลกันหรือ
คงไม่ใช่เช่นนั้นแน่ จากข้อความเพียงนี้
ขอตีความว่า “การทรงศีลเมื่อพรรษา”
หมายถึง การไปนอนวัดจำศีล ในวันพระ 8 ค่ำ 15 ค่ำ เพื่อรักษาอุโบสถศีล(ศีล 8)
หนึ่งวันหนึ่งคืน นอกนี้คงสมาทานศีล 5 เป็นนิจ
ที่เรียกว่า นิจศีล เป็นปกติอยู่แล้ว
คนทั่วไปมักเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า
ศีลต้องขอจากพระสงฆ์ และรับจากพระสงฆ์ เพราะมีพิธีกรรมอาราธนาศีล และมีคำสมาทานศีลอยู่
ตามความเป็นจริง ศีลที่เราจะรักษามิได้อยู่กับพระสงฆ์
หรือฝากเอาไว้ที่พระสงฆ์ เหมือนวัตถุสิ่งของนอกกาย ถ้าอยากมีศีลจึงต้องขอมารักษาแล้วก็ว่า
เรารับศีลทำนองนี้
ศีลเกิดจากการที่เรารักษากาย วาจา ให้สงบ ด้วยจิตใจที่เกรงชั่วกลัวบาป(หิริ
โอตตัปปะ) ตั้งใจงดเว้น(วิรัติ)จากพฤติกรรมไม่ดีแสดงอาการออกมาทางกายและทางวาจาด้วยตัวเราเอง เราก็มีศีลสมบูรณ์แล้ว
รักษาศีลอยู่ตลอดเวลา
เพราะศีลก็คือการรักษาปกติทางกายวาจาด้วยเจตนาที่เกรงชั่วกลัวบาปนั่นเอง
การที่มีพิธีกรรมขอศีลจากพระสงฆ์
เป็นเพียงต้องการอ้างพระสงฆ์เป็นพยาน มีผู้รู้ผู้เห็นประกาศว่า จะเว้นชั่ว กลัวบาป
เราจะมีพฤติกรรมที่ “สะอาด”
ทางกาย(กายกรรม) และทางวาจา(วจีกรรม)แล้วนะ การประกาศจึงเป็นสร้างเสริมความมั่นใจ
ทำนองกล่าวคำสัตย์ปฏิญญาณต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วเราจะรักษาปฏิญญาณนั้น
พระท่านจึงว่า “ศีลเป็นเยี่ยมในโลก”
3. ไหว้พระสวดมนต์(สงบ)
การไหว้พระสวดมนต์เป็นวิธีการหนึ่ง
ที่ทำให้จิตใจสงบ ทุกศาสนาจะมีพิธีกรรมนี้ (คริสตศาสนามีพิธีอธิษฐาน
อิสลามมีพิธีละหมาด พราหมณ์-ฮินดู
ก็มีการสวดมนต์)
คนสมัยก่อนท่านตื่นแต่เช้ามืด
สมัยผมเป็นเด็ก ได้ยินเสียงไหว้พระสวดมนต์ตอนเช้าจากคนเฒ่าเสมอ
และเวลาค่ำก่อนจะเข้านอนก็เห็นท่านเข้าไปไหว้พระสวดมนต์ในห้องพระหรือต่อหน้าหิ้งบูชา
ใช้เวลาไม่นานนัก
เสียงไหว้พระสวดมนต์ที่เราเปล่งออกมา
หากจิตใจไม่แน่วแน่จะสวดผิดสวดถูก การไหว้พระสวดมนต์จึงเป็นสื่อหรือช่องทางฝึกจิตใจให้สงบ
ที่เราเรียกว่า มีสมาธิ
สมาธิมีคุณประโยชน์มากประการ เราใช้ในชีวิตประจำวันทั้งในการทำงานหรือในการแข่งขันกีฬา สมาธิเป็นตัวรวมพลังจิตให้ถึงจุดที่แกร่งหรือเข้มแข็ง
สังเกตเห็นนักกีฬาที่จะเข้าแข่งขัน ยิ่งเป็นกีฬาที่ต้องการแต้มและรางวัลมาก
เขาจะทำสมาธิ(จิตนิ่ง)สักครู่ก่อนแข่งขัน
ทราบว่า มีนักกีฬากอล์ฟชาวต่างประเทศ ระดับไทเกอร์วูด
คนหนึ่ง ยังมาฝึกสมาธิที่ประเทศไทยกับพระสงฆ์รูปหนึ่งเลย
สิ่งที่ตรงกันข้ามคือ
หากเราต้องการจิตที่มีพลัง เราต้องทำให้จิตสงบนิ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน ซัดส่ายไปมา คือ ควบคุมการคิดไปเรื่อยของจิต
ยิ่งจิตนิ่งเท่าใด ก็จะมีพลังมากเท่านั้น ส่วนพลังทางกาย หากต้องการให้เข้มแข็ง
ต้องหมั่นเคลื่อนไหว ออกกำลังสม่ำเสมอ เป็นการเคลื่อนไหวอวัยวะทุกส่วน
สร้างความแกร่งของกล้ามเนื้อ หมั่นออกกำลังกายทุกวัน โรคภัยไม่มาเยือน เป็นการสร้างภูมิคุมกันโรค
สุขภาพดี “คนที่ไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ”
ทุกวันนี้ คนเรามีสมาธิสั้น
ทำจิตใจให้จดจ่อกับสิ่งใดได้ไม่นาน ทั้งนี้เพราะสิ่งเร้าภายนอกมีอิทธิพลดึงดูดความสนใจของเขาไปหมด
เด็กที่มีสมาธิสั้นจะเรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ความจำก็ไม่ดี เพราะใจเขาไม่นิ่ง
จับจดไปเรื่อยสุดแต่สิ่งเร้าจะเข้ามา เลยทำให้เป็นคนที่มีอารมณ์ไม่มั่นคง
อันที่จริง การไหว้พระสวดมนต์
ก็ไม่จำเป็นต้องหาสถานที่ก็ได้ นั่งทำงานก็ไหว้พระในใจสวดมนต์ได้เพียงชั่วครู่จะได้ไม่เสียงาน หากจะฝึกเป็นอุปนิสัย อย่างน้อยก่อนนอนควรไหว้พระสวดมนต์วันละครั้งก็ยังดี
ทั้งนี้เพื่อสร้างเสริมพลังจิตขึ้นมา
เราใช้พลังจิตพลังความคิดไปกับการทำงานภายนอกพล่านไปหมด
เปรียบเหมือนใช้พลังงานแบตเตอรีของอุปกรณ์เครื่องใช้แทบหมดทุกวัน
เราไหว้พระสวดมนต์ฝึกสมาธิ เป็นการชาร์จพลังให้กับจิตใจ ตื่นนอนมาวันหลังจึงเต็มเปี่ยมด้วยพลัง
พร้อมที่จะทำงานทำการอย่างไม่อ่อนล้าพลัง
4. อุทิศกุศลแผ่เมตตา(สงบ)
คนสมัยก่อน
เมื่อทำบุญใดๆ ไม่ว่า ตักบาตร รักษาศีล
ไหว้พระสวดมนต์ ท้ายสุด ท่านก็มักจะกล่าวคำอุทิศส่วนกุศล
และแผ่เมตตาแก่สรรพสัตว์ที่เกิดมาร่วมโลก ร่วมทุกข์ เพราะการเกิดแก่เจ็บตาย
มีธรรมชาติที่เหมือนกัน ไม่เว้นชาติพันธุ์วรรณะ ทุกข์เท่ากัน
เมตตา เป็นสื่อถึงมิตรไมตรี เคยสังแกตไหม ผู้ใดมีเมตตาสูง
ขนาดสัตว์ที่ดุร้ายยังยอมแพ้ ดังช้างนาคิรีที่เมาฟุ่งจะเข้าทำร้ายพระพุทธเจ้า
แต่ด้วยนำคือเมตตา พระองค์ปราบพยสช้างลงได้ ที่เมืองไทยมีเรื่องเล่าว่า พระสงฆ์เปี่ยมเมตตาท่านหนึ่ง ปฏิบัติธรรมในป่า สัตว์ป่าที่เชื่องยาก
อย่างไก่ป่า ก็ยังเข้ามาคุ้ยเขี่ยหากินในสถานที่ท่านปฏิบัติธรรม เชื่องดุจไก่บ้าน
จนท่านได้สมัญญานามว่า “สมเด็จพระสังฆราชไก่ถื่อน”
ใครมีเมตตา
พลังแห่งเมตตาจะแผ่สร้านออกมา คนที่จิตใจละเอียดอ่อนจะสัมผัสได้ แม้แต่สัตว์ก็สัมผัสได้ดังที่กล่าวมา
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดแผ่เมตตาตลอดเวลา
ย่อมมีคุณานิสงส์ 11 ประการ เช่น นอนหลับดี ตื่นนอนมาสดชื่น ไม่ฝันร้าย ไม่เป็นอันตรายเพราะศาสตราอาวุธ
และจิตใจไม่หลงเลอะเลือนเมื่อจะสิ้นใจ เป็นต้น
การแผ่เมตตา ไม่อยากให้ทำเพียงเปล่งวาจาจากปากดุจนกแก้วนกขุนทอง เมตตาต้องออกมาจากใจจริง
แล้วแสดงอาการปรากฏให้เห็นชัดทางกายกรรมประกอบด้วยเมตตา วจีกรรมประกอบด้วยเมตตา
มโนกรรมประกอบด้วยเมตตา
พระพุทธเจ้าท่านว่า “เราปรารถนาความสุขฉันใด
คนอื่นสัตว์อื่นก็ปรารถนาความสุขฉันนั้น เราต้องการความสุขไฉนเล่า
เราจึงก่อความทุกข์ให้ผู้อื่น”
5. จำเริญจิตภาวนาอย่าประมาท(สว่าง)
คนไทยเข้าใจว่า “ภาวนา”
หมายถึงการพร่ำบ่นคำใดๆไว้ในใจพร้อกับการเคลื่อนไหวทางกาย เช่น ทุกขณะลมหายใจเข้าออก
ทุกขณะการพองขึ้นหรือยุบลงของท้อง เพราะการหายใจ หรือตามการเคลื่อนไหวของอิริยาบถหลัก
นึกคำในในใจ เช่น พุท – โธ
พองหนอ – ยุบหนอ
หรือ สัมมาอะระหังๆ นี่มิใช่ภาวนา
แต่เป็นคำบริกรรมเพื่อดึงจิตให้เกิดสมาธิกับสิ่งที่กำลังปฏิบัติ
การเจริญภาวนาตามหลักพระพุทธศาสนาที่แท้
คือ การใช้สติกำกับ รู้ตัวทั่วพร้อม เฝ้าดู เฝ้าพิจารณาความจริงของชีวิต
ทุกขณะที่ทำกิจกรรม ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน
หายใจเข้าออก ต้องมีสติ กำกับ เพื่อให้เกิดปัญญารู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของชีวิต
รู้เท่าทันกฎธรรมดาของโลกและสังขาร สรรพสิ่งมีการเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลง
ไม่คงทน ไม่มีแก่นสารสาระที่ควรยึดมั่นถือมั่นเป็นของเราตลอดกาล เพราะนี่คือกระแสแห่งสัจจธรรม
หากเราเผลอสติ กำกับไม่ทัน
เมื่ออารมณ์เร้าฝ่ายดีเข้ามา เราก็ร่าเริงยินดี ฟูใจ ปลื้มใจ
ตรงกันข้ามเมื่อประสบอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ เราก็ผลักใส รังเกียจ เสียใจ
เป็นทุกข์ หลักจากความจริงที่ว่า
โลกมีทั้งดีและไม่ดี เราต้องมีสติประครองสติเราเราให้นิ่ง
แล้วเราจะไม่ทุกข์ไปตามโลกธรรม พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “สติเป็นที่ต้องการทุกเวลาและทุกสถานที่”
การมีสติกำกับเสมอ
ทำให้เกิดปัญญาเฉียบคมมากขึ้น ที่เรียกว่ามีสติยั้งคิด
การเกิดปัญญาผ่านการใช้สติกำกับนี้แหละ พูดแบบภาษาพระว่า “การภาวนา” คือ
การอบรมสติ เพื่อให้เกิดดวงปัญญาที่สว่าง มองทะลุสัจธรรม ผู้มีปัญญา
รู้จักพิจารณาคุณและโทษของสรรพสิ่งอย่างมีสติ เขาจะดำรงตนในโลก
อย่างผู้อยู่เหนือโลก ไม่ถูกโลกธรรมครอบงำ
หลวงตาแพร เยื่อไม้ วัดประยูรวงศาวาสพูดว่า “สติมาปัญญาเกิด
ถ้าสติเตลิด ก็เกิดปัญหา”
สรุป
ในสภาพยุคโลกาภิวัตน์ที่วิ่งตามกระแสโลกอย่างทุกวันนี้
ยิ่งต้องการความโปร่งใส(สะอาด)ด้วยการมีศีล
ต้องการเมตตาเพื่อสร้างสมานฉันท์การอยู่ร่วมกันในสังคมที่แตกต่างทางวัฒนธรรมและความคิด
ต้องการความสงบทางจิตใจอารมณ์มั่นคง ที่เรียกว่า มี EQ
ด้วยจิตที่เป็นสมาธิ(สงบ) ท้ายสุด เมื่อเกิดปัญหากระทบกระทั่งกัน
เราต้องการผู้มีสติมั่นคง รู้จักยับยั้ง
หยุดคิดใคร่ครวญด้วยเหตุด้วยผลแสดงพลังปัญญา(สว่าง)
หาทางออกที่เหมาะสมกับปัญหาชีวิตและสังคม สร้างความยุติธรรมให้เกิดได้
นี่แหละครับวิถีไทย วิถีพุทธ
ทำตามไม่ยากเลย
พิสิฏฐ์
โคตรสุโพธิ์
เคยออกรายการ เรื่องน่ารู้จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถานีวิทยุ FM 100 เสียงสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปี 2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น