แจ้งข่าวนักศึกษา012173

วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

คำสอนพ่อต้นแบบ : พระพุทธเจ้าสอนพระราหุล

คำสอนพ่อต้นแบบ : พระพุทธเจ้าสอนพระราหุล
พ่อที่ดี ย่อมสอนลูกให้เป็นคนเก่ง ดี และมีความสุข [1]
-------------
ลูกจะดี หรือเลว ก็อยู่ที่การเพาะบ่ม อบรมของผู้ให้กำเนิด และอีกส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับอุปนิสัยสันดานของเด็ก  หลายท่านพูดว่า เด็กอยู่ในสภาพบริสุทธิ์ดุจผ้าขาว จะให้เป็นสีอะไร สุดแต่ช่างย้อมจะนำสีมาย้อม หรือ เด็กเปรียบดุจไม่อ่อน ดัดให้เป็นรูปอะไรก็จะได้โดยง่าย ภาษิตกล่าวว่า ไม้อ่อนดัดง่าย   ลูกจะมีสุขภาพกายและใจดีนั้น จะต้องได้รับความรัก ความอบอุ่นในวัยเด็ก ถ้าเขาได้รับความรักความอบอุ่นในวัยเด็ก เมื่อเติบโตขึ้นในกาลข้าหน้า เขาจะรู้สึกรักผู้อื่นเป็น รู้จักเห็นใจผู้อื่น
หน้าที่ในการดัด ขัดเกลา  บ่มเพาะ อุปนิสัยที่พึงประสงค์แก่เด็ก ต้องเริ่มต้นมาจากครอบครัว ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดชีวิต มี 2 คน   ได้แก่  พ่อ  เพศชาย เรียก ชนก หรือ บิดา  และแม่ เพศหญิง เรียก ชนนี หรือ มารดา  ทั้ง พ่อและแม่ ต่างก็มีหน้าที่ ดูแล ปกป้อง ให้ความอบอุ่น และการอบรมเพาะบ่มนิสัยที่พึงประสงค์แก่บุตร คงไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่เฉพาะของผู้ใดผู้หนึ่ง 
สิ่งสำคัญที่สุด คือ การชี้แนวทางที่ถูกต้องให้แก่ลูก อธิบายสิ่งที่สับสนยุ่งยากในชีวิตเพื่อให้ลูกสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องในอนาคต 
ในสังคมตะวันออก มักจะถือว่า พ่อ เป็นผู้นำครอบครัว  พ่อจึงมีความสำคัญในฐานะผู้นำ  แต่ แม่กลับเป็นผู้ทำหน้าที่ที่ผู้อื่นทำได้ยากสำหรับลูก แม้ว่า โดยธรรมดา ตามธรรมชาติของผู้ชายมักจะเลี้ยงลูกได้ไม่ดีเท่ากับผู้หญิง สังคมโบราณ และบางสัมในสมัยปัจจุบัน  แม่มีหน้าที่เลี้ยงลูกที่บ้าน ในขณะที่พ่อ ออกไปทำงานหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว หรือด้วยการบีบคั้นทางเศรษฐกิจ ทั้งพ่อและแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน แต่หน้าที่ของผู้บังเกิดเกล้า พ่อกับแม่จึงมีความสำคัญแก่ลูกเสมอกัน 
คราวนี้ อยากจะกล่าวถึง พ่อ ผู้ให้กำเนิดอีกคนหนึ่ง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หน้า 587 ให้ความหมายว่า  พ่อ หมายถึง ชายผู้ให้กำเนิดแก่ลูก คำที่ลูกเรียกชายผู้ให้กำเนิดตน”   
จะเรียกใครว่า พ่อ  โดยยอมรับทั้งวาจา และใจนั้น  คนนั้นต้องมีอะไรดี และทำดีอะไรเอาไว้แก่ลูกอย่างสำคัญ
ประมาณ  ปี ที่ผ่านมา เมืองไทยได้ตื่นเต้นกับหนังสือของโรเบิร์ต คิโยซากิ ในชุด พ่อรวยสอนลูก  ทุกคนก็เลยอยากลุกขึ้นมาสอนลูกอย่างเขาบ้าง เพราะ คิโยซากิ เป็นคนรวย จึงสอนลูกให้รวยตามได้ นั่นพ่อรวยสอนลูก(สอนทั้งลูกตนเอง สอนทั้งพ่อคนอื่นที่รวยและไม่รวยแต่จำเป็นต้องสอนลูกให้รวย) ที่แน่ๆ เขาสามารถขายหนังสือ(ขายความคิด) ทำเงินจนรวยไปอีกจนได้
สำหรับประเทศไทย   มอง ในมิติเล็ก  มีพ่อ ในครอบครัว ในมิติขนาดกลาง มีพ่อเมือง ในมิติขนาดใหญ่ มีพ่อหลวง ไม่ว่า จะเป็น พ่อ ในมิติใด พ่อทุกท่าน ต่างก็ให้ความอบอุ่น ปกป้อง ดูแล แนะนำในการดำรงตนให้เป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว จังหวัด และประเทศตามลำดับ
คิดอยากเขียนเกี่ยวกับพ่อมานานแล้วว่า อันพ่อธรรมดาสอนลูกนั้น ก็คงสอนให้สามารถดำรงชีพตามอัตภาวะ แต่พ่อที่ไม่ธรรมดา ระดับ ผู้นำประเทศ หรือ ผู้นำศาสนา อย่างพระพุทธเจ้า ท่านสอนลูกของท่านอย่างไร นี่สิน่าศึกษา

1. หน้าที่ของพ่อ
  พ่อที่ดีไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่การให้กำเนิดบุตรลืมตาออกมาดูโลกเท่านั้น แต่ต้องรวมถึง  การเลี้ยงดูเอาใจใส่ รักและเข้าใจลูกเพื่อให้ลูกเจริญเติบโต นั่นคือ หน้าที่ทางกายภาพ  แต่หน้าที่อีกด้านหนึ่งและสำคัญที่ทสุด คือ หน้าที่ทางจิตภาพ ได้แก่การเพาะบ่ม อบรม ขัดเกลาอุปนิสัย ให้ลูกเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม โดยการทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นพ่อแบบที่ดี ในการหล่อหลอมความประพฤติของลูก  ถ่ายทอดแนวคิดที่ดีในการดำเนินชีวิต  ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม แก่ลูกเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมสืบไป
ตามหลักพระพุทธศาสนา มารดาบิดามีหน้าที่ต่อบุตรธิดา ในฐานะบุรพทิศ ทิศเบื้องหน้า ดังนี้   1. ห้ามปรามจากความชั่ว 2. ให้ตั้งอยู่ในความดี 3. ให้ศึกษาศิลปวิทยา 4. หาคู่ครองที่สมควรให้  5. มอบทรัพย์สมบัติให้ในโอกาสอันสมควร
                อย่างไรก็ตาม หน้าที่ดังที่กล่าวมา เป็นกรอบตามหลักศาสนา ทำหน้าที่ได้ครบ ก็ได้รับการยกย่องว่ามาบกพร่องในหน้าที่
                สุวรรณ วลัยเสถียร[2] เขียนในหนังสือ พ่อรวยสอนลูกแบบไทยๆ เรื่องการทำหน้าที่สอนลูกน่าสนใจ ดังนี้ คุณแม่ของข้าพเจ้าบอกว่า การอบรมลูกให้ดี ต้องสอนมาตั้งแต่พ่อแม่ของเด็ก ถ้าพ่อแม่ไม่ดี ก็จะสอนลูกให้ดีไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น จะต้องสอนตั้งแต่เด็กอายุ 4-5 ขวบ โดยทำอย่างสม่ำเสมอ ผมจึงจำคำที่คุณแม่ได้อบรมบ่มนิสัยเอาไว้แล้วนำมาใช้กับลูกของผม ซึ่งก็ได้ผลดี คือ ลูกทั้งสองโตขึ้นเป็นคนขยันขันแข็ง ซื่อสัตย์สุจริต มัธยัสถ์ และเปี่ยมด้วยจริยธรรม มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อมนุษย์
2. ลักษณะของพ่อที่ดี    
การจะดูว่า พ่อในฝัน ที่ทุกคนอยากได้ ควรจะเป็นพ่อที่มีคุณสมบัติแบบใด           เห็นจะต้องนำหลักศาสนามาอ้างอีก   เมื่อลูกลืมตามาดูโลก เขา/เธอเห็นพ่อแม่ผู้ให้ชีวิตก่อน  และท่านมีความรักเอาใจใส่ดูแลอย่างดี ลํกษณะนี้ เหมือนพระพรหมผู้สร้างโลก ท่านจึงถูกเรียกว่า พระพรหมของลูก ท่านสอนให้ลูกรู้จักกิน นอน ขับถ่าย และการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน เราจึงเรียท่านว่า บูรพาจารย์ (อาจารย์คนแรก)  ท่านประกอบด้วยคุณความดี เช่น ความรัก  เอาใจใส่ พร่ำสอนก่อนผู้อื่นเป็นคุณูประการแก่ลูก ท่านจึงอยู่ในฐานะที่ลูกควรเคารพกราบไหว้ เรียกว่า บุรพเทพ(เทพเจ้าท่านแรก)
อันที่จริง พ่อที่ดี ย่อมมีคุณสมบัติหลายประการ  แต่คุณสมบัติที่เป็นพื้นฐานของพ่อที่ดี ตามความเห็นของนักวิชาการท่านหนึ่ง กล่าวว่า ควรจะประกอบด้วยลักษณะน้อยที่สุด 4 ประการ [3]  คือ  พ  กับ 2 อ  ได้แก่
1. เป็นที่พึ่ง  โดยฐานะความเป็นพ่อเมื่อให้กำเนิดลูกออกมา ย่อมมีภาระหน้าที่ที่หนีไม่พ้น ผู้มีหัวใจเป็นพ่อเต็มร้อยก็คือ การเลี้ยงดูลูกให้เจริญเติบใหญ่มีสุขภาพกายสุขภาพจิตดี พอที่จะรับผิดชอบตัวเองได้เมื่อเติบใหญ่ในภายภาคหน้า ไม่ว่าพ่อจะเป็นคนจนหรือคนรวย ต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งของลูกได้ตามสถานะของครอบครัว ไม่เลี้ยงดูลูกแบบฟุ้งเฟ้อไปตามกระแส โดยไม่คำนึงถึงฐานะที่แท้จริงของครอบครัว นอกจากเลี้ยงดูให้เติบโตแล้ว ยังต้องเป็นที่พึ่งของลูกในการให้การศึกษาเล่าเรียน เพื่อมีวิชาความรู้ติดตัวไว้ใช้ประกอบการหาเลี้ยงชีพต่อไปในภายหน้า แม้แต่การหาเลี้ยงชีพของลูก ก็ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นภาระของลูกผู้เดียว  พ่อต้องเป็นที่พึ่งของลูกให้คำแนะนำด้านการจะประกอบอาชีพ บางครั้งพ่ออาจต้องเป็นที่พึ่งของลูกด้วยการออกทุนให้ทำการค้าขาย ที่สำคัญที่สุด เมื่อเกิดการเจ็บป่วย  พ่อต้องพาลูกไปหาหมอรักษาพยาบาลกันตามสมควร จึงควรเรียกได้ว่าเป็นพ่อที่ดีของลูก
                2. เป็นที่พิง การเป็นที่พึ่งของลูกนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นภาระหน้าที่ภาคบังคับ พ่อต้องจัดการไม่ให้ขาดตกบกพร่อง แต่การเป็นพ่อที่ดีไม่ได้มีแค่นั้น พ่อที่ดียังต้องเป็นที่พิงของลูกได้อีกด้วย  เมื่อลูกมีปัญหา ไม่ว่า  ปัญหาใหญ่หรือเล็ก พ่อต้องปกป้องเป็นที่พึ่งพิงของลูกได้โดยไม่มีข้อแม้ เป็นที่พิงของลูกตั้งแต่เล็กจนกระทั่งโต  ไม่ว่าลูกจะมีฐานะเป็นใหญ่เป็นโตเพียงใด ลูกก็อาจต้องการหาที่พึ่งพิงเมื่อยามประสบปัญหาชีวิต โดยเฉพาะปัญหาชีวิต ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะไปปรึกษาใครได้  บางครั้งอาจเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย คนที่จะเข้าใจและไว้ใจได้มากที่สุดก็คือ พ่อแม่  ถ้าพ่อแสดงว่าสามารถเป็นที่พิงให้ลูกได้ตั้งแต่ยังเล็กเมื่อโตขึ้นมาเขาก็จะคุ้นเคยกับการปรึกษาหารือพ่อตลอดไป การเป็นที่พิงให้ลูกได้ย่อมได้ชื่อว่าเป็นพ่อที่ดีในที่สุด
                3. เป็นที่อิง เมื่อพูดถึงคำว่า อิงอยากให้นึกถึง หมอนอิงคุณสมบัติสำคัญของหมอนอิงคือทำให้เรารู้สึกสบายเมื่อต้องนั่งนานๆ แล้วมีหมอนอิงอยู่ใกล้ๆ หรือเมื่อรู้สึกหนาวก็อาจจะคว้าหมอนอิงมาอิงแอบแนบอกก็อาจทำให้ความหนาวลดลง พ่อที่ดีต้องทำตัวเหมือนหมอนอิงให้ลูกด้วย คือ  มอบความรัก ความอบอุ่น ให้ลูกตลอดเวลาโดยไม่ต้องรอให้ลูกร้องขอไม่ว่าลูกจะดีหรือเลว ก็ไม่ใช่เงื่อนไขที่จะลดความรัก ความอบอุ่นให้ลูกลงไป พ่อต้องทำตนให้คงเส้นคงวาตลอดเวลากับความรู้สึกที่ให้ลูกรู้สึกว่าจะเข้ามา อิงพ่อได้เสมอ
                4. เป็นที่แอบ  ความเป็นพ่อที่ดี นอกจากจะเป็นที่พึ่ง ที่พิง ที่อิง แล้วยังต้องเป็นที่ แอบอีกด้วย พ่อต้องทำตัวให้ลูกแอบมองด้วยความปลาบปลื้มใจและภาคภูมิใจ พร้อมจะนำเอาความดีงามของพ่อมาเป็นแบบอย่าง สร้างรูปแบบที่ดีให้ลูก พ่อคือวีรบุรุษในดวงใจของลูก  นอกจากจะสร้างการยอบรับว่าพ่อเป็นพ่อที่ดีแล้ว ยังมีส่วนสร้างให้ลูกเป็นลูกที่ดีอีกด้วย
ความเป็นพ่อที่ดีอาจจะมีคุณสมบัติอีกมากมายหลายประการ ที่ยกแสดงมานี้ เป็นเพียงคุณสมบัติพื้นฐานของการเป็นพ่อที่ดี เท่าที่มนุษย์ปุถุชนคนหนึ่งที่เกิดมาเป็นพ่อพอจะปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่ยากลำบากนัก

3. รูปแบบของพ่อสอนลูก
                เป็นธรรมดาที่พ่อ ไม่ว่า จะมีฐานะทางสังคมระดับใด นับแต่พ่อในสังคมชั้นรากหญ้า สามัญชน จนถึงพ่อแบบมหาราชา จักรพรรดิ  หรือ ฐานะทางเศรษฐกิจ นับแต่พ่อฐานะยากไร้ ถึงฐานะระดับอภิมหาเศรษฐี   หรือในฐานะคุณวุฒิทางการศึกษา จากพ่อที่ไม่ได้รับการศึกษา จนถึงพ่อระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต
เชื่อว่า พ่อทุกคน ย่อมมีน้ำใจรัก ห่วงใย และหวังความสุขความเจริญแก่ลูกทั้งนั้น เพียงแต่แสดงออกซึ่งความรัก ความห่วงใยตามศักยภาพ และความสามารถพื้นฐานของตน ตามโอกาสอันเหมาะอันควร  จะนำเสนรูปแบบของพ่อประเภทต่างๆ ที่สอนลูกเป็นที่ประจักษ์แก่สายตา เป็นที่เล่าขานกันสืบมา ดังนี้
3.1 แบบพ่อรวยสอนลูก
3.1.1 โรเบิร์ต โทรุ คิโยซากิ  (Robert Toru Kiyosaki) เกิดที่ ไฮโล (Hilo)  มลรัฐ ฮาวาย (Hawaii)  เมื่อ วันที่ 8 เมษายน 1947(พ.ศ. 2490) มีเชื้อสายอเมริกัน-ญี่ปุ่น ตามลำดับชั้นบรรพบุรุษ เป็นอนุชนชั้นที่ 4  เป็นบุตรของราล์ฟ เฮช คิโยซากิ( Ralph H. Kiyosaki)  เขาจบการศึกษาจากนิวยอร์ก ร่วมรบในสงครามเวียดนามในฐานะของทหารปืนกลประจำเฮลิคอปเตอร์  หลังสงคราม เขาเข้าทำงานในบริษัท Xerox Corporation ในตำแหน่งเซลส์แมน ในปี 1977 เขาได้เริ่มธุรกิจของตนเองควบคู่ไปกับการทำงานประจำ และลาออกมาบริหารกิจการเต็มตัวก่อนจะเปิดบริษัท International Education สอนแนวคิดในการสร้างธุรกิจและการลงทุน ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าฝึกอบรมไปแล้วหลายแสนคนทั่วโลก
 คิโยซากิ พูดว่า เราไปโรงเรียนเพื่อเรียน และจบมาทำงานอย่างหนักเพื่อให้ได้เงินมากขึ้นผมเขียนหนังสือ ละพัฒนาผลงานเพื่อแนะนำให้คนรู้จักใช้เงินทำงานแทนเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้ อย่างที่ใจฝัน
                คิโยซากิ เกษียณตัวเองตัวเองเมื่ออายุได้เพียง 47 ปี จากงานประจำ มาทำสิ่งที่เขาอยากทำเพื่อน ชารอน เลทเชอร์ (Sharon L. Lechter)   หุ้นส่วนทางธุรกิจ  เขียนหนังสือ "พ่อรวยสอนลูก" (Rich Dad Poor Dad) เป็นหนังสือที่ครองอันดับขายดีที่สุดในออสเตรเลีย ในปี 1999 และในปี 2000 นิตยสารบิสิเนส วีค ผู้จัดอันดับหนังสือรายสำคัญ รายงานว่าเป็นหนังสือขายดีอันดับต้นๆ ของโลก
                คิโยซากิ เป็นผู้ประสบความสำเร็จในด้านเศรษฐกิจ มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย จึงได้เขียนหนังสือ เกี่ยวกับการสอนลูกให้เป็นวิทยาทาน(แม้ว่า หนังสือที่เขียนจะขายดีได้เงินทองมาก แต่ไม่ใช่ประเด็น)   ทุกคนที่อยากให้ลูกเก่งและรวย ต่างต้องหามาอ่านพลาดไม่ได้  ถือเป็นแบบเรียนการสอนลูก จนเป็นที่รู้จักกันทั้งโลก   รายชื่อหนังสือดังต่อไปนี้
พ่อรวยสอนลูก  เงินสี่ด้าน สอนลูกให้รวย พ่อรวยสอนลงทุน โรงเรียนสอนธุรกิจ เกษียณเร็วเกษียณรวย พ่อรวยสอนวัยรุ่น พ่อรวยสอนปลดหนี้  สอนใช้บัตรเครดิตให้รวย  สอนสร้างทีมให้ชนะ   ใครเอาเงินของฉันไป เตรียมตัวให้พร้อมก่อนจะป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นต้น
วิธีสอนแนะนำลูก ให้รู้ค่าของเงิน และรู้จักต่อยอดค่าของเงิน สอนให้เงินทำงานแทนคน การสอบแบบนี้ ถูกใจคนทั้งโลก เพราะสอนตามสัญชาตญาณของคนเรานั่นเอง ไปค้นหาอ่านเอาเองเถิด
                                3.1.2 สุวรรณ วลัยเสถียร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์(2544)  
พูดถึงแนวคิดของชาวตะวันตกเรื่องพ่อรวยสอนลูก คราวนี้หันมาดู พ่อรวยสอนลูกแบบไทย ซึ่งเน้นคุณค่าทั้งทางด้ายเศรษฐกิจ และคุณค่าทางด้านคุณธรรมตามประเพณีวัฒนธรรมตะวันออก นั่นคือ  ดร. สุวรรณ วลัยเสถียร
                                ดร.สุวรรณ  เกิด วันที่ 13 กรกฎาคม  2488   จบการศึกษาปริญญาเอกทางกฎหมายจาก มหาวิทยาลัย George Washington สหรัฐอเมริกา ในปี 2521  ทำงาน ครั้งสุดท้าย เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และที่ปรึกษากฎหมายอิสระ และที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร) ในการงานส่วนตัว ถือว่า เป็นผู้มีอันจะกินคนหนึ่ง  เมื่อมีลูก ก็ต้องสอนลูกให้ดี  จะเน้นการสอนลูกให้รวยทั้ง้นำใจ และรวยเงินทองรู้จักคุณค่าของเงิน การออม วิธีการเพิ่มรายได้  วิธีการทำงาน ให้ลูกสามารถเป็นที่พึ่งของตนได้ มีฐานะมั่นคงตั้งแต่อายุน้อย ถือว่า เคล็ดลับในการสอนลูก ให้รวยน้ำใจและรวยทรัพย์ คือ ใกล้ชิดและให้ความอบอุ่น นั่นคือ มีเวลาและอยู่ใกล้ชิดลูก ให้ความอบอุ่น เป็นเพื่อนที่ดีของลูก ให้ลูกไว้วางใจขอคำปรึกษาได้ทุกเรื่อง ประพฤติตนสม่ำเสมอกับลูก และ ชี้แนะ ในขณะเดียวกันก็ควบคุมดูแล  เช่นสอนให้ลูกใช้เงินอย่างประหยัด โชคดีมาหนเดียว แต่โชคร้ายเกิดขึ้นได้หลายครั้ง  สอนให้ลูกรู้จักการทำงานที่เขาชอบตั้งแต่อายุยังน้อย ปรับปรุงงาน เรียนรู้ สร้างความชำนาญจากการทำงานที่ชอบ ท้ายสุดลูกทุกคนก็ประสบความสำเร็จในการงาน  

                                ดร. สุวรรณ เล่าว่า การสอนลูกแบ่งออกเป็น 3 แนวทาง [4] ดังนี้
                                1) สิ่งที่ห้ามลูกทำ  ในเบื้องต้น ต้องสอนและบังคับไม่ให้ลูกเข้าเกี่ยวข้องกับยาเสพย์ติด ลูกต้องไม่เล่นการพนัน ในขณะนี้ วัยรุ่นจำนวนมากที่พนันบอล ในฤดูการแข่งขันฟุตบอลโลก หรือ พรีเมียร์ลีก บางคนจะพนันเป็นหมื่นเป็นแสน เมื่อเสียพนันก็ไม่มีเงินจ่าย ผู้รับแทงบอลถึงกับทำร้ายเด็กๆที่แพ้พนัน จริงอยู่การถ่ายทอดฟุตบอลเป็นการส่งเสริมการกีฬา แต่ก็มีหลายคนใช้ไปในทางที่ผิด เป็นเครื่องมือในการพนัน
                                2)  สิ่งที่ลูกต้องทำ ต้องสอนลูกให้เคารพกฎหมาย ทำงานด้วยความซื่อสัตย์และต้องไม่โกง  ทุกวันนี้ สังคมไทยที่ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ  สิ่งหนึ่งมาจากเด็กได้รับค่านิยมที่ผิด โดยพ่อแม่จำนวนหนึ่งเมื่อเห็นลูกฉลาด เอาเปรียบหรือโกงคนอื่นได้ แทนที่จะว่ากล่าวตักเตือน สั่งสอนไม่ให้โกง กลับนิยมชมชอบว่าลูกมีไหวพริบกว่าคนอื่น จึงเป็นการสร้างค่านิยมที่ผิด สรุปความแนวทางในการสอนลูกว่า
                                                (1)  ในวัยเด็กจะต้องให้เรียนหนังสือ  เมื่อโตขึ้นให้เลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองถนัด วิชาที่สำคัญในปัจจุบัน คือ ภาษาอังกฤษ  หากรอบรู้ดี ก็ใช้ประกอบอาชีพได้ แม้จะด้อยในด้านอื่นๆ
                                                (2)  ซื่อสัตย์สุจริต  ตามคำโบราณว่า ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน บริษัทห้างร้านต่างๆของไทยที่ประสบปัญหาในทางธุรกิจปัจจุบัน เนื่องจากผู้ประกอบการไม่ซื่อสัตย์ ผู้บริหารจึงถูกกรรมตามสนอง
                                                (3) เมตตา กรุณา และขยันขันแข็ง  คำขวัญของโรงเรียนอัสสัมชัญ มีว่า Labor Omnia Vincit แปลเป็นไทยว่า ความขนัยจะชนะทุกอย่าง แม้ว่าในปัจจุบัน พลังสมองจะเข้ามาแทนกำลังกายในการทำงาน แต่ความขยัยขันแข็งยังถือยังถือเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เด็กโตขึ้นมีชีวิตที่ดีและมีเงินทองใช้จ่ายอย่างสุขกายสบายใจได้
                                3)  สิ่งที่ลูกควรรู้ ควรทำ แนวทางนี้ ต้องเข้าใจว่า (1)  เด็กไทยยังมีระเบียบวินัยไม่ดีเท่ากับเด็กในประเทศตะวันตกหรือประเทศญี่ปุ่น การมีระเบียบวินัยจะช่วยให้เด็กสามารถทำงานเป็นขั้นเป็นตอน และมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น (2) อย่งบังคับเด็กมากเกินไป  คาดหวังกับเด็กสูงเกินไป ควรเปิดโอกาสให้เด็กตัดสิรใจด้วยตนเองบ้าง ใช้วิธีการชี้แนะและส่งเสริมแทน ลูกไม่จำเป็นต้องเรียนเก่ง นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนปัจจุบัน ในวัยเด็กเข้าเรียนสู้พี่น้องไม่ได้ แต่เขาก็สามารถเป็นผู้นำประเทศมหาอำนาจได้ (3) เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น ควรแนะนำเรื่องการป้องกันตัวที่เกี่ยวกับทางเพศ อย่าชิงสุกก่อนห่าม
                                นอกจาก 3 แนวทางที่กล่าวมา สุวรรณได้สรุปว่า การสอนลูกเรื่อง เศรษฐกิจ แม้จะให้เกิดความรู้เชี่ยวชาญ แต่ต้องควบคู่ไปกับการบอรมด้านจิตใจ เพราะการอบรมด้านจิตใจเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ไม่มีประโยชน์อันใดที่คนจะชนะทั้งโลก แต่ต้องสูญเสียจิตวิญญาณไป
3.2 แบบพ่อเศรษฐี(อินเดีย)สอนลูก
          กล่าวถึงเศรษฐี คนทั่วไปหมายถึงคนมีทรัพย์ คำว่าเศรษฐี ที่แท้หมายเอาคนมีทั้งเงินและเป็นคนใจบุญใจกุศล แบ่งบันความสุขเอื้อเฟื้อผู้อนาถา เป็นตำแหน่งที่พระราชาแต่งตั้ง ส่วนคนมีเงินอย่างเดียว เขาเรียกว่า กุฎุมภี  หรือ นายทุน มาดูว่า เศรษฐีอินเดีย สอนลูกอย่างไร จึงได้ปรากฏหลักฐานในคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา ขอยกตัวอย่างสักท่านหนึ่งพอเป็นสังเขป ดังนี้
ธนัญชัยเศรษฐี ลูกของเมณฑกเศรษฐีชาวเมืองมคธ แต่ย้ายไปอยู่เมืองสาเกต แคว้นโกศล ตามคำขอของพระเจ้าปเสนทิโกศล  ราชาพิมพิสารแห่งแคว้นมคธ จึงแบ่งให้แต่เพียงชั้นลูกเศรษฐีโยกย้ายไปอยู่แคว้นโกศลแทน
ธนัญชัยเศรษฐี เป็นบิดาของนางวิสาขา มหาอุบาสิกา ผู้บำรุงพระพุทธศาสนา ไม่น้อยไปกว่า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่สร้างวัดเชตวัน เมื่อลูกสาวแต่งงานกับ ปุณณวัฒนกุมาร บุตรชาย    มิคารเศรษฐี ชาวเมืองสาวัตถี ครั้นพิธีการเสร็จสิ้นแล้วจะต้องส่งเจ้าสาวไปบ้านสามี  ธนัญชัยเศรษฐีจึงเรียกนางวิสาขา ให้เข้ามานั่งใกล้ๆ แล้วได้ให้โอวาทสั่งสอน มีท่านมิคารเศรษฐี พ่อสามีนั่งอยู่ฟังอยู่ภายในห้องด้วย ดังนี้
 “ลูกเอ๋ย ธรรมดาว่าสตรีจะอยู่ในสกุลสามี ควรจะศึกษามารยาทอย่างนี้  ไฟในก็ไม่พึงนำออก ไฟนอกก็ไม่พึงนำเข้า พึงให้แก่ผู้ที่ให้  ไม่พึงให้แก่ผู้ที่ไม่ให้ พึงให้ทั้งแก่ผู้ที่ให้ ทั้งแก่ผู้ที่ไม่ให้ พึงนั่งเป็นสุข พึงบริโภคเป็นสุข พึงนอนเป็นสุข พึงบำเรอไฟ พึงนอบน้อมเทวดาภายใน
โอวาทของท่านธนัญชัยเศรษฐีนี้ ถือว่าเป็นข้อวัตรปฏิบัติที่ดีสำหรับสตรีทั่วไปที่แต่งงานออกเรือน ใช้ชีวิตเป็นแม่ศรีเรือน มี  10 ข้อ ขยายความ ดังนี้
                                1. อนฺโต อคฺคิ พหิ น นีหริตพฺโพ ไฟในอย่านำออก หมายถึงไม่ควรนำความลับหรือเรื่องไม่ดีงามภายในครอบครัว ไปบอกเล่าให้คนภายนอกได้รับรู้
                                2. พหิ อคฺคิ อนฺโต น นีหริตพฺโต ไฟนอกอย่านำเข้า หมายถึงไม่ควรนำคำนินทาว่าร้ายเสียดสีด้วยความอิจฉาริษยา จากบุคคลภายนอกมาสู่ครอบครัว อันจะเป็นเหตุให้เกิดเรื่องไม่ดีงามและความบาดหมาง
                                3. ททนฺตสฺเสว ทาตพฺพํ พึงให้แก่คนที่ให้ หมายถึงคนที่เคยเกื้อหนุนเอื้อเฟื้อควรมีน้ำใจไมตรีตอบแทน เมื่อมีผู้มาหยิบยืมข้าวของเงินทอง ควรให้แก่คนที่นำมาคืนเท่านั้น
                                4. อทนฺทตฺส น ทาตพฺพํ พึงอย่าให้แก่คนที่ไม่ให้ หมายถึงคนที่ไม่เคยเกื้อหนุนเอื้อเฟื้อมีน้ำใจก็ไม่ควรทำใจกว้างหรือทำหน้าใหญ่ใจโต ผู้ที่เคยหยิบยืมแล้วไม่นำมาคืน คราวต่อไปหากยังกล้ามาหยิบยืมอีก ไม่ควรให้
                                5. ททนฺตสฺสาปิ อทนฺตสฺสาปิ ทาตพฺพํ พึงให้แก่คนที่ให้และไม่ให้ หมายถึงการสงเคราะห์ญาติและมิตรสหาย แม้เขาจะนำมาคืนหรือไม่ก็ตาม เมื่อเห็นว่าเป็นการสมควร หรือเขาเป็นคนดีควรแก่การเกื้อหนุนอนุเคราะห์ก็ควรให้
                                6. สุขํ นิสีทิตพฺพํ พึงนั่งให้เป็นสุข  หมายถึงการนั่งในที่อันเหมาะอันควร ไม่เกะกะขวางทาง ไม่ต้องคอยลุกหลีกเมื่อพ่อสามีแม่สามีหรือผู้ใหญ่เดินผ่าน และนั่งเมื่อจัดการงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว
                                7. สุขํ ภุญฺชิตพฺพํ พึงกินให้เป็นสุข หมายถึงควรจัดข้าวปลาอาหารสำหรับพ่อสามีแม่สามีรวมทั้งสามีและบุตรให้เป็นที่เรียบร้อย
                                8. สุขํ นิปชฺชิตพฺพํ พึงนอนให้เป็นสุข หมายถึงควรนอนทีหลังพ่อสามีแม่สามี และสามีได้เข้านอนแล้ว คือต้องตรวจดูข้าวของกลอนประตูหน้าต่างและฟืนไฟให้เป็นที่เรียบร้อย ทั้งจัดแจงข้าวของที่จำเป็นสำหรับหุงหาหรือใช้สอยในวันรุ่งขึ้นให้พร้อมมูลครบครัน จึงจะถือได้ว่าเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดี
                                9. อคฺคิ ปริจริตพฺโพ พึงบูชาไฟ หมายถึงการให้ความเคารพยำเกรงสามีและบิดามารดาของสามีตลอดจนญาติผู้ใหญ่
                                10. อนฺโต เทวตา นมสฺสิตพฺพา พึงบูชาเทวดา หมายถึงให้นับถือบิดามารดาสามีและบรรพบุรุษ
                 ครั้นให้โอวาท 10  อย่างนี้แล้ว วันรุ่งขึ้นก็ประชุมนายกองทุกกอง จัดกุฏุมพี 8 นายในพวกเสนาของพระราชาเป็นนายประกัน แล้วกล่าวว่า ถ้าความผิดเกิดแก่ธิดาของเราในที่ๆ ไปแล้วไซร้ พวกท่านพึงชำระ แล้วให้ตบแต่งธิดาด้วยเครื่องประดับมหาลดาประสาธน์มีค่า 9 โกฏิ ให้ทรัพย์ 54 เล่มเกวียน เป็นมูลค่าสำหรับผงเครื่องหอมสำหรับผสมน้ำอาบ ให้ทาสีรูปสวยคอยปรนนิบัติในเวลาเดินทางประจำธิดา 500 นาง รถเทียมม้าอาชาไนย 500 คัน สักการะทุกอย่างๆ ละ 100
จะเห็นได้ว่า เมื่อนางวิสาขา แต่งงาน  ต้องออกเรือนไปอยู่ ร่วมกับครอบครัวสามี ธนัญชัยเศรษฐี พ่อของนางวิสาขา  นอกจากจะแบ่งสมบัติ ข้าวของเงินทอง คนรับใช้ให้ลูกไปแบบไม่น้อยหน้าลูกสาวเศรษฐีดังที่กล่าวแล้ว ธนัญชัยเศรษฐียังได้ให้โอวาทกำชับแก่ธิดาอีกด้วย 
คำสอนนี้ มีค่าประดุจเกราะป้องกันชีวิต ภายหลัง บิดาของสามีเกิดเขม่นกับวิสาขาลูกสะใภ้ ขนาดต้องขับไล่ออกจากบ้าน และกล่าวว่า บิดานางวิสาขาวางแผนซ่อนกลอะไรเอาไว้ ไม่เข้าใจ ทำนองมีลับลมคมใน เพราะธนัญชัยเศรษฐี บอกเป็นโค้ตย่อๆ เพียง 10 ข้อ  นางวิสาขาจึงได้โอกาสขยายความโอวาทบิดาสอนดังที่กล่าวไว้ ในที่สุด มิคารเศรษฐี บิดาสามีและลูกละใภ้ก็เข้าใจกัน เกิดความสมานฉันท์ปรองดองกันในครอบครัว ทั้งนี้ เพราะโอวาทของพ่อแท้ๆ

3.3 พ่อแบบ นายกรัฐมนตรี(อินเดีย)สอนลูก
                ยวาหะลาล เนห์รู ก่อนที่จะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอินเดีย หลังได้รับเอกราชจาก สหราชอาณาจักรอังกฤษ ท่านเป็นนักต่อสู้ เพื่อกอบกู้อิสรภาพของอินเดีย เคียงบ่าเคียงไหล่กับ มหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่แห่งอินเดีย คือ ท่านมหาตมะ คานธี  ยกย่องมหาตมะ คานธี ขนาด ให้ลูกสาว คือ นางอินทิรา ใช้นามสกุล คานธี ของท่านด้วย
ในระยะการต่อสู่ทางการเมืองเพื่อปลดปล่อยอินเดีย ท่านเนห์รู ต้องถูกจับกุม คุมขัง กักบริเวณ เข้าออกคุกเป็นว่าเล่น ในช่วงที่ท่านถูกคุมขังในสถานกักขังไนนิตาล ท่านก็เขียนหนังสือเพื่อให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ การเมือง ประวัติศาสตร์ชนชาติอินเดีย รวมทั้งประเพณี วัฒนธรรมของอินเดียที่เป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญของโลก มีความเป็นมาน่าพูมใจ ในรูปแบบ จดหมายจากพ่อถึงลูกสาว (Letters from a father to his daughter) [5] ไดรับการแปลสู่พากษ์ไทย โดยพระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณ พระราชรัตนโมลี  (นคร เขมปาลี)  วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ  อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพฯ    
ในปี ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2471)  ท่านเนห์รู เขียนจดหมายถึง อินทิรา คานธี ลูกสาว ซึ่งมีอายุ 10 ขวบ ช่วงนั้น เด็กหญิงอินทิรา พักร้อนและเรียนหนังสือที่ เมืองมัสซุรี(Mussoori) ในเทือกเขาหิมาลัย ด้านเหนือ นครนิวเดลลี ขึ้นไป ประมาณ 200  กิโลเมตร ท่านกับธิดาไม่ได้มีโอกาสอยู่และได้พบหน้ากัน จึงมีเพียงจดหมายเท่านั้นที่สามารถสื่อสารกันได้   ต่อมา เมื่อท่านได้รับการปล่อยให้เป็นอิสระ แต่ก็ทำงานการเมืองอยู่ และพักที่เมืองอัลลาหบาด อินเดียตอนกลางทางทิศใต้เมืองพาราณสี ท่านก็เขียนต่อ แต่ช่วงนั้นลูกสาวเจริญวัยเติบใหญ่ ท่านต้องปรับแนวการเขียนใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับวัยของลูก จึงเขียนออกมาในรูปของความรู้ทางวัฒนธรรมของตน รวมจดหมายทั้งสิ้น 30 ฉบับ
ท่าน เนห์รู สอนความรู้เรื่อง ราวเกี่ยวกับธรรมชาติ โลก ความเป็นไปของสิ่งมีชีวิต และการก่อกำเนิดเป็นสังคม และกลุ่มชน ซึ่งในทุกบทก็จะทรอดแทรกข้อคิด และอุดมการณ์ทางการเมือง เอาไว้อย่างกลมกลืน เล่าถึงกลุ่มคน หัวหน้าหรือผู้นำ ตอนแรกเกิดมาจาก การที่คนในเผ่าหรือกลุ่มตกลงกันเพื่อให้เลือกให้ใครคนหนึ่งมาทำหน้าที่ดูแล รักษาสมบัติของส่วนรวม เป็นไปในคล้ายเป็นคนรับใช้ของส่วนรวม แต่พอนานไปจากการเป็นคนรับใช้ ก็กลายมาเป็นผู้มีอำนาจสั่งการในเผ่าหรือกลุ่มชนขึ้นมาแทน ท้ายสุดท่านเนห์รูสอนให้รักประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อายรธรรม วรรณกรรม และภูมิปัญญาของอินเดียเอาไว้ 
จดหมายจากพ่อถึงลูกสาว  มีคำยกย่องว่า  เป็นหนังสือแห่งความรัก มีความรักอันยิ่งใหญ่อยู่ 3 ประการ  คือ    ความรักสัจจะ  ความรักของพ่อต่อลูก และ ความรักมนุษยชาติ หากปราศจากความรัก3 ประการนี้แล้ว อารยธรรมก็เป็นเพียงความเจ็บปวดของมนุษย์ ท่ามกลางความมั่งคั่งทางวัตถุธรรมเท่านั้น
เท่าที่ได้อ่านทั้งหมด ถือว่า พ่อแบบเนห์รู สอนลูกให้รู้จักความเป็นมาของประเทศชาติ ให้พูมใจในวัฒนธรรมของตน ให้มีสำนึกรักบ้านเกิด  สำนึกในหน้าที่ผู้ที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติ มาตุภูมิ  ไม่แปลกใจว่า ภายหลัง อินทิรา คานธี ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอินเดีย หลายสมัย พัฒนาประเทศอินเดียจากประเทศที่ยากจน เป็นประเทศที่เริ่มพัฒนา และมีอำนาจต่อรองประเทศมหาอำนาจ เป็นผู้นำกลุ่มประเทศที่ 3  ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด   คำสอนของพ่อก็ผลิดอกออกผลให้เห็นประจักษ์แก่สายตาโลก
3.4 พ่อแบบพระเจ้าแผ่นดิน(สยาม)สอนลูก
                หันกลับมาดูบ้านเรา สมัยที่ประเทศกำลังพัฒนาสู่ความทันสมัยแบบโลกตะวันตก ผู้เขียนได้เคยรับรู้ว่า ประเทศสยามในช่วงนั้น จำเป็นต้องพัฒนาด้านองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาประเทศ พระมหากษัตริย์ทรงพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ประเทศเจริญ ในฐานะผู้นำประเทศ เราทราบว่า ประเทศไทยเป็นหนี้ของบุรพกษัตริย์เสมอมา แต่ในฐานะที่ พระมหากษัตริย์ พระองค์ก็ทรงมีพระราชโอรสธิดา จำเป็นต้องสร้างโอรสธิดาให้เป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ รับราชการสนองราชการต่างพระเนตรพระกรรณ จะเห็นได้ว่า น้ำพระทัยพ่อที่มีต่อลูก ก็ไม่แตกต่างไปจากพ่อธรรมดาเช่นบุคคลสามัญ 
                ในการส่งพระราชโอรส 4 พระองค์ คือ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์(กรมพระจันทบุรีนฤนาถ) พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์(กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม(กรมหลวงปราจิณกิติบดี) พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช(กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช) จะเสด็จไปศึกษาวิชาการในยุโรป ในปี พุทธศักราช  2428  ส่วนหนึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพส่วนตนของพระโอรส ส่วนหนึ่งเป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลแก่ประเทศชาติ ขออัญเชิญพระบรมราโชวาท ประทานแด่พระราชโอรสมานำเสนอเพียงสังเขปแม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยนิดจากพระบรมราโชวาทแก่พระโอรสท่านอื่นๆ ในวาระอื่น ก็พอเป็นแนวทางให้เห็นหลักการสอนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 ป็น คำสอนของพ่อที่หวังดีแก่ลูก ตราไว้ประดุจ มนตร์ขลัง เป็นเครื่องป้องกันโอรสให้รอดพ้นจากผองภัย น่าศึกษา จะได้น้อมนำใส่เกล้ามาปฏิบัติเพื่อสอนลูกสอนหลานต่อไป 
พระบรมราโชวาทมีใจความโดยสรุป [6] ดังนี้  
1. จงวางตัวเป็นดังสามัญชน อย่าไว้ยศอย่างเจ้านาย  เพราะไปอยู่ต่างเมืองต่างถิ่น เป้าหมาย คือให้ไปเรียนเอาความรู้ ไม่ใช่ให้ถือว่า การส่งไปเรียนนอก เป็นเกียรติยศ ควรอวดอ้าง  ว่าตัวเก่งเป็นนักเรียนนอก
                                2. ทุนการศึกษา เป็นเงินส่วนตัวของพระบิดา จากเงินพระคลังข้างที่ มิใช่เงินแผ่นดิน ทรงประทานเป็นทุนให้พระองค์ละ  3,600 ปอนด์ เป็นเวลา 10 ปี  ในระยะ  5 ปีแรก ให้เรียนวิชาพื้นฐาน ส่วนอีก 5 ปี หลัง ให้ศึกษาวิชาการเฉพาะด้าน ทุนทรัพย์ เป็นมรดกที่พ่อต้องให้ลูกทุกคน เท่าๆกัน  แต่ต้องเลือกให้เหมาะ คือ ให้ทุนการศึกษาแก่คนฉลาดไปเรียนนอก ส่วนคนไม่ฉลาดก็ให้ทุนทรัพย์ไปทำกิจอย่างอื่น   ทุนที่ให้ แม้จะเป็นทุนส่วนพระองค์ แต่ก็ใช้จ่ายเพื่อราชการของประเทศ
                                3. ให้พระโอรสจงตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ใช้ความเพียรพยายามเต็มความสามารถของตน เมื่อสำเร็จกลับมา ขอให้นำมาใช้ในการทำราชการด้วยความสามารถของตนเอง  อย่าอาศัยช่องทางว่าตนเป็นเจ้าแล้วมาเลือกนั่งบริหารในตำแหน่งสูงๆ หาช่องทางทำมาหากินโดยที่ตนมีความสามารถไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง เป็นการไม่ควรอย่างยิ่ง
4. อย่าถือทิฐิมานะไปในทางที่ผิด จงหันหาทางที่ชอบประพฤติตนในทางที่ถูกต้อง ผู้ใดตักเตือน ต้องเชื่อฟังคำเขา  จงประพฤติตนเป็นคนว่านอนสอนง่าย อย่าอาศัยอำนาจพ่อ อวดศักดา เบ่งบารมี
5. จงตระนักว่า เงินทองเป็นของหายาก แต่จับจ่ายใช่สอยให้สิ้นเปลืองได้โดยง่าย  ใช้เงินทองให้รู้คุณค่า รู้จักเขม็ดแขม่ ใช้จ่ายตามความจำเป็น การใช้จ่ายในต่างประเทศ ต้องผ่านผู้ดูแล อยู่ในการกำกับของผู้ดูแล  อย่ามือเติบ ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายจนมีหนี้สินติดตัว  ใครสร้างหนี้สินติดตัวจะต้องรับโทษ พ่อจะไม่ใช้หนี้ให้ ห้ามนำ เงินที่เคยเก็บไว้ ไปใช้หนี้ด้วย ต้องเก็บเอาไว้เป็นทุนภายหน้าเมื่อเติบโตขึ้นมา
6. ต้องเรียนภาษา 3 ภาษา(อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน)ให้เชี่ยวชาญ เกิดทักษะ   และเรียนวิชาเลขคณิต เป็นพื้นฐาน ส่วนวิชาที่จะเรียนชั้นสูงค่อยตัดสินใจภายหลัง  ทั้งนี้แม้จะเก่งภษาต่างประเทศ ต้องไม่ทิ้งภาษาไทย หนังสือไทย เพราะเป็นภาษาของตนเอง เรียนภาษาต่างประเทศ เพื่อศึกษาวิชาการนำมาถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ภาษาของตัวเอง  ทั้งสามารถแปลภาษาของตัวกลับเป็นภาษาสากลได้ อย่าถือตัวว่าเก่งภาษาฝรั่งจนดูหมิ่นภาษาของตน (ควรตำหนิ)  ถ้าไม่ได้อย่างนี้  จ้างชาวต่างชาติมาทำงานก็ใช้ได้แล้ว ไม่จำเป็นเสียเงินทองต้องส่งลูกข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียน  ตลอดเวลาที่พำนักอยู่ในต่างประเทศ ทุกคนต้องเขียนจดหมายมาหาพ่อทุกเดือน เขียนเป็นภาษาไทย ถ้าพอเขียนภาษาต่างประเทศได้ ต้องเขียนมาคู่กัน และแปลเป็นไทยด้วย จะได้เก่งทั้งภาษาต่างประเทศและชำนาญภาษาของตน ให้พึงนึกในใจไว้ว่า เราไม่ได้มาเรียนจะเป็นฝรั่ง เราเรียนเพื่อจะเป็น คนไทยที่มีความรู้เสมอด้วยฝรั่ง
7. ไม่ว่าจะศึกษาเล่าเรียนและอาศัยอยู่สถานที่ใด จงเคารพระเบียบ กฎ กติกาของสถาบัน และถิ่นนั้นๆ อย่าทำให้เสียชื่อเสียง  จงรักษาเกียรติของตน มิให้ใครดูหมิ่นได้
อ่านแล้วลองใคร่ควรดู ทั้งการวางตนให้สมกับฐานะ ทั้งการจับจ่ายใช้สอย ทั้งการรู้จักเลือกศึกษาวิชาการที่เหมาะกับตน ทั้งการให้รู้จักการใช้ชีวิตที่พอเพียง มีงบประมาณเท่านี้ เป็นเวลาเท่านี้ ต้องรู้จักการแบ่งสรรปันส่วนใช้จ่าย มิให้มือเติบเป็นหนี้เป็นสิน หากใครเป็นหนี้ ต้องได้รับพระราชอาชญา มิใช่พ่อต้องจ่ายหนี้แทนโดยไม่มีความรับผิดชอบ ผู้เขียนเห็นว่า คำสอนนี้ ทันสมัยแม้ในปัจจุบันยุคเศรษฐกิจลอยตัว จนไม่พบว่า เพดานจะสูงขนาดใด
3.5 พ่อแบบพระพุทธเจ้าสอนลูก
              พุทธประวัติบันทึกว่า เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกบรรพชา ในราตรีที่พระกุมารน้อย ราหุลแรกประสูติจาก พระนางยโสธรา พิมพา ลูกไม่เคยได้พบหน้าพ่อบังเกิดเกล้า จนเมื่อพระสิทธัตถะ  ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า  หลังพรรษาที่ 1  (ในอรรถกถาบางแห่งลำดับการจำพรรษาของพระพุทธเจ้า ว่า เสด็จไปกบิลพัสดุ์ จากนครราชคฤห์ หลังจาก ราชทูตชุดที่ 10  ของพระเจ้า      สุทโธทนะนำโดย กาฬุทายีอำมาตย์ สหชาติที่เกิดในวันเดียวกับพระสิทธัตถะ ส่งมาทูลเชิญ เมื่อออกพรรษาแล้วพระพุทธเจ้าจึงเสด็จนิวัตินครกบิลพัสดุ์ นับตามระยะเวลาและระยะทางไปกลับ ของคณะทูต 10 คณะ  สมัยนั้น คงใช้เวลาประมาณ 2 ปี เป็นอย่างน้อย ตามความคิดเห็นของผู้เขียน น่าจะตกในช่วงหลังการจำพรรษาที่ 3)  พระองค์จึงได้เสด็จกลับไปเยี่ยมพระพุทธบิดา
                ที่นครกบิลพัสดุ์ วันหนึ่ง พระนางพิมพา ได้แต่งตัวพระราหุลกุมารอย่างดี แล้วส่งพระกุมาร ไปหาพระพุทธเจ้า สั่งให้ทูลขอมรดกจากพระบิดา เพราะพระองค์ผนวชแล้ว ทรัพย์สินของพ่อ ย่อมตกเป็นมรดกแก่บุตรทายาท 
พระราหุลกุมารนี้ เมื่อพระชนม์ได้ 7 พรรษา ได้พบพระพุทธเจ้า เห็นหน้าบิดาเป็นครั้งแรกที่กบิลพัสดุ์ เมื่อมารดาให้ไปทูลขอมรดก  จึงเข้าไปกราบพระพุทธเจ้าแล้ว  ทรงจับชายจีวรของพระพุทธเจ้า และทูลขอมรดกกะพระพุทธเจ้าว่า
ข้าแต่พระสมณะ ขอได้ทรงประทานมรดกแก่ข้าพระองค์เถิด
พระพุทธเจ้าทรงพระดำริว่า กุมารนี้ปรารถนาทรัพย์อันเป็นของบิดา  ซึ่งเป็นไป ตามวัฏฏะ มีแต่ความคับแค้น เอาเถอะเราจะให้อริยทรัพย์ 7  ประการ [7] ซึ่งเราได้บรรลุที่โพธิมัณฑ์(โคนต้นโพธิ์)แก่กุมารนี้  เราจะ ทำกุมารนั้นให้เป็นเจ้าของทรัพย์มรดกอันเป็นโลกุตระ 
จึงตรัสเรียกพระสารีบุตรมาว่า   สารีบุตร  ท่านจงให้ราหุลกุมารบวช
                พระสารีบุตรให้ราหุลกุมารบวชเป็นสามเณร  และพากลับไปนครราชคฤห์ด้วย 
                เมื่อราหุลสามเณร ในฐานะ โอรสของพระพุทธเจ้า ส่วนหนึ่งพระองค์มองให้พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้อขวา เป็นผู้ดูแล ทำนองพระพี่เลี้ยง  แต่ในฐานะพระบิดา พระพุทธเจ้า ทรงมีน้ำพระทัยเป็นห่วงพระราหุล ทรงหวังประทาน อริยทรัพย์แด่ท่านราหุล มาศึกษากระบวนการสอนลูกแบบพระพุทธเจ้า ผู้เขีนยอ่านแล้ว พระพุทธเจ้านับเป็น อนุตตโร ปุริสทัมสารถี ผู้ฝึกสอนคนที่เชี่ยวชาญ เข้าใจจิตวิทยาเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์ ดังที่พระองค์ตรัสสอนพระราหุล นับแต่ทรงพระเยาว์ จนเป็นหนุ่ม อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ดังนี้ 
กระบวนการสอนของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้า สั่งสอน อบรม กล่อมเกลาพระราหุล นับตั้งแต่ลูกยังเยาว์เล็ก  จนเป็นหนุ่ม    คำสั่งสอนในโอกาสต่างๆ หลายครั้ง หลายสูตร  ที่เรียกว่า  ราหุโลวาท แปลว่า โอวาทแก่ราหุล    หรือ ราหุลสูตร คือ กลุ่มที่ว่า การสอนพระราหุล มีหลายสูตร ผู้เขียน ใจจริงอยากเก็บความมาให้กระชับทุกสูตร  แต่เห็นว่า ถ้ารักษาความเดิมจะทำให้ผู้อ่านเกิดความซาบซึ้งในอรรถรส จึงขอยกคำจากพระไตรปิฎกแปลมาให้อ่านพอเป็นสังเขป ขอแบ่งแนวทางการสอนของพระพุทธเจ้า กับท่านราหุล พระโอรสของพระพุทธเจ้า แบบพ่อสอนลูก ออกเป็นช่วงต่างๆ ดังนี้
ในช่วงเด็กอายุ 7-12 ปี
สอนให้รู้จักการพูดจาที่เหมาะสม พระพุทธเจ้าทรงดำริว่า  เด็กหนุ่มย่อมพูดถ้อยคำที่ควรและไม่ควร   ตรัสเรียกสามเณรราหุลและทรงสอนว่า  สามเณรไม่ควรกล่าวติรัจฉานกถา(คำพูดไร้สาระ)   ควรกล่าวกถา(สิ่งที่ควรพูด)  คือ คำถาม 10 ข้อ การแก้ 55 ข้อ เรียกว่า สามเณรปัญหา[8] เช่น
อะไรชื่อว่า 1 คือ สัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ได้เพราะอาหาร
อะไรชื่อว่า 2 คือ นามและรูป
อะไรชื่อว่า 3 คือ เวทนา 3
อะไรชื่อว่า 4 คือ อริยสัจ 4
อะไรชื่อว่า 5 คือ อุปาทานขันธ์ 5
อะไรชื่อว่า 6 คือ อายตนะภายใน 6
อะไรชื่อว่า 7 คือ โพชฌงค์ 7
อะไรชื่อว่า 8 คือ อริยมรรคมีองค์ 8
อะไรชื่อว่า 9 คือ สัตตาวาส 9
อะไรชื่อว่า 10 คือ ผู้ประกอบด้วยองค์ 10 ท่านกล่าวว่า เป็นพระอรหันต์

สอนด้วยการยกตัวอย่างให้คิด  เกี่ยวกับการพูดมุสาเล่น
               ในราหุลสูตร พระพุทธองค์ทรงดำริต่อไปว่า เด็กหนุ่มย่อมกล่าวเท็จด้วยคำน่ารัก ย่อมกล่าวสิ่งที่ไม่เห็นว่าเราได้เห็นแล้ว กล่าวสิ่งที่เห็นว่าเราไม่เห็น เราจะให้โอวาทแก่ราหุล แม้แลดูด้วยตาก็เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย
ทรงแสดงอุปมาด้วยภาชนะใส่น้ำ 4 ดังนี้
พระผู้มีพระภาคเหลือน้ำไว้ในภาชนะน้ำหน่อยหนึ่ง แล้วตรัสกะท่านพระราหุลว่า ดูกรราหุล เธอเห็นน้ำเหลือหน่อยหนึ่งอยู่ในภาชนะน้ำนี้หรือ?
              พระราหุลกราบทูลว่า  เห็นพระเจ้าข้า
             พระพุทธเจ้า ดูกรราหุล สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่ ก็มีน้อยเหมือนกันฉะนั้น
             ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเทน้ำที่เหลือหน่อยหนึ่งนั้นเสีย แล้วตรัสกะท่านพระราหุล
ว่า ดูกรราหุล เธอเห็นน้ำหน่อยหนึ่งที่เราเทเสียแล้วหรือ?”
             พระราหุล  เห็น พระเจ้าข้า
             พระพุทธเจ้า ดูกรราหุล สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่ ก็เป็นของที่เขาทิ้งเสียแล้วเหมือนกันฉะนั้น
             ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงคว่ำภาชนะน้ำนั้น แล้วตรัสกะท่านพระราหุลว่า ดูกรราหุล
เธอเห็นภาชนะน้ำที่คว่ำนี้หรือ?”
             พระราหุล  เห็น พระเจ้าข้า
             พระพุทธเจ้า ดูกรราหุล สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่ ก็เป็นของที่เขาคว่ำเสียแล้วเหมือนกันฉะนั้น
             ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหงายภาชนะน้ำนั้นขึ้น แล้วตรัสกะท่านพระราหุลว่า
ดูกรราหุล เธอเห็นภาชนะน้ำอันว่างเปล่านี้หรือ?”
            พระราหุล  เห็น พระเจ้าข้า
             พระพุทธเจ้า ดูกรราหุล สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่ ก็เป็นของว่างเปล่าเหมือนกันฉะนั้น
จากนั้นทรงแสดงอุปมาด้วยอาการของช้าง 2 แบบ ดังนี้
พระพุทธเจ้า ดูกรราหุล เปรียบเหมือนช้างต้น มีงาอันงอนงาม เป็นพาหนะที่เจริญยิ่งนัก มีกำเนิดดี เคยเข้าสงคราม ช้างนั้นเข้าสงครามแล้ว ย่อมทำกรรมด้วยเท้าหน้าทั้งสองบ้าง ด้วยเท้าหลังทั้งสองบ้าง ด้วยกายเบื้องหน้าบ้าง ด้วยกายเบื้องหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหูทั้งสองบ้าง ด้วยงาทั้งสองบ้าง ด้วยหางบ้าง ย่อมรักษาไว้แต่งวงเท่านั้น. เพราะการที่ช้างรักษาแต่งวงนั้นไว้  ควาญช้างจึงคิดว่า ช้างต้นยังไม่ยอมสละชีวิต
พระพุทธเจ้า ดูกรราหุล เมื่อใดแลช้างต้นมีงาอันงอนงามเป็นพาหนะที่เจริญยิ่งนัก มีกำเนิดดี เคยเข้าสงคราม เข้าสงครามแล้ว ย่อมทำกรรมด้วยเท้าหน้าทั้งสองบ้างด้วยเท้าหลังทั้งสองบ้าง ด้วยกายเบื้องหน้าบ้าง ด้วยกายเบื้องหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหูทั้งสองบ้าง ด้วยงาทั้งสองบ้าง ด้วยหางบ้าง ด้วยงวงบ้าง. เพราะการที่ช้างทำกรรมด้วยงวงนั้น ควานช้างจึงมีความมั่นใจว่า  ช้างต้นยอมสละชีวิต บัดนี้ไม่มีอะไร ที่ช้างต้นจะพึงทำไม่ได้
ดูกร ราหุล เรากล่าวว่าบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งที่รู้อยู่ ที่จะไม่ทำบาปกรรมแม้น้อยหนึ่งไม่มี   ราหุล เธอพึงตั้ใจว่า เราจักไม่กล่าวมุสา แม้เพราะหัวเราะกันเล่น  
จากนั้นทรงแสดงอุปมาด้วยแว่นส่อง(กระจกส่อง)   ดังนี้
พระพุทธเจ้า นำแว่นส่องมาแล้วถามว่า ราหุล แว่นส่องมีประโยชน์อย่างไร?”
                            พระราหุล             มีประโยชน์สำหรับส่องดู พระเจ้าข้า
                            พระพุทธเจ้า         เหมือนกันแล ราหุล บุคคลควรพิจารณาเสียก่อน แล้วจึงทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ   ถ้าเมื่อเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราจะทำกรรมใดด้วยกาย วาจา หรือใจ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่น กายกรรม วจีกรรม มโนก นี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ กรรมเห็นปานนี้ เธอไม่พึงทำ
แต่ถ้าเมื่อเธอ พิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยกาย วาจา หรือ ใจ  กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของเรานี้ ไม่พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่น กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ กรรมเห็นปานนั้น เธอพึงทำ
ในช่วงวัยรุ่น อายุ 13-19 ปี 
 คำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนพระราหุล ในช่วงนี้ มีมาก ที่เรียกว่า ราหุลสังยุต[9]  ด้วยการเข้าใจจิตวิทยาวัยรุ่น พระองค์ทรงสอนให้ระวังกิแลสด้านการยึดติดความสวยงามของรูปร่าง วัยหนุ่ม วัยเจริญ พระพุทธองค์ ทรงแสดงการเว้นตัณหาในปัจจัย 4 การละฉันทราคะในกามคุณ 5 และความที่อุปนิสัยแห่งกัลยาณมิตรเป็นคุณยิ่งใหญ่    ไม่ควรทำฉันทราคะในภพทั้งหลาย ในที่ที่มาแล้วๆ   
ตามความใน มหาราหุโลวาทสูตร [10]  พระพุทธองค์สอนว่า ไม่ควรทำฉันทราคะอันอาศัยเรือน อาศัยอัตภาพว่า เรางาม วรรณะของเราผ่องใส 
ในราหุลสูตรที่ 11  พระพุทธเจ้าตรัสว่า เธอละกามคุณห้ามีรูปเป็นที่รัก เป็นที่รื่นรมย์ใจ ออกบวชด้วยศรัทธาแล้ว จงกระทำที่สุดทุกข์เถิด เธอจงคบกัลยาณมิตร จงเสพที่นอนที่นั่งอันสงัดเงียบ ปราศจากเสียงกึกก้อง จงรู้จักประมาณในโภชนะ เธออย่าได้กระทำความอยากในวัตถุเป็นที่เกิดตัณหาเหล่านี้ คือ จีวร บิณฑบาตที่นอน ที่นั่ง และปัจจัย เธออย่ากลับมาสู่โลกนี้อีก จงเป็นผู้สำรวมในปาฏิโมกข์และในอินทรีย์ 5 จงมีสติไปแล้วในกายจงเป็นผู้มากไปด้วยความเบื่อหน่าย จงเว้นสุภนิมิต อันก่อให้เกิดความกำหนัด จงอบรมจิตให้มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ให้ตั้งมั่นดีแล้วในอสุภภาวนา จงอบรมวิปัสนา จงละมานานุสัยแต่นั้นเธอจักเป็นผู้สงบ เพราะการละมานะเที่ยวไป
พระพุทธเจ้าตรัสสอนท่านพระราหุล ด้วยคำเหล่านี้เนืองๆ ด้วยประการฉะนี้แล[11]

เมื่อเข้าถึงวัยผู้ใหญ่ช่วงอายุ 20 ปีบริบูรณ์
 ครั้นพระราหุลอุปสมบทเป็นพระภิกษุได้ ครึ่งพรรษา(ช่วงระหว่างเข้าพรรษา) ท่านได้รับการสอนระดับสูงที่สุดที่พ่อจะให้ลูกเข้าใจ  ที่เรียกว่า จูฬราหุโลวาทสูตร [12] ดังนี้
 พระพุทธเจ้า ทราบว่า พระราหุลมีธรรมที่บ่มวิมุตติแก่กล้าแล้วแล ถ้ากระไร เราพึงแนะนำราหุลในธรรมที่สิ้นอาสวะยิ่งขึ้นเถิด  จึงสอนเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใน ขันธ์ 5   ในอายตนะ 12  ทำนองสอนไป ซักถามความเข้าใจไป  ดุจการสอน อนัตตลักขณสูตร แก่พระเบญจวัคคีย์ที่อิสิปตนมฤคทายวัน
 เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสสอนเช่นนี้อยู่ จิตของท่านพระ ราหุลหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น และเทวดาหลายพันตนนั้น ได้เกิดดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลีหมดมลทินว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น เป็นธรรมดา สิ่งนั้นล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา
ในที่สุด ท่านพระราหุล ก็บรรลุเป็นอรหันต์ เป็นธรรมทายาทของพระพุทธเจ้า รับมรดกธรรมที่เป็น โลกุตตระอย่างแท้จริง
พระราหุล   เพียงอายุย่าง 21 ปี ก็ได้รับมรดกอมฤตธรรม เป็นความสุขอมตะอย่างสูงสุด พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด  เพราะการเอาใจใสพร่ำสอนของพ่อ และการตั้งใจศึกษาของลูก พระราหุล ได้รับเอตทัคคะ ด้านเป็นผู้สนใจต่อการศึกษาอย่างยิ่ง

4. ข้อเปรียบเทียบ
พ่อทุกคนย่อมรักลูก ปรารถนาความสุขและความเจริญแก่ลูกทั้งทางกาย ทางสังคม ทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาทางจิตวิญญาณ ทั้งนั้น  ไม่ว่า พ่อรวย พ่อจน พ่อฐานะสามัญชน จนถึงพระมหากษัตริย์ พ่อแบบชาวโลก จนชั้นพ่อแบบพระพุทธเจ้า ไม่แตกต่างกันในขั้นพื้นฐาน ทำหน้าที่พ่อได้ครบตามหลักทิศ 6 ในสิงคาลกสูตร ประกอบด้วยคุณสมบัติพ่อในฝัน พึ่ง พิง อิง แอบ และอื่นๆ อีกหลายประการ มีน้ำใจ ห่วงใย ให้ความอบอุ่น สร้างเกาะป้องกัน ห้ามชั่ว ให้ทำดี ให้การศึกษาที่ดี ให้เข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริงทั้งนั้น แต่ที่ต่างกัน คือ พ่อแบบโลก ให้มรดกแบบทรัพย์ภายนอก ไม่ยั่งยืน ส่วนพ่อแบบพระพุทธเจ้า ท่านให้อริยทรัพย์ ที่ยั่งยืน ติดตัวลูก เป็นอมตะ ตลอดไป  
                ความสุข คืออะไร สุดแต่ระดับเป้าหมายที่พ่อแต่ละคนมองเห็น สาเหตุแห่งการสร้างความสุข  ย่อมเกิดจาก ปัจจัยภายนอก คือ การงาน ทรัพย์สิน เงินทอง  เกียรติยศ เชื่อเสียง วิชาการทางโลก  การใช้ชีวิตทางโลก สร้างครอบครัวอย่างถูกต้องตามคลองธรรม หรือ จากปัจจัยภายใน คือ การปลูกฝังคุณธรรม และความรู้ที่แท้จริง ความสุขทางจิตใจ มีค่าสูงกว่า ความสุขทางวัตถุ
                วิธีการสร้างความเจริญและความสุขแก่ลูก พ่อแต่ละคนย่อมมีวิธีการต่างกัน ในขณะที่  คิโยซากิ ก็ดี ดร.สุวรรณ วลัยเสถียรก็ดี  ท่าน เศรษฐีธนัญชัย ท่านบัณฑิตเนห์รู แม้กระทั้ง สมเด็จพระปิยมหาราช สอนลูกให้รู้จักใช้จ่าย ประหยัด อดออม ทำงานหารายได้ สร้างความมั่งคั่งทางโลกียทรัพย์  มีน้ำใจแบ่งบันความสุขแก่ผู้อื่น ผู้เขียนว่าก็ยังไม่พ้นระดับโลก ที่ต้องตกในกระแสอนิจจัง รวยแล้ว กลับจนได้  สุขบ้างทุกข์บ้างเป็นไปตามกฎพระไตรลักษณ์
ส่วนพระพุทธเจ้า หันหลังให้ความสุข และความร่ำรวยภายนอกแบบโลกๆ กลับมอบมรดกภายใน ตรัสสอนพระราหุลให้ร่ำรวยด้วยอริยทรัพย์  และท่านพระราหุลก็ประสบความสุขสงบที่แท้จริง ตามเป้าหมายของพระพุทธศาสนา พ่อได้ถึงฝั่งอย่างไร ประสบความสำเร็จอย่างไร ลูกก็เจริญรอยตาม สืบสานตามรอยเท้าพ่อถึงฝั่งแห่งนิพพานสุขดุจพ่อพระ  นับเป็นลูกที่ดีน่ายกย่องที่สุด
------------
ข้อมูลสำหรับการอ้างอิง
             พระสุตตันตปิฎก เล่ม 5,  มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภิกขุวรรค, มหาราหุโลวาทสูตร.
พระสุตตันตปิฎก เล่ม 6,  มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สฬายตนวรรค, จูฬราหุโลวาทสูตร. 
พระสุตตันตปิฎก เล่ม 8,  สังยุตตนิกาย นิทานวรรค - ราหุลสังยุตต์ ปฐมวรรค และ ทุติยวรรค.
พระสุตตันตปิฎก เล่ม 17, ขุททกนิกาย สุตตนิบาต จูฬวรรค, ราหุลสูตร.
พระสุตตันตปิฎก เล่ม 17, ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต, สามเณรปัญหา.
มัลลิกา,  พ่อดีๆอยู่ที่นี่, จาก กรุงเทพวันอาทิตย์ ปีที่ 16 ฉบับที่ 6009 วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2547  สืบค้นจาก http://www.elib-online.com/doctors47/child_father003.html เมื่อ 9 ม.ค. 2551.
ยวาหะลาล เนห์รู,  จดหมายจากพ่อถึงลูกสาว, แปลโดย พระราชรัตนโมลี : นคร เขมปาลี(กรุงเทพฯ โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2537.   
ศุภฤกษ์ ตั้งใฝ่คุณธรรม, รัชกาลที่ 5  ทรงสั่งสอนคุณธรรมนักเรียนนอก และคุณธรรมปฏิวัติเพื่อความเป็นมนุษย์, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ วิวัฒน์, 2548.
สุวรรณ วลัยเสถียร, พ่อสอนลูกให้รวย, กรุงเทพฯ : เนชั่นมัลติมิเดี่ยกรุ๊ปจำกัด, 2546.



เชิงอรรถ


[1] อ.ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ เรียบเรียง  เพื่อการบรรยายทางงวิทยุ FM 100 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   รายการเรื่องน่ารู้จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ออกอากาศ เวลา 17.50 – 17.58  นาฬิกา บันทึกสียง วันที่ 9 มกราคม 2551 แบ่งเป็น 4 ตอน
[2] สุวรรณ วลัยเสถียร, พ่อสอนลูกให้รวย, กรุงเทพฯ : เนชั่นมัลติมิเดี่ยกรุ๊ปจำกัด, 2546) หน้า คำนำ.
[3] มัลลิกา,  พ่อดีๆอยู่ที่นี่, จาก กรุงเทพวันอาทิตย์ ปีที่ 16 ฉบับที่ 6009 วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2547  สืบค้นจากhttp://www.elib-online.com/doctors47/child_father003.html เมื่อ 9 ม.ค. 2551
[4] สุวรรณ วลัยเสถียร, พ่อสอนลูกให้รวย, หน้า  94-98.
[5] ยวาหะลาล เนห์รู,  จดหมายจากพ่อถึงลูกสาว, แปลโดย พระราชรัตนโมลี : นคร เขมปาลี(กรุงเทพฯ โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2537.   
[6] ศุภฤกษ์ ตั้งใฝ่คุณธรรม, รัชกาลที่ 5  ทรงสั่งสอนคุณธรรมนักเรียนนอก และคุณธรรมปฏิวัติเพื่อความเป็นมนุษย์, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ วิวัฒน์, 2548), หน้า 5 – 36.
[7] อริยทรัพย์ เป็นทรัพย์อันประเสริฐอยู่ภายในจิตใจ ดีกว่าทรัพย์ ภายนอกเพราะไม่มีผู้ใดแย่งชิง ไม่สูญหายไปด้วยภัยอันตรายต่างๆ ทำใจให้ไม่อ้างว้างยากจนและเป็นทุนสร้างทรัพย์ภายนอกได้ด้วย 
อริยทรัพย์ คือ ทรัพย์อันประเสริฐ ทรัพย์คือคุณธรรมประจำใจ อย่างประเสริฐ
1. ศรัทธา ความเชื่อที่มีเหตุผล มั่นใจในหลักที่ถือและในการดีที่ทำ
2. ศีล การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ประพฤติถูกต้องดีงาม
3. หิริ ความละอายใจต่อการทำชั่ว
4. โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อความชั่ว
5. พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก
6. จาคะ ความเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
7. ปัญญา ความรู้ความเข้าใจถ่องแท้ในเหตุผล ดีชั่ว ถูกผิด คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ รู้คิด รู้พิจารณาและรู้ที่จะจัดทำ
 [8] พระสุตตันตปิฎก เล่ม 17, ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต, ข้อ 4 หน้า 2.
[9] พระสุตตันตปิฎก เล่ม 8, สังยุตตนิกาย นิทานวรรค - ราหุลสังยุตต์ ปฐมวรรค และ ทุติยวรรค, ข้อ 599 ถึง ข้อ 635.
[10]  พระสุตตันตปิฎก เล่ม 5, มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภิกขุวรรค มหาราหุโลวาทสูตร, ข้อ133-146.
[11] พระสุตตันตปิฎก เล่ม 17 ขุททกนิกาย สุตตนิบาต จูฬวรรค ราหุลสูตร,  ข้อ 328.
[12] พระสุตตันตปิฎก เล่ม 6 มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สฬายตนวรรค จูฬราหุโลวาทสูตร, ข้อ795-809. 
หมายเหตุ 
เรื่องนี้ต่อมาได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือ ในชื่อ "สอนลูกให้เป็นยอดคน ตามแนวทางของพระพุทธองค์" โดยสำนักพิมพ์ แฮปปี้บุ๊ค และจัดจำหน่ายโดย ซีเอ็ด