บทที่
3
ลุมพินี สถานที่ประสูติ (Lumbini)
โดย
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
Phisit Kotsupho
อดีตรำลึก
:
สวนลุมพินี เป็นสังเวชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่งในบรรดาพุทธสังเวชนียสถาน 4 แห่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสตอบคำถามของพระอานนท์
เมื่อจวนจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในมหาปรินิพพานสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่ม 2
ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อ 131- 132 หน้า 113-114 ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อน พวกภิกษุผู้อยู่จำพรรษาในทิศทั้งหลาย
ย่อมมาเพื่อเฝ้าพระตถาคต พวกข้าพระองค์ย่อมได้เห็น ได้เข้าไปนั่งใกล้ ภิกษุเหล่านั้นผู้ให้เจริญใจ
โดยกาลล่วงไปแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า พวกข้าพระองค์จักไม่ได้เห็น ไม่ได้เข้าไปนั่งใกล้
พวกภิกษุผู้ให้เจริญใจ ”
พระพุทธเจ้าตอบว่า
“ดูก่อนอานนท์ สังเวชนียสถาน
4 แห่งเหล่านี้ เป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา
คือ
1. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา ด้วยมาระลึกว่า
พระตถาคตประสูติที่นี้
2. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา ด้วยมาระลึกว่า
พระตถาคตตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณที่นี้
3. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา ด้วยมาระลึกว่า
พระตถาคตทรงยังอนุตตรธรรมจักรให้เป็นไปที่นี้
4. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา ด้วยมาระลึกว่า
พระตถาคตเสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุที่นี้
สังเวชนียสถาน 4
แห่งนี้แล เป็นสิ่งที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา
ดูก่อนอานนท์ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
จักมาด้วยความเชื่อว่า พระตถาคตประสูติที่นี้ก็ดี พระตถาคตตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณที่นี้ก็ดี
พระตถาคตทรงยังอนุตตรธรรมจักรให้เป็นไปที่นี้ก็ดี พระตถาคตเสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุที่นี้ก็ดี ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เที่ยวจาริกไปยังเจดีย์
มีความเลื่อมใสแล้ว จักทำกาละลง (ตาย) ชนเหล่านั้นทั้งหมด
จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์”
เสาศิลาของพระเจ้าอโศก ที่ลุมพินี
การจาริกแสวงบุญ ด้วยการมานมัสการถึงสังเวชนียสถาน ไม่ว่าแห่งใดแห่งหนึ่ง จะก่อให้เกิดบุญเกิดกุศล เพราะได้มาระลึกถึงพุทธคุณ เป็นพุทธานุสสติ เสมือนได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าต่อหน้าพระพักตร และปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า
เป็นตัวแทนของพระองค์หลังปรินิพพาน ดังนั้น พระธรรมที่พระองค์แสดงดีแล้ว วินัยที่พระองค์บัญญัติแล้ว และสังเวชนียสถาน 4 แห่งเหล่านี้ ถือเป็นเสมือนตัวแทนของพระศาสดา
ของชาวพุทธทั้งหลาย เพื่อจะระลึกถึงพระองค์และปฏิบัติตามคำสอนถวายเป็นปฏิบัติบูชาพระองค์ต่อไป
ย่อมประสบแต่สุคติในสัมปรายภพ
สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ก็คือ ลุมพินี(Lumbini) ภาษาเนปาลปัจจุบันว่า ลุมมินเด(Lumminde) ตั้งอยู่ในแขวงเตไร (Terai region) ทางทิศเหนือ 3 กิโลเมตรเศษๆ จากภควันปูร์ เตสิน ตำบล พิถริ
ในประเทศ เนปาล [1] (Bhagawanpur Tehsil, Bithri District in Nepal) ใกล้พรมแดนอินเดียตอนเหนือห่างจากเมืองกบิลพัสดุ์ 12 ไมล์กว่า [2] ประมาณ 22 ก.ม.
สวนลุมพินี (Lumbini Gardent) ถือว่า เป็นอุทยานหลวง ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะดังที่กล่าวมาแล้ว
ถือ เป็นสมบัติส่วนกลางของประชาชนทั้ง
2 แคว้น สมัยนั้นร่มรื่นไปด้วยต้นสาละ
(ต้นพะยอมหรือต้นอโศก) [3] แต่ชาวไทยกล่าวว่าเป็นต้นรัง และอุดมด้วยไม้ดอกไม้ผลสะพรั่ง
พระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ
ราชาแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์ครบทศมาส จวนจะประสูติพระโอรส ตามธรรมเนียมอินเดียสมัยนั้น ฝ่ายหญิงจะต้องไปประสูติที่บ้านเกิดตัวเอง
พระนางจึงจำเป็นต้องเสด็จไปประสูติพระโอรสที่กรุงเทวทหะ ในท่ามกลางหมู่ญาติ พระนางจึงทูลลาพระเจ้าสุทโธทนะ พระสามีว่า
“ขอเดชะ หม่อมฉันประสงค์จะประพาสกรุงเทวทหะ นครแห่งประชาชนของหม่อมฉัน”
“ดีแล้ว” พระราชาสุทโธทนะ
ตรัสอนุญาต
ดังนั้น พระเจ้าสุทโธทนะจึงรับสั่งให้จัดแจงถนนหนทางให้ประพาสได้สะดวก ตั้งแต่กบิลพัสดุ์จนถึงเทวทหะนครของพระเจ้าอัญชนะพระบิดาของพระนางสิริมายา พร้อมขบวนเสด็จส่งด้วยพระ อิสริยศอันน่าชม แต่พอเสด็จมาถึงสวนลุมพินี ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะตอนก่อนเที่ยงเท่านั้น พระนางก็ทรงประชวรพระครรภ์จะประสูติพระโอรส พวกข้าราชบริพารซึ่งตามเสด็จจึงเตรียมจัดที่ถวายการประสูติอย่างฉุกเฉิน
ช่วยกันขึงม่านผ้าโดยรอบ ภายใต้ต้นไม้สาละ
พระนางสิริมหามายาทรงประทับยืนเหนี่ยวกิ่งสาละด้วยหัตถ์ขวา แล้วประสูติพระกุมารน้อยด้วยอิริยาบถยืนนั้นเอง ซึ่งพระกุมารน้อย ต่อมาก็คือ พระพุทธเจ้าของชาวพุทธนั่นเอง
หินแกะสลักภาพประสูติที่วัดมายาเทวี ลุมพินี
ในพระไตรปิฎกพรรณนาเหตุการณ์ตอนประสูติอย่างพิสดาร
ผู้ประสงค์จะทราบรายละเอียดโปรดศึกษาจากส่วนนั้น ผู้เขียนไม่เห็นความจำเป็นที่จะกล่าวไว้ในที่นี้ เพราะเกินหน้าที่ของหนังสือ ซึ่งมีความประสงค์เพียงจะสำรวจตรวจสอบพุทธสถานที่สำคัญๆ
แล้ว รวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเท่านั้น เมื่อพระนางสิริมหามายาประสูติพระกุมารแล้ว ข่าวทราบถึงพระเจ้าสุทโธทนะ พระองค์ได้เสด็จมารับพระมเหสีพร้อมกุมารที่ประสูติใหม่กลับนครกบิลพัสดุ์ทันทีโดยไม่เสด็จต่อนครเทวทหะอีกแล้ว
เพราะจุดประสงค์เดิม จะไปประสูติที่นครเทวทหะ แต่เมื่อการณ์นั้นเสร็จสิ้น ก็เป็นอันหมดกิจที่จะเสด็จต่อ ประชาชนทั้ง 2 ฝ่ายต่างแห่แหนตามส่งจนถึงพระราชวัง เมื่อโอรสประสูติได้ 5 วัน จึงตั้งชื่อกุมารว่า “สิทธัตถะ” แปลว่า
“ผู้มีความต้องการสำเร็จ” ดังนั้น “ลุมพินี” จึงเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า นับเป็นสังเวชนียสถาน1 ใน 4 แห่งด้วยประการ ฉะนี้
ลุมพินีปัจจุบัน
กาลผ่านล่วงเลยมา เกือบ 2500 ปี จึงได้มีการการค้นพบลุมพินีจริงๆ
ทำให้พวกเราได้สถานที่ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ดังที่พระองค์ตรัสถึงสังเวชนียสถาน และด้วยหลักฐานที่แน่นอนและมั่นใจที่สุด ซึ่งได้ชี้ลงไปว่า “ที่นี้คือที่พระศาสดาประสูติ” ได้แก่หลักศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งรับสั่งให้ปักหมายเอาไว้ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช
244 [4] หลักฐานนี้ค้นพบโดยดอกเตอร์ฟูห์เรอร์ (Doctor Fuhrer) ใน พ.ศ.
2439 (ค.ศ. 1896)[5] แต่ศาสตราจารย์ บี. ซี. ภัตตาจารย์ (Prof. B. C.
Bhattacharya) ยืนยันและให้เกียรติแก่ คุณ พี. ซี. มุขชี (Babu P. C. Mukherjee) ว่า มุขชี เป็นผู้ที่กล้าชี้ชัดเฉพาะอย่างถูกต้องว่า
ที่นี่เป็นลุมพินี และที่นี่กบิลพัสดุ์
(Tilaurakota) [6]
สถานที่เป็นสวนลุมพินี ณ ปัจจุบัน
ไม่มีบ้านเรือนผู้คนอยู่แวดล้อมใกล้ ๆ เพราะเป็นทุ่งโล่ง แม้จะมองสุดสายตาไปตลอดทิศทั้ง 4 ก็ตาม ลุมพินีคงตั้งอยู่โดดเดี่ยวในท่ามกลางท้องทุ่งนา บางท่านกล่าวว่า ผู้ที่ค้นพบหลักศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช
ก็คือ เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม (Sir Alexander Canningham) ในปี พ.ศ.
2439 และยืนยันตามหลักศิลาจารึกว่า “ที่นี้คือ ลุมพินีวัน อันเป็นที่ประสูติของมหาบุรุษนั้น”
เสาสิลาจารึกของพระเจ้าอโศกที่ลุมพินี
วัตถุสำคัญที่มีอยู่ในลุมพินี
:
1. หลักศิลาจารึกพระเจ้าอโศกมหาราช
(Asoka Pillar) [7]
เสาศิลาจารึกนี้ เป็นเสาหินทรายสีน้ำตาลรูปกลม ขัดผิวเกลี้ยง ปักตั้งอยู่ท่ามกลางทุ่งนา โดยไม่มีใครรู้เห็นว่ามันคืออะไร
นับเป็นเวลาหลายร้อย ๆ ปี วัดขนาดโดยรอบได้ 7 ฟุต 3 นิ้ว ฝังลงไปในดิน
โผล่สูงขึ้นจากพื้นดิน 13 ฟุต 6 นิ้ว แต่ผิวของเสาศิลาที่ลุมพินี
ไม่เป็นเงามันวาวเหมือนเสาศิลาอโศกที่สารนาถ เมืองพาราณสี แถมตัวเสาพบว่ามีรอยร้าวแตกเป็นทางยาว สันนิษฐานว่า เป็นรอยที่เกิดเพราะถูกฟ้าผ่า
เนื่องจากไม่มีเครื่องมุงหรือหลังคาบังอย่างเสาอโศกที่สารนาถ กล่าวว่า เสาศิลาอโศกปกติที่พบเห็นในแหล่งพุทธสถานที่อื่นๆ โดยเฉลี่ยจะมีความยาวประมาณ 35 ฟุต แต่เสาอโศกที่เมืองกบิลพัสดุ์และที่ลุมพินีทั้ง
2 แห่ง มีความยาวเพียง 21 ฟุต หลักศิลาอโศกที่ลุมพินี ล้อมรอบด้วยแผงรั้วเหล็กเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของวัดมายาเทวี
ไม่ห่างกันนัก
อักษรพราหมี
จารึกของพระเจ้าอโศกที่ลุมพินี
ที่เสาอโศกต้นนี้ ได้มีอักษรจารึกทางประวัติศาสตร์เอาไว้ ผู้รู้กล่าวว่า เป็นอักษรพราหมี
(Brahmai Script) เช่นที่อื่น
ๆ และอักษรจารึกมีอยู่ 5 แถว ถอดความออกมาได้ดังนี้
เทวานํ ปิเยน ปิยทสิน ลาชิน วิสติวสภิสิเตน
อตนา อถฉ มหิยิเต หิท พุธ ชาเต สากยมุนีติ
สิลาวิคทภิจ กาลปิต สิลาถเภ จ อุสกปปิเต
หิท ภควํ ชาเตติ ลุมพินีคาเม อุพาลิเก กเต
อฐภาคิเย จ.[8]
ถอดความเป็นพากษ์ไทยว่า
“พระเจ้าปิยทัสสี
ผู้เป็นที่รักของทวยเทพครั้นครองราชย์ได้ 20 พรรษา เสด็จมาด้วยพระองค์เอง ทรงทำการสักการะบูชา และรับสั่งให้ทำเสาศิลา เป็นรูปวิคฑะ เพื่อเป็นเครื่องหมายว่า “ณ ตรงนี้ พระพุทธเจ้า ผู้ทรงพระนาม“ศากยมุนี” ได้ประสูติ” และ ณ หมู่บ้านลุมพินี พระองค์รับสั่งให้ยก (ปักตั้ง)เสาศิลา (อันนั้น) เพื่อประกาศว่า “พระผู้มีพระภาคประสูติ ณ ที่นี้”
พระองค์ให้งดการเก็บภาษีอากรเสีย
อนุญาตให้เก็บภาษีพืชผลเพียง 1 ใน 8 ส่วน” (บางท่านตีความว่า งดเก็บภาษีทั้งหมด)
รูปพระเจ้าอโศกมหาราช เสาอโศก
พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงเสด็จมาปักเสาศิลา ณ หมู่บ้านลุมพินีนี้ เมื่อปีพุทธศักราช
244 โดยการถวายคำแนะนำ และการนำเสด็จมาชี้สถานที่ให้ ของพระมหาเถระอุปคุต องค์อรหันต์ (หมายถึง พระมหาโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ ผู้เป็นประธานในการทำสังคายนาครั้งที่
3 ) ในครั้งนั้น ท่านพระอุปคุตเถระ
จำพรรษาอยู่ ณ เมืองมถุรา
(Mathura) ปัจจุบัน ชาวอินเดียถือว่าเป็นเมืองพระกฤษณะ
สมัย กฤษณาวตาร แต่ก่อน ได้รับอาราธนาจากพระเจ้าอโศกมหาราช เพื่อกิจการฟื้นฟูพระศาสนาดังกล่าว พระเถระจึงได้นั่งเรือจากเมือง มถุรา ไปตามแม่น้ำยมุนา มาออกแม่น้ำคงคา (Ganga
River) ที่เมือง Allahabad หรือนครโกสัมพี ของพระเจ้าอุเทน เมืองที่กล่าวถึงในกามนิตว่า จุฬาตรีคูณ
นั่นเอง ล่องเรือลงไปจนถึงเมืองปาฏลีบุตร
(Pataliputra) หรือเมืองปัตนะ
(Patna) นครหลวงของรัฐพิหาร
(Bihar State) ปัจจุบัน โดยการนำชี้จุดแหล่งต่างๆ ที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
ของพระอุปคุต พระเจ้าอโศกมหาราชนอกจากจะรับสั่งให้ปักเสาศิลาจารึกเป็นเครื่องหมายบอกสถานที่สำคัญแล้วแทบทุกแห่งแล้ว พระองค์ยังให้สร้างสถูปอีกเป็นจำนวนถึง 84,000
องค์ ในที่สำคัญ ๆ ทางพระพุทธศาสนา และเฉพาะเสาศิลาจารึกที่ลุมพินีเท่านั้น พระเจ้าอโศกมหาราชได้จารึกชี้เฉพาะลงไปว่า “ ณ ตรงนี้ เป็นที่พระพุทธเจ้าประสูติ” ส่วนในสถานที่อื่น ๆ เพียงแต่ให้ปักเสาศิลาจารึกและก่อสถูปเอาไว้ แต่ไม่ทรงจารึกอักษรระบุเอาไว้ว่าเป็นที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพระศาสดาอย่างใด
สมณะจีนจาริกอินเดีย
แต่การที่พระองค์ทรงมั่นพระทัยว่าเป็นที่นั้น หรือบริเวณนั้น ๆ แน่นอน ก็คงเป็นด้วยความเชื่อในพระอุปคุตประการหนึ่ง
และอีกประการหนึ่ง ระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานก็ผ่านมาเพียง 2 ศตวรรษ คงไม่มีใครจะเลือนลืมไปได้หมด ด้วยความเชื่อมั่นในพระอุปคุต และข้อเท็จจริงที่ต้องมีคนรู้อยู่บ้าง
พระองค์จึงรับสั่งให้ปักตั้งเสาศิลาจารึกเอาไว้เป็นหลักฐาน ด้วยหลักศิลาย่อมเป็นหลักฐานที่มั่นคงยืนยาวเป็นหลายร้อย
หลายพันปี เพราะสายพระเนตรที่มองการณ์ไกล พระวิสัยทัศน์ที่แหลมคม หากพระเจ้าอโศกมหาราชไม่ได้ทรงปักหลักศิลาจารึกเอาไว้แล้ว
พวกเรา อนุชนภายหลัง ห่างกาลนับพันๆ ปี คงจะสืบค้นสถานที่สำคัญๆ ทางพระพุทธศาสนาได้ยาก หรืออาจจะไม่พบเลยก็ได้ เพราะกาลเวลาที่นานนับได้พันปีอย่างหนึ่ง และอีกประการหนึ่งเพราะความเปลี่ยนแปลงของสถานที่
ชื่อบ้าน นามเมือง และภัยศาสนาอื่น(ศาสนาพราหมณ์ และอิสลาม)ทำลายเป็นสาเหตุ อีกประการหนึ่ง ผู้เขียนขอถวายความดี
แด่พระนักบวชจีนทั้ง 2 รูป ที่เดินทางมาศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทา
สมัยนั้น ได้ จาริกไปแสวงบุญตามสังเวชนียสถาน และบันทึกหลักฐานเอาไว้เป็นคุณูปการพอให้คณะสำรวจรุ่นหลังได้ร่องรอยทางประวัติศาสตร์
ตามสืบได้ไม่ลำบากนัก
อักษรพราหมี ที่เสาศิลาอโศก
พระเจ้าอโศกมหาราช
ทรงเลือกเอาอักษรพราหมี เป็นอักษรจารึกที่เสาศิลาเป็นส่วนใหญ่ และพบจารึกจำนวนมากทางอินเดียตอนเหนือและตอนใต้ ส่วนอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือ พบว่า
อักษรที่จารึกนั้น เป็นอักษรขโรสติ (KHAROSTI) หรือขโรษฐี ใช้จารึกที่เสาศิลา ลักษณะการเขียนอักษรขโรสติ ก็เขียนจากด้านขวามาทางซ้าย
(ดุจอักษรอุรดู
Urdu) แต่จารึกอักษรขโรสติพบไม่มากแห่งนัก
เหมือนหลักฐานที่จารึกด้วยอักษรพราหมี
2. วัดมหามายาเทวี (
ที่ลุมพินี ปัจจุบัน มีวัด หรือวิหารซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างอยู่หลังหนึ่ง ทางด้านทิศตะวันออกของเสาศิลาจารึกอโศกมหาราช
ห่างกันเพียง 2 - 3 เมตร เดิมชาวพื้นเมืองเรียกวิหารนี้ว่า “รูปันหิ ภควตี” (Rupanhi Bhagavati) แต่ปัจจุบันเรียกว่า “มายาเทวีวิหาร” (Mayadevi Vihar)[9] หรือวัดมหามายาเทวีดังกล่าว ลักษณะวัดเป็นอาคารก่ออิฐสี่เหลี่ยมจตุรัส ชั้นเดียว แต่พื้นภายในวัดจะต่ำกว่าระเบียงรอบ
ๆ ต้องเดินลงไปจึงจะพบรูปหินแกะสลักตอนพระนางสิริมหามายาเทวีประสูติพระโอรส เป็นรูปแสดงตอนพระนางสิริมหามายาประทับยืนพระหัตถ์ขวาเหนี่ยวกิ่งสาละ มีพระกุมารแรกประสูติอยู่ข้าง ๆ มีข้าราชบริพารหลายคนคอยรองรับ ปัจจุบันนี้ รูปศิลาจารึกตอนประสูติกุมารชิ้นนี้ ได้ถูกทุบจนส่วนพระพักตรและรายละเอียดของรูปแกะสลักชำรุดมาก โชคดีที่พอจำแนกได้ว่าเป็นรูปอะไร
ภาพแกะสลักที่แผ่นหิน และภาพเขียน
ตอนพระนางมายา ปะสูติโอรส
3. สระโบกขรณี
: (Pakkharani Tank)
ทางทิศใต้ห่างออกมาประมาณ
4 - 5 เมตร มีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาด
50 ´
50 ฟุต เรียกว่าสระโบกขรณี [10] เชื่อกันว่า เมื่อพระนางสิริมหามายาเสด็จมาถึงลุมพินีแห่งนี้ และสรงสนานน้ำในสระนี้ ก่อนจะประสูติพระกุมาร แต่นักปราชญ์ภายหลังกล่าวเอาไว้ว่า “สระโบกขรณีนี้ได้ขุดเอาไว้ เพื่อประโยชน์ใช้สอยน้ำ
ของบรรพชิต ในวัดนั้น” นอกจากนั้นยังมีความเชื่อผสมศรัทธาและไสยศาสตร์ของชาวบ้านรอบ ๆ นั้นว่า
“ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ต้องการจะมีลูกชาย
จะต้องไปบูชาและลูบคลำที่รูปพระนางสิริมหามายาตอนประสูติพระกุมาร แล้วลงมาดื่มน้ำจากสระโบกขรณีนั้น ไม่นานนักจะได้ลูกชาย” (นอกเสียจากเธอผู้นั้นจะเป็นหมันโดยกำเนิด)
วัดมายาเทวี
และสระโบกขรณี
4. สถูปทรงกลมใหม่ 2 องค์ : (New two Stupas)
ทั้งทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ของเสาศิลาจารึกอโศกนั้นจะมีสถูปดินทรงกลม 2 องค์ เป็นสิ่งก่อสร้างใหม่ที่รัฐบาลเนปาลได้รวบรวมเอาอิฐ หิน ดิน ซึ่งพังลงมาจากอาคารวิหารต่างๆ(ของวัดเก่า ๆ) อันเป็นซากโบราณวัตถุ รอบบริเวณนั้น มากองสุมรวมกันไว้ และก่อเป็นสถูปตรงยอดจะมีเสาศิลาปลายแหลมปักเป็นแกนอยู่ ผู้สังเกตบางท่านได้สันนิษฐานเองว่า สถูป 2 องค์นี้ น่าจะก่อเอาไว้เป็นสัญลักษณ์
แห่งแดนเมืองกบิลพัสดุ์ และเมืองเทวทหะ
5. สิ่งก่อสร้างในปัจจุบัน
: (Lumbini Project)
องค์การสหประชาชาติ หลังจากได้จัดประชุมพระพุทธศาสนาสัมพันธ์ครั้งที่ 2 ณ เนปาลแล้ว ได้ตั้งโครงการฟื้นฟูลุมพินี
(Lumbini Project) เพื่อให้เป็นศูนย์พระพุทธศาสนาโลก (The World Centre of Buddhism) โครงการฟื้นฟูลุมพินีได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนเท่า ๆ กันส่วนละ
1 ตารางกิโลเมตร แต่ละส่วนมีโครงการดังนี้
ส่วนที่ 1 เนื้อที่ 1 ตารางกิโลเมตร ทางด้านทิศเหนือ
จัดไว้เป็นสำนักงาน
หอสมุด ที่พักของผู้แสวงบุญ พิพิธภัณฑ์ ทางด้านทิศตะวันตกจัดเอาไว้ เป็นบริเวณให้ชาวพุทธ และประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั่วโลก มาจองที่สร้างวัดหรือพุทธวิหาร ปรากฏว่า ปัจจุบันนี้ มีชาวพุทธ 41 ประเทศได้มาจองที่เอาไว้เพื่อสร้างพุทธวิหารกันแล้ว แต่เสียดายที่ในปี พ.ศ. 2531 ขณะที่ตามรอยสำรวจพุทธศาสนาครั้งนั้น ทราบว่า รัฐบาลของประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีพระพุทธศาสนามั่นคงกว่าประเทศอื่นๆ
ยังไม่ได้จับจองที่เอาไว้เพื่อสร้างวัดเลย
(ผู้เขียนสัมภาษณ์นายช่างวิศวกรผู้คุมการก่อสร้างโครงการลุมพินี
ประเทศเนปาล)
ส่วนที่ 2 เนื้อที่ 1 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ส่วนกลาง จัดเป็นสวนป่าปลูกต้นไม้ เป็นแถวเป็นแนว ทั้ง
2 ด้าน ตรงกลางพื้นส่วนที่ 2 นี้ ที่ขุดเป็นสระน้ำยาวตลอดแนว 1 กิโลเมตร มีความกว้างประมาณ 10 เมตร ขอบสระน้ำ สร้างเป็นถนนขนานไปกับสระน้ำ ทั้ง
2 ด้าน มีต้นไม้ยืนต้นเรียงรายไปตลอดสาย มาจรดลงที่ “คบไฟสันติภาพ” (Eternal Place Flame) ซึ่งเป็นคบไฟจุดส่องเอาไว้ตลอดกาล
ส่วนที่ 3 อีก 1 ตารางกิโลเมตร เป็นส่วนของโบราณสถานซึ่งต้องอนุรักษ์ไว้ตามรูปเดิม เช่น ซากกุฏิวิหาร ศิลาอโศก สถูป และสระน้ำ เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนกล่าวเอาไว้แล้ว นอกจากโบราณสถานแล้ว ในบริเวณนี้ ปัจจุบัน มีวิหารของคณะสงฆ์เนปาล และอารามของพระลามะทิเบตอยู่ใกล้
ๆ มีอาคารที่ทำการและที่พักของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลอุทยานลุมพินี และคนทำสวน ซึ่งส่วนที่ 3 นี้ เป็นส่วนสงวนและหวงห้ามโดยเฉพาะ
ไม่อนุญาตให้ก่อสร้างอาคารใด ๆ เพิ่มเติมขึ้นมาอีก ให้มีเท่าที่เป็นมาแล้วเท่านั้น
โครงการฟื้นฟูลุมพินี ให้เป็นศูนย์พระพุทธศาสนาของโลก
เป็นโครงการหลายพันล้าน ได้รับการอุปถัมภ์จากประเทศชาวพุทธทั่วโลก มุ่งจะทำสวนลุมพินีให้เป็นสวนป่า ร่มรื่น ดุจครั้งพุทธกาล และให้เป็นศูนย์การค้นคว้าพระพุทธศาสนาของโลกอีกด้วย หากโครงการนี้สำเร็จลง (ตอนนี้ดำเนินการไปแล้ว 30%) สวนลุมพินีจะเป็นพุทธสถานซึ่งสวยงามร่มรื่นเป็นสง่า อาจจะสวยกว่าพุทธมณฑลที่ประเทศไทยก็เป็นได้
ลุมพินี
ในปัจจุบัน เนปาล
ขอตราเอาไว้ตรงนี้ว่า ในตอนหนึ่งของการสนทนา ระหว่างนายช่างใหญ่ผู้คุมโครงการก่อสร้างลุมพินีกับพระเถระชาวไทย (พระธรรมมหารีรานุวัตร เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา) จับความได้ว่า นายช่างได้เคยเห็นพระพุทธรูปปางลีลาที่พุทธมณฑลของประเทศไทยแล้ว
มีความชอบใจและซาบซึ้งในศิลปะไทยอันสวยงาม
อ่อนช้อย สมบูรณ์ด้วยพุทธลักษณะทุกอย่าง เขาอยากจะได้พระพุทธรูปปางลีลาศิลปะแบบไทย เอามาเป็นพระประธานประจำสวนลุมพินี ประดิษฐานตั้งเคียงคู่กับคบไฟสันติภาพ พระพุทธรูปปางลีลานั้นจะได้โดดเด่นเป็นสง่า
และเป็นศักดิ์ศรีแก่ลุมพินี ทั้งนี้เพราะนายช่างวิศวกรใหญ่ ได้คัดเลือกแบบพระพุทธรูปจากแทบทุกประเทศชาวพุทธแล้ว
มาชอบใจและตัดสินใจเลือกเอาเฉพาะพุทธลักษณะปางลีลาของไทยเท่านั้น
พระพุทธรูปปางลีลา
ที่พุทธมณฑล ประเทศไทย
จะเป็นไปได้ไหมหนอ
ที่ชาวพุทธไทย จะร่วมกันบริจาคสร้างพระพุทธรูปปางลีลาแด่โครงการลุมพินี
ของประเทศเนปาล แล้วตั้งเอาไว้เป็นเครื่องประกาศพุทธศิลป์ที่ทรงความอ่อนช้อย สวยงาม และขยัน (active) ของวัฒนธรรมไทย แด่ชาวพุทธทั่วโลก
หรือพวกเราชาวไทยจะให้เขาไปนำพระพุทธรูปจากประเทศชาวพุทธอื่นๆ เช่น ญี่ปุน หรือพม่า
มาประดิษฐานแทน ดีล่ะ ในเมื่อเขาต้องการพระพระพุทธรูปแบบปางลีลาจากไทยอย่างที่กล่าวมา
ตอนนี้ ไม่ทราบว่า ได้พระปางอะไร เพราะผู้เขียนไม่ได้ติดตามมานานกว่า 17 ปี แล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น