แจ้งข่าวนักศึกษา012173

วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558

บวชป่ากับการแก้ปัญหาหมอกควัน

บวชป่ากับการแก้ปัญหาหมอกควัน
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
ภาควิชาปรัชญาและศาสนาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

            ทุกปีในฤดูร้อน จังหวัดในภาคเหนือที่สภาพภูมิศาสตร์เป็นภูเขาและป่าไม้ ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพการเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะพืชไร่   ด้วยความเคยชินกับการเตรียมพื้นที่เพื่อทำการเกษตร ประกอบกับพื้นป่าในหน้าแล้งเป็นช่วงฤดูการผลัดใบของต้นไม้ ใบไม้แห้งที่หล่นทับถมในทุกส่วนของผืนป่า  เมื่อมีการเผาเพื่อทำไร่ หรือเผาซังข้าวในนา ต่างคนต่างเผา ควบคุมไม่ได้ เกิดไฟลุกลามขยายไหม้เข้าไปในผืนป่า ลามลึกเข้าไปถึงบนดอย ควันที่เกิดจากการเผาไหม้ที่สะสมกันทั่วทุกพื้นที่ ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควัน มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อย่างมาก ประชาชนเจ็บป่วยเพราะสภาวะอากาศเป็นพิษ  ทัศนวิสัยแย่ บนท้องฟ้า อากาศถูกปกคลุมด้วยหมอกควันจนมองไม่เห็นดวงอาทิตย์ นี้คือปัญหาซ้ำซาก เกิดขึ้นทุกปี เป็นวิกฤติที่ปัจเจกชน หรือ องค์กรเดียวจะเข้ามาแก้ไขได้ยาก  ต้องระคมความคิดจากหลายฝ่ายเข้าช่วยกันแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ หลากหลายวิธีการ และหนึ่งในวิธีการนั้น ได้แก่ “การบวชป่า”
          การบวชเป็นพิธีกรรมทางศาสนาเพื่ออภิเษกสามัญชนเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา เมื่อเป็นคนศักดิ์สิทธิ์ การที่คนสามัญจะเจ้าไปเกี่ยวข้องหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้บวช ต้องมีท่าทีเคารพ ยำเกรง ยกย่องให้เกียรติ  ทั้งไม่ไปแสวงหาผลประโยชน์จากผู้บวช มีแต่จะให้การอุปถัมภ์บำรุงให้เจริญ เพื่อเป็นที่พึงทางจิตวิญญาณ
เมื่อการบวชเป็นพิธีกรรมที่กระทำต่อบุคคล แล้วเหตุใดจึงขยายไปสู่การบวชป่า เป็นทางออกของการแก้ปัญหาหมอกควัน ?
ย้อนไปเมื่อหลายปีมาแล้ว ในปี พ.ศ. 2523 เกิดกระแสการรับรู้และให้ความสำคัญเรื่อง ป่าชุมชนพระครูพิทักษ์นันทคุณ พระสงฆ์นักพัฒนา  จังหวัดน่าน ได้นำพิธีกรรมการบวชคน เข้ามาประยุกต์กับงานพิทักษ์ ป่าชุมชนบ้านกิ่วม่วง ที่ดำเนินการอยู่มาทำกิจกรรม บวชป่าและ “ถวายทานผ้าป่าต้นไม้ เรียกว่า “พิธีบวชป่า” เพื่อเป็นกุศโลบายในการพิทักษ์ป่า   พระครูพิทักษ์นันทคุณอธิบายใหม่ว่า บวชแปลว่า เว้นชั่ว บวชคน เพื่อให้คนที่บวชเว้นการทำความชั่วทำบาป  และ “การบวชป่า” เพื่อให้คนเว้นการตัดไม้ทำลายป่า นับเป็นครั้งแรกในจังหวัดน่าน หลังจากนั้น ก็ร่วมปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับป่าสงวนหมู่บ้าน มอบหมายให้กรรมการหมู่บ้านดูแล ป่าชุมชนบ้านกิ่วม่วงมาจนถึงปัจจุบัน กิจกรรมการบวชป่าได้สร้างกระแสการรักป่าขึ้นมา ผ่านไปไม่นานนัก ผลที่ได้กับชุมชน คือ ในหมู่บ้านมีน้ำกินน้ำใช้พอเพียง หน่อไม้ ผักหวาน อาหารป่าที่มีให้เก็บกินอย่างอุดมสมบูรณ์ ไม่มีไฟป่าเกิดขึ้นในพื้นที่ เพราะป่ามีความชุ่มชื้นร่มเย็น

แม้แนวคิดการบวชป่า เพื่อการพิทักษ์ป่า บำรุงรักษาป่า งดเว้นการเผาป่า ผืนป่าก็จะคืนความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติให้กับชุมชน ดังที่เกิดแก่ชุมชนบ้านกิ่วม่วง จังหวัดน่าน จะเป็นเพียงจุดเล็กน้อยก็ตาม แต่ถ้าทุกชุมชนเห็นความสำคัญของป่า งดการเผาป่าตามฤดูกาล เว้นการอาศัยประโยชน์จากป่าในทางทำลายดุจการยำเกรงต่อผู้บวช ขยายพื้นที่ให้กว้างออกไป ก็จะเป็นวิธีการแก้ปัญหาหมอกควันได้แน่นอน เพราะแก้ปัญหาได้ตรงจุด คือ งดการเผาอย่างสิ้นเชิง ถ้าใครเผาจะเป็นบาป มีผลเลวร้ายเหมือนกับการทำอันตรายต่อผู้บวชนั่นเอง... 

วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ภูมิปัญญานครน่าน : เอกสารโบราณอันซีนเมืองน่าน

  ภูมิปัญญานครน่าน : เอกสารโบราณอันซีนเมืองน่าน[1]
โดย ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
1. ความนำ
เอกสารภูมิปัญญานครน่านนี้ เป็นส่วนที่คัดสรร จากโครงการวิจัยเรื่อง สำรวจรวบรวมและจัดทำระบบสารสนเทศ สำเนาภาพถ่ายพระธรรมคัมภีร์ใบลาน พระนครน่าน สมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ  ซึ่งกำหนดวัตถุประสงค์เอาไว้  คือ 1) เพื่อสำรวจ รวบรวม อนุรักษ์ และสำเนาภาพถ่ายพระธรรมคัมภีร์ใบลาน พระนครน่าน ที่ปรากฏในรายชื่อเอกสารโบราณจากฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2) เพื่อสำรวจพระธรรมคัมภีร์ใบลานสำคัญ พระนครน่าน ที่ตกหล่นจากการสำรวจ ของวัดในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน จำนวน 3 วัด  และ 3) เพื่อพัฒนาระบบจัดการข้อมูลสำหรับการจัดเก็บไฟล์ดิจิตอลสำเนาภาพพระธรรมคัมภีร์ ใบลาน พระนครน่าน  สำหรับการเผยแพร่และใช้ประโยชน์
ผลจากการทำวิจัย คณะนักวิจัยได้ ทำการอนุรักษ์และถ่ายสำเนาพระธรรมคัมภีร์ใบลาน จาก ทั้ง 3 วัด คือ วัดดอนแก้ว วัดนาเหลืองใน และวัดศรีเชียงบาล ได้รายนามพระธรรมคัมภีร์ทั้งหมด  จำนวน 2,338 รายการ  ได้มอบรายการสำรวจรวมทั้งเอกสารที่สำรวจอนุรักษ์คืนถวายวัด ในส่วนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้จัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลศึกษาต่อไป ส่วนของวัดพระธาตุแช่แห้ง คณะนักวิจัยได้ถวายคำแนะนำระบบการสำรวจและการอนุรักษ์ซึ่งทางวัดก็ดำเนินโครงการมาก่อนหน้านี้ เป็นการให้ความร่วมมือส่งเสริมกันและกัน
ความตั้งใจในการสำรวจและทำระบบการอนุรักษ์ทุกครั้ง ก็คือ ประสงค์จะนำภูมิปัญญาจากแหล่งที่เข้าสำรวจออกมาเผยแพร่ให้แก่สาธารณชนได้รับรู้ว่า บรรพบุรุษชาวล้านนา มีอะไรดีๆหลายอย่าง เพียงแต่ด้วยข้อจำกัดด้านเอกสารโบราณที่เข้าถึงยาก ทั้งเป็นภาษาท้องถิ่นที่จารึกด้วยอักษรสมัยโบราณ ซ้ำบางเรื่องราวยังเป็นแนวมุขปาฐะอีกด้วย ก็ยิ่งเพิ่มความยากขึ้นมาอีกเป็นทวีคูณ แต่ด้วยความร่วมมือจากปราชญ์ล้านนาหลายฝ่าย งานก็ลุล่วงด้วยดีเสมอมา  การปฏิบัติการภาคสนามที่พระนครน่านครั้งนี้ คณะนักวิจัยได้คัดเลือกเรื่องที่เป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เช่น ประวัติการสร้างพระธาตุดอนแก้ว ที่บันทึกไว้เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา  ภูมิปัญญาท้องถิ่น เกี่ยวกับช้าง หรือ ตำราดูลักษณะช้างและคำสู่ขวัญช้าง สมบัติส่วนพระองค์ของแม่เจ้าทิพย์  ชายาของเจ้ามหาพรหมสุรธาดาฯ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย ซึ่งนครน่าน มีประวัติการคล้องช้าง เคยนำช้างลงไปถวายพระเจ้ากรุงสยาม ทั้งเป็นแหล่งค้าขายช้าง โดยมีชาวเชียงตุงลงมาซื้อช้าง (ความจากพงศาวดารนครน่าน)  และแนวคำสอนทางพระพุทธศาสนาผ่านวรรณกรรม งานนิพนธ์ของพระชยานันทมุนี(วงศ์) อดีตเจ้าคณะจังหวัดน่าน เมื่อ 80 ปีที่ผ่านมา เหล่านี้นับว่า เป็นเอกสารหายากที่ยังไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาก่อน  การนำเสนอสาระจากเอกสาร       อันซีนเมืองน่านคราวนี้ จะกระตุ้นความรู้สึกเล็งเห็นคุณค่าและถนอมรักษาภูมิปัญญาบรรพบุรุษแก่ผู้อ่านไม่มากก็น้อย    คณะนักวิจัย จึงขอนำเสนอสาระตามลำดับว่า นครน่านเป็นแหล่งรวบรวมพระธรรมคัมภีร์ รวมทั้งภูมิปัญญาบรรพบุรุษเอาไว้อย่างไร จึงได้ค้นพบเอกสารบารณอันซีนเมืองน่านขึ้นมา ตามลำดับดังนี้
2. การอนุรักษ์พระธรรมคัมภีร์นครน่านอดีต-ปัจจุบัน
อดีต พระธรรมคัมภีร์ ใบลาน เป็นเอกสารที่ใช้จดจารคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา ความสำคัญของหนังสือใบลานมีมาพร้อม ๆ กับการยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา คนไทยโบราณจึงมักเรียกหนังสือโบราณนี้ว่า “คัมภีร์ใบลาน” คติการสร้างคัมภีร์ใบลานไว้ในพระศาสนา ชาวพุทธเชื่อว่าจะได้รับอานิสงส์นับประมาณมิได้  จึงมีธรรมเนียมการสร้างคัมภีร์ใบลานถวายไว้มากมาย เพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา และพระสงฆ์ก็ใช้เทศนาในพิธีต่าง เป็นวัฒนธรรมและประเพณีแบบพุทธตลอดปี โดยเฉพาะชาวล้านนา ที่มีประเพณีและวัฒนธรรมซึ่งยึดโยงกับพระพุทธศาสนามาช้านาน   ดังประเพณี 12 เดือนที่ทราบกัน    
กล่าวโดยเฉพาะ ประเพณีล้านนา 12 เดือน ก็ได้พบประเพณีการฟังธรรมหลัก ๆ อยู่ 2 เดือน คือ เดือน ยี่ ประเพณี “ตั้งธัมม์หลวง” หรือ  “ฟังเทศมหาชาติเรื่องพระเวสสันตร ทั่วทั้งภาคเหนือจึงมี ธัมม์มหาชาติ มากมายหลายสำนวน เท่าที่สำรวจพบจากข้อมูลที่เก็บรักษาไว้  มีประมาณ 237 สำนวน นับฉบับได้  416 ฉบับ  กระจายอยู่ทั่ววัดในดินแดนล้านนา,  ในเดือน 11 เหนือ เดือน 9 ใต้  ก็มีประเพณีการฟังเทศน์ ตลอดระยะที่เข้าพรรษา 3 เดือน  ตั้งแต่เดือน 10 เหนือ ถึง เดือน 12 เหนือ สมัยก่อนจะถือประเพณีคนเฒ่าจำศีล นอนวัด  เมื่อคนเฒ่ามานอนที่วัด พระสงฆ์ต้องแสดงธรรม เผยแผ่พุทธธรรม โปรดพุทธศาสนิกชน  นั้นหมายความว่า ทางวัดต้องมีพระธรรมคัมภีร์ทั้งที่เป็นชุดใหญ่ เรื่องยาว  หรือ ธรรมพิเศษผูกเดียว(ธรรมโทน) สำหรับแสดงในประเพณี หรือพิธีกรรมนั้นๆ   วัดในดินแดนล้านนา จึงเป็นเสมือนแหล่งเก็บรักษาพระธรรมคัมภีร์ รวมทั้งภูมิปัญญาล้านนา เป็นห้องสมุดแหล่งความรู้ของท้องถิ่นนับแต่อดีตกาลมา
นครน่าน เคยเป็นรัฐอิสระ มีอายุเก่าแก่พอๆกับ สุโขทัย มีเจ้านครผู้ปกครองน่านหลายพระองค์ ให้การอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา สร้างศาสนสถาน วัด วา อาราม พระธาตุ เจดีย์ หอธรรม และพระธรรมคัมภีร์ถวายไว้ในพระพุทธศาสนาไม่น้อยกว่าจังหวัดอื่นๆ ของล้านนา เหตุการณ์สำคัญที่เจ้าผู้ครองนครน่าน ให้การอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา เกี่ยวกับการสร้างพระธรรมคัมภีร์ พระไตรปิฎกล้านนา ที่มีหลักฐานปรากฏชัดเจน ตามจารึกและพงศาวดารน่านที่ควรถวายพระเกียรติยศ ณ ตรงนี้ ก็มี 2 พระองค์ คือ
พระองค์แรก ได้แก่ เจ้ามหายศ  โอรสของเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ  เจ้าเมืองน่าน องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์หลวงติ๋นมหาวงศ์ เป็นผู้ครองนครน่านลำดับที่ 4 โดยพระองค์ทรงให้การอุปถัมภ์ครูบากัญจนมหาเถร ในการรวบรวมและทำสังคายนาพระไตรปิฎกที่ วัดช้างค้ำ นครน่าน ในปี พ.ศ. 2376 ดังความว่า “ปี พ..  2376   ครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสูงเม่น  ได้เดินทางไปเมืองนันทบุรี เพื่อสังคายนาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ธรรมเรื่องต่างๆ ที่วัดจ้างก้ำ(ช้างค้ำ) โดยมี พระมหายศ เจ้าผู้ครองนครน่าน เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมกับอุปราช ราชวงศ์ทรงเป็นองค์อุปถัมภก ในการเดินทางไปคัดลอกพระไตรปิฎกจากเมืองหลวงพระบาง  ในกาลครั้งนั้น ได้สร้างคัมภีร์พระไตรปิฎก จำนวนทั้งสิ้น  142 มัด เท่ากับ 1,103 ผูก และได้ฉลองพระไตรปิฎกในปี  จ.ศ. 1199”  
   พระองค์ที่ 2 ได้แก่  เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ  ราชบุตรของเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ พระนามเต็มตามพระอิสริยยศว่า “เจ้าอนันตวรฤทธิเดช กุลเชฐมหันต์ ไชยนันทบุรมหาราชวงษาธิบดี เจ้านครน่าน”    พระองค์มีบทบาทเป็นหลักสำคัญในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาในนครน่าน ให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมา โดยการสร้าง บูรณะ และปฏิสังขรณ์ศาสนสถาน และ ศาสนวัตถุ ที่ชำรุดทรุดโทรม ให้ความอุปถัมภ์ การจารพระไตรปิฎก  การคัดลอก การปริวรรตพระธรรมคัมภีร์ลงในใบลาน ถึง  7 ครั้ง โดยใช้เวลา ประมาณ 31 ปี(พ.ศ. 2398-2429)  รวมพระคัมภีร์ทั้งสิ้น  558 พระคัมภีร์  จำนวน 4,293 ผูก มอบถวายไว้ในพระพุทธศาสนา ทั้งได้นำไปมอบให้เมืองต่างๆ  เช่น เมืองลำปาง เมืองลำพูน เมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงราย และเมืองหลวงพระบาง ดังความว่า “เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา สร้างหอคำ คุ้มแก้ว และแต่งตั้งตำแหน่งหน้าที่งานราชการต่างๆ ในเมืองน่าน ... เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ สร้างวัดวาอารามศาสนาพระเจ้า พระธรรมและพระไตรปิฎก บาลี นิบาต นิกาย นิยายทั้งหลายไว้ค้ำชูศาสนา ถึงจุลศักราช 1219(พ.ศ. 2400)  ตัว ปีเมืองใส้นั้น เจ้ามหาชีวิตท่านก็มีอาญาหื้อแก่ท้าวพระยาเสนาอามาตย์บ้านเมืองทั้งมวลสร้างแปลงหอคำและคุ้มแก้วหั้นแล...ท่านก็ซ้ำมีความรำเพิงเล็งหันยังพระพุทธบาทศาสนาที่หลุ คร่ำต่ำชรา เป็นการดีริสร้างซ่อม บ่เท่าแต่นั้น ท่านก็มีพระราชศรัทธาใคร่สร้างเขียนยังรสธรรมเทศนาคือบาลีและนิบาต นิกาย นิยายทั้งหลายไว้ค้ำชูศาสนาพระโคตมเจ้าหื้อรุ่งเรืองไปภายหน้า”
เมื่อพระธรรมคัมภีร์เก็บรักษาไว้ที่วัด ในจังหวัดน่าน  ผ่านกาลเวลามากว่า 200 ปี แม้จะมีการทำซ้ำในสมัยเจ้าอนัตวรฤทธิเดชฯ  ก็มีอายุเกือบ  150 ปี ถือว่าเป็นเอกสารโบราณที่หายาก เอกสารบางเรื่องที่ได้รับความนิยม ก็จะมีการจารคัดลอกสืบมา แต่ก็เป็นภาษาล้านนา ที่เรียกว่า ตัวเมือง หาคนอ่านได้ยากในสมัยปัจจุบัน กอปรกับนโยบายการปกครองแบบรวมศูนย์โดยรัฐสยาม ต้องการให้พลเมืองใช้ภาษาไทยภาคกลาง หลักสูตรการศึกษาก็ไม่นิยมให้ศึกษาอักษรและภาษาท้องถิ่น ก็เป็นการเร่งให้ภาษาโบราณ ภาษาท้องถิ่นขาดการศึกษาต่อยอด สืบทอด ยิ่งภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่จารึกด้วยภาษาโบราณ ก็ยิ่งเป็นการยากที่จะดึงดูดให้คนสมัยใหม่มาสนใจศึกษา เพราะมีวิทยาการสมัยใหม่หลายศาสตร์ที่คิดว่าทันสมัยกว่า เอกสารโบราณในคัมภีร์ จึงถูกละเลย ขาดความสนใจ ขาดช่วงที่จะสืบทอด แทบหายจากหน้าประวัติศาสตร์ไปเลย
ปัจจุบัน โชคยังดี ที่ยังมีสถาบันการศึกษา และ ปราชญ์ท้องถิ่นเห็นความสำคัญในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ จึงได้มีกลุ่มฟื้นฟู อนุรักษ์ ทำการสำรวจ จัดเก็บ และถ่ายสำเนาภาพเอาไว้ การสำรวจจัดเก็บแม้จะกระจายไปทั่วพื้นที่ภาคเหนือ แต่ก็ทำได้ในวงจำกัด สามารถสำรวจและทำการอนุรักษ์ เก็บเป็นฐานข้อมูลได้จำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณมหาศาลของพระธรรมคัมภีร์ที่กระจายอยู่ตามวัดต่างๆ  กล่าวเฉพาะในส่วนของนครน่าน  มีกลุ่มต่างๆที่ได้ทำการสำรวจ อนุรักษ์ ดังต่อไปนี้
คณาจารย์จากสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย รศ. สมหมาย เปรมจิตต์ และ ศ.ดร.ฮันส์ เพ็นธ์ เริ่มสำรวจที่จังหวัดน่าน ในปี พ.ศ. 2523 -2537 ครอบคลุม พื้นที่ 9 อำเภอ จำนวน  44 วัด ได้รายชื่อคัมภีร์  321 รายการ เก็บข้อมูลไว้ที่คลังข้อมูลฝ่ายล้านนาคดี สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต่อมา คณะสำรวจนำโดย รศ.ดร.มล.พันธุ์สูรย์ ลดาวัลย์ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ทำการสำรวจอีกในช่วงปี พ.ศ. 2530-2532 ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ จำนวน 10 วัด กับ 1 พิพิธภัณฑ์ ได้รายชื่อคัมภีร์ 466 รายการ เก็บเป็นฐานข้อมูลไว้ที่ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
ในปีพ.ศ. 2557 คณะสำรวจจากสถาบันวิจัยสังคม ในโครงการล้านนาคดีศึกษา นำโดย อาจารย์ ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม และคณะได้ทำโครงการสำรวจรวบรวมและจัดทำระบบสารสนเทศสำเนาภาพถ่ายพระธรรมคัมภีร์ใบลานพระนครน่าน  สมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ ลงมือทำการสำรวจอย่างละเอียด จัดระบบหมวดหมู่ ลงทะเบียนทุกรายการที่พบในแต่ละวัด แม้จะทำการตลอดปี ก็สามารถสำรวจได้เพียง 3 วัด ใน 2 อำเภอ คือ วัดดอนแก้ว อำเภอเมือง วัดนาเหลืองใน และวัดศรีเชียงบาล  อำเภอเวียงสา ได้รายชื่อคัมภีร์ทั้งสิ้น 2,338 รายการ โดยทำงานคู่ขนานกับวัดพระบรมธาตุแช่แห้งวรวิหาร อำเภอภูเพียง
ในปี พ.ศ. 2556-2558 คณะสงฆ์จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน  เฉลิมพระเกียรติฯ นำโดย พระชยานันทมุนี(ธรรมวัตร ณ น่าน ดร.)  เจ้าอาวาสวัดพระธาตุแช่แห้งวรวิหาร  เจ้าคณะอำเภอภูเพียง  ได้จัดทำโครงการปริวรรตพระธรรมคัมภีร์ใบลาน  พระนครเมืองน่าน  สมัยพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ  เพื่อสืบทอดและเผยแพร่พระธรรมคัมภีร์ของเมืองน่านอันเป็นมรดกที่ทรงคุณค่าจากบรรพบุรุษไว้   และเพื่อคัดเลือกพระธรรมคัมภีร์ในโครงการดังกล่าวจำนวน 60 เรื่อง  ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ เนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองพระชนมายุครบ 60 พรรษา  ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2558 ซึ่งทางวัดก็จัดทำเป็นนโยบายคณะสงฆ์อำเภอภูเพียง ให้ทำโครงการต่อเนื่องจนกว่าจะสำรวจครอบคลุมพื้นที่อำเภอภูเพียง ในอนาคต พระชยานันทมุนี ประสงค์จะสำรวจอนุรักษ์พระธรรมคัมภีร์ให้ทั่วทุกวัดในพื้นที่จังหวัดน่านต่อไป
นอกจากนี้ ในช่วงประมาณ 2-3 ปี ก่อนหน้าที่คณะนักวิจัยโครงฯ ลงมือไปสำรวจ  ได้ทราบว่า มีกลุ่มนักวิชาการเอกชน ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิธนาคารกสิกรไทย ทำการสำรวจพระธรรมคัมภีร์ของวัดในพระนครน่านไปบ้าง หลายวัด แต่ไม่มีรายงานความคืบหน้าของโครงการดังกล่าว จึงไม่สามารถให้รายละเอียดได้
อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มที่กล่าวนามมา จะลุกขึ้นมาเพื่อร่วมกันอนุรักษ์พระธรรมคัมภีร์ใบลานนครน่านได้สำเร็จไปไม่มากนัก แต่ก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีว่า ต่อไปนี้ ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษนครน่านจะได้รับการฟื้นฟู จัดทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อการศึกษาและส่งมอบมรดกบรรพชนสู่อนุชนรุ่นต่อไป

3. ภูมิปัญญานครน่าน : เอกสารโบราณอันซีนเมืองน่าน
                คณะนักวิจัยโครงการสำรวจรวบรวมและจัดทำระบบสารสนเทศสำเนาภาพถ่าย พระธรรมคัมภีร์ใบลาน  พระนครน่าน  สมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ เมื่อการสำรวจอนุรักษ์เสร็จสิ้น ก็ได้คัดเลือกเรื่องที่โดดเด่น เกี่ยวกับแหล่งข้อมูลที่ลงไปสำรวจของแต่ละวัด ที่ยังไม่เคยมีผู้ใด หรือหน่วยงานใด   ทำการปริวรรต และตีพิมพ์เผยแพร่ มาก่อน ขอเรียกว่า “เอกสารโบราณอันซีนเมืองน่าน”  มาทำการปริวรรต ถ่ายถอดอักษร จัดทำบทคัดย่อ เรียบเรียงเนื้อหาสาระ และแนบด้วยภาพถ่ายเอกสารโบราณต้นฉบับ เพื่อเอื้อความสะดวกให้ผู้สนใจเนื้อเรื่องจะได้เข้าถึงโดยง่าย ในขณะที่ผู้สนใจอยากศีกษาการอ่านอักษรโบราณฉบับปริวรรต เทียบกับสำเนาต้นฉบับเดิม ก็สามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง เป็นการช่วยสืบสานอนุรักษ์ภูมิปัญญาล้านนาโบราณอีกวิธีหนึ่ง
               เอกสารโบราณอันซีนเมืองน่าน ทั้ง 4 เรื่อง ประกอบด้วย
               3.1  นิทาน(ประวัติ)การสร้างพระธาตุดอนแก้ว แต่งโดยครูบาสุริยะ อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนแก้ว เมื่อ 110 ปี ที่ผ่านมา(พ.ศ.2448) นับเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เล่าถึงการก่อสร้างพระธาตุดอนแก้วอย่างละเอียดทุกขั้นตอน ผู้อ่านจะได้เห็นภาพพจน์ชัดเจนเหมือนอยู่ร่วมเหตุการณ์ในครั้งนั้นโดยแท้ ดังบทสรุปเอกสารโดยย่อ ต่อไปนี้
  ครูบาสุริยะ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอนแก้ว ผู้จารคัมภีร์เรื่องอานิสงส์ก่อพระธาตุดอนแก้ว ในปีจุลศักราชได้ 1267(พ.ศ.2448)  ได้เล่าโดยเท้าความอ้างอิงถึงเนื้อความในพระไตรปิฎก ที่แสดงอานิสงส์ในการสร้างพระธาตุของพระสุทธาปิณฑิยเถระ ว่ามีผลานิสงส์หนุนส่งให้ท่านเสวยสุคติสุขเป็นเวลานาน และไม่ได้ไปสู่ทุคติเลย   ชาติสุดท้าย ท่านเกิดในสมัยพุทธกาลได้มาบวชเป็นพระภิกษุ ปฏิบัติธรรมไม่นานก็ได้บรรลุเป็นอรหันต์รูปหนึ่ง ดังนั้น การที่ครูบาสุริยะได้ชักชวนคณะศรัทธาสร้างพระเจติยธาตุขึ้นมา ก็ด้วยเหตุผลเพื่อการปลูกศรัทธาของพุทธศาสนิกชนได้มีจิตมหากุศลร่วมสร้างปูชนียวัตถุที่สำคัญยิ่งใหญ่เอาไว้เป็นพุทธบูชา จะได้อานิสงส์มาก ดุจดังพระสุทธาปิณฑิยเถระ ครูบาสุริยะได้เล่าความตั้งแต่ หลังพุทธปรินิพพานได้ 3 เดือน ในการประชุมสงฆ์ทำสังคายนาครั้งที่ 1 ที่ถ้ำสัตตบรรณ  เขาเวภารบรรพต แขวงเมืองราชคฤห์ พระมหากัสสปะ พร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 รูป     ถามพระอานนท์ว่า สุทธาปิณฑิยเถรสูตร นี้ พระพุทธเจ้าเทศนาเมื่อใด เทศนาให้แก่ผู้ใด พระอานนท์ตอบว่า พระสูตรนี้ ท่านได้สดับมาแต่พระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า ในขณะที่พระองค์ประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ความในพระสูตรมีว่า
          ในอดีตสมัยครั้งพระสิทธัตถะพุทธเจ้า มีกุลบุตรผู้หนึ่งเกิดในสมัยพุทธกาล แต่ไม่ได้มีโอกาสกระทำบุญ ครั้นพระสิทธัตถะพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ชนทั้งหลายได้ช่วยกันก่อเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสิทธัตถะพุทธเจ้าขึ้น เขามีใจเลื่อมใสศรัทธา จึงได้ไปหาซื้ออิฐก้อนหนึ่งจากช่างปั้นหม้อมาร่วมก่อพระเจดีย์ และทำการสักการบูชาด้วยดอกไม้ของหอม ครั้นจุติไป เขาได้ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษย์โลกรวมเวลานับได้ 94 กัป ไม่เคยไปเสวยทุกข์ในอบายสักชาติ ล่วงมาถึงสมัยศาสนาพระโคตมพุทธเจ้า เขาได้มาบวชเป็นภิกษุ  ปฏิบัติบำเพ็ญอยู่ไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ  มีนามปรากฏว่า “มหาสุทธาปิณฑิยเถร” ก็เนื่องด้วยผลบุญที่ไปซื้ออิฐก้อนหนึ่งมาร่วมก่อเจติยธาตุและได้บูชาพระเจติยธาตุนั้น
          มหาสุทธาปิณฑิยเถรได้แสดงถึงผลานิสงส์แห่งบุรพกรรมของตนว่า ท้าวพญาทั้งหลายแม้จะได้ผลบุญมีทรัพย์สมบัติมาก  เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง 4 ก็ไม่อาจเทียบเท่าผลบุญ 1 ใน 16 ส่วน แห่งการสร้างและการบูชาพระ  เจติยธาตุนั้นได้ เรา(พระมหาสุทธาปิณฑิยเถร) ได้ท่องเที่ยวในสวรรค์และโลกมนุษย์ถึง 94 กัป  ไม่เคยรู้จักทุกข์แม้แต่ชาติเดียว   เป็นท้าวพญานับอเนกชาติ  เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ  13 ชาติ  ในปัจจุบันได้บรรลุปฏิสัมภิทาญาณ 4, วิโมกขธรรม 8, อภิญญา 6 เป็นพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนา ก็ด้วยผลบุญเพียงนำอิฐก้อนเดียวไปร่วมบุญก่อเจดีย์และสักการบูชาเจติยธาตุนั้น เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่ไปที่ลังกาทวีป  พญาอภัยทุฏฏคามณี  มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก โปรดให้สร้างพระสถูปเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุตามพุทธทำนายไว้ โดยจัดสรรค่าจ้างให้กับคนทั้งหลายตามแต่กำลัง  ครั้งนั้น มีหญิง 2 คนรับจ้างขนก้อนอิฐและหาบน้ำให้แก่ช่าง หญิงทั้ง 2 คนนั้น ได้ทำการรับจ้างด้วยใจศรัทธาอย่างยิ่ง เมื่อสิ้นอายุก็ได้ไปเกิดในสวรรค์   เทวธิดาทั้งสองได้รำพึงถึงบุพกรรมของตนในอดีต จึงได้พากันนำดอกไม้ธูปเทียนของหอมที่เป็นทิพย์ ลงมาสักการบูชาพระเจติยธาตุทุกวันอุโบสถศีล  ในขณะนั้น มหาสิวเถร พำนักอยู่ ที่มหาวังกวิหาร ก็อยากจะไปไหว้พระเจติยธาตุ ในเวลากลางคืน ท่านจึงเข้ามาสู่ลานพระเจติยธาตุนั้น ได้เห็นเทวธิดาทั้งสอง จึงถามว่า เพราะสาเหตุใดทำให้นางทั้งสองมีรัศมีรุ่งเรืองยิ่งนัก  เทวธิดาทั้งสองไหว้และตอบมหาสิวเถรว่า ด้วยอำนาจบุญกรรมที่ทำการรับจ้างขนอิฐและหาบน้ำให้แก่ช่างก่อเจติยธาตุหลังนี้ ในชาติก่อน เรื่องเล่านี้มีบันทึกไว้ใน “มหาวงส์หลวง”
ลำดับเหตุในการก่อสร้างพระธาตุดอนแก้ว เมื่อปีจุลศักราช 1253 (พ.ศ. 2434) ครูบาสุริยะ มีอายุได้ 62 ปี ในเดือน 5 ขณะที่ท่านธุดงค์อยู่ในถ้ำผาตูบ มีภิกษุรูปหนึ่งชื่อ “ไชยภิกษุ” ได้นำพระธาตุใส่กระอูบ(ผอบ)ไปด้วย ครูบาสุริยะจึงได้ขอดู เห็นพระธาตุเม็ดหนึ่ง ขนาดเท่าเม็ดพันธุ์ผักกาดสีขาวใสงาม มีวัณณะ(สี)ดังสีนกยางขาว มีจุด 2 ข้างตรงกัน ด้านหนึ่งลึกอีกด้านหนึ่งตื้น   จึงได้ขอแลกพระธาตุกับไชยภิกษุ    ครูบาสุริยะจึงให้แกะไม้มหาโพธิ์เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ และอัญเชิญพระธาตุบรรจุไว้ในช่องกลางเศียรพระพุทธรูป และนำติดตัวตลอดมา
  ล่วงมาถึงจุลศักราช 1263 (พ.ศ. 2444)    เดือน 7 น่าน ออก 11 ค่ำ วันจันทร์ ครูบาสุริยะ ได้ให้คณะศรัทธาชาวบ้านดอนแก้วและชาวบ้านใกล้เคียงมาสักการบูชาพระธาตุ ในหอสรงทำเป็นมณฑปมุงด้วยผ้าเทศสีกระเทียมขาว  กั้นผ้าเพดาน และวางผ้ากรองรองรับเอากากน้ำอบน้ำหอมออก มีเครื่องสักการบูชาต่างๆ คือ เศวตฉัตร ช่อ ทุง โคมแห่ โคมดอกบัว พัดพร้าว จามร ละแอ บังวัน ต้นดอก เป็นต้น   สาธุชนทั้งหลายต่างพากันมาสักการบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน น้ำอบ น้ำหอม กลิ่นหอมฟุ้งขจรไปทั่ว ยังความปีติโสมนัสยินดีบังเกิดแก่คนทั้งหลาย บางคนมีจิตเลื่อมใสศรัทธามาก อุตสาหะไปนำน้ำทิพย์ที่เกิดในเงื้อมผาไกลๆ มาสรงพระธาตุ จนถึง เดือน 8 น่าน ออก 8 ค่ำ
อินทสรภิกษุเป็นประธาน ได้ให้ช่างเคี่ยนทำโกศไม้จันทน์ใส่พระธาตุ ขัตติยะอุบาสกบ้านมณเฑียรเป็นประธานแก่ญาติและเพื่อนบ้าน ขุนบ้าน นายแคว่น เจ้านายทั้งหลายพร้อมกับช่างเครื่องทำโกศเงินใหญ่ 1 ลูก เล็กอีก 1 ลูก ในการนี้ครูบาสุริยะได้จ้างสล่าม่าน(นายช่างชาวพม่า) 4 คน มีสล่าผ่าง(หัวหน้า)  มาเป็นผู้ก่อสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ   เมื่อถึงฤกษ์อันเหมาะสม ศรัทธาทั้งหลาย พร้อมด้วยสล่าม่านเอาเข็มรวายสีตั้งแล้ว ชักเชือกออก 11 ศอก ขัดราชวัตร 4 ด้าน ขุดขุม 4 ขุม โดยมี ขุมใหญ่ลึก 4 ศอก 1 ขุม และขุมเล็กลึกขุมละ 2 ศอก อีก 3 ขุม สล่าม่านเอาอิฐพอกกระดาษเงินกระดาษคำรองพื้นในแต่ละขุม ก่อเป็นอุโมงค์ที่บรรจุโกศพระธาตุเอาไว้จนแล้วเสร็จ
ถึงเดือน 8 ออก 14 ค่ำ ได้นิมนต์พระสงฆ์ทั้งหลายมาเจริญปริตรมงคลคาถา อบรมสมโภชพระธาตุ และบรรจุพรธาตุไว้ในโกศที่ซ้อนกันหนาได้ 8 ชั้น ดังนี้ ชั้นในสุด โกศทองคำ, โกศแก้ววิฑูรย์, โกศไม้จันทน์หอม, โกศเงิน,  โกศแก้วมรกต, โกศเงินใส่ฝาจิกคำ, โกศเงินใหญ่, และโกศแก้วเป็นชั้นนอกสุด แล้วเสร็จแห่โกศพระธาตุเข้ามาประดิษฐานไว้เหนือปราสาทกลางวิหาร ศรัทธาบ้านสวนตาลทั้งมวลพร้อมด้วยเครื่องไทยทานต่างๆ กับทั้งข้าวตอกดอกไม้ ธูป เทียน ประทีป ไต้ไฟ โคม มาบูชาพระธาตุ ตามไฟสว่างแจ้งตลอดคืน
ตลอดเวลาที่ประกอบพิธีสมโภชพระธาตุนั้น อุบาสกจำนวน 10 คน ทรงผ้าขาวถือศีล 8 ภาวนาเฝ้าอบรมพระธาตุ มีนามดังนี้  1 หลวงพรหมอักษรเป็นประธาน, 2 หลวงคำเรืองฤทธิ์ , 3 หลวงธรรมดูร, 4 หลวงธรรมธิมงคล, 5 แสนธะ(แสนอัทธะ), 6 ท้าวพรหมสาร, 7 แสนยศ, 8 แสนพรหมจักร, 9 หนานขัตติยะ, 10 ลุงไหมมโน  
เดือน 8 ออก 11 ค่ำ ครูบาสุริยะได้ทานผ้าขาวเทศอย่างดี เครื่องทรงตามแบบตะโก้งหงสา แก่สล่าม่านทั้ง 4 คน คนละ 3 ผืน มีผ้านุ่งยาว 1 วา 1 ศอก เป็นผ้าสิบพุ่น, ผ้าสไบ 1 วา เป็นผ้าสีกระเทียมเนื้ออ่อน และผ้าโพกหัวยาว 2 ศอกเป็นผ้าสีกระเทียมปลายน้ำข้าวซัดเนื้ออ่อนนวล เมื่อคณะศรัทธาพร้อมเพรียงกันทั้งสล่าม่าน, พวกอุบาสกที่ทรงผ้าขาวถือศีล 8 กับทั้งไชยวุฒิอุบาสก รวมเป็น 15 คน นำหน้าขบวน แห่โกศบรรจุพระธาตุออกประทักษิณเวียนรอบอาราม แล้วยกขึ้นใส่ไว้ในหอฉลอง ที่มีรั้วล้อมราชวัตร เพื่อให้สาธุชนทั้งหลายได้สักการบูชา
ครั้นได้ฤกษ์ยามงามดี อุบาสกทรงผ้าขาวทั้ง 15 คน จึงอันเชิญโกศใส่พระธาตุ โดยไชยวุฒิอุบาสกเป็นผู้ถือโกศพระธาตุ นำขบวนไปบรรจุไว้ในอุโมงค์ สาธุชนทั้งหลาย ตีฆ้อง ตีกลอง เป่าแตรหอยสังข์ ประโคมอยู่ตลอดเวลา เสียงแซ่ซ้องสาธุการด้วยความปีติโสมนัส ก้องสนั่นทั่วบริเวณ  ครูบาสุริยะ ได้บังเกิดความปีติโสมนัสยิ่งนัก ด้วยมีใจปสาทศรัทธาในการสร้างปูชนียวัตถุไว้ค้ำจุนพระพุทธศาสนา ก็ได้เข้าไปกราบไหว้นมัสการพระธาตุ เมื่อนั้น “ยาวิไชยเถร” ลงไปอยู่ที่ขอบอุโมงค์ รับโกศบรรจุพระธาตุจากไชยวุฒิอุบาสก และบรรจุไว้ในอุโมงค์ที่ก่อด้วยอิฐเงินและคำ ครูบาสุริยะเอากระออมแก้วเล็ก 3 ลูกใส่น้ำบ่อทิพย์ลงตั้งไว้บูชาคุณพระธาตุ
หลวงคำบุญเรืองมหาอุบาสกได้นำไหลวงคำ(ไหมังกร) ลูกใหญ่ มาครอบโกศแก้วบรรจุพระธาตุ นำเครื่องสักการบูชาทั้งมวลบรรจุใส่ไว้  โกศพระธาตุไว้ในขุมใหญ่  ไชยวุฒิอุบาสกนำไหมาบรรจุพระพุทธรูปทั้งเล็กและใหญ่ไว้ในขุมถ้วน 2  โกศแก้วกระบัดพระยาพู ใส่อรหันตธาตุกับทั้งแก้วแหวนเงินทอง ที่ผู้คนนำมาบูชาบรรจุไว้ในขุมถ้วน 3 โกศเงินลายดอก ของศรัทธาบ้านดอนแก้ว บรรจุพระธาตุที่สาธุชนนำมาร่วม พร้อมทั้งแก้วแหวนเงินทองใส่ไว้ในขุมถ้วน 4  เรียบร้อยแล้ว สล่าม่านฉาบปูนปิดทุกขุม ก่อสร้างเจดีย์ขึ้นทุกวันโดยไม่หยุด เดือน 8 แรม 5 ค่ำ ครูบาสุริยะได้เอาถ้วยแก้วขาวมีฝาปิด เอาพระพุทธรูปสมาธิเพชรองค์ 1, พุทธรูปแก้วมหานิลองค์ 1, พุทธรูปสอแก้วองค์ 1, พระองค์ดำองค์ 1, ทองขวานฟ้ามีแต่ทางปลายอัน 1, ใส่กับพระพิมพรูปเจ้า 7 องค์ ใส่ในถ้วยแก้วปิดดีแล้ว เอาขึ้นบรรจุไว้ท่ามกลางขันหลวง สล่าม่านก่ออุโมงค์น้อยไว้ จากนั้น การก่อสร้างก็ดำเนินไป นับแต่เดือน 9 ปฐมน่าน ออก 7 ค่ำ วันเสาร์เอาแกนไม้สักยาว 5 ศอกขึ้นใส่ยามกองแลง สล่าม่านทั้งหลายก่อเจดีย์ขึ้นทุกวันทุกวันจนถึง เดือน 9 ทุติยะ แรม 2 ค่ำ วันจันทร์ สล่าม่านทาสะทายแล้วเสร็จสมบูรณ์
พระธาตุวัดดอนแก้วแรกเมื่อก่อเสร็จนั้นมีความสูง 11 ศอก 18 แม่มืออัด ฐานกว้าง 11 ศอก กำแพงล้อมรอบกว้าง 16 ศอก 11 แม่มืออัด ช่วงกำแพงถึงพระธาตุกว้าง 2 ศอก สิ้นค่าก่อสร้างไปดังเอกสารที่ปริวรรต
ปีจุลศักราช 1264 (พ.ศ. 2444) เดือน 6 น่าน ขึ้น 15 ค่ำ วันอาทิตย์ได้ทำการสมโพชฉลองปริตรมงคลพุทธาภิเษกเบิกบายพระเจติยธาตุ โดยมี พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน เป็นประธาน พร้อมด้วยข้าราชบริพาร เสนาอำมาตย์ ศรัทธาสาธุชนทั้งหลาย แห่เครื่องครัวทานที่บรรจงตกแต่งประดับประดาอย่างงดงามมาร่วมในงานพิธีครั้งนี้อย่างล้นหลาม  สุริยภิกขุ หรือ ครูบาสุริยะ ได้ลงมือเขียนอานิสงส์ก่อพระธาตุไว้เพื่อความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา(โชตกวรพุทธศาสนา)ไปภายหน้า

3.2   ตำนานถ้ำกลุ่ม(คูหาฆฏกะ)   จารโดย แสนธนัญไชย  ในปี จ.ศ. 1238(พ.ศ.2419) เมื่อ 139 ปีผ่านมา เล่าถึงตำนานเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่เข้ามาในดินแดนโยนกเชียงแสน ที่ธชปัพพตะ(ดอยทุง หรือ ดอยตุง)  ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระพุทธองค์ทำนายเหตุการณ์ในอนาคต ว่าที่นี้จะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ จะทำให้อายุพระพุทธศาสนาสืบทอดยาวนานถึง 5,000 พระวัสสา  มีตำนานเจ้าผู้ครองนครในดินแดนนั้น เป็นจ้าวของชาวลัวะ นามว่า ปู่เจ้าลาวจก  มีบุตร 3 คน คนโตชื่อว่า ลวะกุมโภ หรือ ลวะช่างหม้อ คนกลาง ชื่อว่า ลวะทสลขะ หรือ ลาวล้าน คนเล็กชื่อว่า ลวะคันโธ หรือ ลาวหอม ก็ให้ลูกครองเมืองต่างๆ ในบริเวณนั้น ต่อมา เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปะ ก็ได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาที่ดอยดังกล่าว ครั้งนั้น เจ้านครนามว่า อชุตตราช หลานของปู่เจ้าลาวจก ได้ทราบความประสงค์ของพระเถระ จึงได้พากันมาบรรจุพระธาตุที่แท่นหินนั้น  พระมหากัสสปะเนรมิตตุงใหญ่ขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องสักการะ ที่นั้นจึงได้นามว่า ตอยตุง (เป็นตำนานพระธาตุดอยตุงอีกสำนวนหนึ่ง) พระเจ้าอชุตตราช ให้หัวหน้าลัวะดูแลรักษาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั้น และ มอบหมายให้ ลัวะ 500 ครอบครัว ปรนนิบัติดูแลพระธาตุ  รอบบริเวณดอยตุงนั้น มีบ่อน้ำทิพย์ 12 บ่อ มี ถ้ำที่เก็บไห 4 ใบ ที่เรียกว่า ถ้ำกุ่ม และถ้ำอื่นๆ  เช่น  ถ้ำปลา  ถ้ำเปลวปล่องฟ้า เป็นต้น ประชาชนในครั้งนั้นก็ได้บูชาพระธาตุและสืบทอดเป็นประเพณี ต่อมาหัวหน้าลัวะสองสามีภรรยาได้ตายไป ด้วยบุญที่รักษาพระธาตุจึงได้ไปเกิดเป็นภุมมเทวดา เฝ้ารักษาดอยนั้น กาลล่วงไป พญาผู้ครองเมืองเชียงแสน มีใจบาป ประพฤติอธรรม  ภุมมเทวดาทั้งสอง  ต้องการรักษาพระศาสนาให้รุ่งเรืองตราบ 5,000 ปี จึงได้ชวนกันจุติลงมาเกิดในโลกมนุษย์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพญาครองเมืองนั้น ชื่อว่า “ลวจักกราช” พระองค์มีราชบุตร 3 องค์  องค์พี่ นามว่า ลาวช้างก้อม  องค์กลาง นามว่า ลาวแผนแผ้ว องค์เล็ก นามว่า ลาวเกล้าแก้วมาเมือง   ราชบุตร 3 องค์เสวยราชสมบัติในหิรัญญนคร มีเจ้าครองนครสืบมาหลายพระองค์ มีชื่อ พญาอจุตตราช (หรือ อชุตตราชอีกองค์ ที่ได้นางปทุมวดี ธิดาเลี้ยงของกมโลฤาษี) ครองเชียงแสน ต่อมา เจ้าครองนครลำดับที่ 31 ชื่อพญาลาวเคียง หรือ เจ้าลาวเคียง ได้เสวยเมือง 3 ปีแล้ว ก็ให้สร้าง เวียงเหรัญญะ คือ เวียงเงิน   รายนามเจ้าผู้ครองนครเวียงเงินสืบต่อมาที่โดเด่น เช่น พญามังราย พญาติโลก พระเมืองแก้ว  การไหว้พระธาตุถ้ำกุ่มและดอยตุง ถือว่าจะทำให้บ้านเมืองได้ก้านกุ่งรุ่งเรือง ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ประชาชนอยู่ร่มเย็นเป็นสุข กษัตริย์ทุกพระองค์จึงได้ถือการบูชาพระธาตุเป็นราชประเพณีสืบต่อกันมาจนถึงรัชสมัยของพระเมือง(เกศ)เกล้าเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
        ในสมัยพญายอดเมือง บ้านเมืองเกิดภัยแล้ง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมาก  จึงได้เอาน้ำเจ็ดลิน(น้ำจากเวียงเจ็ดลิน) ใส่ในไหจืน(ตะกั่ว) พร้อมด้วยเครื่องสักการบูชาและมอบให้ไพร่พลทั้งหลาย เดินทางไปสรงพระธาตุ ตลอดเวลา 10 วัน พระองค์ทรงตั้งสัจจะอธิษฐานขอให้ฝนตกทั่วเมืองเชียงใหม่ ด้วยอานุภาพแห่งพระบรมสารีริกธาตุ บันดาลให้ฝนตกลงมาในวันเพ็ญเดือน 6 เป็นที่โสมนัสยินดีแก่พญายอดเมืองและประชาชนทั้งหลาย
ตำนานถ้ำกุ่ม ในสมัยพระกกุสันธพุทธเจ้า พระองค์ได้เสด็จจากปาอิสิปตนมิคทายวัน ไปรับบิณฑบาตที่เมืองมิถิลาแล้วเสด็จมาที่ดินแดนแถบนี้ เสวยภัตตาหารที่ถ้ำแห่งหนึ่ง เทวดา 4 ตน เอาไหน้ำมาถวาย พระกกุสันธะพุทธเจ้าเสวยน้ำและล้างบาตรเสร็จ ก็เสด็จกลับสู่ป่าอิสิปตนมิคทายวันตามเดิม ไห 4 ลูกนั้นก็ได้ตั้งอยู่ในถ้ำตั้งแต่นั้นมา  มีพรานป่าผู้หนึ่งเข้าไปในถ้ำพบไหตั้งเรียงกัน 4 ลูก เขารำพึงในใจว่า ไห 4 ลูกนี้น่าจะเป็นไห(กุ่ม)เหล้าของพวกโจรเอามาแบ่งกัน  จึงนำไหทั้ง 4 ลูกไปไว้ที่บ้าน  ด้วยอานุภาพแห่งเทวดาทั้ง 4 ที่ได้ถวายไหน้ำแด่พระกกุสันธะพุทธเจ้า ไหทั้ง 4 ลูก ได้กลับคืนไปตั้งอยู่ที่ถ้ำตามเดิม ภายหลังเจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ทั้งหลายก็ได้มาทำการสักการบูชา    สร้างพุทธรูปมาประดิษฐานไว้ที่ถ้ำกุ่ม   ถวายพวกมิลักขะให้อยู่ดูแลพระธาตุ ทรงหยาดน้ำสบถแช่งบุคคลผู้คิดจะทำลายพระธาตุหรือใช้สอยพวกมิลักขะเหล่านี้ในหน้าที่อื่น จึงกลายเป็นประเพณีสืบต่อกันมา  ต้นฉบับตำนานถ้ำกุ่มนี้ได้พบที่วัดดอนแก้ว เช่นกัน 
               3.3 ตำราลักษณะช้างและคำสูขวัญช้าง 2 เล่ม เล่มที่ 1 เป็นเอกสารพับสา เดิมเป็นสมบัติส่วนตัวของ แม่เจ้าทิพย์ ชายาของเจ้ามหาพรหมสุรธาดาฯ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย ต่อมา ในปี พ.ศ. 2530 เจ้าแม่ลัดดา ณ น่านพระธิดา ได้นำไปถวาย พระครูอินทสรวิสุทธิ์ (ครูบาสม อินฺทสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดนาเหลืองใน  และ เล่มที่ 2  ตำราลักษณะช้างและคำสู่ขวัญช้าง บอกลักษณะช้าง  เมื่อช้างป่วยก็บอกวิธีปรุงยารักษาเอาไว้ด้วย และมีคำสู่ขวัญช้างเป็นอีกสำนวนหนึ่ง จึงขอเรียกว่า สำนวนที่ 7 เก็บรักษาไว้ที่วัดนาเหลืองใน อำเภอเวียงสา เนื้อหาบอกถึงลักษณะช้างดี ช้างมงคล ควรเป็นราชพาหนะ และช้างร้าย นอกจากนั้น ยังได้ให้ความรู้เรื่องการดูแลช้างที่ป่วยว่ามีลักษณะอาการเป็นอย่างไร และจะปรุงยาขนานใดรักษาให้หายป่วย ในตำราสู่ขวัญช้าง ทั้ง 7 สำนวน อุดมไปด้วยคำปลอบประโลม คำสั่งสอนช้าง ให้รู้จักฐานะตนว่าได้รับเลือกเป็นมงคลคู่เมือง ควรประพฤติตนอย่างไร เรื่องนี้ ทีมงาน ก็ถือว่าเป็น อันซีนเมืองน่าน ที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน ขอบพระคุณพระมหาปิยะ  ธีรังกุโร เจ้าอาวาสวัดนาเหลืองใน อนุญาตให้ถ่ายสำเนาและทำการเผยแพร่แก่สาธารณชน
  ต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง ตำราคชลักษ์ หรือ ตำราช้างมงคล ซึ่งขอนำเสนอ เป็นกรอบก่อน (http://library.stou.ac.th/ODI/good-elephant/P3.html) แล้ว จึงมาดูตำราช้างของนครน่าน ดังนี้ ตามตำราคชศาสตร์  ได้โยงถึงพระผู้สร้างโลกว่า  พระนารายณ์เสด็จลงมายังโลกพิภพ  ไม่มีแผ่นดินที่จะประทับ เพราะมีแต่น้ำมหาสมุทร  จึงประทับบนหลังพระยาอนันตนาคราช ต่อมาพระองค์ก็ทรงเนรมิตดอกบัวผุดขึ้นมาตรงพระนาภี (สะดือ) ทรงแบ่งกลีบและเกสรดอกบัวเป็น 4 ส่วน  นำไปมอบให้พระพรหม  พระอิศวร  พระวิษณุุ  และพระอัคนี  มหาเทพทั้ง 4 เนรมิตให้กลีบและเกสรบัวเป็นช้าง จึงเป็นที่มาของช้างมงคล 4 ตระกูล คือ
               พรหมพงศ์  หมายถึง  ช้างเผือกตระกูลที่พระพรหมเนรมิต  มักจะมีเนื้อหนังอ่อนนุ่ม  หน้าใหญ่  ท้ายต่ำ  ขนอ่อนละเอียด  เส้นเรียบ  ขึ้นขุมละ 2 เส้น  สีขาว  โขมดสูง  คิ้วสูง  น้ำเต้าแฝด  มีกระเต็มตัว  ขนที่หลังหู  ปาก  ขอบตามีสีขาว  อกใหญ่  งาสีเหลือง  เรียวรัดงดงาม  มีทั้งหมด 10 หมู่  ที่โดดเด่นที่สุดคือ  ฉัททันต์  ผิวกายขาวดั่งเงินยวง  งาสีเงินยวง  อุโบสถ  ขนและงาสีทองเป็นช้างแห่งอายุยืนยง  สูงส่งด้วยวิทยาการ  ในชาดกกล่าวถึง  พระพุทธเจ้าครั้งเสวยชาติเป็นพระโพธิสัตว์ในชาติภพที่เป็นช้างเผือกจะถือกำเนิดเป็น  พระยาฉัททันต์  
               อิศวรพงศ์  หมายถึง  ช้างเผือกตระกูลที่พระอิศวรเนรมิต  ผิวกายดำสนิท  งาอวบ  งอนเสมอกันทั้งสองข้าง  เท้าใหญ่  น้ำเต้ากลม  คอย่น  ขณะเยื้องย่าง  อกใหญ่  หน้าเชิด  แยกเป็น 8 หมู่  ที่โดดเด่นที่สุด  คือ  อ้อมจักรวาล  มีงาขวางามกว่างาซ้ายอ้อมโอบงวง  และกัณฑ์หัตถ์ งาซ้ายจะยาวกว่างาขวา  อ้อมโอบงวงเช่นกัน  เป็นช้างแห่งความสุข  และเจริญด้วยทรัพย์สินและอำนาจ
               วิษณุพงศ์  หมายถึง  ช้างเผือกตระกูลที่พระวิษณุเนรมิต  ผิวหนา  ขนหนาเกรียน  สีทองแดง อก คอ คางใหญ่ หางยาว งวงยาว หน้าใหญ่ นัยน์ตาขุ่น หลังราบ แยกเป็น 6 หมู่  ที่โดดเด่นที่สุด  คือ  สังขทันต์  มีงาอวบเรียวเหมือนสังข์ร้องได้ 2 เสียง  ตอนเช้าเป็นเสียงเสือ  ตอนเย็นเป็นเสียงไก่ขัน  และ ดามหัสดินทร์  มีกายสีทองแดง  เป็นช้างแห่งชัยชนะ  พลาหาร  ธัญญาหาร  และน้ำฝนจะอุดมสมบูรณ์
               อัคนีพงศ์  หมายถึง  ช้างเผือกตระกูลที่พระอัคนีเนรมิต  ท่วงทีงดงาม  เดินเชิดงวง อกใหญ่ งาทั้งสองโค้งพอจรดกัน สีเหลืองอมขาวปนแดง ผิวกายคล้ายสีใบตองตากแห้ง แยกเป็น 42 หมู่  ที่น่าสังเกต  คือ  ช้างที่มีผิวกายประหลาดแต่ตกชั้น  หรือ ขาดคชลักษณ์สำคัญอื่น ๆ จะอยู่ในตระกูลนี้ด้วย  หากได้ขึ้นระวางเป็นช้างสำคัญ  ผิวกายจะปกติ  แต่รูปร่างปราดเปรียว  งาจะอวบสั้น  คชลักษณ์งดงามกว่าช้างสามัญธรรมดาทั่วไป  ซึ่งก็จัดอยู่ในตระกูลนี้เช่นกัน  ส่วนช้างตามคชลักษณ์ที่สองจะเรียกว่า  ช้างเนียม  ในราชพงศาวดารได้รับพระราชทินนามเป็น  มณีจักราก็อยู่ในตระกูลนี้  ช้างตระกูลอัคนีพงศ์ แบ่งเป็นช้างเผือก และช้างเนียม
               ตำราช้างนครน่าน
พับตาช้างภเจั้า
สุพฺภมสฺสดุ จุฬสักราช 1257 ตัว ปลีดับเมด เดือร 6 ขึ้น 11 ฅ่ำ วัน 4 ได้เขียรตำราแผนช้างแลตำราอยาช้างเปนพยาธิแล ช้างตัววิเสสแลช้างตัวขึด มีองค์ดั่งนี้แล ปุคคละผู้ใดคือว่าเจั้านายท้าวภยา หื้อผ่อดูตามตำรายาแลองค์ช้างเจบ องค์ช้างตัวร้ายตัวดีแลองค์ที่ขึดตามตำรานี้
ช้างตัวนี้หน้าเขียงก้านก้วย หางจุมดอกบัว หนังพันซ้ายจับเปิ้นข้า คุมตีนจดแซว หัวเลบยก ช่างปบปอกแลคั้นปอกออกไป ลางเทื่อก็เอัาได้ ลางเทื่อก็เอาบ่ได้แล ลักขณะบ่ถ้วน หางสั้น งวงยาว หากเลือกผู้จักเพิงใจแล
ช้างตัวนี้ หน้างวงกิ่ว หางจุมดอกบัว หนังขัดแหล้ง จับคาม หางปัดปอก คุมตีนจดแซว ตาหมากขนัด หล่อสน่อย เวียรสน่อย ขี้อย้านสน่อยแล
ช้างพายนี้ หางสำคืนปลาสเดจ ปบปอกสน่อย ปักสน่อย      เปลียงเฮือติดสน่อย ลางเทื่อค็เชือกติดแฅ่งไพแล แซงหนังแปแตกลวงยาวไขว่ตาแสง หนังขัดแหล้ง ขึ้นจำหนังพันซาย จับเปิ้นข้า เวียรสน่อย ควานบ่แขงบ่ได้ขึ้นมันแล
               ตัวอย่างคำบรรยาย  (ขออภัยที่ไม่ได้ถอดความไทย)
ช้างตัวใดหางจุมดอกบัว หูใบบัว หัวขึ้นสน่อย แปหอหน่อยนึ่ง หนังจันทังมวรดีนัก ซื้อไว้กับเรือนเทอะ ช้างตัวใดหางสั้นงวงยาว แว้นงวงค็ยาว ตาขาวหน้าเขียง หูหน้อยหูแขงนั้น มันช่างแกล้เชือกแกล้ปอกแล ขี้อย้าน เทั่าว่ามันพาแล่น ฟันค็อยู่แล
ช้างตัวใด งาขวาขึ้น งาซ้ายลง หูใบบัว หางพัดพ้าว แปหอหน้อยนึ่ง เปนช้างดีวิเสสนักแล ช้างตัวใดหาง   จุมดอกบัว หัวขึ้นสน่อย หนังจันทังมวร น้ำใจมันดี ตีคาบ่สู้ภน้อยแล ระอ่อนแล
จักกล่าวลักขณะช้างอายุยืืนก่อนเน้อ คันว่าขนซอนติด 2 ขมวดหัวแลลำฅอ สองตราบข้างตำแปแผวบารมีแล น้ำขึึ้นปายขนหอตีนกุ้มทังฝา เหืื่อค็มีดงอันเปนช้างอายุยืนมากนักแล ผิว่าตัวใดบ่มีดั่งกล่าวมานี้ ดงอันค็เปนช้างอายุสั้นพันตายแท้แล ช้างอันจักตายรีบตายด่วนแท้นั้น หางอ่อนทังเรา เนื้อค็อ่อน หนังบางกืนหย้าค็บ่ดัง เยียะเปนดั่งผ้งผ้งไว้นั้นแล
ลักษณะช้างป่วยเป็นพยาธิ และการปรุงยารักษา
จักกล่าวช้างเปนพยาธิคัดชื่อว่าไส้ขด หื้อกินอยาซะ เอาใบขาม ใบผีเสื้อ ร้าปลาส้อยปุดตัว ตำปั้นเปนลูกหื้อกิน คันบ่โล่งหื้อเอัามัดห่อหย้าไซน้ำโซ่เหลั้าหื้อกินแล้ว แปงอยากินหื้ิอกิน เอัานางไม้กล้ำนางไม้แดง ไม้แงะ นางไม้เพัาน้ำ เปือกไม้ตึง เปือกไม้แก้ม อ้นพิด เทาะหนาดฅำ ไม้ส้านแว้ตึงเฅือฅำ หอมบั่ว หอมเทียร ภิกน้อย ดีปลี เทียรทัง 5 เกือหนักเท่าอยาทังมวร ตำปั้นเปนลูกหื้อกินแล้ว หื้อแต่งขันปัดเสีย หื้อมีขันบาทใต้ 1 หมาก 4 ไหม เทียร 4 คู่ เหลั้า 5 ร้อย แล้วหื้อแปงปซทวงส่งไพหนวันตกเทอะ ดั่งเคื่องซทวงนั้นเหมือนกล่าวแล้ว แต่พายหลังนั้นแล

สิทธิการจักกล่าวตำราอยา(ยา) ช้างปาย(พลาย) งวงสั้นก่อนแล
หื้อเอัา ฅังฅาก หอมบั่วเทียม ภิกน้อย ดีปลี จักไค เขั้าหมิ้น ร้าปลาส้อย อยาดำ ตองก้วยดิบ ใบสันติก มาห่อ เอัาไม้ก้างปลาขาวมาหีบปิ้งหื้อสุกแล้ว ตำปั้นเปนลูกแล้ว หื้อกินเทอะหายแล อยาชำหื้อเอัาแร้งมาแล้ว เอัาไม้ชองแฅ ยาวประหมานสอกเสส มาผ้าเปน 7 กีบ เปนหลัวเผัา แร้งเปนด้ง เอัาภิกน้อย ดีปลี ขิงแคง หอมบั่วเทียม ดอกจัน หน่วยจัน เทียรดำ โกดทัง 9 แลอันแลซีก เขั้ากล่ำฟายมือนึ่ง ตำกับกันทังมวรนั้น น้ำเผิ้งเปนน้ำ ปันเปนลูกไว้กินดีแล
ช้างกินดินอยาหื้อเอัาหย้าหลับมืน เฅิอเขัาปอดตำเกือตัด ปั้นเปนลูกสุนเขั้าจ้าวสุกหื้อกินเทอะ
พาก 1หื้อเอัาปุมหมูป่า หมากขามร้อยฝัก เกือแปดร้อย ตำปั้นเปนลูกไว้ หื้อกินเมื่อเดือนออกเทอะ
พาก 1 หื้อเอัาเปือกยางหูม ส้มหมากขาม เกือตัด น้ำเผิ้งตัด ปั้นเปนลูกหื้อกินแล
พาก 1 เอัาเปือกม่วงปล่า หมากขาม เกือ น้ำเผิ้งตัด ตำปั้นเปนลูกไว้หื้อกินแล
ตัวอย่าง คำสู่ขวัญช้าง สำนวนที่ 2
                    สิริ สุภวรมงฺคล อัน ปสิทฺธิ ธนํ ลาภํ โสตฺถี ภาคฺยํ เชยฺยตุ ภวํ เชยฺย มงฺคลํ
                    อัชชะในวันนี้ค็เปนวันดี             เปนวันสรีสุภมังคละอันประเสิฏ
          ดูล้ำเลิศสวัสสดี                                ถูกติถี โชคเท่าฟ้า
          สมดั่งคำข้าหากอวยพอร                      แก่นปวอรอันวิเสส
          หื้อกุญชเรศหมู่พังพลาย                       หื้อสุขสบายเที่ยงเท้า
สองร้อยซาวขวบเข้าพระวัสสา               เจ้าเกิดมาแต่สัตตะ
อุโปสถะ[2]หากเปนเคล้า                       ตราบต่อเท้าหมู่คังไคยย์                     
ปุปผาไตรอันประเสิฏ                         อันเกิดแต่หนองสระทังเจ็ด                  
อันสระเด็จมาโปรด                           มนุสสะโสดสุขกระเสม                       
มีอาชญาเข้มซราบ                            ข้าเสิกกราบขอวอน                          
ยอพระกอรสะพรั่งพร้อม                     ทูนแต่งน้อมถวายปัณณา                    
สมบัติมาแต่เมืองเทศ                          ของวิเสสโลกลือแพง                         
ทังแก้วแหวนควรค่าทือ                       ท่านไถ่ซื้อค็บ่ลอนขาย                       
ข้าค็ขงขวายหามาหื้อได้                      เพื่อจักทูลขวัน[3]แก้วแก่นไธ้หมู่กุญชร.....     


          3.4  มงคลธรรมคำกลอน ฉบับพระชยานันทมุนี(วงศ์) พ.ศ. 2470 เป็นพระธรรมคัมภีร์ใบลานอีกฉบับหนึ่งที่รจนาโดย พระเดชพระคุณ พระชยานันทมุนี(วงศ์) อดีตเจ้าคณะจังหวัดน่าน อดีตเจ้าอาวาสวัดพรธาตุช้างค้ำวรวิหาร มีจำนวนคร่าว 468 บท ไม่ทราบปีที่แต่ง   อภิไชย เป็นผู้คัดลอกจารลงใบลาน ในปี พ.ศ. 2470  ลักษณะการแต่ง จะอาศัยคาถาภาษาบาลี จากมังคลสูตร ที่ว่าด้วย มงคล 38 ประการ มีจำนวน 10 พระคาถา  เป็นจุดเริ่มต้น แล้วอรรถาธิบายขยายความในแต่ละมงคล ทั้งหยิบยกอุทาหรณ์สอนใจมาแสดงให้เห็นจริง ผู้ใดปฏิบัติได้ จะเกิดมงคล(สิ่งดีงาม) แก่ตัวเอง นับตั้งแต่ การไม่คบคนพาล เป็นต้นไป จนถึงมงคลข้อสุดท้าย แสดงถึงจิตของผู้ที่ถูกโลกธรรม 8 กระทบ  ก็ไม่หวั่นไหว  ไม่เศร้าโศก ไม่ขุ่นมัว และมีความเกษม อยู่เหนือโลกธรรม เนื้อความมีภาษาพื้นถิ่นที่เก่าแก่โบราณ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นน่าน ยากที่จะเข้าใจ การใช่ถ้อยคำมาเรียบเรียง บ่อยครั้ง เป็นคำบาลี แต่เขียนไม่เต็มคำ เช่น ปโยชน ก็เขียนเพียง ปโย ต้องตีความตามบริบทแวดล้อม อนึ่ง ผู้จารคัดลอกมา ไม่ได้ใส่ใจด้านตัวสะกด การันต์ วรรณยุกต์ (ไม่เอก ไม้โท) มีคำที่เขียนผิด เขียนตกหล่นมาก  จึงต้องมีคำอธิบายศัพท์ เรียกว่า อภิธานศัพท์ไว้ต่อท้าย เพื่อผู้ที่อ่านไม่เข้าใจจะได้เปิดสอบเทียบความพอเป็นแนวทางสร้างความเข้าใจแก่ตน จะได้ดื่มด่ำอรรถรสพระธรรมคำสอน เรื่องมงคล 38 ฉบับร้อยกรองอีกสำนวนหนึ่ง นับว่า พระชยานันทมุนี(วงศ์) เป็นผู้ที่มีวิริยะ อุตสาหะอย่างยิ่ง ในการใช้ศาสตร์และศิลป์แห่งการประพันธ์นำหลักพุทธธรรม เข้าถึงชาวบ้านได้อย่างน่าประทับใจ เป็นเอกสารอันซีนเมืองน่านที่ควรแก่การอนุรักษ์และเผยแพร่อย่างยิ่ง
                    ตัวอย่าง คำกลอน  อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ ฯ
คร่าวบทที่ 16
          อรรถะเรื่องนี้ ข้าจักกล่าวชี้                   พุทธกิจจา
          เป็นโอวาทพระ พุทธสัตถา                   ขอเย ชนา สดับจำได้
          พุทธะคำสอน กลอนคำแต่งให้                แปลเป็นคำซอค้ายคับ
คร่าวบทที่ 17
          เพื่อหื้อจดจำ ยังธรรมง่ายนัก                 จิ่งได้แต่งขึ้นเรียงความ
          บ่หื้อแผกพัด คัดแต่งไปตาม                 ยังพุทธะความ มงคลสูตรเจ้า
          อเสวนา อย่ามาเสพเข้า                      ฝูงพาลานัง หยาบช้า ฯ
คร่าวบทที่ 18
          เผียบเหมือนสุคนธ์ ปะปนปลาร้า           ก็เหม็นแปดด้วยสุคนธ์
          โอวาทองค์ไท้ ท่านได้ไขปัน                   มาสอนสั่งยัง ชายยิงแม่นมั่น
          เถิงเป็นคนดี ราศีดั่งอั้น                     คันได้พัวพัน พาละ
คร่าวบทที่ 19
          พุทธสัตถา โอวาทวาทะ                      ว่าคงเป็นด้วย คนพาล
          จักตั้งตัวไว้ บ่ให้สูญสาร                      ยังพวกคนพาล นั้นอย่านึกได้
          มีแต่ฉิบหาย อาบาปวาปไหม้                นับแต่ในชาตินี้ ฯ
คร่าวบทที่ 20         
          ผลความเจริญ ตามพระกล่าวชี้               บ่มาเหยียบใกล้คนพาล
          คบคนพาละ มีหลายสถาน                  สิ่งที่บ่ควร เป็นพาลแม่นได้
          ขอให้หนีไกล อย่าได้ไปใกล้                   ฝูงพาลเลวหยาบช้า ฯ
สรุป
          ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ นครน่าน ที่ยกมาเป็นกรณีศึกษา เพียง 4 เรื่อง นี้ ควรจะได้รับการสืบสาน สืบทอด ถ่ายถอดอักษรออกมาด้วยภาษาปัจจุบัน เอื้อประโยชน์แก่ต้องการศึกษาสาระ แต่ขาดความรู้ในอักษรสมัย ได้เข้าถึงและดื่มด่ำภูมิปัญญาดังกล่าวมา   อนุชนจะได้ทราบประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ตนอยู่อาศัย รู้จักรากเหง้าของตน รู้จักสรรเลือกว่า ภูมิปัญญานครน่านบางอย่าง ยังสามารถนำมาปรับใช้ได้โดยไม่ล้าสมัยหรือตกยุค  เท่าที่สำรวจมา แม้จะมีพื้นที่จำกัด ยังได้ถึง 4 เรื่องสำคัญ หากได้ปูพรมลงสำรวจจัดอนุรักษ์ทั้งนครน่าน คงจะได้พบภูมิปัญญาชนิดอันซีนเมืองน่านอีกมากมาย

หนังสืออ้างอิง
เอกสารชั้นต้น
ก. เอกสารไมโครฟิล์มและภาพถ่ายดิจิตอล สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 5 รายการ ประกอบด้วย
ตำนานถ้ำกุ่ม. วัดดอนแก้ว ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน, เส้นจาร อักษรธรรมล้านนา
               ภาษาบาลี-ไทยวน จำนวน 1 ผูก 80 หน้าลาน รหัสภาพถ่ายดิจิตอล 14.01L.00221-01
ตำราลักษณะช้าง, ตำราช้าง, ตำราสู่ขวัญช้าง. วัดนาเหลืองใน ตำบลนาเหลือง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน
               รหัสภาพถ่ายดิจิตอล 14.09.00025-01
ตำราลักษณะช้าง, ตำราช้าง, ตำราสู่ขวัญช้าง. วัดนาเหลืองใน ตำบลนาเหลือง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน
               รหัสภาพถ่ายดิจิตอล 14.09.00026-01
มงคลธรรมคำกลอน ฉบับพระชยานันทมุนี (วงศ์). วัดนาเหลืองใน ตำบลนาเหลือง อำเภอเวียงสา
               จังหวัดน่าน เส้นจาร อักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี-ไทยวน จำนวน 1 ผูก รหัสภาพถ่าย
               ดิจิตอล 14.004.00017-01
อานิสงส์ก่อพระธาตุดอนแก้ว วัดดอนแก้ว ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เส้นจาร อักษรธรรม
               ล้านนา ภาษาบาลี-ไทยวน จำนวน 1 ผูก   รหัสภาพถ่ายดิจิตอล 14.005.00245-01
      ข. เอกสารไมโครฟิล์ม สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 3 รายการ ประกอบด้วย
มงคลสูตร จ..1209. วัดสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่. เส้นจาร อักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี-
ไทยวน จำนวน 1 ผูก 28 หน้าลาน. เอกสารถ่ายสำเนาไมโครฟิล์ม หมายเลข 171.351.003 พร010218202. สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
มธุรสคาถา จ..1200. วัดสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่. เส้นจาร อักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี-
ไทยวน จำนวน 1 ผูก 30 หน้าลาน. หน้าลานละ 4 บรรทัด. เอกสารถ่ายสำเนาไมโครฟิล์ม หมายเลข 260.449.028 พร012007706. สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
โวหารโลกภาสา จ..1199. วัดสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวีดแพร่. เส้นจาร อักษรธรรมล้านนา

ภาษาบาลี-ไทยวน จำนวน 1 ผูก 31 หน้าลาน หน้าลานละ 5 บรรทัด. เอกสารถ่ายสำเนาไมโครฟิล์ม. สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.








[1]  คณะนักวิจัย หัวหน้าโครงการ อ.ดร.พิสิฏฐ์  โคตรสุโพธิ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 (มี.ค.2554 - 28 พ.ย 2557) รองประธานสภาพนักงาน มช. อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ร่วมโครงการประกอบด้วย 1) รศ.ดร. จีรยุทธ ไชยจารุวณิช  หัวหน้าภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2) ผศ.ดร. วิโรจน์ อินทนนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 3) Lect. Dr. Christopher A Fisher อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ปริวรรต  1) เกริก อัครนิโนเรศ, 2) ดร.ชัปนะ ปิ่นเงิน, 3) ยศพล เจริญมณี.


[2] อุฯเบบฯฯาสตถฯ (อุปฺโปสตฺถ)     น. ช้างตระกูลหนึ่งที่ปรากฏในพระไตรปิฎก
[3] ธุรขวฯัร (ธุรฺขฺวัน)             ก. การเรียกขวัญ, สู่ขวัญ, เชิญขวัญ