แจ้งข่าวนักศึกษา012173

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

กฎหมายโบราณ ล้านนา(พระธรรมศาสตร์) เรื่องลำดับที่ 6 ชุด วิถีล้านนา : ปทัสถานสังคมคุณภาพ


นิติตราธรรมศาสตร์ (กฎหมายโบราณ)[1]
ความย่อ
               กฎหมายโบราณ (ธรรมศาสตร์) ฉบับนี้เป็นคลองที่ผู้ตัดสินคดีความมีไว้สำหรับประกอบการใช้กฎหมายราชาศาสตร์  เริ่มด้วยคำกล่าวนมัสการพระรัตนไตร แล้วจึงกล่าวถึงเรื่องธรรมศาสตร์ คือ คลองอันดีอันงามที่ตุลาการควรยึดเอาเป็นหลักปฏิบัติซึ่งอาจารย์ทิศาปาโมกข์ จากเมืองตักศิลา ผู้จบไตรเพทได้สั่งสอนเจ้าขุนผู้ที่จะตัดสินคดีความต่างๆ ให้ปฏิบัติตาม  
ธรรมศาสตร์ฉบับนี้เป็นคลองที่ผู้ตัดสินคดีความมีไว้สำหรับประกอบการใช้กฎหมาย ส่วนใหญ่เป็นกฎหมายแพ่ง  เน้นคดีที่มีการปรับ การใส่สินไหม การใช้ค่าเสียหาย มีเนื้อหาที่น่าสนใจทั้งนั้น  มีอยู่ 2 เรื่องที่ไม่ค่อยจะปรากฎในฉบับอื่น เช่น การเลี้ยงไก่ชน และราคาของไก่ชน ข้อมูลเรื่องตาแหลว  มีการเลี้ยงและฝึกตัวแหลวคือเหยี่ยวให้จับนกในไร่นา ที่เกี่ยวข้องกับคดีต่างๆ มีดังนี้ การให้ทรัพย์สินแก่กัน การเทลาะวิวาท บ่าว-สาว / ผัวเมีย เรื่องชู้ การลักทรัพย์  บอกจำนวนเงิน ค่าปรับ  รางวัลทหารผู้ออกรบชนะศึก กฎหมายเงินกู้ กฎหมายหย่าร้าง ทำร้ายร่างกาย การทำอนาจาร การเลี้ยงไก่ชนและราคาไก่ชน กฎคุ้มครองข้าคน และคุ้มครองการทำนา ปลอมเงินตรา อารยะไม่ยอมรับคำตัดสิน ข้อมูลเรื่องเกี่ยวกับ “ตาแหลว”

ความเรียงสาระของเรื่อง
กฏหมายโบราณ (ธรรมศาสตร์)
               อะหัง อันว่าข้า วันทิตฺวา ก็ไหว้แล้ว  ระตะนะตะยัง ยังแก้วเจ้าทั้ง 3 อันตะรายาปิ อันว่าอันตรายทังหลาย  วินาสันตุ จงวินาศหายไป  เม แก่ข้าเถิด 
               ปะวักขามิจักกล่าว  สัตตะนิติ ยังคัมภีร์ชื่อ สัตตะนิติ  นานาสัพพัตถะสุมุทธิตัง อันเป็นที่มาแห่งคัมภีร์ทังหลายต่างๆ คือ มาจากขุททกนิกายเสยยะ และมนุสสะภาสายะ คือ การสอบสวนความ 
               มีทิศาปาโมกข์อาจารย์ในเมืองตักศิลาผู้หนึ่ง จบยังไตรเพทได้แต่งตำรานี้ไว้เพื่อสั่งสอนท้าวพญา เสนาอำมาตย์ทั้งหลาย เพื่อเป็นแนวทางในการสอบสวนกล่าวโทษแก่คน เพื่อที่จะแยกให้ออกว่าผู้ใดเป็นคนโง่หรือเป็นคนฉลาด  ผู้ใดเป็นคนคดโกงหรือเป็นคนซื่อสัตย์  ผู้ใดเป็นคนใจบุญหรือใจบาป  มีศีลหรือไม่มีศีล  เป็นคนพาลหรือคนดี  ก็ให้พิจารณาดูตามโทษที่เขาได้กระทำเถิด 

ความผิดของผู้ที่ควรลงโทษประหารชีวิต มี 5 ประการ
               1. ลักโขมยของผู้อื่นแล้วของกลางอยู่ในมือ
               2. พกพาอาวุธไปหาคู่อริ
               3. เป็นชู้กับเมียคนอื่น
               4. คิดทรยศต่อบ้านเมืองและพระเจ้าแผ่นดิน
               5. ลักโขมยสมบัติของสงฆ์
               ความผิดนี้มีกล่าวไว้ในธรรมศาสตร์หลวง

อนันตริยกรรม
               อนันตริยกรรม เป็นกรรมอันหนัก  ผู้ใดทำกรรมนี้จะต้องมีโทษหนัก แม้ว่าพระพุทธเจ้าเกิดมา 100 พระองค์ หรือ 1,000 พระองค์ หรือ  10,000 พระองค์ หรือ 100,000 พระองค์ ก็ไม่สามารถจะเทศนาโปรดผู้นั้นได้  แม้ว่าผู้นั้นจะทำบุญให้ทานด้วยวัตถุสิ่งของเอากองตั้งแต่แผ่นดินขึ้นไปถึงพรหมโลกแล้วตั้งความปรารถนาว่า ขอให้ข้าพเจ้าอย่าได้ไปตกนรกนั้น  ก็ไม่อาจจะพ้นนรกได้ แม้ผู้นั้นจะเกาะเท้าของพระพุทธเจ้าไว้แน่นก็ไม่สามารถจะพ้นจากกรรมนั้นได้ เหตุว่าบาปนั้นเป็นอันหนักมาก ผู้มีปัญญาควรเว้นจากกรรมที่หนัก เช่น การฆ่าพ่อฆ่าแม่ ฆ่าพระสงฆ์องค์มีศีล เป็นต้นข้อนี้กล่าวไว้ในขุทกนิกาย

ตัวอย่างที่ไม่เป็นอนันตริยกรรม
               มีคนผู้หนึ่งซัดหอกพุ่งเข้าไปในพุ่มไม้พร้อมกับกล่าวว่า สัตว์ตัวใดที่อยู่ในพุ่มไม้นี้จงตายเถิดแต่บังเอิญมีพ่อเขาอยู่ในพุ่มไม้นั้นและถูกหอกตาย  ชายผู้เป็นลูกจะไม่ได้รับอนันตริยกรรมหนักข้อนี้กล่าวไว้ในพหุธานตุกสูตร 
               มีพ่อลูก 2 คนกำลังช่วยกันผ่าฟืน  ผู้เป็นพ่อบอกกับลูกว่า  ยุงกัดพ่อ เจ้าจงไล่ยุงให้พ่อหน่อยผู้เป็นลูกใช้ขวานฟันยุงที่กัดพ่อ  ทำให้ผู้เป็นพ่อตาย  ชายผู้เป็นลูกจะไม่ได้รับอนันตริยกรรมเหตุเพราะไม่ได้ตั้งใจ ข้อนี้กล่าวไว้ในเอกนิบาต
               มีแม่ลูก 2 คนกำลังตำข้าวด้วยกัน  มีแมลงวันเกาะผู้เป็นแม่  แม่จึงบอกให้ลูกว่าช่วยไล่แมลงวันให้แม่ด้วย  ผู้เป็นลูกไม่รู้จะเอาสิ่งใดมาไล่จึงเอาสากตีแมลงวันที่เกาะแม่ทำให้แม่ตายผู้เป็นลูกจะไม่ได้รับผลของอนันตริยกรรมเพราะคิดแต่เพียงว่าจะตีแมลงวันเท่านั้น ข้อนี้กล่าวไว้ในเอกนิบาตชาดก
               มีคนผู้หนึ่งถือหอกไปล่าเนื้อในป่าใกล้ที่นา ขณะนั้นพ่อของเขาเดินผ่านมา  เขาคิดว่าเป็นเนื้อ  จึงใช้หอกแทงพ่อของเขาจนเสียชีวิต  ผู้เป็นลูกจะไม่ได้รับผลของอนันตริยกรรรม เหตุว่าไม่ได้ตั้งใจ
               สัตว์ดิรัจฉานตัวใดได้ฆ่ายังพระอรหันต์ตาย สัตว์ตัวนั้นไม่ได้รับผลของอนันตริยกรรม เพราะป็นสัตว์
               ผู้ใดได้ฆ่าสัตว์และได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยเครื่องฆ่า คือ ไม้ค้อนก้อนดิน หอกดาบหน้าไม้ธนูทั้งหลาย ผู้นั้นก็จะถูกท่านฆ่าฟัน ทุบตี  โรคร้ายจะเกิดมีกับตัวของเขา ด้วยกรรมวิบากที่เขาได้กระทำกรรมนั้น  ข้อนี้กล่าวไว้ในจุลกัมมวิภังคสูตร

สาเหตุที่ทำให้คนทะเลาะวิวาทกัน
               1.  การว่าจ้างให้ทำงาน
               2.  การให้ของแก่กันแล้วเอาคืนในภายหลัง
               3.  ขายของปลอมให้แก่กัน
               4.  จับผู้ที่ไม่มีโทษ
               5.  ชกต่อย ทุบตีกัน
               6.  ลักขโมยของซึ่งกันและกัน
               7.  ฝากของไว้
               8.  แย่งที่ดินกัน
               9.  ทำร้ายผู้มีพระคุณ
               คดีซื้อสินค้ากันนั้น  ผู้ซื้อยังไม่ได้จ่ายเงิน  แต่ผู้ซื้อว่าสินค้านั้นเป็นของเขา  ให้สอบสวนดูให้ถ้วนถี่  ถ้าไม่ใช่ของๆ เขา  ให้ชดใช้ค่าของสินค้าอีก 1 เท่า  เมื่อได้ค่าชดใช้แล้วให้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ให้ผู้เป็นเจ้าของ 1 ส่วน  อีกส่วนให้นำมาแบ่งออกเป็น 2  ส่วน  ส่วนที่ 1 ให้เป็นค่าธรรมเนียมของอัยการ ส่วนที่ 2 นำเข้าเก็บในท้องพระคลัง 
               คดีที่มีการว่าจ้างกันให้ทำงาน ให้สอบสวนว่า ตอนที่ว่าจ้างกันนั้นได้มีข้อตกลงกันอย่างไรบ้าง แล้วให้ถือเอาข้อตกลงกันเมื่อครั้งแรกเป็นที่ยุติ
               คดีที่ให้ของแก่กันแล้วภายหลังจะเอาคืน  ถ้าให้ยืมก็ให้คืนกันเสีย  ถ้าให้กันจริงโดยมีพยานรู้เห็นก็ไม่ต้องคืน
               คดีปลอมแปลงของให้กัน ถ้าเป็นสิ่งที่มีวิญญาณ เช่น ข้าทาส การสอบถามก็คงจะได้ความ ถ้าเป็นสัตว์ก็คงจะทำอุบายให้รู้ในเสถานที่สัตว์เคยอยู่เคยกิน  ถ้าเป็นของที่ไม่มีวิญญาณ มีข้าวของเครื่องใช้ เป็นต้น  ถ้ามีเครื่องจำหมายก็ให้ดูตรงนั้น  ถ้าไม่มีเครื่องหมายก็ให้สอบสวนดูพยานที่เคยเห็นก็อาจจะรู้ได้
               คดีด่ากัน ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไป เป็นพ่อค้า แม่ค้าด่ากัน  แต่ถ้าฝ่ายที่ถูกด่าไม่ด่าตอบ ให้ปรับผู้ด่า 33,000 เบี้ย  ถ้าชาวบ้านทั่วไปด่าผู้ใหญ่ ผู้มียศมีตำแหน่ง ให้ปรับ 2 เท่า หรือ 3 เท่าของการปรับคนธรรมด่ากัน  ถ้าไม่มีเงินหรือไม่ยอมเสียค่าปรับ  ให้เฆี่ยนตี 7 แส้ หรือ 12 แส้  แล้วให้ปล่อยตัวไป
               คดีผูกมัดผู้ไม่มีความผิด  ถ้าชาวบ้านธรรมดาทั่วไปผูกชาวบ้านเหมือนกัน ให้ปรับค่าเส้นเชือกที่ผูกมัด 100 
               คดีทะลาะกัน คนหนึ่งถืออาวุธไปหาคู่กรณี  ถ้าอีกฝ่ายฆ่าตายก็ให้แล้วกันไป ไม่ต้องลงโทษผู้ฆ่า แต่อย่าทำร้ายลูกเมียผู้ตาย
               คดีที่มีคนใช้อุบายไปชักชวนเอาลูกหรือเมียบุคคลอื่นไปฆ่า ชิงเอาทรัพย์สินก็ดี  ไปบังคับเอาสิ่งของผู้อื่นก็ดี เผาเรือนผู้อื่นก็ดี ให้ปรับไหมขั้นสูงสุดและให้จองจำ ยึดทรัพย์ทั้งหมด
               คดีทุบตีผู้อื่นจนบาดเจ็บมีเลือดออกหรือมีอาการสาหัส ให้ปรับเป็นเงิน ถ้าไม่มีเงินเสียค่าปรับก็ให้เฆี่ยนตี 1020 แส้ แล้วปล่อยตัวไป
               คดีทุบตีผู้ไม่มีความผิดตาย ให้ตีราคาค่าตัวผู้ตายว่าเป็นเท่าใดแล้วให้ปรับ 7 เท่า ถ้าไม่มีเงินเสียค่าปรับ ให้ปรับพ่อแม่พี่น้องของผู้ทุบตีนั้น 2 เท่า เพราะพ่อแม่พี่น้องไม่สั่งสอนให้เป็นคนดี
               คดีลักขโมยสิ่งของผู้อื่น เมื่อสอบสวนได้ความแน่ชัดแล้ว  ให้ชดใช้ค่า 3 เท่าของราคาสิ่งของที่ขโมยไป  ถ้าไม่มีเงินใช้ก็ให้พ่อแม่พี่น้องของผู้ขโมยนั้นชดใช้เงินแทนครึ่งหนึ่ง และให้ตัดมือมันผู้ขโมยนั้นด้วย
               คดีโกงข้าวของ มีคนผู้หนึ่งจะเข้าไปทำธุระในป่า เขามีทองคำ 1,000  เอาใส่ไว้ในห่อข้าวแล้วนำห่อข้าวไปฝากไว้กับสองตายายและกล่าวว่า ข้าขอฝากห่อข้าวไว้กับตายายด้วย ไม่นานข้าจะมาเอาคืนแล้วก็เดินจากไป  หลังจากชายนั้นเดินไปแล้ว สองตายายได้แก้ห่อข้าวดูก็พบว่ามีทองคำมีในห่อข้าวนั้น สองตายายจึงลักเอาทองคำนั้นไปแล้วจัดการห่อข้าวไว้ดังเดิม เมื่อชายผู้นั้นทำธุระเสร็จแล้วจึงมาขอรับห่อข้าวคืน สองตายยายได้โกหกไปว่า หมาได้กินห่อข้าวนั้นเสียแล้ว  ถ้าหลานจะให้ตายายใช้ห่อข้าวให้ก็ได้ เผื่อหลานจะได้มีข้าวกิน  แต่ชายผู้นั้นก็รู้อยู่ว่า สองตายายได้ลักขโมยทองคำในห่อข้าวไป จะกล่าวหาว่า สองตายายเป็นคนขโมยไปก็ไม่ได้เพราะตอนที่นำไปห่อข้าวฝากนั้นได้บอกว่าฝากห่อข้าว 
               ดังนั้น ทั้ง 2 ฝ่าย ตกลงกันไม่ได้ จึงพากันไปหาจ่าเมืองที่มีหน้าที่ตัดสินคดีความ จ่าเมืองจึงแยกสองตายายไปสอบสวน  ตาตอบว่าหมาดำกินห่อข้าว  ยายตอบว่าหมาแดงกินห่อข้าว ทั้งสองตอบไม่ตรงกัน จึงรู้ว่าสองตายายลักทองคำของชายผู้นั้น แต่หลักฐานยังไม่เพียงพอ  จึงให้เจ้าหน้าที่เข้าไปอยู่ในกลองขนาดใหญ่แล้วให้สองตายายหามรอบมือง 3 รอบ  เมื่อไปได้ไม่ถึงรอบยายก็บ่นขึ้นว่ากูหนักจะตายแล้วก็เพื่อตาอยากได้ทองคำเขานั่นแหละ เอาคืนให้เขาเสียเถิดเจ้าหน้าที่ได้ยินจึงบันทึกคำบ่นของยายไว้ ส่งให้พนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่จึงให้สองตายายคืนทองคำนั้นแก่เจ้าของ และปรับไหมสองตายายแล้วปล่อยตัวไป
               คดีฉ้อโกง  มีชาย 4 คน  มีทองคำมีค่า 1,000 นำไปฝากไว้กับยายแก่ผู้หนึ่ง ก่อนฝากได้กล่าวกับยายว่า  ยาย ข้าทั้ง 4 คน ขอฝากห่อทองคำ 1 ห่อ กับส้มป่อย 1 ห่อ  เมื่อใดถ้าข้าทั้ง 4 มาพร้อมกันแล้วขอให้คืนของฝากด้วย  หากมาไม่ครบทั้ง 4  ยายอย่าให้ของที่ฝากไว้แก่คนใดคนหนึ่ง  จากนั้นจึงพากันเดินไปได้ไม่ไกลพบแม่น้ำสายหนึ่งมีน้ำใสเย็น  พวกเขาจึงปรึกษากันว่าพวกเราควรจะอาบน้ำสระผมกันที่แม่น้ำนี้  ชายหนึ่งพูดขึ้นว่าเราได้นำส้มป่อยสำหรับสระผมฝากไว้ที่ยายจะทำอย่างไรกันดี  ชายอีกคนหนึ่งจึงพูดขึ้นว่าก็ให้ชายผู้นี้กลับไปเอาส้มป่อยมาก็แล้วกัน  ชายผู้นั้นจึงกลับไปที่บ้านยายแล้วพูดกับยายว่า  พวกข้าได้ปรึกษากันแล้วว่าการที่นำทองคำมาฝากไว้กับยายนั้นอาจจะเกิดอันตรายแก่ยาย  พวกเขาจึงให้ข้ามารับทองคำคืน  ตอนแรกยายไม่ยอมให้และพูดโต้ตอบชายผู้นั้นว่า ตอนที่ฝากได้สั่งยายไว้ว่าถ้ามารับไม่พร้อมกันทั้ง 4 คน ไม่ให้ยายคืนของให้ ดังนั้น ต้องมารับคืนพร้อมกันก่อนยายถึงจะคืนของให้ ชายผู้นั้นจึงตะโกนบอกเพื่อน 3 คน ที่อยู่ที่แม่น้ำไม่ไกลจากบ้านยายเท่าใดนักว่า ข้ามาคนเดียวยายเขาไม่ให้  พวก 3 คนก็เข้าใจว่ายายไม่ให้ห่อส้มป่อยจึงตะโกนบอกยายว่า ยายให้ของแก่เขามาเถิด  ยายจึงให้ห่อทองคำแก่ชายผู้นั้นไป  เมื่อได้รับห่อทองคำแล้วชายผู้นั้นจึงหลบหนีไป
               เรื่องนี้จะปล่อยให้ทองคำ 1,000 นั้นสูญเสียไปหรือจะให้ยายชดใช้ค่าเสียหายนั้น เรื่องนี้มีปรากฏในธรรมศาสตร์ว่า  ผู้มีปัญญาพึงพิจารณาตามรูปคดีเถิดเพราะจ่าเมืองผู้พิจารณาคดีตัดสินว่ายายผู้รับฝากของเป็นคนไม่มีสัจจะผู้ฝากมาไม่ครบทั้ง 4 คนยายก็ไม่ควรคืนของที่เขามาฝาก ดังนั้น น่าจะให้ยายชดใช้ทองคำแก่ผู้ฝาก มีผู้ตัดสินคดีอีกรายหนึ่งตัดสินว่า ชายทั้ง 3 คนที่ถูกเพื่อนหักหลังนำทองคำหนีไปเป็นเพราะอาศัยกายสามัคคี  ส่วนยายนั้นอาศัยวาจาสามัคคี เหตุนั้นยายก็ร้าย  เจ้าของทอง 3 คนก็ร้าย จึงตัดสินว่าเมื่อจับคนร้ายได้แล้ว ให้แบ่งทองคำ 1,000 เป็น 4 ส่วน ให้กับชายที่นำทองคำหนี 220  ให้ชายทั้ง 3 คน 780
               คดีสับเปลี่ยนสิ่งของที่มีคนนำมาฝาก  มีเศรษฐีคนหนึ่ง นำถุงใส่แก้วมีค่า 10,000 เงินที่ปากถุงเย็บด้วยช่างเย็บฝีมือประณีต  ฝากไว้กับเศรษฐีอีกคนหนึ่ง  ต่อมาเศรษฐีที่รับฝากได้แกะถุงเอาแก้วที่มีค่า 10,000 เงิน ออกแล้วเอาแก้วค่า 500  ใส่ในถุงแทนและให้ช่างเย็บที่มีฝีมือประณีตเย็บให้เหมือนเดิม  หลังจากนั้นเศรษฐีที่ฝากแก้วไว้มาขอรับแก้วคืน  เมื่อแกะถุงแก้วดูปรากฏว่าเป็นแก้วที่มีค่า 500 เงินจึงรู้ว่าถูกสับเปลี่ยนแก้ว แต่ก็ทำเป็นไม่รู้เพื่อต้องการพิสูจน์ และพูดกับเศรษฐีที่รับฝากนั้นว่า เสื้อของข้ามีรอยขาดนิดหน่อยแถวนี้มีช่างเย็บที่มีฝีมือประณีตไหม ข้าจะจ้างเขาเย็บ เศรษฐีผู้นั้นตอบว่า มี เป็นช่างเย็บของข้าเอง แล้วให้ช่างเย็บผู้นั้นเย็บเสื้อ เศรษฐีเจ้าของแก้วจึงแน่ใจว่าเป็นช่างเย็บฝีมือเดียวกันกับที่เย็บปากถุงแก้วที่นำไปฝาก จึงไปแจ้งจับเศรษฐีผู้สับเปลี่ยนแก้วไป เจ้าหน้าที่สอบสวนจนเศรษฐีผู้นั้นรับสารภาพ จึงให้เฆี่ยนตีเศรษฐีผู้นั้น 10 แส้ และจึงให้คืนแก้วให้กับเจ้าของเขาไป
               คดีโลภเอาที่ดินของผู้อื่น  มีชายผู้หนึ่งได้บอกว่าที่ดินตรงนี้เป็นของเขา เจ้าของที่ดินตัวจริงจึงไปแจ้งเจ้าหน้าที่ตัดสินคดีความ  เมื่อเจ้าหน้าที่สวบสวนดูแล้วปรากฏว่าไม่ใช่ที่ดินของเขา จึงสั่งให้เสียค่าปรับ 2 เท่า ของราคาที่ดินนั้น  ส่วนเงินค่าปรับนั้นให้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกให้แก่เจ้าของที่ดิน อีกส่วนแบ่งออกเป็น 3 ส่วน เอาเข้าพระคลัง 1 ส่วน  ให้เจ้าหน้าที่ผู้สืบสวนและตัดสินคดี 2 ส่วน
               การพิจารณาวินิจฉัยตัดสินคดีความทั้งหลายเหล่านี้ได้ปรากฏอยู่ในธรรมศาสตร์ฉบับสมบูรณ์  พญามังรายกษัตริย์เชียงใหม่  คัดออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับประชาชนเพื่อให้เกรงกลัวต่อการลงโทษ
               คดีคบชู้  หญิงผู้ใดนอกใจสามี  แล้วเป็นชู้กับชายอื่น  ถ้าสามีจับได้คาที่ ได้ฆ่าเมียและชู้ตาย ไม่มีโทษ  ถ้าไม่ตายให้ลงโทษผู้หญิงและให้ปรับชายชู้ตามกฎหมาย แล้วจึงปรับค่าตัวของผู้หญิงอีก 150 เงิน  แล้วปรับหญิงที่มีชู้ให้เสียค่าคอของผู้ชาย เงินค่าปรับทั้งหมดให้แบ่งเป็น 5 ส่วน โดยที่ 2 ส่วนแรกเข้าพระคลัง 1 ส่วนให้กับเจ้าหน้าที่สอบสวนคดี  อีก 2 ส่วนให้กับชายผู้เป็นสามี
               ถ้ามีคนรู้เห็นพฤติกรรมการมีชู้ของชายหญิงทั้งคู่และได้นำชายผู้เป็นสามีและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไปจับเอา  เงินค่าปรับของชายชู้ให้ตกแก่ชายผู้เป็นสามีทั้งหมด  เงินค่าปรับของหญิงชู้ให้แบ่งเป็น 5 ส่วน โดยที่ 1 ส่วน เข้าเป็นของหลวง  1 ส่วนให้กับเจ้าหน้าที่ผู้จับกุม  1 ส่วนให้แก่ผู้นำไปจับกุม  อีก 2 ส่วนให้กับชายผู้เป็นสามี 
               คดีผู้ชายคบชู้กับเมียคนอื่นหรือไปข่มขืนเมียผู้อื่นนั้น  ถ้าจับได้ให้ฆ่าเสีย ส่วนผู้หญิงไม่ต้องรับโทษ
เรื่องหนุ่มสาว
               หนุ่มจีบสาวเป็นแฟนกัน แต่สาวยังไม่ตกลงที่จะร่วมหอลงโรง และฝ่ายชายก็ยังไม่ได้นำหมากไปหมาย นำสายพลูไปรอดขอต่อพ่อแม่สาว ถ้าฝ่ายชายไปบังคับร่วมหลับนอนกับสาวก็ให้ปรับชายนั้นเป็นเงิน 100  พร้อมทั้งหมู 1 ตัว ไปเลี้ยงผีเรือนของฝ่ายหญิงเสีย จากนั้นก็อยู่กินเป็นสามีภรรยากันเถิด
               ถ้าหนุ่มใช้มือลูบนมสาว อย่าไปปรับไหมเขาเพราะว่าเขาเป็นบ่าวและสาว และสาวนั้นเป็นแต่พ่อเป็นผู้ดูแล แม่เป็นผู้ดูแล  เรียกว่า เหล็กมีในเรือนว่าพร้า ข้ามีในเรือนว่าเมีย”  แต่ถ้าหญิงที่มีสามีแล้วเรียกว่าสามีดูแลรักษา ชายใดจะไปละเมิดภรรยาเขาไม่ได้
               ชายใดที่เลิกกับเมียที่เรียกว่า พ่อร้าง  ชายใดที่เมียตายที่เรียกว่า พ่อหม้าย ใช้มือจับนมสาวให้ปรับไหม 150 เงิน  พร้อมทั้งหมู 1 ตัว  เหล้า 1,000 น้ำ 
               ถ้าหญิงสาวลักลอบเป็นชู้กับพ่อร้าง พ่อหม้ายถึงเรือน ให้ปรับไหมหญิงสาวผู้นั้น 250 เงิน  เพราะว่าหญิงสาวนี้เป็นคนไม่ดี  จึงมีค่าไม่แพง  พวกพ่อร้าง พ่อหม้ายก็ชอบด้วย แต่ถ้าจะเอาหญิงนั้นเป็นเมีย ให้เสียเงิน 50 เงิน ให้พ่อแม่ของหญิงสาวนั้น
               ไพร่เมืองจะเป็นชายหรือหญิงก็ตามเอาข้าทาสเป็นสามีหรือภรรยา ให้เสียค่า 200 แต่ถ้าข้าทาสเอาไพร่เป็นเป็นสามีหรือภรรยา เสียค่า 100  เพราะเขาจะได้เปลี่ยนศักดิ์จากข้าทาสเป็นไพร่ หญิงสาวไปชอบกับเจ้าขุนให้เสียค่า 200  สาวไพร่เมืองกับบ่าวไพร่เมืองชอบพอกันให้เสียค่า 200 
               หญิงมีสามีแล้วได้พบเห็นชายหนุ่มรูปหล่อ แล้วบอกว่ายังเป็นสาว ยอมเสียตัวให้ชายผู้นั้นและมีคนรู้เห็นว่าเป็นจริง ให้ตีหญิงคนนั้น 33 ที  ส่วนชายที่ไม่รู้ว่าเป็นภรรยาของผู้อื่นให้เอาเงิน100 เงิน ไปขอขมาสามีของหญิงนั้น  อย่าได้ปรับสินไหมเพราะไม่ผิดกาเมสุมิจฉาจาร เป็นเพียงกายทุจริต
               ฝ่ายชายให้เถ้าแก่นำเสื้อผ้าและที่นอนหมอนมุ้ง  หมากพลู มาขอลูกสาวกับพ่อแม่ซึ่งทั้ง2 ฝ่าย มีฐานะพอๆ กัน  ต่อมาเถ้าแก่ได้นำตัวหญิงสาวมาส่งให้ฝ่ายชายแต่หญิงสาวไม่ชอบและหนีไปให้คืนของหมั้นหมายนั้นเสีย ส่วนหมากพลูก็ให้พ่อแม่สาวเก็บไว้กินเถิด
               มีคดีหนึ่ง  ชายผู้เป็นสามีไปค้าขายอยู่แดนไกลหรือไปออกศึกเป็นเวลานานหลายปียังไม่กลับ  ชาวบ้านก็พูดกันว่ามันตายแล้ว พี่น้องทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงก็ออกความเห็นว่าตายแล้ว หญิงผู้เป็นภรรยาจึงแต่งงานใหม่  ต่อมาปรากฏว่าสามีเก่ายังไม่ตายและกลับมา  สามีใหม่ไม่ผิดกาเมสุมิจฉาจาร  เพราะถือเอาคำพูดของคนทั้งหลายที่พูดว่าตายแล้ว  ดังนั้น ถ้าหญิงนั้นคืนไปอยู่กับสามีเก่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง  ถ้ายังอยู่กับสามีใหม่นั้นไม่ถูกต้อง  ให้สามีใหม่เอาเงิน 20  หมาก 2 ไหม  เทียน 2 เล่มขอขมาต่อสามีเก่าของนางเสีย  ให้เคารพนับถือกันเป็นพี่น้อง  เป็นมิตรสหายกันต่อไป  แต่ถ้าผู้หญิงไม่ยอมเลิกกับสามีใหม่ก็ให้ตามใจผู้หญิง ชอบใครก็เอาคนนั้น อย่าได้ตำหนิติเตียนนางเลย
               คดีขุนหลวงเป็นชู้กับเมียขุนหลวง  ขุนหลวง หมายถึง ผู้เป็นลูกหลานของท้าวพญามีตำแหน่งแสน  ตำแหน่งหมื่นซ้าย หมื่นขวา  ถ้าเจ้าหน้าที่ควบคุมเอาในขณะลักลอบเป็นชู้กันได้ให้ฆ่าตายทั้ง 2 คน  ถ้าจับไม่ได้คาหนังคาเขา แต่รู้แน่ชัดว่าลักลอบเป็นชู้กันให้ปรับ 2,000
               คดีขุนหลวงเป็นชู้กับเมียขุนล่าม  ขุนล่าม หมายถึง หมื่นช้าง พันช้าง ขุนเมือง ขุนแคว้นขุนจ่า  ให้ปรับ 1,000 
               คดีขุนหลวงเป็นชู้กับเมียขุนน้อยให้ปรับ 1,000  ขุนหลวงเป็นชู้กับเมียขุนสิบให้ปรับ 660 ขุนหลวงมีชู้กับเมียกว้านบ้านให้ปรับ 550  ขุนหลวงเป็นชู้กับเมียไพร่บ้าน ให้ปรับ 540  ขุนหลวงเป็นชู้กับเมียข้าทาสให้ปรับ 220 ขุนล่ามเป็นชู้กับเมียขุนหลวง ให้ปรับ 660  ขุนล่ามเป็นชู้กับเมียนายสิบให้ปรับ 550  ขุนล่ามเป็นชู้กับเมียกว้านบ้านให้ปรับ 200  ขุนล่ามเป็นชู้กับเมียไพร่บ้าน ให้ปรับ 660  ขุนล่ามเป็นชู้กับเมียข้าทาส ให้ปรับเท่ากันกับไพร่  ขุนน้อยเป็นชู้กับเมียขุนน้อยให้ปรับ 550  ขุนน้อยเป็นชู้กับเมียนายสิบให้ปรับ 220  ขุนน้อยเป็นชู้กับเมียกว้านบ้านให้ปรับ 330  ข้อย[2]เล่นเมียไพร่ก็ดี เมียข้อยก็ดี ให้ปรับ 330 ไพร่มีชู้กับเมียขุนบ้าน  ปรับ 770  ไพร่มีชู้กับเมียขุนหลวง ปรับ 220 ไพร่สิบเป็นชู้กับเมียขุนล่าม ปรับ 990 การกระทำมิจฉาจารมีเท่านี้
               นักปราชญ์บัณฑิตผู้มีปัญญาที่ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาดูแลบ้านเมืองแทนกษัตริย์ก็อย่าได้ละเลยกฏหมายบ้านเมือง หากละเลยก็จักไม่พ้นจากอบาย แม้แต่ตัดสินคดีอย่างไม่เป็นธรรมก็ย่อมไปสู่อบายเช่นกัน เทียบได้กับที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในพระวินัยว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุกระทำบาปย่อมได้รับผลกรรมมาก

คดีแย่งเมียกัน
               มีชาย 2 คน แย่งเมียกัน  ชายผู้หนึ่งชื่อว่า โคตตกาฬะ อีกคนหนึ่งชื่อว่า ทีฆปิฏฐิ  ทั้ง 2 คนพากันไปให้มโหสถผู้มีปัญญาเป็นผู้ตัดสิน  ท่านจึงถามชื่อผู้หญิงคนนั้นแล้วถามว่า เจ้าเป็นเมียผู้ใดหญิงผู้นั้นตอบว่า ข้าเป็นเมียทีฆปิฏฐิ  เจ้ามโหสถจึงแยกสอบสวนชายทั้ง 2 คนนั้น  ถามทีฆปิฏฐิว่าผู้หญิงคนนั้นมีชื่อว่าอย่างไร  ทีฆปิฎฐิไม่รู้จักชื่อนางมาก่อนจึงตอบไม่ถูกแล้วจึงไปถามชายที่ชื่อโคตตกาฬะว่าผู้หญิงคนนั้นชื่ออย่างไร  โคตตกาฬะตอบชื่อนางได้ถูก  จึงรู้ผู้หญิงคนนั้นพูดโกหกและตัดสินให้นางเป็นเมียโคตตกาฬะ 

คดีแย่งลูกกัน
               มีหญิง 2 คนแย่งลูกกัน  ตกลงกันไม่ได้จึงพากันไปให้มโหสถตัดสิน  มโหสถจึงให้เขาทั้ง 2 แย่งลูกกันดู  หญิงที่เป็นแม่ที่แท้จริงนั้นกลัวลูกเจ็บค่อยๆ แย่ง หญิงที่ไม่ใช่แม่ ไม่กลัวลูกเจ็บกระชากเอาอย่างรุนแรง  มโหสถจึงตัดสินว่า  ธรรมชาติของแม่นั้นย่อมกลัวลูกเจ็บ  จึงให้ลูกแก่แม่ที่กลัวลูกเจ็บด้วยเหตุนี้

คดีขโมยวัว
               มีชายคนหนึ่งขโมยวัวของชายอีกคนหนึ่ง ชายคนที่ขโมยบอกว่าเป็นวัวของเขา ทั้ง 2 คนก็เถียงกันและตกลงกันไม่ได้  จึงพากันไปให้มโหสถตัดสิน  มโหสถจึงแยกให้คนทั้ง 2 อยู่กันคนละที่แล้วถามคนแรกว่า วัวของท่านกินอะไรเป็นอาหาร  ชายผู้เป็นโจรตอบว่า วัวของข้าให้กินข้าวเป็นอาหารทุกวัน  แล้วหันไปถามชายเจ้าของวัวที่แท้จริง  ชานฃยคนนั้นตอบว่า วัวของข้าให้กินหญ้าทุกวัน  มโหสถจึงให้นำใบประยงค์มาตำให้วัวกิน  วัวอาเจียนออกมาเป็นหญ้า จึงรู้ว่าชายผู้นั้นเป็นโจร

คดีการเข้าใจผิด
               เรื่องนี้เกิดขึ้นกับพระเจ้าอโศกราช  ผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา  ได้สร้างวิหาร 84,000 หลัง บรรจุพระสารีริกธาตุทุกหลัง  มีวันหนึ่งพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งไม่ยอมทำอุโบสถร่วมกัน  มีคนมารายงานให้พระองค์ทราบ  พระเจ้าอโศกจึงใช้อำมาตย์คนหนึ่ง เป็นคนหูหนวก  ให้อามาตย์ผู้นั้นไปบอกให้แก่พระสงฆ์กลุ่มนั้นให้กระทำสังฆกรรมร่วมกัน  อำมาตย์ผู้หูหนวกไปบอกแก่พระสงฆ์ทั้งหลายว่าพระเจ้าอโศกมีรับสั่งให้พระสงฆ์ลงอุโบสถร่วมกัน  พระสงฆ์กลุ่มดังกล่าวว่า  อาตมาไม่ยอมกระทำอุโบสถกับด้วยอลัชชี  อำมาตย์ผู้นั้นจึงฆ่าพระสงฆ์กลุ่มนั้นตายหมด  จากนั้นจึงไปกราบทูลว่า         ได้กระทำตามรับสั่งของพระองค์ทุกประการ พระเจ้าอโศกจึงถามว่า  ท่านจัดการประการใด  อำมาตย์ผู้นั้นได้ทูลตอบว่า ภิกษุกลุ่มใดไม่กระทำอุโบสถร่วมกัน ข้าพระองค์ก็ฆ่าเสียหมด พระเจ้าอโศกได้ยินเช่นนั้นก็ตกพระทัย ตรัสว่าไม่ใช่  ข้าไม่ได้ให้เจ้าไปฆ่าพระสงฆ์  ข้าให้เจ้าไปบอกแก่พระสงฆ์ว่าให้กระทำอุโบสถร่วมกัน พระองค์ทรงปริวิตกว่าบาปนี้จักได้แก่แก่พระองค์หรือไม่  จึงนิมนต์พระสงฆ์ทั้งหลายมีพระมหาโมคคัลลีบุตรติสสะเป็นประธานเข้ามาในพระราชวัง แล้วพระองค์ตรัสถามพระมหาโมคคัลลีบุตรติสสะถึงเรื่องดังกล่าว พระมหาโมคคัลลีบุตรติสสะจึงได้กล่าวตอบไปว่า หากมหาบพิตรไม่ได้สั่งให้ไปฆ่า  มหาบพิตรก็ไม่ต้องรับบาปดังกล่าว  หากได้แก่ผู้ที่กระทำ พระสงฆ์ทั้งหลายเกรงว่าพญายังเกิดความไม่สบายพระทัย จึงได้ยกเอากิตติรชาดกมาแสดงให้ฟัง  พญาจึงหายจากความกังวล  ถ้าอยากรู้เรื่องชาดกนี้ให้ดูในสมันตมชาดกเถิด

คดีการตัดสินคดีความผิดพลาด
               บางคดีนั้นแม้ว่าจำเลยจะยอมรับสารภาพไปแล้วก็ตามแต่อาจจะเป็นเพราะการถูกบังคับเฆี่ยนตีให้ให้รับสารภาพก็เป็นได้หรือที่ยอมรับสารภาพเพราะทนต่อความเจ็บปวดไม่ได้ก็มี ดังนั้น การพิจารณาคดีต้องทำการสอบสวนให้ถึงที่สุดก่อนแล้วจึงตัดสิน ดังเรื่องของพระราชโอรสของกษัตริย์พระองค์หนึ่ง  ไปทอดพระเนตรมโหสพในสวนอุทยาน  ได้ถอดเครื่องประดับสร้อยสังวาลย์ออกให้นางกำนัลถือไว้ นางกำนัลเห็นสระน้ำมีน้ำใสเย็นจึงนำสร้อยสังวาลย์แขวนไว้กับกิ่งไม้แล้วลงอาบน้ำ  ขณะนั้นมีลิงตัวหนึ่งอยู่บนต้นไม้เห็นสร้อยสังวาลย์แขวนอยู่จึงลงมาเอาสร้อยนั้นไปเมื่อนางขึ้นจากสระน้ำแล้วจะมาเอาสร้อยที่แขวนไว้  ก็ไม่พบสร้อยจึงร้องตะโกนว่ามีโจรลักเอาสร้อยสังวาลย์ไปทางโน้น  มหาดเล็กรักษาพระองค์ที่อยู่ในบริเวณนั้นได้ยินเสียงร้องของนางตะโกนเช่นนั้น จึงวิ่งตามเสียงที่นางบอก เมื่อผ่านทุ่งนาไปพบกับชายคนหนึ่งจึงจับและมัดเอาตัวชายคนนั้นมาชายคนนั้นก็กล่าวระล่ำระลักว่าไม่รู้ไม่เห็นมาตลอดทาง  พวกมหาดเล็กก็คุมตัวไปทำการสอบสวน  ชายคนนั้นแก้ข้อกล่าวหาอย่างไรก็ไม่มีใครฟังนอกจากบังคับให้มันรับสารภาพ ประกอบกับการที่ถูกผูกมัดลากถูมาจนเกิดอาการเจ็บปวด  เพื่อรักษาชีวิตของตนไว้จึงบอกไปว่า มหาเศรษฐีใช้ให้มาเอาสร้อยนั้น พวกมหาดเล็กจึงจับกุมมหาเศรษฐีที่ถูกซัดทอดมาเฆี่ยนตีและบังคับให้สารภาพ  เศรษฐีทนความเจ็บปวดไม่ไหวจึงซักทอดต่อไปว่าอำมาตย์ปุโรหิตใช้ให้มาขโมย พวกเจ้าหน้าที่จึงไปจับกุมอำมาตย์มาเฆี่ยนตี 
               เมื่อนั้น พระโพธิสัตว์ทราบว่าคนของพระราชโอรสได้จับกุมตัวอำมาตย์ปุโรหิตไปสอบสวนเพื่อลงโทษ จึงรำพึงว่า พวกเขาทั้งหลายที่ถูกจับไปนั้นคงไม่มีใครกระทำความผิด และจึงค้นหาสาเหตุของเรื่องราวทั้งหมดโดยนำดอกไม้มาทำเป็นสร้อยสังวาลย์จำนวนมากแล้วให้นำไปแขวนไว้ตามต้นไม้เหล่าบรรดาลิงทั้งหลายเห็นเข้าต่างก็ลงมาเอาสร้อยดอกไม้นั้นไปแขวนคอแล้วเต้นรำกัน  ลิงตัวที่นำเอาสร้อยสังวาลย์ไปก็ออกมาเต้ยรำแข่งกับพวกลิงทั้งหลายโดยเอาสร้อยห้อยที่คอของมัน  มหาดเล็กเห็นเป็นเช่นนั้นจึงรู้ว่าลิงได้ขโมยสร้อยไป เรื่องนี้มีปรากฎในฎีกา 
               เหตุดังนั้นจ่าเมืองทั้งหลาย ควรพิจารณาดูให้ถ้วนถี่เสียก่อน  ถ้าเห็นจำเลยสารภาพแล้วอย่าพึ่งตัดสินลงโทษในทันที ควรทำการสอบสวนดูให้ถึงที่สุดเสียก่อน
               บัณฑิตนักปราชญ์ผู้จะสอบสวนคดีต่างๆ ควรเว้นอคติ  4 ประการ คือ ฉันทาคติ  โทสาคติ  ภยาคติ  โมหาคติ  และให้ตั้งอยู่ในอคติอันเจริญ 4 ประการ  คือ อย่าตัดสินด้วยความพยาบาท อย่าปักใจเชื่อตามความคิดของตนเองหรือของผู้อื่น อย่าเกรงกลัวต่ออำนาจเบื้องบน อย่ามัวหลงลังเลสงสัย
               บุคคลที่จะทำหน้าที่ตัดสินพิจารณคดีความควรปฏิบัติตน ดังนี้   
                   1. ตัดสินโดยใช้ถ้อยคำอันไพเราะแม้จะรู้ว่าจำเลยมีความผิดจริง
                   2. ตัดสินด้วยถ้อยคำที่เป็นประโยชน์
                   3. ตัดสินด้วยเมตตาธรรม
                   4. ไม่ตัดสินด้วยความโกรธและความเกลียดชัง
               เหตุนั้นจ่าเมืองผู้ทำหน้าที่พิจารณาคดีให้ดูใบหน้าของคู่กรณีว่าเป็นคนซื่อหรือคนคดอีกประการหนึ่งให้บันทึกวัน เดือน ปีที่เขามีเรื่องกัน  บันทึกเรื่องที่เขามีต่อกัน  ถ้ามีหลักฐาน พยานก็ให้จดบันทึกไว้  พยานก็ต้องให้เป็นคนที่มีศีลด้วย

คดีเป็นชู้กัน
               ข้าทาสเป็นชู้กับข้าทาส  ให้ปรับ  10  เงิน  สมัยพญามังราย  10,000 เบี้ยเท่ากับ  10  เงิน ข้าทาสเป็นชู้กับไพร่ก็ดี  กับพ่อค้าก็ดี  กับลัวะก็ดี  กับคนจีนก็ดี  ให้ปรับ 22,000 เบี้ย  อันนี้กล่าวไว้ในธรรมศาสตร์ตักศิลา 
               ประการหนึ่ง ชายที่มาจากต่างถิ่น ไม่ทราบว่าหญิงคนนี้มีสามี  ผู้หญิงก็โกหกว่ายังไม่มีสามีจึงเป็นชู้กัน ให้ปรับชายผู้นั้นครึ่งหนึ่งของค่าปรับตามปกติ แต่ถ้าหญิงมีพฤติกรรมเลวร้าย ไปร่วมหลับนอนถึงที่พักของผู้ชาย อย่าปรับผู้ชาย แต่ให้ผู้ชายที่เป็นชู้นำเอาดอกไม้ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อย เสื้อผ้าไปขอขมาสามีของนางเสีย  ถ้าสามีไม่ยอมก็ให้เฆี่ยนตีหญิงผู้นั้น 20 แส้ และปรับเป็นเงินด้วย  เพราะหญิงนั้นได้ไปร่วมหลับนอนกับชายอื่นถึงที่พัก
               ประการหนึ่ง ชายเป็นคนซื่อตรง  แต่ผู้หญิงอยากให้ผู้ชายนั้นได้รับความฉิบหาย เหมือนกับพระโพธิสัตว์ชื่อว่า ปทุมกุมาร  มีรูปโฉมงดงาม  พระชายาของพระราชาเกิดมีใจปฏิพัทธ์ในปทุมกุมารแต่พระโพธิสัตว์ไม่ชอบ  พระนางจึงไม่พอพระทัยจึงกราบทูลพระราชาว่า ปทุมกุมารข่มขู่จะร่วมหลับนอนกับข้าพระองค์ แต่ข้าพระองค์ไม่ชอบมันจึงไม่พอใจ  เมื่อพระราชาทราบความดังกล่าวก็ไม่พิจารณาให้รอบคอบ  จึงด่วนตัดสินประหารพระโพธิสัตว์  เพชฌฆาตจึงนำตัวไปที่แดนประหาร พระโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า ท่านจงหยุดก่อน อย่าเพิ่งฆ่าข้าพเจ้า ขอให้ข้าพเจ้าได้กราบทูลพระราชาก่อนเพราะข้าพเจ้ายังรู้เรื่องที่เป็นคุณแก่พระองค์อยู่  พวกเขาจึงนำตัวไปเฝ้า  พระโพธิสัตว์จึงกราบทูลว่า  ข้าพเจ้าหาโทษไม่ได้ ไม่ควรสั่งประหาร  แท้จริงแล้วเรื่องนี้เป็นโทษของพระชายา จากนั้นก็เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้พระราชาฟังจนหมด พระราชาจึงได้สติว่าเรื่องราวทั้งหมดมีต้นเหตุมาจากพระชายาผู้นี้ จึงรับสั่งให้นำตัวนางไปประหารชีวิต แต่พระโพธิสัตว์ได้ทูลขอชีวิตเอาไว้เพื่อไม่ให้เป็นเวรกรรม สืบต่อไป 
               มาตุคาม คือ หญิงทั้งหลายมักจะเป็นอย่างนี้  ผู้มีปัญญาไม่ควรยินดียินร้ายซึ่งผู้หญิงดังนั้น จ่าเมืองผู้ตัดสินความที่เป็นเรื่องที่มีผู้หญิงมาเกี่ยวข้อง อย่าได้เชื่อคำให้การของผู้หญิงโดยทันทีต้องสอบสวนให้ถึงที่สุดก่อน (เรื่องนี้ยกออกมาจากฎีกา) 
               ประการหนึ่ง  มีพระภิกษุรูปหนึ่งออกไปบิณฑบาตร มีหญิงผู้หนึ่งได้นำข้าวมาใส่บาตรและได้หลงชอบพระภิกษุรูปนั้น  จึงหยิกมือตัวเองจนเลือดออก พร้อมกับร้องขึ้นว่า พระภิกษุรูปนี้ได้หยิกมือของนาง คนทั้งหลายได้ยินเสียงร้องจึงพากันวิ่งไปดูก็เห็นเลือดติดที่มือของนาง แต่ที่นิ้วของพระภิกษุไม่มีเลือด คนทั้งหลายจึงรู้ว่านางผู้นี้เป็นหญิงร้าย (เรื่องนี้มีในพระวินัย)

การจัดสรรอำนาจและหน้าที่
               ศรีสิทธิการ ราชศาสตร์ฉบับนี้ พญามังรายได้ทรงทราบมาแต่โบราณนับตั้งแต่ท้าวญาปู่เจ้าลาวจกผ่านมาถึง 24 รัชกาล  จนกระทั่งมาถึงท้าวลาวเมงผู้เป็นพระบิดา พระองค์จึงได้ตราเป็นกฎหมายโบราณเอาไว้ 
               เมื่อสร้างนพบุรีศรีพิงค์ไชยพระนครเชียงใหม่  จุลศักราช 654 (พ.ศ.1835)  ปีเต่าสี เดือน 6  ออก 5 ค่ำ เมงว่าวันพฤหัสบดี  ไทว่าวันรวายสะง้า  ยามแตรรุ่ง  ท้าวพญาเสนาอำมาตย์ จ่าเมืองทั้งหลายฝูงอันเป็นแล้วแต่ก่อนย่อมแต่งตามโบราณสืบกันมาดังนี้ก็เจริญบ้านเมือง  ไม่ให้ขุ่นเคืองใจไพร่ฟ้าข้าไท  เจ้าขุนก็มีสุข  ก็ย่อมชนะข้าศึกศัตรู  ไพร่ยุค้าข้ายุขาย  มีแก่คนทั้งหลายเพื่อประกอบชอบธรรมดาจารีตมาดังนี้  คนเมืองฝูงเป็นไพร่ฟ้ามีครอบครัวงัวควาย ช้างม้า เสื้อผ้า ควรเอาการเมือง ไม่ให้ขุ่นเคืองใจขุนดังนี้ 
               ในจำนวนคน 10 คน ให้มี 1 คนเป็นนายข่ม (หัวหน้า)  ชื่อว่า นายสิบ  แล้วให้มีคน 1 เป็นนายการมักว่าเป็นล่ามป่าว[3]  ให้มีเช่นนี้ทุกนาย หากมีไพร่ 50 คน ก็ให้มีนายห้าสิบ 1 คนเป็นปากซ้าย นายห้าสิบ 1 คน ให้มีนายห้าสิบคน 1 เป็นปากขวา  นายห้าสิบ 2 คนนี้ให้มี 1 คน เป็นนายร้อย ทำหน้าที่เป็นหัวหน้า  นายร้อย 10 คน ให้มีเจ้าพัน 1 คน เป็นหัวหน้า  เจ้าพัน 10 คนให้มีเจ้าหมื่น 1 คน เป็นหัวหน้า  เจ้าหมื่น 10 คน ให้มีเจ้าแสน 1 คน เป็นหัวหน้า ให้สร้างบ้านแปลงเมือง ตามพระทัยของพระเจ้าแผ่นดิน
               ถ้ามีการออกไปรบทัพจับศึก  ไพร่คนใดหนีจากนายสิบให้ฆ่าไพร่คนนั้นเสีย  นายสิบหนีจากนายห้าสิบให้ฆ่านายสิบคนนั้นเสีย  นายห้าสิบหนีจากนายร้อยให้ฆ่านายห้าสิบคนนั้นเสีย  นายร้อยหนีจากเจ้าพันให้ฆ่านายร้อยคนนั้นเสีย  เจ้าพันหนีจากเจ้าหมื่นให้ฆ่าเจ้าพันคนนั้นเสีย  เจ้าหมื่นหนีจากเจ้าแสนให้ฆ่าเจ้าหมื่นคนนั้นเสีย  เจ้าแสนหนีจากเจ้าเมืองให้ฆ่าเจ้าแสนคนนั้นแล้วให้ริบเรือนด้วยเพื่อ  ไม่ให้เป็นตัวอย่างของคนอื่นต่อไป  ถ้าไม่ฆ่าก็ให้สักหมึกไว้ที่หน้าผากเสีย ประกาศให้รู้ทั่วว่าบุคคลนี้ได้รับการชุบเลี้ยงเป็นอย่างดีแต่กลับกลายเป็นคนขี้ขลาดตาขาว เช่นเดียวกันถ้าเจ้าแสนหนีจากพระเจ้าแผ่นดินในเวลาสงครามก็ดี  เจ้าแสนหนีจากเจ้าหมื่นก็ดี  ให้ปฎิบัติอย่างเดียวกัน
               ไพร่ออกไปรบศึกได้เสียชีวิตกลางสนามรบ  ไม่ควรเทครัวเข้าเป็นของหลวงเพราะเขาเหล่านั้นได้สร้างความดีความชอบให้กับบ้านเมือง เขาก็เป็นห่วงลูกเมียของเขา  หากว่ามีลูกชายก็ให้เข้ารับราชการทหาร
               ประการหนึ่ง  ถ้าไพร่พลออกรบศึกได้ฆ่าศัตรูในสนามรบ  ได้หัวนายช้างก็ดี  ได้หัวนายม้าก็ดี  ได้หัวนายตีนก็ดี ควรให้รางวัลและตำแหน่งแก่เขา
               ประการหนึ่ง  ข้าศึกยกทัพมาล้อมบ้านเมือง  ผู้ใดกล้าหาญได้ออกรบและได้ตัดหัวทหารฝ่ายตรงข้ามมา  ถ้าได้ 1 หัว ควรได้รับรางวัล 300 เงิน และไร่นา ที่ดิน บ้าน  ให้ยศถาบรรดาศักดิ์ด้วย  ถ้าพลเดินเท้าออกรบแล้วตัดหัวนายม้ามา ควรให้ยศเป็นนายม้า  ถ้ารบแล้วตัดหัวนายช้างมาก็ควรให้ยศเป็นนายช้าง  พร้อมทั้งให้ของรางวัล มีร่มฉัตร เมีย เครื่องทองคำ ขันทองคำ ผ้าผ่อนอาภรณ์เนื้อดี  เพราะเขาอาสาจึงได้หัวข้าศึกมา เมื่อให้รางวัลก็ควรให้ของที่ถูกใจ ประการหนึ่ง แม้ไม่ได้ตัดหัวข้าศึกมาแต่ตอนรบได้ฟันได้แทง ทหารข้าศึกตั้งแต่พลเดินเท้า นายม้า นายช้าง ให้ล้มตายลง แต่ไม่ทันที่จะตัดหัว และมีพยานรู้เห็นก็ควรให้ยศผู้นั้น
               ประการหนึ่ง  เสนาอำมาตย์ที่ทำงานราชการอย่างดี เป็นคุณแก่บ้านเมือง ถ้าเสียชีวิตลง  ข้าราชการคนนั้นมีทรัพย์สินเท่าใดให้แบ่งเข้าคลังครึ่งหนึ่ง  อีกครึ่งหนึ่งยกให้แก่ลูกเมียเขา ถ้าเขาทำผิดกฎหมายอาญามีโทษหนัก 1 ครั้งก็ดี  2 ครั้งก็ดี  3 ครั้งก็ดี ยังไม่ควรประหารชีวิต ควรอบรมสั่งสอนเขาให้รู้จักผิดชอบชั่วดีและกลับตัวทำดี  แต่ถ้ายังไม่กลับตัวเป็นคนดีก็ให้ลงโทษไปตามนั้น
               ประการหนึ่ง  การที่นำเอาไพร่มาใช้งานบ้านเมืองก็อย่าให้เขาได้รับความลำบากควรแบ่งเวรให้เขากลับไปทำงานของตนโดยทำงานให้กับบ้านเมือง  10 วัน ทำงานของตนเอง  10 วัน สลับกันไป
               ประการหนึ่ง ถ้าไพร่กู้เงินให้ถึง 3 ปี ก่อนแล้วจึงเอาดอกเบี้ย
               ประการหนึ่ง ไพร่เช่าที่ดินหลวงทำสวนไร่นา ให้ถึง 3 ปีก่อนแล้วจึงให้เขาเสียภาษีที่ดิน  ที่ดิน ไร่นา สวน บ้าน บุคคลผู้ใดได้สร้างไว้ดีแล้วและมีคนผู้หนึ่งมาแย่งเอาว่าเป็นของเขา อย่าให้ที่ดินแก่คนที่ไม่ได้สร้างไว้ 
               ประการหนึ่งไม่ควรเอาไพร่เป็นข้าทาส  คนที่ไม่ควรรับเอามาเป็นข้าทาสมี 4 ประเภท คือ  คนที่เป็นหนี้แล้วไม่มีปัญญาใช้หนี้คืน, คนที่มีนิสัยอยากให้ทรัพย์สินของผู้อื่นพินาศฉิบหาย, คนที่มีคดีความและเห็นว่ากำลังจะแพ้คดี, คนที่เป็นโจรปล้นชิงและได้ฆ่าผู้อื่นตาย, คนที่ละทิ้งงานการของบ้านเมือง คน 5 ประเภทนี้ไม่ควรรับเอาเป็นข้าทาส
               ประการหนึ่ง ขุนมี 2 ประเภท  คือ ขุนธรรมและขุนมาร ขุนธรรมนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยสังคหวัตถุ 4 เป็นคนมีเมตตากรุณาต่อไพร่ฟ้า ไม่ข่มเหงรังแกผู้อื่น ไม่นินทาไพร่ฟ้า ส่วนขุนมารเป็นผู้ไม่มีสังคหวัตถุ 4 เป็นคนไร้เมตตากรุณา เบียดเบียนข่มเหงรังแกผู้อื่น และมักบังคับขืนใจเมียไพร่มาหลับนอนกับตน


การแต่งงานและการหย่าร้าง
               จะกล่าวถึงการที่ผู้ชายไปอยู่กับฝ่ายหญิง คือ นำเงินไปหมั้นหมายก็ดี  เอาเงินไปจ่ายซื้อเครื่องนอนก็ดี  ไปซื้อเครื่องบริโภคก็ดี  นำเงินไปให้แก่พ่อแม่ พี่น้องฝ่ายหญิงก็ดี  แต่ต่อมาอยู่กันไม่ได้อยากจะหย่าร้างกัน  ฝ่ายชายก็ไม่ผิด  ฝ่ายหญิงก็ไม่ผิด  ดังนั้น ให้คืนเงินค่าหมั้นหมายให้แก่ชายเงินที่ใช้ซื้อข้าวของและให้ไปแล้วไม่ต้องคืน  แต่ถ้ามีของที่ช่วยกันทำมาหากินให้แบ่งเป็น 3 ส่วนให้ฝ่ายชาย 1 ส่วน  ให้ฝ่ายหญิง 2 ส่วน  ถ้ามีลูกด้วยกันไม่ว่าจะกี่คนก็ให้อยู่กับฝ่ายหญิง
               หากฝ่ายชายที่เป็นผัวเป็นมีความประพฤติไม่ดี  ชอบด่า ทำร้ายทุบตี พ่อแม่ฝ่ายหญิงให้ขับไล่หนีไปจากเรือนเสีย  แม้เงินที่หมั้นหมายก็ดี  เงินหรือข้าวของที่ทำมาหากินด้วยกันก็ดีอย่าได้ให้ฝ่ายชายแต่ฝ่ายหญิงมีพฤติกรรมที่ไม่ดี นอกใจสามี  สั่งสอนไม่เชื่อฟัง  ไม่สนใจเรื่องการบ้านการเรือน ให้ขายเมียคนนั้นแล้วเอาค่าที่ได้จากการขายแบ่งให้ผัวครึ่งหนึ่ง ให้พ่อแม่ของหญิงนั้นอีกครึ่งหนึ่ง
               ประการหนึ่ง ผู้ชายไปมีเมียและอยู่กินด้วยกันที่บ้านของพ่อแม่ผู้เป็นเมีย  ถ้าผัวตายก่อน แม้ว่ามีลูกกี่คนก็ดี  มีข้าวของเท่าใดก็ดี  ญาติพี่น้องเผ่าพันธุ์ของฝ่ายชายจะมาเอาลูกและข้าวของจากหญิงผู้เป็นเมียไม่ได้  แม้แต่เงินที่นำมาหมั้นหมายครั้งแรกก็ไม่ได้  เหตุว่ามาอยู่เรือนของฝ่ายหญิงก็เท่ากับว่าออกจากตระกูลเดิมมาแล้ว  แต่ถ้าฝ่ายชายได้สั่งไว้ก่อนตายว่าเงินที่นำมาหมั้นหมายขอคืนให้กับพ่อแม่ของตนก็ควรเอาให้แต่เฉพาะเงินที่หมั้นหมายนั้น
               ประการหนึ่ง ชายและหญิงแต่งงานอยู่ด้วยกัน  ต่อมาจะหย่าร้างกัน  ทรัพย์สินส่วนตัวของฝ่ายชายมีและฝ่ายหญิงมีก็ให้เก็บไว้ที่ตน  ส่วนทรัพย์สินที่เกิดจากการทำมาหากินร่วมกันให้แบ่งกันคนละครึ่ง  ลูกผู้หญิงให้ไปอยู่กับแม่  ส่วนลูกผู้ชายให้ไปอยู่กับพ่อ 
               ประการหนึ่ง พ่อแม่ฝ่ายหญิงได้จัดพิธีแต่งงานให้ลูกสาวไปอยู่เรือนสามี  ต่อมาภายหลังหย่าร้างกัน ให้ฝ่ายชายคืนค่าผู้หญิงครึ่งหนึ่ง  ทรัพย์สินที่หามาด้วยกันให้แบ่งเป็น 3 ส่วน  ให้ฝ่าชาย2 ส่วน ให้ฝ่ายหญิง 1 ส่วน  แต่ถ้าฝ่ายหญิงเป็นคนเกียจคร้าน ก็ไม่ต้องแบ่งทรัพย์สินให้  ส่วนลูกให้อยู่กับฝ่ายชาย
               ประการหนึ่ง ฝ่ายหญิงแต่งงานแล้วมาอยู่เรือนฝ่ายชาย  ไม่มีลูกด้วยกัน อยู่ด้วยจนถึงวัยชรา ถ้าฝ่ายชายตาย ทรัพย์สินให้ตกเป็นของฝ่ายหญิง  แต่ถ้าฝ่ายหญิงตายก่อนทรัพย์สินให้ตกเป็นของฝ่ายชาย  ถ้าตายทั้ง 2 ก็ไว้ให้กับลูก ถ้าไม่มีลูกก็เอาไว้ให้พ่อแม่พี่น้องทางฝ่ายชาย  ถ้าไม่มีญาติทางฝ่ายชายให้ไว้กับญาติทางฝ่ายหญิง  ถ้าว่าไม่มีญาติทั้ง 2 ฝ่าย  ก็ให้แบ่งทรัพย์สมบัติเข้าคลังแผ่นดินครึ่งหนึ่งและเก็บไว้ทำบุญให้กับผู้ตายครึ่งหนึ่ง
               ประการหนึ่ง แต่งงานกันโดยไม่มี เงินขัน” (สินสอด)  และฝ่ายชายไปอยู่เรือนฝ่ายหญิงมีสมบัติติดตัวไปเป็นทุนและทางฝ่ายหญิงก็มีเงินทุนและได้ลงทุนสร้างตัวร่วมกัน  ต่อมาภายหลังเกิดหย่าร้างกัน  เงินทุนที่ลงไปด้วยกันนั้นให้แต่ละฝ่ายถอนออกทั้งหมด  ส่วนทรัพย์สินที่งอกเงยขึ้นจากเงินดังกล่าวให้แบ่งเป็น 3 ส่วน  ให้ผู้หญิง 2 ส่วน ผู้ชาย 1 ส่วน  แต่ถ้าฝ่ายหญิงไม่รู้จักทำมาหากินก็ให้แบ่งกันคนละครึ่ง  ถ้าผู้ชายไม่รู้จักทำมาหากินให้แบ่งเป็น 4 ส่วน ให้หญิง 3 ส่วน ให้ผู้ชาย 1 ส่วน 
               ประการหนึ่ง ฝ่ายชายแต่งงานและอยู่กินที่บ้านของฝ่ายหญิง  ฝ่ายชายมีเงินทุนที่จะทำมาหากิน ส่วนฝ่ายหญิงนั้นไม่มีเงินร่วม  ต่อมาเกิดหย่าร้างกัน  ให้ผู้ชายถอนเงินทุนที่ตัวเองลงไปออกเสียก่อนแล้วให้แบ่งเงินส่วนที่เหลือให้ฝ่ายหญิงครึ่งหนึ่ง  แต่ถ้าระหว่างที่อยู่ด้วยกันนั้นฝ่ายหญิงไม่รู้จักทำมาหากิน เป็นคนขี้เกียจ ให้แบ่งเงินกำไรออกเป็น 3 ส่วน ให้ผู้ชาย 2 ส่วน ให้ผู้หญิง 1 ส่วน  แต่ถ้าฝ่ายชายขี้เกียจไม่ช่วยทำมาหากิน แบ่งให้ฝ่ายชาย 1 ส่วน ให้ฝ่ายหญิง 2 ส่วน
               ประการหนึ่ง ฝ่ายชายแต่งงานแล้วไปอยู่กับฝ่ายหญิง  ต่อมาได้ละทิ้งฝ่ายหญิง แต่ไม่ได้หย่าให้ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าละทิ้งเกิน 3 ปีไปแล้วไม่ถือว่าฝ่ายหญิงเป็นเมียของฝ่ายชายนั้นอีก
               ประการหนึ่ง ฝ่ายชายได้ซื้อเมียมาอยู่ด้วยแล้ว ต่อมาเลิกกับเมียคนนั้นแล้วไปอยู่กับผู้หญิงอื่น  หญิงผู้เป็นเมียขอคืนค่าที่ซื้อนางมา ฝ่ายชายก็ไม่ยอมรับค่าตัวคืน  จะหย่าก็ไม่ยอมหย่าเมื่อครบ 3 ปี ให้ตัดขาดจากความเป็นเมียและคืนค่าตัวของนางให้กับชายผู้นั้นไป

ลักษณะการหมั้นหมาย
               ถ้าเป็นเจ้าขุนได้ทำการหมั้นหญิงสาวแล้ว  ก็ให้ไปเลี้ยงผีฝ่ายหญิงภายใน 1 เดือน หรือให้ทำตามข้อตกลงกันไว้ตั้งแต่แรก  ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ศาล ได้หมั้นผู้หญิงไว้แล้วให้ทำการเลี้ยงผีของฝ่ายหญิงภายใน 12 เดือน หรือทำตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้  ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไปได้หมายหมั้นหญิงไว้แล้ว  ให้ไปเลี้ยงผีของฝ่ายหญิงภายใน 3 เดือน หรือให้กระทำตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้  แต่ถ้าฝ่ายชายไม่ทำตามกำหนดของกฎหมาย หรือไม่ทำตามสัญญาที่ตกลงกันไว้  ผัดผ่อนไปเรื่อยๆ ไม่ทำตามรีตคลองอันดีงามนี้ เท่ากับกันลูกสาวเขาไว้ ดังนั้น ให้พ่อแม่ของฝ่ายหญิงหาสามีใหม่ให้ลูกสาวเพื่อเป็นการหย่าขาดจากการหมั้นหมายดังกล่าว
               ประการหนึ่ง ฝ่ายชายได้นำเอาข้าวของเงินทองไปหมั้นฝ่ายหญิงแต่พ่อแม่ของฝ่ายหญิงไม่ชอบ ต่อมาฝ่ายหญิงได้หนีไปอยู่กับฝ่ายชาย ให้ปรับไหมฝ่ายหญิงนั้นเป็นค่าห่อหมาก 11,000 เบี้ย 
               ประการหนึ่ง ฝ่ายชายได้นำเอาข้าวของเงินทองไปหมั้นฝ่ายหญิงและพ่อแม่ของฝ่ายหญิงชอบ แต่ตัวของฝ่ายหญิงเองนั้นไม่ชอบ ต่อมาฝ่ายหญิงได้หนีไปอยู่กับชายที่รักใคร่ชอบพอกัน ให้ปรับไหมฝ่ายหญิงเป็นค่าห่อหมาก 22.000 เบี้ย และให้คืนของหมั้นให้แก่ชายไป  ส่วนชายที่หญิงหนีไปอยู่ด้วยนั้น ถ้ารู้ว่าหญิงนั้นมีคนอื่นมามหมั้นหมายไว้แล้วให้ปรับไหม 22,000 เบี้ย  แต่ถ้าไม่รู้ ให้ปรับไหม 11,000 เบี้ย คิดเป็นเงิน 110  ดังนั้น ถ้าพ่อแม่ไม่ชอบก็อย่าได้หมั้นหมาย แต่ถ้าฝ่ายชายข่มขู่ หมั้นหมายแล้วฝ่ายหญิงได้หนีไปอยู่กับชายอื่นก็ให้แล้วเรื่องกันไป แต่ให้ฝ่ายหญิงคืนของหมั้นยแก่ฝ่ายชาย

การสั่งเสียก่อนตายและการแบ่งมรดก
               หากคนในครอบครัว เช่น พ่อแม่ ปู่ย่า ลุงป้า น้าอา ญาติพี่น้อง เมื่อจะตายได้พูดยกสิ่งใดก็ตามให้กับผู้ใดก็ให้ยกสิ่งนั้นแก่ผู้นั้นตามที่ผู้ตายได้สั่งเสียเอาไว้ ไม่ควรฝ่าฝืนคำสั่งของคนตาย
               ประการหนึ่ง ถ้าผู้ตายไม่ได้สั่งเสียก็ให้ทุกอย่างก็ตกเป็นของลูก แต่ถ้าลูกมีหลายคนก็พิจารณาดูว่า หากลูกคนใดเป็นคนเลี้ยงดูพ่อแม่ก็ให้ลูกคนนั้นได้ทรัพย์สมบัติมากกว่าคนอื่นๆ ถ้าลูกคนใดเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและแสวงหาทรัพย์สินเงินทองมาสู่ตระกูล  สมบัติเหล่านั้นก็ควรเป็นของคนนั้นเพียงผู้เดียว
               ประการหนึ่ง ทรัพย์สมบัติอันใดที่เคยถูกเจ้าขุนบังคับขู่เข็ญเอาไปก็ดี  ถูกโจรปล้นไปก็ดีถูกปรับไหมด้วยการบังคับขู่เข็ญไปก็ดี  เมื่อพ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ไม่สามารถร้องเรียนเอาได้ เมื่อพ่อแม่ตายไปและถ้าลูกคนใดเป็นผู้ไปดำเนินการขอความเป็นธรรมกับทางราชการและได้ของเหล่านั้นกลับคืนมา ก็ให้ทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นของลูกคนนั้น  ไม่ต้องแบ่งให้กับลูกคนอื่นๆ
               ประการหนึ่ง ลูกคนใดได้ขอเงินพ่อแม่นำไปทำทุนและยังไม่ได้ใช้เงินคืนแล้วพ่อแม่ได้ตายไปเสียก่อน ลูกคนนั้นต้องนำเงินต้นที่นำไปลงทุนนั้นมารวมเข้าไว้ทรัพย์สินส่วนกลางเพื่อแบ่งให้ลูกทุกคน ส่วนกำไรที่ได้ก็ให้ตกเป็นของลูกที่เป็นคนยืมไป
               ประการหนึ่ง พ่อแม่ตายไปแล้วแต่ยังไม่ได้แบ่งสมบัติกัน ลูกคนใดแอบลักซ่อนวัตถุใด วัตถุหนึ่งก็ให้นำออกมารวมกับทรัพย์สินอย่างอื่นแล้วแบ่งปันกันให้ทั่วกัน
               ประการหนึ่ง ถ้าพ่อมีคนรับใช้เป็นเมียและมีลูกด้วยกัน  สมบัติของพ่อแม่ส่วนหนึ่งต้องแบ่งให้กับลูกที่เกิดจากคนรับใช้ ด้วยเหตุที่ว่าเขาผู้นั้นก็มีเลือดพ่อด้วยกัน  หรือพ่อแม่เอาลูกคนอื่นมาเลี้ยง ก็ควรแบ่งสมบัติส่วนหนึ่งเช่นเดียวกับแบ่งสมบัติให้กับลูกที่เกิดกับคนรับใช้ แต่ถ้าแม่ตายไปแล้ว  ต่อมาผู้เป็นพ่อนำคนอื่นมาเลี้ยงเป็นลูก  หรือพ่อตายแล้ว  ผู้เป็นแม่นำเอาคนอื่นมาเลี้ยงเป็นลูก อย่างนี้ควรแบ่งทรัพย์สมบัติให้แต่เพียงเล็กน้อยก็พอ
               ประการหนึ่ง หากแม่มีลูกกับสามีคนก่อน ไม่ว่าจะมีลูกกี่คนก็ตาม ต่อมาได้มาเป็นภรรยาของพ่อและมีลูกใหม่ด้วยกัน ทรัพย์สมบัติควรแบ่งให้ลูกติด และลูกที่มีใหม่ได้เท่าๆ กัน
               ประการหนึ่ง พ่อมีภรรยา 2 คน แต่อยู่กันคนละที่  คนเป็นเมียหลวงไม่มีลูกแต่เมียน้อยมีลูกเมื่อพ่อตาย  เมียหลวงก็ตาย  ทรัพย์สมบัติควรยกให้แก่ลูกเมียน้อยทั้งหมด  แม้ญาติพี่น้องของเมียหลวงจะมาขอแบ่งก็เอาไปไม่ได้
               ประการหนึ่ง ผู้ชายได้ไปมีเมียและมีลูกด้วยกัน  ต่อมาไปมีเมียน้อยและมีลูกด้วยกัน  ภายหลังเมื่อพ่อแม่ตายไปแล้ว สมบัติต้องแบ่งเป็น 5 ส่วน  แบ่งให้แก่ลูกเมียหลวง 3 ส่วน  ให้ลูกเมียน้อย 2 ส่วน  แต่ถ้าทั้งเมียหลวงและเมียน้อยต่างไม่มีลูกด้วยกัน  เมื่อเมียหลวงตาย ทรัพย์สมบัติให้ตกเป็นของเมียน้อย ญาติของเมียหลวงจะมาขอแบ่งไม่ได้

การกู้หนี้ยืมสิน
               ไพร่ที่มีตำแหน่งเป็นนายหอก เกิดเป็นหนี้สินและมีดอกเบี้ยเป็นจำนวนมาก ให้ผู้ค้ำประกันใช้เฉพาะเงินต้นเท่านั้น อย่าให้ผู้ค้ำใช้ดอกเบี้ย
               ประการหนึ่ง กู้เงินมาใช้  กู้มาหลายที่ จนมีแต่เจ้าหนี้  และไม่สามารถจะใช้คืนได้ ให้ขายตัวของผู้กู้ ได้เท่าใรให้แบ่งใช้กับเจ้าหนี้ตามเงินต้นมากน้อยเฉลี่ยกันไปเถิด
               ประการหนึ่ง ได้ซื้อได้ขายของให้แก่กันหรือได้กู้ ได้เช่า ได้ยืม แต่ไม่ได้พูดคุยกันถึงเรื่องดอกเบี้ย  ดังนั้น ไม่ควรเสียค่าดอกเบี้ย
               ประการหนึ่ง บุคคลใดได้เช่าซื้อวัตถุข้าวของด้วยเงินเชื่อ แล้วหนีหนี้ไม่ยอมจ่าย ต่อมาตามตัวได้  ให้พูดเจรจากันให้คนเช่าซื้อและชดใช้ค่าของให้ครบ  แต่ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ยอมชดใช้  และยังได้ทำร้ายเจ้าของ  ให้ปรับ 9 เท่า ของราคาสินค้าที่ซื้อไป  และปรับค่าทำร้ายร่างกายเพิ่มอีกด้วยแต่ถ้าเจ้าของสินค้าทำร้ายร่างกายผู้เช่าซื้อก็ให้ปรับผู้เป็นเจ้าของ  เมื่อผู้เป็นเจ้าของของจะยึดสิ่งของที่เช่าซื้อไปนั้นคืน ให้แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ก่อนแล้วจึงค่อยยึดคืนมา

การด่าทอและการทำร้ายกัน
               คนที่มีศักดิ์เสมอกัน  คนหนึ่งไม่มีความผิดแต่ถูกอีกคนด่าว่าและใส่ความ ให้ปรับ33,000 เบี้ย หากด่าผู้ที่อาวุโสกว่าตน  ให้ผู้ด่านั้นขอขมา  แต่ถ้าต่างคนต่างด่ากันไปมาก็ให้เลิกแล้วต่อกันไป
               หากมีผู้ใดผู้หนึ่งได้ตีทำร้ายผู้อื่นก่อนแต่เลือดไม่ออก และผู้ถูกตีได้ตีตอบจนเลือดอีกฝ่ายหนึ่งไหล ให้ถือว่าต่างคนต่างตีกัน แต่ถ้าตีจนหัวแตกมีเลือดไหลให้ปรับผู้ที่ลงมือตีก่อน 55,000 เบี้ย 
               ประการหนึ่ง หากตีคนอื่นก่อนและหัวแตก ให้ปรับ 11,000 เบี้ย
               ประการหนึ่ง มีผู้หนึ่งได้ใช้มือตีอีกคนหนึ่งก่อน ผู้ถูกมือตีกลับใช้ไม้ตีหัวแตก ให้ปรับ11,000 เบี้ย 
               ประการหนึ่ง หากใช้ไม้ตีหัวคนอื่นจนแตก คนที่ถูกตีกลับใช้ดาบฟันตอบจนตายก็หรือได้รับบาดเจ็บ ให้ปรับในการที่ฆ่าผู้อื่นตายหรือให้ปรับตามอาการที่บาดเจ็บ
               ประการหนึ่ง  หากถือไม้ไปหาคู่อริแต่ถูกคู่อริตีจนตาย ก็ให้ถือว่าแล้วกันไป แต่ถ้าคู่อริได้นำเอาอาวุธ มีหอก ดาบ หน้าไม้  ธนู ออกมาฟันแทงก็ดี ใช้หน้าไม้ ธนูยิงตายหรือได้รับบาดเจ็บสาหัสก็ดี ให้คู่อริชดใช้ตามลักษณะของการตายและการบาดเจ็บ  ถ้าถือไม้หรืออาวุธไปท้าทายคู่อริแล้วถูกคู่อริฆ่าตายก็ให้แล้วกันไป
               ประการหนึ่ง  มีคนสองคนทะเลาะกัน ต่างคนต่างมีอาวุธ (หอกดาบ) ได้ฆ่าฟันกันตายหรือคนใดคนหนึ่งตาย หรือคนใดคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ ให้ถือว่ามีความผิดเท่ากัน
               ถ้าถอดดาบจากฝักแล้วไล่ฟันผู้อื่น  ถ้าฟันไม่ถูก ปรับ 330 เงิน  ถ้าชักดาบออกจากฝักอยู่กับที่แต่พูดออกปากว่าจะฟัน ปรับ 220 เงิน ถือดาบไปแล้วพูดว่าจะฟัน แต่ไม่ได้ชักดาบ ปรับ 110 เงิน ถือดาบอยู่กับที่ แล้วพูดว่าจะฟัน แต่ไม่ได้ชักดาบ ปรับ 52 เงิน  ได้จ้างคนให้ไปฆ่าผู้อื่น ผู้รับจ้างยังไม่ได้ลงมือฆ่า แต่มีพยานรู้เห็นเรื่องนี้ว่าเป็นความจรัง ปรับ 660 เงิน ให้ผู้จ้างและผู้รับจ้างใช้คนละครึ่ง ถ้าได้ลงมือฆ่าแล้วก็เสียค่าปรับคนละครึ่งเหมือนกัน  ถ้าคนจ้างและผู้รับจ้างได้วางแผนว่าจะฆ่าคนนั้นคนนี้ แต่ยังไม่ได้ลงมือฆ่า ให้ปรับ110 เงิน เโดยสียค่าปรับคนละครึ่ง
               ประการหนึ่ง  สามีด่าเมียและทุบตีเมียแล้วเมียได้วิ่งหนีขึ้นไปบนเรือนนายบ้าน และสามีของนางยังวิ่งตามไปทุบตีถึงเรือนนายบ้าน ให้ปรับ 22,000 เบี้ย  ถ้าเป็นนายบ้านไล่ทุบตีเมียวิ่งหนีขึ้นเรือนลูกบ้าน นายบ้านยังตามขึ้นไปทุบตีเมียถึงบนบ้าน ให้ปรับ 33,000 เบี้ย
               ประการหนึ่ง ผู้ใดก็ตามหากมีคนชวนไปขุดแต่งลำเหมืองเพื่อไขน้ำเข้าสู่นา แต่ไม่ยอมไปช่วย ต่อมาได้ทำร่องน้ำในลำเหมืองเข้าสู่นาของตน หากผู้นั้นถูกฆ่าตายก็อย่าเอาโทษคนที่ฆ่า แต่ถ้าไม่ฆ่าก็ให้ปรับ 33,000 เบี้ย
               ขุดลำเหมืองผ่านที่นาผู้อื่น ปรับ 11,000 เบี้ย  ทุบทำลายบ้านเรือนผู้อื่นในยามวิกาลปรับ 11,000 เบี้ย  ทุบทำลายบ้านเรือนคนอื่นในเวลากลางวัน ปรับ 55,000 เบี้ย
               ประพฤติตนเป็นนักเลงไล่ตัดต้นหมาก ต้นมะพร้าวของผู้อื่น ปรับ 33,000 เบี้ย  ตัดเครือพลูของผู้อื่น ให้ปรับเครือละ 33,000 เบี้ย  ตัดต้นพริกของผู้อื่น ปรับต้นละ 22,000 เบี้ย  ตัดต้นกล้วยก็ดี ตัดอ้อยก็ดี ให้ปรับต้นละ 11,000 เบี้ย  ตัดปลีต้นกล้วยที่เพิ่งจะออกปลีก็ดี  ให้ดูราคากล้วยในตลาดว่ามีราคาซื้อขายกันเท่าไร เมื่อทราบราคาแล้วก็ให้ปรับตามนั้น
               ประการหนึ่ง ตัดรั้วบ้านของผู้อื่นให้เป็นช่องเพื่อที่จะเข้าไปขโมยของ ให้ปรับ 110,000 เบี้ย เอาดาบฟันทำลายที่อยู่ของผู้อื่น ให้ปรับ 110,000 เบี้ย  ถ้าใช้มีดพร้าฟัน ปรับ 52 เงิน ถ้าใช้ไม้ตีทำลายที่อยู่ของผู้อื่น ปรับ 11,000 เบี้ย 
               ทำตัวโอ้อวดเป็นนักเลงโตใช้มีดพร้า ดาบฟันรั้วบ้านของผู้อื่น ปรับ 11,000 เบี้ย  ใช้ไม้ตีรั้วบ้านของผู้อื่น ปรับ 5,500 เบี้ย  ใช้มีดพร้าฟันข้าวกล้าในนาของผู้อื่น เสียหายเท่าไรก็ให้มันปลูกซ่อมให้ก่อน แล้วจึงปรับ 110,000 เบี้ย  แม้แต่ชักดาบออกจากฝักเดินทางในเวลากลางวันก็ยังผิดคลองเมืองก็ยังต้องถูกปรับ 110 เงิน แต่กรณ๊นี้ได้เอาดาบไปฟันทำลายข้าวซึ่งข้าวเป็นของอุดมวิเศษเลี้ยงชีวิตคนทั้งหลายให้ปรับ 110
               ประการหนึ่ง ทำตัวเป็นนักเลง ไปไถทำลายต้นข้าวคนอื่นเสียหาย ให้ใช้ค่าเสียหายก่อนแล้วจึงปรับโทษฐานที่มันอวดเป็นนักเลงนั้นอีก 55,000 เบี้ย 
               ประการหนึ่ง  ทำตัวใหญ่โตแย่งชิงเอาไร่นาของผู้อื่นไปหรือไถเอาหน้าดินที่นาของเขาไปให้ปรับ 22,000 เบี้ย  หากช่วงนั้นเกิดมีอาเพท  ผีเสื้อนา (เจ้าที่) ไม่พอใจ  ทำให้ต้นข้าวเหี่ยวเฉาต้นข้าวล้มลงหรือเป็นโรคตายก็ดี  วัวควายตายก็ดี  จะกล่าวโทษว่าเพราะมีคนไปไถหน้าดินและกล่าวโทษผู้ไถหน้าดินนั้นไม่ได้เพราะถือว่าเป็นกรรมของต้นข้าว เมื่อกรรมมาถึง อยู่ที่ใดก็ตายเหมือนกัน ใครจะห้ามซึ่งความตายไม่ได้
               ประการหนึ่ง  หากมีคนไปตัดต้นไม้เสื้อบ้าน[4]  ให้รีบบอกให้เขาจัดเครื่องบูชาไปขอขมาและบูชาผีเสื้อบ้านเสีย  หากไม่ทำตามแล้วเกิดมีคนในหมู่บ้านตายหรือสัตว์เลี้ยงตาย ก็ให้เขาเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น 
               ประการหนึ่ง กล่าวโทษคนอื่นว่าทำผิดกฎหมายแล้วได้กักขัง คุมตัวไว้ ต่อมามีการสืบสวนแล้วไม่มีความผิด ให้ปรับ 11,000 เบี้ย  นายตีนที่ไม่มีศักดินากล่าวโทษคนอื่นและกักขัง คุมตัวไว้ กล่าวหาว่าทำผิดกฎหมาย ต่อมาไม่ปรากฎความผิด ให้ปรับ 22,000 เบี้ย  นายตีนที่มีศักดินากล่าวโทษคนอื่นว่าทำผิดกฎหมาย แล้วกักขัง คุมตัวไว้ ต่อมาไม่ปรากฎความผิด ให้ปรับ 33,000 เบี้ย อัยการหรือนายกว้านกล่าวโทษคนอื่นว่าทำผิดฎหมาย และได้กักขัง คุมตัวไว้ ต่อมาเขาผู้นั้นไม่มีความผิด ให้ปรับ 33,000 เบี้ย นายม้ากล่าวโทษคนอื่นว่าทำผิดกฎหมาย และได้กักขัง คุมตัวไว้ต่อมาไม่ปรากฏความผิด ให้ปรับ 110,000 เบี้ย เรื่องเหล่านี้ไม่ได้พิจารณาให้ดีแล้วกล่าวโทษผู้อื่นและกักขัง คุมตัวผู้อื่นเอาไว้  ต่อมาภายหลังสืบสวนแล้วไม่มีความผิดจึงต้องปรับ
               ประการหนึ่ง กล่าวโทษคนอื่นและกักขัง คุมตัวไว้  ต่อมาสืบสวนแล้วก็เป็นผู้กระทำผิดจริง แต่ก็ไม่ควรที่จะกักขัง คุมตัวไว้ จึงให้ปรับผู้ที่กักขัง คุมตัว ครึ่งหนึ่งของค่าปรับ เพราะว่าไม่ควรถือวิสาสะเข้าไปจับกุมกักขังโดยทันทีเนื่องจากบางคนก็เป็นคนอยู่ในสังกัดเจ้าขุนมูลนาย และตามโบราณบ้านเมืองย่อมมีกฏระเบียบอาชญาเพื่อไม่ให้กักขังตัวกันโดยง่าย
               ประการหนึ่ง มีคนอยู่ 2 คน มีศักดิ์เท่ากัน  เกิดการทะเลาะวิวาทกัน คนหนึ่งเข้าไปพึ่งเจ้าขุนมูลนายให้ช่วยแล้วเจ้าขุนมูลนายผู้นั้นได้สั่งให้ไปจับกุมอีกคนหนึ่งมาดำเนินคดี  สอบสวนดูแล้วไม่มีความผิด  ให้ปรับเจ้าขุนมูลนายและผู้ที่เป็นคู่กรณีเพราะเชื่อฟังคำจากผู้มาขอพึ่งโดยไม่พิจารณาไตร่ตรองให้ดี
               ประการหนึ่ง ผู้ไม่มีความผิดแต่หาโทษใส่ความผู้อื่นเพื่อให้ผู้อื่นพินาศฉิบหายด้วยการเสียทรัพย์ในเรื่องคดีความ จึงไปสนส่อต่อผู้มีอำนาจให้จับกุมตัวผู้นั้น แต่เมื่อไต่สวนแล้วก็ไม่พบความผิด ให้ปรับตามโทษตามหนัก-เบานั้นเถิด
               ประการหนึ่ง ขุนช้างหรือขุนหมื่นก็ดีได้จับนมผู้หญิง ถ้าจับนอกเสื้อข้างหนึ่งก็ดี กอดนอกเสื้อก็ดีโดยผู้หญิงไม่ชอบ ให้ปรับ 22,000  เบี้ย ถ้าจับนมในเสื้อทั้ง 2 ข้างก็ดี  กอดในเสื้อก็ดี     ให้ปรับ 220,000 เบี้ย  ถ้าได้ล่วงเกินทางเพศ ให้ปรับ 330,000 เบี้ย
               ประการหนึ่ง ขุนบ้านเมืองเป็นชู้กับเมียผู้ที่มียศศักดิ์ต่ำกว่าจนลงมาถึงไพร่หรือล่วงเกินทางเพศ ได้จับมือถือนมก็ดี  ให้ปรับตามโทษอันหนักอันเบาเถิด
               ประการหนึ่ง นายม้า คือ ล่ามหมื่นก็ดี  นายพ่างซ้าย-ขวา[5]ก็ดี มีชู้กับเมียนายม้าหรือนายพ่างซ้าย-ขวา จับนมนอกเสื้อข้างหนึ่งก็ดีโดยที่ผู้หญิงไม่ยินยอม ให้ปรับ 220,000 เบี้ย ถ้าจับนมนอกเสื้อทั้ง 2 ข้าง ให้ปรับ 440,000 เบี้ย ถ้าจับนมในเสื้อ แต่ผู้หญิงหากยินยิม ให้ปรับ 220,000 เบี้ย  ถ้ามีเพศสัมพันธ์กันให้ปรับ 110,000 เบี้ย เป็น 1,000 เงิน 
               ประการหนึ่ง นายตีน คือ พันกลองหรือพันหน้าไม้  ยังมีศักดินาติดตัวอยู่ พวกเขาเป็นชู้กับเมียนายตีนด้วยกัน จับนมนอกเสื้อข้างหนึ่งก็ดี โดยผู้หญิงไม่ยินยอม ให้ปรับ 210,000 เบี้ย  ถ้าว่าจับนมนอกเสื้อทั้ง 2 ข้าง ให้ปรับ 220,000 เบี้ย  ถ้าว่าจับนมในเสื้อทั้ง 2 ข้าง และผู้หญิงยินยอม ให้ปรับ 110,000 เบี้ย  ถ้าผู้หญิงยินยอมและฝ่ายชายได้มีเพศสัมพันธ์กันด้วย ให้ปรับ 550,000 หากเป็นชู้กับเมียนายช้าง นายม้าที่มียศสูงกว่าตน หรือเป็นชู้กับเมียผู้ที่มียศสูงกว่าตนหรือเป็นชู้กับเมียผู้ที่มียศต่ำกว่าตนก็ให้ปรับตามที่ว่ามานี้
               ประการหนึ่ง  ไพร่ คือ นายข่มม้า นายพวกน้อย นายห้าสิบ นายข่มเวียกการ เขาเป็นชู้ด้วยกับเมียของไพร่ดังกล่าว  จับนมผู้หญิงนอกเสื้อข้าง 1  โดยผู้หญิงไม่ยินยอม ปรับ 50,000 เบี้ย ถ้ากอดก็ดี  จับนมทั้ง 2 ข้างนอกเสื้อ ปรับ 55,000 เบี้ย  ถ้าว่าผู้หญิงยินยอมและได้กอดได้จับนมในเสื้อ ปรับ 22,000 เบี้ย  ถ้าว่าได้ร่วมหลับนอนและผู้หญิงก็ยินยอม ปรับ 33,000 เบี้ย คิดเป็นเงิน 330 เงิน 
               ประการหนึ่ง นายส่วย  นายบ้าน นายยานพาหนะ หมื่นข้าว เถ้าเมือง[6] นายริบ-นายไร[7] นายสิบ นายซาว  เป็นชู้กับเมียของพวกเขาเหล่านี้โดยผู้หญิงไม่ยินยอม ผู้ชายได้จับนมผู้หญิงข้าง 1 นอกเสื้อ ปรับ 220,000 เบี้ย  ผู้ชายได้กอดและจับนมทั้ง 2 ข้างก็ดี โดยที่ผู้หญิงยินยอมและได้ร้องโวยวาย ปรับ 44,000 เบี้ย  ถ้าว่าจับนมในเสื้อทั้ง 2 ข้าง ปรับ 22,000 เบี้ย  ถ้าว่าได้ร่วมหลับนอน ปรับ 55,000 เบี้ย  ถ้าเป็นชู้กับเมียของผู้มียศสูงกว่า ได้จับนม ได้กอดและร่วมหลับนอน ให้ปรับเช่นเดียวกันนี้  ถ้าเป็นชู้กับเมียผู้ที่มียศต่ำกว่าตนหรือลงมาจนถึงเมียไพร่ก็ให้ปรับอย่างเดียวกันนี้  
               ประการหนึ่ง ไพร่ไทที่ทำหน้าที่เกี่ยวหญ้าให้ช้าง ม้า เป็นชู้กับเมียของพวกเขากันเองได้จับนมข้าง 1 นอกเสื้อ ปรับ 11,000 เบี้ย  ถ้าได้จับนมในเสื้อแม้ว่า1 ข้างก็ดีหรือทั้ง 2 ข้างก็ดี ให้ปรับ 11,000 เบี้ย  ถ้าได้ร่วมหลับนอนด้วยกัน ปรับ 100,000 เบี้ย 
               ประการหนึ่ง ไพร่เป็นชู้กับเมียไพร่ด้วยกัน ปรับ 110,000 เบี้ย  นายสิบเป็นชู้กับเมียผู้อื่นปรับ 220,000 เบี้ย  นายตีนที่ไม่มีศักดินาเป็นชู้กับเมียผู้อื่น ปรับ 220,000 เบี้ย นายตีนที่มีศักดินาเป็นชู้กับเมียผู้อื่น ปรับ 330,000 เบี้ย  นายกว้าน นายศาลเป็นชู้กับเมียผู้อื่น ปรับ 55,000 เบี้ยนายช้างเป็นชู้กับเมียผู้อื่น ปรับ 100,000 เบี้ย  เจ้าขุน (ผู้พิพากษา) ทั้งหลายที่จะตัดสินความนั้นให้พิจารณาดูตัวผู้มีโทษว่า เป็นผู้มีศักดินาหรือไม่มีศักดินา เป็นคนจนหรือคนมีฐานะ
               ประการหนึ่ง ทาสเป็นชู้กับเมียของทาสด้วยกัน ได้จับนมนอกเสื้อข้างหนึ่ง ปรับ 5,500 เบี้ยจับนมนอกเสื้อ 2 ข้าง ปรับ 11,000 เบี้ย  ได้จับนมข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างในเสื้อ ปรับ 22,000 เบี้ย ได้ร่วมหลับนอนด้วย ปรับ 55,000 เบี้ย  ทาสเป็นชู้กับเมียไท (ไพร่ทั่วไป) ก็ให้ปรับอย่างเดียวกันนี้ โทษผู้หญิงก็ให้ลดลงตามนั้นเถิด 
               ประการหนึ่ง ผู้ใดทำตัวเป็นนักเลงไล่เที่ยวฟันผลหมากรากไม้ของผู้คนอื่นให้ได้รับความเสียหาย ถ้าเป็นต้นที่ยังไม่ให้ผลผลิต ให้ปรับต้นละ 500 เบี้ย โดยให้ใช้ 9 เท่า ฟันต้นที่ออกผลแล้ว ปรับต้นละ 5,000 เบี้ย โดยให้ใช้ 9 เท่า ผู้ใดทำตัวเป็นนักเลงเที่ยวตัดฟันต้นไม้ดอกของผู้อื่น ถ้าเป็นต้นที่ยังไม่ออกดอก ปรับต้นละ 500 เบี้ย ให้ใช้ 9 เท่า  ถ้าต้นที่ออกดอกแล้ว ปรับ 1,000 เบี้ย ให้ใช้ 9 เท่า ถ้าตัดเครือดอกที่ยังไม่ออกดอก ปรับ 200 เบี้ย ให้ใช้ 9 เท่า  ถ้าเครือดอกที่ออกดอกแล้ว ปรับ 500 เบี้ย ให้ใช้ 9 เท่า  ผู้ใดทำตัวเป็นนักเลง ตัดไม้ไผ่ที่มีคนปลูกไว้  ถ้าเป็นไม้ไผ่ขนาดเล็ก ปรับ 100 เบี้ย ให้ใช้ 9 เท่า  ถ้าเป็นไม้ไผ่ขนาดใหญ่ ปรับ 200 เบี้ย ให้ใช้ 9 เท่า 
               ประการหนึ่ง ข้าทาสเป็นชู้กับเมียไท ได้จับนมนอกเสื้อ 1 ข้าง ปรับ 5,500 เบี้ย จับนมนอกเสื้อทั้ง 2 ข้าง ปรับ 11,000 เบี้ย  ถ้าจับนมในเสื้อข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง ปรับ 22,000 เบี้ย ถ้าได้ร่วมหลับนอนด้วย ปรับ 55,000 เบี้ย ทาสเป็นชู้กับเมียของทาสด้วยกัน  ให้ปรับตามคลองทาสเถิด
               ประการหนึ่ง ไพร่เป็นชู้กับเมียทาส  ขุนเป็นชู้กับเมียทาสโดยผู้หญิงยินยอม ได้จับนมนอกเสื้อข้างหนึ่ง ปรับ 11,000 เบี้ย  ถ้าจับนมนอกเสื้อทั้ง 2 ข้าง ปรับ 22,000 เบี้ย ถ้าจับนมในเสื้อทั้ง 2 ข้าง ปรับ 11,000 เบี้ย  ถ้าได้ร่วมหลับนอนด้วย ปรับ 110,000 เบี้ย 
               ประการหนึ่ง ทาสเป็นชู้กับเมียเจ้านายของตนควรฆ่าให้ตาย ถ้าไม่ฆ่าก็ให้ขายตัวมันไปเสียถ้าเจ้านายเป็นชู้กับเมียทาสของตน ให้ปล่อยผัวที่เป็นทาสให้เป็นไท ถ้าผู้ผัวไม่ไปก็ให้อยู่ด้วยกันให้เจ้านายผู้นั้นให้เสื้อผ้า 1 ชุด แก่ผัวของนางนั้น พร้อมขอขมาต่อผัวของนางด้วย  
               ชายทั้งหลายที่มีปัญญาก็ดี ที่เป็นคนโง่ก็ดี ย่อมหลงเข้าอำนาจแห่งมาตุคามดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า  ระโต ธัมมะ นะ ปัสสาติ  รัตโต อัตถัง นะ ชานาติ  อันธะตะมัง  ตะทา โหติ  อะยัง นาโค สะหะโต นะรัง ดังนี้  อธิบายว่า บุคคลผู้ใดและรู้ข้ออรรถธรรมแห่งพระพุทธเจ้าเท่าใดก็ดี รู้ขนบจารีตประเพณีอันเป็นคลองเมืองก็ดี  ราคะตัณหาที่ร้อนยิ่งกว่าไฟ  หากมาครอบงำ  เหตุผู้หญิงที่ร้ายชอบแต่งด้วยมายา  ทำให้เกิดกิเลสอันมืดมัว  ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ก็ด้วยรูปปโฉมของหญิงทั้งหลายนี้เป็นเหตุทำให้ตัณหาเกิด ผู้ชายทั้งหลายที่ไม่ทราบข้ออรรถธรรมคัมภีร์ รีตคลองมักจะกระทำผิด  แม้แต่พระโพธิสัตว์เองปางเมื่อเสวยพระชาติเป็นกัสสปฤาษีก็ยังมีใจหวั่นไหวด้วยวิสาภาคารัมมณะแห่งนางทุลักขณะซึ่งเป็นอัครมเหสีแห่งพระเจ้ากรุงพาราณสี  กรณีดังกล่าวเกรงว่าคนที่ไม่มีปัญญาจะติฉินนินทาผู้ตัดสินคดีว่า เราได้ฆ่าชู้ของเมียตายแล้วทำไมยังต้องตัดสินให้ปรับไหมอีก
               ประการหนึ่ง ชายผู้เป็นสามีเห็นชายชู้กับเมียตนกำลังเสพกามกันอยู่ในป่าก็ดีหรือที่บ้านก็ดี มีคนเห็นและมีสักขีพยานก็ดี  ชายผู้เป็นสามีได้ฆ่าชู้ให้ตายก็ดี  ได้ฟันเมียของตนให้ได้รับบาดเจ็บก็ดี หรือได้ฆ่าตายทั้ง 2 คนก็ดี  ก็อย่าได้ลงโทษชายผู้นั้น 
               ประการหนึ่ง ผู้ใดทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้ชายใดไปเป็นชู้กับเมียผู้อื่น  ให้ปรับผู้นั้น 110  เงิน ลักษณะของการเป็นสื่อกลางให้ชายใดก็ตามเป็นชู้กับเมียผู้อื่นมี ดังนี้  เป็นสื่อให้ฝ่ายหญิงมาหาฝ่ายชายที่เรือนก็ดี, นำฝ่ายชายไปไว้ในที่สงัดแล้วพาฝ่ายหญิงมาหาก็ดี, นำฝ่ายชายมาหาฝ่ายหญิงก็ดีเอาของฝากไปให้ฝ่ายหญิงแล้วบอกว่าฝ่ายชายชู้ฝากมาให้ก็ดี ลักษณะอย่างนี้ชื่อว่าเป็นการสื่อให้คบชู้กัน ควรปรับผู้เป็นสื่อให้ถึงที่สุด แม้แต่พระวินัยของพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงบัญญัติเอาไว้ว่า ภิกษุรูปใดได้ทำการเป็นพ่อสื่อให้ชายและหญิงคบกัน  ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ซึ่งอันนี้หมายถึง ชายหญิงที่เป็นหนุ่มสาวที่ยังไม่ได้แต่งงาน ไม่ใช่เป็นผัวเมียใคร
               ประการหนึ่ง ลักโขมยนก ให้ใช้ 9 ตัว ตีราคาตัวละ 500 เบี้ย  ลักขโมยไก่ ตีค่าตัวละ100 เบี้ย  ให้ใช้ 9 ตัว  ถ้าเป็นไก่ของเจ้า ตีค่าตัวละ 500 เบี้ย ถ้าเป็นไก่ต่อหรือไก่ชนที่ดีตีค่าตัวละ 20 เงิน ให้ใช้ 9 ตัว  ถ้าเป็นไก่ของล่ามหมื่นน้อยหรือเจ้าพันหรือเป็นของคนที่เลี้ยงไว้ขาย ตีค่าตัวละ 10 เงิน ถ้าเป็นไก่ของเจ้าหมื่น เจ้าแสน  ท้าวพญา  เป็นไก่ชนที่ดีตีค่าตัวละ 50 เงิน ให้ใช้ 4 ตัว ถ้าเป็นไก่ที่ดีมาก ตีค่าตัวละ 110 เงิน  ให้ใช้ 3 ตัว  ถ้าเป็นไก่ที่ดีมากๆ ตีค่าตัวละ 220 เงิน ให้ใช้ 2 ตัว 
               ลักเป็ด 1  ตัว  ให้ใช้ 9 ตัว ตีราคาตัวละ 1,500 เบี้ย  ลักห่าน ให้ใช้ 9 ตัว ตีราคาตัวละ 2,000 เบี้ย  ลักหมาให้ใช้ 9 ตัว ตีราคาตัวละ 3,000 เบี้ย  ถ้าเป็นหมาที่ไล่เนื้อดีให้ใช้เพิ่มอีก 1 ตัว  ลักหมูให้ใช้ 9 ตัว ตีราคาตัวละ 10,000 เบี้ย  ถ้าเป็นหมูตัวเมียที่มีลูกในท้อง ให้ปรับ 110 เงิน อันนี้กล่าวไว้ในมังรายศาสตร์ แต่ในธรรมศาสตร์ไม่ได้กล่าวอย่างนั้น ให้นับลงจนถึง 1 บาทเงินก่อนแล้วจึงให้ปรับ 9 เท่า  ลักขโมยวัวให้ใช้ 3 ตัว ถ้าเป็นวัวตัวเมียตีราคาตัวละ 52 เงิน ถ้าเป็นวัวที่ตั้งท้องตีราคาตัวละ 110 เงิน  ลักขโมยควายก็ให้ปรับเช่นเดียวกันนั้นเถิด 
               ถ้าลักขโมยวัว-ควายท่านไปฆ่ากิน  และถูกเจ้าของวัว-ควายฆ่าตายก็ให้เลิกแล้วกันไปและให้เอาข้าวของผู้ลักขโมยใช้เป็นค่าวัว ควายอีกด้วย  ถ้ามีชาวบ้านซื้อเนื้อวัว ควายที่ถูกฆ่าตายนั้นไปกินก็ให้ปรับแล้วเอาให้กับคนลักเพราะเขาเสียค่าปรับให้แก่เจ้าของวัว ควายไปแล้ว  ถ้าผู้ลักขโมยนั้นเป็นทาสถูกฆ่าตาย หากทาสนั้นมีทรัพย์สินอันใดก็ให้เอาใช้เป็นค่าเสียหายและถ้ายังเหลืออยู่ให้ตกเป็นของเจ้านายผู้นั้น  แต่ถ้าทรัพย์สอนที่มีอยู่ไม่พอชดใช้ก็ให้แล้วกันไปเพราะได้ถูกฆ่าตายไปแล้ว 
               ถ้าทาสไปลักขโมยวัว ควายของผู้อื่นมาฆ่ากิน ผู้เป็นนายของข้าทาสไม่รู้ว่าเป็นเนื้อวัวควายที่ไปลักขโมยมาและได้กินเนื้อนั้นด้วย ให้ปรับเจ้านายของทาสนั้น 110 เงิน  ถ้าผู้ลักขโมยวัว ควายผู้อื่นมาฆ่ากิน แล้วเอาเนื้อทำอาหารแจกให้ชาวบ้านได้กินด้วย ให้ปรับผู้ที่ได้กิน 110 เงิน
               บุคคลผู้มีปัญญาควรยึดถือตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า อะกะโรนโตปิเจ ปาปัง กะเรนะตัง มุปะเสทะติ  สังกิโย โหติ  วาปัสะมิง อะวัณโณ ตัสสะ รุหะติ ดังนี้  อธิบายว่า  บุคคลผู้ใดกระทำบาปเป็นต้นว่าฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์  แม้ว่าตนเองไม่ได้กระทำแต่ได้ส้องเสพกับผู้กระทำบาป คือ ได้กิน ยินดีในบาปนั้นๆ ก็ไม่พ้นจากบาปนั้น 
               ลักขโมยม้าที่ไว้ขี่ใช้ 3 ตัว ให้ชดใช้ 3 ตัว  ตีราคาตัวละ 330 เงิน  ลักขโมยช้างให้ชดใช้ 3 ตัว ตีราคาตัวละ 1,300  เงิน  ลักขโมยคนให้ชดใช้ 3 คน  ตีราคาตามค่าของคนๆ ละ 330 เงิน แทน 1ตามค่าคนคองและคน 330 
               ได้ฟันหูวัว ควายก็ดี  ฟันหางวัว ควายก็ดี  ให้ใช้ 33,000 เบี้ย  ลักขโมยแพะให้ใช้ 3 ตัว ตีราคาตัวละ 22  เงิน  ลักขโมยลิงให้ใช้ 9 ตัว ตีราคาตัวละ 2 เงิน 
               ประการหนึ่ง ลักขโมยข้าวกล้าในนาของผู้อื่นไปปลูกยังนาของตน ให้ใช้ต้นข้าวละ 2,200 เบี้ย ให้ชดใช้ 10 เท่า  เหตุว่าข้าวเป็นของอุดมวิเศษกว่าทุกอย่าง  ลักหมาก 1 ทะลาย ให้ชดใช้
9 ทะลาย ตีค่าทะลายละ 1,100 เบี้ย 
               ประการหนึ่ง  ลักพาเมียผู้อื่นหนี ต่อมาได้นำมาส่งคืน ไม่ต้องปรับไหมเพราะถ้ามันพาหนีไปไกลคนที่เป็นผัวก็ไม่ได้เห็นเมียแล้ว ดีที่มันยังพามาส่งคืน แต่โทษที่มันได้ร่วมหลับนอนกับเมียผู้อื่นให้ปรับตามคลอง (กฏระเบียบ)  แต่ถ้าไม่นำมาส่งคืน ถ้าผัวตามพบก็ดี มีคนอื่นตามพบได้คืนมาก็ดี ให้ปรับผู้ลักพาตัวเป็น 990  เงิน ปรับในข้อหาที่มันได้ร่วมหลับนอนกับเมียผู้อื่น ส่วนข้อหาที่คบชู้กับเมียผู้อื่น ควรปรับตามโทษของการคบชู้กับเมียผู้อื่น
               ประการหนึ่ง  ลักพาทาสผู้อื่นหนี ต่อมานำมาส่งคืนให้เจ้าของ ไม่ต้องปรับในข้อหาที่ลักพาทาส  แต่ให้ปรับเป็นค่าตัวทาสที่ได้ลักพาไปโดยให้ตั้งแต่วันที่ลักพาจนถึงวันที่นำมาส่งคืนเป็นค่าเบี้ยเท่าใรก็ให้ปรับไปตามนั้น
               ประการหนึ่ง ทาสชายในเรือนหนึ่งได้ลักพาทาสหญิงอีกเรือนหนึ่งหนีไป  ต่อมาติดตามตัวมาได้โดยที่ตามตัวทาสชายกลับมาได้ก่อน ให้ขายทาสชายผู้นั้นได้เท่าใรแบ่งให้เจ้าของทาสหญิงนั้นครึ่งหนึ่ง ต่อมาภายหลังได้ตัวทาสหญิงกลับคืนมา ให้คืนค่าที่ขายทาสชายไปครึ่งหนึ่งนั้นให้กับเจ้าของทาสชาย ถ้าติดตามคืนมาได้ทั้ง 2 คน  ก็ให้เจ้าของทาสชายเป็นผู้ชดใช้ 
               ประการหนึ่ง ทาสกับทาสชอบพอกัน เจ้าของทาสหญิงต้องการจะไถ่ตัวทาสผู้ชายให้มาอยู่กับทาสหญิง เจ้าของทาสชายตั้งค่าตัวสูงจนเกินไปจนไม่สามารถซื้อได้ ครั้นเจ้าของทาสหญิงบอกให้เจ้าของทาสชายให้ไถ่ตัวทาสหญิงไปก็ไม่ยอมไถ่ไป ในเวลาต่อมาทาสทั้ง 2 พากันหนีไป ให้เจ้าของทาสชายชดใช้ค่าตัวทาสหญิงให้กับเจ้าของทาสหญิงทั้งหมด แต่ถ้าเจ้าของข้าทาสชายจะไถ่เอาทาสหญิงให้มาอยู่กับทาสชาย เจ้าของทาสหญิงไม่ยอมขาย แม้ว่าจะขายก็เรียกราคาสูงจนเกินไป เจ้าของทาสชายบอกให้ไถ่ตัวทาสชายไปก็ไม่ยอมไถ่ ต่อมาทาสทั้ง 2 พากันหนี อย่าปรับไหมเจ้าของทาสชาย 
               ประการหนึ่ง  จับวัว ควาย เป็ไก่ หมู หมาของผู้อื่นมาไว้  ไม่บอกเพื่อนบ้านหรือเจ้าขุนมูลนายให้รับรู้และได้ฆ่ากินสัตว์เหล่านั้น ถือว่าให้ผู้นั้นเป็นคนลักขโมย  ให้ปรับตามคลอง  แต่ถ้าบอกแก่เพื่อนบ้านหรือเจ้าขุนมูลนายให้รู้แล้วและได้ฆ่ากิน  ให้เขาใช้ค่าสัตว์ที่ได้ฆ่านั้น  ไม่ต้องปรับอีก ถ้าไม่ได้ฆ่าก็ให้เจ้าของสัตว์มาไถ่เอาคืนไป  ถ้าจับได้วัว ควายที่กลางเมือง ให้ไถ่ 3,300 เบี้ย  จับได้กลางป่า ให้ไถ่ 66,000 เบี้ย  ถ้าจับได้ที่ชายแดน ให้ไถ่ 13,300 เบี้ย ถ้าจับได้พ้นเขตแดนเมือง ให้แบ่งค่าของวัว ควายเป็น 2 ส่วน  ส่วนแรกให้กับเจ้าของวัว ควาย อีกส่วนให้กับคนจับได้ ถ้าจับได้หมู หมา เป็ด ไก่ ห่าน จับได้กลางป่าให้ตีค่าตัวสัตว์แบ่งออกเป็น 2 ส่วน  ส่วนหนึ่งให้กับผู้จับได้ อีกส่วนหนึ่ง  ให้เจ้าของสัตว์ จับได้ม้าที่กลางเมืองแต่ต่างแคว้น ให้เจ้าของไถ่ 11,000 เบี้ย  จับได้ที่กลางป่า ให้ไถ่ 22,000 เบี้ย  จับได้ในกลางเมือง ให้ไถ่ 44,000 เบี้ย  จับได้ที่นอกเขตแดน ให้แบ่งค่าตัวสัตว์คนละครึ่งจับได้ช้างกลางเมือง ให้ไถ่ 33,000 เบี้ย  จับได้กลางป่า ให้ไถ่ 66,000 เบี้ย  จับได้ที่ต่างเมืองให้ไถ่ 133,000 เบี้ย  จับได้ที่นอกเขตแดน ให้แบ่งค่าตัวช้างคนละครึ่งกับผู้จับได้ 
               ประการหนึ่ง ทาสหนีไปอยู่กับผู้ใดผู้หนึ่งเป็นเวลาหลายวัน ไม่ได้บอกกับเจ้าของทาส ไม่ได้เพื่อนบ้านหรือเจ้าขุนมูลนายให้รับรู้ ให้ถือว่าผู้นั้นปิดบังเอาทาสของผู้อื่นไว้รับใช้ตน ให้ปรับไหมตามคลองเมือง  ถ้าไม่บอกให้ใครรับรู้ หากทาสคนนั้นป่วยตายลงด้วยโรค ให้ผู้นั้นใช้ค่าตัวทาสนั้นครึ่งหนึ่ง  ถ้าทาสคนนั้นผูกคอตาย  แทงตัวเองตาย  หรือถูกโจรฆ่าตาย หรือหนีไปก็ดี ให้ผู้นั้นเสียค่าตัวทาสคนนั้นทั้งหมด ถ้าได้บอกแก่เจ้าขุน  บอกแก่เพื่อนบ้านได้รับรู้แล้วและได้ส่งข่าวไปบอกแก่เจ้าของทาสแล้วก็ดี  เมื่อเจ้าของทาสจะมารับทาสกลับก็ให้คิดเอาค่าข้าวน้ำที่เลี้ยงดูทาสนั้น วันละ 400 เบี้ย ถ้ารู้ที่อยู่ของเจ้าของก็ให้นำไปส่งคืนแก่เจ้าของเถิด
               ประการหนึ่ง ได้ตัวทาสของผู้อื่นที่กลางเมืองให้นำมาส่งคืนแก่เจ้าของ ให้คิดเอาค่าความยากลำบากในการได้มาและนำส่งคืน 11,000 เบี้ย หรือ  3,000 เบี้ย หรือจะคิดเอาค่าเลี้ยงดูวันละ 400 เบี้ย  โดยนับเอาจากค่ากินก็เท่าวันและ 400 เบี้ย  3 วันก็ 1,0002,000  ถ้าได้ทาสของ
ท้าวพญา เสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่ให้นำตัวไปส่งเท่านั้นส่วนค่าต่างๆ แล้วแต่ท่านจะกรุณาให้
               ประการหนึ่ง  ทาสลักขโมยทรัพย์สินของเจ้านายแล้วหลบหนีไปไกลถึงต่างแดน เจ้าของก็ไม่หวังที่จะได้คืนแล้ว  ต่อมามีคนได้ตัวทาสคนนั้นคืนมาให้กับเจ้าของ   ทรัพย์สินที่ได้ลักขโมยไปนั้นให้ตกเป็นของผู้ที่นำทาสมาส่ง  ค่าตัวของทาสคนนั้นให้แบ่งครึ่ง เอาเข้าคลังหลวงครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งให้กับกับผู้ได้ตัวมา  ทาสของผู้ใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นทาสท้าวพญาหนีไปอยู่กับผู้ใดก็อย่าให้เกิน 3 วัน  ถ้าครบ 3 วัน ไม่บอกกล่าวให้ผู้ใดให้รับทราบ  ให้ปรับ 330  เงิน ถ้าเกิน 3 วันไม่ได้บอกแก่เจ้าของทาสให้ทราบ แม้อยู่ไม่ถึง 3 วันก็ดี  ถ้าทาสคนนั้นเป็นโจรลักทรัพย์ของผู้อื่น  และเจ้าเรือนที่รับไว้ก็ไม่ทราบมาก่อน ทาสคนนนั้นมีโทษสมควรตาย  และเจ้าเรือนก็จะมีโทษถึงตายได้ 
               ประการหนึ่ง ได้จ้างคนเอาเรือข้ามน้ำแล้วเรือเกิดล่ม  ถ้าเจ้าของเรือกู้เรือขึ้นมาได้ก็แล้วไปถ้าเอาออกไม่ได้และผู้รับจ้างตายลง  ให้เจ้าของเรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่พ่อ แม่ ลูกเมียของผู้ตาย 660  เงิน ถ้ามีผู้อื่นกู้ขึ้นมาได้ ให้ผู้ถ่อเรือรับจ้างชดใช้ 110,000 เบี้ย แก่ผู้กู้ขึ้นมานั้น 
               ประการหนึ่ง  คนกำลังจมน้ำเกือบตาย  แล้วผู้ใดหนึ่งมาพบและช่วยเอาไว้ควรที่จะรู้และตอบแทนบุญคุณด้วยการให้เงิน 11,000 เบี้ย  ผู้ใดพบเห็นคนจะจมน้ำแล้วไม่ช่วย ผู้นั้นจะมีโทษ
               ประการหนึ่ง  ผู้ใดพบเห็นคนกำลังผูกคอหรือกำลังกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย ให้รีบไปแจ้งพ่อ แม่  เจ้านาย  ลูกเมีย (สามี) ของเขา  หากเขาสำนึกในบุญคุณแล้วจะให้รางวัลเท่าใดก็ให้เอาเท่านั้น ถ้าเขาไม่สำนึกในบุญคุณไม่ให้ค่าตอบแทนก็แล้วกันไป 
               ประการหนึ่ง เก็บลากเรือที่ไหลมาตามน้ำได้ ให้บอกเพื่อนบ้านหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองให้รับรู้  อย่าได้ดัดแปลงรูปเรือ  อย่านำเอาเรือไปซ่อน  ถ้าเจ้าของเรือติดตามเที่ยวถามหาก็ให้บอกถ้าไม่บอกเพื่อนบ้านหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองให้รับรู้และได้ดัดแปลงสภาพเรือ หรือเก็บซ่อนเอาไว้ เมื่อเจ้าของเรือมาถามก็ปิดบังไม่บอกตามตรง  ให้ถือว่าผู้นั้นมีเจตนาตั้งใจขโมยเรือ ให้ปรับ 2 เท่า ของค่าเรือ  แต่ถ้าได้ทำตามกฎที่ได้กำหนดไว้ เมื่อเจ้าของเรือจะมาเอาคืนก็ต้องเสียค่าไถ่เรือ ถ้าเรือมีลำขนาดใหญ่ให้เสียค่าไถ่ 50,000 เบี้ย ถ้าเรือลำขนาดปานกลาง ให้ไถ่ 44,000 เบี้ยถ้าเรือขนาดเล็กให้ไถ่ 11,000 เบี้ย การเสียค่าไถ่นั้นต้องพิจารณาดูสภาพของเรือประกอบกันด้วย
               ประการหนึ่ง  ถ้าเป็นสิ่งของที่ไม่มีชีวิต เช่น ผ้าเสื้อ  แก้วแหวนเงินทอง  พร้า มีด หอก ดาบ พลั่ว เสียมเหล่านี้ ถ้าพบว่าตกอยู่ที่ใดก็ให้ผู้พบนั้นตะโกนถามขึ้น 3 ครั้ง ถ้าไม่มีเจ้าของขานรับให้แจ้งแก่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองให้รับทราบแล้วเก็บสิ่งของนั้นเอาไว้  ต่อมาถ้าเจ้าของมาถามหาก็ให้สอบถามดูจนรู้แน่ชัดแล้วว่าเป็นเจ้าของจริงให้เสียค่าไถ่โดยตีราคาสิ่งของออกเป็น 3 ส่วน ให้แก่ เจ้าของ 2 ส่วน อีกส่วนให้ตีเป็นค่าไถ่
               ประการหนึ่ง เก็บสิ่งของได้แต่ไม่ตะโกนหาเจ้าของ และเก็บสิ่งของไว้เองโดยไม่บอกให้ผู้อื่นรับรู้ เจ้าของมาถามก็พูดจาหลบเลี่ยง  เมื่อถูกถามเอามเข้าจริงก็จึงบอกว่าตนนั้นเก็บได้ ให้เอาสิ่งของคืนนั้นโดยไม่ต้องเสียค่าไถ่
               ประการหนึ่ง ลักโขมยสิ่งของไปขาย  เมื่อเจ้าของไปพบว่าของๆ ตนอยู่ที่คนรับซื้อและได้สอบว่าผู้ใดเอามาขายแต่ผู้รับซื้อนั้นไม่ยอมบอก ต่อมาติดตามตัวคนที่ลักขโมยได้  ให้ถือว่าผู้รับซื้อนั้นลักทรัพย์รับของโจร ให้คืนเงินที่ได้ซื้อไว้ครึ่งหนึ่ง 
               ประการหนึ่ง เช่ายืมวัว ควายผู้อื่นไปทำนาก็ดี เอาไปลากเกวียนก็ดี ถ้าถูกโจรโขมยไปให้ชดใช้ค่าวัว ควาย มีค่าเท่าไรก็ให้ชดใช้ตามราคานั้น ต่อมาจับโจรได้ให้เจ้าของปรับไหมที่โจร และให้คืนค่าที่คนเช่าได้เสียไปก่อนหน้านั้น เมื่อเช่ายืมวัว ควายผู้อื่นไปใช้งาน ถ้าวัวควายนั้นไปตกเหวตกหลุม รู หรือตายไปนั้น หรือถูกคนร้ายยิงตาย ให้ผู้เช่าชดใช้ค่าวัว ควายนั้นทั้งหมด ส่วนเนื้อสัตว์นั้นให้แบ่งเป็น 3 ส่วน ผู้เช่ายืมได้ 2 ส่วน เจ้าของสัตว์ได้ส่วน 1 ถ้าเช่ายืมวัว ควายไปใช้งานแล้วเกิดสัตว์นั้นเป็นโรคและไม่ได้บอกแก่เจ้าของสัตว์ให้รู้ แต่ผู้เช่ายังได้รักษาเยียวยาอยู่ ถ้าวัวควายนั้นตายให้เสียค่าวัว ควายเพียงแค่ครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าไม่รักษาเยียวยา ไม่ได้บอกให้เจ้าของทราบก็ให้เสียค่าวัว ควายทั้งหมด
               ประการหนึ่ง ยืมช้าง ม้าไปขี่แล้วปล่อยให้หายไปแล้วมีคนไปตามมาได้ ให้ผู้ยืมชดใช้ค่าแก่คนไปตามเอามาได้  ถ้าช้าง ม้านั้นเกิดบาดเจ็บทำงานไม่ได้  ให้ผู้ยืมชดใช้ค่าช้าง ม้านั้น  ช้าง ม้าที่ป่วยก็ให้ไว้แก่ผู้ยืม ถ้าช้าง ม้าเกิดล้มป่วยอย่างกระทันหันแล้วผู้ยืมไม่ทันได้แจ้งแก่เจ้าของ และช้าง ม้าได้ตายลง ให้ผู้ยืมชดใช้ค่าช้างม้านั้นเพียงครึ่งเดียว แต่ถ้าได้แจ้งให้เจ้าของรู้แล้วว่าช้าง ม้าป่วย และยังได้ช่วยกันรักษาแต่ช้าง ม้านั้นก็ได้ล้มตายไป  ผู้ยืมไม่ต้องชดใช้ค่าช้าง ม้านั้น 
               ประการหนึ่ง ยืมเสื้อผ้าของผู้อื่นไปนุ่งห่ม  ถ้าเสื้อผ้านั้นขาดเสียก็ดี ไฟไหม้ก็ดี โจรลักไปก็ดี  หรือสูญหายเสียก็ดี ให้ผู้ยืมชดใช้ค่าเสียหาย, ยืมเรือของผู้อื่นไปใช้ แล้วเรือเกิดชำรุดเสียหายก็ดี ถูกลักโขมยไปก็ดี  ให้ผู้ยืมชดใช้ค่าเรือ
               ประการหนึ่ง เจ้านายใช้ให้ทาสของตนไปรับจ้างปีนมะพร้าว ปีนต้นไม้ โดยให้พายเรือไป ถ้าคนที่เป็นทาสตกต้นไม้ตายหรือจมน้ำตายก็ดี  ไม่ต้องปรับไหมผู้จ้าง แต่ให้ผู้จ้างช่วยทำบุญศพให้แก่ผู้ตาย ถ้าตกต้นไม้มีอาการบาดเจ็บให้ผู้จ้างช่วยรักษาพยาบาลตามความสมควร แต่ถ้าไม่ได้จ้างเพียงแค่ขอวานจากเจ้าของให้ทาสปีนต้นไม้  ถ้าตกลงมาตายให้ผู้วานขอนั้นชดใช้ค่าทาสนั้นครึ่งหนึ่ง 
               ประการหนึ่ง พบทาสของผู้อื่นที่ใดแล้วใช้ให้เขาขึ้นปีนต้นไม้โดยไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าของทาส หรือพ่อแม่ของทาส  เมื่อทาสตาย  ให้ผู้นั้นชดใช้ค่าทาสทั้งหมด ถ้าเกิดการเจ็บป่วยให้ผู้ใช้นั้นทำการรักษาทาสจนหายป่วย  ถ้าทาสคนนั้นทำงานไม่ได้ก็ให้ผู้ใช้นั้นทำงานแทน
               ประการหนึ่ง จ้างข้าทาสของผู้อื่นไปค้าขายในต่างเมือง โดยไม่รู้จักกับเจ้าของทาสนั้นถ้าทาสนั้นตายหรือหลบหนีไปก็ดี ให้ผู้จ้างนั้นชดใช้ค่าทาสทั้งหมด  แต่ถ้าเจ้าของอนุญาตให้ไปและทาสตายเกิดตายขึ้นมาก็ให้แล้วกันไป
               ประการหนึ่ง เจ้าของทาสให้ทาสไปรับจ้าง  ได้ค่าจ้างรายวัน  ถ้าทาสนั้นตายลงระหว่างการจ้างงาน  อย่าได้ปรับผู้จ้าง เพียงให้ผู้จ้างช่วยค่าทำศพร่วมกับเจ้าของทาสนั้นเถิด
               ประการหนึ่ง ไพร่เมืองเอาม้าเจ้าขุนไปเลี้ยง เกิดขาหัก ตาบอด  ให้ผู้เลี้ยงชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด
               ประการหนึ่ง เลี้ยงช้าง ม้าดุ  วัว ควายที่ดุ ชอบไล่ทำร้ายคน  ให้ตะโกนบอกแก่คนที่เดินผ่านให้หลบหลีก  ถ้าตะโกนแล้วยังไม่หลบหลีกแล้วถูกช้าง ม้า วัว ควาย เหยียบ ขวิด หรือแทงตาย อย่าปรับไหมผู้เป็นเจ้าของ  ถ้าเลี้ยงช้าง ม้าดุให้ตะโกนบอกคนเดินผ่านมาให้หลบ ให้ได้ยินเสียงในระยะ 50-100 วา แต่ถ้ามีตะโกนบอกแล้วไม่ยอมหลบ ถูกช้าง ม้าฆ่าตายก็ให้แล้วไป
               ประการหนึ่ง ให้ช้าง ม้าให้หลบหลีกเกวียน  ถ้านายช้าง นายม้าไม่ยอมหลบหลีก  ถ้าเกิดช้าง ม้าชนเกวียนและทำให้ของในเกวียนเสียหาย  ให้นายช้าง นายม้าชดใช้เกวียนและข้าวของที่เสียหายนั้นเถิด
               หากช้างร้าย ม้าพยศวิ่งเข้ามา ให้ป่าวร้องให้หลีกเว้นไกล 50-100 วา  ผู้ใดไม่หลบแล้วถูกช้างฆ่าตายก็แล้วกันไป  ถ้าว่าไม่ป่าวร้องให้คนทั้งหลายรู้และมีคนถูกช้างฆ่าตาย  ให้ชดใช้ค่าเสียหาย1,230  เงิน  ถ้าไม่ถึงกับตายแต่ได้รับบาดเจ็บทุพพลภาพ ให้จ่าย 660 เงิน  ถ้าป่วยไม่ถึงขั้นสาหัสให้จ่าย 330 เงิน หรือ 220 เงิน
               ประการหนึ่ง ม้าพยศ ชอบไล่ทำร้ายคน ให้ป่าวร้องตะโกนให้ระวังตัว ถ้าไม่มีคนป่าร้องให้คนที่ขี่หลังตะโกนป่าวร้อง  ถ้าไม่ตะโกนป่าวร้องและม้าวิ่งเข้าทำร้ายคนในตลาดจนถึงแก่ความตาย  ให้ชดใช้ 660 เงิน  ถ้าไม่ตายแต่บาดเจ็บสาหัส ให้ใช้ค่ารักษาพยาบาล 330 เงิน ถ้าป่วยไม่สาหัสให้ชดใช้  220 เงิน  อีกนัยหนึ่ง ผู้ที่หลบหลีกสัตว์ที่ดุร้ายไม่ให้ถูกทำร้ายเป็นต้นว่า ช้าง ม้า วัว ควาย ให้ปฏิบัติตามคาถาโลกนิติ ดังนี้  สิทธินัง ปัญญาสะหัตเถ  นะ สะเตนะ วา  ชินัง วัชเช หัตถิ นันตะสะหัสเสนะเทสะจาเวนะ  ทุชะนัง ดังนี้  อธิบายว่าผู้มีปัญญาพึงหลีกสัตว์ที่มีเขา คือ วัว ควาย นั้นให้ไกล 50 ศอก  ม้าดุ 100 ศอก  ช้างดุ  1,000 ศอก 
               ประการหนึ่ง ผู้ใดเสี้ยมวัว ควายให้เข้าชนกันตาย ให้ผู้นั้นชดใช้ค่าสัตว์ทั้งหมด สัตว์ที่ตายไปให้ตกเป็นของผู้นั้นไป 
               ประการหนึ่ง  ยุให้คนอื่นชกต่อยทำร้ายกันจนเกิดมีการตายเกิดขึ้น ให้ผู้ยุนั้นชดใช้ค่าทั้งหมด  ถ้าไม่ตายแต่ขาหัก แขนหัก ตาบอด ให้ผู้ยุชดใช้ 220  เงิน
               ประการหนึ่ง  วัว ควายได้เข้ากินข้าวในนาผู้อื่น ให้เจ้าของวัว ควาย นำไก่ 1 คู่ เหล้า 1,000 ให้แกเจ้าของนานั้นพื่อนำไปขอขมาต่อผีเสื้อนา[8] ต้นข้าวที่เสียหายนั้นให้เจ้าของวัวควายชดใช้
               ประการหนึ่ง วัว ควายเข้าไปหากินในไร่ นา สวน เจ้าของได้ยิง แทง ฟันให้ตายในที่นั้นให้ชดใช้ค่าวัว ควายทั้งหมด ส่วนซากวัว ควายที่ตายก็ให้เอาไว้กับผู้ที่ฆ่า  ถ้าวัว ควายได้รับบาดเจ็บป่วยให้เจ้าของวัวควายและเจ้าของไร่ นา สวนช่วยกันรักษา
               ประการหนึ่ง วัว ควาย เป็ด ไก่ หมู หมาเข้ามาในไร่ นา สวน เจ้าของสวนได้ไปบอกให้เจ้าของสัตว์ผูกมัดจับขังเสีย  ไปบอกถึง 23 ครั้ง  แต่ก็ยังไม่ผูกมัด  และเจ้าของไร่ นา สวนได้ฆ่าสัตว์นั้นตาย ให้แบ่งเนื้อสัตว์กันคนละครึ่ง  ถ้าพืชผลเสียหายให้เจ้าของสัตว์เป็นผู้ชดใช้
               ประการหนึ่ง พวกโจรลักขโมย ถ้าเจ้าทรัพย์จับได้คามือแล้วฆ่าตายก็ดี  หรือผูกคอพาไปให้เจ้าขุนพิจารณาคดีก็ดี  โทษควรฆ่าก็ให้ฆ่า
               ประการหนึ่ง ผู้ใดใส่ร้ายกล่าวหาคนอื่นว่าลักทรัพย์นั้น หากมีคลองเมืองตั้งไว้ แต่ค่าปรับนั้นให้ปรับ 2 เท่า  ถ้ากล่าวหาคนอื่นว่าลักเงิน 50 ก็ให้ปรับคนที่กล่าวหา 100  กล่าวหาว่าท่านลักทองคำ 50 ให้ปรับ 100 ทองคำ หากกล่าวหาผู้อื่นเมื่อเจ้าหน้าที่สอบสวนแล้วไม่มีความผิด ให้ปรับผู้กล่าวหานั้น 33,000 เบี้ย
               ประการหนึ่ง ผู้ใดด่าผู้มีศีลมีธรรม ให้ปรับ 33,000 เบี้ย
               ประการหนึ่ง ผู้ใดชอบตำหนิ ติเตียนผู้อื่น หรือพูดยุยงให้แตกคอ เมื่อเจ้าหน้าที่สอบสวนแล้วไม่เป็นความจริง  ให้ปรับ 33,000 เบี้ย
               ประการหนึ่ง ผู้ใดเผาบ้านเรือนผู้อื่น ให้ฆ่ามันเสียแล้วให้เอาข้าวของ เครื่องใช้ของผู้นั้นมาแทน ถ้าเผาสวนนอกบ้าน ไฟลุกลามไปไหม้บ้านเรือนผู้อื่น ให้ตั้งค่าตัวผู้ที่แล้วให้ขายเอาเงินชดใช้ค่าเสียหายเรือนที่ถูกไฟไหม้
               ทาสรับใช้มีอยู่ 4 ประเภท คือ ผู้ที่ถูกไถ่ตัวมาด้วยข้าวของ, เป็นลูกทาส, ยอมตนเพื่อจะมาเป็นทาส, เกิดเหตุพินาศฉิบหายด้วยเหตุประการใดก็ตามแล้วมาเป็นทาส นอกเหนือจาก 4 ประเภทนี้ไม่ควรนำมาเป็นทาสรับใช้
               ประการหนึ่ง ผู้ใดปลูกพืชผลในที่ดินของผู้อื่น ถ้าเจ้าของที่จะขอมีส่วนแบ่งในพืชผลนั้นให้แบ่งเป็น 10 ส่วน  ให้เจ้าของที่ 1 ส่วน  ผู้ปลูกได้ 9 ส่วน
               ประการหนึ่ง หากมีการเลี้ยงเหล้ายาปลาปิ้งกันบนเรือจนมืดค่ำ คนที่ร่วมกินได้กลับบ้านเกิดตายระหว่างทางขึ้น  ให้เสียค่าทำศพ 330 เงิน  ถ้าเป็นคนมีฐานะจนให้เสีย 220 เงิน  ถ้าจนมากให้เสีย 100 เงิน  ถ้าเจ้าของเรือนห้ามไม่ให้กลับ ให้นอนที่เรือนเขาแต่ไม่ยอมเชื่อฟัง เดินทางกลับบ้านไปแล้วตายระหว่างทางด้วยเหตุใดก็ตาม ไม่ต้องปรับไหมผู้ที่เป็นเจ้าของงาน แต่ถ้าผู้เป็นเจ้าของเรือนเมาแล้วห้ามผู้ที่อยู่ต่างเรือนจะกลับบ้านก็ไม่เชื่อฟัง  ให้นอนค้างก็ไม่ยอม  เจ้าของเรือนจะไม่ไปส่งกลับก็กลัวว่าจะเป็นโทษ จึงไปส่งเพื่อนกลับบ้านแล้วเดินทางกลับ  แต่ระหว่างทางเกิดตายขึ้นมาด้วยสาเหตุใดก็ตาม ให้ผู้ที่เจ้าเรือนไปส่งนั้นชดใช้ 330 เงิน  ถ้าเป็นคนจนให้ชดใช้ 220 เงิน
               ประการหนึ่ง ผู้ใดก็ตามรู้ว่าบุคคลผู้นี้เป็นโจรและยังให้พักอาศัย  ให้ปรับไหมเจ้าของเรือน330 เงิน  แต่ถ้าไม่รู้ว่าเป็นโจรและให้พักอาศัย ให้ปรับ 110 เงิน
               ประการหนึ่ง สามีไปอยู่บ้านภรรยา ต่อมาตีภรรยาให้ตายโดยไม่มีโทษ ทรัพย์สินที่หาได้มาด้วยกันไม่ให้แบ่งให้สามี  และให้สามีชดใช้ค่าหัวเมียเป็นจำนวน 3 คน เป็นเงิน 1,320 เงิน โดยหักเป็นค่าธรรมเนียมและเงินเข้าคลังหลวง 330 เงิน
               ประการหนึ่ง พี่น้องอยู่เรือนเดียวกัน พี่ได้ฆ่าน้องทั้งที่พ่อแม่ก็อยู่ที่เรือนนั้น ให้ขายตัวผู้เป็นพี่ได้ราคาเท่าใด ให้เป็นสินชดใช้ผู้เป็นน้องเถิด 
               ประการหนึ่ง ลูกฆ่าพ่อฆ่าแม่ น้องฆ่าพี่  ทาสฆ่าเจ้านาย ภรรยาฆ่าสามี  พวกเขาเหล่านี้ไม่ควรปรับสินไหม  ควรลงโทษให้ถึงตายสถานเดียว
               ประการหนึ่ง  มีคน 2 คนทะเลาะกัน  ผู้หนึ่งถืออาวุธ เช่น หน้าไม้ หอกดาบ ออกไปตั้งใจจะฆ่าแต่ไม่ได้ลงมือ ให้ปรับ 330  เงิน  ถ้ามีผู้พบเห็นและได้ห้ามปรามเอาไว้  ให้ปรับ 220 เงิน
ถ้าถืออาวุธและตั้งใจว่าจะไปฆ่า แต่ไม่ได้ไป ให้ปรับ 110 เงิน
               ประการหนึ่ง ถือไม้กระบอง ก้อนดิน มีด และตั้งใจว่าจะไปฆ่าผู้อื่น  เมื่อไปถึงวิ่งเข้าหากันแต่ไม่ได้ฆ่า ผู้ใดเริ่มก่อนให้ปรับ 110  เงิน
               ประการหนึ่ง ไถ่ทาส ซื้อคนมาเป็นทาส ไม่ทราบว่าคนนั้นมีโรคประจำตัวใดบ้าง เช่น เป็นคนบ้า เป็นตาฟาง เป็นผีกละ  ผีกละ[9] เป็นผีสือ[10]-ผีโพง[11] เป็นสะวายลอง[12] เป็นนิ่ว เป็นแช[13]เป็นม่วงชะคิว[14]  อยู่ได้ไม่ถึง1 เดือน จึงได้รู้ ก็ให้นำมาคืนได้  ถ้าพ้น 1 เดือนไปแล้วอย่าคืนค่ากันถ้ามีทาสหลวงลักพาคนมาขายก็ดี  ถึงจะนานเพียงใดก็ให้คืนทาสและเงินกัน 
               ประการหนึ่ง ทาสของผู้ใดขายไปหลายครั้ง หลสยแห่งแล้ว ภายหลังรู้ว่าทาสผู้นั้นกระทำผิด  ได้ฆ่าคนให้เจ้าของทาสเป็นผู้แก้ต่างโทษโดยชดใช้ค่าเสียหาย
               ประการหนึ่ง  ผู้ใดติดตั้งห่าว[15] ขวากหลาว[16] ไว้กับรั้วบ้าน ถูกวัวควายผู้อื่นตายในเวลากลางวันให้เจ้าของห่าว เจ้าของขวากชดใช้ค่าเสียหายนั้นเถิด สัตว์ที่ตายไว้กับเจ้าของห่าว ถ้าถูกห่าวตายในเวลากลางคืนให้แล้วต่อกันไป
               ประการหนึ่ง  ลักขโมยเงินทองให้พึงรู้ ดังนี้  ลักเงิน 10,000 ให้ปรับ 10,000  ลัก 9,000 ลงมาถึง 5,000  ให้ใช้คืนตามเงินต้น  แล้วให้ปรับอีก 3 เท่า  ถ้าลัก 4,000 ลงถึง 1,000  ให้ใช้คืนตามเงินต้น แล้วให้ปรับอีก 4 เท่า ถ้าลัก 900 ลงถึง 500  ให้ใช้คืนตามเงินต้น แล้วให้ปรับอีก 5 เท่า ถ้าลัก 400 ลงถึง 100  ให้ใช้คืนตามเงินต้น แล้วให้ปรับอีก 6 เท่า  ถ้าลัก 90 ลงถึง 50 ให้เสียตามเงินต้นแล้ว ให้ปรับอีก 7 เท่า  ถ้าลัก 40 ลงถึง 20 ให้เสียตามเงินต้นแล้ว ให้ปรับอีก 8 เท่า ถ้าว่าลัก 10 ลงถึง 1 ให้เสียตามเงินต้นแล้ว ให้ปรับอีก 9 เท่า 
               ประการหนึ่ง  ลักลอบฆ่าลูกเหยี่ยวของผู้อื่นที่เลี้ยงไว้ไล่นก ให้ปรับ 52 ต่อ 1 ตัว ถ้าเป็นเหยี่ยวดีและสวย ให้ปรับตัวละ 110  เงิน  ถ้าเป็นเหยี่ยวใหญ่หรือแหลวเล็กก็ดีที่ได้ฝึกสอนมาอย่างดี พอที่จะจับนกขนาดกลางได้ ให้ปรับตัวละ 220  เงิน  ถ้าลักขโมยเหยี่ยวที่ท้าวพญาให้มาเลี้ยงเป็นเหยี่ยวดี ตีราคาตัวละ 330  เงิน  ถ้าลักขโมยลูกเหยี่ยว ขโมยไข่เหยี่ยวที่ป่ายาง ป่าหญ้า ไร่นา ให้ปรับ 3,300 เบี้ย
               ประการหนึ่ง  ลักขโมยหลี่[17]ต้นรัก ตีราคาหลี่ละ 1,100 เบี้ย  เมื่อชดใช้ค่าหลี่ต้นรักแล้วให้ปรับอีก 33,000 เบี้ย 
               ประการหนึ่ง  ตัดไม้ยะ[18]ผู้อื่น ปรับ 52  เงิน  ถ้าตัดไม้เนื้อดีสำหรับทำด้ามหอก ปรับ 52  เงิน  ถ้าตัดไม้ที่ใช้สำหรับงานบ้านเมือง ปรับ 110  เงิน 
               ประการหนึ่ง  คนเกลียดชังกันได้ยิงหมา หมู เป็ด ไก่ วัว ควายกัน ไล่ฆ่ามาถึงเรือนผู้เป็นเจ้าของสัตว์ ให้ปรับ 11,000 เบี้ย  ไล่ฆ่าหมาของผู้อื่นจนมาถึงเรือนเจ้าของ ให้ปรับ 11,000 เบี้ย  
               ประการหนึ่ง คนที่เดินมาตัวเปล่าสวนทางกับคนที่หาบของผ่านมา ไม่หลีกทางให้แล้วได้ชนกับคนหาบของ  คนที่เดินมาตัวเปล่านั้นได้ชกคนหาบของด้วยมือเปล่า 1 ที แต่คนหาบได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ให้ปรับ 11,000 เบี้ย  ถ้าชกด้วยมือ 1 ที แล้วเกิดฟกช้ำ ห้อเลือด ให้ปรับ 11,000 เบี้ย ถ้าชก 1 ที และมีเลือดออก ให้ปรับ 22,000 เบี้ย  แต่ถ้าคนหาบของชกคนที่เดินมาตัวเปล่าก็ไม่ถือว่าเป็นโทษ ให้เลิกแล้วต่อกันไป
               พ่อค้าผู้หาบของหนักกับพ่อค้าผู้หาบของเบาเดินชนกัน ข้าวของที่ผู้หาบของหนักเกิดเสียหาย ให้ผู้หาบของเบาชดใช้ค่าเสียหาย  ถ้าผู้หาบหนักได้รับบาดเจ็บให้ชดใช้ 2 เท่า 
               โทษหนักไม่ควรปรับ มี 12 ประการ คือ ฆ่าคนตาย, ใช้ผู้อื่นไปฆ่าชิงทรัพย์, ขุดทำลาย เจดีย์วิหาร พระพุทธรูป, ฆ่าพระสงฆ์ผู้มีศีล, ลักขโมยของสงฆ์, ฆ่าพ่อแม่ ฆ่าพี่สาวคนโต ฆ่าพี่ชายคนโต, ฆ่าคนรับใช้ของเจ้าขุนมูลนาย, ภรรยาฆ่าสามี, เมียฆ่าผัว, นำทหารมาพักอยู่ในบ้าน, คิดคดทรยศต่อบ้านเมือง, ฉกชิง วิ่งราว ปล้นฆ่า, เผาบ้านเรือนผู้อื่น, นักโทษที่ถูกจับมาลงโทษ แต่ได้ถืออาวุธวิ่งหนีผู้ใดฆ่านักโทษผู้นั้นตายโดยไม่มีความผิด แต่ถ้านักโทษผู้นั้นวิ่งไปด้วยมือเปล่าไม่ควรฆ่า บรรดาโทษทั้งหลายเหล่านี้ให้ลงโทษตามกรรมของเขานั้นเถิด
               การตัดสินคดีที่ควรสอบสวนคดีใหม่ มี 8 ประการ คือ ใช้อำนาจตัวเองเป็นที่ตั้ง, ตัดสินด้วยการเห็นแต่อามิสสินจ้าง, ให้ผู้หญิงเป็นผู้ตัดสินคดี, ตัดสินคดีในเวลากลางคืน, ตัดสินคดีที่บ้านตัวเอง,ตัดสินในที่เงียยบสงัด, ตัดสินคดีคนที่เป็นศัตรูกัน และตัดสินคดีเข้าข้างพวกเดียวกัน การตัดสินคดีที่เข้าเงื่อนไข 8 ประการนี้ ควรล้มเลิกแล้วให้ตัดสินใหม่
               ประการหนึ่ง คดีที่มีอายุเกิน 20 ปีแล้ว ให้ถือว่าหมดอายุความ  บัณฑิตนักปราชญ์ผู้มีปัญญา รู้อรรถคัมภีร์ตามคดีโลก คดีธรรมควรพิจารณาให้รอบคอบ เห็นคุณ เห็นโทษเสียก่อนแล้วจึงตัดสินตามโทสานุโทษนั้นๆ
               ประการหนึ่ง ผู้มีปัญญาค่อยๆ พิจารณาดูคุณและโทษ  ผู้ร้ายและผู้ดีให้แจ้งเสียก่อนแล้วจึงควรเทียบกับคดีโลก คดีธรรมแล้วจึงตัดสินความ

คลองสมุตติราช
               ทีนี้จักกล่าวถึงคลองสมุตติราชอย่างพอสังเขปเอาไว้ ดังนี้
               มีผู้หนึ่งมาแย่งน้ำนา จะเอา 2 ส่วน 3 ส่วน มีคนกล่าวเตือนก็ไม่ฟัง  น้ำก็ไม่เข้านาคนอื่น ข้าวกล้าตายเท่าไร  ให้ผู้แย่งน้ำนั้นชดใช้ค่าเสียหาย  ถ้าว่าผู้แย่งน้ำนั้นตีผู้อื่นถึงขั้นเลือดออกด้วยมือให้ปรับ 113  เงิน 
               เจ้าขุนจัดสรรปันน้ำให้เสมอกันแล้ว  ต่อมามีคนฝ่าฝืนคำสั่งได้ไปแอบไขน้ำเข้านาในเวลากลางคืน  แล้วถูกจับได้ก็ให้นำตัวไปหาขุน ให้ปรับ 110 เงิน ถ้ามีอาวุธและได้ฆ่าผู้ไปต่อว่ากล่าวเตือนนั้น ให้ปรับ 330  เงิน
               ผู้ใดปิดเหมืองไม่ให้น้ำเข้านาผู้อื่นเพื่อจับปลา ทำให้น้ำในนาของผู้อื่นแห้ง ถ้ามีคนพบเห็นก็ให้ไล่ตีหัวจนแตกหรือไม่อย่างนั้นก็ให้ยึดเอาเครื่องหาปลาทั้งหมดหรือจับตัวไปส่งให้เจ้าขุนอบรมสั่งสอน 
               ผู้ใดไม่ช่วยเพื่อนสร้างเหมือง ฝาย  แต่ได้แอบไขน้ำเข้านาตัวเอง  ถ้าพบเห็นให้จับผูกมัดแล้วตีหัวให้เลือดออกแล้วจึงปล่อยตัว  หากภายหลังยังทำอีกให้ฆ่าตายในที่นั้นเถิด ถ้าไม่ฆ่าให้ปรับ 110 เงิน ผู้ใดทำลายฝายก็ให้ซ่อมแซมฝายให้ดีเหมือนเดิม  ถ้าไม่ซ่อมก็ให้จัดหาเครื่องบูชามาขอขมาผีขุนน้ำ  ถ้าหาเครื่องบูชามาขอขมา  ให้ซ่อมฝายก็ไม่ซ่อม  ก็ให้ปรับ ถ้าเป็นฝายใหญ่ให้ปรับ 33 เงินถ้าเป็นฝายเล็ก ให้ปรับ  11 เงิน
               ประการหนึ่ง ลักขโมยเบ็ดหรือลักไซดักปลา ให้ใช้ 9 เท่า, ผู้ใดขุดทำลายคันนาผู้อื่นเสียหายถ้าขอบใหญ่ ให้ปรับ 110  เงิน  ถ้าขอบเล็ก ให้ปรับ 52  เงิน, ผู้ใดตีเฉลวที่ปักหมายนาของผู้อื่นเสียหาย ให้ตีราคาตาแหลวอันละ 1 ซีก และให้ปรับ 9 เท่า  ผู้ใดปักเฉลวที่ไม่ควรปัก ให้ปรับ 52  เงิน  ผู้ใดตีเฉลวที่ผู้อื่นปักเมื่อตอนแรกนา สวน ไร่  ให้จัดหาเหล้า 2 ไห  ไก่ 2 คู่  เทียน 4 คู่ ข้าวตอกดอกไม้ มาบูชาผีเสื้อนา ผีเสื้อไร่ก่อนแล้วให้ปรับ 110  เงิน
               ผู้ใดเครื่องดักสัตว์ในไร่ นา สวนผู้อื่น  ถ้ามีสัตว์เข้าไปกินข้าวหรือพืชผลในนา ไร่ สวนเสียหายเท่าไรให้มันใช้ แล้วปรับอีก 110 เงิน
               ผู้ใดถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะลงในนาข้าวแรก[19]ผู้อื่น  ให้ผู้นั้นจัดหาเหล้า 2 ไห ไก่ 2 คู่  ข้าวตอกดอกไม้ มาให้เจ้าของนาบูชาเสื้อนา  ผู้ใดถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะใส่เฟ่าข้าว[20]ผู้อื่น ให้จัดหาเหล้า 2 ไห ไก่ 2 คู่ ข้าวตอกดอกไม้ เทียน มาให้เจ้าของนาบูชาเสื้อนาก่อน  และให้ปรับ 110  เงิน โทษฐานได้กระทำต่อข้าวซึ่งเป็นสิ่งที่วิเศษ และเป็นสิ่งที่ต้องให้ความเคารพบูชา
               ประการหนึ่ง  ลักขโมยข้าวเฟ่า[21] ตีราคาฟ่อนละ 2 เงิน  ลักขโมยข้าวที่ได้นวดได้ผัดตีแล้วนั้นให้ตีราคาค่าข้าวเป็น 2 เงิน แล้วให้ชดใช้ 9 เท่า,  ลักฟางของผู้อื่นที่กองเอาไว้  ตีราคาค่าฟางมัดละ 1 หวี ให้ชดใช้ 9 เท่า ผู้ใดลักคุ[22]ตีข้าว ตีราคาค่าคุลูกละ 1 หวี เช่าคุท่านไปใช้แล้วเกิดความเสียหาย ให้ชดใช้  ถ้ารักษาดีแล้วแต่เกิดการเสียหาย  ให้ชดใช้ค่าเสียหายเพียงครึ่งหนึ่ง
               ประการหนึ่ง  ผู้ใดลักทรัพย์ของผู้อื่น  เจ้าของไล่ทันให้ฆ่าเสีย ถ้าคนที่ขโมยยอมไปหาขุนเพื่อให้ตัดสินตามคลองเมืองก็ให้นำตัวไป  ถ้าผู้ลักได้แทงฟันเจ้าของทรัพย์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ให้ปรับ 330 เงิน โดยให้ปรับ 3 เท่า  ถ้าเจ้าของตายให้ฆ่าผู้ลักขโมย  ถ้าเจ้าทรัพย์บาดเจ็บเล็กน้อย ให้ปรับ 110 เงิน ถ้าทุบตีเจ้าทรัพย์ด้วยไม้ ให้ปรับ 52 เงิน
               ประการหนึ่ง  ผู้ใดทำนาเจ้าขุน ให้เก็บค่านาเเป็น 2 งวด  โดยเก็บครั้งแรกเมื่อข้าวในนาใกล้เวลาเก็บเกี่ยว เมื่อนำข้าวเข้าบ้านให้เก็บเอาค่าเช่าทั้งหมด  ถ้าเจ้าขุนไปทวง 23 ครั้ง แล้วได้ครบหมดก็ไม่ว่าอะไรกัน  แต่ถ้าทวง 56 ครั้ง ยังไม่จ่ายค่านา  ให้เจ้าขุนเอาข้าวให้ของผู้นั้นเท่ากับค่าทำนาแล้วไม่ให้ผู้นั้นเช่าอีก ผู้ใดทำนาเจ้าขุนแต่ไม่ทำด้วยตนเอง ให้คนอื่นทำแทนแล้วไม่ได้ผลผลิตเท่ากับปีก่อนๆ  ผู้รับทำนาแทนมาขอลดหย่อนค่าเช่า อย่าลด  ให้ไปขอลดกับเจ้าของนาที่ให้ทำนั้นเถิด ถ้าคนเดิมไม่ยอมลดค่าเช่าก็ไม่ควรให้ทำนาอีก
               ประการหนึ่ง  ผู้ใดทำนาใกล้บ้านประมาณ 10, 50, 100 วา  แล้วมีหมูไปกินข้าวในนาข้าวเสียหายเท่าใดให้เจ้าของหมูชดใช้  และบอกให้เจ้าของขังหมูไว้  ถ้ายังไม่ขัง ปล่อยให้หมูลงไปกินข้าวของผู้อื่น  เจ้าของนาไปต่อว่าเจ้าของหมู 23 ครั้ง ก็ยังไม่ขังหมู  ยังปล่อยให้หมูลงไปกินข้าวในนาอีกให้เจ้านาฆ่าหมูตัวนั้นกินเสีย แต่ถ้าเจ้าของนาไม่ฆ่าหมูก็ให้เจ้าของหมูชดใช้ค่าเสียหาย 3 เท่า ถ้าเจ้าของนาไม่ได้บอกเตือนเจ้าของหมูก่อนแต่กลับฆ่าหมูมากินให้ปรับเจ้าของนาตามราคาหมู 3 เท่า
               ประการหนึ่ง  ผู้ใดขุดเหมืองหรือขุดนาผู้อื่นแล้วทำให้เสียพื้นที่ปลูกข้าวไปเท่าใดก็ให้ชดใช้ค่าเสียหาย  ผู้ใดเผานาของผู้อื่นเสียหายหรือเผาเฟ่าข้าวของผู้อื่นก็ดี ให้จองจำใส่ขื่อคาแล้วเผาเถิดหรือให้ชดใช้ค่าข้าวเฟ่าที่เสียหาย คิดค่าข้าวเฟ่านั้น 120 เงิน  ผู้ใดเผาป่าแล้วไฟลุกลามไหม้นาข้าวผู้อื่น เสียหายเท่าใดให้ชดใช้เท่านั้น 
               ประการหนึ่ง  ผู้ใดหามศพผ่านนาผู้อื่นในระหว่างที่หว่านกล้าถึงปลูก นานั้นได้ข้าวเท่าใรให้ญาติผู้ตายชดใช้ทั้งหมดแล้วให้จัดเครื่องขอขมาเจ้าที่นา มีเหล้า 1 ไห ไก่ 1 คู่ เทียน 2 คู่  ถ้าหามศพผ่านนาแรก[23] ให้ญาติผู้ตายชดใช้ค่าข้าวในนาทั้งหมดเป็น 2 เท่า  และให้มีหมูตีนเต็มกำตัว 1 ตัว เหล้า 2 ไห ไก่ 2 คู่  ไปบูชาผีเสื้อนาด้วย  ผู้ใดนำศพมาฝังก็ดี มาเผาก็ดี มาทิ้งไว้ในนาของผู้อื่นที่เจ้าของนายังทำนานั้นอยู่ทุกปี  ให้ญาติผู้ตายนั้นเก็บเอาถ่านเถ้า เก็บเอากระดูกออกจากนาให้หมดสิ้นแล้วให้จัดเครื่องบูชา มีเหล้า 2 ไห ไก่ 2 คู่ ข้าวตอกดอกไม้ เทียน 2 คู่ มาขอขมาเจ้าที่นาเถิด 
               ประการหนึ่ง  ยืมข้าวผู้อื่นมากินในช่วงที่ข้าวมีราคาแพง และยังไม่ได้ใช้คืน เมื่อมีข้าวแล้วก็ให้ใช้คืนเหมือนกับช่วงที่ข้าวมีราคาแพง แม้เจ้าของข้าวต้องการเป็นเงินก็ให้ตีราคาข้าวเท่ากับราคาช่วงที่มีราคาแพง หากยืมข้าวมากินในช่วงที่ข้าวมีราคาถูก และยังไม่ได้ใช้คืน เมื่อมีข้าวแล้วก็ให้ใช้คืนเหมือนกับช่วงที่ข้าวมีราคาถูกนั้น
               ประการหนึ่ง เช่าวัว ควายของผู้อื่นไปเลี้ยง แล้วเสือมากัดตายก็ดี งูพิษกัดตายก็ดี ถูกโขมยหรือขโมยเอาไปฆ่ากินก็ดี ให้ผู้เช่าชดใช้ค่าวัว ควายทั้งหมด
               ประการหนึ่ง ผู้ใดขุดคันนาผู้อื่นเพื่อหาปลา หาเขียด ตั้งแต่ช่วงหว่านกล้าจนไปถึงเมื่อข้าวตั้งท้อง ให้ซ่อมคันนาให้ดีดังเดิม  ถ้าไม่ซ่อมให้ดีก็ให้เจ้าของนายึดเครื่องมือหาปลาเสียไม่อย่างนั้นก็ให้ตีแต่อย่าให้ถึงขั้นพิการแล้วปล่อยตัวไปเสีย 
               ประการหนึ่ง  ผู้ใดรื้อทำลายตลาดผู้อื่นเสียหาย ถ้าเป็นตลาดใหญ่ ให้ปรับ 200 เงิน ถ้าเป็นตลาดเล็ก ให้ปรับ 100 แล้วให้จัดหาเครื่องบูชาผีเสื้อกาด[24]ตามประเพณีที่เคยจัดมาแต่ก่อน 
               ประการหนึ่ง  ผู้ใดลักขโมยกอข้าว ให้ปรับ 9 เท่า  ถ้าลักขโมยข้าวกล้าที่จะนำไปปลูกให้ตีค่าหาบละ 2 เงิน แล้วปรับ 3 เท่า ลักข้าวเดือย[25] ให้ปรับกำมือละ 300 เบี้ย ชดใช้ 3 เท่า  ลักลูกเดือยกำมือละ 100 เบี้ย  ชดใช้ 9 เท่า  ลักขโมยแตงเต้าที่สุกแล้ว ลูกใหญ่ตีค่า 300 เบี้ย ใช้ 9 เท่า ถ้าลูกอ่อนอยู่ตีค่าลูกละ 1,000 เบี้ย ใช้ 3 เท่า  ลักขโมยแตงไทยที่สุก ลูกใหญ่ ตีค่าลูกละ 500 เบี้ย ชดใช้ 9 เท่า ถ้าเป็นลูกอ่อน ตีค่าลูกละ 300 เบี้ย ใช้ 9 เท่า  ลักแตงไทยที่ยังไม่สุก ตีค่าลูกละ150 เบี้ย ใช้ 9 เท่า ตัดเครือแตงเต้า ตีค่าเครือละ 1,000 เบี้ย ชดใช้ 9 เท่า ตัดเครือเมื่อแตงเต้าออกดอก ตีค่าเครือละ1,000 เบี้ย ชดใช้ 9 เท่า  ตัดเครือแตง ตีค่าเครือละ 500 เบี้ย ชดใช้ 9 เท่า ตัดเมื่อออกดอก ตีค่าเครือละ 1,000 เบี้ย ชดใช้ 9 เท่า ลักขโมยน้ำเต้า ตีค่าลูกละ 300 เบี้ย ชดใช้ 9 เท่าลักขโมยฟักเขียว ตีค่าลูกละ 500 เบี้ย ชดใช้ 9 เท่า ลักขโมยเมล็ดงา มีน้ำหนัก 1 พัน ปรับ 500 เบี้ย ชดใช้ 9 เท่า  ลักขโมยขิงมีน้ำหนัก 1 พัน ปรับ 500 เบี้ย ชดใช้ 9 เท่า  ลักขโมยข่ามีน้ำหนัก 1 พัน ปรับ 500 เบี้ยใช้ 9 เท่า  ลักขโมยขมิ้น มีน้ำหนัก 1 พัน ปรับ 200 เบี้ยใช้ 9 เท่า ลักขโมยถั่วฝักยาวตีค่ากำมือละ 200 เบี้ย ชดใช้ 9 เท่า  ลักขโมยต้นฝ้าย ตีค่าต้นละ 500 เบี้ย  ลักขโมยดอกฝ้ายมีน้ำหนัก 1,000 ชดใช้ 3 เท่า  ลักลอบตัดต้นพริก ตีค่าต้นละ 52 ปรับ 9 เท่า  ลักขโมยพริกหนุ่มมีน้ำหนัก 1,000 ปรับ 1 เงิน  ถ้าเป็นพริกแก่ มีน้ำหนัก 1พัน ปรับ 2 เงิน ชดใช้ 4 เท่า
               ประการหนึ่ง  ตัดเครือพลูขอผู้อื่น ตีค่าเครือละ 20 เงิน ชดใช้ 4 เท่า  ลักขโมยใบพลูที่มีน้ำหนัก 1 พัน ปรับ 300 เบี้ย ชดใช้ 4 เท่า ลักขโมยหมากแห้ง มีน้ำหนัก 1 พัน ปรับ 1 เงิน ชดใช้ 9 เท่าลักขโมยลูกหมาก ถ้าทะลายใหญ่ ปรับ 1 เงิน ใช้ 9 เท่า ลักมะพร้าว ตีค่าลูกละ 200 เบี้ย ชดใช้ 9 เท่า  ลักลอบตัดต้นกล้วยป่า ตีค่าต้นละ 200 เบี้ย ใช้ 9 เท่า  ลักลอบตัดต้นกล้วยบ้าน ตีค่าต้นละ 2 เงิน ชดใช้ 4 เท่า  ถ้าตัดทั้งกอ ปรับ 20 เงิน ชดใช้ 9 เท่า  ลักขโมยเครือกล้วย ตีค่าเครือละ2,000 เบี้ย ชดใช้ 9 เท่า  ลักอ้อย ตีค่า 100 เบี้ย ชดใช้ 9 เท่า  ลักขโมยผัก ตีค่ากำมือละ 50 เบี้ย ชดใช้ 9 เท่า ลักใบบัว ตีค่ากำมือละ 100 เบี้ย ชดใช้ 9 เท่า  ลักขโมยกระเทียม มีน้ำหนัก 1,000ปรับ 100 เบี้ย ใช้ 9 เท่า
               ลักลอบรื้อรั้วไร่ของผู้อื่น ให้ผู้ลักลอบจัดหาเหล้า 1 ไห ไก่ 1 คู่ ข้าวตอกดอกไม้เทียนไปบูชาเสื้อไร่ ถ้าสัตว์เข้ากินพืชในไร่เสียหายเท่าใดก็ให้ชดใช้และยังให้ใช้ค่ารั้วที่ได้รื้อนั้น 10 เงิน ลักลอบเผาไร่ผู้อื่นในขณะที่ยังไม่ถึงฤดูกาลเผา ให้ผู้เผาจัดหาเหล้า 1 ไห ไก่ 1 คู่ หมา 1 ตัว  ข้าวตอกดอกไม้ไปบูชาเสื้อไร่เถิด 
               ลักลอบฟันต้นหมากที่ออกผลแล้ว ตีค่าต้นละ 33 เงิน ใช้ 9 เท่า  ตัดต้นที่ยังไม่ออกผล ตีค่าต้นละ 11 ให้ชดใช้ 9 เท่า  ลัลอบฟันต้นมะพร้าว ตีค่าต้นละ 90 เงิน ใช้ 9 เท่า  ลักขโมยเมี่ยงที่มีน้ำหนัก 1 พัน ปรับ 1 เงิน ถ้าลักขโมยต้นเมี่ยง ให้ตีค่าต้นละ 40 เงิน ใช้ 9 เท่า ถ้าเป็นต้นเล็กให้ปรับ 22 เงิน ให้ชดใช้ 9 เท่า
               ประการหนึ่ง  ผู้ใดตัดรั้วไร่ นาผู้อื่น ถ้าสัตว์เข้ากินไปพืชในไร่ นา พืชผลเสียหายเท่าไรก็ให้ชดใช้ แล้วใช้ค่ารั้ว 50 เงิน ให้หาเหล้า 1 ไห ไก่ 1 คู่ บูชาเสื้อไร่เถิด 
               ผู้ใดขัดหลาวที่ใกล้ไร่เพื่อจะดักสัตว์ คนไปถูกเสียชีวิต  ให้เจ้าของหลาวใช้ชดใช้ 50 เงิน แล้วให้จัดพิธีศพด้วย 
               ประการหนึ่ง  มี 2 คน ชวนกันไปป่า ไปพบกับเสือหรือหมี  คนหนึ่งวิ่งหนีทิ้งให้เพื่อนถูกเสือกัดตาย ให้ชดใช้ค่าหัวเพียงครึ่งหนึ่งแล้วให้ช่วยลูกเมียของเพื่อนช่วยจัดการศพด้วย 
               ประการหนึ่ง  ผู้ใดถ่ายอุจจาระใส่ไร่ สวนผู้อื่น ในฤดูที่ปลูกข้าวไร่[26]  ให้มันจัดหาเหล้า 2 ไหไก่ 2 คู่ ข้าวตอกดอกไม้ เทียน ให้แก่เจ้าของไร่เพื่อบูชาผีเสื้อไร่  ถ้าถ่ายปัสสาวะ ให้จัดหา เหล้า 1 ไหไก่ 1 คู่ บูชาเสื้อไร่  
               ทำนาใกล้ทางคนเดินให้เว้นระยะทางเดิน 1 วา  ถ้าเป็นทางช้างม้าให้เว้นระยะห่างทาง 3 วา ถ้ามีคนขี่ช้าง ขี่ม้าผ่านไปแล้วปล่อยให้ช้าง ม้ากินข้าวไร่ หรือเหยียบข้าวไร่เสียหาย ให้ควาญช้าง ม้าชดใช้ค่าเสียหาย ถ้าควาญช้าง ม้าปล่อยช้างใกล้ไร่นาประมาณ 1,000 วา แล้วไม่เฝ้าดูแล ช้าง ม้ากินข้าวของผู้อื่นเสียเท่าไรให้ผู้ดูแลช้างชดใช้ค่าเสียหาย  ถ้าไม่มีของใช้ค่าให้เจ้าของช้างม้าเป็นคนชดใช้   ถ้าปล่อยช้างไกลไร่ 1,000 วาแล้ว หากช้างมากินข้าวไร่ ข้าวนา เจ้าของนาควรบอกให้ควาญช้างให้นำไปเลี้ยงให้ไกลกว่านั้นอีก  ถ้าควาญช้างไม่ทำตามที่เจ้าของนาร้องขอ  ข้าวไร่เสียเท่าใดให้ควาญช้างชดใช้  แต่ถ้าเจ้าของนาไม่บอกเตือนควาญช้างก่อน และได้แทงหรือยิงช้างบาดเจ็บไม่มากนักก็ให้แล้วกันไป  แต่ถ้ายิงแทงถูกตาช้างบอด หูหนวก ให้เจ้าของนารักษาช้างให้หาย  ถ้าตาบอดข้างใดข้างหนึ่ง ให้เจ้าของนาชดใช้ค่าช้างทั้งหมด ส่วนช้างนั้นให้มอบแก่เจ้าของนาไป  ถ้าเจ้าของนาไม่มีอะไรชดใช้ค่าช้าง ให้เจ้านาเป็นข้าทาสควาญช้างเถิด 
               ดังนั้น ถ้าช้างกินข้าวที่ใดให้เอาไม้ตีดินและร้องตะโกนให้มันหนี  อย่าได้ยิงหรือแทง  ถ้าช้างยังไม่หนีให้บอกแก่ควาญช้างให้เอาออกไป  ถ้าช้างเข้าไร่ นาก็ดี  หรือไม่เข้าก็ดี  ผู้ใดยิง แทงช้างให้รับบาดเจ็บ  ให้ปรับ 110 เงิน ถ้าช้างเสียตา เสียงวง ให้ประหารผู้ทำร้ายช้างเพราะถือว่าช้างเป็นเครื่องสัญลักษณ์ของบ้านเมืองและของท้าวพญามหากษัตริย์
               ประการ 1  ลักกินควายป่า ตีค่าตัวละ 100  เงิน ให้ชดใช้ 2 เท่า  ลักขโมยกวางกวางตีค่าตัวละ 72 เงิน ให้ชดใช้ 3 เท่า   ลักกวางแขม[27] ตีค่าตัวละ 100 เงิน ให้ชดใช้ 3 เท่า  ลักขโมยหมูป่า ตีค่าตัวละ 72 เงิน ให้ชดใช้ 3 เท่า  ลักกินเก้ง ตีค่าตัวละ 52 เงิน ให้ชดใช้ 3 เท่า ลักกินกระต่าย ตีค่าตัวละ 50 เงิน ให้ชดใช้ 3 เท่า  ลักกินนกยูง ตีค่าตัวละ 11 เงิน ให้ชดใช้ 3 ตัว ลักกินละมั่ง ตีค่าตัวละ 22 เงิน ให้ชดใช้ 3 เท่า  ลักวัวป่า ตีค่าตัวละ 100 เงิน ให้ชดใช้ 1  ตัว  วัวโทนลานฝาย ตัวละ 300 เงิน ให้ชดใช้ 3 เท่า ลักวัวป่าตัวเมีย ตีราคาตัวละ 50 เงิน ให้ชดใช้ 3 เท่า  ลักงูเหลือม ตีค่าตัวละ 22 เงิน ให้ชดใช้ 3 เท่า  ลักนกกระทา ตีค่าตัวละ 11 เงิน ให้ชดใช้ 3 เท่า  ลักไก่ป่าและ นกกระเรียน ตีค่า ตัวละ 52 เงิน ให้ชดใช้ 3 เท่า ลักลอบฆ่าหมี เสือโคร่ง  เสือเหลือง ฆ่าสัตว์เหล่านี้ไม่มีโทษเพราะเป็นสัตว์ตัวดุร้ายแต่ให้เอาหนัง  ดี ไข ไปถวายเจ้าขุนมูลนายเถิด  ลักกินต่ออานตีค่า 22 เงิน ให้ชดใช้ 3 เท่า  ลักต่อหลุม ลักต่อดำหลวง  ตีค่า 20 เงิน ให้ชดใช้ 3 เท่า ลักต่อแดง ต่อเหลือง  ตีค่ารังละ 22 เงิน ให้ชดใช้ 3 เท่า ลักต่อแล  ต่อลายขาว  ตีค่ารังละ 11 เงิน ให้ใช้ 3 เท่าลักผึ้ง ตีค่ารังละ 22 เงิน ให้ใช้ 3 เท่า  ฆ่าหมาไน ตีค่าตัวละ 72 เงิน ให้ใช้ 3 เท่า 
               ผู้ใดลักฟันต้นยาขางก็ดี  สับเอายางก็ดี ตีค่าต้นละ 12 เงิน ให้ใช้ 3 ต้น  ถ้าว่าโค่นต้น ให้ตีค่าต้นละ 300 เงิน ให้ชดใช้ 3 เท่า  ลักไม้สัก ให้ชดใช้ 3 ต้น เพราะถือว่าเป็นไม้ดีสำหรับสร้างเรือ ไม้ขึ้นบัญชี  ไม้จาย  ไม้ดีแปลงเรือ ไม้เหล่านี้ตีค่าต้นละ 72  เงิน ปรับ 3 เท่า  ไม้สักที่อยู่ในไร่นาชายป่า เชิงดอย  ผู้ใดลักเอาไม่ถามขออนุญาตจากเจ้าของที่ให้ตีค่าต้นละ 52 เงินปรับ 3 เท่าถ้าจะตัดขออนุญาตเจ้าของที่ ตีราคาต้นละ 300 เบี้ย 
               ลักขโมยปลาตะเพียนตัวใหญ่มากหนัก 10,000 น้ำขึ้นไป ตีค่าตัวละ 50 เงิน ให้ชดใช้ 3 เท่าลักปลาแค้ ปลาสวายตัวใหญ่ มีน้ำหนัก 5,000 น้ำขึ้นไป ตีค่าตัวละ 50 เงิน ให้ชดใช้ 3 เท่า ลักปลาคัง  ปลาฝาตัวใหญ่ มีน้ำหนัก 3,000 น้ำขึ้นไป ตีค่าตัวละ 72 เงิน ให้ใช้ 4 ตัว  ลักปลาเทาะ(ปลาเทโพ) ปลาเลิง ปลาโมโห ตีค่าตัวละ 22 เงิน ให้ชดใช้ 3 เท่า  ลักปลาซะพาก (ปลาตะพาก)และปลาขนาดคาตาแห 5 นิ้วนั้น ตีค่าตัวละ 11 งิน ให้ชดใช้ 3 เท่า 
               ผู้ใดลักแหที่มีขนาดตาแห 34 นิ้วนั้น มีค่าเท่าใด ให้ปรับ 110  เงิน ลักแหตาถี่มีค่าเท่าใดให้ชดใช้ค่าแห แล้วปรับอีก 52  เงิน ลักจิบ[28]ที่มีขนาดใหญ่ ให้ใช้ค่าจิบแล้วปรับอีก 110  เงิน  ลักเบ็ดแขวนขนาดใหญ่ ตีค่าหลังละ 330  เงิน  ลักเบ็ดควิด[29]ปรับ 52  เงิน  ลักเบ็ดลอยหลวง ปรับ 110 เงิน  ลักเบ็ดชกขนาดใหญ่ ปรับ 110 เงิน  ลักปลาลอย ปลาทุน มีน้ำหนัก 1,000 ปรับ 3 เท่า  ลักขโมยแอกควาย ปรับ 132 
               ผู้ใดลักลอบฆ่าช้างพลายป่าก็ดี  พลายบ้านก็ดี  ถ้าช้างมีลำตัวสูงตั้งแต่ 6 ศอกขึ้นไป ให้ชดใช้ 3,000 เงิน  ถ้าช้างพลายน้อย มีความสูงต่ำกว่า 6 ศอกลงมา  ตีค่าตัวละ 1,500 เงิน  ช้างพังใหญ่ตีค่าตัวละ 2,000 เงิน  ช้างพังน้อย ตัวละ 1,000 เงิน  ลักขโมยแรด ตีค่าตัวละ 1,000 เงิน อนึ่ง ลักช้างศึกนั้น ตีค่าตามความสูง ศอกละ 1,500   เงิน  ช้างพังใหญ่ ตีค่าศอกละ 850 เงิน 
               ประการหนึ่ง พ่อแม่ผู้ชายก็ดี พ่อแม่ฝ่ายชายก็ดีไม่พอใจว่าหญิงผู้นี้ไม่ควรเป็นภรรยาลูกเราว่าอย่างนั้นแล้วให้หนีไปก็ดี หรือพ่อแม่ฝ่ายชายก็ดีชายผู้นี้ไม่ควรเป็นสามีของลูกเรา ให้หลีกหนีเสียก็ดี ถ้าเป็นอย่างนี้ถือว่าสิ้นสุดความเป็นสามีภรรยากัน

การกระทำมิจฉาจาร
               จะกล่าวด้วยมิจฉาจารก่อน  ถ้าเป็นราชตระกูลกระทำมิจฉาจารกับด้วยเมียผู้อื่น ให้ปรับ 1,600  เงิน  ถ้าจับนม กอดเล้าโลม  ปรับ 800  เงิน  ถ้าจับเสื้อ จับผม ดมดอก  ปรับ 400 เงิน ถ้าพูดจาเล้าโลมเมียผู้อื่นในที่สงัด ให้ขอขมาสามีของหญิงผู้นั้นด้วยการใส่ขันขอขมา 200  เงิน ถ้าเป็นลูกท้าวพระยาขุนนาง เป็นบ่าวข้ารับใช้ขุน  นายแสน  นายหมื่น ที่ชอบเข้าหาเมียผู้อื่น ให้ปรับ 800  เงิน 
               หากจับลูบคลำนม ให้ปรับ 200  หากจับเสื้อผ้า ผม ดอมดม ให้ใส่ขันขอขมา 100 หากเล้าโลมเมียผู้อื่นในที่สงัด ให้ปรับ 50  หากไพร่เมืองหินชาติอันหยาบช้า ที่ชอบเข้าหาเมียผู้อื่นให้ปรับ 200  หากแตะเนื้อต้องตัว จับนมเล่น ปรับ 100  หยิบจับเสื้อผ้าเพื่อเอาดอก ให้ใส่ขันขอขมา 50 หากเล้าโลมเมียผู้อื่นในที่สงัดให้ปรับ 50 
               อนึ่ง ผู้ชายปลุกปล้ำผู้หญิง แต่ผู้หญิงไม่ชอบและร้องให้คนทั้งหลายให้รู้ ควรปรับไหมผู้ชาย 300 อย่าปรับไหมผู้หญิง


ปกิณกะ
               การเป็นอำมาตย์ที่รู้ในกฏหมายบ้านเมืองนั้นต้องเป็นที่มีสติสัมปัชชัญญะ ไม่หลงลืม อย่าเป็นคนง่วงเหงาซึมเซา และอย่ากล่าวในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ 
               ลักษณะอาการของคนผู้มีความผิด มี 7 ประการ คือ พูดเท็จ, พูดจาไม่หนักแน่นพูดด้วยน้ำเสียงเบา, มีใจสั่นหวาดกลัว, ชอบพูดแต่คำสบถ หยาบคาย, มีหน้าตาเลิกลัก และมีใบหูแดง 
               ลักษณะอาการของคนผู้ไม่มีความผิด มี 8 ประการ คือ พูดจาหนักแน่น ไม่หวั่นไหว,พูดจาฉลาด องอาจ และฉะฉานมีสายตาแดง, กล่าวมีความสัตย์จริงมีหน้าผ่องแผ้วสดใส, ไม่กล่าวคำสบถ
               บุคคลที่ไม่ควรฆ่ามี ดังนี้  สมณชีพราหมณ์ปุโรหิต หมอยา หมอโหรา นายหนังสือพื้นบ้านพื้นเมือง[30]  จ่าไต่คำ [31] นักปราชญ์ผู้ในศิลปศาสตร์ทั้งปวง  เสนาทหารกล้าผู้ขันอาสางานหลายครั้ง  บุคคลเหล่านี้แม้นมีโทษหนักเท่าใดก็ไม่ควรฆ่า ให้ขับไล่หนีออกจากเมืองก็พอ กษัตริย์และเสนาอำมาตย์หากไม่ตั้งอยู่คลองธรรมก็จักพินาศฉิบหาย ไพร่ไม่มีขุน ขุนไม่มีไพร่ก็พินาศฉิบหายครูบาอาจารย์ไม่มีลูกศิษย์ที่ฉลาดหลักแหลมก็พินาศฉิบหาย ศิษย์ไม่มีครูบาอาจารย์คอยสั่งสอนก็จักฉิบหาย สงฆ์วิวาท ไม่ลงอุโบสถด้วยกันก็จักฉิบหาย ท้าวพญาวิวาท ไม่มีมีฉันทามติร่วมกันก็จักพินาศฉิบหาย ชาวบ้านวิวาทกัน ต่างคนต่างก็เอาความเห็นของตนเป็นใหญ่ในบ้านเมืองใดก็ตาม บ้านเมืองนั้นจักพินาศฉิบหาย
               ผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสินคดีความนั้นจะต้องตัดสินคดีให้เกิดความชอบธรรมตามตัวบทกฏหมายอย่าเพิ่มหรือตัดออก มีสติสัมปัชชัญญะ หนักแน่น ให้ประกอบด้วยคุณ 22 ประการ อย่าให้มีความโกรธในเวลาพิจารณาคดีความ ให้พิจารณาคุณและโทษอย่างถ้วนถี่ อย่าตัดสินคดีความเร็วหรือช้าจนเกินไปให้ตัดสินไปตามธรรมศาสตร์นี้เถิด
               อิติ ธัมมัสสะราชา นิฏฐิตา, เสร็จแล้วเมื่อวันพฤหัสบดี แรม 14 ค่ำ เดือน 3 ไทว่าวันกดสัน จุลศักราช 1222 ยามแตรค่ำ 
ปริวรรต: ศรีเลา เกษพรหม (เมษายน 2557)
เรียบเรียง: อมรรัตน์ เฟื่องวรธรรม, ชนินทร์ เขียวสนุก (เมษายน 2557)





[1] กฏหมายโบราณ (ธรรมศาสตร์) ฉบับวัดป่าลาน  ตำบลทุ่งต้อม  อำเภอสันป่าตอง  จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพับสา รหัสไมโครฟิล์ม  82.113.03.017-017 สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ปริวรรตโดย ศรีเลา เกษพรหม 2556

                [2] คนใช้ที่ไม่มีค่าจ้าง, คนจนที่อาศัยอยู่กินกับผู้อื่น
            [3] เป็นชื่อตำแหน่งที่ทำหน้าที่ป่าวประกาศ
                [4] ต้นไม้ที่มีเทวดาอารักษ์ประจำหมู่บ้านสิงสถิตอยู่
                [5] พ่าง หมายถึง ฝ่าย, เบื้อง
                [6] ชื่อตำแหน่งขุนนางผู้ใหญ่
            [7] ชื่อตำแหน่งเก็บส่วย
                [8] ผีเจ้าที่ดูแลรักษาทุ่งนา
                [9] ผีปอบ, ผีที่มักเข้าสิงผู้คนให้นำอาหารไปเซ่นบูชา
            [10] ผีกระสือ
            [11] ผีชนิดหนึ่งที่ชอบจับกินกบ เขียดตามกลางทุ่งนาในเวลากลางคืน
            [12] เป็นอาการที่สตรีมีเสียงดังออกมาจากวัยวะเพศในขณะที่นอนหลับ อีกนัยหนึ่งว่า อาการที่ไฝแดงไฝดำออกเต็มตัว
            [13] อาการเป็นไข้อ่อนเพลียมาก อาจมีเหงื่อไหลด้วยอันเนื่องจากเสียเลือดไปมากหรืออาการเป็นลมเพราะหิวอาหารมาก
            [14]ชื่อโรคชนิดหนึ่ง
            [15] เครื่องยิงสัตว์ชนิดหนึ่งใช้หอกหรือหลาวขัดสายใยเอาไว้ เมื่อคนหรือสัตว์ไปถูกสายใยเข้าก็ลั่นแทงหรือยิงเอา
            [16] ไม้แหลมที่สำหรับปักเพื่อดักหรือตำคน สัตว์ที่ผ่านเข้าไป
            [17] หน่อของพืชที่สามารถแยกไปปลูกได้
            [18] ชื่อไม้ไผ่ชนิดหนึ่ง
                [19] ข้าวที่นำมาปลูกไว้ที่หัวนาเป็นการแรกนา
            [20] ข้าวที่เกี่ยวแล้ววางกับซังข้าวเพื่อตากให้แห้ง โดยปริยายหมายถึงข้าวเฟ่าที่มัดเป็นกำด้วย
            [21] ข้าวที่เก็บแล้ววางไว้เป็นกำๆ เพื่อตากแห้งก่อนจะมัดและรวบรวมไปฟาดเพื่อเอาเมล็ดข้าวต่อไป
            [22] ภาชนะสานขนาดใหญ่ใช้สำหรับนวดข้าว
            [23] นาที่เริ่มต้นทำการการปลูกข้าว
                [24] ผีหรือเทวดาอารักษ์ที่ดูแลรักษาตลาด
            [25] ชื่อพรรณไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง มีลำต้นและใบยาวคล้ายข้าวโพดแต่ใบสั้นกว่า ผลกลมหรือยาวรี สีขาว เหลือง หรือน้ำเงิน
            [26] ข้าวที่ปลูกในไร่ ไม่ต้องใช้น้ำหล่อเลี้ยงอย่างการปลูกในนา
                [27] เนื้อทราย
            [28] เครื่องมือจับสัตว์น้ำชนิดหนึ่ง ใช้เสาปักทางซ้ายและขวาเรียงกันเป็นตับ แล้วเอาเฝือกขนาบกับเสาทั้งสองข้างเช่นเดียวกับกระบัง แต่ระหว่างกลางเสาเอาอวนลงกางกั้นให้ปลาเข้าถุงอวน ใช้จับปลาในกลางคืนเมื่อน้ำไหลอ่อนๆ
            [29] เบ็ดที่มีตุ้มตะกั่วสำหรับถ่วงเหยื่อสูงจากขอเบ็ด
                [30] ผู้รู้กฏ ขนบธรรมเนียม จารีต ประเพณีของบ้านเมือง
            [31] ผู้ใต่สวนคดีความ)