“ปรัชญาไทย : ระบบคิดของชาวไทย”[1]
(Thai
Philosophy)
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
***********************
1. ความเบื้องต้น
โลกอุบัติมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ทราบได้ แต่นักวิทยาศาสตร์คาดเดากันว่า น่าจะมีอายุอย่างน้อยประมาณ 4,600
ล้านปีมาแล้ว
ในครั้งนั้นยังไม่มีมนุษย์เกิดมาชมโลก
ทว่ามนุษย์ที่ถือว่าเป็นสัตว์ประเสริฐพึ่งจะลืมตามาดูโลกเมื่อ 2
ล้านปี หากจะลองเทียบกับอายุของโลกลดทอนลงมาเป็น
24
ชั่วโมงแล้ว
มนุษย์เพิ่งจะเกิดได้เพียง 3 ชั่วโมง
48 นาทีเท่านั้น ถึงแม้ว่าเพิ่งจะลืมตาก็ตาม
แต่มนุษย์ก็สามารถพัฒนาตนเองให้โดดเด่นและแตกต่างจากสัตว์ร่วมโลกประเภทอื่น
ๆ
จนสามารถครองโลกดุจเป็นจ้าวโลกอยู่ทุกวันนี้ได้
เป็นเพราะมนุษย์มีพลังมันสมองที่รู้จักคิดและมีเวลาคิดหาเหตุผล ทั้งรู้จักใช้เหตุผลเป็นด้วย
แม้ว่ามนุษย์แต่อดีตจะอยู่กับธรรมชาติ แต่ก็ค่อยเรียนรู้ธรรมชาติ รู้จักดัดแปลงสภาพแวดล้อมเพื่อให้เหมาะแก่ตนเองจะได้มีความสุขสบาย พัฒนาการของมนุษย์ทำให้เราเห็นว่า แต่ก่อนมนุษย์ชอบร่อนเร่เรื่อยไป อยู่ไม่เป็นที่
แต่มนุษย์รู้จักนำเอาสิ่งที่ได้พบเห็นจากธรรมชาติมาเป็นบทเรียน ประมวลลงเป็นกฎเกณฑ์ เลียนแบบธรรมชาติ จึงรู้จักการเพาะปลูก การเกษตรกรรม
เมื่อเกษตรกรรมแพร่หลาย
ก็รวมตัวเป็นกลุ่มตั้งรกรากและอยู่กันเป็นที่เป็นทาง ถาวรและสัดส่วน เป็นสังคม เมื่อไม่ต้องเร่ร่อนและอยู่กันเป็นหลักฐาน
มนุษย์จึงมีเวลาว่างที่จะคิดหรือเกิดความคิดสงสัยเรื่องต่าง ๆ รอบตัว
ทั้งยังรู้จักแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ของกันและกัน
เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบและสร้างจุดหมายร่วมของการเป็นสังคมเดียวกัน
จึงต้องถ่ายทอดความรู้แก่กันและกันอย่างทั่วถึง สุดท้ายจนมีความเชื่อและอุดมการณ์เป็นแบบเดียวกัน นั่นคือจุดเริ่มต้นของศาสนาและปรัชญา ซึ่งเกิดมาเมื่อประมาณ 5,000 – 1,500 ปี [2] เทียบอายุโลก
เท่ากับเพิ่งเกิดมาได้แค่ 34 – 10 วินาที
เพราะมนุษย์เป็นคนช่างคิดช่างสงสัย สนใจและสังเกตในทุกสิ่งทุกอย่างรอบข้าง
พร้อมกับเสาะแสวงหาคำตอบที่คิดว่าจะสมเหตุสมผลต่อปัญหาที่คาใจของตน นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของการเป็น “นักปรัชญา” ดังนั้น ความเป็นนักปรัชญาจึงเกิดมาจากสถานภาพที่มนุษย์รู้จักใช้เหตุผลเป็น ดังที่อริสโตเติล ปรัชญาเมธีกรีก นิยามความหมายของมนุษย์ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล (Man
is a rational
animal.)”[3]
บุคคลที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นบิดาแห่งปรัชญาตะวันตก คือ
ธาเลส แห่งไมเลตุส (Thales of
Miletus) นักปรัชญาชาวกรีกรุ่นแรกแห่งกลุ่มไอโอเนีย (Ionic
Group) เพราะเป็นคนแรกที่จัดกระบวนความคิดทางปรัชญาอย่างเป็นระบบ[4]
1.1 แหล่งอารยธรรมที่สำคัญของโลก
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ชี้ให้เห็นถึงความเจริญและก้าวหน้าทางศิลปวิทยาของมนุษย์ตามภูมิภาคต่างๆ ของโลก
แต่กลุ่มที่ยังคงมีอิทธิพลเหนือความคิดและวิถีชีวิตของมนุษย์จากอดีตมาจนปัจจุบัน มีเพียง
3 กลุ่ม คือ
1.1.1 กลุ่มอารยธรรมกรีก เป็นอู่อารยธรรมโบราณ ตั้งอยู่บริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดทางปรัชญาตะวันตกทั้งมวล มีอายุเก่าแก่ประมาณ 2,000 – 322 ปีก่อน
ค.ศ.
เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดก็ในยุคกรีกโบราณ
มีเมืองเอเธนส์เป็นศูนย์ศิลปะวิทยาการ
นักปราชญ์ยิ่งใหญ่เป็นที่รู้จักก็มี
โสคราตีส(Socrates) เพลโต(Plato) และอริสโตเติล(Aristotle) ความเจริญทางอารยธรรมตะวันตกทั้งปวงแทบกล่าวได้ว่า
มีจุดกำเนิดมาจากกลุ่มนี้แม้แต่แนวคิดทางปรัชญา จนคำพูดว่า
“ประวัติศาสตร์ปรัชญาตะวันตก(สมัยหลัง) เป็นเพียงกลุ่มเชิงอรรถแห่งปรัชญาของเพลโต หรือ เพลโตคือปรัชญา”[5]
1.1.2 กลุ่มอารยธรรมลุ่มน้ำสินธู มีความเจริญไม่น้อยหน้ากว่ากลุ่มแรก เรียกตัวเองว่า “อารยัน” มีอายุประมาณ 3,000-1,500
ปี ก่อน ค.ศ.
ตั้งอยู่ดินแดนที่เรียกว่า ชมพูทวีป
ครอบคลุมประเทศอินเดีย
ปากีสถานและอาฟกานิสถาน
เป็นบ่อเกิดศาสนาต่างๆ เช่น ศาสนาพราหมณ์
ศาสนาพุทธ ศาสนาเชน ศาสนาซิกข์
และเป็นบ่อเกิดปรัชญาตะวันออกที่เรียกว่า
“ปรัชญาอินเดีย”
กลุ่มนี้มีอิทธิพลต่อความคิดและขยายอาณาจักรทางความคิดแผ่ไปรอบๆ ประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชียทั้งหลาย
1.1.3 อารยธรรมกลุ่มแม่น้ำแยงซี แถบลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง(Yantse Kiang) คือ ประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ปัจจุบัน เป็นอู่อารยธรรมชาวตะวันออกอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรม
ขนบธรรมเนียมและประเพณีมิได้ด้อยไปกว่าสองกลุ่มแรก มีอายุในยุคสมัยเดียวกัน คือประมาณ
1,500 – 300
ปีก่อน ค.ศ. เป็นบ่อเกิดของปรัชญาเมธีและนักการศาสนาชาวจีนที่โดดเด่น 2
ท่าน คือ เล่าจื๊อ(Lao Tzu) ผู้รักธรรมชาติและชีวิต
ศาสดาของศาสนาเต๋า(Taoism) และขงจื๊อ (Confucius) ผู้อนุรักษ์ความเป็นระเบียบและขนบประเพณีนิยมของสังคม
เป็นศาสดาศาสนาขงจื้อ(Confucianism)[6]
หลักความคิดทางปรัชญาของท่านเหล่านี้
เป็นต้นกำเนิดของปรัชญาจีนและแผ่อิทธิพลอย่างมากต่อแนวคิดและวิถีชีวิตของชาวจีนและประเทศใกล้เคียงที่ติดต่อทางการค้า เช่น
เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม
เป็นต้น แต่ที่ญี่ปุ่นได้แตกสายเฉพาะออกไปเป็นศาสนาชินโต แต่ก็ยังพอมองเห็นอิทธิพลของจีนผสมอยู่ไม่น้อย
อารยธรรมทั้ง 3 สาย ต่างก็แสดงบทบาทอันทรงพลังต่อแนวคิดและหลักดำเนินชีวิตของชาวตะวันตกและตะวันออก กลายรูปมาเป็นศาสนา ปรัชญา
ระบบการปกครอง ศิลปกรรม
ตลอดจนสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่ามาจนปัจจุบัน ชาวไทยก็หลีกไม่พ้นจากการถูกครอบงำความคิดโดยสายอารยธรรมตะวันออก ในยุคแรกโดยเฉพาะจากจีน เพราะชนชาติไทยเคยอยู่ใกล้จีนมาก่อน
ต่อมามีความสัมพันธ์กับอินเดียก็ได้ยอมรับเอาอารยธรรมแบบอินเดียที่แฝงมาในรูปของศาสนา เช่น
ศาสนาพราหมณ์ และ ศาสนาพุทธ
แม้ว่าสมัยหลัง ชาติไทยนับแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมาได้ติดต่อกับประเทศทางตะวันตก
ยอมรับเอาวัฒนธรรมและ เทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ให้เหมาะกับประเทศของตน
ในรูปแบบของการปรับปรุงจารีต(Neotraditionalism)[7] โดยการปฏิรูปความเชื่อ ค่านิยมและจารีตที่ได้รับการตีความใหม่
เพื่อต่อต้านแนวคิดสมัยใหม่แบบสุดโต่ง ดังนั้น วิถีชีวิตของชนชาวไทย จึงเป็นการผสานผสมกลมกลืนอารยธรรมจากจีน
อินเดีย และวัฒนธรรมตะวันตกสมัยใหม่ มาเป็นวิถีชีวิต และเอกลักษณ์ของตน
1.2 ความเป็นมาของชนชาติไทย
เพื่อย้อนให้เห็นภูมิหลังและรู้จักต้นตอของชนเผ่าที่เรียกตัวเองว่า
“ไทย”
ตลอดสาย นักค้นคว้าชาวตะวันตก
แสดงวิธีการค้นคว้า สืบหาต้นตอของชนชาติใดๆไว้ 2 วิธี [8] คือ วิธีโดยตรง ได้แก่
นักสำรวจค้นคว้าต้องเดินทางไปสำรวจดินแดนนั้นให้เห็นประจักษ์ด้วยตนเอง
เก็บข้อมูลทางภาษา วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ นับแต่การแต่งกาย ขนบจารีต ประเพณี ระบบสังคม เป็นต้น และ วิธีโดยอ้อม
ได้แก่
นักวิชาการต้องค้นคว้าจากหลักฐานประเภทต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ของชนชาตินั้น
หรือ ข้อมูลเอกสารที่ชนชาติอื่นๆได้บันทึกเกี่ยวกับชาตินั้นๆ ทั้งแง่บวกและแง่ลบ
หรือ เอกสารการค้นคว้าของนักวิชาการชาวต่างประเทศได้รวบรวมเขียนรายงานเอาไว้
ความเป็นมาของชนชาติไทย ก็ควรย้อนอดีต เพราะประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่บ่งบอกความเป็นมา
แม้จะไม่หมดเปลือกก็ตาม
ชาติไทยเป็นชาติที่เก่าแก่ชาติหนึ่ง
แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจนแสดงถิ่นฐานกำเนิดเดิมว่าอยู่ที่ใดแน่ การใช้วิธีโดยตรง คือ ประวัติศาสตร์ไทยกล่าวว่า เคยอยู่ที่ใด
ก็ไปสืบค้นหาต้นตอถึงแหล่งที่นั้นๆ วิธีนี้ สิ้นเปลืองเวลา และค่าใช้จ่ายมาก มีคณะค้นคว้าประวัติศาสตร์ของชาติไทยได้เดินทางไปสำรวจถึงดินแดนอัลไต
มองโกเลีย ยูนนาน และเสฉวนที่ประเทศจีนมาแล้ว
ก็ไม่พบหลักฐานที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบันอันสื่อได้ว่า คนไทย เคยอยู่ที่นั้นๆ
และชาติพันธุ์ที่อาศัยต่อมาก็เป็นคนละชาติพันธุ์กับชาวไทย
เมื่อใช้วิธีโดยอ้อม
ตรวจสอบจากหลักฐาน เอกสาร
ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของชาติเพื่อนบ้านมาเทียบเคียง แม้กระนั้น ความเห็นว่า คนไทยมาจากไหน
ก็มีความเห็นต่างกันหลายกลุ่ม
ก.
กลุ่มที่เชื่อว่าคนไทยมีถิ่นกำเนิดในถิ่นอื่นนอกจากดินแดนประเทศไทย
ในกลุ่มนี้เองก็ยังระบุถิ่นกำเนิดชาวไทย
เอาไว้หลายแหล่ง คือ
1)
คนไทยอพยพมาจาก บริเวณเทือกเขาอัลไต เจ้าของความคิด คือ วิลเลียมส์ คริฟตัน ด็อด(Williams
Clifton Dodd) หมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน กล่าวไว้ในหนังสือ The
Tai Race : The elder Brother of Chinese เมื่อ ปี 2425 หลังการไปสำรวจจากดินแดนไทย
ถึง ตอนใต้ของจีน ออกไปถึงกวางตุ้ง ระบุว่า เชื้อชาติไทย เป็นเชื้อสายมองโกล
เก่าแก่กว่า ฮิบรู และจีน เรียกว่า อ้ายลาว หรือ ต้ามุง [9] คำว่า ต้า
ในภาษากวางตุ้งเรียกว่า ไต แปลว่า ใหญ่
จึงระบุว่า ถิ่นกำเนิดไทยที่ อัลไต
(อัล = อะเลอ แปลว่า
ดินแดน ไต คือ ไท) จากประเทศมองโกเลีย
แล้วเคลื่อนย้ายเข้าจีน และร่นลงมาทางใต้เรื่อยๆ จนถึงคาบสมุทรอินโดจีน
กลุ่มนี้ มีคนสืบสอดหลายคน เช่น W.A.R .WOOD
ใน “A History of Siam.” (2467) ขุนวิจิตรมาตรา(สง่า กาญจนพันธ์) ใน “หลักไทย” (2437) และ หลวงโกษากรวิจารณ์(บุญศรี
ประภาศิริ) นักค้นคว้าผู้เชี่ยวชาญภาษาจีน และภาษาอังกฤษ ในงาน
วิเคราะห์เรื่องเมืองไทเดิม(2478)
2) มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่บริเวณมณฑลเสฉวน แนวคิดนี้ ย้อนลงทางใต้ของอัลไต มาที่จีนตอนใต้
คือ มณฑลเสฉวน ยืนยันโดย Terrien de
la Couperiee ใน หนังสือ The Cadle of The Shan Race Amongst the Shans(พ.ศ. 2428) ค้นคว้าจากหลักฐานจีน
ได้ความว่า ในประวัติศาสตร์จีน เป็นรายงานสำรวจภูมิประเทศจีน สมัยพระเจ้ายู้ กล่าวถึงชนชาติไทยไว้หน่อยหนึ่งว่า
มีชนชาติหนึ่งซึ่งมิใช่ชาวจีนอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียงซึ่งจีนเรียกว่า “คนเถื่อน”
ชนชาตินี้ต่อมาเป็นบรรพบุรุษของลาวและฉาน
พระยาอนุมานราชธนก็ยืนยันว่า
เมื่อประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว
จีนเรียกเผ่านี้ว่า “มุง” หรือ “ต้ามุง” (Ta Mung) ก็คือคนไทย และมีชื่อเรียกต่างๆกัน เช่น
ลุง ปา เงี้ยว ตั้งอาณาจักรลุง อาณาจักรปา
และอาณาจักรเงี้ยว
ชนชาตินี้ต่างกระจัดกระจายอยู่ในแถบมณฑลยูนนาน เฉสวน
ฮูเป โฮนาน และ แอนหุย
ในแถบเขาเซียลุง (Chia
Lung)[10] ภูมิภาคแถบนี้เป็นภูเขา เป็นที่ลุ่มและป่าไม้ ได้รับน้ำจากลุ่มน้ำโขง และเจ้าพระยาตอนล่าง[11]
งานศึกษา เรื่อง ชนชาติไทย
ของพระยาอนุมานราชธน(2483) บวกกับงาน “พงศาวดารชาติไทย” ของพระบริหารเทพธานี(2496) รวมทั้งงาน “สยามกับสุวรรณภูมิ”(2476) และ “ชนชาติไทย” (2490) ของหลวงวิจิตรวาทการ ยืนยันแนวคิดที่
2 นี้
3)
บรรพบุรุษชาวไทย มีถิ่นกำเนิดกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณทางตอนใต้ของจีน ตอนเหนือของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และที่บริเวณรัฐอัสสัมของอินเดีย
นักสำรวจชาวอังกฤษชื่อ Archibal
R. Colquhoun ไปสำรวจดินแดนในถิ่นนี้ พบเห็นความเหมือนกันด้านภาษา
การแต่งกาย อาหารการกิน และวิถีชีวิต สรุปว่า เชื้อสายไทย กระจายอยู่ทั่วไปในดินแดนแถบดังกล่าว
4)
ถิ่นเดิมอยู่ที่คาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะต่างๆในอินโดนีเซีย ได้อพยพขึ้นมา
มีนายสมศักดิ์ สุวรรณสมบูรณ์ เสนอใน
สยามสมาคม ปี 2506 โดยอาศัยวิชาการแพทย์ด้านกลุ่มเลือด
สุ่มตัวอย่างเลือกเก็บจากกลุ่มคนบริเวณนี้ ว่ามีความคล้ายกับคนไทย จึงสรุปว่า
มิได้มาไกลจากถิ่นภูเขาอัลไต
ข.
กลุ่มที่เชื่อว่า คนไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ดินแดนประเทศไทยนี้เอง
แนวคิดที่ว่า
คนไทยไม่ได้อพยพมาจากไหน แต่อยู่ที่บริเวณดินแดนไทยนี้เอง มีนักภาษาศาสตร์
และมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ชื่อ Paul Benedict ค้นคว้าตามหลักภาษาศาสตร์ ว่า ตระกูลภาษาออสตริค
หรือ ออสโตรนีเซียน ประกอบด้วยสาขาภาษา ชวา-มลายู
ธิเบต-พม่า และไท(Tai) ภาษาไท เป็นภาษาใหญ่
ที่พูดสื่อสารกันในชนชาติเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ศูนย์กลางคนที่ใช้ภาษานี้ เคยอยู่ในดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน เมื่อ 4,000 –3,500 ปีมาแล้ว แต่มีคนชาติอื่นเช่น มอญ เขมร เข้ามารุกราน
จึงอพยพไปหลายทาง บางกลุ่มไปทางตอนใต้จีน ถูกจีนผลักต่อ จึงกระจายลงใต้ไปอยู่ที่
รัฐอัสสัมของอินเดีย รัฐฉาน พม่า ลาว ไทย
และไทยดำที่ตังเกี๋ย [12]
นอกจากวิธีอาศัยข้อมูลทางภาษาศาสตร์
แล้ว ยังมีกลุ่มที่ยึดความเชื่อทำนองนี้ แต่อาศัยหลักฐานทางโบราณคดี เช่น Dr. Guaritch Wales เคยเชื่อว่า
คนไทยอยู่ที่ลุ่มน้ำแม่กลองเพราะการขุดพบกระโหลกศีรษะที่พงตึก จังหวัดราชบุรี และนายแพทย์สุด แสงวิเชียร ยืนยันจากการตรวจสอบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ 37
โครง สำรวจกับชาวเดนมาร์ก บริเวณสองฝั่ง แควน้อย แควใหญ่ จังหวัดกาญจนบุรี ใน ปี
2503-2505 พบว่า รูปแบบของโครงกระดูกไม่แตกต่างจากของคนไทยปัจจุบันเลย
แม้ว่า ที่มาของชนชาติไทยอาจจะยังถกเถียงกันไม่จบว่า
ชนชาติไทยมิได้อพยพมาจากภูเขาอัลไต และมิได้ถอยร่นลงมามาจากจีน
ชนชาติไทยน่าจะตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บริเวณดินแดนปัจจุบันมาแต่ดั้งเดิม
เพราะการขุดพบหัวกระโหลกมนุษย์โบราณ ที่ราชบุรี พบโครงกระดูกที่กาญจนบุรี
แม้แต่การขุดค้นที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี
ชุมชนโบราณที่มีอายุมากกว่า 3,500 ปี ในยุคสำริด
ก็พบโครงร่างมนุษย์ และเครื่องมือเครื่องใช้เหมือนคนไทยในดินแดนปัจจุบัน หากจะกล่าวถึงภาษาที่ใช้ร่วมกันเกี่ยวกับเรื่องสัตว์
และพืช ก็ไม่ปรากฏว่า มีชื่อสัตว์และพืชเขตหนาว อย่างเมืองจีนเลย
คนไทยต้องไม่อพยพมาจากถิ่นอื่นแน่นอน
อาจเป็นไปได้ที่คนคล้ายคนไทยปัจจุบันเคยอยู่ที่นี่ แต่ไม่อาจสรุปว่า เป็นบรรพบุรุษสืบทอดสายโลหิตสู่คนไทยปัจจุบัน
เมื่ออาศัยอยู่แถบนี้ ชนเผ่าไทยได้ตั้งอาณาจักรหลายอาณาจักร รุ่งเรืองบ้าง
ล่มสลายบ้างตามกาลเวลา แต่ที่เป็นปึกแผ่นก็ในยุคอาณาจักรสุโขทัย เมื่อราว
พ.ศ.1781 เมื่อชนชาติไทยสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย ก็ไม่ได้อพยพไปทางไหนอีก สืบสานความเป็นไทยเอาไว้ ผ่านอาณาจักรอยุธยา อาณาจักรกรุงเทพฯ ตราบจนปัจจุบัน
ที่กล่าวมานี้หมายเอาเฉพาะชาวไทยกลุ่มอาณาจักรกรุงเทพฯ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก
ชาวไทย ไม่เคยเรียกตัวเองว่า “สยาม” (Siam) หรือ “เซียม” ดังที่ชาวต่างประเทศขนานนาม ว่า “ประเทศสยาม” แต่ชอบเรียกตัวเองว่า “ไท” เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อของชนชาติที่มีมาแต่โบราณ
ในสมัยรัฐบาล จอมพล แปลก พิบูลสงครามจึงได้ประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.
2482 ว่า “ประเทศไทย”
1.3 วิวัฒนาการของสังคมไทยสมัยต่าง ๆ
1.3.1 อาณาจักรก่อนและสมัยสุโขทัย
ประเทศไทยตั้งอยู่ในคาบสมุทรอินโดจีนและมหาสมุทรอินเดียซึ่งอยู่ระหว่างเส้นทางของแหล่งอารยธรรมของโลก
คือ อารยธรรมอินเดียศูนย์กลางของศาสนา และจีนซึ่งมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและติดต่อค้าขายถึงยุโรป
จนได้ชื่อเส้นทางการค้าว่า " เส้นทางสายไหม " ดังกล่าวแล้วว่า วัฒนธรรมของจีนและอินเดียมีอิทธิพลต่อชุมชนไทยและชวา
มลายู มอญ และพม่า หลักฐานโบราณคดีแสดงให้เห็นว่ามีชุมชนตั้งแต่สมัยหิน ชุมชนเหล่านี้พัฒนาความเป็นอยู่และเจริญอย่างต่อเนื่อง
ประกอบอาชีพเกษตรกรรมจึงตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง จากตำนานมูลศาสนา
ตำนานสิงหนวัติกุมาร จามเทวีวงศ์ ฯลฯ ตำนานเหล่านี้เล่าเรื่องการสร้างบ้านเมืองของชุมชนยุคโบราณ
ต่อมามีการรวมเป็นกลุ่มเมืองโดยผู้มีอำนาจเป็นหัวหน้า กลุ่มเมืองกระจายอยู่ทั่วไป
แถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชายฝั่งทะเลภาคใต้ มีการติดต่อกันทางวัฒนธรรมและการค้าขายระหว่างกันอย่างต่อเนื่องตลอดมา
ในช่วงพุทธ ศตวรรษ ที่ 16-18 เมือง ละโว้ เป็นศูนย์กลางความเจริญทางด้านวิทยาการ เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ของชนชั้นผู้ปกครองบ้านเมือง
โดยได้รับอิทธิพลจากกษัตริย์ขอม ตามความเชื่อของขอมทั้งพระพุทธศาสนานิกายมหายาน และศาสนาพราหมณ์
ทำให้เกิดโบราณสถานเพื่อเป็นที่ประกอบพิธีกรรมบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รูปเคารพ
รูปแบบการปกครอง อำนาจอยู่ที่ศูนย์กลาง คือ พระมหากษัตริย์ หลังสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่
7 ( พ.ศ.1724-1762) คนไทยรวมตัวกันขึ้นต่อต้านอำนาจผู้ปกครองขอม
ช่วยกันขับไล่ขอมออกไป แล้วอภิเษกให้ พ่อขุนบางกลางหาว เป็นกษัตริย์ครองกรุงสุโขทัย
ทรงพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง ดังปรากฏ ในศิลาจารึก
ระบบความเชื่อ ศาสนา ประชาชนในอาณาจักรสุโขทัย มีความเชื่อทั้งในด้านภูต ผี วิญญาณ
ไสยศาสตร์ ศาสนาพราหมณ์ และ พระพุทธศาสนา สุโขทัยรับพระพุทธศาสนานิกายหีนยานจากนครศรีธรรมราช
ทำให้สุโขทัยมีวัด พระพุทธรูป และศิลปะแบบสุโขทัยเป็นแบบฉบับมาจนถึงทุกวันนี้
1.3.2 อาณาจักรอยุธยา เมื่อพระเจ้าอู่ทองได้สถาปนาอาณาจักรทางตอนใต้สุโขทัยและมีกำลังขึ้นมาก็ยึดครองสุโขทัย
มีศูนย์กลางอำนาจที่กรุงศรีอยุธยา และสืบทอดความเจริญมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 400 ปี ระบบการปกครองสังคมสมัยอยุธยา
กษัตริย์ทรงเป็นเจ้าชีวิต เจ้าแผ่นดิน ชนชั้นปกครองหรือมูลนายประกอบด้วย
เจ้านายและขุนนาง ชนชั้นใต้ปกครอง ประกอบด้วย ไพร่และทาส มีพระสงฆ์เป็นผู้เชื่อมระหว่างชนชั้นในสังคม
การควบคุมกำลังคนในสมัยอยุธยา มีระบบไพร่ คือ การจัดสรรแรงงานในหมู่ชนชั้นปกครอง พร้อมทั้งมีระบบศักดินากำหนดฐานะ
สิทธิและหน้าที่ สมัยอยุธยา ใช้ระบบอุปถัมภ์ระหว่างมูลนาย และไพร่ มูลนาย สามารถออกคำสั่ง
บังคับบัญชา ให้ความคุ้มครอง ช่วยเหลือ ไพร่ต้องใช้แรงงาน ต้องเคารพ เชื่อฟัง มีความจงรักภักดีต่อมูลนาย
ระบบความเชื่อศาสนา
ก็คงเป็นแบบเดียวกับสมัยสุโขทัย แต่การปกครองและการจัดระเบียบสังคมในสมัยอยุธยา ได้รับอิทธิพลจากขอม
กษัตริย์เป็นมีฐานะเป็นแบบเทวราชา หรือสมมุติเทพ
1.3.3 อาณาจักรรัตนโกสินทร์
หลังจากประเทศไทยได้เสียทีแก่พม่า
อยุธยาล่มสลาย พระเจ้าตากสินกอบกู้เอกราช ตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี แต่อยู่ได้ไม่นาน
เจ้าพระยาจักรีก็ปราบดาภิเษก เป็นปฐมกษัตริย์ “พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” ย้ายเมืองหลวงมาตั้งที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยา บ้านบางกอก เรียกว่า
กรุงเทพทวารวดีฯ เป็นอาณาจักรกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2325 ระบบการปกครองและความเชื่อก็คงสืบสานแบบสุโขทัยและอยุธยา
ต่อมาเมื่อชาวตะวันตก ได้นำศาสนาคริสต์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเผยแผ่นับตั้งแต่รัชกาลที่
3 จนถึงรัชกาลที่ 6 ทำให้ไทยต้องปรับตัวเพื่อรับการเข้ามาของโลกตะวันตก
มีคนแบ่งยุคการรับความเจริญแบบตะวันตกของชาวไทย ว่า รัชกาลที่ 3 เป็นแบบตั้งหลัก รัชกาลที่ 4 เป็นแบบเปลี่ยนแปลงขอบนอก
รัชกาลที่ 5 เป็นแบบการเปลี่ยนแปลงสถาบันหลัก และรัชกาลที่ 6
เป็นแบบการหาความสมดุล โดยสร้างชาตินิยมขึ้นมา ตลอด 4 รัชสมัย(2467-2469) ร่วม 100 ปี
ประเทศไทยได้รับเอาความเจริญทางการศึกษา การแพทย์ การสาธารณสุข แม้การดำเนินชีวิตก็พัฒนาเพื่อเป็นแบบสมัยใหม่ ต่อมาในปี พ.ศ.2475 เกิดเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย
จึงมีการปฏิวัติวัฒนธรรมทางการเมืองการปกครองครั้งใหญ่ การดำรงชีพเริ่มเลียนแบบฝรั่งมากขึ้น
เปลี่ยนจากสังคมครอบครัว เป็นสังคมธุรกิจ ศาสนสถานต่างๆ ถูกปล่อยปละละเลย
ปล่อยให้วัดโบราณกลายเป็นมรดกในสังคมชาติ
ภาษาแบบฝรั่งเข้ามาแทนภาษาบาลีและสันสกฤต ศิลปะแบบตะวันตกค่อยเป็นที่นิยมยกย่อง
แทนรูปแบบวัฒนธรรมและค่านิยมของไทยดั้งเดิม
ถ้าจะพิจารณาด้วยเหตุผล
เปิดใจกว้างยอมรับกระแสการเปลี่ยนแปลงแบบสมัยใหม่ จะพบว่า เมื่อวัฒนธรรมตะวันตกถูกนำเข้ามาเผยแพร่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปฏิกิริยาสนองตอบและการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาใช้ของชาวพื้นเมือง
ไม่ว่าจะเป็นอาณานิคมตะวันตก หรือประเทศเอกราชอย่างประเทศไทย จำแนกได้เป็น 3 ประเภท คือ[13]
1) การพัฒนาให้เป็นแบบตะวันตก(Westernization)
คือ
การยอมรับเอาความเจริญที่เป็นแบบตะวันตก ที่ไม่เคยมีในสังคมเอเชียมาก่อนมาใช้ เช่น
ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
ระบบการศึกษาและกฎหมายแบบใหม่
2)
การปรับปรุงจารีต(Neotraditionalism) คือ
การตอบสนองที่พยายามย้อนกลับไปหาความเชื่อหรือสถาบันดั้งเดิมของตน โดยการชำระ ปฏิรูปความเชื่อหรือสถาบันนั้นๆ
ให้มีลักษณะยืดหยุ่นเหมาะสมกับภาวะแวดล้อมอย่างใหม่
เพื่อสามารถนำออกมาต่อต้านแนวความคิดของวัฒนธรรมตะวันตกบางประการได้ เช่น
การปฏิรูปพระพุทธศาสนาในประเทศไทยโดยพระวชิรญาณภิกษุ(ต่อลาผนวชเป็นพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 4) ในสมัยรัชกาลที่ 3 และการปฏิรูปศาสนาอิสลามในประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น
3) การรับนวัตกรรมทันสมัย(Industrialization)
คือ
การนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ได้มาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในตะวันตกเข้ามาใช้ เช่น โทรเลข
โทรศัพท์ วิทยุ โทรทัศน์ รถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน เครื่องคอมพิวเตอร์ ตลอดจนอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการทำงานและการดำรงชีวิตประจำวัน
หากจะนับประวัติศาสตร์ตั้งแต่มีชาวไทยก็เป็นเวลาไม่น้อยกว่า
4,000
ปี และหากจะกำหนดเอาสมัยที่ตั้งหลักแหล่งมั่นคงจากสมัยสุโขทัยมาก็มีอายุไม่ต่ำกว่า
700 ปี นับได้ว่า ชาวไทยมีประวัติศาสตร์ยาวนานไม่น้อย
แม้ว่าชนชาติไทยจะมิใช่ชาติมหาอำนาจอย่างจีน อินเดีย อังกฤษ หรืออเมริกา
แต่คนไทยและสังคมไทยก็ไม่ได้ถูกทำลายอย่างหมดรูป
อาจถูกทำให้อ่อนตัวลงบ้าง ระบบค่านิยมอาจจะได้รับอิทธิพลจากจีน อินเดีย
และจากโลกตะวันตก แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นแบบอินเดีย แบบจีน
หรือแบบตะวันตกทั้งหมด ลักษณะเดิมของสังคมไทยเก่ายังมีปรากฏอยู่ ชาวไทยยังคงรักษาเอกลักษณ์
ความเชื่อศาสนา วัฒนธรรมและจารีตประเพณีเป็นของตนเองไว้ได้ อาจจะเป็นเพราะว่า นิสัยคนไทยปรับตัวเก่ง
จึงประยุกต์เอาศาสนา ภาษา ระบบคิดที่ดีของชาติเหล่านั้นมาใช้ ยอมรับวัฒนธรรมอื่น
ในแบบ การปรับปรุงจารีต
ศาสนาพุทธจากอินเดียก็เป็นพุทธศาสนาแบบไทย เป็นสังคมสมัยใหม่แบบไทย
เรียกว่า “สังคมเก่าแบบใหม่” (modernpatrimonialism) ระบอบการปกครองก็เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ
ไม่เหมือนต้นฉบับประเทศประชาธิปไตยใดๆในโลก ทั้งนี้ เพราะชาวไทย
ย่อมมีหลักคิดที่เรียกว่า โลกทัศน์ หรือ ชีวทัศน์ ที่เป็นมรดกตกทอดมาแต่บรรพบุรุษ
ทำให้ประเทศไทยรักษาเอกราช รอดพ้นจากการยึดครองของนักล่าอาณานิคม
แม้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2539 ชาวไทยบอบช้ำจากระบบเศรษฐกิจทุนนิยม
เป็นหนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แทบขายประเทศแก่ IMF แต่ด้วยทุนทางสังคมระดับพื้นฐานเข้มแข็งในชนบท
และด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสนอแนะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
อาศัยหลักปฏิบัติตามหลักทางสายกลางของพระพุทธศาสนา เป็นมาตรการสู้ภัยเศรษฐกิจ
และด้วยการสนองงานอย่างจริงจังของข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ประเทศไทยก็หลุดพ้นจากภาวะล้มละลาย
ถึงแม้จะมีความขัดแย้งทางความคิดและสังคมอยู่บ้าง
แต่ทุกฝ่ายก็หันหน้าหาทางแก้ไข ด้วยวิธีสมานฉันท์ และสันติวิธี
น่าที่จะศึกษาอย่างยิ่งว่า ระบบคิดของชาวไทยเป็นอย่างไร
เพราะระบบคิดหรือวิธีคิดเป็นตัวบ่งชี้วุฒิภาวะทางปัญญาของชนชาตินั่นเอง
1.4 ความเชื่อดั้งเดิมของชนชาติไทย
คนไทยมาจากไหน ไม่ว่า
จะด้วยเหตุผลและหลักฐานใดก็ตาม ที่คนไทยต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน เช่น หนีการรุกรานของเพื่อนบ้าน(จีน)ผู้แกร่งกว่า หรือ เพราะความจำเป็นเรื่องการแสวงหาถิ่นฐานอันอุดมสมบูรณ์
ชาวไทยก็ได้อพยพร่นลงมาทางตอนใต้แถบแหลมอินโดจีน ซึ่งในถิ่นนี้ก็มีเผ่าพื้นเมืองเดิม(มอญ เขมร ละว้า และอื่นๆ) ครอบครองอยู่แล้ว ความเชื่อดั้งเดิมของชาวไทยย่อมมีเอกลักษณ์ของตน
แต่เมื่อเคยอยู่กับจีนก็รับอิทธิพลจากจีนที่ถือว่าเจริญกว่าตนติดตัวมาด้วย
และเมื่อมาอยู่ร่วมกลุ่มชาติพันธุ์แถบแหลมอินโดจีน(มอญ เขมร และละว้า) ก็ต้องผสมกลมกลืนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันและกัน และโดยเฉพาะแหลมอินโดจีนนี้
อยู่ใกล้อินเดียซึ่งมีวัฒนธรรมเจริญกว่า
จึงยอมรับเอาศาสนา ปรัชญา
ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ที่ชาวอินเดียนำมาเผยแพร่ แล้วปรับปรุงเอามาเป็นสมบัติของตน
เนื่องจากชนชาติไทยเคยตั้งถิ่นฐานอยู่ในหลายท้องถิ่น กว่าจะมาลงตัวที่ดินแดนแถบอินโดจีนในปัจจุบัน
หรืออยู่ที่แถบนี้มาก่อนก็ตาม ภูมิภาคนี้มีอากาศสบาย ไม่ร้อน
ไม่หนาวเกินไป
ทั้งไม่เคยประสบภัยธรรมชาติอย่างรุนแรง เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วมหนัก
และพายุร้าย ดุจชนชาติอื่นๆ
พื้นที่ทั่วไปอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตร
ชาวไทยส่วนใหญ่จึงมีอาชีพเกษตรกรรมสืบสานมาแต่โบราณ
มีวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับการเกษตร เกี่ยวกับความสมบูรณ์ของพืชผลโดยอาศัยน้ำ ที่เรียกว่า “วัฒนธรรมน้ำ”
การที่ชาวไทยมีภูมิหลังความเป็นมาอันยาวนาน
ย่อมมีศิลปวัฒนธรรมและประเพณีที่สืบเนื่องมามิได้ขาดสาย ลักษณะของชนชาติไทยมีน้ำใจกว้าง ยอมรับอะไรใหม่ๆได้ไม่ยากนัก ปรับตัวเก่ง รู้จักผสมผสานและรวบรวมจุดดีของสังคมรอบตัวมาไว้ เช่น
ความมุมานะบากบั่นของชาวจีน
ความเป็นนักปรัชญาของชาวอินเดีย
ความรู้ทันสมัยของชาวตะวันตก
สิปปนนท์ เกตุทัต กล่าวว่า
“สังคมไทยมีลักษณะหลากหลาย
แต่ก็มีเอกภาพในภาษาและวัฒนธรรม”[14] สรุปความว่า สิ่งใดที่เป็นความเชื่อหรือวิทยาการของชนชาติที่เจริญกว่า ต่างก็มีอยู่ในกลุ่มคนไทยแทบทั้งสิ้น จะแบ่งความเชื่อของชนชาติไทยเป็น 3 ระยะ คือ
1.4.1
ความเชื่อก่อนการนับถือพระพุทธศาสนา
ชาวไทยมีความเชื่อในเรื่องลึกลับที่มิอาจพิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ได้ และความเชื่อนี้ เป็นของดั้งเดิมประจำโลกและคู่มนุษย์ คือ
ความเชื่อเรื่อง “ภูต ผี ปีศาจ และ วิญญาณ” และจากความเชื่อเรื่องผีนี้เองจะโยงมาถึง “ศาสนา” แม้จะหาคำตอบมิได้ว่า ผีคืออะไร
แต่ก็เชื่อว่าผีมีจริง ส.
ศิวรักษ์ กล่าวว่า “ความเชื่อระดับ ‘ศาสนา’ จะเป็นความเชื่อที่ลึกซึ้งที่สุดของมนุษย์ ในสิ่งที่ไม่สามารถจะหาคำตอบจากที่อื่นได้
แต่จะลึกซึ้งเพียงใดขึ้นอยู่กับระดับสติปัญญาของมนุษย์คนนั้น ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงพัฒนาการทางความคิดและจิตใจของคนนั้น ถ้าพัฒนาน้อย
ความเชื่อก็ตื้น
ถ้าพัฒนามากความเชื่อจะลึก
ทั้งหมดคือความเชื่อ”[15]
การที่คนเราจะยอมรับและเชื่ออะไรนั้น
ย่อมมีรูปแบบ 3 ประการ คือ
1)
ถูกครอบงำให้เชื่อ ด้วยสื่อโฆษณา
หรือการไหลบ่าของวัฒนธรรมที่เจริญกว่า
2)
ถูกบังคับให้เชื่อ ด้วยอำนาจทางการเมือง การศึกษาแบบใหม่ หรือ ล้างสมอง
3)
ถูกหลอกให้เชื่อ ด้วยความด้อยอำนาจทางความรู้ การโฆษณาชวนเชื่อ
ความเชื่อเรื่องผีดูไร้สาระ
แต่ถ้าเป็นการเชื่อเพื่อพัฒนาความคิดทางศีลธรรม จริยธรรม
ย่อมเป็นคุณประโยชน์แก่ผู้เชื่อ
ความเชื่อบางอย่างก็อยู่เหนือเหตุผล
ไม่ต้องการพิสูจน์ดังเสฐียรโกเศศ
กล่าวว่า “ถ้าตราบใดถือว่าความเชื่อใช้ได้
ความเชื่อนั้นย่อมอยู่เหนือเหตุผล และตราบนั้นความเชื่อก็เป็นจริง ถ้าเมื่อใด
ความเชื่อใดถือว่าใช้ไม่ได้
เมื่อนั้นความเชื่อนั้นก็ไม่เป็นจริง”[16]
ในทรรศนะของชาวตะวันออก ความเชื่อเรื่องผีเกี่ยวโยงมาถึงความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดของมนุษย์ ชาวไทยเชื่อว่า การเกิดกับการตายเป็นของคู่กัน ตายแล้วก็เกิดใหม่ มิได้สิ้นสุดเพียงแค่หลังจากตายไป เมื่อคนตายลงจึงกลายเป็น “ผี” ชาวตะวันตกส่วนมากเชื่อว่า
ชีวิตมีครั้งเดียวและมีเพียงชาติเดียว
ตายแล้วเป็นอันจบสิ้นกัน
ความเชื่อดั้งเดิมของชาวไทย คือ
เชื่อผีและนับถือผี
ผี คือ อะไร
ผี คือ สิ่งที่เราไม่รู้จัก สิ่งลึกลับมหัศจรรย์ สามารถให้ทั้งคุณและโทษ ผีดีเรียกว่า ผีฟ้า ผีเลว เรียกว่า ผีห่า อยากให้ชีวิตดี ต้องเอาอกเอาใจผี ด้วยการเคารพ เซ่น สรวง บูชา ในลิลิตโองการแช่งน้ำกล่าวว่า มีผีประจำอยู่ทุกส่วนของโลก
สูงขึ้นไปบนฟ้าเป็นผีฟ้า ผีแถน ต่ำลงมาบนพื้นดิน
เป็นเจ้าที่เจ้าทาง เช่น ผีบ้าน
ผีเรือน ผีป่า ผีเขา
ผีน้ำ ผีพราย ผีประจำเรือ
คือ “แม่ย่านาง”
และผีประจำต้นไม้ เช่น ผีนางตะเคียน ผีนางตานี เป็นต้น และต่ำสุดลงไปถึงบาดาล เป็นภูต ปีศาจ
นอกจากนี้ ยังนับถือผีที่เป็นวิญญาณบรรพบุรุษ อดีตผู้ปกครอง หรือ วีรบุรุษผู้นำชุมชนและท้องถิ่น
เช่น ผีเจ้านาย เจ้าพ่อ เจ้าแม่(เสื้อบ้าน เสื้อเมือง) ผีปู่ ผีย่า และผี ที่เป็นวิญญาณของคนตาย หากตายร้าย
ก็เป็นผีตายโหง ผีตายห่า ผีเปรต และมีผีประเภทพิเศษ เช่น ผีปอบ ผีกะ(ทางล้านนา)
ผีกระสือ ผีกระหัง ผีเป้า ผีโพงเป็นต้น
การมองโลกผ่านความเชื่อเรื่องผี ทำให้มองเห็น
วิธีคิดแนวจักรวาลวิทยาของชาวไทย ว่า มีผีที่มีอำนาจมีศักดิ์สูง อาศัยอยู่บนฟ้า
รองลงมาก็อาศัยที่พื้นดิน พื้นน้ำ และต่ำสุดอาศัยอยู่ใต้บาดาล มีเส้นแบ่งอาณาจักรผีอย่างเป็นระบบ
ความเชื่อเรื่องผีมีอิทธิพลทั้งด้านบวกและด้านลบ ให้ทั้งคุณและโทษ ชาวไทยเชื่อว่าต้องปฏิบัติบำรุงผีให้ดี หากสัมพันธ์กับผีไม่ดี ชีวิตจะเดือดร้อน ยุคสุโขทัย
ผีประจำเมืองเรียกว่า ผีขะพุง ดังจารึกว่า
“ในเมืองนี้ มีขะพุงผี...ถ้าไหว้ดี
พลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี
ผิไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอันบ่คุ้ม บ่เกรง
เมืองนี้หาย”
ต่อมา เมื่อนับถือศาสนาพราหมณ์ ผี รักษาประเทศไทยปัจจุบันกลายมาเป็น
เทวดาอารักษ์ เรียกว่า “พระสยามเทวาธิราช”[17] ประเพณีพายัพบางเผ่า
ถ้าทำผิดจารีต เรียกว่า ผิดผี หรือ
คนในครอบครัวเจ็บป่วยออดๆ แอดๆ ก็ว่า ผิดผีปู่ผีตา ต้องเสียผี และขอขมาผีเป็นต้น ทางศาสนาคริสต์ เรียกผีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกว่า พระเจ้า(GOD) คนธรรมดามองไม่เห็นพระเจ้า จะเห็นได้ก็เฉพาะผู้เข้าถึงพระองค์เท่านั้น[18]
ในศาสนาฮินดู มหาเทพศิวะ มีชื่อหนึ่งว่า ภูเตศวร หรือ ภูตบดี แปลว่า เจ้านายผี
หรือ ผู้ปกครองผี
ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์
เป็นความเชื่อโดยทั่วไปของชนชาติไทยแต่ก่อนมา เป็นความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจเวทมนต์ คาถา
อาคม
หรือพลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของวัตถุหรือแร่ธาตุกายสิทธิ์ อันเป็นเครื่องรางของขลัง พบในวรรณคดีเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน”
หลายตอน เช่น ตอนทำกุมารทอง
ตอนสงคราม ตอนทำดาบฟ้าพื้น เป็นต้น หรือ ในวรรณคดีเรื่อง “ไกรทอง”
ตอนจุดเทียนระเบิดน้ำเพื่อปราบชาละวันจระเข้ยักษ์
นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมเพื่อความขลังศักดิ์สิทธิ์ เช่น
การฝังอาถรรพณ์
การเขียนยันต์ติดไว้ตามบ้านเรือนเพื่อคุ้มครองรักษา ปัจจุบัน กลายมาเป็นพิธีปลุกเสกต่างๆ การเขียนยันต์หรือปิดยันต์เอาไว้ ที่ยานพาหนะ
เช่น รถยนต์ เรือ หรือ พาหนะอื่นๆ มีคนเล่าว่า ประเทศญี่ปุ่นแม้เขาจะเจริญด้วยวิทยาการสมัยใหม่
มีเครื่องบินและการควบคุมระบบการบินด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ที่นั่งนักบินยังติดยันต์“ฮู้”
เป็นภาษาญี่ปุ่นเอาไว้
แสดงว่าความเชื่อไสยศาสตร์ยัง มีอิทธิพลเหนือจิตใจชาวโลกอยู่ไม่อาจทิ้งไปได้
1.4.2 ความเชื่อเมื่อนับถือพระพุทธศาสนา ชาวไทยได้รับเอาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมานาน
ก่อนนี้นับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ต่อมาในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช นับถือนิกายเถรวาท ได้นิมนต์พระสงฆ์จากเมืองนครศรีธรรมราชมาเป็นประมุขสงฆ์ การพระพุทธศาสนาเจริญมาก
ชาวเมืองสุโขทัยนับถือศาสนากันอย่างเคร่งครัด ดังศิลาจารึกว่า “ชาวสุโขทัย
มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา มักทำทาน โอยทาน ...
ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน”[19]
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุผลและสติปัญญา
มีหลักปรัชญาที่สอนให้ปฏิบัติตามทางสายกลาง(มัชฌิมาปฏิปทา) ให้มีเมตตา มีคุณธรรมต่อสิ่งต่างๆ ที่เป็นธรรมชาติรอบตัว เมื่อชาวไทยรับเอาพระพุทธศาสนา ความเชื่อและสติปัญญาดูจะลึกซึ้งกว่าเดิม
รู้จักวางจุดหมายอุดมคติชีวิตที่สูงส่งกว่าเดิม
มีปรัชญาชีวิตที่มุ่งละกิเลสตัณหา ไม่สั่งสมกิเลส มีแต่พอดี แสวงหาแต่สิ่งของเท่าที่จำเป็นแก่ชีวิต
วิถีชีวิตของชาวไทยอาศัยหลักศาสนธรรมเป็นดุจประทีปส่องทางนับแต่เกิดจนกระทั่งตาย
มีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันในสังคม มีธรรมเนียมถือปฏิบัติว่า
ชายไทยต้องบวชเรียน ศึกษาพระพุทธศาสนา เป็นสามเณร หรือพระภิกษุ
ฝึกหัดอบรมกล่อมเกลาอุปนิสัย ให้เป็นคนดี เมื่อสึกออกมาจึง เรียกว่า “บัณฑิต” หรือ ผู้รู้ แม้คราวหลังคำว่า “บัณฑิต” จะกร่อนมาเป็น “ฑิต” หรือ “ทิด” ตามเสียงไทย(คำว่า ทิด มีความเห็นหนึ่งว่า
มาจากคำว่า “ทิชะ” ที่แปลว่า เกิด 2 หน เกิดครั้งแรกจากครรภ์มารดา เกิดครั้งที่ 2 โดยการบวช
มีพระอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นดุจบิดามารดา เมื่อผ่านการบวชเรียน เท่ากับได้เกิดใหม่
เป็นคนใหม่) ประเพณีการบวชเรียน และบวชทดแทนพระคุณบุรพการียังคงสืบมาจนปัจจุบัน
แม้จะนับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก แต่ชาวไทยก็ยังคงผสมความเชื่อเดิมของตน เข้าไปด้วย
กลายเป็นพุทธศาสนาแบบไทย
ความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยกับพระพุทธศาสนามีมานาน ดังพระราชวรมุนีกล่าวว่า “ประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยคือประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา”[20]
1.4.3
ความเชื่อของคนไทยสมัยใหม่ ปัจจุบันประเทศไทยเปิดประเทศติดต่อกับนานาอารยประเทศในวงกว้าง ทำให้แนวคิด ทรรศนคติ
และค่านิยมที่เคยมีมาแต่เดิมเปลี่ยนแปลงไปมาก
คนสมัยใหม่ปฏิเสธศาสนา
หาว่าเป็นสิ่งที่เชย
คร่ำครึไม่ทันสมัย ขัดขวางความเจริญของประเทศ
คุณค่าความงามด้านจิตใจเป็นสิ่งที่ถูกละเลย
กลายมานับถือคุณค่าและความงามทางวัตถุเสพบริโภค มองความดีที่เปลือกนอก
ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีอำนาจฐานะทางสังคม ใช้ชีวิตแบบตะวันตก ตามทันกระแสโลกาภิวัตน์
คือ คนดี มิได้นับถือความมีคุณธรรมคือความดี ดุจแต่ก่อน ความคิดนี้เป็นอันตราย ส. ศิวรักษ์กล่าวว่า “คนรุ่นใหม่ยังไม่ควรรีบด่วนปฏิเสธอารยธรรมดั้งเดิมของตน เมื่อไม่เข้าใจอารยธรรมดั้งเดิม ก็เริ่มดูถูกอารยธรรมของตน อันตรายอยู่ตรงนี้
ยิ่งมารับอารยธรรมใหม่ตามสมัยนิยมและยังไม่เข้าใจอารยธรรมใหม่นั้นอีก นี้แหละคือความหายนะ”[21]
ตัวเร่งให้ชาวไทยสมัยใหม่มีค่านิยม
และความเชื่อเปลี่ยนแปลงไปจากวิถีเดิม ก็คือ การยอมรับวัฒนธรรมตะวันตก ด้วยการติดต่อกับ
กลุ่มประเทศทางตะวันตก โดย ชนชั้นนำในสังคมเป็นผู้เริ่มรับเอาวัฒนธรรมใหม่มาปฏิบัติ
อย่างน้อย ก็เป็นเวลา เกือบร้อยปี แบ่งเป็นระยะได้ 4 ระยะ [22] คือ
ระยะแรก ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นช่วงที่วัฒนธรรมตะวันตกแผ่เข้ามา
นำเทคโนโลยีและของแปลกใหม่เข้ามา ชาวไทยสนใจ แต่ก็ยังสงวนท่าที่ เรียกว่า ระยะตั้งหลัก ระยะที่ 2 เรียกว่า
ระยะการเปลี่ยนแปลงขอบนอก ในสมัยรัชการที่ 4 เห็นว่า วิชาการและเทคโนโลยีตะวันตกหลายอย่าง
เจริญกว่า ดีกว่าของไทย ก็ยังคงรักษาสาระวัฒนธรรมส่วนใหญ่เอาไว้ แต่เห็นว่า
อย่างไรก็ต้านทานกระแสโลกตะวันตกมิได้ จำเป็นต้องปรับปรุงจารีตบางอย่างให้เป็นเชิงวิทยาศาสตร์ ระยะต่อมา
เรียกว่า ระยะการเปลี่ยนแปลงสถาบันหลัก เห็นได้ชัดในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหาราชการแผ่นดิน
จากจตุสดมภ์เป็นระบบกระทรวงทบวงกรมแบบตะวันตก
และสุดท้าย ระยะการหาความสมดุล ในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นการปรับปรุงเพื่อรักษาสมดุลของเอกลักษณ์ไทย
ผสมกับเทคโนโลยีตะวันตก สร้างความคิดชาตินิยมขึ้นมา นับจากนั้นมา สังคมไทย ก็ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงค่านิยมไป
นับแต่ วัฒนธรรมการแต่งกาย การเคารพผู้ใหญ่
ศิลปกรรม ประเพณีนิยม เป็นต้น โดยอ้างว่า เพื่อให้พัฒนาหรือให้ทันสมัย วิธีคิดแบบตะวันตกได้ส่งผลกระทบต่อ
วิถีการดำเนินชีวิต ความคิด ความเชื่อ ของชาวไทยเป็นอย่างมากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการ คือ การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา และด้านสื่อและเทคโนโลยี ยิ่งความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการคอมพิวเตอร์มีบทบาทมากขึ้นเพียงใด
ก็ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ขยายออกไปในวงกว้างยิ่งขึ้น
ความจริง
ทุกอย่างย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งแวดล้อม หรือ ตามกฎอนิจจัง การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีควรให้เกิดให้มี แต่ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างมีสติ คนสมัยใหม่
แม้ว่าจะรักวิทยาการสมัยใหม่
ชอบความเป็นประชาธิปไตย เป็นวัตถุนิยมมากกว่าจิตนิยม ก็ไม่ควรลืมด้านพัฒนาคุณภาพจิตใจให้เจริญประสานกลมกลืนกับความเจริญทางวัตถุ
การปรับให้เกิดสมดุลระหว่างกายกับจิต ควรหันมาศึกษาคำสอนทางพระพุทธศาสนา ที่สอนให้รู้จักความพอดี ใช้สอยแต่สิ่งที่จำเป็นในชีวิต
เข้าใจโลกและชีวิตอย่างมีเหตุผล หลักปรัชญาชาวตะวันออกมุ่งสอนให้คนเรียนรู้เพื่อจะอยู่และสัมพันธ์สอดคล้องกับธรรมชาติ มิใช่ให้เอาชนะธรรมชาติ อย่างที่ชาวตะวันตกกำลังพยายามเอาชนะอยู่ จนก่อปัญหาแก่สภาพแวดล้อม สูญเสียระบบนิเวศ
จนชาวโลกช่วยกันหันมาเรียกร้องฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยา
คืนสภาพเดิมแก่ธรรมชาติกันอย่างปัจจุบัน[23]
2. ชนชาติไทยกับปรัชญา
แม้ว่าชาวไทยยังคงอนุรักษ์ความเชื่อดั้งเดิมบางอย่างเอาไว้
แต่ก็อาศัยคำสอนของศาสนาพุทธเป็นหลักดำเนินชีวิต ดูผิวเผิน
ศาสนาเป็นเรื่องของศรัทธาและความเชื่อ
แต่ส่วนลึก พระพุทธศาสนาก็สอนมุมมองเกี่ยวกับโลกและชีวิตอย่างมีเหตุผล
เป็นระบบ คำสั่งสอนเหล่านี้ ได้สร้างโลกทรรศน์ให้ผู้ที่นับถือ โลกทรรศน์ คือ
มุมมองชีวิตที่มนุษย์ใช้ตีความประสบการณ์เพื่อเลือกทางดำเนินชีวิตที่ดีและถูกต้อง ทุกคนมีมุมมองชีวิตและทางเลือกเป็นของตนเอง โลกทรรศน์ของใคร ก็เป็นปรัชญาของคนนั้น โลกทรรศน์ของชนชาติไทย ก็คือ ปรัชญาไทย “โลกทรรศน์ คือ ปรัชญา” นักปราชญ์บางท่านกล่าวว่า “มนุษย์ดำเนินชีวิตไปตามปรัชญาชีวิตและโลกทรรศน์ของเขา
นี่เป็นเรื่องจริงแม้กับผู้ที่ไร้ความคิดที่สุด เป็นไปไม่ได้
ที่มนุษย์จะมีชีวิตอยู่โดยไม่มีปรัชญา”[24]
แม้ศาสนาจะเป็นเรื่องของศรัทธา
แต่ก็ให้ปรัชญาในการแสวงหาเหตุผลและทางเลือกชีวิตที่ถูกต้อง ปรัชญากับศาสนา หรือ
ปัญญากับความเชื่อต้องมาคู่กันจึงจะทำให้มุมมองหรือโลกทรรศน์สมบูรณ์ ไม่กลายเป็นความเชื่องมงาย หรือใช้เหตุผลจนไม่ยอมรับอะไร หากจะนำกรอบนี้มาพิจารณา ชาวไทยก็ควรนับได้ว่ามี
“ปรัชญา” แม้จะมิใช่ปรัชญาที่เป็นระบบอย่างปรัชญาตะวันตก แต่ก็เป็นแนวปรัชญาแบบตะวันออก เรียกว่า “ปรัชญาไทย”
2.1 ปรัชญาในฐานะที่ชาวไทยเข้าใจ
เมื่อประมาณ 60 ปีที่ผ่านมา
คำว่า “ปรัชญา” เป็นของใหม่สำหรับชาวไทยหรือในวงการศึกษาไทย
และก็เป็นสิ่งที่ชาวไทยบางท่านต้องผลักดันอยู่นานจนกว่า วิชาปรัชญา
จะได้รับการบรรจุเข้าในหลักสูตรการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย[25] ในขณะที่ประเทศแถบตะวันตก
เขาบรรจุวิชาปรัชญาให้เรียนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษา
เพราะปรัชญาคือฐานภูมิปัญญาของชาวตะวันตก พระเจ้า วรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์(วรรณไวทยากรณ์ วรวรรณ) บัญญัติคำว่า“ปรัชญา” เพื่อแปล“Philosophy” ในภาษาอังกฤษ [26]
“ปรัชญา” เป็นภาษาสันสกฤต มีความหมายว่า
ความรอบรู้ แต่ความรู้ที่เป็นปรัชญา เป็นความรู้สองระดับ คือ ความรู้ขั้นแสวงหา และความรู้ขั้นค้นพบ เป็นเหตุและผลกัน ระดับ Philosophy เป็นเหตุ ระดับปรัชญาเป็นผลแห่งการค้นพบ นักปราชญ์ชาวอินเดียเรียกระบบการคิดนี้ว่า “ทรรศนะ” หมายถึง การหยั่งรู้ความจริง”[27] ดังนั้น “ปรัชญา” เป็นดังผลแห่งความรู้ ในขณะที่
“Philosophy” เป็นดังเหตุแห่งความรู้
แต่ทั้งสอง ดูจะแยกระดับจากกันได้ยาก[28] ราชบัณฑิตยสถาน ให้นิยามปรัชญาว่า “วิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง”[29]
ส. ธรรมยศ ผู้ได้รับการศึกษาปรัชญาจากเวียดนาม ก่อนมีการบุกเบิกวิชาปรัชญาในประเทศไทย มองความสำคัญวิชาปรัชญาว่า “เป็นวิทยาศาสตร์แห่งความรู้ เป็นวิทยาการแห่งการปฏิบัติ
และเป็นดวงเทียนมหึมาของโลกทรรศน์ที่บังเกิดขึ้นในโลกเพื่อจะจูงมนุษย์ไปสู่วิถีทางแห่งสันติภาพ”[30]
โดยใจความ
ปรัชญาก็คือการแสวงหาความจริงตั้งแต่ระดับธรรมดาสามัญไปจนถึงระดับสูงสุดของสิ่งต่างๆ
ทั้งเขตแดนรูปธรรมและนามธรรม
เพื่อตอบสนองความอยากรู้ อยากเห็นของมนุษย์ แล้วนำความรู้นั้นมาเป็นโลกทรรศน์ และชีวทรรศน์
หรือแนวทางในการดำเนินชีวิต ปรัชญาจึงเป็นแก่น (Core) ของวิชาทั้งหลาย
เนื้อหาและสาระของวิชาปรัชญา
ตามความเข้าใจของคนไทยทั้งสมัยเก่าและสมัยใหม่ มีความเข้าใจผิด หรือ
ทัศนคติที่ผิดต่อ วิชาปรัชญาว่า “เป็นวิชาที่พูดกับใครก็ไม่รู้เรื่อง” นักปรัชญาเป็นคนแปลกประหลาด
เหมือนอยู่คนละโลก คนธรรมดา
อยู่ในโลกของความจริง ขณะที่นักปรัชญา อยู่ในโลกของความเพ้อฝันหรือโลกอุดมคติ วิถีชีวิตและวิธีคิดไม่เหมือนคนธรรมดาสามัญ
แนวคิดของนักปรัชญา หากพูดโดยไม่เกรงใจ ก็ว่า แนวคิดเพี้ยน นักปรัชญาเป็นคนเพี้ยน
หรือ หลุดโลก นักปรัชญาสื่อสาระอะไรกับใคร
เมื่อเขาไม่เข้าใจ ก็มักจะถูกกระแนะกระแหนว่า อย่าพูดแบบปรัชญา คงเป็นด้วยเหตุนี้กระมัง
คนไทยบางคนที่คิดอะไรเหนือชาวบ้านธรรมดาสามัญ มีความลุ่มลึกทางความรู้
มีวิสัยทัศน์ที่ไกลและคิดเป็นระบบ ล้ำหน้าคนร่วมสมัย จึงมักถูกป้ายสีว่า “วิปปลาส เพี้ยน” ด้วยความตื้นเขลาแห่งระบบคิดและความบกพร่องของกระบวนการคิด คนไทยจึงไม่กล้ายอมรับตนเองว่าเป็นนักปรัชญา
ทั้งไม่อยากเรียนวิชาปรัชญา ประการสำคัญ ปรัชญามิใช่วิชาชีพที่สร้างความมั่งคั่ง
ร่ำรวยยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของตนดุจสาขาวิชาอื่นๆได้ เส้นแบ่งระหว่าง อัจฉริยะ กับ เพี้ยน บางยิ่งกว่าหนึ่งในพันของมิลลิเมตร
นักปรัชญากับคนเพี้ยนก็มีเส้นแบ่งที่บางเฉียบดุจเดียวกัน
2.2 คิดอย่างไรจึงเป็นปรัชญา
นักปรัชญาคิดไม่เหมือนชาวบ้านทั่วไป ตัวอย่าง ชีวิตที่เป็นอยู่ทุกวัน หรือ โลกก็หมุนไปตามธรรมดา คนทั่วไปมองเห็นว่า
ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกประหลาดประการใด
เพราะเป็นธรรมดาของมันอย่างนั้น
ไม่ได้สงสัยประการใด
แต่นักปรัชญาพบเห็นแล้วกลับมิได้ปล่อยให้เรื่องผ่านไปอย่างที่คนธรรมดาสามัญปฏิบัติ พบเห็นอะไรเขาจะสงสัยและตั้งคำถามว่า นั่นอะไร
นี่อะไร ทำไม เพราะอะไร
และเพื่ออะไร บางทีตั้งความสงสัย แม้กระทั่งตัวเองว่า เรามีอยู่จริงหรือ? ด้วยเหตุนี้
คนธรรมดาจึงไม่พัฒนาทางปัญญามากจนเป็นนักปรัชญา เพราะสงสัยแล้วไม่ถาม หรือ คิดว่ารู้แล้วไม่อยากเรียนเพิ่ม
การคิดเชิงปรัชญา ต้องคิดอย่างมีเหตุผล
มิใช่คิดหรือสงสัยเรื่อยเปื่อยตามแต่จิตจะฝันเฟื่อง เมื่อคิดเรื่องใด
ต้องคิดอย่างแยกแยะวิเคราะห์วิจารณ์หาสาเหตุของเรื่องนั้นๆ ต้องคิดให้ลึก
คิดให้กว้างและคิดอย่างรอบคอบ
ประมวลมาจากข้อมูลทั้งหลาย สังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ แสดงผลแห่งการคิดนั้นมาตั้งเป็นทฤษฎี รวมถึงวิธีคิดอีกด้วย จนคิดว่าน่าจะหาคำตอบได้สมเหตุสมผล คำตอบอาจจะถูกหรือผิด เพราะเป็นความเห็นส่วนตัว สุดแต่ใครจะคิดทฤษฎีใดออกมา หรือมองชีวิตและโลกจากมุมมองใด
การคิดแบบปรัชญาจึงเป็นวิธีการคิดอย่างทะลุปรุโปร่ง เพื่อตอบปัญหาที่ตนเองสนใจและใคร่รู้ ปรัชญา
คือ ศิลปะแห่งการคิดอย่างมีเหตุผล (Philosophy is the art of rational
thinking.)
2.3 ภูมิปัญญาไทย หรือ แนวคิดไทย
ภูมิปัญญามีความหมายว่า “ความรู้ ความสามารถ ความเชื่อ ความสามารถทางพฤติกรรม
และความสามารถในการแก้ไขปัญหาของมนุษย์” นักวิชาการศึกษาไทยได้ให้ความหมาย “ภูมิปัญญาไทย” ไว้หลากหลายดังนี้
“ภูมิปัญญาไทย หมายถึง
องค์ความรู้ในด้านต่างๆ ของการดำรงชีวิตของคนไทยที่เกิดจากประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ประกอบกับแนวความคิดวิเคราะห์ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับกาลสมัย
ในการแก้ปัญหาการดำรงชีวิต”(เสรี พงศ์พิศ)
“ภูมิปัญญาไทยเป็นผลของประสบการณ์สั่งสมของคนที่เรียนรู้จากปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
ปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มชนเดียวกันและหว่างกลุ่มชุมชนหลายๆชาติพันธ์รวมไปถึงโลกทัศน์ที่มีต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ
ภูมิปัญญาเหล่านี้เคยเอื้ออำนวยให้คนไทยแก้ปัญหาได้ดำรงอยู่” (เอกวิทย์ ณ ถลาง)
“ภูมิปัญญา
หมายถึง ประสบการณ์ในการประกอบอาชีพ
ในการศึกษาเล่าเรียน การที่ชาวบ้านรู้จักวิธีทำนา การไถนา การเอาควายมาใช้ในการไถนา การรู้จักนวดข้าว โดยการใช้ควาย รู้จักสานกระบุง ตะกร้า เอาไม้ไผ่มาทำเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวัน รวมทั้งรู้จักเอาดินขี้กระทามาแช่น้ำต้มให้เหือดแห้งเป็นเกลือสินเธาว์
ก็เรียกว่าภูมิปัญญาทั้งสิ้น” (ธวัช
ปุณโณทก)
สรุปว่า “ภูมิปัญญาไทย หมายรวมเอา กระบวนการคิด วิธีคิด ที่เกี่ยวกับ ความเชื่อ
ค่านิยม โลกทัศน์ ชีวทัศน์ วิถีชีวิต ที่คนไทยสั่งสมเป็นประสบการณ์
ถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้สืบต่อมา
เพื่อการดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของชาวไทย”[31]
ชาวไทยมีความคิด
ความอ่านเป็นของตนเองมีอิสระที่จะเลือกสิ่งที่ตนเองและสังคมต้องการ เป็นคนที่มีความคิดยืดหยุ่นได้ มีความคิดก้าวหน้า มีความสามารถในการปรับตัวสูง เพราะสังคมไทยมีโครงสร้างอย่างหลวมๆ มีหลักปฏิบัติและข้อบังคับที่ยืดหยุ่นได้ มีการประนีประนอมสูง โอนอ่อนผ่อนตาม รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชีย จะเห็นว่าชาวไทยมีความยืดหยุ่นมากกว่า ผู้ที่ไม่เข้าใจวิถีชีวิตแบบไทยๆ ก็จะเหมาว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ “อ่อน” ลักษณะโครงสร้างทางสังคมหลวม มีลักษณะที่ยืดหยุ่น
ปรับตัวเก่ง ความอ่อนบางครั้งก็สามารถเอาชนะความแข็งได้ ดุจนโยบายการรักษาประเทศในสมัยรัชกาลที่ 4
ให้รอดพ้นจากการรุกรานดินแดน ล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก ยอมเสียดินแดนบางส่วนไป
แต่คงรักษาราชอาณาจักรเอาไว้ได้
พระพุทธศาสนาได้มีอิทธิพลต่อแนวคิดและวิถีชีวิตของชาวไทยอย่างมาก
การจัดการศึกษาสมัยก่อนได้อาศัยวัดและวังเป็นแหล่งการฝึกฝนอบรม นอกจากจะได้สติปัญญาแล้วยังได้รับการฝึกฝนอบรมความประพฤติทางศีลธรรมจริยธรรมด้วย ความรู้ต้องคู่คุณธรรม
คืออุดมคติของการศึกษา หากมีวิชาการแต่อย่างเดียวอาจเป็นคนขาดศีล
ไร้ธรรมะ ไม่มีใครคบหาสมาคมด้วย อุดมคติของการเป็นคนดีแต่ก่อนคือ “คนดีต้องมีศีลธรรม” แม้ว่าปัจจุบันจะกลายมาเป็น “คนดีมีอำนาจ” หรือ “คนดีมีสตางค์” แต่สุดท้ายก็เห็นยังเรียกร้องหา “คนใจซื่อมือสะอาด”
อยู่นั้นเอง
ชาวไทยแต่ก่อน ทำอะไรที่ยิ่งใหญ่สวยงาม
มักจะอาศัยศาสนธรรมเป็นหลัก เช่น
การสร้างศิลปะที่สวยที่สุดก็ทำถวายพระศาสนา “ดังการสร้างพระพุทธชินราช” หรือ
จิตรกรรมฝาผนังที่สวยที่สุด
ส่วนใหญ่จะเป็นจิตรกรรมเกี่ยวกับศาสนาเขียนเอาไว้ที่วัด ชมแล้วทำให้จิตใจสงบเยือกเย็น นั่นคือผลแห่งการปรับภูมิปัญญาเดิมเข้ากับหลักศาสนา คนที่มีการศึกษาตามหลักภูมิปัญญา คือ “คนที่ได้รับการฝึกฝนพัฒนาให้รู้จักแก้ปัญหา ดับทุกข์
ทำตนให้เป็นสุขได้ ต่อนั้นก็สามารถที่จะแสวงหาความสุขประณีตยิ่งๆขึ้นไป
และสามารถเผื่อแผ่ขยายความสุขแก่ผู้อื่นได้อย่างกว้างขวางออกไปด้วย” [32]
นั่นคือต้องเป็นคนเก่งและคนดีในตัวบุคคลคนเดียวกัน กล่าวได้ว่า พุทธศาสนาเป็นรากฐานแห่งภูมิปัญญาไทย
ก็ไม่ผิดไปจากข้อเท็จจริง
3. ปรัชญาไทย
เป็นที่ถกเถียงกันในวงวิชาการของไทยมาช้านานว่า
“ปรัชญาไทยมีหรือไม่ ถ้ามี เป็นอย่างไร?
คนไทยที่เป็นนักปรัชญามีหรือไม่ ถ้ามี คือใคร? ” ปัญหานี้ ผู้เขียนได้กล่าวมาแต่ต้นแล้วว่า
ปรัชญา คือ แนวดคิดในเรื่องโลกและชีวิต คนเราย่อมดำเนินตามหลักคิดหรืออุดมคติของตน
อุดมคติของใคร ก็เป็นปรัชญาชีวิตของผู้นั้น คำกล่าวนี้ ดูจะเป็นเรื่องเฉพาะ
ไม่เป็นสากลแบบตะวันตก
หรือไม่เป็นระบบที่ยอมรับกันได้ อนึ่ง ผู้เขียนเคยนำเสนอความคิด
ที่เรียกว่า ปรัชญาไทย ในปี พ.ศ. 2537 ที่ มหาวิทยาลัย
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น ก็ยืนยันว่า ปรัชญาไทย มีแน่นอน
ทั้งปรัชญาดั้งเดิมของตน และปรัชญาที่ได้รับปรับรากฐานมาจากพระพุทธศาสนา
ความคิดทางศาสนาและปรัชญาชีวิตแบบพุทธ คือ
มรดกทางวัฒนธรรมของไทย
ซึ่งบางท่านให้นิยามความหมายของคำ “มรดกวัฒนธรรม”
ว่า “เป็นโครงสร้างทางสังคม ขนบธรรมเนียมประเพณี และค่านิยมที่ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ทั้งในด้านจริยธรรมและสิ่งอันเป็นสุนทรีย์ เช่น
ศิลปะ การละคร ดนตรี
สถาปัตยกรรม และศาสนา ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาแต่บรรพบุรุษ[33]
จากทรรศนะที่แสดงมา
ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการทางความเชื่อและการแสวงหาแนวทางชีวิตที่ถูกต้องแก่ตนเองและสังคมของชาวไทย
อิงอาศัยหลักปรัชญาเดิมเป็นปรัชญาชีวิตแบบพราหมณ์หรือฮินดู
ต่อมากลายรูปมาเป็นปรัชญาหรือมุมมองชีวิตแบบพระพุทธศาสนา บางอย่างเป็นเพียงแต่แนวคิด หากจะเหมาเอาว่าแนวคิดที่สังคมชาวไทยยอมรับ เป็นอุดมคติของสังคมไทย นั่นคือ
“ปรัชญาไทย”
ก็อาจจะถูกในระดับหนึ่ง แต่ชาวไทยที่เป็นนักปรัชญาโดดเด่น ได้สร้างแนวคิดที่เป็นระบบ
สามารถตั้งสำนักปรัชญาเอง อย่างนักปรัชญาเมธีชาวกรีก ปรัชญาเมธีชาวจีน ยังไม่พบเห็นชัดเจน
แนวคิดนี้สอดคล้องกับวันดี
ศรีสวัสดิ์ ว่า “ปรัชญาไทย มีอยู่อย่างแน่นอน
หากแต่ยังไม่อยู่ในรูปของระบบตามหลักวิชาการทางปรัชญา
เป็นเหตุให้นักปรัชญาคนไทยยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างเด่นชัด ส่งผลให้ เยาวชน
นิสิต นักศึกษาไทย ไม่มีบุคคลตัวอย่างที่มีค่าควรที่พวกเขาจะยึดถือเป็นบุคคลในอุดมคติและลอกเลียนแบบ
ในทางที่เป็นสาระเพื่อจะได้คนที่เป็นสาระเมื่อพวกเขาเติบใหญ่ขึ้นมา การที่คนไทยขาดปรัชญาไทยที่เป็นระบบไว้ศึกษา
เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้คนไทยมีความคิดสับสนไม่เป็นระบบ
ไม่รู้จักตนเองบนพื้นฐานของความเป็นไทยอย่างแท้จริง ไม่รู้จักการจัดขั้นตอนความคิด
ไม่รู้ว่าอะไรมาก่อนมาหลัง อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล ...เมื่อสับสน
ก็ทำให้ความคิดไม่ชัดเจน จนไม่อาจคิดได้ถึงรากของความคิด มองไม่เห็นต้นตอของปัญหา
ไม่อาจหาวิธีแก้ไขปัญหาและป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้ซ้ำอีก
ทั้งเป็นการเพิ่มปัญหาให้สลับซับซ้อนยุ่งเหยิงยากที่จะหาทางแก้ไขได้ ยิ่งถ้าเป็นปัญหาระดับชาติ วิกฤตินี้อาจนำความล่มสลายมาสู่ชาติได้ อีกประเด็นหนึ่ง เมื่อ
ปรัชญาไทยที่เป็นระบบยังไม่เกิดขึ้น การค้นคว้าเกี่ยวกับ “ไทยศึกษา” จึงเป็นไปอย่างขาดทิศทาง
แม้การค้นคว้านั้นจะมีคุณค่าในตัวเองสักเพียงใดก็ตาม
เมื่อขาดระบบปรัชญารองรับ การสื่อความหมายในระดับสากลเพื่อให้นักวิชาการชาวต่างประเทศเข้าใจ
ไทยศึกษาจริงๆ จึงขาดหายไป และคนไทยยังคงได้ชื่อว่า
คิดระดับสากลไม่เป็นอยู่นั่นเอง ...จึงถูกวิจารณ์ว่า เมืองไทยขาดนักวิชาการที่เก่ง
ขาดนักบริหารที่สามารถ” [34]
ในทางตะวันออก จะแยกปรัชญาออกจากศาสนาได้ยาก เมื่อชาวไทยนับถือพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ สิ่งใดที่เป็นปรัชญาทางพระพุทธศาสนา สิ่งนั้นคือปรัชญาไทย หรือ ปรัชญาไทย คือ ปรัชญาแบบพุทธ ปรัชญาพุทธเป็นการมองชีวิตตามความเป็นจริง เป็นสัจจนิยม
(Realism) การแสวงหาความจริงทางอภิปรัชญา(การเกิด การสิ้นสุด
สิ่งลี้ลับ) พระพุทธศาสนาจะบ่ายเบี่ยงไม่ยอมตอบ
เพราะรู้แล้วก็แค่สนองความอยากรู้ มิได้ช่วยให้หลุดพ้นจากความทุกข์
และวิธีการแสวงหาความรู้แบบพุทธปรัชญา
ก็มีหลายวิธี
อย่างน้อยจากประสบการณ์ตรง
และจากการคิดไตร่ตรองวิเคราะห์แยกแยะ
นั่นแหละ คือ ที่มาแห่งความรู้
ประเด็นที่จะกล่าวต่อไป
ถือระบบปรัชญาไทย แม้ไม่อาจจะระบุได้ว่า
ปรัชญาไทยเป็นอย่างไรได้อย่างชัดเจน
ดุจปรัชญาตะวันตก แต่เมื่อนำเอาเอกลักษณ์และวิถีดำรงชีวิตไทยมาพิจารณาแล้ว พอจะเห็นร่องรอยแนวคิดแบบไทยที่เรียกว่า
ปรัชญาไทย ได้ หลายแบบ อย่างที่ สนธิ์ บางยี่ขัน และวิธาน สุชีวคุปต์ สรุปได้ 6 ด้าน [35] คือ
ด้านอภิปรัชญา
คนไทยมองความจริงเป็นแบบทวินิยม คือมีความจริงทั้งสสารและจิตสำคัญพอกัน
ต่อมาอาจจะหนักไปทางสสารมากกว่าทางจิต
ในด้านจริยศาสตร์ คนไทยนิยมทางสายกลาง
แสวงหาความสุขส่วนตนและเสียสละความสุขเพื่อผู้อื่นด้วย ระยะหลังเน้นสสารนิยมมากกว่าจิตนิยม
ด้านสุนทรียศาสตร์ เดิมนิยมเสพความงามแบบศิลปะไทย
ต่อมาก็ค่อยผสมกลมกลืนกับศิลปะตะวันตก ในด้านสังคม แบ่งเป็น 2 พวก ในเมืองใหญ่แนวโน้มวิถีชีวิตปัจเจกแบบตะวันตก
ในชนบทยังคงเป็นสังคมแบบเครือญาติเอื้ออาศัยอุปถัมภ์กัน
ปัจจุบันดูจะเลียนแบบสังคมเมืองต่างคนต่างอยู่มากขึ้น ในด้านการเมือง
ยังคงนิยมแบบมีผู้นำ โดยไม่คำนึงถึงระบบการได้มาสุดแต่สถานการณ์
จึงเกิดผู้นำในสภาวะจำเป็นอย่างที่เห็นกันเสมอ ในทางเศรษฐกิจ คนไทยสมัยก่อน ต่างคนต่างทำแบบปัจเจกชน
ไม่ค่อยนิยมแบบชุมชนนิยม ในรูปสหกรณ์
ผู้เขียนเห็นว่า กว่าจะแก้ระบบคิดเศรษฐกิจแบบครอบครัว
การหวงวิชาของคนไทยได้ ประเทศไทยก็เสียโอกาสการพัฒนามานานนับหลายศตวรรษ เมื่อประมาณ 60 ปี
จึงพบแนวคิดสหกรณ์ ท้ายที่สุด เมื่อ พ.ศ. 2547
จึงมีการรวมกลุ่มเศรษฐกิจ
สืบสานถ่ายทอดต่อยอดเรียนรู้วิชาให้กัน ที่เรียกว่า การรวมกลุ่ม 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ (OTOP)
ขึ้นมาในสมัยรัฐบาล นำโดย พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คนที่ 23
ของประเทศไทย
ปรัชญาไทยที่ สนธิ์ บางยี่ขัน เสนอแม้จะไม่เป็นระบบอย่างปรัชญาตะวันตก
แต่ก็ได้ให้แนวคิดว่า คนไทยมีแนวคิดทางปรัชญาของตนอย่างไร โดยมองไปที่ภาคว่าด้วยปรัชญาชีวิต
ปรัชญาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสุภาษิตคำสอนที่กลั่นเป็นปรัชญาไทย สะท้อนในเรื่องต่างๆ
ทั้งเชิงปรัชญาบริสุทธิ์และปรัชญาประยุกต์ เช่น ปรัชญาการเลี้ยงเด็ก
ปรัชญาการให้การศึกษา ปรัชญาความสำเร็จ ปรัชญาความรัก
ปรัชญาว่าด้วยคุณค่าของชีวิต ปรัชญาว่าด้วยความตาย ปรัชญาสังคม ปรัชญาการศึกษา ปรัชญาเศรษฐกิจ
ปรัชญาการเมือง และสุภาษิตของคนไทยภาคต่างๆ
ในเอกสารการสอนชุดวิชา
“แนวคิดไทย” สาขาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ทั้ง 3 เล่ม [36]
ได้ให้ แนวคิดที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยเอาไว้อย่างพิสดารพร้อมรายละเอียด กระจายเป็นหน่วยการศึกษา ถึง 15 หน่วยการเรียน
ครอบคลุมแนวคิดที่สำคัญของคนไทย เกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
รวมทั้งปัจจัยที่เป็นเหตุผลของแนวคิดเหล่านั้น
ชี้ให้เห็นวิวัฒนาการนับแต่อดีตจนปัจจุบัน
เช่น แนวคิดเรื่องเกิดกับตาย เด็กกับผู้ใหญ่ ญาติสนิทมิตรสหาย งานกับเล่น
ผีกับพระ จิตกับวัตถุ ชายกับหญิง ยากดีมีจน รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา คนดีมีประโยชน์
เจ้าไพร่นายบ่าว เจ็บไข้ได้ป่วย
ความสามารถกับโชควาสนา ไทยกับเทศ และบูรณาการแนวคิดไทย
3.1 วิธีคิดของคน
เมื่อกล่าวถึง
แนวคิดของชนกลุ่มหนึ่ง เราก็จะได้แต่เพียงเป็นแนวทาง
หรือทิศทางที่คิดว่ามุ่งหมายอย่างไร ถ้าจะขุดให้ถึงต้นตอรากแก้วของความคิดที่เป็นพื้นฐาน
จำเป็นต้องวิเคราะห์หาว่า ชนกลุ่มนั้น มีวิธีคิดอย่างไร ถ้าคิดได้อย่างมีลำดับขั้นตอน
แสดงว่า คิดเป็นระบบ เมื่อคิดเป็นระบบ การคิดนั้นจึงสามารถใช้ได้ครบวงจร
และเป็นสากล วันดี กล่าวว่า
คนไทยคิดไม่เป็นระบบ ก็แสดงว่า ไม่มีวิธีคิด การคิดสับสน อันที่จริงอาจมีวิธีคิด
แต่แยกปัจจัยองค์ประกอบ หรือจัดลำดับก่อนหน้าหลังไม่ออก
คนไทยที่เก่งในระบบการคิดระดับสากลจึงมีน้อยราย อย่างไรก็ตาม สุริยา สมุทคุปติ์
และคณะ ก็ได้พยายามวิเคราะห์วิธีคิดของคนไทย จากการวิจัย 2 เล่ม คือ “ทรงเจ้าเข้าผี: วาทะกรรมของลัทธิพิธีและวิกฤติการณ์ของความทันสมัยในสังคมไทย” เมื่อปี 2539. และ “วิธีคิดของคนไทย พิธีกรรม “ข่วงผีฟ้อน” ของ “ลาวข้าวเจ้า”
จังหวัดนครราชสีมา” ในปี 2540 ชี้ให้เห็น วิธีคิดสากล และวิธีคิดของคนไทย ดังนี้
“วิธีคิด” ตามคำนิยามของคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ
สาขาปรัชญา หมายถึง “หลักการ
หรือเหตุผลในทางวัฒนธรรมที่ให้คุณค่าและความหมายต่ออุดมการณ์ของการดำรงชีวิตของผู้คนในสังคม
ประกอบด้วย 3 ระบบใหญ่ๆ ที่สัมพันธ์กัน คือ (1) ระบบคุณค่าทางศีลธรรมและจิตวิญญาณ
(2) ระบบภูมิปัญญาสำหรับการจัดการกับความสัมพันธ์ทางสังคมของคน
และความสัมพันธ์ระหว่างสังคมกับธรรมชาติแวดล้อม และ (3)
ระบบอุดมการณ์อำนาจที่แสดงศักดิ์ศรีและและสิทธิของความเป็นมนุษย์(ตามธรรมชาติ)”[37] หากจะว่าให้ตรงตามศัพท์ “วิธีคิด”
คือ “วิธีการ” “กรรมวิธีที่ใช้” หรือ “กระบวนการ” ที่คนใช้ในการแสดงกิริยา “คิด” “ใคร่ครวญ” หรือ “ทำงานโดยใช้ความคิด” หมายถึง วิธีการคิด
กรรมวิธีที่ใช้ในการคิด ใคร่ครวญ หรือ กระบวนการคิด
วิธีคิด มี 2 ประการ [38] คือ ประการแรก
คือวิธีการให้เหตุผลหรือวิธีทางตรรกะซึ่งเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการคิดของมนุษย์
มนุษย์ต่างสมัยย่อมมีวีคิดต่างกัน เช่น
วิธีคิดของมนุษย์ในสังคมดั้งเดิมถูกกำหนดด้วยความเชื่อทางไสยศาสตร์ ศาสนา
และประสบการณ์ ชีวิต
ในขณะที่มนุษย์สมัยใหม่ มีวิธีคิดที่เน้นการใช้เหตุผลและค้นคว้าหาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์เป็นเนื้อหาสำคัญ และประการหลัง คือ ผลรวมของประสบการณ์ของชีวิตมนุษย์
มีความหมายใกล้เคียงกับ ความรู้ ภูมิปัญญา โลกทัศน์ ชีวทัศน์ หรือ อุดมการณ์
เป็นผลผลิตทางประวัติศาสตร์ ผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในยุคสมัยหนึ่ง และสภาพแวดล้อมแห่งหนึ่งย่อมมีวิธีคิดเป็นของตนเอง
คนไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ย่อมมีวิธีคิดต่างจากคนไทยสมัยโลกาภิวัตน์เป็นต้น ถ้าจะดูวิวัฒนาการวิธีคิดของมนุษยชาติแต่ดึกดำบรรพ์มาถึงปัจจุบัน
วิชาการทางมานุษยวิทยาให้ลำดับพัฒนาการของวิธีคิด ดังต่อไปนี้
ก. วิธีคิดของคนป่า
เป็นวิธีคิดที่ไม่สลับซับซ้อนในการแก้ปัญหา
ล้าหลัง ไม่เจริญ
อิงอาศัยความเชื่อในพิธีกรรมลึกลับ
ขาดเหตุผล
คิดเฉพาะหน้าเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการทางกายภาพและจิตใจขั้นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตเท่านั้น
อันที่จริงควรเรียกว่า เป็นเพียงสัญชาตญาณ(Instinct) ตามธรรมชาติ
ข. วิธีคิดของคนพื้นเมือง ชาวยุโรปผิวขาวเชื่อโดยมีอคติว่า
ชาวพื้นเมืองมีตรรกะในการคิดแก้ปัญหาด้อยประสิทธิภาพกว่าพวกตน ชาวพื้นเมืองมีมันสมอง
เทียบได้กับเด็กชาวยุโรปผิวขาวผู้เจริญเท่านั้น
ค.
วิธีคิดของคนเมืองและชาวยุโรปสมัยใหม่ เน้นที่ปัจเจกบุคคลย่อมให้ความสำคัญกับกลุ่ม
หรือส่วนรวม อิทธิพลของกลุ่มมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของปัจเจกบุคคล
การสูญเสียเอกลักษณ์และแรงยึดหเนี่ยวของกลุ่มนำมาซึ่งความแปลกแยก
ปัญหาทางจิตวิทยาและความขัดแย้ง
วิธีคิดจึงซับซ้อนขึ้นมาอีกระดับเห็นความสัมพันธ์และสมานฉันท์ในองค์กร
ง. วิธีคิดที่ได้รับอิทธิพลจากจริยธรรมคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนท์
ให้หลักคิดว่า ปัจเจกบุคคลควรที่จะทำหน้าที่ทางโลกของตัวเองให้ดีที่สุด
การทำหน้าที่ดังกล่าว ถือเป็นพันธะทางจริยธรรมที่มีค่ามากที่สุด
ความคิดนี้มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตในสังคมอย่างมาก
จ. วิธีคิดสากลของมนุษย์ เลวี สเตราส์ อธิบายว่า
ภาษาที่มนุษย์ใช้สื่อความคิดนั้นมีโครงสร้างที่แน่นอน
ความคิดของมนุษย์ทำงานในลักษณะการทำงานของคู่ตรงกันข้าม (binary
oppositions) นั้นคือ
มนุษย์ผลิตความคิดที่มีความหมายได้ก็ต่อเมื่อเขาเริ่มคิดถึงสิ่งที่มีความหมายตรงกันข้าม
เช่น ธรรมชาติ- วัฒนธรรม ดิบ- สุก
เป็นต้น สเตราส์ แสดงว่า คนโบราณกับคนสมัยใหม่มีวิธีคิดแตกต่างกัน
โดยที่คนโบราณ คิดแบบสาระพัดช่าง(bricolleur)
เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิต
ไม่มีตำราคิดค้นและประดิษฐ์ได้เฉพาะเทคโนโลยีที่เน้นประโยชน์ใช้สอย ไม่ซับซ้อนมากนัก
ลองผิดลองถูก เก็บเล็กผสมน้อยต่อเชื่อมหากัน
กลุ่มนี้เป็นตัวแทนของวิธีคิดและภุมิปัญญาแบบดั้งเดิม ยังสามารถพบได้ทั้งในสังคมดั้งเดิมและสังคมสมัยใหม่ ส่วนคนสมัยใหม่ คิดแบบวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์(Engineer
& Scientist)
เริ่มจากโครงสร้าง มิใช่ลองผิดลองถูกจากสถานการณ์ แต่พยายามเข้าถึงสูตร
สมการ ทฤษฎีหรือโครงสร้าง ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการประดิษฐ์ หรือแก้ปัญหา
กลุ่มนี้เป็นตัวแทนของภูมิปัญญาและผลผลิตของโลกสมัยใหม่ที่มีวิธีคิดและการใช้เหตุผลแบบวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานสำคัญ
3.2 วิธีคิดของคนไทย
เมื่อพิจารณาจากวิธีคิดของโลกตะวันตก
ก็พบว่า มีการแบ่งระดับพัฒนาการตามยุคสมัยและตามบริบทของสังคม นับแต่ขั้นที่ง่ายไม่ซับซ้อนมาถึงวิธีคิดที่ละเอียดเป็นระบบมากขึ้นอย่างปัจจุบัน
หันกลับมามองวิธีคิดของคนไทย ซึ่งได้ให้ความสนใจวิธีคิดและระบบคิดนับแต่รับวัฒนธรรมตะวันตกมาจนปัจจุบัน
ก็ควรที่จะจัดยุคของวิธีคิดในเชิงประวัติศาสตร์เอาไว้
เพราะวิธีคิดแก้ปัญหาของแต่ะสมัยย่อมมีความเหมาะสมแก้ปัญหาได้ในสมัยนั้น
อาศัยฐานความเชื่อดั้งเดิม จากแง่มุมทางปรัชญา
พุทธศาสนา ประวัติศาสตร์
วรรณคดี เศรษฐศาสตร์ และมานุษยวิทยา
ในเรื่องนี้ สุริยา สมุทคุปติ์ และคณะได้แบ่งวิธีคิดของคนไทยดังนี้ [39]
ก. วิธีคิดสมัยราชาธิปไตย
วิธีคิดนี้
สมัยก่อนก็คงเป็นแบบคนพื้นเมืองในโลกตะวันตก คนไทยสมัยก่อน คิดแบบไตรภูมิ
เชื่อในอำนาจบุญบารมี กรรมเก่า เป็นต้น ต่อมานับแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2394-2453) ให้ความสนใจเรื่อง ความทันสมัย ความมีอารยธรรม และความศิวิไลซ์ แบบตะวันตก
ทำให้คนไทยเปลี่ยนวิธีคิดแบบดั้งเดิม มาเป็นแบบสมัยใหม่
ใช้ปัญญาและเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์มาอธิบายข้อเท็จจริง ไม่อิงอภินิหาร
ความเชื่อโชคลาง
และความอัศจรรย์ลี้ลับตามความเชื่อดั้งเดิมมาเป็นหลัก ความคิดและความเชื่ออะไรที่ตรวจสอบความจริงตามแบบวิทยาศาสตร์มิได้
ก็จะถูกกล่าวหาว่า งมงาย ผลจากวิธีคิดแบบสมัยใหม่
ทำให้ประเทศไทยได้รับเอาวิทยาการโลกตะวันตกมาพัฒนาประเทศให้เป็นแบบตะวันตกนับแต่นั้นมา
ข. วิธีคิดแบบชาตินิยมและรัฐนิยม เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากราชาธิปไตยมาเป็นระบอบประชาธิไปไตย
(พ.ศ. 2475) แม้จะยังคงต้องการพัฒนาประเทศแบบตะวันตก
แต่ผู้เป็นกำลังสำคัญในผลักดันความคิด ก็คือกลุ่มคณะราษฎร์ และรัฐบาล
นักคิดที่มีอิทธิพลมาจนปัจจุบัน คือ หลวงวิจิตรวาทการ(กิมเหลียง วัฒนปรีดา)
อาจเรียกว่า “วิธีการคิดแบบหลวงวิจิตร”
มีหลักคิดเกี่ยวกับอุดมการณ์ชาตินิยม
ให้ความสำคัญกับผู้นำ(เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย)
และให้ความสำคัญกับความสำเร็จในชีวิตนี้ ต้องทำงาน ต้องต่อสู้ หลวงวิจิตรฯเขียนหนังสือหลายเล่ม
เช่น วิธีทำงานและสร้างอนาคต กุศโลบาย เป็นต้น
ให้หลักคิดในการทำงานว่า “อันที่จริง
คนเขาอยากให้เราดี
แต่เราเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้ จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย
ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน” ส. ศิวรักษ์
ให้ความเห็นว่า แนวคิดนี้ มันก็คือ อุดมการณ์ขุนนาง
ที่ลดความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ลงมาอยู่ใต้กฎหมาย
ค. วิธีคิดที่ได้มาโดยกำเนิด(แบบอนุรักษ์นิยม) แนวคิดนี้
ได้หันกลับไปให้ความสำคัญกับสถาบันกษัตริย์ ศักดินาไทย
พุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย ผู้นำความคิดสำคัญ คือ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์
ปราโมช นักหนังสือพิมพ์ หัวหน้าพรรคกิจสังคมและนายกรัฐมนตรี(2518) เสียชีวิต(2538) คึกฤทธิ์เขียนหนังสือหลายเล่ม เช่น
สี่แผ่นดิน ไผ่แดง เป็นต้น
เพื่อสะท้อนวิธีคิดแบบอนุรักษนิยม ผดุงอุดมการณ์
อำนาจและบทบาททางเศรษฐกิจการเมืองของสถาบันศักดินาไทย
ง.
วิธีคิดตามแนวสร้างสรรค์สติปัญญาอย่างไทย ตามแนวนี้ ผู้เสนอหลักการคือ
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส.ศิวรักษ์) มีความเห็นสอดคล้องกับ คึกฤทธิ์ในแนวอนุรักษ์นิยม
แต่ต่างกันที่ ไม่เน้นระบบศักดินา ด้วยเห็นว่า เป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม
เป็นความอยุติธรรม
เป็นการเสียหายที่รับวัฒนธรรมตะวันตกโดยปราศจากการใคร่ครวญ ส.ศิวรักษ์ ปฏิเสธลัทธิทุนนิยม และสังคมนิยม
ให้ความสำคัญกับพระพุทธศาสนาว่า เป็นหนทางที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศไทยมากที่สุด
จ.
วิธีคิดตามแนวพุทธธรรม อันที่จริงวิธีคิดนี้ก็อยู่บนฐานพระพุทธศาสนา
แต่นำมาตีความใหม่โดยพระสงฆ์นักปราชญ์ผู้โดดเด่นร่วมสมัย 2 รูป คือ พุทธทาสภิกขุ(เงื่อม อินฺทปญฺโญ)
เจ้าสำนักสวนโมกขพลาราม อ.ไชยยา จ.สุราษฎร์ธานี
และ พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) เจ้าสำนักญาณเวศกวัน อ.พุทธมณฑล จ.
นครปฐม
ผู้ที่นำเสนอวิธีคิดแบบพุทธศาสนาอย่างชัดเจนเป็นระบบ คือ พระพรหมคุณาภรณ์ ในวรรณกรรมอมตะ “พุทธธรรม” ชี้รายละเอียดถึงกระบวนการคิดในทางพุทธศาสนาว่า
เริ่มต้นจากสัมมาทิฏฐิ คิดเป็น
แล้วเข้าสู่กระบวนการศึกษาตามหลักไตรสิกขา เพื่อฝึกฝนพัฒนาความคิดให้ถูกต้อง กระบวนการคิดที่ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ประกอบด้วย
2 ส่วน[40] ส่วนแรก ปรโต โฆสะ แปลว่า เสียงจากผู้อื่น หรือ การกระตุ้นชักจูงจากภายนอก
ได้แก่ การสั่งสอน แนะนำ ถ่ายทอด โฆษณา คำบอกเล่า ข่าวสาร
คำชี้แจงอธิบายจากผู้อื่น ตลอดจนการเรียนรู้เลียนแบบจากแหล่งต่างๆภายนอก
เป็นปัจจัยภายนอก เรียกว่า วิธีการแห่งศรัทธา ส่วนที่ 2 โยนิโสมนสิการ แปลว่า
การทำในใจโดยแยบคาย หรือคิดถูกวิธี หรือ แปลง่ายๆว่า ความรู้จักคิดหรือคิดเป็น
หมายถึงการคิดอย่างมีระเบียบ หรือคิดตามแนวทางแห่งปัญญา เป็นปัจจัยภายใน เรียกว่า วิธีการแห่งปัญญา
ฉ. วิธีคิดแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน วิธีคิดแบบสุดท้าย
ได้รับความสนใจในช่วง พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา
มีกลุ่มนักปราชญ์ไทยรุ่นใหม่ อาทิ น.พ. ประเวศ วะสี ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง ดร.เสรี พงศ์พิศ เป็นต้น หันมาหาทางแก้ปัญหาสังคมไทยด้วยการหวนกลับไปพิจารณาภูมิปัญญาดั้งเดิม
ด้วยความเชื่อว่า วิธีคิดของคนไทย มีสิ่งที่เรียกว่า ภูมิปัญญาหรือวัฒนธรรมชุมชน
เป็นรากฐานที่สำคัญ เพราะสิ่งนี้คือ พลังและ
ศักยภาพที่มีอยู่ในชุมชนและพร้อมที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาหรือแก้ปัญหาต่างๆในสังคม
จากแนวคิดทั้ง
6
แบบ ก็พอเป็นหลักฐานให้เห็นว่า คนไทยคิดเป็นระบบ บางสมัย
อาศัยความเชื่อดั้งเดิม จากฐานแห่งศรัทธาในศาสนา บางสมัยอาศัยวิทยาการสมัยใหม่
เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ผสมผสานกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาตีความเชิงสร้างสรรค์
และเสริมด้วยภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น สร้างระบบคิดที่เป็นเอกลักษณ์
ระบบคิดไทยขึ้นมา มีนักคิดที่เรียกว่า นักปราชญ์ไทยต่างยุคต่างสมัย เช่น
สมัยสุโขทัย พระยาลิไท ต้นกำเนิดแนวคิดไตรภูมิ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระสงฆ์ เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
และสามัญชน เช่น สุนทรภู่
นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมา ก็มี หลวงวิจิตรวาทการ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลเดช
(แนวพระราชดำริ ทฤษฎีใหม่
เศรษฐกิจพอเพียง) ม.ร.ว. คึกฤทธิ์
ปราโมช ส. ศิวรักษ์ พุทธทาสภิกขุ พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต)
และกลุ่มภูมิปัญญาไทย นายแพทย์ประเวศ วะสี นายโสภณ สุภาพงษ์ และปราชญ์ชาวบ้านหลายคน
เป็นต้น
3.3 ระบบปรัชญาไทย 3 สาขา
ผู้เขียน
ประสงค์จะนำเสนอความคิดเรื่องปรัชญาไทยด้วยกรอบคิดที่ชี้ให้เห็นถึงโลกทัศน์
ชีวทัศน์แบบดั้งเดิมของชาวไทยที่ยังไม่เจือปนด้วยวิทยาการสมัยใหม่ตะวันตก
ด้วยข้อมูลเอกสาร ตำราประวัติศาสตร์ ประเพณี และวัฒนธรรม ความเชื่อ
จารีตที่เคยปฏิบัติกันมา
เอกลักษณ์แนวความคิดของไทย มองสรรพสิ่งอย่างเป็นองค์รวม
มีความสัมพันธ์กันทุกระบบและทุกระดับ ชีวิตคน สัมพันธ์กับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม
สังคมมนุษย์รอบตัว และสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ เช่น คนหนึ่งเกิดมามีชีวิต
ก็เป็นไปตามหลักธรรมชาติ สัมพันธ์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ โดยเชื่อว่ามีแม่ซื้อหรือ แม่กำเนิด
เทพารักษ์ประจำตัวรักษา การดำรงชีวิตในสังคม ต้องมองหน้ามองหลัง
พึ่งพาอาศัยกันและกัน สร้างความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์ด้วยระบบคุณธรรม
เพื่อสังคมจะได้สงบสุข ไม่แยกส่วนดุจระบบปรัชญาตะวันตก
ผู้เขียนขอจัดกลุ่มแนวความคิดตามระบบปรัชญาแบบตะวันตกได้ 3 สาขา คือ
3.3.1 สาขาอภิปรัชญา ความคิดเรื่องผี วิญญาณ
เทวดา
ความเชื่อเรื่องโลกนี้โลกหน้า การเวียนว่ายตายเกิด การแสวงหาความจริงของสิ่งต่างๆ การอธิบายจุดกำเนิดของสิ่งต่างๆ ในรูปนิยายพื้นบ้าน หรือวรรณกรรมศาสนา เป็นต้น
เช่น วรรณกรรม “ไตรภูมิพระร่วง”
ถือว่าเป็นวรรณคดีปรัชญาเล่มแรกของไทย
มีคุณค่าทางปรัชญา ให้ความรู้เกี่ยวกับกำเนิดสัตว์ต่างๆ กำเนิดจักรวาล
การสร้างโลก
อันเป็นปรัชญาแขนงอภิปรัชญา
และให้ความรู้เกี่ยวกับบาปบุญ[41] ในประเด็นทางอภิปรัชญา
จะนำเสนอพอเป็นตัวอย่าง คือ
ก.
ความคิดเรื่องกำเนิดโลก จักรวาล และมนุษย์
เป็นความสงสัยของมนุษย์นับแต่สมัยดึกดำบรรพ์ โดยถามตนเองตลอดมาว่า โลกนี้มีความเป็นมาอย่างไร กำเนิดมาจากไหน ทำไมจึงมีดินฟ้าอากาศ มีดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวตำนานกำเนิดโลกและมนุษย์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไตหรือไทโดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและดินแดนส่วนใหญ่ของลาวในปัจจุบันเชื่อว่า ผีฟ้า หรือ ผีแถนเป็นผู้สร้างโลก กำเนิดโลกและมนุษย์มาจากแถน “แถนเป็นคนแต่งโลกขึ้นมา โดยการปั้นรูปผู้หญิงหงาย ปั้นรูปผู้ชายคว่ำ ปั้นไว้เฉพาะวิญญาณ ยังไม่มีตัณหา ลมพัดกระจัดกระจายตกไปอยู่คนละแห่ง ต่างคนต่างอยู่ ต่อมาเกิดไฟไหม้แผ่นดิน กลิ่นหอมโชยขึ้นไปถึงแถน กลิ่นหอมไปถึงคู่ชาย-หญิงที่แถนปั้นไว้ แถนก็พูดว่า ‘โลกทางลุ่ม(ข้างล่าง) คือหอมแท้(ส่งกลิ่นหอมมาก)’ ว่าแล้วชาย-หญิงคู่นั้นก็ลงไปกินดินที่ถูกไฟไหม้ในโลกมนุษย์ จากนั้นทำให้คนเกิดตัณหาขึ้นมา พอสมสู่กันแล้วก็ไม่สามารถกลับคืนไปอยู่สวรรค์ได้อีกต่อไป…”[42]
เป็นความสงสัยของมนุษย์นับแต่สมัยดึกดำบรรพ์ โดยถามตนเองตลอดมาว่า โลกนี้มีความเป็นมาอย่างไร กำเนิดมาจากไหน ทำไมจึงมีดินฟ้าอากาศ มีดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวตำนานกำเนิดโลกและมนุษย์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไตหรือไทโดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและดินแดนส่วนใหญ่ของลาวในปัจจุบันเชื่อว่า ผีฟ้า หรือ ผีแถนเป็นผู้สร้างโลก กำเนิดโลกและมนุษย์มาจากแถน “แถนเป็นคนแต่งโลกขึ้นมา โดยการปั้นรูปผู้หญิงหงาย ปั้นรูปผู้ชายคว่ำ ปั้นไว้เฉพาะวิญญาณ ยังไม่มีตัณหา ลมพัดกระจัดกระจายตกไปอยู่คนละแห่ง ต่างคนต่างอยู่ ต่อมาเกิดไฟไหม้แผ่นดิน กลิ่นหอมโชยขึ้นไปถึงแถน กลิ่นหอมไปถึงคู่ชาย-หญิงที่แถนปั้นไว้ แถนก็พูดว่า ‘โลกทางลุ่ม(ข้างล่าง) คือหอมแท้(ส่งกลิ่นหอมมาก)’ ว่าแล้วชาย-หญิงคู่นั้นก็ลงไปกินดินที่ถูกไฟไหม้ในโลกมนุษย์ จากนั้นทำให้คนเกิดตัณหาขึ้นมา พอสมสู่กันแล้วก็ไม่สามารถกลับคืนไปอยู่สวรรค์ได้อีกต่อไป…”[42]
ความเชื่อนี้ใกล้เคียงกับตำนานการเกิดมนุษย์ที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาเล่มสำคัญและเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
ได้แก่ หนังสือเรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” ซึ่งแต่งโดยพระยาลิไทกรุงสุโขทัย ปฐมบทของมนุษย์ในโลกเกิดจากการที่อาภัสสรพรหมลงมากินง้วนดินในโลกมนุษย์แล้วทำให้เกิดราคะขึ้นมา
[43]
ตำนานเค้าผีล้านนา
ปฐมมูลมูลี [44] หรือ
ปฐมมูลมูลี กล่าวถึงการเกิดโลก มนุษย์ สัตว์ และ พืชว่า “เมื่อโลกยังไม่ปรากฏ มีแต่อากาศว่างเปล่า ความร้อนกับความเย็นมาบรรจบกัน
ทำให้เกิดลมพัดหมุนวนอย่างรุนแรง จนเกิดเป็นกลุ่มก้อน
จากกลุ่มก้อนก็เกิดเป็นแผ่นดิน น้ำ หิน ผา แร่ธาตุต่างๆ ความชื้นก่อให้เกิดเป็นคู่เป็นไคลบนแผ่นหินผา
แล้วกลายเป็นต้นไม้ใบหญ้า เครือเถาวัลย์ จากธาตุทั้ง 4 เกิดสัตว์เดรัจฉาน
เช่นหนอน ด้วง แด้ แมลงภู่ผึ้งและสัตว์ที่มีเลือดมีกระดูก แต่ขนาดเล็กมาก เกิดตาย แผ่ขยายเต็มแผ่นดิน หลายกัปผ่านไป มีอิตถี(มนุษย์เพศหญิง) เกิดจากธาตุดิน ชื่อนางอิตถังไคยะสังกะสี
มีคันธะดอกไม้(ดมกลิ่นดอกไม้)เป็นอาหาร
เนื่องจากพื้นดินมีพืชพันธุ์งอกเต็มไปหมด นางจึงนำเอาเสทนี(น้ำ หรือ
เหงื่อ) และเมทนี(ดิน)มาปั้นเป็นรูปสัตว์อย่างละคู่(เพศเมีย เพศผู้) ให้มากินพืชพันธุ์จนหมด มีปุริสะ(มนุษย์เพศชาย)
ผู้หนึ่งเกิดจากธาตุไฟชื่อว่า
นปุงไคยะสังกะสี (คนถนัดเรียกว่า ปู่สังไคยะสังกะสี) เดินทางมาพบนางอิตถังไคยะสังกะสี ก็เกิดจิตปฏิพัทธ์สมสู่เป็นผัวเมียกัน
แล้วทั้งคู่ช่วยกันสร้างมนุษย์ออกมา 3 คน คนแรก เป็นเพศหญิง คนที่ 2 เพศชาย และ คนที่ 3 นปุงสะ(คนไร้เพศ)
จากนั้นทั้งคนและสัตว์ก็แพร่หลาย กระจัดกระจายอาศัยอยู่ตามภูมิภาคต่างๆเต็มโลก เมื่อมีคนมาก
ก็เกิดมีการละเมิดศีลธรรม คนชั่วทำผิดศีลธรรมมาก สุดท้ายโลก
ปู่และย่าสังไคยะสังกะสี ก็จะต้องทำลายล้างโลก”
นี้คือตำนานสร้างโลก
และมนุษย์ จากธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีเทวดา พระยาแถน หรือพระเจ้ามาเนรมิต
เกิดโดยวิวัฒนาการตามธรรมชาติ
การแปรปรวนของฤดูหนาวและฤดูร้อน ทำให้เกิดธาตุลม ธาตุน้ำ ธาตุไฟ เมื่อลมพัดน้ำ พร้อมกับความร้อน
น้ำเหือดแห้ง บังเกิดเป็น แผ่นธรณี (ธาตุดิน)
มีความชุ่มชื้น จึงบังเกิดคราบไคลของน้ำซึ่งลาวเรียกว่า “ขี้ตมปวก”
หรือ “ขี้ไคน้ำ” แล้วมีมนุษย์คู่แรก ก็เกิดจากธาตุธรรมชาติ
เพศหญิงเกิดก่อนจากธาตุดิน เพศชายเกิดตามมาจากธาตุไฟ เดิมเรียกว่า
นางอิตถังไคยะสังกะสี และนปุงไคยะสังกะสี
ต่อมาท้องถิ่นต่างๆก็เกิดเรียกเพียนกันไป เช่น “ปู่สังไคสา-ย่าสังไคสี หรือ
ปู่สังกะสา-ย่าสังกะสี”
มนุษย์คู่นี้แหละที่ช่วยกันสร้างพลโลกต่อมาและทำลายโลกเพราะเห็นว่า
เกิดความชั่วร้ายมากมายในมวลมนุษย์ ความคิดเรื่องการทำลายโลก
เพราะความชั่วของคนนี้ คล้ายกันแทบทุกศาสนาและวัฒนธรรม
ในพงศาวดารล้านช้าง กล่าวถึงชนกลุ่มแรกที่เกิดมาในโลกนั้นเกิดมาจากน้ำเต้าใหญ่ หรือ น้ำเต้าปุ้ง (น้ำเต้า ภาษาบาลี ว่า “ลาวุ” หรือ “ลาพุ” การที่เรียกเชื้อชาติว่า “ลาว” ก็เพราะเกิดจาก
“ลาวุ” น้ำเต้าปุ้งนี่ดอกกระมัง) เท้าความตามตำนานว่า มี ขุนทั้งสาม คือ ปู่ลางเชิง
ขุนเค็ก ขุนคาน ขออนุญาตต่อแถนเพื่อกลับมาอยู่เมืองมนุษย์ตามเดิม
พระยาแถนจึงอนุมัติให้อพยพลงมาอยู่ “นาบ่อนน้อยอ้อยหนู” และมอบควายตัวหนึ่งให้ลงมาช่วยไถนา ต่อมาควายตายลง จึงเกิดเป็นต้นน้ำเต้าขึ้นที่ซากของควาย
มีผลน้ำเต้าใหญ่มากผลหนึ่ง (น้ำเต้าปุ้ง) เมื่อผลน้ำเต้านั้นโตเต็มที่ก็ได้ยินเสียงคนอยู่ในนั้นเป็นจำนวนมาก
ขุนทั้งสามจึงเอาเหล็กชี(เหล็กหมาด)เผาไฟให้แดง เจาะรูเพื่อให้คนออกมา 2 รู คือ พวกไทยลมกับไทยผิวเนื้อดำคล้ำ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพวกข่า ขอม
เขมรและมอญ แต่ยังมีคนเหลืออยู่ในน้ำเต้าปุ้งอีกขุนทั้งสามจึงหาสิ่วมาเจาะใหม่อีก 3
รู พวกที่ออกมารุ่นหลังนี้ไม่ถูกรมควันจากเหล็กชีจึงมีผิวกายขาวกว่าได้แก่
ไทยเลิง ไทยลอ ไทยคราว ซึ่งกลายมาเป็นบรรพบุรุษของคนลาว คนไทย คนญวณ ในภายหลัง [45]
สรุปว่า การเกิดโลกและมนุษย์ครั้งแรก
มี 2
แนวคิด คือ มีพระยาแถนผู้ศักดิ์สิทธิ์ปกครองฟ้า สร้างโลกและมนุษย์ และอีกแนวคิดเชื่อว่า โลกและมนุษย์เกิดมาจากธาตุ
4 ตามธรรมชาติ ไม่มีผู้ศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้เกิดขึ้นมา
ข.
ความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติ
สิ่งเหนือธรรมชาติที่ชาวไทยเชื่อนั้น
ดั้งเดิมก็เป็นความเชื่อในสิ่งลึกลับ พลังอำนาจลึกลับอิทธิ ปาฏิหาริย์ ภูต ผี สาง วิญญาณ
ขวัญ และอมนุษย์ ประเภทต่างๆ มีอิทธิเดช หรือมีอำนาจเหนือมนุษย์ เป็นสิ่งที่ควบคุมระบบธรรมชาติให้เป็นไปตามใจบงการของสิ่งเหนือธรรมชาติ ชาวไทยสมัยก่อนไม่เข้าใจกฎธรรมชาติ
จึงอธิบายสาเหตุปรากฏการณ์ธรรมชาติด้วยพลังอำนาจลึกลับบันดาล การที่จะให้ธรรมชาติอำนวยผลสิ่งที่ดีให้ตนได้
ก็ด้วยการปฏิบัติเอาใจพลังเหนือธรรมชาติผู้ดลบันดาลให้พอใจมากที่สุด พูดง่ายๆ
การจะเอาชนะธรรมชาติ หรือบังคับธรรมชาติได้ก็โดยการเอาอกเอาใจพลังอำนาจที่บงการธรรมชาติเท่านั้น
จึงเกิดพิธีกรรมบวงสรวง เซ่น ไหว้ อ้อนวอน บวงสรวง ตามความเชื่อมากมาย
ผีเป็นความเชื่อดั้งเดิมของไทย จำแนกผีออกเป็นหลายประเภทและหลายระดับ
“ผี” เป็นคำไทย มาคู่กับคำว่า “ผู้” ในความหมายของคนไทย “ผู้” ถึงคนเป็นทั้งยังมีชีวิตอยู่ “ผี”หมายถึง คนที่ตาย เมื่อตายลงจึงกลายเป็นผี ที่เรียกว่า ไปเผาผี ความจริง ผี ไม่ได้หมายเพียงแต่สภาพของผู้ที่ตายไปเหลือแต่วิญญาณเท่านั้น
ยังหมายรวมอำนาจที่ยิ่งใหญ่นอกเหนือมนุษย์
เป็นอำนาจที่บันดาลให้เกิดโลก มนุษย์ จักรวาล เช่น ผี ฟ้า ผีแถน เป็น ผีปกครองโลก
ระดับลดรองลงมาก็เป็นผีประจำเมือง เสื้อเมือง ทรงเมือง ประจำถิ่น ผีบ้าน ผีเรือน เสื้อบ้าน เสื้อเรือน
[46] และผีอนาถาทั่วไป เมื่อชาวไทย นับถือศาสนาฮินดู ผีฟ้าผีแถน
ก็ได้รับการยกระดับเป็นเทพเจ้าสูงสุดบนฟ้า เหล่าผีต่างๆที่ทรงมหิทธานุภาพ ก็กลายเป็นเทวดาอารักษ์ไป
ความเชื่อในอมนุษย์ประเภทต่างๆ
มีดาษดื่นในวัฒนธรรมไทย เช่น ยักษ์ ครุฑ
พญานาค เงือก เป็นต้น [47] นอกจากนี้ ก็มีความเชื่อเดิมในเรื่องเวทมนต์ คาถา วิชา อาคม ไสยศาสตร์ เคราะห์ เวรอุบาทว์ จัญไร อัปปีย์ ขึ๋ด เหล่านี้เกี่ยวกับอำนาจพลังลึกลับ
อำนาจกายสิทธิ์ เป็นต้น
ค. ความเชื่อเรื่องชะตากรรมและบุญวาสนา
คำถามทางปรัชญาว่า “มนุษย์ถูกกำหนดหรือมีเสรีภาพ” หรือ “อนาคตเราอยู่ในมือเราจริงหรือ” คำตอบของชาวไทยสมัยก่อน ค่อนข้างเชื่อไปทาง ประเด็นแรกมากกว่า
ถือว่าโชคชะตาของมนุษย์ได้ถูกจารึกไว้ล่วงหน้าแล้ว คนมั่งมี คนทุกข์ยาก
ต่างถูกชะตากำหนดให้เกิดมาทุกข์ หรือ มั่งมี ดังคำกล่าวว่า “บุญทำกรรมแต่ง” หรือ “แข่งเรือแข่งพายแข่งได้
แต่แข่งบุญวาสนาแข่งไม่ได้”
ถ้าต้นตระกูล เผ่าพันธุ์ ชาติกำพืดดีหรือเลว ลูกหลานย่อมเป็นไปตามเชื้อสาย
เผ่าพันธุ์ วงศ์ตระกูล ไม่ผ่าเหล่าแตกกอออกไปได้ ดังคำว่า “เชื้อไม่ทิ้งแถว
แนวไม่ทิ้งเหล่า ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ ถ้าจะให้แน่
ต้องดูถึงยาย”
เป็นต้น แสดงว่า ใครเกิดมาย่อมมีเจ้าชะตากำหนดให้เป็นไป
และเกิดจากเผ่าพันธุ์ใดย่อมมีอุปนิสัยสันดานตามต้นตอ กอเหง้าของผู้นั้น
ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไปได้
เมื่อชาวไทยนับถือพระพุทธศาสนา ความเชื่อนี้จางลงไป เชื่อว่า
แม้จะมีชะตากำหนดเพราะกรรมเก่า แต่ก็สามารถสร้างกรรมใหม่เปลี่ยนแปลงโชคชะตาให้ร้ายหรือดีได้
คนจะสุขหรือทุกข์ จะสูงส่งหรือต่ำต้อย เพราะกรรมของตัว มิใช่เพราะชาติพันธุ์วรรณะ ดังที่ กล่าวว่า “
คนจะเลวหรือดี มิใช่เพราะชาติกำเนิด แต่ ดีหรือเลวเพราะกรรมของตนเอง” [48] เข้าข่ายความคิดเห็นประเด็นที่
2 ว่า อนาคตเรา อยู่ในมือเรา(กรรมที่ทำเอง)
ในประเด็นนี้ นักคิดไทยท่านหนึ่งชื่อ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน
มีชีวิตระหว่าง พ.ศ. 2451-
2491 อดีตนายทหารอากาศ ยศ เรืออากาศโท ถูกกล่าวหาเป็นกบฏ 2 ครั้ง (2477 และ 2481) เมื่อถูกคุมขังก็มีเวลาขีดเขียนหนังสือและกวี
แสดงความคิดเห็นได้รับการตีพิมพ์เป็นที่รู้จักกันดีว่า เป็นนักคิดที่เฉียบคม
วาทะกล้า นวนิยายเล่มหนึ่งที่ถูกยกให้เป็นหนังสือ 1 ใน100
เล่ม ของวรรณกรรมดีเด่นของชาติ ที่เยาวชนไทยควรอ่าน คือ เรื่อง “เมืองนิมิตร”
ชื่อภาษาอังกฤษ ว่า “An Idealist’s Dream” (2482) ถูกริบทำลายต้นฉบับไป แต่เขียนใหม่เชื่อว่า
“ความฝันของนักอุดมคติ”(2487) กล่าวว่า “มนุษย์ย่อมมีชีวิตอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อม
หมายความว่า สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเอง เช่น ดิน ฟ้า อากาศ และผู้คน
และสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการสร้างขึ้นโดยน้ำมือมนุษย์ เช่น ธรรมเนียม ประเพณี
ค่านิยมของสังคมเป็นต้น เหล่านี้
มีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์”[49]
อันที่จริง
สิ่งที่คนไทยเคยมีความเชื่อติดตัวมานาน คือ ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์
ชะตาชีวิตของบ้านเมือง และของคน ขึ้นอยู่กับฟ้าลิขิต และการโคจรของดวงดาว กล่าวแบบภาษาพื้นๆ ว่า “ดวง” เช่น ดวงบ้าน
ดวงเมือง และดวงชะตาชีวิตของแต่ละคน
การจะประกอบกิจกรรมใดๆ ก็จำเป็นต้อง ผูกดวง หาฤกษ์ยามที่ดี ด้วยเชื่อว่า
ถ้าประกอบพิธีตรงกับฤกษ์ ผา นาที ที่กำหนด ชีวิตจะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง
ความเชื่อ อีกประการหนึ่ง คือ เนื้อคู่ หรือ คู่ครอง เรียกว่า คู่แนน แถนแต่ง
เกิดมาเป็นคู่แล้ว ไม่แคล้วกัน
การเวียนว่ายตายเกิด คนไทยเชื่อในเรื่อง
การเวียนว่ายตายเกิด เมื่อคนตายไป อาจไปเกิดในเมืองแถน หรือ แดนทุรกันดาร บางทีอาจกลับมาเกิดเป็นสมาชิกใหม่ในครอบครัวเดิมก็ได้
ตายไปแล้วนอกจากจะกลับมาเกิดเป็นคนแล้ว อาจจะเกิดเป็นพืช(เช่นเรื่องจำปาสี่ต้น)
เป็นสัตว์(เช่นเรื่องปลาบู่ทอง) เป็นผีสาง เป็นยักษ์ ฯลฯ แนวคิดเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด
อาจจะได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธ เพราะอาศัยกฎแห่งกรรม จึงเวียนว่ายตายเกิด เพื่อชดใช้กรรมเก่าที่เคยทำมา เรียกว่าเกิดมาใช้กรรมเวร คนกว่าจะหมดกรรม
ง.
ความคิดเรื่องความจริงสูงสุด
ประเด็นเรื่องความเป็นจริงสูงสุด
ในทรรศนะของชาวไทยก่อนนับถือพุทธศาสนา ยอมรับความจริงมี 3 ประการ[50] คือ 1.
โลกทางวัตถุที่เห็นและจับต้องได้
เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ไม่ปรากฏว่า ชาวไทยสมัยก่อนได้มองโลกทางวัตถุ
ว่าเป็นเพียงมายา ดุจแนวคิดของนักปราชญ์พราหมณ์ และ 2. โลกหน้า หรือ ปรโลก หรือโลกในมิติอื่น เช่น นรก สวรรค์ บาดาล
ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
มีสัตว์ผู้เป็นอมตะ ตายไม่เป็น คือ ผีฟ้า หรือ ผีแถน เทียบได้กับแนวคิดเรื่องพระเจ้า(GOD) พระพรหม ของศาสนาคริสต์ หรือศาสนาพราหม์ และ 3. กฎธรรมชาติ
ก็เป็นความจริง หมายความว่า กฎที่มีอยู่ดั้งเดิม เป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล เป็นกฎที่มนุษย์มิได้บัญญัติขึ้น มีอยู่จริงแล้วในตัวของมันเอง
ต่อมาชาวไทยก็ขยายเป็นเรื่องกฎแห่งศีลธรรม และกฎแห่งกรรม เมื่อนับถือพระพุทธศาสนา
สรุปว่า แนวคิดทางอภิปรัชญา
เป็นแนวสัจนิยม(Realism)
มองโลกตามความจริง
ไม่เฟ้อฝัน ให้ความสำคัญทั้งทางกายและจิตใจอาจเข้าลักษณะทวินิยม(Dualism) แต่ไม่แยกกายออกจากใจอย่างเด็ดขาดดุจทวินิยมตะวันตก
3.3.2 สาขาญาณวิทยา ความคิดในด้านการแสวงหาความรู้
หรือทฤษฎีเกี่ยวกับความรู้ ชาวไทยสมัยก่อนมีความคิด จำแนกเป็นประเด็นได้ดังนี้
ก.
ความรู้ คือ วิชา [51] หมายถึงความรู้ทั่วไป สามารถแบ่งเป็นด้านต่าง ๆ
เช่น วิชาประวัติศาสตร์ วิชาภาษาไทย วิชาปรัชญา
หากมีความรู้และเชี่ยวชาญในเรื่องใดๆ เราเรียกว่า วิชาการ หมายถึงมีความรู้ในเรื่องที่ได้ฝึกฝนเล่าเรียนมา เช่น นักวิชาการศึกษา นักวิชาการประวัติศาสตร์
นักวิชาการการเมือง หรือ มีวิชาอาคม
แบบโบราณ เป็นต้น
ข.
แหล่งเกิดความรู้ ตามความคิดของชาวไทย แหล่งเกิดความรู้ จำแนกเป็น
1.
ความรู้เกิดจากประสบการณ์
เรียนรู้จากสังเกตธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม แหล่งความรู้ ตำรับตำรา
ขยายถึงความรู้ที่เกิดจากกระบวนการศึกษาเล่าเรียน
ฝึกฝนอบรม จากครู อาจารย์
ดังคำที่ขุนแผนสอนพลายงาม ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนว่า
.....อันตำรับตำราสารพัด ลูกเก็บจัดแจงไว้ที่ในตู้
ถ้าลืมหลับตรงไหนไขออกดู ทั้งของครูของพ่อต่อกันมา
รู้สิ่งใดไม่สู้รู้วิชา ไปเบื้องหน้าเติบใหญ่จะให้คุณ..
และตอนนางทองประศรีนำพลายแก้วไปฝากสมภารวัดส้มเกลี้ยงเพื่อเล่าเรียนว่า
... ท่านเจ้าขาฉันพาลูกมาบวช ช่วยเสกสวดสอนให้เป็นแก่นสาร
ด้วยขุนไกรบิดามาถึงกาล จะได้อธิษฐานให้ส่วนบุญ
อีกทั้งวิชาการอ่านเขียน เจ้าจะได้ร่ำเรียนเสียแต่รุ่น...
ลักษณะความรู้จากแหล่งนี้
เรียกว่า ความรู้หลังประสบการณ์(Aposteriori Knowledge) ชาวไทยเรียกกันว่า พรแสวง เกิดมาไม่เก่ง แต่แสวงหาเรียนรู้ ฝึกฝนจนเก่งได้
2. ความรู้เกิดจากการคิด
หรือใช้เหตุผลการขบคิดพินิจพิเคราะห์ ด้วยการใช้เหตุผล ด้วยเชาวน์ปฏิภาณ ไหวพริบ
ก็ทำให้เกิดความรู้ได้
ชาวไทยเชื่อในเรื่อง พรสวรรค์ เพราะบางคนมีความคิด
มีปัญญาติดตัวมาแต่เกิด เป็นอัจฉริยะเก่งมาแต่เกิด ภาษาศาสนาว่า สชาติกปัญญา
ดังความสามารถของศรีปราชญ์ ที่สามารถแต่งต่อโคลงอีก 2 บาท จนครบ
ที่เป็นโคลงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยกรุงศรีอยุธยา
ขึ้นกระทู้แล้วมอบให้บิดาศรีปราชญ์แต่งต่อ หรือตัวอย่างปัจจุบัน เด็กชายเดียว
อายุเพียง 4 ขวบ ทั้งที่ยังไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน แต่สามารถเล่นเกมส์ทศกัณฐ์เด็ก
ตอบคำถามบอกชื่อคนได้ถึง 200 หน้า ได้รับเงินรางวัลถึง 4,000,000 บาท (สี่ล้านบาท)
เป็นต้น และบางคนรู้โดยไม่ต้องเรียน ทางปรัชญาเรียกว่า ความรู้มีก่อนประสบการณ์(Apriori
Knowledge)
ค. การตรวจสอบความรู้ กระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของความรู้
ในมุมมองของชาวไทย ถ้าใช้ทฤษฎีทางปรัชญามาจับ จะพบว่า ชาวไทยใช้ครบทั้ง 3 ทฤษฎี
คือ
1. ทฤษฎีสหนัย (Inherence
Theory)
คือ ทฤษฎีที่ถือว่า การที่จะถือว่า
ข้อความใดข้อความหนึ่งเท็จจริงหรือไม่ ให้ดูว่าข้อความนี้สอดคล้องกับข้อความอื่น ๆ
ที่อยู่ในระบบเดียวกันหรือไม่ ถ้าสอดคล้องกัน ข้อความนั้นก็เป็นจริง
ถ้าขัดแย้งกันข้อความนั้นก็ไม่เป็นจริง เช่น
ถ้ามีใครพูดว่า "ชั่วเจ็ดที
ดีเจ็ดหน" เราก็ต้องยอมรับคำพูดนี้จริง เพราะความรู้เดิมมีอยู่ว่า
สรรพสิ่งมีการเปลี่ยนแปลง ไม่แน่นอน มีขึ้นมีลง
ตกต่ำแล้วก็อาจจะตั้งตัวขึ้นมาได้ หรือฟังเพยที่ว่า “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย” ทฤษฎีนี้จึงเกี่ยวข้องกับวิธีหาความรู้แบบนิรนัย
(Deduction)
แต่การนิรนัยบางเรื่องของคนไทยก็ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง
เพราะอ่อนตรรกะ โดยข้อเสนอหลักไม่เป็นความจริงสากล เช่น คนไทยสอนกันมาว่า “หญิงสามผัว ชายสามโบสถ์ เป็นคนที่คบไม่ได้” เมื่อเห็นผู้ใด จิตใจไม่มั่นคง(หรืออาจเป็นเพราะสาเหคุอื่นๆ)
บังเอิญเคยมีสามีมาแล้ว 3 คน หรือ ชายเคยบวชมาแล้ว 3 หน ก็เหมารวมหมดว่า
เป็นคนไม่ดี
2. ทฤษฎีสมนัย
(Correspondence
Theory)
คือทฤษฎีที่ถือว่า การที่จะถือว่าความรู้ใดเป็นความรู้ที่ถูกต้องเป็นจริงก็ต่อเมื่อความรู้นั้นตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ
เช่น คำพูดที่ว่า “สิบปากว่า
ไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ สิบมือคลำไม่เท่าทำเอง” หรือคำพูดที่ว่า “สิบช่าง ไม่เท่าเคย สิบลูกเขย ไม่เท่าพ่อตา” และสุภาษิตที่ว่า “เดินทางอย่าเดินเปลี่ยว
น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ”
ดังนั้นสิ่งที่ค้ำประกันว่า ความรู้ถูกต้องเป็นจริง
คือ การที่ความรู้นั้นตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ มีประสบการณ์ตรงและชำนาญในเรื่องนั้นๆ ปฏิบัติแล้วจะเกิดผลทั้งทางดี หรือทางร้ายก็ได้
ทฤษฎีนี้จึงเกี่ยวข้องกับการหาความรู้แบบอุปนัย (Induction)
3. ทฤษฎีปฏิบัตินิยม (Pragmatism) คือทฤษฎีที่ถือว่า
เกณฑ์ตัดสินความจริง คือ การใช้งานได้ ความสำเร็จประโยชน์ในทางปฏิบัติ ความมีประโยชน์
คือ พิจารณาจากความสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติ สิ่งที่เป็นจริงคือ สิ่งที่มีประโยชน์
ปฏิบัติแล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ดังสุภาษิตว่า
“ผิจะจับ จับจงมั่น ผิจะคั้นคั้นให้ตาย
ผิจะหมาย หมายจงแท้ ผิจะแก้ แก้จงกระจ่าง” และว่า
“อย่ารักเหากว่าผม อย่าลมกว่าน้ำ
อย่ารักถ้ำกว่าเรือน อย่ารักเดือนกว่าตะวัน” เป็นต้น
เมื่อชาวไทย นับถือพระพุทธศาสนา
จึงเน้นการแสวงหาความรู้ตามแบบพุทธปรัชญา
ทั้งโดยประสบการณ์ตรง การสังเกต การพินิจพิเคราะห์ ทั้งโดยการเรียนรู้ เพราะอาศัยประสบการณ์ตรงหรือเชาวน์ปัญญา แต่สิ่งที่เน้นที่สุดคือ
การจะมีความรู้ดีและถูกต้องนั้นก็ต้องเกิดจากการนั่งสมาธิพัฒนาจิตใจ อันเป็นสาเหตุแห่งความรู้ขั้นสูงสุด คือ ความรู้จริง
หรือ ปัญญา รู้จริงตรงตามสัจธรรม
สรุปประเด็นทางญาณวิทยา
ชาวไทยอดีต ให้ความความสำคัญกับความรู้ที่เกิดจากทั้ง 2 แหล่ง ที่เรียกว่า พรแสวง
และ พรสวรรค์ ความรู้จริงต้องตรงกับข้อเท็จจริง และความจริง
3.3.3 สาขาจริยศาสตร์ ในคำสอนของชาวไทยตามวรรณคดีต่างๆ ส่วนใหญ่จะปลูกฝังค่านิยมทางด้านศีลธรรม
และจริยธรรม สอนเรื่องความดี ความชั่ว
บาปบุญ คุณโทษ เน้นความถูกต้องและความเป็นธรรมในสังคมและส่วนตัว มีการสอนเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตน การเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ ในแนวคิดตามระบบจริยศาสตร์ จะนำเสนอค่านิยมความดี
ของชาวไทย ตามประเด็นดังนี้
ก.
ความดีคืออะไร
โดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึงความดี มักจะจำกัดที่ ความมีศีลธรรม หรือจริยธรรม
เป็นความถูกต้อง เป็นความสวยงาม เป็นธรรม
แต่ภาษาไทย ใช้คำว่า ดี หรือความดีในภาพที่กว้างครอบคลุมนัยะด้านอื่นๆด้วย ดังนั้น “ดี” ในความคิดของคนไทย หมายถึง
คุณสมบัติที่น่าพึงปรารถนาโดยรวมด้านอื่นเข้ามาประกอบ เช่น
การไม่เกเร
ไม่ดื้อรั้น ไม่เกียจคร้าน เชื่อฟังโอวาท
เป็นความดี ของเด็ก
การไม่ทอดทิ้งเพื่อนในยามยากจน ยามเจ็บไข้
ยามจาก เป็นความดีของเพื่อน
การไม่หยิ่งโส
โอหัง ไม่ถือตัว มีเมตตา เป็นความดีของผู้ใหญ่
ความยุติธรรม
เป็นความดีของผู้ปกครองและหัวหน้า
การรู้จักขอโทษ
การรู้จัก ให้อภัย “ไม่เป็นไร เลิกแล้วกันไป” เป็นความดีของทุกคน
การรู้จักเกรงใจ
รู้ที่ต่ำที่สูง มีสัมมาคารวะ เป็นความดีของทุกคน
ความซื่อสัตย์
สุจริต เป็นความดีของทุกคน
ข.
เกณฑ์วัดค่าความดี แม้ชาวไทยจะไม่ได้วางระบบวัดค่าความดีเอาไว้
เพราะคนไทยส่วนใหญ่จะชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มักไม่สุดโต่ง ตกขอบ ขนาดชอบที่สุด หรือเกลียดที่สุด
ชอบยึดทางสายกลาง ความพอดี ค่านิยมนี้ ชาวไทยนำมาใช้ประเมินค่าของการกระทำตามวัฒนธรรมไทย
ซึ่งเป็นวัฒนธรรมทางความคิด ถือเจตนาในการกระทำสำคัญกว่าผลของการกระทำ อย่างคำว่า สำคัญที่ใจ แต่บางครั้งก็ยืดหยุ่นตามเหตุการณ์
ไม่ตายตัว ถ้าใช้เกณฑ์แบบตะวันตก ก็จะพบเค้าให้เห็น
หลายเกณฑ์ ดังนี้
1.
เกณฑ์ตายตัว หรือ สัมบูรณนิยม วัดคุณค่าในตัว(intrinsic values) มากกว่าคุณค่านอกตัว(extrinsic values) สิ่งใดดี
สิ่งนั้นย่อมมีค่าในตัวเอง “เพชรย่อมเป็นเพชร” ตกที่ใดก็ยังเป็นเพชร เช่น
ความกตัญญูเป็นความดี ซื่อสัตย์สุจริต
เป็นความดี ความเมตตากรุณาแก่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก เป็นความดี ผู้ใดทำก็ดีแก่ผู้นั้น ทำเมื่อใด ทำที่ไหน
ก็ดีเมื่อนั้น เหมาะกับสถานที่นั้น ไม่มีข้อยกเว้น ดังจารึก
สุโขทัยบ่งถึงความเชื่อจริยธรรมทางศาสนา และเกณฑ์ที่คิดว่าดี คือ
มาตรฐานทางศีลธรรม(Moral Norms) เช่น “เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง...ไพร่ฟ้าลูกเจ้า ลูกขุน
ผิแลผิดแผกแยกว้างกัน
สวนดูแท้แล้จึงแล่งความแก่ข้า
ด้วยความเชื่อ บ่เข้าผู้ลัก
บ่มักผู้ซ่อน เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พิน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด”[52] ในบางวัฒนธรรม เช่นล้านนา เมื่อทำผิดทำนองครองธรรม ผิดจารีตประเพณีนิยม จะบอกว่า “ผิดผี” ทางอีสาน มีเกณฑ์ยึด ฮีต 12 ครอง 14 ทางภาคกลาง ก็มีเกณฑ์จารีต ขนบธรรมเนียมที่ยึดปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยโบราณ ปัจจุบัน เกณฑ์เหล่านี้ ย่อหย่อนลงไปมาก คนในสังคมไทยสมัยใหม่แทบไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญ
2.
เกณฑ์แบบสัมพัทธ์(Relative)
ขึ้นอยู่กับปัจจัย
บุคคล สถานที่ กาลเวลา ระดับ รู้ความเหมาะ ควรหรือไม่ควร ที่จะประพฤติต่อใคร ในสถานการณ์ใดสามารถปรับตัวตามสถานการณ์ได้
ภาษิตไทยว่า “เข้าเมืองหลิ่ว ให้หลิ่วตาตาม” “อย่าเป็นคนขวางโลก” “อย่างไรก็ได้” ก็เลยทำให้เกิดความรู้สึกว่า
คนไทยไม่จริงจัง จริงเป็นเล่น เล่นเป็นจริง ไม่มีหลักการ ตัวอย่าง เมื่อเราใช้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
มีรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ยึดหลักว่า
ไม่ควรมีการปฏิวัติรัฐประหาร หรือ การปฏิรูปใดๆ
อันเป็นกระบวนการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย เมื่อทหารเคลื่อนรถถังออกมายึดอำนาจ
คราวใด คนไทยก็เสียความรู้สึกและอกสั่นขวัญแขวนคราวนั้น แต่การณ์กลับตาลปัตร ในวันอังคารที่ 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา เมื่อทหารรวมตัวเรียกว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”(คปค.) นำโดย พลเอก สนธิ
บุณยรัตน์กลิน ผู้บัญชาการทหารบก คนไทยส่วนใหญ่ต่าง พอใจ ยินดี ชื่นชม ต้อนรับ หอบลูกจูงหลายไปดูทหารและรถถัง
ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก เหมือนเทศกาลงานวันเด็ก
แม้แต่คนไทยที่เคยยึดหลักการประชาธิปไตย เคร่งครัด ก็ยังมีใจโอนอ่อนหย่อนลงมา
ยอมรับว่า คปค. ทำดีแล้ว ในสถานการณ์บ้านเมืองที่จะล่มสลายเพราะระบอบทักษิณปกครอง พฤติกรรมไม่คงเส้นคงวาของคนไทยเช่นนี้
ทำให้ชาวต่างชาติไม่เข้าใจว่า การปกครองที่ว่า ดีหรือไม่ดี คนไทยยึดอะไรเป็นเกณฑ์แน่ ทั้งนี้เพราะมาตรฐานทางสังคมไทย(Social
Norms)มีขึ้นมีลงตามสภาวะแวดล้อม
3.
เกณฑ์ทางสายกลาง( Middle Criterion) โดยลักษณะนิสัย
ชาวไทยเป็นคนประนีประนอมสูง ปรับตัวเองเข้ากับทุกคนได้ แต่ก็ไม่ใช่ลักษณะที่อ่อนแอ
ไม่มั่นคง เป็นไม้หลักปักเลน เมื่อถึงเวลาต้องตัดสินเรื่องอะไร หลีกเลี่ยงที่จะใช้ความขัดแย้งรุนแรงแบบหัวชนฝา
เอากันถึงตายไปข้างหนึ่ง ถ้าเป็นไปได้ ชาวไทยขอยึดทางสายกลาง
เพื่อถนอมไมตรีทั้ง 2 ฝ่าย เข้าทำนอง “บัวไม่ให้ช้ำ
น้ำไม่ให้ขุ่น”
หรือ “รักพี่เสียดายน้อง” “หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ” ลูบหน้าปาจมูก” แต่จุดที่ชาวไทยมักถูกเข้าใจผิดเรื่องเกณฑ์ทางสายกลาง ก็คือ เป็นคนประเภท
“นกสองหัว” หรือ “ลิ้นสองแฉก”
“เหยียบเรือสองแคม” “ปลิ้นปล้อนกระล่อนแบบศรีทะนนชัย” “มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก” อันที่จริง
การยึดทางสายกลางเป็นเกณฑ์ตัดสิน ก็อาจจะมิใช่การประนีประนอมระหว่าง
ตำรวจกับโจรผู้ร้าย แต่อาจจะเป็นทางเลือกใหม่ ทางเลือกที่ 3
ที่เหมาะสำหรับการเข้าแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางความคิดและพฤติกรรม
ค.
คนดี มีลักษณะอย่างไร ในความคิดของคนไทย ลักษณะคนดี
สามารถมองได้ทั้งจากคุณสมบัติภายใน(Intrinsic Value/Quality)ที่เรียกว่า ความมีจริยธรรมและคุณธรรม ทั้งมองได้จากคุณสมบัติภายนอก(Extrinsic
Value/Quality)อันเป็นส่วนที่ปรากฏ
1. คุณสมบัติภายใน เกิดจาก
ใจดี มองจากแนวคิดไทย พบคุณลักษณะ [53]
ดังนี้ คนดีย่อมรักพวกพ้อง
คนดีคำนึงถึงคุณธรรมมากกว่าสิทธิประโยชน์
คนดีย่อมเข้ากับผู้อื่นได้ คนดี
ย่อมทำให้เกิดผลดี มองด้านมโนจริยา มีลักษณะ เคารพยำเกรง บิดา มารดา และอาจารย์ นับถือนอบน้อมต่อผู้ใหญ่ มีความอ่อนหวานแก่ผู้น้อย
และมองจาก สมบัติผู้ดี 10 ประการของ
เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (พ.ศ. 2444) พบว่า ผู้ดี ย่อมมีความเรียบร้อย
ไม่ทำอุดจาดลามก มีสัมมาคารวะ มีกิริยาเป็นที่รัก มีความสง่า ไม่เห็นแก่ตัว มีใจดี
ปฏิบัติการงานดี และสุจริตซื่อตรง
2. คุณสมบัติภายนอก มองที่พฤติกรรม เช่น เป็นคนเอาการเอางาน ให้ผู้อื่นพึ่งพาอาศัยได้ มีอำนาจวาสนา บารมี ปกป้องลูกน้องได้ เป็นพลเมืองดีของชาติ
มีความรู้ความสามารถดี เจ้าพระยาวิสุทธิ์สุริยศักดิ์
(ม.ร.ว. เปีย มาลากุล) เรียบเรียง สมบัติผู้ดี พ.ศ. 2455 ในด้าน
กายจริยา 12 ข้อ คือ 1) ย่อมนั่งด้วยกิริยาอันสุภาพ
เฉพาะหน้าผู้ใหญ่ 2) ย่อมไม่ขึ้นหน้าผ่านผู้ใหญ่ 3) ย่อมไม่หันหลังให้ผู้ใหญ่ 4) ย่อมแหวกที่
หรือให้ที่นั่งอันสมควรแก่ผู้ใหญ่ หรือผู้หญิง 5) ย่อมไม่ทัดหรือคาบบุหรี่
คาบกล้อง และสูบให้ควันไปรมผู้อื่น
6) ย่อมเปิดหมวก เมื่อเข้าชายคาบ้านผู้อื่น 7) ย่อมเปิดหมวกในที่เคารพ เช่น โบสถ์ วิหาร ไม่ว่าแห่งศาสนาใด 8) ผู้น้อยย่อมเคารพผู้ใหญ่ก่อน 9)
ผู้ชายย่อมเคารพผู้หญิงก่อน
10) ผู้ลาย่อมเป็นผู้เคารพก่อน 11) ผู้เห็นก่อนโดยมากย่อมเคารพก่อน
12) แม้ผู้ใดเคารพตนก่อน ย่อมต้องตอบเขาทุกคน ไม่เฉยเสีย และด้าน
วจีจริยา มี 6 ข้อ
คือ 1) ย่อมไม่พูดจาล้อเลียนหลอกลวงผู้ใหญ่ 2) ย่อมไม่กล่าวร้าย ถึงญาติมิตรที่รักใคร่นับถือ ของผู้ฟังแก่ผู้ฟัง 3) ย่อมไม่กล่าววาจา อันติเตียนสิ่งเคารพ
หรือที่เคารพของผู้อื่นแก่ตัวเขา 4) เมื่อจะขอทำล่วงเกินแก่ผู้ใด
ย่อมต้องขออนุญาตตัวเขาเสียก่อน 5) เมื่อตนทำพลาดพลั้งสิ่งใด
แก่บุคคลผู้ใด ควรออกวาจาขอโทษเสมอ
6) เมื่อผู้ใดได้แสดงคุณต่อตนอย่างไร
ควรออกวาจาขอบคุณเขาเสมอ
สรุปความว่า จริยศาสตร์ไทย แนวคิดเกี่ยวกับ ความดี มีทั้งดีในและดีนอก
คนดี มีทั้งคนดีทางศีลธรรม และคนดีทางสังคมยกย่อง
เกณฑ์วัดความดีของไทย มีหลายแบบ เหมือน มาตรฐาน 2 ชั้น เลือกใช้ตามสถานการณ์ให้เหมาะสม
4. ความสรุป
เนื่องจากชาวไทยแต่อดีต
มีความสัมพันธ์ และได้รับการถ่ายทอดทางความคิดและความเชื่อมาจากปรัชญาตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ และสืบสานกันมานาน โดยเฉพาะแนวคิดแบบอินเดียและพระพุทธศาสนา ดังนั้น มุมมองชีวิตที่เรียกว่า ชีวทรรศน์
หรือ มุมมองโลกที่เรียกว่า
โลกทรรศน์
ย่อมจะคล้ายคลึงหรือเป็นอย่างเดียวกันกับของกลุ่มอารยธรรมที่เจริญกว่าและมีอิทธิพลเหนือตนเอง อย่างไรก็ตาม ชาวไทยเป็นชาติที่ปรับตัวเองเก่ง
ทั้งมีการโอนอ่อนผ่อนตาม
มีการประนีประนอมสูง
รู้จักให้อภัย
รู้จักการเสียสละ
อันแสดงถึงความเป็นผู้มีน้ำใจกว้าง
เป็นนักประชาธิปไตย และสามารถจะอยู่ได้หรือเข้าได้กับทุกสังคมรอบตัว ยอมรับเอาอารยธรรมอื่นๆซึ่งได้เลือกสรรแล้วว่ามิได้เป็นพิษเป็นภัยแก่สังคมของตน สามารถหล่อหลอม ประยุกต์มาใช้เป็นของตนได้อย่างเหมาะสม
ปรัชญาไทย สมัยก่อน มีส่วนคล้ายปรัชญาแบบพุทธ ต่อมา เมื่อนับถือพระพุทธศาสนา
ก็เป็นแบบพุทธปรัชญาชัดเจน
เพราะพระพุทธศาสนาคือรากฐานแห่งภูมิปัญญาไทย ปรัชญาไทย
เป็นแบบสัจนิยมที่มองโลกตามความเป็นจริง
และรู้จักปล่อยวาง ไม่จริงจังกับโลก แบบคนแบกโลก หรือ อมทุกข์
ในเมื่อรู้แก่นแท้หรือความจริงของสิ่งต่างๆ
แสวงหาความรู้จากข้อเท็จจริงที่ปฏิบัติได้ ไม่ยึดอุดมคติเกินไป
วิถีปฏิบัติทางจริยศาสตร์ ก็ยึดทางสายกลางเข้าทำนอง “แสวงหาจุดร่วม
สงวนจุดต่างเอาไว้”
“มีทางถอยให้กับตนเอง ยืดหยุ่น ปรับตัวได้ตามสถานการณ์” โลกทรรศน์ไทย มองสรรพสิ่ง เป็นองค์รวม มีความสัมพันธ์กันประดุจลูกโซ่
ทั้งในสิ่งธรรมชาติ มนุษย์สังคม และสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นกระบวนการที่เอื้ออิงอาศัยกันและกัน มิได้แยกจากกันเด็ดขาด ดำเนินชีวิตตามแนวคิดความสัมพันธ์องค์รวมที่กล่าวมา
นี่คือ เอกลักษณ์ของ ปรัชญาไทย
ขออภัยที่มิอาจจะแยกแยะแนวคิดของนักคิดไทยหลายท่านอย่างละเอียด
เพราะจะทำให้บทความนี้เปลืองเนื้อที่กระดาษ (ขนาดนี้ก็ไม่น้อยแล้ว) ผู้เขียนตั้งความหวังในอนาคตว่า จะทำเป็นเล่มหนังสือโดยเพิ่มเติม
เสริมแต่ง เนื้อหาที่ขาดไปให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น.
หนังสืออ้างอิง
**********
1. หนังสือภาษาไทย :
กรมการศาสนา.
พระสัตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมปทัฏฐคาถา เล่มที่ 25. กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์การศาสนา. 2525.
กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์.
รวบรวมบทความงานพระราชทานเพลิงศพ
พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์.
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสมัย. 2519.
กีรติ บุญเจือ.
ปรัชญาสำหรับผู้เริ่มเรียน.
กรุงเทพฯ
: ไทยวัฒนาพานิช. 2519.
ธนู แก้วโอภาส.
ศาสนาโลก. กรุงเทพฯ : บริษัทสากลการพิมพ์. มปป.
ปิยะ ครึ้มค้างพลู. ถิ่นฐานเดิมรอบแคว้นแดนไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ พิมพ์ใจบรรณกิจ, 2533.
พระเทพเวที (ประยุทธ์
ปยุตฺโต). การศึกษาที่สากลบนพื้นฐานแห่งภูมิปัญญาไทย. กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ จำกัด. 2532.
พระเทพเวที(ประยุทธ์
ปยุตฺโต). วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ปัญญา. 2537.
พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตฺโต). พุทธธรรม. กรุงเทพฯ
:
โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 2542.
พระเมธีธรรมาภรณ์
(ประยูร ธมฺมจิตฺโต). ปรัชญากรีกโบราณ.
กรุงเทพฯ
:มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
2532.
พระเมธีธรรมาภรณ์(ประยูร
ธมฺมจิตฺโต). พุทธศาสนากับปรัชญา. กรุงเทพฯ :
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 2533.
พระยาอนุมานราชธน. เรื่องชนชาติไทย. กรุงเทพฯ : ประจักษ์วิทยา.
2513.
พิชิต อัคนิจ.
วรรณกรรมไทย สมัยกรุงสุโขทัย – กรุงศรีอยุธยา.
กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. 2536.
พิสิฏฐ์
โคตรสุโพธิ์. ภูมิปัญญาไทยกับการบริหารการศึกษา (เอกสารคำสอน). เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัย นเรศวร ศูนย์วิทยบริการจังหวัดเชียงใหม่. 2543.
พิสิฏฐ์
โคตรสุโพธิ์ และคณะ. รายงานวิจัย เรื่อง “ความเสื่อมและการเปลี่ยนแปลง
: วิถีชีวิตทางสายกลางของชาวไทย”, เชียงใหม่ : ภาควิชาปรัชญาและศาสนา
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2549.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
แนวคิดไทย เล่ม 1-3. นนทบุรี :
สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัย
สุโขทัยธรรมาธิราช. 2533.
วันดี
ศรีสวัสดิ์. ปรัชญาไทย
ชุดนักปรัชญาคนไทย :
ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน. กรุงเทพฯ
ภาควิชาปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. 2541.
วิไลเลขา
ถาวรธนสาร.
ชนชั้นนำไทยกับการรับวัฒนธรรมตะวันตก.
กรุงเทพฯ: ด่านสุธาการพิมพ์. 2545.
วิทย์ วิทยเวทย์. ปรัชญาการศึกษาไทย 2411-2475. กรุงเทพฯ
: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2544.
แสน ธรรมยศ.
พระเจ้ากรุงสยาม. มปพ.
ส.
ศิวรักษ์. ลอกคราบวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย. 2536.
สัญญา
สะสอง. แนวคิดเชิงปรัชญาในวรรณกรรมพื้นบ้านอีสาน.
วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา, บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2544
สนธิ์
บางยี่ขัน และ วิธาน สุชีวคุปต์. ปรัชญาไทย. มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 2526.
สิทธา พินิจภูวดล.
วรรณกรรมสุโขทัย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
2516.
สิปปนนท์ เกตุทัต.
ความรู้สู่อนาคต. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
2535.
สุริยา
สมุทคุปติ์ และคณะ. วิธีคิดของคนไทย พิธีกรรม “ข่วงผีฟ้อน” ของ “ลาวข้าวเจ้า”
จังหวัดนครราชสีมา.
นครราชสีมา :
สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี สุรนารี. 2540.
เสฐียร พันธรังสี.
ศาสนาเปรียบเทียบ. กรุงเทพฯ
: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 2535.
เสฐียรโกเศศ. ชาติก่อนชาติหน้า. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 2508.
อนาโตล
โรเจอร์ เปลติเยอร์(Anatole-Roger,
Peltier). ตำนานเค้าผีล้านนา ปฐมมูลมูลี. กรุงเทพฯ
: อมรินทร์พริ๊นติ้งกรุ๊พ. 2543.
2. หนังสือภาษาอังกฤษ :
Durant. Will. The
Story of Philosophy. New York :
Waashington Squares Press,
1961.
http://www.isangate.com/entertain/dance_02.htm สืบค้นวันที่ 18 กันยายน 2549.
Lavine. T.Z. FromSocrates to
Sartre. London : Bantum Books,
1985.
Majumdar. R.C. Hindu
Colonies in the Far East . Calcutta
: Firma K.L. Mukhopadhyay, 1963.
Phra
Rajavaramuni. Thai Buddhism in the Buddhist World. Bangkok : Mahachulalongkorn Buddhist University Press,
2533.
Phya Anuman Rajadhon.
Popular Buddhism in
Siam and other
Essays on Thai
Studies. Bangkok : Sathirkoses Nagapradip
Foundation, 1986.
Russell. Bertarnd. History
of Western Philosophy. London
; Unwin Paperbacks, 1979.
-------
[1] พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ เสนอบทความทางวิชาการ พิมพ์ใจวารสาร ปณิธาน ฉบับพิเศษ
เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ภาควิชาปรัชญาและศาสนา
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 3-4 พฤศจิกายน
2549.
[2] สิปปนนท์ เกตุทัต,
ความรู้สู่อนาคต, (กรุงเทพฯ
: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535), หน้า 263.
[3] Will Durant, The Story
of Philosophy, (New York : Washington Squares
Press, 1961), p. 59.
[4] Burtrand Russell,
History of Western
Philosophy, (London :
Unwin Paperbacks, 1979), pp. 44-45.
[5] T.Z.
Lavine, From Socrates
to Sartre, (London :
Bantum Books, 1984),
p. 10.
[6] เสฐียร พันธรังษี,
ศาสนาเปรียบเทียบ, (กรุงเทพฯ :
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2535), หน้า 219; ธนู
แก้วโอภาส, ศาสนาโลก, กรุงเทพฯ :
สำนักพิมพ์สากลการพิมพ์, มปป.), หน้า
199,205.
[7] วิไลเลขา ถาวรธนสาร, ชนชั้นนำกับการรับวัฒนธรรมตะวันตก, (กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2545), หน้า 21-22.
[8] สนธิ์ บางยี่ขัน และวิธาน สุชีวคุปต์, ปรัชญาไทย, (กรุงเทพฯ
: มหาวิทยาลัยรามคำแหง,
2526), หน้า 8.
[9] วิลเลียมส์ คริฟตัน ด็อด, ชนชาติไทย,
หลวงนิแพทย์นิติสรรค์ (แปล), (พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา,
2520), หน้า 29. อ้างใน สนธิ์ บางยี่ขัน, ปรัชญาไทย, หน้า 13.
[10] พระยาอนุมานราชธน, เรื่องชนชาติไทย, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์วิทยา, 2513), หน้า
1-6;
ปิยะ ครึ้มค้างพลู, ถิ่นฐานเดิมรอบแคว้นแดนไทย,
(กรุงเทพฯ) :
สำนักพิมพ์พิมพ์ใจบรรณกิจ, 2533), หน้า 13-14.
[11] R.C. Majumdar, Hindu Colonies in
The Far East , (Calcutta : Firma K.L.
Mukhopadhyay,1963), p. 5-6.
[12] Benadict Paul, “Thai Kadai and Indonesian
a new alignment in Southeast Asia”, American Anthropologist, Vol.44, New York , 1942. อ้างใน สนธิ์ บางยี่ขัน, หน้า 16.
[13] วิไลเลขา ถาวรธนสาร, ชนชั้นนำไทยกับการรับวัฒนธรรมตะวันตก,
หน้า 20-21.
[14] สิปปนนท์ เกตุทัต, เรื่องเดียวกัน, หน้า 51.
[15] ส.ศิวรักษ์, ลอกคราบวัฒนธรรมไทย,
(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย, 2536), หน้า 4-5.
[16] เสฐียรโกเศศ, ชาติก่อนชาติหน้า,
(กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2508),หน้า 3.
[17] Phya Anuman Rajadhon, Popular
Buddhism in Siam
and Other Essays on Thai Studies, (Bangkok : Sathirkoses Nagapradip Foundation,
1896), pp. 89-120.
[18] ส.ศิวรักษ์, อ้างแล้ว, หน้า
8, 10, 16 และ 67.
[19] พิชิต อัคนิจ, วรรณกรรมไทย สมัยกรุงสุโขทัย –
กรุงศรีอยุธยา, (กรุงเทพฯ :
สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2536), หน้า 36.
[20] Phra Rajavaramumi, Thai Buddhism in the Buddhist World, กรุงเทพฯ:
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2533), p.11.
[21] ส.ศิวรักษ์, อ้างแล้ว,
หน้า 15.
[22] วิไลเลขา ถาวรธนสาร. ชนชั้นนำไทยกับการรับวัฒนธรรมตะวันตก. หน้า 23, 70, 139 และหน้า 88.
[23] พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ และคณะ, “ความเสื่อมและการเปลี่ยนแปลง
: วิถีชีวิตทางสายกลางของชาวไทย”, รายงานวิจัย, (เชียงใหม่ : ภาควิชาปรัชญาและศาสนา
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2549) หน้า บทคัดย่อ
และหน้า 93-96.
[24] พระเมธีธรรมาภรณ์, พุทธศาสนากับปรัชญา,
(กรุงเทพฯ : อมรินทร์
พริ้นตติ้ง กรุ๊ฟ จำกัด, 2533),หน้า 95.
[25] วิชาปรัชญา เปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรีเป็นสาขาวิชาเอก
ที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปีการศึกษา 2518 เป็นเวลาถึง 10 ปี
หลังจากการสถาปนามหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคแห่งแรกในประเทศไทย(2507) และครบ 30 ปี ในปี 2549 ส่วนบัณฑิตศึกษา
สาขาปรัชญาเปิดสอนครั้งแรกในปีการศึกษา พ.ศ. 2527
[26] กรรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, หนังสือรวบรวมพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2516), หน้า 32.
[27] S.Chatterjee, An
Introduction to Indian Philosophy, (Calcutta : University of Calcutta, 1986,), p. 2.
[28] กีรติ บุญเจือ,
ปรัชญาสำหรับผู้เริ่มเรียน, (กรุงเทพฯ:
ไทยวัฒนาพานิช, 2519), หน้า 1.
[29] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่
4, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรเจริญทัศน์, 2531),
หน้า 511.
[30] แสน ธรรมยศ,
พระเจ้ากรุงสยาม, คำนำ.
[31] พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, ภูมิปัญญาไทยกับการบริหารการศึกษา
(เอกสารคำสอน), (เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัย นเรศวร ศูนย์วิทยบริการจังหวัดเชียงใหม่, 2543), หน้า 4.
[32] พระเทพเวที(ประยุทธ ปยุตฺโต),
การศึกษาบนฐานแห่งภูมิปัญญาไทย,
(กรุงเทพฯ : อมรินทร์พรินติ้ง กรุ๊ฟ จำกัด, 2532),
หน้า 79.
[33] สิปปนนท์ เกตุทัต,
เรื่องเดียวกัน, หน้า 41.
[34] วันดี ศรีสวัสดิ์, ปรัชญาไทย
ชุดนักปรัชญาคนไทย : ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน, ( กรุงเทพฯ :
ภาควิชาปรัชญา
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2541). หน้า ข.
[35] สนธิ์ บางยี่ขัน และ วิธาน สุชีวคุปต์, ปรัชญาไทย, (กรุงเทพฯ :
มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2526), หน้า 42-43.
[36] มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. แนวคิดไทย เล่ม 1-3. นนทบุรี : สาขาวิชาศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
2533.
[37] สุริยา สมุทคุปติ์ และคณะ. วิธีคิดของคนไทย พิธีกรรม “ข่วงผีฟ้อน” ของ “ลาวข้าวเจ้า” จังหวัดนครราชสีมา. (นครราชสีมา : สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. 2540), หน้า
36.
[38] สุริยา สมุทคุปติ์ และคณะ. เรื่องเดียวกัน, หน้า 40-41.
[39] สุริยา สมุทคุปติ์ และคณะ. เรื่องเดียวกัน, หน้า 72-121.
[40] พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตโต), พุทธธรรม, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2542), หน้า 621.;
พระเทพเวที(ประยุทธ์ ปยุตโต), วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม, (กรุงเทพฯ
: สำนักพิมพ์ปัญญา, 2537), หน้า 17-18.
[41] สิทธา พินิจภูวดล, วรรณกรรมสุโขทัย, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,
2516), หน้า 155 –161.
[42] สุริยา สมุทคุปติ์และคณะ, วิธีคิดของคนไทย พิธีกรรม “ข่วงผีฟ้อน” ของ “ลาวข้าวเจ้า”
จังหวัดนครราชสีมา, (นครราชสีมา : สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, 2540), หน้า 93.
[43] ส. ศิวรักษ์, อ้างแล้ว, หน้า 10.
[44] Anatole-Roger Peltier, ตำนานเค้าผีล้านนา ปฐมมูลมูลี, (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ๊นติ้งกรุ๊พ, 2543 หน้า 4 – 6, 17- 39.
[45] http://www.isangate.com/entertain/dance_02.htm สืบค้นวันที่ 18 กันยายน 2549.
[46] มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, แนวคิดไทย เล่ม 3, (นนทบุรี : สาขาวิชาศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,
2533), หน้า 717.
[47] สัญญา สะสอง, แนวคิดเชิงปรัชญาในวรรณกรรมพื้นบ้านอีสาน,
วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา, บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2544, หน้า 49-60.
[48] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย
ขุททกปาฐะ(บาลี). เล่ม 25 ข้อ 306 หน้า 352. “น ชจฺจา วสโล โหติ น ชจฺจา โหติ พฺราหฺมโณ กมฺมุนา วสโล โหติ กมฺมุนา โหติ
พฺราหฺมโณ”
[49] วันดี ศรีสวัสดิ์. ปรัชญาไทย ชุดนักปรัชญาคนไทย : ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน, หน้า 25.
[50] วิทย์ วิทยเวทย์, ปรัชญาการศึกษาไทย 2411-2475, (กรุงเทพฯ :
สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544, หน้า 137-146
[51] มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. แนวคิดไทย
เล่ม 2. นนทบุรี : สาขาวิชาศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2533. หน้า
443-445.
[52] พิชิต อัคนิจ,
อ้างแล้ว, หน้า 35.
[53] มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. แนวคิดไทย เล่ม 2. หน้า 512 - 531.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น