แจ้งข่าวนักศึกษา012173

วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2559

ใช้ชีวิตให้เป็นสุข

ใช้ชีวิตให้เป็นสุข
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ เขียนเผยแพร่ใน หนังสือของบ้านรักเรียน เชียงใหม่ 2557
          หลวงพ่อพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) เคยกล่าวในที่ประชุมวิชาการและเขียนเป็นหนังสือออกมาเกี่ยวกับลักษณะเยาวชนไทยว่า ทุกข์ง่าย สุขยาก เมื่อฟังแล้วผู้เขียนเลยคิดขยายความเอาตามที่ตนเองเข้าใจและมีประสบการณ์ตรง ดังนี้
ข้อ 1 คำว่า ทุกข์ และสุข ที่พระคุณเจ้าพูดไว้ เป็นคำใหญ่  เป็นการมองภาพรวม ความหมายที่จะให้ครอบคลุม สุข หรือ ทุกข์ มันกว้างหรือแคบขนาดใด  และยังมีคำขยายต่อคำว่า ทุกข์ หรือ สุขว่า ง่าย และยาก นั้นจะมีเกณฑ์วัดประมาณใด
ลองมาคิดเแบสามัญสำนึกดู คำว่า ทุกข์ ที่เรารู้จัก มี 108 อย่าง แต่สรุปลงได้ 2 หมวด คือ ทุกข์กาย และทุกข์ใจ ความหมายของ ทุกข์ ง่าย ๆ คือ ทนไม่ได้ หรือ ทนได้ยาก  มีอะไรบ้างหล่ะที่เราทนได้ยาก ทุกข์ทางกาย เช่น สภาพดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้แม้แต่คนที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงก็แทบทนไม่ไหว เจ็บป่วยลง  ทุกข์ทางใจ เช่น บางทีดินฟ้าอากาศหมุนเวียนตามปกตี แต่ใจคนเราชอบไม่เหมือนกัน หลายคนชอบฤดูร้อน แต่อีกหลายคนกลับชอบฤดูฝน หรือ ฤดูหนาว แสดงว่า ปัจจัยภายนอกเป็นไปได้ที่จะมีอิทธิพล หรือ ไม่มีอิทธิพล ต่อความทุกข์ของเขา จำว่าไปแล้ว ที่เป็นเหตุแห่งทุกข์แท้ ๆ  ก็ น่าจะได้แก่ใจเราไง ที่แสดงปฏิกิริยาสนองตอบต่อสภาพภายนอก หนักนิดเบาหน่อยก็ทุกข์แล้ว นี่กระมัง คือ อาการ ทุกข์ง่าย
ในขณะที่ สุข หมายถึง ทนได้ง่าย หรือ สบาย นั่งเป็นสุข ก็ทนได้ง่าย เช่นนั่งชมภาพยนตร์ที่ชอบสักเรื่อง แม้จะเป็นเรื่องยาว ขนาด 3 ชั่วโมงจึงจบ ทั้งสนุก และสุข หมดเวลาไปเมื่อใดแทบไม่รู้ตัว เพราะทนได้ แต่ถ้าให้นั่งรออะไรสักอย่างที่เรากังวลว่าจะมาจะไปเมื่อใด  เวลาเพียง 4-5 นาที ก็รู้สุกว่า นานแสนนาน ทนไม่ได้ นี้กระมัง สุขยาก
ข้อ 2 ครอบครัวผู้เขียน มีเยาวชนอยู่ในการปกครองดูแล 3 คน  ถนอมเลี้ยงดูอบรม และอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่เขาเกิด ก็เฝ้าสังเกตดูเหมือนกันว่า เขาและเธอได้มีลักษณะดังที่พระคุณเจ้าท่านกล่าวไว้หรือไม่
พูดไม่เข้าข้างพระคุณเจ้าจริงๆ  ลูกผู้เขียนเอง มักจะทนต่อสิ่งต่าง ๆได้ยาก เช่น อยากได้ของอะไร ในใจเขาต้องได้เดี๋ยวนี้ หรือ วันนี้ หากบอกว่าให้อดทนรอ เอาไว้วันหลังก็ได้ เขาจะทำหน้าเบื่อหน่ายต่อการรอคอย พูดง่าย ๆ คือ สะกดคำว่า รอ ไม่เป็น และเขาจะเอาแต่ใจตนเอง ตัดพ้อว่า พ่อแม่ไม่รัก
อันที่จริงแล้ว ไม่มีพ่อแม่ที่ไหนไม่รักลูก แต่ผู้เป็นพ่อแม่เช่นครอบครัวผู้เขียน มักจะไม่ตามใจลูกมากจนเกินไปต่างหาก กว่าจะอธิบายให้ยอมรับเหตุผลว่า อะไรเร่งด่วน อะไรรอได้ เขาและเธอ ก็ไม่มีความสุขที่จะฟังเหตุผล อย่างไรเสีย หากพวกเขาทนรออีกนิด เมื่อความพร้อมและจำเป็นต้องใช้จริง ๆ  ก็จะได้รับของที่ต้องการ และทำให้เขามีความสุขแล้ว
ข้อ 3 ถ้าจะปรับองศาใหม่ ให้เยาวชนไทยเป็น สุขง่าย ทุกข์ยาก จะต้องใช้ความคิด วิริยะ อุตสาหะมากเพียงใด ในการปรับเปลี่ยนทัศนคติและค่านิยมตามแบบแฟชั่น ด้วยอ้างคำโตว่า “มันจะไม่ทันโลก”
อันนี้ ผู้เขียนคิดเอาเองว่า คนเราทุกวันนี้ เอาความทุกข์ความสุขไปฝากไว้กับสิ่งของนอกกาย และแคร์ความรู้สึกของบุคคล หรือสังคมรอบตัวมากไป เกี่ยวกับวัตถุสิ่งของที่สนองความอยากได้ใคร่มี ถ้าเราได้ เรามีได้เป็นเจ้าครอบครองของสิ่งนั้นแล้ว เราก็รู้สึกว่า สุขแล้วนะ หากไม่ได้ ไม่มี ก็ทุกข์แล้วนะ
เรื่องสิ่งของนอกกายบางอย่าง ที่จำเป็นจริง ๆ ให้คิดว่า มีจึงดี ไม่มีไม่ได้ อันนี้ต้องแสวงหามาไว้ เพราะขาดมันไปไม่ได้ ถ้าขาดมันไป ความไม่สะดวกหลายประการย่อมเดินพาเหรดเป็นขบวนเรียงหน้ากระดานมาหาเราแน่ ๆ
แต่กับสิ่งของบางอย่าง เราต้องการมัน แต่มันยังไม่ค่อยจำเป็น ให้คิดเสียใหม่  มีก็ดี ไม่มีก็ได้ เพราะถึงขาดมันไปบ้าง ชีวิตก็ยังดำเนินไปได้อย่างไม่ฝืดเคือง
คนส่วนใหญ่มักจะเห็นสิ่งที่ไม่ค่อยจำเป็นนัก ว่า ต้องหามามีไว้ครอบครอง... เพื่ออะไรก็ไม่ทราบ... แต่ที่แน่ ๆ  เคยพบว่า มีคนเพียงคนเดียว แต่เขากลับมีทั้งรถเก๋ง(ขับไปทำงาน) รถกะบะ(ไว้ขนของ) แถม ยังมีรถจักรยานยนต์อีกคัน หรือ สองคัน เอาไว้ไปตลาดใกล้บ้าน ทำไงได้ เพราะมันแสดงถึงฐานะของเจ้าของ ความจำเป็นที่แท้ วัตถุประสงค์ของการมีรถสักคันก็เพื่อเป็นพาหนะให้ความสะดวกในการไปทำงานหรือทำธุระอย่างอื่นได้ คันเดียวก็น่าจะพอ เพราะขับขี่ได้ครั้งคันเท่านั้น ที่เหลือ จอดทิ้งไว้ที่บ้าน รกที่ รกโรงจอดรถ
เรื่องบ้านก็เหมือนกัน บางคน มีบ้านอยู่อาศัยหลัก ใกล้ที่ทำงานประจำอยู่แล้ว  แต่ก็ยังต้องมีบ้านพักตากอากาศตามเมืองและสถานที่ท่องเที่ยว แห่งละ หลังสองหลัง  แถมยังมีคอนโดใกล้กับสนามบินเอาไว้พักตอนไปทำธุระเหมือนเป็นโรงแรมส่วนตัว  ถามว่า จำเป็นต้องมีไหม เขาว่า มันจำเป็น เพราะเขารู้สึกว่าเป็นทุกข์ และคิดว่า ไม่สะดวกสบายหากต้องไปนอนที่โรงแรมสาธารณะในสถานที่ท่องเที่ยว สู้มีเป็นของตนเองดีกว่า แต่เมือกลับมาบ้านหลัก  สิ่งมีเกินจำเป็นก็ถูกทิ้งร้างเอาไว้ บางที ปีหรือสองปี ยังไม่เคยแวะเวียนย่างกรายไปดูเลย แถมต้องเสียค่าจ้างคนไปดูแล รักษาความสะอาด บ้านนั้นก็กลายเป็นบ้านที่คนรับใช้ได้ใช้สอยมากกว่าเจ้าของเสียอีก
ดังนั้น การสร้างชีวิตให้เป็นสุข เราสร้างเองที่นี่และเดี๋ยวนี้ได้ ถ้าเราคิดใหม่ และเข้าใจชีวิตว่า สุข หรือ ทุกข์ มันก็คือสองด้านของเหรียญ พลิกไปเปลี่ยนมา ทำใจตนเองเถอะ ทำใจให้มันมีพลังเข้มแข็ง สามารถต้านกระแสแห่งความต้องการเทียมให้ได้ แม้จะไม่สะดวกทางกายไปบ้าง ความรู้สึกพอก็จะทำให้ชีวิตเราเป็นสุขขึ้นมาได้
นี่คือคาถาประจำใจของผมที่ตักเตือนเมื่อความอยากได้ในสิ่งที่ยังไม่จำเป็นกระตุ้นเหมือนลงแส้ที่ด้านหลัง...รอก่อนน่ะ...ยังไม่ต้องมีก็ได้...