ยุคทองของการแต่งวรรณกรรมบาลีในล้านนา
เพื่อฉลอง
วาระครบรอบ 500 ปี วรรณคดีบาลี
มังคลัตถทีปนี
รจนาโดย
พระสิริมังคลาจารย์ สังฆปราชญ์ล้านนา
ณ
พระวิหารหลวง วัดสวนดอก พระอารามหลวง เชียงใหม่
วันอาทิตย์ที่
14 กรกฎาคม 2567
ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
ผู้อำนวยการหลักสูตรบัณฑิตศึกษา วิทยาเขตเชียงใหม่
กรรมการสภา(ผู้ทรงคุณวุฒิ)มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
----------------
1. ดินแดนและอาณาจักร
1.1 ดินแดน
อาณาเขตดินแดนเดิม ครอบคลุม
พื้นที่เพียง จังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา และ แม่ฮ่องสอน
(ไม่รวม แพร่ และน่าน ซึ่งปกครองเป็นอิสระ) ขยายดินแดนในสมัยพญาติโลกราช(1984-2030) ตีได้เมือง แพร่ และน่าน (พ.ศ. 1984-1994 สร้างพระเจ้าทองทิพย์ ณ วัดสวนตาล น่าน) จึงได้ผนวกแพร่และน่านเข้าในอาณาจักร) ต่อมาขยายอำนาจออกไปถึง รัฐฉานพม่า เชียงตุง เมืองนาย เมืองสีป้อ เมืองยอง เขตสิบสองพันนา เชียงรุ่ง และหลวงพระบาง
สภาพภูมิศาสตร์ อาณาจักรล้านนา ทางด้านทิศเหนือ มีเทือกเขาแดนลาว ทิศตะวันตก เทือกเขาถนนธงชัย ตอนกลาง และทิศตะวันออก มีเทือกเขาผีปันน้ำ
เทือกเขาหลวงพระบาง มีทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ก่อให้เกิดแม่น้ำสำคัญ เช่น ปิง
วัง ยม น่าน แม่กวง แม่ปาย แม่ยวม แม่เมย แม่ตื๋นแม่แจ่ม แม่กก
แม่ลาว แม่อิง เป็นต้น อาชีพส่วนใหญ่ ชาวล้านนาทำการเกษตร ทำนา ทำสวน ทำไร่ เรียงรายอยู่ตามที่ราบร่องหุบเขา
ตามแอ่งเมืองสำคัญ เช่น แอ่งเชียงราย – พะเยา, แอ่งเชียงใหม่ –ลำพูน, มีบางพื้นที่ในเขตป่าทำอุตสาหกรรมป่าไม้
1.2 อาณาจักร
อาณาจักรล้านนา สถาปนาโดยพญามังราย นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 1839
(รวมอาณาจักรหริภุญชัย ของพระนางจามเทวี ที่สร้างเมื่อพุทธศตวรรษที่ 13) มีเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานี ประกอบไปด้วยชนหลายชาติพันธุ์
แต่กลุ่มใหญ่ที่สุด เรียกตนเองว่า คนเมือง ในอดีตอันยาวนาน อาณาจักรล้านนา
เคยมีความรุ่งเรืองทางอารยธรรมและวัฒนธรรมสูง ด้านการปกครอง มีมังรายศาสตร์
เป็นหลักกฎหมายการปกครองแบบโบราณ มีอาณาเขตครอบคลุม
เมืองสำคัญ เช่น ลำพูน ลำปาง เชียงราย เชียงแสน
น่าน แพร่ พะเยา แม่ฮ่องสอน เชียงตุง
และสิบสองพันนา ด้านภาษา มีภาษาล้านนา หรือ ตั๋วเมือง เป็นภาษาสื่อสาร
แม้จะมีภาษาถิ่นอื่นบ้าง เช่น ภาษาเขิน ภาษาลื้อ ก็สามารถสื่อสารกันได้
ด้านศาสนา นับแต่โบราณนานมา มีคติความเชื่อเดิมในการนับถือผี และวิญญาณบรรพบุรุษ เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามา
ชาวล้านนาจึงนับถือพระพุทธศาสนาเป็นหลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ปรับใช้กับบุคคล เช่น
พระธาตุประจำปีเกิด ด้านจารีตประเพณี
ชาวล้านนามีจารีต ข้อห้าม(ขึ๋ด) และข้อที่พึงปฏิบัติกำหนดเอาไว้ มีศาสนสถาน เช่น พระธาตุ วัด ในแต่ละชุมชน
ยิ่งในตัวเมือง เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน จะมีวัดในเขตเมืองไม่น้อยกว่า 40-50 วัด มีประเพณีที่งดงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน
สอดคล้องกับความเชื่อดั้งเดิมและพุทธศาสนา เช่น ประเพณีไหว้พระธาตุ ประเพณีปี๋ใหม่เมือง(สงกรานต์) ประเพณียี่เป็ง(บูชาประทีป ปล่อยโคม)
ประเพณีตักบาตรพระอุปคุตในวันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธ(เป็งพุด) เป็นต้น ด้านวิถีสังคม ชาวล้านนามีความผูกพันกันทางสังคมสูง
นับถือกันตามสายสัมพันธ์ทางเครือญาติ มีอัธยาศัยอ่อนโยน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
มีไมตรีต่อคนต่างถิ่นอย่างจริงใจ
ปัจจุบัน
อาณาจักรล้านนา เหลือดินแดนเพียง 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน
มีจังหวัดเชียงใหม่ ที่ยังถือว่า เป็นศูนย์กลางความเจริญ ด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การศึกษา และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
รัฐบาลได้ขยายสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา(มหาวิทยาลัย)
จากส่วนกลางออกมาตั้งในภูมิภาค เป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาคแห่งแรก มีชื่อตามจังหวัดว่า “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” นอกจากนี้ ยังมีสถาบันระดับอุดมศึกษาของรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลภาคพายัพ สถาบันระดับอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ
เช่น มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(วิทยาเขตเชียงใหม่)
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย(วิทยาเขตล้านนา) มหาวิทยาลัยนอร์ธ-เชียงใหม่
มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนจังหวัดอื่น ๆ เช่น เชียงราย
มีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่จังหวัดพะเยา
มีมหาวิทยาลัยพะเยา(เดิม ศูนย์วิทยบริการจังหวัดพะเยา ม.นเรศวร) ในจังหวัดลำปาง
มีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยโยนก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
เป็นต้น
1.3 คนพื้นถิ่นล้านนา
คนพื้นถิ่นเดิมที่ครอบครองแดนล้านนา
ตามตำนานจามเทวีวงส์ และชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวว่า
คนพื้นถิ่นที่ครอบครองดินแดนนี้ในสมัยพระนางจามเทวี เป็น ชาวลัวะ ชาวมอญ มีขุนวิลังก๊ะเป็นผู้นำชาวลัวะ เมื่อชาวล้านนามาอยู่
เรียกตนเองว่า “คนเมือง” ภาษาที่พูด ก็เรียกว่า ภาษาเมือง “คำเมือง”
มีอักษรเขียนเป็นของตนเอง เรียก “ตั๋วเมือง”
2. ยุคสมัยของประวัติศาสตร์ล้านนา
2.1 ฮันส์ เพนธ์ แบ่งประวัติศาสตร์ล้านนาออกเป็น 4 ยุค ดังนี้
1) ยุคที่คนไทเข้ามาอยู่และตั้งตัวบนดินแดนล้านนา (1600 -1804) ก่อนพญามังราย (204 ปี)
2) ยุคสร้างล้านนา (1804-1914) พญามังราย
ถึง พญากือนา (110 ปี)
3) ยุครุ่งเรืองของล้านนา (1914 –
2068) พระสุมนะมาเชียงใหม่ ถึงพญาแก้วทิวงคต (105 ปี)
4) ยุคเสื่อมของล้านนา (2068 – 2101) นับแต่หลังพญาแก้ว
ถึง พม่ายึดครองเมือง (33 ปี)
-
2.2 สรัสวดี
อ๋องสกุล แบ่งประวัติศาสตร์ล้านนาออกเป็น 3 สมัย
ดังนี้
1) สมัยสร้างล้านนา (1839-1898) ราชวงศ์มังรายตอนต้น – สิ้นสมัยพญาผายู (59 ปี)
2) สมัยอาณาจักรล้านนารุ่งเรือง (1898
– 2068) พญากือนา ถึง พญาแก้ว (170 ปี) รุ่งเรืองถึงขีดสุงสุด เรียกว่า
ยุคทองของล้านนา ในสมัยพญาติโลกราช(1984-2030)
3) สมัยเสื่อมและล่มสลายของล้านนา
(2068 – 2101) นับแต่พญาเกศเชษฐราช (2068-2081) ถึง พม่ายึดครองเมือง(2101) เป็นเวลา 33 ปี
3. ยุคทองของอาณาจักรล้านนา
3.1 ยุคทองทางอาณาจักร
ฮันส์ เพนธ์ นิยามยุคทองล้านนาเพื่อให้ครอบคลุมเหตุการณ์ ต่าง ๆ มีองค์ประกอบ
ดังนี้
1 มีกองทัพที่เข้มแข็ง (ความมั่นคงทางการเมือง)
2 พระภิกษุมีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัย (สถาบันศาสนาเข้มแข็ง)
3 มีกฎหมายที่เป็นธรรม (นิติรัฐ)
4 มีช่างฝีมือที่มีความสามารถ สรรค์สร้างศิลปกรรมที่มีคุณค่าสูง (ลายปูนปั้นล้านนา)
5 มีวิวัฒนาการด้านเกษตรกรรม และการชลประทานสูง (ระบบเหมืองฝาย)
6 ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (อยู่ดีกินดี)
ตัวแปรสำคัญ
ได้แก่ การรับเอาพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ รามัญนิกาย (เจริญที่
เมืองพันธุมวดี เมาะตะมะ หรือเรียกว่า “เมืองพัน”) ผ่านทางสุโขทัย(พญาลิไท)
ที่พระสุมนเถระนำมาเผยแผ่สู่เชียงใหม่ สมัยพญากือนา สร้างวัดสวนดอก อรัญญิกาวาส(วัดป่า)
ถวายให้เป็นวัดสำหรับพระสงฆ์ที่นำโดยพระสุมนะ มีประเพณีการบวช
หรืออุปสมบทภิกษุโดยการต่อแพขนานในแม่น้ำ
และทำการอุปสมบทพระภิกษุตามแบบลังกา(แม่น้ำกัลยาณี)
การสนับสนุนลัทธิลังกาวงศ์ใหม่
หรือ สีหลนิกาย (ที่เข้ามาในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน) สมัยพญาติโลกราช พระสงฆ์ (ทั้งกลุ่มเดิมและกลุ่มใหม่) มุ่งศึกษาพระปริยัติธรรม
จนมีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัย และพระไตรปิฎก สังฆปราชญ์หลายท่านสามารถแต่งตำรา
หรือคัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนาเป็นภาษาบาลีได้จำนวนมาก
ด้วยความเชี่ยวชาญในพระธรรมวินัยของสังฆปราชญ์ล้านนาเป็นผลให้เกิดการทำสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้นมาในปี 2020 ที่วัดมหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอดพระอารามหลวง)
สร้างพระไตรปิฎกฉบับบาลีอักษรล้านนาจารลงในใบลาน
เอาไว้เป็นหลักอ้างอิงและศึกษาพุทธศาสนา
นับจากนั้นมาก็ทำให้การพระศาสนาเจริญรุ่งเรืองสืบทอดมาอีกนาน
ด้านเศรษฐกิจ
ในยุครุ่งเรือง ฮันส์ เพนธ์ อธิบายจากการมองเห็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
ทั้งผู้ปกครองและประชาชนมีส่วนร่วมในการอุปถัมภ์อย่างสูง “พระสงฆ์และช่างหล่อ ช่างปั้น ช่างก่อสร้าง อาคารวิหาร
ในยุคนี้สร้างกันจำนวนมากมายทั่วดินแดนล้านนา มีการหล่อพระพุทธรูปจำนวนมาก ถ้ากษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ หรือขุนนางเป็นผู้สร้างวัด
มักจะถวายที่ดินเป็นกัลปนาเพื่อผลประโยชน์ของวัด
ถวายผู้คน(ข้าวัด)มาปฏิบัติรักษาพระพุทธรูป วัด และพระภิกษุสงฆ์”
3.2 ยุคทองของพระพุทธศาสนาในล้านนา
3.2.1 ก่อนรัชสมัยพญาติโลกราช ในสมัยพญาสามฝั่งแกน
พระสงฆ์ล้านนา 25 รูป ประกอบด้วย พระชาวลพบุรี 8 รูป พระมอญ 1 รูป ไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลังกา พ.ศ. 1967 จบแล้วได้นิมนต์พระสงฆ์ชาวลังกา 2 รูป คือ
พระมหาวิกรมพาหุ และพระมหาอุตตมปัญญา เพื่อมาทำการอุปสมบทกุลบุตรชาวเชียงใหม่ ตั้งสำนักที่วัดป่าแดง และได้ตั้งคณะสงฆ์สีหลขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง สมัยนี้
สงฆ์แตกเป็น 3 คณะ คือ คณะพื้นเมืองเดิม
คณะสวนดอก(รามัญนิกาย) คณะป่าแดง เรียกตนเองว่า สีหลนิกาย หรือ ลังกาวงศ์ใหม่ มีคนเลื่อมใสนับถือมาก เพราะเน้นการศึกษาภาษาบาลี และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง
ทั้งกล่าวหาและโจมตีคณะสงฆ์นิกายสวนดอก(นิกายที่พระมหาสุมนเถระนำมาจากสุโขทัย)ว่า
ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย จนทำให้สงฆ์เกิดความขัดแย้ง
ทะเลาะวิวาทรุนแรงถึงขั้นทำร้ายร่างกายกัน
ข้อขัดแย้ง
ทางวินัย ที่สีหลนิกาย (หนป่าแดง) กล่าวหารามัญนิกาย (หนสวนดอก) ว่าผิดพระวินัย
ดังนี้
1) พระหนสวนดอก
ถือไม้เท้าออกบิณฑบาต เหมือนถือกะลาขอทาน
2) พระหนสวนดอก รับเงินและทอง
3) พระหนสวนดอก มีนาจังหัน
4) พระหนสวนดอก ใช้อักขระแบบสันสกฤต เกินภาษาบาลี ที่พระพุทธโฆสาจารย์ แปลไว้
(อักขระวรรค ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ใช้เป็น รฺฏ รฺฐ รฺฑ รฺฒ รฺณ อ่านว่า ระฏะ ระฐะ ..ระณะ)
5) พระหนสวนดอก ออกเสียงสวดอักขระไม่ถูกต้อง ในพิธีกรรม เช่น พุทธัง สะระณัง เป็น “พุทธัม สะระณัม”
6) การผูกพัทธสีมาของพระหนสวนดอก ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย
7) พระอุทุมพรสวามี ต้นนิกายหนสวนดอก เมื่อกลับมาพม่า
ขณะที่อยู่ในเรือสำเภาท่ามกลางมหาสมุทร ทำการบวชภิกษุใหม่
คณะให้การอุปสมบทไม่ครบสงฆ์ (ต้องมีภิกษุอย่างน้อย จำนวน 5 รูป) แต่เมื่อมีภิกษุรูปหนึ่งมรณะในระหว่างทาง จึงใช้พระพุทธรูปแทน
ภิกษุรูปที่มรณภาพในเรือ นับเป็น 5 เพื่อให้ครบองค์สงฆ์ในอุปสมบทกรรมการเป็นภิกษุของหนสวนดอกถือว่าขาดเงื่อนไข
ไม่สมบูรณ์นับแต่นั้นมา(เป็นโมฆะแต่ต้น)
ข้อสังเกต ตำนานมูลศาสนา แต่งโดย พระพุทธพุกาม เป็นพระนิกายหนสวนดอก
ข้อขัดแย้งทางวินัย
ที่พระรามัญนิกาย หนสวนดอก กล่าวหาและโต้กลับพระสีหลนิกาย หนป่าแดง ดังนี้
1) พระนิกายหนป่าแดง ทำลายความสามัคคี สร้างความแตกแยกในพระสงฆ์ (สังฆเภท)
2) พระมหาญาณคัมภีร์ (ต้นนิกายหนป่าแดง) อุปสมบทใหม่ที่ลังกา ไม่ถูกต้องตามพระวินัย
(พระอุปัชฌาย์เป็นชีเปลือย ไม่ใช่สงฆ์ แถมลักทองจังโกวัด)
3) พระนิกายหนป่าแดง ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากบวชแปลงมายังไม่ครบ 10 พรรษา
(แต่กลับละเมิดพระวินัย ทำการอุปสมบทภิกษุ)
4) พระนิกายหนป่าแดง (พระมหาญาณคัมภีร์) สั่งสอนไม่ให้กราบไหว้พระพุทธรูป
และให้นำไปทิ้งเสีย “สูอย่าได้ไหว้รูปพระเจ้า สูอย่าบูชา บ่ได้บุญสักเม็ด
พระเจ้านิพพานไปแล้วดาย พระเจ้า(พระพุทธเจ้า)เท่าไว้(ทรงมอบให้แต่)
พระธัมมกับสังฆะแล หื้อฝังสารูปเสียว่าอั้น เขาฟังคำมันอันกล่าวนั้น
ก็ฝังรูปพระเจ้าเสียแท้หั้นแล”(ประเสริฐ ณ นคร, ปวงคำ
ตุ้ยเขียว (2537) : ตำนานมูลศาสนาเชียงใหม่ เชียงตุง กรุงเทพฯ : ศักดิ์โสภาการพิมพ์)
เพื่อระงับข้อขัดแย้ง (อธิกรณ์สงฆ์)
พญาสามฝั่งแกน จึงนิมนต์พระสงฆ์ทั้งสองนิกายให้ลงไปแก้ข้อกล่าวหากัน ที่แพขนาน 2 หลัง ผูกไว้กลางลำแม่น้ำปิง ผลการตอบโต้กัน
พระนิกายสวนดอกแก้ข้อกล่าวหาได้ทุกข้อเป็นฝ่ายชนะ
จนพระสงฆ์นิกายหนป่าแดงถูกห้ามเผยแผ่ศาสนาในเมืองเชียงใหม่ในสมัยนั้น (กลุ่มหนึ่งไปตั้งสำนักที่ลำพูน)
3.2.2 สมัยพญาติโลกราช หรือ พระเจ้าติโลกราช (1984-2030)
พญาติโลกราช
พระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 1952 เป็นพระโอรสลำดับที่ 6 ในพระเจ้าสามฝั่งแกน
มีพระนามเดิมว่า “ท้าวลก” มีพี่น้องต่างพระราชมารดา รวม 10 องค์ เมื่อมีพระชนมายุ 32 พรรษา เป็นกษัตริย์ลำดับที่ 10 ของราชวงศ์ มังราย (พ.ศ. 1985)
ผลงานการบำรุงพระพุทธศาสนาของพญาติโลกราช
ในรัชสมัยพญาติโลกราช
พระองค์ทรงเลื่อมใสทำนุบำรุงพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ทรงกลับมาให้การสนับสนุนคณะสงฆ์นิกายหนป่าแดง
(ลังกาวงศ์นิกายสิงหลใหม่) โดยทรงนิมนต์พระมหาเมธังกรญาณ แกนนำกลุ่มลังกาวงศ์ใหม่จากลำพูน
ให้มาจำพรรษาที่วัดราชมณเฑียร พระองค์ให้รื้อปราสาทของพระราชมารดามาสร้างวิหารถวาย สถาปนาให้พระมหาเมธังกรญาณขึ้นเป็น “พระมหาสวามี” ถวายสมณศักดิ์เป็นที่
“พระอดุลศักตยาธิกรณมหาสามี” (ม.ล. สุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ (2556) รายงานการวิจัย พระพุทธศาสนาในล้านนา ระหว่างรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช-พญาแก้ว หน้า 18- 22) พระพุทธศาสนาจึงมีความเจริญรุ่งเรือง
พระองค์ทรงปรารถนาเป็นทายาทในศาสนาและสนองคุณพระชนนีจึงทรงมอบราชสมบัติแด่พระชนนี
ผนวชโดยมี “พระญาณมงคลเถระ” เป็นพระอุปัชฌาย์ มี “พระอดุลศักตยาธิกรณมหาสามี”
เป็นพระกรรมวาจา- จารย์ ณ วัดป่าแดงมหาวิหาร ผนวชอยู่ชั่วคราว
ไม่นานก็ทรงลาผนวชออกมาครองราชย์
การที่พระองค์สนับสนุนสงฆ์สิงหลนิกาย
ทำให้ฝ่ายลังกาวงศ์ใหม่รุ่งเรืองขึ้น กุลบุตรมาบวชเป็นจำนวนมาก
พระภิกษุในนิกายสิงหลมีเพิ่มขึ้นมาก พระนิกายสิงหลใหม่เน้นการศึกษาภาษาบาลีและการปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัย
การศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมเจริญก้าวหน้าอย่างสูง
ความขัดแย้งระหว่างลังกาวงศ์ใหม่สายสิงหล
(วัดป่าแดง) และลังกาวงศ์เก่าสายรามัญ (วัดสวนดอก) ที่มีอยู่ในยุคนั้น
ก็ทำให้พระสงฆ์สายรามัญเดิมตื่นตัว หันมาปรับตัวและพัฒนาตนโดยพยายามศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างเข้มข้นเช่นกัน
พญาติโลกราชทรงส่งเสริมการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม โดยทรงยกย่องพระภิกษุที่มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก
ทำให้พระสงฆ์ในสมัยนั้น มีความรู้สูง สามารถแต่งคัมภีร์ศาสนาเป็นภาษาบาลีปรากฏมีชื่อเสียงมากมาย
เช่น พระโพธิรังสี(แต่งจามเทวีวังสะ) พระธรรมทินนเถระ และพระญาณกิตติเถระ เป็นต้น
ทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนาพระไตรปิฎก พ.ศ. 2020 ครั้งแรกในแดนไทย
ความเชี่ยวชาญในการรจนาคัมภีร์ภาษาบาลีและความรอบรู้ในพระไตรปิฎกของพระเถระชาวล้านนาในยุคนั้น
ก่อให้เกิดการทำสังคายนา สอบชำระพระไตรปิฎก ใน พ.ศ. 2020
ที่วัดมหาโพธาราม (เจ็ดยอด) โดยมีพระธรรมทินนมหาเถระ
เจ้าอาวาสวัดป่าตาลเป็นประธาน ท่านได้คัดเลือกพระเถรานุเถระประมาณ 100 กว่ารูป ที่มีความรู้แตกฉานในภาษาบาลีและพระไตรปิฎกทั่วอาณาจักรล้านนา
ที่มีชื่อเสียงในเชียงใหม่ 12 รูป ได้แก่ พระมหาเถระอภัยสารทมหาสามี
ซึ่งมีพรรษาได้ 57 พรรษา พระญาณสิทธิ พระญาณมงคล ชาวเมืองหริภุญชัย พระญาณลังกา ชาวเมืองเชียงราย
พระสัทธัมมรังสี ชาวเมืองเชียงแสน พระรัตนปัญญาเถระ
ชาวเมืองพะเยา และพระรัตนปัญญาเถระ ชาวเขลางคนคร
เป็นต้น
กระทำสังคายนาชำระพระคัมภีร์พระไตรปิฎกครั้งนี้
ได้รับการยอมรับว่าเป็นการสังคายนาครั้งที่ 8 ในประวัติพระพุทธศาสนา ต่อจากที่ทำมาแล้ว
7 ครั้งในประเทศอินเดียและศรีลังกา เรียกว่า “อัฏฐมสังคายนา” ใช้เวลา 1 ปีจึงเสร็จ
ผลการทำสังคายนาที่ล้านนา
ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยนี้
จนเป็นที่เลื่องลือพระเกียรติยศไปทั่วประเทศข้างเคียง
ทำให้พระเจ้าติโลกราชได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า “พระเจ้าศิริธรรมจักรวัติโลกราชามหาธรรมิกราช
พระเจ้านครพิงค์เชียงใหม่”
พระไตรปิฎกฉบับที่สอบชำระในสมัยพญาติโลกราชจึงถือเป็นคัมภีร์หลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งของพระพุทธศาสนาในล้านนา
ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
การสร้างและบูรณะวัดสำคัญๆ
ในรัชสมัยของพญาติโลกราช มีดังนี้
1)
สร้างวัดมหาโพธาราม(วัดเจ็ดยอด) ในปี พ.ศ. 1999 ให้เป็นอาวาสของพระอุตตมปัญญาเถระ
ที่ริมน้ำแม่ข่า (โรหิณีนที)
โปรดให้ปลูกต้นโพธิ
(หน่อจากวัดป่าแดงหลวง) ในอารามนั้นแล้ว ตั้งชื่อว่า “วัดมหาโพธาราม”
จากนั้นสร้างสัตตมหาสถาน(อนิมิสเจดีย์ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
รัตนจงกรมเจดีย์ทิศเหนือ รัตนฆรเจดีย์ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ อชปาลนิโครธ
ทิศตะวันออก สระมุจลินท์ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ราชายตนะ ทิศใต้ ก่อกำแพงประตูโขง ) ในปีวอก พ.ศ. 2020
โปรดให้สร้างมหาวิหาร(วิหารเจ็ดยอด)
ในอารามนั้น
2)
สร้างวัดราชมณเฑียร ด้านทิศเหนือ ภายในกำแพงนครเชียงใหม่
3)
สร้างวัดป่าตาลมหาวิหาร ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่
4)
สร้างวัดป่าตึง ให้เป็นอารามใหญ่ เรียกว่า วัดป่าแดงหลวง หรือ “วัดรัตตวนาราม” ทรงสร้างโรงอุโบสถในวัดป่าแดงหลวง
ซึ่งเป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระราชบิดา (พญาสามฝั่งแกน) และพระราชมารดา
เมื่อสร้างพระอุโบสถเสร็จในวันมหาปวารณา จึงทรงร่วมพิธีผูกพัทธสีมาที่วัดป่าแดง
5) ทรงบูรณะต่อเติมเจดีย์หลวง ให้ใหญ่และสูงกว่าเดิม
กว้างด้านละ 35 วา สูง 45 วา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในพระเจดีย์
ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกต
จากวัดพระธาตุลำปางหลวง นครเขลางค์ มาประดิษฐานไว้ที่ซุ้มจระนำเจดีย์หลวง
ด้านตะวันออก
6) ทรงมอบให้สีหโคตรเสนาบดี
และ อาณากิจจาธิบดีมหาอำมาตย์ ดำเนินการหล่อพระพุทธรูป แบบลวปุระ
ขนาดใหญ่ ด้วยทองสัมฤทธิ์หนักสามสิบสามแสน (3,960 กิโลกรัม) ณ วัดป่าตาลมหาวิหาร ซึ่งมีพระธรรมทินนมหาเถระ
เป็นเจ้าอาวาส
ในยุคนั้น
มีการสถาปนาความเชื่อเรื่องพระธาตุในที่ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในอาณาจักร
โดยอาศัยความสัมพันธ์ทางศาสนาของคนในถิ่นต่าง ๆ ด้วยการสร้างตำนานเมือง และตำนานพระธาตุ
ขึ้นอย่างแพร่หลาย
โปรดให้คณะสงฆ์รื้อถอนสีมาที่ปลูกฝังตั้งแต่ครั้งคณะสงฆ์หนสวนดอก
มาทำการปลูก(ผูก)ใหม่ หรือ ปลูกซ้อนสีมาเดิม
เพื่อจัดการความเห็นต่างทางพระวินัยของพระสงฆ์
3.2.3 สมัยพระเจ้ายอดเชียงราย (2030-2038)
ภารกิจทางศาสนา โปรดให้ชำระขัณฑสีมา(สีมาขาดแดน
ไม่ชนรอบกัน) ซึ่งพระญาณมงคลเถระ สมมุติไว้ที่เกาะดอนแท่น หน้าเมืองเชียงแสน
พระภิกษุรูปสำคัญที่เข้าร่วมพิธี ประกอบด้วย
พระมหาญาณโพธิมหาสามี เป็นประธาน พระเวฬุวันเถระ วัดกู่เต้า พระสุรสีห์ พระนารท
วัดป่าแดงหลวง เป็นต้น
ทำการบูชาพระมหาธาตุเจดีย์หริภุญชัยด้วยตุง(ธง) 100,000 (หนึ่งแสน) ผืน
พญาสุริยวงศ์
กับท้าวเอื้อยหอขวาง ราชบุตรพญาติโลกราช แอบลักลอบเอาพระแก้วขาว
ไปหลบที่กรุงศรีอยุธยา พระองค์ยกกองทัพติดตามไปนำกลับคืนมาจากกรุงศรีอยุธยา
3.2.4 สมัยพญาแก้ว พระเจ้าติลกปนัดดาธิราช (2038-2068)
พญาแก้ว
มีพระนามที่เรียกกันต่าง ๆ คือ พระเมืองแก้ว หรือ พ่อท้าวแก้ว หรือ เจ้ารัตนราชกุมาร หรือ พญาแก้วภูตาธิปติราช
หรือ พระเจ้าติลกปนัดดาธิราช ทรงเป็นเหลนของพระเจ้าติโลกราช เป็นราชบุตร ของพญายอดเชียงราย กับ
พระนางสิริยสวดี (เทวีโป่งน้อย) ได้รับการเฉลิมพระนามว่า “พระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิ” เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 12 ในราชวงศ์เม็งราย
ในรัชสมัยนี้ การพระศาสนาเจริญรุ่งเรือง คณะสงฆ์ไม่แตกสามัคคี
พญาแก้วเลื่อมใสศรัทธาใน พระพุทธศาสนาทรงอุปถัมภ์บำรุงมากมาย
มีหลักฐานจากศิลาจารึก ในการสร้างวัดและการบูรณปฏิสังขรณ์ถูกค้นพบหลายชิ้นทางภาคเหนือ
(จารึกอักษรไทยฝักขาม ประมาณ 34-36 หลัก)
แสดงให้เห็นว่า พระองค์ให้การสนับสนุน ทำนุบำรุงการพระศาสนาอย่างยิ่ง และพระองค์ทรงลาผนวชระยะหนึ่ง ดุจพญาติโลกราช(พระเจ้าปู่)
ผลงานพญาแก้ว การสร้างวัด พระองค์สร้างวัดต่างๆ ดังนี้
1)
สร้างวัดบุพพาราม(วัดเม็ง) พ.ศ. 2039
2)
สร้างวัดศรีสุพรรณ พ.ศ. 2043
3)
ฟื้นฟูวัดป่าแดงมหาวิหารให้เจริญรุ่งเรือง
4)
สร้างพระอุโบสถ และ หอไตร
ที่วัดมหาโพธาราม
อุปถัมภ์สงฆ์ทั้ง 3 คณะ (หนพื้นเมือง หนสวนดอก และ หนป่าแดง) จัดพิธีอุปสมบทขึ้นที่เชียงแสน ในปี พ.ศ. 2058 นิมนต์สงฆ์ทั้ง 3 คณะ
เข้าประกอบพิธีอุปสมบทกรรม
หมายเหตุ
สมัยพญาแก้ว พ.ศ. 2066 พระเจ้าโพธิสารราช เจ้ากรุงศรีสตนาคนหุต (2063-2090) หรือ พระเจ้าล้านช้าง โปรดให้ทูตเชิญราชสาส์นมา
เพื่อขอคณะสงฆ์และพระไตรปิฎกไปเผยแผ่ยังกรุงศรีสตนาคนหุต พญาแก้วจึง
ส่งพระเทพมงคลเถระ พร้อมคัมภีร์พระไตรปิฎก 60 คัมภีร์(มัด)
ไปถวายพระเจ้าล้านช้าง(พงศาวดารโยนก : 371)
4. ยุคทองของการรจนาวรรณกรรมบาลีทางพุทธศาสนาในล้านนา
พญาแก้ว
หรือ พระเจ้าติลกปนัดดา ทรงให้การสนับสนุนและส่งเสริมพระสงฆ์ผู้ที่มีความรู้และแตกฉานในภาษาบาลีอย่างสูง
สามารถแต่ง(รจนา)คัมภีร์ทางศาสนาด้วยภาษาบาลีเป็นจำนวนมาก
ธรรมเนียมในการแต่งคัมภีร์เพื่ออธิบาย
คำ และ ความ ในพระไตรปิฎก
นักปราชญ์หลายท่านยืนยันว่ามีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เช่น คัมภีร์เนตติปกรณ์
และ เปฏโกปเทส แต่งโดย พระมหากัจจายนเถระ
เอตทัคคะด้านการขยายข้อธรรมที่ย่อให้พิสดาร
หลังจากนั้น ประมาณพุทธศักราช 400 ปี ก็มีคัมภีร์มิลินทปัญหา
เป็นต้น
การแต่งคัมภีร์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน
ที่เรียกว่า ยุคทองของการแต่ง ที่อินเดียเองกลับไม่ค่อยรุ่งเรือง แต่กลับไปเจริญรุ่งเรืองเติบโตที่ประเทศศรีลังกา
ในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 10 –13
“ยุคที่มีการแต่งผลงานอรรถกถาบาลีมากที่สุด
คือ ยุคอนุราธปุระ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 10-11 ในลังกา และยุคที่แต่งผลงานฎีกามีมากที่สุด คือ ยุคโปโลนารุวะ
ในลังกาเช่นกัน ในประเทศไทย ได้พบผลงานวรรณคดี อรรถวรรณนา
พระไตรปิฎกที่เป็นงานสรรค์สร้างใหม่ มี 8 เรื่อง คือ เวสสันตรทีปนี,
จักรวาลทีปนี, สังขยาปกาสกฎีกา, มังคลัตถทีปนี, วชิรสารัตถสังคหฎีกา,
มาลัยยวัตถุทีปนีฎีกา, โลกสัณฐานโชตรตนคันฐี, และปริตตสังเขป เป็นงานประเภท ทีปนี
ฎีกา และคัณฐี มีลักษณะบางอย่างได้รับอิทธิพลมาจากการแต่งอรรถวรรณนาของลังกา
และมีลักษณะที่เป็นวิวัฒนาการเกิดขึ้นใหม่ในประเทศไทย” (สุภาพรรณ
ณ บางช้าง 2539, หน้า 381-382).
ยุคพระเมืองแก้ว
เป็นยุครุ่งเรืองของวรรณคดีพระพุทธศาสนา หรือ ยุคทองสูงสุดของวรรณกรรมทางพุทธศาสนาในล้านนา
เพราะมีพระสังฆปราชญ์ เกิดขึ้นหลายองค์ ซึ่งแต่ละองค์ได้รจนาคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนาและทางประวัติศาสตร์เป็นภาษาบาลีขึ้นไว้จำนวนมาก
(แม้บางองค์จะมิใช่ชาวล้านนา) ขอยกพอเป็นสังเขปดังต่อไปนี้
เท่าที่ผู้เขียนค้นหาได้
แม้จะหาได้ไม่ครบทุกท่านและทุกเล่มก็ตาม ก็ยังพอเป็นแนวทางให้ผู้สนใจได้สืบค้นต่อ
ดังรายการต่อไปนี้(ลิขิต ลิขิตานันทะ, 1969,
หน้า 133-135)
1.
พระโพธิรังสี พระภิกษุชาวลำพูน ผู้อาวุโสกว่าพระเถระสังฆปราชญ์ล้านา
แต่งคัมภีร์ 2 เล่ม คือ
1.1 จามเทวีวังสะ (ไม่ปรากฏปีที่แต่ง) 1.2
สิหิงคนิทาน (ไม่ปรากฏปีที่แต่ง)
2.
พระธรรมเสนาปติเถระ พระภิกษุชาวเชียงแสน แต่งคัมภีร์ (บาลีไวยากรณ์)
1 เล่ม คือ
ปทักกมโยชนาสัททัตถเภทจินดา
หรือ สัททัตถเภทจินดาปทักกมโยชนา
3.
พระญาณกิตติ พระภิกษุชาวเชียงใหม่ พระราชครูของพระเจ้าติโลกราช
แต่งคัมภีร์ 12 เล่ม คือ
3.1 สมันตปาสาทิกาอัตถโยชนา
3.2 ภิกขุปาติโมกขคัณฐีทีปนี
3.3 สีมาสังกรวินิจฉัย 3.4
อัฏฐสาลินีอัตถโยชนา
3.5 สัมโมหวิโนทนีอัตถโยชนา 3.6
ธาตุกถาอัตถโยชนา
3.7 ปุคคลปัญญัตติอัตถโยชนา 3.8
กถาวัตถุอัตถโยชนา
3.9 ยมกอัตถโยชนา 3.10
ปัฏฐานอัตถโยชนา
3.11 อภิธัมมัตถวิภาวินี ปัญจิกา อัตถโยชนา 3.12 มูลกัจจายนโยชนา
4.
พระสัทธัมกิตติมหาปุสสเทวะ พระภิกษุชาวหริภุญไชย ร่วมสมัยพระญาณกิตติ
(คงเป็นรูปเดียวกับ“พระมหาปุสสเทวะ”
ที่พระสิริมังคลาจารย์อ้างถึง) แต่ง 1 คัมภีร์ คือ สัททพินทุอภินวฎีกา
5. พระญาณวิสาละ พระภิกษุชาวโยนกประเทศ(มิใช่ชาวล้านนา)
ร่วมสมัยพระสิริมังคลาจารย์ แต่งคัมภีร์ 1 เล่ม คือ สังขยาปกาสกะ
6.
พระรัตนปัญญาเถระ พระภิกษุชาวเชียงราย หรือลำปาง ร่วมสมัยกับพระสิริมังคลาจารย์
(ไม่แน่ใจว่าเป็นจะเป็นรูปเดียวกันกับ “พระรัตนบัณฑิต”
ที่พระสิริมังคลาจารย์อ้างถึงหรือไม่)
แต่งคัมภีร์ 3 เล่ม คือ
6.1 ชินกาลมาลี (พ.ศ.
2059) 6.2 วชิรสารัตถสังคหะ
6.3 มาติกัตถสรูปะธัมมสังคณี
7)
พระสุวรรณปทีปเถระ รจนา อเผคคุสารัตถทีปนี
8) พระสิริมังคลาจารย์ รจนา คัมภีร์ 4 เรื่อง เรียงตามลำดับปีที่แต่ง ดังนี้
8.1 เวสสันตรทีปนี
แต่งเสร็จในปี จุลศักราช 879
(พุทธศักราช 2060) อยู่ ณ วิหารสวนขวัญ
8.2 จักรวาลทีปนี
แต่งเสร็จในปี จุลศักราช 882 (พุทธศักราช 2063) อยู่ ณ วิหารสวนขวัญ
8.3 สังขยาปกาสกฎีกา แต่งเสร็จในปี จุลศักราช 882 (พุทธศักราช 2063) อยู่ ณ วิหารสวนขวัญ
8.4 มังคลัตถทีปนี แต่งเสร็จในปี จุลศักราช 886
(พุทธศักราช 2067) อยู่
ณ สุญญาคารแห่ง “เวฬุวนาราม” หรือ
“วัดไผ่เก้ากอ” อยู่ทางทิศใต้ของนครเชียงใหม่ ประมาณ 1 คาวุต (มงฺคลตฺถทีปนียา
ทุติโย ภาโค 2529 หน้า 479) [1]
9. พระนันทาจารย์ พระภิกษุชาวเชียงใหม่ แต่งคัมภีร์ 1 เล่ม
คือ สารัตถสังคหะ
10. พระสุวัณณรังสีเถระ พระภิกษุชาวล้านนา ช่วงหลังย้ายไปอยู่นครเวียงจันทน์
แต่งคัมภีร์ 2 เล่ม คือ
10.1 คันถาภรณฎีกา 10.2
ปฐมสัมโพธิกถา
11. พระอุตตรารามเถระ
พระภิกษุชาวโยนกประเทศ(มิใช่ชาวล้านนา) แต่งคัมภีร์ 1 เล่ม คือ
วิสุทธิมัคคทีปนี
12. พระมหามังคละสีลวังสะ พระภิกษุชาวเชียงใหม่
พำนักวัดโชติกา ในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน แต่งบทสวดมนต์พิเศษ 1 เล่ม คือ อุปปาตสันติ
(แต่งเมื่อ พ.ศ. 1994 จุลศักราช 763) ล้านนาเรียกว่า มหาสันติงหลวง
แต่งเป็นคาถา ภาษาบาลีล้วน 271 คาถา (ฉบับล้านนาหายไป)
พม่าได้นำไปจารเป็นภาษาบาลีอักษรพม่า เรียกว่า “สิริมังคลาปริตตอ” แปลว่า “บทสวดมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล”
พระธรรมเมธาจารย์(เช้า ฐิตปุญฺโญ ป.ธ. 9) อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์
ได้ฉบับอักษรพม่ามาจากวัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง
จึงทำการปริวรรตและแปลออกมาเป็นภาษาไทย เมื่อ มี พ.ศ. 2505
13.พระพรหมราชปัญญา[2]
พระภิกษุชาวล้านนา แต่งคัมภีร์ 1 เล่ม คือ
รัตนพิมพวังสะ ตำนานพระแก้วมรกต (พ.ศ. 1972)
ส่วนหนังสืออื่นๆ มีบางเรื่อง
ที่แต่งเป็นภาษาบาลี และมีอีกหลายเรื่องที่มิได้แต่งเป็นภาษาบาลี
แต่ยกบาลีมาเป็นบทตั้งแล้วเดินเรื่องเป็นภาษาล้านนา ที่เรียกว่า “นิสสัย”
บางเรื่องปรากฏนามผู้แต่งเอาไว้ แต่บางเรื่องไม่ปรากฏนามผู้แต่ง แต่พอจะนุมานทราบได้ว่าเป็นผลงานของปราชญ์ชาวล้านนา
ได้แก่คัมภีร์ดังต่อไปนี้
1. “ปัญญาสชาดก” (พระเจ้า 50 ชาติ) เป็นภาษาบาลีล้วน พระสังฆปราชญ์ล้านนา แต่งราว
พ.ศ. 2000-2200 ต้นฉบับของล้านนาได้หายไป
แต่ฉบับคัดลอกยังมีที่ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา และประเทศเมียนม่า(พม่า)
ซึ่งเขาเรียกว่า “ซิมเม ปัณณาส” หรือ “เชียงใหม่ปัณณาส” สมาคมบาลีปกรณ์
นำไปปริวรรตเป็นบาลี อักษรโรมัน ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1981 และ 1983 (พ.ศ. 2524 และ 2526)
2. “ตำนานมูลสาสนา” พระพุทธพุกาม แต่งร่วมกับพระพุทธญาณ สันนิษฐานกันว่าว่า
แต่งก่อนหนังสือ “จามเทวีวังสะ”
3. “ตำนานพระเจ้าเลียบโลก” พระมหาสามีธรรมรส พระภิกษุชาวมอญ
คัดลอกมาจากศิลาจารึกในประเทศศรีลังกา
4. “มาลัยยเทวเถรวัตถุ” ประวัติพระมาลัยโปรดสัตว์ ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง
5. “ทนฺตธาตุนิธาน” หรือ ตำนานพระเขี้ยวแก้ว โดยภิกษุปราชญ์ชาวล้านนา (สมัยพระเจ้าชัยสงคราม พ.ศ.1808-1860)
อีกคัมภีร์
1 ซึ่งไม่ปรากฏนามผู้แต่ง แต่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย คือ “ปัญญาสาสชาดก” หรือที่พม่าเรียกว่า
“ซิมเหม่ปัณณาส” แต่งนิทานพื้นเมืองเป็นภาษาบาลี เลียนแบบการแต่งนิทานชาดก
ผลงานการประพันธ์
วรรณกรรมบาลี พระสิริมังคลาจารย์
เป็นผู้มีการศึกษาดีเยี่ยม คงแก่เรียน
มีความรู้ลุ่มลึกในภาษาบาลีที่เรียกว่าเป็นปราชญ์ทางด้านภาษาบาลี
และมีความแตกฉานในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง
แถมยังเป็นผู้มีความรอบรู้และชำนาญในคัมภีร์บาลีสายหลักและคัมภีร์อื่นๆ เช่น
ไวยากรณ์ สัททนีติ เป็นต้น ที่ส่องถึงความสามารถชั้นครู คือ
เป็นผู้สามารถประพันธ์(แต่งเรื่อง) โดยการผูกโครงเรื่อง สอดใส่สาระเนื้อหา
สาธกนิทานประกอบ
อ้างอิงหลักฐานที่สามารถจะใช้ค้นคว้าสืบศึกษาตามข้อมูลนั้นๆเป็นการอนุเคราะห์ให้ความสะดวกแก่ผู้ตามศึกษาภายหลังได้
(ดังคัมภีร์มังลัตถทีปนี)
ประการสำคัญแสดงความเป็นนักปราชญ์ที่ไม่ครอบงำความคิดของผู้ใด
เมื่อพบประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้ง หรือเชิงขัดแย้ง
ท่านจะนำข้อมูลทั้งหมดมาแสดงเสียก่อน
จะไม่ตั้งธงวินิจฉัยตัดสินเอาตามความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ แต่ให้อิสรภาพแก่ผู้ศึกษาว่า ความเห็นของท่านเป็นอย่างนี้
โปรดใช้ปัญญาไตร่ตรองให้รอบคอบว่า มันจะสมควร(ยุติ)กับข้อมูลใด
นี่คือวิสัยของนักปราชญ์ที่ยากจะหาผู้เสมอเหมือนได้ ซึ่งถือกันว่า
พระมหาเถระองค์นี้ เป็นรัตนกวีที่เด่นที่สุดของอาณาจักรล้านนา
จะเห็นได้ว่าพระสิริมังคลาจารย์
แม้จะเป็นภิกษุชาวล้านนา ภาษาถิ่นของท่านมิใช่ภาษาบาลี
แต่ก็มีความสามารถทางภาษาบาลีชั้นเอกอุ และมีความสามารถในการแต่งคัมภีร์
ผูกเรื่องวรรณกรรมดุจมหากวี ใช้ภาษาบาลีอย่างช่ำชอง อย่างผู้เป็นนายภาษา
อ้างอิงหลักฐานแน่นหนา ซื่อตรงต่อข้อมูล ไม่ทำงานโดยจับเอาข้อมูลแบบลวก ๆ ผิวเผิน
แต่สำรวจตรวจสอบเรื่องราวข้อเท็จจริงความเป็นมาเป็นไปให้ชัดเจน
ด้วยจิตใจที่เป็นธรรม
ดุจนักวิชาการชั้นครู ทั้งชาวต่างประเทศ
และชาวไทยที่เรียบเรียงตำราทางวิชาการในปัจจุบัน
ผลงานแต่งวรรณกรรมบาลีที่โดดเด่นและสำคัญ
“มังคลัตถทีปนี”
ปราชญ์ทางศาสนายกย่องเทียบชั้นว่า “เป็นวรรณกรรมต้นแบบ” งดงามด้วยเค้าโครงเรื่อง
ภาษาสละสลวย เลือกถ้อยคำได้เหมาะสม
สมบูรณ์พร้อมทั้งศาสตร์และศิลปะแห่งการประพันธ์
ไม่ด้อยไปกว่า “คัมภีร์วิสุทธิมรรค” ของพระพุทธโฆสาจารย์
พระอรรถกถาจารย์ชาวอินเดีย ผู้ลือนาม เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 10 ที่ผ่านมา
คัมภีร์ต่าง
ๆ ที่ปราชญ์ชาวล้านนา รจนาขึ้นนี้ ได้มีอิทธิพลในการศึกษาภาษาบาลีสืบมา
จนปัจจุบันโดยเฉพาะคัมภีร์ มังคลัตถทีปนี ในวงการศึกษาบาลี
ให้ถือเป็นฉบับครูต้นแบบในการแต่งตำราทางศาสนา ซึ่งมีการอ้างอิงรายนามคัมภีร์ที่ผู้แต่งนำมาใช้เรียบเรียง
ยืนยันต้นตอข้อมูลคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ไม่น้อยกว่า 100 คัมภีร์
ในประเทศไทย
ทางคณะสงฆ์เห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้ใช้คัมภีร์ “มังคลัตถทีปนี”
เป็นหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี วิชาแปลมคธเป็นไทย
ระดับชั้นเปรียญธรรม 4 ประโยค, เปรียญธรรม 5 ประโยค และ
วิชากลับไทยเป็นมคธ ระดับชั้นเปรียญธรรม 7 ประโยค ขณะที่
“คัมภีร์วิสุทธิมรรค” เป็นหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี
วิชาแปลมคธเป็นไทย ระดับชั้นเปรียญธรรม 8 ประโยค และ
วิชากลับไทยเป็นมคธ ระดับชั้นเปรียญธรรม 9 ประโยค ในปัจจุบัน
สรุป
ตลอดระยะเวลา 3 รัชกาลของผู้ปกครองอาณาจักรล้านนา คือ พระเจ้าติโลกราช พระยอดเชียงราย และพระเมืองแก้ว หรือพระเจ้าติลกปนัดดา รวมเป็นเวลา 84 ปี นับเป็นยุคทองแห่งพระพุทธศาสนาในล้านนา เพราะเป็นยุคที่มีการศึกษาพระธรรมวินัยอย่างจริงจังโดยใช้ภาษาบาลีเป็นสื่อการเรียนการสอน
ซึ่งส่งผลให้พระสงฆ์ชาวล้านนามีความรู้แตกฉานในภาษาลีเป็นเยี่ยม จนสามารถรจนาคัมภีร์เป็นภาษาบาลีไว้หลายเรื่องดังที่กล่าวมา เมื่อพ้นจาก 3 รัชกาลนี้ไปแล้ว ระยะหลังสืบต่อมา ก็ไม่ปรากฏว่ามีผลงานภาษาบาลีจากพระสงฆ์ล้านนาอีกเลย(สมหมาย
เปรมจิตต์, (2556) วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาในล้านนา)
เนื่องในปี
2567 เป็นปีที่เวียนมาครบรอบ 500 ปี ของการรจนาคัมภีร์ “มังคลัตถทีปนี”
ของพระสิริมังคลาจารย์ สังฆปราชญ์ล้านผู้โดดเด่น
จึงขอน้อมคารวะบันทึกของมูลนี้ไว้เป็นอาจริยบูชา
ซึ่งผู้เรียบเรียงได้เป็นศิษย์จากการศึกษา มังคลัตถทีปนี สมัยศึกษาเปรียญธรรม 4 -
5 และ 6 ประโยค และทั้งได้อาศัย คัมภีร์โยชนาวินัย โยชนาอภิธรรม ที่แต่งโดยพระญาณกิตติ
เป็นเครื่องมือที่กรรมการคุมสอบอนุญาตให้นำเข้าห้องสอบเป็นผู้ช่วยได้
ถ้าชำนาญในบาลีก็จะเห็นช่องในการแปลได้อย่างไม่ผิดพลาด ในคราวที่ สอบเปรียญธรรม 6-7-8
ประโยค จนสอบผ่านมาตลอด ถึงได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ทั้งหมดนี่คือคุณูปการผลงานของสังฆปราชญ์ล้านนา
ที่เป็นมรดกสู่การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลี ของคณะสงฆ์ไทย
เอกสารอ้างอิง
ประเสริฐ
ณ นคร ปวงคำ ตุ้ยเขียว. 2537. ตำนานมูลศาสนาเชียงใหม่ เชียงตุง. กรุงเทพฯ :
ศักดิ์โสภาการพิมพ์,
พระพรหมราชปัญญา. 1972. รัตนพิมพวงศ์. แปลโดย ร.ต.ท.แสง มนวิทูร.(2530), กรุงเทพฯ :
กรมศิลปากร.
(พิมพ์ครั้งที่ 2)
พระโพธิรังสี.
มปป. จามเทวีวงศ์. แปลโดย พญาปริยัติธรรมธาดา(แพ
ตาละลักษม์) (2463),
กรุงเทพฯ
:โรงพิมพ์โสภณพรรฒธนากร.
พระโพธิรังสี.
มปป. สิหิงคนิทาน. แปลโดย พญาปริยัติธรรมธาดา(แพ
ตาละลักษม์) (2506),
กรุงเทพฯ :
ห้างหุนส่วนจำกัดศิวพร.
พระรัตนปัญญาเถระ.
2059. ชินกาลมาลี. แปลโดย ร.ต.ท.แสง มนวิทูร.(2517), กรุงเทพฯ :
กรมศิลปากร.(พิมพ์ครั้งที่ 4)
พิสิฏฐ์
โคตรสุโพธิ์. 2545. แนวคิดทางปรัชญาในคัมภีร์ประเภทวังสปกรณ์ล้านนา. เชียงใหม่ :
สถาบันวิจัยสังคม
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ม.ล.สุรสวัสดิ์
ศุขสวัสดิ์. 2556. รายงานการวิจัยพระพุทธศาสนาในล้านนา ระหว่างรัชสมัยพระเจ้า
ติโลกราช-พญาแก้ว. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
มหามกุฏราชวิทยาลัย. 2529. มงฺคลตฺถทีปนียา ทุติโย ภาโค. พระนคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย.
ลิขิต
ลิขิตานันทะ. 1969. วรรณกรรมบาลีของประเทศไทย (The Pali Literature of
Thailand).วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต
สาขาบาลีศึกษา มหาวิทยาลัยมคธ อินเดีย. (ฉบับพิมพ์ใหม่ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์).สงวน
โชติสุขรัตน์. 2515. ประชุมตำนานล้านนาไทย เล่ม 2. กรุงเทพฯ
: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.
สรัสวดี
อ๋องสกุล. 2552. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พรินติ๊ง.
สมหมาย
เปรมจิตต์. 2556. วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาในล้านนา. เชียงใหม่ :
มหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา.
สุภาพรรณ
ณ บางช้าง. 2539. วิวัฒนาการวรรณคดีบาลีสายพระสุตตันปิฎกที่แต่งในประเทศไทย.
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย,.
แสง
มนวิทูร แปล. 2506. นิทานพระพุทธสิหิงค์. กรุงเทพฯ :
กรมศิลปากร.
แสง
มนวิทูร แปล. 2530. รัตนพิมพวงศ์ ตำนานพระแก้วมรกต. กรุงเทพฯ
: กรมศิลปากร.
ฮันส์
เพนธ์. 2548. ประชุมจารึกล้านนา เล่ม 10 จารึกในจังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่ สถาบันวิจัยสังคม
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
Padmanbh
S.Jaini. Ed. 1981,1983. Paññãsa-jãtaka
or Zimme Pannãsa. 2 Vols.. Pali
Text Society, text series No. 173, London : The Pali Text Society, Vol. I, 1981
and Vol.II, 1983.
[1] มงฺคลตฺถทีปนียา ทุติโย ภาโค(พระนคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2529), หน้า 479 ความว่า “อิจฺจายํ นวปุรสฺส ทกฺขิณทิสาภาเคน คาวุเต ฐาเน วิวิตฺเต สมฺปตฺตานํ ปสาทชนเก สุญฺญาคาเร วสนฺเตน วิเวกาภิรเตน มสุสฺสาเหน ติปิฏกธเรน...กาเล ฉฬาสีตยาธิกฏฺฐสตสกฺกราเช มกฺกฏวสฺเส กตา มงฺคลตฺทีปนี”
[2] ลิขิต ลิขิตานันทะ ไม่ได้ระบุนาม พระพรหมราชปัญญา ผู้แต่ง “รัตนพิมพวังสะ” รวมเอาไว้ในวิทยานิพนธ์.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น