แจ้งข่าวนักศึกษา012173

วันพฤหัสบดีที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2566

ปรัชญาอินเดีย บทที่ 1

 

ปรัชญาอินเดียเบื้องต้น

(An Introduction into Indian Philosophy)

โดย อ.ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์

 

บทที่ 1

ความหมายและขอบข่ายของปรัชญาอินเดีย

(The Meaning and the Scope of Indian Philosophy)

---------------

 1.1 ความหมายและความสำคัญของปรัชญา

          เป็นที่เข้าใจกันว่า  คำว่า  "ปรัชญา"  ในทรรศนะของชาวตะวันตก  เป็นคำที่แปลมาจากคำว่า

"Philosophy" ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า Philos = Love + Sophia = Wisdom เมื่อรวม กันแล้วแปลว่า "การรักความรู้(Love of Wisdom) หรือรัก(กระหาย)ที่จะรู้ [1]  ปรัชญา ที่ใช้ในภาษาไทย พระเจ้า วรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์  ทรงบัญญัติจากคำภาษาอังกฤษว่า "Philosophy" โดยแปลว่า "วิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง"  ปรัชญา ตามรูปศัพท์เดิมเป็นภาษาสันสกฤต แยกออกเป็น ปร = (รอบ) + ชญา = (รู้)  แปลว่า รู้รอบ รู้ประเสริฐ รู้ดี รู้ลึก หมายถึง การคิดลึก คิดกว้าง คิดรอบคอบที่จะเข้าถึงความรู้โดยอาศัยการวิเคราะห์ตามหลักเหตุผล เป็นความรู้ทางวุฒิปัญญา อันสามารถรู้จริง  และเข้าใจจริงหยั่งรู้ในสภาวะที่แท้จริงของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง(To know what Really they are.)นั่นเอง

           1.1.1 ปรัชญาในทรรศนะของปราชญ์ชาวอินเดีย

          คำว่า Philosophy ในทรรศนะของปราชญ์อินเดียเรียกว่า "ทรรศนะ" มุมมอง หรือวิสัยทรรศน์ในหลักความจริง(Darshana or Vision of Truth) หรือเป็นทฤษฎีหรือความคิดเห็น (Theory  or View) และปราชญ์ชาวอินเดียถือว่า  Philosophy  เป็นเพียงแค่การแสวงหาความรู้ และจบลงตรงที่ได้ความรู้มาเท่านั้น ส่วน "ปรัชญา" ตามความมุ่งหมายที่แท้ มีจุดหมายที่ลุ่มลึกกว่าที่กล่าวมา  ยังต้องการเอาความรู้ที่ได้จากการคิดค้นนั้นมาเป็นเครื่องมือ(Instrument)เพื่อช่วยในการหลุดพ้น(Liberation) จากความทุกข์(Suffering)อีกชั้นหนึ่งด้วย

          ปรัชญา   คือ   ความคิดเห็น   หรือ ศิลปะแห่งการดำรงชีวิต เป็นการรวมเอาทั้งภาคทฤษฎี  

(Theoritical) และภาคปฏิบัติ (Pracitical) เข้าด้วยกัน นักปราชญ์ชาวอินเดียจึงพูดเสมอว่า "ปรัชญาอินเดียเริ่มต้น ณ จุดสูงสุดของปรัชญาตะวันตก (An Indian Philosophy begins at the end of Western Philosophy ends.)"

          ความรู้ที่เป็นปรัชญา(Philosophical Knowledge)  ไม่ได้หมายเอาเฉพาะความรู้ที่ได้มาจากประสบการณ์(Empirical) หรือความรู้ที่ได้มาจากการคิดค้นด้วยสติปัญญา(Intellectual)เท่านั้น แต่รวมเอาถึงการหยั่งรู้ หรือรู้แจ้ง(Intuition or Realization) ทั้งรวมเอาการรู้จักประเมินค่าของสิ่งที่มีค่าที่สุดของชีวิต(Value of life)เข้าไว้ด้วย

          ปรัชญาคือศิลปะแห่งการคิดเหตุผล(the Art of Rational Conjecture) ว่าอะไรเป็นความจริง และอะไรน่าจะเป็นความจริงมากที่สุด อีกทั้งความรู้ทางปรัชญาต้องมีอิทธิพลสามารถเปลี่ยนแปลงความประพฤติได้ กล่าวได้ว่า ปรัชญาเป็นมุมมองของชีวิต(the View of Life) มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ตามมุมมองชีวิตและความเข้าใจโลกของตน ปรัชญา จึงเป็นความรู้ที่บริสุทธิ์ ประเสริฐ และเป็นความรู้ที่ช่วยให้พ้นจากความทุกข์ในชีวิต

           1.1.2 ปรัชญามีก่อนการเป็นศาสตร์

          วิชาการที่ว่าด้วยความรู้ของมนุษจำแนกออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ศาสตร์เฉพาะและศาสตร์สากล

           ศาสตร์เฉพาะ หมายถึง วิชาการด้านต่างๆ ที่ศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ เพื่อชำนาญเฉพาะด้าน แก้ ปัญหาเฉพาะทาง เช่น วิชาจิตวิทยา ศึกษาและชำชาญด้านทำนายพฤติกรรมที่แสดงออกว่าเป็นเพราะมีจิตคิดอย่างไร วิชาวิทยาศาสตร์ ก็ศึกษากฎเกณฑ์และความเป็นไปของธรรมชาติ เป็นต้น

          ศาสตร์สากล  ปรัชญาเป็นศาสตร์สากล เพราะปรัชญาคือแก่นความรู้ของวิชาการหรือศาสตร์ทั้งหลาย นั่นคือ ก่อน การกลายเป็นศาสตร์  ในการแสวงหาความรู้ของศาสตร์ทั้งหลาย  ถ้ายังไม่ได้มีการพิสูจน์บทสรุปว่าเป็นจริง นักคิดก็จะตั้งข้อสมมุติฐาน และการคาดคะเนเอาไว้ก่อนเรียกว่า "ปรัชญา" แต่เมื่อพิสูจน์ได้ตามข้อคาดการณ์  ก็เรียกว่า  "ศาสตร์"  ปรัชญาจึงเป็นทั้งต้นกำเนิด  และเป็นหัวกะทิของวัฒนธรรมและอารยธรรมของศาสตร์ทั้งหลาย

           1.1.3 ปรัชญามีหลังการกลายเป็นศาสตร์

          ศาสตร์สาขาต่างๆ ให้ความรู้จริงแท้ มีกฎเกณฑ์รองรับแน่นอน  แต่ก็ยังไม่พ้นกรอบของปรัชญาออกไป  ปรัชญาแทรกไปอยู่ในทุกศาสตร์ เพราะแต่ละศาสตร์จะมีทั้งภาคทฤษฎี(theory)  จุดหมาย(Aims)และ คุณค่าของตนเอง สิ่งเหล่านี้คือปรัชญานั่นเอง ดังนั้น ปรัชญา จึงมีทั้งก่อนจะเป็นศาสตร์และหลังจากการเป็นศาสตร์แล้ว

         1.1.4 สาขาของปรัชญา

          ปรัชญา เป็นแหล่งรวมความรู้ที่กว้างขวางและมากมาย จัดเป็นประเภทได้ 3 อย่าง คือ

                    1. อภิปรัชญา ศึกษาปัญหาทั่วไปเกี่ยวกับความเป็นจริง มนุษย์ ธรรมชาติ และพระเจ้า

                    2. ญาณวิทยา ศึกษาธรรมชาติความรู้ของมนุษย์ จะพัฒนาความรู้ได้อย่างไร และจะต้องศึกษาว่า มนุษย์จะมีความรู้ได้ล้ำลึกเพียงใด

                    3. คุณวิทยา  ศึกษาเกณฑ์การประเมินค่าในด้านต่างๆ เช่น คุณค่ากฎแห่งการให้เหตุผลที่น่าเชื่อได้(ตรรกศาสตร์)  คุณค่าทางศีลธรรมและความประพฤติที่ถูกต้อง(จริยศาสตร์)  คุณค่าของความงามและศิลปะ(สุนทรียศาสตร์)

           1.1.5 ความแตกต่างระหว่างปรัชญากับศาสนา

          พิจารณาจากฐานที่เกิดและวิธีการ เราพบว่าปรัชญากับศาสนามีความแตกต่างกัน คือ

          ปรัชญา อาศัยปัญญา ได้แก่การแสวงหาความรู้ด้วยสติปัญญาเป็นฐาน ในทางตะวันตก  ปรัชญาสามารถแยกตัวเป็นอิสระจากศาสนา  ปรัชญาเป็นเรื่องการเก็งหรือคาดเดาความจริง เครื่องมือทางปรัชญาคือ  สังเกต สงสัย เหตุผล ทดลอง  อัชฌัตติกญาณ

          ศาสนาอาศัยศรัทธา(อารมณ์และความรู้สึกเชื่อ) และความรู้เป็นฐาน ความรู้ทางศาสนาไม่ใช่ สิ่งที่เกิดจากการเก็งความจริง  แต่เป็นการรู้ความจริง  ในทางตะวันออกปรัชญาไม่ได้แยกตัวเป็นอิสระจากศาสนา  เครื่องมือการหาความรู้ทางศาสนา คือ  สงสัย ศรัทธา เหตุผล การปฏิบัติ  อัชฌัตติกญาณ และ การเปิดเผยโดยอำนาจเบื้องบน

           1.1.6 ปรัชญาคือสิ่งที่จำเป็นแก่ชีวิตมนุษย์

          โดยสภาวะทางกายภาพ  มนุษย์และสัตว์เสมอกัน  มนุษย์ต้องพยายามเพื่อการมีชีวิตรอดเหมือนสัตว์อื่นๆ แต่มนุษย์ต่างจากสัตว์เพราะมนุษย์รู้จักคิด เป็นสัตว์มีเหตุผล  เมื่อคิดได้ก็เกิดปัญญาขึ้นมาส่วนสัตว์ชั้น ต่ำ ใช้ชีวิตอย่างปราศจากแผนการและจุดมุ่งหมาย ดำรงชีพอยู่อย่างมืดมนธ์ และแสดงพฤติกรรมออกมาตามสัญชาตญาณ(instinct)[2]   ทว่ามนุษย์มีพรสวรรค์เหนือกว่าสัตว์ตรงที่มีสติปัญญาและมันสมองที่พัฒนาได้   เพื่อจะได้เข้าใจถึงเงื่อนไข(Conditions)และความหมาย(Meaning)ของความพยายามของตนให้เป็นไปตามแผนการ และบรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ  นั่นคือการดำเนินชีวิตอย่างมีสติปัญญา และเหตุผล ไม่ใช่แต่เพียงเพื่อให้ผลเฉพาะในปัจจุบันเท่านั้น แต่เพื่อผลที่ห่างไกลในอนาคตอีกด้วย

          การแสวงหาความรู้ของมนุษย์   เกิดมาจากจุดสนใจของมนุษย์ที่ก่อประกายมาจากธรรมชาติที่มีเหตุผลอันมีอยู่ในตัวของมนุษย์เป็นฐาน ปรัชญาจึงสนองตอบความต้องการทางสติปัญญาของมนุษย์และเป็นความ จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต[3]

           1.1.7 ปรัชญาให้อะไรแก่มนุษย์

          มนุษย์ได้ทุกสิ่งจากปรัชญาจาระไนไม่สิ้น แต่สิ่งสำคัญที่ปรัชญาให้แก่มนุษย์ คือ  การเข้าใจโลกและ ชีวิต ปรัชญาช่วยมนุษย์ให้รู้ทั้งสิ่งปัจจุบันปรากฏอยู่เฉพาะหน้า และสิ่งที่อยู่ไกล แต่มีความเกี่ยวพันกับมนุษย์ มนุษย์ดำเนินชีวิตตามปรัชญาชีวิตและความคิดเกี่ยวกับโลก ปรัชญาให้มนุษย์รู้ความจริง(Knowledge  of Truth)  เช่น

                    1. รู้ว่าชีวิตคืออะไร มนุษย์มีธรรมชาติอย่างไร

                   2. จุดหมายปลายทางของชีวิตคืออะไร หรือจุดสุดท้ายของชีวิตคืออะไร

                     3. มนุษย์อยู่ที่ไหนในจักรวาล ใครคือผู้สร้างโลกและจักรวาล

                    4. มนุษย์จะถึงจุดหมายชีวิตได้อย่างไร และ

                    5. มนุษย์ควรดำรงชีวิตอย่างไร

          ดังนั้น ปรัชญา เป็นประทีปส่องทางชีวิต เพราะคนที่รู้ความจริงย่อมเป็นอิสระ  แต่คนที่ไม่รู้ความจริง ย่อมวนเวียนอยู่สังสารวัฏฏะ เกิดดับไม่มีที่สิ้นสุด

 1.2 ข้อแตกต่างระหว่างปรัชญาอินเดียกับปรัชญาตะวันตก

          ปรัชญาอินเดีย เกิดก่อนปรัชญาตะวันตกเมื่อประมาณ 4,000 ปี (ก่อน คศ.1,500 ปี)[4] ส่วนปรัชญาตะวันตกเริ่มจุดประกายมาเมื่อประมาณ 2,500 ปี (ก่อน คศ. 600 ปี) ที่กรีกโบราณ  แนวคิดทั้ง 2 สาย มีความแตกต่างกันในประเด็นต่อไปนี้ คือ

          1.2.1 ปรัชญาอินเดียแทบทั้งหมดเกิดมาจากศาสนาและนักคิดทางศาสนา ปรัชญาตะวันตกเกิดมาจากนักคิดอิสระ จึงแยกออกจากศาสนาได้

          1.2.2 ปรัชญาอินเดียมีทั้งส่วนที่เป็นทฤษฎี และภาคปฏิบัติ  ปรัชญาตะวันตกมีแต่ส่วนทฤษฎี ไม่เน้นการปฏิบัติตามทฤษฎีเหมือนปรัชญาอินเดีย

          1.2.3 ปรัชญาอินเดียอธิบายทุกเรื่องแล้วแต่จะเกี่ยวข้องถึง โดยไม่แยกเป็นเรื่องเฉพาะๆกล่าวรวมๆไป เช่น เรื่อง อภิปรัชญา ญาณวิทยา จริยศาสตร์ และตรรกศาสตร์ เขาจึงเรียกปรัชญาอินเดียว่า "ทรรศนะแบบสังเคราะห์"(Synthetic Outlook) ส่วนปรัชญาตะวันตกอภิปรายปัญหาเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น  เมื่อเกี่ยวกับอภิปรัชญาก็ จับประเด็นเฉพาะอภิปรัชญา ไม่เลยเข้าเขตประเด็นอื่น

 1.3 ปรัชญาอินเดียมิใช่ปรัชญาฮินดู

           แม้ว่าปรัชญาอินเดียส่วนมากจะมีรากฐานมาจากคัมภีร์พระเวท(the Vedas)  หมายถึงความรู้จักอาตมัน(Atman Viddhi, Knowledge of Atman) แต่ก็ไม่ใช่ปรัชญาที่เป็นแบบสำนักเดียวหรือสายเดียว[5] และก็ไม่ใช่ปรัชญาฮินดู  เพราะปรัชญาอินเดียรวมเอาทุกสำนักของนักคิดชาวอินเดียทั้งหลาย  

ส่วนปรัชญาฮินดูมุ่งหมายเอาผู้ปฏิบัติ ตามคำสอนของศาสนาฮินดู  หรือลัทธิปรัชญาที่ได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์พระเวทเป็นหลักเท่านั้น ปรัชญาฮินดูจึงมีขอบเขตแคบกว่าปรัชญาอินเดียมาก     

1.4 ลักษณะของปรัชญาอินเดีย                                                  

          เพื่อให้เกิดความเข้าใจเอกลักษณ์ของปรัชญาอินเดียมากขึ้น จึงจะขอนำรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของปรัชญาอินเดียมาเสนอไว้ ดังประเด็นต่อไปนี้[6]                  

          1.4.1 ปรัชญาอินเดียเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณ(Spiritual Orientation)     

           ปรัชญาอินเดียเชื่อมั่นในความมีอยู่จริงของวิญญาณ(soul)    และพยายามแสวงหาเพื่อจะได้เกิดความรู้แจ้งวิญญาณในสภาพที่แท้จริงของมัน การรู้แจ้งวิญญาณเป็นจุดหมายปลายทางที่สำนักปรัชญาอิน เดียทุกสำนักประสงค์ นับแต่ อุปนิษัท นยายะ ไวเศษิกะ สางขยะ โยคะ และเวทานตะ ทุกสำนักต่างมีแรงจูงใจให้แสวงหาความเป็นจริงเกี่ยวกับวิญญาณ และด้วยวิธีการที่ไม่ค่อยแตกต่างกันเลย

          1.4.2 ปรัชญาอินเดียเป็นเรื่องที่ใกล้ต่อชีวิต (Closeness to life)

          ปรัชญาอินเดียส่วนใหญ่เป็นปรัชญาที่มองปัญหาของตัวคือชีวิต ไม่ได้เป็นการกระหายความรู้แบบปรัชญาตะวันตก แต่มีจุดมุ่งหมายที่สูงส่งกว่า คือความรู้แจ้งชีวิต และต้องการแก้ปัญหาชีวิตที่สำคัญ เกิดมาจาก การมองปัญหาชีวิตและยุ่งอยู่กับการแก้ปัญหาชีวิต  ไม่ได้แยกตัวเองออกจากชีวิตแบบมนุษย์เลย  ทุกสำนักเป็นประดุจกระจกส่องถึงอุดมคติ และความรู้สึกของชาวอินเดียแท้ ๆ

          1.4.3 เป็นแบบไม่ค่อยพอใจทางจิตวิญญาณ (Spiritual Dissatisfaction)

          นักปรัชญาอินเดียไม่ค่อยพอใจเพียงแค่การแสวงหาระดับโลกียะ อันที่จริง ปรัชญาอินเดีย  เกิดมาจากความต้องการจะแยกวิญญาณออกจากชีวิตที่ไม่ยั่งยืน    ตั้งความหวังไว้ที่การเปลี่ยนแปลงจากสภาวะ แบบมนุษย์ไปสู่สภาวะแบบเทพของชีวิต  ความเบื่อหน่ายของนักปรัชญาอินเดีย  ไม่ใช่เป็นความเบื่อหน่ายโลก แบบพวกมองโลกในแง่ร้าย(Pessimism)          พระพุทธเจ้าได้ย้ำให้เห็นถึงด้านที่เป็นทุกข์ของชีวิตมากมาย แต่พระองค์ก็ยังแสดงทางออกจากทุกข์ คือ มรรค 8 เพื่อเป็นหนทางให้ทุกคนได้ดำเนินและปฏิบัติตาม         ดังนั้นปรัชญาอินเดีย  แม้ว่าจะมีจุดเริ่มต้นจากการมองชีวิตด้านร้ายๆมาก่อน แต่ก็ได้ชี้ให้เห็นว่า

โลกนั้นยังมีด้านที่ดีๆ และมีความสุขรออยู่ข้างหน้า

          1.4.4 มีลักษณะที่เน้นความหลุดพ้นเป็นจุดหมายสูงสุด(Liberation, the Ultimate End)

          ในปรัชญาอินเดีย ความรู้มีเพื่อวัตถุประสงค์จะได้รับสภาพการเปลี่ยนแปลงแบบเทวะของชีวิต  และการสลัดออกจากความทุกข์แบบโลกียะ ยกปรัชญาจารวาก(Caravaka)ออกเสียแล้ว  ทุกสำนักปรัชญาอินเดียทั้งฝ่ายอาสติกะ และ นาสติกะ แม้ว่าจะมีความเห็นแตกต่างกันในรายละเอียด และเรื่องความหลุดพ้น แต่ทุกสำนักย้ำว่าความหลุดพ้นสามารถทำให้มนุษย์ปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระจากอวิชชา และจากการผูกมัด(สังโยชน์) ของความทุกข์ในโลก ความหลุดพ้นจะช่วยให้มนุษย์หลุดพ้นจาก ความทุกข์นานัปประการ จึงเป็นระดับทางจิตใจที่อยู่เหนือจริยธรรมและศาสนา             

          1.4.5 มีทรรศนะว่า อวิชชา(Ignorance) เป็นรากเหง้าของสังโยชน์(Bondage)

          ปรัชญาอินเดียเชื่อว่า   ความทุกข์และการผูกมัดทั้งหลายเป็นผลที่เกิดมาจากอวิชชาของมนุษย์เอง  ถ้าต้องการหลุดพ้นจากความทุกข์ประสงค์ความสุขในชีวิต ไม่ใช่การดับที่ตัวความทุกข์  แต่ต้องดับที่สาเหตุ แห่งความทุกข์ นั่นคือ ต้องดับที่ตัวอวิชชาสาเหตุใหญ่

          1.4.6 ปฏิบัติตามแบบโยคะเพื่อบรรลุความหลุดพ้น(Practice of Yoga for Moksha)

          นักปรัชญาอินเดียทั้งหลาย  ถือว่าการปฏิบัติตามหลักโยคะ  เป็นสิ่งจำเป็นเบื้องต้นเพื่อจะได้รับการ บรรลุความหลุดพ้นจากอวิชชาทั้งทางจิตและวิญญาณ หลักโยคะ 8  ระดับของท่านปตัญชลีต่างได้รับการนำ ไปปฏิบัติในระดับที่เหมาะสมโดยปรัชญาอินเดียทุกสำนัก    นั้นคือการปฏิบัติโยคะเริ่มแต่   ยมะ  นิยมะ อาสนะ สมาธิ และนิธิธยาสนะ เป็นต้นถือว่าเป็นขั้นตอนสำคัญอย่างยิ่งในการขจัดอวิชชา

          การเปลี่ยนแปลงชีวิตด้วยความรู้คือจุดหมายของการปฏิบัติทางจิต(Sadhna)ระบบปรัชญาอินเดียได้วางจุดเน้นให้ทั้งทางความรู้ และการปฏิบัติทางจิตเอาไว้ควบคู่กัน  การปฏิบัติมิใช่มีแต่ด้านลบอย่างเดียวแต่มีด้านบวกด้วย ตามความเป็นจริงแล้ว  ปรัชญาอินเดียได้เน้นการปฏิบัติทางจิตในเรื่องของสติปัญญาทั้งจิตใจและร่างกายควบคู่กันไป

          1.4.7 ตั้งอยู่บนฐานทางจิตวิทยา(Psychological Basis)

          ข้อเท็จจริงทางจิตวิทยาคือพื้นฐานของปรัชญาอินเดีย โดยที่นักปรัชญาชาวอินเดียได้อธิบายถึงจิตวิทยาของมนุษย์อย่างสม่ำเสมอ และอย่างแจ่มแจ้ง นับแต่พระพุทธเจ้า ถึงปตัญชลี ศังกราจารย์และรามานุชะ  นักปรัชญาเหล่านี้ได้ย้ำถึงด้านจิตวิทยาของปรัชญาอินเดียทั้งนั้น  แม้ปัจจุบัน การปฏิบัติตามโยคะทั้งหลายได้ถือว่า เป็นผลดีอย่างยิ่งต่อการเยียวยาโรคทางจิต และวิญญาณ และเป็นการได้รับความสงบทางจิตใจอีกด้วย สำนักเวทานตะได้ให้เวลาในการวิเคราะห์ ขั้นตอนต่าง ๆ ของจิตใจมนุษย์ ยืนอยู่บนฐานแห่งประสบการณ์ของชีวิต ปรัชญาอินเดียได้แสวงหาทางเพื่อ ตรวจสอบ(X-Ray)ประสบการณ์ทาง จิตเหล่านี้เอาไว้ด้วย

          1.4.8 การสังเคราะห์ศาสนาและปรัชญา(Synthesis of Religion and Philosophy)

           ลักษณะทั่วไปของระบบปรัชญาอินเดีย วางอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า ปัญหาของศาสนา  และปัญหาของ ปรัชญาไม่ได้ถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆแบบส่วนที่กันน้ำเข้าไม่ได้(Water tight Compartment)ความเข้าใจธรรมะ(Dharma) ใช้ในความหมายที่กว้างและเข้าใจได้

          อันที่จริง ความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงชีวิต และการสลัดของจากความทุกข์ในโลก เป็นจุดหมายสุดท้ายและสากลของทั้งศาสนาและปรัชญา ไม่มีช่องว่างระหว่าง คน วัตถุ  และพระเจ้าในระบบปรัชญาอินเดีย หลักสำคัญถูกตรวจสอบโดยเครื่องมือทดลองชีวิต(Touch Stone of Life)  การปฏิบัติทางสติปัญญา และทางจิตวิญญาณ เป็นขั้นตอนแห่งการค้นคว้า ความสุขและคุณค่าของหลักสำคัญทางศาสนา

          1.4.9 เป็นแบบปัญญานิยม(Intellectualism)

          ยกการแสวงหาความรู้ตามประเพณีออกเสียแล้ว ระบบปรัชญาอินเดีย  ต่างแสวงหาสัจธรรมในหนทางที่แตกต่างกันเป็นของใครของมัน ระบบเหล่านี้ เผชิญปัญหาด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง และด้วยดวงตาที่ ไม่มีอคติใดๆ  ในระบบปรัชญาอินเดีย เราสามารถสืบค้นย้อนลงไปถึงรากของ "ลัทธิ"   ต่างๆของโลกทางปรัชญาได้

          นักปรัชญาอินเดียไม่เพียงแต่จะยึดมั่นทฤษฎีของตนอย่างเข้มแข็งและเชื่อมั่นเท่านั้น แต่ยังได้ปฏิเสธความคิดของสำนักอื่นๆอีกด้วย ต้องขอเป็นหนี้บุญคุณต่อประเพณีการโต้เถียงทางปรัชญาที่สืบทอดกันมานาน แสนนาน ตรรกศาสตร์ จึงมีบทบาทอิสระอย่างยิ่งในปรัชญาอินเดีย และรวมถึงบรรยากาศที่เป็นแบบเดียว กัน เพื่อความเป็นอิสระและการพัฒนาที่สมบูรณ์ของตรรกศาสตร์

          1.4.10 มองปัญหาแบบสังเคราะห์(Synthetic Approach)

          นักปรัชญาอินเดีย มีท่าทีการมองปัญหาของชีวิตแบบสังเคราะห์ นั่นคือไม่ได้เน้นหรือมอง ปัญหาชีวิตมนุษย์แต่เพียงด้านเดียว แม้ว่าจะเน้นการปฏิบัติทางจิตเป็นแบบตัวใครตัวมัน  แต่นักปรัชญาอินเดียก็ได้รักษาทรรศนะแบบสากลเอาไว้ด้วย นักคิดอินเดีย เช่น พระพุทธเจ้า มหาวีระ ศังกราจารย์  ไม่เพียงแต่จะโดดเด่นในด้านปรัชญาเท่านั้น  ยังเป็นผู้โดดเด่น ในด้านเป็นนักปฏิรูปสังคมอีกด้วย  ระบบปรัชญาอินเดีย ไม่เพียงแต่ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อการหลุดพ้นส่วนบุคคลเท่านั้น แต่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมเอาไว้ด้วย การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีความชัดแจ้งทั้งการเปลี่ยนแปลงทางกายและทางจิตใจด้วย

          1.4.11 เป็นแบบพลวัตร(Dynamism)

          ระบบของปรัชญาอินเดียเป็นแบบพลวัตร นั่นคือ เมื่อมีปรัชญาสำนักใดมีชื่อเสียงโด่งดังปรัชญาสำนักนั้นก็จะได้รับการแข่งขัน จากปรัชญาสำนักอื่น ๆ  ดังเราจะเห็นได้จากพัฒนาการของปรัชญาอินเดียทั้งหมด นับแต่ ปรัชญาวัตถุนิยม จิตนิยม ทวินิยม อทวินิยม และสคุณาทวินิยม (วิศิษฎาไทวตะ)ซึ่งผ่านกันมาไม่ขาดสาย เราจะเห็นสายแห่งการยืนยัน ขัดแย้ง  และการปฏิรูปแบบพลวัตรของปรัชญาอินเดียในภาพรวม

          1.4.12 เชื่อเรื่องความรู้เก่า(Faith In the Past)

          แม้จะมีท่าทีเผชิญปัญหาแบบตรรกศาสตร์ก็ตาม ระบบปรัชญาอินเดียทั้งหมด มีความเชื่อพื้นฐานทั่วไป เกี่ยวกับ  พระเวท คีตา และอุปนิษัท ปรัชญาสำนักอาสติกะทั้งหมด ยอมรับว่า คัมภีร์พระเวท  คือแหล่งความรู้ทางศัพทประมาณ แม้ว่าศัพทประมาณของคัมภีร์จะไม่ได้อาศัยคำพูดแต่ก็ตั้งอยู่บนสัจธรรมแบบสหัชญาณ (Intuitive Truth)

          พระเวท คือแหล่งแห่งความรู้แบบสหัชญาณของพระฤาษีทั้งหลาย ซึ่งความเชื่อในปัญญาอันเก่าแก่นี้ มีระบบหรือเป็นกฎเฉพาะ ที่ใครก็สามารถขยายเห็นได้ในระบบปรัชญาทั้งหมด แต่ไม่ควรจะนำมาเทียบกับ ความเชื่อแบบงมงายในพระคัมภีร์  ท่านศังกราจารย์ ซึ่งยอมรับตนเองว่า เป็นอรรถกถาจารย์  แต่เมื่อ เผชิญกับความขัดแย้งในพระคัมภีร์ก็ยังหันมาใช้วิธีแบบตรรกศาสตร์เพื่อแก้ปัญหา

           1.4.13 เชื่อในระบบศีลธรรมสากล(Rta)

          ปรัชญาอินเดียได้พิจารณาระบบทางศีลธรรม ทั้งในส่วนจุลภาคและส่วนมหัพภาค ระบบศีลธรรมสากลที่พระเวทเรียกว่า  Rta (ริตะ)ในสำนักมีมางสาเรียกว่า "อปูรวะ"  สำนักนยายะและสำนักไวเศษิกะ  เรียกว่า "อทิษฎะ" ตามนัยยะนี้ แสดงว่า ทั้งเทวะ สัตว์ และโลกทั้งมวลต่างเคลื่อนไหวไปตามระเบียบ ของศีลธรรมสากลอย่างหนึ่ง

          1.4.14 เชื่อกรรม(Faith in Karma)

          ระบบของศีลธรรมสากลนี้ได้แสดงตัวให้ปรากฏออกมา เห็นได้จากทฤษฎีแห่งกรรมในชีวิตของแต่ละคน นักปรัชญาอินเดียทุกคนต่างมีความเชื่อในทฤษฎีแห่งกรรมว่า  ผลของกรรมจะติดตามเราเสมอในรูปของสิ่งประทับ(Impression) หรือการปรุงแต่ง และผลกรรมนี้จะเป็นสิ่งบงการช่วงชีวิตของพวกเรา ดังนั้นโลกนี้คือเวทีละคร(The world is a stage) ที่เราเหล่าศิลปินจะต้องแสดงบทบาทของตนตามกรรมที่ ได้สั่งสมไว้ ความหลุดพ้นไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากการสลัดแยกออกจากห้วงแห่งกรรม  ระบบปรัชญาต่างสำนัก ก็ต่างแสดงวิธีการ(ตำหรับ Recipe) เพื่อบรรลุถึงความหลุดพ้นเอาไว้ด้วย

          1.4.15 เชื่อในการเกิดใหม่(Faith in Rebirth)

          ทฤษฎีแห่งกรรมและทฤษฎีแห่งการเกิดใหม่มาคู่กันเสมอ เพราะบ่วงแห่งกรรม วิญญาณมนุษย์จึงต้องมาเกิดอีกในร่างต่างๆ ความหลุดพ้นจะปลดปล่อยมนุษย์จากการเกิดใหม่ได้          ลัทธิจารวากไม่เชื่อทฤษฎีการเกิดใหม่และทฤษฎีแห่งกรรมเลย  ดังนั้น  ลักษณะทั่วไปของปรัชญาอินเดียที่กล่าวนี้จึงไม่รวมเอาลัทธิจารวากเข้าไว้ แต่ปรัชญาอินเดียสำนักอื่นๆต่างมีส่วนในความเชื่อทฤษฎีเท่านี้มากบ้างน้อยบ้าง ตามระดับความเชื่อที่มี อีกประการหนึ่งปรัชญาอินเดีย มีแบบฉบับเฉพาะ คือ

                    1. เกิดมาจากความสงบทางจิต(Meditative) นั่งสมาธิเกิดญาณหยั่งรู้ ปรัชญาอังกฤษเป็นแบบ ประจักษนิยม(Empirical)  ปรัชญาฝรั่งเศสเป็นแบบเหตุผลนิยม(Rationalistic)  ปรัชญาเยอรมัน เป็นแบบการคิดค้นสังสัย(Speculative)  ปรัชญาอเมริกาเป็นแบบสัจจนิยมหรือปฏิบัตินิยม(Realistic or Pragmatic) แต่ปรัชญาอินเดีย ไม่มีแบบแน่นอนเพราะเกิดจากนักคิดหลายกลุ่ม     เป็นทั้งจิตนิยมสัจนิยม  วัตถุนิยม และปฏิบัตินิยม

                    2. ไม่แยกสาขาปรัชญา (Inseperative or Complicative) ปรัชาตะวันตกแยกกันได้ทุกสาขาเป็น อภิปรัชญา ญาณวิทยา จริยศาสตร์ แต่ปรัชญาอินเดียมองในภาพรวมทั้ง 3 สาขา

                    3. การแสวงหาทางจิตวิญญาณ(Spiritualistic) เน้นที่การหลุดพ้นทางจิตเป็นสำคัญ

                    4. มองภายในตัว(Inwardness) มองหาความจริงแท้มาที่ภายในตัวเอง ไม่ได้มองออกไปหาความจริงทางภายนอก ดุจปรัชญาตะวันตก หรือศาสตร์แขนงอื่นๆ   

 1.5 ข้อกล่าวหาปรัชญาอินเดีย (Alleged Defect of Indian Philosophy)

          เนื่องจากปรัชญาอินเดียส่วนมากจะพูดถึงชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ  ซึ่งเข้าข่ายที่น่าจะให้เกิดความเข้าใจผิดหลายเรื่อง เรามาพิจารณาข้อกล่าวหาต่อไปนี้ว่าจะมีหลักฐานยืนยัน หรือจะเป็นที่ยอมรับกันได้เพียงใด

           1.5.1 ปรัชญาอินเดียเป็นแบบทุนิยมมองโลกในแง่ร้าย(Pessimism)

          นักปรัชญาทางตะวันตกหลายท่านไม่รู้ซึ้งถึงธรรมชาติอันแท้จริงและเบื้องลึกของปรัชญาอินเดีย จึงมี ความเห็นที่ผิดพลาดเกี่ยวกับระบบของปรัชญาอินเดียว่า เป็นแบบทุนิยม หรือมองโลกในแง่ร้าย ที่เห็นว่า"โลกไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากสถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยความทุกข์"

          อันที่จริงแม้ว่าปรัชญาอินเดีย  ดูเหมือนจะเป็นแบบทุนิยม  เพราะเบื้องต้นเริ่มมุมมองจากความน่าเบื่อหน่าย ด้วยเงื่อนไขของโลกปัจจุบันทางวัตถุ ซึ่งที่จริงโลกก็เต็มไปด้วยความทุกข์ยากต่าง ๆ  อยู่แล้วความสุขแบบโลกๆ ไม่สามรถนำความสงบสุขทางจิตใจมาแก่มนุษย์ได้อยู่แล้ว นักปรัชญาอินเดียวิจารณ์การ บีบคั้นของโลกอย่างจริงจัง แต่ถ้าไม่มีความไม่พอใจต่อโลกปัจจุบัน ปรัชญาก็จะไม่ค่าใด ๆ

          แต่นักปรัชญาอินเดียก็แนะแนวทางแห่งการหลีกหนีจากโลกแห่งความทุกข์เอาไว้  ไม่ใช่การหนีชีวิต แต่เป็นการพัฒนาชีวิต เปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีกว่าเก่า ด้วยการสร้างความเข้าใจสภาวะที่แท้จริงของตัวตนที่แท้จะได้มีความสุขอันเป็นอมตะกว่าในอนาคต    ราธกฤษนันท์ กล่าวว่า "นักคิดอินเดีย เป็นนักทุนิยม ในช่วงแห่งการมองเห็นว่าโลกเป็นสิ่งชั่วร้าย และหลอกลวง แต่ก็เป็นสุนิยมเมื่อพวกนักปรัชญารู้สึกว่า ยังมีหนทางหลบหนีจากโลกแห่งความทุกข์ยากเข้าสู่อาณาจักรแห่งสัจธรรม ซึ่งเป็นความดีด้วย"[7]  เรียกว่าสุทรรศนะนิยม(Optimism)ในบั้นปลาย

          1.5.2 ปรัชญาอินเดียเป็นแบบพวกยึดติดคัมภีร์ (Dogmatism)

           นักปรัชญาอินเดียยึดถือว่า  คัมภีร์พระเวท คือ แหล่งแห่งความรู้ที่เป็นหลักฐาน หรือ แบบศักดิ์สิทธิ์ คัมภีร์พระเวท คีตา และอุปนิษัท มักจะได้รับการอ้างเสมอ จากนักปรัชญาอินเดีย นี่เท่ากับเปิดประตูให้นักปรัชญาตะวันตกตั้งข้อกล่าวหาได้

          แต่การเชื่อในคัมภีร์พระเวท ไม่ควรจะตั้งความเข้าใจผิดว่าเป็นแบบยึดติดคัมภีร์ ในคัมภีร์พระเวทเป็นความรู้ที่ได้รับมาจากประสบการณ์ทางสหัชญาณของเหล่าฤาษีทั้งหลาย และประสบการณ์เช่นนี้ ใคร ๆ  ก็สามารถมีส่วนร่วมได้ ถ้าการได้พัฒนาขีดความรู้แบบวิญญาณทรรศนะ  เมื่อประสบความขัดแย้งในประสบ การณ์เหล่านี้  นักปรัชญาอินเดียได้แสวงหาทางออกด้วย สติปัญญา, ตรรกศาสตร์ เป็นการเชื่อในความเป็นอมตะของทรรศนะแบบจิตนิยม และเป็นแบบสหัชญาณนิยม

          1.5.3 ปรัชญาอินเดียเป็นแบบเฉื่อยชาทางจริยธรรม(Apathy toward Ethics)

          ในทรรศนะของ Farguhar ปรัชญาอินเดียไม่มีระบบคำสอนปรัชญาทางจริยธรรม  นั่นคือ  จริยธรรมไม่ใช่หลักสำคัญของปรัชญาอินเดีย  เพราะจิตวิญญาณ ได้รับการพิจารณาว่า สูงส่งกว่า  จริยธรรมและศาสนา  เพราะบุคคลที่หลุดพ้นแล้วย่อมก้าวข้ามเขตแดนทางจริยธรรมไปได้  (ละบุญและบาป)ความหลุดพ้น อยู่เหนือพรมแดนแห่งบุญและบาป นั่นคือจุดหมายสูงสุดของปรัชญาอินเดีย ย่อมอยู่สูงสุดกว่าจริยธรรมจึงไม่ได้พิจารณาศีลธรรม                 

          ที่กล่าวอย่างนี้เป็นความเข้าใจผิด  ปรัชญาอินเดียทุกสำนัก  แม้จะวางจุดหมายสูงส่งเอาไว้ที่การบรรลุความหลุดพ้น แต่การบรรลุถึงความหลุดพ้นได้ ต้องปฏิบัติไปตามขั้นตอน และศีลธรรมก็เป็นสิ่งจำเป็นอันดับแรกของมนุษย์ผู้ต้องพัฒนาตนเอง ปรัชญาพุทธ ปรัชญาเชน และ ปรัชญาอื่นๆ ใช้ความพยายามอย่างมาก ในการอธิบายหลักทางศีลธรรม ซึ่งแตกต่างกันในรายละเอียด ดังนั้นปรัชญาอินเดียแม้จะไม่ชูจริยธรรมให้โดดเด่น แต่ก็จัดวางตำแหน่งเอาไว้อย่างเหมาะสมแล้ว

          1.5.4 ปรัชญาอินเดียเป็นแบบงอมืองอเท้าเพราะเชื่อกฎแห่งชะตากรรม(Pre Determinism)

          เนื่องด้วยปรัชญาอินเดีย แทบทุกสำนักที่ยึดมั่นในคัมภีร์พระเวท และสิ่งที่กำหนดไว้ในพระเวท  ว่าชะตาชีวิตมนุษย์กำหนดเอาไว้แล้วด้วยอำนาจกรรมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบน  ไม่ต้องพยายามแก้ไขชะตาชีวิตใหม่  เพราะแก้ไม่ได้ด้วยตัวมนุษย์เอง  ต้องก้มหน้ารับชะตากรรมนั้นโดยไม่มีข้อโต้แย้ง  ทั้งเชื่อใน เรื่องการเกิดใหม่ด้วยความเป็นอมตะของวิญญาณ จึงเป็นลักษณะแบบงอมืองอเท้า  เพราะไม่พยายามแก้ไขใหม่แก่ชีวิตตนเองอะไรเลย

         1.5.5 มีลักษณะเป็นแบบตายตัวและคงที่(Static Nature)[8]

          ปรัชญาอินเดียแสดงเพียงแต่วิวัฒนาการด้านโครงสร้างแต่ไม่ได้เคลื่อนไปข้างหน้า  ปรัชญาอินเดีย แทบทุกสำนักได้แต่แสดงปฏิกิริยาโต้แย้งทฤษฎีของเก่า พอๆกับเป็นทรรศนะแบบสังเคราะห์ จึงไม่มีอะไรที่ เป็นของใหม่ออกมา

 1.6 ปัญหาและวิธีการของปรัชญาตะวันตกและปรัชญาอินเดีย

          1.6.1 ปัญหา

           ถึงแม้ว่าปัญหาพื้นฐานทางปรัชญาทั้งทางตะวันตกและทางตะวันออกจะไม่แตกต่างกัน และความพยายามเพื่อแก้ปัญหาหลักๆ จะคล้ายกัน แต่วิธีการสืบค้นทางปรัชญาจะแตกต่างกันในบางเรื่องรวมทั้งกระบวนการพัฒนาความคิดของปรัชญาก็แตกต่างกัน เรามาพิจารณาในประเด็นต่อไปนี้

          1.6.2 วิธีการแสวงหาคำตอบทางปรัชญาของปรัชญาตะวันตก

                    1.  ต้องศึกษาทรรศนะหรือแนวคิดของสำนักอื่น   มาก่อน (Prior   View) หรือปูรวปักขะ (Purvapaksha)   จะยังไม่สรุปจนกว่าจะพิจารณาถึงทรรศนะ(ทฤษฎี) ที่สำนักอื่น   กล่าวแสดงไว้  และจะพูดถึงจุดยืนที่พวกนักปรัชญาอื่นจะต้องเผชิญ  สิ่งนั้นจะมีเป็นจุดให้เกิดรูปแบบของวิธีการโต้แย้งทางปรัชญา โดยนักปรัชญาจะต้องยกทรรศนะของคนอื่น ๆ  อันเป็นฝ่ายตรงกันข้ามมาพิจารณาก่อนที่จะสร้างทฤษฎีของตนเอง

                    2. หาข้อโต้แย้ง(Refutation) ถกเถียง ที่ภาษาอินเดียเรียกว่า ขัณฑนะ(Khandana) เมื่อศึกษาจนสามารถเจ้าใจทฤษฎีของคนอื่นจนเข้าใจแล้ว  อธิบายถึงส่วนที่บกพร่องและประเด็นที่ตนไม่เห็นด้วยเป็นข้อขัดหรือแย้งของทรรศนะนั้น ให้คำตอบของตนเองเพิ่มเติมเรียกว่า  ทรรศนะเพิ่มเติม(Subsequent View) หรือ อุตระปักขะ (Uttarapaksha)

                    3. ให้บทสรุป(Conclusion) เมื่อพบจดเด่น หรือ จุดด้อย  และแสดงข้อโต้แย้งอันประกอบด้วยเหตุผลแล้ว   ประเด็นต่อมาจึงได้เสนอพร้อมชี้แจงทรรศนะที่เป็นความคิดเห็นของตนว่าต่างจากทรรศนะเก่าอย่างไรบ้าง เรียกว่า สิทธานตะ(Siddhanta) 

           1.6.3 วิธีการแสวงหาคำตอบทางปรัชญาของปรัชญาอินเดีย

          แม้ว่าปรัชญาอินจะดำเนินกระบวนการ 3 ขั้นตอนดุจปรัชญาตะวันตก และแม้ว่าปรัชญาอินเดียจะถกเถียงปัญหาต่างๆ ทางด้านอภิปรัชญา จริยศาสตร์ ตรรกศาสตร์ จิตวิทยาและญาณวิทยา  แต่ปรัชญาอินเดียก็ไม่ได้อภิปรายปัญหาแต่ละอย่างโดยแยกออกมาเป็นเรื่องๆ หรือเฉพาะแง่มุมที่เป็นท่าทีแห่งการแสวงหาความรู้  ไม่ว่าจะเป็นเชิงอภิปรัชญา จริยศาสตร์ ตรรกศาสตร์ จิตวิทยาและญาณวิทยา  ด้วยกระบวนการแนวนี้  บี  เอ็น ซีล(B.N. Seal)  จึงกล่าวว่า  "ปรัชญาอินเดียเป็นทรรศนะแบบสังเคราะห์  (Synthetic Outlook) คือมองแบบภาพรวมทั้งหมด"

          ในภาพรวม กล่าวได้ว่า ปรัชญาอินเดียมีวิธีที่เป็นแบบวิภาษ แต่ก่อนจะใช้วิภาษวิธีต้องผ่านการ ศึกษาที่เรียกว่าประสบการณ์หรือลงมือปฏิบัติ หลังจากนั้น ใช้เหตุผลมาเป็นตัวสนับสนุนความคิดเห็นของตนจนสามารถแสดงทรรศนะใหม่ออกมาได้

          ตัวอย่าง

          ถ้าเราศึกษาเรื่องพระเวท (Vedas) หรือเวทานตะ เราจะพบทรรศนะของนักปรัชญาต่าง ๆ ที่มีความคิดเห็นในเรื่องของพระเวท  ต่างพูดตามความเห็นและทฤษฎีของตน  ฝ่ายนับถือพระเวทก็จะพูดในเชิงยกย่องและสนับสนุน ยืนยันความขลังและศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท  กลายเป็นกลุ่มยึดติดคัมภีร์(the Orthodox School) แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็จะแสดงทรรศนะโต้แย้งอีกมุมมองหนึ่ง  แม้จะพูดเรื่องเดียวกันแต่คนละด้าน โดยปฏิเสธความขลังและศักดิ์สิทธิ์ของพระเวท  กลายเป็นกลุ่มไม่ยึดคัมภีร์(Heterodox School)  และแสดงแนวทางที่น่าจะเป็นไปได้ที่เป็นแบบฉบับของตนเอง เช่น ปรัชญาพุทธ  ปรัชญาเชนหรือ ปรัชญาจารวาก

          การมองความจริงแท้ของสิ่งหนึ่ง หากจะให้สมบูรณ์ควรมองทั้งด้านบวกและด้านลบ ดุจเหรียญเงินที่ ประกอบด้วย 2 ด้าน (หัวและก้อย) พิจารณาเหรียญจึงควรพลิกดูทั้ง 2 ด้านแล้วจะทราบว่าลักษณะที่ แท้เป็นอย่างไร

          หากปรัชญาอินเดียถ้าจะพัฒนาให้เจริญแบบตะวันตกแล้ว จึงควรจะมีใจกว้างและยอมรับฟังทรรศนะของคนอื่น ๆ เพราะสิ่งนี้จะเป็นสาเหตุแห่งความรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ของปรัชญาอินเดีย ทั้งจะเป็นความดีงามในอนาคต  อนึ่งปรัชญาอินเดียควรจะยอมรับทรรศนะเรื่องชีวิตและความจริงซึ่งไหลผ่านมาจากตะวันตกที่เป็นแหล่งความรู้วิชาการต่าง ๆ ด้วย ก็จะเป็นความสมบูรณ์ของปรัชญาอินเดียโดยแท้ 

            1.6.3 เครื่องมือการหาความรู้ทางปรัชญา

                    1.6.3.1 ปรัชญาอินเดีย

                    การแสวงหาความรู้ทางปรัชญามักใช้วิธีการหลายรูปแบบ ปรัชญาอินเดียใช้เครื่องมือต่อไปนี้ในการ แสวงหาความรู้ คือ

                        1. การลงมือปฏิบัติ (Experience)ส่วนมากเป็นการปฏิบัติทางจิต

                        2. เหตุผล (Reasoning) การหาเหตุผลทางตรรกะมาช่วยหาบทสรุป

                        3. สังเกต (Observation) คือการศึกษาจากสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความเอาใจใส่ทุกขั้นตอน

                        4. ความเชื่อ (Faith) เป็นความเชื่อมั่นในสิ่งหนึ่งและอุทิศตนศึกษาตามความเชื่อ

                        5. การหยั่งรู้ (Intuition)เป็นผลที่เกิดจากการพิเคราะห์ภายในจิตจนเกิดความรู้แจ้ง

                     1.6.3.2 ปรัชญาตะวันตก

                    ส่วนเครื่องการแสวงหาความรู้ทางปรัชญาตะวันตก แม้จะไม่ต่างจากปรัชญาอินเดีย แต่ก็พอจะแยกออกเป็นแบบได้ดังนี้

          1. วิธีแบบโสคราตีส(Socrates) นักปรัชญากรีกโบราณ เสนอเครื่องมือและวิธีไว้ดังนี้

                    1) แกล้งโง่(Inonical)ทำตนเป็นคนกระหายความรู้โดยทำเป็นไม่มีความรู้มาก่อน

                    2) สนทนา(Conversation) โต้ตอบแลกเปลี่ยนทรรศนะและความรู้กับคนอื่น

                    3) ให้คำนิยาม(Definition) พยายามให้คำจำกัดความโดยหาข้อตกลงที่ยอมรับกันว่าเป็นจุดสุดท้ายของเรื่องนั้น

                    4) อุปนัย(Induclion) วิธีหาบทสรุปจากการเก็บรวบรวมข้อมูลให้มากพอมาเป็นฐาน

                    5) นิรนัย(Deduclion) ตั้งกฎสากลเอาไว้เพื่อตรวจสอบสิ่งอื่นๆอันเป็นส่วนปลีกย่อย

                   2. วิธีแบบเดส์คาร์ตส์(Descartes) เขาเสนอวิธีแบบตั้งข้อสงสัยเพื่อหาบทสรุป

                    1) ต้องตั้งข้อที่ควรสงสัยทุกเรื่อง

                    2) ตรวจสอบรายละเอียดที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอน

                    3) แก้ปัญหาจากง่ายไปสู่ยาก จากสิ่งที่ไม่สลับซับซ้อนไปสู่สิ่งที่ล้ำลึกตามลำดับ

                    4) ให้ตรรกแบบนิรนัยและสหัชญาณร่วมกัน 

3. วิธีแบบวิทยาศาสตร์(Scientific Method) เครื่องมือคือการทดลอง  สังเกต  ตรวจสอบ และห้ข้อสันนิษฐาน โดยอาศัยวิธีการแบบอุปนัย และเป็นวิธีของกลุ่มประสบการณ์นิยมด้วย

          4. วิธีแบบวิจารณ์ของค้านท์(Kant's Critical Method)  เป็นการประนีประนอมวิธีของเดส์คาร์ตส์ และวิธีแบบวิทยาศาสตร์ของกลุ่มประสบการณ์นิยม อาศัยกระบวนการวิคราะห์ของเหตุผลในจิต

          5. วิธีแบบวิภาษของเฮเกล(Hegel's Dialectic) เป็นหาบทสรุปรวมที่ผ่านจาก บทเสนอบทแย้ง และบทสังเคราะห์

 1.7 ยุคทางปรัชญาอินเดีย

           ปรัชญาอินเดียนับแต่อดีตจนปัจจุบัน แบ่งเป็น 5 ยุค คือ[9]

          1.7.1 ยุคพระเวท(Vedic Period) 2500 - 600 B.C. ยุคที่ชาวอารยันอพยพเข้ามาอินเดียและจารึกคัมภีร์พระเวท ฤคเวท ยรุชเวท สามเวท และอาถรรพเวท(เพิ่มมาภายหลัง)

          1.7.2 ยุคมหากาพย์(Epic Period) 600 B.C.- 200 A.D. เกิดมหากาพย์มากมายเช่น  มหาภารตยุทธ มหากาพย์รามเกียรติ คัมภีร์อุปนิษัท และเกิดปรัชญากลุ่มนาสติกะ 3 สำนักใหญ่ เช่น  ปรัชญาสำนักจารวาก(Caravaka) สำนักปรัชญาเชน(Jainism) และสำนักปรัชญาพุทธ(Buddhism)

          1.7.3 ยุคพระสูตร(Suttra Period) 200 A.D. - 700 A.D.เกิดสำนักปรัชญาอาสติกะ 6 สำนักที่เรียกว่า ทรรศนะทั้ง 6 (ฉัททรรศนะ = Sad-Darshana) คือ

               1) สำนักนยายะ(Nyaya) เกิดจากนยายะสูตร ของฤาษีโคตมะ

               2) สำนักไวเศษิกะ(Vaisheshika) เกิดจากไวเศษิกะสูตร ของฤาษีกนาทะ

               3) สำนักสางขยะ(Samkhaya)เกิดจากสางขยสูตร ของฤาษีกปิละ

               4) สำนักโยคะ(Yoga)  เกิดจากโยคสูตร ของฤาษีปตัญชลี

               5) สำนักมีมางสา(Mimamsa) เกิดจากมีมางสาสูตร ของฤาษีไชมินิ

               6) สำนักเวทานตะ(Vedanta) เกิดจากเวทานตสูตร หรือ พรหมสูตร ของฤาษีพาทรายณ์

          1.7.4 ยุคนักปราชญ์(Scholastic Period) 700 A.D. - 1700 A.D. มีอรรถกถาจารย์เกิดมา หลายท่าน เช่น ศังกราจารย์ รามานุชะ มัธวะ เป็นต้น

          1.7.5 ยุคปัจจุบัน(Contemporary Period) 1850 - ปัจจุบัน เป็นยุคของนักปรัชญาอินเดียสมัยใหม่ เช่น รพินทรนาถ ฐากูร  มหาตมะ คานธี วิเวกานันทะ เป็นต้น

 1.8 ปรัชญาอินเดีย 2 ฝ่าย

          ปรัชญาอินเดียที่แสดงโดยแบ่งเป็นยุคมาแล้วนี้ จัดเป็นฝ่ายได้ 2 ฝ่าย[10] คือ

          1.8.1 ฝ่ายอาสติกะ(Asatika) ที่เรียกว่า  อาสติกะ  ไม่ใช่เพราะความเชื่อในพระเจ้า(Belief  in God) แต่เพราะความเชื่อในความขลังและศักดิ์สิทธิ์ของพระเวท(the Vedas)  คำว่า อาสติกะ มีความหมาย 2 นัย คือ

                    1) หมายเอา  บุคคลผู้มีความเชื่อในอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ของพระเวท(belief in authority of the Vedas)

                    2) หมายเอา บุคคลผู้มีความเชื่อในชีวิตหลังจากตาย (belief in lifeafter death) [11]                                                             

           อาสติกะ ประกอบด้วยสำนักปรัชญาพระเวทเดิม และอีก 6 สำนักใหญ่ ที่กล่าวแล้ว คือ นยายะ ไวเศษิกะ สางขยะ โยคะ มีมางสา และเวทานตะ

          1.8.2 ฝ่ายนาสติกะ(Nastika) คือ สำนักที่ไม่เชื่อในอำนาจความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ ของพระเวท แต่มีความเชื่อว่ามีพระเจ้าเทพเจ้าอยู่ในสถานภาพที่เป็นสัต(Being) อย่างหนึ่ง มีการเกิดมีการตายตามกฎแห่งธรรมดาโลก มี 3 สำนักใหญ่ ๆ คือ  จารวาก(Caravaka or Mateialist) เชน(Jainism) และพุทธ(Buddhism)   

           การแบ่งสำนักของปรัชญาอินเดียแบบยึดคัมภีร์พระเวทเป็นหลัก[12]

                    ก. สำนักที่ไม่ปฏิเสธความศักดิ์สิทธิ์ของพระเวท(Vedic Authority) แบ่งเป็น 2 ฝ่ายคือ

                             1.1 สำนักที่ยืนอยู่บนฐานแห่งคัมภีร์พระเวทตรง ๆ มี 2 สำนัก คือ

                                        1. มีมางสา  เน้นด้านพิธีกรรม(Ritualistic) ผ่านกรรมโยคะ

                                        2. เวทานตะ  เน้นด้านปัญญาหรือแสวงหาปัญญา(Speculative) ผ่านชญานโยคะ

                              1.2  สำนักที่ตั้งอยู่บนฐานแห่งความคิดอิสระ แต่ก็เชื่อพระเวท  และเชื่อในประสบการณ์ ของมนุษย์และเหตุผล เพื่อพิสูจน์ว่าคำสอนพระเวทกับความคิดของเขาตรงกัน มี 4 คือ                                         1. นยายะ

                                        2. ไวเศษิกะ

                                        3. สางขยะ

                                        4. โยคะ


                    ข. สำนักที่ปฏิเสธอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ของพระเวท มี 3 สำนัก คือ

          1. จารวาก

          2. เชน 

          3. พุทธ

 

1.9 กลุ่มความเชื่อของปรัชญาอินเดีย

          หากจะแบ่งตามรูปแบบในการแสวงหาความรู้แล้ว ปรัชญาอินเดียคงมี 3 กลุ่มหลัก คือ

          9.1 กลุ่มจารีตนิยม(Traditionalist) เชื่อและปฏิบัติตามคัมภีร์พระเวท

          9.2 กลุ่มเหตุผลนิยม(Rationalist) แสวงหาความรู้จริงโดยการใช้เหตุผล  และการคาดเก็ง

ความจริง โดยมิได้อ้างว่าเป็นความรู้ที่ได้มาจากสัญชานพิเศษ(Extrasensory)

          9.3 กลุ่มประสบการณ์(Experientalist)  เชื่อว่า   ความรู้จริงต้องได้มาจากประสบการณ์

ด้วยตนเอง และรวมทั้งความรู้ที่ได้มาจากสัญชานพิเศษ(Extrasensory)โดยผ่านการบำเพ็ญตนทางสมาธิ

หรือการมีประสบการณ์โดยตรงจากทั้งภายใน และภายนอก.

 

----------------------

 





    อ้างอิง

         [1] W.L. Reese, Dictionary of Philosophy and Religion,  (New Jersey : Humanities Press, 1980), p. 431.

             [2] แสง จันทร์งาม,  ศาสนศาสตร์, (กรุงเทพฯ :  ไทยวัฒนาพานิช,2534), หน้า 191. 

            [3] พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, ศาสนาเบื้องต้น, (เชียงใหม่ : BS Printing, 2540), หน้า 6.

     [4] S. Dasgupta, A History of Indian Philosophy, Vol. 1., (Delhi: Motilal Banarsidass, 1988), p.10.

     [5] T.M.P. Mahadevan, Invitation to Indian Philosophy, (New Delhi:  Arnold Heinemann Publishers, 1974), p.1.                               

       [6] Ram Nath Sharma, Indian Philosophy, (New Delhi: Orient Longman Ltd.1972), pp. 4-7.

           [7] S. Radhaknshnan, Indian Philosophy, Vel.1, (New Delhi : Blackie & Son Publishers, 1958),p.50.

             [8] Ram Nath Sharma, Indian Philosophy, p. 14.

             [9]  W.L.Reese, Dictionary of Philosophy and Religion, p. 249.

             [10] Ram Nath Sharma, Ibid., p.13.

                [11] S. Dasgupta, A History of Indian Philosophy, Vol.1,  (New Delhi : Motilal, Banarsidas, 1988), pp. 67 - 69.

            [12]   R.N. Sharma, Indian Philosophy, p.2.