แจ้งข่าวนักศึกษา012173

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

โอวาทสอนภิกขุสามเณร ฉบับวัดพระยืน นครหริภุญไชย

โอวาทสอนภิกขุสามเณร วัดพระยืน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
        ความเป็นมาของเอกสาร
โอวาทสอนภิกขุสามเณร ฉบับวัดพระยืน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ฉบับนี้ ตามชื่อที่ผู้แต่งใช้ชื่อว่า “โอวาทพุทธศาสนา” เป็นงานเขียนของพระอภิไชย ขณะที่ท่านมาอยู่ที่วัดพระยืน ด้านทิศตะวันออกของเวียงหริภุญไชย(ลำพูน) ในปีรวงเปล้า (แต่ไม่ได้บอกจุลศักราชเอาไว้ จึงไม่สามารถคาดว่าประมาณปีพุทธศักราชใด) จุดประสงค์การแต่งก็เพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนาให้ได้ถึง 5,000 พระวัสสา  และขอให้เป็นปัจจัย อำนวยอิฏฐผลแก่ท่านและมารดาบิดาในอนาคต  คณะนักวิจัยได้พบเอการดังกล่าว ที่เป็นผลงานของภิกษุผู้อยู่ที่วัดพระยืนแต่งเอง จึงเห็นว่า เป็นการสมควรที่จะปริวรรตถอดความออกมา ให้เห็นว่า ภิกษุสามเณรที่บรรพชาอุปสมบทมาแล้ว ควรจะตระหนักถึงสมณภาวะของตน ดำรงตนอยู่ด้วยความไม่ประมาท ตามปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า  ตั้งใจศึกษาพระปริยัติ ลงมือปฏิบัติ จึงจะเป็นผู้เจริญในพระศาสนา ทำความเพียรค่อยปฏิบัติไปตามโอวาทนี้  ก็จักพ้นจากทุกข์ในวัฏฏสงสารโดยแท้ หากปฏิบัติตามไม่ได้ ก็จงอย่าทนอยู่ย่ำยีพระศาสนาด้วยมิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดทำนองคลองธรรม  จะเป็นภัยแก่ตนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต แม้ว่าภาษาบาลีที่เขียนตามภาษาพูดแบบมุขปาฐะ จะไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ก็ไม้่ใช่ประเด็นให้เกิดความด้อยในผลงาน เพราะสามารถใช้สื่อความได้อย่างถูกต้องและงดงามว่า ผู้แต่งต้องการจะชี้สาระและแนวทางปฏิบัติอะไร อย่างไร แก่ผู้อ่านเป็นประการสำคัญ   (ชัปนะ ปิ่นเงิน ปริวรรตและถายถอดอักษร กรกฎาคม 2558 ; พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ เกริ่นนำและถอดสาระ)

 สาระเนื้อหาโดยย่อของเอกสาร
นโม ตสฺสตฺถุ (ขอความนอบน้อม ของข้าพเจ้า จงมีแด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยเถิด)  
ต่อไปนี้จักกล่าวถึงคลองโอวาทแก่ภิกษุและสามเณรทั้งหลาย ขอจงตั้งใจฟังและปฏิบัติตามที่ได้สั่งสอนเอาไว้เถิด การที่เราทั้งหลายเข้ามาบวชเรียนในพระศาสนาก็เพื่อจักกระทำตนให้ออกจากวัฏสงสาร ให้ถึงซึ่งพระนิพพาน จึงกล่าวได้ว่า “นิพพานะ สัจฉิกะระณัตถายะ” นั้น และในบทที่ว่า อะหัง ภันเต ปัพพัชชัง ยาจามิ ก็ขอเอา ปัพพัชชัง ยังการบวช สะระณะคะมะนัง ข้าพเจ้าจักถือเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง จึงกล่าวได้ว่า สะระณะคะมะนัง อามะ ภันเต
ภิกษุและสามเณร ควรยึดถือปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าก่อนที่จักปรินิพพานนั้นเป็นการปฏิบัติบูชา อัปปะมาทัง กล่าวคือ ภิกษุและสามเณรทุกรูป ควรปัดกวาดดูแลยังพระพุทธบาท พระธาตุ เจดีย์ ต้นโพธิ์ พระพุทธรูป ลานวัด กุฏิ วิหาร ที่อยู่ของอุปัชฌาย์ครูบาอาจารย์ และคอยดูแลอุปัฏฐากอุปัชฌาย์ครูบาอาจารย์ทุกค่ำเช้า ตื่นขึ้นมาในตอนเช้าก็ให้อุปัฏฐากดูแลพระพุทธเจ้า และครูบาอาจารย์ ด้วยการจัดเตรียมน้ำร้อน น้ำเย็น และไม้สีฟันถวาย พร้อมกับเคารพกราบไหว้บูชาอยู่เสมอ
ถวายคนโทน้ำดื่มแด่พระพุทธเจ้า ให้กล่าวคำถวายว่า “อิมัง อุทะกัง พุทธะโคตะมัง ปะฏิคัณหาตุ” (ต้นฉบับเขียนปฏิคัณหันตุ ซึงผิดหลักไวยากรณ์บาลี)  
ถวายไม้สีฟัน กล่าวว่า “สิทันตะระมุกขัง ปะฏิคัณหาตุ อะนุกัมปัง อุปาทายะ”
ถวายผ้าเช็ดหน้า “อิทัง มุญจะนะมุกขัง พุทธะโคตะมัง อะนุกัมปัง อุปาทายะ”
ให้สวดบูชาพระพุทธคุณ (อิติปิ โส) พระธรรมคุณ (สวากขาโต) พระสังฆคุณ (สุปฏิปันโน) แล้วให้สวดว่า พุทโธ เม นาโถ ธัมโม เม นาโถ สังโฆ เม นาโถ, อัชชะตัคเค ปาณุเปตัง พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ฯลฯ ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ, อามะ ภันเต ข้าแต่เจ้าข้า ข้าก็ขอรับเอายังไตรสรณคมน์แห่งพระพุทธเจ้า สะระณัง อิติ ว่าขอถือเอาไว้เป็นที่พึ่ง
ทะสะสิกขาปะทานิ สิกขาบท คือ ศีล 10 เวระมะณี ให้เว้น ปาณาติปาตา การทำปาณาติบาต คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์น้อยใหญ่ทั้งหลาย มีผู้ชาย ผู้หญิง เป็นต้น รวมถึงอย่าทำร้ายสัตว์และผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ให้แท้ง
ในสิกขาบท อะทินนาทานา ก็ให้เว้นเสียจาก อทินนาทาน คือ ลักขโมย ฉกฉวย แย่งชิงสิ่งของ เช่น เสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องอุปโภค-บริโภค โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ หากว่ากระทำเช่นนั้น ก็เท่ากับว่าไม่มีศีลอยู่ในตัว
ในสิกขาบท อะพรัหมะจะริยา เวระมะณี ให้เว้นเสียจากกระทำมิจฉาจารกับผู้ชาย ผู้หญิง หรือ แม้แต่ในสัตว์เดรัจฉาน โดยการล่วงเข้าไปในปัญจมรรค คือ ทวารทั้ง 5 คือ ปาก จมูก หู ทวารหนัก ทวารเบา ภิกษุและสามเณรูปใดล่วงในสิกขาบทดังกล่าว ขาดจากการเป็นสมณเพศ อุปมาเหมือนใบไม้ที่หลุดออกจากขั้วร่วงหล่นลงมา ไม่สามารถที่จะนำกลับเอาไปติดคืนได้ดังเดิม
ในสิกขาบท มุสาวาทา ให้เว้นเสียจากมุสาวาท คือ พูดเท็จ พูดยุยง สนส่อ(ส่่อเสียด)ให้คนทะเลาะกัน พูดเพ้อเจ้อหาประโยชน์ไม่ได้ เห็นสิ่งที่ชั่วว่าดี เห็นสิ่งที่ผิดว่าถูก ไม่เชื่อคำสั่งสอนพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ เกียจคร้าน มักโกรธเคือง ชอบโจทก์ฟ้องร้องกล่าว เป็นต้น
ในสิกขาบท สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา ภิกษุและสามเณาควรเว้นจากการเสพสุรายาเมาทั้งหลาย
ทั้งหมดนี้ก็เป็นศีล 5  
คฤหัสถ์หญิงชายทั้งหลายที่ได้เข้ามาสู่ในสถานที่รัตนะทั้งสามประการประดิษฐานอยู่ เมื่อได้สมาทานศีลแล้วก็อย่าได้มีใจหลงผิด คิดทำบาป ละเมิดในสิกขาบทเหล่านี้ในสถานที่ดังกล่าว
สิกขาบทข้อที่ว่า วิกาละโภชะนา ให้ภิกษุและสามเณรเว้นจากการขบฉันอาหารเมื่อตะวันบ่ายคล้อยไปแล้ว
สิกขาบทข้อที่ว่า นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนา ให้เว้นจากไปดูการละเล่น ขับฟ้อน ร้องรำ ประโคมเครื่องดนตรี งานมหรสพต่างๆ ไม่ควรเล่นการพนันขันต่อทุกชนิด หรือ เดินเที่ยวเล่นตามตลาด แม้แต่การแสดงกิริยาอาการอันไม่สำรวม เช่น ร้องเล่น เต้นรำ ปรบมือโห่ร้อง ก็อย่าทำ
ในสิกขาบทที่ว่า มาลาคันธะวิเลปะนะธาระณะมัณฑนะวิภูสะนัฏฐานา ภิกษุและสามเณรเว้นเสียจากการทัดทรงดอกไม้และเว้นจากการลูบไล้ทาตนด้วยเครื่องหอม
ในสิกขาบทที่ว่า อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนา ก็ให้เว้นจากการนั่งในที่นั่ง เตียงสูงกว่าภิกษุ แม้นว่า ภิกษุผู้มีพรรษาอ่อนกว่า ก็ไม่ควรนั่งบนอาสนะเหนือกว่าภิกษุผู้มีพรรษาแก่กว่าตน เป็นต้นว่า อุปัชฌาย์ ครูบาอาจารย์
ในสิกขาบทที่ว่า ชาตะรูปะระชะตะปะฏิคะหะณา ให้เว้นเสียยังการถือจับหรือเคลื่อนย้ายเงินทองโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ
สิกขาบททั้ง 10 ประการนี้ เป็นบาปกรรมที่ภิกษุและสามเณรพึงเว้นเสีย เป็นสิกขาบทที่ภิกษุและสามเณรพึงน้อมรับไปประพฤติปฏิบัติตามครูบาอาจารย์หากได้สั่งสอนเอาไว้
ภิกษุและสามเณรรูปใดไม่ตั้งอยู่ในคลองวัตรปฏิบัติ เป็นต้นว่า ไม่ศึกษาเล่าเรียน เกียจคร้านในการสวดมนต์ กินแล้วเอาแต่นอน ไม่มีสัมมาคารวะ ไม่เคารพเชื่อฟังครูบาอาจารย์ มีความโกรธ มักชอบทะเลาะวิวาท ไม่ปัดกวาดดูแลที่นั่งที่นอนของครูบาอาจารย์ มัวแต่กินเที่ยว หาสาระไม่ได้ ชอบลักขโมย มีใจเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่รู้จักจารีตคลองธรรม ไม่ฟังโอวาทคำสอน เป็นคนว่านอนสอนยาก ตกอยู่ในห้วงกิเลสตัณหา หลงใหลในกามคุณ ย่อมนำพาตนไปสู่อบายมุขและอบายภูมิเหมือนพระเทวทัต จึงถือว่าเป็นผู้ตั้งตนอยู่ในความประมาท
ภิกษุและสามเณรต้องตั้งอยู่ในคลองวัตรปฏิบัติอันดีงามที่ครูบาอาจารย์ได้สั่งสอนไว้ เช่น ขยันหมั่นเพียรในการเรียน เขียน อ่าน ท่องบทสวดมนต์ ลุกขึ้นมาปัดกวาดวิหารกุฏิแต่เช้า จัดเตรียมสำรับ น้ำฉัน น้ำใช้เอาไว้ ปฏิบัติบูชาพระรัตนตรัย ตลอดจนถึงดูแลต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือน อยู่ในโอวาทคำสอนของครูบาอาจารย์ นุ่งห่มจีวรให้เรียบร้อย เจริญภาวนา (นับลูกประคำ) ทุกค่ำเช้า บิณฑบาตได้อาหารมาก็ควรแบ่งใส่ในที่ควรบูชา รวมทั้งจัดดอกไม้ไว้ในที่ควรบูชา หากต้องเที่ยวไปในละแวกบ้านก็ให้ครองผ้าให้เรียบร้อย หากเป็นพระภิกษุก็ควรครองผ้าให้ครบสามผืน หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป แม้จะไปรับเอายังทักษิณาทานก็ไม่ได้อานิสงส์ หากเป็นสามเณรก็ให้ครองจีวรแล้วรัดผ้ามัดอกให้เรียบร้อย การนุ่งห่มจีวรให้เรียบร้อยอย่างนี้ถือว่าได้ปฏิบัติตามคลองแห่งพระอริยเจ้าจึงได้ชื่อว่าตั้งอยู่ในสุปฏิปันนตาธิคุณ หากไม่ปฏิบัติตามนี้ อาศัยอยู่กินไปวันๆ ทำตัวอันธพาล ไม่ฟังคำใคร ท่านว่าร้ายมันว่าดี ท่านว่าผิดมันว่าถูก มีใจเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ตั้งอยู่ในวินัยคำสอนทั้งหลาย จึงได้ชื่อว่าเป็นคนหาศีลหาธรรมไม่ได้ (อสมโณ) เป็นผู้ห่างไกลจากพระพุทธเจ้า (พาโลสิ) แม้นจักนุ่งห่มจีวรก็หาผลานิสงส์อะไรไม่ได้เลย เสมือนเอาผ้าไปคลุมตอไม้เท่านั้นเอง และภิกษุและสามเณรนั้นไม่ควรนำเอาผ้าไตรจีวรของผู้อื่นมานุ่งห่มโดยไม่ได้รับอนุญาต
อนึ่ง ทายกนำผ้ามาถวายโดยเจาะจงเฉพาะไว้รูปใดรูปหนึ่ง ภิกษุสามเณรรูปใดเห็นว่าผ้าของคนอื่นนั้นงาม แต่ผ้าของตนไม่งาม แล้วสลับผ้าของผู้นั้นมาไว้ที่ตนเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แม้แต่ผ้าที่พระภิกษุผู้มีพรรษาแก่กว่าได้จัดสรรแบ่งปันให้แต่ละคนเป็นที่เรียบร้อยก็ไม่ควรสลับเอาผ้าของคนอื่นมาเป็นของตนเอง
อนึ่ง ลักขโมยของกินของผู้อื่นเอามาเป็นของตนนั้น ไม่ควรทำ
อนึ่ง ลักขโขยกินของถวายของเจ้าอาวาส ไม่ควรทำ
แต่เดิมยังมีพระภิกษุรูปหนึ่งออกบิณฑบาต ได้กล้วยมา 2, 3 ลูก แล้วได้ถวายข้าวพระ สามเณรที่อยู่เฝ้าก็ได้ขโมยกินกล้วยไป 2 ลูก เมื่อพระภิกษุรูปนั้นถามถึงกล้วยที่หายไป สามเณรตอบว่า เห็นสุนัขตัวหนึ่งเข้ามาขโมยไป ด้วยคำพูดดังกล่าวทำให้สามเณรรูปนั้นตายไปเกิดเป็นสุนัขมีขนสีทอง เรื่องราวดังกล่าวมีปรากฏอยู่ในท้องเรื่อง “สุวัณณะเมกขะ”
ภิกษุ สามเณร ศิษย์วัดทั้งหลาย ขอให้เข้าใจเถิดว่า จะหยิบกินอะไรในวัดนั้นก็ให้บอกกล่าวถามครูบาอาจารย์เสียก่อน จึงค่อยนำไปกิน
โอวาทนี้ เน้นย้ำปมาทธรรม และ อัปปมาทธรรม ซึ่งพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นต่างก็สรุปรวมอยู่ในธรรมะสองข้อนี้
บุคคลใดได้บรรลุในอริยมรรค(ผล) ทั้งแปด เข้าถึงซึ่งพระโสดาบัน จึงได้ชื่อว่าเป็นสมณะที่ 1 (ปฐโม สมโณ), เข้าถึงพระสกิทาคามี จึงได้ชื่อว่าเป็นสมณะที่ 2 (ทุติโย สมโณ), เข้าถึงพระอนาคมี จึงได้ชื่อว่าเป็นสมณะที่ 3 (ตติโย สมโณ) และเข้าถึงพระอรหันต์ จึงได้ชื่อว่าเป็นสมณะที่ 4 (จตุตโถ สมโณ) บุคคลนั้นเป็นผู้มีความสุขมากนัก
บุคคลใดไม่ปฏิบัติตามวินัยแห่งพระพุทธเจ้าเรียกได้ว่าเป็นคนนอกศาสนา กระทำความเพียรไปอย่างไรก็เปล่าประโยชน์ จักเป็น ปฐโม สมโณ, ทุติโย สมโณ, ตติโย สมโณ, จตุตโถ สมโณ ก็หาไม่
ความโง่เขลาเบาปัญญา เมื่อครอบงำตนหรือโลก ย่อมทำให้เกิดวามมืดมน และ ความมืดมนที่ว่านั้น คือ การเป็นคนที่ไม่มีศีล ไม่สร้างบุญกุศล โง่เขลา ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ไม่เคารพนับถือในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า สั่งสมแต่บาป ฆ่าสัตว์ตัดชีวิผู้ต ประทุษร้ายผู้ไม่มีความผิด ยุยงคนให้ทะเลาะวิวาท ทุบตีกัน คบชู้ กระทำอนันตริยกรรม ไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ชอบโมโหโกรธา ทุบตีพ่อแม่ ไม่ทำนุบำรุงพระศาสนา พระพุทธบาท พระเจดีย์ ตัดต้นโพธิ์ ทำลายพระพุทธรูป เข้ารีตนับถือเดียรถีย์ กระทำแต่สิ่งที่จักนำบาปกรรมมาสู่ตน สิ่งเหล่านี้จักทำให้โลกนั้นมืดมัวและห้ามทางสวรรค์
สำหรับสิ่งที่ทำให้โลกสว่างแจ้ง คือ การเป็นผู้มีศีลธรรม ปฏิบัติตนให้ตั้งอยู่ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน รักษาศีล ฟังธรรม ไม่ทำบาป มีจิตใจเมตตาต่อสัตว์
ไม่โกหกหลอกลวง ไม่กล่าววาจากลับกลอก หาสาระไม่ได้ หมั่นเจริญภาวนาอยู่เสมอ ให้ถึงพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคมีและพระอรหันต์ ทั้งหมดนี้จึงด้ชื่อว่าเป็นสิ่งที่กระทำให้โลกนั้นแจ้งสว่างไสว กล่าวถึงคลองวัตรปฏิบัติไว้เท่านี้ก่อนแล
สามเณรทั้งหลายที่ได้เข้ามาบวชเรียนในพระศาสนาก็ให้ถือปฏิบัติไว้ว่า ตื่นนอนขึ้นมาก็ให้ปัดกวาดที่นอนของครูบาอาจารย์ ตักน้ำ จัดเตรียมและยกประเคนภัตตาหาร กวาดลานวัด ล้างบาตรแล้วนำมาประเคนให้เจ้าอาวาส ครูบาอาจารย์ จัดเตรียมน้ำดื่มและหมากไว้สำหรับพระภิกษุผู้เป็นอาคันตุกะ ปัดกวาดที่นั่ง ที่นอน วิหาร เดีย์ ลานวัดให้สะอาดเรียบร้อย ปฏิบัติตนให้อยู่ในโอวาทคำสอนของครูบาอาจารย์ นุ่งห่มผ้าให้เรียบร้อยเวลาเที่ยวตามละแวกบ้าน สิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำก็ให้ไต่ถามครูบาอาจารย์ นับลูกประคำเจริญภาวนา หมั่นสวดมนต์ เขียน อ่านหนังสือทุกเช้าค่ำ ตกแต่งพานดอกไม้บูชาพระแก้วห้าโกฐาก คือ บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดามารดา-ครูบาอาจารย์ และสมถวิปัสสนากรรมฐาน เจริญพุทธานุสติและจิตภาวนาอยู่เสมอ ก็จักนำพาตนให้พ้นจากวัฏสงสารอย่างแน่แท้
สามเณรทั้งหลายก็ควรปฏิบัติตนตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเถิด หากผู้ใดตั้งอยู่ในปมาทธรรม เกียจคร้าน เอาแต่หลับนอน ตื่นสาย ไม่ขยันเล่าเรียน ไม่คำนึงถึงบาปบุญคุณโทษ ตั้งตนอยู่ในความประมาท เที่ยวพูดจาเกี้ยวผู้หญิง แอบกินเหล้าเมายา ทำตัวอันธพาล ไม่เคารพนับถือพระธรรม ไม่ตั้งอยู่ในสมณภาวะ คือ ทำกายใจให้เป็นพระ เห็นผิดเป็นชอบ ไม่รู้จักบาปบุญ จิตใจชั่วร้ายเหมือนยักษ์เปรต ลักขโมยสิ่งของที่ถวายไว้กับพระรัตนตรัยมาเก็บซ่อนไว้ เมื่อถูกถามก็ปฏิเสธว่าตนไม่รู้ไม่เห็น มีจิตใจตั้งอยู่ในมิจฉาทิฏฐิผิดทำนองคลองธรรม หากผู้ใดเป็นดังที่กล่าวมานี้ก็ไม่ควรจักอยู่ในพระศาสนาอีกต่อไป ครั้นตายไปเกิดเป็นเปรต สัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นคนหูหนวก ตาบอดอย่างแน่แท้
โยคาวจรทั้งหลาย คือ ภิกษุ ภิกษุณี สามเณร และศิษย์วัด จงตั้งใจฟังโอวาทธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงเอาไว้ก่อนปรินิพพานนั้นเถิด ผู้ใดปฏิบัติตามโอวาทธรรมดังกล่าวก็จักพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏนี้อย่างแน่นอน โอวาทะพุทธะสาสะนา นิฏฐิตังฯ
โอวาทฯ ฉบับนี้ ธุ(พระภิกษุ)อภิไชย เขียนไว้ในปีรวงเป้า เมื่ออยู่วัดพระยืนไชยแก้วกว้างท่าท้างหัวเวียงหริภุญไชยสุขาวดี ทางทิศตะวันออก รุ่งเช้าวันนั้นแล ข้าฯ เขียนโอวาทนี้ไว้ค้ำชูพระศาสนาให้ถึง 5,000 ปี ขอจงเป็นปัจจัยให้แก่ตัวเองและพ่อแม่ด้วยเถิด

ชัปนะ ปิ่นเงิน: ถ่ายถอดและอธิบายศัพท์ ขนินทร์ เขียวสนุก และพิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ตรวจสอบและเรียบเรียง มิถุนายน 2559)

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

โอวาทานุสาสนี จ.ศ.1251 (หริภุญไชยนคอร) ประกาศระเบียบปกครองสงฆ์ เมืองลำพูน พ.ศ. 2432

 โอวาทานุสาสนี  จ.ศ.1251 (หริภุญไชยนคอร)  ฉบับวัดบ้านหลุก
--------------
          ความเป็นมา 
โอวาทนุสาสนี จ.ศ.1251(พ.ศ. 2432) ฉบับวัดบ้านหลุก  ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูนฉบับนี้ เป็นเอกสารใบลาน ที่ทีมงานคณะนักวิจัย สถาบันวิจัยสังคม  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ได้เข้าไปสำรวจใหม่ ในปี พ.ศ. 2558 หมายเลขที่สำรวจ  15.0009.04.0106-01 หนังสือใบลาน เส้นจาร อักษรไทยยวน ชื่อ โอวาทนุสาสนี เป็นหนังสือของครูบาเจ้าปัญญา  (สามเณรธัมมชัยคัดลอก)   ระยะที่ประกาศระเบีบปกครองสงฆ์ หัวเมืองลำพูนนี้ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ เป็นช่วงที่ทางบ้านเมืองและสถาบันทางพระพุทธศาสนาได้มีการปรับปรุงระบบการบริหารขนานใหญ่ให้มีความทันสมัย) โอวาทนี้จึงวางไว้เพื่อ เป็นระเบียบปฏิบัติ  สำหรับพุทธศาสนิชนเมืองหริภุญไชย(นครลำพูน) โดยทางฝ่ายบรรพชิต ผู้ปกครองคณะสงฆ์ (สังฆนายก) มีครูบามโน  วัดหัวขัว  ครูบาสังฆราช  ครูบาสมเด็จ  ครูบาสามี  เป็นหลัก พร้อมด้วยคณะสงฆ์ทุกรูปในแขวงเมืองหริภุญไชย  และทางฝ่ายฆราวาส  มีเจ้านครหริภุญไชย ที่พระสงฆ์ เรียกว่า “อิสสราชธิปดีพ่อออกมหาราชเจ้า”(ตรงรัชสมัยเจ้านครลำพูนองค์ที่ 8 "เจ้าเหมพินธุไพจิตร"  พ.ศ. 2431 - 2438) พร้อมด้วย เจ้าอุปราช และเจ้าราชวงส์  ได้ประชุมปรึกษาแสวงหาวิธีอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ 5000 พระวัสสา  และรักษาคำสั่งสอน นับแต่อักขระ 41 ตัว  มี “อะ” เป็นต้น  มี “อํ”  เป็นที่สุด  เอาไว้ให้เป็นครูสั่งสอน แทนองค์พระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธะ ที่ทรงสั่งสอนพุทธบริษัททั้ง  4 คือ ภิกษุภิกษุณี (สามเณร)  อุบาสก และอุบาสิกา เอาไว้ ให้ปฏิบัติบำเพ็ญเพียรรักษาศีล 5  ศีล 8  เจริญเมตตาภาวนา กระทำบุญ ให้ทาน เพื่อให้ถึงมรรคและผล ได้แก่ ความสุข 3 ประการ  มีพระนิพพานเป็นที่สุด จึงได้เขียนโอวาทานุสาสนีประกาศ เป็นกฏหมายให้คณะสงฆ์และฆราวาสในนครหริภุญไชยไว้ได้ทราบและถือปฏิบัติโดยทั่วกัน ณ  เดือน 8 แรม 2 ค่ำ วัน พฤหัสบดี  ปีกัดเปล้า  จุลศักราช 1251  (พ.ศ. 2432)   
คณะนักวิจัยเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเอกสารคำสอนของสังฆปราชญ์โบราณ ที่ต้องการให้ทั้งฝ่ายบรรพชิต และคฤหัสถ์ ปฏิบัติตนถูกต้องตามคติจารีตในพระพุทธศาสนา เช่น หน้าที่ของบรรพชิตมีอะไรบ้าง หน้าที่ของอุบาสกอุบาสิกามีอะไรบ้าง อะไรควรทำ อะไรควรเว้น ชี้แจงด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ปฏิบัติตามได้ไม่ยาก ดังนั้น โอวาทนี้จึงถือเสมือนเป็นเครื่องขัดเกลาทางสังคมแบบวิถีพุทธที่ทรงคุณค่าทางจริยศาสตร์อันงดงามอีกเรื่องหนึ่ง  

สาระเนื้อหา
โอวาทานุสาสนี จ.ศ.1251 (หริภุญไชยนคอร) เริ่มต้นด้วยภาษาลี ว่า “เอวํ  ธาเรถ  โอวาทานุสาสนี  ภิกฺขุปาฏิโมกฺขสํวรสีลํ  วินยปิฎกํ  สามเณรสฺส  ทสสีลํ  สิกขาปทํ  สมณสงฺฆนายก  สามคฺคีคณ  อิสฺสราชสมคฺคคณ”
         บัดนี้ ฝ่ายบรรพชิตผู้นำฝ่านสงฆ์ ประกอบด้วยครูบามโน  วัดหัวขัว  ครูบาสังฆราช  ครูบาสมเด็จ  ครูบาสามี  พร้อมกับคณะพระสงฆ์ ในแขวงเมืองหริภุญไชยทุกรูป และฝ่านคฤหัสถ์ ประกอบด้วย เจ้าผู้ครองนครหริภุญไชย[1] พร้อมด้วยเจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ ได้ประชุมปรึกษาร่วมกัน  ปรารภยังพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ 5,000 พระวัสสา และคำสั่งสอนทั้งหลาย นับแต่อักขระ 41 ตัว  มี “อะ” เป็นต้น  มี “อํ”  เป็นที่สุด  จะได้รักษาไว้ให้เป็นครูสั่งสอน แทนองค์พระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนพุทธบริษัททั้ง 4 มี  ภิกษุ ภิกษุณี  สามเณร อุบาสก และอุบาสิกาทั้งหลาย  ได้ปฏิบัติบำเพ็ญเพียร รักษาสีล 5  สีล 8  เจริญเมตตาภาวนา กระทำบุญ ให้ทาน  จะเป็นบันไดให้ถึง มรรคผล   ประสพความสุข 3 ประการ  มีพระนิพพานเป็นที่สุด จึงประกาศเป็นคำสั่ง(ระเบียบข้อปฏิบัติ) ดังต่อไปนี้
          ข้อที่ 1 เมื่อบรรพชาอุปสมบท เป็นภิกษุและสามเณรอยู่ในศาสนานี้ ให้กระทำสมณธรรม   เป็นต้นว่า คันถะธุระ  วิปัสสนาธุระ  คือการสูตต์เรียน  เขียนอ่าน  เจริญเมตตา  ภาวนา   เว้นจากปาณาติบาต  อทินนาทานา  อพรหมจริยกรรม  มุสา  สุรา และกิเลสธรรม 1,500 มีราคะเป็นต้น  กำหนดจิตพิจารณาสังขารธรรมที่เป็นอนิจจัง เป็นทุกข์ในวัฏฏสงสาร รักษาจิตมิให้หวั่นไหวไปตามโลกธรรม 8 ประการ   ได้แก่ มีลาภ เสื่อมลาภ มัยศ เสื่อมยศ สุข  ทุกขา  นินทา  และสรรเสริญ
ข้อที่ 2 อย่าได้มีความสังสัยในคำสั่งสอนของพระตถาคต ดำรงตนอยู่ในสมณภาวะแท้จริง  เป็นพระภิกษุ ให้รู้จักปาริสุทธิศีล 4 ได้แก่ ปาฏิโมกขสํวรสีล(สำรวมในพระปาฏิโมกข์  คือ(ปาราชิก 4 สังฆาทิเสส 13)  อนิยต 2  นิสสัคคิยปาจิตตีย์ 30  (สุทธ)ปาจิตตีย์ 92  ปาฏิเทสนียะ 4(ต้นฉบัับว่า 8)  เสขิยะ 75  อธิกรณสมถะ 7 รวมกันมี 227 รักษาให้ดี   อย่าทำให้ศีลธรรมของพระพุทธเจ้าหม่นหมอง   รักษาอินทรียะทั้ง 6 คือ หู ตา จมูก (ปาก)ลิ้น กาย และ ใจ  ชื่อว่า “อินทรียสํวรศีล” อาชีวปริสุทธศีล ให้เลี้ยงชีวิตโดยชอบ  ให้ออกบิณฑบาตเลี้ยงชีพ ไม่กระทำอเนสนกรรม(การแสวงหาเลี้ยงชีพที่ไม่เหมาะสมกับสมณภาวะ) 21 และ อโคจร(สถานที่ไม่ควรเข้าไป) 5  “จตุปจฺจยสันนิสิตฺตศีล”  ให้พิจารณาทุกขณะที่บริโภคปัจจัยทั้ง 4  อย่าให้ขาด   ถ้าศีล 4 หมวดนี้บริสุทธิ์   ศีลอื่นๆ อีกจำนวน 9 พันโกฏิ  5 ล้าน 36 ข้อ  ก็จะบริสุทธิ์ทั้งหมด
          ข้อ 3  ให้ทรงจำศัพท์ปาฏิโมกข์ทั้ง อัตถบาลี  และศัพท์จน่ำชองคล่องปาก ขึ้นใจ เข้าใจองค์(หัวข้อ)และลักษณะ สิกขาบทที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลาย  (อันจะ)เป็นคลองปฏิบัติเข้าสู่พระนิพพาน   ถ้าบรรพชาเป็นสามเณร ให้ศึกษาเรียนรู้ศัพท์เครื่องปัพพชากรรม มีปฏิสังขาโย(ตังขณิกปัจจเวกขณะ) และ ยถา(ปัจจยัง ; ธาตุปัจจเวกขณะ)  และอัชชะ มยา(อตีตปัจจเวกขณะ) ใน(ปัจจัย)ทั้ง 4   สรณาคมนะ(พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ)   สิกขาบท 10 ประการ  (ศีล 10)  ให้รู้ข้อที่ควรกระทำและข้อที่ควรเว้น จึงจะเป็นสามเณรผู้บริสุทธิ์โดยแท้
          ข้อ  4 นับตั้งแต่วันที่บวชบวชเป็นพระภิกษุแล้ว ให้ออกไปบิณฑบาตมาฉันตลอดเวลาที่ยังบวชเป็นภิกษุ หรือสามเณร ดำรงตนอยู่ในคลองวัตรปฏิบัติ  ถ้ามีจิตใจอุตสาหะมาก ให้ถือการฉันอาหาร คาบเดียว (ฉันเอกา) ถ้าถือไม่ได้ ก็ให้ฉัน 2 คาบ โดยไม่ให้ถึงอาทิตย์ไม่าย(หลังเที่ยงวัน)ไม่ดี ผิดแต่คลองสิกขาบท  พระพุทธเจ้าทรงห้ามไว้
          ข้อ 5  ในเวลาวิกาล อย่าเข้าไปเที่ยวในบ้าน ขอให้ดำรงตนอยู่ในคลองจารีตพระภิกษถสามเณร ถ้ามีเหตุจำเป็น เช่น จะไปโปรดศรัทธา(ทายก ทายิกา) บ้านของพ่อแม่พี่น้อง เกิดเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นพยาธิ อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ถือไฟส่องทาง มีสหธรรมิก 2-5 รูปเป็นเพื่อนไป  ครองผ้าให้เป็นปริมณฑล ดังที่ห่มในวันบวชใหม่  สวมลูกประคำห้อยคอเป็นคุรุลักขณะแห่งสมณะ  จงอย่าไปผู้เดียว ไม่งาม จักเป็นโทษแก่ตน  อาจถูกทางบ้านเมืองจับกุมคุมขังได้
          ข้อ 6 สำหรับภิกษุให้เรียน “ปาฏิโมกฺขสํวรสีล” ส่วนสามเณรให้เรียน ศัพท์เครื่องบวช  ดังที่กล่าวมา มีระยะเวลาให้เรียน 1 ปี ต้องให้คล่องทั้งบาลี และตัวศัพท์ เมื่อครบ 1 ปี  เจ้าผู้ครองนคร (เจ้าหลวง) จะให้มาสอบทวนความรู้ต่อหน้าทุกหัววัด  ถ้าตนใดท่องไม่ได้ จะเอาเป็นโทษใหญ่  ส่วนเจ้าอาวาส(เจ้าหัววัด หัววา) ให้รู้จักเสียงอักขระ ตัวหนัก ตัวเบา คือ ครุ ลหุ ทีฆะ(เสียงยาว) รัสสะ(เสียงสั้น) สถิละ(เสียงเบา) ธนิตตะ(เสียงก้อง)” จงใส่ใจให้ดี อย่าได้ประมาทเกียจคร้าน
          ข้อ 7 ครั้นบวชเป็นพระภิกษุ หรือ สามเณรได้ 3 พรรษา เกียจคร้านร่ำเรียนพระปริยัติ  ไม่เจริญจิตเมตตา ภาวนา  ไม่รู้อัตถธรรม(ความหมายของธรรมะ)ของพระพุทธเจ้า  จงให้สึกออกไป  ทุกรูปจงท่องบทสวด(สูตต์ หรือ ปริตต์)ให้ได้ครบ 15 วาระ(ตำนาน) เจ้าอาวาสจงสั่งสอนสิกข์ยม(เด็กวัด)ให้ได้บทสวด(สูตต์) วันละ 3 เวลา  คือ เช้า 1 ครั้ง หลังอาหารเพล 1 ครั้ง และ เมื่อตอนค่ำอีก 1 ครั้ง  อย่าได้ขาด เพื่อเป็นสาสนานุสสติ เกิดมรรคเกิดผลแก่ตน พ่อแม่ ครูอาจารย์  ญาติกา ศรัทธา คิลานุปัฏฐากทั้งหลาย 
ข้อ 8 เมื่อบวชเป็นภิกษุ สามเณร  จงปฏิบัติตามโอวาท คำสอน สิกขาบท ที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ เพราะสิ่งนี้เป็นทางที่พระอริยเจ้าทั้งหลายได้ปฏิบัตินำตนเข้าสู่นิพพาน ถึงเกษมสุขอย่างยิ่ง พระภิกษุก็ดี  สามเณรก็ดี  จงประพฤติปฏิบัติตนให้ดี เสมอต้นเสมอปลาย สำรวมระวังเสมือนดังเมื่อตนบวชใหม่ จะนับว่าเป็นการตอบแทนอาหารบิณฑบาต   คิลานปัจจยะ และเสนาสนะที่ทายกทายิกาอุปถัมภ์โดยแท้
           ข้อ 9 สำหรับ อุบาสก  อุบาสิกา  คิลานุปัฏฐากทั้งหลายนั้น  ขอให้เว้นเสียจาก บาป 5 ประการ  คือว่า ฆ่าสัตว์   ลักขโมย   เล่นชู้สู่เมียผู้อื่น  กล่าวคำมุสามดเท็จ  ยุยงส่อเสียดให้เขาผิดกัน เสพสุรายาเมา และควรเว้นจากการเป็นนักเลง 3 ประการ คือ  อิตถีธุตตะ(นักเลงผู้หญิง)  สุราธุตตะ(นัเลงสุรา)  อักขธุตตะ(นักเลงการพนัน)   จงพากันตั้งตนอยู่ในโอวาทคำสอนของพระพุทธเจ้า  หมั่นรักษาศีล 5  ศีล 8 กระทำบุญ เจริญจิตเมตตาภาวนา ตามปักขะ คือ วันออก(ขึ้น) 8  ค่ำ  วันแรม 8 ค่ำ  วันอุโปสถะ  วันเดือนดับ(แรม 14 -15 ค่ำ) วันเดือนเพ็ง(ขึ้น 15 ค่ำ)  ตามสติกำลังและความอุตสาหะของตน
          ข้อ 10 ให้ทายก ทายิกา อุบาสก อุบาสิกา  ไปถวายทานเข้าสุก  น้ำอุ่น  หมากพลูแด่ แก้วเจ้า 3 ประการ(พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์)  วันละ 2 เวลา  คือ เวลาเช้า  1 ครั้ง  และเวลากลางวันก่อนใกล้เที่ยง อีก 1 ครั้ง อย่าให้เลยเวลาที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้แก่สมณะ คือ ภิกษุและสามเณร ถ้าปฏิบัติได้ตามครรลองนี้  ก็จักบรรลุมรรค ผล และความสุข 3 ประการ  มีพระนิพพานเป็นที่สุดอย่างแน่นอน
          ข้อ 11. ภิกษุให้บอกอโรจนะ(?? น่าจะหมายถึง การปลงอาบัติ) ทุกวัน  อย่าให้ขาด
          ข้อ 12 ภิกษุจงรักษาผ้าครอง 3 ผืน (ไตรจีวร) อย่าห่างจากตน(ติจีวราวิปวาส)
          ข้อ 13 การย้อมผ้าจีวร ให้ใช้เพียงการซักขยำผ้ากับหัวขมิ้นก็พอ เกินไปกว่านั้น ห้ามเด็ดขาด ขืนละเมิด จักเป็นโทษหนัก(มหันตโทษ)
          ข้อ 14 ภิกษุ หรือ สามเณร อยู่ภายในวัด หรือจะออกจากวัดไปธุระทางใด  จงอย่านุ่งผ้าหยักรั้ง ไม่ถูกจารีตของพระวินัย
 กฎหมาย(ระเบียบ/ข้อบังคับ)นี้ ออก ณ เดือน 8 แรม 2 ค่ำ วันพฤหัสบดี  ปีกัดเปล้า  จุลศักราช 1251  ครูบาสมเด็จได้ขอให้สมเด็จมหาราชเจ้าหลวง ตราโอวาทไว้  วัดใดทำให้(โอวาท)สูญหายเสียไป จะมีโทษ 
          หนังสือนี้ ถ้าเจ้าอาวาสวัดใด คัดลอกแล้ว จงส่งคืนมาเก็บ(ต้นฉบับ)ไว้ที่วัดบ้านหลุกเถิด
(ชัปนะ ปิ่นเงิน ปริวรรตจากต้นฉบับ กันยายน 2558,  พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ ตรวจสอบ เรียบเรียงเนื้อหา มิถุนายน 2559)



[1] ตรงรัชสมัยเจ้านครลำพูนองค์ที่ 8 เจ้าเหมพินธุไพจิตร (2431 - 2438)

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

หนังสือโอวาท (นคอรเชียงใหม่) และ ลักขณะบาตร จ.ศ.1199 (พ.ศ.2380)

หนังสือโอวาท (นคอรเชียงใหม่) และ ลักขณะบาตร จ.ศ.1199 (พ.ศ.2380)  
ฉบับวัดบ้านหลุก  ตำบลเหมืองง่า  อำเภอเมือง  จังหวัดลำพูน 

ความเป็นมา  
หนังสือโอวาท (นคอรเชียงใหม่)  จ.ศ.1199 (พ.ศ.2380)  ฉบับวัดบ้านหลุก  ตำบลเหมืองง่า  อำเภอเมือง  จังหวัดลำพูน หมายเลขเอกสารที่สำรวจเดิม  ส.ส-ล.พ 858/2507 หมายเลขที่สำรวจใหม่ พ.ศ.2558  ของสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  15.0009.011.0117-01 เป็นหนังสือใบลาน ขนาดสั้น มีเนื้อหาที่ พระสังฆนายกนครเชียงใหม่ ได้บันทึกเพื่อและประกาศให้เป็นระเบียบแนวทางในการปฏิบัติกิจพระศาสนา ของพระสงฆ์ในนครเชียงใหม่  ตอนท้ายของหนังสือโอวาท มีคำอธิบายลักษณะและขนาดบาตรของพระสงฆ์ที่ควรใช้ตามพุทธานุญาต   มีคำทำนายถึงความเจริญและความเสื่อมของภิกษุผู้ใช้บาตรที่มีขนาดและลักษณะที่แตกต่างกันเอาไว้ด้วย 
โอวาท(นคอรเชียงใหม่)นี้ เป็นเอกสารโบราณ ที่มีอายุประมาณ 180 ปีที่ผ่านมา ผู้อ่านจะได้ย้อนเห็นวิถีชีวิตและธรรมเนียมการปฏิบัติของพระสงฆ์ล้านนาในสมัยโบราณ ซึ่งสะท้อนสภาพสังคมล้านนาอดีตเมื่อเกือบ 200 ปี ได้อีกหนทางหนึ่ง  (ชัปนะ ปิ่นเงิน ปริวรรตจากต้นฉบับ ตุลาคม 2558,  พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ เรียบเรียง เมษายน 2559)
สาระเนื้อหา
        ในปีจ.ศ. 1199 ตรงกับปีพ.ศ. 2380[1] ในปีเร้า(ปีเมือง) เดือน 3 เพ็ง(นับเดือนแบบทางเหนือ)  วันอังคาร  ยามแตร ขึ้นสู่เที่ยงวัน (09.01-10.30)  พระสังฆเจ้าทั้งหลาย  มีพระมหาสังฆนายกะ(วัดดวงดี)    พันธนูนมดี ราชสัณฐาน ผู้เป็นใหญ่ตำแหน่งที่  สมุหนายก  ณ เมือง เชียงใหม่  เล็งเห็นเหตุการณ์บ้านเมืองและพระพุทธศาสนา รู้สึกเสียดายหากพระพุทธศาสนาและบ้านเมืองจะเสื่อมถอยเรียวลงไปอย่างรวดเร็ว จึงอยากฝากพระพุทธศาสนาไว้ให้แก่อนุปสัมบัน  พระราชาคณะ พระฐานานุกรม  เจ้าคณะฝ่ายคามวาสี และฝ่ายอรัญญวาสี  ทุกพื้นที่ในแดนของเวียงเชียงใหม่ ราชธานี เพื่อให้พระสงฆ์สามเณรได้ปฏิบัติตามคลองวัตรเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง  ดังนี้คือ ขอให้ พระสงฆ์มีความพากเพียร เจริญเมตตา ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติ สวดมนต์ทำภาวนาทุกเช้าเย็น  ปฏิบัติกิจของสมณะดังที่คำกล่าวในการขอบรรพชา  เว้นจากการคบมิตรชั่ว จงสมาคมด้วยกัลยาณมิตรผู้ทรงปัญญา อย่าประพฤติตนเป็น ลักเลงหญิง นักเลงสุรา นักเลงการพนัน จงสำรวมระวังอินทรียะทััง 6  คือ จักขุ  โสตะ  ฆานะ  ชิวหา  กายะ  มโน  เว้นการทำบาปด้วยการ  วาจา และด้วยใจ จงหมั่นทำหน้าที่ในพระศาสนา 2 อย่าง คือ คันถธุระ(ศึกษาพระปริยัติ)  วิปัสสนาธุระ(เจริญปัญญาให้เห็นแจ้งสัจธรรม)  ก็จะบรรลุสุข 3 ประการ คือ ความสุขในภพนี้   ความสุขในภพหน้า และนิพพานสุข โดยไม่ต้องสงสัย
            ประการหนึ่ง พระภิกษุจงช่วยกันว่ากล่าวสั่งสอน ตักเตือน คฤหัสถ์อุบาสก อุบาสิกา ผู้อุปฐากวัด ถ้ามีภิกษุฝ่ายบรรพชิตกระทำผิดทำนองคลองธรรม เป็นอกุศลกรรม จงช่วยกันว่ากล่าวตักเตือนด้วยคำพูดที่ดีสองสามครั้งก่อน  ถ้าตนห้ามแล้ว เขายังไม่ฟัง  ก็ให้ไปรายงานเจ้าอาวาส ถ้าเขายังดื้อดึงไม่ฟังความ ก็ให้นำเอาตัวไปมอบแก่พระสงฆ์ผู้ปกครองในระดับสูงขึ้นไป มีเจ้าหัวอุโบสถเป็นหลัก ให้การอบรมสั่งสอนและลงโทษตามสมควรแก่ความผิดหนักหรือเบา ขอให้การพิจารณาตัดสินเสร็จสิ้นกระบวนความในหัวอุโบสถนั้น หากบรรพชิตยังดื้อแพ่ง ก็ให้เจ้าอุโบสถนำไปแสดงในท่ามกลางสงฆ์อันเป็นที่ประชุมคณะใหญ่เพื่อดำเนินการต่อไป
          ขอให้พระสงฆ์ จงใส่ใจดูแลอุบาสกอุบาสิกาด้วยปัจจัย 4 อย่างเสม่ำเสมอ อย่าให้ขาดตกบกพร่องในเรื่องนี้  แม้นว่า จะมีกิจด้วยการทำมาหากิน  การก่อสร้างห้างแปลง  การเป็น  การตาย จงอย่าได้ละเลย ให้ใส่ใจสงเคราะห์จนเสร็จกิจของเขา หากพระสงฆ์ อยากจะไปเยี่ยมไข้ หรือเยี่ยมศรัทธาอุบาลก อุบาสิกาผู้อุปัฏฐาก ในเวลาวิกาล ขอให้กล่าวลาครูบาอาจารย์ในวัดให้รับทราบก่อน และควรชวนพระภิกษุสัก 2 หรือ 3 รูปไปเป็นเพื่อนตามไฟไปด้วย ก็จะหาโทษมิได้
          ประการ 1 หากพ่อแม่ หรือ ศรัทธาผู้อุปัฏฐากวัด มีกิจการที่จำเป็นต้องมาขอความช่วยเหลือจากพระสงฆ์ ผู้เป็นพระลูกพระหลาน จงให้นำขันดอกไม้ธูปเทียนมาขออนุญาตจากเจ้าอาวาสก่อน เมื่อรับการอนุญาตจึงสมควรไปช่วยได้
หากอธิกรณ์เกิดกับพระสงฆ์ในวัด มีการทะเลาะวิวาท กระทบกระทั่งกัน  ชกต่อยกันก็ดี  หรือ ได้ล่วงสิกขาบท หนักหรือเบา เนื่องด้วยมาตุคาม(สตรี) จงไต่สวนพิจารณาโทษให้ประจักษ์ชัดก่อน ถ้าเห็นว่าไม่สามารถจะให้ครองเพศสมณะสืบศาสนาต่อไปได้ก็ให้สึกเสีย ถ้ายังไม่ล่วงถึงโทษหนัก พอจะให้อยู่สืบศาสนาได้ จงชำระอธิกรณ์ให้ถูกต้องตามตามพระธรรมวินัย จงให้ทำการขอขมาคาวระยกโทษให้กันเสีย ไม่ต้องทำอย่างธรรมเนียมชาวบ้านที่ต้องเสียสินไหม ค่าปรับ ผูกมือทำวัญ เสียค่าผิดผีบ้านผีเรือนไม่ใช่ประเพณีทางสงฆ์ จงสมัครสมานสามัคคี สลายความโกรธ และความอายเสีย อย่าเห็นร้ายว่าเป็นผี  อย่าเห็นดีว่าเป็นเสี่ยว(เพื่อน)  จงรักใคร่นับถือกัน เป็นเพื่อนทำบุญให้ทาน ฟังธรรม จำศีล เจริญเมตตาภาวนาไป  ตามสติกำลังตลอดอย่าได้ทอดทิ้งเสีย
 เมื่อถึงฤดูกาลประเพณี เข้าพรรษา  ออกพรรษา  เดือนยี่ปีใหม่   สลากภัตต์ กฐินทาน  มหาอัฏฐปริขาร  เครื่องทานการบวช   ในทุกวัด ทุกอาราม ก็อย่าได้ละจารีตประเพณีเสียที่กล่าวมานี้ หากว่าบ้านใด  วัดใด  ผู้ใด  ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งขาด อาชญาพระโอวาทกฏหมายที่ตราไว้นี้  ถ้าได้รู้ได้เห็นว่าผิดจริงก็จะได้รับโทษอย่างหนัก ขอให้พระสงฆ์ ทุกวัด ทุกอาราม และทุกรูปจงตั้งใจรักษาตนปฏิบัติตามโอวาทนี้    
         ลักษณะบาตร
          บาตรที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้มี 3 ชนิด คือ บาตรดิน  บาตรเหล็ก และบาตรหิน บาตรที่ทำจากวัสดุอื่นๆ เช่น แก้ว  เงิน  ทองฅำ  ไม้จันทน์  หรือ ไม้ชนิดอื่นใดก็ตาม ไม่ทรงอนุญาต ถ้าภิกษุขืนใช้ ต้องอาบัติ ดังความว่า  “บาตรแก้ว บาตรเงิน บาตรทองคำ บาตรทองแดง บาตรทองเหลือง บาตรทำด้วยเหียก บาตรทำด้ายชืน(ดีบุกผสมตะกั่ว) บาตรทำด้วยไม้ บาตรทำด้วยกระเบื้อง ลูกน้ำเต้า (กะโหลกศีรษะมนุษย์)  ภิกษุใช้บาตร(ที่ทำด้วยวัสดุ)เหล่านี้ ต้องอาบัติทุกฏ”
          พระพุทธเจ้าอนุญาตขนาดของบาตรตามลักขณะพาหิรศาสตร์(ลักษณะภายนอก) ดังนี้
          บาตรขนาดใหญ่ ให้นำฝ้ายมาวัดรอบปุ่มกลางบาตร  ทบฝ้ายครึ่งหนึ่ง ภิกษุรูปใดจะใช้บาตรนั้น ให้เอามือกำที่ฝ้าย ถ้าได้ 6 กำมือของตน   ชื่อว่า “อุกกัฏฐะ”  ดียิ่งนัก ถ้าไม่เต็ม  6 กำ เศษ 5 นิ้วมือขวาง  ชื่อว่า “อุกกัฏโฐมักโก”  ว่าดีปานกลาง  ถ้าวัดได้  5 กำ เศษ 5 นิ้วมือขวาง  ชื่อว่า “มัชฌิมมุกกัฏโฐ”  ดียิ่งกว่าบาตรลูกกลาง  ถ้าได้ 5 กำพอดี ชื่อว่า “มัชฌิมมโมกมะ”  ดีปานกลาง  ไม่เต็ม 5 กำพุ่น 2 นิ้วมือขวาง  ชื่อว่า “มัชฌิโมมกะ”  ด้อยกว่าปานกลาง  วัดได้ 4 กำมือปลายพุ่นนิ้วมือขวาง  ชื่อว่า “โอมักกัฏโฐ”  ไม่ด้อยหรือดีนัก  วัดได้ 4 กำพอดี ชื่อว่า “โอมโก”  ถือว่าด้อยกว่าบาตรทั้งหลาย
          อีกประการหนึ่ง ให้เอาฝ้ายมาวัดรอบที่ปุมกลาง ทบเข้าเป็น 4 ส่วน  หักออกเสียส่วน 1  (เหลือ 3 ส่วน) นำมาวัดบาตรที่ตั้งจากก้นบาตรขึ้นมา ถ้า ฝ้ายสูงถึงขอบบาตรพอดี ภิกษุผู้ใช้บตรานั้น ย่อมมีความเจริญ เป็นที่รักและเคารพของ กษัตริย์และมหากษัตริย์ทั้งหลาย ถ้าฝ้ายสูงขึ้นไปเลยนิ้วมือขวาง ภิกษุผู้ใช้ย่อมประกอบด้วยลาภและยศ  ถ้าฝ้ายนั้นสูงเลยไป 2 นิ้วมือขวาง ภิกษุนั้นจะเจริญด้วยศิษย์มาก ถ้าสูงเลยไป  3 นิ้วมือขวาง บาตรนั้นย่อมสัปปายะ(เหมาะ)แก่ภิกษุผู้ใช้ แต่ถ้าสูงเลย 4 นิ้วมือขวางไป ภิกษุผู้ใช้บาตรนั้น ย่อมไม่มีความเจริญ มักต้องอาบัติ“อาปัตติพหุโล”  ย่อมทำให้ตนฉิบหาย  ถ้าบาตรนั้นสูงไม่ถึงเส้นด้าย ขาดไป 1 นิ้วมือขวาง  ย่อมเจริญด้วย “มานฤทธิ”  ถ้าความสูงหย่อนไป  2 นิ้วมือขวาง  ภิกษุผู้ใช้ย่อมหาความสุขสบายมิได้

         อีกประการหนึ่ง ให้นำฝ้ายที่ทบ 4 ส่วนนั้นไปวัดริมปากบาตร  เส้นผ่าศูนย์กลางเต็มพอดี  ถ้าริมขอบปากของบาตรลูกใด  กว้างเท่านั้น ชื่อ “อุกฺกฏฐปตฺต”    ถ้าริมขอบปากบาตรกว้างเกินฝ้ายทบนั้นไป  โลภะตัณหาจะเจริญเป็นมากแก่ภิกษุผู้ใช้บาตรนั้น   ผิแต่ถ้าหากริมขอบปากบาตรแคบกว่าฝ้ายที่ทบนั้น  ความ “มจฺเฉร”(ความตระหนี่ถี่เหนียว) ย่อมเจริญมากแก่ภิกษุผู้ใช้บาตรนั้น   ข้อนี้ว่าตาม “พาหิรเนยฺย”(การวัดจากข้างนอก)
           ภิกษุฉันอาหารในภาชนะอื่นๆ(นอกจากบาตร) เช่น พ้อม ผอบไม้ ผอบทอง มีทองแดงเป็นต้น ต้องอาบัติทุกฏ  ข้อนี้แสดงถึงการรักษาธุดงค์ข้อ “ปัตตปิณฑิกังคะ” ฉันอาหารในบาตรเท่านั้น   (พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ตรวจสอบ เรียบเรียง พฤษภาคม 2559)




[1] ตรงกับรัชสมัยเจ้านครเชียงใหม่ องค์ที่ 4 พระยาพุทธวงศ์ (พ.ศ. 2369-2389)

วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ประวัติการสร้างเจดีย์ (และอานิสงส์การสร้างเจดีย์) ฉบับวัดต้นยางหลวง อำเภอสารภี (วัดครูบากองแก้ว ญาณวิชโย)

อานิสงส์สร้างเจดีย์ วัดต้นยางหลวง ตำบลไชยสถาน อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
ความเป็นมา
               คัมภีร์อานิสงส์สร้างเจดีย์ (ประวัติการสร้างเจดีย์) วัดต้นยางหลวง  ตำบลไชยสถาน อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่   รหัสภาพถ่ายดิจิตัล หมายเลข   14.0005.01I.00111-1   สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับนี้ เป็นผลงานบันทึกประวัติการบูรณะพระธาตุเจดีย์ ของวัดต้นยางหลวง ตำบลไชยสถาน ในปี พ.ศ. 2546 เส้นจาร  ใบลาน อักษรธรรมล้านนา หรือ ไทยยวน จำนวน 1 ผูก 48 หน้าลาน   เนื่องในพิธีสมโภชการบูรณะพระเจดีย์ครั้งสุดท้าย ซึ่งเคยมีประวัติการบูรณะมา จากบันทึกว่า ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ. 2477 โดยครูบากองแก้ว ญาณวิชโย อดีตเจ้าอาวาส ครั้งที่ 2  ปี พ.ศ.2538  พ่อหลวงประสิทธิ์ นางอำพร ปัญญารักษ์ ได้บูรณะฉัตรยอดพระเจดีย์และปิดทองยอดพระเจดีย์  ครั้งที่ 3 ปีพ.ศ.2545 พระอธิการเฉลิมศักดิ์ โกวิโท (ได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูโกศลสิทธิวิธาน” ในปี พ.ศ. 2558) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน พร้อมศรัทธาสาธุชนจำนวนมาก จากกรุงเทพมหานคร ชาวบ้านต้นยางหลวงและผู้มีจิตศรัทธาจากบ้านใกล้เรือนเคียง ทุกสารทิศ ได้ทำการสร้างบูรณะพระธาตุเจดีย์ เสร็จแล้วทำการฉลองสมโภช(ทานปอยหลวง) ระหว่างวันที่ 17 - 20 มีนาคม พ.ศ.2546  
            ส่วนเนื้อหาต่อมา เป็นการแสดงอานิสงส์ของการสร้างเจดีย์ ผ่านการเล่าเรื่องประกอบว่า มีพระภิกษุและสามเณร ได้พากันสร้างเจดีย์และทำการบำรุงอุปัฏฐากรักษา ผลบุญนั้น ส่งให้ได้ถึง พระนิพพาน (ความหลุดพ้นจากทุกข์เพราะการเวียนว่ายในสังสารวัฏฏ์) เป็นเครื่องเจริญศรัทธาของผู้ที่ทำมหากุศลคือการร่วมสร้างหรือบูรณะพระเจดีย์จะได้ประสบความสุขและเข้าสู่สุคติในอนาคตกาล ธรรมอานิสงส์สร้างเจดีย์ผูกนี้ ศรัทธาแม่อุ้ยคำปัน ทิพย์ปัญญา พร้อมด้วยบุตรแลหลานเหลนทุกคน รวมเป็นเจ้าภาพสร้างถวายไว้ เมื่อเดือน 6 เหนือ ขึ้น 14 ค่ำ วันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม พุทธศักราช 2546 เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่พ่ออุ้ยมอย แม่อุ้ยบัวแก้ว สมภารพ่ออุ้ยปุย ทิพย์ปัญญา และ นายดวงดี ทิพย์ปัญญา ผู้ล่วงลับ(ยศพล เจริญมณี ปริวรรต มกราคม 2559)   
             อานิสงส์สร้างเจดีย์ ฉบับวัดต้นยางหลวงนี้จารึกในใบลานด้วยอักษรล้านนา    ถือว่า เป็นเอกสารจดหมายเหตุ บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชุมชนวัดต้นยางหลวง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ที่คณะนักวิจัย ลงมือสำรวจเอกสารโบราณ ในพื้นที่นี้ มัความเห็นว่า สมควรแก่การนำมาถ่ายทอดอย่างยิ่ง เพื่อชุมชนจะได้รับรู้ประวัติในภาคภาษาไทยในวงกว้างออกไป 

สาระเนื้อหา
 ตอนเบื้องต้นของ คัมภีร์อานิสงส์สร้างเจดีย์ เป็นบทบันทึกประวัติการบูรณะพระธาตุเจดีย์ ของวัดต้นยางหลวง ว่าพระเจดีย์นี้ สร้างเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน ครูบากองแก้ว ญาณวิชฺโย อดีตเจ้าอาวาส ได้บูรณะเมื่อเดือน 8 เหนือ แรม 13 ค่ำ พ.ศ. 2477 ทำบุญฉลอง  เมือเดือน 7 เหนือ ขึ้น 15 ค่ำ ถึง(แรม) 8 ค่ำ พ.ศ. 2478 สิ้นทุนทรัพย์ 389 รูเปีย ในปี พ.ศ. 2538 พ่อหลวงประสิทธิ์ นางอำพร ปัญญารักษ์ ได้บูรณะฉัตรยอดพระเจดีย์และปิดทองยอดพระเจดีย์ สิ้นทุนทรัพย์ 60,000 กว่าบาท ในปีพ.ศ. 2545 พระอธิการเฉลิมศักดิ์ เจ้าอาวาส พร้อมด้วย คณะศรัทธาจากกรุงเทพมหานคร มีรายชื่อนายทหารหลายนาย และผู้มีจิตศรัทธาจากรุงเทพฯ[1]  และคณะศรัทธาวัดต้นยางหลวง ญาติพี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียง บ้านเหนือ บ้านใต้ ตะวันตกตะวันออก และผู้ใจบุญสูนทาน พร้อมใจกันเป็นเอกฉันท์ ทำการบูรณะพระธาตุเจ้าเจดีย์องค์นี้สิ้นทุนทรัพย์...(เอกสารไม่ได้ระบุไว้)...บาท และทำบุญสมโภชวันที่ 17 - 20 มีนาคม 2546 แม่อุ้ยคำปัน ทิพย์ปัญญา พร้อมด้วยบุตรและหลานเหลนเป็นเจ้าภาพสร้างถวายธรรมอานิสงส์ การสร้างพระธาตุเจ้าเจดีย์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2546  อุทิศกุศลไปหาพ่ออุ้ยมอย แม่อุ้ยบัวแก้ว สมภาร  พ่ออุ้ยปุย ทิพย์ปัญญา  นายดวงดี ทิพย์ปัญญา ผู้ล่วงลับ
ตอนที่ 2 เป็นพระธรรมเทศนาอานิสงส์ การสร้างเจดีย์ นับแต่หน้าที่ 5 เป็นต้นไป ดังความว่า
ในครั้งสมัยที่พระพุทธเจ้าประทับที่พระเชตะวันวิหาร  เมืองสาววัตถี พระองค์ได้เทศนาถึงอานิสงส์การสร้างเจดีย์แก่พระอานนท์เถระโดยยกเรื่องในอดีตมาเล่าว่า  นานมาแล้ว มีภิกรูปหนึ่งอยู่ในอาวาสแห่งหนึ่งกับสามเณรผู้เป็นศิษย์จำนวน 4 รูป  ในวันหนึ่ง พระภิกษุก็เรียกสามเณรศิษย์ทั้ง 4 รูปมาแล้วก็กล่าวสั่งสอนว่า  มีหน้าที่อยู่ 2 ประการที่เราทำ คือ  ปัญญาธุระ และ วิปัสสนาธุระ[2] พระอริยะเจ้า ได้ปฏิบัติตามธุณะนี้ก็เข้าสู่พระนิพพาน   ปัญญาธุระ ได้แก่ การก่อสร้างสิ่งใหม่ในศาสนาก็ดี การปฏิสังขรณ์สิ่งเก่าที่แตกพัง หรือคร่ำคร่าก็ดี จะมีผลานิสงส์มากน้อย สุดแต่จะได้สร้างมากหรือน้อย บุคคลใดมีเจตนาเลื่อมใสศรัทธาได้สร้างพระเจดีย์ธาตุไว้ในที่ใดที่หนึ่งก็ดี ก็จะสำเร็จผลตามที่ตนปรารถนาทุกประการ
เมื่อสามเณรทั้ง 4 รูปได้ฟังคำพรรณนาอานิสงส์การสร้างเจดีย์มีมากเช่นนั้น  ต่างก็ต่างมีจิตโสมนัสยินดีมากนัก ก็พากันกล่าวว่า  บัดนี้ข้าพเจ้าทั้งหลาย ก็มีใจโสมนัสยินดีอยากจะสร้างเจดีย์ธาตุเ ขอให้พระอาจารย์ตกแต่งหน้าที่ให้ข้าพเจ้าทั้งหลายได้สร้างพระเจดีย์ธาตุ ไว้ค้ำชูพระศาสนาเถิด   ข้าพเจ้าทั้งหลาย จะกระทำตามคำสั่งของครูทุกประการ
 ภิกษุผู้อาจารย์ก็กล่าวว่า ถ้าว่าเธอทั้งหลายมีเจตนาเช่นนี้เป็นการดีแท้  นักปราชญ์แต่ก่อน สอนว่า ผู้ใดได้สร้างมหากุสลาภิสันตะริยะ มีเจดีย์ที่บรรจุพระชินธาตุ(สารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า)เป็นประธาน  ก็ควรรักษา กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เอาไว้ให้มั่น จงมีวิริยะ ขันติ ตั้งเจตนาให้เลื่อมใสอย่างงยิ่ง อย่าให้มีความโกรธ  และมานะถือตัวเกิดขึ้น ตลอดเวลาที่สร้างจนกว่าจะแล้วเสร็จ ผู้นั้นก็จะได้อานิสงส์สมดังคำปรารถนาของตน สามาเณรก็รับเอาโอวาทของพระภิกษุผู้อาจารย์  
พระภิกษุผู้เป็นอาจารย์  มอบหมายให้ เชษฐสามเณร รูปที่มีอายุแก่สามเณรรูปอื่นเตรียมสิ่งของอุปกรณ์เบื้องต้น สามเณรอีกรูปหนึ่งมอบหมายให้ก่อไฟต้มน้ำสำหรับอาบสรง  สามเณรตนนี้ให้ไปบิณฑบาต(ขอ)น้ำอ้อยมา  สามเณรชื่อ จุโตสัตถา จงทำงานกับสามเณรรูปพี่   สามเณรรูปที่รับหน้าที่เรื่องน้ำอ้อยและหนัง ก็ไปบิณฑบาตน้ำอ้อยกับอุบาสก อุบาสิกา   ได้มาแล้วก็มอบให้สามเณรรูปที่รับหน้าที่ก่อไปต้มไปทุกวัน เมื่อต้มน้ำอ้อยกับหนังดีแล้วก็นำไปมอบให้สามเณรรูปแรก ผสมให้เข้ากันดีแล้วใส่ไว้ในรางรอจนมันงวด ดีแล้ว ก็นำไปให้พระภิกษุผู้อาจารย์ทุกวัน
ครั้งนั้น ยังมีสตรีนางหนึ่ง พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่นางยังเด็ก และอาศัยอย฿ู่ในเรือนนั้น ในวันหนึ่ง นางก็รำพึงในใจว่า ข้าเกิดมาชาตินี้พ่อแลแม่ก็มาตายจากตั้งแต่เรายังน้อยคงป็นกรรมมาให้ผลนางมีถุงเบี้ยอันหนึ่ง ก็รำพึงว่า ถุงเบี้ยอันนี้ถ้าเก็บรักษาไว้จะมีประโยชน์อะไร สมควรจะเอาไปถวายพระเจดีย์ที่ท่านสร้างใหม่คงจะได้กุศลบุญมากกว่า คิดได้ดังนั้น จึงนำถุงเบี้ยไปมอบถวายสามเณรรูปที่แก่กว่า  และกล่าวว่า ขอให้นำไปสร้างเจดีย์ด้วยเถอะ ในถุงนี้ มีของที่ดีมากอยู่  มีกุฏหอยและกุฏคำ รวมทั้งหมากบ้า(ลูกสะบ้า)เกิดเป็นหิน  สามเณรรับเอาแล้วคัดแยกเงินและทองคำออกมาไว้ เพื่อไว้ซื้อ คำ(เปลว)แลำน้ำระเบียงมาทาเจดีย์   ถัดจากนั้น อุบาสิกาคนหนึ่งรับเป็นเจ้าภาพถวายหนัง คนหนึ่งเป็นเจ้าภาพน้ำอ้อย คนหนึ่งรับเป็นเจ้าภาพปูน  และอุบาสิกา 4 คนก็พากันมาช่วยขนทรายไว้ให้แก่พระภิกษุและสามเณร ยังมีหญิงผู้หนึ่งไปตักน้ำมาใส่เป็นประจำมิได้ขาด  
ในขณะที่เตรียมผสมวัสดุสร้างเจดีย์ สามเณรรูปหนึ่งทำหน้าที่ย่อยหินเพื่อผสมกับทรายแต่หินแข็งมาก ย่อยยากจึงโกรธหินที่มันแข็งแล้วละทิ้งหน้าที่ไปเสียเหลือสมาเณร 3 รูป ก็ช่วยกันตั้งจิตว่าพวกเราจะไม่โกรธ จึงพากันตั้งใจทำด้วยความวิริยะและขันติ จนสร้างเสร็จ ทำการอภิเษกอบรม สักการบูชาเจดีย์ที่สร้างไว้ ปฏิบัติการสักการบูชาสนอายุขัย
พระภิกษุผู้อาจารย์ เมื่อสิ้นอายุก็มาเกิดเป็นชายผู้ประเสริฐ เจริญวัยใหญ่ขึ้นมา ท่านเล็งหันภัยในวัฏสงสารจึงออกจากเรือนไปบวชเป็นฤาษีบำเพ็ญสมณธรรม มีแต่ลูกไม้ และหัวมันเป็นอาหาร ในป่าหิมพานต์  สามเณรตนแก่กว่าได้ไปเกิดเป็นชายคนหนึ่ง พ่อแม่ตายแต่น้อย ก็ได้ไปอาศัยอยู่กับย่าจ่าสวน ของพญาเจ้าเมือง อดีตนางคืออุบาสิกาผู้รับอุปถัมภ์เลี้ยงดูภิกษุแลสามเณร อดีตสามเณรผู้ทำหน้าที่ก่อไปต้มน้ำอ้อยและหนังได้เกิดมาเป็นชาย ชื่อ “วิชาเตโช” มีฤทธิเดชมาก มีของวิเศษ คือ ไม้เท้าวิเศษ ถ้าข้าศึกมาแต่ทิศหนใด จะมากเท่าใด เขาจะนำไม้เท้าถูแผ่นดิน ก็จะลุกเป็นไฟไปไหม้ข้าศึกให้พ่ายแพ้ไป  สามเณรที่รับหน้าที่ไปบิณฑบาตเอาน้ำอ้อยและหนังได้ไปเกิดเป็นชายชื่อว่า วิชาตโจ มี “หนัง ประกำ” เป็นอาวุธติดตัว สามารถใช้ชัดไปทำลายข้าศึกได้ สำหรับสามเณรผู้ตำหินไม่แหลกไปเกิดเป็น พญาเจ้าเมืองที่ย่าจ่าสวน  นางผู้ถวายถุงเบี้ยประจุไว้ในเจดีย์ รวมทั้งนางผู้ถวายน้ำอ้อย  หนัง ปูน ทราย และน้ำเมื่อสิ้นชีพไป ก็ได้ไปเกิดเป็นเทวดาอยู่ในปราสาทร่วมกัน
ต่อมาวันหนึ่งพระอินทร์เล็งมายังโลกมนุษย์ก็เห็นชายหนุ่มกำพร้าอยู่กับย่าจ่าสวนอายุได้ 16 ปี จึงลงมาโปรด นำอาวุธมี ดาบกายสิทธิ์  ปืนธนู พร้อมเครื่องท้าว 5 ประการ(เบญจกกุธภัณฑ์) เงินทองคำ เสื้อผ้า  อาหารทิพย์ทั้งมวล เอาใส่ในหีบทองคำลูกหนึ่ง ขนาดใหญ่ปากกว้างได้ 100 วา สูงได้ 100 วา จึงเรียกนางเทพธิดาทั้ง 5 (นางสุวัณณสังขาร และอีก 4 นาง ให้เข้าไปอยู่ในหีบทองคำ นางสุวัณณสังขารนั้นมีถุงวิเศษ ใครต้องการสิ่งใดนางจะเทออกจากถุงมาให้ได้ไม่ไหมดสิ้นด้วยผลบุญที่ได้ถวายถุงเบี้ยแก่พระเจดีย์ แล้วให้หีบนั้นตกลงมาทีี่สวนพญาเจ้าเมือง
นายจ่าสวนอุยยานไปทูลพญาว่า เมื่อคืนนี้ มีหีบหอยบังคำ ใหญ่ลูกหนึ่งตกลงมาที่อุทยาน กลงตาเต็มสวนอุยยานตัวหีบมีสีเหมือนทองคำมีวัณณะเหมือนดั่งคำ พญาเจ้าเมืองจึงให้ตลตีกลองประกาศหาคนที่สามารถเปิดหีบบังหอยทองคำได้  หมดเวลาไป 1 เดือนก็ไม่มีใครเปิดหีบออกได้ คนเดินมาชมจำนวนมาจนสวนอุทยานเรียบดังหน้ากลอง ชายกำพร้อและย่าจ่าสวนก็ ไปขอทานมาประทั้งชีพ ทุกวัน เมื่อพญาเห็นว่าเปิดไม่ได้ ก็ให้หยุดการเปิด  ชายหนุ่มจึงถามย่าจ่าสวนก็ได้ทราบเรื่องว่า เพราะมีหีบตกมาที่สวนอุทยาน ย่าห้ามไม่ไห้ไป แต่เขาอยากดูจึงย่องไปดูในยามกลางคืน ไปยืนอยู่ที่ใกล้หีบคำหน่วย เดินเวียนแวดล้อมไปมา เอามือลูบคลำพลางกล่าวว่า หีบนี้งามมาก มีสีดุจทองคำ จะเป็นการดีมากถ้าได้ไปวางไว้ที่ขอบตูบของตน
หีบหอยคำจึงตอบว่า  “เจ้าหนุ่ม ถ้าอยากได้จริง จงพาข้าไปคืนนี้แหละ  โดยใช้ฝ้ายดำและฝ้ายแดงของแม่หม้ายมาคล้องเขาจูงไป  ข้าจะตามเจ้าไป ชายหนุ่มรีบมานำฝ้ายดำฝ้ายแดงของย่าหม้ายจ่าสวยไปมัดคล้องหีบหอยคำจูงมาตั้งไว้ใกล้ขอบตูบชายกำพร้า
ชายเห็นอัศจรรย์จึงไปบอกย่าจ่าสวน ให้ไปดูว่า หีบหอยคำมาวางที่ใกล้ตูบเรา ย่าจ่าสวนก็รีบลุกไปดูก็เห็นหีบหอยคำหน่วยนั้น ครั้นรุ่งแจ้ง ย่าแลหลานก็พากันไปแจ้งอุปราชาแสงเมือง ว่าบัดนี้ หีบหอยคำที่พญาเจ้าเมืองให้คนทั้งหลายไปแก้ไม่ได้นั้น บัดนี้มันมาอยู่ที่ขอบตูบของข้า จงให้คนไปนำมาเก็บเสีย  แสนเมืองก็บอกว่า แต่กอ่นคนตั้งหลายแสนยังแก้ไม่ได้ มันมาอยู่ที่ตูปของยายหลายคงเป็นบุญของสองยายหลานแล้วละไว้นั้นแหละ  สองยายหลานก็ขอทานยังชีพตามเดิม
ในหีบที่พญาอินทร์เนรมิตนั้น มีของทิพย์ 7 ประการ คือ ม้าวใส่แขน แหวนสอดก้อย สร้อยสังวาล  เศวตรฉัตร พัดพ้าว จามร ดาบกายสิทธิ์ รองเท้าทิพย์ แก้วมณีโชติ  กงจักรแก้ว พรหมหัวอัน หนึ่ง รวมทั้ง ข้าวน้ำและโภชนะอาหารทิพย์ ในวันหนึ่ง ตรงกับวันข้างขึ้น 15 ค่ำ เดือนเพ็ญ เมื่อสองย่าหลานยังไปขอทานยังทันมา นางสุวัณณสังขาร ได้โภชนะทิพย์ และ เสื่อ สาด อาสนะทิพย์ออกมาปูไว้ในห้องตูบแห่งย่าหลาน  ครั้นตกแต่งแล้วก็ปัดกวาดให้สะอาดแล้วเข้าไปอยู่ในหีบหอยคำดั่งเก่า ตกค่ำมาย่าหลานกลับมาเห็นโภชนะอาหารทิพย์ และที่นอนก็กลัวจึงพากันไปบอกชาวบ้านชาวเมืองมาดู แต่พวกเขาไม่เห็นก็ว่า สองยายหลาน โกหกแล้วหนีกลับทุกคน ย่าหลานก็พากันกินข้าวน้ำโภชนะอาหาร ที่มีรสอร่อยกว่าที่เคยกินมาก่อน คิดว่า คงเป็นบุญของพวกเรา หรือจะเป็นเรื่องใดไม่แจ้ง ชายหนุ่มจึงต้องการหาคำสอบ จึงบอกว่า ขอให้ยายออกไปขอทานคนเดียวส่วนหลานจะคอยดูอยู่ที่บ้านว่าใครเตรียมอาหารไว้ให้พวกเรา  ครั้นได้เวลาอาหาร นางสุวัณณสังขารก็ออกมาจากหีบหอยคำมากวาดชำระให้สะอาด จัดแต่งโภนาอาหารไว้พร้อมในห้องตูบ
ชายกำพร้า ก็เห็นนางออกมาจากหีบหอยคำมีมีสีสันวรรณงดงามงามยิ่งนัก คิดว่านางจักเป็นนางเทวดา แล้วออกจากที่ตนหลบซ่อนอยู่ เข้าไปใกล้นางถามว่า นางมีชื่ออะไร นางตอบว่า ตัวข้านี้ชื่อสุวัณณสังขาร ที่ข้าหากออกจากหีบหอยคำนี้ เพื่อมาอุปถัมภ์ค้ำชูเจ้าทั้งสองย่าและหลาน ให้มีความสุขสำราญยิ่งกว่าคนทั้งหลายในเมืองนี้  และทั้งสองก็สนทนาจนถึงเวลาค่ำ ย่า กลับมาถึงบ้านพบว่า หลานกับนางสุวรรณสังขารพูดจากันก็ตกใจพูดไม่ออก หลายจึงมาเล่าให้ยายฟังเรื่องทั้งหมด
นางสุวรรณสังขารก็ขอกว่าต่อนี้ไปไม่ต้องออกไปขอทาน ในถุงของข้านี้ มีของกินของใช้(เครื่องอุปโภค บริโภค)ทุกอย่าง รวมทั้งเงินและทองใช้ไปจนตลอดอายุของข้าก็ไม่หมดสิ้นไป ในถุงมักงจักรสามารถนำออกมาสู้ข้าศึกได้ เมื่อนางถูกต้องตัวมนุษย์ก็กลับเข้าหีบไม่ได้  เลยอยู่เป็นภริยาของชายกำพร้า  นางก็นำของออกจากถุงมาให้ทานแก่คนยากจน ทุกวัน ไม่ขาด
เมื่อพญาเจ้าเมืองรู้ข่าวว่า ชายกำพร้าเกิดมีโภคสมบัติมากนักคนหลังไหลไปขอทานมิได้ขาดในอนาคตผู้คนทั้งหลายจะไปอ่อนน้อมค้อมหัวให้ชายกำพร้าแน่ๆ จึงให้ราชทูตไปถามดู ให้รู้แจ้งเหตุทุกอย่าง แล้วมารายาน  เมื่อราชทูตไปถึงก็ไม่มีผู้ใดออกปากถามได้ เพราะเห็นนางสุวัณณสังขารรูปร่างงดงามงามยิ่งกว่าหญิงใดในมนุสสโลก จึงไปทูลพญาเจ้าเมือง  ตัวพญาเกิดความรักอยากได้นางมาครอง สึงสั่งให้อุปราชแสงเมืองไปแจ้งแก่ชายกำพร้าว่าอีก 7 วันพญาเจ้าเมืองจะยกรี้พลไปแย่งเอานางสุวัณณสังขารมาเป็นราชเทวี แสนเมืองก็ไปบอกเรื่องนั้น  เมื่อครบ 7 วัน พญาเจ้าเมืองก็ยกรี้พลไปชิงนางมาสู่ราชมณเฑียรอุสสาราชภิเสกเป็นราชเทวี ให้เป็นใหญ่กว่านางทั้งหลาย นางสุวัณณสังขารก็เนรมิตกายของนางให้ร้อนดังไฟ   พญาเจ้าเมืองไม่อาจเข้าไปถูกเนื้อต้องตัวนางได้ จึงรักษาไว้ให้ในราชมณเฑียร
ชายกำพร้า ก็มีความเสียใจคิดถึงหาภริยาของตน คิดว่าเราเป็นคนทุกข์ยาก และผจญวิบากกรรมเก่า นับแต่อยู่ด้วยกันก็ไม่เคยลักฉกของผูใดมากิน บัดนี้ซ้ำ มีผู้มาชิงเอานางให้พลัดพรากจากชีวิตไป  จึงได้ขอลายายออกไปป่าใหญ่ แสวงหาวิชาความรู้ ถ้าไม่มีเหตุเภทภัยก็จะได้กลับมาหาย่าตามเดิม แล้วหนีไปมุ่งหน้าสู่ป่าใหญ่ มีแรด ช้าง  เสือ หมี กินลูกไม้เป็นอาหาร มีสัตว์ติรัจจฉานเป็นเพื่อน ลึกจนไปถึงอาศรมบทที่อยู่แห่งเจ้าฤๅษีตนเป็นครูเมื่อชาติก่อน
ฤๅษีถามว่า พ่อหนุ่มมาแต่ไหน เขาก็เล่าเรื่องให้ฟัง ฤๅษีก็เล็งอตีตญาณของตนจึงกล่าวว่า ท่านจงอยู่ในอาศรมกับเรานี้เถอะ และทุกอย่างจะสำเร็จ  ฤๅษีไปบิณฑบาตในสวรรค์ชั้นตาวติงสามาเลี้ยงชายกำพร้าทุกวัน พญาอินทร์รู้เหตุแล้วก็สั่งฤๅษีให้รีบสอนศาสตร์ศิลป์อันวิเศษ จบแล้วจงรีบส่งกลับไป ฤาษีก็สอนศาสตร์ศิลป์ทั้งหลายแก่ชายกำพร้าจนจบเพททุกอย่างหาผู้เสมอมิได้  นอกจากนี้ พระฤๅษีได้สอนศาสตร์ศิลป์ ชื่อว่า “น้ำรพี” ให้มีจิตเหมือนดั่งคนผู้มีฤทธิ์ (มีคุณวิเศษดังนี้) 1. แม้นจักใช้เป็นน้ำ เป็นไฟ เป็นลม อันใหญ่ ให้ผจญข้าศึกศัตรูก็ปราบเอาชนะได้หมด  2. เมื่อเอ่ยปาก(สาบ)คนทั้งหลายให้เป็นแห่(แร่) เป็นหิน เป็นหลัก เป็นตอ ก็ได้ 3. ถ้าอยากกินข้าวอาหารอันใด ให้เอาน้ำรพีลงจุ่มน้ำดูดกิน ก็รู้สึกอิ่มเหมือนดั่งกินข้าวและอาหาร เมื่อสอนจบแล้วก็นำชายกำพร้อาไปส่งที่ทางกลับ
ชายกำพร้าเดินไปจนถึงต้นนิโครธอันเป็นที่พักสำราญของชาย “วิชาเตโช” และนั่งพักที่เงาต้นไม้ วิชาเตโช มาไล่ให้หนีไป ถ้าไม่ฟังจะเอาชีวิตเสีย เมื่อชายกำพร้าถูกไล่ สอง สามครั้งก็ไม่หนี วิชาเตโชจึงเอาไม้เท้าแทงลงบนแผ่นดิน ก็บังเกิดเป็นไปไหม้เข้ามาหาชายกำพร้า  ชายกำพร้าก็เอาน้ำรพี ซัดไป ก็เกิดเป็นน้ำอันใหญ่ไปดับไฟมอดหมด  วิชาเตโชเห็นฤทธีดังนั้น ก็มีใจสะท้านเกรงกลัวมาก เข้ามากราบไหว้ขอขมาโทษและขอติดตามไปด้วย  ชายกำพร้ากับวิชาเตโช กินน้ำสัจจะ(ดื่มน้ำสาบาน)ต่อกัน ก็เดินทางไปด้วยกัน
ชายกำพร้ากับวิชาเตโชเดินมาถึงไม้ชมพู่ต้นหนึ่งเป็นที่สำราญของ “วิชาตโจ” เข้าไปนั่งพักในร่มเมื่อ วิชาตโจ มาพบเข้าจึงขับไล่ว่า อย่านั่งที่นี่ จงหนีออกไปเสีย ถ้าไม่หนี ร่างกายของพวกแก จักแหลกเหลวไปบัดนี้ พูกไล่สองครั้ง  สามครั้ง เขาทั้งสองก็ไม่หนี  ชายกำพร้าจึงบอกวิชาเตโชว่า จบรบกับมันลองกำลังให้แพ้ด้วยฤทธีก่อนเถอะ  ถ้าว่าท่านเอาชนะไม่ได้ ข้าจะรบเอง วิชาเตโชก็รับคำสหาย
วิชา่เห็นว่าสองคนไม่ฟังคำจึงโกรธมา ขว้างเอาหนังประกำให้หื้อไปตัดหัวทั้งสองคนหนังประกำอันนั้นก็ลอยมาตามอากาศ วิชาเตโช ก็เอาไม้เท้าขว้างขึ้นไปรบกับด้วยหนังประกำ มีเสียงอันดังเหมือนดั่งฟ้าร้องฟ้าผ่าป่าไม้ดังก้องไป ทั้งสองคนต่างมีฤทธีเสมอกัน รบกันไม่รู้แพ้รู้ชนะ ชายกำพร้าจึงได้โยนน้ำรพีซัดขึ้นใส่หนังประกำ ก็ย่อยเป็นธุลีไป  วิชาตโจครั้นเห็นหนังประกำของตนย่อยเป็นผงธุลี ก็มีใจหดหู่มาก จึงเข้าไปไหว้ชายกำพร้า ขอขมาโทษ และขอติดตามไป ชายกำพร้าก็ให้กินน้ำสัจจะแล้วให้วิชาตโจ ตามไปอีกคน รวมเป็นสามสหาย ก็เดินทางมาถึงบ้านย่าจ่าสวน
 ย่าจ่าสวนเมื่อได้เห็นหลายกลับมาถึง ก็ดีใจมาก  บอกว่า ย่าอยากเห็นหน้าเจ้าทุกวันทุกยาม บัดนี้ก็สมดั่งคำปรารถนาแห่งย่าแท้ ชายกำพร้าก็ปรึกษากับสหายสองคนว่า คืนนี้เราพากันนอนกับย่าคืน 1 ก่อน วันหน้า พวกเราจะพากันไปรบพญาเจ้าเมืองนี้ เพราะมันมาชิงเอาภริยาข้าไปแต่ก่อน  ขอให้สหายจงสู่รบตามฤทธีของตนมัน อย่าได้เกรงขามเลย
 ก่อนยามใกล้รุ่งแจ้งคืนนั้น  นางสุวัณณสังขารก็นิมิตฝันว่า พระอาทิตย์ออกมา 3 ดวง เรียงกันอยู่ มีหมู่ดาวทั้งหลายแวดล้อมเป็นบริวาร มีรัศมีรุ่งเรืองงามในชมพูทวีปทั้งมวล  ครั้นตื่นขึ้นมานางก็มีความอัศจรรย์ในใจ 
ในรุ่งเช้าวันนั้น  ชายกำพร้าและสหายครั้นกินข้าวน้ำโภชนะอาหารเสร็จแล้ว อำลาย่าจ่าสวน  พา สหายทั้งสองพากันเดินอย่างไม่เกรงกลัวผ่านถึงท้องสนามหลวง ทั้ง 3 คน ขึ้นไปนั่งบนบัลลังก์ในราชมณเฑียร   นายนักการไปแจ้วง่ามีผู้ร้ายนอกเมือง 3 คน จักมารบเอาบ้านเมืองโดยพวก เขาพากันขึ้นนั่งเหนือแท่นแก้วในหอหน้าข่วงหลวง  พญาเจ้าเมืองก็โกรธมากกล่าวว่า กูได้เป็นพญามาถึงเดียวนี้ ยังไม่มีใครมาเทียมเท่ากู จงรีบไปจับมัดพวกมันให้กูบัดนี้
คนก็กรุวิ่งไปล้อมจับ ชายกำพร้าเหลียวเห็นคนทั้งหลายกรูออกมากระจายทั่วกันอยู่เช่นนั้น
 ก็สวาดธิยายคุณ(วิชา)ของตนแล้ว ก็สั่งว่า ท่านทั้งหลายจงพากันไปยืนกระจายตัวอยู่ภายนอก จง อย่าได้พูดจากันจงนิ่งเหมือนเหมือนไม้อันปักไว้นั้นเถอะ คนทั้งหลายก็พากันไปยืนกระจายตัวอยู่ตามจุดต่างๆ ไม่มีใครพูดสักคน คนที่เห็นเหตุก่ชารณ์ก็มาทูลพญาเจ้าเมืองว่า ชายสามคนที่ฤทธิเดชมาก พระองค์คงต้องเสียบ้านแน่ๆ  พญาเจ้าเมืองโกรธมาจึงให้ไปนำช้างมงคลเตรียมยุทโธปกรณ์พร้อมขี่ช้างออกมามีหมู่เสนาอามาตย์แวดล้อมอ้อมเป็นบริวารไม่อาจนับได้ ไหลหลั่งไปตามพญาอย่างเร่งรีบ
พญาจิ่งสั่งว่า สูทั้งหลายจุ่งไปอารักขาวังไว้ ทุกซอกทุกมุม  ถ้าอ้ายกำพร้ามันออกทิศใดหื้อฆ่าเสีย  พวกเขาก็เข้าโอบล้อมชนิดที่หาช่องว่างมิได้เลย ชายกำพร้าก็สวาดธิยายไตรเพท แล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย จุ่งพากันออกไปยืนกระจายอยู่ภายนอก อย่าได้พูดจาจงนิ่งเหมือนไม้ที่ปักไว้ เมื่อพวกเขาออกไปยืนกระจายไม่เคลื่อนไหวเช่นนั้น เหลือแต่พญาเจ้าเมืองนั่งคอช้างคนเดียว
พญาเจ้าเมืองเห็นเช่นนั้น ก็ซ้ำโกรธขึ้นไปอีก ไสช้าง ใสช้างเข้าไปหมายฆ่าชายกำพร้าให้ตาย  ชายกำพร้า จึงกล่าวกับพญาผู้จะมากระทำร้ายว่า  “ท่านจงตกลงจากคอช้างแล้วกลายเป็นหินอยู่เหนือแผ่นดินนี้เทอะ” เมื่อกล่าวเสร็จ พญาก็ตกจากคอช้างพลันกลายเป็นหิน ส่วนช้างตัวนั้นก็ไม่ไหวกายได้ ก็ยืนนิ่งอยู่  ชายกำพร้าก็ซ้ำปราบเอาชนะข้าศึกได้ดังนี้  ในเมืองนั้น ไม่มีผู้ชายสามารถพูดสักคน  มีแต่ผู้ญิงทั้งมวลหั้นแล
นางสุวัณณสังขารที่อยู่ในปราสาท ก็พาเอานางทั้งหลายอันได้กระทำกุศลบุญกันมาแต่ก่อน  ได้เข้ามาสู่สำนักชายกำพร้า และนางทั้ง 6 ที่ได้สร้างกองบุญร่วมชายกำพร้ามาแต่ชาติก่อน ที่พญาอินทร์ให้อยู่ในหีบหอยทองคำนั้น ก็พากันออกมาเครื่องทิพย์ที่มีในหีบหอยทองคำ  มี แก้วมณีโชติ กงจักร เศวตรฉัตร ม้าวใส่แขน แหวนใส่ก้อย สร้อยสังวาล อันพญาอินทร์ตกแต่งไว้ในหีบ ก็ปรากฏออกมาตามนางทั้งหลายฝูงนั้น  ตั้งอยู่ในสำนักชาย หีบหอยคำลูกนั้น ก็กลายเป็นช้างเผือกตัวหนึ่ง เข้ามาอยู่ในเวียง  ย่าจ่าสวนผู้เลี้ยงชายกำพร้า  ด้วยกุศลบุญอันได้อุปัฏฐากปัจจัยเลี้ยงเจ้าภิกขุแลสามเณรมาแต่ชาติปางก่อน บัดนี้ก็มาปรากฏให้ย่าจ่าสวนกลับกลายร่างเป็นนางสาวน้อยผู้มีอายุได้ 16 ปี
ในกาลนั้น พวกผู้ญิงทั้งหลาย ผู้เป็นลูกเสนา  ภริยาอามาตย์ ในเมือง พร้อมกันมาในสำนักชายกำพร้ากล่าวว่า ผู้ข้าทั้งหลายขอพึ่งสมภาร ขออภัยโทษแก่ข้าทั้งหลายเถิด ชายกำพร้าก็รับขมาโทษฃ ชายกำพร้าก็มาพูดกัสหายว่า บ้านเมืองที่นี่ก็มีแต่เราเป็นผู้ชายเพียง 3 คน  เราควรเรียกเสนาทั้ง 4 ผู้เป็นนายแคว่นแก่บ้านมาถามจะได้รู้ว่า ร้ายและดี ชายกำพร้าก็สวาดธิยายมนตร์ให้พวกเสนาทั้งหลายมีสติและเคลื่อนไหวไปมาได้และพากันไปพบพญาเจ้าเมืองกลายเป็นหิน จึงเกรงกลัวชายกำพร้ามาก จึงมาจำยอมอ่อนน้อมทุกคน
ชายกำพร้าถามว่าพวกท่านจะทำอะไรก็จงทำตามใจเถิด เสนาก็กล่าวว่าพวกนี้ ถูกญาเจ้าเมืองบังคับให้ออกมา ตอนนี้ยืนเหมือนหลักเหมือนตอ ขอให้ท่านโปรดให้เขาคืนเป็นคนตามเดิมเถิดได้อยู่กับลูกกับเมียแห่งเขาดังเก่า ท่านจะแต่งตั้งให้พวกเขาทำหน้าที่อะไร พวกเขาจะเชื่อฟังรับสั่งทุกประการ ชายกำพร้าก็บีบบังคับเอาคำปฏิภาณจากเสนาทั้งหลายให้ มั่น จึงได้สวาดธิยายไตรเพท คลายมนต์สะกด คนทั้งหลายก็มีสติคืนมา กลับสู่บ้านสู่เรือนของตนเขา
ตั้งแต่บัดนั้นมา หมู่เสนาทั้งหลาย ก็เรียกชุมนุมไพร่บ้านไพร่เมืองให้พร้อม พากันแต่งเทียนเงินแลเทียนคำ กระทำตามราชประเพณีมาแต่ก่อน ก็มาน้อมถวายเมืองให้ชายกำพร้าครอบครอง แต่งตั้งให้เป็นใหญ่เหนือหัวเขาทั้งหลายในเมือง
ส่วนนางสุวัณณสังขารมารำพึงว่า บ้านเมืองนี้ แต่ก่อนพวกเขาทุกข์ยาก เพราะพญาเจ้าเมืองทำให้เดือดร้อน ไม่มีเว้นไม่มีเวลาจะสร้างเหย้าเรือนที่อยู่อาศัยควรที่จะช่วยให้พวกชาวเมืองมีบ้านเรือนอยู่อาศัย จึงได้นำถุงมาเทออก เงินและทองคำไหลหลั่งออกมามากมาก จ่ายแจกให้ทานแก่คนทั้งหลายคนละ 1 พันทองคำ ทุกคน   คนทั้งหลายก็ไหลหลั่งมารับเอาจากนางทุกคนไม่ขาด ชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลาย ก็สรรเสริญยกย่องว่า แม่เราทั้งหลายจะได้รับความสุขจากพญาตนก่อนก็ยังไม่เคยได้รับราชทานมากมาเห็นปานนี้ พวกชาวเมืองชื่นชมว่า บ้านเมืองมีสุขเพราะมีผู้เสวยเมืองโดยชอบตามหลักทศธรรม ประพฤติสุจริต ประกอบด้วยทานปารมีเป็นต้น
 พญาอินทร์เห็นชายกำพร้าได้เสวยเมืองก็ยังไม่สมฤทธีสมบูรณ์ จึงพาหมู่เทวดาทั้งหลายอันได้แสนโกฏิลงมาสู่มนุสสโลก เพื่อจะส่งเสริมให้ชายกำพร้าเป็นพญาจักรวรรดิราชในเมืองชมพูทวีป จึงรับสั่งวิสุกรรมเทวบุตรเนรมิตปราสาทอันได้ 108 หลังอันประดับไปด้วยแก้ว 7 ประการ เนรมิตกาลพฤกษ์ทิพย์ไว้ 4 มุมปราสาท อันห้อยย้อยไปด้วยผ้า เสื้อ แก้ว แหวน เครื่องทั้งหลายทุกอย่าง เนรมิตกำแพงเวียงอันกว้างได้ 12 โยชน์ ล้วนด้วยแก้ว 7 ประการ  
พญาอินทร์กับทั้งเทวบุตรและเทวดาทั้งหลายก็เอาตุริยดนตรีไปแห่เอาพญาจักรวรรดิ พร้อมกับนางสุวัณณสังขารขึ้นสู่หอที่วิสสุกรรมเนรมิตไว้  พญาอินทร์ก็นำเอาน้ำต้นแก้วหดหลั่งในเรือนคำ มีหมู่เทวดา เทวบุตรก็มาสรงด้วยเรือนคำทั้ง 4 ด้าน ถัดนั้นหมู่เสนาอามาตย์ พราหมณาจารย์ ปุโรหิตอาจารย์ทั้งหลาย ก็ให้ทรงผ้าขาวพราวบริสุทธิ์ ก็พร้อมกันมาสรง จนเสร็จสิ้น  นำเสื้อผ้าทิพย์และเครื่องอาภรณ์ทั้งหลาย คือว่า ม้าวใส่แขน แหวนใส่ก้อย สร้อยสังวาลย์ อันเป็นเครื่องทิพย์มาสุบสอดประดับกายพญาจักรวรรดิ และกายแห่งนางสุวัณณสังขาร พญาอินทร์กับทั้งเทวบุตร เทวดาทั้งหลายนำขึ้นสู่ปราสาท  กระทำวิวาหะมังคละ  ตั้งชื่อใหม่เป็น “พญาจักรวรรดิสังขารจักร” ให้เป็นใหญ่ในเมืองชมพูทวีป   นางสุวัณณสังขารก็ตั้งหื้อเป็นอัครมเหสีเทวี เป็นใหญ่แก่กว่านางทั้งหลาย นางทั้ง 6 ที่ได้เคยกระทำบุญตามกันมามาแต่ชาติก่อน ให้อยู่กับนางสุวัณณสังขาร ผู้เป็นใหญ่กว่านางทั้งหลายได้หมื่น 6 พันนางในปราสาทที่
 ชายวิชาเตโช ให้เป็นอุปราชาแสนเมืองแล้ว ให้ย่าจ่าสวน ที่กลายร่างเป็นสาวน้อยนั้นมาอยู่ในปราสาทกับอุปราชาแสงเมือง ตั้งไว้เป็นใหญ่กว่านางทั้งหลาย 500 นางเป็นบริวารในปราสาทนั้น ส่วนชายวิชาตโจ ก็ตั้งให้เป็นมหาเสนา มีนางผู้ได้กระทำกรรมดีมาแต่ชาติก่อนเป็นภรรยา ให้เป็นใหญ่กว่านางทั้งหลายได้ 500 อยู่ในปราสาทหลังหนึ่ง
เมื่อพญาอินทร์กระทำวิวาหะมังคละแล้วก็ให้พรและมังคละโอวาทแก่พญาจักรวรรดิสังขารจักรขอให้ตั้งอยู่ด้วยคลองทศราชธรรม 10 ประการ ก็พาเอาหมู่เทวบุตรเทวดา เสด็จสู่สวรรค์ อันเป็นที่อยู่แห่งตน
 ท้าวพญาเสนาอามาตย์ทั้งหลาย ก็มาสาธุการด้วยเดชะสมภารแห่งพญาจักรวรรดิ ไม่ให้ขาดจากประเพณีทศธรรม 10 ประการ ฟ้าฝนก็ตกถูกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้า ทั้งหลายก็ผลิตผลงอกงาม คนทั้งหลายยินสั่งสมทานบารมี ศีลบารมี ไปไม่ขาด จนตลอดชีวิต อานิสงส์ได้สร้างยังเจติยธาตุเจ้า นิฏฺฐิตํ ก็สมเร็จสระเด็จ (พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ตรวจสอบ เรียบเรียง พฤษภาคม 2559)



[1] ร้อยเอกปัน ไพรัช  พลโท วีรศักดิ์ ไพรัช, พลโท อภิชาต เพ็ญกิติ,  พลโทดนัย เงินโสภา, พลโท สาโรช ฏิตวัฒนาคุณ, พลตรี ฉัตรชัย จันทรโสภณ, พลตรี แดง มีชูอัตถ์, พลตรี ธานี เคียดแก้ว, พลตรี พุทธพล พวงทอง, พลตรี วีรพงศ์ พันธุมสูต, พลตรี สุวรรณ สมิงแก้ว, พลตรี พรชัย กรานเลิศ, พลตรี ล้วน ชูวงศ์, พลตรี อาจศักดิ์ ถาวรสัน, พลตรี พงษ์พุทธ เมฆรัฏ, พลตรี วิศาล ชันโอภาส, พลตรี พิศณพล พานสูต, พลตรี นายแทพย์ มงคล จิวสันติคาร, พลตรี สะพรั่ง กัลยาณมิตร, พลตรี กิตติพงศ์ เกล็ดโกวิท, คุณสุรพล สุกอ่อน พร้อมคณะ คุณนพพร พิเศษประกาศิต, คุณสุรพงษ์ สิริวันชัย, คุณเสาวรส เกษมวโรดม, คุณมหาสันติ สร้อยขัตติยะ, ดาบตำรวจ อนุรักษ์ คันธา
[2] ความตามอรรถกถา ธุระ(กิจของนักบวช)ในพระศาสนามี 2 ประการในศาสนาคือ คันถธุระ ศึกษาพระปริยัติธรรมให้ช่ำชอง และ วิปัสสนาธุระ ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานให้แห็นแจ้งในพระไตรลักษณ์ ในที่นี้ ว่า เป็นปัญญาธุระ หมายเอา นวกรรม คือการสร้างและปฏิสังขรณ์ศาสนวัตถุ(พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์)