แจ้งข่าวนักศึกษา012173

วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559

"สินธุรภิกษุณี" หรือ อุตตนิทานตำนาน : เรื่องที่เล่ากันในเมืองคุย อักษรฮ่อ คัมภีร์ใบลาน ฉบับวัดล่ามช้าง เชียงใหม่

 โวหารตำนานสิธุรภิกขุณี ฉบับวัดล่ามช้าง ตำบลศรีภูมิ  อำเภอ เมือง จังหวัดเชียงใหม่

1.ความเป็นมา
                 โวหารตำนานสินธุรภิกขุณี ฉบับธรรมวัดล่ามช้าง ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นคัมภีร์ใบลาน เส้นจาร จำนวน 1 ผูก 27 หน้าลาน อักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี-ไทยยวน  รหัสภาพถ่ายดิจิตัล หมายเลข 15.0007.01M.1472-11 สถาบันวิจัยสังคม  มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ชื่อที่ปรากฏภายในเอกสารเรียกว่า “อุตตนิทานตำนาน”  คัดลอกต้นฉบับจากเมืองคุย เดิมจารึกด้วยอักษรห้อ(อักษรจีนฮ่อ)  ผู้คัดลอกนามว่า “ภิกขุวัง(ส์)”   ได้ปริวรรตออกเป็นภาษาไทยยวน(ภาษาเมือง หรือ ล้านนา) เมื่อจุลศักราช 1173  ตรงกับ พ.ศ.2354   ปีร้วงเม็ด เดือน 3 แรม 14 ค่ำ วัน 7(วันเสาร์)  นับอายุปีที่คัดลอกเอกสารลงใบลานถึงปัจจุบันนี้(พ.ศ.2559) ก็จะมีอายุได้ 205 ปี  ตำนานเรื่องสินธุรภิกษุณีนี้ ถูกเก็บรักษาไว้ ที่วัดล่ามช้าง เมื่อได้ทำการอนุรักษ์และลงรายการเอกสารจัดหมวดหมู่  ผู้วิจัย(พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์) พิจารณาว่า เป็นเรื่องที่ยังไม่เคยได้พบและตีพิมพ์เผยแพร่มาก่อน ทั้งเป็นเรื่องแปลก นับว่าเป็นการค้นพบเอกสารโบราณที่น่าวิจัยค้นคว้าในเชิงลึก จึงปริวรรตถ่ายถอดอักษรออกมา ด้วยความตั้งใจจะศึกษาว่า ตำนานสินธุรภิกษุณีรูปนี้ จะมีส่วนละม้ายกับประวัติ และจริยาวัตรของพระเถรีรูปใดในสมัยพุทธกาล   (ปริวรรตจากต้นฉบับ โดย ยศพล เจริญมณี มกราคม 2559, พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ถอดสาระและเรียบเรียง 2559)

2. สาระเนื้อหา
ภิกขุวัง(ส์) ผู้จารได้ลอกคัมภีร์อุตตนิทานที่ได้ต้นฉบับจากเมืองคุยที่บันทึกด้วยอักษรห้อประมาณปี พ.ศ. 2358 เมื่อ 201 ปีมาแล้ว ที่เรียกชื่อว่า โวหารสินธุรภิกขุณี เพราะเนื้อหาสาระส่วนใหญ่ เล่าประวัติของภิกษุณีนามว่า สินธุระ เป็นหลักตลอดเรื่อง  ในตอนต้น ประมาณ 4 หน้าลาน เล่าว่า มีแผ่นศิลาจารึกคำเตือนจากพระอินทร์ทำนายถึงยุคมิคสัญญี คนทั้งหลายในอนาคตจะละทิ้งจารีตประเพณีดั้งเดิม แสดงการลบหลู่ดูหมิ่นศาสนา ไม่เคารพเชื่อฟังคำสอนของ พ่อ แม่ ครู อาจารย์ และภิกษุสงฆ์ พวกเขาจะประสบกับภัยพิบัตินานาประการ เป็นต้นว่า จะเกิดศึกสงครามฆ่าฟันกันเลือดไหลหลั่งนองดังสายน้ำ จะมีโจรภัย(ภัยจากโจรผู้ร้าย)ชุกชุม จะเกิดฉาตกภัย(เกิดภัยแล้ง น้ำมหาสมุทรเหือดแห้ง ข้าวยากหมากแพง อดหยาก หิวโหย) จะเกิดวาตภัย(พายุใหญ่) จะเกิดแผ่นไหวใหญ่     อัคคีภัย(ไฟไหม้)ลุกลามไปทั่ว ดุจไฟประลัยกัลป์ล้างโลก หากมนุษย์กลัวเกรงต่อภัย จงยึดมั่นในคุณงามความดี ให้รู้จักบาป บุญ คุณและโทษ ก็จะพ้นจากอันตราย  ประมาณปี พ.ศ. 3169 ที่จะมาถึงข้างหน้ พระอินทร์ได้รับสั่งให้เทพบุตรตนหนึ่งลงมาเกิดเป็นพญาจักรพรรดิ มีฤทธิ เดช อานุภาพ ยศ และบริวารมาก  พญาจักรพรรดิมีสุรเสียงดังประดุจฟ้าฝ่าฟ้าผ่า  ตรัส(พูดออกมา)เมื่อใด แผ่นดินไหวเมื่อนั้น ท้าวพญาร้อยเอ็ดหัวเมือง ต่างมาอ่อนน้อม ยอมตนอยู่ภายใต้การปกครอง บ้านเมืองก็อยู่สุขเกษมสำราญ ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล พืชพรรณธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ มีกัลปพฤกษ์ 12 ต้นเกิดขึ้นด้วยบุญสมภารของพญาจักรพรรดิ พระสงฆ์จะทรงสิกขาบท บำเพ็ญภาวนา รักษาพระธรรมวินัย แผ่นดินก็จักราบเพียงเป็นดั่งหน้ากลอง พญาจักรพรรดิตนนั้น จะได้รักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้อีก 1,831 ปี เพื่อให้เต็ม 5,000 พระวัสสา คำทำนายจากจารึกผินศิลาพระอนทร์ก็จบลงเท่านี้ นับจากนั้นไปตลอดผูก เป็นเรื่องราวของสินธุรภิกษุณี ดังนี้  
 กาลครั้งหนึ่ง ในเมืองหริภุญชัย(เท่าที่อ่านเรื่องทั้งหมด คงไม่ใช่ หริภุญชัยลำพูน) พญาใสกล้า ผู้ครองเมือง มีธิดา 3 องค์  ผู้พี่ชื่อว่า “สีมูล”(ศรีมูล) ผู้กลางชื่อว่า “สีคันธา”(ศรีคันธา)  ผู้น้องสุดท้องชื่อว่า “สินธุระ” พระธิดาผู้พี่ทั้ง 2 ต่างมีครอบครัว และบุตรธิดาแล้ว เหลือแต่ธิดาผู้น้อง พญาใสกล้า ผู้พ่อ ประสงค์จะให้นางแต่งงานเป็นฝั่งฝา จึงเรียกธิดามาแจ้งให้ทราบว่า พ่อจะจัดการหาชายที่เหมาะสมมาเป็นสามีให้ นางบอกว่า ให้รอไปก่อน อะไรที่สมควรได้ มันก็จะได้ตามบุญของแต่ละคน แล้วนางก็ไปถามพี่ทั้งสองว่า ตอนตั้งครรภ์ มีลูกในท้อง พวกนางมีความสุขหรือความทุกข์เป็นอย่างไร พวกพี่ก็ตอบว่า มีความทุกข์ปางตาย จะกิน จะนอน จะเดินก็ลำบากเป็นที่สุดน่าเบื่อหน่ายแท้ๆ นางได้ฟังดังนั้นก็คิดว่า ถ้าเราแต่งงานมีสามีก็คงจะเป็นเหมือนพวกพี่สาว ถ้าได้สามีที่ดี ก็จะมีความสุข หากได้สามีร้ายก็จะเป็นทุกข์ นางจึงไม่ต้องการจะมีสามี  พญาผู้พ่อจึงใช้วิธีบังคับ  ออกประกาศให้ผู้ชายทั้งภายในเมือง และภายนอกเมืองทั้งหมดเข้ามาวังให้ลูกสาวได้เลือกคู่  ให้สาวใช้ไปเรียกนางมาเลือกคู่ในวันพรุ่งนี้  แต่นางตัดสินใจที่จะหลบหนีไป  เมื่อเวลาตอนกลางคืน นางจึงได้ลอบหลบหนีออกจากวัง โดยมุดออกทางช่องน้ำ(ช่องระบายน้ำ)  รีบวิ่งหนีไปจนถึงรุ่งแจ้ง เมื่อพญาตื่นบรรทมมา ไม่เห็นนาง รู้ว่านางหลบหนีไป จึงสั่งให้คนออกติดตาม แกะรอยไปจนทันเห็นหลังนาง ก็บอกว่า พญาให้กลับ แต่นางไม่ยอมกลับ แถมยังเร่งรีบวิ่งมุ่งหน้าหนีไปจนถึงริมฝั่งมหาสมุทร น้ำขวางหน้าทางตันไม่มีที่ไปอีกแล้ว  นางคิดว่า เราคงต้องตายแน่ ตอนหนีจากมาก็ไม่ได้บอกลาผู้ใด  ถือว่าเป็นความผิดต่อจารีตของบ้านเมืองเช่นนี้ จะขอตายดีกว่าหวนกลับไปให้ได้อับอายขายหน้า นางก็ตั้งสัจจะอธิษฐานไหว้วานเทวดาทั้งหลายว่า
“ข้าแด่เทพเจ้าผู้อยู่ในน้ำที่นี้เป็นต้น รวมทั้ง ครุฑ นาค และอิศวร ตัวข้าชื่อ นางสินธุระ ได้ฟังคำพ่อแม่ว่าจักหาสามีตกแต่งให้เป็นครอบครัว แต่ข้าฯรู้สึกเบื่อหนายในสังสารวัฏฏ์ จะขอกระโดดน้ำตายเสีย เมื่อข้าตายไป ขอให้ไปเกิดในที่ประเสริฐพ้นจากสังสารวัฏฏ์เถิด และขออย่าให้ซากสังขารของข้าฯเรี่ยรายกระจายไป”  เมื่อนางอธิษฐานจิตเสร็จแล้ว  ถอดคว้านตีน(หมายถึงเครื่องใส่เท้า)แขวนไว้บนต้นไม้ เพื่อฝากไว้ให้พ่อแม่เห็น แล้วกระโดดลงน้ำมหาสมุทรไป
ในครั้งนั้นพญานาค(ผู้รักษามหาสมุทร) ก็นำเอาดอกบัวทิพย์มารับไว้ นางไม่จมลงน้ำ ทั้งสามารถเดินไปบนผิวน้ำเหมือนเดินบนบก แล้วเดินต่อไปบนผิวน้ำ จนไปถึงเกาะกลางมหาสมุทร  ขึ้นไปนั่งอยู่แผ่นหินก้อนหนึ่ง ส่วนคนที่มาติดตามเมื่อ เห็นนางกระโดดลงน้ำแต่ไม่จม ซ้ำเดินไปบนน้ำเป็นปกติ ก็มองตามจนสุดสายตาแล้วกลับมารายงานพญา  ส่วนนางเทวีผู้เป็นแม่ ได้ยินคำคนใช้รายงานว่า ธิดาของนางกระโดดลงน้ำมหาสมุทรไปเช่นนั้น ก็รำพันว่า ลูกข้าฯต้องตายแน่ ร้องไห้จนล้มสลบไป  พญาเห็นเทวีสลบไป จึงประคองศีรษะนางขึ้นไว้เหนือตัก เป่ากระหม่อม สักครู่หนึ่ง นางก็ฟื้นได้คืนสติกลับมา พญาก็ปลอบว่า “อย่าร้องไห้เลย ถ้าลูกยังไม่ตาย (สัก)วันหนึ่งคงได้เห็นหน้ากัน”
นางสินธุระเมื่อถึงเกาะขึ้นไปนั่งอยู่บนหินแล้ว พญานาคก็เนรมิตมณฑป 1 หลัง ให้เป็นที่อยู่ทั้งเนรมิตเกาะนั้นให้อุดมไปด้วยผลาหาร ทั้งหวานทั้งเปรี้ยวไว้ให้นางได้กินตามใจต้องการ เมื่อนางอยู่ในมณฑปอย่างสุขสำราญนั้น  พระอินทร์ได้เนรมิตตนเป็นพราหมณ์เฒ่าเข้ามาที่พักนาง ร้องบอกว่า ตนหลงทางมา แถมอดอาหารมาหลายวันแล้ว ขออาหารกินประทังตายด้วย นางก็บอกว่า มีแต่ผลไม้ที่อยู่ตามต้นไม้นั้น ขอให้พราหมณ์ขึ้นปลิดเอาเองเถิด พระอินทร์กล่าวว่า เขาแก่แล้วปีนต้นไม้ไม่ไหว ขอให้นางหยิบใส่มือให้ด้วย นางจึงตอบว่า ท่านเป็นเพศชาย เราเป็นเพศหญิง จะให้เราปลิดผลไม้แล้ววางใส่ในมือแก่ท่าน มันผิดธรรมเนียมโบราณของคน(ชายหญิงไม่ใกล้ชิดกัน) ถ้าอยากกินแท้ๆ จงไปนอนหงายที่ใต้ต้นไม้นั่นเถิด พราหมณ์ก็ไปนอนอยู่ที่โคนต้นไม้ นางจึงอธิษฐานขอให้ลูกชมพู่ หล่นตกลงมาใกล้ๆ พอให้พราหมณ์หยิบกินได้ ผลชมพู่ก็หล่นตกลงในมือ  พราหมณ์เก็บได้เต็มถุง พระอินทร์เห็นบุญญานุภาพเช่นนั้น ก็คิดว่า นางผู้นี้มีบุญบารมีแท้ ภายหน้าจักได้เป็นพระตนหนึ่ง(พระอรหันต์) จึงได้แจ้งแก่นางว่า  เราคือพระอินทร์ผู้ครองสวรรค์ เล็งเห็นนางมีความทุกข์โศก จึงได้เนรมิตเกาะและลูกไม้ทั้งหลายไว้เพื่อให้เป็นอาหาร จงบริโภคตามสุขสบายเถิด แล้วประทานพร 10 ประการให้นางสินธุระ เมื่อนางพำนักอยู่ที่เกาะนั้น พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาแสดงธรรมโปรดจนนางบรรลุเป็นพระอรหันต์และคงอาศัยอยู่ที่เกาะดังกล่าวตลอดมา
ต่อมา บ้านเมืองของนางเกิดความโกลาหลวุ่ยวาย ด้วยมีสัตว์ 3 ชนิด คือ มีกุ้งตัวใหญ่ขนาดเท่าลำตาล มีปูตัวใหญ่ขนาดผืนสาดคล้า และ ปลาตะเพียนทองตัวใหญ่ อายุได้ 500 ปี อาศัยที่ “พรหมทันตาสระ” ในอุทยานของพญาตนพ่อ สัตว์ทั้ง 3 ตัวมีฤทธิเดชอำนาจมาก กลายเป็นยักษ์ออกมารบกวนบ้านเมืองให้เดือดร้อน ครั้งนั้น มีลูกสาวอามาตย์ผู้หนึ่งอายุได้ 16 ปี  อามาตย์เห็นว่า ควรหาคู่ครองตกแต่งให้เป็นฝั่งเป็นฝา จึงไปเกี่ยวดองกับบุตรชายอาจารย์ แล้วเชิญหมอมาหาฤกษ์ยามวันเดือนที่เหมาะสม หมอตรวจดูฤกษ์แล้วบอกว่า ปีเดือนนี้ยังไม่เหมาะ ขอให้เลื่อนไปแต่งในปีหน้าเถอะ อามาตย์ก็ให้บุตรชายอาจารย์อยู่เรียนศิลปศาสตร์กับปุโรหิต
วันหนึ่ง ลูกสาวอามาตย์ไปเที่ยวสวน ได้เห็นปลาตะเพียนทองว่ายเที่ยวเล่นไปมาในสระน้ำ นางจึงเด็ดดอกไม้โยนลงไปให้เป็นอาหารปลา พักผ่อนจนพอแก่ใจก็ชวนสาวใช้กลับวัง ขณะกลับนั้น นางได้เดินสวนทางกับชายหนุ่มผู้เป็นบุตรอาจารย์ แต่พวกเขายังไม่เคยได้พบหน้ากันก่อน นางรู้ว่า เขาเป็นคู่มั่นหมายของตน แต่เมื่อยังไม่ได้แต่งงานกันตามจารีต ก็ไม่ควรพูดจาทักทายและใกล้ชิดกัน ให้ผิดธรรมเนียม  จึงเดินหลีกลงข้างทางผ่านไป บังเอิญปิ่นปักผมของนางไปติดกับกิ่งไม้และตกลงไปที่พื้นดิน โดยที่นางไม่รู้ตัว แต่บุตรชายอาจารย์เก็บเอาไว้
 คืนนั้น ปลาตะเพียนทองคิดว่า เป้าหมายของการเกิดมาในโลกก็คือการได้คู่ครองจะด้วยวิธีผิดหรือถูกก็ตาม มันจึงเนรมิตตนเอง กลายเพศเป็นหญิงสาวให้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนดังธิดาของท่านอามาตย์ แล้วเดินไปที่บ้านพักของบุตรอาจารย์เรียกให้เขาเปิดประตู ทำทีถามถึงปิ่นปักผมที่ตกหายว่าท่านเห็นไหม ชายหนุ่มร้องตอบว่า เห็นและเก็บให้แล้ว เมื่อเปิดประตูออกมา ได้พบหญิงสาวที่คล้ายธิดาอามาตย์ ก็บอกว่า ให้รอที่หน้าบ้าน เขาจะไปนำปิ่นมาให้ เมื่อได้ปิ่นออกมา ก็ไม่พบหญิงสาว ร้องเรียก สอง สามครั้ง ก็ไม่มีคำตอบ จึงกลับเข้าไปในบ้าน กลับได้พบหญิงสาวนอนที่บนเตียงของตน ก็บอกว่า มันไม่เหมาะด้วยจารีต เพราะเรายังไม่ได้เข้าพิธีแต่งงานกัน  แต่ด้วยเล่ห์มารยาของปลาตะเพียนแปลงร่างมา ทำให้ชายหนุ่มต้องจำใจร่วมอภิรมย์ด้วยนางปลอม
เมื่อใกล้สว่าง นางก็ชวนหนีออกจากที่นั่น  ด้วยเหตุผลว่า เขาจากบ้านมานาน ควรกลับไปบ้าง และด้วยเกรงกลัวความผิดที่พวกตนชิงสุกก่อนห่าม จึงพากันหลบหนีไป เมื่อคนใช้อามาตย์นำอาหารไปส่ง เห็นประตูใส่กุญแจ แต่ไม่พบคน จึงกลับมาบอกเหตุนั้น อามาตย์จึงสั่งให้คนออกติดตาม  ไปทันชายหนุ่มกับหญิงสาวพอดี ตักเตือนว่า การหนีตามกันมาผิดจารีตคลองธรรม  ขอให้พวกเขากลับไปแจ้งแก่พ่อแม่ก่อน ถ้าจะไปจริง ๆ ก็ขี่ช้าง ขี่ม้ากลับไป จึงจะสมฐานะและยศศักดิ์
เมื่อชายหนุ่มและหญิงปลอมมาถึง อามาตย์เห็น คิดว่าเป็นธิดาของตน ก็โกรธมาก ร้องด่าทอภริยาด้วยด้วยคำอันหยาบช้า ไม่สั่งสอนลูก ทำให้ได้รับความอับอายขายหน้าชาวบ้าน จึงทุบตีภริยาตน ฝ่ายภริยาก็บอกว่า ธิดาสาวยังนอนอยู่ที่เตียง ไม่ได้ไปไหน จึงเข้าไปดูก็เห็นธิดาตัวจริงนอนอยู่ เรียกออกมา ปรากฏว่า เป็นธิดาสาวเหมือนกันทั้งสองคน สร้างความสับสน จึงถามซักไซ้เพื่อพิสูจน์ว่า คนใดเป็นลูกสาวจริง นางทั้งสองคนก็ตอบได้ตรงกััน และกล่าวหาอีกฝ่ายว่า เป็นยักษ์ปลอมมา เมื่อให้ชาวใช้ต่างๆ มาชี้ตัวก็ยังแยกไม่ออก ต่างชี้มั่วไป อามาตย์ก็สั่งว่า ถ้าอย่างนั้น เอาไปเผาไฟพิสูจน์เสีย เมื่ออามาตย์ถูกเขาห้ามก็โกรธมาก จึงหลบหนีไปอยู่ในที่อื่นเสียหนึ่งคืน  
วันรุ่งเช้า อามาตย์ไปทูลเรื่องราวแก่เจ้าเมือง ขอให้ช่วยเชิญพญาวิษณุกรรม(หมอดู) มาส่องดูว่า ลูกสาวคนใดตัวจริงตัวปลอม ฝ่ายนางปลาตะเพียนทองก็หายตัวไปบอกสหายกุ้งให้แปลงตัวเป็นวิษณุกรรมมาแทน แล้วพระวิษณุกรรม(ตัวจริง)ก็มาพบกันกับวิษณุกรรม(กุ้ง) และทั้งสองต่างก็ชี้ไปว่าคนนั้นใช่ คนไม่ใช่ตามความเห็นของตน พญาพิษณุทั้ง 2 ก็ถุ้มเถียงกันโดยไม่อาจชี้ชัดลงได้  พญาหริภุญชัยก็กล่าวว่า ควรไปเชิญพญาปทุมมาตัดสินอีกคน นางปลาตะเพียนทองก็หายตัวไปบอกปูยักษ์ให้แปลงกายเป็นพญาปทุม มาอีกคน เกิดมีพญาปทุม 2 คนอีก เรื่องราวไปกันใหญ่ คือ เกิดมีธิดาอามาตย์ 2 คน มีพญาวิษณุกรรม 2 คน และมีพญาปทุมอีก 2 คน  ทั้ง 6 คนต่างยืนยันว่า ตนเป็นตัวจริงทั้งนั้น พญาหริภุญชัยไม่อาจตัดสินได้ จึงรับสั่งว่า วันนี้หยุดเอาไว้แค่นี้ก่อน ขอเลื่อนไปพิจารณาตัดสินความในวันพรุ่งนี้
 พญาหริภุญชัย เมื่อเสด็จเข้าพระที่ก็ทำพิธีบูชาเทพเจ้้า มีท้าวทั้งสี่ รวมทั้งผีอารักษ์บ้านเมืองขอให้มาช่วยบอกนิมิตร กำจัดความเดือนร้อนให้ด้วย เมื่อพระองค์บรรทมก็ปรากฏสุบินว่า มีนกอินทรีนำดอกบัวมาถวาย พระองค์ทรงรับเอาด้วยหัตถ์เบื้องขวา แล้วก็สะดุ้งตื่น รุ้งแจ้งก็ให้เชิญหมอปุโรหิตมาทำนายพระสุบินนิมิต หมอปุโรหิตก็ทำนายถวายว่า ถ้ามหาราชเจ้าได้รับเอาดอกบัวด้วยหัตถ์เบื้องซ้าย พระองค์จักได้พบยังพระโอรส บัดนี้ มหาราชได้รับเอาด้วยหัตถ์เบื้องขวา พระองค์จักได้พบพระธิดาผู้ประเสริฐไม่ต้องสงสัย พญาหริภุญชัยตรัสว่า “นางสินธุระธิดาของเรา ได้ตกน้ำไปนานนับได้ 7 ปีแล้ว ไม่มีผู้ใจมาแจ้งข่าวคราวว่า นางยังมีชีวิตอยู่ หรือว่าได้ตายไป” ตรัสแล้วพระองค์ก็กรรแสงถึงพระธิดาสินธุระ
ในส่วนของพระธิดาสินธุระ เมื่อพำนักอยู่ที่เกาะกลางสมุทร ได้บวชเป็นภิกษุณีแล้ว  นางก็รำพึงถึงพระชนก-ชนนีี ว่า เราหนีมาอยู่ที่นี้ได้ 7 ปี ทางบ้านจะเป็นอย่างไรหนอ  นางก็ไขดูผอบแก้วส่องดูบ้านเมืองและพ่อแม่พี่น้อง ก็เห็นว่า บ้านเมืองบังเกิดโกลาหลเป็นอันมาก คิดว่า เราบวชเป็นสมณะแล้ว จะกลับไปหาพ่อแม่ด้วยตัวเองไม่ควร   ถ้าได้รับการนิมนต์ก่อนจึงจะไปได้ นางจึงไปขอร้องให้พญานาค แปลงเป็นพราหมณ์เฒ่า ไปสู่ปราสาทของพระชนกแล้วทูลถามว่า  พระองค์ยังอยากจะพบหน้าพระธิดาสินธุระหรือไม่  ถ้าพระองค์อยากพบ ขอให้ปลูกสร้างมณฑปขึ้นมาหลังหนึ่ง ในท่ามกลางเวียงแล้ว มุงด้วยผ้าขาว 7 ชั้น แล้วสร้างเตียงนอนสูงได้ 7 ศอก ปูลาดด้วยผ้าขาว ตั้งไหน้ำที่บรรจุเต็มด้วยน้ำหอมที่มุมมณฑปมุมละ 1 ไห มีขันดอกไม้ 1 ขัน    ขอให้มหาราชพร้อมทั้งเสนาอามาตย์พร้อมกันอาราธนา 3 ที พระธิดาก็จะมาปรากฏในเตียงนอนนั้น
เมื่อพญากระทำตามคำแนะนำและอาราธนาแล้ว  ยามนั้น ท้องฟ้าก็เกิดมืดมัวไปหมด มองไม่เห็นกัน สินธุรภิกษุณีก็เหาะมานั่งเหนือเตียง ครั้นท้องฟ้าแจ้ง เหล่าราชบริพาร พบพระธิดานั่งเหนืออาสนะ เหล่าอามาตย์ก็ไปทูลว่า พระธิดามาถึงแล้ว พญาหริภุญชัย จึงให้เรียกมเหสี และเหล่าสนมนางกำนัลให้นำเครื่องสักการบูชา มีข้าวตอกดอกไม้และเครื่องหอมเป็นต้นไปบูชานาง พร้อมกับถามพระธิดาว่า นางโกรธพ่อด้วยเรื่องใดจึงหลบหนีออกจากมืองไปโดยไม่สั่งลา นางก็บอกเหตุผลดังที่กล่าวมาว่า อยากพ้นจากวัฏฏะสงสารจึงได้หนีไปจนถึงเกาะกลางสมุทร ได้บวชเป็นภิกษุณีในสำนักของพระพุทธเจ้า และบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ที่เกาะตลอดมา
พญาหริภุญชัยก็ตรัสพ้อว่า นับแต่ลูกจาก พ่อไปไม่ทราบว่าเป็นหรือตาย แต่ใจคิดว่า ลูกได้ตายจากพ่อไปแล้ว บัดนี้เป็นบุญนักหนาที่ลูกยังมีชีวิตกลับมาหา พ่อมีความดีใจและความสุขอย่างที่สุด แต่ว่า บ้านเมืองของเราตอนนี้เกิดเหตุเดือดร้อน  และไม่ทราบว่า จะเป็นเพราะเหตุใด เพื่อแก้ไขปัดเป่า จึงได้ทำพิธีเชิญลูกให้มาช่วยแก้ไขความเดือดร้อน
สินธุรภิกษุณีจึงสั่งว่า ขอให้ไปนำธิดาอามาตย์ หมอวิษณุกรรม และพญาปทุมมาในที่นี้ให้ลูกได้ดูก่อน แล้วจะรู้ความจริง พญาก็ใช้คนไปนำธิดาอามาตย์  หมอวิษณุกรรม และพญาปทุมมาที่กลางเวียง แต่เมื่อพนักงานไปนำพวกเขา 6 คนมาที่ปะรำพิธี  ทุกคนกลับเห็นคนเพียง 3 คน เป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก   จึงถามสินธุรภิกษุณีว่า พระธิดาคงมีวิชาสิปปคุณแก่กล้าแน่ๆ นางก็ตอบว่า นางไม่มีวิชาสิปปคุณอันใดพิเศษ เพียงแต่ได้บำเพ็ญภาวนาเมตตาอยู่เท่านั้น แต่ถ้าพระบิดาและเหล่าราชบริพารอยากเห็นเหตุการณ์นี้แล้ว ขอให้สร้างมุ้ง(สุด)ใหญ่มีความยาว 8 ศอก ความกว้าง 8 ศอกให้นำไห(ตุ่มน้ำ)ตาลใหญ่ จำนวน 3 ลูก ขนาดกลว้าง 3 ศอก และสูงได้ 3 ศอก เติมน้ำให้เต็มไหตาล 3 ลูกนั้น เอามุ้งครอบไว้ ก็จะเห็นสัตว์ 3 ตัวที่เป็นต้นเหตุเอง พญาผู้พ่อก็สั่งให้ทำตามคำของนาง แล้วนำเอามาวางไว้ในที่ใกล้สินธุรภิกขุนี
เมื่อนั้น สินธุรภิกขุนี ได้เริ่มสวดธัมม์(สาธยายพระสูตรต่างๆ) ที่ได้เรียนมาในสำนักพระพุทธเจ้า เริ่มตั้งแต่บท  เย สันตา,(มังคลสูตร) ยานีธะ,(รตนสูตร) กะระณี,(กรณียเมตตสูตร) มหาสมัย(มหาสมยสูตร)  ขณะที่ภิกษุณีสาธยายธัมม์อยู่นั้น สัตว์ 3 ตัว มีปลาตะเพียนยักษ์ ที่แปลงกายเป็นธิดาอามาตย์  กุ้งยักษ์ที่แปลงกายเป็นหมอวิษณุกรรม และปูยักษ์ ที่แปลงกายเป็นพญาปทุม ด้วยอานุภาพแห่งการสวดธัมม์(เจริญพุทธมนต์)ซึ่งมีฤทธิอำนาจมาก พวกเขาไม่อาจหลบหนีไปได้ ก็ได้มาปรากฏอยู่ในไหตาลนั้น แล้วนางก็เชิญให้ทุกคนมาแลดูในไหตาลที่มุ้งครอบไว้
เมื่อคนทั้งหลายได้เปิดมุ้งและมองดูในไหตาลก็พบสัตว์ใหญ่ 3 ตัว คือในไหตาลแรก พบปลาตะเพียนทอง ความยาวประมาณ 3 ศอกคืบ ไหตาลลูกที่ 2 ก็เห็นปูตัวใหญ่ขนาดเท่าฝามุนต่าง(ตอนแรกบอกขนาดเสื่อลำแพน) ดวงตาโปนโตเท่าลูกมะกอก ตีนยาว 1 วา 1 ศอก และในไหตาลลูกที่ 3 ก็เห็นกุ้ง มีลำตัวใหญ่ขนาดเท่าลำตาล ดวงตาใหญ่ขนาดเท่าลูกมะกอก  หนวดยาว 1 วา มีดวงตาอันแข็งกร้าว น่ากลัวยิ่งนัก นางก็กล่าวว่า  ปลาตะเพียนทองที่เนรมิตตนเป็นลูกสาวอามาตย์นั้นเพราะมันมีราคะตัณหาเกิดความรักใคร่กับบุตรชายอาจารย์ เมื่อมันเห็นบุตรชายอาจารย์พบกับธิดาอามาตย์ขณะที่ทั้งสองเดินสวนทางกันที่อุทยานวันนั้น ตัวเนรมิตเป็นหมอวิษณุกรรมก็ได้แก่ปูยักษ์ตัวนี้ ส่วนที่เป็นพญาปทุมก็คือกุ้งตัวนี้ เพราะเขาทั้ง 3 ตัวเป็นสหายกัน  
คนทั้งหลายเมื่อได้ยินคำสินธุรภิกษุนีกล่าวเช่นนั้น ก็ขอนุญาตว่า ควรนำสัตว์เหล้านนี้เอาไปฆ่าเสีย เพราะมันเป็นเหตุให้บ้านเมืองเดือดร้อนวุ่นวาย นางจึงห้ามว่า  เราเป็นสมณะไม่อนุญาตให้ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แล้วจึงๆด้เล่าถึงวิบากกรรมในอดีตของสัตว์ทั้ง 3 ให้คนทั้งหลายได้รับรู้ว่า  ในชาติก่อนนี้ พวกเขาเป็นสหายกัน เคยไปฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าด้วยกัน ในชาตินี้ วิบากกรรมเขามีจึงได้มาเกิดเป็นสัตว์ติรัจฉาน  วิบากของปลาตะเพียนทองนี้ ชาติก่อนเกิดเป็นลูกมหาเศรษฐี  ชอบกินแต่เนื้อปลาตะเพียนอย่างเดียวเป็นอาหาร อย่างอื่นไม่กิน  พ่อแม่ต้องพยายามหาซื้อเอามาให้เขากินให้ได้ไม่ว่าจะมีราคาจะแพงเท่าใดก็ยอม พรานปลาทั้งหลายรู้ว่ามีปลาตะเพียนอยู่ที่ใด ก็ไปหานำมาขายแก่เศรษฐี ด้วยวิบากกรรมนั้น มันตายไป จึงได้มาเกิดเป็นปลาตะเพียนทองถึง 500 ชาติ
วิบากกรรมของปูตัวนี้ ชาติก่อนเกิดเป็นลูกพญาตนหนึ่ง อยู่ในเมืองวิเทหะ ชอบนำปูมาเล่นชนกัน ให้คีบกัน ถ้าว่ามีปูตัวใหญ่อยู่ที่ใด ก็ไปเอามาขังไว้แล้วเอามาชนกันคีบกันเล่น ครั้นปูตายไปก็กินเนื้อปู และน้ำปูอยู่เสมอ ครั้นตายไปจึงได้มาเกิดเป็นปูถึง 500 ชาติ
  วิบากกรรมของกุ้งตัวนี้ ในชาติก่อนมันได้เกิดเป็นเป็นลูกเศรษฐีในเมืองวิเทหะ เขาชอบกินแต่กุ้งเป็นอาหารทุกวัน อาหารชนิดอื่นมันก็ไม่กิน ครั้นตายไปจึงเกิดเป็นกุ้งถึง 500 ชาติ  แต่เพราะเคยได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า มาชาติสุดท้ายพวกเขาจะได้เกิดเป็นคน และเราจะสั่งสอนธรรมของพระพุทธเจ้าแก่พวกเขา และพวกเขาก็จะได้บรรลุธรรมต่อไป แล้วภิกษุณีก็เทศนาสั่งสอนให้พญาและข้าราชบริพาร ละเว้นจากทุจริต ประพฤติสุจริต จงรักษาศีล 5 ศีล 8 เจริญเมตตาภาวนา ให้ทานแก่พระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวก อย่าตระหนี่ และอย่าประมาททางบุญ ขอให้ดำรงตนอยู่ในทศพิธราชธัมม์ บ้านเมืองก็จะจำเริญมาก จงบริจาคปัจจัยทั้ง 4 แก่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์อย่าได้ขาด  อานิสงส์จะได้พ้นจากความทุกข์ในวัฏฏสงสาร มีนิพพานเป็นที่สุด ในสำนักพระศรีอริยไตรย์ที่จักมาตรัสรู้ในภายหน้า
ในกาลนั้น พญาแลเสนาอามาตย์รวมทั้งชาวเมือง เมื่อได้ฟังคำสอนของสินธุรภิกษุณีแล้ว ก็มีความชมชื่นยินดีมาก ต่างบูชาด้วยข้าวของ เงินทอง ผ้าผ่อน ท่อนจันทน์มากมาย กองกันสูงขึ้นได้ขนาดเท่าชั่วต้นตาล  สินธุรภิกษุณีก่อนที่จะจากไปก็เขียนหนังสือสั่งไว้ด้วยคำว่า “เมืองอันนี้ให้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า รินทมาตานคร ด้วยชื่อนี้ก็จักมีความอุดมสมบูรณ์ มีฤทธิ์อำนาจมาก”  แล้วนำไหตาล 3 ไห ที่สัตว์ 3 ตัวอยู่ เหาะไปสู่เกาะของตน โดยไม่ได้บอกลาผู้ใด
ที่นั้น พญาพร้อมทั้งเสนาอามาตย์ทั้งหลาย ไม่เห็นนางที่เตียง พบแต่หนังสือที่นางเขียนสั่งไว้ จึงปรึกษากันว่า เครื่องบูชาประมาณเท่านี้ นางก็ไม่เอาไป พวกเราควรจะทำอะไรดี อามาตย์ทั้งหลายก็ทูลว่า ควรสร้างอารามถวายให้เป็นที่อยู่ของพระอรหันต์ ส่วนเงินและทองนั้น ให้นำมาหล่อเป็นพระพุทธรูปไว้ประจำในอาราม พญาก็ให้กระทำตามนั้น และหล่อรูปพระอัครสาวกขวาซ้าย สองรูป  หล่อรูปเหมือนสินธุรภิกษุณีไว้ด้วย ตั้งชื่อ อารามว่า “มาตาสิทธิอาราม” แล้วพญาก็มาเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่ว่า “รินทมาตานคร”  เมืองนี้ตึ้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองมคธ ไปทางทิศตะวันออก ใช้ระยะการเดินทาง  8 คืน   ท้านสุด พญาก็จัดการตกแต่งธิดาอามาตย์กับบุตรชายอาจารย์ให้ได้อยู่ด้วยกันวันนั้นเอง
เมื่อสินธุรภิกษุณีนำสัตว์ทั้ง 3 ไปที่เกาะ อนุสสติได้ว่า ในชาติก่อนท่านเคยได้ตั้งปฏิญาณแก่กันเอาไว้ บัดนี้ถึงเวลาที่จะได้เปลื้องคำปฏิญญาโปรดให้พวกเขาถึงความสุข  จึงตั้งสัจอธิษฐานว่า “ข้าแด่พญาอินทราธิราช พญาพรหม และท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ขอจงเป็นสักขีแก่ข้าฯ ขอให้สัตว์ 3 ตัวนี้ได้กลับถือกำเนิดเป็นมนุษย์ด้วยเถิด”   ในกาลนั้น อินทราธิราชได้รู้เหตุก็เสด็จลงมาสู่สำนักแห่งสินธุรภิกษุญี  เอาน้ำต้นคนทีรดลงบนตัวสัตว์ทั้ง 3 ทันใดนั้น สัตว์ทั้ง 3 ก็กลายเป็นทารกน้อย 3 คน  ปลาตะเพียนทองเกิดเป็นกุมารี ส่วนปูและกุ้ง เกิดเป็นกุมาร 2 คน สินธุรภิกษุณีเมื่อเห็นสัตว์ทั้ง 3  กลายเป็นคนด้วยอำนาจสัจอธิษฐานของตน ก็มีใจชื่นชมยินดีมาก ได้ถนอมเลี้ยงทารกน้อยทั้ง 3 ไว้ จนถึงอายุได้ 7 ขวบ นางก็สอนกัมมัฏฐานภาวนาให้ ทารกทั้ง 3 เมื่อปฏิบัติตามก็ได้บรรลุอรหันตมัคค-ผล

ข้อสังเกต จากโวหารตำนานเรื่องสินธุรภิกษุณีท่านนี้ บอกว่า นางได้พบพระพุทธเจ้า และสดับพระธรรมเทศนาที่โปรดโดยพระพุทธองค์  บรรลุเป็นพระอรหันต์ผู้มีฤทธานุภาพ   เมื่อตรวจสอบประวัติของพระเถรีที่สำคัญในสมัยพุทธกาล ยังไม่ปรากฏว่ามีส่วนคล้ายหรือเทียบเคียงกับจริยาวัตรของพระเถรีรูปใด ในตำนานระบุชื่อพญาบิดาว่า พญาใสกล้า เจ้าเมืองหริภุญชัย ก็คงไม่ใช่ นครหริภุญชัย (ลำพูน)  เพราะตอนจบ บอกพิกัดว่า เมืองหริภุญชัย อยู่ห่างจากเมืองมคธ (ราชคฤห์) ไปทางทิศตะวันออก ระยะทางวัดด้วยการเดินเท้า สิ้นเวลาพักแรมระหว่างทาง 8 คืน ชื่อพี่สาว 2 คน คือ นางสีมูล(ศรีมูล) และ  นางสีคันธา(ศรีคันธา) แต่ตัวนางเองชื่อ สินธุระ เห็นแปลกออกไป ถ้าจะให้เข้าชุดกัน น่าจะเป็นสีธร(ศรีธร หรือ สิริธร แปลว่า ผู้ทรงศิริ) แถมยังมีเรื่องปาฏิหาริย์ ที่สัตว์(ซึ่งมีอำนาจตบะมาก เพราะมีอายุยืนถึง 500 ปี) สามารถแปลงกายเป็นคน มาสร้างความวุ่นวายโกลาหลแก่มนุษย์ จนภิกษุณีต้องมาปราบ และนำสัตว์กลับไปอธิษฐานให้สัตว์ทั้งสามได้อัตภาพใหม่ โดยเกิดเป็นมนุษย์ ว่าโดยข้อเท็จจริง ยังไม่สามารถปลงใจเชื่อได้ว่า เรื่องทำนองนี้จะมีความเป็นไปได้ แต่ว่าโดยสาระแห่งพระธรรมีกถา  ก็ควรรับฟัง เพราะเน้นชี้แจงเรื่องบาปบุญคุณโทษ กรรมและวิบากของกรรม และการเจริญภาวนาเพื่อมุ่งสุ่ความหลุดพ้นจากวัฏฏสงสาร สิ้นทุกข์เข้าสู่ความสุขมีพระนิพพานเป็นที่สุด.     (พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ตรวจสอบ เรียบเรียง มีนาคม 2559)

วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2559

สมปรารถน์สังคมคุณภาพ : บทวิเคราะห์ เรื่องลำดับที่ 9 ชุด วิถีล้านนา : ปทัสถานสังคมคุณภาพ

สมปรารถน์สังคมคุณภาพ บทวิเคราะห์เชิงปรัชญาบนฐานภูมิปัญญาโบราณล้านนา

            จากการได้ศึกษาวิเคราะห์ภูมิปัญญาล้านนาจากเอกสารโบราณที่ประกอบด้วย คัมภีร์ใบลาน และพับสา จำแนกตามองค์ประกอบ 3 ประการ ของปทัสฐานทางสังคม คือ วิถีประชา  กฎศีลธรรม และกฎหมาย ผู้เขียนได้เล็งเห็นว่า บรรพบุรุษชาวล้านนา มีกรอบการดำรงชีวิตทั้งที่เป็นส่วนปัจเจก หรือส่วนตัว มีอิสรเสรีภาพ เป็นไทแก่ตนเอง และส่วนที่เกียวข้องกับสังคม ผ่านคติความเชื่อ จารีตประเพณีและวัฒนธรรม ที่เรียกว่า วิถีประชา และกฎทางศีลธรรม กติกาทางสังคมที่วางระบบแนวปฏิบัติให้สมาชิกในสังคมได้กระทำตาม ที่เรียกว่า กฎหมาย แม้จะถูกมองว่า กติกาบางอย่างจำกัดความมีอิสระเสรีภาพส่วนบุคคลไปบ้าง แต่ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันการอยู่ร่วมกันอย่างสงบ มีสันติสุข นั่นถือว่า เป็นชีวิตที่มีคุณภาพ เมื่อบุคคลอยู่ในสังคมที่มีระบบระเบียบ มีหลักประกันความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน อยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์  ความสงบสุขร่มเย็นย่อมเกิดมีได้ในสังคมนั้น ขอเรียกว่า เป็นสังคมคุณภาพ ที่ทุกสังคมในโลกนี้ต้องการ
              มองในด้านคุณภาพชีวิต  ที่มีนักวิชาการหลายท่านให้ความหมายไว้ เช่น  ศิริ  ฮามสุโพธิ์  (2536 , หน้า 33) กล่าวว่า “คุณภาพชีวิต หมายถึง  ชีวิตของบุคคลที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างเหมาะสม  ไม่เป็นภาระและไม่ก่อให้เกิดปัญหากับสังคมเป็นชีวิตที่มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถดำรงชีวิตที่ชอบธรรม  สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม  ค่านิยมของสังคม สามารถแก้ไขปัญหา ตลอดจนการแสวงหาสิ่งที่ตนปรารถนาให้ได้มาอย่างถูกต้องภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่” และ นิพนธ์   คันธเสวี  (2537 , หน้า 10) กล่าวว่า “คุณภาพชีวิต  หมายถึง  ระดับสภาพการดำรงชีวิตของมนุษย์ตามองค์ประกอบของชีวิตอันได้แก่  ทางร่างกาย  ทางอารมณ์  ทางสังคม  ทางความคิดและ  จิตใจ”        จากตัวอย่างที่ยกมาพอสรุปได้ว่า  “คุณภาพชีวิต  หมายถึง  การดำรงชีวิตในระดับที่เหมาะสมของมนุษย์  ตามสภาพความจำเป็นพื้นฐานในสังคม  ซึ่งสนองต่อสิ่งที่ต้องการทางร่างกาย  จิตใจ  อารมณ์  สังคมและความคิดอย่างเพียงพอ  จนก่อให้เกิดความสุขตลอดทั้งการมีสุขภาพทางร่างกายและจิตใจที่ดี”
              มองในด้านองค์ประกอบของคุณภาพชีวิตมี 5 ด้าน ดังที่อาร์  ซี  ซาร์มา(Sharma)  ผู้เชี่ยวชาญของยูเนสโก (Unesco)  กล่าวไว้ โดย ศิริ   ฮามสุโพธิ์ นำมาอ้างไว้ ได้แก่  “1.  มาตรฐานการครองชีพ  (standard  of  living)  หมายถึง  มาตรฐานความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของประชากร  เกี่ยวข้องกับรายได้ต่อบุคคล  สุขภาพ  การศึกษา  ที่อยู่อาศัย  และการสังคมสงเคราะห์  2. การเปลี่ยนแปลงของประชากร  (population  dynamics)  หมายถึง  การเปลี่ยนแปลงประชากรอันเป็นผลมาจากการเกิด  การตาย  และการย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย  มีผลให้ประชากรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เพิ่มจำนวนหรือลดลง  3.  ระบบสังคมและวัฒนธรรม  (socio – cultural  factors)  มนุษย์เมื่อรวมกันมากจำเป็นต้อง   มีระบบ  มีกฎเกณฑ์ที่เรียกว่า  รูปแบบการปกครอง  กฎหมาย และมีแนวปฏิบัติอันเกิดจากความเชื่อและศรัทธาในลักษณะเดียวกัน  เพื่อให้การดำรงชีวิตร่วมกันมีความสงบสุขซึ่งจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี 4.  กระบวนการพัฒนา  (process  of  development)  การพัฒนาเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น  โดยจะต้องกระทำอย่างต่อเนื่องกันและสัมพันธ์กับปัจจัยทางสังคม  สภาพแวดล้อมและทรัพยากร  เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และ 5.  ทรัพยากร (resources)   ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ จะมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ  จะมีผลทำให้มาตรฐานการดำรงชีวิตอยู่ในระดับสูง[1]  จาก 5 องค์ประกอบนั้นผู้เขียนเห็นว่า องค์ประกอบสำคัญ คือ ข้อที่ 3 ที่ว่าด้วย ระบบสังคมและวัฒนธรรม  (socio – cultural  factors)  ที่เป็น รูปแบบการปกครอง  กฎหมาย  แนวปฏิบัติที่ตั้งอยู่บนฐานแห่งความเชื่อในลักษณะเดียวกัน  การดำรงชีวิตร่วมกันอย่างสงบสุข ย่อมนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสังคมแห่งคุณภาพ
              ตัวบ่งชี้ สังคมคุณภาพแห่งวิถีชีวิตชาวล้านนาในอดีต ตามกรอบปทัสฐานทางสังคม ผู้เขียนขอนำเสนอหลักฐานตามลำดับดังนี้
               ตัวบ่งชี้ด้านวิถีประชา ในคัมภีร์โลกถานะ หรือ มูลโลก ได้ให้ตัวอย่าง วิถีประชาเอาไว้มากมาย ในที่นี้จะขอยกตัวอย่าง จารีตการประกอบพิธีมงคลเกียวกับชีวิต มาแสดงดังนี้ลูกชาย หรือ หญิงคนอื่นที่เอามาเลี้ยง เมื่อจักทำมงคลพิธี ตัดผมโกนผมนั้นให้ทำที่เรือนของพ่อแม่บังเกิดเกล้าของเขา ไม่ควรทำที่บ้านพ่อแม่บุญธรรม หากไม่มีพ่อแม่ก็ให้ไปทำที่พระธาตุเจดีย์หรือต้นไม้ใหญ่
               เมื่อลูกบุญธรรมจะแต่งงานออกเรือน, พ่อสื่อแม่สื่อนำหมากเมี่ยงมาเจรจาสู่ขอไม่ควรเจรจาสู่ขอกันบนเรือนของพ่อแม่บุญธรรม ไม่ควรรับเอาหมากเมี่ยงที่เขานำมาด้วย และไม่ควรประกอบการมงคลในเรือนดังกล่าว หากทำก็จักพินาศฉิบหายมากนัก ควรประกอบการมงคลที่เรือนพ่อแม่ของตน หากไม่มีพ่อแม่ในที่แห่งนั้นก็ให้ปลูกกระท่อม ปลูกเรือนขึ้นมาใหม่สักหลังหนึ่งแล้วค่อยทำการมงคลในเรือนที่สร้างขึ้นมาใหม่นั้น พ่อสื่อแม่ที่มาพูดคุยกับพ่อแม่บุญธรรมนั้นก็ให้มาพูดคุยเรือนดังกล่าว หมากเมี่ยงที่เขานำมาก็ไม่ควรเอาเข้าในร่มชายคาของเรือนพ่อแม่บุญธรรม  ไม่ควรให้จับถืออะไรทั้งสิ้นแม้กระทั่งน้ำก็ไม่ควรให้กิน
               บ้านเรือนของปู่ย่าที่มีหลายชาย-หญิงอยู่นั้น เมื่อถึงคราวจัดงานมงคล 3 ลักษณะ คือ ผูกข้อมือเรียกขวัญ, จัดเลี้ยงดูแขก, งานแต่งงาน เมื่อลูกหลานเหล่านั้นได้ตายไปก็ไม่ควรประกอบโกตุมงคล 3 ประการ พร้อมกัน คือ ผูกข้อมือ, อาบน้ำอุ่น, ป้อนข้าวกุม ให้เว้นไว้เสีย 1 อย่างเนื่องจากไม่ใช่ลูก หากทำพร้อมกันทั้ง 3 ประการ มักพินาศฉิบหาย
               ลูกหลานเกิดอีกเรือนหนึ่ง ปู่ย่าอยู่อีกเรือนหนึ่งและไปเอามาเลี้ยง เมื่อถึงเวลาที่จะออกเรือนก็ไม่ควรทำพิธีแต่งงานในเรือนของปู่ย่า ให้ปลูกกระท่อมไว้อีกที่แล้วให้ทำพิธีในเรือนนั้น แต่ถ้าปู่ย่ายกเรือนให้ก็สามารทำพิธีแต่งงานในเรือนปู่ย่าได้ หากไม่ทำตามก็จักพินาศฉิบหายถึงแก่ชีวิตจนชั่วลูกชั่วหลาน
               หญิงผู้ใดลักลอบได้เสียแล้วเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมาก็ไม่ควรทำพิธีแต่งงาน หากทำก็จักพินาศฉิบหายถึงแก่ชีวิต ส่วนผู้หญิงใดมีสามีแล้วสามีตายหรือหย่าร้างกันไปก็ไม่ควรทำพิธีมงคลสมรส ผู้ชายก็เช่นเดียวกัน, ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องของจารีตการแต่งงาน
               ในบ้านเรือนใดมีคนท้องอาศัยอยู่ ไม่ควรกระทำการมงคลสมรส หากทำจักวินาศฉิบหายทุกอย่าง, ผู้ที่จะไปร่วมงาน ข้าวของเครื่องใช้เป็นต้นว่า หม้อน้ำ เสื่อ ที่นอน ฯลฯ ให้เครือญาติเดียวกันเป็นคนถือไป ญาติที่กำลังตั้งครรภ์นั้นไม่ควรถือไป
               คู่บ่าวสาวที่จะแต่งงานกันนั้น หากพ่อแม่ของฝ่ายชายยังมีชีวิตอยู่ แต่พ่อแม่ของฝ่ายหญิงสาวเสียชีวิตไปแล้ว หรือพ่อแม่ฝ่ายชายเสียงชีวิตไปแล้ว แต่พ่อแม่ฝ่ายหญิงยังมีชีวิตอยู่นั้นก็ไม่ควรทำพิธีผูกข้อมือบ่าวสาว ควรตบแต่งตามประเพณี หากพ่อแม่ของทั้งคู่ยังมีชีวิตอยู่ก็ควรทำพิธีผูกข้อมือได้”
               ตัวอย่างที่ยกมานี้ เป็นเรื่องของธรรมเนียมหรือจารีตท้องถิ่น หากกระทำตามย่อมได้รับการสรรเสริญ หากละเมิด ฝ่าฝืน จะได้รับการติิเตียนนินทาจากสังคม
              ตัวบ่งชี้ด้านกฎทางศีลธรรม ในคัมภีร์ ปาฏิโมกข์คฤหัสถ์ จะมีหลักคำสังสอนให้ผู้ครองเรือนตั้งมั่นอยู่ในหลักศีลธมมอันดี เป็นคนดี ทางพุทธศาสนา ที่เรียกว่า อุบาสก(ชาย) หรือ อุบาสิกา(หญิง) จำแนก ออกเป็นระดับต่าง ๆ ดังความว่า “ผู้เข้าถึงไตรสรณคมน์ นั้นได้ชื่อว่า ติสรณคมนอุบาสก, ผู้ที่มีศีล 5 ชื่อนั้นได้ชื่อว่า สีลวันตอุบาสก, ผู้ที่เลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีพนั้นได้ชื่อว่า สัมมาชีวอุบาสก หากผู้ใดมีครบทั้ง 3 อย่างนี้ เรียกว่า มหาสัมปัตติมังคลอุบาสก แต่ถ้าไม่มี 3 อย่างนี้ เรียกว่าวิปัตติจัณฑาลอุบาสก หรือ ลาลลิ ลามกอุบาสก ผู้ถ่อย
               ยังมีคำแนะนำการคบมิตร ลักษณะมิตรดีมิตรชั่ว  ข้อควนประพฤติ และข้อควรเว้น ดังตัวอย่าง ต่อไปนี้ “มิตรที่ดีมีคุณสมบัติ คือ เป็นผู้ที่มีศรัทธามั่นคง, เป็นผู้มีศีล, เป็นผู้ที่ให้ทานอยู่เนืองๆ, เป็นผู้มีสติสัมปัชชัญญะ, เป็นผู้มีปีญญา น่าเคารพเลื่อมใส, เป็นผู้คอยแนะนำแต่สิ่งที่มีประโยชน์ให้, เป็นผู้มีความอดกลั้นต่อคำด่าของผู้อื่น และพูดมีหลักการ ลึกซึ้ง มีเหตุผล ไม่สั่งสอนในสิ่งที่ผิดทำนองคลองธรรม ผู้ใดมีคุณสมบัติดังที่กล่าวมานี้เรียกได้ว่าเป็นมิตรที่ดี พึงคบหาสมาคมกันไว้
               หากขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้าน, เป็นคนเรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักระงับความโกรธ และพูดจาสุภาพอ่อนหวาน ภัยทั้งทั้งหลายย่อมไม่มาถึงตนและมีมิตรที่ดีเข้ามา หากสำรวมระวังในอินทรีย์ทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พรหมจริยกรรม คือ เส้นทางสู่พระนิพพานก็จะเกิดมีขึ้นอยู่ในตน หากเป็นคนรักษาสัจจะ มิตรที่ดีย่อมเข้ามาสู่ตน
               หากหมั่นทบทวนและสาธยายธรรม หมั่นแสวงหาความรู้ ฟังธรรมและสนทนาไต่ถามบัณฑิตย่อมนำปัญญามาสู่ตน หากหมั่นพิจารณา ทบทวน ธรรมะย่อมเกิดขึ้นกับตน           ไม่รู้จักสาธยายธรรม ย่อมนำตนตกอยู่ในความไม่รู้ หลงผิด คือ อวิชชา
               พูดโกหก พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ ไม่รู้จักให้ทาน ย่อมนำศัตรูมาสู่ตน    ไม่สำรวมระวังกาย จมูก ปาก ย่อมนำความอัปมงคลมาสู่ตน คบคนชั่วเป็นมิตร ย่อมนำความเดือดร้อนมาให้ ทำในสิ่งที่เหนือบ่ากว่าแรงแห่งตนย่อมนำพาโรคภัยไข้เจ็บมาสู่ตน ไม่อาบน้ำชำระล้างร่างกาย ย่อมนำความสกปรกมาสู่ตน เกียจคร้านในการงาน ย่อมนำความฉิบหายมาสู่ตน
               การที่ได้คบคนดีนั้นย่อมทำให้ได้ฟังพระธรรมคำสอน เมื่อได้ฟังแล้ว ศรัทธาจึงเกิดขึ้น เมื่อศรัทธาเกิดขึ้นแล้ว จิตย่อมตั้งมั่นเข้าสู่พระนิพพาน เมื่อตั้งมั่นเข้าสู่พระนิพพาน สติปัญญาจึงเกิด เมื่อสติปัญญาเกิดขึ้นแล้วก็จักสำรวมในอินทรีย์ทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ปาก กาย ใจ เมื่อสำรวมในอินทรีย์ได้แล้วจึงเกิดกุศลจิต เมื่อกุศลจิตเกิดขึ้นแล้วย่อมนำไปสู่สติปัฏฐานธรรม เมื่อสติปัฏฐานธรรมเกิดแล้วโพชฌงค์ทั้ง 7 ก็เกิดตามมา เมื่อโพชฌงค์ทั้ง 7 ครบถ้วนบริบูรณ์แล้วจึงเข้าถึงมรรค ผล นิพพาน ดั่งเช่นเม็ดมะขามป้อมตกอยู่ในมือแล้ว ด้วยเหตุนี้ การคบคนดีเป็นมิตรนั้นเป็นบาทฐานอันจักนำไปสู่สวรรค์ชั้นฟ้าและพระนิพพานได้
               หากคบคนชั่วเป็นมิตรย่อมมักได้ยินแต่เรื่องสิ่งที่ผิดไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อได้ยินแล้วทำให้ไม่เชื่อในพระธรรมของพระองค์ ย่อมทำในสิ่งที่ผิดทำนองคลองธรรม ขาดการพินิจพิจารณา ทำให้ไม่สำรวมในอินทรีย์ทั้ง 6 ก่อเกิดนิวรณธรรมดุจหมอกอันบดบังนัยน์ตาอันประกอบด้วย ความพอใจในกามคุณทั้ง 5, ความโกรธอาฆาต ความขัดเคืองใจ,  ความหดหู่ง่วงเหงาหาวนอน, ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ, ความลังเลสงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้า”
               ที่ยกมานี้ พอจะเป็นตัวบงชี้ว่า ชาวล้านนา มีหลักคำสอนทางศีลธรรมจรรยา ที่มุ่งขัดเกลาให้สมาชิกเป็นคนดีของสังคม ถ้าสมาชิกเป็นคนดี ย่อมสร้างสังคมให้เกิดความสงบได้
              ตัวบ่งชี้ด้านกฎหมาย การปกครองบ้านเมืองเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย จำเป็นต้องตรากฎหมายออกมาประกาศใช้ให้ประชาชนได้ยึดถือปฏิบัติ หากทำผิดกฎหมาย ก็ให้พิจาณาวินิจฉัยตามข้อเท็จจริง ไต่สวนได้ความจริงอย่างไร กฎหมายกำหนดโทษหนังเบาอย่างไรก็ให้ลงโทษทัณฑ์ตามบทบัญญัติ คดีความจึงจะเกิดความยุติธรรม และมีความเป็นธรรม บรรพบุรุษชาวล้านนา นอกจากจะมีกฎจารีตตามที่กล่าวมาแล้ว ยังมีกฎหมายวิธิพิจารณาความทางอาญา และทางแพ่งเอาไว้ชัดเจน เรียกว่า ธรรมศาสตร์ หรือ กฎหมายโบราณ เอาไว้เป็นธรรมนูญการปกครอง เป็นขื่อเป็นแปของบ้านเมือง
              ตัวอย่างที่ 1 การตรากฎหมาย ในสมัยพญามังราย เรื่องการจัดสรรอำนาจและหน้าที่ ดังความว่า
               “ศรีสิทธิการ ราชศาสตร์ฉบับนี้ พญามังรายได้ทรงทราบมาแต่โบราณนับตั้งแต่ท้าวญาปู่เจ้าลาวจกผ่านมาถึง 24 รัชกาล  จนกระทั่งมาถึงท้าวลาวเมงผู้เป็นพระบิดา พระองค์จึงได้ตราเป็นกฎหมายโบราณเอาไว้ 
               เมื่อสร้างนพบุรีศรีพิงค์ไชยพระนครเชียงใหม่  จุลศักราช 654 (พ.ศ.1835)  ปีเต่าสี เดือน 6  ออก 5 ค่ำ เมงว่าวันพฤหัสบดี  ไทว่าวันรวายสะง้า  ยามแตรรุ่ง  ท้าวพญาเสนาอำมาตย์ จ่าเมืองทั้งหลายฝูงอันเป็นแล้วแต่ก่อนย่อมแต่งตามโบราณสืบกันมาดังนี้ก็เจริญบ้านเมือง  ไม่ให้ขุ่นเคืองใจไพร่ฟ้าข้าไท  เจ้าขุนก็มีสุข  ก็ย่อมชนะข้าศึกศัตรู  ไพร่ยุค้าข้ายุขาย  มีแก่คนทั้งหลายเพื่อประกอบชอบธรรมดาจารีตมาดังนี้  คนเมืองฝูงเป็นไพร่ฟ้ามีครอบครัวงัวควาย ช้างม้า เสื้อผ้า ควรเอาการเมือง ไม่ให้ขุ่นเคืองใจขุนดังนี้ 
               ในจำนวนคน 10 คน ให้มี 1 คนเป็นนายข่ม (หัวหน้า)  ชื่อว่า นายสิบ  แล้วให้มีคน 1 เป็นนายการมักว่าเป็นล่ามป่าว   ให้มีเช่นนี้ทุกนาย หากมีไพร่ 50 คน ก็ให้มีนายห้าสิบ 1 คนเป็นปากซ้าย นายห้าสิบ 1 คน ให้มีนายห้าสิบคน 1 เป็นปากขวา  นายห้าสิบ 2 คนนี้ให้มี 1 คน เป็นนายร้อย ทำหน้าที่เป็นหัวหน้า  นายร้อย 10 คน ให้มีเจ้าพัน 1 คน เป็นหัวหน้า  เจ้าพัน 10 คนให้มีเจ้าหมื่น 1 คน เป็นหัวหน้า  เจ้าหมื่น 10 คน ให้มีเจ้าแสน 1 คน เป็นหัวหน้า ให้สร้างบ้านแปลงเมือง ตามพระทัยของพระเจ้าแผ่นดิน”
               ตัวอย่างที่ 2 บทบัญญัติว่าด้วยการสั่งเสียก่อนตายและการแบ่งมรดก
               “หากคนในครอบครัว เช่น พ่อแม่ ปู่ย่า ลุงป้า น้าอา ญาติพี่น้อง เมื่อจะตายได้พูดยกสิ่งใดก็ตามให้กับผู้ใดก็ให้ยกสิ่งนั้นแก่ผู้นั้นตามที่ผู้ตายได้สั่งเสียเอาไว้ ไม่ควรฝ่าฝืนคำสั่งของคนตาย
               ประการหนึ่ง ถ้าผู้ตายไม่ได้สั่งเสียก็ให้ทุกอย่างก็ตกเป็นของลูก แต่ถ้าลูกมีหลายคนก็พิจารณาดูว่า หากลูกคนใดเป็นคนเลี้ยงดูพ่อแม่ก็ให้ลูกคนนั้นได้ทรัพย์สมบัติมากกว่าคนอื่นๆ ถ้าลูกคนใดเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและแสวงหาทรัพย์สินเงินทองมาสู่ตระกูล  สมบัติเหล่านั้นก็ควรเป็นของคนนั้นเพียงผู้เดียว
               ประการหนึ่ง ทรัพย์สมบัติอันใดที่เคยถูกเจ้าขุนบังคับขู่เข็ญเอาไปก็ดี  ถูกโจรปล้นไปก็ดีถูกปรับไหมด้วยการบังคับขู่เข็ญไปก็ดี  เมื่อพ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ไม่สามารถร้องเรียนเอาได้ เมื่อพ่อแม่ตายไปและถ้าลูกคนใดเป็นผู้ไปดำเนินการขอความเป็นธรรมกับทางราชการและได้ของเหล่านั้นกลับคืนมา ก็ให้ทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นของลูกคนนั้น  ไม่ต้องแบ่งให้กับลูกคนอื่นๆ
               ประการหนึ่ง ลูกคนใดได้ขอเงินพ่อแม่นำไปทำทุนและยังไม่ได้ใช้เงินคืนแล้วพ่อแม่ได้ตายไปเสียก่อน ลูกคนนั้นต้องนำเงินต้นที่นำไปลงทุนนั้นมารวมเข้าไว้ทรัพย์สินส่วนกลางเพื่อแบ่งให้ลูกทุกคน ส่วนกำไรที่ได้ก็ให้ตกเป็นของลูกที่เป็นคนยืมไป
               ประการหนึ่ง พ่อแม่ตายไปแล้วแต่ยังไม่ได้แบ่งสมบัติกัน ลูกคนใดแอบลักซ่อนวัตถุใด วัตถุหนึ่งก็ให้นำออกมารวมกับทรัพย์สินอย่างอื่นแล้วแบ่งปันกันให้ทั่วกัน”
               ตัวอย่างที่ 3 บทบัญญัติว่าด้วยการทำร้ายร่างกาย ดังนี้    
               “ประการหนึ่ง  มีคนสองคนทะเลาะกัน ต่างคนต่างมีอาวุธ (หอกดาบ) ได้ฆ่าฟันกันตายหรือคนใดคนหนึ่งตาย หรือคนใดคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ ให้ถือว่ามีความผิดเท่ากัน
               ถ้าถอดดาบจากฝักแล้วไล่ฟันผู้อื่น  ถ้าฟันไม่ถูก ปรับ 330 เงิน  ถ้าชักดาบออกจากฝักอยู่กับที่แต่พูดออกปากว่าจะฟัน ปรับ 220 เงิน ถือดาบไปแล้วพูดว่าจะฟัน แต่ไม่ได้ชักดาบ ปรับ 110 เงิน ถือดาบอยู่กับที่ แล้วพูดว่าจะฟัน แต่ไม่ได้ชักดาบ ปรับ 52 เงิน  ได้จ้างคนให้ไปฆ่าผู้อื่น ผู้รับจ้างยังไม่ได้ลงมือฆ่า แต่มีพยานรู้เห็นเรื่องนี้ว่าเป็นความจรัง ปรับ 660 เงิน ให้ผู้จ้างและผู้รับจ้างใช้คนละครึ่ง ถ้าได้ลงมือฆ่าแล้วก็เสียค่าปรับคนละครึ่งเหมือนกัน  ถ้าคนจ้างและผู้รับจ้างได้วางแผนว่าจะฆ่าคนนั้นคนนี้ แต่ยังไม่ได้ลงมือฆ่า ให้ปรับ110 เงิน เโดยสียค่าปรับคนละครึ่ง”
               ตัวอย่างที่ 4 การบัญญัติความผิดว่าด้วยการล่วงละเมิดทางเพศและเป็นชู้ ดังนี้
               “ประการหนึ่ง ขุนช้างหรือขุนหมื่นก็ดีได้จับนมผู้หญิง ถ้าจับนอกเสื้อข้างหนึ่งก็ดี กอดนอกเสื้อก็ดีโดยผู้หญิงไม่ชอบ ให้ปรับ 22,000  เบี้ย ถ้าจับนมในเสื้อทั้ง 2 ข้างก็ดี  กอดในเสื้อก็ดี     ให้ปรับ 220,000 เบี้ย  ถ้าได้ล่วงเกินทางเพศ ให้ปรับ 330,000 เบี้ย
               ประการหนึ่ง ขุนบ้านเมืองเป็นชู้กับเมียผู้ที่มียศศักดิ์ต่ำกว่าจนลงมาถึงไพร่หรือล่วงเกินทางเพศ ได้จับมือถือนมก็ดี  ให้ปรับตามโทษอันหนักอันเบาเถิด
               ประการหนึ่ง นายม้า คือ ล่ามหมื่นก็ดี  นายพ่างซ้าย-ขวา ก็ดี มีชู้กับเมียนายม้าหรือนายพ่างซ้าย-ขวา จับนมนอกเสื้อข้างหนึ่งก็ดีโดยที่ผู้หญิงไม่ยินยอม ให้ปรับ 220,000 เบี้ย ถ้าจับนมนอกเสื้อทั้ง 2 ข้าง ให้ปรับ 440,000 เบี้ย ถ้าจับนมในเสื้อ แต่ผู้หญิงหากยินยิม ให้ปรับ 220,000 เบี้ย  ถ้ามีเพศสัมพันธ์กันให้ปรับ 110,000 เบี้ย เป็น 1,000 เงิน 
               ประการหนึ่ง นายตีน คือ พันกลองหรือพันหน้าไม้  ยังมีศักดินาติดตัวอยู่ พวกเขาเป็นชู้กับเมียนายตีนด้วยกัน จับนมนอกเสื้อข้างหนึ่งก็ดี โดยผู้หญิงไม่ยินยอม ให้ปรับ 210,000 เบี้ย  ถ้าว่าจับนมนอกเสื้อทั้ง 2 ข้าง ให้ปรับ 220,000 เบี้ย  ถ้าว่าจับนมในเสื้อทั้ง 2 ข้าง และผู้หญิงยินยอม ให้ปรับ 110,000 เบี้ย  ถ้าผู้หญิงยินยอมและฝ่ายชายได้มีเพศสัมพันธ์กันด้วย ให้ปรับ 550,000 หากเป็นชู้กับเมียนายช้าง นายม้าที่มียศสูงกว่าตน หรือเป็นชู้กับเมียผู้ที่มียศสูงกว่าตนหรือเป็นชู้กับเมียผู้ที่มียศต่ำกว่าตนก็ให้ปรับตามที่ว่ามานี้
               ประการหนึ่ง  ไพร่ คือ นายข่มม้า นายพวกน้อย นายห้าสิบ นายข่มเวียกการ เขาเป็นชู้ด้วยกับเมียของไพร่ดังกล่าว  จับนมผู้หญิงนอกเสื้อข้าง 1  โดยผู้หญิงไม่ยินยอม ปรับ 50,000 เบี้ย ถ้ากอดก็ดี  จับนมทั้ง 2 ข้างนอกเสื้อ ปรับ 55,000 เบี้ย  ถ้าว่าผู้หญิงยินยอมและได้กอดได้จับนมในเสื้อ ปรับ 22,000 เบี้ย  ถ้าว่าได้ร่วมหลับนอนและผู้หญิงก็ยินยอม ปรับ 33,000 เบี้ย คิดเป็นเงิน 330 เงิน 
               ประการหนึ่ง นายส่วย  นายบ้าน นายยานพาหนะ หมื่นข้าว เถ้าเมือง  นายริบ-นายไร  นายสิบ นายซาว  เป็นชู้กับเมียของพวกเขาเหล่านี้โดยผู้หญิงไม่ยินยอม ผู้ชายได้จับนมผู้หญิงข้าง 1 นอกเสื้อ ปรับ 220,000 เบี้ย  ผู้ชายได้กอดและจับนมทั้ง 2 ข้างก็ดี โดยที่ผู้หญิงยินยอมและได้ร้องโวยวาย ปรับ 44,000 เบี้ย  ถ้าว่าจับนมในเสื้อทั้ง 2 ข้าง ปรับ 22,000 เบี้ย  ถ้าว่าได้ร่วมหลับนอน ปรับ 55,000 เบี้ย  ถ้าเป็นชู้กับเมียของผู้มียศสูงกว่า ได้จับนม ได้กอดและร่วมหลับนอน ให้ปรับเช่นเดียวกันนี้  ถ้าเป็นชู้กับเมียผู้ที่มียศต่ำกว่าตนหรือลงมาจนถึงเมียไพร่ก็ให้ปรับอย่างเดียวกันนี้”
               ตัวอย่างที่ 5 การวินิฉัยคดีของอาทาสมุขราชา ใน ความณีจันทร์ชาดก ซึงเป็นลักษณะ หมานยอก เอาหนาม บ่งดังนี้     
             “การวินิจฉัยตัดสินคดีที่ 2 :        ชายคนหนึ่งเป็นเพื่อนคามณีจันทร์ ภรรยาของเขาเกิดแท้งลูกเพราะคามณีจันทร์ไปช่วยได้เป็นโจทก์ฟ้องว่า  “มีวันหนึ่งคามณีจันทร์ไปบ้านข้าพเจ้า  และได้ตีเมียของข้าที่กำลังตั้งท้องได้ 7 เดือน ทำให้ลูกของข้าตายและแท้งออกมา”  เจ้าพญาจึงถามคามณีจันทร์ว่า “ท่านไปตีเมียที่มีครรภ์ของชายผู้นี้จนถึงกับแท้งลูกจริงหรือ”  คามณีจันทร์จึงเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้พญาเจ้าเมืองฟังตั้งแต่ต้นจนจบ  เมื่อนั้นอาทาสมุขราชถามผู้เป็นพ่อลูกอ่อนว่า “ท่านจะให้คามณีจันทร์ชดใช้อย่างไร” ชายผู้เป็นพ่อลูกอ่อนทูลว่า “ข้าแด่มหาราชเจ้า ข้าพเจ้าอยากจะได้ลูกคืนมา” พญาเจ้าเมืองจึงตัดสินว่า “คามณีจันทร์เจ้าจงเอาเมียของชายผู้นี้ไปอยู่กับท่าน เมื่อตั้งครรภ์และคลอดลูกแล้วจึงนำเมียและลูกไปส่งคืนให้กับชายผู้นี้เถิด”  แล้วให้นำตัวโจทก์และจำเลยออกไปด้านนอก  ชายผู้เป็นโจทก์จึงก้มกราบเท้าคามณีจันทร์และกล่าวว่า “คามณีจันทร์อย่าได้เอาเมียข้าไปอยู่กับท่านเลย อย่าทำให้ครอบครัวของข้าต้องแยกกันเลย” พูดแล้วจึงให้เงินกหาปนะแก่คามณีจันทร์แล้วกลับไป” 
               ด้วยตัวบทกฎหมายที่ตราลักษณะความผิด และการวินิจฉัยพิพากษาให่เกิดความยุติธรรมแก่กันทั้งสองฝ่ายเช่นนี้ บ้านเมืองก็มีขื่อมีแป ผู้ทำความคิดจะได้รับการลงโทษตามสมควรแก่โทษานุโทษ ไม่หนักหรือเบาตามอำนาจอคติธรรม ผู้เป็นเหยื่อที่ถูกละเมิดก็จะได้รับความเป็นธรรมชดเชย ผู้ตัดสินคดีความก็มีบรรทัดฐานเป็นกรอบปฏบัติชัดเจน ถือว่า ปทัสฐานทางสังคมข้อนี้ เข้าลักษณะการปกครองแบบนิติรัฐได้อย่างดี
               ในท้ายหนังสือ ธรรมศาสตร์ชี้ให้เห็นความสำคัญของตัดสินอรรถคดี หากดำรงตนเที่ยงธรรม ความยุติธรรมก็จะบังเกิด ตงกันข้าม ความวุ่นวายจะเกิดขึ้น ดังความว่า “ผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสินคดีความนั้นจะต้องตัดสินคดีให้เกิดความชอบธรรมตามตัวบทกฏหมาย อย่าเพิ่มหรือตัดออก มีสติสัมปัชชัญญะ หนักแน่น ให้ประกอบด้วยคุณ 22 ประการ อย่าให้มีความโกรธในเวลาพิจารณาคดีความ ให้พิจารณาคุณและโทษอย่างถ้วนถี่ อย่าตัดสินคดีความเร็วหรือช้าจนเกินไป ให้ตัดสินไปตามธรรมศาสตร์นี้เถิด”
               อย่างไรก็ตาม มีข้อที่ควรยกเว้น แม้นว่าจะมีโทษสถานหนัก ถึงขั้นประหารชีวิต แต่ให้เนรเทศแทน ดังคำว่า “บุคคลที่ไม่ควรฆ่ามีดังนี้  สมณชีพราหมณ์ ปุโรหิต หมอยา หมอโหรา นายหนังสือพื้นบ้านพื้นเมือง   จ่าไต่คำ นักปราชญ์ผู้ในศิลปศาสตร์ทั้งปวง  เสนาทหารกล้าผู้ขันอาสางานหลายครั้ง  บุคคลเหล่านี้แม้นมีโทษหนักเท่าใดก็ไม่ควรฆ่า ให้ขับไล่หนีออกจากเมืองก็พอ”
               สังคมไม่ว่ายุคสมัยใด หากผู้นำทางบ้านเมือง รวมทั้งเหล่าผู้สนองงานราชการ หรือผู้นำทางจิตวิญญาณ เช่นสมณะชีพราหมณ์ หากไม่อยู่ในครรลองคลองธรรม ไม่ปฏิบัติตามปทัสฐานทางสังคม ก็ย่อมเป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่อาศัย เป็นสังคมที่ไร้คุณภาพ บ้านเมืองย่อมจะเกิดความเดือดร้อนวุ่นวาย นำไปสู่ความพินาศฉิบหายได้ ดังความว่า
               “กษัตริย์และเสนาอำมาตย์ หากไม่ตั้งอยู่คลองธรรม ก็จักพินาศฉิบหาย ไพร่ไม่มีขุน ขุนไม่มีไพร่ก็พินาศฉิบหาย ครูบาอาจารย์ไม่มีลูกศิษย์ที่ฉลาดหลักแหลม ก็พินาศฉิบหาย ศิษย์ไม่มีครูบาอาจารย์คอยสั่งสอน ก็จักฉิบหาย สงฆ์วิวาทกัน ไม่ลงอุโบสถด้วยกัน ก็จักฉิบหาย ท้าวพญาวิวาทกัน ไม่มีมีฉันทามติร่วมกัน ก็จักพินาศฉิบหาย ชาวบ้านวิวาทกัน ต่างคนต่างก็เอาความเห็นของตนเป็นใหญ่ มีอยู่ในบ้านเมืองใด  บ้านเมืองนั้นจักพินาศฉิบหาย”
               ดังนั้น การมองวิถีชีวิตสังคมล้านนาในอดีต ผ่านเอกสารโบราณที่เป็นคัมภีร์ใบลาน และพับสา แม้จะใช้ข้อมูลเพียง 7 เรื่องใหญ่ๆ ที่ผู้เขียนนำมาเรียงร้อยให้เห็นถึง บ้านเมืองและสังคมที่ดำรงอยู่ด้วยปทัสฐานทางสังคมเช่นนี้ จัดได้ว่า เข้าสู่กรอบมาตรฐานสังคมคุณภาพได้อย่างแท้จริง  ทั้งนี้ ถ้าปัจเจกบุคคล มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันจากรัฐที่คุ้มครองสิทธิ์และศักดิ์ศรี  ในขณะที่รัฐเองก็ให้หลักประกันแก่สังคมด้วยระบบการปกครองแบบนิติรัฐ ย่อมนำสังคมไปสู่สันติสุขได้ ในส่วนของตัวสังคมเอง ถ้ายึดหลักศีลธรรมตามจารีตประเพณี และ วัฒนธรรมแบบวิถีประชา อันเป็นค่านิยมพื้นฐานของสังคม ให้เป็นหลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจด้วยแล้ว ก็ยิ่งเสริมความแกร่งแห่งสังคมคุณภาพให้ยั่งยืนสืบไปได้
               มองจากกรอบความคิดทางปรัชญาตะวันตก ได้พบว่า หนังสือเล่มนี้ ได้สะท้อนมุมองเชิงปรัชญาตามกรอบปรัชญาตะวันตกอย่างน้อย  2 สาขา คือ สาขาอภิปรัชญา(Metaphysics) บรรรยายถึงปฐมกำเนิดโลก มีวิวัฒนาการตามธรรมชาติ ค่อยเป็นค่อยไป กาลเวลานานมาก เริ่มก่อตัวจากธาตุทั้ง 4 ผสมกันได้สัดส่วนทำให้เกิดสิ่งมีชีวิต พืช และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังก่อน แล้วจึงเกิดสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง  นับจากปฐมกัปมีอายุได้ 3 อสงไขย์ จึงเกิดมีมนุษย์ คนแรกเป็นเพศหญิง นามว่า  อิตถังเคยยะสังคะสี  นางนี้เป็นคนสร้างสัตว์ 12 ชนิด (สัตว์ประจำ 12 นักษัตร) ต่อมาจึงเกิดเพศชาย ชื่อว่า เคยยะสังคะสี เมื่อทั้งสองมาพบกันก็ช่วยกันสร้างมนุษย์ขึ้นมาจาก เถ้าไคล จำแนกเป็น บุรุษ สตรี และนปุงสกลิงค์(กระเทย) สร้างฤดู วัน เดือน ปี ภพภูมิของสัตว์ทั้งหลาย จนถึงกาลเวลาที่โลกจะล่มสลายไป และกลับมาเกิดใหม่หมุนวนเป็นวัฎฎะ  แนวคิดเช่นนี้ จัดอยู่ในกลุ่ม ธรรมชาตินิยม(Naturalism) ส่วนมุมมองทางด้านจริยศาสตร์(Ethics) ก็มีทฤษฎีจริยศาสตร์คุณธรรม(Ethics of Virtues) และจริยศาสตร์หน้าที่(Ethics of Duty) สั่งสอนข้อที่ควรปฏิบัติของสมาชิกในสังคม โดยการนำหลัก ทางพระพุทธศาสนา เช่น ศีล 5, อบายมุข 4, สังคหวัตถุ 4, ทิศ 6 อปริหานิยธรรม 7 เป็นต้น มาเป็นกรอบความในครองตน ครองคน และครองงาน ตามหลักพุทธจริยศาสตร์  มีหลักคุณธรรมข้ออื่นๆ  ที่ควรปฏิบัติ เพื่อให้เป็นพ่อเหย้า แม่เรือนที่ดี  รวมทั้งข้อที่ควรปฏิบัติ และข้อห้าม ตามคติความเชื่อของชาวล้านนา มีกฎหมายโบราณเป็นกรอบบังคับ ให้สมาชิกในสังคมได้ปฏิบัติ เป็นวิถีชีวิตอันงดงาม สะท้อนหลักปรัชญาเกี่ยวกับโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่ชัดเจนอย่างยิ่ง.




[1] ความสำคัญของคุณภาพชีวิต  สืบค้นจาก www.computer.pcru.ac.th /emoodledata/15/week_3.doc g,njv;yomuj 21 พฤศจิกายน 2558.

อุบายแยบยลกำจัดภัยอุบาทว์(ธรณีสาร ; ตำนานพระแม่ธรณี- ขึดหลวง) เรื่องลำดับที่ 8 ชุด วิถีล้านนา : ปทัสถานสังคมคุณภาพ

อุบายแยบยลกำจัดภัยอุบาทว์(ธรณีสาร ; ตำนานพระแม่ธรณี- ขึดหลวง)[1]
ความย่อ
                ตำนานแม่ธรณีฉบับนี้ฉบับ วัดศรีคำชมภู ตำบลป่าบง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เดิมชื่อ ธรณีสาร ประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 เรื่อง คือ ตำนานไม้ศรีมหาโพธิ์ บอกระยะเส้นทางที่จะไปยังต้นศรีมหาโพธิ์ ชื่อหัวเมืองต่าง ๆ ที่เป็น 16 แคว้นสมัยพุทธกาลและลักษณะของต้นศรีมหาโพธิ์, ลักษณะรอยพระพุทธบาทที่ประกอบด้วยภาพมงคล 108 ประการ และตำนานแม่ธรณี เกี่ยวกับพระแม่ธรณี ผู้เป็นธิดาของท้าวฤๅราชและนางกัมมธะ มีพี่ชื่อท้าวพวงธุลี  ได้ถูกวิษณุกรรมเทพถามสาเหตุความเจริญและความเสื่อมจากโภคทรัพย์สมบัติของมนุษย์ ว่าเกิดจากขึดใหญ่ 7 ประการ   ในตำนานได้บอกลำดับวิธีในการถอนขึดเหล่านั้นเอาไว้
ความเรียงสาระของเรื่อง
ตำนานพระแม่ธรณี- (ขึดหลวง)
ตำนานไม้ศรีมหาโพธิ์
               ท่านทั้งหลายจงตั้งใจฟังดังต่อไปนี้, เมื่อเดินทางด้วยเรือสำเภาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 80 วัน จะไปถึงเกาะแห่งหนึ่งชื่อว่า จริยะ บนเกาะนี้ หมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านห่างกันโดยใช้เวลาเดินทางเป็นเวลา 9 เดือน และเดินทางต่อไปอีก 7 เดือนก็จะไปถึงบ้านอัญญติตถิ(อัญญเดียรถีย์) แล้วแล่นเรือสำเภาไปเป็นเวลาอีก 12 วัน ถึงเกาะชมพูทวีป และจากเกาะชมพูทวีปใช้เวลา 13 วัน ไปถึงเมืองคามณี จากนั้นใช้เวลาอีก 3 วัน กับอีกช่วงสายของอีกวัน จึงไปถึงเมืองล้านนาวิสาขา แล้วเดินทางโดยเรือสำเภา 1 วัน ก็จะถึงเมืองปาฏลีบุตรและเดินทางอีก 3 วัน กับอีกช่วงสายของอีกวันจะถึงเมืองขอม และใช้เวลาอีก 1 เดือน 15 วัน จะถึงหมู่บ้านทุถวาลี เดินทางอีก 1 วัน จะถึงหมู่บ้านของจัณฑาลชื่อ กถวิละ และเดินทางออกจากหมู่บ้านดังกล่าวไปอีก 3 วัน ก็จะถึงเมืองมานันทกาละ และเดินทางไปอีก 1 เดือน จะถึงเมืองเวียงขอม[2] และเดินทางไปอีก 7 วัน จะถึงหน้าปราสาทของพระราชาผู้ครองเมือง ทางทิศตะวันออกของปราสาทพระราชานั้น มีปราสาทอยู่หลังหนึ่งไว้ธาตุดิบ[3] ของพระพุทธเจ้า ห่างจากปราสาทพระพุทธเจ้าออกไป 30 วา  ก็จะเห็นกิ่งต้นศรีมหาโพธิ์แผ่มาถึง เมื่อเดินทางออกจากเมืองเวียงขอมไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 5 วัน จะถึงเจดีย์แก้วหลังหนึ่งซึ่งพระเจ้าทุฏฐคามณี  โอรสของพระเจ้ากากวรรณณะติสสะเป็นผู้สร้าง มีปริพาชกอยู่เฝ้าดูแลรักษา ห่างจากเมืองเวียงขอมไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้โดยใช้เวลาเดินทาง 18 วัน จะถึงเขาลูกหนึ่งสูง 1,500 วา ใช้เวลาเดินข้ามเขาลูกนี้ 1 เดือน กับอีก 15 วัน บนเขาลูกนั้นมีหินอยู่ก้อนหนึ่งชื่อ สันธรกะ มีรอยพระพุทธบาทอยู่บนหินก้อนนั้น เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ คนทั้งหลายจักมาสักการบูชา
               จากเมืองเวียงขอมไปทางทิศตะวันตก โดยเดินเลียบภูเขาและป่าไป 8 เดือน ก็จะถึงเมืองเชตุตรนคร ทางน้ำก็ใช้เวลาเช่นเดียวกัน  ใช้เวลาเดินทางผ่านเมืองเชตุตรนคร 9 วัน ห่างจากเมืองเชตุตรนครไป 1 โยชน์ มีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ จากเมืองเชตุตรนครไปถึงเชิงดอยใช้เวลา 3 วัน จะถึงเมืองพาราณสี ในเมืองนี้ได้มีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนหน้าผากประดิษฐานอยู่ จากเมืองพาราณสีไปเมืองมหาปันนะใช้เวลา 1 เดือน ทางทิศตะวันตกของเมืองมหาปันนะนั้นภูเขาลูกหนึ่งมีสีลักษณะเป็นดั่งเลือด ที่เชิงเขาลูกนั้นมีปริพาชก 1,000 ตน มาอยู่จำศีลภาวนา มีต้นไม้ขนาดใหญ่และมีดอกบัวเป็นจำนวนมาก จากเชิงเขาดังกล่าวไปอีก 3 วัน ถึงเมืองกลิงคราษฎร์ แล้วยังมีชนบทหนึ่งห่างจากตัวเมืองกลิงคราษฎร์ชื่อ กลกราชชนบทซึ่งใช้เวลาเดินทาง 1 เดือน กับอีก 15 วัน และทางทิศตะวันออกของชนบทนั้นมีเขาอยู่ 2 ลูก ชื่อสัตปันนะและพรหมทัตตะ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีเขาลูกหนึ่งชื่อ  มณีนันทะ ทางทิศเหนือของเมืองกลิงคราษฎร์มีรูปแกะสลักด้วยนางอมิตตาเมียของชูชก
               เดินทางออกจากเมืองกลิงคราษฎร์ 40 วัน จะเห็นต้นศรีมหาโพธิ์ที่มีลำต้นแดงงามดังแก่นฝาง และเดินทางเข้ามาอีก 13 วัน จะได้ยินเสียงลมพัดใบโพธิ์ซึ่งมีเสียงคล้ายเสียงกระดิ่งและเสียงระฆัง ด้านตะวันออกมีบ่อขนาดวัวอุสุภะ เป็นที่นางสุชาดาได้ถวายข้าวมธุปายาสใส่ถาดทองแด่พระพุทธเจ้า ด้านฝั่งแม่น้ำเนรัญชรามีเจดีย์องค์หนึ่งชื่อว่า ธรรมราชาธิกเจดีย์ เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่ได้ตรัสรู้นั้น พระองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของต้นโพธิ์นี้[4]  ต้นโพธิ์นี้มีกำแพงล้อมรอบ 3 ชั้น ชั้นนอกยักษ์รักษา ชั้นกลางนาครักษา ชั้นในพญาราชสีห์รักษา ส่วนลำต้นพระอินทร์รักษา ประตูทิศตะวันตกเทวดารักษา ทิศเหนือพญาเวสสุวัณรักษา ทิศตะวันออก ยักษ์วตกรสิริรักษา ทิศเหนือเทวดารักษา รัตนบัลลังก์ห่างจากต้นโพธิ์ 2 คืบ ต้นโพธิ์นี้มีกิ่งน้อยกิ่งใหญ่รวมกันได้  1, 000 กิ่ง มีใบรวมกันได้ 3 โกฏิ[5] มียอด 200 โกฏิ มีลักษณะกลมและกว้าง 100 ศอก  แต่ส่วนของลำต้นมีนาครักษาราก พรหมและเทวดารักษาปลายบน เวสสุกรรมเทพบุตรรักษาใบและยอด ส่วนใบที่หล่นตกอยู่บนพื้น เทวดาจักนำเอาไปทิ้งเสียยังขอบจักรวาล ใบของต้นโพธิ์นี้มีวรรณะ 5 ประการคือ ขาว เขียว เหลือง แดง ดำ มีรัศมีอยู่ตลอดเวลา ผู้ใดได้สักการบูชาใบโพธิ์นี้จักได้รับอานิสงส์มาก จักไม่ไปสู่อบายภูมิและเข้าถึงพระนิพพาน
               ในรัศมีรอบต้นโพธิ์ 1 โยชน์ ไม่มีสัตว์มารบกวนสักตัว มีแต่พระอริยเจ้าอยู่ปฏิบัติธรรมเนืองๆ ระหว่างรัตนบัลลังก์กับต้นศรีมหาโพธิ์ มีรูปนางสุลิงกลายเป็นหิน[6]  ภายนอกมีบริวารของพญามารจำนวน 84 โกฏิ ได้กลายเป็นหิน ช้างคีรีเมขละและธิดาพญามารทั้ง 3 ก็ได้กลายเป็นหินบริเวณลานต้นมหาโพธิ์นั้นเรียบเสมอกัน เป็นที่เจริญใจแก่สัตว์ทั้งหลาย ต้นศรีมหาโพธิ์นี้ตั้งอยู่ใจกลางชมพูทวีป ต้นไม้ที่อยู่ใกล้ต้นศรีมหาโพธิ์จะออกดอกเสมอ จากเมืองขอมไปหาต้นศรีมหาโพธิ์นั้นใช้เวลาเดินทาง 17 เดือน และต้นศรีมหาโพธิ์นั้นอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เมืองขอม ชาวเมืองขอมนี้ได้รักษาศีลทุกคน กำแพงที่พญาอโศกสร้างได้พังไป 2 ชั้นแล้ว เหลือเพียงชั้นเดียว
               ถัดจากต้นศรีมหาโพธิ์ไม่ไกลนักมีกุฏิหลัง 1 ในกุฏิมีพระพุทธรูปอยู่ 1 องค์ประดิษฐานเหนือแท่นแก้วบัลลังก์  แต่พระอินทร์กำบังไม่ให้เห็น กุฏินั้นสูง 500 วา ที่โคนต้นศรีมหาโพธิ์นั้นปูด้วยอิฐได้ 17 วา สูงได้ 5 วา กับอีก 3 ศอก ทางทิศเหนือนั้นมีเรือนแก้วอยู่นอกกำแพง 3 วา ทางทิศตะวันตกของต้นศรีมหาโพธิ มีต้นไม้ต้นหนึ่งชื่อ อโคไร[7] ทางทิศตะวันออกมีต้นอชปาลนิโครธ มีสระมุจจลินท์อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีขนาดประมาณวัวอุสุภราช มีรตนจงกรม  ส่วนแม่น้ำเนรัญชราอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของต้นศรีมหาโพธิ์นั้นและมีน้ำไหลอยู่ตลอดเวลา ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ  ไม่เคารพเลื่อมใสพระพุทธศาสนา   กำแพงล้อมรอบนั้นได้พังทะลายกลายเป็นป่าไปหมด ใช้เวลา 1 วันจึงจักพ้นเขตป่า ถัดจากแม่น้ำเนรัญชรา 1 คาวุต ถึงเขาวงกตและจากเขาวงกตไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ใช้เวลา 2 เดือนจึงถึงเมืองเชตุตรนคร เมืองกลิงคราษฏร์อยู่ทางทิศใต้เมืองเชตุตรนคร
               จากเมืองราชคฤห์ไปถึงป่าเลไลยก์ใช้เวลา 7 วัน ทางทิศตะวันตกของป่าเลไลยก์นั้นมีแม่น้ำใหญ่อยู่   1 สาย อยู่ห่างไกลจากเมืองพาราณสีประมาณสิ้นสุดเสียงกลองดังก้อง 1 ครั้ง และมีป่าอิสิปตนมฤคทายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักรกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์  จากเมืองสาวัตถีไปหาต้นศรีมหาโพธิ์ใช้เวลา 15 วัน และจากเมืองสาวัตถีไปหาป่าเชตวันประมาณสิ้นสุดเสียงวัวอุสุภราชร้อง 1 ครั้ง ในบริเวณป่าเชตวันนั้นมีคันธกุฎีอยู่ 1 หลัง  มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ 1 องค์ 
               ส่วนต้นมะม่วงที่พระพุทธเจ้าสำแดงยมกปาฏิหาริย์ บัดนี้ เทวดาก็ยังเฝ้ารักษาอยู่ ทางทิศตะวันออกของเมืองกบิลพัสดุ์ มีป่าลุมพินีวันตั้งอยู่ จากเมืองกบิลพัสดุ์ไปต้นศรีมหาโพธิ์นั้นใช้เวลา 2 เดือนจึงถึง จากต้นศรีมหาโพธิ์ไปเมืองพาราณสีด้วยความรีบเร่งใช้เวลา 17 วัน ทางทิศตะวันตกของเมืองมิถิลานั้นมีรูปมหาเศรษฐีแกะเป็นหินอยู่ในที่นั้น จากต้นศรีมหาโพธิ์ไปเมืองตักกศิลาใช้เวลา 60 วันจึงถึงแล จากต้นศรีมหาโพธิ์ไปเมืองสาวัตถีใช้เวลา 15 วัน จากต้นศรีมหาโพธิ์ไปเมืองมัททราชใช้เวลา 20 วัน ต้นศรีมหาโพธิ์อยู่ห่างจากเมืองโกสัมพีใช้เวลา 15 วันจึงถึง
               เมืองที่วงศ์ตระกูล พญาติของพระพุทธเจ้าอยู่มี เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองโกลิยะ เมืองพาราณสี เมืองโกสัมพี เมืองเชตุตรนคร เมืองมิถิลานคร เมืองจำปานคร เมืองเวสาลี เมืองอินทปัตถ์  เมืองตักกศิลา เมืองกุสินารา เมืองเหล่านี้ตั้งอยู่อีกฟากของแม่น้ำคงคา
               ทางทิศตะวันออกของจัมปานครนั้นเป็นที่อยู่แห่งพรหม เมืองกลิงคราษฏร์ ชนบทและเมืองราชคฤห์ มีเขา 5 ลูก คือ คิชกูฏ เวภาระ ปัณฑวะ เวปุลละ อิสิคิลิ แวดล้อมอยู่ ในเมืองราชคฤห์นี้กว้าง 15 คาวุต เมืองราชคฤห์และเมืองปาฏลีบุตรที่เป็นที่ประทับแห่งพญาอโศกราช ทางทิศตะวันตกของเมืองปาฏลีบุตรมีเมืองหนึ่งชื่อ รตนะ ประตูเมืองในทิศทั้ง 4 ห่างจากกัน 4 คาวุตเท่ากัน แม่น้ำคงคาไหลผ่านกลางเมือง ทิตะวันออกมีเจดีย์ที่พญาอโศกราชสร้างไว้  5 หลัง ทิศเหนือของเจดีย์นั้นมีสระน้ำอยู่ 1 สระ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้มีสระน้ำ ในสระนั้นมีรูปเต่าแกะสลักหินชื่อ  จุฬกะ   ทางทิศตะวันตกของสระนั้นเป็นที่อยู่แห่งพระเวสสันดร และสถานที่พระเวสสันดรออกไปบวชเป็นฤาษี ในชาติที่ผ่านมา ได้มีเทวดาเฝ้ารักษาตราบจนถึงทุกวันนี้
               แผ่นดินที่อยู่รอบๆ บริเวณต้นศรีมหาโพธิ์นั้นมีประมาณ 1 โยชน์ และขาวไปทั่ว แต่ปัจจุบันไม่มีต้นศรีมหาโพธิ์แล้ว มีแต่เจดีย์ตั้งอยู่ในที่นั้น ในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น  ไม่มีสัตว์มาเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ที่นี้เป็นสถานที่บริสุทธิ์ หามลทินมิได้ เป็นที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสพยากรณ์ตำนานต้นศรีมหาโพธิ์และกำหนดสัตตมหาสถาน 7 แห่ง ไว้ให้คฤหัสถ์และนักบวชที่มีความเลื่อมใสศรัทธาได้ไปสักการบูชา สถานที่ดังกล่าวมานั้นมีระยะทางที่ไกลมาก แม้ว่าไม่ได้ไปสักการะถึงที่ก็ขอให้จงตั้งใจฟังด้วยความเคารพ แม้ว่าอยู่ไกลก็เหมือนว่าอยู่ใกล้ ได้รักษาศีลอยู่เนือง ๆ และจักเข้าถึงพระนิพพานเมื่อพระศรีอริยเมตไตรยลงมาตรัสรู้ในวันข้างหน้า ตำนานต้นศรีมหาโพธิ์, 16 หัวเมือง และสัตตมหาสถานทั้ง 7 มีเพียงเท่านี้
ลักษณะรอยพระพุทธบาท
               ต่อไปนี้จักกล่าวถึงรอยพระพุทธบาท รอยพระพุทบาทนั้นมีความราบเรียบเสมอกัน ภายในประกอบด้วย องค์วัตถุอันเป็นมงคล 108  ประการ คือ หอก, แว่นส่องพระพักตร์, ดอกพุดซ้อน, สร้อยสังวาลย์, ต่างหู, ถ้วยภาชนะ, ปราสาท, ขอช้าง, ซุ้มประตู, เศวตฉัตร, พระขรรค์แก้ว, กำหางนกยูง,  พระแท่นที่ประทับ, พระมงกุฏ, เถาวัลย์แก้ว, พัดวาลวิชนี, พวงดอกมะลิ, ดอกบัวแดง, ดอกบัวขาบ, ดอกบัวขาว, ดอกบัวหลวงชมพู, ดอกบัวหลวงขาว, กระออมใส่น้ำ, ถาดใส่ข้าวมธุปายาส, มหาสมุทรทั้ง 4, ป่าหิมพานต์, เขาสิเนรุ, ดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์, ดวงดาว, ทวีปใหญ่ทั้ง 4, ทวีปน้อย 2,000, พระเจ้าจักรพรรดิและข้าราชบริพาร, สังข์ขาวทักษิณาวัฏ, ปลาทองคู่, กงจักรคู่, แม่น้ำใหญ่ 7 สาย, สระใหญ่ 7 สระ, เขา 7 ลูก, พญาครุฑ, พญาจระเข้, ธงชัย, พระเก้าอี้แก้ว, พัดโบกทอง, เขาไกรลาศ, พญาราชสีห์, พญาเสือโคร่ง, พญาเสือเหลือง, พญาม้าวลาหก, พญาช้างอุโบสถ, พญาช้างฉัททันต์, พญานาควาสุกรี, พญาหงส์, พญาไก่เถื่อน, พญาโคอสุภราช, พญาช้างเอราวัณ, มังกรทอง, แมลงภู่ทอง, ท้าวมหาพรหม 4 หน้า, เรือทอง, รัตนบัลลังก์, พัดใบตาล, เต่าทอง, แม่โคลูกอ่อน, กินนร, กินนรี, นกการเวก, พญานกยูง, พญานกกระเรียน, พญานกจากพาก, พญานกพริก, เทวโลก 6 ชั้น, พรหมโลก 16 ชั้น กล่าวถึงพระพุทธบาทไว้เพียงเท่านี้
ตำนานแม่ธรณี (ขึด[8]หลวง)
               พระวิษณุกรรม ได้ถามแม่ธรณีว่าเหตุใดคนทั้งหลายจึงอยู่เป็นสุข เป็นทุกข์ มีข้าวของเงินทองไม่เหมือนกัน แม่ธรณีตอบว่า เพราะที่ตั้งแห่งบ้านเรือนคนทั้งหลายนั้นไม่เสมอกัน แผ่นดินบ้าน เมืองใด เอียงไปทางทิศตะวันออก ดีนัก มีข้าวของเงินทอง เอียงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ จะยากไร้ ไม่มีตบะเดชะอำนาจ เอียงไปทางทิศใต้ มักผิดกัน เอียงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ มักเสียข้าวของ เอียงไปทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ โรคภัยมักเบียดเบียน อายุสั้น เอียงไปทางเหนือ ดี บ้านเมืองใดสูงเสมอกันทุกด้าน ดี บ้านเมืองใดราบเรียบเป็นหน้ากลองอยู่ดีมีสุข สัณฐานเหมือนกระดองเต่า มักมีทุกข์เสียข้าวของ มีจอมปลวกอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ดี ให้แต่งพานดอกไม้บูชาแล้วขุดเสีย จอมปลวกอยู่ทางตะวันออก ใต้ และตะวันตกเฉียงเหนือ ให้เอาดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาดีนัก อย่าให้ใครขุดทำลาย
               มีต้นไม้ใหญ่ในบ้านให้รักษาไว้ ไม้มะรุม ไม้มะจำโรง ไม้มะเดื่อเกลี้ยง อย่าปลูกไว้รากมันจะดันพื้นบ้าน ไม้ยอ ไม้งิ้ว ไม้ทอง(หลาง) อย่าปลูกไว้ในบ้าน เจ้าของบ้านมักเจ็บไข้ถึงแก่ความตาย อย่าปลูกกล้วยไว้บนหัวเรือนนอน จักมีทุกข์ บ้านหลังใดมีลักษณะเป็นดั่งพระจันทร์ออกใหม่,จามรหรือพระจันทร์วันเพ็ญ ดีนัก สัณฐานสี่เหลี่ยมเสมอกันยิ่งดี จะมีสุข มีลาภสักการะมากมาย บ้านไม่ดี คือ บ้านสามเหลี่ยมไม่เสมอกัน มักทะเลาะวิวาทกัน บ้านใดยาวเป็นแถวดั่งพิณพาทย์ ไม่ดี จักเกิดเจ็บป่วย
               ในเรื่องการตั้งที่อยู่ใหม่ ให้จัดแต่งเครื่องบูชาเทวดาอารักษ์ในที่นั้นๆ พร้อมกับกล่าวอันเชิญ หรือ ถอนให้ไปอยู่ที่อื่น หากไม่กระทำการดั่งนี้ อย่าพึ่งรีบถาง หรือ รีบเผา
               ประการหนึ่ง ไม้ต้นใดเป็นศรีบ้านศรีเมืองให้รักษาไว้ อย่าโค่นอย่าทำลาย  จะทำให้ผู้คนในบ้านเมืองนั้นอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ถ้าไม่มีก็หามาปลูกไว้
               พญาวิษณุกรรมถามแม่ธรณีต่อว่า เหตุใดคนทั้งหลายจึงมีข้าวของไม่เสมอกัน แม่ธรณีตอบว่า เหตุดังกล่าวเป็นเพราะในอดีตชาติเขาเหล่านั้นไม่เคยทำบุญให้ทาน จึงไม่มีบุญที่จะมาค้ำชูในชาตินี้  อีกอย่างหนึ่งที่มีแล้ว เกิดวอดวายไป เป็นเพราะว่าเขาถูกขึด ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะเขาทำไม่ถูกจารีต ไม่รู้จักครองอันเป็นขึด ขึดทั้งหลายนั้นมีขึดใหญ่อยู่ 7 ประการ ได้แก่ ถมสมุทร ขุดกระแส แหม่รูทวาร รานไม้ศรี ม้างตีอก ปกกระโดง ถมเก่าใหม่
               ถมสมุทร คือ ถมบ่อน้ำ สระน้ำที่มีมาก่อน
               ขุดกระแส คือ ขุดทางน้ำแยกออกไปจากทางเดิม
               แหม่รูทวาร คือ ปิดถนนเก่า สร้างถนนใหม่
               รานไม้ศรี คือ ตัดต้นไม้ประจำบ้านเมือง ต้นศรีมหาโพธิ์ หรือต้นไม้ที่มีเทวดาอารักษ์
               ม้างตีอก คือ ทำลายทั่งเหล็ก คีม และค้อน
               ปกกระโดง คือ ตัดกิ่งไม้แล้วเอาตุงไปแขวน
               เก่าถมใหม่ ขยายเขตรั้วบ้านใหม่ ปิดประตูเก่าสร้างประตูใหม่
               เหล่านี้เป็นขึดอันใหญ่ ยังมีขึดอันอื่นๆอีก เช่น ลักขโมยสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ละโมบอยากได้เขตแดนไร่นา โกงตราชั่งค้าขาย เอาคนรับใช้มาเป็นเมีย ยกเมียน้อยเป็นเมียหลวง ตัดสินคดีความด้วยความลำเอียง ประมาทล่วงเกินต่อพ่อแม่ ครูบาอาจารย์
               ว่าด้วยขึด 7 ประการนั้น ทำด้วยตนเองก็ดี ใช้ผู้อื่นทำก็ดี หากจะถอนออกให้พ้นจากขึดก็ไม่ได้ ให้ครูบาอาจารย์ถอนออกก็ไม่ได้ จึงควรให้ท้าวพญาที่ครองเมืองนั้นออกจากเมือง แต่งตั้งอุปราชขึ้นครองเมืองแทนก่อนแล้วทำการสังคหกรรมปัดเป่าจึงจักพ้นจากขึด แล้วค่อยเวนคืนราชสมบัติให้ตามเดิม
สำหรับการถอนขึด ให้เตรียมเครื่องพิธี ดังนี้
- เงิน 2 พัน                                - เทียนทอง 4
- ดอกไม้ทอง 4                            - เงินพันคำร้อย
- เบี้ยพัน 3                                - หมาก 10,000
- ผ้าขาวผ้าแดง 1 วา                      - ข้าวเปลือก 1 กระบุง ข้าวสาร 1 แคง[9]
- ประทีป 4                               - มะพร้าว 4 ลูก
- กล้วย 4 หวี                              - เสื่อ 4 ผืน
- คนโท 4 ลูก                              - ต้นอ้อย 4 ต้น
- ไม้ 4                                     - ดอกไม้ 4
- กระบอกใส่น้ำ 4                         - แกงส้มแกงหวาน
- ข้าว 4 ก้อน
               ให้นำเครื่องพิธีทั้งหมดนี้ใส่สะตวงแล้วส่งบูชาเสีย เครื่องพิธีนี้ให้ใช้สำหรับหอคำ(พระราชวัง) หากไม่ใช่หอคำให้ใช้เทียนเงิน เทียนทอง อย่างละ 4 เล่ม หากเป็นเมืองเล็กๆ ให้ใช้เทียนเงิน เทียนคำ อย่างละ 2 เล่ม หากเป็นเมืองชนบทหรือหมู่บ้านให้ใช้เทียนเล่มบาท 4 เล่ม เงินคำพันร้อยมีอยู่ 3 ลักษณะ คือ เงิน 100 ถ้าม, เงิน 300 ถ้าม และเงิน 600 ถ้าม
               จะทำสังฆกรรมถอนขึด ให้พิจารณาดูให้ถ้วนถี่ อย่ารีบร้อน และเวลาที่จะกระทำพิธีถอนขึดนั้น ให้ลงโทษผู้กระทำให้ตกขึด ดังนี้ หากเขาขุด ก็ให้ถม หากเขาถม ก็ให้ขุดออก หากเขาฟันทิ้ง ก็ให้ปลูกใหม่แทน ส่วนเครื่องบูชาขันครูนั้นให้เขาเป็นผู้จัดเตรียม
               เวลาทำพิธีถอนขึดนั้นให้เสกน้ำในคนโท หรือ น้ำในกระบอกที่อยู่ในสะตวง 7 รอบ ด้วยบทนี้ว่า “โอม ธะระณีนัง ปะฐะวีระสัง สิทธิกัมมัง วิรุฬหิยานัง ขิปปัง เทหิ” แล้วเทน้ำลงดิน ขณะที่เทน้ำนั้นให้ว่า “ยัง ยัง อิจฉามิ ตัง ตัง สะมิชฌะตุ เม สะทา” จนกว่าจะเทน้ำหมด 4 กระบอก หรือ  4 คนโทแล้วให้ว่า ข้าแต่แม่ธรณีเป็นเจ้า ขอให้หายยังอุปัทวะกังวลอันตราย ความสวัสดีจุ่งมีแก่ตูข้าทั้งหลายเถิด
               หากทำเช่นนี้แล้วย่อมประสบแต่ความเจริญสุขสวัสดี เครื่องพลีกรรมทั้งหลายนั้นให้ขุดหลุมฝังสะตวงในที่ตรงนั้น หากไม่กระทำบ้านเมืองก็จักเกิดกลียุคข้าวยากหมากแพง เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นานา
               อนึ่ง ผู้ใดละทิ้งจารีตโบราณ  ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเสียของผู้ตาย โลภเอาข้าวของผู้อื่นไม่เคารพเชื่อฟังพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ สามีภรรยาไม่เคารพให้เกียรติกัน จักประสบแต่ความพินาศฉิบหาย 
               อีกประการหนึ่ง หากกระทำการสิ่งใดไม่เป็นไปฤกษ์งามยามดี จักสร้างบ้านเรือนโดยที่ไม่ปรึกษาก็ย่อมหาความเจริญสุขสวัสดีไม่ได้
               คนทั้งหลายสร้างบ้านเรือนไม่เลือกไม้ ก็จักไม่เจริญรุ่งเรือง ไม้ที่ไม่ควรนำมาสร้างบ้าน คือ ไม้ฟ้าผ่า ไม้ยืนต้นตาย ไม้ตายด้วน ไม้เถาวัลย์ขึ้น ไม้ล้มเอง ไม้จมน้ำ จมดิน ไม้เอนไปกลางน้ำ ไม้น้ำเน่าออกกลางลำ ไม้ 2 ต้น ที่มีเงาเสมอกัน ไม้เกิดเหนือจอมปลวก ไม้ดงอารักษ์ ไม้แดนบ้านแดนเมือง
               “สังฆานิราธัง” บทนี้หัวใจแม่ธรณี
               “โอม ธะระณีนัง ปะฐะวีระสัง สิทธิกัมมัง วิรูฬหิยานัง ขิปปะ เทหิ” บทนี้เสกข้าวบูชาพระแม่ธรณี
               “ยัง ยัง อิจฉามิ ตัง ตัง สะมิชฌะตุ เม สะทา” บทนี้เสกน้ำหยาดให้แม่ธรณี
พระแม่ธรณีเป็นธิดาของท้าวฤๅราชและนางนาฏไท้กัมมธะ มีพี่ชื่อท้าวพวงธุลี, กล่าวตำนานแม่ธรณีไว้เพียงเท่านี้
               ปริวรรต : วิโรจน์ อินทนนท์, ยศพล เจริญมณี (ตุลาคม 2556)
               ตรวจสอบ/เรียบเรียง : วิโรจน์ อินทนนท์, ยศพล เจริญมณี (ตุลาคม 2556)




                [1]   ตำนานแม่ธรณี (ตำนานไม้ศรีมหาโพธิ์, ลักษณะรอยพระพุทธบาท, ตำนานแม่ธรณี-ขึดหลวง) ฉบับวัดศรีคำชมภู ตำบลป่าบง อำเภอสารภี รหัสไมโครฟิล์ม 80.041.01H.073-073 สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ปริวรรตโดย วิโรจน์ อินทนนท์, ยศพล เจริญมณี 2556
[2] เวียงขอม ไม่อาจบอกได้ว่าเป็นเมืองอะไรของอินเดียในปัจจุบัน แต่บอกทิศทางว่า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นโพธิ์ ใช้ระยะเวลาเดินทางถึง 17 เดือน
[3]  หมายถึง พระธาตุส่วนใดส่วนหนึ่งที่ไฟไม่ไหม้  ส่วนในตำนานทวีปทั้ง 4 เรื่องที่ 11 เชิงอรรถอ้างอิงที่ 29 ระบุว่า “พระทันตธาตุ” หรือ พระเขี้ยวแก้ว
[4] ภูเขาดงคสิริ สถานที่บำเพ็ญทุกรกิริยา อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ  4 กิโลเมตร จากต้นมหาโพธิ
[5] จำนวนใบน่าจะมีมากกว่าจำนวนยอด ตัวเลขใบมี 3 โกฏินี้น่าจะตกจำนวนไปมาก ขณะที่ยอดมีจำนวน 200 โกฏิ ใบโพธิ์น่าจะต้องมีมากกว่ายอด 10 เท่า คือ 2,000 โกฏิ
[6] ไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด ให้คาดเดา น่าจะคัดลอกผิดจากสุชาดา เป็นสุลิง ? ส่วนกลายเป็นหิน หมายถึง รูปแกะสลักหินนั่นเอง
[7] ไม่อาจเดาได้ว่าเป็นไม้อะไร
[8]  ขึด : เสนียดจัญไร
[9] ภาชนะสำหรับตวงข้าวสาร มีความจุประมาณ 1.5 ลิตร