แจ้งข่าวนักศึกษา012173

วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2559

สมปรารถน์สังคมคุณภาพ : บทวิเคราะห์ เรื่องลำดับที่ 9 ชุด วิถีล้านนา : ปทัสถานสังคมคุณภาพ

สมปรารถน์สังคมคุณภาพ บทวิเคราะห์เชิงปรัชญาบนฐานภูมิปัญญาโบราณล้านนา

            จากการได้ศึกษาวิเคราะห์ภูมิปัญญาล้านนาจากเอกสารโบราณที่ประกอบด้วย คัมภีร์ใบลาน และพับสา จำแนกตามองค์ประกอบ 3 ประการ ของปทัสฐานทางสังคม คือ วิถีประชา  กฎศีลธรรม และกฎหมาย ผู้เขียนได้เล็งเห็นว่า บรรพบุรุษชาวล้านนา มีกรอบการดำรงชีวิตทั้งที่เป็นส่วนปัจเจก หรือส่วนตัว มีอิสรเสรีภาพ เป็นไทแก่ตนเอง และส่วนที่เกียวข้องกับสังคม ผ่านคติความเชื่อ จารีตประเพณีและวัฒนธรรม ที่เรียกว่า วิถีประชา และกฎทางศีลธรรม กติกาทางสังคมที่วางระบบแนวปฏิบัติให้สมาชิกในสังคมได้กระทำตาม ที่เรียกว่า กฎหมาย แม้จะถูกมองว่า กติกาบางอย่างจำกัดความมีอิสระเสรีภาพส่วนบุคคลไปบ้าง แต่ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันการอยู่ร่วมกันอย่างสงบ มีสันติสุข นั่นถือว่า เป็นชีวิตที่มีคุณภาพ เมื่อบุคคลอยู่ในสังคมที่มีระบบระเบียบ มีหลักประกันความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน อยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์  ความสงบสุขร่มเย็นย่อมเกิดมีได้ในสังคมนั้น ขอเรียกว่า เป็นสังคมคุณภาพ ที่ทุกสังคมในโลกนี้ต้องการ
              มองในด้านคุณภาพชีวิต  ที่มีนักวิชาการหลายท่านให้ความหมายไว้ เช่น  ศิริ  ฮามสุโพธิ์  (2536 , หน้า 33) กล่าวว่า “คุณภาพชีวิต หมายถึง  ชีวิตของบุคคลที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างเหมาะสม  ไม่เป็นภาระและไม่ก่อให้เกิดปัญหากับสังคมเป็นชีวิตที่มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถดำรงชีวิตที่ชอบธรรม  สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม  ค่านิยมของสังคม สามารถแก้ไขปัญหา ตลอดจนการแสวงหาสิ่งที่ตนปรารถนาให้ได้มาอย่างถูกต้องภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่” และ นิพนธ์   คันธเสวี  (2537 , หน้า 10) กล่าวว่า “คุณภาพชีวิต  หมายถึง  ระดับสภาพการดำรงชีวิตของมนุษย์ตามองค์ประกอบของชีวิตอันได้แก่  ทางร่างกาย  ทางอารมณ์  ทางสังคม  ทางความคิดและ  จิตใจ”        จากตัวอย่างที่ยกมาพอสรุปได้ว่า  “คุณภาพชีวิต  หมายถึง  การดำรงชีวิตในระดับที่เหมาะสมของมนุษย์  ตามสภาพความจำเป็นพื้นฐานในสังคม  ซึ่งสนองต่อสิ่งที่ต้องการทางร่างกาย  จิตใจ  อารมณ์  สังคมและความคิดอย่างเพียงพอ  จนก่อให้เกิดความสุขตลอดทั้งการมีสุขภาพทางร่างกายและจิตใจที่ดี”
              มองในด้านองค์ประกอบของคุณภาพชีวิตมี 5 ด้าน ดังที่อาร์  ซี  ซาร์มา(Sharma)  ผู้เชี่ยวชาญของยูเนสโก (Unesco)  กล่าวไว้ โดย ศิริ   ฮามสุโพธิ์ นำมาอ้างไว้ ได้แก่  “1.  มาตรฐานการครองชีพ  (standard  of  living)  หมายถึง  มาตรฐานความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของประชากร  เกี่ยวข้องกับรายได้ต่อบุคคล  สุขภาพ  การศึกษา  ที่อยู่อาศัย  และการสังคมสงเคราะห์  2. การเปลี่ยนแปลงของประชากร  (population  dynamics)  หมายถึง  การเปลี่ยนแปลงประชากรอันเป็นผลมาจากการเกิด  การตาย  และการย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย  มีผลให้ประชากรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เพิ่มจำนวนหรือลดลง  3.  ระบบสังคมและวัฒนธรรม  (socio – cultural  factors)  มนุษย์เมื่อรวมกันมากจำเป็นต้อง   มีระบบ  มีกฎเกณฑ์ที่เรียกว่า  รูปแบบการปกครอง  กฎหมาย และมีแนวปฏิบัติอันเกิดจากความเชื่อและศรัทธาในลักษณะเดียวกัน  เพื่อให้การดำรงชีวิตร่วมกันมีความสงบสุขซึ่งจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี 4.  กระบวนการพัฒนา  (process  of  development)  การพัฒนาเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น  โดยจะต้องกระทำอย่างต่อเนื่องกันและสัมพันธ์กับปัจจัยทางสังคม  สภาพแวดล้อมและทรัพยากร  เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และ 5.  ทรัพยากร (resources)   ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ จะมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ  จะมีผลทำให้มาตรฐานการดำรงชีวิตอยู่ในระดับสูง[1]  จาก 5 องค์ประกอบนั้นผู้เขียนเห็นว่า องค์ประกอบสำคัญ คือ ข้อที่ 3 ที่ว่าด้วย ระบบสังคมและวัฒนธรรม  (socio – cultural  factors)  ที่เป็น รูปแบบการปกครอง  กฎหมาย  แนวปฏิบัติที่ตั้งอยู่บนฐานแห่งความเชื่อในลักษณะเดียวกัน  การดำรงชีวิตร่วมกันอย่างสงบสุข ย่อมนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสังคมแห่งคุณภาพ
              ตัวบ่งชี้ สังคมคุณภาพแห่งวิถีชีวิตชาวล้านนาในอดีต ตามกรอบปทัสฐานทางสังคม ผู้เขียนขอนำเสนอหลักฐานตามลำดับดังนี้
               ตัวบ่งชี้ด้านวิถีประชา ในคัมภีร์โลกถานะ หรือ มูลโลก ได้ให้ตัวอย่าง วิถีประชาเอาไว้มากมาย ในที่นี้จะขอยกตัวอย่าง จารีตการประกอบพิธีมงคลเกียวกับชีวิต มาแสดงดังนี้ลูกชาย หรือ หญิงคนอื่นที่เอามาเลี้ยง เมื่อจักทำมงคลพิธี ตัดผมโกนผมนั้นให้ทำที่เรือนของพ่อแม่บังเกิดเกล้าของเขา ไม่ควรทำที่บ้านพ่อแม่บุญธรรม หากไม่มีพ่อแม่ก็ให้ไปทำที่พระธาตุเจดีย์หรือต้นไม้ใหญ่
               เมื่อลูกบุญธรรมจะแต่งงานออกเรือน, พ่อสื่อแม่สื่อนำหมากเมี่ยงมาเจรจาสู่ขอไม่ควรเจรจาสู่ขอกันบนเรือนของพ่อแม่บุญธรรม ไม่ควรรับเอาหมากเมี่ยงที่เขานำมาด้วย และไม่ควรประกอบการมงคลในเรือนดังกล่าว หากทำก็จักพินาศฉิบหายมากนัก ควรประกอบการมงคลที่เรือนพ่อแม่ของตน หากไม่มีพ่อแม่ในที่แห่งนั้นก็ให้ปลูกกระท่อม ปลูกเรือนขึ้นมาใหม่สักหลังหนึ่งแล้วค่อยทำการมงคลในเรือนที่สร้างขึ้นมาใหม่นั้น พ่อสื่อแม่ที่มาพูดคุยกับพ่อแม่บุญธรรมนั้นก็ให้มาพูดคุยเรือนดังกล่าว หมากเมี่ยงที่เขานำมาก็ไม่ควรเอาเข้าในร่มชายคาของเรือนพ่อแม่บุญธรรม  ไม่ควรให้จับถืออะไรทั้งสิ้นแม้กระทั่งน้ำก็ไม่ควรให้กิน
               บ้านเรือนของปู่ย่าที่มีหลายชาย-หญิงอยู่นั้น เมื่อถึงคราวจัดงานมงคล 3 ลักษณะ คือ ผูกข้อมือเรียกขวัญ, จัดเลี้ยงดูแขก, งานแต่งงาน เมื่อลูกหลานเหล่านั้นได้ตายไปก็ไม่ควรประกอบโกตุมงคล 3 ประการ พร้อมกัน คือ ผูกข้อมือ, อาบน้ำอุ่น, ป้อนข้าวกุม ให้เว้นไว้เสีย 1 อย่างเนื่องจากไม่ใช่ลูก หากทำพร้อมกันทั้ง 3 ประการ มักพินาศฉิบหาย
               ลูกหลานเกิดอีกเรือนหนึ่ง ปู่ย่าอยู่อีกเรือนหนึ่งและไปเอามาเลี้ยง เมื่อถึงเวลาที่จะออกเรือนก็ไม่ควรทำพิธีแต่งงานในเรือนของปู่ย่า ให้ปลูกกระท่อมไว้อีกที่แล้วให้ทำพิธีในเรือนนั้น แต่ถ้าปู่ย่ายกเรือนให้ก็สามารทำพิธีแต่งงานในเรือนปู่ย่าได้ หากไม่ทำตามก็จักพินาศฉิบหายถึงแก่ชีวิตจนชั่วลูกชั่วหลาน
               หญิงผู้ใดลักลอบได้เสียแล้วเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมาก็ไม่ควรทำพิธีแต่งงาน หากทำก็จักพินาศฉิบหายถึงแก่ชีวิต ส่วนผู้หญิงใดมีสามีแล้วสามีตายหรือหย่าร้างกันไปก็ไม่ควรทำพิธีมงคลสมรส ผู้ชายก็เช่นเดียวกัน, ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องของจารีตการแต่งงาน
               ในบ้านเรือนใดมีคนท้องอาศัยอยู่ ไม่ควรกระทำการมงคลสมรส หากทำจักวินาศฉิบหายทุกอย่าง, ผู้ที่จะไปร่วมงาน ข้าวของเครื่องใช้เป็นต้นว่า หม้อน้ำ เสื่อ ที่นอน ฯลฯ ให้เครือญาติเดียวกันเป็นคนถือไป ญาติที่กำลังตั้งครรภ์นั้นไม่ควรถือไป
               คู่บ่าวสาวที่จะแต่งงานกันนั้น หากพ่อแม่ของฝ่ายชายยังมีชีวิตอยู่ แต่พ่อแม่ของฝ่ายหญิงสาวเสียชีวิตไปแล้ว หรือพ่อแม่ฝ่ายชายเสียงชีวิตไปแล้ว แต่พ่อแม่ฝ่ายหญิงยังมีชีวิตอยู่นั้นก็ไม่ควรทำพิธีผูกข้อมือบ่าวสาว ควรตบแต่งตามประเพณี หากพ่อแม่ของทั้งคู่ยังมีชีวิตอยู่ก็ควรทำพิธีผูกข้อมือได้”
               ตัวอย่างที่ยกมานี้ เป็นเรื่องของธรรมเนียมหรือจารีตท้องถิ่น หากกระทำตามย่อมได้รับการสรรเสริญ หากละเมิด ฝ่าฝืน จะได้รับการติิเตียนนินทาจากสังคม
              ตัวบ่งชี้ด้านกฎทางศีลธรรม ในคัมภีร์ ปาฏิโมกข์คฤหัสถ์ จะมีหลักคำสังสอนให้ผู้ครองเรือนตั้งมั่นอยู่ในหลักศีลธมมอันดี เป็นคนดี ทางพุทธศาสนา ที่เรียกว่า อุบาสก(ชาย) หรือ อุบาสิกา(หญิง) จำแนก ออกเป็นระดับต่าง ๆ ดังความว่า “ผู้เข้าถึงไตรสรณคมน์ นั้นได้ชื่อว่า ติสรณคมนอุบาสก, ผู้ที่มีศีล 5 ชื่อนั้นได้ชื่อว่า สีลวันตอุบาสก, ผู้ที่เลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีพนั้นได้ชื่อว่า สัมมาชีวอุบาสก หากผู้ใดมีครบทั้ง 3 อย่างนี้ เรียกว่า มหาสัมปัตติมังคลอุบาสก แต่ถ้าไม่มี 3 อย่างนี้ เรียกว่าวิปัตติจัณฑาลอุบาสก หรือ ลาลลิ ลามกอุบาสก ผู้ถ่อย
               ยังมีคำแนะนำการคบมิตร ลักษณะมิตรดีมิตรชั่ว  ข้อควนประพฤติ และข้อควรเว้น ดังตัวอย่าง ต่อไปนี้ “มิตรที่ดีมีคุณสมบัติ คือ เป็นผู้ที่มีศรัทธามั่นคง, เป็นผู้มีศีล, เป็นผู้ที่ให้ทานอยู่เนืองๆ, เป็นผู้มีสติสัมปัชชัญญะ, เป็นผู้มีปีญญา น่าเคารพเลื่อมใส, เป็นผู้คอยแนะนำแต่สิ่งที่มีประโยชน์ให้, เป็นผู้มีความอดกลั้นต่อคำด่าของผู้อื่น และพูดมีหลักการ ลึกซึ้ง มีเหตุผล ไม่สั่งสอนในสิ่งที่ผิดทำนองคลองธรรม ผู้ใดมีคุณสมบัติดังที่กล่าวมานี้เรียกได้ว่าเป็นมิตรที่ดี พึงคบหาสมาคมกันไว้
               หากขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้าน, เป็นคนเรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักระงับความโกรธ และพูดจาสุภาพอ่อนหวาน ภัยทั้งทั้งหลายย่อมไม่มาถึงตนและมีมิตรที่ดีเข้ามา หากสำรวมระวังในอินทรีย์ทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พรหมจริยกรรม คือ เส้นทางสู่พระนิพพานก็จะเกิดมีขึ้นอยู่ในตน หากเป็นคนรักษาสัจจะ มิตรที่ดีย่อมเข้ามาสู่ตน
               หากหมั่นทบทวนและสาธยายธรรม หมั่นแสวงหาความรู้ ฟังธรรมและสนทนาไต่ถามบัณฑิตย่อมนำปัญญามาสู่ตน หากหมั่นพิจารณา ทบทวน ธรรมะย่อมเกิดขึ้นกับตน           ไม่รู้จักสาธยายธรรม ย่อมนำตนตกอยู่ในความไม่รู้ หลงผิด คือ อวิชชา
               พูดโกหก พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ ไม่รู้จักให้ทาน ย่อมนำศัตรูมาสู่ตน    ไม่สำรวมระวังกาย จมูก ปาก ย่อมนำความอัปมงคลมาสู่ตน คบคนชั่วเป็นมิตร ย่อมนำความเดือดร้อนมาให้ ทำในสิ่งที่เหนือบ่ากว่าแรงแห่งตนย่อมนำพาโรคภัยไข้เจ็บมาสู่ตน ไม่อาบน้ำชำระล้างร่างกาย ย่อมนำความสกปรกมาสู่ตน เกียจคร้านในการงาน ย่อมนำความฉิบหายมาสู่ตน
               การที่ได้คบคนดีนั้นย่อมทำให้ได้ฟังพระธรรมคำสอน เมื่อได้ฟังแล้ว ศรัทธาจึงเกิดขึ้น เมื่อศรัทธาเกิดขึ้นแล้ว จิตย่อมตั้งมั่นเข้าสู่พระนิพพาน เมื่อตั้งมั่นเข้าสู่พระนิพพาน สติปัญญาจึงเกิด เมื่อสติปัญญาเกิดขึ้นแล้วก็จักสำรวมในอินทรีย์ทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ปาก กาย ใจ เมื่อสำรวมในอินทรีย์ได้แล้วจึงเกิดกุศลจิต เมื่อกุศลจิตเกิดขึ้นแล้วย่อมนำไปสู่สติปัฏฐานธรรม เมื่อสติปัฏฐานธรรมเกิดแล้วโพชฌงค์ทั้ง 7 ก็เกิดตามมา เมื่อโพชฌงค์ทั้ง 7 ครบถ้วนบริบูรณ์แล้วจึงเข้าถึงมรรค ผล นิพพาน ดั่งเช่นเม็ดมะขามป้อมตกอยู่ในมือแล้ว ด้วยเหตุนี้ การคบคนดีเป็นมิตรนั้นเป็นบาทฐานอันจักนำไปสู่สวรรค์ชั้นฟ้าและพระนิพพานได้
               หากคบคนชั่วเป็นมิตรย่อมมักได้ยินแต่เรื่องสิ่งที่ผิดไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อได้ยินแล้วทำให้ไม่เชื่อในพระธรรมของพระองค์ ย่อมทำในสิ่งที่ผิดทำนองคลองธรรม ขาดการพินิจพิจารณา ทำให้ไม่สำรวมในอินทรีย์ทั้ง 6 ก่อเกิดนิวรณธรรมดุจหมอกอันบดบังนัยน์ตาอันประกอบด้วย ความพอใจในกามคุณทั้ง 5, ความโกรธอาฆาต ความขัดเคืองใจ,  ความหดหู่ง่วงเหงาหาวนอน, ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ, ความลังเลสงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้า”
               ที่ยกมานี้ พอจะเป็นตัวบงชี้ว่า ชาวล้านนา มีหลักคำสอนทางศีลธรรมจรรยา ที่มุ่งขัดเกลาให้สมาชิกเป็นคนดีของสังคม ถ้าสมาชิกเป็นคนดี ย่อมสร้างสังคมให้เกิดความสงบได้
              ตัวบ่งชี้ด้านกฎหมาย การปกครองบ้านเมืองเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย จำเป็นต้องตรากฎหมายออกมาประกาศใช้ให้ประชาชนได้ยึดถือปฏิบัติ หากทำผิดกฎหมาย ก็ให้พิจาณาวินิจฉัยตามข้อเท็จจริง ไต่สวนได้ความจริงอย่างไร กฎหมายกำหนดโทษหนังเบาอย่างไรก็ให้ลงโทษทัณฑ์ตามบทบัญญัติ คดีความจึงจะเกิดความยุติธรรม และมีความเป็นธรรม บรรพบุรุษชาวล้านนา นอกจากจะมีกฎจารีตตามที่กล่าวมาแล้ว ยังมีกฎหมายวิธิพิจารณาความทางอาญา และทางแพ่งเอาไว้ชัดเจน เรียกว่า ธรรมศาสตร์ หรือ กฎหมายโบราณ เอาไว้เป็นธรรมนูญการปกครอง เป็นขื่อเป็นแปของบ้านเมือง
              ตัวอย่างที่ 1 การตรากฎหมาย ในสมัยพญามังราย เรื่องการจัดสรรอำนาจและหน้าที่ ดังความว่า
               “ศรีสิทธิการ ราชศาสตร์ฉบับนี้ พญามังรายได้ทรงทราบมาแต่โบราณนับตั้งแต่ท้าวญาปู่เจ้าลาวจกผ่านมาถึง 24 รัชกาล  จนกระทั่งมาถึงท้าวลาวเมงผู้เป็นพระบิดา พระองค์จึงได้ตราเป็นกฎหมายโบราณเอาไว้ 
               เมื่อสร้างนพบุรีศรีพิงค์ไชยพระนครเชียงใหม่  จุลศักราช 654 (พ.ศ.1835)  ปีเต่าสี เดือน 6  ออก 5 ค่ำ เมงว่าวันพฤหัสบดี  ไทว่าวันรวายสะง้า  ยามแตรรุ่ง  ท้าวพญาเสนาอำมาตย์ จ่าเมืองทั้งหลายฝูงอันเป็นแล้วแต่ก่อนย่อมแต่งตามโบราณสืบกันมาดังนี้ก็เจริญบ้านเมือง  ไม่ให้ขุ่นเคืองใจไพร่ฟ้าข้าไท  เจ้าขุนก็มีสุข  ก็ย่อมชนะข้าศึกศัตรู  ไพร่ยุค้าข้ายุขาย  มีแก่คนทั้งหลายเพื่อประกอบชอบธรรมดาจารีตมาดังนี้  คนเมืองฝูงเป็นไพร่ฟ้ามีครอบครัวงัวควาย ช้างม้า เสื้อผ้า ควรเอาการเมือง ไม่ให้ขุ่นเคืองใจขุนดังนี้ 
               ในจำนวนคน 10 คน ให้มี 1 คนเป็นนายข่ม (หัวหน้า)  ชื่อว่า นายสิบ  แล้วให้มีคน 1 เป็นนายการมักว่าเป็นล่ามป่าว   ให้มีเช่นนี้ทุกนาย หากมีไพร่ 50 คน ก็ให้มีนายห้าสิบ 1 คนเป็นปากซ้าย นายห้าสิบ 1 คน ให้มีนายห้าสิบคน 1 เป็นปากขวา  นายห้าสิบ 2 คนนี้ให้มี 1 คน เป็นนายร้อย ทำหน้าที่เป็นหัวหน้า  นายร้อย 10 คน ให้มีเจ้าพัน 1 คน เป็นหัวหน้า  เจ้าพัน 10 คนให้มีเจ้าหมื่น 1 คน เป็นหัวหน้า  เจ้าหมื่น 10 คน ให้มีเจ้าแสน 1 คน เป็นหัวหน้า ให้สร้างบ้านแปลงเมือง ตามพระทัยของพระเจ้าแผ่นดิน”
               ตัวอย่างที่ 2 บทบัญญัติว่าด้วยการสั่งเสียก่อนตายและการแบ่งมรดก
               “หากคนในครอบครัว เช่น พ่อแม่ ปู่ย่า ลุงป้า น้าอา ญาติพี่น้อง เมื่อจะตายได้พูดยกสิ่งใดก็ตามให้กับผู้ใดก็ให้ยกสิ่งนั้นแก่ผู้นั้นตามที่ผู้ตายได้สั่งเสียเอาไว้ ไม่ควรฝ่าฝืนคำสั่งของคนตาย
               ประการหนึ่ง ถ้าผู้ตายไม่ได้สั่งเสียก็ให้ทุกอย่างก็ตกเป็นของลูก แต่ถ้าลูกมีหลายคนก็พิจารณาดูว่า หากลูกคนใดเป็นคนเลี้ยงดูพ่อแม่ก็ให้ลูกคนนั้นได้ทรัพย์สมบัติมากกว่าคนอื่นๆ ถ้าลูกคนใดเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและแสวงหาทรัพย์สินเงินทองมาสู่ตระกูล  สมบัติเหล่านั้นก็ควรเป็นของคนนั้นเพียงผู้เดียว
               ประการหนึ่ง ทรัพย์สมบัติอันใดที่เคยถูกเจ้าขุนบังคับขู่เข็ญเอาไปก็ดี  ถูกโจรปล้นไปก็ดีถูกปรับไหมด้วยการบังคับขู่เข็ญไปก็ดี  เมื่อพ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ไม่สามารถร้องเรียนเอาได้ เมื่อพ่อแม่ตายไปและถ้าลูกคนใดเป็นผู้ไปดำเนินการขอความเป็นธรรมกับทางราชการและได้ของเหล่านั้นกลับคืนมา ก็ให้ทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นของลูกคนนั้น  ไม่ต้องแบ่งให้กับลูกคนอื่นๆ
               ประการหนึ่ง ลูกคนใดได้ขอเงินพ่อแม่นำไปทำทุนและยังไม่ได้ใช้เงินคืนแล้วพ่อแม่ได้ตายไปเสียก่อน ลูกคนนั้นต้องนำเงินต้นที่นำไปลงทุนนั้นมารวมเข้าไว้ทรัพย์สินส่วนกลางเพื่อแบ่งให้ลูกทุกคน ส่วนกำไรที่ได้ก็ให้ตกเป็นของลูกที่เป็นคนยืมไป
               ประการหนึ่ง พ่อแม่ตายไปแล้วแต่ยังไม่ได้แบ่งสมบัติกัน ลูกคนใดแอบลักซ่อนวัตถุใด วัตถุหนึ่งก็ให้นำออกมารวมกับทรัพย์สินอย่างอื่นแล้วแบ่งปันกันให้ทั่วกัน”
               ตัวอย่างที่ 3 บทบัญญัติว่าด้วยการทำร้ายร่างกาย ดังนี้    
               “ประการหนึ่ง  มีคนสองคนทะเลาะกัน ต่างคนต่างมีอาวุธ (หอกดาบ) ได้ฆ่าฟันกันตายหรือคนใดคนหนึ่งตาย หรือคนใดคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ ให้ถือว่ามีความผิดเท่ากัน
               ถ้าถอดดาบจากฝักแล้วไล่ฟันผู้อื่น  ถ้าฟันไม่ถูก ปรับ 330 เงิน  ถ้าชักดาบออกจากฝักอยู่กับที่แต่พูดออกปากว่าจะฟัน ปรับ 220 เงิน ถือดาบไปแล้วพูดว่าจะฟัน แต่ไม่ได้ชักดาบ ปรับ 110 เงิน ถือดาบอยู่กับที่ แล้วพูดว่าจะฟัน แต่ไม่ได้ชักดาบ ปรับ 52 เงิน  ได้จ้างคนให้ไปฆ่าผู้อื่น ผู้รับจ้างยังไม่ได้ลงมือฆ่า แต่มีพยานรู้เห็นเรื่องนี้ว่าเป็นความจรัง ปรับ 660 เงิน ให้ผู้จ้างและผู้รับจ้างใช้คนละครึ่ง ถ้าได้ลงมือฆ่าแล้วก็เสียค่าปรับคนละครึ่งเหมือนกัน  ถ้าคนจ้างและผู้รับจ้างได้วางแผนว่าจะฆ่าคนนั้นคนนี้ แต่ยังไม่ได้ลงมือฆ่า ให้ปรับ110 เงิน เโดยสียค่าปรับคนละครึ่ง”
               ตัวอย่างที่ 4 การบัญญัติความผิดว่าด้วยการล่วงละเมิดทางเพศและเป็นชู้ ดังนี้
               “ประการหนึ่ง ขุนช้างหรือขุนหมื่นก็ดีได้จับนมผู้หญิง ถ้าจับนอกเสื้อข้างหนึ่งก็ดี กอดนอกเสื้อก็ดีโดยผู้หญิงไม่ชอบ ให้ปรับ 22,000  เบี้ย ถ้าจับนมในเสื้อทั้ง 2 ข้างก็ดี  กอดในเสื้อก็ดี     ให้ปรับ 220,000 เบี้ย  ถ้าได้ล่วงเกินทางเพศ ให้ปรับ 330,000 เบี้ย
               ประการหนึ่ง ขุนบ้านเมืองเป็นชู้กับเมียผู้ที่มียศศักดิ์ต่ำกว่าจนลงมาถึงไพร่หรือล่วงเกินทางเพศ ได้จับมือถือนมก็ดี  ให้ปรับตามโทษอันหนักอันเบาเถิด
               ประการหนึ่ง นายม้า คือ ล่ามหมื่นก็ดี  นายพ่างซ้าย-ขวา ก็ดี มีชู้กับเมียนายม้าหรือนายพ่างซ้าย-ขวา จับนมนอกเสื้อข้างหนึ่งก็ดีโดยที่ผู้หญิงไม่ยินยอม ให้ปรับ 220,000 เบี้ย ถ้าจับนมนอกเสื้อทั้ง 2 ข้าง ให้ปรับ 440,000 เบี้ย ถ้าจับนมในเสื้อ แต่ผู้หญิงหากยินยิม ให้ปรับ 220,000 เบี้ย  ถ้ามีเพศสัมพันธ์กันให้ปรับ 110,000 เบี้ย เป็น 1,000 เงิน 
               ประการหนึ่ง นายตีน คือ พันกลองหรือพันหน้าไม้  ยังมีศักดินาติดตัวอยู่ พวกเขาเป็นชู้กับเมียนายตีนด้วยกัน จับนมนอกเสื้อข้างหนึ่งก็ดี โดยผู้หญิงไม่ยินยอม ให้ปรับ 210,000 เบี้ย  ถ้าว่าจับนมนอกเสื้อทั้ง 2 ข้าง ให้ปรับ 220,000 เบี้ย  ถ้าว่าจับนมในเสื้อทั้ง 2 ข้าง และผู้หญิงยินยอม ให้ปรับ 110,000 เบี้ย  ถ้าผู้หญิงยินยอมและฝ่ายชายได้มีเพศสัมพันธ์กันด้วย ให้ปรับ 550,000 หากเป็นชู้กับเมียนายช้าง นายม้าที่มียศสูงกว่าตน หรือเป็นชู้กับเมียผู้ที่มียศสูงกว่าตนหรือเป็นชู้กับเมียผู้ที่มียศต่ำกว่าตนก็ให้ปรับตามที่ว่ามานี้
               ประการหนึ่ง  ไพร่ คือ นายข่มม้า นายพวกน้อย นายห้าสิบ นายข่มเวียกการ เขาเป็นชู้ด้วยกับเมียของไพร่ดังกล่าว  จับนมผู้หญิงนอกเสื้อข้าง 1  โดยผู้หญิงไม่ยินยอม ปรับ 50,000 เบี้ย ถ้ากอดก็ดี  จับนมทั้ง 2 ข้างนอกเสื้อ ปรับ 55,000 เบี้ย  ถ้าว่าผู้หญิงยินยอมและได้กอดได้จับนมในเสื้อ ปรับ 22,000 เบี้ย  ถ้าว่าได้ร่วมหลับนอนและผู้หญิงก็ยินยอม ปรับ 33,000 เบี้ย คิดเป็นเงิน 330 เงิน 
               ประการหนึ่ง นายส่วย  นายบ้าน นายยานพาหนะ หมื่นข้าว เถ้าเมือง  นายริบ-นายไร  นายสิบ นายซาว  เป็นชู้กับเมียของพวกเขาเหล่านี้โดยผู้หญิงไม่ยินยอม ผู้ชายได้จับนมผู้หญิงข้าง 1 นอกเสื้อ ปรับ 220,000 เบี้ย  ผู้ชายได้กอดและจับนมทั้ง 2 ข้างก็ดี โดยที่ผู้หญิงยินยอมและได้ร้องโวยวาย ปรับ 44,000 เบี้ย  ถ้าว่าจับนมในเสื้อทั้ง 2 ข้าง ปรับ 22,000 เบี้ย  ถ้าว่าได้ร่วมหลับนอน ปรับ 55,000 เบี้ย  ถ้าเป็นชู้กับเมียของผู้มียศสูงกว่า ได้จับนม ได้กอดและร่วมหลับนอน ให้ปรับเช่นเดียวกันนี้  ถ้าเป็นชู้กับเมียผู้ที่มียศต่ำกว่าตนหรือลงมาจนถึงเมียไพร่ก็ให้ปรับอย่างเดียวกันนี้”
               ตัวอย่างที่ 5 การวินิฉัยคดีของอาทาสมุขราชา ใน ความณีจันทร์ชาดก ซึงเป็นลักษณะ หมานยอก เอาหนาม บ่งดังนี้     
             “การวินิจฉัยตัดสินคดีที่ 2 :        ชายคนหนึ่งเป็นเพื่อนคามณีจันทร์ ภรรยาของเขาเกิดแท้งลูกเพราะคามณีจันทร์ไปช่วยได้เป็นโจทก์ฟ้องว่า  “มีวันหนึ่งคามณีจันทร์ไปบ้านข้าพเจ้า  และได้ตีเมียของข้าที่กำลังตั้งท้องได้ 7 เดือน ทำให้ลูกของข้าตายและแท้งออกมา”  เจ้าพญาจึงถามคามณีจันทร์ว่า “ท่านไปตีเมียที่มีครรภ์ของชายผู้นี้จนถึงกับแท้งลูกจริงหรือ”  คามณีจันทร์จึงเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้พญาเจ้าเมืองฟังตั้งแต่ต้นจนจบ  เมื่อนั้นอาทาสมุขราชถามผู้เป็นพ่อลูกอ่อนว่า “ท่านจะให้คามณีจันทร์ชดใช้อย่างไร” ชายผู้เป็นพ่อลูกอ่อนทูลว่า “ข้าแด่มหาราชเจ้า ข้าพเจ้าอยากจะได้ลูกคืนมา” พญาเจ้าเมืองจึงตัดสินว่า “คามณีจันทร์เจ้าจงเอาเมียของชายผู้นี้ไปอยู่กับท่าน เมื่อตั้งครรภ์และคลอดลูกแล้วจึงนำเมียและลูกไปส่งคืนให้กับชายผู้นี้เถิด”  แล้วให้นำตัวโจทก์และจำเลยออกไปด้านนอก  ชายผู้เป็นโจทก์จึงก้มกราบเท้าคามณีจันทร์และกล่าวว่า “คามณีจันทร์อย่าได้เอาเมียข้าไปอยู่กับท่านเลย อย่าทำให้ครอบครัวของข้าต้องแยกกันเลย” พูดแล้วจึงให้เงินกหาปนะแก่คามณีจันทร์แล้วกลับไป” 
               ด้วยตัวบทกฎหมายที่ตราลักษณะความผิด และการวินิจฉัยพิพากษาให่เกิดความยุติธรรมแก่กันทั้งสองฝ่ายเช่นนี้ บ้านเมืองก็มีขื่อมีแป ผู้ทำความคิดจะได้รับการลงโทษตามสมควรแก่โทษานุโทษ ไม่หนักหรือเบาตามอำนาจอคติธรรม ผู้เป็นเหยื่อที่ถูกละเมิดก็จะได้รับความเป็นธรรมชดเชย ผู้ตัดสินคดีความก็มีบรรทัดฐานเป็นกรอบปฏบัติชัดเจน ถือว่า ปทัสฐานทางสังคมข้อนี้ เข้าลักษณะการปกครองแบบนิติรัฐได้อย่างดี
               ในท้ายหนังสือ ธรรมศาสตร์ชี้ให้เห็นความสำคัญของตัดสินอรรถคดี หากดำรงตนเที่ยงธรรม ความยุติธรรมก็จะบังเกิด ตงกันข้าม ความวุ่นวายจะเกิดขึ้น ดังความว่า “ผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสินคดีความนั้นจะต้องตัดสินคดีให้เกิดความชอบธรรมตามตัวบทกฏหมาย อย่าเพิ่มหรือตัดออก มีสติสัมปัชชัญญะ หนักแน่น ให้ประกอบด้วยคุณ 22 ประการ อย่าให้มีความโกรธในเวลาพิจารณาคดีความ ให้พิจารณาคุณและโทษอย่างถ้วนถี่ อย่าตัดสินคดีความเร็วหรือช้าจนเกินไป ให้ตัดสินไปตามธรรมศาสตร์นี้เถิด”
               อย่างไรก็ตาม มีข้อที่ควรยกเว้น แม้นว่าจะมีโทษสถานหนัก ถึงขั้นประหารชีวิต แต่ให้เนรเทศแทน ดังคำว่า “บุคคลที่ไม่ควรฆ่ามีดังนี้  สมณชีพราหมณ์ ปุโรหิต หมอยา หมอโหรา นายหนังสือพื้นบ้านพื้นเมือง   จ่าไต่คำ นักปราชญ์ผู้ในศิลปศาสตร์ทั้งปวง  เสนาทหารกล้าผู้ขันอาสางานหลายครั้ง  บุคคลเหล่านี้แม้นมีโทษหนักเท่าใดก็ไม่ควรฆ่า ให้ขับไล่หนีออกจากเมืองก็พอ”
               สังคมไม่ว่ายุคสมัยใด หากผู้นำทางบ้านเมือง รวมทั้งเหล่าผู้สนองงานราชการ หรือผู้นำทางจิตวิญญาณ เช่นสมณะชีพราหมณ์ หากไม่อยู่ในครรลองคลองธรรม ไม่ปฏิบัติตามปทัสฐานทางสังคม ก็ย่อมเป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่อาศัย เป็นสังคมที่ไร้คุณภาพ บ้านเมืองย่อมจะเกิดความเดือดร้อนวุ่นวาย นำไปสู่ความพินาศฉิบหายได้ ดังความว่า
               “กษัตริย์และเสนาอำมาตย์ หากไม่ตั้งอยู่คลองธรรม ก็จักพินาศฉิบหาย ไพร่ไม่มีขุน ขุนไม่มีไพร่ก็พินาศฉิบหาย ครูบาอาจารย์ไม่มีลูกศิษย์ที่ฉลาดหลักแหลม ก็พินาศฉิบหาย ศิษย์ไม่มีครูบาอาจารย์คอยสั่งสอน ก็จักฉิบหาย สงฆ์วิวาทกัน ไม่ลงอุโบสถด้วยกัน ก็จักฉิบหาย ท้าวพญาวิวาทกัน ไม่มีมีฉันทามติร่วมกัน ก็จักพินาศฉิบหาย ชาวบ้านวิวาทกัน ต่างคนต่างก็เอาความเห็นของตนเป็นใหญ่ มีอยู่ในบ้านเมืองใด  บ้านเมืองนั้นจักพินาศฉิบหาย”
               ดังนั้น การมองวิถีชีวิตสังคมล้านนาในอดีต ผ่านเอกสารโบราณที่เป็นคัมภีร์ใบลาน และพับสา แม้จะใช้ข้อมูลเพียง 7 เรื่องใหญ่ๆ ที่ผู้เขียนนำมาเรียงร้อยให้เห็นถึง บ้านเมืองและสังคมที่ดำรงอยู่ด้วยปทัสฐานทางสังคมเช่นนี้ จัดได้ว่า เข้าสู่กรอบมาตรฐานสังคมคุณภาพได้อย่างแท้จริง  ทั้งนี้ ถ้าปัจเจกบุคคล มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันจากรัฐที่คุ้มครองสิทธิ์และศักดิ์ศรี  ในขณะที่รัฐเองก็ให้หลักประกันแก่สังคมด้วยระบบการปกครองแบบนิติรัฐ ย่อมนำสังคมไปสู่สันติสุขได้ ในส่วนของตัวสังคมเอง ถ้ายึดหลักศีลธรรมตามจารีตประเพณี และ วัฒนธรรมแบบวิถีประชา อันเป็นค่านิยมพื้นฐานของสังคม ให้เป็นหลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจด้วยแล้ว ก็ยิ่งเสริมความแกร่งแห่งสังคมคุณภาพให้ยั่งยืนสืบไปได้
               มองจากกรอบความคิดทางปรัชญาตะวันตก ได้พบว่า หนังสือเล่มนี้ ได้สะท้อนมุมองเชิงปรัชญาตามกรอบปรัชญาตะวันตกอย่างน้อย  2 สาขา คือ สาขาอภิปรัชญา(Metaphysics) บรรรยายถึงปฐมกำเนิดโลก มีวิวัฒนาการตามธรรมชาติ ค่อยเป็นค่อยไป กาลเวลานานมาก เริ่มก่อตัวจากธาตุทั้ง 4 ผสมกันได้สัดส่วนทำให้เกิดสิ่งมีชีวิต พืช และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังก่อน แล้วจึงเกิดสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง  นับจากปฐมกัปมีอายุได้ 3 อสงไขย์ จึงเกิดมีมนุษย์ คนแรกเป็นเพศหญิง นามว่า  อิตถังเคยยะสังคะสี  นางนี้เป็นคนสร้างสัตว์ 12 ชนิด (สัตว์ประจำ 12 นักษัตร) ต่อมาจึงเกิดเพศชาย ชื่อว่า เคยยะสังคะสี เมื่อทั้งสองมาพบกันก็ช่วยกันสร้างมนุษย์ขึ้นมาจาก เถ้าไคล จำแนกเป็น บุรุษ สตรี และนปุงสกลิงค์(กระเทย) สร้างฤดู วัน เดือน ปี ภพภูมิของสัตว์ทั้งหลาย จนถึงกาลเวลาที่โลกจะล่มสลายไป และกลับมาเกิดใหม่หมุนวนเป็นวัฎฎะ  แนวคิดเช่นนี้ จัดอยู่ในกลุ่ม ธรรมชาตินิยม(Naturalism) ส่วนมุมมองทางด้านจริยศาสตร์(Ethics) ก็มีทฤษฎีจริยศาสตร์คุณธรรม(Ethics of Virtues) และจริยศาสตร์หน้าที่(Ethics of Duty) สั่งสอนข้อที่ควรปฏิบัติของสมาชิกในสังคม โดยการนำหลัก ทางพระพุทธศาสนา เช่น ศีล 5, อบายมุข 4, สังคหวัตถุ 4, ทิศ 6 อปริหานิยธรรม 7 เป็นต้น มาเป็นกรอบความในครองตน ครองคน และครองงาน ตามหลักพุทธจริยศาสตร์  มีหลักคุณธรรมข้ออื่นๆ  ที่ควรปฏิบัติ เพื่อให้เป็นพ่อเหย้า แม่เรือนที่ดี  รวมทั้งข้อที่ควรปฏิบัติ และข้อห้าม ตามคติความเชื่อของชาวล้านนา มีกฎหมายโบราณเป็นกรอบบังคับ ให้สมาชิกในสังคมได้ปฏิบัติ เป็นวิถีชีวิตอันงดงาม สะท้อนหลักปรัชญาเกี่ยวกับโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่ชัดเจนอย่างยิ่ง.




[1] ความสำคัญของคุณภาพชีวิต  สืบค้นจาก www.computer.pcru.ac.th /emoodledata/15/week_3.doc g,njv;yomuj 21 พฤศจิกายน 2558.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น