แจ้งข่าวนักศึกษา012173

วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2559

อุบายแยบยลกำจัดภัยอุบาทว์(ธรณีสาร ; ตำนานพระแม่ธรณี- ขึดหลวง) เรื่องลำดับที่ 8 ชุด วิถีล้านนา : ปทัสถานสังคมคุณภาพ

อุบายแยบยลกำจัดภัยอุบาทว์(ธรณีสาร ; ตำนานพระแม่ธรณี- ขึดหลวง)[1]
ความย่อ
                ตำนานแม่ธรณีฉบับนี้ฉบับ วัดศรีคำชมภู ตำบลป่าบง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เดิมชื่อ ธรณีสาร ประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 เรื่อง คือ ตำนานไม้ศรีมหาโพธิ์ บอกระยะเส้นทางที่จะไปยังต้นศรีมหาโพธิ์ ชื่อหัวเมืองต่าง ๆ ที่เป็น 16 แคว้นสมัยพุทธกาลและลักษณะของต้นศรีมหาโพธิ์, ลักษณะรอยพระพุทธบาทที่ประกอบด้วยภาพมงคล 108 ประการ และตำนานแม่ธรณี เกี่ยวกับพระแม่ธรณี ผู้เป็นธิดาของท้าวฤๅราชและนางกัมมธะ มีพี่ชื่อท้าวพวงธุลี  ได้ถูกวิษณุกรรมเทพถามสาเหตุความเจริญและความเสื่อมจากโภคทรัพย์สมบัติของมนุษย์ ว่าเกิดจากขึดใหญ่ 7 ประการ   ในตำนานได้บอกลำดับวิธีในการถอนขึดเหล่านั้นเอาไว้
ความเรียงสาระของเรื่อง
ตำนานพระแม่ธรณี- (ขึดหลวง)
ตำนานไม้ศรีมหาโพธิ์
               ท่านทั้งหลายจงตั้งใจฟังดังต่อไปนี้, เมื่อเดินทางด้วยเรือสำเภาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 80 วัน จะไปถึงเกาะแห่งหนึ่งชื่อว่า จริยะ บนเกาะนี้ หมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านห่างกันโดยใช้เวลาเดินทางเป็นเวลา 9 เดือน และเดินทางต่อไปอีก 7 เดือนก็จะไปถึงบ้านอัญญติตถิ(อัญญเดียรถีย์) แล้วแล่นเรือสำเภาไปเป็นเวลาอีก 12 วัน ถึงเกาะชมพูทวีป และจากเกาะชมพูทวีปใช้เวลา 13 วัน ไปถึงเมืองคามณี จากนั้นใช้เวลาอีก 3 วัน กับอีกช่วงสายของอีกวัน จึงไปถึงเมืองล้านนาวิสาขา แล้วเดินทางโดยเรือสำเภา 1 วัน ก็จะถึงเมืองปาฏลีบุตรและเดินทางอีก 3 วัน กับอีกช่วงสายของอีกวันจะถึงเมืองขอม และใช้เวลาอีก 1 เดือน 15 วัน จะถึงหมู่บ้านทุถวาลี เดินทางอีก 1 วัน จะถึงหมู่บ้านของจัณฑาลชื่อ กถวิละ และเดินทางออกจากหมู่บ้านดังกล่าวไปอีก 3 วัน ก็จะถึงเมืองมานันทกาละ และเดินทางไปอีก 1 เดือน จะถึงเมืองเวียงขอม[2] และเดินทางไปอีก 7 วัน จะถึงหน้าปราสาทของพระราชาผู้ครองเมือง ทางทิศตะวันออกของปราสาทพระราชานั้น มีปราสาทอยู่หลังหนึ่งไว้ธาตุดิบ[3] ของพระพุทธเจ้า ห่างจากปราสาทพระพุทธเจ้าออกไป 30 วา  ก็จะเห็นกิ่งต้นศรีมหาโพธิ์แผ่มาถึง เมื่อเดินทางออกจากเมืองเวียงขอมไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 5 วัน จะถึงเจดีย์แก้วหลังหนึ่งซึ่งพระเจ้าทุฏฐคามณี  โอรสของพระเจ้ากากวรรณณะติสสะเป็นผู้สร้าง มีปริพาชกอยู่เฝ้าดูแลรักษา ห่างจากเมืองเวียงขอมไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้โดยใช้เวลาเดินทาง 18 วัน จะถึงเขาลูกหนึ่งสูง 1,500 วา ใช้เวลาเดินข้ามเขาลูกนี้ 1 เดือน กับอีก 15 วัน บนเขาลูกนั้นมีหินอยู่ก้อนหนึ่งชื่อ สันธรกะ มีรอยพระพุทธบาทอยู่บนหินก้อนนั้น เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ คนทั้งหลายจักมาสักการบูชา
               จากเมืองเวียงขอมไปทางทิศตะวันตก โดยเดินเลียบภูเขาและป่าไป 8 เดือน ก็จะถึงเมืองเชตุตรนคร ทางน้ำก็ใช้เวลาเช่นเดียวกัน  ใช้เวลาเดินทางผ่านเมืองเชตุตรนคร 9 วัน ห่างจากเมืองเชตุตรนครไป 1 โยชน์ มีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ จากเมืองเชตุตรนครไปถึงเชิงดอยใช้เวลา 3 วัน จะถึงเมืองพาราณสี ในเมืองนี้ได้มีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนหน้าผากประดิษฐานอยู่ จากเมืองพาราณสีไปเมืองมหาปันนะใช้เวลา 1 เดือน ทางทิศตะวันตกของเมืองมหาปันนะนั้นภูเขาลูกหนึ่งมีสีลักษณะเป็นดั่งเลือด ที่เชิงเขาลูกนั้นมีปริพาชก 1,000 ตน มาอยู่จำศีลภาวนา มีต้นไม้ขนาดใหญ่และมีดอกบัวเป็นจำนวนมาก จากเชิงเขาดังกล่าวไปอีก 3 วัน ถึงเมืองกลิงคราษฎร์ แล้วยังมีชนบทหนึ่งห่างจากตัวเมืองกลิงคราษฎร์ชื่อ กลกราชชนบทซึ่งใช้เวลาเดินทาง 1 เดือน กับอีก 15 วัน และทางทิศตะวันออกของชนบทนั้นมีเขาอยู่ 2 ลูก ชื่อสัตปันนะและพรหมทัตตะ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีเขาลูกหนึ่งชื่อ  มณีนันทะ ทางทิศเหนือของเมืองกลิงคราษฎร์มีรูปแกะสลักด้วยนางอมิตตาเมียของชูชก
               เดินทางออกจากเมืองกลิงคราษฎร์ 40 วัน จะเห็นต้นศรีมหาโพธิ์ที่มีลำต้นแดงงามดังแก่นฝาง และเดินทางเข้ามาอีก 13 วัน จะได้ยินเสียงลมพัดใบโพธิ์ซึ่งมีเสียงคล้ายเสียงกระดิ่งและเสียงระฆัง ด้านตะวันออกมีบ่อขนาดวัวอุสุภะ เป็นที่นางสุชาดาได้ถวายข้าวมธุปายาสใส่ถาดทองแด่พระพุทธเจ้า ด้านฝั่งแม่น้ำเนรัญชรามีเจดีย์องค์หนึ่งชื่อว่า ธรรมราชาธิกเจดีย์ เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่ได้ตรัสรู้นั้น พระองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของต้นโพธิ์นี้[4]  ต้นโพธิ์นี้มีกำแพงล้อมรอบ 3 ชั้น ชั้นนอกยักษ์รักษา ชั้นกลางนาครักษา ชั้นในพญาราชสีห์รักษา ส่วนลำต้นพระอินทร์รักษา ประตูทิศตะวันตกเทวดารักษา ทิศเหนือพญาเวสสุวัณรักษา ทิศตะวันออก ยักษ์วตกรสิริรักษา ทิศเหนือเทวดารักษา รัตนบัลลังก์ห่างจากต้นโพธิ์ 2 คืบ ต้นโพธิ์นี้มีกิ่งน้อยกิ่งใหญ่รวมกันได้  1, 000 กิ่ง มีใบรวมกันได้ 3 โกฏิ[5] มียอด 200 โกฏิ มีลักษณะกลมและกว้าง 100 ศอก  แต่ส่วนของลำต้นมีนาครักษาราก พรหมและเทวดารักษาปลายบน เวสสุกรรมเทพบุตรรักษาใบและยอด ส่วนใบที่หล่นตกอยู่บนพื้น เทวดาจักนำเอาไปทิ้งเสียยังขอบจักรวาล ใบของต้นโพธิ์นี้มีวรรณะ 5 ประการคือ ขาว เขียว เหลือง แดง ดำ มีรัศมีอยู่ตลอดเวลา ผู้ใดได้สักการบูชาใบโพธิ์นี้จักได้รับอานิสงส์มาก จักไม่ไปสู่อบายภูมิและเข้าถึงพระนิพพาน
               ในรัศมีรอบต้นโพธิ์ 1 โยชน์ ไม่มีสัตว์มารบกวนสักตัว มีแต่พระอริยเจ้าอยู่ปฏิบัติธรรมเนืองๆ ระหว่างรัตนบัลลังก์กับต้นศรีมหาโพธิ์ มีรูปนางสุลิงกลายเป็นหิน[6]  ภายนอกมีบริวารของพญามารจำนวน 84 โกฏิ ได้กลายเป็นหิน ช้างคีรีเมขละและธิดาพญามารทั้ง 3 ก็ได้กลายเป็นหินบริเวณลานต้นมหาโพธิ์นั้นเรียบเสมอกัน เป็นที่เจริญใจแก่สัตว์ทั้งหลาย ต้นศรีมหาโพธิ์นี้ตั้งอยู่ใจกลางชมพูทวีป ต้นไม้ที่อยู่ใกล้ต้นศรีมหาโพธิ์จะออกดอกเสมอ จากเมืองขอมไปหาต้นศรีมหาโพธิ์นั้นใช้เวลาเดินทาง 17 เดือน และต้นศรีมหาโพธิ์นั้นอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เมืองขอม ชาวเมืองขอมนี้ได้รักษาศีลทุกคน กำแพงที่พญาอโศกสร้างได้พังไป 2 ชั้นแล้ว เหลือเพียงชั้นเดียว
               ถัดจากต้นศรีมหาโพธิ์ไม่ไกลนักมีกุฏิหลัง 1 ในกุฏิมีพระพุทธรูปอยู่ 1 องค์ประดิษฐานเหนือแท่นแก้วบัลลังก์  แต่พระอินทร์กำบังไม่ให้เห็น กุฏินั้นสูง 500 วา ที่โคนต้นศรีมหาโพธิ์นั้นปูด้วยอิฐได้ 17 วา สูงได้ 5 วา กับอีก 3 ศอก ทางทิศเหนือนั้นมีเรือนแก้วอยู่นอกกำแพง 3 วา ทางทิศตะวันตกของต้นศรีมหาโพธิ มีต้นไม้ต้นหนึ่งชื่อ อโคไร[7] ทางทิศตะวันออกมีต้นอชปาลนิโครธ มีสระมุจจลินท์อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีขนาดประมาณวัวอุสุภราช มีรตนจงกรม  ส่วนแม่น้ำเนรัญชราอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของต้นศรีมหาโพธิ์นั้นและมีน้ำไหลอยู่ตลอดเวลา ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ  ไม่เคารพเลื่อมใสพระพุทธศาสนา   กำแพงล้อมรอบนั้นได้พังทะลายกลายเป็นป่าไปหมด ใช้เวลา 1 วันจึงจักพ้นเขตป่า ถัดจากแม่น้ำเนรัญชรา 1 คาวุต ถึงเขาวงกตและจากเขาวงกตไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ใช้เวลา 2 เดือนจึงถึงเมืองเชตุตรนคร เมืองกลิงคราษฏร์อยู่ทางทิศใต้เมืองเชตุตรนคร
               จากเมืองราชคฤห์ไปถึงป่าเลไลยก์ใช้เวลา 7 วัน ทางทิศตะวันตกของป่าเลไลยก์นั้นมีแม่น้ำใหญ่อยู่   1 สาย อยู่ห่างไกลจากเมืองพาราณสีประมาณสิ้นสุดเสียงกลองดังก้อง 1 ครั้ง และมีป่าอิสิปตนมฤคทายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักรกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์  จากเมืองสาวัตถีไปหาต้นศรีมหาโพธิ์ใช้เวลา 15 วัน และจากเมืองสาวัตถีไปหาป่าเชตวันประมาณสิ้นสุดเสียงวัวอุสุภราชร้อง 1 ครั้ง ในบริเวณป่าเชตวันนั้นมีคันธกุฎีอยู่ 1 หลัง  มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ 1 องค์ 
               ส่วนต้นมะม่วงที่พระพุทธเจ้าสำแดงยมกปาฏิหาริย์ บัดนี้ เทวดาก็ยังเฝ้ารักษาอยู่ ทางทิศตะวันออกของเมืองกบิลพัสดุ์ มีป่าลุมพินีวันตั้งอยู่ จากเมืองกบิลพัสดุ์ไปต้นศรีมหาโพธิ์นั้นใช้เวลา 2 เดือนจึงถึง จากต้นศรีมหาโพธิ์ไปเมืองพาราณสีด้วยความรีบเร่งใช้เวลา 17 วัน ทางทิศตะวันตกของเมืองมิถิลานั้นมีรูปมหาเศรษฐีแกะเป็นหินอยู่ในที่นั้น จากต้นศรีมหาโพธิ์ไปเมืองตักกศิลาใช้เวลา 60 วันจึงถึงแล จากต้นศรีมหาโพธิ์ไปเมืองสาวัตถีใช้เวลา 15 วัน จากต้นศรีมหาโพธิ์ไปเมืองมัททราชใช้เวลา 20 วัน ต้นศรีมหาโพธิ์อยู่ห่างจากเมืองโกสัมพีใช้เวลา 15 วันจึงถึง
               เมืองที่วงศ์ตระกูล พญาติของพระพุทธเจ้าอยู่มี เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองโกลิยะ เมืองพาราณสี เมืองโกสัมพี เมืองเชตุตรนคร เมืองมิถิลานคร เมืองจำปานคร เมืองเวสาลี เมืองอินทปัตถ์  เมืองตักกศิลา เมืองกุสินารา เมืองเหล่านี้ตั้งอยู่อีกฟากของแม่น้ำคงคา
               ทางทิศตะวันออกของจัมปานครนั้นเป็นที่อยู่แห่งพรหม เมืองกลิงคราษฏร์ ชนบทและเมืองราชคฤห์ มีเขา 5 ลูก คือ คิชกูฏ เวภาระ ปัณฑวะ เวปุลละ อิสิคิลิ แวดล้อมอยู่ ในเมืองราชคฤห์นี้กว้าง 15 คาวุต เมืองราชคฤห์และเมืองปาฏลีบุตรที่เป็นที่ประทับแห่งพญาอโศกราช ทางทิศตะวันตกของเมืองปาฏลีบุตรมีเมืองหนึ่งชื่อ รตนะ ประตูเมืองในทิศทั้ง 4 ห่างจากกัน 4 คาวุตเท่ากัน แม่น้ำคงคาไหลผ่านกลางเมือง ทิตะวันออกมีเจดีย์ที่พญาอโศกราชสร้างไว้  5 หลัง ทิศเหนือของเจดีย์นั้นมีสระน้ำอยู่ 1 สระ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้มีสระน้ำ ในสระนั้นมีรูปเต่าแกะสลักหินชื่อ  จุฬกะ   ทางทิศตะวันตกของสระนั้นเป็นที่อยู่แห่งพระเวสสันดร และสถานที่พระเวสสันดรออกไปบวชเป็นฤาษี ในชาติที่ผ่านมา ได้มีเทวดาเฝ้ารักษาตราบจนถึงทุกวันนี้
               แผ่นดินที่อยู่รอบๆ บริเวณต้นศรีมหาโพธิ์นั้นมีประมาณ 1 โยชน์ และขาวไปทั่ว แต่ปัจจุบันไม่มีต้นศรีมหาโพธิ์แล้ว มีแต่เจดีย์ตั้งอยู่ในที่นั้น ในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น  ไม่มีสัตว์มาเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ที่นี้เป็นสถานที่บริสุทธิ์ หามลทินมิได้ เป็นที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสพยากรณ์ตำนานต้นศรีมหาโพธิ์และกำหนดสัตตมหาสถาน 7 แห่ง ไว้ให้คฤหัสถ์และนักบวชที่มีความเลื่อมใสศรัทธาได้ไปสักการบูชา สถานที่ดังกล่าวมานั้นมีระยะทางที่ไกลมาก แม้ว่าไม่ได้ไปสักการะถึงที่ก็ขอให้จงตั้งใจฟังด้วยความเคารพ แม้ว่าอยู่ไกลก็เหมือนว่าอยู่ใกล้ ได้รักษาศีลอยู่เนือง ๆ และจักเข้าถึงพระนิพพานเมื่อพระศรีอริยเมตไตรยลงมาตรัสรู้ในวันข้างหน้า ตำนานต้นศรีมหาโพธิ์, 16 หัวเมือง และสัตตมหาสถานทั้ง 7 มีเพียงเท่านี้
ลักษณะรอยพระพุทธบาท
               ต่อไปนี้จักกล่าวถึงรอยพระพุทธบาท รอยพระพุทบาทนั้นมีความราบเรียบเสมอกัน ภายในประกอบด้วย องค์วัตถุอันเป็นมงคล 108  ประการ คือ หอก, แว่นส่องพระพักตร์, ดอกพุดซ้อน, สร้อยสังวาลย์, ต่างหู, ถ้วยภาชนะ, ปราสาท, ขอช้าง, ซุ้มประตู, เศวตฉัตร, พระขรรค์แก้ว, กำหางนกยูง,  พระแท่นที่ประทับ, พระมงกุฏ, เถาวัลย์แก้ว, พัดวาลวิชนี, พวงดอกมะลิ, ดอกบัวแดง, ดอกบัวขาบ, ดอกบัวขาว, ดอกบัวหลวงชมพู, ดอกบัวหลวงขาว, กระออมใส่น้ำ, ถาดใส่ข้าวมธุปายาส, มหาสมุทรทั้ง 4, ป่าหิมพานต์, เขาสิเนรุ, ดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์, ดวงดาว, ทวีปใหญ่ทั้ง 4, ทวีปน้อย 2,000, พระเจ้าจักรพรรดิและข้าราชบริพาร, สังข์ขาวทักษิณาวัฏ, ปลาทองคู่, กงจักรคู่, แม่น้ำใหญ่ 7 สาย, สระใหญ่ 7 สระ, เขา 7 ลูก, พญาครุฑ, พญาจระเข้, ธงชัย, พระเก้าอี้แก้ว, พัดโบกทอง, เขาไกรลาศ, พญาราชสีห์, พญาเสือโคร่ง, พญาเสือเหลือง, พญาม้าวลาหก, พญาช้างอุโบสถ, พญาช้างฉัททันต์, พญานาควาสุกรี, พญาหงส์, พญาไก่เถื่อน, พญาโคอสุภราช, พญาช้างเอราวัณ, มังกรทอง, แมลงภู่ทอง, ท้าวมหาพรหม 4 หน้า, เรือทอง, รัตนบัลลังก์, พัดใบตาล, เต่าทอง, แม่โคลูกอ่อน, กินนร, กินนรี, นกการเวก, พญานกยูง, พญานกกระเรียน, พญานกจากพาก, พญานกพริก, เทวโลก 6 ชั้น, พรหมโลก 16 ชั้น กล่าวถึงพระพุทธบาทไว้เพียงเท่านี้
ตำนานแม่ธรณี (ขึด[8]หลวง)
               พระวิษณุกรรม ได้ถามแม่ธรณีว่าเหตุใดคนทั้งหลายจึงอยู่เป็นสุข เป็นทุกข์ มีข้าวของเงินทองไม่เหมือนกัน แม่ธรณีตอบว่า เพราะที่ตั้งแห่งบ้านเรือนคนทั้งหลายนั้นไม่เสมอกัน แผ่นดินบ้าน เมืองใด เอียงไปทางทิศตะวันออก ดีนัก มีข้าวของเงินทอง เอียงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ จะยากไร้ ไม่มีตบะเดชะอำนาจ เอียงไปทางทิศใต้ มักผิดกัน เอียงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ มักเสียข้าวของ เอียงไปทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ โรคภัยมักเบียดเบียน อายุสั้น เอียงไปทางเหนือ ดี บ้านเมืองใดสูงเสมอกันทุกด้าน ดี บ้านเมืองใดราบเรียบเป็นหน้ากลองอยู่ดีมีสุข สัณฐานเหมือนกระดองเต่า มักมีทุกข์เสียข้าวของ มีจอมปลวกอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ดี ให้แต่งพานดอกไม้บูชาแล้วขุดเสีย จอมปลวกอยู่ทางตะวันออก ใต้ และตะวันตกเฉียงเหนือ ให้เอาดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาดีนัก อย่าให้ใครขุดทำลาย
               มีต้นไม้ใหญ่ในบ้านให้รักษาไว้ ไม้มะรุม ไม้มะจำโรง ไม้มะเดื่อเกลี้ยง อย่าปลูกไว้รากมันจะดันพื้นบ้าน ไม้ยอ ไม้งิ้ว ไม้ทอง(หลาง) อย่าปลูกไว้ในบ้าน เจ้าของบ้านมักเจ็บไข้ถึงแก่ความตาย อย่าปลูกกล้วยไว้บนหัวเรือนนอน จักมีทุกข์ บ้านหลังใดมีลักษณะเป็นดั่งพระจันทร์ออกใหม่,จามรหรือพระจันทร์วันเพ็ญ ดีนัก สัณฐานสี่เหลี่ยมเสมอกันยิ่งดี จะมีสุข มีลาภสักการะมากมาย บ้านไม่ดี คือ บ้านสามเหลี่ยมไม่เสมอกัน มักทะเลาะวิวาทกัน บ้านใดยาวเป็นแถวดั่งพิณพาทย์ ไม่ดี จักเกิดเจ็บป่วย
               ในเรื่องการตั้งที่อยู่ใหม่ ให้จัดแต่งเครื่องบูชาเทวดาอารักษ์ในที่นั้นๆ พร้อมกับกล่าวอันเชิญ หรือ ถอนให้ไปอยู่ที่อื่น หากไม่กระทำการดั่งนี้ อย่าพึ่งรีบถาง หรือ รีบเผา
               ประการหนึ่ง ไม้ต้นใดเป็นศรีบ้านศรีเมืองให้รักษาไว้ อย่าโค่นอย่าทำลาย  จะทำให้ผู้คนในบ้านเมืองนั้นอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ถ้าไม่มีก็หามาปลูกไว้
               พญาวิษณุกรรมถามแม่ธรณีต่อว่า เหตุใดคนทั้งหลายจึงมีข้าวของไม่เสมอกัน แม่ธรณีตอบว่า เหตุดังกล่าวเป็นเพราะในอดีตชาติเขาเหล่านั้นไม่เคยทำบุญให้ทาน จึงไม่มีบุญที่จะมาค้ำชูในชาตินี้  อีกอย่างหนึ่งที่มีแล้ว เกิดวอดวายไป เป็นเพราะว่าเขาถูกขึด ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะเขาทำไม่ถูกจารีต ไม่รู้จักครองอันเป็นขึด ขึดทั้งหลายนั้นมีขึดใหญ่อยู่ 7 ประการ ได้แก่ ถมสมุทร ขุดกระแส แหม่รูทวาร รานไม้ศรี ม้างตีอก ปกกระโดง ถมเก่าใหม่
               ถมสมุทร คือ ถมบ่อน้ำ สระน้ำที่มีมาก่อน
               ขุดกระแส คือ ขุดทางน้ำแยกออกไปจากทางเดิม
               แหม่รูทวาร คือ ปิดถนนเก่า สร้างถนนใหม่
               รานไม้ศรี คือ ตัดต้นไม้ประจำบ้านเมือง ต้นศรีมหาโพธิ์ หรือต้นไม้ที่มีเทวดาอารักษ์
               ม้างตีอก คือ ทำลายทั่งเหล็ก คีม และค้อน
               ปกกระโดง คือ ตัดกิ่งไม้แล้วเอาตุงไปแขวน
               เก่าถมใหม่ ขยายเขตรั้วบ้านใหม่ ปิดประตูเก่าสร้างประตูใหม่
               เหล่านี้เป็นขึดอันใหญ่ ยังมีขึดอันอื่นๆอีก เช่น ลักขโมยสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ละโมบอยากได้เขตแดนไร่นา โกงตราชั่งค้าขาย เอาคนรับใช้มาเป็นเมีย ยกเมียน้อยเป็นเมียหลวง ตัดสินคดีความด้วยความลำเอียง ประมาทล่วงเกินต่อพ่อแม่ ครูบาอาจารย์
               ว่าด้วยขึด 7 ประการนั้น ทำด้วยตนเองก็ดี ใช้ผู้อื่นทำก็ดี หากจะถอนออกให้พ้นจากขึดก็ไม่ได้ ให้ครูบาอาจารย์ถอนออกก็ไม่ได้ จึงควรให้ท้าวพญาที่ครองเมืองนั้นออกจากเมือง แต่งตั้งอุปราชขึ้นครองเมืองแทนก่อนแล้วทำการสังคหกรรมปัดเป่าจึงจักพ้นจากขึด แล้วค่อยเวนคืนราชสมบัติให้ตามเดิม
สำหรับการถอนขึด ให้เตรียมเครื่องพิธี ดังนี้
- เงิน 2 พัน                                - เทียนทอง 4
- ดอกไม้ทอง 4                            - เงินพันคำร้อย
- เบี้ยพัน 3                                - หมาก 10,000
- ผ้าขาวผ้าแดง 1 วา                      - ข้าวเปลือก 1 กระบุง ข้าวสาร 1 แคง[9]
- ประทีป 4                               - มะพร้าว 4 ลูก
- กล้วย 4 หวี                              - เสื่อ 4 ผืน
- คนโท 4 ลูก                              - ต้นอ้อย 4 ต้น
- ไม้ 4                                     - ดอกไม้ 4
- กระบอกใส่น้ำ 4                         - แกงส้มแกงหวาน
- ข้าว 4 ก้อน
               ให้นำเครื่องพิธีทั้งหมดนี้ใส่สะตวงแล้วส่งบูชาเสีย เครื่องพิธีนี้ให้ใช้สำหรับหอคำ(พระราชวัง) หากไม่ใช่หอคำให้ใช้เทียนเงิน เทียนทอง อย่างละ 4 เล่ม หากเป็นเมืองเล็กๆ ให้ใช้เทียนเงิน เทียนคำ อย่างละ 2 เล่ม หากเป็นเมืองชนบทหรือหมู่บ้านให้ใช้เทียนเล่มบาท 4 เล่ม เงินคำพันร้อยมีอยู่ 3 ลักษณะ คือ เงิน 100 ถ้าม, เงิน 300 ถ้าม และเงิน 600 ถ้าม
               จะทำสังฆกรรมถอนขึด ให้พิจารณาดูให้ถ้วนถี่ อย่ารีบร้อน และเวลาที่จะกระทำพิธีถอนขึดนั้น ให้ลงโทษผู้กระทำให้ตกขึด ดังนี้ หากเขาขุด ก็ให้ถม หากเขาถม ก็ให้ขุดออก หากเขาฟันทิ้ง ก็ให้ปลูกใหม่แทน ส่วนเครื่องบูชาขันครูนั้นให้เขาเป็นผู้จัดเตรียม
               เวลาทำพิธีถอนขึดนั้นให้เสกน้ำในคนโท หรือ น้ำในกระบอกที่อยู่ในสะตวง 7 รอบ ด้วยบทนี้ว่า “โอม ธะระณีนัง ปะฐะวีระสัง สิทธิกัมมัง วิรุฬหิยานัง ขิปปัง เทหิ” แล้วเทน้ำลงดิน ขณะที่เทน้ำนั้นให้ว่า “ยัง ยัง อิจฉามิ ตัง ตัง สะมิชฌะตุ เม สะทา” จนกว่าจะเทน้ำหมด 4 กระบอก หรือ  4 คนโทแล้วให้ว่า ข้าแต่แม่ธรณีเป็นเจ้า ขอให้หายยังอุปัทวะกังวลอันตราย ความสวัสดีจุ่งมีแก่ตูข้าทั้งหลายเถิด
               หากทำเช่นนี้แล้วย่อมประสบแต่ความเจริญสุขสวัสดี เครื่องพลีกรรมทั้งหลายนั้นให้ขุดหลุมฝังสะตวงในที่ตรงนั้น หากไม่กระทำบ้านเมืองก็จักเกิดกลียุคข้าวยากหมากแพง เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นานา
               อนึ่ง ผู้ใดละทิ้งจารีตโบราณ  ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเสียของผู้ตาย โลภเอาข้าวของผู้อื่นไม่เคารพเชื่อฟังพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ สามีภรรยาไม่เคารพให้เกียรติกัน จักประสบแต่ความพินาศฉิบหาย 
               อีกประการหนึ่ง หากกระทำการสิ่งใดไม่เป็นไปฤกษ์งามยามดี จักสร้างบ้านเรือนโดยที่ไม่ปรึกษาก็ย่อมหาความเจริญสุขสวัสดีไม่ได้
               คนทั้งหลายสร้างบ้านเรือนไม่เลือกไม้ ก็จักไม่เจริญรุ่งเรือง ไม้ที่ไม่ควรนำมาสร้างบ้าน คือ ไม้ฟ้าผ่า ไม้ยืนต้นตาย ไม้ตายด้วน ไม้เถาวัลย์ขึ้น ไม้ล้มเอง ไม้จมน้ำ จมดิน ไม้เอนไปกลางน้ำ ไม้น้ำเน่าออกกลางลำ ไม้ 2 ต้น ที่มีเงาเสมอกัน ไม้เกิดเหนือจอมปลวก ไม้ดงอารักษ์ ไม้แดนบ้านแดนเมือง
               “สังฆานิราธัง” บทนี้หัวใจแม่ธรณี
               “โอม ธะระณีนัง ปะฐะวีระสัง สิทธิกัมมัง วิรูฬหิยานัง ขิปปะ เทหิ” บทนี้เสกข้าวบูชาพระแม่ธรณี
               “ยัง ยัง อิจฉามิ ตัง ตัง สะมิชฌะตุ เม สะทา” บทนี้เสกน้ำหยาดให้แม่ธรณี
พระแม่ธรณีเป็นธิดาของท้าวฤๅราชและนางนาฏไท้กัมมธะ มีพี่ชื่อท้าวพวงธุลี, กล่าวตำนานแม่ธรณีไว้เพียงเท่านี้
               ปริวรรต : วิโรจน์ อินทนนท์, ยศพล เจริญมณี (ตุลาคม 2556)
               ตรวจสอบ/เรียบเรียง : วิโรจน์ อินทนนท์, ยศพล เจริญมณี (ตุลาคม 2556)




                [1]   ตำนานแม่ธรณี (ตำนานไม้ศรีมหาโพธิ์, ลักษณะรอยพระพุทธบาท, ตำนานแม่ธรณี-ขึดหลวง) ฉบับวัดศรีคำชมภู ตำบลป่าบง อำเภอสารภี รหัสไมโครฟิล์ม 80.041.01H.073-073 สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ปริวรรตโดย วิโรจน์ อินทนนท์, ยศพล เจริญมณี 2556
[2] เวียงขอม ไม่อาจบอกได้ว่าเป็นเมืองอะไรของอินเดียในปัจจุบัน แต่บอกทิศทางว่า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นโพธิ์ ใช้ระยะเวลาเดินทางถึง 17 เดือน
[3]  หมายถึง พระธาตุส่วนใดส่วนหนึ่งที่ไฟไม่ไหม้  ส่วนในตำนานทวีปทั้ง 4 เรื่องที่ 11 เชิงอรรถอ้างอิงที่ 29 ระบุว่า “พระทันตธาตุ” หรือ พระเขี้ยวแก้ว
[4] ภูเขาดงคสิริ สถานที่บำเพ็ญทุกรกิริยา อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ  4 กิโลเมตร จากต้นมหาโพธิ
[5] จำนวนใบน่าจะมีมากกว่าจำนวนยอด ตัวเลขใบมี 3 โกฏินี้น่าจะตกจำนวนไปมาก ขณะที่ยอดมีจำนวน 200 โกฏิ ใบโพธิ์น่าจะต้องมีมากกว่ายอด 10 เท่า คือ 2,000 โกฏิ
[6] ไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด ให้คาดเดา น่าจะคัดลอกผิดจากสุชาดา เป็นสุลิง ? ส่วนกลายเป็นหิน หมายถึง รูปแกะสลักหินนั่นเอง
[7] ไม่อาจเดาได้ว่าเป็นไม้อะไร
[8]  ขึด : เสนียดจัญไร
[9] ภาชนะสำหรับตวงข้าวสาร มีความจุประมาณ 1.5 ลิตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น