แจ้งข่าวนักศึกษา012173

วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ขนบจารีตพ่อเหย้าแม่เรือน(ปาฏิโมกข์คฤหัสถ์) เรื่องลำดับที่ 4 ชุด วิถีลีล้านนา : ปทัสถานสังคมคุณภาพ

ขนบจารีตพ่อเหย้าแม่เรือน(ปาฏิโมกข์คฤหัสถ์ [1]

ความย่อ
               ปาฏิโมกข์คฤหัสถ์ หรือ (ราโชวาทกถา) ฉบับ วัดสันต้นเปา ตำบลสันป่าเปา อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ จารึกไว่ในปี พ.ศ. 2453 (เมื่อ 105 ปีที่ผ่านมา)  ว่าด้วยคำสอนข้อปฏิบัติในการดำเนินชีวิตของคฤหัสถ์ ผู้ที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา โดยการนำหลักจริยธรรม และหลักธรรมอื่นๆ ทางพระพุทธศาสนา เช่น ศีล 5, อบายมุข 4, สังคหวัตถุ 4, ทิศ 6 อปริหานิยธรรม 7 เป็นต้น มาประพฤติ ถือว่า เป็นขนบจารีตของพ่อบ้าน แม่เรือน เป็นหลักการครองตนตามหลักพุทธจริยศาสตร์ มีหลักธรรมข้ออื่นๆ อีกที่ควรปฏิบัติ เพื่อให้เป็นพ่อเหย้า แม่เรือนที่ดี สมเป็นอุบาสก อุบาสิกาแก้ว ในพระพุทธศาสนา  นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงข้อที่ควรปฏิบัติ และข้อห้าม อันเป็นคติความเชื่อของชาวล้านนาเอาไว้อีกด้วย ในท้ายใบลาน บอกว่า ปาฏิโมกข์คฤหัสถ์ผูกนี้ เป็นของมหาอุบาสิกาเจ้าคูยแก้ว ผู้เป็นราชเทวีมหาราชเจ้าพูริรัตนหัวแก้ว

ความเรียงสาระของเรื่อง
ปาฏิโมกข์คฤหัสถ์
               นะโม ตัสสัตถุฯ ต่อไปนี้จะกล่าวถึงปาฏิโมกข์แห่งคฤหัสถ์ทั้งหลาย ดังนี้
               ผู้เข้าถึง (นับถือ) ไตรสรณคมน์ นั้นได้ชื่อว่า ติสรณคมนอุบาสก, ผู้ที่มีศีล 5 ชื่อนั้นได้ชื่อว่าสีลวันต-อุบาสก, ผู้ที่เลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีพนั้นได้ชื่อว่า สัมมาชีวอุบาสก หากผู้ใดมีครบทั้ง 3 อย่างนี้
เรียกว่า มหาสัมปัตติมังคลอุบาสก แต่ถ้าไม่มี 3 อย่างนี้ เรียกว่า วิปัตติจัณฑาลอุบาสก หรือ ลาลลิลามกอุบาสก ผู้ถ่อย เป็นต้น
               อุบาสกที่ดีมีอยู่ 5 ประการ คือ เป็นผู้มีมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่น, ให้การต้อนรับสมณพราหมณ์ตลอดเวลา, ถวายอามิสทานแก่สมณพราหมณ์ด้วยความเคารพ (ต้นฉบับกล่าวไม่ครบ)
               รัตนอุบาสกมีคุณสมบัติ 5 ประการ คือ มีศรัทธาอันมั่นคงในพระรัตนตรัย, รักษาศีลให้บริสุทธิ์,
ไม่หลงงมงายเชื่อข่าวมงคล (ทำนายทายทัก ทรงเจ้าเข้าผี), เชื่อในกฎแห่งกรรม และไม่นับถือศาสดาองค์อื่น
หากผู้ใดมีธรรมดังกล่าวครบ 5 ประการ ผู้นั้นได้ชื่อเป็น รัตนอุบาสก(อุบาสกแก้ว) แต่ถ้าผู้ใดไม่มีศรัทธาอันมั่นคงในพระรัตนตรัย, มีศีลด่างพร้อย ไม่บริสุทธิ์, หลงงมงาย ตื่นข่าวมงคล, ไม่เชื่อในกฎแห่งกรรม และนับถือศาสดาองค์อื่น ผู้นั้นได้ชื่อว่า กาลกิณีมหาจัณฑาลอุบาสก
               อุบาสกที่ดีมีองค์ประกอบอยู่ 10 ประการ คือ เอาใจใส่ดูแลพระภิกษุสงฆ์, อุปถัมภ์ค้ำชูพระศาสนาด้วยการให้ทานตามกำลังแห่งตน, ตั้งมั่นอยู่ในสัมมาทิฏฐิ, สำรวมระวังกายและวาจาไว้ให้ดี, อย่าเห็นดีเห็นชอบกับคนประพฤติผิดศีลธรรม, อย่าอยากได้ของผู้อื่น, เคารพพระภิกษุสงฆ์, ศรัทธาพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง ทั้ง 3 องค์นี้รวมเข้ากันเป็น 10 เรียกว่า ทสังคสมันนาคตอุบาสก
เป็นอุบาสกที่ดีดุจผู้มีนิ้วงดงามทั้ง 10 นิ้ว
               องค์แห่งปาฏิโมกข์ คือ ข้อปฏิบัติที่ช่วยให้พ้นจากอบายทั้ง 4 มีนรก เป็นต้น เป็นข้อปฏิบัติอันเป็นพาหนะที่จะนำไปสู่สวรรค์และนิพพานมีอยู่ 12 ประการ คือ ไม่ฆ่าสัตว์, ไม่ลักทรัพย์, ไม่ประพฤติผิดในกาม, ไม่พูดโกหก, ไม่โกรธขุ่นเคือง, พูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์, ไม่พยาบาทปองร้าย, ไม่ถือมิจฉาทิฏฐิ, ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว, มีความเคารพเลื่อมใสศรัทธา, ให้คนอื่นกินก่อนแล้วตนจึงกินในภายหลัง และสนใจแต่คำสอนที่มีประโยชน์ของสมณะนักบวช ผู้ใดประพฤติปฏิบัติตนตามปาฏิโมกข์ 12 ประการ ย่อมนำพาตนออกจากวัฏสงสารได้
               ไฟที่จะเผาไหม้ตนให้เดือดเนื้อร้อนใจ (ปาปธรรม) มีอยู่ 5 ประการ คือ ฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, ประพฤติผิดในกาม, พูดเท็จ, ดื่มสุราเมรัย
               ป่าหนามที่ไม่ควรเข้าไป (อคติ) มี 4 ประการ คือ เข้าไปด้วยความชอบของตน (ฉันทาคติ: ลำเอียงด้วยความรัก), เข้าไปด้วยความโกรธเกลียดของตน (โทสาคติ: ลำเอียงด้วยความโกรธ), เข้าไปด้วยความเกรงกลัวของตน (ภยาคติ : ลำเอียงด้วยความเกรงกลัว), เข้าไปโดยความไม่รู้ (โมหคติ : ลำเอียงเพราะความหลง)
               ดาบบาดถุงเงิน (เหตุที่ทำให้เสียทรัพย์) มี 6 ประการ คือ ดื่มสุรา, เที่ยวกลางคืน, เที่ยวดูการละเล่นมหรสพต่างๆ, เล่นการพนัน, คนคนชั่วเป็นมิตร, เกียจคร้านในการงาน
               ธรรมอันเป็นเหตุอยู่ด้วยดีทั้งในชาตินี้และชาติหน้า มีอยู่ 4 ประการ คือ มีศรัทธา, มีศีล, มีจาคะ คือ เสียสละให้ทาน, มีปัญญา
               เกิดเป็นคนให้รู้จักใช้จ่ายอย่างรู้คุณค่าอยู่ 4 ประการ คือ 1) เลี้ยงตนเองและครอบครัวให้มีความสุข 2) ใช้จ่ายเพื่อบำบัดทุกข์ภัยอันตรายที่จะเกิดมีกับตน 3) กระทำพลี 5 อย่าง คือ สงเคราะห์ญาติ (ญาติพลี), ต้อนรับแขกอาคันตุกะ(อติถิพลี), ทำบุญอุทิศให้ผู้ล่วงลับ(เปตพลี), เสียภาษีอากร(ราชพลี), บูชาเทวดา(เทวตาพลี) 4) ให้ทานแก่สมณชีพราหมณ์
               อสัปปุริสทาน มี 5 ประการ คือ ให้ทานโดยขาดความเคารพ, ให้ทานโดยไม่อ่อนน้อม, ไม่ให้ทานด้วยมือของตน, ไม่รู้จักผลแห่งทาน, ให้ของเดนเป็นทาน
               ทาน 10 อย่าง ที่ไม่ควรให้ คือ ให้สุราเมรัยเป็นทาน, ให้ผู้หญิงเป็นทานเพื่อเสพเมถุนธรรม,  ปล่อยโคตัวผู้เข้าหาวัวตัวเมียเพื่อให้เสพเมถุนธรรม, เขียนภาพลามกอนาจารให้เป็นทาน, ให้อาวุธเป็นทาน, ให้ยาพิษเป็นทาน, ให้เครื่องจองจำ (โซ่ตรวน ขื่อ คา) เป็นทาน, ให้ไก่เพื่อนำไปฆ่า, ให้สุกรเพื่อนำไปฆ่า, ให้เครื่องชั่ง
ตวง วัด เพื่อใช้ในการโกง
               ทานของอสัตบุรุษมี 8 ประการ คือ ให้ของที่ไม่สะอาด, ให้ของที่ไม่ประณีต, ให้ทานไม่เหมาะสมกับเวลา, ให้ทานในของที่ไม่เหมาะสมแก่สมณพราหมณ์, ให้ทานโดยไม่พิจารณาว่าทานที่ให้จักมีประโยชน์มากต่อผู้ที่รับ, ให้ทานไม่สม่ำเสมอ, ให้ทานด้วยใจที่ขุ่นมัว, ให้ทานด้วยจิตที่ไม่ยินดี ไม่เบิกบาน
               ทานของสัตบุรุษมี 8 ประการ คือ ให้ของที่สะอาด, ให้ของที่ประณีต, ให้ทานเหมาะสมกับเวลา,
ให้ทานในของที่เหมาะสมกับสมณพราหมณ์, ให้ทานโดยพิจารณาแล้วว่าทานที่ให้จักมีประโยชน์มากต่อผู้ที่รับ, ให้ทานอยู่เนืองนิจ, ให้ทานด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์, ให้ทานด้วยจิตใจที่ยินดี เบิกบาน
               วัตถุที่ควรให้ทานมี 10 ประการ คือ ข้าว, น้ำ, เสื้อผ้า, ยานพาหนะ, ดอกไม้, เครื่องหอม, เครื่องลูบไล้ทาตัว, เครื่องแสงสว่าง (เทียน,น้ำมัน), ที่อยู่อาศัย, ที่นอน
               การให้วัตถุทานเหล่านี้ต้องมีจิตเจตนายินดีซึ่งในการให้ทานในกาลทั้ง 3 คือ ก่อนให้ทาน, ขณะให้ทาน และหลังให้ทาน และยิ่งผู้ใดมีจิตยินดี เบิกบานในการให้ทาน มีวัตถุทานอันแสวงหามาด้วยความชอบธรรม และผู้รับทานก็มีศีลาจริยวัตรที่บริสุทธิ์ ย่อมมีผลานิสงส์เป็นอันมาก
               มหาทานอันประเสริฐมีอยู่ 5 ประการ คือ การไม่ฆ่าสัตว์ ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ให้ชีวิตแก่สัตว์ทั้งหลาย, การไม่ลักทรัพย์ ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ให้ข้าวของแก่สัตว์ทั้งหลาย, การไม่ประพฤติผิดในกาม ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ให้ภรรยาตนเป็นทาน, การไม่พูดโกหก พูดแต่ความจริง ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ให้โอชารสอันหอมหวาน และการไม่ดื่มสุราเมรัย ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ทำความสวัสดีให้กับสัตว์ทั้งหลาย
               ธรรมทาน เป็นต้นว่าการเทศนาสั่งสอนธรรมะให้กับผู้อื่นก็ดี เขียนหรือพิมพ์เผยแพร่ธรรมะด้วยตนเองหรือว่าจ้างผู้อื่นก็ดี ย่อมมีอานิสงส์กว่าทานทั้งหลาย สามารถปิดประตูอบายทั้ง 4 และเป็นการไขประตูพระนิพพานไว้ให้สรรสัตว์ทั้งหลาย คือ ใครก็ตามที่ได้ฟังธรรมก็จักทำบุญสร้างกุศลและจะถึงซึ่งพระนิพพานในที่สุด สมดั่งพุทธภาษิตที่ว่า สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ เป็นต้น
               มิตรที่ดีมีคุณสมบัติ ดังนี้ เป็นผู้ที่มีศรัทธามั่นคง, เป็นผู้มีศีล, เป็นผู้ที่ให้ทานอยู่เนืองๆ, เป็นผู้มีสติสัมปัชชัญญะ, เป็นผู้มีปีญญา น่าเคารพเลื่อมใส, เป็นผู้คอยแนะนำแต่สิ่งที่มีประโยชน์ให้, เป็นผู้มีความอดกลั้นต่อคำด่าของผู้อื่น และพูดมีหลักการ ลึกซึ้ง มีเหตุผล ไม่สั่งสอนในสิ่งที่ผิดทำนองคลองธรรม ผู้ใดมีคุณสมบัติดังที่กล่าวมานี้เรียกได้ว่าเป็นมิตรที่ดี พึงคบหาสมาคมกันไว้
               หากขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้าน, เป็นคนเรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักระงับความโกรธ และพูดจาสุภาพอ่อนหวาน ภัยทั้งทั้งหลายย่อมไม่มาถึงตนและมีมิตรที่ดีเข้ามา
               หากสำรวมระวังในอินทรีย์ทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พรหมจริยกรรม คือ เส้นทางสู่พระนิพพานก็จะเกิดมีขึ้นอยู่ในตน
               หากเป็นคนรักษาสัจจะ มิตรที่ดีย่อมเข้ามาสู่ตน
               หากหมั่นทบทวนและสาธยายธรรม หมั่นแสวงหาความรู้ ฟังธรรมและสนทนาไต่ถามบัณฑิตย่อมนำปัญญามาสู่ตน หากหมั่นพิจารณา ทบทวน ธรรมะย่อมเกิดขึ้นกับตน
               ไม่รู้จักสาธยายธรรม ย่อมนำตนตกอยู่ในความไม่รู้ หลงผิด คือ อวิชชา
               พูดโกหก พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ ไม่รู้จักให้ทาน ย่อมนำศัตรูมาสู่ตน
               ไม่สำรวมระวังกาย จมูก ปาก ย่อมนำความอัปมงคลมาสู่ตน
               คบคนชั่วเป็นมิตร ย่อมนำความเดือดร้อนมาให้
               ทำในสิ่งที่เหนือบ่ากว่าแรงแห่งตนย่อมนำพาโรคภัยไข้เจ็บมาสู่ตน
               ไม่อาบน้ำชำระล้างร่างกาย ย่อมนำความสกปรกมาสู่ตน
               เกียจคร้านในการงาน ย่อมนำความฉิบหายมาสู่ตน
               การที่ได้คบคนดีนั้นย่อมทำให้ได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อได้ฟังแล้ว ศรัทธาจึงเกิดขึ้น เมื่อศรัทธาเกิดขึ้นแล้ว จิตย่อมตั้งมั่นเข้าสู่พระนิพพาน เมื่อตั้งมั่นเข้าสู่พระนิพพาน สติปัญญาจึงเกิด
เมื่อสติปัญญาเกิดขึ้นแล้วก็จักสำรวมในอินทรีย์ทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ปาก กาย ใจ เมื่อสำรวมในอินทรีย์ได้แล้วจึงเกิดกุศลจิต เมื่อกุศลจิตเกิดขึ้นแล้วย่อมนำไปสู่สติปัฏฐานธรรม เมื่อสติปัฏฐานธรรมเกิดแล้วโพชฌงค์ทั้ง 7 ก็เกิดตามมา เมื่อโพชฌงค์ทั้ง 7 ครบถ้วนบริบูรณ์แล้วจึงเข้าถึงมรรค ผล นิพพาน ดั่งเช่นเม็ดมะขามป้อมตกอยู่ในมือแล้ว ด้วยเหตุนี้ การคบคนดีเป็นมิตรนั้นเป็นบาทฐานอันจักนำไปสู่สวรรค์ชั้นฟ้าและพระนิพพานได้
               หากคบคนชั่วเป็นมิตรย่อมมักได้ยินแต่เรื่องสิ่งที่ผิดไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อได้ยินแล้วทำให้ไม่เชื่อในพระธรรมของพระองค์ ย่อมทำในสิ่งที่ผิดทำนองคลองธรรม ขาดการพินิจพิจารณา ทำให้ไม่สำรวมในอินทรีย์ทั้ง 6 ก่อเกิดนิวรณธรรมดุจหมอกอันบดบังนัยน์ตาอันประกอบด้วย ความพอใจในกามคุณทั้ง 5 (กามฉันทะ), ความโกรธอาฆาต ความขัดเคืองใจ (พยาบาท),  ความหดหู่ง่วงเหงาหาวนอน (ถีนมิทธะ), ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ (อุทธัจจะ กุกกุจจะ), ความลังเลสงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้า (วิจิกิจฉา)
               นิวรณธรรมเหล่านี้ย่อมมาบดบังซึ่งจักษุ คือ ปัญญาให้มืดมน และเมื่อภวตัณหาอันเป็นเหตุให้สัตว์โลกข้องอยู่ในโลภะ โทสะ และโมหะได้เกิดขึ้นมาแล้วก็ย่อมนำพาไปสู่อบายภูมิทั้ง 4 ด้วยเหตุนี้การคบคนชั่วเป็นมิตรนั้นย่อมเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่อกุศลมูลทั้งหลาย
               หลักตอที่ตอกใจแห่งสัตว์โลกเอาไว้ (เจโตขีละ) มีอยู่ 5 ประการ คือ สงสัยในพระพุทธเจ้า, สงสัยในพระธรรม, สงสัยในพระสงฆ์, สงสัยในสิกขาบทวินัย, โกรธเคือง ขัดใจ ดูหมิ่นในเพื่อนสมณะชีพราหมณ์ ผู้ใดที่มีธรรมเช่นนี้อยู่ในใจย่อมเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอีกนาน
               ไม้แหลมที่เสียบแทงสัตว์โลกทั้งหลายไม่ให้เข้าถึงสุคติภูมิมี 5 เล่ม คือ ความปรารถนาในกามภพ รูปภพ และอรูปภพ, บริโภคจนเกินพอประมาณ, ไม่ขวนขวายในทางกุศล ขวนขวายแต่ทางอกุศล, ทำบุญแล้วหวังผลให้ไปเกิดเป็นกษัตริย์ พระอินทร์ หรือพระพรหม
               หน้าไม้ที่ยิงเสียบสัตว์โลกทั้งหลายให้ถอยห่างจากบุญกุศลมีอยู่ 5 ประการ คือ ราคะ, โทสะ, โมหะ, มานะ และมิจฉาทิฏฐิ
               ธรรมที่เป็นดั่งไฟคอยแผดเผาสัตว์โลกให้มีจิตเศร้าหมอง (มลธรรม) มีอยู่ 9 ประการ คือ ความโกรธ (โกธะ), การลบหลู่ดูหมิ่นหรืออกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ (มักขะ), ความอยากได้ อยากมีอย่างคนอื่นๆ (อิสสา), ความตระหนี่ (มัจฉริยะ), เสแสร้ง (มายา), โอ้อวดตน (สาเถยยะ), มีความปรารถนาอันลามกชั่วช้า (ปาปิจฉา), การพูดปด (มุสาวาทะ), มีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ)
               เหตุที่ทำให้ถอยห่างจากความดีมี 25 ประการ คือ ความโกรธ อาฆาต เคียดแค้นผู้อื่น, ลบหลู่
ดูหมิ่นผู้มีพระคุณ, ยกตนข่มท่าน, ความอยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน, เสแสร้ง, โอ้อวดตน, มือถือสากปากถือศีล, กระด้างกระเดื่อง, ดื้อรั้น, อวดดี ทะนงตน, โต้เถียงเพื่อจะเอาชนะกับบิดามารดาทั้งของตนเองและของสามี(ภรรยา), มัวเมาอยู่แต่ทรัพย์สมบัติจนลืมสร้างบุญกุศล, มีความประมาท, หาความดีในตนไม่ได้, เห็นแก่นอน, เห็นแก่กิน, เกียจคร้านในการงาน, ไม่อ่อนน้อมถ่อมตน, หนักไม่เอาเบาไม่สู้, คบแต่คนชั่ว, ไร้ความเมตตาปรานีต่อสัตว์, กินอยู่ยาก ชอบฆ่าสัตว์เพื่อเอามาเลี้ยงชีวิต, ไม่รู้จักควบคุมความอยากของตน, ไม่รักษาศีล ภาวนาในที่สงัด, ไม่เชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้า เหตุเหล่านี้แม้เป็นคนฉลาดก็เหมือนเป็นคนใบ้ แม้นว่าเป็นคนใบ้ก็เหมือนเป็นคนตาบอด เหตุทั้งหลายนี้มีอยู่ในชาดกแห่งมัชฌิมนิกาย
               เหตุที่ทำให้สัตว์โลกติดข้องอยู่ในวัฏสงสาร มี 20 ประการ คือ ไม่ยินดีในพระธรรมของพระพุทธเจ้า, เกียจคร้าน, ชอบไปสู่สถานที่ผู้คนพลุกพล่าน, เห็นแก่นอน, ทำการสิ่งใดไม่พินิจพิจารณา, ขาดสติปัญญาในการกระทำ, สนใจแต่สิ่งที่ผิดทำนองคลองธรรม, ไม่รู้จักไต่ถามผู้ที่รู้กว่าตน, หลงตัวเอง, ไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม, คบคนพาล, ไม่คบบัณฑิต, ถือว่าตนฉลาดแล้ว, ใช้ชีวิตตามแต่ใจที่ตนต้องการ, ไม่ระลึกถึงบุญกุศล, เข้าใจว่าสมบัติของตนไม่มีวันเสื่อม, เข้าใจว่าตนไม่แก่ ไม่ตาย, ทำผิดศีลธรรม เห็นกงจักรเป็นดอกบัว, สั่งสมแต่อกุศลกรรม, ไม่หน่ายสงสาร, มีหมอกฝ้าบังตา คือ หาปัญญารู้แจ้งไม่ได้, ได้แต่พูด-คิด แต่ไม่ลงมือทำ, ความดีไม่รู้จักทำ ทำแต่ความชั่ว เห็นคนทำดีถอยห่าง เห็นคนทำชั่วกลับเข้าหา ทั้ง 20 ประการนี้ เป็นเหตุให้สัตว์โลกทั้งหลายติดข้องในวัฏสงสาร ผู้ที่มีปัญญา ต้องการพ้นจากความทุกข์ ก็ควรเว้นหนีออกห่างเสีย เหตุเหล่านี้ออกจากอรรถกถา จริยาปิฎก
               ธรรมที่เปรียบเสมือนต้อที่ทำให้ตาบอด บดบังไม่ให้เห็นยังกุศลกรรม คือ โลภะ ความอยากได้, โทสะ ความโกรธ, โมหะ ความหลง
               ยาที่รักษาโลภะ (ราคะ) ให้หายนั้น คือ ให้หมั่นพิจารณายังอสุภกรรมฐานในร่างกายของตนเองและของผู้อื่นว่า เป็นสิ่งสกปรก น่ารังเกียจ
               ยาที่รักษาโทสะให้หายนั้น คือ ให้มีความเมตตากรุณา
               ยาที่รักษาโมหะให้หายนั้น คือ ให้พิจารณายังปฏิจจสมุปบาทและอริยสัจ 4 ให้เห็นแจ้งด้วยปัญญาของตน
               การที่เข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างเที่ยงแท้ ไม่แปรผัน, มองไม่เห็นทุกข์ที่เกิดขึ้น, เข้าใจว่าธรรมทั้งปวงมีตัวตน เป็นแก่นสาร ทั้ง 3 นี้ ถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิที่เปรียบเสมือนดาบที่ตัดเสียยังสติปัญญาของสัตว์โลกให้ขาดลง จะทำลายลงได้ก็ด้วยสติปัฏฐาน 4 คือ
               กายานุปัสสนา จักสามารถทำลายความเห็นที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเที่ยงแท้ลงได้
               เวทนานุปัสสนาและจิตตานุปัสสนา จักสามารถทำลายความเห็นที่ว่า มองไม่เห็นความทุกข์ลงได้
               ธัมมานุปัสสนา จักสามารถทำความความเห็นที่ว่า ความยึดมั่นถือมั่นธรรมว่ามีตัวตนลงได้
               หนามที่ทิ่มตำสัตว์โลกให้เกิดทุกข์อยู่ตลอดเวลา คือ เบียดเบียนผู้อื่น, มัวเมาในกามกิเลส,
มีความโกรธ, มีความโลภที่ไม่สิ้นสุด, อยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน, มีความหลง ไม่รู้จักความจริง และธรรมเหล่านี้จักถูกเหยียบทำลายด้วยการศึกษาเล่าเรียนธรรมะ, รู้จักถามในสิ่งที่ควรถาม, ประกอบการงานที่สุจริต ไม่ผิดกฎหมาย,  มีความเพียรมาก, คบแต่มิตรที่ดี, พูดจาสุภาพอ่อนหวาน, รู้จักไต่ถามหาความรู้จากผู้อื่น, ไม่ท้อแท้เบื่อหน่าย, สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยให้ได้ซึ่งปฏิสัมภิทา
8 ประการ คือ มีบุญบารมีมาแต่ชาติปางก่อน, ได้ศึกษาเล่าเรียนมามาก, รู้และเข้าใจภาษาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี, ทรงจำในสิ่งที่ศึกษามาได้มาก, ไต่ถามผู้รู้, มีครูบาอาจารย์ที่ดี และมีมิตรที่ดี ทั้ง 8 ประการนี้ทำให้ได้ถึงซึ่งมรรคผลและนิพพาน
               เหตุที่จะทำให้ถึงมรรค ผล ได้อย่างรวดเร็ว มีดังนี้ ศึกษาพระไตรปิฎก หมั่นฟังธรรมสนทนาธรรมกับบัณฑิต และมีบุญอันได้กระทำแล้วในชาติปางก่อน
               เหตุที่จักให้ได้ซึ่งสติปัญญาที่ดีมี 4 ประการ คือ คบกับสัตบุรุษผู้ตั้งอยู่ในสัมมาทิฏฐิ, มีจิตตั้งมั่นในพระนิพพาน, ปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง, รักษาศีลเป็นนิจ หากทำตามนี้ปัญญาที่ดีย่อมเกิดมีแก่ตน นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ควรกระทำอันจักเพิ่มพูนสติปัญญาที่ดียิ่งขึ้น คือ ไม่ลังเลสงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้า, ตั้งใจฟังธรรมด้วยความเคารพ, ไม่ประมาท มัวเมา เห็นแก่นอน, หมั่นพิจารณาธรรมอยู่เนืองๆ เมื่อทำตามนี้ได้ย่อมถึงซึ่งพระนิพพาน
               กิจที่คฤหัสถ์และนักบวชควรกระทำ คือ หมั่นถึงซึ่งข้ออรรถ-ธรรม, ชำระล้างวัตถุภายนอกให้สะอาด คือ ซักเสื้อผ้า, ชำระวัตถุภายในให้สะอาด คือ ชำระล้างร่างกายให้สะอาด, สำรวมระวังในอินทรีย์ทั้ง 5, เว้นจากคนพาล, คบแต่บัณฑิต, รู้จักไต่ถามหาความรู้จากนักปราชญ์
               เหตุที่ทำให้มีสติปัญญาแจ่มใสและมีไหวพริบดี มีดังนี้ ในช่วงอายุ 40-50 ปี ได้เกิดสติปัญญาที่ดีอันจะนำไปสู่ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานมียศถาบรรดาศักดิ์ที่สูงขึ้นไป รู้จักไต่ถามหาความรู้จากผู้ที่รู้กว่าตน ประพฤติอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ได้อยู่ใกล้นักปราชญ์ หมั่นพูดจาสนทนากับบัณฑิต อยู่ด้วยกันกับผู้ที่รักใคร่เอ็นดูตน อยู่ในที่อันสมควร คือ อยู่ในประเทศหรือเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนา
               บิดามารดาย่อมอนุเคราะห์บุตรอยู่ 5 ประการ คือ ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว, ให้ตั้งอยู่ในความดี,
ให้ศึกษาศิลปวิทยา, หาคู่ครองที่เหมาะสมให้ และมอบทรัพย์ให้ในเวลาที่สมควร
               บุตรพึงดูแลบิดามารดา 5 ประการ คือ เลี้ยงดูท่านทั้งสอง, ช่วยเหลือการงานของท่าน, ดำรงวงศ์ตระกูล, ประพฤติให้เหมาะสมกับการเป็นทายาท และเมื่อท่านล่วงลับไปแล้วทำบุญอุทิศให้ท่าน
               ครูบาอาจารย์ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ 5 ประการ คือ แนะนำสั่งสอนให้ลูกศิษย์เป็นคนดี, จัดการเรียนการสอนให้ศิษย์เป็นอย่างดี, ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับศิษย์โดยไม่ปิดบังอำพราง, ยกย่องให้ปรากฏในหมู่คณะและทำความคุ้มครองป้องกันให้กับศิษย์ทุกทิศ
               ศิษย์พึงบำรุงครูบาอาจารย์ 5 ประการ คือ ลุกขึ้นต้อนรับ, เข้าไปหา, ตั้งใจเล่าเรียน, คอยดูแลรับใช้และศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาด้วยความเคารพ
               สามีดูแลภรรยามี 5 ประการ คือ รักและให้เกียรติว่าเป็นภรรยา, ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามภรรยา,
ไม่นอกใจภรรยา, มอบความเป็นใหญ่ในบ้าน, หาเครื่องประดับมาไว้ให้
               ภรรยาดูแลสามี 5 ประการ คือ จัดการงานภายในบ้านให้ดี, สงเคราะห์ญาติมิตรของสามีให้ดี,
ไม่นอกใจสามี, รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้ และขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานทั้งปวง
               เจ้านายพึงบำรุงบ่าวไพร่ 5 ประการ คือ จัดการงานให้เหมาะตามกำลังของบ่าวไพร่,
ให้รางวัลสินน้ำใจให้การดูแลรักษาพยาบาลในยามบ่าวไพร่เจ็บป่วย, แบ่งปันของที่มีรสแปลกใหม่ให้กินและเมื่อถึงวันหยุดก็ให้หยุดพัก
               บ่าวไพร่พึงอนุเคราะห์เจ้านาย 5 ประการ คือ ทำงานก่อนเจ้านาย, เลิกงานหลังเจ้านาย, ถือเอาแต่ของที่เจ้านายให้, ทำการงานให้ดี, สรรเสริญคุณของเจ้านายในที่นั้นๆ
               สมณพราหมณ์พึงอนุเคราะห์อุบาสก อุบาสิกา 6 ประการ คือ ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว, แนะนำให้ทำความดี, อนุเคราะห์ด้วยใจอันดีงาม, ให้ได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยได้ฟัง, ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง, บอกทางสวรรค์และนิพพานให้
               ธรรมที่เป็นดั่งมิตรผู้นำไปสู่หนทางที่ดี มี 6 ประการ คือ มีศีล, มีสติสัมปชัญญะ, มีความละอายต่อบาป, เป็นผู้ฟังธรรมมาก, มีความเพียรมาก, มีปัญญามาก ธรรมเหล่านี้ย่อมนำพาไปสู่พระนิพพาน
               ลักษณะมิตรที่ดีมี 8 ประการ คือ รักเพื่อนเสมอดั่งรักตน, บอกสิ่งที่ควรและไม่ควรให้แก่มิตร,
มีความอดกลั้น ระงับความโกรธได้, ย่อมพูดจามีหลักการ, ไม่ชักชวนกันทำความชั่ว, พูดจาสุภาพอ่อนหวาน, ย่อมกระทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์, ไม่นินทาว่าร้ายทั้งต่อหน้าและลับหลัง
               ลักษณะมิตรที่เป็นศัตรูมี 18 ประการ คือ คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว, เสียให้น้อย แต่คิดเอาให้ได้มาก, เมื่อเกิดเรื่องเดือดร้อนมักจะเข้ามาหา, คบเพื่อผลประโยชน์แห่งตน, พูดแต่สิ่งที่พ้นไปแล้ว, พูดแต่สิ่งที่ยังมาไม่ถึง, ไม่สนทนาเรื่องบุญกุศล, พูดจาแต่สิ่งที่ไม่มีประโยชน์, เมื่อมีการงานที่จะต้องการให้ช่วยเหลือ มักหลบเลี่ยงเกี่ยงงอน, เวลาเรากล่าวสิ่งที่เป็นบาป เขากลับบอกว่าดี, ต่อหน้าเราว่าดี ลับหลังนินทาว่าร้ายให้, ชักชวนดื่มสุรา, ชักชวนเที่ยวกลางคืน, ชักชวนเล่นการพนัน, ยืมสิ่งของจากเขาไม่ได้, ของที่ยืมจากเราไปไม่นำมาส่งคืน, ซื้อของแล้วไม่จ่ายเงิน มิตรลักษณะดังกล่าวควรหลีกหนีให้ห่างไกล
               ลักษณะมิตรที่ดีมี 15 ประการ คือ เฝ้าดูแลกันเมื่อยามเจ็บป่วย, นำสิ่งของมาให้, ช่วยเหลือเราในยามที่เดือเนื้อร้อนใจ, ช่วยเหลือการงานของเราให้ลุล่วง, ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน, ไม่ปิดบังอำพราง, เมื่อเรามีความสุขก็พลอยยินดีกับเรา, เมื่อเรามีความทุกข์ก็พลอยทุกข์ไปกับเรา, ช่วยปกปิดความผิดของเราเอาไว้, โต้เถียงคนที่ติเตียนเพื่อน, รับรองคนที่พูดสรรเสริญเพื่อน, ห้ามไม่ให้ทำชั่ว, แนะนำให้ทำแต่ความดี, ให้ฟังที่ในสิ่งที่ไม่เคยยิน, ขยายความสิ่งที่รู้แล้วให้เข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น
               เหตุที่ทำให้เสียทรัพย์มีอยู่ 6 ประการ คือ ดื่มสุรา, เที่ยวกลางคืน, เที่ยวดูการละเล่น,
เล่นการพนัน, คบคนชั่ว, เกียจคร้านในการงาน
               ดื่มสุรามีโทษ 6 ประการ คือ ทรัพย์หมดไปอย่างเห็นได้ชัด, ก่อการทะเลาะวิวาท, เป็นบ่อเกิดแห่งโรค, เป็นเหตุทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง, ไม่รู้จักละอาย, บั่นทอนสติปัญญา
               เที่ยวกลางคืนมีโทษ 6 ประการ คือ ชื่อว่า ไม่รักษาตนเอง, ไม่รักษาลูกเมีย, ไม่รักษาทรัพย์สินเงินทอง, เป็นที่ระแวงสงสัยของผู้อื่น, นำความเดือดร้อนมาสู่ตน, คำพูดที่ไม่เป็นจริงย่อมมีแก่ผู้นั้น
               ผู้ใดที่ให้ทาน-รักษาศีล, มีสัจจะ, มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดในทางที่ดีงาม, มีธรรมะ คือ กุศลกรรมบถ, มีธิติธรรม คือ ความเพียรพยายามที่แน่วแน่ มั่นคง, มีจาคะ คือ การเสียสละให้ทานสิ่งของแก่สมณพราหมณ์ ยาจกขอทาน เป็นต้น  ย่อมนำพาตนพ้นจากความทุกข์ยากลำบากได้ จึงได้ชื่อว่า สุริยัง
               ผู้ใดมีสติปัญญาทึบ ไม่มีไหวพริบ ทำอะไรก็ไม่เป็น ไม่ชำนาญ ไม่รู้จักทำการงาน แสวงหาแต่สิ่งที่เป็นโทษ แม้บวชเป็นสมณชีพราหมณ์ก็จักพินาศฉิบหาย จึงได้ชื่อว่า อทักขิยัง
               ผู้ใดที่เกียจคร้าน เชื่องช้า ไม่กระฉับกระเฉง หนักไม่เอาเบาไม่สู้ คุยโม้โออวด ผู้นั้นชื่อว่า
อสุริยัง
               ผู้ใดไม่รู้แต่อวดฉลาด ผู้นั้นชื่อว่า นิปปัญโญ
               ผู้ใดที่พูดแต่คำโกหกหลอกลวง ผู้นั้นได้ชื่อว่า มุสา
               ผู้ใดมีความตระหนี่ถี่เหนียว อยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่รู้จักบุญคุณ ผู้นั้นได้ชื่อว่า มัจเฉระหยาบกระด้าง ไม่ควรคบเป็นมิตร
               ผู้ใดที่ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี มีกิริยาที่หยาบกระด้าง แข็งกร้าว ดุร้าย สร้างแต่ความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ผู้นั้นได้ชื่อว่า พาโล
               ผู้ใดที่มีความเกียจคร้าน ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอน ไม่ฟังธรรม ไม่หันหน้าเข้าหาศาสนา ไร้ความเมตตาปรานีต่อสัตว์ ไม่อยู่ในศีลธรรม ทำบาปอยู่ตลอดเวลา ผู้นั้นได้ชื่อ กุสิโต
               โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้นเหตุนำไปสู่หนทางแห่งความเสื่อม, หนทางแห่งเสื่อมที่เกิดจากโลภะมี 8 ประการ คือ ชอบดื่มสุรา, เที่ยวผู้หญิง, ชอบเล่นดนตรี, ชอบการละเล่นระบำขับฟ้อน และชอบเล่นการพนัน,
ไม่ใคร่ชอบที่จะทำทาน, ชอบเที่ยวล่าสัตว์, เห็นแก่นอน, ชอบติฉินนินทาผู้อื่น
               ทางแห่งความเสื่อมที่เกิดจากโทสะมี 8 ประการ คือ พูดจาหยาบคาย, ตัดสินลงโทษนักโทษอย่างโหดร้ายทารุณ, ชอบยุแยงตะแคงรั่วให้คนทะเลาะวิวาทกัน, สร้างความเดือดให้แก่ผู้อื่น, ทำแต่สิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์แก่ตน, ไม่ดำรงตนอยู่ในศีลธรรม
               ทางแห่งความเสื่อมที่เกิดจากโมหะนั้นมีมากมายเหลือคณานับได้ ความหลง มัวเมาเปรียบเสมือนถ่านสีดำที่นำมาขัดล้างให้ขาวนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ จะสั่งสอนอย่างไรก็ไม่ยอมรับฟังอุปมาดั่งหางสุนัขอันงอนขึ้น ดั่งหางแมงป่องอันชูขึ้น, ดั่งเขาวัว-เขาควาย, งอดั่งฝักมะขาม หรืองอดั่งผักกูด เป็นต้น
               พระมโหสถเป็นผู้ประกอบด้วยคุณ 25 ประการ คือ มีความกล้าหาญกว่าคนทั้งหลาย, ไม่ถือตัว, เป็นผู้ไม่โกรธ, เป็นที่พึ่งแก่คนทั้งหลาย, มีศีล,  มีความละอายต่อบาป, มีความเกรงกลัวต่อบาป, ไม่มีความริษยา, มีบริวารมาก, มีความเพียรมาก, ไม่มีมารยา, มีมิตรสหายมาก, รู้จักหาทรัพย์, มีปัญญามาก, ไม่โอ้อวด, เป็นที่พอใจแก่คนทั่วไป, มีชื่อเสียงปรากฏเลื่องลือไปทั่ว,ชอบแจกทาน, มีศิลปวิทยามาก, มีสัจจะ กล่าวแต่คำที่เป็นความจริง, มีจิตใจที่บริสุทธิ์, เป็นผู้ที่มีความสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน, เป็นผู้เกื้อกูลผู้ที่เข้ามาอาศัย, สามารถใช้ความรู้ของตนแก้ปัญหาต่างๆ ได้ คุณของพระมโหสถนี้เป็นสิ่งที่ควรประพฤติปฏิบัติให้มีขึ้นในตน
               บุญที่มีอยู่ในตนเปรียบเสมือนมีญาติพี่น้องที่ดีมี 6 ประการ คือ มีสัจจะ กล่าวแต่คำที่เป็นจริง
ไม่กลับกลอก เสมือนมีแม่ที่ดี (สัจจมาตา), มีปัญญารู้แจ้งเห็นจริง รู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี เสมือนมีพ่อที่ดี (วิชชาปิตุ), ประกอบแต่กุศลกรรมบถ 10 เสมือนมีพี่ชายที่ดี (ธัมโม ภาตา), มีความเมตตา กรุณาต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ในทิศทั้ง 10 เสมือนมีเพื่อนที่ดี (ทยา สขิ), ให้ทานด้วยสิ่งของที่ดีงาม เสมือนมีภรรยาที่สวยงาม (จาคัง
สุภัง), รู้จักอดทน อดกลั้น ความโกรธ พยาบาท เสมือนมีลูกที่ดี (ขมาปุตโต)
               บาปที่มีอยู่ในตนเปรียบเสมือนมีญาติพี่น้องที่ชั่วมี 6 ประการ คือ พูดจาโกหก ปลิ้นปล้อน หลอกลวง เสมือนมีแม่ที่ชั่ว (มิจฉามาตา), มีปัญญาที่มืดบอด ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี เสมือนมีพ่อที่ชั่ว (อวิชชาปิตุ), ใจบาปหยาบช้า ทำแต่ความชั่ว ไม่อยู่ในศีลธรรม เสมือนมีพี่ชายที่ชั่ว (อธัมโม ภาตา), ไร้ความเมตตาปรานีต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ เสมือนมีเพื่อนที่ชั่ว (นิกรุณา สขี), มีความตระหนี่ถี่เหนี่ยว โลภอยากได้ของผู้อื่น เสมือนมีภรรยาที่ชั่ว (มัจฉริยภริยัง) และไม่รู้จักอดทน อดกั้น ความโกรธพยาบาท เสมือนมีลูกที่ชั่ว (อขมา ปุตโต)
               ปัญจพลีกรรม มี 5 ประการ ดังนี้ ญาติพลี คือ สงเคราะห์ญาติ, อติถิพลี คือ ต้อนรับแขกผู้มาเยือน, ปุพพเปตพลี คือ ทำบุญให้กับผู้ที่ล่วงลับไป, ราชพลี คือ ถวายให้กับพระราชา (เสียภาษีอากร) และเทวตาพลี คือ เคารพบูชาเทวดาทั้งหลาย
               เมื่อเกิดเป็นชายควรรู้จักองค์คุณที่จักนำพาไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตและทรัพย์สิน
16 ประการ โดยจำแนกไว้ ดังนี้
               หากหวังประโยชน์สุขในปัจจุบันให้รู้จักขยันหมั่นเพียร, รู้จักรักษาทรัพย์ที่หามาได้,
คบแต่คนดี, เลี้ยงชีวิตให้เหมาะสมตามกำลังของตน และเลี้ยงดูบิดามารดา
               หากหวังความสุขในภายภาคหน้าก็ให้มีศรัทธาเชื่อฟังคำสอนพระพุทธเจ้า, รักษาศีล 5,
มีปัญญารู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี, หมั่นฟังธรรม
               ทางที่น้ำท่วมขังให้ไขน้ำออกเสีย (อบายมุข) มีอยู่ 4 ประการ คือ เที่ยวผู้หญิง, ดื่มสุรา,
เล่นการพนัน, คนคนชั่วเป็นมิตร
               ทางที่ควรไขน้ำเข้าหนองน้ำมีอยู่ 4 ประการ คือ ไม่เที่ยวผู้หญิง, ไม่ดื่มสุรา, ไม่เล่นการพนัน, ไม่คบคนชั่วเป็นมิตร
               เมื่อเกิดเป็นหญิงควรรู้จักองค์คุณที่จักนำพาไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตและทรัพย์สิน 16 ประการ โดยจำแนกไว้ ดังนี้
               หากหวังประโยชน์สุขในปัจจุบันให้รู้จักเอาใจใส่การบ้านการเรือน, สงเคราะห์ญาติและมิตร,
ดูแลรักษาข้าวของ, ไม่นอกใจสามี
               หากหวังความสุขในภายภาคหน้าก็ให้รักษาศีล, มีศรัทธา, ให้ทาน, มีปัญญา
               ทางที่น้ำท่วมขังให้ไขน้ำออกเสีย (อบายมุข) มีอยู่ 4 ประการ คือ เที่ยวเล่นกับเพื่อน, ลักทรัพย์,
ใช้จ่ายสุร่ยสุร่าย, คนคนชั่ว
               สิ่งที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียมีอยู่ 4 ประการ คือ เมาเหล้าขาดสติ, ไม่รู้จักประมาณใน
การกิน, ชอบเที่ยวแวะบ้านนั้นบ้านนี้ ไม่ทำการงาน และพูดเพ้อเจ้อ
               กุศลกรรมบถที่พึงกระทำมี 10 ประการ ดังนี้ ทางกาย มี 3 ประการ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ทางวาจา มี 4 ประการ คือ ไม่พูดโกหก  ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ทางใจ มี 3 ประการ คือ ไม่โลภอยากได้ของท่าน  ไม่อาฆาตพยาบาท  มีความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
               อกุศลกรรมบถที่พึงละมีอยู่ 10 ประการ คือ ทางกาย มี 3 ประการ คือ ฆ่าสัตว์  ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม  ทางวาจา มี 4 ประการ คือ พูดโกหก  พูดส่อเสียด  พูดหยาบคาย  พูดเพ้อเจ้อ ทางใจ มี 3 ประการ คือ มีความโลภในของผู้อื่น  โกรธพยาบาท  มีความเห็นผิด
               รู้เห็นด้วยตนเองนั้นย่อมดีกว่ารู้ด้วยเขาบอกเล่าสืบต่อกันมา
               ขึ้นชื่อว่าดูแลรักษาเท้าก็เท่ากับรักษารองเท้า ขึ้นชื่อว่าดูแลรักษารองเท้าก็เท่ารักษาเท้าไปด้วย
               ดูแลหัวก็เท่ากับดูแลฉัตร ดูแลฉัตรก็เท่ากับดูแลหัวไปด้วย
               ขึ้นชื่อว่าดูแลตนเองก็เท่ากับดูแลคนอื่นๆ โดยที่รักตนเองด้วยการมีสติ สมาธิ ปัญญาและดูแลผู้อื่นด้วยศีล เมตตา กรุณา และขันติ
               ปรารถนาให้ตนแต่งกายสวยงามก็นำเอาของประดับที่ผู้อื่นให้มาใส่ ปรารถนาให้ผู้อื่นแต่งกายสวยงามก็นำเอาของประดับที่ตนมีมาใส่ให้ (รู้จักแบ่งปันซึ่งกันและกัน)
               หากจะดูตนให้ส่องกระจก หากจะดูกระจกก็ให้ดูตน (ตักน้ำใส่กระโหลก ชะโงกดูเงา)
               จักรักษาศีลให้รักษากา จักรักษากาก็ให้วัด(ล้อม)จับลิงเอาไว้ อย่าให้หนีไปได้ ให้มีจิตใจเช่นดั่งพระพุทธเจ้า ถึงแม้จะเรียนมามากแค่ไหนก็ให้เอาเพียงแค่นี้ก็พอ กา หมายถึง กายทุจริต 3 วจีทุจริต 4
มโนทุจริต 3 วัด หมายถึง สิ่งที่ควรกั้นขวางเอาไว้ คือ ปลีกตัวออกจากจักขุวัตถุ (รูป), โสตวัตถุ (เสียง), ฆานวัตถุ (กลิ่น), ชิวหาวัตถุ (รส), กายวัตถุ (โผฏฐัพพะ) ลิง หมายถึง จิต อย่าให้คิดเตลิด ให้ควบคุมเอาไว้ให้ดี
               คนชั่วชอบที่จะถูกดุด่าเฆี่ยนตี  อุปมาดั่งสุนัขชอบใจที่ได้เห็น ได้ดมอุจจาระ
               คฤหัสถ์และบรรพชิตจักได้ซึ่งลาภ ยศ อำนาจ ชื่อเสียง มีอยู่ 8 ประการ คือ มีความบากบั่น,
มีความเพียร, มีความกล้ากาญ เฉลียวฉลาด, เล่าเรียนทั้งคดีโลกคดีธรรม, มีความเมตตากรุณา,มีสัจจะรักษาคำพูด, ไม่ทำผิดกฎหมายบ้านเมืองและศีลธรรมทางศาสนา, มีจิตใจที่หนักแน่น มั่นคง พูดจริงทำจริง, ได้สั่งสมบุญมาก่อน ทุกคนย่อมมีบุญและบาปติดตัวกันมา บุญและบาปเป็นดั่งพ่อแม่คอยเฝ้าตามดูแล
               ผู้ที่มีความผิดย่อมมีผิวพรรณวรรณะที่เศร้าหมอง ชอบลุกลี้ลุกลน พูดจากลับกลอก จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ผู้ที่ไม่มีความผิดย่อมมีสติสัมปชัญญะอยู่ทุกเมื่อ คนพาลย่อมเห็นความผิดของบัณฑิตเท่าภูเขาแต่ความผิดของตนกลับไม่เห็น แม้ว่ามีความผิดน้อยก็สร้างให้ดูใหญ่โต
               บุรุษผู้เดินไปตามทางแล้วสะดุดตอไม้ย่อมเจ็บปวดฉันใด บัณฑิตก็ไม่ควรกล่าวโทษของคนพาลซึ่งหน้า เพราะเขาย่อมอาฆาตมาดร้ายแก่ตนอยู่ 2 ประการ คือ จะทำลายชีวิตหรือจะทำความเสียหายให้กับทรัพย์สินตน ดั่งเช่นคนที่เที่ยวกลางคืน แล้วกลางวันมานอนหลับอยู่ที่ศาลาของเศรษฐี เศรษฐีมาเห็นก็ทักว่าเป็นโจรที่เที่ยวขโมยของในตอนกลางคืน แล้วกลางวันมาแอบนอนที่นี้ เขาได้ยินเช่นนั้นก็แค้นอาฆาตที่เศรษฐีพูดเช่นนั้นจึงตัดขาวัวของเศรษฐี และเผาไร่นา จนท้ายสุดถึงขั้นเผาคันธกุฎีของพระพุทธเจ้า
               ไฟนั้นมีลักษณะร้อน เผาไหม้ ย่อมเกิดประโยชน์ให้ผู้รู้จักใช้ แต่ย่อมเกิดโทษผู้ที่ไม่รู้จักใช้ ฉันใด บรรดากษัตริย์ เสนาอำมาตย์ผู้มีอำนาจที่ประกอบไปด้วยเดช 5 ประการ คือ ปัญญาโตเตชะ วาจโตเตชะ
กัมมกรณโตเตชะ อาณาโตเตชะ และเป็นผู้ที่ไม่ยอมให้ใครมาดูหมิ่น ย่อมให้คุณแก่ผู้ที่ทำดีและให้โทษแก่ผู้ที่ทำชั่ว แล้วยิ่งบรรดาพระราชา เสนาอำมาตย์ผู้มีเดช 5 ประการ มากเท่าไร ก็ไม่ควรเข้าใกล้มากนัก หากทำดีท่านย่อมเห็นคุณความดี แต่หากทำไม่ดีท่านย่อมเห็นโทษทุกประการ
               จักเล่าเรียนศิลปวิทยาการจากครูบาอาจารย์ท่านใดก็ตาม หากครูบาอาจารย์ ฉลาดหลักแหลม
มีความรู้มาก ลูกศิษย์ก็จะฉลาด หลักแหลมมีความรู้มากไปด้วย หากครูบาอาจารย์ไม่ฉลาด หลักแหลมเท่าที่ควร มีความรู้น้อย ลูกศิษย์ก็จะฉลาด หลักแหลม มีความรู้น้อยเช่นกัน เปรียบดั่งแม่น้ำ ถ้าเป็นแม่น้ำสายใหญ่ ลำคลองก็ใหญ่ ถ้าแม่น้ำสายเล็ก ลำคลองก็เล็กด้วยเช่นกัน
               หากครูบาอาจารย์ไม่ฉลาด หลักแหลมฉันใด ลูกศิษย์ก็ไม่ฉลาด หลักแหลมฉันนั้น หากพ่อแม่ชั่ว
ลูกก็ย่อมชั่วตามเชื้อสาย หากพ่อแม่ดี ลูกก็ย่อมดีตาม หากครูบาอาจารย์ดี ลูกศิษย์ก็ย่อมดีตาม ดุจลูกยนกยูงและลูกนกคุ่มที่เกิดมาก็ย่อมมีปีกหางเหมือนกับพ่อแม่ไปจนตลอดชีวิต
               พระราชา เสนาอำมาตย์ ขุนนางจักมียศศักดิ์ มีอำนาจบารมี และทรัพย์สมบัติก็ต้องมีผู้คอยช่วยเหลือค้ำชูเช่นกัน เสมือนดวงประทีปที่เกิดขึ้นได้ก็โดยอาศัยไส้และน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงให้ลุกไหม้ หากไม่มีสองสิ่งนี้ก็ไม่มีเปลวไฟ
               การแสวงหาไปศึกษาเล่าเรียนกับครูบาอาจารย์ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด หลักแหลม มีคุณธรรมเป็นสิ่งที่ยากยิ่งเสมือนดั่งแสวงหากาเผือก
               คฤหัสถ์และบรรพชิตนั้นตั้งแต่หัวค่ำจนถึงยามดึก (21.00 น. ) ให้พิจารณาทบทวนถึงธรรมคำสอน, ระลึกถึงวิชาความรู้ที่จักนำมาใช้เลี้ยงครอบครัว ยามแตรใกล้เที่ยงคืนจนถึงตูดช้าย (21.00-03.00 น.) ให้นอนหลับ ตั้งแต่ยามตูดช้ายจนถึงรุ่งเช้าก็ให้ตื่นขึ้นมาสวดมนต์และทบทวนเวทย์มนต์คาถาหรือวิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา รวมทั้งพินิจพิจารณาว่าสิ่งใดจักเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและผู้ปกครองบ้านเมือง
               สมณพราหมณ์ให้ถือเอาอย่างนกเค้าแมว คือ ให้ปลีกออกจากผู้คน หมอดูให้เอาอย่างนกกระยางออกหาปลากิน คือ ให้เที่ยวดูดวง พ่อค้าให้ถือเอาอย่างลา คือ ให้อดทนในการแบกหามสินค้า นายพรานก็ให้เอาอย่างสุนัขที่ล่าเหยื่อเก่ง
               ผู้ใดที่สั่งสอนหรือถ่ายทอดวิชาความรู้ใดๆ ให้ แม้จะสอนเพียงเล็กน้อยก็ตามก็ถือว่าเป็นครู
ควรให้ความเคารพยำเกรง ไม่ดูหมิ่น
               คฤหัสถ์และบรรพชิตที่มีศีลาจริยวัตรดี และตั้งตนอยู่ในคำสอนของนักปราชญ์ หากอยู่กับเจ้าขุนมูลนายใดก็ตามหรืออยู่กับครูบาอาจารย์ใดก็ตาม ย่อมส่งเสริมเจ้าขุนมูลนายหรือครูบาอาจารย์นั้นๆ ให้เจริญซึ่งชื่อเสียงเกียรติยศ แต่คฤหัสถ์และบรรพชิตที่ไม่มีศีลาจริยวัตรดี และไม่เชื่อฟังคำสอนของนักปราชญ์ หากอยู่กับเจ้าขุนมูลนายใดก็ตามหรืออยู่กับครูบาอาจารย์ใดก็ตาม ย่อมทำให้ชื่อเสียงเกียรติยศของเจ้าขุนมูลนายหรือครูบาอาจารย์นั้นๆ เสื่อมเสีย
               ทรัพย์สมบัติและลาภยศนั้นยามเมื่อมีชีวิตก็ยังปรากฏอยู่ แต่พอสิ้นชีวิตลงทุกอย่างก็เสื่อมหายไป อุปมาดั่งดวงประทีปที่ยังไม่ดับ จนกระทั่งไม่มีไส้กับน้ำมันประทีปจึงดับลง
               ภิกษุผู้ใดหากจักภาวนาสมถวิปัสสนากรรมฐานให้ปั้นข้าวกิน 4-5 คำ โดยให้ปั้นข้าวให้ใหญ่กว่าไข่ไก่สักหน่อยแล้วดื่มน้ำตาม, ผู้ที่จะเดินทางไกลนั้น หากจะคล่องตัวในการเดินทางให้กินข้าวประมาณ 5-6 คำ แล้วดื่มน้ำตาม, นักปราชญ์ผู้มักพิจารณาทบทวนซึ่งความรู้ของตนให้กินข้าวสัก 6-7 คำ แล้วให้ดื่มน้ำตาม, คนทำงานให้กินข้าว 7-8 คำ แล้วค่อยดื่มน้ำ, เสนาอำมาตย์ ขุนนางให้กินข้าว 8-9 คำ แล้วดื่มน้ำตาม, พระราชาให้กินข้าว 9-10 คำ แล้วจึงดื่มน้ำตาม
               หลังจากกินข้าวให้เดินไปมา จะทำให้อายุยืน แต่ถ้ากินแล้วนั่งอยู่กับที่ จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นในตน กินแล้วนอนอาจจะเจ็บป่วยถึงตายได้
               ชาวเมืองทั่วไปให้นุ่งผ้า 2 ผืน, นายจ่าบ้านให้นุ่ง 3 ผืน, นายสารถีให้นุ่งผ้า 4 ผืน, นายควาญช้างและขุนนางชั้นผู้น้อยนุ่งผ้า 5 ผืน, มหาอำมาตย์ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ให้นุ่ง 6 ผืน, อุปราชให้นุ่ง 7 ผืน, เจ้าเมืองให้นุ่งผ้า 8 ผืน, พระราชาเมืองใหญ่ให้นุ่งผ้า 9 ผืน, พระราชาผู้มีอำนาจสามารถปกครองชมพูทวีปได้เหมือนพระเจ้าอโศกมหาราชให้นุ่งผ้า 10 ผืน ส่วนพระเจ้าจักรพรรดิราชให้นุ่งผ้า 11 ผืน ที่กล่าวมานั้นเป็นการกล่าวถึงการนุ่งผ้าเข้าไปยังที่ชุมชนหรือเข้าไปเฝ้าพระราชา ถ้าทำตามนี้จักเหมาะสมกับตน แต่ถ้าไม่ทำตามนี้ก็จะดูไม่เหมาะสมกับตน หากอยู่ในสถานที่ที่นุ่งผ้าหนา นุ่งหลายชั้นไม่ได้ก็ให้นับเอาผ้าที่นุ่งอยู่เข้าด้วยกัน หากอยู่ในสถานที่ที่นุ่งผ้าบางก็ให้นุ่งตามที่กล่าวมา
               เดือนใดก็ตาม ขึ้น-แรม 7 ค่ำ อย่ากินมะพร้าวและตาล, ขึ้น-แรม 8 ค่ำ อย่ากินฟักแฟงแตงเต้า, ขึ้น-แรม 9 ค่ำ อย่ากินผัก, ขึ้น-แรม 13 ค่ำ อย่ากินน้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำกะทิ ผู้ใดเว้นกินของดังกล่าวหากถือเวทย์มนต์คาถา ศิลปวิทยาคุณทั้งหลายก็จักไม่เสื่อม จักพ้นจากโรคาพยาธิอุปัทวอันตรายทั้งปวง แม้นจะอยู่ในช่วงมีเคราะห์ก็จะพ้นเคราะห์
               นั่งตรงประตูบันไดทางเข้า นั่งบนครกสากตำข้าว นั่งกลางถนนหนทาง นั่งอยู่บนขอบน้ำบ่อ นั่งบนเกวียนเก่าที่รื้อออกไปแล้ว ไม่ดี, อย่าอาบน้ำตรงที่น้ำสองสายมาสบกัน, อย่าอาบที่ลำห้วย, อย่าอาบน้ำในบ่อน้ำที่ใกล้ต้นไม้เตี้ย, ที่ใกล้ต้นมะขาม, ที่มีใบไม้ร่วงอยู่ตลอดเวลา, ที่ใกล้ป่าช้า อย่าอาบน้ำในบ่อน้ำ 3 เหลี่ยม,
อย่าอาบน้ำในบ่อน้ำที่ใกล้ถนนหนทาง บ่อน้ำ 8 ประการนี้ ไม่ควรอาบ หากอาบจักเกิดโทษมากนัก
               สะพานที่ไม่ควรเดินข้าม คือ สะพานที่ทำมาจากไม้เผาศพ, สะพานที่ทำมาจากเกวียน, สะพานที่ทำมาจากไม้ฝาห้องนอน
               ผักที่ไม่ควรกินมี 11 ชนิด คือ ผักบุ้ง, ผักหนอก (บัวบก), ผักบุ้งปลิง, ผักปอด, ผักขี้กา, ผักเพิก, ผักชี, ผักขี้เขียด, ผักเฮือด, ผักหนาม, ผักเพี้ยน, ผักเสี้ยน (ต้นฉบับว่า 11 ชนิด แต่นับจำนวนได้ 12 ชนิด) ผักเหล่านี้ไม่ควรกิน หากผู้ใดกิน ตบะเดชที่มีอยู่ในตัวจะเสื่อมลง
               ผู้ใดปรารถนาที่จักพ้นทุกข์จากวัฏสงสาร คือ การเกิดในอบายภูมิทั้ง 4 ก็ให้หมั่นศึกษาตำราเล่มนี้ให้มาก ให้ทราบถึงสิ่งไหนควรปฏิบัติและสิ่งไหนไม่ควรปฏิบัติอย่างถ่องแท้แล้วนำไปปฏิบัติตนเพื่อเข้าสู่อริยมรรคที่พระพุทธเจ้าได้แสดงเอาไว้ แล้วจักไม่ไปสู่อบายภูมิทั้ง 4 และจักเข้าพระนิพพานในที่สุด คำว่า ติกขะ แปลว่า ผู้ใดตั้งตนอยู่ในคำสอนทั้งหลายที่ได้กล่าวมานี้ ครั้นตายไปก็จักไม่ไปสู่อบายภูมิทั้ง 4 หากยังไม่ถึงพระนิพพานก็จักได้ไปเกิดในเทวโลก
               ทศพิธราชธรรมมี 10 ปประการ ดังนี้ ทานะ คือ ให้ทาน สีละ คือ รักษาศีล 5 ศีล 8 ปริจจาคะ คือ สละทรัพย์สินให้กับข้าราชบริพารและประชาชน อาชชวะ คือ มีความซื่อตรง มัททวะ คือ มีอัธยาศัยที่อ่อนน้อมถ่อมตน อโกธะ คือ ความระงับความโกรธ อวิหิงสา คือ การไม่เบียดเบียนประชาชน ขันติ คือ มีความอดทน
อดกลั้น ตปะ คือ มีความเพียรที่จะขจัดอกุศลธรรม (ในต้นฉบับเขียนว่า สัจจะ คือ มีสัจจะ ไม่โกหกหลอกลวง) อวิโรธนัง คือ ประพฤติปฏิบัติตามขัตติยราชประเพณีที่สืบต่อกันมา
               พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนบรรดากษัตริย์เมืองเวสาลีที่มีจำนวนถึง 7,777 พระองค์ ให้ปกครองบ้านเมืองด้วยอปริหานิยธรรม 7 ประการ คือ หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์, พร้อมเพรียงกันประชุม, พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม, พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ แม้มีภัยข้าศึกมาก็ให้พร้อมกันช่วยระงับ อย่าเอาตัวรอดแต่ฝ่ายเดียว, ไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่ได้บัญญัติเอาไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้อยู่ก่อน เป็นต้นว่า ขนบธรรมเนียม จารีต ประเพณี กฎหมาย ภาษีอากร, ให้ความเคารพยำเกรง รับฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้อาวุโสในตระกูล, ดูแลให้เกียรติกุลสตรี ไม่ฉุดคร่าข่มเหง, เคารพสักการบูชาพลีกรรมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งภายในและภายนอกเมือง ไม่ละเลยในพลีกรรมดังกล่าว, ให้ความดูแล คุ้มครอง อารักขาแก่สมณะชีพราหมณ์ที่อยู่ในเมืองและที่กำลังมาถึงให้ได้รับความสุขสบาย
               อปริหานิยธรรม 7 ประการนี้ จะเป็นเหตุที่ทำให้บ้านเมืองผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมนี้มี
ความเจริญรุ่งเรือง ผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมนี้ย่อมได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิต หากผู้เป็นใหญ่ในบ้านเมืองต้องการให้บ้านเมืองของตนนั้นมีความเจริญรุ่งเรืองก็ควรไต่ถามบัณฑิตผู้รู้ในอปริหาริยธรรม นอกจากนี้ควรไต่ถามถึงขนบธรรมเนียมจารีตบ้านเมืองจากผู้มีปัญญาทั้งคดีโลกและคดีธรรม ไม่ประทุษร้ายต่อมิตรและสมณะชีพราหมณ์ ให้ละเว้นจากพยุติ 10 ประการ คือ อย่าเที่ยวล่าสัตว์, อย่ามัวแต่เล่น, อย่านอนกลางวันมาก, อย่านินทาผู้อื่น, อย่ามัวเมาในกามคุณ, อย่าอวดดีกับผู้อื่น, อย่ามัวแต่เล่นดนตรี, อย่ามัวแต่ระบำรำฟ้อน, อย่าทำในสิ่งที่เกินความสามารถของตน, อย่าดื่มสุราเมรัย
               โกธพยุติ มี 8 ประการ คือ พูดโกหกหลอกลวง, พูดส่อเสียด, ฆ่ามนุษย์, ชอบกลั่นแกล้ง, ชอบทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น, ชอบทะเลาวิวาท กล่าวแต่คำหยาบคาย, มีความโกรธพยาบาท, ชอบกดขี่ข่มเหงผู้อื่น
               พระราชาควรสนทนากับปุโรหิต (ขุนนาง) ด้วยธรรม 7 ประการ[2] คือ สันทิคุณ รู้จักคบแต่คนดี, ปัญญาทิคุณ มีปัญญา, สคทิคุณ อยู่ในเมืองของตน, ชีวิชิตโณทิคุณ รู้จักเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้ป้องกันตน, พลทิคุณ รู้จักจัดเตรียมไพร่พลให้พร้อม, สติมาทิคุณ รู้จักใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตน, สิเนหาทิคุณ ให้ความรักใคร่เอ็นดูประชาชน ถ้าพระราชาพระองค์ใดปฏิบัติตามธรรมทั้ง 7 ประการนี้ ก็จะยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระราชาองค์อื่นๆ อย่างแน่นอน
               เสร็จบริบูรณ์เมื่อจุลศักราช 1272 (พ.ศ. 2453) ปีกดเส็ด วันอังคารขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 ยามแตรเที่ยงคืน (5 ทุ่ม), นิพพานะปัจจะโย โหตุ เม นิจจัง จงมีแก่ข้าด้วยเถิด, ปาฏิโมกข์คฤหัสถ์ฉบับนี้เป็นของมหาอุบาสิกาเจ้าคูยแก้วผู้เป็นราชเทวีแห่งมหาราชเจ้าพูรีรัตนะหัวแก้ว
               ปริวรรต : ณัฐวุฒิ สารีอินทร์ (ตุลาคม 2556)
               เรียบเรียงใหม่ : พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, ชนินทร์ เขียวสนุก (ตุลาคม 2558)




                         [1]   ปาฏิโมกข์คฤหัสถ์ ฉบับ วัดสันต้นเปา ตำบลสันป่าเปา อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ คำสั่งสอน ข้อปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน รหัสไมโครฟิล์ม 80.041.01H.066-066 สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปริวรรตโดย : ณัฐวุฒิ สารีอินทร์  2556

       [2] ศัพท์บาลีที่ปรากฏในหมวดธรรมนี้ ยังค้นไม่พบหลักฐานหมวดธรรมในพระไตรปิฎก จึงยึดตามต้นฉบับไปก่อน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น