แจ้งข่าวนักศึกษา012173

วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2559

นามเมืองชื่อบ้าน ศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์(ตำนานพระเจ้าบรรจุธาตุ) เรื่องลำดับที่ 3 ชุด วิถีล้านนา : ปทัสถานสังคมคุณภาพ

นามเมืองชื่อบ้าน ศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์(ตำนานพระเจ้าบรรจุธาตุ)  [1]
ฉบับวัดป่าเดื่อ ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ 
ความย่อ
  ตำนานพระพุทธเจ้าบรรจุธาตุ ฉบับวัดป่าเดื่อ ตำบลขัวมุง อำเภอสาภร จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนังสือใบลาน เส้นจาร อักษรไทยยวน กล่าวถึงพระธาตุและรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าที่ถูกนำมาประดิษฐาน ทั้งหมด 28 แห่ง ได้แก่ ในประเทศไทย 23 แห่ง และในประเทศพม่า(หงสาวดี) 5 แห่ง บอกถึงที่มาของชื่อบ้านนามเมืองทุกแห่งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปทรงโปรดสัตว์โลก แม้จะเป็นเรื่องบอกเล่าที่เกินข้อเท็จจริงไปบ้าง แต่เจตนาของผู้แต่ง เน้นสาระที่มุ่งโยงถึงสิ่งที่ตนเคารพสักการะสูงสุด นั่นคือ พระพุทธเจ้า ว่าพระองค์มีความสัมพันธ์กับสถานที่ต่างๆได้อย่างไร เพื่อเจริญศรัทธาของศาสนิกชน เป็นวิธีการแต่ตำนานในสมัยก่อน ถ้าโยงถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ จะทำให้สถานที่นั้นๆมีความสำคัญขึ้นมา ขอให้ถือสาระหลัก มากกว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ไร้ข้อมูลเชิงประจักษ์  จะได้นำเสนอโดยแยกเป็นส่วน ๆ ดังนี้
   ก. สถานที่บรรจุพระเกศาธาตุ มีจำนวน 18 แห่ง ได้แก่ 1. ดอยเจหลุมโท พระพุทธเจ้ามอบเกสาให้ขุนลัวะ อ้ายอุ่น นำไปสร้างเจดีย์ ภายหลังได้พระธาตุฝ่ามือข้างขวามาประดิษฐาน 2. ดอยทองใกล้เมืองพยาก พระพุทธเจ้ามอบเกสาให้ขุนลัวะ อุตระ นำไปสร้างเจดีย์ ภายหลังได้พระธาตุฝ่ามือข้างซ้ายมาประดิษฐาน 3. เมืองช้างแสน พระพุทธเจ้ามอบเกสาให้ขุนลัวะผู้เป็นเจ้าเมืองนำไปสร้างเจดีย์ ภายหลังได้พระธาตุแขนขวามาประดิษฐาน 4. เมืองเชียงราย พระพุทธเจ้ามอบเกสาให้ ชีม่าน และ ขุนลัวะเชียงทอง นำไปสร้างเจดีย์ ภายหลังได้พระธาตุนิ้วมือซ้ายทั้ง 5 นิ้วมาประดิษฐาน 5. เมืองพะเยา พระพุทธเจ้ามอบเกสาให้เจ้าเมืองชื่อ สุตศรม นำไปสร้างเจดีย์ ภายหลังได้พระธาตุแขนซ้ายมาประดิษฐาน 6. เมืองละกอน (ลำปาง) พระพุทธเจ้ามอบเกสาให้ลัวะ อ้ายคอน นำไปสร้างเจดีย์ ภายหลังได้พระธาตุกระดูกคอมาประดิษฐาน 7. เมืองน่าน พระพุทธเจ้ามอบเกสาให้ พญาม่าน(เจ้าพม่า)และนางสัพพะมิตา นำไปสร้างเจดีย์ ภายหลังได้พระธาตุกระดูกข้อมือข้างซ้ายมาประดิษฐาน 8. เมืองแพร่ พระพุทธเจ้ามอบเกสาให้ลัวะ อ้ายค่อม นำไปสร้างเจดีย์ ภายหลังได้พระธาตุศอกข้างซ้ายมาประดิษฐาน     9. ท่าสร้อย พระพุทธเจ้ามอบเกสานำไปสร้างเจดีย์ ภายหลังได้พระธาตุแขนซ้ายมาประดิษฐาน 10. ท่าทราย พระพุทธเจ้ามอบเกสาให้พระอรหันต์ พระยาอโศก และภิกษุลัวะ 7 รูปนำไปสร้างเจดีย์  11. ดอยผาเรือ(ดอยเกิ้ง) พระพุทธเจ้ามอบเกสาให้พระอรหันต์และพญาอโศกนำไปสร้างเจดีย์ ภายหลังได้พระธาตุหน้าผากข้างซ้ายมาประดิษฐาน 12. หริภุญชัยนคร พระพุทธเจ้ามอบเกสาให้พระอรหันต์ พระยาอโศก และลัวะทั้งหลายนำไปสร้างเจดีย์ ภายหลังได้พระธาตุกระดูกสมอง(กระหม่อม)ข้างขวามาประดิษฐาน 13. กุมกาม พระพุทธเจ้ามอบเกสาให้พระอรหันต์ พระยาอโศกและม่าน(พม่า)นำไปสร้างเจดีย์ ภายหลังได้พระธาตุคางข้างขวามาประดิษฐาน 14. มหานคร (เชียงใหม่) พระพุทธเจ้าอธิษฐานให้เกสาแตกเป็น 8 เส้น นำไปประดิษฐานในที่ 8 แห่ง ดังนี้ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ  “เวฬุวันอาราม” ทิศตะวันออกเฉียงใต้  “บุปผาราม” ทิศตะวันตก “อโสกอาราม” ทิศใต้  “พิชชอาราม” ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ “สังฆอาราม” ที่ท่ามกลาง “โชติยอาราม” (ปรากฏเหลืออยู่ 6 แห่ง)  15. เชียงเครื่อง พระพุทธเจ้ามอบเกสาให้ลัวะ ขุนย้อง นำไปสร้างเจดีย์ 16. ดอยบ้าน พระพุทธเจ้ามอบเกสาให้ขุนลัวะนำไปสร้างเจดีย์   17. เมืองตืน พระพุทธเจ้ามอบเกสาให้พระอรหันต์และพญาอโศกนำไปสร้างเจดีย์ 18. เมืองเมีย(เมืองเมย) พระพุทธเจ้ามอบเกสาให้พระอรหันต์และพญาอโศกนำไปสร้างเจดีย์
     ข. สถานที่พระองค์ทรงประทับรอยพระพุทธบาท มีจำนวน 10 แห่ง ได้แก่ 1. ดอยผาดอกไม้        2. เมืองลื้อ 3. ห้วยมะหาด(เมืองบิ่น) 4. ผาน้อย 5. เรือพระยาสีสุก 6. ดอยน้อย 7. มหานาคนคร 8. ห้วยเขียด     9. เมืองสรม(เมืองยวม) 10.  เมืองธราง   
   ทั้งพระเกศาธาตุ และรอยพระพุทธบาทที่ทรงประทานให้นั้น ก็เพื่อเป็นที่สักการะกราบไหว้ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความผูกพันธ์ทางด้านจิตวิญญาณกับชาวพื้นเมืองแถบนี้นั่นเอง
ความเรียงสาระของเรื่อง
ตำนานพระเจ้าบรรจุธาตุทั้งมวล
               จะกล่าวถึงตำนานพระพุทธเจ้าบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเอาไว้ดังนี้ หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ได้ 25 พรรษา ทรงจำพรรษาอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ในยามใกล้รุ่งวันหนึ่งพระองค์ทรงรำพึงขึ้นมาว่าพระชนม์ชีพของพระองค์จักไม่ยืนยาวนัก เกรงว่าสัตว์ที่เกิดขึ้นมาภายหลังจากที่พระองค์ปรินิพพานไปแล้ว จักไม่มีโอกาสได้สักการะพระองค์อีก จึงเห็นว่า พระองค์ควรจักอธิษฐานให้พระธาตุของพระองค์นั้นแยกย่อยกระจายไป เพื่อให้มนุษย์และเทวดาได้สักการบูชา เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ ได้กระทำการอธิษฐานให้พระธาตุแยกย่อยแล้ว ได้เสด็จไปทำนายว่า สถานที่ใดจักเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุในอนาคต
               ครั้นออกพรรษาแล้ว พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอริยสาวก นามว่า พระโสณเถระ พระอุตรเถระและพระอานนท์ พร้อมด้วยพญาอโศกมหาราช[2] ได้เสด็จจาริกไปยังดินแดนต่างๆ เพื่อกำหนดสถานที่อันเป็นที่ตั้งแห่งพระบรมสารีริกธาตุ หลักจากที่พระพุทธองค์ได้เสด็จปรินิพพานไป
         พระพุทธองค์ได้เสด็จมาถึงภูเขาลูกหนึ่ง ชื่อ เจหลุมโท มีชาวลัวะ ชื่ออ้ายอุ่น เอาหมากกับปูนมาถวาย พระพุทธเจ้าเล็งเห็นว่า สถานที่นี้ดี พระเถระ พระอานนท์และพระเจ้าอโศกจึงทูลขอธาตุผม (เกสาธาตุ) ของพระพุทธเจ้าๆ ให้ธาตุผมแก่ชาวลัวะอ้ายอุ่นเอาใส่กระบอกไม้รวก ใส่ในผอบทองคำ ก่อเจดีย์บรรจุไว้ ณ ที่นั้น และเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไป ให้เอาธาตุฝ่ามือข้างขวามาประดิษฐานไว้ด้วยกัน
              เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงดอยทอง เมืองพยาก (พยัคฆ์) มียักษ์ชื่อ อุตระ จะมากินพระพุทธเจ้า พระองค์จึงแสดงปาฏิหาริย์ทรมานจนยักษ์เกิดความเลื่อมใส ยึดถือเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งแล้วหลีกหนีไป รุ่งเช้า มีขุนลัวะเอาข้าวและน้ำมาถวาย พระสาวกที่ติดตามมาเล็งเห็นว่าสถานที่นี้เหมาะสมที่จักประดิษฐานพระศาสนา จึงทูลขอพระธาตุจากพระองค์ พระพุทธเจ้าจึงประทานเส้นพระเกศาแก่ขุนลัวะใส่ในกระบอกไม้รวก ใส่ผอบแก้วมรกต ก่อเจดีย์บรรจุไว้ในถ้ำ  พระอินทร์ใส่ยนต์หมุนรักษาไว้ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ให้เอาธาตุฝ่ามือด้านซ้ายมาบรรจุไว้
           เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงเมืองแสน ได้มีช้างขุนลัวะผู้หนึ่งตกมันวิ่งหนี เมื่อเห็นพระพุทธเจ้า ภายหลังเมืองนี้ชื่อว่า ช้างแสน พระพุทธเจ้าได้ประทานเส้นเกศาให้แก่ลัวะชาวเมืองใส่กระบอกไม้ซาง ใส่ผอบทองคำ ก่อเจดีย์บรรจุไว้ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วให้เอาพระธาตุแขนขวามาประดิษฐานไว้ด้วยกัน
         เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงเมืองเชียงราย มีชีม่าน (นักบวชทุศีล)ตนหนึ่งจะมาฆ่าพระพุทธเจ้า ภายหลังกลับใจ เมืองนี้จึงชื่อว่า เชียงราย ด้วยเหตุเดิมชีม่านตนนี้ดุร้ายนัก พระพุทธเจ้าให้เส้นผมแก่ขุนลัวะเชียงทองเอาใส่ผอบแก้วปัทมราค ก่อเจดีย์บรรจุไว้ในถ้ำ มีองค์ช้างและจระเข้เฝ้าหน้าปากถ้ำ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วให้เอาพระธาตุนิ้วมือซ้ายทั้ง 5 มาบรรจุไว้ เมื่อพระพุทธงค์เสด็จมาถึงเมืองพะเยา พระองค์ได้ประทานเส้นเกศาแก่ลัวะช่างทองและพญาชื่อ สุตศรม เอาใส่ผอบแก้วมหานิล แล้วบรรจุใส่ผอบทองคำใหญ่ 7 กำมือ ก่อเจดีย์บรรจุไว้ในถ้ำ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ให้เอาพระธาตุแขนซ้ายมาบรรจุไว้
         จากนั้นพระพุทธองค์ได้เสด็จไปสู่ที่แห่งหนึ่งชื่อว่า ลัมภะ มีต้นขะจาวขึ้นในที่นั้น 1 ต้น ลัวะชื่อ อ้ายคอน ถวายมะพร้าว มะตูม มะเดื่อ อย่างละ 4 ลูก สถานที่นี้ได้ชื่อว่า เมืองละกอน พระพุทธเจ้าได้ประทานเส้นเกศาไว้ให้แก่ลัวะอ้ายคอน เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วให้เอาพระธาตุกระดูกคอส่วนหน้ามาบรรจุไว้ และสถานที่นี้ต่อไปจะได้ชื่อว่า ลำปาง
           ถัดจากที่นั้นไป พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปสู่เมืองน่าน พญาม่านผู้เป็นเจ้าเมืองเห็นจึงสั่งเมียของตนเอาของมาถวาย นางมาช้านักจึงได้ชื่อว่า เมืองนาน (น่าน) พระพุทธเจ้าได้ประทานเส้นเกศาแก่พญาม่านใส่ผอบแก้วแล้วใส่ในคนโททองคำ ก่อเจดีย์บรรจุ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วให้เอาพระธาตุกระดูกข้อมือเบื้องซ้ายมาบรรจุไว้
               หลังจากที่พระองค์ได้บรรจุเกศาธาตุที่เมืองนานแล้ว พระองค์ได้เสด็จมายังเมืองแพร่ มีหมาไนตัวหนึ่งขุดรูออกมา เอาเท้ายื่นไปข้างหน้า หมายความว่า เป็นการไหว้พระพุทธเจ้า แล้ววิ่งแล่นหนีไป เมืองนี้ได้ชื่อว่า แพล่แล่น พระพุทธเจ้าได้ประทานเส้นเกศาแก่ลัวะอ้ายค่อม เอาใส่ผอบแก้วทับทิม ก่อเจดีย์บรรจุไว้ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วให้เอาพระธาตุข้อศอกด้านซ้ายมาใส่ไว้
               จากนั้นพระพุทธองค์ได้เสด็จมาถึงแม่ระมิงค์ตะวันตก (แม่น้ำปิง) พระพุทธเจ้าลงสรงน้ำจึงได้ชื่อว่า ท่าสร้อย มีลัวะผู้หนึ่งเอาขนุนและน้ำผึ้งมาถวาย พระพุทธเจ้าได้ประทานเส้นเกศาแก่พระอรหันต์และพญาอโศกเอาใส่ผอบทองคำ ก่อเจดีย์บรรจุ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วให้เอาพระธาตุแขนซ้ายมาบรรจุไว้ด้วยกัน
     แล้วเสด็จไปท่าทราย พ่อค้าเกวียนเกลือ 7 คน ได้ถวายข้าวห่อของตนและนำเกลือทั้ง 7 เกวียน ถวายแด่พระพุทธเจ้า เกลือเหล่านั้นได้กลายเป็นทรายทองคำ พระพุทธเจ้าจึงได้ให้เขาทั้งหมดรับศีล 5 จากนั้นก็กลับเรือนแห่งตน ต่อมาภายหลังไม่นานนักได้ออกบวชตามพระพุทธเจ้า  ด้วยเหตุนี้จึงชื่อว่า ท่าทราย เมื่อนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ประทานเส้นเกศาแก่ภิกษุทั้ง 7 บรรจุในกระบอกไม้ไผ่ใส่ในผอบทองคำใหญ่แล้วก่อเจดีย์บรรจุไว้ในถ้ำทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เสด็จไปยังดอยสามยอด  ได้ลงสรงน้ำในที่นั้น มีลัวะเอาน้ำผึ้งใส่ชะลอมมาถวาย ต่อมาชะลอมนั้นกลายเป็นแก้วปัทมราค พระพุทธเจ้าได้ทรงอธิษฐานให้เป็นพระพุทธองค์ทองคำแลัวฝังไว้ในหลุม จากนั้นก็ประทับรอยพระบาทไว้บนหินที่ปิดปากหลุม ในเวลาต่อมาสถานที่ตรงนั้นได้ชื่อว่า ดอยผามุง
          หลังจากที่ประทับรอยพระบาทแล้ว พระองค์ได้เสด็จไปดอยผาดอกไม้ ในที่นั้นเทวดาได้สักการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกไม้แล้วขอรอยพระบาทไว้เป็นที่สักการบูชา ถัดนั้นไปเมืองลื้อ มีลัวะผู้หนึ่งเอาขนุนมาถวาย และพระองค์ทรงพบกับอตุลฤาษี และประทับอยู่ในที่แห่งนั้นตามคำอาราธนาของฤาษี จากนั้นอตุลฤาษีได้ไปแจ้งข่าวให้บ้านลัวะ 7 หลัง ลัวะทั้งหลายได้ยินดังนั้นก็นำเอาข้าวสารมาหุงใส่บาตร ในลำห้วยที่พระพุทธเจ้าประทับ ภายหลังจึงได้ชื่อว่า ห้วยตุมบุง จากนั้นได้ทรงประทับรอยพระบาทเอาไว้ให้ลัวะทั้งหลายได้เอาไว้สักการบูชา แล้วเสด็จไปยังดอยลูกหนึ่ง มีลัวะนำลูกมะหาดมาถวาย ที่นั้นจึงได้ชื่อว่า ห้วยแม่หาด และพระพุทธเจ้าก็ได้ประทับรอยพระบาทไว้ในที่แห่งนั้นด้วยเช่นกัน
         จากนั้นได้เสด็จขึ้นไปทางเหนือพบลัวะผู้หนึ่งชื่อ อสชิ มาจำศีลภาวนาในที่แห่งนั้น พระองค์ทรงถามหาน้ำดื่ม อสชิจึงทูลว่าพระอินทร์มาสร้างบ่อน้ำไว้บ่อหนึ่ง พระอินทร์ทราบว่าพระพุทธเจ้าต้องการน้ำจึงได้ไปตักมาถวาย อสชิได้ไปแจ้งข่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาแก่ลัวะทั้งหลาย เขาได้ยินเช่นนั้นก็ดีใจมาก จึงได้ให้หุงข้าวมาใส่บาตรพระพุทธเจ้า ข้าวที่ใส่บาตรนั้นมีมากเกินไป พระอินทร์จึงเนรมิตบาตรหิน 12 ลูก มาใส่ และด้วยเหตุที่หินที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งมีขนาดไม่ใหญ่นักจึงได้ชื่อว่า ดอยผาน้อย และพระพุทธเจ้าประทับรอยพระบาทไว้ ในครั้งนั้นอตุลฤาษีกับอสชิได้ทูลขอบวชกับพระพุทธเจ้า หลังจากนั้นได้เสด็จไปยังผาเรือซึ่งมีเรือเกยตื้นอยู่ เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติ แต่แรกปฐมกัป เมื่อน้ำมหาสมุทรท่วมมาถึงที่นี่ ได้มีพญาตนหนึ่งชื่อสีสุก ถ่อเรือมาถึงในตอนค่ำ รุ่งเช้าน้ำนั้นก็ได้แห้งลงเสีย พญาสีสุกหนีไปยังเมืองซะแลบและก็เสียชีวิตที่นั้น เมื่อนั้นน้ำจึงลดลงปีละวา เรือที่ล่มนั้นจึงกลายเป็นผาเรือล่ม เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงที่นี่ก็ได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ในเรือดังกล่าว
        เมื่อทรงประทับรอยพระบาทไว้แล้ว ได้จาริกไปถึงเมืองแพร ได้พบกับลัวะผู้หนึ่งชื่อ อ้ายค่อม และทรงถามถึงต้นไม้ต้นหนึ่งที่อยู่ตรงนั้น เขาก็ได้บอกว่า ต้นไม้นี้มีพิษ หากใครกินแล้วจะเป็นบ้า พระพุทธเจ้าจึงสั่งให้ลัวะขึ้นเอาผลของต้นนั้นมาถวาย ปรากฏรสหวานหอม ลัวะผู้นั้นเห็นอัศจรรย์จึงถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้า  ยังมีโยคีผู้หนึ่งซึ่งอยู่ในที่นั้นมานานหลายกัป เพราะได้ดื่มน้ำบ่อยา และขุนแสนทองมาหาพระพุทธเจ้าได้ทูลให้พระองค์ทราบว่า ได้มีพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อ พระจุนทกัสสปเถระ ได้นิพพานก่อนพระพุทธเจ้ามาถึงได้ไม่นาน ได้เขียนพระไตรปิฎกและคัมภีร์อื่นๆ เอาไว้ เมื่อท่านนิพพานไปแล้วโยคีได้เอาบรรจุไว้ในหีบทองคำไว้ในถ้ำ พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นสู่ยอดดอยผาเรือ ขุนแสนผู้นั้นได้เอาบันไดมาพาดกั้นไว้ไม่ทันจึงได้วิ่งขึ้นตามหลัง พระพุทธเจ้าได้เล็งเห็นว่าสถานที่นี้ควรตั้งพระธาตุไว้จึงประทานเส้นเกศาให้แก่พญาอโศกบรรจุไว้ในกระบอกไม้หก[3]ใส่ในผอบทองคำนำไปไว้ในดอยที่พระจุนทกัสสปเถระเคยอยู่ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ให้นำเอาพระธาตุหน้าผากข้างซ้ายมาไว้ ด้วยเหตุที่ลัวะเอาบันไดมากั้น ดอยนี้จึงชื่อว่า ดอยเกิ้ง
               พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นั่นได้ 20 วัน พระอสชิและพระอตุละก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ทั้งสองจึงมาเข้าเฝ้า  พระพุทธเจ้าจึงได้มอบหมายให้ท่านทั้งสองรักษารอยพระบาทไว้ที่ดอยผาน้อยนั้น ท่านทั้งสองอยู่รักษาได้ 3 วันก็นิพพานแต่ร่างกายไม่เน่า พระอินทร์ได้นำไฟมาเผาร่างทั้งสองก็ไม่ไหม้ จึงทูลถามพระพุทธเจ้าถึงสาเหตุที่ไฟไม่ไหม้ พระองค์ตรัสว่า เหตุที่ร่างของพระภิกษุ 2 องค์ ไม่เน่าและไม่ไหม้นั้น เป็นเพราะจะรอให้พระศรีอริยเมตไตรยมาเผา  พระอรหันต์ที่ร่างไม่เน่ามีอยู่ 4  องค์ ได้แก่ พระมหากัสสปะ พระจุนทกัสสปะ พระอสชิ และพระอตุละ
        จากนั้นพระพุทธเจ้าได้เดินเลียบริมฝั่งแม่ระมิงค์มาพบลัวะผู้หนึ่งกำลังไขน้ำเข้านา เมื่อลัวะผู้นั้นได้เห็นพระพุทธเจ้าจึงปลดผ้าสไบแล้วนำไปเช็ดพระบาทของพระพุทธเจ้า พอเช็ดเสร็จ ผ้านั้นกลายเป็นทองคำ ลัวะเห็นเข้าก็เกิดความยินดียิ่งนัก จึงกลับบ้านไปหุงข้าว 2 หม้อ และทำอาหาร 2 หม้อ แต่ข้าวทั้งหลายได้เกิดขึ้นเองดั่งของทิพย์ เขาจึงได้นำมาถวายทานแด่พระพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังมีลัวะผู้หนึ่งชื่อ ยง ได้เอาน้ำผึ้งมาถวาย เขาได้นั่งเฝ้ามองชื่นชมพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้จึงได้ชื่อว่า ดอยชม ภายหลังเรียกว่า ดอยชาง เมื่อพระพุทธเจ้าฉันภัตตาหารเสร็จจึงให้ศีล 5 แก่ลัวะ ลัวะผู้นี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ทำนาก็ไม่ค่อยจะได้ผลดีเท่าที่ควร เมื่อรับศีลกลับบ้านแล้ว ข้าวของทุกอย่างภายในบ้านกลายเป็นเงินเป็นทองไปหมด พระพุทธเจ้าได้กล่าวว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่ลัวะได้วิดน้ำเข้านา ต่อไปในภายหน้าสถานที่แห่งนี้จักเป็นเมืองที่มีชื่อว่า เมืองหอด แล้วได้ขึ้นไปยังดอยฝั่งแม่ระมิงค์ พญานาคออกมาสักการะและขอพระธาตุไว้บูชา แต่พระพุทธเจ้าเล็งเห็นว่าไม่มีถ้ำสำหรับบรรจุพระธาตุจึงได้เพียงแต่ประทับรอยพระบาทเอาไว้ เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว เทวดาทั้งหลายจะนำเอาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่นี่
               ถัดจากนั้น พระองค์ได้เสด็จขึ้นไปทางทิศเหนือพบพญานาคตนหนึ่งกำลังจะเข้ามาทำร้าย จึงทรงกระทำปาฏิหาริย์ปราบพยศพญานาคตนนั้น ด้วยการทำให้หัวพญานาคยกไม่ขึ้น จนกระทั่งพญานาคสำนึกผิดจึงได้ขอศีลและถวายดวงตาเป็นพุทธบูชาพร้อมทั้งแผ่พังพานบังลมให้พระองค์ พญานาคเองก็ได้ขอให้พระพุทธเจ้าประทับรอยพระบาท พระองค์จึงประทับรอยเอาไว้พร้อมกับกล่าวว่า ต่อไปสถานที่นี้จักได้เป็นเมืองชื่อ มหานาคนคร เมื่อพญานาคกลับแล้วก็บังเกิดดวงตาทิพย์แก่พญานาคตนนั้น แล้วได้เสด็จไปทางเหนือถึงที่แห่งหนึ่งทรงผินหน้าไปทางทิศตะวันออกเกิดธรรมสังเวชขึ้น ที่นั้นจึงได้ชื่อว่า สังเวชนียสถาน ปัจจุบันเรียก สะแมด
               จากที่นั้น พระพุทธเจ้าได้เสด็จมุ่งไปทางทิศตะวันออก ได้พบกุมภเศรษฐีช่างปั้นหม้ออาราธนาให้อยู่แสดงธรรมและถวาย ภุญชยะ พระพุทธเจ้าได้ตรัสพยากรณ์ว่าในภายหน้าสถานที่นี้จักได้ชื่อว่า หริภุญชยนคร ในครั้งนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ประทานเส้นเกศาแก่กุมภเศรษฐี ใส่กระบอกไม้รวก ในผอบทองคำ ก่อเจดีย์ไว้ เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานก็ให้นำเอาพระธาตุส่วนกระดูกสมองด้านขวามาบรรจุไว้แล้วเสด็จขึ้นไปทางเหนือ ทรงพบม่านผู้หนึ่งถวายหมากดิบ 7 พลูเหลือง 2 มัด และได้ถวายภัตตาหาร ที่นี่จึงมีชื่อว่า บ้านกุมกาม พระพุทธเจ้าประทานเกศาให้ม่านผู้นั้นเอาไปใส่กระบอกไม้รวกแล้วบรรจุลงในผอบทองคำ เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้วให้นำพระธาตุส่วนคางเบื้องขวามาบรรจุไว้
               จากนั้น พระองค์ได้เสด็จไปประทับบนดอยลูกหนึ่ง เทวดาได้บันดาลให้ฝนตกลงมาเป็นแก้วและทองคำเพื่อสักการบูชา  แก้วและทองคำนั้นไหลไปอยู่ท้องดอยจึงได้ชื่อว่า ดอยคำ เทวดาได้ทูลขอรอยพระบาทไว้ แต่พระองค์ตรัสว่าไม่มีสถานที่ให้ประทับรอยพระบาท จึงได้เสด็จไปทางทิศตะวันออก พบหินก้อนหนึ่งหันหน้าไปทางตะวันออก พระพุทธเจ้าทรงรำพึงว่า สถานที่แห่งนี้ในภายหน้าจักเป็น มหานคร  พระศาสนาจักเจริญรุ่งเรืองมาก จักมีอารามใหญ่ 8 หลัง จากนั้นทรงประทับรอยพระบาทบนหินก้อนดังกล่าว
               หลังจากประทับรอยพระบาทที่ดอยคำแล้วได้เสด็จไปยังต้นบุนนาค พบคนแก่ 2 คนปลูกดอกบุนนาคขาย เขาทั้งสองได้นำดอกบุนนาคมาถวาย สถานที่นี้จึงได้ชื่อว่า บุปผาราม เมื่อนั้นพระพุทธเจ้าได้ลูบเอาเกศาออกมา 1 เส้น แล้วทรงอธิษฐานแบ่งออกมาอีก 8 เส้นเท่าๆ กัน เส้นหนึ่งบรรจุไว้ที่บุปผาราม เส้นหนึ่งบรรจุไว้ที่เวฬุวันอาราม เหตุว่ามีไม้ไผ่กอหนึ่งขึ้นอยู่ตรงนั้น เส้นหนึ่งบรรจุไว้ที่โสกอาราม เพราะมีลัวะ 2 คน ฆ่าวัวแล้วเอาเนื้อมาถวาย เส้นหนึ่งบรรจุไว้ที่พีชอารามเหตุเพราะว่า ลัวะทั้งหลายเอาผลไม้มาถวาย เส้นหนึ่งบรรจุไว้ที่สังฆอาราม เหตุเพราะเป็นที่นอนของชีม่านทั้งหลาย เสด็จไปพบชีม่านสองตนนุ่งผ้าไม่เรียบร้อย มาขอบวชในศาสนาพระพุทธเจ้าในเมืองนั้น เหตุนี้จึงได้ชื่อว่า เมืองเชียงใหม่
        จากนั้นได้เสด็จไปยังโชติยอาราม ลัวะผู้หนึ่งทำช่อบูชาถวายและชีม่านตนหนึ่งเอาผ้าสังฆาฏิถวายพระพุทธเจ้าให้ธาตุผมแก่พญาอโศกเอาใส่กระบอกไม้ซาง ใส่ผอบทองคำ เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้วให้เอาพระธาตุฝ่ามือขวามาบรรจุไว้ที่นี่
       พระองค์ได้ออกเดินทางไปจนถึงบ้านกุมภเศรษฐี ทรงแสดงธรรมให้ลัวะทั้งหลายฟังกุมภเศรษฐีและลัวะทั้งหลายได้สร้างพระพิมพ์ถวายเป็นพุทธบูชา พญาอโศกราชจึงขุดหลุมแล้วนำเอาพระพิมพ์เหล่าลงฝังแล้วถมดินเป็นอย่างดี
         เมื่อออกจากบ้านกุมภเศรษฐีแล้วก็เสด็จไปทางตะวันออกอยู่ดอยลังกา ขุนลัวะผู้หนึ่งชื่อ อ้ายพู ได้นำเอาหมากพลูมาถวาย และขอรอยพระบาทเอาไว้ พระพุทธเจ้าก็ทรงประทับรอยพระบาทไว้ในที่แห่งนั้น
          จากนั้นเสด็จลงมาทางทิศใต้ ลัวะอ้ายย้องและลัวะทั้งหลายได้ปูอาสนะรับรองและถวายภัตตาหาร พระพุทธเจ้าประทานเส้นเกศาให้แก่ลัวะอ้ายย้องให้นำไปใส่กระบอกไม้ซางแล้วบรรจุลงผอบทองคำไว้แล้ว ให้ลัวะขุดหลุมฝังผอบดังกล่าว พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ที่นี่จะเป็นนิคมอันหนึ่งชื่อ เชียงเครื่อง  นอกจากนี้ลัวะทั้งหลายได้ให้ลูกหลานออกบวชเพื่อดูแลรักษาพระเกศาธาตุในที่แห่งนั้น
          เมื่อออกจากที่แห่งนั้นก็เสด็จไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประทับอยู่ที่หัวดอยทางตะวันออก ทรงพบลัวะขุนยม พระพุทธเจ้าจึงประทานเส้นเกศาแก่ลัวะขุนยมให้เอาบรรจุในผอบทองคำใหญ่แล้วขุดหลุมฝัง ในที่นั้นได้มีแม่ลูกคู่หนึ่งทะเลาวิวาทกัน พระพุทธเจ้าจึงเทศนาสั่งสอนให้แม่ยกโทษให้แก่ลูก นางผู้เป็นแม่ได้ถวายเครื่องประดับของตนถวายเป็นพุทธบูชาบนหลุมที่ฝังพระธาตุ เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้วสถานที่นี้จักได้ชื่อว่า ดอยบ้าน
         จากนั้นเสด็จมาทางทิศใต้ พบลัวะชื่อ ยมถา เอาเขียดใส่ข้องมาถวาย พระพุทธเจ้าเห็นดังนั้น จึงได้บอกให้ปล่อยเขียดเสีย ลัวะยมถาจึงได้เอาเขียดไปปล่อยข้างๆ ลำห้วย พระพุทธเจ้าได้ให้ศีล 5 แก่ลัวะยมถา เมื่อเขารับศีล 5 แล้วก็ได้นำเอาอาสนะมาปูรับรองและถวายภัตตาหาร ลำห้วยที่เอาเขียดไปปล่อยจึงได้ชื่อว่า ห้วยเขียด และสถานที่แห่งนี้ได้เป็นเมืองชื่อว่า ยมผา และได้ประทับรอยพระบาทไว้บนหินที่ทรงประทับนั่ง
           หลังจากที่ออกจากห้วยเขียดก็เสด็จไปเมืองตืนและเมืองเมยได้ขึ้นไปที่ดอยนางคี พระพุทธเจ้าทรงประทานเส้นเกศาแก่พระอรหันต์และพญาอโศกนำไปใส่ในกระบอกไม้ซางแล้วบรรจุลงในผอบทองคำพร้อมกับขุดหลุมฝังไว้ จากนั้นเสด็จไปเมืองสรม เมืองธราง เมืองสะแลบ เมืองสะตุง ประทับรอยพระบาทไว้เมืองละแห่ง
         เมื่อพระองค์ได้ไปบรรจุพระเกศาและประทับรอยพระบาทในที่ต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยก็เสด็จกลับเมืองกุสินาราและปรินิพพานในเมืองนั้น พระอรหันตสาวก กษัตริย์ เทวดา และมนุษย์ทั้งหลายก็ร่วมกันถวายพระเพลิงพระศพ เมื่อเสร็จสิ้นการถวายพระเพลิงแล้ว พญาอโศกก็ได้นำพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุไว้ตามสถานที่ต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงทำนายไว้ จนกระทั่งไปถึงดอยเกิ้ง พญาอโศกได้ให้ขุนแสนทองกับโยคีเอาทองคำทั้งหลายมาสร้างเป็นโกศบรรจุธาตุหน้าผากด้านซ้าย เนื่องด้วยมีขนาดใหญ่มาก เมื่อสร้างโกศเสร็จพร้อมด้วยเครื่องบูชาทองคำทั้งหลาย จึงเอาธาตุหน้าผากใส่ในผอบไม้หก แล้วบรรจุลงในผอบทองคำ ประดิษฐานไว้ในโกศตั้งไว้เหนือแท่นทองคำ 7 ชั้น พระอินทร์ได้เนรมิตองค์นางกุลวาเฝ้าประตูชั้นนอก พรานสองคนเฝ้าประตูชั้นกลาง กางฉัตรกั้นพระธาตุที่ประดิษฐานไว้ พร้อมกับให้โยคีและขุนแสนทองเฝ้าดูแลรักษา
         วันหนึ่งโยคีได้รำพึงว่า เมื่อตนตายไปแล้วกลัวแต่รอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้าประทานไว้จะเป็นสาธารณ์จึงขุดดินมาถม เมื่อตายไปแล้วก็ได้เป็นเทวดาอยู่เฝ้ารักษาพระธาตุพระพุทธเจ้านั้น ส่วนขุนแสนทองนั้นเกิดเป็นเปรตเพราะมีความโลภอยากได้ข้าวของมากเกินไป
     ผู้ใดจักไปนมัสการพระธาตุที่ดอยเกิ้งนั้น ให้อาบน้ำ สระผม และนุ่งผ้าใหม่แล้วให้เอาข้าวกับน้ำอ้อย น้ำตาลไปบูชา และให้จัดข้าวเหนียว 1 ปั้น บูชาเทวดาโยคีนั้นด้วย
       เมื่อศาสนาล่วงพ้นไปได้ 2,500 ปี จักมีกษัตริย์ชื่อ ศรีธรรมราชา ต้องการรู้พระธรรมในพุทธศาสนา จึงส่งพระธรรมสาระไปเมืองลังกาและได้พบกับใบลานที่แต้มเขียนเกี่ยวกับการบรรจุพระธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ว่า ได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองหงสาวดี 5 แห่ง เมืองหริภุญชัย 13 แห่ง รอยพระบาท 10 แห่ง พระธรรมสาระคัดลอกเฉพาะของเมืองมอญและเมืองไทยไว้ ครั้นเมื่อกลับมาถึงจึงเดินทางไปสักการะพระธาตุตามที่ต่างๆ และได้คัดลอกตำนานอันนี้สืบมา
        ตำนานพระธาตุที่มาประดิษฐานอยู่เมืองไทยมี 13 แห่ง กับพระพุทธบาท 10 แห่ง พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงเมืองพยาก เชียงแสน เชียงราย พะเยา เมืองน่าน เมืองแพร่ ท่าสร้อย ท่าทราย เมืองลี้ สบหาด เมืองหอด พระบาท หาดนาค ลำพูน เชียงใหม่ เมืองตืน เมืองเมย เมืองยวม เมืองธราง สะตุง สะแลบ และกุสินารา
         พระธาตุฝ่ามือเบื้องขวากับเกศาธาตุ 1 เส้น ประดิษฐานอยู่ในดอยหลุมทองเมืองพยาก    พระธาตุฝ่ามือเบื้องซ้ายประดิษฐานอยู่ในดอยเชียงแสน  พระธาตุนิ้วมือทั้ง 5 นิ้ว ประดิษฐานอยู่ในเชียงราย  พระธาตุแขนเบื้องซ้ายประดิษฐานอยู่ในดอยเมืองพะเยา  พระธาตุคอหน้าหลังประดิษฐานอยู่ในเมืองลำปาง พระธาตุข้อมือเบื้องซ้ายประดิษฐานอยู่ในเมืองน่าน พระธาตุศอกเบื้องซ้ายประดิษฐานอยู่ในเมืองแพร่ พระธาตุแขนเบื้องซ้ายประดิษฐานอยู่ที่ท่าสร้อย พระธาตุหน้าผากเบื้องซ้ายประดิษฐานอยู่ที่ดอยเกิ้ง สบหาด พระธาตุสมองส่วนเบื้องซ้ายประดิษฐานอยู่ในเมืองลำพูน พระธาตุคางเบื้องขวาไว้ประดิษฐานอยู่ในเวียงกุมกาม พระธาตุฝ่ามือทั้งหมดประดิษฐานอยู่ในมหาเจดีย์หลวงเชียงใหม่
               ปริวรรต : วิโรจน์ อินทนนท์ (ตุลาคม 2556)
                   ตรวจสอบและเรียบเรียง : วิโรจน์ อินทนนท์, ยศพล เจริญมณี (ตุลาคม 2556)
เรียบเรียงใหม่ : พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ มกราคม (2559)




      [1] ตำนานพระเจ้าบรรจุธาตุทั้งมวล ฉบับวัดป่าเดื่อ ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เล่าประวัติ ชื่อบ้านนามเมือง และศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ที่สักการะกราบไหว้ รหัสไมโครฟิล์ม 80.044.01L.032-032 สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปริวรรตโดย วิโรจน์ อินทนนท์, 2556
         [2] ตำนาน คือ คำบอกเล่า แต่งขึ้นมาเพื่อเจริญศรัทธาของชาวพุทธต่อพระบรมธาตุ และรอยพระบาทที่ปรากฏในบ้านเมืองต่าง ๆ อาจจะมีความคลาดเคลื่อนเรื่องเวลาและบุคคลร่วมสมัยไป  อันที่จริง พระเจ้าอโศกมหาราช มีพระชนม์ชีพหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วเกือบ 200 ปี และพระองค์คงไม่อาจจะข้ามมิติเวลาไปปรากฏกายในสมัยพุทธกาลได้
         [3] ไม้ไผ่ที่มีขนาดใหญ่มากชนิดหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น