แจ้งข่าวนักศึกษา012173

วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

การสืบชะตาที่ปรากฏในพุทธศาสนา

 การสืบชะตาที่ปรากฏในพุทธศาสนา[1]


ความนำ

คำสอนหลักทางพระพุทธศาสนาคือเรื่องกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว สัตว์ทั้งหลายย่อมมีวิถีชีวิตทั้งดีหรือเลวเป็นไปตามอำนาจแห่งผลกรรมที่กระทำไว้ เมื่อถึงคราวที่ผลกรรมต้องตามสนอง ไม่ว่ากรรมดีหรือกรรมชั่ว เจ้าของจะหลีกหนีไปมิได้ ทั้งไม่มีหนทางใดๆที่จะช่วยให้หลบหลีกการสนองของกรรมได้ กรรมย่อมติดตามตัว เหมือนเงาตามตัว หรือเหมือนล้อเกวียนที่หมุนตามโคผู้ลากเกวียนไปข้างหน้า หากมองเพียงประเด็นนี้ ก็คงทำให้หนักใจที่เมื่อทำกรรมลงไปแล้ว ไม่มีหนทางที่จะแก้กรรมอดีตที่ทำไปแล้ว แก้เคราะห์หรือ ผ่อนร้ายให้เป็นดี หรือแก้จากดีให้เป็นร้ายได้ อันที่จริงก็มีส่วนถูกมาก แต่เรื่องกฎแห่งกรรมในพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องละเอียดและซับซ้อน คงมิได้มองเป็นเส้นตรงทางเดี่ยวแบบเมื่อ ทำ ก. แล้ว ต้องบังเกิดผล ข. แน่นอนตายตัว ทว่ายังมีเงื่อนไขปัจจัยอื่นๆอีกมากมายที่จะเป็นสิ่งเกื้อหนุน หรือเป็นอุปสรรคให้กรรมสนองเร็ว หรือช้า หรือไม่อาจจะสนองได้เลยด้วยการหมดพลังเองก็มี ผู้อ่านต้องการรายละเอียดเรื่องกรรมคงต้องหาอ่านเอาเองเพราะมีนักปราชญ์เขียนเอาไว้มากมาย
มีความเชื่อและประเพณีอย่างหนึ่ง เมื่อเอาหลักแห่งกรรมมาจับแบบผิวเผิน ถ้าจะให้ยอมรับก็ปลงใจยาก หากจะปฏิเสธหรือก็ดูกระไรอยู่ นั่นคือ พิธีกรรมสืบชะตาและสะเดาะเคราะห์  ที่ชาวพุทธประกอบกันอยู่ดาษดื่นในท้องถิ่นล้านนา และล้านช้าง ถ้าว่าโดยหลักความเชื่อเดิมตามศาสนาพราหมณ์ ก็ทำได้ โดยการทำพลีกรรม หรือบูชายัญ เพื่อขออำนาจเหนือธรรมชาติมาเปลี่ยนแปลงชะตากรรม แต่จะได้ผลหรือไม่ คงบอกเป็นสมการไม่ได้  และเมื่อว่าตามหลักพระพุทธศาสนาคล้ายจะขัดหลักกรรมที่สอนไว้  แต่เหตุใดพระสงฆ์นักปราชญ์สมัยก่อนจึงยอมให้ทำสืบต่อกันมา อาจะเป็นเพราะพุทธศาสนา ให้เสรีภาพด้านศรัทธาเอาไว้ และด้วยเหตุที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำลังจะมีอายุครบ 40 ปีในปีนี้   จะมีการฉลองใหญ่ บวกกับความเชื่อดั้งเดิมตามประเพณีจึงกำหนดให้ประกอบพิธีทำบุญสืบชะตามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบุคลากรทั้งหมดเอาไว้ ถือเป็นกิจกรรมสำคัญงานหนึ่งตรงกับวันที่ 24 มกราคม 2547 วันสถาปนามหาวิทยาลัย 
การสืบชะตา แม้จะมิใช่แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา แต่ก็มีน้ำหนักที่ชาวพุทธให้ความสำคัญ เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้คนได้กระทำความดี เพื่อการแก้เคราะห์กรรมเก่า แม้ว่า ตามข้อเท็จจริง คนเราไม่อาจจะล่วงพ้นความตายได้ แต่ถ้ายังมีความหวังที่จะให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น การทำพิธีสืบชะตาก็เป็นวิธีหนึ่งที่สร้างขวัญและกำลังใจ ให้ชีวิตมีความหวัง เพราะทุกคนต่างก็อยู่ได้ด้วยความหวัง ผู้เขียนจึงจำเป็นต้องแสวงหาหลักฐานว่า การทำบุญสืบชะตาจะมีคำสอนในพระพุทธศาสนาส่วนใด และในเรื่องอะไร ปรากฏอยู่บ้าง  และในฐานะที่ผู้เขียนพอมีจะความรู้พื้นฐานทางศาสนาพุทธ และรับราชการที่ภาควิชาปรัชญาและศาสนา ซึ่งมีส่วนโดยตรงที่ต้องให้คำตอบพร้อมด้วยเหตุผลและหลักฐาน แม้ว่าหลักฐานดังกล่าวอาจจะไม่หนักแน่น ระดับเป็นพุทธพจน์โดยตรง แต่หลักฐานที่พบก็มีน้ำหนัก ในชั้นอรรถกถาที่พอเชื่อถือได้ และระดับรองลงมาอีกมากมาย ผู้ประกอบพิธีสืบชะตาจะได้ไม่หมดกำลังใจว่าทำไปแล้วจะสูญเปล่าไร้ผลโดยประการทั้งปวง
 การสืบชะตา
ชะตา หรือ ชาตา หมายถึง ลักษณะที่บังเกิดสำแดงเหตุดีเหตุร้าย ติดตัวมาแต่เกิด อย่างที่เรียกว่า ชะตากำเนิด  เป็นความเชื่อที่สัมพันธ์กับหลักโหราศาสตร์ ที่กล่าวว่า ในเวลาที่คนเกิดมานั้น ดาวพระเคราะห์เจ้าชะตาเดินทางถึงราศีอะไร ราศีนั้นก็เป็นการกำหนดชะตาคน 
การสืบชะตา หมายถึง การทำพิธีที่เกิดจากความเชื่อว่า จะเป็นการต่ออายุให้ยืนยาว เมื่อถึงคราวที่จะเกิดเคราะห์ร้ายเข้ามาแผ้วพาน หรือ ชะตาขาด   เป็นการสืบชะตากำเนิดให้ยืนยาวออกไป มีชีวิตที่เป็นอยู่อย่างสุขสบาย ปราศจากเคราะห์ภัย เป็นสิริมงคล มีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป
การสืบชะตา ก็คือ การสืบต่อให้ชะตากำเนิดที่ถูกกำหนดเอาไว้ว่า ถึงเวลานั้นๆ เจ้าชะตาจะประสบเคราะห์กรรมอะไรที่ไม่ดี จึงต้องการทำพิธีสืบชะตาเอาไว้ เป็นการป้องกันภัยอันตราย  จะได้มีชีวิตยืนยาว หรือต้องการให้มีชีวิตเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นกว่าสภาพที่เป็นอยู่

วัตถุประสงค์การสืบชะตา
รรมเนียมของชาวล้านนา ได้ยึดถือประเพณีการสืบชะตามาช้านาน  และมักจะประกอบพิธีสืบชะตาเนื่องในโอกาสสำคัญๆที่เข้ามาในชีวิตหรือการงาน เช่น อายุครบรอบ หายป่วยจากโรคภัย รับตำแหน่งหน้าที่ใหม่ เป็นต้น  การสืบชะตามีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
1. เพื่อต่ออายุให้ยืนยาว
2.
เพื่อขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย
3.
เพื่อบำรุงขวัญ
4.
เพื่อให้เกิดความสามัคคี
5.
เพื่อสร้างความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชน
6.
เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของบ้านเมือง

ประเภทของการสืบชะตา
การสืบชะตาที่เคยปฏิบัติกันมา สามารถ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1. การสืบชะตาคนและสัตว์
2.
การสืบชะตาบ้าน
3.
การสืบชะตาเมือง
การสืบชะตาในแต่ละประเภท ย่อมมีเป้าหมายแตกต่างกันออกไป แต่คนโดยส่วนใหญ่ มักจะนิยมประกอบพิธีสืบชะตาคนเป็นหลัก และหาทางประกอบพิธีได้หลายโอกาสดังที่กล่าวมา

การสืบชะตาต่ออายุที่ปรากฏในพระพุทธศาสนา
มีคำถามจากหลายคนว่า พิธีกรรมสืบชะตา ดูจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับไสยศาสตร์ ไม่น่าจะมีส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่เป็นศาสนาแห่งเหตุผล เป็นศาสนาแห่งวิทยาศาสตร์ และยึดกฎแห่งกรรม ดังพุทธภาษิตว่า  กมฺมุนา วฏฺฏตี โลโก แปลว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม(มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 13 ข้อ 707 หน้า 648) เพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ จึงขอค้นที่มาเพื่อตอบข้อสงสัยแม้จะไม่จุใจก็ตาม  นับแต่โบราณมา ชาวอินเดียมีความเชื่อหรือความเห็นเกี่ยวกับเรื่อง ชะตากำเนิดของคน อยู่ 3 ทัศนะ (พระราชวรมุนี : 2525 พุทธธรรม หน้า 205)    ได้แก่
ทัศนะที่ 1   ปุพเพกตเหตุวาทะ เห็นว่า ชะตากำเนิดถูกกำหนดด้วยอำนาจกรรมเก่าเท่านั้น เรียกย่อๆว่า ปุพเพกตวาทะ
ทัศนะที่ 2  อิสสรนิมมานเหตุวาทะ เห็นว่าชะตากำเนิดถูกกำหนดโดยมหาเทพผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่  เช่น พระพรหม ที่เรียกว่า พรหมลิขิต หรือในศาสนาที่เชื่อพระเจ้าก็ว่า พระเจ้าทรงกำหนดเอาไว้แล้ว 
ทัศนะที่ อเหตุอปัจจยวาทะ เห็นว่า  ชะตากำเนิด เป็นไปสุดแต่โชค ชะตาลอย ๆ ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัยอะไรดลบันดาล เรียกว่า เกิดโดยบังเอิญ
พระพุทธศาสนา เป็นกรรมวาทะ ที่ถือว่า เมื่อคนเกิด ก็พ่วงเอาชะตากำเนิดในอนาคตติดตัวมาด้วยอำนาจกรรมที่ทำไว้ แม้พระพุทธศาสนาจะเชื่อกรรมเก่าอยู่บ้าง ก็ไม่ให้น้ำหนักว่ากรรมเก่ามีอิทธิพลกำหนดอนาคตได้เบ็ดเสร็จทุกประการ  แต่กลับจะให้น้ำหนัก การประกอบกรรมใหม่ และสิ่งแวดล้อมใหม่ในปัจจุบันว่า เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อเจ้าชะตาชีวิตมากกว่า ถ้าไม่อย่างนั้น มนุษย์คงต้องปล่อยชีวิตให้เป็นเป็นไปตามยถากรรมเพียงอย่างเดียว หลีกเลี่ยงและแก้ไขอะไรไม่ได้ 
ความจริง การจะฝืนดวงชะตาที่ขาด หรือเปลี่ยนแปลงดวงชะตากำเนิดนั้น ในทางพระพุทธศาสนายังมีหนทางและวิธีการทำได้ ทั้งสามารถพัฒนาคุณภาพจิตใจสำหรับชีวิตที่ดีกว่าได้ แต่ยากสักหน่อย ประการสำคัญ การมีชีวิตยืนยาวต่อนั้น ต้องเป็นชีวิตที่มีคุณค่า  อยู่อย่างรู้คุณค่าของชีวิตจริงๆ และ อยู่เพื่อประกอบคุณงามความดี ด้วยการบำเพ็ญทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น มิใช่มีชีวิตยืนยาว เพียงแค่การสืบลมหายใจเข้าออกไปวันๆเท่านั้น มิได้ประกอบคุณงามความดี หริคุณประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นในสังคม ก็ดีกว่าชีวิตที่ยืนยาวแบบไร้คุณค่า มาศึกษากันว่า การสืบชะตาที่ปรากฏในพระพุทธศาสนามีเรื่องอะไรและอย่างไรบ้าง ซึ่งจะนำเสนอตามลำดับ

หลักฐานที่ 1 ทารกชะตาขาด สามารถสืบต่ออายุได้
เรื่อง อายุวัฒนกุมาร  มีปรากฏในอรรถกถาธรรมบท ยมกวรรค เล่มที่ 17 หน้า 694-698 พระอรรถกถาจารย์ได้เล่าเรื่อง ทารกแรกเกิดคนหนึ่งชะตาขาด จะต้องตายภายใน 7 วัน ตามคำพยากรณ์ของผู้รู้หลักโหราศาสตร์ แต่สุดท้าย ได้ผู้รู้ประกอบพิธีกรรมสืบชะตาแต่งแก้ให้ จึงรอดตาย แถมกลับเป็นผู้มีอายุยืนยาว ได้รับการตั้งชื่อให้ว่า อายุวัฒนกุมาร แปลว่า เด็กอายุยืน
เรื่องย่อมีอยู่ว่า สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับที่ หมู่กุฏิกลางป่า เมืองทีฆลัมพิกะ  มีพราหมณ์ชาวเมืองทีฆลัมพิกะ 2 คน บวชเป็นฤาษี บำเพ็ญตบะอยู่ 48 ปี ฤาษีตนหนึ่งไม่บรรลุอะไรก็สึกออกไป    ส่วนอีกคนยังครองเพศนักบวชอยู่ แถมมีพลังอำนาจวิเศษ อ่านชะตาคนได้ ต่อมาคนที่สึกไปมีภรรยา ได้บุตรคนหนึ่ง ก็คิดถึงเพื่อฤาษีเก่า และอยากอวดลูกชายด้วย จึงพาภรรยาและบุตรไปเยี่ยมเพื่อนฤาษี เมื่อตนเองและภรรยาแสดงความเคารพ เพื่อนฤาษีก็ให้ศีลให้พรว่า ขอให้ท่านจงมีอายุยืนนะ  แต่พอให้ลูกน้อยแสดงความเคารพบ้าง เพื่อนฤาษีกลับนั่งเงียบไม่ให้พรอะไรเลย
พราหมณ์พ่อเด็กจึงได้ถามว่า ทำไมท่านไม่ให้พรลูกน้อยบ้าง เพื่อนฤาษีก็บอกว่า ข้าพเจ้ารู้ว่า  ทารกอายุไม่ยืน ชะตาขาด จะตายภายใน 7 วันนี้ พราหมณ์สองสามีภรรยาตกใจมาก และขอให้เพื่อนทำพิธีแก้เคราะห์ให้ เพื่อนฤาษีบอกว่า ตนเองไม่สามารถทำได้ ขอให้ไปถามพระพุทธเจ้าเถิด
ด้วยความรักลูก จึงพาภรรยาและลูกน้อยไปหาพระพุทธเจ้า ขณะที่ตัวเองพร้อมด้วยภรรยาแสดงความเคารพ พระพุทธเจ้าทรงประทานพร ขอให้ท่านอายุยืน  แต่พอให้ทารกน้อยไหว้ พระพุทธเจ้ากลับทรงนิ่งเสีย พราหมณ์จึงได้ทูลถามพระพุทธเจ้า ก็ได้ทราบคำยืนยันดุจเหตุการณ์ที่เกิดในสำนักฤาษีทุกประการว่า เด็กน้อยจะต้องตายในวันที่ 7 พราหมณ์บิดาขอร้องว่าจะพอมีวิธีการทางใดช่วยเหลือได้บ้าง พระพุทธเจ้าตรัสว่า ยังพอมีหนทางช่วยได้อยู่ จึงรับสั่งให้ประกอบพิธีสืบชะตามีรายละเอียดดังนี้ คือ
ให้พราหมณ์ตั้งมณฑป(ปะรำพิธี)ไว้ตรงหน้าประตูบ้าน วางตั่งไว้ในท่ามกลางปะรำพิธีเพื่อให้ทารกน้อยนอนที่ตั่งนั้น ปูลาดอาสนะไว้ 8 หรือ 16 ที่ แวดล้อมตั่งที่เด็กจะนอนนั้น นิมนต์พระภิกษุมานั่งล้อมตั่งเจริญ(สวด)พระปริตร (ปริตร แปลว่า การป้องกัน หรือการขจัดปัดเป่า) ให้ต่อเนื่อง ตลอด 7 วัน 7 คืน  เมื่อพราหมณ์ทำตามที่รับสั่ง ในวันที่ 7 พระพุทธเจ้าเสด็จไปเป็นประธานพระภิกษุสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์เจริญพระปริตรครบ 7 วัน 7 คืนแล้ว รุ่งเช้าวันที่ 8 พราหมณ์นำเด็กไปไหว้พระพุทธเจ้า  พระองค์ทรงประทานพรว่า เจ้าจงมีอายุยืนเถอะ พราหมณ์ก็ทูลถามว่า จะมีอายุยืนประมาณเท่าใด พระพุทธเจ้าตอบว่า จะมีอายุ ถึง 120 ปี  ด้วยคำพยากรณ์นี้ พราหมณ์จึงตั้งชื่อให้บุตรน้อยว่า อายุวัฒนกุมาร แปลว่า เด็กอายุยืน
ถามว่า เหตุไรทารกน้อยจะต้องตายในวันที่ 7 ?
ตอบว่า  มียักษ์ตนหนึ่งชื่อว่า อวรุทธกะ ได้ทำการอุปัฏฐาก บำรุงเจ้านายยักษ์ถึง 12 ปี ครบกำหนด นายยักษ์พอใจมากจึงให้พร โดยให้ไปจับเด็กที่เกิดใหม่คนนั้นกินเสียในวันที่ 7 พอดี ดังนั้น พอถึงวันที่ 7 อวรุทธกยักษ์มาถึงปะรำพิธีสืบชะตา จะเข้าไปจับเด็กกินตามพรที่ได้ แต่ยักษ์เข้าไปไม่ได้ เพราะวันนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จเป็นประธานอยู่พอดี และเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ที่นั่น จะมีเทพเจ้าผู้มีมเหศักดานุภาพมาก มาเฝ้าแหนมากมาย อวรุทธกยักษ์เองมีศักดิ์ต่ำ เข้าไม่ถึง จึงรออยู่ในวงนอก สุดท้าย พ้นวันเวลาตามเงื่อนไขที่นายยักษ์อนุญาตให้จับเด็กกินเป็นอาหาร เด็กก็ปลอดภัย รอดตาย

ข้อที่น่าพิจารณาจากเรื่องนี้ คือ
1 การที่พ่อแม่ทำกุศลกรรม โดยนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระปริตร แวดล้อมตั่งนอนเด็กทั้ง 7  วัน 7 คืน มิได้ขาดระยะ  นับว่า เป็นการประกอบมหากุศลที่ยิ่งใหญ่ ทั้งเมื่อพระสงฆ์มาสวดปริตร ตลอดเวลานั้น เขาย่อมได้ถวายอาหารบิณฑบาตตลอดระยะ 7 วัน 7 คืน อยู่แล้ว  
ทารกที่นอนแบเบาะบนตั่งท่ามกลางเสียงพระสงฆ์สวดปริตร ขณะที่ฟัง จิตใจของเขาย่อมเกิดสมาธิ แม้จะฟังเสียงสวดไม่ทราบความหมาย แต่เพราะตั้งใจฟัง จิตเป็นสมาธิ ถือว่าเขาได้สร้างบุญแก่ตัวเอง เมื่อฟังทุกวัน ก็เป็นการสร้างบุญใหม่ ได้ทำกรรมดีให้กับตนเองอย่างต่อเนื่องทุกวัน   แถมอยู่ในท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดยิ่งนัก 
3. พระพุทธเจ้าเสด็จไปเป็นประธานในวันสุดท้าย การอารักขาย่อมเข้มแข็งยิ่งนัก ถ้าเปรียบก็เหมือนเหตุการณ์ที่เมื่อผู้ใหญ่ไปอยู่ ณ ที่ใด องครักษ์ย่อมทำการอารักษาอย่างเข้มงวด ยากที่ใครจะเจ้าถึงทำอันตรายได้
4.  ด้วยพลังอำนาจผลแห่งกุศลกรรมใหม่ที่ทารกได้กระทำตลอดระยะเวลาดังกล่าว ด้วยการอนุเคราะห์ของพระพุทธเจ้า  ทารกน้อยจึงได้อานิสงส์ทันตา คือ รอดชีวิต  และพ้นเงื่อนไขเวลา  ที่อวรุทธกยักษ์ มีสิทธิจะจับทารกกินเสีย
            5. หลักธรรมที่แสดงในเรื่องนี้  คือ อายุ วรรณะ ความสุข และพลานามัย ย่อมเจริญ แก่ผู้ที่ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นนิจ

หลักฐานที่ 2 การเปลี่ยนคนชราเป็นหนุ่ม ด้อยศักดิ์ เป็นมเหศักดิ์
เรื่อง ท้าวสักกะ หรือ พระอินทร์ มีกล่าวไว้ในอรรถกถาธรรมบท ภาค 8 หน้า 207-208 ว่า ท้าวสักกะ (พระอินทร์) ที่ครองสวรรค์มานาน อายุมาก แก่ชรา ศักดานุภาพก็ลดน้อยถอยลง  เป็นช่วงขาลงของท้าวสักกะ และไม่นาน ท้าวสักกะคงจะจุติจากสรวงสวรรค์  แต่เพราะวันหนึ่งได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าที่ ถ้ำอินทสาลา จึงบรรลุเป็นพระโสดาบัน และด้วยอานิสงส์ที่บรรลุธรรมวิเศษนั้น จึงเปลี่ยนภาวะชรามาเป็นพระอินทร์หนุ่ม แถมกลับเพิ่มมหิทธานุภาพยิ่งใหญ่ล่วงล้ำเหล่าเทพดาในสวรรค์อีกด้วย  ข้อนี้แสดงว่า การบรรลุโลกุตตรธรรม ก็สามารถยืดอายุ กลับคืนสู่วัยหนุ่มได้
การเสริมชะตาชีวิต หรือการเสริมบารมีให้เจริญรุ่งเรือง ก็มีปรากฏเกี่ยวกับพระอินทร์เช่นกัน คือเมื่อก่อนที่พระอินทร์จะได้บรรลุธรรม แต่บุญบารมีของพระอินทร์ ยังน้อยกว่าบุญบารมีของเทวดาบางตนเสียอีก พระอินทร์รู้สึกน้อยใจ จึงได้มาทำบุญเสริมบารมีกับพระมหากัสสปะ ผู้ที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ  มีคำกล่าวว่า การทำบุญกับพระอรหันต์ที่ออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ ถือว่าเป็นมหากุศลที่วิเศษ สามารถบันดาลบุญญานิสงส์ให้เห็นทันตาได้ ด้วยเดชผลแห่งบุญนั้น พระอินทร์กลับมีรัศมีผ่องใส โชติช่วงจำเริญขึ้นมามากกว่าเก่าอีกด้วย
ข้อพิจารณาจากเรื่องทั้ง 2  
พระอินทร์ ได้ทำบุญกับพระอรหันต์ที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ ลำพังเพียงแค่การทำบุญกับพระอริยสงฆ์ ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก ก็ยังได้อานิสงส์มากแล้ว แต่นี้กลับได้ทำบุญในโอกาสพิเศษเช่นที่กล่าวมาอีก ย่อมได้ผลทันตาเป็นร้อยเท่าทวีคูณ
ในการเปลี่ยนสภาพจากชราเป็นคนหนุ่มนั้น พระอินทร์ได้สดับพระธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้า และได้บรรลุโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคลชั้นแรก   เพราะรูปกายของเทพเจ้าเกิดเพราะอำนาจมหากุศลวิบาก เป็นร่างกายทิพย์  เมื่อได้บรรลุคุณธรรมระดับโลกุตตรมหากุศลเข้าอีก ย่อมสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพได้ทันที

 หลักฐานที่ 3 การทำบุญด้วยการให้ชีวิต(ชีวิตทาน)

เรื่อง สามเณรติสสะ ในส่วนนี้เป็นหลักฐานที่พบจากเอกสารชั้นรองและเป็นเรื่องเล่า ปรำปราสืบๆกันมา  เกี่ยวกับตำนานสืบชะตา หรือ อานิสงส์สืบชะตา  ที่คนผู้มีชะตาขาด   แต่กลับรอดตาย เพราะได้ช่วยชีวิตปลาที่ติดปลักแห้ง และช่วยเก้งที่ติดบ่วงนายพรานให้พ้นจากอันตราย มีชีวิตรอด การทำเช่นนี้ ทางศาสนาเรียกว่า  ชีวิตทาน คือการให้ชีวิต
เรื่องมีว่า พระสารีบุตร อัครสาวกฝ่ายขวา รับเอาสามเณรติสสะมาอยู่ในการอบรมดูแล ได้ 1 ปี วันหนึ่ง พระสารีบุตรสังเกตเห็นนิมิตบางอย่างที่บอกว่า สามเณร  ติสสะจะมีชีวิตอยู่ต่อได้อีกเพียง 7 วัน ด้วยเมตตาและความสงสารสามเณร จึงบอกสามเณรให้ทราบว่าสามเณรจะสิ้นชีวิตในอีก 7 วัน พร้อมกับอนุญาตให้สามเณรไปบอกลาสั่งเสียญาติมิตร สามเณรติสสะก็เดินทางไปเพื่อลาญาติพี่น้อง
ในระหว่างที่สามเณรเดินทางกลับไปบ้านญาตินั้น  สามเณรได้พบสระน้ำที่น้ำกำลังแห้งขอด มีฝูงปลาติดปลักแห้ง กระเสือกกระสนดิ้นรนรอความตายอยู่ ด้วยความสงสารสามเณรจึงเอาบาตรช้อนตักฝูงปลาทั้งหมด แล้วนำไปปล่อยที่แม่น้ำใหญ่ ปลาทุกตัวก็รอดชีวิต
สามเณรติสสะเดินทางต่อไป ในช่วงที่ผ่านป่า ได้พบเก้งตัวหนึ่งติดบ่วงแร้วของนายพราน ดิ้นรนเอาชีวิตรอดอยู่ สามเณรมีใจกรุณาสงสารปล่อยเก้งตัวนั้นออกจากแร้ว ให้พ้นจากความตายไปอีกราย สุดท้ายเดินทางไปถึงบ้านญาติ ได้เล่าเรื่องที่จะเกิดกับตนทั้งหมดตามที่พระสารีบุตรบอกมา ญาติทั้งหลายทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็สงสารสามเณร อดกลั้นน้ำตาไม่ไหว ต่างร้องไห้คร่ำครวญ และเฝ้ารอเวลาที่สามเณรจะมรณภาพในวันที่ 7 ตามคำบอก
เมื่อครบกำหนด 7 วัน สามเณรติสสะ กลับไม่มรณภาพตามที่พระสารีบุตรพยากรณ์ไว้ แถมล่วงเลยไปอีกหลายสัปดาห์ก็ยังไม่มรณภาพ สามเณรรู้สึกว่าตนคงไม่ตายแล้ว จึงได้เดินทางกลับไปหาพระสารีบุตรอีก เล่าเรื่องต่างๆที่ตนได้กระทำลงไป เช่น การปล่อยปลาและเก้งในระหว่างทางก่อนถึงบ้านญาติ   
พระสารีบุตรจึงกล่าวว่า ด้วยอานิสงส์การให้ทานชีวิต ปล่อยปลาและสัตว์ที่จะถึงฆาตให้รอดตาย เป็นการประกอบมหากุศลกรรมอันยิ่งใหญ่ ด้วยเดชานุภาพของมหากุศลกรรมนั้น จึงสามารถสืบต่อชีวิตที่กำลังจะขาดไปของสามเณรได้
ชาวพุทธไทยคงถือเรื่องนี้เป็นแบบอย่างกระมัง เมื่อผู้ใดทำบุญสะเดาะเคราะห์ จึงมักจะปล่อยปลา และนกให้เป็นอิสระอีกด้วย  และการที่พระเกจิอาจารย์บางวัดแนะนำให้ทำบุญด้วยการไถ่ชีวิตโค กระบือ และสัตว์อื่นจากโรงฆ่าสัตว์ ถือว่าได้บุญมาก และเป็นการสืบชะตากำเนิดของตนอีกด้วย
ข้อคิดจากเรื่องนี้
การบำเพ็ญชีวิตทานของสามเณรติสสะ เกิดจากการุญจิต และสัตว์เหล่านั้นถึงคราวอับจน หากไม่มีใครช่วยเหลือ  ต้องสิ้นชีวิตแน่ๆ แต่ในปัจจุบัน การทำบุญปล่อยนกปล่อยปลาสะเดาะเคราะห์ มักจะทำพอเป็นพิธีเท่านั้น ด้วยนกและปลาเป็นสัตว์ที่ถูกจับมาขังไว้เพื่อการพานิช ขายให้ผู้ใจบุญได้ปล่อย และคนขายก็ไปจับมาขายแล้วขายอีก เวียนเทียนอยู่อย่างนี้ ดูท่าจะไม่เข้าทีนัก ส่วนการทำบุญด้วยการไถ่ชีวิตโค กระบือ หรือสัตว์ที่ถึงฆาตจากโรงฆ่าสัตว์นั้น น่าจะตรงกับประเด็นที่สามเณรติสสะได้ทำมาแล้ว และควรที่จะเป็นบุญกุศลมากกว่ากรณีแรก

หลักฐานที่ 4 ช่วยเทวดาที่กำลังจะจุติให้กลับมีชีวิตเสวยสุขในสวรรค์

เรื่อง อุณหัสสวิชัยเทพบุตร ผู้เขียนคิดเอาเองว่า  เรื่องของอุณหัสสวิชัยเทพบุตรที่กำลังจะเคลื่อนจากสวรรค์เพราะหมดบุญ แต่ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและฟังธรรมเทศนา บรรลุอมฤตธรรม กลับยืดอายุเสวยสุขบนสวรรค์ต่อนี้ น่าปรากฏในหลักฐานในพระบาลีบ้าง พยายามค้นหาช่วงหนึ่ง แต่กลับไม่พบหลักฐานในพระไตรปิฎก กลับแต่พบคาถาที่แต่งสวดสืบชะตาเป็นภาษาบาลี ที่ขึ้นต้นว่า
อตฺถิ อุณฺหสฺสวิชยฺโย        ธมฺโม โลเก อนุตฺตโร เป็นต้น          สอบถามท่านผู้รู้อีกที ได้รับคำบอกว่า ชาวพุทธฝ่ายเถรวาทยืมความคิดฝ่ายมหายานนิกายตันตระ จากคัมภีร์อุษณีวิชชาสูตร  เรื่องย่อมีดังนี้ อุณหัสสวิชัยเทพบุตรนี้ กำลังจะหมดบุญ ถึงกาลจะจุติจากสวรรค์ ด้วยสังเกตเห็นอาการที่จะจุติ 5 อย่าง คือ
1. ดอกไม้ทิพย์ประจำตัวเหี่ยวแห้ง 
2. ผ้าทิพย์ภูษาทรงสีเศร้าหมอง
3. วรรณะหม่นหมอง
4. เหงื่อออกจากซอกรักแร้
5. เกิดความอึดอัดเบื่อหน่ายรำคาญที่อยู่อาศัย

เพื่อนเทวดาสังเกตนิมิตสัญญาณได้ครบ ก็บอกว่า ท่านท่าจะถึงกาลจุติแล้ว ด้วยความกลัวตาย อุณหัสสะวิชัยเทพบุตรต้องหาทางป้องกันอันตราย จึงได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ขอพระพุทธเจ้าเป็นที่พึง และได้สดับพระธรรมเทศนาโปรด หลังจบการสดับธรรมเทศนา เทพบุตรก็บรรลุธรรม รอดการจุติ  ได้เสวยทิพยสมบัติในสรวงสวรรค์ต่อไป มีนัยเหมือนเรื่องท้าวสักกะที่กล่าวมาข้างต้น

การบังเกิดผลของการทำบุญสะเดาะเคราะห์สืบชะตา
            ตามหลักพระพุทธศาสนา การทำบุญกุศลจะได้อานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่ทันตาเห็นนั้น มีปัจจัย 3 ประการคือ
1.   ผู้กระทำพิธีเป็นผู้รักษาศีลบริสุทธิ์ และประพฤติธรรม
2.   ทานที่บริจาคเป็นสิ่งที่ได้มาโดยบริสุทธิ์ หรือในการประกอบพิธีกรรมไม่มีสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์
3.   ผู้รับทานหรือผู้ประกอบพิธีกรรมเป็นพระสงฆ์ทรงศีลบริสุทธิ์ หรือออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ

นอกจากนี้ การส่งเสริมให้กรรมที่ทำลงไปแสดงผลให้ปรากฏทันตานั้น ยังมีหลักความพร้อมขององค์ประกอบอีก 4 ประการ ที่เรียกว่า สมบัติ หรือข้อดี 4 ประการ(อภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่มที่ 35 ข้อที่ 840 หน้า 458-459) คือ
1.   คติสมบัติ หมายถึง การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม ทำถูกที่
2.   อุปธิสมบัติ หมายถึง ความสมบูรณ์ทางกายภาพของผู้ประกอบเองสามารถที่จะรองรับได้
3.   กาลสมบัติ หมายถึง เวลาที่ประกอบถูกต้องเหมาะเจาะ ทำถูกเวลา
4.   ปโยคสมบัติ หมายถึง การทำถูกกับเรื่องที่ต้องการ หรือภาษาปากว่า ทำพอดี

ถ้าองค์ประกอบที่ดีครบทั้ง 4 ข้อ คือ ทำถูกที่ สภาพทางร่างกายของผู้ทำอยู่ในวิสัยจะรองรับได้ ถูกเวลา แถมพอเหมาะพอดี  สิ่งที่ทำลงไปย่อมบันดาลผลลัพธ์ได้ไว   หากบกพร่องไปข้อใดข้อหนึ่ง สิ่งที่ทำไปก็ย่อมแสดงผลลัพธ์ช้า

ข้อพิจารณา หลักกรรม กับ พิธีสืบชะตา
            เมื่อพิจาณาจากมุมของหลักกรรมกับพิธีสืบชะตา ผู้เขียนขอเสนอแนวคิดที่น่าจะตีความให้สอดคล้องกัน ได้ดังนี้
1. ชะตากำเนิด หรือ ชาตา ในโหราศาสตร์ ก็คือ ชนกกรรม หมายถึง กรรมที่ทำหน้าที่ให้คนเกิดมาในชาตินี้(หรือชาติอื่นๆารถือกำเนิดเป็นมนุษย์ ย่อมเกิดด้วยอำนาจมหาวิบากจิตดวงใดดวงหนึ่ง
2. ครั้นเกิดมาแล้ว คนก็ดำรงชีวิตอยู่ด้วยกุศลกรรมอื่นๆ ที่สนับสนุนค้ำชู กรรมที่สนับสนุนส่งเสริมกรรมอื่นๆเรียกว่า อุปัตถัมภกกรรม นั่นคือ ในช่วงชีวิตคนเราอาจประสบสุขอยู่ตลอดไปจนเฒ่าจนแก่ เป็นดาวค้างฟ้า เป็นดาราอมตะ หากมองในทางทางลบ ชีวิตก็ตกทุกข์ได้ยาก แบบผีซ้ำด้ำพลอย โงหัวไม่ขึ้น ทำนองพระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก พระราหูบดบัง ชีวิตพบมรสุม เจอแต่ด้านมืดตลอดเป็นต้น 
3. กรรมที่ริดรอนอำนาจของกรรมอื่น ทั้งด้านดีหรือด้านเสียให้ถอยกำลังลง  เรียกว่า อุปปีฬกกรรม คือ กรรมเบียนกรรมอื่น เช่น บางคราว คนกำลังประสบความทุกข์ยากอยู่ แต่พอผลกรรมดีส่งผลมาถึง ก็ทำให้พ้นจากทุกข์ หรือพ้นเคราะห์ร้ายนั้นได้เป็นระยะๆ  หรือบางคราว กำลังเสพเสวยสุข ชีวิตกำลังรุ่งโรจน์ พอผลกรรมไม่ดีตามมาทัน ชีวิตก็กลับพลิกผัน ประสบทุกข์ภัยไป เข้าทำนอง บุญมี แต่กรรมบัง อุปปีฬกกรรมทำให้ชีวิตกลับดีกลับร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า เข้าทำนองชั่ว 7 ที ดี 7 หน กรรมดีกรรมชั่วต่างเบียนกันและกันส่งผล ผลัดวาระดุจการวิ่งผลัดส่งไม้กันเรื่อยไป
4. กรรมที่ทำหน้าที่ตัดขาด หรือ หยุดพลังกรรมอื่นๆ ไม่ให้ส่งผล เรียกว่า    อุปฆาฏกรรม  เช่น ชะตากำเนิด จะหมดอายุ หรือชะตาขาดในเวลา 7 วัน แต่พอประกอบกรรมดี ถึงขนาด กรรมดีใหม่นี้ ก็จะมาตัดรอนมิให้ชนกกรรม(ชะตา)นั้นทำงาน คือ ตายเพราะหมดกรรม(กัมมักขัย)   ส่งผลให้เกิดการสืบต่ออายุด้วยพลังกรรมใหม่ มีชีวิตที่ดีต่อไป ดังกรณี ของ อายุวัฒนกุมาร สามเณรติสสะ อุณหัสสวิชัยเทพบุตร ที่ทุกคนจะต้องสิ้นชีวิตในวันที่ 7 นับแต่ทราบแหตุ แต่กรรมใหม่เป็นอุปฆาฏกรรม มาตัดอำนาจกรรมเก่า ให้หมดพลังลงและ เข้ารับหน้าที่สืบส่งผลกรรมของตนต่อ หรือในทางลบ บางคนแม้จะเกิดด้วยมหากุศลวิบาก บนกองเงินกองทองมีสุขเสมอเทพบนสวรรค์ แต่พออุปฆาฏกรรมมาถึง เขาก็ประสบหายนะ ล้มละลายสิ้นเนื้อประตัวเป็นต้น

อีกประการหนึ่ง ชาวพุทธเคยทราบเรื่องของพระองคุลีมาล เมื่อก่อนที่ท่านจะบวช เคยเป็นโจรฆ่ามนุษย์ ตัดเอานิ้วมือมาร้อยเป็นมาลัยห้อยคอ ด้วยกรรมชั่วนั้น องคุลีมาลตายไปต้องตกนรกแน่ๆ แต่พอกลับใจมาบวช และได้ปฏิบัติธรรมจนบรรลุเป็นพระอรหันต์  อรหัตตมัคคญาณ(โลกุตตรกุศลสูงสุด)ที่ท่านได้บรรลุ ได้ตัดวิบากอกุศลกรรมที่สังหารชีวิตมนุษย์ ลบล้างกรรมเก่าที่จะพาตกนรกได้หมดสิ้น จึงเข้าสู่นิพพาน ดับสิ้นทุกข์ไป นี่ก็คือตัวอย่างของอุปฆาฏกรรมฝ่ายกุศล

อีกตัวอย่างหนึ่ง พระเจ้าอชาตศัตรู ด้วยพลังบุญที่เกิดมา ท่านจะได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลชั้นใดชั้นหนึ่งแน่   แต่อชาตศัตรูได้ทำอนันตริยกรรมปิตุฆาต ตามคำยุยงของพระเทวทัตต์ แม้ภายหลังจะกลับตัวมานับถือพระพุทธศาสนา ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า เฉพาะพระพักตร ก็ไม่สามารถบรรลุธรรมอะไรได้ และแม้จะทำบุญมากขนาด ให้ความอุปถัมภ์การทำสังคายนครั้งที่ 1 ก็ตาม ครั้นสวรรคต ลงไป ปรากฏว่า อชาตศัตรู ตกโลหกุมภีนรก เพราะ ปิตุฆาตกรรม เข้าตัดรอนเจ้าชะตาที่จะได้บรรลุอมตธรรมในชาตินี้ลงไปเสีย
            การประกอบพิธีสืบชะตา ก็เป็นการสร้างกรรมใหม่ ให้ปิดกั้น หรือตัดผลวิบากอกุศลกรรมที่จะเผล็ดผลในชาตินี้ หรือ กำลังเผล็ดผลให้หมดกำพลัง หรือ ตัดขาดไป เสวยวิบากใหม่ที่จะส่งเสริมเจ้าชะตาให้เกิดความสุขต่อไป ยกเว้นเฉพาะกรณีของผู้ประกอบอนันตริยกรรม พิธีสิบชะตา ล้างบาปเคราะห์ไม่สามารถทำได้ เพราะอนันตริยกรรม เป็นกรรมหนักที่สุด ซึ่งพลังกรรมอื่น ก็ไม่สามารถทัดทานได้ดังที่กล่าวมา

สรุป
            พิธีสืบชะตา สะเดาะเคราะห์ แม้ว่าจะเป็นพิธีกรรมที่ดูเหมือนจะห่างไกลจากแก่นสารสาระหลักของพระพุทธศาสนา และยากที่จะหาทางอธิบายด้วยกฎทางวิทยาศาสตร์แบบโลกๆให้เป็นที่ยอมรับได้ แต่การประกอบพิธีสืบชะตานี้ นับว่าเป็นกุศโลบายที่ชาญฉลาดของพระสงฆ์ที่สอนคนให้ได้ทำความดี โดยการแปรเป็นรูปธรรม ให้ปฏิบัติได้ง่ายๆ เป็นเรื่องของศรัทธาที่ไม่ต้องการคำอธิบายด้วยเหตุผล และใช้ปัญญาระดับสูงนัก ผู้ประกอบพิธีกรรมปรารภเหตุชะตาตก ได้กระทำกรรมดี ด้วยการบริจาคทาน สมาทานศีล และประพฤติธรรม  พิธีสืบชะตาหากทำถูก ก็เป็นบุญกิริยาวัตถุได้ครบเสร็จสรรพทั้ง 3 ขั้น นับแต่ทานมัย ศีลมัย และภาวนามัย และถือเป็นการประกอบกุศลกรรมใหม่ ตามกฎแห่งกรรมที่ว่า ทำความดี ย่อมได้ดีแน่นอน แม้จะเป็นการเอาเปลือก(พิธีกรรม)มาหุ้มแก่น(หลักความจริง)ก็ตาม แต่ผู้ฉลาดย่อมมองทะลุเปลือกหุ้ม เห็นแก่นสารภายในพิธีกรรมนั้นได้
             บางท้องถิ่น พระสงฆ์ได้แปรรูปคำสอน เรื่อง การให้คนทำดี ออกมาเป็นรูปธรรม ด้วยการให้ประกอบพิธีกรรมสืบชะตาเป็นต้น บางท้องถิ่น ให้ทำบุญด้วยการปล่อยนกปล่อยปลา หรือ ไถ่ชีวิตสัตว์ที่จะถึงฆาตจากโรงฆ่าสัตว์ และในบางท้องถิ่น ครูบาอาจารย์ จะให้ผู้ที่ชะตาถึงฆาต ได้ออกบวช ถือศีลปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด ในช่วงระยะที่ชะตาขาด จนกว่าจะพ้นเวลา ก็เป็นการสืบชะตาที่แปรจากการให้ทำความดี ทำบุญให้มากกว่าที่ผลวิบากบาปจะเอื้อมมือถึง
ทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวมา เป็นสิ่งที่เจ้าชะตากำเนิดต้องทำเองประกอบเองเท่านั้น ไม่มีใครทำให้ใครได้ พุทธภาษิต อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึงของตน ใช้ได้ทุกกาลเวลา ถ้าทำความดีโดยผ่านพิธีกรรมที่ถูกต้องถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบที่กล่าวมา ย่อมได้รับอานิสงส์ทันตา  เพราะพิธีสืบชะตา ที่แสดงออก คือ การทำความดี การทำดี คือ การประพฤติธรรม และการประพฤติธรรม นำความสุขมาให้   ทั้งผู้ประพฤติธรรม ย่อมมีชีวิตเป็นสุข พิธีสืบชะตา หากจะพิจารณาด้วยเกณฑ์ที่นำเสนอ จึงไม่ใช่เรื่องเหลวไหลงมงายอย่างที่หลายคนเข้าใจ เป้าหมายของการกระทำก็มีอยู่ หลักการของการกระทำก็มีอยู่ เมื่อสอดคล้องกับหลักการ ย่อมบรรลุประโยชน์ตามที่มุ่งหวังได้
--------------

บรรณานุกรม

มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 13 ข้อ 707.(2525) กรมการศาสนา.
อภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่มที่ 35 ข้อที่ 840.(2525) กรมการศาสนา.
พระราชวรมุนี (2525) พุทธธรรม. 
อรรถกถาธรรมบท ยมกวรรค เล่มที่ 17 (2525) กรมการศาสนา.
อรรถกถาธรรมบท ภาค 8.(2530) ,มหามกุฏราชวิทยาลัย.  
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ โพสต์ใหม่ 26 พฤษภาคม 2558






















                [1]  อ. ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขา พุทธศาสนศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียบเรียงเมื่อ 6 มกราคม 2547 เนื่องในวันครบรอบการสถาปนา 40 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 24 มกราคม 2547 ที่ศาลาอ่างแก้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น