แจ้งข่าวนักศึกษา012173

วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ธรรมดาสอนโลก ฉบับวัดเชียงมั่น วัดผ้าขาว ตำบลพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่

 ธรรมดาสอนโลก :   
คำสอนปราชญ์โบราณเกี่ยวกับจริยธรรม ศีลธรรม คุณธรรม และคติความเชื่อของล้านนา
-----------  
 1. ความเป็นมา
            ธรรมดาสอนโลก ฉบับวัดเชียงมั่น อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เส้นจาร จำนวน 1 ผูก 38 หน้าลาน อักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี-ไทยวน เอกสารถ่ายสำเนาไมโครฟิล์ม หมายเลข 132.294.016 ชม 010800404 สำนักส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องด้วยเอกสารโบราณที่เก็บรักษาไว้ที่วัดผ้าขาว ซึ่งเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ในพื้นที่ หรือ ธัมม์โบราณที่เป็นอัตลักษณ์ของทางวัดผ้าขาวมีไม่มาก ทีมนักวิจัยได้พบบันทึกพับสาของอดีตเจ้าอาวาส เกี่ยวกับพิธีกรรมทั่วไป ซึ่งคัดลอกกันมาตามประเพณี ซึ่งมีกันอยู่แทบทุกวัดในล้านนา จึงไม่ได้ทำการปริวรรตเอาไว้  ดังนั้น ผู้วิจัยจึงได้นำเรื่อง  ธรรมดาสอนโลก ที่ปริวรรต  ถ่ายถอด และอธิบายศัพท์ โดย ชัปนะ ปิ่นเงิน ในระยะที่ทำการอนุรักษ์พระธรรมคัมภีร์ใบลาน ที่วัดผ้าขาว เดือน ตุลาคม 2558  มานำเสนอ  พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ เรียบเรียง  

2.  สาระเนื้อหา
ผู้แต่งเรื่อง ธรรมดาสอนโลก เริ่มเล่าถึงความสำคัญของเอกสารและคำสอนนี้ว่า เป็นคำสอนที่เก่าแก่ สืบมาจากอดีตพุทธเจ้า นับแต่พระอโนมทัสสี จนถึงพระโคตมศากยมุนิ รวมได้ 28 พระองค์ ซึ่งทุกพระองค์ก็จะสอนหลักการเดียวกันนี้ สาเหตุของเรื่อง ก็เป็นธรรมีกถาที่พระโคตมพุทธเจ้าต้องการแสดงข้อที่ควรละเว้นและข้อที่ควรปฏิบัติ เพื่อความสุขความเจริญแก่ตนเองและโลก  โดยปรารภ เศรษฐี ผู้หนึ่งเป็นตัวอย่างว่า เขาและภรรยาปฏิบัติตนอย่างไร ครอบครัวจึงประสบกับหายนะความเสื่อม และเมื่อกลับตัวใหม่ ทำอย่างไรจึงกลับได้ความสุขความเจริญในชีวิตอีก
พระพุทธเจ้ายกอุทาหรณ์ ย้อนอดีตกาลไกล สมัยพระอโนมทัสสี ว่า ยังมีพระเจ้าจักรพรรดิ นามว่า ศักยมูล ทรงมีพระราชอำนาจปกครองท้าวพญาทั้งหลายในชมพูทวีป ประมาณได้ 101 หัวเมือง พระองค์ทรงดำรงตนอยู่ในทศพิธ ราชธรรม และให้โอวาทแก่ท้าวพญา และไพร่ฟ้าทั้งหลาย ให้รู้จักสาเหตุแห่งความเจริญและความเสื่อมของชีวิตและสังคมเป็นหลักเอาไว้ ดังเรื่องต่าง ๆ (การเล่าเรื่องปะปนกันไป ทั้งเรื่องของความเสื่อมและความเจริญ)  จึงขอเรียบเรียง โดยการสรุปสาระหลักสำคัญ ดังต่อไปนี้   
(1) ว่าด้วยข้อห้ามที่ไม่ควรทำ 
          1. ไม่ควรสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเพื่อนำศพตนตายไปเผาอีกฝั่ง จักพินาสฉิบหาย
2.  ไม่ควรเอาที่พระเจดีย์ ที่วัดร้าง มาฟื้นเป็นไร่ นา และปลูกบ้านพักอาศัย   นำที่บ้านร้างมาทำเป็นนา เป็นสิ่งที่ไม่ดี  
3. ท้าวพญาไม่ควรไปนำเอาลูกไพร่ผู้มีชาติตระกูลต่ำมาอาวาหะวิวาหะให้กับพระโอรสหรือพระธิดาผู้เป็นเชื้อขัตติยะตระกูล ยกเว้นบุรุษหรือสตรีผู้มีความองอาจ มีปัญญาฉลาดหลักแหลม  สามารถสร้างประโยชน์แก่บ้านเมืองให้รุ่งเรือง สำหรับสตรีซึ่งเป็นผู้มีบุญสมภารประกอบด้วยอิตถีลักขณะงดงาม พูดจาไพเราะหาบุคคลอื่นเปรียบได้ ถ้าจะอุสสาราชภิเษก ให้เป็นอัครมเหสีราชเทวีก็ควร
4. เศรษฐี และ พ่อเรือน ไม่ควรเอาข้าหญิง(ทาสี)เป็นภริยา หรือ ไม่ควรเอาลูกตนเป็นภริยา จะเสื่อมโภคทรัพย์
(2) ว่าด้วยขึดเสื่อม  
ข้อห้ามที่ไม่ให้กระทำ ขืนทำลงย่อมเกิดความเสื่อมเสีย เกิดความพินาศฉิบหาย มีหลายประการ ได้แก่
1. อย่าเอาช้อนไปตักน้ำห้วย น้ำแม่ (แม่น้ำ) และอย่าเอาช้อนไปตักเลือดที่ขังอยู่ในตัวสัตว์  
2. ห้ามถมน้ำบ่อ  ขุดจอมจอมปลวก ขุดต้นไม้ใหญ่แล้วถมเป็นที่ปลูกเรือน จะทำให้เรือนฉิบหาย
3. ห้ามขุดเหมืองไขน้ำในหนอง(บึง) หรือ สระที่มีแต่เดิม ให้แห้งไปแล้ว ถมที่ปลูกบ้านเรือนอยู่ จักฉิบหาย
4. ห้ามรื้อเรือน 2 หลัง มาสร้างรวมเป็นเรือนหลังเดียว จักสูญเสียข้าวของเงินทองรวมทั้ง ข้าทาสลูกหลาน บางทีพ่อเรือนแม่เรือนจักตาย 
5.  เรือนที่ดีอยู่แล้ว ห้ามทำการต่อเติม ขยาย หรือ ย้ายขยับไป   จักฉิบหาย หรือ เรือนเก่าไม่รื้อออกหมด  เพียงรื้อแต่หลังคา  ทำตงก่อน ก็ไม่ดี ไม่เจริญ จักเจ็บป่วยบ่อย
6. ต้นไม้ใหญ่ และ จอมปลวก  ปากครก(ตำข้าว) หางครกมอง ตัวครกมอง อยู่ตรงกับประตูเรือน ก็ไม่ดี  
7.  ห้าม รื้อเรือนนา นำมามาสร้างเป็นเรือนอยู่ นำหญ้าคาที่มุงเรือนนามามุงเรือนบ้าน ก็ไม่ดี จักเสียทรัพย์สิน เป็นภัยแก่สัตว์ สี่เท้า สองเท้า
 8. ไม่ควรนำไม้ประเภทต่งๆ ดังต่อไปนี้ คือ ไม้ที่ถูกฟ้าผ่ายืนต้นตายซาก ไม้เป็นโพรง พรรณไม้เถา ไม้ขึ้นเหนือจอมปลวก ไม้คุด ไม้ไหลน้ำ   ไม้ใกล้ฝั่งน้ำ ไม้อารักษ์ ไม้แดนเมือง ไม้ที่โคนเล็กปลายใหญ่ นำสร้างเรือนอยู่อาศัย คนหรือสัตว์จักไม่สบาย นำมาสร้างวัด จักเป็นภัยแก่เจ้าวัด นำมาสร้างสะพานข้ามน้ำ ก็จักเป็นภัยแก่เจ้าเมือง
9. เมื่อสตรีมีครรภ์อยู่ในบ้าน  ยังไม่ควรซื้อสัตว์มาเลี้ยง   ไม่ควร ทำบุญถวายทานต่าง ๆ เช่น ผ้ามหากฐิน  เครื่องอัฐบริขาร  สร้างเจดีย์ สร้างพระพุทธรูป สร้างหีบธรรม มณฑป  บวชลูก ยกลูกผู้อื่นบวช กระทำอาวาหะวิวาหะมงคล แต่งงาน เอาเขยหรือสะใภ้เข้าเรือน ต้องรอให้คลอดเสียก่อน
10 ชายหนุ่มน้อย อายุยังไม่พ้น 16 ปี ไม่ควรให้ทานมี 4 ประการ  หีบธรรม สร้าง เจดีย์ ตุง(ธง)ทองคพ และสร้างสะพานจะทำให้อายุไม่ยืน จักเสียชีวิตก่อนวัยอันควร หรือจะต้องพลัดพรากจากที่อยู่อาศัย
(3) ว่าด้วยการเผาศพ
 1. ลูกที่ตายก่อนอายุจะถึง 10 ปี ไม่ควรเผา ถ้าเผา พ่อแม่และญาติจักฉิบหายถ้าบุญพ่อแม่มีมากก็จะเป็นภัยพิบัติแก่ลูกที่จะเกิดใหม่ ทำให้สูญเสียทรัพย์สินเงินทอง และสัตว์สี่เท้า สองเท้า
2. ลูกที่อายุเกิน 10 ปีขึ้นไป ตายด้วยไข้หนาว เผาได้ เป็นบุญนัก แต่ถ้าตายด้วยพยาธิอื่น ๆ  เช่น ท้องร่วง ท้องมาน เป็นต้น ก็ไม่ควรเผา คนเผาจักป่วยเป็นพยาธินั่นเสียเอง
3. คนที่ตายด้วยสาเหตุต่าง ๆ เป็นต้นว่า ออกฝีลงดำลงแดง ถูกฟ้าผ่าตาย แขวนคอตาย จมน้ำตาย ไม่ควรเผา  พ่อแม่พี่น้องและญาติจักฉิบหายและเป็นภัยพิบัติชาวบ้าน และชาวเมือง  
4. คนที่ตายด้วยถูกสัตว์ทำร้าย เช่น ถูกช้างฆ่า ม้าดีด เสือขบกัด งูฉก ควายขวิด ถูกจองจำด้วยขื่อคา   ถูกอาวุธ เช่น ถูกหอกแทง ถูกดาบฟัน เป็นแผลฉกรรจ์ นอนจมกองเลือดอยู่ ถ้ายังไม่ตาย ให้ทำพิธีส่งเคราะห์ นิมนต์พระสงฆ์มาทำบุญอุทิศเสียและนำร่างมา ถ้ามาจนถึงบ้านแล้วตายลง จำนำศพไปเผาก็ไปร่วมกับผู้อื่นให้ญาติหว่านขี้เถ้ารอบบ้านก่อน แล้วนำไปเผา เมื่อเผลเสร็จจะกลับบ้าน ก็แกล้วใช้ไม้ไล่ตีญาติที่มาส่งศพให้พากันวิ่งหนี้ไปและห้ามเหลียวกลับหลังไปดู คันมาถึงบ้าน ให้มีคนสูงอายุ คนหนึ่ง ยืนถือค้อนเหล็กที่ประตูบ้านร้องถามว่า มี ผีซะเอบ (ผีร้าย หรือ ผีตายโหง) ติดตามมาหรือไม่ ต้องบอกว่า ไม่มีผีตนใดตามมา แล้วก็ไปเอาน้ำส้มปล่อยสระหัว ถ้าไม่ทำพิธีอย่างนี้  ผีซะเอบจักติดลูกหลานญาติตระกูลสืบไปไม่มีที่สิ้นสุด
(4) ว่าด้วยการแต่งงานของบ่าวสาว
เพื่อให้เกิดวุฒิจำเริญในชีวิตของการแต่งงาน ควร เลือก บุคคลที่มีตระกูลเสมอกัน  ข้อที่ไม่ควรมี ดังนี้
1. ชายหรือหรือหญิงที่เป็นหม้าย หรือ หย่าร้าง ไม่ควรแต่งงานด้วย
2. คนตกพุ่มหม้ายทั้งคู่ (พ่อหม้าย และแม่หม้าย)ไม่ควรแต่งกัน 
3. เป็นกำพร้าทั้งคู่ ไม่มีพ่อแม่ ถ้าจะแต่งจริง ควรสร้างปรำกลางบ้าน นำคู่บ่าวสาวไปทำพิธีมงคลสู่ขวัญ เสร็จแล้วจึงพามาเรือน  และถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นกำพร้า  ควรสมมุติคนให้เป็นพ่อแม่ เสียก่อน และทำพิธีดังกล่าวมา
(5) ว่าด้วยสิ่งที่ไม่ดี ไม่ควรนำมาใช้สอย
1. ล้อเกวียนหัก อย่าเอามารองเชิงขั้นไดฉางข้าว และห้ามนำมาทำเป็นตั่งนั่ง แพ้ข้าวของแลสัตว์ 4 เท้า 2 เท้า
2. เสื้อผ้าชนิดใดขาด ให้เอาผ้า(สื้อ)ชนิดนั้น ปะหรือชุน  ไม่ควรเอาผ้ากางเกง หรือผ้ามุ้ง มาปะหรือชุน  เอาเสื้อปะชุนผ้า เอาผ้าปะชุนกางเกงไม่ห้าม
3. ห้ามนำรองเท้ามาเป็นหมอนหนุน และ ห้ามนำเสื้อผ้าของสตรีมาไว้เหนือศีรษะ
4. ห้ามนำเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ตากบนหลังคาบ้านจะ ทำให้ข้าวของเงินทองวิบัติ
5. ห้ามนั่งทับคนที่นอนทำเป็นดุจขอนสำหรับนั่ง ขึดนัก ผู้นอนจักตาย ผู้นั่งต้องทำพิธีสู่ขวัญ แก้ขึดเสีย และ คนหนึงยืนอยู่ กลับมีคนหนึ่งขึ้นนั่งทับ ต้องสูขวัญคนที่ยืน
6. อย่านั่งทับเงามหาธาตุ(เจดีย์) และอย่างทับเงาสัตว์ จะทำให้อายุสั้น
7. ห้ามนำเสื้อผ้า และเงินทองมา ย่างไฟจะทำให้ข้าวของใช้บริโภคร่อยหรอลงไป
        (6) ว่าด้วยพ่อบ้านแม่เรือน
1. เมื่อพ่อเรือนแม่เรือน ทะเลาะวิวาทกัน อย่าอย่าทุบทำลายข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน อย่าตีหม้อพอไห  ถึงมั่งมีเป็นเศรษฐีก็ฉิบหาย ดังนิทานเศรษฐีไม่มีบุตร ต้องการให้ทรัพย์สมบัติหมดไป เพราะไม่อยากให้มีใครมาฮุบมรดกด้วยมือเปล่า จึงไปถามพระพุทธเจ้า พระองค์แนะนำว่า ถ้าสามีภรรยาทะเลาะเบาะแวงกัน ไม่เคารพยำเกรงให้เกียรติกัน ไม่นานหายนะจักมาสู่ครอบครัว หากอยากกลับมามั่งมีทรัพย์สมบัติเหมือนเดิมก็ให้กลับคืนมาปฏิบัติดังแต่เก่าครั้งก่อนดังคำว่า “ดูกรามหาอุบาสก  จักใคร่หื้อมีข้าวของกลับคืนมาดั่งเก่าดั่งอั้น ให้นางเสฏฐีสมมา[1] ผัวเสียเทอะ แล้วหื้อครบยำ[2]ผู้เป็นผัวเสียเทอะ คันว่าเข้านอน หื้อเอามวยผมลวาดตีนผัวชุวัน อย่าหื้อผัวได้กินซากเงื่อน[3]ผัว หื้อลุกก่อนผัว นอนลุนผัว อย่าใช้ผัวกิน  ปฏิบัติหอเรือนหื้อหมดใส[4]ดีงาม อุปัฏฐากผัวด้วยน้ำอุ่น น้ำเย็น น้ำซ่วยหน้า[5]ชุวันเทอะว่าอั้น แล้ว 2  ผัวเมียเศรษฐีก็จำเอาคำพระเจ้า แล้วเมือสู่เรือนแห่งตนแล  กระทำตามชุอันแล อยู่บ่นานเท่าใด ก็สมริทธิ[6] มีข้าวของคืนมาแลปีแลหน้อย ภายลุนลวดได้เป็นเสฏฐีดั่งเก่าก็มีแล”
          2. การนำทองเหลืองมาทำปลอมแปลงเป็นเงิน  โลภมากโกงเอาเขตแดนผู้อื่นมาเป็นของตน  โกงด้วยตราชั่ง ลดตำแหน่งภรรยาหลวงลงเป็นภรรยาน้อย เหล่านี้นี้ชื่อว่า “โลกวินาศ” ทำให้เสื่อเสียเกียรติ และทรัพย์สมบัติ
3.  บุตรใจคดไม่ซื่อตรงต่อพ่อแม่ สามีและภรรยาไม่สัตย์ซื่อต่อกัน พี่และน้องไม่ยำเกรงกัน จะทำให้ทรัพย์สมบัติพินาศ
4. ลูกต้องเคารพพ่อแม่ ผู้เป็นน้องต้องยำเกรงผู้เป็นพี่ จะพูดจาต้องรักษาน้ำใจกัน แม้จะมีใจโกรธ ก็อย่าออกปาก จงอดทนเอาไว้ สิ่งเหล่านี้ชื่อ “โลกวุฒิ”
5.  ชายหรือหญิงผู้ใด ได้เมียหรือผัวผู้มีจิตใจโหดร้าย ก็เหมือนการอยู่ร่วมโจรผู้ร้าย ดังนิทานอุทาหรณ์เรื่อง “เตโช ยาโม” ที่ได้เมียดีและเมียร้าย ทำให้สภาพการเป็นอยู่แตกต่างกัน ครอบครอวเตโชมีแต่ความสุข ส่วนครอบครัวยาโม มีแต่ความทุกข์เดือดร้อนวุ่นวาย
(7) ว่าด้วยวัดร้าง เมืองร้าง
1. เมื่อมีวัดร้าง  2 วัด ไปนำพระพุทธรูปจากวัดทั้งสองมารวมไว้ที่วัดเดียว ถือว่าไม่ถูกธรรมเนียมและจารีตโบราณ เพราะเหตุว่าเทพารักษ์ต่างกัน แก่นกล้ามากนัก จะทำอันตรายให้ เพราะอารักษ์ไม่ได้ผลบุญที่คนอุทิศให้ เห็นควรให้ปรึกษากันสร้างใหม่ หรือปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่
          2. บ้านเมืองใดมีตลาดเก่าที่ร้างไปแล้ว ผีอนาถาตายอยาก รวมทั้งผีพรหมผีพรายเคยได้กินรสอาหาร เมื่อตลาดร้างไปจึงมารุมทำร้าย หรือกินสัตว์เลี้ยงฉิบหายตาย
3.  ผู้เป็นท้าวพญาผู้ครองนคร ถ้าเวียงตั้งดีแล้ว ภายหลังย้ายจากที่เดิมไป จะเกิดเหตุ ถ้าเมืองไม่ร้าง เจ้าเมืองก็จะเกิดภัยพลัดพรากจากที่อยู่
ระยะเวลาที่ภัยจะเกิดปรากฏ ย้ายเมือง ภัยปรากฏภายใน 3-7 ปี, แผ่นดินภัยปรากฏภายใน 7 เดือน, ย้ายบ้านภัยปรากฏภายใน 3 เดือน, ย้ายเรือนภัยปรากฏภายใน 3-7 วัน
         (8) ว่าด้วยเหตุให้ท้าวพญาฉิบหายมี 8 ประการ ได้แก่
                   1. ตัดสินอรรถคดีด้วยอำนาจอคติทั้ง มักโกรธ และ ชอบฟังคำยุยงส่อเสียด  2.  ไม่พิจารณาให้ถ้านถี่  3. ขาดมาตรฐานกฎหมาย 4. เล่นพ้นประมาณ 5. กินสินบาทคาดสินบน  6. ไม่มีคำสัตย์ 7. มีมานะจองหองแข็งกระด้าง ไม่คำผู้ใด  8. ดื่มสุราเกินประมาณ เหล่านี้เป็นเหตุให้ท้าวพญาคลาดจากสมบัติ
(9) ว่าด้วยทศราชธรรม
ผู้ปกครองต้องการให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองด้วยยศสัมบัติทั้งหลาย จงตั้นตนอยู่ในทศราชธรรมสิบประการ คือ 1. ทานํ จงให้ทานอย่าขาด  2. สีลํ จงรักษาศีล 5 อย่าให้ขาด 3. ปริจฺจาคํ แจกจ่ายข้าวของให้เป็นทาน 4. อาชฺชวํ ให้มีจิตใจอันซื่อตรง 5. มทฺทวํ  ให้มีจิตใจอันอ่อนโยนและมีความกรุณาในคนแลสัตว์ 6. อโกธํ ให้มีจิตใจอดทน ไม่โกรธง่าย 7. อวิหึสญฺจ  อย่าเบียดเบีย ไพร่ ไท บริวารของตนและผู้อื่น 8. ตปฺปํ ให้กลัวละอายแต่บาป 9. ขนฺติ จ ให้กระทำบุญรักษาศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ใส่ใจไว้ในวันอุโบสถศีล และ 10. อวิโรธินญฺจ ให้ปฏิบัติตามโบราณทำนองคลองท้าวพญาทั้งหลายในกาลก่อน[7]
          (10.) ว่าด้วยจารีตโบราณ
1. จงรักษาจารีตประเพณีของบ้านเมือง จารีต จองแต่ละบ้านและเมืองย่อมแตกต่างกัน อย่าลบล้างทิ้งเสีย อย่าทิ้งเก่ามาถมใหม่ตามอำนาจของตน 
2. จงอย่าตัดสินคดีความอย่างอยุติธรรม จะถูกเทวดาลงโทษ เพราะเทวดาจะสาธุการใน เวลา ที่ 1. เมื่อเราให้ทาน 2. เมื่อบัณฑิตแก้ปัญหาอธิบายอรรถธรรมถูกต้อง และ 3. เมื่อผู้ปกครองพิพากษาอรรถคดีถูกต้องเป็นธรรม
3. ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 จะลงมาตรวจสอบฝูงชนผู้กระทำบาปแลกระทำบุญในวันอุโบสถศีล เดือนออก 8 ค่ำ แรม 8 ค่ำ เดือนดับ  และ เดือนเพ็ญทุกเดือน จึงไม่ควรกระทำบาปกรรม จงห้ามใจหยุดยั้งเอาไว้  ในวันปักขศีล(วันเดือนเพ็ญเดือนดับ) และ วันอุโบสถศีล(ออก 8 และแรม 8 ค่ำ)ควรกระทำบุญอันน้อยอันใหญ่ ให้สำเร็จ(ประโยชน์)แก่บ้านเมือง ก็จักเจริญสวัสดี
ที่ยกมาทั้งหมดเหล่านี้ เป็นโอวาทคำสอนของพญาศักยมูลให้แก่ท้าวพญาร้อยเอ็ดตน นับตั้งแต่สมัยพระอโนมทัสสี พระพุทธเจ้าเป็นต้นมา เรื่อง ธรรมดาสอนโลกก็ยุติจบลง (พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ตรวจสอบและ เรียบเรียงสาระ พฤษภาคม 2559                          



[1] สมมา-สมา, ขมา
[2] ครบยำ-เคารพ, ยำเกรง
[3] ซากเงื่อน-อาหารเก่า หรือของกินค้างสำรับ?
[4] หมดใส-เกลี้ยงใส โดยปริยายหมายถึง สะอาด เกลี้ยงเกลา
[5] น้ำซ่วยหน้า-น้ำล้างหน้า
[6] สมริทธิ-สัมฤทธิ์
[7] ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ             อาชฺชวํ มทฺทวํ ตปํ
  อกฺโกธํ อวิหึสญฺจ              ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ
   มหามกุฎราชวิทยาลัย, เล่มที่ 32, อรรถกถาบาลี ชาตกฏกถา 5 ฉกก-ทสกนิปาตวณฺณนา นนฺทิยมิคราชชาตกํ, หน้า 69
      

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น