โอวาทานุสาสนี จ.ศ.1251 (หริภุญไชยนคอร) ฉบับวัดบ้านหลุก
--------------
ความเป็นมา
โอวาทนุสาสนี จ.ศ.1251(พ.ศ. 2432) ฉบับวัดบ้านหลุก ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูนฉบับนี้ เป็นเอกสารใบลาน ที่ทีมงานคณะนักวิจัย สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ได้เข้าไปสำรวจใหม่ ในปี
พ.ศ. 2558 หมายเลขที่สำรวจ
15.0009.04.0106-01 หนังสือใบลาน เส้นจาร อักษรไทยยวน ชื่อ โอวาทนุสาสนี
เป็นหนังสือของครูบาเจ้าปัญญา (สามเณรธัมมชัยคัดลอก) ระยะที่ประกาศระเบีบปกครองสงฆ์ หัวเมืองลำพูนนี้ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่
5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์
เป็นช่วงที่ทางบ้านเมืองและสถาบันทางพระพุทธศาสนาได้มีการปรับปรุงระบบการบริหารขนานใหญ่ให้มีความทันสมัย) โอวาทนี้จึงวางไว้เพื่อ เป็นระเบียบปฏิบัติ สำหรับพุทธศาสนิชนเมืองหริภุญไชย(นครลำพูน) โดยทางฝ่ายบรรพชิต ผู้ปกครองคณะสงฆ์ (สังฆนายก) มีครูบามโน วัดหัวขัว
ครูบาสังฆราช ครูบาสมเด็จ ครูบาสามี
เป็นหลัก พร้อมด้วยคณะสงฆ์ทุกรูปในแขวงเมืองหริภุญไชย และทางฝ่ายฆราวาส
มีเจ้านครหริภุญไชย ที่พระสงฆ์ เรียกว่า “อิสสราชธิปดีพ่อออกมหาราชเจ้า”(ตรงรัชสมัยเจ้านครลำพูนองค์ที่
8 "เจ้าเหมพินธุไพจิตร" พ.ศ. 2431 - 2438) พร้อมด้วย
เจ้าอุปราช และเจ้าราชวงส์
ได้ประชุมปรึกษาแสวงหาวิธีอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้
5000 พระวัสสา และรักษาคำสั่งสอน นับแต่อักขระ
41 ตัว มี “อะ” เป็นต้น มี “อํ”
เป็นที่สุด เอาไว้ให้เป็นครูสั่งสอน
แทนองค์พระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธะ ที่ทรงสั่งสอนพุทธบริษัททั้ง 4 คือ ภิกษุภิกษุณี (สามเณร) อุบาสก และอุบาสิกา เอาไว้ ให้ปฏิบัติบำเพ็ญเพียรรักษาศีล
5 ศีล 8
เจริญเมตตาภาวนา กระทำบุญ ให้ทาน เพื่อให้ถึงมรรคและผล ได้แก่ ความสุข 3
ประการ มีพระนิพพานเป็นที่สุด
จึงได้เขียนโอวาทานุสาสนีประกาศ
เป็นกฏหมายให้คณะสงฆ์และฆราวาสในนครหริภุญไชยไว้ได้ทราบและถือปฏิบัติโดยทั่วกัน ณ เดือน 8 แรม 2 ค่ำ วัน พฤหัสบดี ปีกัดเปล้า
จุลศักราช 1251 (พ.ศ. 2432)
คณะนักวิจัยเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเอกสารคำสอนของสังฆปราชญ์โบราณ ที่ต้องการให้ทั้งฝ่ายบรรพชิต และคฤหัสถ์ ปฏิบัติตนถูกต้องตามคติจารีตในพระพุทธศาสนา เช่น หน้าที่ของบรรพชิตมีอะไรบ้าง หน้าที่ของอุบาสกอุบาสิกามีอะไรบ้าง อะไรควรทำ อะไรควรเว้น ชี้แจงด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ปฏิบัติตามได้ไม่ยาก ดังนั้น โอวาทนี้จึงถือเสมือนเป็นเครื่องขัดเกลาทางสังคมแบบวิถีพุทธที่ทรงคุณค่าทางจริยศาสตร์อันงดงามอีกเรื่องหนึ่ง
สาระเนื้อหา
โอวาทานุสาสนี
จ.ศ.1251 (หริภุญไชยนคอร) เริ่มต้นด้วยภาษาลี ว่า “เอวํ ธาเรถ โอวาทานุสาสนี ภิกฺขุปาฏิโมกฺขสํวรสีลํ วินยปิฎกํ
สามเณรสฺส ทสสีลํ สิกขาปทํ
สมณสงฺฆนายก สามคฺคีคณ อิสฺสราชสมคฺคคณ”
บัดนี้ ฝ่ายบรรพชิตผู้นำฝ่านสงฆ์
ประกอบด้วยครูบามโน วัดหัวขัว ครูบาสังฆราช
ครูบาสมเด็จ ครูบาสามี พร้อมกับคณะพระสงฆ์ ในแขวงเมืองหริภุญไชยทุกรูป
และฝ่านคฤหัสถ์ ประกอบด้วย เจ้าผู้ครองนครหริภุญไชย[1]
พร้อมด้วยเจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ ได้ประชุมปรึกษาร่วมกัน ปรารภยังพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้
5,000 พระวัสสา และคำสั่งสอนทั้งหลาย นับแต่อักขระ 41 ตัว มี “อะ” เป็นต้น มี “อํ”
เป็นที่สุด จะได้รักษาไว้ให้เป็นครูสั่งสอน
แทนองค์พระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนพุทธบริษัททั้ง 4 มี ภิกษุ ภิกษุณี
สามเณร อุบาสก และอุบาสิกาทั้งหลาย
ได้ปฏิบัติบำเพ็ญเพียร รักษาสีล 5
สีล 8 เจริญเมตตาภาวนา กระทำบุญ
ให้ทาน จะเป็นบันไดให้ถึง มรรคผล ประสพความสุข
3 ประการ มีพระนิพพานเป็นที่สุด
จึงประกาศเป็นคำสั่ง(ระเบียบข้อปฏิบัติ) ดังต่อไปนี้
ข้อที่ 1
เมื่อบรรพชาอุปสมบท เป็นภิกษุและสามเณรอยู่ในศาสนานี้ ให้กระทำสมณธรรม เป็นต้นว่า คันถะธุระ วิปัสสนาธุระ
คือการสูตต์เรียน เขียนอ่าน เจริญเมตตา
ภาวนา เว้นจากปาณาติบาต อทินนาทานา
อพรหมจริยกรรม มุสา สุรา และกิเลสธรรม 1,500 มีราคะเป็นต้น กำหนดจิตพิจารณาสังขารธรรมที่เป็นอนิจจัง เป็นทุกข์ในวัฏฏสงสาร
รักษาจิตมิให้หวั่นไหวไปตามโลกธรรม 8 ประการ
ได้แก่ มีลาภ เสื่อมลาภ มัยศ
เสื่อมยศ สุข ทุกขา นินทา และสรรเสริญ
ข้อที่ 2 อย่าได้มีความสังสัยในคำสั่งสอนของพระตถาคต ดำรงตนอยู่ในสมณภาวะแท้จริง เป็นพระภิกษุ ให้รู้จักปาริสุทธิศีล 4 ได้แก่
ปาฏิโมกขสํวรสีล(สำรวมในพระปาฏิโมกข์ คือ(ปาราชิก
4 สังฆาทิเสส 13) อนิยต 2 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ 30 (สุทธ)ปาจิตตีย์ 92 ปาฏิเทสนียะ 4(ต้นฉบัับว่า 8) เสขิยะ 75
อธิกรณสมถะ 7 รวมกันมี 227 รักษาให้ดี อย่าทำให้ศีลธรรมของพระพุทธเจ้าหม่นหมอง รักษาอินทรียะทั้ง
6 คือ หู ตา จมูก (ปาก)ลิ้น กาย และ ใจ
ชื่อว่า “อินทรียสํวรศีล” อาชีวปริสุทธศีล ให้เลี้ยงชีวิตโดยชอบ ให้ออกบิณฑบาตเลี้ยงชีพ ไม่กระทำอเนสนกรรม(การแสวงหาเลี้ยงชีพที่ไม่เหมาะสมกับสมณภาวะ)
21 และ อโคจร(สถานที่ไม่ควรเข้าไป) 5 “จตุปจฺจยสันนิสิตฺตศีล” ให้พิจารณาทุกขณะที่บริโภคปัจจัยทั้ง 4 อย่าให้ขาด ถ้าศีล 4 หมวดนี้บริสุทธิ์ ศีลอื่นๆ อีกจำนวน 9 พันโกฏิ 5 ล้าน 36 ข้อ
ก็จะบริสุทธิ์ทั้งหมด
ข้อ 3 ให้ทรงจำศัพท์ปาฏิโมกข์ทั้ง อัตถบาลี และศัพท์จน่ำชองคล่องปาก ขึ้นใจ
เข้าใจองค์(หัวข้อ)และลักษณะ สิกขาบทที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลาย (อันจะ)เป็นคลองปฏิบัติเข้าสู่พระนิพพาน ถ้าบรรพชาเป็นสามเณร
ให้ศึกษาเรียนรู้ศัพท์เครื่องปัพพชากรรม มีปฏิสังขาโย(ตังขณิกปัจจเวกขณะ) และ ยถา(ปัจจยัง
; ธาตุปัจจเวกขณะ) และอัชชะ มยา(อตีตปัจจเวกขณะ) ใน(ปัจจัย)ทั้ง
4 สรณาคมนะ(พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ) สิกขาบท
10 ประการ (ศีล 10) ให้รู้ข้อที่ควรกระทำและข้อที่ควรเว้น
จึงจะเป็นสามเณรผู้บริสุทธิ์โดยแท้
ข้อ 4 นับตั้งแต่วันที่บวชบวชเป็นพระภิกษุแล้ว
ให้ออกไปบิณฑบาตมาฉันตลอดเวลาที่ยังบวชเป็นภิกษุ หรือสามเณร ดำรงตนอยู่ในคลองวัตรปฏิบัติ
ถ้ามีจิตใจอุตสาหะมาก ให้ถือการฉันอาหาร
คาบเดียว (ฉันเอกา) ถ้าถือไม่ได้ ก็ให้ฉัน 2 คาบ โดยไม่ให้ถึงอาทิตย์ไม่าย(หลังเที่ยงวัน)ไม่ดี
ผิดแต่คลองสิกขาบท พระพุทธเจ้าทรงห้ามไว้
ข้อ 5 ในเวลาวิกาล อย่าเข้าไปเที่ยวในบ้าน
ขอให้ดำรงตนอยู่ในคลองจารีตพระภิกษถสามเณร ถ้ามีเหตุจำเป็น เช่น จะไปโปรดศรัทธา(ทายก
ทายิกา) บ้านของพ่อแม่พี่น้อง เกิดเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นพยาธิ อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ถือไฟส่องทาง
มีสหธรรมิก 2-5 รูปเป็นเพื่อนไป ครองผ้าให้เป็นปริมณฑล
ดังที่ห่มในวันบวชใหม่ สวมลูกประคำห้อยคอเป็นคุรุลักขณะแห่งสมณะ
จงอย่าไปผู้เดียว ไม่งาม จักเป็นโทษแก่ตน อาจถูกทางบ้านเมืองจับกุมคุมขังได้
ข้อ 6 สำหรับภิกษุให้เรียน
“ปาฏิโมกฺขสํวรสีล” ส่วนสามเณรให้เรียน ศัพท์เครื่องบวช ดังที่กล่าวมา มีระยะเวลาให้เรียน 1 ปี ต้องให้คล่องทั้งบาลี
และตัวศัพท์ เมื่อครบ 1 ปี เจ้าผู้ครองนคร
(เจ้าหลวง) จะให้มาสอบทวนความรู้ต่อหน้าทุกหัววัด
ถ้าตนใดท่องไม่ได้ จะเอาเป็นโทษใหญ่
ส่วนเจ้าอาวาส(เจ้าหัววัด หัววา) ให้รู้จักเสียงอักขระ ตัวหนัก ตัวเบา คือ ครุ
ลหุ ทีฆะ(เสียงยาว) รัสสะ(เสียงสั้น) สถิละ(เสียงเบา) ธนิตตะ(เสียงก้อง)” จงใส่ใจให้ดี
อย่าได้ประมาทเกียจคร้าน
ข้อ 7
ครั้นบวชเป็นพระภิกษุ หรือ สามเณรได้ 3 พรรษา เกียจคร้านร่ำเรียนพระปริยัติ ไม่เจริญจิตเมตตา ภาวนา ไม่รู้อัตถธรรม(ความหมายของธรรมะ)ของพระพุทธเจ้า จงให้สึกออกไป
ทุกรูปจงท่องบทสวด(สูตต์ หรือ ปริตต์)ให้ได้ครบ 15 วาระ(ตำนาน) เจ้าอาวาสจงสั่งสอนสิกข์ยม(เด็กวัด)ให้ได้บทสวด(สูตต์)
วันละ 3 เวลา คือ เช้า 1 ครั้ง หลังอาหารเพล
1 ครั้ง และ เมื่อตอนค่ำอีก 1 ครั้ง อย่าได้ขาด
เพื่อเป็นสาสนานุสสติ เกิดมรรคเกิดผลแก่ตน พ่อแม่ ครูอาจารย์ ญาติกา ศรัทธา คิลานุปัฏฐากทั้งหลาย
ข้อ 8 เมื่อบวชเป็นภิกษุ สามเณร จงปฏิบัติตามโอวาท คำสอน สิกขาบท ที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้
เพราะสิ่งนี้เป็นทางที่พระอริยเจ้าทั้งหลายได้ปฏิบัตินำตนเข้าสู่นิพพาน
ถึงเกษมสุขอย่างยิ่ง พระภิกษุก็ดี
สามเณรก็ดี จงประพฤติปฏิบัติตนให้ดี
เสมอต้นเสมอปลาย สำรวมระวังเสมือนดังเมื่อตนบวชใหม่
จะนับว่าเป็นการตอบแทนอาหารบิณฑบาต คิลานปัจจยะ และเสนาสนะที่ทายกทายิกาอุปถัมภ์โดยแท้
ข้อ 9 สำหรับ
อุบาสก อุบาสิกา คิลานุปัฏฐากทั้งหลายนั้น ขอให้เว้นเสียจาก บาป 5 ประการ คือว่า ฆ่าสัตว์ ลักขโมย เล่นชู้สู่เมียผู้อื่น กล่าวคำมุสามดเท็จ ยุยงส่อเสียดให้เขาผิดกัน เสพสุรายาเมา และควรเว้นจากการเป็นนักเลง
3 ประการ คือ อิตถีธุตตะ(นักเลงผู้หญิง) สุราธุตตะ(นัเลงสุรา) อักขธุตตะ(นักเลงการพนัน) จงพากันตั้งตนอยู่ในโอวาทคำสอนของพระพุทธเจ้า หมั่นรักษาศีล 5 ศีล 8 กระทำบุญ เจริญจิตเมตตาภาวนา ตามปักขะ
คือ วันออก(ขึ้น) 8 ค่ำ วันแรม 8 ค่ำ
วันอุโปสถะ วันเดือนดับ(แรม 14 -15
ค่ำ) วันเดือนเพ็ง(ขึ้น 15 ค่ำ)
ตามสติกำลังและความอุตสาหะของตน
ข้อ 10
ให้ทายก ทายิกา อุบาสก อุบาสิกา ไปถวายทานเข้าสุก น้ำอุ่น
หมากพลูแด่ แก้วเจ้า 3 ประการ(พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์) วันละ 2 เวลา
คือ เวลาเช้า 1 ครั้ง และเวลากลางวันก่อนใกล้เที่ยง อีก 1 ครั้ง อย่าให้เลยเวลาที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้แก่สมณะ
คือ ภิกษุและสามเณร ถ้าปฏิบัติได้ตามครรลองนี้
ก็จักบรรลุมรรค ผล และความสุข 3 ประการ
มีพระนิพพานเป็นที่สุดอย่างแน่นอน
ข้อ 11. ภิกษุให้บอกอโรจนะ(?? น่าจะหมายถึง การปลงอาบัติ) ทุกวัน อย่าให้ขาด
ข้อ 12 ภิกษุจงรักษาผ้าครอง 3 ผืน (ไตรจีวร) อย่าห่างจากตน(ติจีวราวิปวาส)
ข้อ 13 การย้อมผ้าจีวร
ให้ใช้เพียงการซักขยำผ้ากับหัวขมิ้นก็พอ เกินไปกว่านั้น ห้ามเด็ดขาด ขืนละเมิด จักเป็นโทษหนัก(มหันตโทษ)
ข้อ 14 ภิกษุ หรือ สามเณร อยู่ภายในวัด
หรือจะออกจากวัดไปธุระทางใด จงอย่านุ่งผ้าหยักรั้ง
ไม่ถูกจารีตของพระวินัย
กฎหมาย(ระเบียบ/ข้อบังคับ)นี้
ออก ณ เดือน 8 แรม 2 ค่ำ วันพฤหัสบดี ปีกัดเปล้า จุลศักราช 1251 ครูบาสมเด็จได้ขอให้สมเด็จมหาราชเจ้าหลวง ตราโอวาทไว้ วัดใดทำให้(โอวาท)สูญหายเสียไป จะมีโทษ
หนังสือนี้ ถ้าเจ้าอาวาสวัดใด
คัดลอกแล้ว จงส่งคืนมาเก็บ(ต้นฉบับ)ไว้ที่วัดบ้านหลุกเถิด
(ชัปนะ ปิ่นเงิน ปริวรรตจากต้นฉบับ กันยายน 2558, พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ ตรวจสอบ เรียบเรียงเนื้อหา มิถุนายน 2559)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น