แจ้งข่าวนักศึกษา012173

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

หนังสือโอวาท (นคอรเชียงใหม่) และ ลักขณะบาตร จ.ศ.1199 (พ.ศ.2380)

หนังสือโอวาท (นคอรเชียงใหม่) และ ลักขณะบาตร จ.ศ.1199 (พ.ศ.2380)  
ฉบับวัดบ้านหลุก  ตำบลเหมืองง่า  อำเภอเมือง  จังหวัดลำพูน 

ความเป็นมา  
หนังสือโอวาท (นคอรเชียงใหม่)  จ.ศ.1199 (พ.ศ.2380)  ฉบับวัดบ้านหลุก  ตำบลเหมืองง่า  อำเภอเมือง  จังหวัดลำพูน หมายเลขเอกสารที่สำรวจเดิม  ส.ส-ล.พ 858/2507 หมายเลขที่สำรวจใหม่ พ.ศ.2558  ของสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  15.0009.011.0117-01 เป็นหนังสือใบลาน ขนาดสั้น มีเนื้อหาที่ พระสังฆนายกนครเชียงใหม่ ได้บันทึกเพื่อและประกาศให้เป็นระเบียบแนวทางในการปฏิบัติกิจพระศาสนา ของพระสงฆ์ในนครเชียงใหม่  ตอนท้ายของหนังสือโอวาท มีคำอธิบายลักษณะและขนาดบาตรของพระสงฆ์ที่ควรใช้ตามพุทธานุญาต   มีคำทำนายถึงความเจริญและความเสื่อมของภิกษุผู้ใช้บาตรที่มีขนาดและลักษณะที่แตกต่างกันเอาไว้ด้วย 
โอวาท(นคอรเชียงใหม่)นี้ เป็นเอกสารโบราณ ที่มีอายุประมาณ 180 ปีที่ผ่านมา ผู้อ่านจะได้ย้อนเห็นวิถีชีวิตและธรรมเนียมการปฏิบัติของพระสงฆ์ล้านนาในสมัยโบราณ ซึ่งสะท้อนสภาพสังคมล้านนาอดีตเมื่อเกือบ 200 ปี ได้อีกหนทางหนึ่ง  (ชัปนะ ปิ่นเงิน ปริวรรตจากต้นฉบับ ตุลาคม 2558,  พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ เรียบเรียง เมษายน 2559)
สาระเนื้อหา
        ในปีจ.ศ. 1199 ตรงกับปีพ.ศ. 2380[1] ในปีเร้า(ปีเมือง) เดือน 3 เพ็ง(นับเดือนแบบทางเหนือ)  วันอังคาร  ยามแตร ขึ้นสู่เที่ยงวัน (09.01-10.30)  พระสังฆเจ้าทั้งหลาย  มีพระมหาสังฆนายกะ(วัดดวงดี)    พันธนูนมดี ราชสัณฐาน ผู้เป็นใหญ่ตำแหน่งที่  สมุหนายก  ณ เมือง เชียงใหม่  เล็งเห็นเหตุการณ์บ้านเมืองและพระพุทธศาสนา รู้สึกเสียดายหากพระพุทธศาสนาและบ้านเมืองจะเสื่อมถอยเรียวลงไปอย่างรวดเร็ว จึงอยากฝากพระพุทธศาสนาไว้ให้แก่อนุปสัมบัน  พระราชาคณะ พระฐานานุกรม  เจ้าคณะฝ่ายคามวาสี และฝ่ายอรัญญวาสี  ทุกพื้นที่ในแดนของเวียงเชียงใหม่ ราชธานี เพื่อให้พระสงฆ์สามเณรได้ปฏิบัติตามคลองวัตรเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง  ดังนี้คือ ขอให้ พระสงฆ์มีความพากเพียร เจริญเมตตา ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติ สวดมนต์ทำภาวนาทุกเช้าเย็น  ปฏิบัติกิจของสมณะดังที่คำกล่าวในการขอบรรพชา  เว้นจากการคบมิตรชั่ว จงสมาคมด้วยกัลยาณมิตรผู้ทรงปัญญา อย่าประพฤติตนเป็น ลักเลงหญิง นักเลงสุรา นักเลงการพนัน จงสำรวมระวังอินทรียะทััง 6  คือ จักขุ  โสตะ  ฆานะ  ชิวหา  กายะ  มโน  เว้นการทำบาปด้วยการ  วาจา และด้วยใจ จงหมั่นทำหน้าที่ในพระศาสนา 2 อย่าง คือ คันถธุระ(ศึกษาพระปริยัติ)  วิปัสสนาธุระ(เจริญปัญญาให้เห็นแจ้งสัจธรรม)  ก็จะบรรลุสุข 3 ประการ คือ ความสุขในภพนี้   ความสุขในภพหน้า และนิพพานสุข โดยไม่ต้องสงสัย
            ประการหนึ่ง พระภิกษุจงช่วยกันว่ากล่าวสั่งสอน ตักเตือน คฤหัสถ์อุบาสก อุบาสิกา ผู้อุปฐากวัด ถ้ามีภิกษุฝ่ายบรรพชิตกระทำผิดทำนองคลองธรรม เป็นอกุศลกรรม จงช่วยกันว่ากล่าวตักเตือนด้วยคำพูดที่ดีสองสามครั้งก่อน  ถ้าตนห้ามแล้ว เขายังไม่ฟัง  ก็ให้ไปรายงานเจ้าอาวาส ถ้าเขายังดื้อดึงไม่ฟังความ ก็ให้นำเอาตัวไปมอบแก่พระสงฆ์ผู้ปกครองในระดับสูงขึ้นไป มีเจ้าหัวอุโบสถเป็นหลัก ให้การอบรมสั่งสอนและลงโทษตามสมควรแก่ความผิดหนักหรือเบา ขอให้การพิจารณาตัดสินเสร็จสิ้นกระบวนความในหัวอุโบสถนั้น หากบรรพชิตยังดื้อแพ่ง ก็ให้เจ้าอุโบสถนำไปแสดงในท่ามกลางสงฆ์อันเป็นที่ประชุมคณะใหญ่เพื่อดำเนินการต่อไป
          ขอให้พระสงฆ์ จงใส่ใจดูแลอุบาสกอุบาสิกาด้วยปัจจัย 4 อย่างเสม่ำเสมอ อย่าให้ขาดตกบกพร่องในเรื่องนี้  แม้นว่า จะมีกิจด้วยการทำมาหากิน  การก่อสร้างห้างแปลง  การเป็น  การตาย จงอย่าได้ละเลย ให้ใส่ใจสงเคราะห์จนเสร็จกิจของเขา หากพระสงฆ์ อยากจะไปเยี่ยมไข้ หรือเยี่ยมศรัทธาอุบาลก อุบาสิกาผู้อุปัฏฐาก ในเวลาวิกาล ขอให้กล่าวลาครูบาอาจารย์ในวัดให้รับทราบก่อน และควรชวนพระภิกษุสัก 2 หรือ 3 รูปไปเป็นเพื่อนตามไฟไปด้วย ก็จะหาโทษมิได้
          ประการ 1 หากพ่อแม่ หรือ ศรัทธาผู้อุปัฏฐากวัด มีกิจการที่จำเป็นต้องมาขอความช่วยเหลือจากพระสงฆ์ ผู้เป็นพระลูกพระหลาน จงให้นำขันดอกไม้ธูปเทียนมาขออนุญาตจากเจ้าอาวาสก่อน เมื่อรับการอนุญาตจึงสมควรไปช่วยได้
หากอธิกรณ์เกิดกับพระสงฆ์ในวัด มีการทะเลาะวิวาท กระทบกระทั่งกัน  ชกต่อยกันก็ดี  หรือ ได้ล่วงสิกขาบท หนักหรือเบา เนื่องด้วยมาตุคาม(สตรี) จงไต่สวนพิจารณาโทษให้ประจักษ์ชัดก่อน ถ้าเห็นว่าไม่สามารถจะให้ครองเพศสมณะสืบศาสนาต่อไปได้ก็ให้สึกเสีย ถ้ายังไม่ล่วงถึงโทษหนัก พอจะให้อยู่สืบศาสนาได้ จงชำระอธิกรณ์ให้ถูกต้องตามตามพระธรรมวินัย จงให้ทำการขอขมาคาวระยกโทษให้กันเสีย ไม่ต้องทำอย่างธรรมเนียมชาวบ้านที่ต้องเสียสินไหม ค่าปรับ ผูกมือทำวัญ เสียค่าผิดผีบ้านผีเรือนไม่ใช่ประเพณีทางสงฆ์ จงสมัครสมานสามัคคี สลายความโกรธ และความอายเสีย อย่าเห็นร้ายว่าเป็นผี  อย่าเห็นดีว่าเป็นเสี่ยว(เพื่อน)  จงรักใคร่นับถือกัน เป็นเพื่อนทำบุญให้ทาน ฟังธรรม จำศีล เจริญเมตตาภาวนาไป  ตามสติกำลังตลอดอย่าได้ทอดทิ้งเสีย
 เมื่อถึงฤดูกาลประเพณี เข้าพรรษา  ออกพรรษา  เดือนยี่ปีใหม่   สลากภัตต์ กฐินทาน  มหาอัฏฐปริขาร  เครื่องทานการบวช   ในทุกวัด ทุกอาราม ก็อย่าได้ละจารีตประเพณีเสียที่กล่าวมานี้ หากว่าบ้านใด  วัดใด  ผู้ใด  ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งขาด อาชญาพระโอวาทกฏหมายที่ตราไว้นี้  ถ้าได้รู้ได้เห็นว่าผิดจริงก็จะได้รับโทษอย่างหนัก ขอให้พระสงฆ์ ทุกวัด ทุกอาราม และทุกรูปจงตั้งใจรักษาตนปฏิบัติตามโอวาทนี้    
         ลักษณะบาตร
          บาตรที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้มี 3 ชนิด คือ บาตรดิน  บาตรเหล็ก และบาตรหิน บาตรที่ทำจากวัสดุอื่นๆ เช่น แก้ว  เงิน  ทองฅำ  ไม้จันทน์  หรือ ไม้ชนิดอื่นใดก็ตาม ไม่ทรงอนุญาต ถ้าภิกษุขืนใช้ ต้องอาบัติ ดังความว่า  “บาตรแก้ว บาตรเงิน บาตรทองคำ บาตรทองแดง บาตรทองเหลือง บาตรทำด้วยเหียก บาตรทำด้ายชืน(ดีบุกผสมตะกั่ว) บาตรทำด้วยไม้ บาตรทำด้วยกระเบื้อง ลูกน้ำเต้า (กะโหลกศีรษะมนุษย์)  ภิกษุใช้บาตร(ที่ทำด้วยวัสดุ)เหล่านี้ ต้องอาบัติทุกฏ”
          พระพุทธเจ้าอนุญาตขนาดของบาตรตามลักขณะพาหิรศาสตร์(ลักษณะภายนอก) ดังนี้
          บาตรขนาดใหญ่ ให้นำฝ้ายมาวัดรอบปุ่มกลางบาตร  ทบฝ้ายครึ่งหนึ่ง ภิกษุรูปใดจะใช้บาตรนั้น ให้เอามือกำที่ฝ้าย ถ้าได้ 6 กำมือของตน   ชื่อว่า “อุกกัฏฐะ”  ดียิ่งนัก ถ้าไม่เต็ม  6 กำ เศษ 5 นิ้วมือขวาง  ชื่อว่า “อุกกัฏโฐมักโก”  ว่าดีปานกลาง  ถ้าวัดได้  5 กำ เศษ 5 นิ้วมือขวาง  ชื่อว่า “มัชฌิมมุกกัฏโฐ”  ดียิ่งกว่าบาตรลูกกลาง  ถ้าได้ 5 กำพอดี ชื่อว่า “มัชฌิมมโมกมะ”  ดีปานกลาง  ไม่เต็ม 5 กำพุ่น 2 นิ้วมือขวาง  ชื่อว่า “มัชฌิโมมกะ”  ด้อยกว่าปานกลาง  วัดได้ 4 กำมือปลายพุ่นนิ้วมือขวาง  ชื่อว่า “โอมักกัฏโฐ”  ไม่ด้อยหรือดีนัก  วัดได้ 4 กำพอดี ชื่อว่า “โอมโก”  ถือว่าด้อยกว่าบาตรทั้งหลาย
          อีกประการหนึ่ง ให้เอาฝ้ายมาวัดรอบที่ปุมกลาง ทบเข้าเป็น 4 ส่วน  หักออกเสียส่วน 1  (เหลือ 3 ส่วน) นำมาวัดบาตรที่ตั้งจากก้นบาตรขึ้นมา ถ้า ฝ้ายสูงถึงขอบบาตรพอดี ภิกษุผู้ใช้บตรานั้น ย่อมมีความเจริญ เป็นที่รักและเคารพของ กษัตริย์และมหากษัตริย์ทั้งหลาย ถ้าฝ้ายสูงขึ้นไปเลยนิ้วมือขวาง ภิกษุผู้ใช้ย่อมประกอบด้วยลาภและยศ  ถ้าฝ้ายนั้นสูงเลยไป 2 นิ้วมือขวาง ภิกษุนั้นจะเจริญด้วยศิษย์มาก ถ้าสูงเลยไป  3 นิ้วมือขวาง บาตรนั้นย่อมสัปปายะ(เหมาะ)แก่ภิกษุผู้ใช้ แต่ถ้าสูงเลย 4 นิ้วมือขวางไป ภิกษุผู้ใช้บาตรนั้น ย่อมไม่มีความเจริญ มักต้องอาบัติ“อาปัตติพหุโล”  ย่อมทำให้ตนฉิบหาย  ถ้าบาตรนั้นสูงไม่ถึงเส้นด้าย ขาดไป 1 นิ้วมือขวาง  ย่อมเจริญด้วย “มานฤทธิ”  ถ้าความสูงหย่อนไป  2 นิ้วมือขวาง  ภิกษุผู้ใช้ย่อมหาความสุขสบายมิได้

         อีกประการหนึ่ง ให้นำฝ้ายที่ทบ 4 ส่วนนั้นไปวัดริมปากบาตร  เส้นผ่าศูนย์กลางเต็มพอดี  ถ้าริมขอบปากของบาตรลูกใด  กว้างเท่านั้น ชื่อ “อุกฺกฏฐปตฺต”    ถ้าริมขอบปากบาตรกว้างเกินฝ้ายทบนั้นไป  โลภะตัณหาจะเจริญเป็นมากแก่ภิกษุผู้ใช้บาตรนั้น   ผิแต่ถ้าหากริมขอบปากบาตรแคบกว่าฝ้ายที่ทบนั้น  ความ “มจฺเฉร”(ความตระหนี่ถี่เหนียว) ย่อมเจริญมากแก่ภิกษุผู้ใช้บาตรนั้น   ข้อนี้ว่าตาม “พาหิรเนยฺย”(การวัดจากข้างนอก)
           ภิกษุฉันอาหารในภาชนะอื่นๆ(นอกจากบาตร) เช่น พ้อม ผอบไม้ ผอบทอง มีทองแดงเป็นต้น ต้องอาบัติทุกฏ  ข้อนี้แสดงถึงการรักษาธุดงค์ข้อ “ปัตตปิณฑิกังคะ” ฉันอาหารในบาตรเท่านั้น   (พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ตรวจสอบ เรียบเรียง พฤษภาคม 2559)




[1] ตรงกับรัชสมัยเจ้านครเชียงใหม่ องค์ที่ 4 พระยาพุทธวงศ์ (พ.ศ. 2369-2389)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น