สมานฉันท์ในพระไตรปิฎก(Unanimity as found in the Tripitaka)
บทคัดย่อ
ในระยะ 3 –4 ปีนี้ วิกฤติที่เกิดกับสังคมไทย
ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง ด้านวงการ ศาสนจักร
ก็คือ การขัดแย้ง ทะเลาะวิวาท
แก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น เอาชนะคะคาน กล่าวโทษ ใส่ร้าย ฟ้องร้อง เป็นคดีความ เดินขบวนขับไล่ ทำลายอีกฝ่ายให้ต้องมีอันเป็นไป
แบบผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ
พบทั้งในระดับส่วนตัว และระดับส่วนรวม ขัดแย้งระหว่างบุคคลต่อบุคคล บุคคลกับองค์กร องค์กรกับสถาบัน ท้ายสุดระดับประเทศ บทความนี้คงไม่ใช่ตำรายาวิเศษที่อ่านแล้วจะขจัดความขัดแย้ง
สร้างสมานฉันท์ได้ทันอกทันใจ แต่ก็อยากจะเสนอแนวคิดเกี่ยวกับสมานฉันท์
ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก และเอกสารที่เกี่ยวกับพระไตรปิฎก อาจจะเป็นเรื่องไกลตัว
ไกลจากประเทศไทยอยู่บ้าง แต่พิจารณาเห็นว่า ประเด็นที่ขัดแย้งกัน
ในเชิงโครงสร้างก็ไม่แตกต่างมากนัก
กรณีความขัดแย้งที่ปรากฏในพระไตรปิฎก
เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาระหว่างผู้คนทั้งสองฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กัน
มีหลายกรณี เพื่อสรุปให้เห็นง่าย
ขอจัดกรณีที่เกิดความขัดแย้ง ที่เป็นปรปักษ์กันเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ ก.
กรณีระหว่างบุคคลกับบุคคล(เรื่องส่วนตัว) ข.
กรณีระหว่างบุคคลกับกลุ่มคน ค. กรณีระหว่างกลุ่มคนกับกลุ่มคน ง. กรณีระหว่างรัฐต่อรัฐ
สาเหตุของการวิวาท ตามหลักคิดทางพระพุทธศาสนา
มี 2 อย่าง เกิดจากปัจจัยภายใน คือ
ทิฏฐิวิสามัญญตา และ ศีลวิสามัญญตา เกิดจากปัจจัยภายนอก
คือ อำนาจ เศรษฐกิจ
วัฒนธรรมตามกระแสโลกาภิวัตน์ เชื้อชาติ และศาสนา
ผลเสียของการวิวาทขัดแย้ง มีผลเสียหาย
เช่น เสียความรู้สึกที่เคยดีก่อกัน เสียชีวิต และทรัพย์สิน เสียเวลาในการทำมาหากิน
ไม่ไว้ใจกันต้องมัวระแวงและระวัง ต่างคนต่างมีมือกุมอาวุธทั้งเพื่อป้องกันตน
และเพื่อทำร้ายผู้อื่น ความสงบสุข สันติภาพไม่อาจเกิดขึ้นได้
เดือดร้อนไปทุกหัวระแหง
ความคิดเรื่องสมานฉันท์ เป็นหลักแห่งการอยู่ร่วมกันทั้งก่อนการแตกแยกเป็นก๊กเป็นฝ่าย
และหลังจากการแตกแยก ในกรณีก่อนการแตกแยก ไม่มีใครเห็นคุณค่าของความสมานฉันท์
แต่เมื่อแตกกันแล้ว กลับเรียกร้องหาความสมานฉันท์
วิธีการสร้างสมานฉันท์ ในพระไตรปิฎก
พระพุทธเจ้าเป็นเหมือนแพทย์ที่รักษาอาการป่วย จะวางยาตามอาการกำเริบของโรค
ไม่ใช้วิธีเหมารวมรักษาแบบยาชุดหมอตี๋
ผู้เขียนจะนำเสนอเป็น 2 แนวทาง คือ วิธีแบบวินัยปิฎก เรียกว่า อธิกรณสมถะ ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า
แนวนิติศาสตร์ ดังนี้ วิธีแบบ สัมมุขาวินัย สติวินัย อมูฬหวินัย ปฏิญญาตกรณะ เยภุยยสิกา ตัสสปาปิยสิกา และ ติณวัตถารกะ
เป็นเรื่องของแบบเลือกในการหาทางสงบข้อขัดแย้งตามพระวินัย
ดุจการตัดสินอรรถคดีทางกฎหมายบ้านเมืองในศาลสถิตยุติธรรม วิธีแบบสุตตันตปิฎก ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า
แนวรัฐศาสตร์ เท่าที่พบมีหลายวิธี แยกตามกรณีที่เกิดความขัดแย้ง ได้แก่ 1. เปลี่ยนวิธีคิดโดยการให้ตระหนักคุณค่าแห่งชีวิตกับสิ่งที่จะต้องแลกด้วยชีวิต 2. ให้รู้รักสามัคคี โดยชี้โทษของการขาดสามัคคี
และชี้คุณของสามัคคี 3. ให้รู้อภัยและอโหสิ
โดยชี้โทษของการจองเวรอาฆาตพยาบาท ว่าไม่มีทางสงบถ้าหากยังตอดเล็กตอดน้อย
ก่อกรรมกันแก้แค้นกัน 4. วางอุเบกขา หรือถอนตัว และปล่อยให้สังคม ลงโทษ
เมื่อคู่กรณีไม่ยอมรับฟังคำชี้แนะ
ผลลัพธ์จากการสมานฉันท์ ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก
พระพุทธเจ้าทรงใช้ระงับความขัดแย้งทำให้พระญาติเข้าใจกัน เป็นหนึ่งน้ำใจเดียวกัน
เลิกทัพ หันมาให้การช่วยเหลือกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัย ก็อยู่รอดทั้งสองฝ่าย ในส่วนของพระสงฆ์ชาวโกสัมพี
เมื่อถูกชาวบ้านคว่ำบาตร เกิดการสำนึกตัวได้ ขอขมากันและกัน แต่ชาวบ้านยังไม่ยอม
ให้ไปขอขมาพระพุทธเจ้าก่อน กว่าจะออกพรรษาก็ลำบากทั้งสองฝ่าย ในที่สุดก็ปรองดองกันเพราะเห็นผลกรรมการทะเลาะวิวาท
ดังที่กล่าวมา สมานฉันท์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก
อาจจะไม่ใช่ตำราวิเศษ หรือ คาถาวิเศษ เสกออกไป สังคมสงบสุขได้ทันที และทั้งหมด เพราะคนเรายังมีอคติ ค่านิยม โลภะ โทสะ
ที่ไม่เหมือนกัน การจะเข้าแก้ปัญหา ต้องใช้แบบที่เหมาะสม เพียงแค่การเอ่ยปากขอโทษ
ก็ยังดีกว่าปากแข็ง มีมานะถือตัว
อุณหภูมิความขัดแย้งก็ลดความร้อนแรงลงมาระดับหนึ่งแล้ว
-------------------
1. ความนำ
ในระยะ 3 –4 ปีมานี้ วิกฤติที่เกิดกับสังคมไทย
ไม่ว่าจะในด้านเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง ไม่ยกเว้นแม้ในวงการศาสนจักร ก็คือ การขัดแย้ง ทะเลาะวิวาท แก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น เอาชนะคะคาน ปีนเกลียว ขนาดเบา คัดคอ ไม่กินเส้น
ไม่ร่วมสังฆกรรม ขนาดหนัก กล่าวโทษ
ใส่ร้าย ฟ้องร้อง เป็นคดีความ
ชนิดสุภาพก็เข้าชื่อ 50,000 รายชื่อยื่นถอดถอน ชนิดนักเลงโต ก็เดินขบวนขับไล่
ทำลายอีกฝ่ายให้ต้องมีอันเป็นไป หายไปจากวงการ หายไปจากประเทศไทย แบบผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ การขัดแย้ง ทะเลาะวิวาทที่เกิดขึ้นนี้
พบทั้งในระดับส่วนตัว(จุลภาค) และระดับส่วนรวม(มหภาค) เป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคลต่อบุคคล บุคคลกับองค์กร องค์กรกับสถาบัน ท้ายสุดระดับประเทศ
ธรรมดาของสัตว์
ใช้สัญชาตญาณเพื่อการดำรงชีวิต หิวก็หากิน
อิ่มก็นอน มีภยันตรายมาแผ้วพาน ถ้ากล้าก็สู้ ถ้ากลัวก็หนี ถึงฤดูผสมพันธุ์
ก็สมสู่เพื่อขยายเจริญเผ่าพันธุ์ฝากโลกไว้ สัตว์ต่อสู้กัน ขัดประโยชน์กัน ก็เพื่ออาหารแต่พอประทังชีพ ปกป้องถิ่นอาณาเขตที่ตนอาศัยก็เพียงเพื่อเป็นแหล่งอาศัยหากิน
แย่งเพศเมียเพื่อสืบพันธุ์ในระยะที่เป็นสัด ยังไม่เคยพบสัตว์ชนิดใดจากสารคดีที่ทำการสะสม
กักตุนอาหารเอาไว้เป็นปีๆ
เผื่อเก็งกำไรในอนาคต
กว๊านล่าอาณาเขตแผ่ขยายกฤษดาภินิหารเป็นจักรพรรดิ ไม่พบว่า หลังจากเป็นสัดแล้ว มันยังขยันประกอบกามกิจไม่เลือกฤดูเวลา
ตัวอย่างหมีแพนดาที่นำมาจากประเทศจีน ถึงวัยเจริญพันธุ์ ก็ยังไม่พิสวาทกัน
จนคนดูแลคู่หมีช่วงช่วง และหลินฮุ่ย
มีความคิดพิเรนทร์จะเอาหนังเอ็กซ์ไปฉาย
ปลุกอารมณ์แพนดาให้คึกจะได้ผสมพันธุ์เสียที(ไม่ทราบว่าจริงหรือเท็จเพราะเป็นข่าวลือ)
ไม่เห็นสัตว์มีกิ๊ก ไม่มีสวิงกิ้งคลับ ไม่มีโคโยตี เป็นแหล่งบันเทิง
พวกมันก็กินได้ นอนหลับ ผสมพันธุ์ตามฤดูกาล เป็นไปตามธรรมชาติ
มนุษย์เราก็เป็นสัตว์โลกชนิดหนึ่ง
ไม่ต่างจากสัตว์ทั่วไปในเรื่องมีปฏิกิริยาตอบสนองสิ่งเร้าตามสัญชาตญาณ
แต่ที่ต่างจากสัตว์เพราะมนุษย์ มีสมองโตและมีรอยหยักสลับซับซ้อนมากกว่าสัตว์
จึงสามารถคิดด้วยเหตุด้วยผล มีจิตสำนึก รู้จักยับยั้งชั่งใจ
ไม่ปล่อยให้สัญชาตญาณเป็นเครื่องนำชีวิต แต่ใช้เหตุผล สติปัญญาเป็นเครื่องนำชีวิต
ถ้าเป็นไปอย่างนี้ สมควรนับว่า เป็นมนุษย์ หากไม่ใช่ ก็ยังห่างไกลจากคำว่ามนุษย์หลายโยชน์
มนุษย์อยู่รวมกันเป็นสังคม มีการศึกษาดี
มีวิชาความรู้สูง
อันที่จริงก็น่าจะดำรงชีวิตได้เป็นสุขและสงบกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น
การณ์กับกลายเป็นว่า ยิ่งเป็นสังคมเมืองเท่าใด ยิ่งมีการศึกษา
มีวิชาความรู้มากเท่าใด ยิ่งมีอำนาจวาสนาเท่าใด
ยิ่งมีความเจริญทางเทคโนโลยีมากเท่าใด ยิ่งมีช่องทางสื่อสารมากเท่าใด
สิ่งที่กล่าวมา กลับทำให้มนุษย์ ยิ่งไม่เข้าใจกัน ขัดแย้ง ทะเลาะ วิวาท กล่าวหา
ฟ้องร้อง เอาชนะ ถึงขั้นผลาญชีวิตและทำลาย
ทรัพย์สินของกันและกัน
ต่างคนต่างมีความหวาดระแวง ไม่ไว้ใจกัน อยู่ไม่เป็นสุข การคบหากันเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ และเอารัดเอาเปรียบอีกฝ่ายให้มากที่สุด
ปรากฏการณ์ที่เกิดกับประเทศไทย มีผู้นำทั้งฝ่ายศาสนจักรและฝ่ายอาณาจักร
เรียกร้องให้ลดรา วาศอก หันหน้ามาพูดคุยกัน เรียกร้องสมานฉันท์
ความปรองดองสามัคคีของคู่กรณี
ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี พุทธศักราช 2535
ก็สงบลงได้ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้หลักคิด
แต่เหตุการณ์ช่วงหลัง 2545 เป็นต้นมา เกิดความระส่ำระสายทุกทั่วดินแดน
ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง การศึกษา การประกอบอาชีพ
การดำรงชีวิตประจำวัน การก่อเหตุไม่สงบทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รู้จักกันดีว่า
ไฟใต้ มีความพยายามให้เกิดความสงบ ทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับประเทศ
รัฐบาลตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ขึ้นมาทำงาน มีการขอร้องให้เกิดความสงบ
สร้างสันติภาพในการอยู่ร่วมกัน ทว่า
ความขัดแย้งก็ยังคงมีอยู่ แถมว่าจะมีทีท่าขยายจากระดับท้องถิ่นเป็นการก่อการร้ายระดับประเทศรุนแรงมากยิ่งขึ้น
นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดกับคนไทยและประเทศไทย
ที่นับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักของชาติ
คำสอนในศาสนาพุทธเรื่องเมตตา การไม่เบียดเบียนกัน
ดูเหมือนจะเป็นเพียงกระแสลมที่พัดผ่าน
ผู้ที่กำลังขัดแย้งทะเลาะกัน หูอื้อ ตาลาย ฟังไม่ได้ยิน จิตใจร้อนรุ่ม
ยังคงไม่ตระหนักรู้ถึงสายลมเย็นและเกิดความรู้สึกเย็นขึ้นมาได้
แนวทางแก้ไขอาจจะมีหลายวิธีที่เหมาะสมกับสถานการณ์และแต่ละกรณี ทว่า
ผู้ที่ขัดแย้งกัน ยังไม่หยุด การพยายามเข้าแก้ปัญหาก็ยังคงลำบากแก่ผู้ปฏิบัติงาน สงครามระหว่างประเทศ
เพื่อแก้ปัญหาเขายังเจรจาหยุดยิง พักรบก่อน
หากยังไม่รบกัน แต่อุณหภูมิความขัดแย้งเพิ่มปริมาณมากขึ้นพร้อมจะระเบิดศึก
ฝ่ายหนึ่งท้าทาย อีกฝ่ายหมายมั่นจะขย้ำ เช่น กรณีเกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อยังไม่ยกกองกำลังเผชิญหน้า
ชาวโลกก็พยายามให้เกิดการเจรจาพูดคุยกันก่อน หากคุยไม่รู้เรื่อง ตกลงกันไม่ได้
สงครามก็ตามมา นี้คือความขัดแย้งแตกเป็นฝักเป็นฝ่ายของชาวโลก
บทความนี้คงไม่ใช่ตำรายาวิเศษที่อ่านแล้วจะขจัดความขัดแย้ง
สร้างสมานฉันท์ได้ทันอกทันใจ และเป็นยาขนานเอกที่รับประทานแล้ว โรคจะหายขาด ไม่เกิดความขัดแย้งอีก ความขัดแย้งในบ้านเมือง
ขยายขอบเขตจนควบคุมไม่ได้ ไม่มีใครใหญ่พอที่จะพูดคำเดียวแล้วทุกคนฟัง
เหมือนสมัยก่อน ดังความขัดแย้งระหว่างพระสงฆ์กับพระสงฆ์
ความขัดแย้งระหว่างญาติของพระพุทธเจ้าในการแย่งน้ำทำกสิกรรม
บางกรณีพระพุทธเจ้าทรงสามารถห้ามทัพ สงบศึกได้
แต่บางครั้งก็สุดความสามารถของพระองค์
ต้องเสด็จหลีกปลีกวิเวกเข้าป่ารักขิตวันไป
กรณีที่พระองค์ห้ามไม่สำเร็จ
ก็จะเกิดกระบวนการจากคนภายนอกผู้มีส่วนได้เสียช่วยจัดการ ความขัดแย้งนั้นก็ระงับไป
บ้านเมืองเราลุกเป็นไฟ
ทุกคนหมายมั่นเอาชนะ ชุนละมุนเหมือนนักมวยบนเวที ไม่มีกรรมการห้าม
อยากจะเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างความสมานฉันท์ ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก
และเอกสารที่เกี่ยวกับพระไตรปิฎก อาจจะเป็นเรื่องไกลตัว ไกลจากประเทศไทยอยู่บ้าง
แต่พิจารณาเห็นว่า ประเด็นที่ขัดแย้งกันในเชิงโครงสร้างก็ไม่แตกต่างมากนัก เช่น
ขัดแย้งทางความคิดเห็นไม่ลงรอยกัน ขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ทั้งส่วนตนและส่วนรวม
ขัดแย้งเรื่องส่วนตัวอาฆาตพยาบาทจองกรรมจองเวรกัน
ขัดแย้งในการอ้างอำนาจความชอบธรรมเพื่อละเมิดสิทธิของผู้อื่น เป็นต้น ในประเทศจีน
ข้อสนทนาระหว่างมหาเมธี เล่าจื๊อและขงจื๊อ เกี่ยวกับการแย่งชิงระหว่างมนุษย์
เล่าจื๊อ กล่าวว่า “เหล่าเจ้าเมืองแย่งชิงอาณาจักร
เหล่าอ๋องแย่งชิงดินแดน เหล่าต้าฝู(นายทหาร) แย่งชิงอำนาจ
ผู้มีศักดิ์(เหล่าขุนนาง)แย่งชิงคือฐานะ
ราษฎรแย่งชิงก็คืออาหาร”
ประเทศไทยก็มีชนชั้น ไม่ต่างจากจีนสมัยก่อน การขัดแย้งก็เพื่อเอา “อะไร” จากผู้อื่น เห็นว่าไม่น่าจะแตกต่างมากเกินไป
เมื่อมีความขัดแย้ง
ต้องมีความพยายามทำให้ปรองดอง ที่เรียกว่า สมานฉันท์
เพื่อการอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสันติ ความวุ่นวายก็ระงับลง บทเรียนจากอดีต
โดยเฉพาะความขัดแย้งหลายเรื่องที่กล่าวในพระไตรปิฎก ได้ค้นพบแนวทางการระงับความขัดแย้ง
ทั้งในส่วนพระวินัยปิฎก และพระสุตตันตปิฎกหลายวิธี
การนำวิธีการต่างๆเหล่านั้นมาปัดฝุ่นและพิจารณาหาทางปรับใช้แก้ไขความขัดแย้งในสังคมไทยปัจจุบัน
หากผู้ที่กำลังก่อความไม่สงบอยู่ หยุดที่จะฟัง และพยายามฟังให้ได้ศัพท์
น่าจะเกิดประโยชน์ใดๆได้บ้าง
2.
กรณีความขัดแย้งที่ปรากฏในพระไตรปิฎก
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาระหว่างผู้คนทั้งสองฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กัน
มีหลายกรณี
หากจะเล่าโดยละเอียดทำให้เสียเวลา
แต่ก็ควรจะรู้กรณีที่เป็นจุดก่อให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องอะไรบ้างเป็นประเด็นหลัก
ขอจัดกรณีที่เกิดความขัดแย้ง ที่เป็นปรปักษ์กัน สรุปให้เห็นง่ายๆ เป็น 4 กลุ่ม
ดังนี้
ก. กรณีระหว่างบุคคลกับบุคคล(เรื่องส่วนตัว)
ความขัดแย้งระหว่างบุคคลกับบุคคล
ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ก่อเหตุ เรียกว่า ฝ่ายกระทำ อีกฝ่ายเป็นผู้เสียหาย เรียกว่า
ผู้ถูกกระทำ โดยที่ฝ่ายกระทำได้สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจก่อความอาฆาตพยาบาท อิจฉา
ริษยา ทำให้อีกฝ่ายสูญเสียทั้งทรัพย์สิน หรือ ชีวิต
ทั้งสองฝ่ายบางเรื่องก่อความเสียหายในชาติปัจจุบัน บางเรื่องเวรก่อกรรมเป็นคู่เวร
คู่กรรม กันชนิดข้ามภพข้ามชาติ ดังเรื่องย่อต่อไปนี้
2.1 ความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าพรหมทัต กับทีฆาวุกุมาร [1] เรื่องมีว่า พระเจ้าพรหมทัต ผู้ครองแคว้นกาสี ได้ยกทัพย์ไปล่าอาณาจักรของพระเจ้าทีฆีติโกศล แค้วนโกศล พระเจ้าพรหมทัตรบชนะ พระเจ้าทีฆิติโกศลพร้อมเหสีเสด็จหนี ปลอมพระองค์เป็นปริพพาชกมาอาศัยในเมืองพาราณสี เมื่อมเหสีประสูติพระโอรส จึงขนานานามว่า ทีฆาวุกุมาร เพื่อความปลอดภัยของโอรส จึงให้โอรสอยู่นอกเมืองให้ศึกษาวิชาความรู้ ต่อมาทั้งสองพระองค์ถูกจับเป็นเชลย พระเจ้าพรหมทัตสั่งประหารชีวิตกษัตริย์ข้าศึก ในวันที่พระชนกชนนีถูกแห่ประจานนำไปแดนประหาร ทีฆาวุกุมารตั้งใจไปเยี่ยมพระชนกชนนี ก็ได้พบภาพสะเทือนใจเช่นนั้น เดินเข้าไปหาทันที
2.1 ความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าพรหมทัต กับทีฆาวุกุมาร [1] เรื่องมีว่า พระเจ้าพรหมทัต ผู้ครองแคว้นกาสี ได้ยกทัพย์ไปล่าอาณาจักรของพระเจ้าทีฆีติโกศล แค้วนโกศล พระเจ้าพรหมทัตรบชนะ พระเจ้าทีฆิติโกศลพร้อมเหสีเสด็จหนี ปลอมพระองค์เป็นปริพพาชกมาอาศัยในเมืองพาราณสี เมื่อมเหสีประสูติพระโอรส จึงขนานานามว่า ทีฆาวุกุมาร เพื่อความปลอดภัยของโอรส จึงให้โอรสอยู่นอกเมืองให้ศึกษาวิชาความรู้ ต่อมาทั้งสองพระองค์ถูกจับเป็นเชลย พระเจ้าพรหมทัตสั่งประหารชีวิตกษัตริย์ข้าศึก ในวันที่พระชนกชนนีถูกแห่ประจานนำไปแดนประหาร ทีฆาวุกุมารตั้งใจไปเยี่ยมพระชนกชนนี ก็ได้พบภาพสะเทือนใจเช่นนั้น เดินเข้าไปหาทันที
เมื่อพระชนกชนนีเหลือบเห็นทีฆาวุกุมารเดินมาแต่ไกล
จึงตรัสกับทีฆาวุกุมารโดยตรง เพื่อเตือนสติพระโอรส ว่า “พ่อทีฆาวุ
เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น” ทุกคนก็คิดว่าคนใกล้ตายคงวิกลจริตบ้าเพ้อเจ้อ
ไม่มีใครสนใจ และกล่าวพระราชาพูดไม่รู้เรื่อง ว่าทีฆาวุเป็นใคร พระเจ้าทีฆีติโกศล
ตรัสตอบว่า “เราไม่ได้วิกลจริต ผู้ใดรู้เรื่อง ผู้นั้นจักเข้าใจ”
แล้วเพชฌฆาตนำพระองค์ไปแดนประหาร
ลงดาบประหารชีวิตสิ้นพระชนม์พร้อมมเหสี
ทีฆาวุกุมาร
เสียพระทัยมาก จึงวางแผนแก้แค้น โดยไปสมัครเป็นลูกศิษย์นายหัตถาจารย์(คนฝึกช้างของราชาพรหมทัต)
ทำงานด้วยความเอาใจใส่จนนายหัตถาจารย์พอใจ
ท้ายสุดได้เลื่อนตำแหน่งขยับจนเข้าถึงองค์พระเจ้าพรหมทัตได้เป็นราชวัลลภใกล้ชิด
วันหนึ่งพระเจ้าพรหมทัตจะประพาสป่าล่าเนื้อ
จึงสั่งให้ทีฆาวุกุมารเทียมราชรถเป็นสารถีขับไป เมื่อถึงป่า ทีฆาวุกุมารก็ควบม้านำราชรถเข้าป่าลึกไม่มีเสนาใดตามทัน
เห็นว่าไกลแล้วก็หยุดพัก
พระเจ้าพรหมทัตก็พักเหนื่อยและบรรทมเอาพระเศียรหนุนบนตักทีฆาวุกุมาร หลับไป
เมื่อศัตรูมาอยู่ในเงื้อมมือเช่นนี้
ทีฆาวุกุมารก็นึกถึงความแค้นที่ราชาพรหมทัตแย่งชิงดินแดนและประหารชีวิตพระชนกชนนีของพระองค์
ความแค้นแน่นอก เมื่อพบคู่เวรในโอกาสเป็นใจเช่นนี้
ก็ชักพระขรรค์ขึ้นมาหมายจะบั่นเศียรพระเจ้าพรหมทัตให้ขาด
แต่โอวาทพระบิดาที่สั่งก่อนถูกประหารผุดขึ้นมาเตือนสติ ทีฆาวุกุมาร ยั้งพระทัยได้
พระองค์เวียนชักพระขรรค์ถึง 3 ครั้ง ก็หยุดยั้งได้ถึง 3 ครา
ขณะนั้น ราชาพรหมทัตสะดุ้งตื่นขึ้นมา
คงสำเหนียกในกระแสจิตที่อาฆาตรุนแรง เล่าให้ทีฆาวุกุมารฟังว่า “พระองค์ฝันว่าทีฆาวุกุมารกำลังเอาพระแสงประหารพระองค์”
ทีฆาวุกุมารก็จับพระเศียรของราชาพรหมทัตชักพระขรรค์เงื้อขึ้นพร้อมกล่าวสำทับว่า “ข้าพระองค์ คือ ทีฆาวุกุมาร ที่ถูกราชาพรหมทัตทำร้ายบิดามารดา
แย่งอาณาจักร จะขอล้างแค้นวันนี้” ราชาพรหมทัตก็ก้มเศียรยอมแพ้ร้องขอชีวิตจากทีฆาวุกุมาร ทีฆาวุกุมารกลับบอกว่า “ผู้ที่จะประทานชีวิตให้ทีฆาวุ ก็คือพระเจ้าพรหมทัตต่างหาก” ท้ายสุดต่างฝ่ายต่างสาบานให้อภัยชีวิตแก่กันและกัน ศัตรูก็กลายมาเป็นมิตรที่รักน้ำใจกันอย่างยิ่ง
ราชาพรหมทัตก็ประทานพระราชธิดาให้อภิเษกกับทีฆาวุกุมาร ความขัดแย้งก็สงบลงด้วยดี
2.2 ความขัดแย้งระหว่างภรรยาหลวงกับภรรยาน้อย(กาลียักษิณี)[2]
2.2 ความขัดแย้งระหว่างภรรยาหลวงกับภรรยาน้อย(กาลียักษิณี)[2]
การครองชีวิตคู่หากมีมือที่สามเข้ามาก็เกิดครอบครัวล่มสลาย
เพราะคู่แข่งย่อมหาทางทำลายอีกฝ่ายเพราะความริษยา ภรรยาหลวงเป็นหมัน
เมื่อภรรยาน้อยเกิดตั้งครรภ์ก็เกรงว่าสามีจะไม่รักตัว
จะมอบความเป็นใหญ่ให้ภรรยาน้อย วางแผนกำจัดปรุงยาทำลายครรภ์จนภรรยาน้อยแท้งลูก
ตั้งครรภ์คราวใดก็ถูกทำลายทุกครั้ง สุดท้ายเป็นอันตรายถึงชีวิต
ทั้งคู่จึงอาฆาตจองเวรกัน เกิดเป็นศัตรูคู่อาฆาตหลายภพหลายชาติ
สุดท้ายภรรยาน้อยเกิดเป็นยักษิณี ภรรยาหลวงเกิดเป็นกุมารีได้ลูกน้อย
ยักษิณีมาจับกิน สองครั้ง ครั้งที่สามเมื่อคลอดบุตรอีกจึงชวนสามีไปเมืองสาวัตถี
นางยักษิณีตามทันก็จะจับกิน
กุมารีแม่ลูกอ่อนจำได้จึงอุ้มลูกวิ่งหนีภัยไปถึงวัดพระเชตวัน ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่
พระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรม กุมารีก็นำบุตรไปวางไว้แทบพระบาทพร้อมว้อนวอนว่า
ช่วยชีวิตบุตรนางด้วย ยักษิณีตามมาถึงวัด
พระพุทธเจ้าให้นางยักษิณีเข้ามาแล้วตรัสสอนว่า “โชคดีที่พวกเธอมาถึงฉัน
ถ้าไม่อย่างนั้นเวรก็คงจะไม่สิ้นสุด เพราะเวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร”
จงเลิกราต่อกันเสีย ทั้งคู่เวรข้าภพข้าชาติก็สงบลงได้
2.3 ความขัดแย้งระหว่าง พระติสสะกับพระอาคันตุกะ[3]
ท่านติสสะ
เป็นเชื้อสายศากยะมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของพระพุทธเจ้า มาบวชตอนอายุมาก
บวชแล้วก็ไม่ได้ศึกษาปฏิบัติให้รู้ เพราะความเป็นคนแก่ ท่าทางภูมิฐาน
ร่างกายสมบูรณ์ เหมือนพระเถระมีพรรษามาก และชอบนั่งพักที่ศาลาโรงฉันประจำ
เมื่อพระอาคันตุกะมาเฝ้าพระพุทธเจ้า เห็นพระติสสะก็ทึกทักเอาว่าเป็นพระผู้ใหญ่
จึงไปเรียนถามถึงวัตรปฏิบัติต่างๆ พระติสสะตอบไม่ได้ พระอาคันตุกะถามถึงพรรษา
ก็บอกว่าตนพึ่งบวชใหม่ ถึงถูกพระอาคันตุกะตำหนิว่าไม่ควรมานั่งที่โรงฉันนี้ พระติสสะเสียใจ
เกิดมานะทิฏฐิว่าตัวเป็นพระญาติของพระพุทธเจ้า
จึงรีบไปฟ้องพระพุทธเจ้าว่าพระอาคันตุกะด่า
พระอาคันตุกะก็ตามไปด้วย เมื่อสืบสาวราวเรื่องกลายเป็นว่า
พระติสสะเป็นฝ่ายผิดที่ทำตัวไม่เหมาะ พระพุทธเจ้าแนะให้พระติสสะขอขมาพระอาคันตุกะ
พระติสสะเป็นคนมีมานะถือตัวจัด หัวรั้นมาก หัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ยอมขอโทษ เห็นนั้น
ที่ประชุมจึงพูดกันว่า ท่านติสสะช่างเป็นคนว่ายากจริงแท้
กว่าจะปราบได้ต้องเล่าชักนิสัยว่ายากในอดีตของพระติสสะมา ท่านติสสะถึงได้ละมานะเป็นคนว่านอนสอนง่าย
2.4
ความขัดแย้งระหว่างหมีกับไม้ตะคร้อ[4]
เรื่องนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างหมีกับรุกขเทวดาเฝ้าต้นตะคร้อ
วันหนึ่งหมีหากินแล้วแอบงีบที่ใต้ต้นตะคร้อ พอดีลมพัดเอากิ่งตะคร้อหล่นมาถูกคอหมี
ตกใจก็วิ่งหนี แล้วกลับมาดูก็ไม่เห็นว่ามีสัตว์อะไรทำหล่นใส่จึงคิดว่า “ชะรอยรุกขเทวดาที่สิ่งอยู่ที่ต้นตะคร้อแกล้งทำร้ายตน” จึงผูกอาฆาตว่า “ดีละเจ้าทำร้ายเรา
เราจะกลับมาโค่นเจ้าทั้งรากทีเดียว”
วันหนึ่งเดินไปพบช่างไม้ก็ถามว่า “ท่านหาไม้ไปทำอะไร” ช่างไม้บอกว่าจะหาไม้เนื้อแข็งไปทำรถ หมีก็เห็นช่องทางแก้แค้นรุกขเทวดา
จึงบอกว่า “ไม้อื่นๆ ไม่ดีเท่าไม้ตะคร้อหรอก
หากจะหาไม้จงเลือกตะคร้อเถิด” แล้วจากไป ช่างไม้ก็จะมาตัดโค่นต้นตะคร้อทำรถ
รุกเทวดาโกรธหมีที่ทำลายวิมานตน ก็จำแลงเป็นช่างไม้บอกอุบายว่า “เมื่อท่านได้รถแล้ว
หากจะให้ดีก็ควรเอาหนังจากลำคอหมีมาทำเป็นหนังรองหุ้มกงรถ มันจะแกร่งดุจหุ้มด้วยเหล็กเชียวหละ” พวกช่างไม้ถามว่า “จะได้หมีจากไหน” เทวดาบอกว่า “ตัวที่มันบอกท่านเรื่องไม้ตะคร้อนั่นแหละ
ไปหลอกมันให้มาชี้ต้นตะคร้อ เมื่อมันเผลอจงเอาขวานบั่นคอมันแล้วลอกหนังคอมัน
งานของท่านก็สำเร็จ” เป็นอันว่า
เพราะความโกรธอาฆาตกันโดยไม่พิจารณา รุกขเทวดาก็ไม่มีวิมานสิงสู่
เจ้าหมีก็ต้องสังเวยชีวิตตนเพราะความวู่วาม
2.5
ความขัดแย้งระหว่างนางนกไส้กับช้างเกเร [5]
เรื่องนี้เป็นการผูกอาฆาตระหว่างนางนกไส้กับช้างเกเรตัวหนึ่ง
วันหนึ่งพระยาช้างจ่าโขลงนำช้างบริวารออกหากินไปถึงรังนางนกไส้ ที่กำลังมีลูกเล็กๆ
นกไส้ก็อ้อนวอนขอให้พระยาช้างไว้ชีวิตลูกอย่าเหยียบย่ำเลย
พระยาช้างจึงยืนเอาขาคร่อมรังนกให้ปลอดภัยจากช้างอื่นๆ และบอกว่า
เจ้าพบเราไม่เป็นอันตรายหรอก แต่ในป่านี้ มีช้างตัวหนึ่งหากินผู้เดียวนิสัยเกเร
ถ้าหากเจ้าพบเขาจงอ้อนวอนเขาเถิด และแล้วก็พบช้างดังกล่าวออกหากินมาในถิ่นนกไส้
นกไส้ก็อ้อนวอนดังที่กล่าวมา แต่ช้างเกเรไม่ฟัง
อวดอ้างอำนาจที่ตนมีร่างกายใหญ่กว่า มีพลังมากกว่า กลับกล่าวว่า “เราจะเหยียบลูกเจ้าให้ตายหมด” ว่าแล้วก็เหยียบลูกนกตาย นางนกไส้เสียใจผู้อาฆาตว่า “วันนี้เจ้าใหญ่ไปก่อนเถอะรออีก สองสามวัน
เราจะสอนเจ้าให้รู้ว่า กำลังความรู้ยิ่งใหญ่กว่ากำลังกายเพียงใด” นางนกไส้ก็ไปบำรุงกา
เมื่อกาพอใจถามว่า จะให้เราช่วยอะไร
นกไส้บอกว่า ไม่ต้องทำอะไรมาก
ขอให้ช่วยไปจิกลูกตาช้างตัวหนึ่งที่อยู่เพียงตัวเดียวให้แตกทั้งสองข้าง
แล้วก็ไปขอความช่วยเหลือแมลงวันหัวเขียวให้หยอดไข่ขางที่ช้างตาบอดให้ตาเน่า แล้วไปหากบขอร้องว่า
เมื่อช้างตาบอดเที่ยวหาน้ำดื่มเพราะกระหาย กบจงร้องหลอก
ที่บนภูเขาสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เหมือนว่ามีหนองน้ำอยู่ข้างหน้า
เมื่อช้างหลงกลตามขึ้นภูเขา ถึงปากเหว จงลงไปร้องที่ก้นเหว แค่นี้ก็พอแล้ว เมื่อกาจิกตาช้างแตก
เป็นช้างตาบอด แมลงวันก็หยอดไข่ขางซ้ำให้ตาช้างเน่า ช้างตาบอดหากินไม่ได้ก็หิวโหย
หาน้ำกิน กบก็ร้องหลอกจนช้างตกเหวตาย เพราะความใจร้ายไม่กรุณาต่อผู้อ่อนแอกว่า
อวดอ้างถือดีในกำลังกายของตน จึงแพ้ภัยพันธมิตร 4 สหาย กา
นกไส้ แมลงวัน หัวเขียว และ กบ รวมหัววางแผนอย่างเป็นขั้นตอนผลาญสัตว์ใหญ่จนม้วยมรณ์
ข. กรณีระหว่างบุคคลกับกลุ่มคน
2.6
ความขัดแย้งระหว่างเจ้าชายวิฑูฑภะกับกลุ่มชาวศากยะ[6]
กรณีความขัดแย้งระหว่างบุคคลกับกลุ่มคนนั้น
มีหลายเรื่อง จะนำมาเล่าเพียงเรื่องเดียว คือ
ความอาฆาตของเจ้าวิฑูฑภะกับชาวศากยะ
พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้นางวาสภขัตติยา
ธิดาที่เกิดจากสนมทาสีกับพระเจ้ามหานาม
กษัตริย์กรุงกบิลพัสดุ์ที่สืบราชสมบัติต่อจากการสวรรคตของพระเจ้าสุทโธทนะ
พระพุทธบิดา โอรส คือ วิฑูฑภะ ได้ไปเยี่ยมพระญาติฝ่ายมารดาที่กบิลพัสดุ์
แต่ถูกชาวศากยะ มีมานะถือตัวจัด หยิ่งในศักดิ์ศรี ทั้งที่วิฑูฑภะเป็นโอรสแคว้นโกศลซึ่งมีอำนาจเหนือกบิลพัสดุ์
กลับดูหมิ่นว่าเป็นเพียงหลานนางทาสี ต้อนรับไม่สมเกียรติ เมื่อวิทูฑภะกลับ
ชาวศากยะจึงให้เอาน้ำนมมาล้างอาสนะที่วิฑูฑภะนั่ง
ความทราบถึงวิทูฑภะ จึงผูกอาฆาตว่า “ตอนนี้พวกเจ้าชาวศากยะเอาน้ำนมล้างที่เรานั่งไปก่อน
ภายหลังเราจะเอาเลือดในลำคอพวกชาวศากยะล้างพระบาทเรา”
ภายหลังวิฑูฑภะได้ครองราชย์แทนพระบิดาปเสนทิโกศล จึงยกทัพไปกำจัดชาวศากยะ
เอาเลือดจากคอชาวศากยะล้างพระบาทและอาสนะที่ตนเคยนั่ง
ล้างแค้นเกือบหมดเชื้อชาวศากยะ
ค. กรณีระหว่างกลุ่มคนกับกลุ่มคน
2.7 ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มพระสงฆ์ชาวโกสัมพี [7]
ประเด็นต่อมาเป็นเรื่องความเห็นไม่ลงรอยระหว่างสงฆ์สองฝ่าย
คือ ฝ่ายพระวินัยธร(พระฝ่ายเคร่งวินัย) กับฝ่ายพระธรรมธร(พระฝ่ายนักเทศน์)
ชาวเมืองโกสัมพี อยู่วัดโฆสิตาราม ตอนนั้น พระพุทธเจ้าก็ประทับอยู่ด้วย วันหนึ่ง
เมื่อพระธรรมธรไปทำสรีรกิจที่ห้องน้ำ เหลือน้ำชำระไว้ในภาชนะชำระ
ทำเนียมวินัยเมื่อใช้ภาชนะชำระเสร็จต้องคว่ำเก็บไว้ แต่พระธรรมธรไม่ได้ทำ
เมื่อพระวินัยธรเข้าไปภายหลังพบเช่นนั่นก็กลับมาถามพระธรรมธรว่าไม่ทราบธรรมเนียมหรือ
ท่านต้องอาบัติแล้วนะ พระธรรมธรบอกว่า ผมไม่ทราบว่ามีธรรมเนียมเช่นนี้ พระวินัยธรก็บอกว่า
ไม่ทราบไม่เป็นอาบัติ แต่เมื่อกลับไปคณะสงฆ์ฝ่ายตนก็นินทาว่า พระธรรมธรไม่รู้วินัย
ต้องอาบัติก็ไม่รู้ ยังอวดว่าเป็นพระธรรมกถึก นักเทศน์เอกอีก
ลูกศิษย์ก็ปากพล่อยไปซุบซิบกับลูกศิษย์พระธรรมธร ว่า
อาจารย์ท่านต้องอาบัติก็ไม่รู้ เรื่องเข้าหูพระธรรมธร ด้วยความโกรธที่ถูกหักหน้า
ก็กล่าวว่า พระวินัยธรช่างเจรจาสับปลับ ตอนแรกบอกว่าไม่รู้ไม่เป็นอาบัติ
ตอนนี้กลับปรับอาบัติเรา พระอะไรเจรจาไม่อยู่กับร่องกับรอย
เมื่อต่างฝ่ายกล่าวหากันเช่นนี้ เรื่องทะเลาะวิวาทก็ลุกลามจากลูกศิษย์พระ
ขยายออกไปยังลูกศิษย์ฆราวาส สงฆ์สองฝ่ายทำสงครามน้ำลายกัน ไม่ยอมเลิกรา
เรื่องวิวาทใหญ่ขึ้นเพราะน้ำผึ้งหยดเดียวดุจไฟลามทุ่ง
พระพุทธเจ้าทรงเสด็จมาห้ามปราม ก็ไม่มีฝ่ายใดยอม ต่างคนต่างเก่ง
กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า “อย่ามายุ่งเรื่องพวกตนเลย” เมื่อห้ามไม่ฟัง
พระพุทธเจ้าทรงระอา จึงเสด็จหลีกไปปลีกวิเวกในป่ารักขิตวัน
เป็นที่รู้กันจนเกิดพระพุทธรูปปางปาลิไลยกะที่มีช้างกับลิงอุปัฏฐาก
ขนาดพระพุทธเจ้ายังปรามไม่อยู่ นี่ก็เป็นอุทาหรณ์ว่า
บางเรื่องเมื่อทะเลาะกันขยายวงกว้าง ผู้ใหญ่ก็ต้องหลบมุม
2.8 ความขัดแย้งของฝูงนกกระจาบ[8]
การทะเลาะกันของฝูงนกกระจาบป่า
เรื่องมีว่า มีนกกระจาบฝูงหนึ่ง หากินเสร็จแล้วก็มาจับกลุ่มนอนที่ต้นไม้ใหญ่ นายพรานนกเห็นเช่นนั้น ก็เอาตาข่ายล้อมไว้
หวังจับทั้งฝูง แต่เมื่อมีภัยถึงตัว นกกระจาบทุกตัว
ก็ช่วยกันเอาหัวสอดเข้าตาข่ายแล้วพร้อมใจกันบินขึ้นพร้อมกัน ก็ยกตาข่ายนายพรานไปทิ้งเสียทุกครั้ง ต่อมาวันหนึ่ง ขณะที่จับคอนนอนกันนั้น
นกกระจาบตัวหนึ่งเผลอกระทบกระทั่งกับนกอีกตัว
เรื่องก็เลยมีปากเสียงกันอ้างความสำคัญของตัวว่า
ที่ยกตาข่ายนายพรานไปได้เพราะตัวเป็นหลัก อีกตัวก็ไม่ยอม บอกว่า
ข้านี้แหละตัวจักรสำคัญ ต่างตัวก็มีพวกถือหาง ท้ายสุดเมื่อถูกตาข่ายครั้งหลัง เกี่ยงงอนกันว่า
“เอาสิ ถ้าพวกแกแน่ ลองยกตาข่ายออกไปสิ” ปรากฏว่า
ไม่สามารถยกตาข่ายบินออกไปได้ พวกที่นอนรอกินกำลังเพื่อนก็ถูกนายพรานเหมารวบหมด
เพราะไม่มีใครยอมกัน เกี่ยงงอนกันทำงาน ถือตัวว่า หากขาดเราจะรู้สึกทำนองนี้
หายนะก็มาเยือน
ง.
กรณีระหว่างรัฐต่อรัฐ
2.9 ความขัดแย้งระหว่างศากยะกับโกลิยะ(พระญาติแย่งน้ำ)[9]
เมืองกบิลพัสดุ์ มืองพระญาติฝ่ายบิดากับเมืองเทวทหะเมืองพระญาติฝ่ายมารดาของพระพุทธเจ้า ระหว่างเขตแดนเมืองทั้งสอง มีแม่น้ำโรหิณีเป็นเส้นแบ่งอยู่ ชาวเมืองกั้นทำนบอาศัยน้ำจากลำน้ำโรหิณี ทำนา ต่อมาสมัยหนึ่ง ในฤดูทำนา ถึงเดือน 7 เกิดน้ำขาดแคลนเพราะฝนแล้ง พากข้าทาสทั้งหลายที่ทำนาก็เจรจากันว่า บัดนี้ น้ำน้อย หากพวกเราทั้งสองฝ่ายต่างวิดน้ำเข้านา น้ำก็จะไม่พอ หรือหากฝ่ายเรา หรือฝ่ายท่านวิดน้ำเอาทั้งหมด ข้าวกล้าขอพวกเราฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็จะตายแล้ง ข้าวกล้าของฝ่ายเรากำลังงาม จะออกรวงแล้ว หากได้น้ำฤดูนี้ก็จะได้ผลดี ขอให้เรานะ อีกฝ่ายก็ต่อรองทำนองเดียวกัน โดยกล่าวว่า ขอเราเถิด ท้ายสุดไม่ยอมเพราะกล่าวว่า เมื่อฉางข้าวท่านเต็ม พวกเราคงต้องถือกระสอบขอทานแล้วละ เกิดด่าทอกัน ลามปามไปถึงโคตรวงศ์ขุดค้นประวัติบรรพบุรุษขึ้นมาประณามกัน
ชาวโกลิยะ
ด่าชาวศากยะถึงโคตรเดิมของชาวศากยะว่า “เกิดจากพี่น้องสมสู่กันเอง
ไม่อาย ทำตัวเหมือนสุนัขบ้าน และสุนัขจิ้งจอก กองทัพศากยะไร้น้ำยา” ฝ่ายโกลิยะก็กลับถูกด่าโต้คืนว่า
“พวกแกเป็น ลูกหลานคนขี้เรื้อน
หนีจากบ้านไร้ที่อาศัยเหมือนเดียรฉาน ไปอยู่อาศัยป่าโกละ อาวุธพวกแกแน่แค่ไหน” จากทะเลาะแค่คนงาน ก็ลามไปถึง
ระดับเจ้านาย ฝ่ายเจ้านายก็โกรธโดยไม่สอบสวน
กลายเป็นศึกปกป้องศักดิ์ศรีของสองตระกูล ยกทัพมาประจันหน้ากัน
ร่ำๆจะลงมือลั่นกองรบ
พระพุทธเจ้าทราบข่าวเสด็จไปเพื่อทรงระงับสงครามระหว่างพระญาติทั้งสองฝ่าย ทรงประชุมพระญาติทั้งสองฝ่ายแล้วซักถามถึงต้นตอของตัวปัญหาเพื่อไล่เลียงสอบถามเรื่องที่ทะเลาะวิวาทกัน ดังคำสนทนาว่า
พระพุทธเจ้า ทะเลาะกันเรื่องอะไร
พระญาติ เรื่องน้ำ
พระพุทธเจ้า น้ำตีราคาเท่าใด
พระญาติ ราคาน้อย
พระพุทธเจ้า กษัตริย์ ตีราคาเท่าใด
พระญาติ ประเมินค่ามิได้
พระพุทธเจ้า ระหว่างน้ำกับชีวิตคน อย่างไหนจะมีค่ามากกว่ากัน
พระญาติ
ชีวิตคนมีค่ามากกว่า
พระพุทธเจ้า ควรจะทะเลาะกันฆ่ากันเพราะน้ำที่มีราคาน้อยหรือไม่
พระญาติ ดุษณีภาพทุกคน ไม่มีใครกราบทูล
พระพุทธเจ้า “ถ้าเราตถาคตไม่มาที่นี่วันนี้ ทะเลเลือดจะไหลนอง”
พระญาติทั้งสองฝ่ายเลยเลิกทัพกลับมาปรองดองกัน
นอกจากนี้
ก็มีเรื่องความขัดแย้งระหว่างมคธกับโกศล และความขัดแย้งระหว่างมคธกับวัชชี จนคนไทยรู้จัก
“วัสสการพราหมณ์” ที่ทำลายความปรองดองของชาววัชชี เกิดสามัคคีเภท
นายชิต บุรทัตนำมาแต่ง สามัคคีเภทคำฉันท์ เนื้อหาจะยาวเกินไป
ขอยุติเพราะคนไทยรู้เรื่องนี้เป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว
3.
สาเหตุของการวิวาท
การขัดแย้งคงมิได้เกิดมาเพราะความบังเอิญลอยๆโดยปราศจากที่มาที่ไป
สรรพสิ่งย่อมเกิดมาจากเหตุ เมื่อจะสาวหาสาเหตุตามหลักคิดทางพระพุทธศาสนา
สามารถจัดกลุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
3.1 สาเหตุแรก
เกิดจากปัจจัยภายใน
ในทางพระพุทธศาสนา
ระบุหลักใหญ่เกี่ยวกับความไม่ลงลอยกัน ขัดแย้งกันเอาไว้ 2 ปัจจัย
คือ ทิฏฐิวิสามัญญตา และ ศีลวิสามัญญตา โดยที่
ทิฏฐิวิสามัญญตา หมายถึง มีความคิดเห็นต่างกัน มีค่านิยมที่ขัดกัน
ในเรื่องความงาม ความดี ความถูกต้อง ความยุติธรรม และความสุข เป็นต้น เพราะแต่ละคนย่อมมีกรอบคิดไปคนละอย่างและเป้าหมายของการดำรงชีวิตก็ต่างกันไป เช่น
คนที่มีหลักคิดเฉพาะเรื่องค่านิยมในความสุขทางวัตถุ ก็จะมุ่งแสวงหา
กอบโกยวัตถุเอาไว้ให้มาก เพราะถือว่า วัตถุสิ่งของ เป็นเครื่องสนองความสุข ในขณะที่อีกคนอาจจะมองเห็นว่า
วัตถุสิ่งของเป็นเพียงอุปกรณ์ใช้จำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต แต่เหนือกว่าวัตถุ
คือ ความสันโดษยินดีทางจิตใจ กล่าวง่ายๆ คือความสุขอยู่ที่ใจ อีกตัวอย่างที่เห็นชัด คือ
ความคิดทางด้านเศรษฐกิจ กลุ่มทุนนิยม จะเน้นการเสพบริโภค กระตุ้นให้เกิดการบริโภคมากๆ
ส่วนกลุ่มอุดมคตินิยม หรือจิตนิยมจะเน้นไปที่เศรษฐกิจพอเพียง
อย่างที่ขัดแย้งกันในการบริหารประเทศช่วง 10 ปีมานี้เอง และ
ศีลวิสามัญญตาเป็นความเห็นต่างในเรื่องกรอบจารีตปฏิบัติ กลุ่มอนุรักษนิยม
ชอบยึดถือจารีตประเพณี เห็นคนรุ่นใหม่ ประพฤตินอกกรอบจารีตก็ไม่สบายใจ
พยายามจัดระเบียบสังคม ดึงกลับเข้าสู่สิ่งที่ตนคิดว่า ดีงาม ขณะที่กลุ่มเสรีนิยม
ต้องการอิสรภาพ ตามกระแสโลก ต้องการความเปลี่ยนแปลงที่เชื่อว่า เป็นความทันสมัย
ไม่ตกยุค เป็นต้น
ถ้าจำแนกปัจจัยภายในที่เป็นแรงกระตุ้น
ให้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน
ตามที่ระบุในอัตตทัณฑสูตร และ กลหวิวาทสูตร[10]
จะพบสิ่งต่อไปนี้ คือ ตัณหา(ความอยาก)
หรือ โลภะ(ความโลภ) ความตระหนี่
(ผลประโยชน์ขัดกัน) ทิฏฐิ (ความเห็นผิด
เห็นแย้งต่อกัน) มานะ(ความถือตัว และไม่ยอมเข้าใจกัน) โทสะ (ความโกรธ)
ขยายเป็นความอาฆาต พยาบาท จองเวร ความมีอคติ 4 (ลำเอียงเพราะชอบ
ชังรังเกลียด กลัง และหลงงมงายไม่รู้) ริษยา(ความไม่อยากให้ผู้อื่นได้ดี) รวมถึงพฤติกรรมทางวาจา เช่น การด่า ส่อเสียด
คนเราเมื่อเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง มีมานะ
ทิฏฐิ ความเห็นแก่ตัวเป็นฐาน เห็นผู้อื่นคิดไม่เหมือนตน
ก็พยายามผลักดันเปลี่ยนให้ผู้อื่นต้องคิดเหมือนตัวคิด มันก็เลยขัดแย้ง
ลืมนึกถึงเรื่องนานาจิตตัง คนเราคิดต่างกันได้ ทำต่างกันได้
แต่ควรที่จะเคารพสิทธิของผู้อื่น สงวนจุดต่าง แสวงจุดร่วม
แต่กลับไม่ได้คิดในจุดนี้
3.2 สาเหตุหลัง
เกิดจากปัจจัยภายนอก
ปัจจัยภายนอก
ที่เป็นสิ่งทำให้เกิดความต่างกัน ได้แก่ อำนาจ
ผู้มีอำนาจ ก็พยายามออกกฎกติกามาบังคับข่มเหงผู้อื่น
โดยไม่สอบถามผู้ถูกบังคับปฏิบัติว่าเห็นด้วยหรือไม่ คัดค้านหรือไม่ ประการต่อมา
ก็เป็นเศรษฐกิจ หมายความว่า เศรษฐกิจแบบกระแสโลก ที่ปล่อยการค้าแบบเสรี
แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ผู้ที่ด้อยศักยภาพทางเศรษฐกิจ ทุนรอนไม่มาก
สายป่านไม่ยาว ก็แข่งขันสู้ไม่ได้ ดังกรณีความขัดแย้งระหว่างร้านค้าปลีก
หรือร้านโชห่วยตามหัวเมืองกับห้างสรรพสินค้าของบริษัทข้ามชาติ
ที่มาทำมาหากินในเมืองไทย
นอกจากนี้ก็เป็นเรื่อง วัฒนธรรมตามกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ขายผ่านทางสื่อทุกชนิด
วัฒนธรรมใดด้อยกว่า ย่อมจะถูกวัฒนธรรมที่แกร่งกว่ากลืนกิน
ผู้ที่อ่อนแอย่อมหาทางปกป้อง ขณะที่ผู้ที่แกร่งกว่าก็หาช่องทางที่จะฉกฉวย อนึ่งความขัดแย้งในดินแดนทางใต้ของประเทศไทย
จนเกิดไฟใต้ลุกลามมานาน ก็เป็นเรื่องเชื้อชาติ และศาสนาที่ต่างกัน
อีกฝ่ายกล่าวหาว่า เชื้อชาติหนึ่งจะกลืนอีกเชื้อชาติหนึ่ง
ศาสนิกหนึ่งจะทำลายศาสนิกหนึ่ง
ในข่าวที่กล่าวหากันก็เป็นเรื่องของการเมืองการปกครองที่ถูกต่างชาติแทรกแซง
ก่อความไม่สงบ หลายประการที่ระบุมา แม้จะไม่หมด ก็ถือว่า
เป็นปัจจัยภายนอกที่ตอกลิ่มขยายช่องความเข้าใจกันให้ถ่างออกไปจนอยู่คนละขั้ว
4.
ผลเสียของการวิวาทขัดแย้ง
ความขัดแย้งทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวม
เมื่อเกิดขึ้นมา มีผลเสียหายหลายประการ เช่น เสียความรู้สึกที่เคยดีก่อกัน
เสียเพื่อน เสียมิตร เสียชีวิต
และทรัพย์สิน เสียโอกาสที่จะพัฒนาประเทศ เสียเวลาในการทำมาหากิน
ไม่ไว้ใจกันต้องมัวระแวงและระวังว่า อีกฝ่ายจะก่อหายนะอะไรบ้างแก่ตน
ต่างคนต่างมีมือกุมอาวุธทั้งเพื่อป้องกันตน และเพื่อทำร้ายผู้อื่น ความสงบสุข
สันติภาพไม่อาจเกิดขึ้นมาได้ เดือดร้อนไปทุกหัวระแหง
5.
ความคิดเรื่องสมานฉันท์
เมื่ออยู่ด้วยกันดีๆ ไม่แตกกัน
คนเราก็ไม่มีความจำเป็นต้องสมาน
แต่เมื่อแตกกันเป็นฝักเป็นฝ่าย ก็ต้องการกลับไปคืนดีกัน หรือ
หันหน้าเข้าหากัน สมานฉันท์
เป็นหลักแห่งการอยู่ร่วมกันทั้งก่อนการแตกแยกเป็นก๊กเป็นฝ่าย และหลังจากการแตกแยก ในกรณีก่อนการแตกแยก
ไม่มีใครเห็นคุณค่าของความสมานฉันท์ แต่เมื่อแตกกันแล้ว
กลับเรียกร้องหาความสมานฉันท์
สมานฉันท์
เป็นภาษาบาลี (สมาน + ฉฺนฺท = สมาน แปลว่า เสมอกัน เท่ากัน ส่วน ฉันทะ แปลว่า ความพอใจ) แปลว่า
ความมีใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความพร้อมใจกัน
ชาวไทยนำคำนี้มาใช้ผ่านคำสอนทางศาสนาพุทธ มีคำไทยที่คุ้นและใกล้กับบาลี คือ
สมาน หมายถึง ทำให้ติด เช่น สมานแผล คือ ทำให้แผลติด เชื่อมผูกเข้าด้วยกัน
เช่น สมานมิตร คือ ผูกมิตร
มีคำบาลีที่มีความหมายเข้ากลุ่มกับสมานฉันท์อยู่หลายคำ คือ สมัครสมาน
(ความกลมเกลียว) และ สามัคคี (ความพร้อมเพรียงกัน ความปรองดองกัน)
สมานฉันท์ที่สังคมไทยกำลังเรียกร้องกัน
ขนาดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ ขึ้นมายังทำอะไรไม่ได้
อาจจะเป็นเพราะเราฟังไม่รู้เรื่อง หรือ คิดว่า คำนี้ เป็นคาถาวิเศษ ท่องออกมาแล้ว
สังคมแตกแยก จะเชื่อมประสานปรองดองกันได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ มีความเห็นว่า
“สมานฉันท์-สามัคคี เป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ที่คนไทยมักจะเรียกร้องแก่กันโดยไม่สนใจความหมาย
หรือการแปรเปลี่ยนของสังคม ซึ่งจะต้องสมานฉันท์และสามัคคีกัน ไม่ต่างจากคาถาปนบาลี-เขมร-ไทยสำหรับใช้ไล่ผีทั่วไป หลายครั้งด้วยกัน
สองคำนี้ถูกให้ความหมายที่เป็นไปไม่ได้เลย นั่นคือความรักที่พึงมีแก่ทุกคน เพราะ "เราเป็นคนไทยด้วยกัน" แต่ความรักเป็นความรู้สึกที่ลึกมากซึ่งไม่อาจแจกจ่ายแก่ทุกคนอย่างง่ายๆ
เช่นนั้น คนที่ผมรักที่สุดเป็นคนไทย แต่คนที่ผมเกลียดที่สุดก็เป็นคนไทยเหมือนกัน และผมเข้าใจว่าคนไทยอีกมากก็เป็นเหมือนผม”
[11]
อย่างไรก็ตาม
ไม่ว่าจะเป็นเพียงอุดมคติ หรือเป็นคาถาไล่ผี แต่สมานฉันท์
ก็นำมาใช้เรียกร้องขององค์กรต่างๆ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ส่วนที่ปรากฏในพระไตรปิฎก จะพบว่า
เมื่อเกิดการแตกแยก ความสามัคคีต้องแสวงหามาก่อน
ดังกรณีตัวอย่างความขัดแย้งที่กล่าวมา พระพุทธเจ้า ยกตัวอย่างในชาดก หลายเรื่อง
เช่น วัฏฏกชาดก กุนาละชาดก ลฏุกิกชาดก ผันทนชาดก
ทีฆาวุกุมารชาดก อัตตทัณฑสูตร กลหวิวาทสูตร
สัมมาปริพพาชนิยสูตร เป็นต้น ล้วนเป็นการสรรเสริญความปรองดองสามัคคี ถ้าจะเป็นคาถา ก็เป็นคาถาที่ใช้ได้
ถ้าแก้ถูกสาเหตุ และวิธีแก้ไขถูกกับเรื่องเป็นกรณีๆไป สมานฉันท์ เป็นคำรวมดุจ
ยาตำราหลวง แต่เมื่อจะใช้ ควรที่จะเลือกยามารับประทานให้ตรงกับโรค ฉันใด
วิธีการสร้างสมานฉันท์ก็ควรเลือกวิธีการให้ตรงกับกรณีที่ขัดแย้ง
คาถาสมานฉันท์จึงจะศักดิ์สิทธิ์
ไม่ใช่เป็นเพียงแต่พ่นลมออกปากโดยไม่มีพลังอำนาจมนตรากำกับ
6. ข้อความเพื่อสร้างสมานฉันท์จากพระไตรปิฎก
วิวาทํ ภยโต ทิสฺวา
อวิวาทญฺจ
เขมโต
สมคฺคา สขิลา โหถ
เอสา พุทฺธานุสาสนี
“ท่านทั้งหลาย จงเห็นความวิวาทโดยความเป็นภัย และเห็นความไม่วิวาท
โดยความปลอดภัยแล้ว เป็นผู้พร้อมเพรียง มีความประนีประนอมกันเถิด
นี้เป็นพระพุทธานุสาสนี”[12]
“สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี” “ความสามัคคีพร้อมเพรียงแห่งหมู่นำสุขมาให้”[13]
7.
วิธีการสร้างสมานฉันท์
วิธีการสร้างสมานฉันท์
ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก พบว่า พระพุทธเจ้าเป็นเหมือนแพทย์ที่รักษาอาการป่วย
จะวางยาตามอาการกำเริบของโรค และโรคอย่างเดียวกัน ถ้าเกิดกับอีกคนหนึ่ง
อาจจะเพิ่มกรรมวิธีในการรักษาพิเศษออกไป
จะไม่ใช้วิธีเหมารวมรักษาแบบยาชุดหมอตี๋
ดุจการแก้ไขความขัดแย้งในสังคมสมัยใหม่ บางกรณี ต้องใช้หลักนิติศาสตร์
บางกรณีต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ บางกรณีต้องใช้ควบคู่กันโดยปรับให้เหมาะสม
จะนำเสนอเป็น 2 แนวทาง คือ
7.1 วิธีการสร้างสมานฉันท์แบบวินัยปิฎก(อธิกรณสมถะ)
[14] หรือหลักนิติศาสตร์
กรณีเมื่อเกิดความขัดแย้ง
เห็นต่างเกี่ยวกับบทบัญญัติ หรือมีการละเมิดบทบัญญัติ ในเรื่องวินัย พระพุทธเจ้า
เรียกว่า “อธิกรณ์“ หมายถึงเกิดเรื่องขึ้นแล้วต้องจัดการให้สงบ
มี 4 อย่าง คือ
วิวาทาธิกรณ์ ได้แก่ การเถียงกันปรารภพระธรรมวินัย เรื่องนี้ ต้องได้รับการชี้ขาดว่าถูก หรือผิด
จากท่านผู้รู้ ทางบ้านเมือง เมื่อตีความข้อกฎหมาย
ยังต้องอาศัยผู้รู้กฎหมายวินิจฉัย เพื่อวางเป็นแบบแผนตามหลักนิติธรรม
อนุวาทาธิกรณ์ ได้แก่ การกล่าว โจทฟ้องกันว่า ต้องอาบัติ คือทำความผิด
เรื่องนี้ ต้องได้รับการวินิจฉัย ตัดสินว่า จริงหรือไม่จริง จากท่านผู้รู้ ชี้มูลตามข้อเท็จจริง
อาปัตตาธิกรณ์
ได้แก่การต้องอาบัติ ทำความผิดบัญญัติ วินัย ถูกปรับอาบัติ เมื่อผิด
ต้องปรับปรุงตัวทำให้ถูกและระวังไม่ทำความผิดซ้ำ
กิจจาธิกรณ์ ได้แก่กิจที่สงฆ์ช่วยกันทำ สังฆกรรม
ข้อนี้อาจจะเกี่ยวกับการประชุมสวดสมนุภาษณ์ในกลุ่มอาบัติสังฆาทิเสส
ที่เห็นว่า
เกี่ยวกับเรื่องขัดแย้งโดยตรงก็มี เพียง 3 อธิกรณ์ ข้างต้น การระงับข้อขัดแย้งตามพระวินัย
ระบุวิธีการเอาไว้ 7 ประการ ที่เรียกว่า อธิกรณสมถะ ดังนี้
1.
วิธีแบบ สัมมุขาวินัย กระบวนการนี้ ต้องนำคู่กรณีเข้ามาในที่ประชุมหมู่คณะ
แล้วระงับเรื่องทะเลาะกันต่อหน้าโจทก์และจำเลย ให้ถูกต้องตามธรรม ตามวินัย
2. วิธีแบบ สติวินัย กระบวนการนี้
ให้ในกรณีที่มีผู้กล่าวหาพระอนหันต์ว่า ต้องอาบัติ แต่สงฆ์ทราบว่า
คุณสมบัติของพระอรหันต์คือ ความเป็นผู้มีสติสมบูรณ์ คนมีสติจะไม่ทำผิด
เพราะรู้ตัวเสมอ
3. วิธีแบบ อมูฬหวินัย แบบนี้
ใช้ในกรณีผู้ทำผิดในขณะทีวิกลจริต เมื่อหายบ้าแล้วก็ยกผลประโยชน์ให้ กรณีเช่นนี้
ทางกฎหมายก็ไม่เอาผิดคนที่ทำผิดเพราะสติไม่สมประกอบ
4. วิธีแบบ ปฏิญญาตกรณะ กรณีนี้
ให้ระงับตามที่ผู้ทำผิดสารภาพตามความผิดที่ทำลงไป
5. วิธีแบบ เยภุยยสิกา กรณีนี้ ใช้เสียงส่วนมาก แบบคณะลูกขุน
หรือความเห็นแบบประชาพิจารณ์
6. วิธีแบบ ตัสสปาปิยสิกา ใช้ในกรณี ที่ผู้ทำผิด
ไม่ยอมรับสารภาพ แต่จำนนด้วยหลักฐาน จึงตัดสินตามความผิดที่ละเมิดลงไป
7. วิธีแบบ ติณวัตถารกะ
ใช้ในกรณีที่เรื่องยุ่งยาก กระทบต่อความมั่นคง ลำบากจะเข้าข้างฝ่ายใด
จึงเลือกวิธีประนีประนอมกันทั้งสองฝ่าย ไม่ฟื้นความเก่า สางชำระความเดิม
ไม่ฟื้นฝอยหาตะเข็บ ให้เลิกแล้วต่อกัน
ดุจเห็นสิ่งไม่สะอาด จึงนำหญ้ามากลบเสีย สมานฉันท์ คงจะใช้แบบนี้ก็ได้ คือ
การประนีประนอม
ที่กล่าวมาเป็นเรื่องของแบบเลือกในการหาทางสงบข้อขัดแย้งตามพระวินัย
ดุจการตัดสินอรรถคดีทางกฎหมายบ้านเมืองในศาลสถิตยุติธรรม ตามหลักนิติศาสตร์ หรือ
นิติธรรม
7.2 วิธีสร้างสมานฉันท์แบบพระสุตตันตปิฎก หรือ
แนวรัฐศาสตร์
วิธีสร้างสมานฉันท์ ที่ปรากฏในพระสุตตันตปิฎก
เรียกแบบแนวสมัยใหม่ว่า ระงับโดยหลักรัฐศาสตร์ เท่าที่พบมีหลายวิธี แยกตามกรณีที่เกิดความขัดแย้ง
1. ให้เกิดสัมมาทิฏฐิ คือ
เปลี่ยนวิธีคิดโดยการให้ตระหนักคุณค่าแห่งชีวิตกับสิ่งที่จะต้องแลกด้วยชีวิต กรณีนี้
พระพุทธเจ้าสร้างสมานฉันท์ระหว่างพระญาติที่ยกทัพมาเป็นสงครามแย่งน้ำ ต้องถามถึง
ค่าของน้ำ กับค่าของคน อันไหนจะประเมินค่าได้มากกว่า ควรจะถนอมน้ำหรือถนอมชีวิต
2. ให้รู้รักสามัคคี โดยชี้โทษของการขาดความสามัคคี
และชี้คุณของสามัคคี กรณีนกกระจาบ และนางนกไส้
3. ให้รู้จักการให้อภัย และ อโหสิกรรม
โดยชี้โทษของการจองเวรอาฆาตพยาบาท ว่าไม่มีทางสงบถ้าหากยังตอดเล็กตอดน้อย
ก่อกรรมกันแก้แค้นกัน เช่น กรณีภรรยาหลวงกับภรรยาน้อย และคำนึงถึงอนาคต
โดยระงับใจตนเองได้ กรณี ทีฆาวุกุมารที่กล่าวมา
4. วางอุเบกขา หรือ
ถอนตัวไม่ยุ่งเกี่ยว
เมื่อคู่กรณีไม่ยอมรับฟังคำชี้แนะ บางทีผู้หลักผู้ใหญ่ก็ต้องถอนตัวออกห่างจากคู่กรณีไปก่อน
เพื่อให้พวกเขาได้สำนึกว่า สิ่งที่กำลังเลาะกันนั้น
ผู้ที่ย่อยยับคือพวกเขาเอง
กว่าจะรู้ว่าย่อยยับเพียงไร ก็สายเกินแก้ ดังกรณีของพระสงฆ์ชาวโกสัมพี
ถูกชาวบ้านคว่ำบาตรด้วยการไม่ทำบุญใส่บาตร สุดท้ายต้องหันหน้าปรองดองกัน
ขอโทษกันและกัน
อันที่จริง ความขัดแย้ง ระหว่างกลุ่มคน
คงไม่มีผู้ใหญ่ใดจะห้ามปรามได้ เพราะคิดว่าตนใหญ่เท่าๆกันแล้ว
หลักธรรมในพระไตรปิฎกมีหลายหมวด เช่น หลักพรหมวิหารธรรม อปริหานิยธรรม สาราณียธรรม ขันติธรรม อวิหิงสาธรรม เป็นต้น แต่ไม่ใช้กับผู้อื่น
อย่าเอาไปควบคุมผู้อื่น ควรควบคุมตนเอง หากจะหยุดความวุ่นวาย
ทุกฝ่ายควรหยุดที่ตนเองก่อน
ผลที่ได้รับจากการสมานฉันท์
จากวิธีการสร้างความสมานฉันท์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก
พระพุทธเจ้าทรงใช้ระงับความขัดแย้ง ทำให้พระญาติเข้าใจกัน เป็นหนึ่งน้ำใจเดียวกัน
เลิกทัพ หันมาให้การช่วยเหลือกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัย ก็อยู่รอดทั้งสองฝ่าย
ในส่วนของพระสงฆ์ชาวโกสัมพี เมื่อถูกชาวบ้านคว่ำบาตร เกิดสำนึกตัวได้
ขอขมากันและกัน แต่ชาวบ้านยังไม่ยอม ให้ไปขอขมาพระพุทธเจ้าก่อน
กว่าจะออกพรรษาก็ลำบากทั้งสองฝ่าย ในที่สุดก็ปรองดองกันเพราะเห็นผลกรรมการทะเลาะวิวาท
สมานฉันท์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก
อาจจะไม่ใช่ตำราวิเศษ หรือ คาถาวิเศษ เสกออกไปสังคมสงบสุขได้ทันที และทั้งหมด เพราะคนเรายังมีอคติ ค่านิยม โลภะ โทสะ
ไม่เหมือนกัน การจะเข้าไปแก้ปัญหา ต้องใช้แบบที่เหมาะสม เพียงแค่การเอ่ยปากขอโทษ
ก็ยังดีกว่าปากแข็ง มีมานะถือตัวจัด
อุณหภูมิความขัดแย้งก็ลดความร้อนแรงลงมาระดับหนึ่งแล้ว
หนังสือใช้อ้างอิง
ธรรมปทัฏฐกถาแปล ภาค 1 เรื่อง โกสัมพิกภิกษุ, หน้า 74-90. เรื่องพระติสสะ หน้า 53-63.
เรื่องกาลียักขิณี
หน้า 64-69.
ธรรมปทัฏฐกถาแปล ภาค 3, เรื่อง วิฑูฑภะ, หน้า 3- 38.
นิธิ เอียวศรีวงศ์, สมานฉันท์-สามัคคี, ในมติชนรายสัปดาห์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 1369
ลงวันที่ 10
พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
พระวินัยปิฎก ภิกขุณีวิภังค์ เล่ม 3 ข้อ 503 หน้า 328.
พระวินัยปิฎก มหาวรรค, ทีฆาวุกุมารชาดก เล่มที่ 5 ข้อ 243-244 หน้า 252-262.
พระสัตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ธรรมบบท เล่ม 25 ข้อ 24 หน้า 41.
พระสัตตันปิฎก ขุททกนิกาย พุทฺธจริยา เล่ม 33 ข้อ 35 หน้า 595
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ขุททกะปาฐะ เล่ม 17 ข้อ 422 หน้า 386.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกะปาฐะ,
ผันทนชาดก, เล่ม 27
ข้อ 1738 -
1747
หน้า 307-308 และอรรถกถา ผันทนชาดก เล่ม 3 ภาค 6 หน้า 225-230.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกะปาฐะ, ลฏุกิกชาดก,
เล่ม 27
ข้อ 732 -
736 หน้า 166
–167
และอรรถกถาลฏุกิกชาดก เล่ม 3
ภาค 4 หน้า 758-764.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกะปาฐะ, วัฏฏกชาดก,
อรรถกถาวัฏฏกชาดก เล่ม 4
ภาค 1
หน้า 540.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต, สัมมาปริพพาชนิยสูตร,
อรรถกถาสัมมาปริพพาชนิยสูตร
เล่ม 1 ภาค 6 หน้า 339-345
[1] พระวินัยปิฎก
มหาวรรค,เล่มที่ 5, ทีฆาวุกุมารชาดก, ข้อ 243-244 หน้า 252-262.
[2] ธรรมปทัฏฐกถาแปล
ภาค 1, กาลียักขิณี, หน้า 64-69.
[3] ธรรมปทัฏฐกถาแปล
ภาค 1, พระติสสะ, หน้า 53-63.
[4] พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ขุททกะปาฐะ, ผันทนชาดก, เล่ม 27 ข้อ 1738 - 1747 หน้า 307-308 และอรรถกถา ผันทนชาดก เล่ม 3 ภาค 6 หน้า 225-230.
[5] พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ขุททกะปาฐะ, ลฏุกิกชาดก, เล่ม 27 ข้อ 732 -
736 หน้า 166
-167 และอรรถกถาลฏุกิกชาดก เล่ม 3 ภาค 4
หน้า 758-764.
[6] ธรรมปทัฏฐกถาแปล
ภาค 3, เรื่อง วิฑูฑภะ, หน้า 3-
38.
[7] ธรรมปทัฏฐกถาแปล
ภาค 1 เรื่อง โกสัมพิกภิกษุ,
หน้า 74-90.
[8] พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ขุททกะปาฐะ, วัฏฏกชาดก, อรรถกถาวัฏฏกชาดก เล่ม 4 ภาค 1 หน้า 540.
[9] พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย สุตตนิบาต, สัมมาปริพพาชนิยสูตร, อรรถกถาสัมมาปริพพาชนิยสูตร
เล่ม 1 ภาค 6 หน้า 339-345 , กุนาลชาดก และอรรถกถากุนาลชาดก เล่ม 4 ภาค 1 หน้า 536-541 และธรรมปทัฏฐกถาแปล ภาค 6, สุขวรรค เรื่อง พระญาติแย่งน้ำทำนา, หน้า 183.
[10] พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ขุททกะปาฐะ เล่ม 17 ข้อ 422 หน้า 386.
[11] นิธิ
เอียวศรีวงศ์, สมานฉันท์-สามัคคี, ในมติชนรายสัปดาห์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 1369 ลงวันที่ 10
พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
[12] พระสัตตันปิฎก
ขุททกนิกาย. พุทฺธจริยา.เล่ม 33 ข้อ 35 หน้า 595
[13] พระสัตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ธรรมบบท เล่ม 25 ข้อ 24 หน้า 41.
[14] พระวินัยปิฎก เล่ม 3 ข้อ 503 หน้า 328.
อาจารย์ ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
(Lect. Dr. Phisit Kotsupho)
ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(Department of Philosophy, Faculty of Humanity, Chiang Mai University )
โพสต์ใหม่ วันที่ 26 พฤษภาคม 2558
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น