แจ้งข่าวนักศึกษา012173

วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2567

ตำนานกาเผือก หรือ ธัมม์มูลกาเผือก : ต้นกำเนิดพิธีการบูชาผางประทีปล้านนา

 

ตำนานกาเผือก หรือ ธัมม์มูลกาเผือก :

ต้นกำเนิดพิธีการบูชาผางประทีปล้านนา

-------------

ยศพล เจริญมณี ปริวรรต

พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ เรียบเรียง

 

ความเป็นมา

          ตำนานกาเผือก  ล้านนาเรียกอีกชื่อว่า  ธัมม์มูลกาเผือก ที่ลาวเรียก นิยายกาเผือก เป็นเรื่องราวที่บอกเล่าเกี่ยวกับต้นกำเนิดของพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ในภัทรกัลป์นี้ แรกเริ่มเดิมที พระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ เกิดเป็นลูก(ฟองไข่) จำนวน ๕ ฟอง อยู่ที่รังของแม่กาเผือก  ที่แม่กาทำรังอยู่บนค่าคบไม้เดื่อใหญ่ตั้งอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำใหญ่ วันหนึ่งแม่กาหิวจึงบินออกไปหากิน แต่บังเอิญวันนั้น ได้บังเกิดมหาเมฆฝนและมหาวาตภัย  คือ มีพายุลมฝนขนาดใหญ่ พัดโหมกระหน่ำอย่างหนัก จนต้นไม้หักโค่นลงสู่แม่น้ำ กระแสคลื่นก็ได้มาสาดซัด พัดเอาเอารังกาลอยไปตามเกลียวคลื่นใหญ่ ไข่กาทั้ง 5 ฟองต่างถูกพัดออกจากรัง ลอยไหลไปตามกระเเสความเชี่ยวของสายน้ำ แต่ละฟองต่างก็ลอยพลัดกระจายกันไปตกค้างอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ตามลำแม่น้ำ และในแต่ละจุดที่ฟองไข่ค้างอยู่ ก็มีทั้งสัตว์ และ มนุษย์ได้มาพบเห็น แล้วเก็บฟองกานั้นนำไปดูแล  เมื่อฟองไข่กาฟักแตกตัวออกมา แทนที่จะเป็นลูกกา  แต่กลายเป็นทารกมนุษย์เพศชาย ได้รับการชุบเลี้ยง เติบใหญ่เป็นชายหนุ่มทั้ง 5 คน ในเวลาต่อมาได้อายุ 16 ปี ชายหนุ่มทั้ง 5 คน ก็ขอลามารดาผู้ชุบเลี้ยงออกไปบวชเป็นฤาษี และวันหนึ่ง ฤาษีทั้ง 5 บังเอิญได้มาพบกันที่ ไต้ต้นไทรใหญ่ ในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง เมื่อต่างซักไซ้ไล่เลียง อายุ และความเป็นไปในชีวิตของกันและกัน เมื่อพิเคราะห์ภูมิหลัง ที่ไปที่มาของตนจากผู้มารดาชุบเลี้ยง ก็เลยลงความเห็นและรู้ว่า พวกตนเป็นลูกของกา ทั้งยังเป็นพี่น้องกันด้วย และจะกำหนดใครเป็นที่เป็นน้องอย่างไร ก็เลยได้ลำดับระทางที่ไหลล่องไปตามสายน้ำ ไข่ฟองแรกที่ถูกพบก่อน ก็ถูกยกให้เป็นพี่ใหญ่ และไล่เรียงลงไปตามลำดับ จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ก็เป็นพี่รองลงมาถึงน้องคนสุดท้อง พวกเขาทั้ง 5 จึงเป็นพี่น้องจากแม่เดียวกัน  และพวกฤาษีก็อยากพบเห็นแม่แท้ๆของตน จึงอธิษฐานวิงวอนขอให้ได้พบหน้าแม่สักครั้ง ส่วนแม่กาตายไปเพราะกลับมาไม่เห็นรังและลูกในรัง ตามหาจนหมดแรงจมกระแสน้ำสิ้นชีวิต และไปเกิดเป็นพรหม ชื่อ “ฆฏิกา” พรหมอดีตแม่กาได้ทราบคำอธิษฐานก็เลยแปลงร่างเป็นกาบินลงมาพบ ลูกฤาษีทั้ง 5  ก็ได้ก้มกราบแม่ และขออะไรก็ได้เป็นของที่ระลึก  แม่กาก็เลยเหยียบพื้นทรายเป็นรอยเท้ากา(รอยตีนกา) เอาไว้   ฤาษีก็นำเอาเชือกมาฟั่น ม้วนถักชักเป็นกากบาท รูปตีนกา ทำเป็นไส้ประทีปวางไว้ที่กลางถ้วยเติมน้ำมัน จุดเป็นดวงประทีป เพื่อบูชาด้วยความสำนึกในพระคุณของแม่กาเผือกผู้ให้กำเนิด   

          กาลต่อมา เมื่อ ฤาษีลูกแม่กาเผือกทั้ง 5 ตน ฤาษีได้บำเพ็ญบารมีจนเต็มเปี่ยม  4 ตน แรก ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ตามลำดับ มี พระกกุสันทะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตมะ และ ยังเหลือฤาษีน้องตนสุดท้อง ที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต เป็นพระศรีอารยะ  ตามที่ให้ปฏิญญาเมื่อขอลาแม่เลี้ยงออกบวชเป็นฤาษี ในสมัยที่เกิดเป็นลูกกาเผือก โดยได้รักษานามของมารดาผู้ชุบเลี้ยง ที่ขอให้รักษานามมารดาเลี้ยง เป็นนามของตน

ตำนานเรื่องแม่กาเผือกนี้ เป็นที่นิยมเล่าขานและจดจารสืบทอดกันมาในสายวัฒนธรรมไท ทั้งไท-ยวน(ล้านนา) ไต(ไทใหญ่ ไทเขิน ไทลื้อ) ไทน้อย(ลาว อีสาน) โดยเฉพาะที่อาณาจักรล้านนา ได้พบหลายสำนวน แต่ที่ผู้เขียนเลือกมาทำการปริวรรตและเรียบเรียงเก็บความ มีเพียง 3 สำนวน ด้วยเหตุผลที่ว่า 3 สำนวนนี้เมื่อสอบเทียบกับฉบับอื่นๆแล้ว มีเนื้อหาที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ได้แก่  1 ฉบับวัดศรีโคมคำ  จังหวัดพะเยา 2 ฉบับวัดศรีบุญเรือง จังหวัดเชียงใหม่ และ 3  ฉบับวัดสูงเม่น จังหวัดแพร่ ธัมม์แม่กาเผือกทุกฉบับเป็นหนังสือใบลาน ฉบับละ 1 ผูก  จารด้วยอักษรธรรมล้านนา.  ภาษาไทยยวน  ระหว่าง จ.ศ. 1211 - 2326 (พ.ศ. 2392 – ๒๕๐๘)   และฉบับที่เก่าที่สุด ได้แก่ ฉบับวัดศรีบุญเรือง เชียงใหม่ ซึ่งจารในปี จ.ศ. 1211 หรือ พ.ศ. 2392 โดยที่ทั้ง 3 สำนวนได้รับการถ่ายสำเนาไมโครฟีล์มเก็บรักษาไว้ ที่สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2522

 

ความเรียงเนื้อหา

          ผู้จารเริ่มต้นด้วยการขอเชิญสัตบุรุษผู้มีสติปัญญา ให้ตั้งจิตใจรับฟังเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมสาเหตุของการจุดบูชาผางประทีปตีนกา (ดวงประทีปตีนกา) รวมทั้งบอกที่มาพระนามของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ ในภัทรกัลป์นี้ ดังต่อไปนี้

ในสมัยเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ ก่อน พ.ศ. 45 ปี พระพุทธองค์กำลังเสวยวิมุตติสุขตลอด  7 สัปดาห์ ในที่ทั้ง 7 แห่ง หรือ สัตตมหาสถาน[๑] นับตั้งแต่สัปดาห์แรกที่ โพธิมณฑล เป็นลำดับเรื่อยมา และในสัปดาห์สุดท้าย ที่พระองค์ประทับอยู่ ณ ควงไม้ราชายตนะ หรือ ไม้เกด ล้านนาเรียกว่า ต้นม่วงแมงวัน  ในเวลานั้น ยังมีพ่อค้า ๒ คนพี่น้อง มีชื่อว่า  “ตปุสสะ” และ “ภัลลิกะ”  เป็นชาวเมือง “อุพพลัพภธัญญวดี”[๒]   เป็นเมืองใหญ่ ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งมหาสมุทร ได้นำคาราวานกองเกวียนบรรทุกสินค้า จำนวน ๕๐๐ เล่ม ประสงค์จะไปค้าขาย ที่ดินแดนสุวรรณภูมิ[๓]  ด้วยเหตุที่แดนสุวรรณภูมินั้น การค้าขายจะได้ราคาดีเท่าตัว คือ น้ำหนักข้าวสารพันหนึ่ง (อาจเป็นพันกระบุง) เท่ากับราคาหนึ่งพัน(เหรียญ)ทองคำ เมื่อพ่อค้า ๒ พี่น้อง ได้นำกองเกวียนและบริวารเดินไปตามทางโดยลำดับ แต่เผอิญให้หลงทางกลับมุ่งเข้าสู่ป่าใหญ่ และมาถึงสถานที่ที่พระพุทธเจ้า กำลังเสวยวิมุติสุข อยู่ที่ร่มไม้ราชายตนะดังที่กล่าวมา ครั้งนั้น เทวดาตนหนึ่งที่สิงสถิตอยู่ในป่าแห่งนั้น ได้บอกพ่อค้าทั้ง ๒ พี่น้องให้ทราบ ถึงเรื่องที่พวกเขาควรทำว่า ตอนพอดีมีพระพุทธเจ้ากำลังประทับที่ใต้ต้นไม้เกด และพระองค์ก็ยังไม่ได้ฉันภัตตาหารใดๆ มาเป็นเวลา  ๔๙ วัน ขอให้พ่อค้าทั้ง ๒ พี่น้อง จงนำโภชนะอาหารไปถวายพระองค์เถิด จะเป็นการกระทำที่ดีที่สุด

เมื่อ ตปุสสะ และ ภัลลิกะ พ่อค้า 2 พี่น้องได้ยินเช่นนั้น ก็รู้สึกมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงได้นำข้าวมธุปายาส[๔] น้อมเข้าไปถวาย เมื่อเสร็จภัตกิจ พระพุทธเจ้าจึงลูปพระเศียร แล้วประทานเส้นพระเกสาแก่พ่อค้า 2 พี่น้องจำนวน 8 เส้น โดยแบ่งคนละ  ๔ เส้น [๕]  การได้รับพระเกสาธาตุจากพระพุทธเจ้าเช่นนั้น ยังความปีติโสมนัสให้เกิดแก่พ่อค้าทั้ง ๒ อย่างหาประมาณมิได้ พวกเขาจึงได้ประครองหัตถ์อัญชลีไหว้พระพุทธเจ้าแล้วทูลถามว่า   พวกเราทั้ง ๒ พี่น้อง ควรจะนำเกสาธาตุเหล่านี้ไปประดิษฐานไว้ ณ ที่แห่งใดจึงจะเป็นการสมควร

 พระพุทธเจ้าจึงตรัสแก่พ่อค้า ๒ พี่น้องว่า พวกเขาควรนำเกสาธาตุไปบรรจุไว้ ที่ใกล้เมืองของพวกเขา ณ ที่นั้น มีเขาลูกหนึ่งชื่อว่า “สิงคุตตระ”[๖] ซึ่งเคยเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าผู้ล่วงไปแล้วในอดีต 3 พระองค์  คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ และ พระกัสสปะ ตามคำปฏิญาณของพวกเรา ๕ พี่น้อง ที่ได้ให้สัญญาแก่กัน ในสมัยแรกตั้งภัทรกัลป์  ในครั้งที่พวกเราเกิดเป็นลูกร่วมอุทรของแม่กาเผือกเดียวกัน

 พระพุทธเจ้าครั้นตรัสเพียงแค่นี้ก็ทรงหยุดนิ่งเสีย ไม่ได้ตรัสต่อ เมื่อพ่อค้า ๒ พี่น้อง ได้สดับดังนั้น จึงได้อาราธนาขอให้พระพุทธเจ้าแสดงเรื่องอดีตชาติเมื่อเกิดเป็นลูกของแม่กาเผือก และพระพุทธเจ้าก็ทรงรับคำอาราธนาแล้วจึงตรัสแสดงต่อไปดังนี้

 เมื่ออดีตกาลนานล่วงไปแล้ว  ตั้งแต่สมัยแรกเริ่มภัทรกัปนี้ ยังมีแม่กาเผือกตัวหนึ่ง สร้างรังอยู่ที่ค่าคบไม้เดื่อต้นหนึ่ง ที่ขึ้นอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา แม่กาเผือกตัวนั้นตกไข่ ๕ ฟอง นางก็เฝ้าหวงแหน และกกไข่รักษาอยู่ไม่ขาด อยู่มาวันหนึ่ง นางเกิดการหิวอาหารอย่างมากจนกลั้นความหิวไม่ไหว จึงได้บินออกจากรังไปหาอาหารมาประทังชีวิต คราวนั้น ก็เกิดมีมหาเมฆห่าฝนใหญ่กับทั้งมหาวาตะ ลมพายุใหญ่ พัดโหมกระหน่ำอย่างหนัก จนทำให้ต้นเดื่อนั้นล้มลงไปในแม่น้ำ สายน้ำที่ถูกลมโหมกระหน่ำ ก็ตีฟอง เป็นเกลียวน่าประหวั่นยิ่งนัก กระแสคลื่นก็ได้มาก็มาพัดหอบเอาไข่แม่กาเผือกทั้ง ๕ ฟอง ไหลออกจากรังไปตามกระแสน้ำทั้งหมด

ไข่ฟองแรก ลอยล่องไปค้างอยู่ในที่แห่งหนึ่ง ที่นั่น มีแม่ไก่เผือก ที่เป็นจ่าฝูงไก่ทั้งหลาย นางชวนบริวารไก่ออกล่าเหยื่อหากินมาพบไข่ฟองนั้นเข้า นางก็เกิดใจปฏิพัทธ์รักใคร จึงนำเอาไข่ฟองนั้นไปดูแลรักษาไว้ ต่อมาไม่นาน ไข่ฟองนั้น ก็แตกออกมา กลับเป็นมนุษย์เพศชายรูปงามผู้หนึ่ง เม่ไก่ก็เลี้ยงดูให้เติบใหญ่

ไข่ฟองที่ ๒ ได้ไหลต่อไป และไปค้างที่ดอนทราย ที่นั่น มีแม่วัวตัวหนึ่ง เป็นจ่าฝูงแห่งวัวทั้งหลาย เดินเล็มหญ้ามาพบกับไข่ฟอง นางก็นั้นเกิดความเอ็นดูรักใคร่ จึงนำเอาไข่ฟองนั้นไปฟูมฟักรักษา ไม่นานนัก ไข่ฟองนั้นก็แตกออกเป็นมนุษย์เพศชายรูปงาม  แม่วัวก็แสวงหาอาหารมาให้กินมิได้ขาด เลี้ยงดูจนเติบใหญ่ขึ้นมา

ไข่ฟองที่ ๓  ได้ไหลไปตามกระแสน้ำ ได้ไปค้างคาที่ใกล้รังเกาะเต่า ที่นั้น แม่เต่ามาเห็นเข้า นางก็เกิดความยินดียึ่ง นำเอาไข่ฟองนั้นไปเอารักษาไว้กับไข่ของตน ไม่นานนัก ไข่ฟองั้นก็แตกออกมา เป็นมนุษยเพศชายผู้มีลักขณะอันงดงาม นางเต่าก็เลี้ยงดูจนเติบลใหญ่

ไข่ฟองที่ ๔ ได้ถูกพัดพาลอยไปตามลำดับ แล้วไปเกยค้างอยู่ที่ริมฝั่งน้ำคงคา ที่ริมฝั่งนั้น หญิงคนซักผ้าผู้หนึ่ง ได้ลงมาสู่ท่าน้ำ ได้เห็นไข่ฟองนั้น ที่มีขนาดใหญ่สีขาวงามเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก นางจึงเก็บเอามาเฝ้าถนอมไว้ ต่อมานินานไขฟองนั้นก็ฟักออกมาเป็นมนุษย์เพศชายผู้หนึ่ง หญิงคนซักผ้านางนั้นก็เกิดความรักใคราดั่งลูกในดวงใจของนาง และเลี่ยงดูจนเติบใหญ่

ไข่ฟองที่ ๕  ได้ถูกกระแสน้ำพัดลอยละล่อง ท่องไปไกลกว่าไข่ทั้ง 4 ฟอง และลอยไปถึงถิ่นของแม่งูใหญ่(นาค)  ที่นั้น  แม่งูใหญ่ตัวหนึ่งออกหากบและเขียดเป็นอาหาร เลื้อยมามาพบกับไข่ฟองนั้น นางงูจึงคาบเอาไข่ฟองนั้นกลับไปรักษาที่รังของตัว ไม่นานนัก ไข่ฟองนั้นก็แตกออกมาเป็นมนุษย์เพศชายมีลักษณะงดงาม แม่งูก็รักใคร่เฝ้าถนอนเลี่ยดูจนเติบใหญ่เหมือนดั่งลูกของตน

ด้วยเดขแห่งผลบุญที่พวกเขาทั้ง 5 ได้กระทำมาแต่ชาติปางก่อน  เมื่อชายหนุ่มทั้ง ๕ มีอายุได้ ๑๖ ปี พวกเขาต่างก็ ไปขอลาแม่เลี้ยงของตนเพื่อออกบวชเป็นฤๅษี สร้างบุญบารมีให้ได้ตรัสรู้เป็นพระอนุตรสัมมาสัมพุทธเจ้าในภายภาคหน้า และขออนุญาตลาแม่เลี้ยงของตนแต่ละคน  แม่เลี้ยงของชายหนุ่มแม้ต่าคนต่างก็มีใจห่วงอาทรต่อบุตร แต่ก็ได้อวยพรให้ลูกของตนสำเร็จตามความปรารถนา แต่ขอให้ลูกให้คพสัญญาว่า เมื่อลูกได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ขอให้ลูกอย่าได้ลืมชื่อโคตรของแม่เลี้ยงของตนๆ ถ้าลูกรับคำมั่นสัญญานี้ได้ แม่ก็จะอนุญาตให้ไป เมื่อชายหนุ่มทั้ง ๕ คน ได้รับอนุญาตจากแม่เลี้ยงของตนแล้ว ต่างได้กราบลาแม่เลี้ยงของตน เดินทางมุ่งสู่ป่าใหญ่  อาศัยอยู่ในป่านั้น  แสวงหาลูกไม้และหัวมันมาประทังสืบชีวิตเป็นกิจวัตร  ถือปฏิบัติพรหมจริยกรรม กระทำกสิณกรรมฐานภาวนามิขาด นุ่งผ้าย้อมฝาด บวชเป็นฤๅษี มีใจหนีจากกิเลสปาปธรรม อยู่มาไม่นานเท่าใด ต่างคนต่างก็ได้บรรลุโลกิยฌานอันวิเศษ อันเป็นเหตุให้ต่อยอดถึงโลกุตรธรรม กระทำอนุโลมปฏิโลมอยู่เนือง ๆ เพื่อให้มุ่งตรงเข้าสู่ประตูพระนิพพาน อาศัยอยู่ตามความสำราญของตน ๆเล่า  

อยู่มาวันหนึ่ง ที่ดอยสิงคุตตระนั้น มีไม้นิโครธใหญ่ต้นหนึ่ง แผ่กิ่งก้านสาขากว้างใหญ่ให้ร่มเงาเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทั้งหลาย  ในครั้งนั้น ก็บังเอิญให้ฤๅษีทั้ง ๕ ตนเดินทางมาพบเจอกันที่บริเวณใต้ร่มไม้นิโครธนั้น จึงได้สนทนาถามไถ่กันและกัน เรื่องวัน เดือน ปีที่เกิด และอายุ พวกฤาษีจึงได้รู้ว่า พวกตนนั้น เกิดร่วมยาม วัน เดือน ปี เดียวกัน แถมยังมีอายุประมาณ เท่ากันอีก และรู้ว่าตนเป็นลูกแม่กาเผือก ตามที่แม่เลี้ยงของแต่ละคนได้บอกเล่ามา แสดงว่าพวกเขาเป็นพี่น้องร่วมท้องแม่เดียวกันแน่ๆ เมื่อได้แจ้งดังนั้น ฤาษีทั้ง ๕ พี่น้อง ก็โสมนัสยินดียิ่งนัก และตกลงลำดับความเป็นพี่น้องกันดังนี้คือ ให้ผู้อยู่ต้นน้ำคงคาที่ไก่นำไปเลี้ยงเป็นพี่ใหญ่ ไล่ลำดับกันลงตามสายคงคา จนมาถึงผู้ที่อยู่ท้ายน้ำเที่แม่งูใหญ่นำไปเลี้ยงเป็นหล้าคนสุดท้องน้องสุดท้าย

เมื่อนั้น ฤๅษี ๕ พี่น้อง จึงคิดกันว่า พวกเราอยากเห็นหน้าแม่กาเผือก ผู้ที่ให้กำเนิดสักครั้งหนึ่ง เพื่อที่พวกเราจะได้ตอบบุญแทนคุณ พวกเราก็ไม่ทราบว่า บัดนี้แม่กาเผือก ยังมีชีวิตอยู่ หรือว่านางได้ลาลับไปแล้ว  ฤๅษีทั้ง ๕ จึงต่างคนต่างกระทำสัจจะอธิษฐานให้ได้พบหน้าแม่กาเผือกสักครั้ง ด้วยเดชแห่งผลบุญที่สั่งสมมาแต่ก่อน  คำสัจจะอธิษฐานนั้นจึงดัวส่งเสียงไปจนถึงสวรรค์ชั้นพรหมโลก

ความสืบต่อมีอยู่ว่า ครั้งเมื่อแม่กาเผือก ออกแสวงหาอาหารประทังความหิวโหย โดยนางได้ละไข่ทั้ง ๕ ฟองไว้ในรัง เมื่อมหาเมฆห่าฝนใหญ่ และลมใหญ่มาพัดโค่นต้นมะเดือน พร้องทั้งรังกาตกลงไปในแม่น้ำและไขก็ถูกน้ำพัดไปนั้น  แม่กาเผือกเมื่อกลับมา ก็ไม่เห็นไข่ของตน จึงพิลาปรำพันถึงลูกไข่ทั้ง ๕ ใบ นางรู้สึกเป็นทุกข์โทมนัสปานจะขาดใจตาย และไม่รู้ว่าไข่เหล่านั้นถูกน้ำพัดพาไปตกอยู่แห่งหนตำบลใด จะเป็นหรือตายก็ไม่ได้เห็นหน้า อ้อนวอนเหล่าเทวดาอารักษ์ให้ช่วยเหลือปกป้องคุมครองว เกรงกลัวว่าจะมี ตะพาบ ปลา เต่า ตะเข็บ มังกรจะคาบไปกิน นางก็บินวนพลางร้องเรียกหา แถมดำผุดดำว่ายลงไปในแม่น้ำคงคา ในที่สุดนางก็ออ่นแรงหมดกำลัง ขาดใจตาย หากแต่มรณาสันนวิถีนำจิตนางขึ้นปฏิสนธิในชั้นพรหมสุธาวาส[๗] อยู่เป็นสุขในทิพยวิมานอันสูงใหญ่ ได้ชื่อ ฆติกาพรหม [๘] เป็นตระกูลมหาพรหมอันยิ่งใหญ่ เป็นผู้นำเครื่องอัฏฐบริขารจากดอกบัวทั้ง ๕ ดอก ถวายเป็นทานแก่บุตรทั้ง ๕ ของตน เมื่อได้แต่ละท่านจะได้ตรัสรู้เป็นพระอนุตรสัมมาสัมพุทธเจ้า

เมื่อนั้นฆฏิกามหาพรหมได้รู้ถึงสัจจะอธิษฐานของฤๅษีทั้ง ๕ ตนผู้เป็นลูกของตนเมื่อครั้งยังเป็นแม่กาเผือก จึงเนรมิตรูปกายเป็นเป็นแม่กาตัวใหญ่มีขน ปีก หาง ขาวบริสุทธิ์ผ่องใส มาปรากฏอยู่เบื้องหน้าฤๅษีพี่น้อง ๕ ตนนั้น พรหมได้บอกความเป็นมาของตนเมื่อครั้งเป็นกาเผือกจนถึงไปเกิดเป็นฆฏากามหาพรหมให้ทราบ ฤๅษีพี่น้องทั้ง ๕ ตนได้ยินดังนั้น ก็เกิดความปีติโสมนัสเป็นล้นพ้น ได้ก้มกราบบอกเรื่องราวของตน ๆ ทุกประการ แล้วจึงกล่าวว่า เมื่อตนเกิดมาแล้ว ยังไม่ได้ตอบบุญแทนคุณแม่กาเผือก พวกเราควรขอซึ่งรอยเท้าแห่งแม่กาเผือก(กากปาท ตีนกา) ไว้เป็นที่เคารพปฏิบัติบูชาในภายหน้า ขอให้แม่กาเผือกจงได้ให้รอยเท่าทั้งคู่แก่ลูกทั้งหลายด้วยเถิด

ฆตฏิกามหาพรหมได้ยินดังนั้น จึงพิจารณาดูความเป็นไปในภายหน้า เพื่อจะให้ได้เป็นคุณต่อโลก นักบวช เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายสืบ ๆ ต่อไป จึงกล่าวกับฤๅษีพี่น้องทั้ง ๕ ตนว่า นางจะให้รอยเท้าแก่พวกเขาทั้ง ๕ ตน ไว้ได้บูชารักษา จึงเอาฝ้ายอันเป็นเส้นอ่อนนุ่มสุขุมาล มาฟั่นเป็นเกลียวจนแน่นแล้วดึงออกด้านข้างสามมุมให้เสมอกัน เป็นดั่งรูปตีนกา แล้วยื่นให้ฤๅษีทั้ง ๕ นำเอาไปเป็นไส้ประทีปตีนกาใส่น้ำมันจุดไว้บูชา ตราบจนกว่าจะได้ถึงอาสวขยญาณเป็นพระสัพพัญญูในภายหน้า  เพื่อให้เป็นโชคลาภ เป็นครรลอง เป็นความสุขสวัสดีแก่ผู้กระทำตกแต่งบูชาผางประทีปตีนกานี้ ให้ผลบุญได้นำเข้าสู่นิพพานเที่ยงแท้ สมดั่งคำปรารถนาทุกประการ

ดูกร ตปุสสะ พลิกะ ฤๅษีพี่น้องทั้ง ๕ ตน ก็มีความโสมนัสยินดียิ่ง ด้วยได้สักการบูชาซึ่งบาทรูปตีนกา ที่ฆฏิกามหาพรหมผู้เคยเป็นแม่กาเผือกในอดีตชาติได้ให้ไว้ เมื่อฆฏิกามหาพรหมให้โอวาทเสร็จ ก็กลับสู่ชั้นฟ้าพรหมโลกที่อยู่แห่งตน ยามนั้น ฤๅษีพี่น้อง ๕ ตน ก็มากล่าวกันว่า ณ ที่แห่งนี้ เป็นที่อันประเสริฐ เลิศกว่าที่ทั้งมวล เป็นที่ซึ่งพี่น้องทั้ง ๕ คนได้มาพบหน้ากัน เป็นที่ซึ่งแม่กาเผือกได้ให้ให้บาทตีนกาไว้ ที่แห่งนี้จึงเป็นที่อุดมมงคลยิ่งกว่าที่อื่นใดในโลกทั้งมวล พวกเราพี่น้องควรให้คำปฏิญาณต่อกันและกันว่า ในภายภาคหน้า หากต้องการพบกัน ก็ขอให้มารออยู่ที่นี่ หากผู้ใดผู้หนึ่งเป็นพยาธิ(เจ็ยป่วย)หาผู้อุปการะดูแลไม่ได้ ก็ให้มาที่นี่ และเมื่อใด ถ้าได้ตรัสรู้เป็นพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็ขอให้นำเอาเครื่องอัฏฐบริขาร คือ เกสาธาตุและพระบรมธาตุมาตั้งบรนรจุไว้ที่นี้ ให้เป็นที่นัดหมายแห่งพวกเราทั้ง ๕ คน เพื่อให้เป็นที่สักการบูชาอันล้ำเลิศแก่คนและเทวดาในโลก

เมื่อต่างคนต่างให้คำปฏิญาณแก่กันดั่งนี้แล้ว ต่างก็กลับคืนสู่บรรณศาลาที่อยู่ของตน ปฏิบัติพรหมจริยาอยู่ไม่ขาด ไม่ประมาทลืมหลง มีเพียรในกสิณกรรมฐาน เพื่อให้พ้นจากกิเลสปาปธรรม ตั้งจิตหมายมั่นปรารถยังสัพพัญญูตญาณ ให้ได้โปรดสัตว์โลกทั้งมวล พวกท่านต่างได้จัดแจงแต่งยังดวงประทีปตีนกาบูชา ครั้นถึงเดือนเพ็ญ ฤๅษีพี่น้องทั้ง ๕ ตนก็มาชุมนุมกัน ณ ที่ใต้ต้นนิโครธไต่ถามสารทุกข์สุขดิบนานัปประการ เป็นวัตรปฏิบัติดังนี้ ตราบจนสิ้นอายุขัยของแต่ละคน เมื่อสิ้นชีวิตลง จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต มีอายุ ๕,๐๐๐ ปีทิพย์ [๙]

ฤๅษีผู้พี่ใหญ่นั้น บำเพ็ญบารมีบุญสมภารแก่กล้า แล้วกลับมายังโลกมนุษย์ ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนทั้งมวล ได้ใส่นามของตนตาม ตามปฏิญาณที่ได้ให้กับแม่เลี้ยงไก่เผือกว่า พระกกุสันธสัมมาสัมพุทธเจ้า นำเอาเวไนยสัตว์มหาศาลเข้าสู่ห้องอมตมหานิพพาน

ส่วนฆฏิกามหาพรหมก็ได้นำเอาเครื่องอัฏฐบริขารมาถวายพระพุทธเจ้าผู้เคยเป็นบุตรทั้ง ๕ ของตน เมื่อครั้งชาติก่อนที่เกิดเป็นแม่กาเผือก  

พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ระลึกถึงบุพเพนิวาสานุสติญาณย้อนหลังครั้นเป็นฤๅษีพี่น้อง ๕ ตน ได้ตั้งคำปฏิญาณแก่กันไว้ จึงได้นำไม้เท้าทองคำอันวิจิตรงดงามตั้งฐปันนาไว้ที่ร่มไม้นิโครธ ณ เขาสิงคุตตระ เพื่อให้คนและเทวดาได้สักการบูชา

ฤๅษีผู้น้องตนที่ ๒ ก็ได้มาตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า ผู้เลิศกว่าโลกทั้ง ๓ ถือเอานามแห่งแม่เลี้ยงวัว ตามที่ได้ปฏิญาณไว้ว่า พระโกนาคมนสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์คะนึงถึงชาติหนหลัง ครั้งได้เป็นฤๅษีพี่น้อง ๕ ตน จึงได้นำธรรมกรกมาตั้งบรรจุประดิษฐานไว้ ณ ที่ได้ทำการปฏิญาณ ให้คนและเทวดาได้สักการบูชา

ฤๅษีผู้น้องตนที่ ๓ ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ใส่นามตามแม่เลี้ยงเต่าแห่งตนว่า พระกัสสป[๑๐]สัมมาสัมพุทธเจ้า ได้นำเอาผ้าจีวรสีเหลืองใสงาม มาบรรลุตั้งไว้ตามคำปฏิญาณครั้นหนหลัง

ฤๅษีผู้น้องตนที่ ๔ คือพระตถาคตในกาลบัดนี้ ได้หมายเอานิมิตนาม ตามหญิงแม่เลี้ยงช่างซักผ้าโคตมี  แห่งตนเมื่อครั้นยังเป็นลูกกาเผือกว่า พระโคตมสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จึงบอกแก่วาณิชพี่น้อง ๒ คนให้นำเอาเกสาธาตุกลับมาประดิษฐาน ณ เขาสิงคุตตระอันอยู่ใกล้เมืองแห่งพ่อค้านั้น เพื่อให้เป็นที่สักการบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย เมื่อนั้นพระพุทธศาสนาจักรุ่งเรืองครบ ๕,๐๐๐ ปี ผู้ใดมีศรัทธาปสาทะจิตตั้งมั่นกระทำการบูชา ก็เที่ยงแท้ที่จะได้เข้าสู่พระนิพพาน

ดูกร ตปุสสะ และ ภัลลิกะ เมื่อศาสนาของพระโคตมะครบถ้วน ๕,๐๐๐ ปี ในอนาคตกาล ยังมีฤๅษีตนผู้น้องสุดท้องจะได้ลงเกิดในเมืองเกตุมดีราชธานี กระทำทุกรกิริยาอยู่ ๗ วัน ก็ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ จะได้ชื่อคงนามกรตามแม่เลี้ยงงูใหญ่ของตนที่ได้ให้ปฏิญาณไว้ว่า พระอริยเมตเตรย [๑๑] สัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อนั้น ฆฆิกามหาพรหมก็จะนำเอาเครื่องอัฏฐบริขารมาน้อมถวาย พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ก็เล็งเห็นอดีตชาติหนหลัง จะได้ได้นำพรหมธาตุอันวิเศษขึ้นไปบรรจุก่อเจดีย์สูงใหญ่ให้เป็นที่สักการบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย บุคคลผู้ใดใฝ่ยังมรรคผลนิพพาน แม้นอยู่ไกลนักหากมีใจระลึกถึง ก็เสมอดั่งได้มาไหว้ถึงที่ หรือ ได้เห็นนิทานธรรมเรื่องนี้ ที่ตถาคตแสดงเอาไว้ ได้เทศนาแก่ผู้ใหญ่ ผู้น้อย เมื่อได้สดับรับฟัง ก็จะพึงได้รับอานิสงส์มหาศาลยิ่งนัก สมดั่งคำปรารถนาทุกประการ ทั้งจะได้เข้าสู่อมตมหานิพพานโดยไม่ยากนัก

เมื่อพระพุทธเจ้าครั้นแสดงธรรมเทศนาจบลง ตปุสสะและภัลลกะ พร้อมทั้งมนุษย์และเทวดาทั้งหลายผู้เป็นบริวารของ ตปุสสะ และ ภัลลิกะก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล[๑๒]โดยถ้วนทั่วกัน

 

แม่เลี้ยงของพุทธพระเจ้าห้าพระองค์ในเอกสารโบราณแต่ละฉบับ

ฉบับ

แม่เลี้ยง

แหล่งข้อมูล

พระกกุสันธะ

พระโกนาคมนะ

พระกัสสปะ

พระโคตมะ

พระอริยเมตไตรย

ต้นฉบับ

ปีที่จาร

สำเนา

เผยแพร่ออนไลน์

ไก่เผือก

นาค

เต่า

โค

ราชสีห์

ข้อมูลส่วนใหญ่ที่เผยแพร่ออนไลน์ในปัจจุบัน

สารานุกรมวัฒนธรรมฯ

ไก่เผือก

วัว

เต่า

หมอตำแย*

งูใหญ่

สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม ๑ หน้า ๒๒๕

กาเผือก

ไก่เผือก

วัว

เต่า

หญิงซักผ้า

งูใหญ่

วัดสูงเม่น, แพร่

๑๒๔๔

E-Lanna สำนักหอสมุด มช.

กาเผือก (ไทขึน)

ไก่เผือก

วัว

เต่า

หญิงซักผ้า

งูใหญ่

ทวี สว่างปัญญางกุล

-

E-Lanna สำนักหอสมุด มช.

ประทีษตีนกา

ไก่เผือก

-

เต่า

หญิงซักผ้า

งูใหญ่

วัดสูงเม่น, แพร่

๑๓๑๓

E-Lanna สำนักหอสมุด มช.

พระเจ้าห้าพระองค์ (ไทใหญ่)

 

 

 

 

 

ปางหมู

 

E-Lanna สำนักหอสมุด มช.

ตำนานกาเผือก

ไก่เผือก

วัว

เต่า

หญิงซักผ้า

งูใหญ่

วัดศรีบุญเรือง, เชียงราย

๑๒๑๑

X’asia-Lanna Manuscripts

ตำนานกาเผือก

ไก่เผือก

วัว

เต่า

หญิงซักผ้า

งูใหญ่

วัดศรีโคมคำ, พะเยา

๑๓๒๖

X’asia-Lanna Manuscripts

มูลสักขีประทีษตีนกา

ไก่เผือก

วัว

เต่า

งู

หญิงซักผ้า

วัดช่อแลพระงาม, เชียงใหม่

๑๒๘๔

Ecole française d'Extrême-Orient

มูลสักขีประทีษตีนกา

ไก่เผือก

วัว

เต่า

งู

หญิงซักผ้า

วัดดวงดี, เชียงใหม่

-

Ecole française d'Extrême-Orient

มูลกาเผือก

ไก่เผือก

วัว

เต่า

งู

หญิงซักผ้า

วัดนันทาราม, เชียงใหม่

-

Ecole française d'Extrême-Orient

มูลกาเผือก

ไก่เผือก

วัว

เต่า

หญิงซักผ้า

งูใหญ่

วัดป่าเปอะ, เชียงใหม่

-

Ecole française d'Extrême-Orient

มูลสักขีประทีสตีนกา

ไก่เผือก

วัว

เต่า

หญิงซักผ้า

งูใหญ่

บุพพาราม, เชียงใหม่

๑๒๒๕

-

กาเผือก

ไก่เผือก

หญิงซักผ้า

เต่า

วัว

งู

สิธิจะเรินพอน, หินบูน

-

X’asia-Lao Manuscripts

กาเผือก

ไก่เผือก

หญิงซักผ้า

เต่า

วัว

งู

อะรันยา, ปากชัน

๑๓๐๕

X’asia-Lao Manuscripts

ตำนานพยากาเผือก

ไก่เผือก

หญิงซักผ้า

เต่า

วัว

งู

วัดใหม่สุวันนะพูมาราม

๑๒๔๕

X’asia-Lao Manuscripts

นิยายกาเผือก

ไก่เผือก

หญิงซักผ้า

เต่า

วัว

งู

วัดใหม่สุวันนะพูมาราม

๑๒๑๔

X’asia-Lao Manuscripts

กาเผือก

ไก่เผือก

หญิงซักผ้า

เต่า

วัว

งู

วัดใหม่สุวันนะพูมาราม

-

X’asia-Lao Manuscripts

นิยายกาเผือก (๑)

ไก่เผือก

หญิงซักผ้า

เต่า

วัว

งู

หอสะหมุดแห่งซาดลาว

๑๓๑๐

X’asia-Lao Manuscripts

นิยายกาเผือก (๒)

ไก่เผือก

หญิงซักผ้า

เต่า

วัว

งู

หอสะหมุดแห่งซาดลาว

-

X’asia-Lao Manuscripts

กาเผือก (๓)

ไก่เผือก

หญิงซักผ้า

เต่า

วัว

งู

หอสะหมุดแห่งซาดลาว

-

X’asia-Lao Manuscripts

ลำกาเผือก (๔)

ไก่เผือก

หญิงซักผ้า

เต่า

วัว

งู

หอสะหมุดแห่งซาดลาว

-

X’asia-Lao Manuscripts

นิยายกาเผือก (๑)

ไก่เผือก

งู

เต่า

วัว

ราชสีห์

วัดมะโนรม, หลวงพะบาง

๑๓๓๗

X’asia-Lao Manuscripts

นิยายกาเผือก (๒)

ไก่เผือก

งู

เต่า

วัว

ราชสีห์

วัดมะโนรม, หลวงพะบาง

๑๓๓๖

X’asia-Lao Manuscripts

นิยายกาเผือก

ไก่เผือก

งู

เต่า

วัว

ราชสีห์

วัดมะโนรม, หลวงพะบาง

๑๓๓๒

X’asia-Lao Manuscripts

นิยายกาเผือก

ไก่เผือก

หญิงซักผ้า

เต่า

วัว

งู

วัดสีสะหว่าง, ไชยะบุลี

๑๒๒๐

X’asia-Lao Manuscripts

มูละเจติยะกาเผือก

ไก่เผือก

งู

เต่า

วัว

ม้า

วัดปัดถมมะโพสี, เวียงจัน

๑๓๐๓

X’asia-Lao Manuscripts

มูละเจติยะกาเผือก

ไก่เผือก

งู

เต่า

วัว

ม้า

วัดปะชานิยมละอาด

๑๓๓๒

X’asia-Lao Manuscripts

มูละเจติยะกาเผือก

ไก่เผือก

งู

เต่า

วัว

ม้า

วัดแสนลิขิดไชยาราม

-

X’asia-Lao Manuscripts

ลำกาเผือก

ไก่เผือก

หญิงซักผ้า

เต่า

วัว

งู

วัดสมสะอาด

 

X’asia-Lao Manuscripts

 

 



[๑] สัตตมหาสถาน คือ สถานที่สำคัญ 7 แห่งที่พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุตติสุขเป็นเวลาแห่งละ 1 สัปดาห์ เรียงตามลำดับ คือ สัปดาห์ที่ ใต้ต้นโพธิ์,  สัปดาห์ที่ อนิมิสเจดีย์, สัปดาห์ที่ รัตนจงกรมเจดีย์ , สัปดาห์ที่ รัตนฆรเจดีย์, สัปดาห์ที่ ใต้ร่มไม้อชปาลนิโครธ (ไม้ไทร), สัปดาห์ที่ ใต้ร่มไม้มุจลินท์, และ สัปดาห์ที่ ใต้ร่มไม้ราชายตนะหรือไม้เกด

[๒] ต้นฉบับบาลีว่า อุกกลชนบท

[๓] แสดงว่า พวกเขามาจากฝั่งมหาสมุทรด้านทิศตะวันตกของอินเดีย ข้ามแดนอินเดีย มุ่งสู่ทิศตะวันออก  
เพราะสุวรรณภูมิ อยู่ทางทิศตะวันออกของอินเดีย  แต่ในคัมภีร์ว่า มุ่งสู่มัชฌิมประเทศ (มัชฌิมเทสัง คันตุง) หมายถึง
 เดินทางจากฝั่งมหาสมุทรตะวันออก โอริสสา สู่มัชฌิมประเทศ  ดังความภาษาอังกฤษว่า “At that time Tapussa and 
Bhallika, two merchants, came travelling on the road from Ukkala (Orissa) to that place.

[๔] สัตตุผง สัตตุก้อน (มนฺเถน จ มธุปิณฺฑิกาย จาติ อพทฺธสตฺตุนา จ สปฺปิมธุผาณิตาทีหิ โยเชตฺวา พทฺธสตฺตุนา จ) rice-cakes and lumps of honey

   [๕] คัมภีร์มิได้บอกจำนวน ว่ามี พระเก-สาธาตุกี่เส้น ดังคำว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงลูบพระเศียร พระเก-สาติด
พระหัตถ์ ได้ประทานพระเก-สาเหล่านั้นแก่พ่อค้าทั้ง ๒  ด้วยตรัสว่า ท่านจงรักษาเส้นผมเหล่านี้ไว้ “ภควา สีสํ ปรามสิ ฯ 
เกสา หตฺเถ ลคฺคึสุ ฯ(เต เตสํ อทาสิ อิเม ตุมฺเห ปริหรถาติ)

[๖]  ดอยสิงคุตระ ไม่ทราบว่าเป็นที่ใด แต่พม่าก็อ้างว่า เป็นดอยที่ตั้งของพระธาตุชเวดากอง ที่นครย่างกุ้ง

[๗] การเกิดในชั้นสุทธาวาส ต้องเป็นบรรลุเป็นพระอริยบุคคลชั้นที่ 3 คือ พระอนาคามี เท่านั้น เอกสารนี่แปลกที่คนจิตใจเศร้าหมองตายไปกลับไปเกิดเป็นพรหม

[๘] ฆฏิกาพรหม

[๙] อายุของชาวสวรรค์ชั้นนี้ มีปรากฏใน วิตถตสูตร  อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต, มก. เล่ม 37 ข้อที่ 132 หน้า 505-506.ว่า“  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย 400 ปีมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งวันหนึ่งของเทวดาชั้นดุสิต 30 ราตรี โดยราตรีนั้นเป็นเดือน หนึ่ง 12 เดือน โดยเดือนนั้นเป็นปีหนึ่ง 4,000 ปีทิพย์โดยปีนั้น เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้นดุสิต”

[๑๐] สะกด คำว่า เต่า ที่ถูก เป็น “กัจฉปะ” แต่พ้องเสียง เป็น “กัสสปะ”

[๑๑] คนไทยว่าพระศรีอาริยเมตไตรย์

[๑๒] คงเป็นด้วยมือพาไปของผู้เขียนนิทานธรรม ว่า เมื่อจบเทศนาก็มีผู้บรรลุโสดาบัน ตามหลักฐาน เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าได้พบพานิช 2 พี่น้อง ตปุสสะและภัลลิกะ พวกเจาได้เพียงการถึงพระรัตนตรับ 2 คือ พระพุทธและธรรม เป็นเทววาจิกะอุบาสกคู่แรกในพระพุทธศาสนา ยังไม่มีการบรรลุธํรรม ผุ้ที่บรรลุธรรมหลังพังพระธรรมจักร ปฐมเทศนากัณฑ์แรก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ เพียงองค์เดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น