รายงานการวิจัย
เรื่อง
รูปแบบการจัดการศึกษา
และการเผยแพร่ศาสนธรรม
วัดพระธาตุศรีจองทองวรวิหาร
ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่
โดย
นายพิสิฏฐ์
โคตรสุโพธิ์
เสนอต่อ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
สำนักนายกรัฐมนตรี
17
ตุลาคม 2545
คำนำ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
ได้จัดทำโครงการนำร่องการจัดการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัดในพระพุทธศาสนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัดที่สมควรเป็นแบบอย่างแก่วัดทั่วไป
เพื่อการยกย่องและส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัด
เป้าหมายของโครงการ จำนวน 30 วัด
ให้สามารถจัดการศึกษาและเผยแผ่ศาสนธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น
โดยมีคณะกรรมการดำเนินงานโครงการทำหน้าที่กำหนดแนวทาง ให้คำปรึกษา
ติดตามและนิเทศการดำเนินงานตลอดโครงการ
การวิจัยที่ดำเนินการครั้งนี้
เป็นการวิจัยรูปแบบการจัดการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัดเป้าหมาย จำนวนโครงการ
30 วัด(โดยอาจารย์ ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์) รับผิดชอบวัดในภาคเหนือ 4 วัด คือ
วัดพระธาตุศรีจอมทอง เชียงใหม่ วัดเชตุพน เชียงใหม่ วัดพระธาตุหริภุญชัย ลำพูน และ
วัดจองคำ ลำปาง) เป็นโครงการระยะที่ 1
ที่ศึกษารูปแบบการจัดการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัดก่อนสู่กระบวนการยกย่อง
ส่วนระยะที่ 2 เป็นระยะพัฒนาและขยายเครือข่าย ระยะที่ 1
ได้กำหนดกิจกรรมติดตามผลการวิจัย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
ระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิ กับวัดเป้าหมายของโครงการและเครือข่าย
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของวัดเครือข่ายในระยะที่ 2 ในปีงบประมาณถัดไป
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
สำนักนายกรัฐมนตรี
กิตติกรรมประกาศ
การวิจัยเรื่อง
รูปแบบการจัดการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนธรรม
กรณีศึกษาสำนักวิปัสสนากรรมฐานในแนวสติปัฏฐาน 4
ของวัดพระธาตุศรีจอมทอง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ สำเร็จลงได้
ด้วยการเมตตานุเคราะห์จากพระเดชพระคุณ
พระราชพรหมาจารย์ (ทอง สิริมงฺคโล) เจ้าอาวาส พระครูอาทรสุวรรณโมลี(แสวง ป.ธ. 6 ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
ผู้ช่วยนักวิจัยในวัด ที่ได้ให้ข้อมูลเชิงเอกสาร ประกอบด้วยประวัติวัด
ข้อมูลสถิติต่างๆและภารกิจของทางวัด
และกลุ่มประชากรที่ให้ข้อมูลเชิงสำรวจที่วัดอีก 50 ท่าน
ที่ได้สะท้อนความคิดเห็นในด้านต่างๆ ขอขอบคุณคณะเจ้าหน้าที่กลุ่มงานศาสนา
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ประสานงานอำนวยความสะดวก
รวมทั้งวิทยากรผู้วิจารณ์นำโดยพระเดชพระคุณ พระธรรมกิติวงศ์(ทองดี สุรเตโช)
เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม เจ้าคณะภาค 16 ประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการนำร่องฯ
ที่ได้วิจารณ์สะท้อนความเห็นและให้คำแนะนำประเด็นการวิจัยที่ควรปรับปรุงรูปแบบและเนื้อหาให้เป็นระบบมากขึ้น
ในการเสนอร่างการวิจัยเมื่อวันที่ 13
กันยายน 2545 ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ขอบคุณคุณสุวิทย์
จันทรธาดา
ที่บริการด้านพาหนะให้ผู้วิจัยสามรถลงทำงานในพื้นที่อย่างสะดวกสบายหลายครั้งในการเก็บข้อมูลภาคสนาม
ตลอดเวลาที่ทำการวิจัย
ผู้วิจัยรู้สึกซาบซึ้งในในคุณูปการของพระคุณเจ้าทุกท่าน
วิทยากรทุกคน และผู้ที่ให้การช่วยเหลือทุกท่านที่มิได้เอ่ยนามเอาไว้
และขอขอบคุณอาจารย์พิณสุดา สิริธรังศรี และเจ้าหน้าที่กลุ่มงานศาสนา
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติทุกท่าน ที่ให้การแนะนำ
ช่วยเหลือและประสานงานทุกอย่างตลอดระยะเวลาการทำวิจัย ไว้ ณ ที่นี้
พิสิฏฐ์
โคตรสุโพธิ์
ผู้วิจัย
17 ตุลาคม 2545
รายงานวิจัย : เรื่องรูปแบบการจัดการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนธรรม(กรณีศึกษาสำนัก วิปัสสนากรรมฐานในแนวสติปัฏฐาน 4)
ของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
ตำบลบ้านหลวง
อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
ผู้วิจัย : นายพิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
ปีงบประมาณ : 2545
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
รายงานการวิจัย
“เรื่องรูปแบบการจัดการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนธรรม(กรณีศึกษาสำนักวิปัสสนากรรมฐานในแนวสติปัฏฐาน
4) ของวัดพระธาตุศรีจอมทอง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ”
มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาบริบททั่วไป สภาพการจัดการศึกษา สภาพการเผยแผ่ศาสนธรรม
สภาพการบริหารการศึกษา และรูปแบบการจัดการศึกษาและการเผยแพร่ศาสนธรรม โดยมุ่งข้อเท็จจริง
และสาระสำคัญที่เกี่ยวกับกระบวนการทำงานที่ผ่านมา
การวิจัยเพื่อให้เห็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น
ในกระบวนการทำงาน การบริหารจนประสบเชื่อเสียงและความสำเร็จด้านจัดการศึกษา
ด้านการเผยแผ่ศาสนธรรม โดยเฉพาะ การเผยแผ่ด้านการอบรมวิปัสสนา ในแนวสติปัฏฐาน
4 ของวัดพระธาตุศรีจอมทอง อำเภอจอมทอง
จนได้รับการกล่าวขานอ้างอิงเสมอว่า
ถ้าเป็นการสั่งสอนและอบรมการปฏิบัติแนววิปัสสนากรรมฐานแล้ว ที่ภาคเหนือ ต้องเป็นแบบสำนักวัดพระธาตุศรีจอมทอง เป็นต้น
ได้ดำเนินการมาตามขั้นตอน จนถึงขั้นตอนสุดท้ายเสร็จสิ้นแล้ว ผู้วิจัยสามารถสรุป
ประเด็นที่โดดเด่นของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
ที่ปฏิวัติศาสนกิจในส่วนการเผยแผ่ศาสนธรรม ทั้งภายในปละต่างประเทศ
จนประสบผลสำเร็จอย่างงดงามว่า
มีรูปแบบของการจัดการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนธรรมเป็นอย่างไร เพื่อเป็นทิฏฐานุคติให้วัดอื่นๆที่มีภารกิจทำนองนี้
หรือคล้ายเดียวกันนี้ ได้นำไปประยุกต์ใช้
อันอาจจะเกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนและสังคมในภาพรวม
เป็นการขยายผลแห่งความสำเสร็จให้แพร่กระจายไปทั่วทุกแห่ง ประการสำคัญ
ก็ถือว่าเป็นภารกิจหลักของสถาบันสงฆ์
และบุคลากรคือพระสงฆ์และผู้เกี่ยวข้องทางสถาบันศาสนาจำต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้วให้เพิ่มคุณภาพในระดับที่ตนประสงค์ได้ ดังข้อค้นพบต่อไปนี้
1. ด้านบริบททั่วไปของวัดและสำนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
วัดพระธาตุศรีจอมทอง
เป็นวัดที่ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนเมืองและความเจริญพรั่งพร้อมด้วยปัจจัย
สาธารณูปโภคสะดวกสบาย เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้นำมาประยุกต์ใช้อย่างคุ้นเคย
สภาพทั่วไปทางภูมิศาสตร์การคมนาคมสะดวกสบาย
สภาพทางเศรษฐกิจของวัดก็มีคณะศรัทธาให้การอุปถัมภ์ไม่ลำบากด้วยปัจจัย
4 ความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชน ไม่เป็นปัญหาเพราะชุมชนถือว่าเป็นภาระหน้าที่จะต้องอุปถัมภ์และแสดงถึงสถาบันศาสนาที่เป็นรากฐานทางวัฒนธรรมของกลุ่มตนเอง จึงภูมิใจ การเป็นอยู่ของพระภิกษุสามเณร
และนักปฏิบัติก็ไม่ลำบากด้วยอาหารบิณฑบาต
เสนาสนะที่พำนักก็สัปปายะเหมาะแก่สมณวิสัย
และการอบรมด้านจิตใจเป็นอย่างยิ่ง มีสถานที่ฝึกอบรมที่สร้างใหม่
จุผู้อบรมได้ คราวละไม่น้อยกว่า 250 คน และมีห้องปฏิบัติเป็นกุฏิเล็กๆ
เฉพาะผู้ปฏิบัติอีก จำนวน 149 หลัง
สามารถรองรับจำนวนผู้ที่จะเข้าอบรมได้ตลอดปี
2. ด้านการจัดการศึกษาและการฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน
ในด้านการจัดการศึกษา วัดพระธาตุศรีจอมทอง
ผู้วิจัยพบว่า ทางวัด
มิได้เพียงจัดการศึกษาตามกรอบที่เป็นการศึกษาพระปริยัติธรรมเท่านั้น
ยังได้จัดการศึกษาเพื่อการอบรมเยาชนเป็นงานรับผิดชอบด้วย
เช่นมีโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ด้วย เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติวิปัสสนาอย่างมีเป้าหมายและเป็นพื้นฐานให้เข้าใจหลักพุทธธรรม
ทางวัดพระธาตุศรีจอมทองมีโรงเรียนพระอภิธรรม เพื่อพระสงฆ์และประชาชนทั่วไปอีกด้วย
3. ด้านการเผยแผ่ศาสนธรรม
พระสงฆ์นอกจากจะฝึกหัดอบรมตนเองเพื่อควบคุมสมดุลกายและจิตของตนแล้ว
หน้าที่หลักในฐานะพุทธบุตร คือการเผยแผ่พระศาสนา พระบรมศาสดาฝากศาสนาไว้ที่ศาสนทายาทของพระองค์
พระสงฆ์จึงถือเป็นหน้าที่ต้องเผยแผ่ศาสนธรรม อบรมจริยธรรม
ศีลธรรมเพื่อสร้างความสงบสันติ ความสุขทั้งกายและใจแก่พหูชน
ตามคำสั่งพระบรมศาสดาที่ทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระพุทธศาสนาครั้งแรกเมื่อ 45 ปีก่อนพุทธศักราช
เป็นที่ยินดีที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง
มิได้ทอดธุระภารกิจการเผยแผ่ศาสนธรรม และถือว่าเป็นหน้าที่หลัก ของวัด จึง
ก่อตั้งสำนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ขึ้นมา แต่ พ.ศ. 2535 มีผู้ปฏิบัติประจำทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
ดัง ดังที่กล่าวแล้ว การศึกษาในสถาบันสงฆ์
ถ้าเน้นทางปริยัติอย่างเดียว ก็จะเป็นการขาดไปอีกครึ่งหนึ่งถ้าหากว่า
ไม่ติดตามด้วยการปฏิบัติ ทางวัดพระธาตุศรีจอมทอง
จึงมีการอบรมและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานประจำที่วัดตลอดปี และส่งเสริมการปฏิบัติ
ในสถาบันการศึกษาพระสงฆ์ ระดับมหาวิทยาลัย มีพระนิสิตจากมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
มาเข้าอบรมกรรมฐาน เป็นเวลาคราวละ 1 เดือน ทุกปีการศึกษา ซึ่งจะตกอยู่ในเดือน
มกราคม นอกจากนี้ ทางวัดเป็นศูนย์อบรมพระวิปัสสนาจารย์เขต 7 ภาคเหนือ
ก็ได้มีหลักสูตรการฝึกอบรมพระวิปัสสนาจารย์เพื่อเป็นวิทยากรด้านเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แพร่หลาย
จบไปแล้วหลายรุ่น และเป็นโครงการต่อเนื่องทุกปี
ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา
ทางวัดก็จะมีโครงการจริยธรรม
ด้วยการรักษาศีลในวันอุโบสถและนอนวัดค้างเพื่อฝึกกรรมฐาน อุโบสถละ 2 วัน ตลอดพรรษา
สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลา จะมาอบรมที่วัดอย่างต่อเนื่องอีกด้วย นอกจากนี้ การเผยแผ่ศาสนธรรมของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
มิได้จำกัดอยู่ใน ท้องถิ่นภาคเหนือหรือที่ประเทศไทยเท่านั้น
แต่ทางวัดยังมีศักยภาพสามารถขยายภาระงานด้านการอบรมวิปัสสนากรรมฐานออกไปถึงต่างประเทศ
มีเครือข่ายสำนักวิปัสสนากรรมฐานที่เป็นสาขาของวัดเกิดขึ้นในประเทศ เกือบ 30 สาขา
และที่ต่างประเทศมากอีก 6 สาขา ใน 3 ประเทศ ที่เป็นศูนย์การอบรมวิปัสสนากรรมฐาน
นอกจากนี้ งานการเผยแผ่ศาสนธรรม
ของวัดก็มีพระวิทยากรที่ทำหน้าที่การอบรม เผยแผ่โดยตรงสู่ประชาชนแล้ว
ยังได้เผยแผ่ผ่านทางสื่อวิทยุ โดยทางวัดมีรายการธรรมออกอาการ สัปดาห์ละ 4 วัน
นับว่าเป็นประโยชน์อย่างกว้างขวาง
4. การบริหารการศึกษา/การฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน
วัดพระธาตุศรีจอมทอง มีระบบการบริหารการศึกษาที่ชัดเจน
เจ้าอาวาสมีภาวะผู้นำ มีวิสัยทัศน์ มีความเสียสละในการทำงาน มีการแบ่งภาระงานให้ผู้ใต้บังคับบัญชา
หรือผู้ร่วมงาน รับผิดชอบตามความถนัด ความสามารถ เหมาะกับทักษะ
ความชำนาญของแต่ละบุคคล มีการบริหารแบบกระจายอำนาจรับผิดชอบเป็นฝ่ายๆ
เห็นได้จากแผนผังการบริหารทั้งโรงเรียน และการบริหารวัดพระธาตุศรีจอมทอง ดังที่แสดงแล้ว
ด้านการฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน
ทางภาคเหนือมีน้อยวัดที่สามารถจัดโครงการอบรมเป็นประจำดุจวัดพระธาตุศรีจอมทอง
การบริหารการฝึกอบรมจะมีการกำหนดแผนการปฏิบัติ เอาไว้ชัดเจน มีโครงการอบรมระยะสั้น
ระยะกลาง ระยะยาว มีวิทยากร
มีหลักสูตรการอบรมที่เหมาะสมกับช่วงเวลาและระยะเวลาผู้จะมาฝึกอบรมตามโอกาส
5. ด้านรูปแบบการจัดการศึกษาและการเผยผ่ศาสนธรรม
การจัดการศึกษาของแต่ละวัดแม้จะมีหลักสูตรกลางที่ออกมาจากส่วนกลาง
แต่ทางวัดเองก็มีเทคนิควิธีที่จะบริหารให้หลักสูตรนั้นๆเป็นที่สนในและตอบสนองความต้องการของผู้ประสงค์จะศึกษาซึ่งโดดเด่นแตกต่างกันออกไป
รูปแบบการเผยแผ่ศาสนธรรมนั้น ทางวัด มีโรงเรียนอภิธรรม ที่สอนด้านทฤษฎี
มีสำนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่ฝึกอบรม เป็นประจำ มีประชาชน
และสถาบันการศึกษาสมัครมาเข้ารับการอบรมเป็นระยะ มิได้ขาด
เพื่อส่งเสริมการสร้างผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาด้านการปฏิบัติ ทางวัด
มีโครงการฝึกอบรมวิทยากรด้านวิปัสสนา เพื่อเป็นพระวิปัสสนาจารย์ เช่น โครงการอบรมพระวิปัสสนาจารย์ประจำปี ๆ
ละหลายรุ่นร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่
อย่างต่อเนื่องมา 4 รุ่นแล้ว
6. ผลการวิเคราะห์รูปแบบการบริหารองค์กรที่ประสบความสำเร็จ
เพื่อให้ได้ภาพจริงจากการปฏิบัติงาน
ผู้วิจัยจึงได้ออกแบบสอบไปเก็บข้อมูล สำรวจเชิงความคิดเห็น จากผู้ปฏิบัติงาน
มาประกอบการวิเคราะห์ข้อมูลเอกสาร พบว่า
6.1 ด้านการจัดการศึกษา
6.1.1 การบริหารงานทั่วไป
ผู้ตอบแบบสอบถามของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่
เห็นด้วยมากในเรื่องที่ผู้บริหารมีการกำหนดนโยบายและเป้าหมายคุณภาพของสถานศึกษาอย่างชัดเจน (= 3.90) รองลงมาคือเห็นด้วยมากในเรื่องผู้บริหารจัดสิ่งอำนวยความสะดวก
เพื่อการปฏิบัติงานด้านศึกษาแก่ครู (= 3.86) และผู้บริหารกำกับติดตามด้วยการสอบถามการประชุมและการให้รายงานผลเป็นระบบ
(= 3.79) ตามลำดับ
6.1.2
การจัดการศึกษา(หลักสูตร)
ผู้ตอบแบบสอบ
เห็นด้วยมากในเรื่องมีการแบ่งสายงานรับผิดชอบอย่างชัดเจน (= 4.00) รองลงมาคือเห็นด้วยมากในเรื่องมีการส่งเสริมให้ครูได้รับการศึกษาระดับที่สูงขึ้น (= 3.97) และ
ผู้บริหาร ครู มีส่วนร่วมในการวางแผนจัดการการศึกษาอย่างเป็นระบบ (= 3.93) ตามลำดับ
6.1.3
รูปแบบการจัดการศึกษา(นักเรียน)
ผู้ตอบแบบสอบถาม
เห็นด้วยมากในเรื่องให้กำลังใจแก่ผู้เรียนทั้งในระหว่างการเรียนและประสบความสำเร็จในการเรียนอย่างทั่วถึง
(= 3.97) รองลงมา
คือ เห็นด้วยมากในเรื่องมีการวางแผนเพื่อแสวงหา กลุ่มนักเรียนใน เป้าหมายอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง (= 3.93) และ มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าศึกษา
อย่างชัดเจน (= 3.76) ตามลำดับ
แต่มีเพียงในเรื่องการกำกับดูแลเอาใจใส่ผู้เรียนอย่างทั่วถึง
มีความเห็นในระดับปานกลาง (= 3.45)
6.1.4
อาคารสถานที่
ผู้ตอบแบบสอบถาม
เห็นด้วยมากในเรื่องมีอาคารสถานที่เพียงพอต่อการจัดการศึกษา
มีการวางแผนการใช้อาคารและห้องเรียนอย่างเป็นระบบ (= 4.10) รองลงมา
คือ เห็นด้วยมากในเรื่องมี ห้องประชุม
ห้องปฏิบัติกิจกรรมที่เหมาะสมกับจำนวนผู้เข้าประชุมหรือปฏิบัติการ (= 3.93)
6.1.5
การประชาสัมพันธ์และการระดมทรัพยากร
ผู้ตอบแบบสอบถาม เห็นด้วยมากในเรื่องมีการระดมทรัพยากร
ด้านบุคลากร
ด้านงบประมาณอย่างสม่ำเสมอ (= 3.90) รองลงมาคือเห็นด้วยมากในเรื่องมีการแสวงหาแหล่งทุนเพื่อจัดการเรียนรู้ (= 3.83) แต่สำหรับในเรื่องที่มีผู้รับผิดชอบการประชาสัมพันธ์และการระดมทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง
และมีการประเมินผลการประชาสัมพันธ์และการระดมทรัพยากร เพื่อการพัฒนาภารกิจของ
สถาบันมีความเห็นด้วยปานกลาง (= 3.48 และ 3.31) ตามลำดับ
6.2
รูปแบบด้านการเผแผ่ศาสนธรรม
6.2.1
ด้านการบริหาร
ผู้ตอบแบบสอบถามของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่
เห็นด้วยมากในเรื่องผู้บริหารให้กำลังใจแก่ครู/วิทยากรและ ผู้รับการเผยแผ่ด้วยการชมเชย
ยกย่อง การให้รางวัล (= 3.90) รองลงมา
คือ เห็นด้วยมากในเรื่อง
ผู้บริหารกำกับติดตามด้วยการสอบถาม
การประชุมและการให้รายงานผลการเผยแผ่อย่างเป็นระบบ(= 3.83) และผู้บริหารมีการกำหนดนโยบายและเป้าหมาย
คุณภาพของการเผยแผ่ศาสนาธรรมอย่างชัดเจน (= 3.79)
6.2.2
ด้านบริหารหลักสูตร
ผู้ตอบแบบสอบถาม
เห็นด้วยมากในเรื่องการแบ่งภาระหน้าที่รับผิดชอบแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน (= 3.93) รองลงมา
คือ เห็นด้วยมากในเรื่องการประชุมครู/วิทยากรเพื่อการวิเคราะห์
ประเมินการบริหารหลักสูตรอย่างเผยแผ่ศาสนธรรมของวัดก่อนและหลังการทำกิจกรรม (= 3.76) และการระดม/แสวงหาครู/วิทยากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสม สำหรับการเผยแผ่อบรมมาปฏิบัติการ (ถ้าขาดแคลน) (= 3.72)
6.2.3
ด้านผู้ข้ารับการอบรม
ผู้ตอบแบบสอบถาม
เห็นด้วยมากในเรื่อง การกำกับดูแลเอาใจใส่ผู้เข้ารับการ ฝึกอบรมอย่างทั่วถึง (= 3.79) รองลงมา
คือ
เห็นด้วยมากในเรื่องการกำหนดคุณสมบัติของผู้จะเข้ารับการฝึกอบรมเผยแผ่อย่างชัดเจน
และการให้กำลังใจแก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม
ทั้งในระหว่างการฝึกอบรมและหลังการฝึกอบรม (= 3.72) และการวางแผนเพื่อแสวงหากลุ่มผู้เข้ารับการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง (= 3.66)
6.2.4
ด้านอาคารสถานที่
ผู้ตอบแบบสอบถาม
เห็นด้วยมากในเรื่อง ห้องประชุม ห้องปฏิบัติกิจกรรมที่ เหมาะสมกับจำนวนผู้เจ้าประชุมหรือปฏิบัติการ (= 4.03) รองลงมา
คือ เห็นด้วยมากในเรื่อง
ห้องปฏิบัติการที่เอื้อต่อการฝึกอบรมด้วยตนเอง (= 4.00) แต่สำหรับในเรื่องอาคารสถานที่เพียงพอต่อการจัดการฝึกอบรมนั้น
ส่วนใหญ่เห็นด้วยในระดับปานกลาง (= 3.66)
6.2.5
ด้านประชาสัมพันธ์และการระดมทรัพยากร
ผู้ตอบแบบสอบ
เห็นด้วยมากในเรื่องการระดมทรัพยากรด้านบุคลากร ด้านงบประมาณอย่างสม่ำเสมอ การประเมินผลการประชาสัมพันธ์และการระดมทรัพยากรเพื่อการพัฒนาภารกิจของสถาบันการแสวงหาแหล่งทุนเพื่อการจัดกา
ฝึกอบรมเท่ากัน (= 3.62) รองลงมา
คือ เห็นด้วยมากในเรื่อง ผู้รับผิดชอบการประชาสัมพันธ์และการ ระดมทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง (= 3.52)
สรุปสาเหตุที่ทำให้วัดประสบผลสำเร็จ
1.
ผู้บริหารแบ่งหน้าที่การรับผิดชอบเป็นระบบ
2.
ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือและรับผิดชอบงานเป็นอย่างดี
3.
วิทยากรเป็นผู้รู้จริงปฏิบัติชอบจริง
4.
ได้รับความร่วมมือจากประชาชน
และพระวิทยากรในการทำงาน
5.
เจ้าอาวาส มีภาวะผู้นำ วิสัยทัศน์ไกล
ให้ความเมตตาเอาใจใส่นักปฏิบัติอย่างเสมอภาค
7. รูปแบบและวิธีแก้ปัญหา
ทางด้านปัญหาการจัดการศึกษามีน้อย
แต่ปัญหาในด้านการเผยแผ่เพื่อพัฒนาคุณภาพ
ที่ทางวัดประสบอยู่ มีหลายประการ ในด้านการประเมินผลการฝึกอบรมปฏิบัติธรรม
ดังนี้
1.
การปฏิบัติกรรมฐานต้องมีการสอบอารมณ์ประจำอย่างสม่ำเสมอ
ครูไม่เพียงพอ
2. ขาดการติดตามผลของการปฏิบัติกรรมฐานเมื่อจบหลักสูตร
3.
ไม่มีเกณฑ์มาตรฐานสำหรับตรวจวัดความก้าวหน้าของการปฏิบัติธรรมเป็นตาราง
อย่างไรก็ตาม วัดพระธาตุศรีจอมทอง
เมื่อประสบปัญหา ก็สามารถแก้ไขได้ ด้วยการประชุม กำหนดนโยบายร่วม ของฝ่ายต่างๆ
และกำหนดแผนปฏิบัติ มีเป้าหมายเพื่อบรรลุ เอาไว้ มีการติดตามและประเมินผล
แม้จะไม่ครบกระบวนการ PDCA อย่างครบถ้วนและเป็นระบบ
และเนื่องจากทางวัดมีการอบรมวิปัสสนากรรมฐานแก่ชาวต่างประเทศ ทางวัดยังขาดผู้มีพื้นฐานทั้งความรู้ทางธรรม
และภาษาต่างประเทศในบุคคลเดียวกัน
จึงต้องกำหนดเป็นโครงการเพื่อสร้างวิทยากรด้านในในอนาคต
8. ข้อเสนอแนะอื่น
เนื่องด้วยการเผยแผ่ศาสนธรรมด้านวิปัสสนากรรมฐาน
เป็นงานหนักและท้าทาย วัดพระธาตุศรีจอมทอง ควรพิจารณา ในประเด็นต่อไปนี้
1. ควรเพิ่มบุคลากรด้านการอบรมที่มีคุณภาพมาร่วมงานให้มาก
2.
ครูฝึกควรรับฟังความคิดเห็นของผู้เรียนและปฏิบัติที่สะท้อนปัญหา
4.
มีกิจกรรมที่เพิ่มศักยภาพด้านภาษาต่างประเทศแก่วิปัสสนาจารย์
5. ควรหาแนวทางเพื่อให้พระวิปัสสนาจารย์มีโอกาสได้ไปเผยแผ่พระศาสนาต่างประเทศ
โดยรัฐบาลเห็นความสำคัญและให้งบสนับสนุน
สารบัญ
เรื่อง หน้า
คำนำ i
กิตติกรรมประกาศ
ii
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
iii-
บทที่ 1 บทนำ 1
ความเป็นมาของการวิจัย 1 วัตถุประสงค์ของการวิจัย 1
ขอบเขตของการวิจัย 2
วิธีดำเนินการวิจัย 4
ผลที่คาดว่าจะได้รับ 4
บทที่ 2 แนวคิดทฤษฎีที่ใช้ในการศึกษา
5
แนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของพระสงฆ์ตามหลักทางศาสนา 5
ภารกิจ
6 ด้านของมหาเถรสมาคมและวัด 7
แนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของวัดและพระสงฆ์ในสังคมไทย 12
การจัดองค์การและการบริหารวัด 17
การมอบหมายงาน 18
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 19
บทที่ 3 วิธีดำเนินการวิจัย 20 การศึกษาเอกสารตำราและรายงานการวิจัยต่างๆ 20
การกำหนดกรอบแนวคิดในการวิจัย 21
การกำหนดประเด็นในการศึกษา 24
การเก็บรวบรวมข้อมูล 24
การวิเคราะห์ข้อมูล 25
บทที่ 4 วิเคราะห์รูปแบบและกระบวนการการจัดการศึกษา 26
และการเผยแผ่ศาสนธรรม
บริบทของวัดสภาพทั่วไปทางภูมิศาสตร์
ประวัติวัดและเจ้าอาวาส 27
สภาพการจัดการศึกษา
ด้านการเรียนการสอน 31
สภาพการเผยแผ่ศาสนธรรม 37
สภาพการบริหารการศึกษาของวัดจองคำ
40
ปัญหาอุปสรรค/แนวทางแก้ปัญหา 53
ปัจจัยแห่งความสำเร็จด้านการเผยแผ่ศาสนธรรม 56
บทที่ 5 สรุป วิจารณ์และเสนอแนะ 57
ด้านบริบทสภาพทั่วไป 57
ด้านการศึกษา 58
ด้านการเผยแผ่ศาสนธรรม 58
การบริหารการศึกษา/การอบรมวิปัสสนากรรมฐาน 59
ปัญหาและอุปสรรค 63
สาเหตุที่ทำให้โรงเรียนประสบผลสำเร็จ 65
ข้อเสนอแนะ 65
บรรณานุกรม 66 ประวัติผู้วิจัย 70
บทที่
1
บทนำ
1.
ความเป็นมาของการวิจัย
ถ้าพิจารณาถึงความหมายของ
“การศึกษา” ในแนวกว้าง
จะเห็นว่าการเผยแผ่ศาสนธรรมโดยสถาบันทางศาสนา
ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการให้การศึกษาแก่ประชาชนและเยาวชนทั่วไป
ซึ่งอาจจะเน้นเฉพาะด้านจริยศึกษา หรืออาจจะจัดการศึกษาสายสามัญควบคู่กันไปด้วยก็ได้
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติจึงมีโครงการสนับสนุนการวิจัยเฉพาะกรณีวัดที่สมควรเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติภารกิจด้านการจัดการศึกษาและเผยแผ่ศาสนธรรม
โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งฝ่ายสงฆ์และฆราวาส เป็นผู้คัดเลือกวัดใน 4
ภูมิภาค ของประเทศ จำนวน 30 แห่ง
เป็นกรณีศึกษา
วัดพระธาตุศรีจอมทอง
ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่ ในทางประวัติศาสตร์ ตามตำนานพระทักขิณโมลีธาตุ เป็นวัดเก่าแก่สร้างมานาน นับแต่ ปี พ.ศ. 1995 โดยศรัทธา
นายสร้อย นางเม็ง มีศาสนสถานที่สำคัญคือ พระบรมธาตุที่บรรลุพระทักขิณโมลีธาตุ
ของพระพุทธเจ้า เป็นที่สักการะของพุทธศาสนิกชนและเจริญรุ่งเรืองตามยุคสมัย
เป็นวัดแห่งหนึ่งในภาคเหนือที่ได้รับการคัดเลือกสำหรับการวิจัยในโครงการนี้
เพราะเป็นวัดที่มีชื่อเสียงโดดเด่นใน ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
โดยเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานทั้งในและต่างประเทศ
นับแต่เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันได้ไปรับตำแหน่งในปี พ.ศ.
2534 เป็นต้นมา นอกจากนี้ เพื่อการสืบอายุพระพุทธศาสนา
วัดพระธาตุศรีจอมทองยังได้เป็นเจ้าภาพในการรวบรวมและตีพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีและภาษาล้านนาขึ้นมา
ในปี พ.ศ. 2540 นับเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่โดดเด่นและสำคัญอย่างยิ่ง
ทั้งได้มีบทบาทในด้านอื่นๆที่สถาบันศาสนาพึงให้บริการแก่สังคม
ทั้งนี้ได้การดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องและประสบผลสำเร็จด้วยดีเสมอมา
สมควรเป็นทิฏฐานุคติที่วัดอื่นๆควรศึกษาและดำเนินตามแบบที่ดี ในบทบาทดังที่กล่าวแล้วเพื่อความสำเร็จของตน
2.
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
2.1
เพื่อศึกษาบริบททั่วไปของ
วัดพระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
2.2
เพื่อศึกษาสภาพการจัดการศึกษา/การฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน ของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
2.3
เพื่อศึกษาสภาพการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
2.4
เพื่อศึกษาสภาพการบริหารการศึกษา/การฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐานของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
2.5
เพื่อนำเสนอแผนภูมิและรูปแบบการจัดการศึกษาและการเผยแพร่ศาสนธรรม
ของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
2.6
เพื่อส่งเสริมให้วัดพระธาตุศรีจอมทอง
ได้จัดทำโครงการเพื่อสนับสนุนการศึกษา/การฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน
และเผยแผ่ศาสนธรรมอย่างน้อย 1 โครงการ
3.
ขอบเขตของการวิจัย
3.1
ขอบเขตด้านเนื้อหา
3.1.1
บริบทของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่ โดยครอบคลุมถึงสภาพทั่วไปทางภูมิศาสตร์ สภาพทางเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชน ประวัติวัดและเจ้าอาวาส
และความเป็นอยู่ของพระภิกษุสามเณรในวัด
3.1.2
สภาพการจัดการศึกษา/การฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน ของวัดพระธาตุศรีจอมทอง ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2544 ในด้านหลักสูตรปริยัติธรรม/หลักสูตรฝึกอบรมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
และด้านการบริหารหลักสูตรและการสั่งสอนอบรม
3.1.3
สภาพการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2544
3.1.4
สภาพการบริหารการศึกษา/การฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐานของวัดพระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
ประกอบด้วยการวางแผน การจัดองค์กร การจัดและพัฒนาบุคลากร การควบคุมกำกับ
และติดตามประเมินผล และภาวะผู้นำของเจ้าอาวาส
3.1.5
การส่งเสริมให้วัดพระธาตุศรีจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่
จัดทำโครงการเพื่อสนับสนุนการศึกษาอบรมและเผยแผ่ศาสนธรรมในช่วงดำเนินการวิจัย
3.2
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ประชากร ได้แก่เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส
และพระภิกษุสามเณรทุกรูปในวัดพระธาตุศรีจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่พุทธศาสนิกชนในชุมชนที่ตั้งของวัด
และครูทั้งที่เป็นพระภิกษุและฆราวาสที่ปฏิบัติการสอน/ฝึกอบรมในวัด
กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ เจ้าอาวาส / รองเจ้าอาวาส พระภิกษุ / สามเณร รวม 20 รูป พุทธศาสนิกชน 20 คน
พระภิกษุและฆราวาสที่เป็นครูฝึกอบรมในวัด 10 คน รวมทั้งสิ้น 50 รูป/คน
3.3
ตัวแปรที่จะศึกษาได้แก่
3.3.1
บริบทของวัด
3.3.2
การจัดการศึกษา/การฝึกอบรมภาคปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
3.3.3
การเผยแผ่ศาสนธรรม
3.3.4
การบริหารการศึกษา/การฝึกอบรมของวัด
3.3.5
การส่งเสริมโครงการเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาการฝึกอบรม
และเผยแผ่ศาสนธรรม
4. วิธีดำเนินการวิจัย
4.1 วิธีวิจัย ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ
ผสมผสานกับการวิจัยและพัฒนาแบบมีส่วนร่วม
4.2 การเก็บรวบรวมข้อมูล
ใช้วิธีการต่างๆ ตามขั้นตอน ดังนี้
4.2.1 การชี้แจงเพื่อความเข้าใจร่วมกันของคณะผู้วิจัย
4.2.2 การรวบรวมเอกสารหลักฐานต่างๆที่เป็นข้อมูลของวัด โดยสร้างเครื่องมือวิจัยสำหรับการเก็บ
บันทึกข้อมูล ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต และแบบสอบถามชนิดตรวจสอบรายการ
ประมาณค่า 5 ระดับ และแบบสอบถามปลายเปิด
4.3
วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล ใช้วิธีวิเคราะห์ข้อมูลร่วมหลายวิธี
ได้แก่ วิธีวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) สถิติเบื้องต้น
ได้แก่ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และการวิเคราะห์ตีความเชิงตรรกะ(Logical
Analysis)
5.
ผลที่ได้รับ
5.1 วัดพระธาตุศรีจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่
จะสามารถจัดการเรียนการสอน/การฝึกอบรมภาคปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานและเผยแผ่ศาสนธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
5.2 จะได้รูปแบบที่ดีในการจัดการเรียนการสอน/การฝึกอบรมและการจัดกิจกรรมเผยแผ่ ศาสนธรรม
ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบอย่างที่ปฏิบัติได้สำหรับวัดอื่น ๆ
5.3
ได้ทราบความต้องการของวัดพระสงฆ์และบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในวัดเพื่อให้การส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนธรรมตามศักยภาพที่สอดคล้องตามแนวการจัดการศึกษาของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
พ.ศ. 2542
6. นักวิจัยและผู้ช่วยนักวิจัย
6.1
ที่ปรึกษางานวิจัย :
พระราชพรหมาจารย์(ทอง สิริมงฺคโล) เจ้าอาวาส
6.2 นักวิจัย :
อาจารย์ ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
6.3
ผู้ช่วยนักวิจัย :
พระครูอาทรสุวรรณโมลี(แสวง
ป.ธ. 6 ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
บทที่ 2
แนวคิดทฤษฎีที่ใช้ในการศึกษา
ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ศึกษาเอกสารแนวคิดทฤษฎี
ตลอดจนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานการวิจัย ดังนี้
1.
แนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของพระสงฆ์ตามหลักทางศาสนา
2.
ภารกิจ 6
ด้านของมหาเถรสมาคมและวัด
3.
แนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของวัดและพระสงฆ์ในสังคมไทย
4.
การจัดองค์การและการบริหารวัด
5.
การมอบหมายงาน
6.
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
1.
แนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของพระสงฆ์ตามหลักทางศาสนา
ปัจจุบัน
พระสงฆ์กลายเป็นสถาบันทางศาสนา มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ 2 ประการคือ (พระมหาประยุทธ์ ปยุตฺโต, 2513)
1.1 บทบาทหรือหน้าที่ต่อตนเองของพระสงฆ์
1.2 บทบาทหรือหน้าที่ต่อผู้อื่น
1.1
บทบาทหรือหน้าที่ต่อตนเองของพระสงฆ์
ในสมัยพุทธกาล
พระพุทธเจ้าได้ทรงปรารภถึงธุระหรือกิจที่พึงกระทำของพระสงฆ์ 2
ประการ คือ
คันถธุระ และ วิปัสสนาธุระ
คันถธุระ หมายถึง การศึกษาถึงหลักธรรมต่างๆ
ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ จนสามารถจำได้
บอกกล่าว และถ่ายทอดได้ เรียกว่า บทบาทในการศึกษา ซึ่งหมายถึง
การเรียนรู้พระไตรปิฎก อันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในส่วนของพระวินัย พระสูตร
และพระอภิธรรม
หรือการเรียนรู้ถึงศีล สมาธิ ปัญญา
ที่เรียกกันว่า สิกขา 3 การศึกษานี้ต้องครอบคลุมข้อปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา หลักธรรมภาคปฏิบัติ
คือศึกษาถึงความถูกต้องทางกาย
ทางวาจา ทางจิต และทางปัญญา
มีความรู้ ความคิดเห็น ความเข้าใจถูกต้อง (พุทธทาสภิกขุ,
2529)
การศึกษาของพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าและพระอริยสาวก
เป็นผู้ทำหน้าที่แนะนำ เป็นครู เป็นกัลยาณมิตร มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์ต่อกัน
เป็นการศึกษาถึงหลักธรรมและวินัย
เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติและการเผยแพร่
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงปรินิพพาน
ต่อมาพระสงฆ์ได้ศึกษาพระธรรมและพระวินัยจากพระที่อุปสมบทก่อน
มีการท่องจำพระวจนะของพระพุทธเจ้าสืบต่อกันมา จนถึงสมัยการทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 5
ที่ประเทศศรีลังกา
พระไตรปิฎกจึงถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรกประมาณ พ.ศ. 443 ต่อมามีการแปลเป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลก พระสงฆ์จึงศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎก
นับตั้งแต่นั้นมา
ปัจจุบันการศึกษาของพระสงฆ์ มีการจัดรูปแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม
ซึ่งพระราชวรมุนี ได้สรุปไว้ดังนี้ (พระราชวรมุนี,
2529)
1) การศึกษาที่เป็นระบบของคณะสงฆ์เอง
เป็นอิสระต่างหากจากระบบของรัฐโดยคณะสงฆ์เป็นผู้จัดดำเนินการเอง ประกอบด้วย
-
การศึกษาที่เรียกว่า “ประปริยัติธรรมแผนกธรรม” ได้แก่ “นักธรรม” มี 3
ชั้น คือ ชั้นตรี
ชั้นโท และชั้นเอก เป็นการศึกษาในเนื้อหาที่เกี่ยวกับประวัติของพระพุทธเจ้า
รวมถึงพระสาวกองค์สำคัญๆ
หลักธรรมของพระพุทธเจ้าในหัวข้อต่างๆ ได้แก่ วินัยและข้ออันพึงประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ ศาสนพิธี
ที่ว่าด้วยขั้นตอนในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ
และเพื่อเป็นการฝึกฝนในการแสดงธรรม ก็มีวิชาการแต่งกระทู้ ซึ่งเป็นการขยายพุทธศาสนสุภาษิต นอกจากนี้
ยังได้มีการจัดเพื่อให้บุคคลทั่วไปได้ศึกษาด้วย เรียกว่า “ธรรมศึกษา”
โดยมีหลักสูตรเหมือนกับนักธรรม
เปลี่ยนเฉพาะส่วนของวิชาวินัยเท่านั้น
-
การศึกษาที่เรียกว่า “พระปริยัติธรรมแผนกบาลี” ซึ่งเรียกว่า “ประโยค” มีตั้งแต่ประโยค 1-9 เป็นการศึกษาภาษาบาลี คำ หลักการของภาษา การแปล
การแต่งประโยค เป็นต้น เมื่อผู้เรียนสอบได้ประโยค 3 ขึ้นไป จะเรียกว่า “มหา” และถือว่าประโยค 9
คือ การศึกษาขั้นสูงสุดในระบบนี้ ซึ่งปัจจุบันมีการเทียบความรู้
เท่ากับปริญญาตรีในทางโลก
2)
การศึกษาที่อยู่ในระบบของรัฐ หรือที่คณะสงฆ์จัดให้สอดคล้องกับระบบของรัฐ
แบ่งเป็น
- การศึกษาที่คณะสงฆ์จัดให้สอดคล้องกับระบบของรัฐ
โดยหน่วยงานหรือกลุ่มบุคคลในพระศาสนาเป็นผู้จัดดำเนินงาน ได้แก่
การศึกษาที่คณะสงฆ์รับเข้าเป็นการศึกษาคณะสงฆ์
ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงฆ์ คือ
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหามกุฏราชวิทยาลัย
เป็นการสถาปนาขึ้นโดยพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เป็นสถานศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณร
ซึ่งปัจจุบันได้มีการขยายวิทยาเขตสู่จังหวัดต่างๆ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น
เป็นการจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่รวมหลักสูตร
ทั้งวิชาการทางโลกและทางธรรมเข้าด้วยกัน
การศึกษาที่รัฐกำหนดขึ้นตามความประสงค์ของคณะสงฆ์ ได้แก่
โรงเรียนปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา (มัธยมศึกษาปีที่ 1-6) โดยจัดหลักสูตรที่รวมกันระหว่างวิชาสามัญกับวิชาพุทธศาสนา โดยยกเว้นวิชาพลศึกษาและเพิ่มวิชาธรรมะ วินัย
ภาษาบาลีแทน
-
การศึกษาในระบบของรัฐ ซึ่งหน่วยงานหรือกลุ่มบุคคลจัดให้แก่พระภิกษุสามเณร ได้แก่ การศึกษาผู้ใหญ่
ซึ่งปัจจุบันมหาเถรสมาคมอนุญาตให้ศึกษาเฉพาะมัธยมศึกษาตอนต้นเท่านั้น นอกจากนี้ ในปัจจุบันได้มีการจัดเพื่อสามเณรในโครงการพระธรรมจาริก
3)
การศึกษาที่วัดจัดขึ้นเป็นอิสระ จากระบบคณะสงฆ์และระบบรัฐ เช่น
จิตตภาวันวิทยาลัย โรงเรียนพระอภิธรรม เป็นต้น
เป็นการจัดการศึกษาที่เปิดอย่างอิสระของแต่ละสำนัก
วิปัสสนาธุระ หมายถึง การปฏิบัติ การพิจารณาถึงทุกขลักษณะ อนิจจลักษณะ
และอนัตตลักษณะ ด้วยความพากเพียรพยายาม จนกว่าจะบรรลุถึงพระนิพพาน เรียกว่า
บทบาทหน้าที่ในการปฏิบัติตน ปกครองตน ซึ่งหมายถึง
การประพฤติตามหลักธรรมเพื่อความดับทุกข์ มีความบริสุทธิ์ทั้งกายและจิต
เป็นการน้อมนำธรรมะและวินัยมาปฏิบัติ เป็นการอบรมในด้านความประพฤติระเบียบวินัย
ให้มีความสุจริตทางกาย วาจา และอาชีวะ เรียกว่าปฏิบัติศีล รวมถึงการสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
มีสติสัมปชัญญะ
การปฏิบัติสมาธิภาวนาหรือเรียกว่าวิปัสสนาธุระอันเป็นการฝึกฝนอบรมจิตใจให้เป็นสมาธิ ให้มีพลังเพื่อนำไปใช้ในการกำจัดกิเลสความเศร้าหมองแห่งจิตและเกิดความรู้แจ้งเห็นจริง
ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามทฤษฎีที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาข้างต้น ได้ผล
คือการดับทุกข์เป็นขั้นๆ จนดับได้สิ้นเชิง
พัฒนาคุณภาพจิต และรู้จักใช้ความสามารถในกระบวนสมาธิ
และการอบรมทางปัญญาจนเกิดความรู้แจ้งสามารถชำระจิตใจให้บริสุทธิ์หลุดพ้นเป็นอิสระ
เข้าใจสรรพสิ่งตามความเป็นจริง ทำการต่างๆ ด้วยปัญญา
เป็นบทบาทในการปกครองบริหารตนและคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามหลักพระธรรมวินัยอย่างสมบูรณ์
1.2
บทบาทหน้าที่ต่อผู้อื่น
บทบาทหน้าที่ของพระสงฆ์ที่มีต่อผู้อื่นหรือต่อสังคมนั้นเกิดขึ้นจากความผูกพันในด้านความเป็นอยู่
ดังพุทธพจน์ที่ตรัสสอนและเตือนพระสงฆ์ให้ระลึกเสมอว่า (พระมหาประยุทธ์ ปยุตฺโต,
2513)
“ภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายเป็นผู้มีอุปการะมากแก่เธอทั้งหลาย
บำรุงเธอ ทั้งหลายด้วยจีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
แม้เธอทั้งหลายก็จงเป็นผู้อุปการะมากแก่พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย
จงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น
งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
จงประกาศแบบการครองชีวิตอันประเสริฐ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะอันบริสุทธิ์ บริบูรณ์ แก่พราหมณ์ และคฤหบดีเหล่านั้นเถิด”
จากพุทธพจน์ดังกล่าว
จะเห็นว่าพระพุทธเจ้า ทรงกำหนดบทบาทของพระสงฆ์ที่มีต่อผู้อื่น
หรือผู้มีอุปการคุณทั้งหลายว่า จะต้องตอบแทนด้วยการประกาศพระศาสนา
ประกาศธรรมสู่สาธารณชนในรูปแบบต่างๆ
2.
ภารกิจ 6
ด้านของมหาเถรสมาคมและวัด
เพื่อให้การดำเนินบทบาทของคณะสงฆ์เป็นไปตามพระธรรมวินัย จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่
2) พ.ศ.2535 เพื่อปกครองดูแลให้พระสงฆ์ปฏิบัติตามหน้าที่
ตามบทบาทภารกิจไปในทิศทางเดียวกัน โดยกำหนดอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคม
และอำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาสในการปฏิบัติตามบทบาทภารกิจในมาตรา 15 และมาตรา 37 ไว้ดังนี้
มาตรา 15 ตรี
มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1)
ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดีงาม
(2)
ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร
(3)
ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่
การสาธารณูปการ และการสาธารณะสงเคราะห์ ของคณะสงฆ์
(4)
รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา
(5)
ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
หรือกฎหมายอื่น
มาตรา
37 เจ้าอาวาสมีหน้าที่ดังนี้
(1)
บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี
(2)
ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือที่พำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้น
ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย
กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ
หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม
(3)
เป็นธุระในการศึกษาอบรมและส่งสอนพระธรรมวินัย
แก่บรรพชิตและคฤหัสถ์
(4)
ให้ความสะดวกตามควรในการบำเพ็ญกุศล
จากพระธรรมวินัยและพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ดังกล่าวข้างต้น จึงสรุปได้ว่า
บทบาทของพระสงฆ์ในฐานะบุคคลสำคัญของวัด มีภารกิจสำคัญ 6
ด้านคือ
ด้านศาสนศึกษา ด้านศึกษาสงเคราะห์ ด้านการเผยแผ่
ด้านสาธารณะสงเคราะห์ ด้านสาธารณูปการ และด้านการปกครอง สาระสำคัญของภารกิจแต่ละด้าน
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ได้สรุปไว้ดังนี้ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ,
ม.ป.ป.)
1) ด้านศาสนศึกษา หมายถึง การจัดการศึกษาปริยัติธรรมและการศึกษาอื่นๆ
อันควรแก่สมณะ ซึ่งได้แก่
การศึกษาพระปริยัติธรรม
หรือการศึกษาธรรมบาลี ซึ่งปัจจุบันได้จัดการศึกษาเป็นสองส่วน คือ
1.1 การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมบาลี จำแนกเป็น
1.1.1
การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม
แบ่งเป็น 3 ชั้นคือ นักธรรมชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก
1.1.2
การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ตามหลักสูตรแบ่งเป็น 8
ชั้น คือ บาลีประโยค
1-2 และเปรียญธรรม
3-9
1.2 การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา
เป็นการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ โดยกระทรวงฯ
ประกาศใช้ระเบียบว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2514 และปรับปรุงใหม่เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2535 มีทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย
เพื่อให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร และหากพระภิกษุสามเณรเหล่านี้ ลาสิกขาบท
ก็สามารถนำวุฒิการศึกษาที่ได้รับไปใช้เพื่อการศึกษาต่อ ในสถานศึกษาของรัฐหรือใช้สมัครงานเพื่อประกอบอาชีพได้
2)
ด้านศึกษาสงเคราะห์ เป็นการจัดการศึกษาแก่ประชาชนทั่วไป
ปัจจุบันดำเนินการ ดังนี้
2.1
ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์
เป็นศูนย์ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเผยแผ่พระพุทธศาสนา ผู้เรียนส่วนใหญ่เป็นนักเรียนในโรงเรียนสามัญ
แบ่งเป็นระดับชั้น คือ
ชั้นเตรียม รับนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1-3
ชั้นต้น รับนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 4-6
ชั้นกลาง รับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1-3
ชั้นสูง รับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4-6
หลักสูตรการสอนมี 2
ประเภท คือ วิชาบังคับ
ได้แก่ ประวัติพระพุทธศาสนา วิชาธรรมและศาสนพิธี ประเภทที่ 2 คือ
วิชาเลือก แต่ละโรงเรียนจะเลือกสอนวิชาตามความเหมาะสมกับสภาพของท้องถิ่น
ความพร้อมของโรงเรียน ความต้องการของท้องถิ่นและความเหมาะสมของเวลา งบประมาณดำเนินการโดยกรมการศาสนาและเงินอุดหนุนจากโรงเรียนที่ตั้งศูนย์
2.2
ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัด
เป็นศูนย์ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกอบรมปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม
วัฒนธรรม และประเพณีอันดีงามแก่เด็ก ตลอดจนเตรียมความพร้อมด้านร่างกาย อารมณ์
สังคม และสติปัญญา ส่งเสริมให้พระภิกษุได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมเพิ่มขึ้นและเป็นศูนย์ประสานความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับ ชาวบ้านโดยรับเด็กวัย 3-5 ขวบ
งบประมาณดำเนินการโดยกรมการศาสนาและเงินอุดหนุนจากโรงเรียนที่ตั้งศูนย์
3)
ด้านเผยแผ่ศาสนธรรม เป็นการเผยแผ่ศาสนธรรม
ดำเนินการใน 2 ลักษณะ คือ
เป็นโครงการปฏิบัติสืบเนื่องและเป็นโครงการเฉพาะกิจ ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล
3.1 ลักษณะโครงการที่ปฏิบัติสืบเนื่อง
ได้แก่
3.1.1 หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.)
ดำเนินงานโดยใช้ระเบียบของมหาเถร-สมาคมว่าด้วยการตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล
พ.ศ.2518 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้วัดทำหน้าที่อบรม
แนะนำ สั่งสอน สงเคราะห์
สาธารณสงเคราะห์
กตัญญูกตเวทิตาธรรม สามัคคีธรรม
อันจะเป็นประโยชน์แก่การดำรงชีพของประชาชน
โดยได้รับงบประมาณดำเนินการจากกรมการศาสนาและวัดที่ตั้งศูนย์ อ.ป.ต.
3.1.2 การอบรมจริยธรรมนักเรียน
ข้าราชการและประชาชน เป็นการจัดอบรมที่กรมการศาสนาจัดขึ้น โดยส่งอนุศาสนาจารย์ออกไปอบรมจริยธรรมนักเรียน
นักศึกษา ข้าราชการ และประชาชนตามภูมิภาค
3.1.3 การอบรมครูจริยศึกษา เป็นโครงการที่กรมการศาสนาจัดขึ้น
เพื่อให้การอบรมผู้สอน จริยศึกษา ให้มีความรู้ ความเข้าใจในเทคนิคและวิธีการจัดสอนจริยศึกษาในโรงเรียน
3.1.4 การส่งเสริมหน่วยเผยแผ่ศีลธรรม
ดำเนินงานโดยอาศัยระเบียบกรมการศาสนา
ว่าด้วยการส่งเสริมและอุดหนุนหน่วยเผยแผ่ศีลธรรมทางพระพุทธศาสนา พ.ศ.2526 กรมการศาสนาจะจัดงบประมาณสนับสนุนสถานศึกษา สมาคม
มูลนิธิ สถาบันเผยแพร่พระพุทธศาสนา
ซึ่งจัดเป็นหรือตั้งเป็นกิจการ งาน หน่วยงาน คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ กลุ่ม สภา
ชุมนุม ชมรมหรือที่เรียกอย่างอื่น
ภายใต้การบริหาร ควบคุม ดูแล และรับผิดชอบของหัวหน้าส่วนราชการหรือสถานศึกษา
ผู้บริหารหรือผู้แทนนิติบุคคลนั้น
3.1.5 การส่งเสริมหน่วยสงเคราะห์พุทธมามกะผู้เยาว์ (นพกะ) เป็นหน่วยสงเคราะห์ที่วัดและประชาชนให้มีขึ้นในวัด ในหมู่บ้านเพื่อฝึกอบรมด้านความรู้
ความประพฤติและจิตใจ
โดยมีพระสงฆ์ทำหน้าที่ฝึกอบรมสั่งสอนและบริหารงานทั่วไปของหน่วยสงเคราะห์พุทธมามกะผู้เยาว์
เรียกพุทธมามกาจารย์ แบ่งเป็น 3 คณะ คือ
คณะประถมพุทธมามกะ ได้แก่ เด็ก
7-10 ปี
คณะมัธยมพุทธมามกะ ได้แก่ เด็ก 11-15
ปี
คณะอุดมพุทธมามกะ ได้แก่ เด็ก 16-18
ปี
3.1.6 งานพระจริยนิเทศก์
ดำเนินงานโดยระเบียบของกรมการศาสนาว่าด้วยพระจริยนิเทศก์ พ.ศ. 2523
โดยกรมการศาสนาแต่งตั้งพระภิกษุที่สำเร็จการศึกษาไม่น้อยกว่าเปรียญธรรม 6
และนักธรรมชั้นเอก
หรือจบการศึกษาระดับอุดมศึกษา
มีพื้นฐานความรู้ไม่น้อยกว่าเปรียญธรรม 4 ประโยค ไปช่วยเหลือเจ้าคณะจังหวัด
ในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์
การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ
และการสาธารณสงเคราะห์
3.1.7 งานพระธรรมทูต ดำเนินงานโดยใช้มติมหาเถรสมาคมว่าด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานพระธรรมทูตภายในประเทศ พ.ศ. 2508
โดยจัดพระสงฆ์ผู้สมัครบำเพ็ญประโยชน์แก่พระศาสนา
ออกไปจาริกเผยแผ่หลักธรรมแก่ประชาชนทั่วประเทศ
3.2 ลักษณะโครงการปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลตามศักยภาพของวัด
คือ โครงการที่วัดจัดขึ้นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนตามนโยบายรัฐบาล
หรือของกระทรวงศึกษาธิการและตามศักยภาพของวัด ได้แก่ โครงการอุทยานการศึกษา โครงการสวนสมุนไพรในวัด โครงการลานวัดลานใจ ลานกีฬา
โครงการวัดพัฒนาตัวอย่าง เป็นต้น
4) ด้านสาธารณสงเคราะห์ เป็นงานเกี่ยวกับการสงเคราะห์ชุมชนและสังคมโดยมีวัดและพระภิกษุเป็นแกนนำ
ได้แก่ โครงการอุปสมบทและบรรพชาพระภิกษุสามเณรภาคฤดูร้อน
โครงการสงเคราะห์พระภิกษุสามเณรและวัดที่ประสบภัยและขาดแคลน วัดและเจ้าอาวาส พระภิกษุ
เป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชนและสังคม เช่น ให้สถานที่เป็นที่จัดอบรมเยาวชนและประชาชนด้านอาชีพต่างๆ การสร้างถนนเข้าหมู่บ้าน การออมทรัพย์
ให้สถานที่เป็นแหล่ประปาหมู่บ้าน
การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียน
การช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้ยากไร้ เป็นต้น
5)
ด้านสาธารณูปการ เป็นงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาวัด ด้านอาคารสถานที่ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้วัดเอื้อประโยชน์ตามภารกิจของวัดในด้านอื่นๆ การพัฒนาเหล่านี้ ได้แก่ การดูแลบำรุงรักษาสาธารณสมบัติของวัด การดูแลรักษาและก่อสร้างอาคารสถานที่ เช่น
พระอุโบสถ เมรุ อาคารเรียน
หอธรรม กุฏิ ศาลาการเปรียญ เป็นต้น งานสาธารณูปการแต่ละวัดจะไม่เท่าเทียมกันมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดเศรษฐกิจ ความต้องการของชุมชนและบารมีของเจ้าอาวาสหรือพระสงฆ์ในวัดเป็นสำคัญ ทั้งนี้
ทางวัดจะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมการศาสนาเป็นบางส่วน เรียกว่าเงินอุดหนุนบูรณะวัด
6)
ด้านการปกครอง งานปกครองของสงฆ์ อาศัยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2ป
พ.ศ. 2535 โดยลำดับชั้นการปกครองของคณะสงฆ์ไว้ดังนี้
มาตรา 20
คณะสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม
การจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม
กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 15 พ.ศ.2523 ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์หมวด
2 ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง และหมวด 3 ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1) วิธีดำเนินการเพื่อความเรียบร้อยดีงาม วิธีดำเนินการศาสนศึกษาและศึกษาสงเคราะห์ วิธีดำเนินการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิธีดำเนินการสาธารณูปการ และสาธารณสงเคราะห์ อันเกี่ยวกับการคณะสงฆ์และการพระศาสนา ให้เป็นไปตามที่กำหนดในระเบียบมหาเถรสมาคม
2) ให้มีเจ้าคณะมหานิกายและเจ้าคณะธรรมยุตปกครองบังคับบัญชาวัดและพระภิกษุสามเณรในนิกายนั้นๆ
และแบ่งลำดับชั้นการปกครองเป็น
2.1) การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลาง มีเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เจ้าคณะใหญ่หนใต้ ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ตามภาคการปกครองที่กำหนดไว้ และเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ธรรมยุตทุกภาค
อำนาจหน้าที่เจ้าคณะใหญ่
1)
ดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย
กฎหมาย กฎมหาเถร-สมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ
คำสั่ง มติ ประกาศ
พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช
2)
ควบคุมและส่งเสริมการรักษาความเรียบร้อยดีงาม การศาสนศึกษา
การศึกษาสงเคราะห์
การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ให้ดำเนินไปด้วยดี
3)
วินิจฉัยการลงนิคหกรรม วินิจฉัยข้ออุทธรณ์ คำสั่งหรือคำวินิจฉัยชั้นภาคหรือมีอำนาจหน้าที่ในกรณีที่ได้รับมอบหมายอย่างอื่นจากมหาเถรสมาคม
4)
แก้ไขข้อขัดข้องของเจ้าคณะภาคให้เป็นไปโดยชอบ
5)
ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าคณะและเจ้าอาวาส ตลอดถึงพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ในบังคับบัญชาหรืออยู่ในเขตปกครองของตน
และชี้แจงแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อยู่ในบังคับบัญชาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
6)
ตรวจการคณะสงฆ์ในเขตปกครองเป็นครั้งคราว
2.2) การปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค แบ่งเป็นระดับภาค ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบล
มีผู้ปกครองบังคับบัญชาในตำแหน่งเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ
และเจ้าคณะตำบลตามลำดับ โดยกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 14 พ.ศ.2535 ว่าด้วยจำนวนและเขตปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค
กำหนดให้มีจำนวนภาค 18 ภาค
อำนาจหน้าที่เจ้าคณะภาค
1)
ดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย
กฎมหาเถร-สมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ
พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช
2)
ควบคุมและส่งเสริมการรักษาความเรียบร้อยดีงาม
การศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ
และการสาธารณสงเคราะห์ให้ดำเนินไปด้วยดี
3)
วินิจฉัยนิคหกรรม
วินิจฉัยข้ออุทธรณ์ คำสั่ง
หรือวินิจฉัยชั้นจังหวัด
4)
แก้ไขข้อขัดข้องของเจ้าคณะจังหวัดให้เป็นไปโดยชอบ
5)
ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าคณะและเจ้าอาวาส
ตลอดถึงพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ในบังคับบัญชา หรืออยู่ในเขตปกครองของตน และตรวจตราชี้แจงแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อยู่ในบังคับบัญชา
ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
อำนาจหน้าที่ของเจ้าคณะจังหวัด
เจ้าคณะอำเภอและเจ้าคณะตำบล มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าคณะภาค
แตกต่างกันที่เขตพื้นที่การปกครองดูแลเท่านั้น
3.
แนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของวัดและพระสงฆ์ในสังคมไทย
นับแต่สมัยโบราณ
วัดมีความสำคัญยิ่งต่อสังคมไทยทุกหมู่บ้านมีวัดเป็นศูนย์กลาง
มีพระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตใจและสติปัญญา
เป็นศูนย์กลางของความเชื่อถือ
และความสามัคคี ด้วยเหตุนี้
พระสงฆ์จึงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
บทบาทในอดีตวัดเป็นสถานศึกษากลางสำหรับประชาชนทั่วไป เป็นแหล่งรวมศิลปวิทยาการในด้านต่างๆ
การเรียนการสอนในวัดระยะแรกยึดถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก
มีความมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เรียนประพฤติปฏิบัติตาม
โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นคนดีและสังคมโดยรวมเกิดความสงบสุข นอกจากนี้ ผู้เรียนยังได้มีโอกาสศึกษาศิลปวิทยาต่างๆ
ที่เป็นความรู้เพื่อการดำรงรักษาสังคม ซึ่งได้แก่ วิชาก่อสร้าง ช่างฝีมือ จิตรกรรม
เป็นต้น โดยมีพระสงฆ์เป็นครู
การจัดการเรียนการสอนดำเนินไปอย่างไม่เป็นทางการ กระบวนการถ่ายทอดยังไม่เป็นระบบ
ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
จึงทำให้ผู้เรียนหันเหความสนใจไปในด้านอื่นๆ ทำให้ศิลปวิทยาเหล่านี้ค่อยๆ
เสื่อมสูญไป
บทบาทของวัดในฐานะศูนย์กลางของสังคมสรุปได้ดังนี้ (พระมหาประยุทธ์ ปยุตฺโต, 2513)
1)
เป็นสถานศึกษาสำหรับชาวบ้าน
ส่งกุลบุตรมาอยู่รับใช้พระสงฆ์ รับการฝึกอบรมทางศีลธรรมและเล่าเรียนวิชาการต่างๆ
ตามที่มีสอนในสมัยนั้น
2)
เป็นสถานสงเคราะห์
ที่บุตรหลานชาวบ้านที่ยากจนได้มาอาศัยเลี้ยงชีวิตและศึกษาเล่าเรียน
ตลอดถึงผู้ใหญ่ที่ยากจนมาอาศัยเลี้ยงชีพ
3)
เป็นสถานพยาบาลที่รักษาผู้เจ็บป่วยตามภูมิรู้ของคนสมัยนั้น
4)
เป็นที่พักคนเดือนทาง
5)
เป็นสโมสรที่ชาวบ้านมาพบปะสังสรรค์
หย่อนใจ หาความรู้เพิ่มเติม
6)
เป็นสถานบันเทิง ที่จัดงานเทศกาล
และมหรสพต่างๆ สำหรับชาวบ้านทั้งหมด
7)
เป็นที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
เป็นที่ปรึกษาแก้ปัญหาชีวิต ครอบครัวและความทุกข์ต่างๆ
8)
เป็นศูนย์กลางของศิลปะวัฒนธรรม
ที่รวบรวมศิลปกรรมต่างๆ ของชาติ ตลอดจนเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์
9)
เป็นคลังวัสดุ สำหรับเก็บของใช้ต่าง ๆ
ซึ่งชาวบ้านจะได้ใช้ร่วมกัน เมื่อมีงานวัดหรือยืมไปใช้เมื่อตอนมีงาน
10) เป็นศูนย์กลางการบริหารหรือการปกครอง
ที่กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านจะเรียกลูกบ้านมาประชุมกัน บอกแจ้งกิจกรรมต่างๆ (ในยามสงคราม อาจใช้เป็นที่ชุมนุมทหาร)
11) เป็นที่ประกอบพิธีกรรม
หรือใช้บริการด้านพิธีกรรม อันเป็นเรื่องผูกพันกับชีวิตของทุกคน ในระยะเวลาต่างๆ
ของชีวิต
3.1
บทบาทของวัดก่อนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
พ.ศ. 2505
พระพุทธศาสนาได้เข้ามาสู่ประเทศไทย
เมื่อราว พ.ศ. 300 โดยพระสงฆ์ชาวอินเดีย
เมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศไทย
ก็มีอิทธิพลต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่
ขนบธรรมเนียมประเพณีและค่านิยมของคนไทยเป็นอย่างมาก สิ่งต่างๆ
เหล่านี้ถูกหลอมรวมเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยและเป็นมรดกตกทอดมายังอนุชนรุ่นต่อๆ มา
หลังจากพระพุทธศาสนาได้แพร่เข้ามาในดินแดนอันเป็นประเทศไทยในปัจจุบันนี้
ได้มีส่วนทำให้เกิดความเจริญทางด้านพระพุทธศาสนาในสมัยต่างๆ ปรากฏ ดังนี้
1)
สมัยกรุงสุโขทัย (พ.ศ.1800-1893)
วัดมีบทบาทสำคัญต่อสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง
เป็นศูนย์กลางของชุมชนในการอบรมศีลธรรมและความรู้ด้านต่างๆ แก่ประชาชน พระสงฆ์ในวัดทำหน้าที่เทศนาสั่งสอน ตำราที่ใช้
คือ พระไตรปิฎก พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประกาศให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
พระยาลิไท ทรงออกผนวช
ซึ่งนับเป็นแบบอย่างในการบวชเรียนสมัยต่อมา
นอกจากนี้ ยังได้พระราชนิพนธ์หนังสือไตรภูมิพระร่วงเพื่อใช้ในการอบรมสั่งสอนราษฎรให้มีคุณธรรม
หนังสือเล่มนี้ได้เป็นแนวในการปฏิบัติตนของคนไทยสมัยต่อมา (กำจัด จันทวงษ์โส, 2536)
2)
สมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.1893-2310)
วัดยังคงมีบทบาทหน้าที่สำคัญต่อชีวิตความเป้นอยู่ของคนไทย เช่นเดียวกับสมัยสุโขทัย
วัดถูกสร้างเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
ประชาชนนิยมพาบุตรหลานของตนไปฝากให้ศึกษาเล่าเรียนที่วัด มีทั้งอยู่ประจำและแบบไป-กลับ
พระสงฆ์ยังคงให้การศึกษาอบรมแก่เด็กและเยาวชนไทย
ให้เป็นผู้มีความประพฤติดี ปฏิบัติชอบ
พร้อมทั้งได้มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีไทยแบบโบราณเดิม ในสมัยนั้นถือเป็นประเพณีว่า
ผู้ชายไทยพุทธทุกคนควรจะบวชเรียน และหากจะเข้ารับราชการควรต้องบวชเรียนมาแล้ว (กำจัด จันทวงษ์โส, 2536)
3)
สมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ.2310-2325)
ในสมัยหลังเสียกรุงศรีอยุธยา วัดวาอารามและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาถูกพม่าเผาผลาญไปเป็นจำนวนมาก เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีได้กอบกู้เอกราชเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ได้ทรงให้มีการสืบเสาะหาต้นฉบับวรรณกรรมและคัมภีร์ทางพุทธศาสนาที่ยังคงเหลืออยู่ตามสถานที่ต่างๆ มาคัดลอก แต่งเติมเสริมใหม่
ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการทำสังคายนาพระไตรปิฎกสมัยต่อมา
นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงบูรณะและสร้างวัดขึ้นอีกหลายวัด เช่น
วัดระฆังโฆสิตาราม วัดอรุณราชวราราม วันอินทาราม
และวัดราชคฤห์ เป็นต้น (กำจัด จันทวงษ์โส, 2536)
4)
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ.2325-2414)
พระพุทธศาสนาก็ได้รับการทำนุบำรุงให้เจริญรุ่งเรืองโดยลำดับ
มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกให้ครบถ้วนสมบูรณ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1
ที่วัดนิพพานาราม หรือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นหลักในการอบรมสั่งสอนประชาชนให้มีคุณภาพ
และใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตนของพระภิกษุสงฆ์ต่อไป
พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ศรัทธาและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทรงปฏิบัติพระองค์ตามหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี
และใช้วัดเป็นที่เผยแพร่ความรู้ในด้านต่างๆ สู่ประชาชน เช่น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงโปรดให้จารึกตำราวิชาแพทย์แผนโบราณ ตำราหมอนวด ตำรายา และโคลงกลอนต่างๆ
ไว้ให้ประชาชนได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองที่วัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) จนเป็นที่กล่าวขานกันว่า
“วัดพระเชตุพนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย” (จิตรกร ตั้งเกษมสุข, 2525)
5)
สมัยปฏิรูปการศึกษา (พ.ศ.2414-ปัจจุบัน)
เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2414 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรก นับเป็นการเริ่มต้นการเรียนการสอนแผนใหม่อย่างเป็นระบบ มีฆราวาสเป็นผู้สอน วิชาที่สอนก็ให้แยกเป็นวิชาๆ ได้แก่
วิชาเลข ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ และขนบธรรมเนียมของทางราชการ จึงกล่าวได้ว่า ในรัชสมัยของพระองค์เป็นการปฏิรูปการจัดการศึกษา
ทรงตั้งกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน (ลิ้นจี่ หะวานนท์, 2526)
3.2
บทบาทของวัดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่
2) พ.ศ.2535
ในสังคมพุทธศาสนาของไทย
วัดเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันทางศาสนา
ซึ่งนอกจากจะเป็นที่พำนักของพระภิกษุสงฆ์แล้ว วัดยังเป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นศูนย์กลางของชุมชน เนตรนริศ
นาควัชระ กล่าวว่า วัดเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ขาดไม่ได้
ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้าน ละแวกบ้านต่างๆ ก็มีวัดเป็นสมบัติร่วมกันของสังคมในท้องถิ่น
ประชาชนในแต่ละละแวกบ้านต่างก็มีความสัมพันธ์ ความผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้นกับวัด
ซึ่งให้ความอนุเคราะห์บริการแก่ชุมชน ทั้งในด้านสติปัญญา จิตใจ
และแม้แต่ในด้านวัตถุซึ่งเป็นสมบัติส่วนรวมของชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ (เนตรนริศ นาควัชระ,
2529) นอกจากนี้ รัชนีกร เศรษโฐ กล่าวถึงบทบาทที่เด่นและสำคัญของพระสงฆ์ในชนบท
สรุปได้ดังนี้ (รัชนีกร เศรษโฐ, 2526)
1)
พระสงฆ์ทำหน้าที่ส่งสอนธรรมะ
และส่งเสริมให้ชาวชนบททำบุญกุศลต่างๆ
2) ภิกษุอาวุโสหรือสมภารวัดทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา
ผู้ประนีประนอม และบางครั้งทำหน้าที่เยียวยารักษาผู้เจ็บป่วย
3)
พระสงฆ์เป็นผู้ช่วยส่งเสริมความสามัคคีในหมู่บ้าน
โดยช่วยขจัดความขัดแย้งของประชาชนในหมู่บ้านได้
เพราะคนส่วนมากเชื่อฟังพระผู้ทรงศีลอยู่แล้ว
4) พระสงฆ์ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนเด็กดื้อที่พ่อแม่หมดความสามารถจะอบรมด้วยตนเองได้
รวมทั้งอนุเคราะห์เด็กกำพร้า
5)
พระสงฆ์เป็นผู้ช่วยสั่งสอนเทคนิคขั้นพื้นฐานซึ่งสามารถเรียนรู้ได้จากวัด
เช่น สถาปัตยกรรม ช่างไม้ ช่างก่ออิฐถือปูน ช่างปรับปรุงการเกษตร เป็นต้น
และปัจจุบัน พระสงฆ์ได้เรียนรู้วิธีการสาธารณสุข
แล้วนำไปเผยแพร่แก่ประชาชนให้รู้จักการสร้างบ่อน้ำ การสร้างและใช้ส้วมซึม
ตลอดจนการรู้จักการสาธารณสุข
ในเวลาต่อมา
ประเทศไทยได้นำเอาวิธีการพัฒนาชุมชนใมนรูปของการศึกษามวลชนและการพัฒนาชุมชนในชนบท
เพื่อแก้ปัญหา ความด้อยพัฒนาของประชาชนในชนบทที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างยากจน
ขาดแคลนสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต ขาดการศึกษาและบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ
ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีการตื่นตัวและสนใจในการประกอบอาชีพมากขึ้น
ประกอบกับประชาชนเหล่านั้นมีความจำเป็นที่จะต้องดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด
จึงเป็นเหตุให้ประชาชนที่อยู่ในชนบทต้องหันไปทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพมากขึ้น
จึงไม่มีเวลาเอาใจใส่ดูแลบูรณะวัดวาอารามอย่างที่เป็นอยู่ในสมัยก่อน
การเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมและเศรษฐกิจดังกล่าว
ทำให้ความสำคัญและบทบาทของวัดลดน้อยถอยลงในด้านการอบรมสั่งสอนศีลธรรมแก่ประชาชน ความจำเป็นในการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ
ดังเช่นที่เคยมีมาในอดีตก็หมดไป
เหลือเป็นเพียงสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและเป็นแหล่งเผยแผ่ธรรมเท่านั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าว
รัฐบาลจึงได้พยายามส่งเสริมและฟื้นฟูบทบาทของวัดให้เป็นแหล่งศึกษาอบรมศีลธรรม
และอนุรักษ์วัฒนธรรมของท้องถิ่น ดังในแผนพัฒนาการศึกษา การศาสนาและการวัฒนธรรม
ระยะที่ 7 (พ.ศ.2535-2539) ของกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดเป็นวัตถุประสงค์ไว้ว่า
เพื่อเป็นการพัฒนาการศึกษาการศาสนาและการวัฒนธรรม
ให้สามารถพัฒนาเยาวชนและประชาชนให้เป็นพลเมืองดี มีคุณภาพ
มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ เคารพยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
และการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
มีความรู้ มีทักษะในการประกอบอาชีพ มีคุณธรรม
จริยธรรม และค่านิยมที่ดี รู้จักสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ประพฤติและปฏิบัติตนตามหลักธรรมของศาสนา เห็นคุณค่าและร่วมกันรักษาเอกลักษณ์ทางศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ
และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและความสับสนวุ่นวายของสังคมปัจจุบันพร้อมทั้งการลดบทบาทของวัดทางด้านการให้การศึกษาแก่เยาวชน
และการเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมต่างๆ ลดลงไปเป็นอันมาก พระราชวรมุนี
ให้ความคิดเห็นว่าการฟื้นฟูสถาบันสงฆ์ให้มั่นคงถาวรสืบต่อไปนั้น ควรดำเนินการในสามประการ คือ(พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), 2518)
1) การให้การศึกษา
พระสงฆ์ที่ทำการเผยแผ่ธรรมะให้แก่ประชาชนได้ดีนั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้
ความสามารถสูง มีความเข้าใจธรรมะเป็นอย่างดี หรือไม่ก็เป็นผู้ที่สนใจศึกษาธรรมเป็นพิเศษ
2) ขจัดการประพฤติปฏิบัติต่างๆ
ของสงฆ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เช่น การทำนายโชคชะตา ปลุกเสกเครื่องรางของขลัง ใบ้หวย
ทำพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ ทรงเจ้าเข้าผี
ทำเสน่ห์ รักษาคนไข้ด้วยเวทมนตร์ หรือการกระทำอื่นๆ ที่พระพุทธศาสนาไม่ได้กำหนดไว้
3)
ดูแลรักษาวัดวาอารามที่เป็นศูนย์กลางของศิลปะวัฒนธรรม
ซึ่งถือว่าเป็นสมบัติส่วนกลางของประเทศชาติและศาสนา นอกจากนี้
พระสงฆ์ควรเรียนรู้วิชาช่างศิลป์ต่างๆ อย่างน้อยก็เพื่อบำรุงรักษาศิลปวัตถุและศาสนสมบัติไว้บ้าง
ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการนอกรีตนอกรอยแต่อย่างใด แต่กลับจะเป็นการยกฐานะของพระสงฆ์ที่เป็นผู้บำรุงรักษาวัฒนธรรมของชาติให้สูงขึ้นอีกด้วย
3.3
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติกับบทบาทของวัด
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
พ.ศ.2542 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่
20 สิงหาคม พ.ศ.2542 มาตรา 6 ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษาไว้ว่า
การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ
สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม จริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต
สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
มาตรา 12 กำหนดให้บุคคล ครอบครัว
สถาบัน ศาสนา มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12
ปี มาตรา 23 และมาตรา 24 กำหนดไว้ชัดเจนว่า
ให้มีการปลูกฝังคุณธรรมไว้ในทุกวิชา
และมาตรา 33 ได้กล่าวถึงนโยบายและแผนไว้ว่า
สภาการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมแห่งชาติ
มีหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบาย แผนและมาตรฐานการศึกษาของชาติ นโยบายและแผนด้านศาสนา
ศิลปะวัฒนธรรม การสนับสนุนทรัพยากร
การประเมินผลการจัดการศึกษา
รวมทั้งการพิจารณากลั่นกรองกฎหมาย
และกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับนี้
4.
การจัดองค์การและการบริหารวัด
เอ็ดวิน
ฟลิปโป (Edwin Flippo) ได้ให้ความหมายของการจัดองค์การไว้ว่า
หมายถึง การจัดความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ คือ
ตัวบุคคล และหน้าที่การงาน เพื่อรวมกันเข้าเป็นหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพ
สามารถทำงานบรรลุเป้าหมายได้
สมคิด
บางโม มีความคิดเห็นว่า
การจัดองค์การ หมายถึง การจัดแบ่งองค์การออกเป็นหน่วยงานย่อย ๆ
ให้ครอบคลุมภารกิจหน้าที่ขององค์การ
พร้อมกำหนดอำนาจหน้าที่และความสัมพันธ์กับองค์กรย่อย ๆ อื่นไว้ด้วย ทั้งนี้
เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารให้บรรลุเป้าหมายขององค์การ
หลักการจัดองค์การ เออเนสต์ เดล (อ้างใน สมคิด
บางโม, 2539) ได้เสนอแนะแนวการจัดองค์การเบื้องต้นไว้
3 ประการ ดังนี้
ขั้นที่ 1 การกำหนดรายละเอียดของงาน
เพื่อให้องค์การบรรลุเป้าหมาย องค์การต่างๆ
สร้างขึ้นมาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง งานต่างๆ
ขององค์การย่อมมีมากน้อยต่างกันตามประเภท ลักษณะ และขนาดขององค์การ
การแจกแจงรายละเอียดของงานว่าจะมีอะไรบ้าง เป็นสิ่งจำเป็นเบื้องต้น
ขั้นที่
2 การแบ่งงานให้แต่ละคนในองค์การรับผิดชอบตามความเหมาะสมและตามความสามารถ
การแบ่งงานเบื้องต้นควรจะเป็นการรวมกลุ่มของงานที่มีลักษณะคล้ายกันหรือสัมพันธ์กันเป็นแผนกงาน แล้วจึงแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้แต่ละคนแต่ละแผนก
การแบ่งงานควรให้ทุกคนได้ทำงานตามความรู้ ความสามารถ ได้ปฏิบัติอย่างเหมาะสม
ไม่มากก็น้อยเกินไป
และได้รับผลตอบแทนจากงานที่ได้ปฏิบัติให้กับองค์การด้วยความชอบธรรม
ขั้นที่
3 การประสานงาน เมื่อแบ่งงานให้แต่ละฝ่ายแต่ละแผนกแล้ว
ขั้นต่อไปคือจัดให้มีการประสานงานระหว่างแผนกต่างๆ
เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่นและบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
หากการประสานงานไม่ดี
หรือไม่มีการประสานงาน การทำงานอาจทำซ้ำซ้อนหรือขัดกัน
ทำให้การทำงานล่าช้าและเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
จากแนวคิดดังกล่าว สรุปได้ว่า
การจัดองค์การเป็นการจัดแบ่งงานและกำหนดบุคคลในการรับผิดชอบงานต่างๆ
โดยให้มีความสัมพันธ์และมีการประสานงานระหว่างกัน
เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่นตามเป้าหมายที่วางไว้
5.การมอบหมายงาน
ประชุม โพธิกุล
กล่าวไว้ว่า ผู้บริหารคือผู้ทำงานให้สำเร็จ โดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจของผู้อื่น
ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องเข้าใจคุณค่าของการมอบหมายงานและวิธีการมอบอำนาจ (ประชุม โพธิกุล, 2536)
สเปียนซา(Sapienza)
(1985) ได้กล่าวถึงสิ่งกำหนดในการมอบหมายงานไว้ว่า
ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดให้ผู้บริหารมอบหมายงาน
เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลมากสำหรับผู้บริหาร
ถ้าองค์การมีลักษณะเป็นแบบชอบเสี่ยงให้การสนับสนุนผู้ใต้บังคับบัญชา
ให้อิสระกับผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้บริหารจะมีความรู้สึกว่าเป็นการสะดวกสบายในการมอบหมายงานมากกว่าองค์การที่ไม่ค่อยชอบเสี่ยง
ไม่ค่อยสนับสนุนผู้ใต้บังคับบัญชา มีวัฒนธรรมแบบใช้วิธีการควบคุมสูง
ลีนา(Leana)
(1986) กล่าวว่า องค์การที่มีวัฒนธรรมแบบสนับสนุน ผู้บริหารมีแนวโน้มจะชอบการมอบหมายงาน ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผู้บริหารในการมอบหมายงานแก่ผู้ร่วมงานมีอยู่
3 ประการคือ
ปัจจัยที่ 1 การรับรู้ของผู้บริหารเกี่ยวกับความสามารถของผู้ใต้บังคับบัญชา
ผู้บังคับบัญชาจะรู้สึกลังเลทันทีที่มอบหมายงาน
ถ้าสงสัยในความสามารถ ความเชื่อถือหรือแรงจูงใจ ความรับผิดชอบต่างๆ
ของผู้ใต้บังคับบัญชา
ปัจจัยที่ 2 ความสำคัญของการตัดสินใจ
ผู้บริหารมีแนวโน้มที่จะมอบอำนาจการตัดสินใจในเรื่องที่มีความสำคัญน้อย
ปัจจัยที่ 3 ภาระของผู้บริหารมาก ภาระงานหนัก เวลาจำกัด ทำให้ผู้บริหารเครียด
ซึ่งทำให้ผู้บริหารต้องมอบหมายงานออกไปแก่ผู้ร่วมงาน
6.
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ประวิตร
ทับเที่ยง (2535) ได้ศึกษาวิจัยทัศนคติของเจ้าอาวาสที่มีต่องานการศึกษานอกโรงเรียนในภาคคณะสงฆ์ 13
โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน
250 รูป พบว่า (1) เจ้าอาวาสมีทัศนคติด้านความคิดเห็นต่องานการศึกษานอกโรงเรียนอยู่ในระดับที่เห็นด้วยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในด้านการให้ความรู้พื้นฐาน
ส่วนด้านการปฏิบัติงานการศึกษานอกโรงเรียนอยู่ในระดับที่ปฏิบัติน้อย ด้านที่ปฏิบัติมากที่สุด คือ
ด้านการให้บริการข่าวสารข้อมูล (2) เจ้าอาวาสที่มีอายุพรรษาบวชและประสบการณ์ในตำแหน่งต่างกัน มีทัศนคติด้านความคิดเห็นต่องานการศึกษานอกโรงเรียนแตกต่างกัน
อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
และเจ้าอาวาสที่มีวุฒิการศึกษาสายสามัญ
วุฒิการศึกษาทางคณะสงฆ์และที่ตั้งวัดที่ปกครองต่างกัน มีความคิดเห็นต่างกัน
อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
ส่วนเจ้าอาวาสที่มีประสบการณ์ในตำแหน่งต่างกันมีการปฏิบัติงานการศึกษานอกโรงเรียนด้านการให้ความรู้พื้นฐานแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ
.05 และเจ้าอาวาสที่มีอายุพรรษาบวช
วุฒิการศึกษาสายสามัญ
วุฒิการศึกษาทางคณะสงฆ์และที่ตั้งวัดที่ปกครองต่างกันมีการปฏิบัติงานการศึกษานอกโรงเรียนแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
สมชาย เหล็กเพชร
(2538) ได้วิเคราะห์งานของพระสงฆ์ ในฐานะผู้นำในการพัฒนาชุมชน
ในพื้นที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่
พบว่า พระสงฆ์กลุ่มสังฆพัฒนาชุมชนล้านนาเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วยความสมัครใจ
และตื่นตัวเพื่อส่วนรวม
มีแนวคิดในการพัฒนาที่หลากหลาย ตามประสบการณ์ชีวิตที่แต่ละคน
เป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้พ้นจากความด้อยพัฒนาทั้งหลายโดยมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับ ชุมชน ที่จะต้องเกื้อหนุนช่วยเหลือกัน
ตามศักยภาพที่จะทำได้
โดยคำนึงถึงพระธรรมวินัย และนโยบายคณะสงฆ์เป็นองค์ประกอบ
เจียมพงษ์ วงศ์ธรรม (2519) ได้ศึกษาถึงบทบาทของพระสงฆ์ในการพัฒนาสังคม
เมื่อปี 2519 เกี่ยวกับเรื่องบทบาทในการให้การศึกษาทั่วไปทั้งทางโลกและทางธรรม
และการเผยแผ่ธรรม และให้การสงเคราะห์แก่ประชาชน
ตลอดจนศึกษาว่าพระสงฆ์มีความคิดเห็นอย่างไรในบทบาทด้านนี้ของท่านโดยศึกษาจากประชากรที่เป็นพระสงฆ์ในเขตกรุงเทพมหานคร สรุปผลได้ว่า
พระสงฆ์มีบทบาทสูงมากในด้านต่างๆ ดังนี้ คือ
1)
ช่วยสอนหนังสือ
ซึ่งในขณะที่สอนได้เน้นให้ประชาชนเข้าใจสิทธิและหน้าที่
2)
นอกเหนือจากการสอนหนังสือ
ก็ทำหน้าที่บริหารสถานศึกษาและกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งพบว่า
พระสงฆ์มีกิจกรรมสูงขึ้นตามพรรษาที่บวช
3)
ต้องการมีบทบาทในการศึกษาเพิ่มขึ้น
โดยประสงค์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของชาติปรับปรุงหลักสูตรวิชาเกี่ยวกับศีลธรรมและศาสนา ในลักษณะที่พระสงฆ์จะเข้าไปสอนได้
4)
ด้านการเผยแพร่ธรรมเพื่อพัฒนาจิตใจของประชาชน
โดยพระสงฆ์ออกจาริกชนบท ใช้สื่อมวลชนเผยแพร่ธรรม สอนให้ประชาชนเจริญกรรมฐาน ออกเยี่ยมประชาชนและนำประชาชนพัฒนาท้องถิ่น วัด
และโรงเรียนเข้าร่วมในวันสำคัญทางศาสนา
รอบ
รักษาพราหมณ์ (2535) ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องบทบาทพระสงฆ์ในการจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบโรงเรียนในจังหวัดนครศรีธรรมราช
ได้ข้อสรุปดังนี้
1) ด้านการศึกษาและกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา พระสงฆ์มีบทบาทในด้านนี้อยู่ในเกณฑ์ดีมาก
มีการอำนวยความสะดวกให้หน่วยงานต่างๆ
ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแผ่ธรรมแก่ชุมชนอยู่ในเกณฑ์มากที่สุด
รองลงมา คือ จัดอบรมธรรมแก่ประชาชนทั่วไป
2)
ด้านการจัดการศึกษาแก่เด็กก่อนวัยเรียนและนักเรียนในโรงเรียน พระสงฆ์มีบทบาทในด้านนี้ อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง
เมื่อพิจารณาในแต่ละกิจกรรมพบว่า
ให้โรงเรียนใช้สถานที่ของวัดจัดกิจกรรมพุทธศาสนา
อยู่ในเกณฑ์มากที่สุด รองลงมาคือ
การเทศนา หรือบรรยายธรรมแก่นักเรียน และจัดตั้งหน่วยการศึกษา
ธรรมปฏิบัติหน่วยพุทธมามกะแก่นักเรียนขึ้นในวัดตามลำดับ
3)
ด้านการจัดการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญ พระสงฆ์มีบทบาทอยู่ในเกณฑ์น้อย เมื่อพิจารณาในแต่ละกิจกรรม ปรากฏว่าส่งเสริมเผยแพร่
และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไป
และพระภิกษุที่ขาดโอกาสทางการศึกษาเข้ารับบริการทางการศึกษา
ในสายสามัญให้สูงขึ้น อยู่ในเกณฑ์มากที่สุด
รองลงมา คือ จัดตั้งโรงเรียนผู้ใหญ่สายสามัญศึกษาขึ้นในวัด เพื่อให้พระภิกษุสามเณร
เพื่อให้พระภิกษุสามเณรและบุคคลทั่วไป ได้รับการศึกษาสูงขึ้น
4)
ด้านการอบรมประชาชนทั่วไป พระสงฆ์มีบทบาทอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง
เมื่อพิจารณาในแต่ละกิจกรรมพบว่า การออกเยี่ยมเยียนแนะนำประชาชนตามโอกาสต่างๆ
อยู่ในเกณฑ์มากที่สุด รองลงมา คือ
ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ
ทีเกี่ยวข้องไปอบรมประชาชน
5)
ด้านการจัดสอนวิชาชีพ พระสงฆ์มีบทบาทในด้านนี้ อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง
เมื่อพิจารณาแต่ละกิจกรรมปรากฏว่าเป็นสถานที่ประชุมและอบรมทางวิชาชีพ
อยู่ในเกณฑ์มากที่สุด รองลงมา คือ
ให้ความร่วมมือและสนับสนุนหน่วยงานวิชาชีพเคลื่อนที่ในด้านวิทยากร
อุปกรณ์และอาสาสมัครอบรมวิชาชีพแก่ประชาชนในเขตชุมชนของวัด
6) จัดการศึกษา
ด้วยการจัดห้องสมุดและที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน พระสงฆ์มีบทบาทในด้านนี้อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง
เมื่อพิจารณาแต่ละกิจกรรมปรากฏว่าส่งเสริมและแนะนำประชาชน ให้รู้จักและรักการอ่าน
อยู่ในเกณฑ์มากที่สุด รองลงมาคือ
ร่วมมือกับประชาชนในการส่งเสริมการจัดตั้งที่อ่านหนังสือให้กับหมู่บ้าน
และการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้ามาศึกษาหาความรู้จากห้องสมุด หรือที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน
ทวี
บุญมี (2535) ได้ศึกษาวิจัยเรื่องการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า
ผู้เรียนส่วนใหญ่ต้องการให้มีการปรับปรุงหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบันครูผู้สอนส่วนใหญ่ไม่ได้แจ้งวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนให้ทราบ
การสอนใช้วิธีการบรรยายเป็นหลักและมักใช้กระดานและชอล์กเป็นอุกรณ์การสอน ผลการเรียนการสอนยังไม่เป็นที่น่าพอใจ และประกาศนียบัตรยังไม่เป็นที่ยอมรับกับสังคมภายนอก ครูผู้สอนยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากพระสงฆ์ คณะสงฆ์และทางราชการอย่างเพียงพอ
ประเวศ
วะสี (2540) ได้เสนอแนวความคิดเรื่อง
บทบาทของพระสงฆ์และวัด ดังนี้
1)
พระสงฆ์เป็นผู้สร้างชุมชนสงฆ์ให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้
วัตถุประสงค์ของการบวชเป็นไปเพื่อการเรียนรู้ คือ การเรียนรู้พุทธธรรม การเรียนรู้สังคม ปัจจุบัน การเรียนการติดต่อสื่อสาร
2) การศึกษาของสงฆ์
เป็นเรื่องที่ควรกำหนดอยู่ในนโยบายของรัฐบาลในแผนการศึกษาของชาติ มหาวิทยาลัยสงฆ์
และมหาวิทยาลัยทางโลกควรจะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรสำหรับการศึกษาของพระสงฆ์
3)
การทำวัดให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน
ความสำคัญของวัดคือการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
ดังนั้นถ้าวัดเข้มแข็งจะทำให้โครงสร้างของชุมชนเข้มแข็งไปด้วย
4) วัดกับการจัดการศึกษา
หากวัดสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาคนให้เต็มศักยภาพได้
ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง
5)
พระสงฆ์กับการแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี
6)
วัดกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม วัดควรเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชน
7)
การบริหารจัดการวัด วัดเป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าของสังคม ดังนั้น
ระบบการบริหารจัดการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมตามอุดมการณ์แห่งพุทธศาสนาจึงเป็นอุดมการณ์ที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งเจ้าอาวาส
คณะสงฆ์ รัฐบาล
เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือกันในการจรรโลงพระศาสนาเพื่อสังคมต่อไป
มาณี ไชยธีรานุวัฒนศิริ และคณะ (2540)
กล่าวว่าบทบาทของพระสงฆ์ในยุคโลกาภิวัตน์ มีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ
1)
บทบาทของพระสงฆ์ในการอบรมตนได้แก่ศึกษาธรรมลึกซึ้งปฏิบัติเคร่งครัด
2)
บทบาทของพระสงฆ์ในการเผยแผ่ศาสนา ได้แก่
สอนธรรมะพัฒนาสังคม พัฒนาวัด และ
3)
บทบาทใหม่ของพระสงฆ์ยุคโลกาภิวัตน์ ได้แก่
ติดตามข่าวสาร ร่วมแก้ไขปัญหา
และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
บทที่
3
วิธีดำเนินการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้
ผู้วิจัยได้ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสาร ควบคู่กับการออกแบบสอบถาม
โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ผสมผสานกับการวิจัยและพัฒนาแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้ได้ข้อมูลในประเด็นต่างๆ
และนำข้อมูลทั้งสองส่วนมาวิเคราะห์และสังเคราะห์เชื่อมโยงเพื่อให้เห็นสภาพปัญหา
อุปสรรค แนวทางแก้ไข และความสำเร็จของวัดพระธาตุศรีจอมทอง ที่ได้ดำเนินการด้านการจัดการศึกษาและการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
สามารถถือเป็นรูปแบบหรือตัวอย่างอันดีแก่วัดที่มีกิจกรรมในทำนองคล้ายกัน
จะได้เป็นแม่แบบปฏิบัติงานต่อไป ซึ่งผู้วิจัยได้ดำเนินการวิจัยตามขั้นตอนดังนี้
1. การศึกษาเอกสารตำราและรายงานการวิจัยต่างๆ
2. การกำหนดกรอบแนวคิดในการวิจัย
3. การกำหนดประเด็นในการศึกษา
4. การเก็บรวบรวมข้อมูล
5. การวิเคราะห์ข้อมูล
1. การศึกษาเอกสารตำราและรายงานการวิจัยต่างๆ
ผู้วิจัยได้ศึกษาเอกสาร ตำรา แนวคิดที่เกี่ยวข้องจากทางวัดที่พิมพ์เผยแพร่
โดยมีหัวข้อที่กำหนดศึกษาดังนี้
1.1
แนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของพระสงฆ์ตามหลักทางศาสนา
1.2 ภารกิจ 6
ด้านของมหาเถรสมาคมและวัด
1.3 แนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของวัดและพระสงฆ์ในสังคมไทย
1.4 การจัดองค์การและการบริหารวัด
1.5 การมอบหมายงาน
1.6 งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ขั้นตอนแรกของการวิจัย
1) ผู้วิจัยเดินทางไปที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง
เพื่อชี้แจงกระบวนการดำเนินงานวิจัยแก่เจ้าอาวาส
และผู้ช่วยนักวิจัยซึ่งเป็นพระภิกษุ หรือฆราวาสที่เจ้าอาวาสมอบหมายในวัด 1 รูป/คน
และปรึกษาหารือเกี่ยวกับแผนการและกระบวนการดำเนินงานร่วมกัน
2) ผู้วิจัยสัมภาษณ์เจ้าอาวาส/รองเจ้าอาวาส และกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ตามที่ได้วางแผนไปก่อนแล้ว
และขอข้อมูลเบื้องต้นของวัด ตามขอบเขตของเนื้อหาที่ได้กำหนดไว้
จากการศึกษาเอกสารและข้อมูลที่ได้มา
ผู้วิจัยได้นำมากำหนดเป็นกรอบแนวคิดในการวิจัย
พร้อมทั้งกำหนดประเด็นในการที่จะศึกษาวิจัย ได้กำหนดแนวทางการจัดเก็บรวบรวมข้อมูล
ตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูล ในลำดับต่อมา
2. การกำหนดกรอบแนวคิดในการวิจัย
วัดพระธาตุศรีจอมทอง ได้ดำเนินบทบาทในฐานะสถาบันทางศาสนา ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
พ.ศ. 2505 และแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ซึ่งมีบทบาท 6 ด้าน ประกอบด้วยการปกครอง
การศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ศาสนธรรม การสาธารณูปการ
และการสาธารณสงเคราะห์ เพื่อพัฒนาสังคมไทยและคนไทยให้เจริญมีความรู้คู่คุณธรรม
สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
ประยุกต์หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาให้เหมาะสมกับการแก้ปัญหาสังคมทั้งเป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
พ.ศ. 2542 ที่มุ่งให้ผู้เรียนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งกาย
จิตใจและสติปัญญา
การที่จะศึกษาถึงรูปแบบของการจัดการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัดพระธาตุศรีจอมทองได้อย่างครอบคลุม
จำเป็นจะต้องเข้าใจถึงกระบวนการปฏิบัติในภารกิจแต่ละด้าน แต่ละบทบาท
ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ว่ามีปัญหาและอุปสรรคอันใด
ทางวัดได้นำกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเหล่านั้นให้ลุล่วงไปได้อย่างไร
เพื่อประมวลเป็นแบบอย่างแห่งการปฏิบัติภารกิจด้านการจัดการศึกษาและการเผยแผ่พระพุทธศาสนา กรอบแนวคิดดังนี้
แนวคิดหลัก
รูปแบบของการดำเนินงาน
กระบวนการดำเนินงาน
ผลสำเร็จของการดำเนินงาน
รูปแบบที่ควรถือเป็นตัวอย่าง
3. การกำหนดประเด็นในการศึกษา
จากกรอบแนวคิดที่ให้ไว้
ผู้วิจัยได้กำหนดประเด็นในการศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการวิจัยดังนี้
3.1
บริบทของวัดพระธาตุศรีจอมทองโดยครอบคลุมถึงสภาพทั่วไปทางภูมิศาสตร์
สภาพทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชน ประวัติวัดและเจ้าอาวาส และความเป็นอยู่ของพระภิกษุสามเณรในวัด
3.2
สภาพการจัดการศึกษา
ของวัดพระธาตุศรีจอมทอง ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2544 ในด้านหลักสูตรสายสามัญ/ปริยัติธรรม/ศาสนธรรม ด้านการเรียนการสอนสายสามัญ/ปริยัติธรรม/ศาสนธรรมและด้านการบริหารหลักสูตรและการสอน
3.3
สภาพการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2544
3.4
สภาพการบริหารการศึกษาของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
ประกอบด้วยการวางแผน การจัดองค์กร การจัดและพัฒนาบุคลากร การควบคุมกำกับ
และติดตามประเมินผล และภาวะผู้นำของเจ้าอาวาส
4. การเก็บรวบรวมข้อมูล
ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยได้ออกเก็บข้อมูลในพื้นที่ด้วยตนเองหลายครั้ง
และมีผู้ช่วยนักวิจัยของวัดหรือสถานศึกษาได้ให้ความร่วมมือในการเสาะแสวงหาข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์และหายาก
ซึ่งผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูลเป็น 2 แบบ
เพื่อเสริมกันและกันดังนี้
4.1
ข้อมูลเชิงเอกสาร
ผู้วิจัยได้ออกเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงเอกสารต่างๆ ที่ทางวัดจัดพิมพ์เผยแพร่
ประกอบด้วย ประวัติวัด ประวัติเจ้าอาวาส ประวัติโรงเรียนหรือสถานศึกษา
รายงานประจำปี รายงานการประเมินตนเอง
รายงานการประชุมกรรมการชุดต่างๆที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการศึกษาหรือการเผยแผ่ กิจกรรมหรือโครงการต่างๆที่ทางวัดหรือโรงเรียนได้ดำเนินการแล้ว
หลักสูตรที่วัดหรือสถานศึกษาของวัดใช้ในการจัดการศึกษาอบรม และตำรา
งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของวัดจำนวนมากพอที่จะเป็นข้อมูลที่ยืนยันถึงผลการดำเนินงานและกระบวนการบริหารงานได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
4.2
ข้อมูลจากแบบสอบถาม
ผู้วิจัยสร้างเครื่องมือวิจัย
ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต และแบบสอบถามชนิดตรวจสอบรายการ ที่แบ่งเป็น 3 ตอน คือ
ตอนที่ 1 เป็นแบบสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสภาพของผู้ตอบแบบสอบถาม
ตอนที่ 2 เป็นแบบสอบถามเรื่องรูปแบบการจัดการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนธรรม
กำหนดเกณฑ์มาตราส่วนประมาณค่าแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ดังนี้
เลข 5 หมายถึง ปฏิบัติการมากที่สุด
เลข 4 หมายถึง ปฏิบัติการมาก
เลข 3 หมายถึง ปฏิบัติการปานกลาง
เลข 2 หมายถึง ปฏิบัติการน้อย
เลข 1 หมายถึง ปฏิบัติการน้อยที่สุด
ตอนที่ 3
เป็นแบสอบถามชนิดปลายเปิด
เกี่ยวกับสภาพปัญหาอุปสรรค์และความสำเร็จที่มีต่อการจัดการศึกษาและการเผแผ่ศาสนธรรม
และแบบสอบถามปลายเปิด
ในการเก็บข้อมูลภาคสนาม
ผู้วิจัยออกเก็บข้อมูลด้วยตนเอง
และฝึกให้ผู้ช่วยนักวิจัยช่วยดำเนินการเก็บข้อมูลอีกส่วนหนึ่ง โดยใช้ประชากรและกลุ่มตัวอย่างดังต่อไปนี้
ประชากร ได้แก่เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส
และพระภิกษุสามเณรทุกรูปในวัดพระธาตุศรีจอมทอง พุทธศาสนิกชนในชุมชนที่ตั้งของวัด
และครูทั้งที่เป็นพระภิกษุและฆราวาสที่ปฏิบัติการสอนในโรงเรียน
กลุ่มตัวอย่าง
ได้แก่ เจ้าอาวาส / รองเจ้าอาวาส พระภิกษุ / สามเณร
รวม 20 รูป พุทธศาสนิกชน 20 คน
พระภิกษุและฆราวาสที่เป็นครูในวัด 10 คน รวมทั้งสิ้น 50 รูป/คน
5. การวิเคราะห์ข้อมูล
ผู้วิจัยเมื่อได้ข้อมูลมา
ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลในข้อ 4 ทั้งโดยใช้วิธีวิเคราะห์เนื้อหา
(Content Analysis) ในส่วนที่เป็นเอกสาร ตำรา
งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของวัด และวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถามด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป
SPSS(Statisticac Package for Sosial Sciences) ซึ่งใช้สถิติเบื้องต้น
ได้แก่ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และบรรยายวิเคราะห์ด้วยเหตุผลทางตรรกะ(Logical
Analysis)
บทที่
4
วิเคราะห์รูปแบบและกระบวนการการจัดการศึกษา
และการเผยแผ่ศาสนธรรม
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยรูปแบบการจัดการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนธรรม
โดยศึกษากรณีตัวอย่างแห่งความสำเร็จด้านการจัดการและบริหารการศึกษาของวัดพระธาตศรีจอมทอง
เน้นหนักที่การเผแผ่ศาสนธรรม
ที่ทางวัดมีสำนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ที่ถือได้ว่า
เป็นศูนย์กลางการสอนและปฏิบัติด้านวิปัสสนากรรมฐาน แนวสติปัฏฐาน 4 ในภาคเหนือ
โดยมีสำนักสาขาทั่วประเทศถึง 27 สำนักสาขา และยังมีสำนักสาขาในต่างประเทศอีก 6
สำนัก ใน 3 ประเทศ คือ เยอรมัน
สหรัฐอเมริกา และ เม็กซิโก ในส่วนของทางวัดเอง
ก็เป็นศูนย์อบรมฝึกสอนพระวิปัสสนาจารย์ มาหลายรุ่น
และการอบรมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่วัดตลอดปีมิได้มีวันหยุด งานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้านวิปัสสนากรรมฐานของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
ถือว่าโดดเด่นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะพระราชพรหมาจารย์ เจ้าอาวาส
พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาจารย์ หัวหน้าเขต 7 ในทางภาคเหนือที่หาบุคคลเสมอเหมือนได้ยาก
ในส่วนด้านจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมสายนักธรรม
บาลี และการศึกษาพระอภิธรรมนั้น ทางวัดก็ดำเนินการเหมือนที่วัดต่างๆได้ทำ
ตามบทบาทที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และก็ประสบความสำเร็จไม่น้อยกว่างานด้านการเผยแผ่ศาสนธรรม
แต่เป็นภาระงานตามแบบที่เคยปฏิบัติ ผู้วิจัยจะเอ่ยถึงเฉพาะที่เป็นส่วนข้อมูล
แต่ด้านการเผยแผ่ศาสนธรรม ด้วยกิจกรรมสำนักวิปัสสนากรรมฐาน
จะได้ศึกษาวิจัยเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งผู้วิจัยต้องการศึกษาถึงรูปแบบกระบวนการทำงาน
ปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังการทำงานและปัจจัยที่เป็นสาเหตุแห่งความสำเร็จของภารกิจดังที่กล่าวแล้ว
จะได้เสนอรูปแบบและเทคนิควิธี
กระบวนการปฏิบัติงานที่เป็นระบบเพื่อเป็นแบบอย่างให้วัดที่มีสำนักปฏิบัติได้ศึกษา
และพัฒนาตามแบบที่ดีต่อไป
การเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยได้ดำเนินการเก็บด้วยตนเอง
และได้ผู้ช่วยนักวิจัยท้องถิ่นช่วยเหลือ โดยการรวบรวมเอกสาร
การออกแบบสอบถามประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
การสัมภาษณ์และการสังเกตสถานที่จริงมากพอที่จะสามารถเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้
การวิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจัยได้วิเคราะห์เนื้อหาจากข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเอกสาร
การสังเกต สัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง
และใช้การวิเคราะห์จากแบบสอบถามด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS ซึ่งใช้สถิติเบื้องต้น ได้แก่
ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และบรรยายวิเคราะห์ด้วยเหตุผลทางตรรกะ(Logical
Analysis) ประกอบข้อมูลเอกสาร
เพื่อให้เห็นภาพรูปแบบการจัดการศึกษาของวัดพระธาตุศรีจอมทองได้อย่างชัดเจน
จึงขอเสนอผลการดำเนินงาน ตามลำดับดังนี้
1. บริบทของวัดพระธาตุศรีจอมทอง สภาพทั่วไปทางภูมิศาสตร์ ประวัติวัดและเจ้าอาวาส
ความเป็นอยู่ของพระภิกษุสามเณร
และความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชน
2.
สภาพการจัดการศึกษา ของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2544 ในด้านหลักสูตรพระปริยัติธรรม/ศาสนธรรม ด้านการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม/ศาสนธรรมและด้านการบริหารหลักสูตรและการสอน
3.
สภาพการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2544
4.
สภาพการบริหารการศึกษา/การเผยแผ่ศาสนธรรมของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
ประกอบด้วยการวางแผน การจัดองค์กร การจัดและพัฒนาบุคลากร การควบคุมกำกับ
และติดตามประเมินผล และภาวะผู้นำของเจ้าอาวาส
5.
1. บริบทของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
สภาพทางภูมิศาสตร์ ประวัติวัดและเจ้าอาวาส
ความเป็นอยู่ของพระภิกษุสามเณร และความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชน
เกี่ยวกับบริบททั่วไปของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
ผู้วิจัยขอนำเสนอเป็นส่วนข้อมูล ต่อไปนี้
1.
1 สถานภาพ
1.1.1
ประวัติและความเป็นมาของวัด
วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ตั้งยู่เลขที่ 157 หมู่ 2 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่ รหัสไปรษณีย์ รหัสไปรษณีย์ 50160 การคมนาคม สะดวก มีรถประจำทางวิ่งผ่านตลอด
การสาธารณูปโภค
สะดวกทุกประการ ระยะทางจากจังหวัดเชียงใหม่ สายถนนเชียงใหม่ -
ฮอด 58 กิโลเมตร วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร สร้างเมื่อ พ.ศ.
1995 โดยนาย สร้อย มีภรรยาชื่อ นางเม็ง เป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา อยู่มาวันหนึ่ง เป็นวันเพ็ญ เดือน 12 (เดือนยี่เหนือ) ปีมะเมีย นายสร้อยอาบน้ำชำระกายแล้ว ได้สมาทานศีล 8 อยู่ ณ
ดอยจอมทองนั้น
ได้สังเกตเห็นดอยจอมทองมีสัณฐานอันงดงามสูงขึ้นเป็นลำดับคล้ายหลังเต่า จึงคิดว่า
สถานที่นี้สมควรจะเป็นสถานที่ตั้งแห่งพระรัตนตรัย จึงได้ปรึกษากับนางเม็ง ภรรยา ว่า เราควรจะสร้างวัดขึ้นบนดอยนี้ เพื่อเป็นสถานที่แห่งพระศาสนา ฝ่ายนางเม็งภรรยาก็เห็นเป็นสมควรด้วยจึงปรึกษากันต่อว่า เราควรสร้างบนถ้ำคูหา ยอดดอยต้นทองหลางนี้แหละเป็นดี หลังจากได้ปรึกษาตกลงกันแล้ว จึงได้ลงมือชำระแผ้วถางสถานที่ เมื่อ พ.ศ. 1995 เดือน
7 ขึ้น 9 ค่ำ (เดือน 9
เหนือ) วันจันทร์ ฤกษ์ได้ 12 ตัว เวลาเช้า
นายสร้อย นางเม็ง
ได้ยกเอาเสาศาลาขึ้นเป็นปฐมฤกษ์
พร้อมกับได้ก่อเจดีย์ไว้บนถ้ำคูหาและก่อพระพุทธรูปไว้ 2
องค์
เมื่อนายสร้อยและภรรยา ได้ปลูกสร้างศาลาและก่อเจดีย์ขึ้นแล้ว
ชาวบ้านจึงเข้าใจว่านายสร้อยและภรรยาได้สร้างวัดขึ้นบนยอดดอยนั้น ฉะนั้นจึงได้พากันเรียกว่า วัดศรีจอมทอง(ตำนานพระขิณโมลีธาตุ 2543 : 29-33)
นับตั้งแต่ที่นายสร้อยและนางเม็ง
เริ่มสร้างวัดศรีจอมทองมาเป็นเวลา 15 ปี ถึงปีระกา พ.ศ.
2009 มีชาย 2
คน
คนหนึ่งชื่อสิบเงิน
อีกคนหนึ่งชื่อสิบถัว
ได้ชักชวนกันสร้างวิหารขึ้นหลังหนึ่ง
หลังคามุงด้วยหญ้าคา
แล้วนิมนต์ภิกษุรูปหนึ่งชื่อ สารีปุตตเถระ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดนั้น ท่านเป็นเจ้าอาวาสได้ 5
พรรษา ก็มรณภาพไป
ต่อมาถึงปี พ.ศ. 2013 พระเทพกุลเถระ มาอยู่เป็นเจ้าอาวาส
ท่านผู้นี้ได้จัดการปฏิสังขรณ์วิหารใส่ไม้ระแนงและมุงกระเบื้องไว้ ถึงปี พ.ศ. 2018 ชาวบ้านได้ไปนิมนต์พระมหาเถระเจ้าองค์หนึ่ง
ชื่อ พระธัมมปัญโญ มาเป็นเจ้าอาวาส
ท่านผู้นี้พร้อมด้วยชาวบ้านได้พากันไปรื้อถอนเอาวิหารกับทั้งพระพุทธรูปองค์ใหญ่หล่อ
(ก่อ-ปั้น) ด้วยปูนจากวัดท่าแย้ม
ซึ่งอยู่ข้างแม่น้ำกาละ มาไว้ในวัดศรีจอมทอง ใน ปี พ.ศ.
2022 แล้วได้ชักชวนกันสร้างระเบียงหน้ามุขวิหารขึ้น แล้วได้ก่อปราสาทเฟื้องโดยสูง 2 วา 3 ศอก กว้าง 1 วา 2 ศอก เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป แล้วก่อกำแพงล้อมรอบวิหารทั้ง 4
ด้าน ยาว 10 วา 3 ศอก
ไว้สำหรับเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ พระบรมธาตุศรีจอมทองตั้งอยู่บนดอยเตี้ยๆ
สูงจากที่ราบ 10 เมตร อยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 58
กิโลเมตร
ทางทิศตะวันตกมีเทือกเขา เรียกว่า ดอยอินทนนท์ ที่ดินที่ตั้งวัดมีเนื้อที่จำนวน 19 ไร่ 2 งาน 98
ตารางวา
สิ่งปลูกสร้างภายในวัดที่สำคัญ
คือ พระวิหาร อุโบสถ พระเจดีย์
หอพระไตรปิฎก
โรงเรียนพระปริยัติธรรม และศาลาการเปรียญ
เจ้าอาวาส
เท่าที่ค้นพบประวัติ
มีรายนามเจ้าอาวาส ครองวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ดังนี้
1.
พระธัมมปัญโญ
2.
พระเหมปัญโญ
3.
พระญาณมังคละ
4.
พระพุทธเตชะ
5.
พระอรัญวาสี
6.
พระธัมมะรักขิตะ
7.
พระอัยยะกัปปกะ
8.
พระมหาศิลปัญโญ
9.
พระมหาสังฆราชา สัทธัมมทัสสี
10.
พระมหาสังฆราชา ญาณมังคละ
11.
พระมหาสังฆราชา ชวนปัญโญโสภิตชิติ
12.
พระมหาสามิคณาจิตต
13.
พระมหาสังฆราชาญาณมงคล
14.
ท่านพุทธิมาวังโส
15.
ท่านครูบามหาวัน
16.
พระครูพุทธศาสน์สุประดิษฐ์
17.
พระครูสุวิทยธรรม
18. พระราชพรหมาจารย์ (ทอง สิริมงฺคโล) นับแต่ พ.ศ. 2534 ถึง ปัจจุบัน
1.1.2
ประวัติเจ้าอาวาส
ชื่อ- ชื่อสกุล พระราชพรหมาจารย์ (สิริมงคโล)
ชื่อเดิม ทองแก้ว นามสกุล พรหมะเสน
วัน เดือน ปี เกิด 21 กันยายน 2466 อายุ 79 พรรษา 58
ภูมิลำเนา บ้านนาแก่ง ตำบลบ้านแอ่น อำเภอฮอด
จังหวัดเชียงใหม่
บรรพชา 2477
วัดบ้านนาแก่ง ตำบลบ้านแอ่น อำเภอฮอด
จังหวัดเชียงใหม่
อุปสมบท 2487 วัดบ้านแอ่น ตำบลบ้านแอ่น อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
วุฒิการศึกษา 2487 นักธรรมชั้นเอก
วัดพันอ้น จังหวัดเชียงใหม่
2496 ไปศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
ที่ประเทศพม่า
และอินเดีย
2536 พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต
กิตติมศักดิ์ มหาจุฬาลงกรณ
ราชวิทยาลัย
การทำงาน/ตำแหน่ง 2491 เจ้าอาวาสวัดเมืองมาง
/ เลขานุการเจ้าคณะอำเภอฮอด
2497 ตั้งสำนักวิปัสสนากรรมฐาน แห่งแรกในเชียงใหม่
ที่วัดเมืองมาง
2507 ตั้งสำนักเรียนพระอภิธรรม แห่งแรกในจังหวัดเชียงใหม่
2509
รองเจ้าคณะอำเภอฮอด
2510 เจ้าคณะอำเภอฮอด
2511 เป็นพระอุปัชฌาย์
2512 ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี
2516 บูรณะวัดร่ำเปิง อ.เมือง ที่มีอายุ 500 ปีขึ้นเป็นวัดปฏิบัติ วิปัสสนากรรมฐาน
2517 รักษาการเจ้าอาวาสวัดร่ำเปิง
อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
2531 เจ้าอาวาสวัดร่ำเปิง
2532 พระวิปัสสนาจารย์ หัวหน้าเขต 7
2533 รักษาการเจ้าอาวาสวัดเชตุพน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
2534 เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทอง
2534 สำนักวิปัสสนากรรมฐานวัดพระธาตุศรีจอมทอง
สมณศักดิ์ 2511 พระครูพิพัฒน์คณาภิบาล
2533
พระสุพรหมยาน
2542
พระราชพรหมาจารย์
1.1.3 ความเป็นอยู่ของพระภิกษุสามเณร
วัดพระธาตุศรีจอมทอง เป็นพระอารามหลวง
เป็นศาสนสถานสำคัญและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ แม้ว่าจะอยู่ห่างจากตัวจังหวัด
แต่ก็อยู่ใจกลางอำเภอจอมทอง มีศาสนวัตถุ สิ่งปลูกสร้าง
เสนาสนะที่อยู่อาศัยสำหรับพระภิกษุสามเณร เพียงพอ นอกจากนั้น ทางวัดยังมีที่พำนักเป็นกุฏิหลังเล็กๆ
สำหรับนักปฏิบัติเกือบ 150 หลัง มีทั้งอุบาสก อุบาสิกา และแม่ชี อยู่อาศัยประจำ ประมาณ
250 รูป/คน การเป็นอยู่ของพระภิกษุสามเณรและผู้ปฏิบัติไม่ฝืดเคือง
เพราะมีมูลนิธีของวัดให้การอุปถัมภ์ด้านปัจจัย 4
และพระภิกษุสามเณรก็เอาใจใส่ต่อการศึกษา และการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
โดยเป็นพระวิปัสสนาจารย์ ผู้ช่วยพระวิปัสสนาจารย์ ทั้งเป็นนักปฏิบัติด้วยตัวเอง
1.1.4 ความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชน
วัดกับชุมชนในท้องถิ่น ต่างเอื้อเฟื้อต่อกันและกันเป็นอย่างดี สังเกตเห็นได้จากด้านตะวันออกของวัด
มีหมู่บ้านแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง
ซึ่งถือว่าเป็นหมู่บ้านนักปฏิบัติอยู่ไม่ห่างจากวัดก็เกิดเพราะกิจกรรมการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัด
และให้การอุปถัมภ์วัดด้วยดี ปฏิปทาของพระสายปฏิบัติ
ย่อมสามารถปลูกศรัทธาแก่ผู้พบเห็น
มิพักต้องกล่าวถึงผู้ที่อยู่ใกล้ย่อมเกิดความเลื่อมใสและให้การอุปถัมภ์เป็นทวีคูณ
1.1.5
สำนักวิปัสสนากรรมฐานแนวสติปัฏฐาน 4 วัดพระธาตุศรีจอมทอง
สำนักวิปัสสนากรรมฐาน
ณ วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ก่อตั้งขึ้นมาในปี
2535 เพียง 1 ปีที่พระราชพรหมาจารย์ มาเป็นเจ้าอาวาส
ปัจจุบันมีกุฏิสำหรับปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจำนวน
149 หลัง
มีห้องน้ำห้องสุขาอยู่ภายในทุกหลัง มีอาคารอบรมและปฏิบัติวิปัสสนาเป็นอาคารสร้างใหม่
ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น มีห้องประชุมที่สามารถ จุผู้ปฏิบัติได้ชั้นละ 250 คน
แนวคิดการตั้งสำนักวิปัสสนากรรมฐาน
สืบเนื่องจากท่านเจ้าอาวาสเป็นพระสงฆ์ที่เคร่งปฏิบัติ
มีปฏิปทาเป็นที่กล่าวขานยกย่อง เมื่อดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเมืองมาง
จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ถูกคัดเลือกในฐานะผู้แทนพระสงฆ์จากภาคเหนือ
ให้ไปฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน แนวสติปัฏฐาน 4 ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2495 เป็นเวลา 1 ปี(คู่มือปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแนวสติปัฏฐาน
4 , 2544 : 6-7)
เมื่อสำเร็จการฝึกปฏิบัติ
จึงได้ไปฝึกปฏิบัติเพิ่มเติมเพื่อค้นหาหลักฐานการฝึกจงกรม 6 ระยะที่ประเทศพม่า
เป็นเวลา 6 วัน ไปศึกษาวิปัสสนาต่อที่ประเทศอินเดียอีก 10 วัน ใน ปี พ.ศ. 2496แล้วกลับมาปฏิบัติต่อที่พม่าอีก
2 ปี พำนักที่วัด กำมะเอ และวัดพญาจี่จองใต้ ก่อนกลับ
ได้ไปปฏิบัติกับพระมหาสีสะยาดอ อาจารย์วิปัสสนาที่โด่งดังที่สุดของพม่า
วัดศาสนยิกา เป็นเวลาอีก 1 เดือนก่อนเดินทางกลับประเทศไทย(อ้างแล้ว : 7)
เมื่อกลับมาประเทศไทย
ด้วยปณิธานอันแรงกล้าที่จะทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้านวิปัสสนาธุระ
แก่มวลมนุษย์ทั้งหลาย จึงได้ริเริ่มก่อตั้งสำนักอบรมการฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
ในแนวสติปัฏฐาน 4 ขึ้นมา ที่วัดเมืองมาง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2497
เป็นจุดเริ่มต้นของสำนักวิปัสสนาแนวสติปัฏฐาน 4 เป็นแห่งแรก
และฐานให้ท่านได้ตั้งสำนักวิปัสสนาแห่งอื่นๆเรื่อยมา ปี 2516
สำนักวิปัสสนาแนวสติปัฏฐาน 4 ที่วัดร่ำเปิง
จน ปี 2535 สำนักวิปัสสนาแนวสติปัฏฐาน 4 ที่วัดพระ ธาตุศรีจอมทองดังที่กล่าวแล้ว
1.1.6
การตั้งโรงเรียสอนพระอภิธรรม
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
แนวสติปัฏฐาน 4 เน้นการกำหนด ปรมัตถธรรม คือ รูป นาม
และหลักปรมัตถธรรมที่สำคัญที่สุดมีอยู่ในพระอภิธรรมปิฎก จึงเป็นความจำเป็นที่ผู้ปฏิบัติต้องศึกษาพระอภิธรรมให้เข้าใจด้านทฤษฎี
ควบคู่ไปกับการปฏิบัติ ดังนั้น พระราชพรหมาจารย์ จึงได้เปิดสำนักสอนพระอภิธรรมขึ้นเป็นแห่งแรกที่วัดเมืองมาง
เชียงใหม่ ใช้หลักสูตรอภิธรรมโชติกวิทยาลัย วัดระฆังโฆสิตาราม
นับแต่นั้นต่อมา
เมื่อก่อตั้งสำนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
ก็เป็นความจำเป็นที่ต้องก่อตั้งสำนักสอนอภิธรรมคู่กันไป ที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง ใน
ปี 2541 เพราะต่างก็มีส่วนที่เอื้อกันและกันให้ผู้ศึกษาและปฏิบัติได้มีทิศทางที่ถูกต้องด้านทฤษฎีและการปฏิบัติจะได้ไม่หลงทาง
2.
สภาพการจัดการศึกษา ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2544 ในด้านหลักสูตรพระปริยัติธรรม/ศาสนธรรม ด้านการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม/ศาสนธรรมและด้านการบริหารหลักสูตรและการสอน
วัดพระธาตุศรีจอมทอง ได้จัดการศึกษาหลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกธรรม –บาลี และหลักสูตรพระอภิธรรม มีสภาพการตัดการศึกษา และกระบวนการดังนี้
2.1
หลักสูตรการศึกษา พระปริยัติธรรมแผนกธรรม-บาลี-พระอภิธรรม
2.1.1 แผนกธรรม เรียนใช้หลักสูตรนักธรรม
ของแม่กองธรรมสนามหลวง อาศัยตำราของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสเป็นหลัก
แบ่งการศึกษาเป็น 3 ชั้น คือนักธรรมตรี
นักธรรมโท และนักธรรมเอก ชั้นละ 1 ปี
2.1.2 แผนกบาลี
ใช้หลักสูตรประโยคบาลีสนามหลวงที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทางวัดจัดสอนถึง
เปรียญ ธรรม 4 ประโยค พระปริยัติธรรมแผนกธรรม -บาลี เปิดการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2535 รวมทั้งสิ้น 10
ปี เช่นกัน
การศึกษานักธรรมบาลี เรียนวันละ 2
คาบ เวลา 08.30 -11.00 และ 13.00-15.30 น.
2.1.3 แผนกพระอภิธรรม
ชั้นนักศึกษามี 9 ชั้น คือ
1. จูฬอาภิธรรมิกะ
ตรี โท เอก กำหนดปกรณ์ คือ
อภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉท 1-2-3-6-7 และธัมมสังคณีสรูปัตถนิสสยะ
2.
มัชฌิมอาภิธรรมิกะ ตรี โท
และ เอก กำหนดปกรณ์ คือ อภิธัมมัตถสังคหะปริจเฉทที่ 4 - 5 8 – 9 และธาตุกถาสรูปัตถนิสสยะ
3. มหาอาภิธรรมิกะ ตรี โท และ เอก กำหนดปกรณ์ คือ ยมกสรูปัตถนิสสยะ ภาค 1
2 – 3 และ ยมกสรูปัตถนิสสยะ
ตารางการเรียนอภิธรรม วันละ 1
คาบ เวลา 19.00 - 21.00 น.
2.1.4 แผนกพระอภิธรรม
ชั้นอาจารย์มี 6 ชั้น คือ
1. อภิธรรมกถิกะ ตรี โท และ เอก กำหนดปกรณ์ คือ
อภิธัมมัตถสังคหะปริเฉท 1-2-3 5-6-7 และ 4-8-9 พร้อมทั้งคำอธิบายมาจากอรรถกถา
ฏีกา
2. อภิธรรมาจริยะ ตรี โท และ เอก กำหนดปกรณ์ คือ
ธัมมสังคณียะธาตุกถาสรูปัตถนิสสยะ ยมกสรูปัตถนิสสยะ ภาค 1-2-3 มหาปัฏฐานสรูปัตถนิสสยะ และบาลี ไวยากรณ์แปลธรรมบท อรรถกถาตามลำดับ
2.2
สถิติจำนวนผู้เรียน 4
ปีย้อนหลัง
สถิตินักเรียนหลักสูตแผนกธรรม
สถิติการจักการศึกษานักธรรม |
2542 |
2543 |
2544 |
2545 |
||||
จำนวนผู้เรียน |
33 |
41 |
45 |
48 |
||||
จำนวนชั้นเรียน |
3 |
3 |
3 |
3 |
||||
จำนวนห้องเรียน |
3 |
3 |
3
|
3 |
||||
จำนวนผู้สอนเป็นพระภิกษุ |
12 |
12 |
12 |
12 |
||||
อัตราส่วนครูต่อห้องเรียน |
4 |
4 |
4 |
4 |
||||
อัตราส่วนนักเรียนต่อห้องเรียน |
แต่ละชั้น |
มีผู้เรียน |
ไม่เท่ากัน |
|
||||
จำนวนผู้เข้าเรียน
/ ผู้สำเร็จการศึกษา |
เข้า 33 |
จบ
33 |
เข้า
41 |
จบ
41 |
เข้า
45 |
จบ
34 |
เข้า
- |
จบ
- |
สถิตินักเรียนหลักสูตรแผนกบาลี
สถิติการศึกษาภาษาบาลี |
ปี กศ. 2542 |
ปี กศ.
2543 |
ปี กศ.
2544 |
ปี กศ.
2545 |
||||
จำนวนผู้เรียน |
53 |
48 |
41 |
30 |
||||
จำนวนชั้นเรียน |
5 |
5 |
5 |
5 |
||||
จำนวนห้องเรียน |
5 |
5 |
5 |
5 |
||||
อัตราส่วนนักเรียนต่อห้องเรียน
วุฒิการ - |
ศึกษาของผู้ |
เรียนมีจำนวน |
ไม่เท่ากัน |
|
||||
จำนวนผู้สอนล้วนเป็นพระภิกษุ |
พภ.
10 |
ฆว.
- |
พภ. 10 |
ฆว.
- |
พภ. 10 |
ฆว.
- |
พภ. 10 |
ฆว. - |
อัตราส่วนครูต่อห้องเรียน |
2 |
- |
2 |
- |
2 |
- |
2 |
- |
จำนวนผู้เข้าเรียน
/ ผู้สำเร็จการศึกษา |
เข้า
29
|
จบ
10 |
เข้า
31 |
จบ
10 |
เข้า 25 |
จบ 10 |
เข้า 30 |
จบ
- |
หมายเหตุ
นักเรียนบาลีไวยากรณ์แต่ละปีมิได้ส่งเข้าสอบในปีการศึกษานั้น
สถิตินักเรียนหลักสูตรแผนกธรรมศึกษา
สถิติจัดการศึกษาธรรมศึกษาตรี
โทเอก |
ปี กศ. 2542 |
ปี กศ. 2543 |
ปี กศ.
2544 |
ปี กศ. 2545 |
||||
จำนวนผู้เรียน |
33 |
39 |
33 |
จำนวนไม่แน่ |
||||
จำนวนชั้นเรียน |
3 |
3 |
3 |
- |
||||
จำนวนห้องเรียน |
3 |
3 |
3 |
|
||||
อัตราส่วนนักเรียนต่อห้องเรียน |
จำนวนวุฒิ |
การศึกษา |
แต่ละชั้นไม่ |
เท่ากัน |
||||
จำนวนผู้สอน |
พภ.
12 |
ฆว.
- |
พภ.
12 |
ฆว.
- |
พภ.
12 |
ฆว.
12 |
พภ.
12 |
ฆว.
- |
อัตราส่วนครูต่อห้องเรียน |
4 |
4 |
4 |
4 |
||||
จำนวนผู้เข้าเรียน/ผู้สำเร็จการศึกษา |
เข้า
33 |
จบ
21 |
เข้า
39 |
จบ
33 |
เข้า
35 |
จบ
29 |
เข้า
- |
จบ
- |
สถิตินักเรียนหลักสูตรพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์
สถิติการจัดการศึกษาพระพุทธ ศาสนาวันอาทิตย์ |
ปี กศ. 2542 |
ปี กศ. 2543 |
ปี กศ. 2544 |
ปี กศ. 2545 |
||||
จำนวนผู้เรียน |
85 |
106 |
96 |
82 |
||||
จำนวนชั้นเรียน |
7 |
7 |
7 |
7 |
||||
จำนวนห้องเรียน |
9 |
9 |
9 |
9 |
||||
อัตราส่วนนักเรียนแต่ละห้องมี
- |
จำนวนไม่เท่า- |
กันบางชั้น |
แบ่งเป็น 2 / |
3 ห้องเรียน |
||||
จำนวนครูผู้สอน |
พภ.
27 |
ฆว.
9 |
พภ.
30 |
ฆว.
10 |
พภ.
27 |
ฆว.
9 |
พภ.
25 |
ฆว.
8 |
อัตราส่วนครูต่อห้องเรียน |
4 |
5 |
4 |
4 |
||||
จำนวนผู้เข้าเรียน/ผู้สำเร็จ ฯ |
เข้า
62 |
จบ
20 |
เข้า
80 |
จบ
49 |
เข้า
76 |
จบ
54 |
เข้า ไม่แน่ |
จบ นอน |
สถิตินักเรียนหลักสูตรพระอภิธรรม
สถิติการจัดการศึกษาพระอภิธรรม วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร |
ปี กศ.
2542 |
ปี กศ.
2543 |
ปี กศ. 2544 |
ปี กศ.
2545 |
||||
จำนวนผู้เรียน |
10 |
8 |
15 |
10 |
||||
จำนวนชั้นเรียน |
1 |
2 |
3 |
2 |
||||
จำนวนห้องเรียน |
1 |
2 |
2 |
2 |
||||
อัตราส่วนนักเรียนต่อห้องเรียน |
จำนวนไม่แน่ |
นอน |
|
|
||||
จำนวนผู้สอน |
พภ.
1 |
ฆว.
2 |
พภ.
1 |
ฆว.
2 |
พภ.
1 |
ฆว.
2 |
พภ.
1 |
ฆว.
2 |
อัตราส่วนครูต่อห้องเรียน |
3 |
3 |
3 |
3 |
||||
จำนวนผู้เข้าเรียน/ผู้สำเร็จการศึกษา |
เข้า
8 |
จบ
3 |
เข้า
8 |
จบ
5 |
เข้า
12 |
จบ
8 |
เข้า
10 |
จบ
- |
2.2 การบริหารการเรียนการสอน
ทางวัดได้จัดการบริหารวัดและการเรียนการสอนออกเป็นแผนก
และฝ่ายต่างๆ โดยสายงานทั้งหมด อำนวยการโดยเจ้าอาวาส ดังแผนผังการบริหารวัดดังนี้
แผนผังการบริหารงาน ของ
วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร
ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
พระราชพรหมาจารย์
เจ้าอาวาสพระอารามหลวง
พระครูบรมธาตุนุกูล พระครูอาทรสุวรรณโมลี
ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ฯ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ฯ
หัวหน้าฝ่าย หัวหน้าฝ่าย
งานด้านการปกครอง งานด้านสาธารณูปการ งานด้านการศึกษา งานด้านการเผยแผ่
พระครูสังฆรักษ์เพชร วชิรญาโณ
เลขานุการเจ้าอาวาส ฯ
บริหารโรงเรียน
มีใบแทรก
3.
สภาพการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2544
กิจกรรมการเผยแผ่ศาสนธรรม
การจัดกิจกรรมเพื่อการเผยแผ่ศาสนธรรม
ทางวัดได้ดำเนินการหลายโครงการ ต่อเนื่องตลอดปี ดังแสดงในตารางต่อไปนี้
3.1
กิจกรรมประจำปี
ลักษณะกิจกรรม |
พ.ศ.2542 |
พ.ศ.2543 |
พ.ศ.2544 |
พ.ศ.2545 |
||||
ครั้ง |
คน |
ครั้ง |
คน |
ครั้ง |
คน |
ครั้ง |
คน |
|
อุบาสิกาปฏิบัติธรรมวันแม่แห่งชาติ
7 วัน |
1 |
50 |
1 |
80 |
1 |
65 |
- |
- |
อุบาสกปฏิบัติธรรมวันพ่อแห่งชาติ
7 วัน |
1 |
30 |
1 |
46 |
1 |
54 |
- |
- |
ชมรมผู้สูงอายุร่วมปฏิบัติธรรมประจำปี |
1 |
98 |
1 |
102 |
1 |
95 |
1 |
115 |
นักเรียนบาลีร่วมปฏิบัติธรรมสอบเสร็จ |
1 |
22 |
1 |
25 |
1 |
18 |
1 |
18 |
นักเรียนมัธยมจอมทองปฏิญญาตนเป็น |
|
|
|
|
|
|
|
|
ลูกพระธาตุ
ประพฤติตนเป็นคนดีปีละครั้ง |
1 |
400 |
1 |
420 |
1 |
380 |
1 |
392 |
ชมรมข้าราชการครูบำนาญร่วมปฏิบัติ
- |
|
|
|
|
|
|
|
|
ธรรมประจำปี ๆ
ละครั้ง |
1 |
52 |
1 |
48 |
1 |
65 |
1 |
59 |
ชมรมอาสาสมัครประจำหมูบ้าน
อสม. |
|
|
|
|
|
|
|
|
นำสมาชิกร่วมปฏิบัติธรรมประจำปี |
1 |
91 |
1 |
87 |
1 |
72 |
- |
- |
3.2
หน่วยงานองค์กรที่เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
องค์กร |
พ.ศ. 2542 |
พ.ศ. 2543 |
พ.ศ. 2544 |
พ.ศ. 2545 |
||||
หน่วย |
ครั้ง |
หน่วย |
ครั้ง |
หน่วย |
ครั้ง |
หน่วย |
ครั้ง |
|
ข้าราชการ
อำเภอจอมทอง/ตำรวจ |
2 |
1 |
2 |
1 |
2 |
1 |
2 |
1 |
ข้าราชการ
อำเภอฮอด/ตำรวจ |
2 |
1 |
2 |
1 |
2 |
1 |
2 |
1 |
โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ
อ.เมือง ชม. |
นำนักเรียน 35
คน ปฏิบัติธรรม ระหว่าง 15
- 18 ก.พ. 2545 |
|||||||
โรงเรียนวัดวิเวกวนาราม
อ.สันทราย |
นำนักเรียน 100
รูป ปฏิบัติธรรม ระหว่าง 3 - 10
ก.พ. 2545 |
|||||||
วิทยากรอบรม |
พภ.
5 |
ฆว.
2 |
พภ.
6 |
ฆว.
2 |
พภ.
4 |
ฆว.
2 |
พภ.
5 |
ฆว.
2 |
3.3
กิจการส่งเสริมการเผยแผ่ศาสนาธรรม
วัดพระธาตุศรีจอมทองจัดตั้งสำนักวิปัสสนากรรมฐาน ณ
วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ในปี 2535
เพื่อการเผยแผ่ศาสนาด้านการปฏิบัติโดยตรง ปัจจุบันมี
กุฏิสำหรับปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจำนวน 149 หลัง มีห้องน้ำห้องสุขาอยู่ภายในทุกหลัง
จำนวนผู้เข้ารับการปฏิบัติ
อบรม ปัจจุบันแต่ละเดือนผู้มาเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมีจำนวนไม่น้อย
ทั้งบรรพชิต คฤหัสถ์ และชาวต่างประเทศ เช่น
พ.ศ. 2545 พฤษภาคม 20 มิถุนายน
ชาวไทย 155 คน 65 คน
พระภิกษุ 16 รูป 13 รูป
ชาย 25 คน 18 คน
หญิง 114 คน 34 คน
ชาวต่างประเทศ 16 คน 11 คน
ชาย 11 คน 6 คน
หญิง 5 คน 5 คน
3.3.1 สำนักปฏิบัติ สาขาของวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร
( ในประเทศ )
วัดจอมทอง
มีสำนักปฏิบัติ ที่เป็นสาขาในประเทศ จำนวน 27 สาขา ดังนี้
ลำดับที่ |
ชื่อสำนักวิปัสสนากรรมฐาน |
ตำบล |
อำเภอ |
จังหวัด |
1 |
วัดเมืองมาง |
หายยา |
เมือง |
เชียงใหม่ |
2 |
วัดร่ำเปิง |
สุเทพ |
เมือง |
เชียงใหม่ |
3 |
วัดดอยพระเกิ๊ด |
บ้านหลวง |
จอมทอง |
เชียงใหม่ |
4 |
วัดดอยน้อย |
ดอยแก้ว |
จอมทอง |
เชียงใหม่ |
5 |
วัดถ้ำตอง |
สบแป๊ะ |
จอมทอง |
เชียงใหม่ |
6 |
วัดปัญญาวุธาราม ( สันกู่ ) |
หางดง |
ฮอด |
เชียงใหม่ |
7 |
วัดดอยเหลี่ยม |
บ่อสะหลี่ |
ฮอด |
เชียงใหม่ |
8 |
วัดบ้านโปง |
โปงทุ่ง |
ดอยเต่า |
เชียงใหม่ |
9 |
วัดสุวรรณคูหา ( ถ้ำหม้อ ) |
โปงทุ่ง |
ดอยเต่า |
เชียงใหม่ |
10 |
วัดพระพุทธบาทตะเมาะ |
โปงทุ่ง |
ดอยเต่า |
เชียงใหม่ |
11 |
วัดพระธาตุดอยเกิ้ง |
ท่าเดื่อ |
ดอยเต่า |
เชียงใหม่ |
12 |
สำนักวิปัสสนาบ้านท่าศาลา |
สะเมิงใต้ |
สะเมิง |
เชียงใหม่ |
13 |
สำนักวิปัสสนาล้านนา |
กืดช้าง |
แม่แตง |
เชียงใหม่ |
14 |
สำนักวิปัสสนาพระราชพรหมาจารย์ (ป่าเหมี้ยง) |
เมืองกลาย |
แม่แตง |
เชียงใหม่ |
15 |
สำนักวิปัสสนาพระราชพรหมาจารย์ (พระบาทสี่รอย) |
สะลวง |
แม่แตง |
เชียงใหม่ |
16 |
สำนักวิปัสสนาถ้ำบัวตอง |
แม่หอพระ |
แม่แตง |
เชียงใหม่ |
17 |
สำนักวิปัสสนาสมเด็จดอยน้อย |
แม่สา |
แม่ริม |
เชียงใหม่ |
18 |
สำนักวิปัสสนาสุพรหมญาณ ( แว่นแก้ว ) |
เวียงป่าเป้า |
เวียงป่าเป้า |
เชียงราย |
19 |
สำนักวิปัสสนาพระราชพรหมาจารย์ (หนองสระ) |
แม่ขะจาน |
เวียงป่าเป้า |
เชียงราย |
20 |
สำนักวิปัสสนาพระราชพรหมาจารย์ (พระธาตุเขาเขียว) |
บ้านครึ่ง |
เชียงของ |
เชียงราย |
21 |
สำนักปฏิบัติธรรมาแม่ชีอมรีดอยสะเก็ด ( 1 ) |
|
ดอยสะเก็ด |
เชียงใหม่ |
22 |
สำนักปฏิบัติธรรมแม่ชีอมรีดอยสะเก็ด ( 2 ) |
|
ดอยสะเก็ด |
เชียงใหม่ |
23 |
สำนักปฏิบัติธรรมแม่ชีอมรีรักษ์ |
|
เมือง |
ลำพูน |
24 |
สำนักปฎิบัติธรรมแม่ชีไตรนุสรณ์ |
|
ส่องดาว |
สกลนคร |
25 |
สำนักปฏิบัติธรรมแม่ชีอมรี ( ส่องดาว ) |
|
ส่องดาว |
สกลนคร |
26 |
สำนักปฎิบัติธรรมแม่ชีอมรีพนัสนิคม |
|
พนัสนิคม |
ชลบุรี |
27 |
สำนักปฏิบัติธรรมแม่ชีอมรีทุ่งโพธิ์ |
|
|
สุรินทร์ |
3.3.2
สำนักปฏิบัติสาขาของวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ( ต่างประเทศ )
มีสำนักสาขาสายต่างประเทศ อีก 6 สาขา ดังนี้
ลำดับที่ |
ชื่อสำนักวิปัสสนากรรมฐาน |
|
เมือง |
ประเทศ |
1 |
วัดพุทธปิยวราราม |
|
เฟรงเฟริส |
เยอรมัน |
2 |
วัดธรรมมาวิหาร (เกาะฮอโนลูลู) |
|
ฮาวาย |
สหรัฐ |
3 |
สำนักวิปัสสนาพระราชพรหมาจารย์ ( เกาะฮาวาย ) |
|
ฮาวาย |
สหรัฐ |
4 |
วัดธรรมวิหาร ( จากาป้า ) |
|
จากาป้า |
เม็กซิโก |
5 |
สำนักวิปัสสนาเม็กซิโก |
|
เม็กซิโก |
เม็กซิโก |
6 |
สำนักวิปัสสนามอนตาเล่ |
|
มอนตาเล่ |
เม็กซิโก |
4. สภาพการบริหารการศึกษา/การเผยแผ่ศาสนธรรมของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
ประกอบด้วยการวางแผน การจัดองค์กร การจัดและพัฒนาบุคลากร การควบคุมกำกับ
และติดตามประเมินผล และภาวะผู้นำของเจ้าอาวาส
ทางวัดมีการวางแผน
การจัดองกร์สงฆ์รับผิดชอบงานด้านการปกครอง การศึกษาและการเผแผ่
ดังที่แสดงตารางก่อนหน้านี้ มีการพัฒนาพระวิปัสสนาจารย์โดยการอบรมหลายรุ่น
มีสำนักงานวิปัสสนาของวัดที่คอบให้การแนะนำเบื้องต้น ตลอดจนจัดการเรื่องที่พักอาศัย
และกำหนดระยะเวลาที่จะปฏิบัติ อย่างเป็นระบบ มีการติดตามประเมินผลทุกวันด้วยการสอบอารมณ์กรรมฐาน
ซึ่งจะแสดงตัวอย่าง การสอบอารมณ์และวิธีให้คำแนะนำ ดังนี้
4.1 กระบวนการอบรม
การฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
เน้นที่การฝึกหัดตรวจสอบภาวการณ์ตระหนักรู้อารมณ์ปัจจุบัน กำหนดรูปนาม
ตามแนวสติปัฏฐาน 4 ซึ่งผู้อบรมต้องลงมือปฏิบัติ
อยู่ในการกำกับดูแลของพระวิปัสสนาจารย์ ทุกวันต้องไปสอบการกำหนดอารมณ์
การตามทันปัจจุนให้พระวิปัสสนาจารย์ฟังเพื่อ กับการแนะนำ หากปฏิบัติไม่ถูกวิธี
และเรียนเพิ่มเมื่อกำหนดถูกแล้ว เรียกว่า การสอบอารมณ์กรรมฐาน
หลังจากประกอบพิธีกรรมสมาทานกรรมฐาน และได้ฝึกปฏิยัติผ่านมา 24 ชั่วโมง
ตัวอย่าง การสอบอารมณ์วันที่ 1
– มีสติจดจ่ออยู่กับเท้าที่เดินหรือไม่
(นึกในใจ) ว่าคำ
บริกรรมกับเท่าที่เดินไปพร้อมกันหรือไม่
– จิต (สติ-สมาธิ-ปัญญา) อยู่แนบแน่นกับอริยาบถเดินหรือไม่
- ขณะเดินจงกรม จิตเห็นสภาวะย่างก้าวได้ชัดเจนดีหรือไม่
– ขณะเดินจงกรม เมื่อสภาวธรรมอย่างอื่นแทรกเข้ามา
เช่นได้ยินเสียง ได้เห็นรูป เป็นต้น จิตคิดออกไปจากการกำหนดก็ดี โยคีได้กำหนดอย่างไร
-
เดินทันต่อสภาวอารมณ์ปัจจุบันหรือไม่ ใน 1 รอบ
-
ขณะเดิน เช่นเดินกลับไปกลับมา 5 รอบ ทุกรอบเดินได้ถูกต้องมีสภาวะอารมณ์ ปัจจุบันครบทุกรอบหรือไม่
การนั่งกำหนด (การนั่งสมาธิ)
-
พอง ยุบ มีลักษณะการเคลื่อนไหวอย่างไร
(พอง-ตึงเคร่ง ยุบ-หย่อน)
-
การกำหนดพอง-ยุบ กำหนดได้ชัดเจนหรือไม่ (ถ้าไม่ชัดเอามือทายท้องก่อน
ถ้าชัดปล่อยมือ กำหนดพอง-ยุบต่อไป)
-
จิตใจจดจ่อ อยู่กับสภาวะพอง-ยุบตลอดเวลาที่กำหนดหรือไม่
-
กำหนดสภาวะพอง-ยุบ ได้ต่อเนื่องหรือไม่
-
มีสติกำหนดรู้อาการพองได้ดีกว่าอาการยุบหรือไม่
·
อาจารย์สอบอารมณ์ให้สติโยคีว่า ให้มีความเพียรพยายาม
ตั้งใจกำหนดรู้อยู่กับปัจจุบันอารมณ์ เอาใจใส่อยู่กับปัจจุบันอารมณ์อยู่เนืองนิตย์
โดยไม่ให้สติและจิต คลาดเคลื่อนออกไปจากปัจจุบันอารมณ์ทั้งการเดินจงกรมและการนั่งสมาธิ
แล้วจะทำให้วิปัสสนาญาณเจริญก้าวหน้าได้รวดเร็ว
เพิ่มเวลาในการเดิน การนั่งเป็น 20 นาที และให้กำหนดอิริยบาบถ 4 ให้ครบ นั่ง นอน ยืน
เดิน ให้กำหนดอิริยบาบถย่อย เช่น ก้ม เงย
คู้ เหยียด เหลียวซ้าย แลขวา เดินหน้า ถอยหลัง กะพริบตา อ้าปาก เคี้ยว ฯลฯ
ให้กำหนดอินทรีย์ทั้ง 6 คือ ทางตา กำหนดวา เห็นหนอๆ หู
ได้ยินหนอๆ จมูก กลิ่นหนอๆ ลิ้น รสหนอๆ กาย-ถูกหนอๆ ใจ-
คิดหนอๆ
การสอบอารมณ์วันที่ 2
-
มีสติจดจ่อกับเท้าที่เดิน ดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่
-
อารมณ์ต่างๆ เช่น อิริยาบถ 4 อิริยบาบถย่อย อินทรีย์ 6 กำหนดมากน้อยแค่ไหน
(ยกตัวอย่าง พระอานนท์ พระพาหิยะ)
- กำหนดรู้ (จิต
หรือ นาม) รู้อาการพอง-ยุบดีหรือไม่
-
ขณะนั่งกำหนดพอง-ยุบ มีอารมณ์อื่น แทรกเข้ามาหรือไม่ จิตคิดไปถึงเรื่องราวต่างๆ หรือไม่เช่น
คิดถึงบ้าน คิดเรื่องอดีต อนาคต โยคีกำหนดอย่างไร
-
ได้กำหนดอริยาบถย่อยหรือไม่ กำหนดครบทุกอิริยบาถย่อยนั้นๆหรือไม่
· อาจารย์เตือนสติโยคี
ให้เพียรตั้งใจมีสติกำหนดรู้ทุกๆสภาวอารมณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยโยนิโสมนสิการ คือพิจารณาโดยแยบคาย
ทุกอากับกริยาอาการให้ทำอย่างช้าๆ
การสอบอารมณ์วันที่ 3 (ถามแยกรูป-นาม)
-
พองกับยุบเป็นอันเดียวกันหรือ คนละอัน
-
อาการพอง-ยุบกับจิตเป็นอันเดียวกันหรือ คนละอัน
-
จิตไปหาพอง หรือ
พองมาหาจิต
-
พอง เป็น รูป หรือเป็นนาม ยุบเป็น
รูป หรือเป็นนาม
-
ตัวที่เข้าไปรู้ว่าพองว่ายุบ เป็นรูปหรือ
เป็นนาม
-
เวลาตาเห็นรูป (สี) สีเป็น รูป หรือเป็นนามตัวที่เข้าไปรู้สีเป็นรูปหรือเป็น
นาม
-
เวลาหูได้ยินเสียง เสียงเป็น รูป
หรือเป็นนามตัวที่เข้าไปรู้เสียงเป็นรูปหรือเป็นนาม
-
เวลาจมูกได้กลิ่น กลิ่นเป็น รูป
หรือเป็นนาม ตัวเข้าไปรู้กลิ่นเป็นรูปหรือเป็น นาม
-
เวลาลิ้นได้รส รสเป็น รูป หรือเป็นนาม
ตัวเข้าไปรู้รสเป็นรูปหรือเป็น นาม
-
เวลาถูกเย็นถูกร้อนอ่อน แข็งๆ เป็น รูป
หรือเป็นนาม ตัวเข้าไปรู้เย็นร้อน อ่อน แข็งเป็นรูปหรือเป็น นาม
-
ร่างกายทั้งหมดตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าเป็น
รูป หรือเป็นนาม
-
กายเป็นรูปหรือเป็นนาม ใจเราเป็นรูปหรือเป็น
นาม
-
รวมแล้วตัวของเรามีอะไร (รูปกับนาม)
·
อาจารย์กำหนดให้โยคีกำหนดต้นจิตว่า อยากเดินหนอ
อยากนั่งหนอ อยากนอนหนอ อยากลุกหนอ อยากยืนหนอ เป็นต้น แล้วจึงเคลื่อนไหว อิริยาบถนั้นๆด้วยความมีสติ
มีความรู้สึกตัว
· ให้เดินจงกรม 2 ระยะ เป็นเวลา 30 นาที
การสอบอารมณ์วันที่ 4 (ถามเหตุ - ผล)
-
มีพองขึ้นมาแล้วจิตวิ่งไปกำหนด อาการนี้มีไหม
(รูปเป็นเหตุ นามเป็นผล)
-
จิตวิ่งไปคอยก่อนแล้ว ท้องจึงพ้องขึ้นทีหลัง (นามเป็นเหตุ รูปเป็นผล)
-
เวลายืนจะเป็นเหตุ
หรือเป็นผล รูปยืนเป็นผลหรือเป็นเหตุ
-
แม้อยากนอน อยากดื่ม
อยากถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะเป็นต้น ก็ทำนองเดียวกัน
-
เวลาพองขึ้นมาแล้วค้างอยู่มีไหม
เวลายุบลงไปลึกๆแล้วค้างอยู่มีไหม
-
เวทนามีมากหรือน้อย
(กำหนดนานจึงหาย)
-
นิมิตมีไหมเห็นอะไรบ้าง ? - มีอาการสะดุ้งวูบไปข้างหน้าข้างหลังมีไหม (ถ้ามีอาจารย์ต้องให้กำหนอว่า
เห็นหนอ ๆ รูปสวยชอบเป็นโลภะ รูปไม่สวยไม่ชอบเป็นโทสะ เห็นแล้วไม่กำหนดเป็นโมหะ)
-
พองครั้งหนึ่ง เห็นมีกี่ระยะ
(2 ระยะ คือ ต้นพอง กับ สุดพอง)
* ถ้าอาจารย์ให้โยคีกำหนด รูปนั่ง ตอนนั่งสมาธิ คือ
พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ (รู้ที่ใจ ไม่ต้องสำรวจกายส่วนต่างๆ )
การสอบอารมณ์วันที่ 5 (รูปนามเป็นพระไตรลักษณ์)
-
พอพองขึ้นมาแล้ว พอกำหนดพอง ตัวพองนั้นหายไปเลยหรือ ?
หรือว่า ยังเหลืออยู่
-
พองครั้งหนึ่ง เห็นเป็น 3 ระยะ คือ ต้นพองกลางพอง สุดพอง รู้หรือ?
-
พองต้นเป็นอย่างไร กลางเป็นที่สุด เป็นอย่างไร
-
ยุบก็เป็นเช่นเดียวกัน
-
เวทนามีมากแต่หายช้า ต้องกำหนด 7 – 8 ครั้ง จึงหายไปมีไหม (อาจารย์แก้ว่า เวทนาเป็นอารมณ์ใน สติปัฏฐาน ฐานหนึ่งเมื่อเกิดขึ้นมาและชัดเจนมากกว่าที่อื่น ต้องกำหนดจนสุดความสามารถ จนเสื่อมหาย)
-
ขณะนั่งพอง – ยุบ หรือเห็นอะไร (กำหนดหายช้า ค่อยๆจางไป)
-
ขณะนั่งพอง – ยุบ (เกิดนิมิต) มีอาการคันตามตัว
ใบหน้า หรือที่อวัยวะอื่นๆ หรือไม่ (ให้กำหนดคันหนอๆ ถ้าทนไม่ไหวกำหนดอยากเกาหนอ
แล้วเกา)
-
พอง – ยุบหายมีไหม?
-
พอง - ยุบ เกิดดับไวมีไหม สม่ำเสมอบ้าง อึดอัดบ้างมีไหม?
-
บางครั้งฟุ้งซ่านมีไหม?
·
ถ้าอาจารย์ให้โยคี เดินจงกรม 3 ระยะ เป็นเวลา
45 นาที
การสอบอารมณ์วันที่ 6 (รูป ดับ เกิด-ดับอยู่ตลอดเวลา)
-
เห็นพองยุบ เป็ฯ 5 –
6 ระยะ มีไหม (ท้องค่อยๆ ขยับทีละนิดๆ)
-
พองยุบ ขาดหายไปเป็นลำดับมีไหม
-
เวทนาหายไปเร็วหรือหายช้า (กำหนด2-3ครั้งก็หายไป)
-
กำหนดได้ชัดเจนดีไหม
-
นิมิตต่างๆหายไปเร็วหรือช้า
-
แสงสว่างคล้ายไฟฟ้าแจ่มใสมีไหม
-
ต้นพอง – สุดพอง ต้นยุบ
– สุดยุบ ปรากฏชัดเจนมีไหม
-
อาการพองยุบเร็วขึ้น ถี่ขึ้นมีไหม
-
มีอาการวูปสัปหงกไปข้างหน้าไปข้างหลังบ้างมีไหม
-
อาการพองยุบแผ่วเบาสม่ำเสมอกันมีไหม
-
อาการพองยุบแผ่วเบา สม่ำเสมอกัน มีไหม
-
อาการพองยุบอึดอัดเวทนามากมีไหม
ที่ยกตัวอย่างมานี้
เป็นกระบวนการอบรมและสอนวิปัสสนากรรมฐานแนวสติปัฏฐาน 4
ที่เป็นรูปแบบของวัดพระธาตุศรีจอมทอง ซึ่งนักปฏิบัติมีเวลาปฏิบัติ
24 ชั่วโมง กำหนดการสุดแต่ความสมัครใจและเวลาพอ
หากจะให้จบการปฏิบัติจนถึงการทวนญาณ ก็จะใช้เวลาปฏิบัติอย่างน้อย เดือนครึ่ง ถึง 3
เดือน
4.2
การวิเคราะห์จากข้อมูลเชิงสำรวจความคิดเห็น
4.2.1 ด้านการศึกษา
การวิเคราะห์ต่อไปนี้เป็นการสำรวจความเห็นของผู้ปฏิบัติงานที่วัด
เพื่อแสดงถึง
ปัจจัยที่ทางวัดสามารถทำงานด้านการอบรมวิปัสสนากรรมฐานได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งจะขอนำเสนอเพียงตารางที่สอดคล้อง
เท่านั่น โดยเริ่มจากการจัดการศึกษา
ตารางที่
1 ความคิดเห็น
ในด้านบริหารจัดการทั่วไป
ด้านบริหารจัดการทั่วไป |
|
SD |
ระดับ ความเห็น |
1.
ผู้บริหารมีการกำหนดนโยบายและเป้าหมายคุณภาพของสถานศึกษาอย่างชัดเจน 2.
ผู้บริหารมีการประชุมชี้แจงนโยบาย
เป้าหมายและวิธีการจัดการศึกษาอย่าง
สม่ำเสมอ 3.
ผู้บริหารจัดสิ่งอำนวยความสะดวก
เพื่อ การปฏิบัติงานด้านศึกษาแก่ครู 4.
ผู้บริหารกำกับติดตามด้วยการสอบถาม การประชุมและการให้รายงานผลเป็นระบบ 5.
ผู้บริหารให้กำลังใจแก่ครูและผู้เรียนด้วยการชมเชยยกย่อง
การให้รางวัล |
3.90 3.72 3.86 3.79 3.72 |
.98 1.10 1.06 1.08 1.0 |
มาก มาก มาก มาก มาก |
รวม
|
3.80 |
.97 |
มาก |
จากตารางที่
1 พบว่าโดยภาพรวมแล้วผู้ตอบแบบสอบถามของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่ มีความเห็นด้วยอย่างมากเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการศึกษาในด้านบริหารจัดการ ทั่วไป
(= 3.80) โดยเห็นด้วยมากในเรื่องที่ผู้บริหารมีการกำหนดนโยบายและเป้าหมายคุณภาพของสถานศึกษาอย่างชัดเจน (= 3.90) รองลงมาคือเห็นด้วยมากในเรื่องผู้บริหารจัดสิ่งอำนวยความสะดวก
เพื่อการปฏิบัติงานด้านศึกษาแก่ครู (= 3.86) และผู้บริหารกำกับติดตามด้วยการสอบถามการประชุมและการให้รายงานผลเป็นระบบ
(= 3.79) ตามลำดับ
ตารางที่
2 ความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการศึกษาของวัด/โรงเรียน ในด้านหลักสูตร
และบริหารหลักสูตร
หลักสูตร
|
|
SD |
ระดับ ความเห็น |
1.
ผู้บริหาร ครู
มีส่วนร่วมในการวางแผน
จัดการการศึกษาอย่างเป็นระบบ 2.
มีการแบ่งสายงานรับผิดชอบอย่างชัดเจน 3.
มีการประชุมครูเพื่อการวิเคราะห์
ประเมิน หลักสูตรและการบริหารหลักสูตรก่อนและ หลังการจัดการศึกษา 4.
มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ครูได้รับการพัฒนาอบรมเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง 5.
มีการประชุมปฏิบัติการ
ทำกำหนดการสอนและแผนการสอน 6.
มีการแสวงหาครูที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมาปฏิบัติการในแต่ละหลักสูตร
(ถ้าขาดแคลน) 7.
มีการส่งเสริมให้ครูได้รับการศึกษาระดับ ที่สูงขึ้น |
3.93 4.00 3.86 3.72 3.72 3.48 3.97 |
1.00 .85 .83 .92 .92 1.24 .87 |
มาก มาก มาก มาก มาก ปานกลาง มาก |
รวม
|
3.81 |
.81 |
มาก |
จากตารางที่
2 พบว่าโดยภาพรวมแล้วผู้ตอบแบบสอบถามของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่
มีความเห็นด้วยอย่างมากเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการศึกษาในด้านหลักสูตรและบริหารหลักสูตร
(= 3.81) โดยเห็นด้วยมากในเรื่องมีการแบ่งสายงานรับผิดชอบอย่างชัดเจน (= 4.00) รองลงมาคือเห็นด้วยมากในเรื่องมีการส่งเสริมให้ครูได้รับการศึกษาระดับที่สูงขึ้น (= 3.97) และ
ผู้บริหาร ครู มีส่วนร่วมในการวางแผนจัดการการศึกษาอย่างเป็นระบบ (= 3.93) ตามลำดับ
ตารางที่
3 ความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการศึกษาของวัด/โรงเรียน ในด้านนักเรียน
นักเรียน |
|
SD |
ระดับ ความเห็น |
1.
มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าศึกษา
อย่างชัดเจน 2.
มีการวางแผนเพื่อแสวงหากลุ่มนักเรียนใน เป้าหมายอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง 3.
มีการกำกับดูแลเอาใจใส่ผู้เรียนอย่างทั่วถึง 4.
มีการติดตามพัฒนาการการเรียนรู้ของ
ผู้เรียนอย่างทั่วถึงและแก้ปัญหาหารายบุคคลเมื่อมีปัญหา 5.
มีการให้กำลังใจแก่ผู้เรียนทั้งในระหว่าง
การเรียนและประสบความสำเร็จในการเรียนอย่างทั่วถึง |
3.76 3.93 3.45 3.59 3.97 |
.95 .88 1.24 1.15 .91 |
มาก มาก ปานกลาง มาก มาก |
รวม
|
3.74 |
.89 |
มาก |
จากตารางที่
3 พบว่าโดยภาพรวมแล้วผู้ตอบแบบสอบถามของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่
มีความเห็นด้วยอย่างมากเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการศึกษาในด้านนักเรียน (= 3.74) โดยเห็นด้วยมากในเรื่องให้กำลังใจแก่ผู้เรียนทั้งในระหว่างการเรียนและประสบความสำเร็จในการเรียนอย่างทั่วถึง
(= 3.97) รองลงมา
คือ เห็นด้วยมากในเรื่องมีการวางแผนเพื่อแสวงหา กลุ่มนักเรียนใน เป้าหมายอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง (= 3.93) และ
มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าศึกษา อย่างชัดเจน (= 3.76) ตามลำดับ
แต่มีเพียงในเรื่องการกำกับดูแลเอาใจใส่ผู้เรียนอย่างทั่วถึง
มีความเห็นในระดับปานกลาง (= 3.45)
ตารางที่
4 ความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการศึกษาของวัด/โรงเรียน ในด้านอาคารสถานที่
อาคารสถานที่ |
|
SD |
ระดับ ความเห็น |
1.
มีอาคารสถานที่เพียงพอต่อการจัดการศึกษา 2.
มีการวางแผนการใช้อาคารและห้องเรียนอย่างเป็นระบบ 3.
มีห้องสมุด
ห้องปฏิบัติการที่เอื้อต่อการศึกษาด้วยตนเอง 4.
มีห้องประชุม
ห้องปฏิบัติกิจกรรม
ที่เหมาะสมกับจำนวนผู้เข้าประชุมหรือ
ปฏิบัติการ 5.
มีการวางแผนการใช้อาคารสถานที่
เพื่อขยายการเรียนในอนาคต |
4.10 4.10 3.62 3.93 3.72 |
86 .94 .90 1.07 1.13 |
มาก
มาก มาก มาก มาก |
รวม
|
3.90 |
.82 |
มาก |
จากตารางที่
4 พบว่าโดยภาพรวมแล้วผู้ตอบแบบสอบถามของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่
มีความเห็นด้วยอย่างมากเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการศึกษาในด้านอาคารสถานที่ (= 3.90) โดยเห็นด้วยมากในเรื่องมีอาคารสถานที่เพียงพอต่อการจัดการศึกษา
มีการวางแผนการใช้อาคารและห้องเรียนอย่างเป็นระบบ (= 4.10) รองลงมา
คือ เห็นด้วยมากในเรื่องมี ห้องประชุม
ห้องปฏิบัติกิจกรรมที่เหมาะสมกับจำนวนผู้เข้าประชุมหรือปฏิบัติการ (= 3.93)
ตารางที่
5 ความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการศึกษาของวัด/โรงเรียน ในด้าน
การประชาสัมพันธ์และการระดมทรัพยากร
ประชาสัมพันธ์และระดมทรัพยากร |
|
SD |
ระดับ ความเห็น |
1.
มีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของสถาบันการศึกษาอย่างต่อเนื่อง 2.
มีการระดมทรัพยากร ด้านบุคลากร ด้าน
งบประมาณอย่างสม่ำเสมอ 3.
มีการแสวงหาแหล่งทุนเพื่อจัดการการเรียนรู้ 4.
มีผู้รับผิดชอบการประชาสัมพันธ์และการระดมทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง 5.
มีการประเมินผลการประชาสัมพันธ์และการระดมทรัพยากร
เพื่อการพัฒนาภารกิจของ สถาบัน |
3.59 3.90 3.83 3.48 3.31 |
1.02 .94 1.10 1.15 .85 |
มาก มาก มาก ปานกลาง ปานกลาง |
รวม
|
3.62 |
.88 |
มาก |
จากตารางที่
5 พบว่าโดยภาพรวมแล้วผู้ตอบแบบสอบถามของวัดพระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
มีความเห็นด้วยอย่างมากเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการศึกษาในด้านการประชาสัมพันธ์และการระดมทรัพยากร (= 3.62) โดยเห็นด้วยมากในเรื่องมีการระดมทรัพยากร
ด้านบุคลากร
ด้านงบประมาณอย่างสม่ำเสมอ (= 3.90) รองลงมาคือเห็นด้วยมากในเรื่องมีการแสวงหาแหล่งทุนเพื่อจัดการเรียนรู้ (= 3.83)
แต่สำหรับในเรื่องที่มีผู้รับผิดชอบการประชาสัมพันธ์และการระดมทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง
และมีการประเมินผลการประชาสัมพันธ์และการระดมทรัพยากร เพื่อการพัฒนาภารกิจของ
สถาบัน
มีความเห็นด้วยปานกลาง (= 3.48 และ
3.31) ตามลำดับ
4.2.2
ความคิดเห็นเกี่ยวการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัด/โรงเรียน
ตารางที่
6 ความคิดเห็นเกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัด/โรงเรียน ในด้านการบริหาร
จัดการทั่วไป
การบริหารจัดการทั่วไป |
|
SD |
ระดับ ความเห็น |
1.
ผู้บริหารมีการกำหนดนโยบายและเป้าหมาย
คุณภาพของการเผยแผ่ศาสนาธรรมอย่าง
ชัดเจน 2.
ผู้บริหารมีการประชุมชี้แจงนโยบาย
เป้าหมายและวิธีการจัดการเผยแผ่อย่างสม่ำเสมอ 3.
ผู้บริหารจัดสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการ ปฏิบัติงานด้านเผยแผ่แก่ครู/วิทยากร 4.
ผู้บริหารกำกับติดตามด้วยการสอบถาม การประชุมและการให้รายงานผลการเผยแผ่อย่างเป็นระบบ 5.
ผู้บริหารให้กำลังใจแก่ครู/วิทยากรและผู้รับการเผยแผ่ด้วยการชมเชย ยกย่อง การให้รางวัล |
3.79 3.76 3.66 3.83 3.90 |
.94 1.02 1.01 1.00 .98 |
มาก มาก มาก มาก มาก |
รวม
|
3.79 |
.86 |
มาก |
จากตารางที่
6 พบว่าโดยภาพรวมแล้วผู้ตอบแบบสอบถามของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่ มีความเห็นด้วยอย่างมากเกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัด/โรงเรียน ในด้านการบริหารจัดการทั่วไป
(= 3.79) โดยเห็นด้วยมากในเรื่องผู้บริหารให้กำลังใจแก่ครู/วิทยากรและ ผู้รับการเผยแผ่ด้วยการชมเชย
ยกย่อง การให้รางวัล (= 3.90) รองลงมา
คือ เห็นด้วยมากในเรื่อง
ผู้บริหารกำกับติดตามด้วยการสอบถาม
การประชุมและการให้รายงานผลการเผยแผ่อย่างเป็นระบบ
(= 3.83) และผู้บริหารมีการกำหนดนโยบายและเป้าหมาย
คุณภาพของการเผยแผ่ศาสนาธรรมอย่างชัดเจน (= 3.79)
ตารางที่
7 ความคิดเห็นเกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัด/โรงเรียน ในด้านการหลักสูตร
และการบริหารหลักสูตรเผยแผ่
หลักสูตรและการบริหารหลักสูตร |
|
SD |
ระดับ ความเห็น |
1.
ผู้บริหาร ครู/วิทยกร มีส่วนร่วมในการ
วางแผนจัดการการเผยแผ่ของวัดอย่างเป็นระบบ 2.
มีการแบ่งภาระหน้าที่รับผิดชอบแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน 3.
มีการประชุมครู/วิทยากรเพื่อการวิเคราะห์
ประเมินการบริหารหลักสูตรอย่างเผยแผ่ ศาสนธรรมของวัดก่อนและหลังการทำ กิจกรรม 4.
มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ครู/วิทยากร
ได้รับการพัฒนาอบรมเกี่ยวกับการพัฒนาความรู้เทคนิควิธีการเผยแผ่อย่างต่อเนื่อง 5.
มีการระดม/แสวงหาครู/วิทยากร ทีมี คุณสมบัติเหมาะสม
สำหรับการเผยแผ่ อบรมมาปฏิบัติการ
(ถ้าขาดแคลน) |
3.59 3.93 3.76 3.66 3.72 |
1.02 1.00 1.02 1.01 1.07 |
มาก มาก มาก มาก มาก |
รวม
|
3.73 |
.92 |
มาก |
จากตารางที่
7 พบว่าโดยภาพรวมแล้วผู้ตอบแบบสอบถามของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่ มีความเห็นด้วยอย่างมากเกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัด/โรงเรียน ในด้านการด้านการหลักสูตรและการบริหารหลักสูตรเผยแผ่ (= 3.73) โดยเห็นด้วยมากในเรื่องการแบ่งภาระหน้าที่รับผิดชอบแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน (= 3.93) รองลงมา
คือ เห็นด้วยมากในเรื่องการประชุมครู/วิทยากรเพื่อการวิเคราะห์
ประเมินการบริหารหลักสูตรอย่างเผยแผ่ศาสนธรรมของวัดก่อนและหลังการทำกิจกรรม (= 3.76) และการระดม/แสวงหาครู/วิทยากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสม สำหรับการเผยแผ่อบรมมาปฏิบัติการ (ถ้าขาดแคลน) (= 3.72)
ตารางที่ 8 ความคิดเห็นเกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัด/โรงเรียน ในด้านผู้เข้ารับการ
อบรมเผยแผ่
ผู้เข้ารับการอบรมเผยแผ่
|
|
SD |
ระดับ ความเห็น |
1.
มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้จะเข้ารับการฝึกอบรมเผยแผ่อย่างชัดเจน 2.
มีการวางแผนเพื่อแสวงหากลุ่มผู้เข้ารับการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง 3.
มีการกำกับดูแลเอาใจใส่ผู้เข้ารับการ ฝึกอบรมอย่างทั่วถึง 4.
มีการติดตามพัฒนาการของผู้เข้ารับฝึกการ อบรมอย่างทั่วถึง
และแก้ปัญหารายบุคคลเมื่อมีปัญหา 5.
มีการให้กำลังใจแก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ทั้งในระหว่างการฝึกอบรมและหลังการ ฝึกอบรม |
3.72 3.66 3.79 3.59 3.72 |
1.03 .77 .86 1.12 1.13 |
มาก มาก มาก มาก มาก |
รวม
|
3.70 |
.79 |
มาก |
จากตารางที่
8 พบว่าโดยภาพรวมแล้วผู้ตอบแบบสอบถามของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่ มีความเห็นด้วยอย่างมากเกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัด/โรงเรียน ในด้าน
ผู้เข้ารับการอบรมเผยแผ่ (= 3.70) โดยเห็นด้วยมากในเรื่อง
การกำกับดูแลเอาใจใส่ผู้เข้ารับการ
ฝึกอบรมอย่างทั่วถึง (= 3.79) รองลงมา
คือ
เห็นด้วยมากในเรื่องการกำหนดคุณสมบัติของผู้จะเข้ารับการฝึกอบรมเผยแผ่อย่างชัดเจน
และการให้กำลังใจแก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม
ทั้งในระหว่างการฝึกอบรมและหลังการฝึกอบรม (= 3.72) และการวางแผนเพื่อแสวงหากลุ่มผู้เข้ารับการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง (= 3.66) ตามลำดับ
ตารางที่
9 ความคิดเห็นเกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัด/โรงเรียน ในด้านอาคารสถานที่
อาคารสถานที่ |
|
SD |
ระดับ ความเห็น |
1.
มีอาคารสถานที่เพียงพอต่อการจัดการฝึก อบรม 2.
มีการวางแผนการใช้อาคารและสถานที่อย่างเป็นระบบ 3.
ห้องปฏิบัติการที่เอื้อต่อการฝึกอบรมด้วย ตนเอง 4.
มีห้องประชุม
ห้องปฏิบัติกิจกรรมที่เหมาะสมกับจำนวนผู้เจ้าประชุมหรือปฏิบัติการ 5.
มีการวางแผนการใช้อาคารสถานที่เพื่อขยายการฝึกอบรมในอาคต |
2.97 3.97 4.00 4.03 3.93 |
1.02 .91 .96 1.02 1.13 |
ปานกลาง มาก มาก มาก มาก |
รวม
|
3.98 |
.93 |
มาก |
จากตารางที่
9 พบว่าโดยภาพรวมแล้วผู้ตอบแบบสอบถามของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่ มีความเห็นด้วยอย่างมากเกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัด/โรงเรียน ในด้าน
ด้านอาคารสถานที่ (= 3.98) โดยเห็นด้วยมากในเรื่อง ห้องประชุม ห้องปฏิบัติกิจกรรมที่
เหมาะสมกับจำนวนผู้เจ้าประชุมหรือปฏิบัติการ (= 4.03) รองลงมา
คือ เห็นด้วยมากในเรื่อง
ห้องปฏิบัติการที่เอื้อต่อการฝึกอบรมด้วยตนเอง (= 4.00)
แต่สำหรับในเรื่องอาคารสถานที่เพียงพอต่อการจัดการฝึกอบรมนั้น
ส่วนใหญ่เห็นด้วยในระดับปานกลาง (= 3.66)
ตารางที่
10 ความคิดเห็นเกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัด/โรงเรียน ในด้านประชาสัมพันธ์
และการระดมทรัพยากร
ประชาสัมพันธ์และระดมทรัพยากร |
|
SD |
ระดับ ความเห็น |
1.
มีการระดมทรัพยากรด้านบุคลากร
ด้าน งบประมาณอย่างสม่ำเสมอ 2.
มีการแสวงหาแหล่งทุนเพื่อการจัดการ ฝึกอบรม 3.
มีผู้รับผิดชอบการประชาสัมพันธ์และการ ระดมทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง 4.
มีการประเมินผลการประชาสัมพันธ์และการระดมทรัพยากรเพื่อการพัฒนาภารกิจของสถาบัน |
3.28 3.62 3.62 3.52 3.62 |
1.13 1.05 1.05 1.06 1.01 |
ปานกลาง มาก มาก มาก มาก |
รวม
|
3.53 |
.97 |
มาก |
จากตารางที่
10 พบว่าโดยภาพรวมแล้วผู้ตอบแบบสอบถามของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่ มีความเห็นด้วยอย่างมากเกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัด/โรงเรียน ในด้าน
ด้านประชาสัมพันธ์และการระดมทรัพยากร (= 3.53) โดยเห็นด้วยมากในเรื่องการระดมทรัพยากรด้านบุคลากร
ด้านงบประมาณอย่างสม่ำเสมอ
การประเมินผลการประชาสัมพันธ์และการระดมทรัพยากรเพื่อการพัฒนาภารกิจของสถาบันการแสวงหาแหล่งทุนเพื่อการจัดกา
ฝึกอบรม
เท่ากัน (= 3.62) รองลงมา
คือ เห็นด้วยมากในเรื่อง ผู้รับผิดชอบการประชาสัมพันธ์และการ ระดมทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง (= 3.52)
แต่สำหรับในเรื่องอาคารสถานที่เพียงพอต่อการจัดการฝึกอบรมนั้น
ส่วนใหญ่เห็นด้วยในระดับปานกลาง (= 3.66)
5. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสภาพปัญหา/อุปสรรคและความสำเร็จที่มีต่อการจัดการศึกษา
และการเผยแผ่
ศาสนธรรม
5.1
รจัดการศึกษา
สภาพปัญหาและอุปสรรคที่ประสบในการบริหารการศึกษา
1.
การบริหารยังไม่เป็นระบบดีเท่าที่ควร
2.
ครูใหญ่ไม่สามารถรับรู้ปัญหาต่างๆของนักศึกษา
จึงไม่อาจแก้ปัญหาได้ตรงจุด
3.
ความรู้พื้นฐานของนักศึกษาไม่ดีพอและไม่เท่ากัน
ต้องเสียเวลาในการปรับพื้นฐาน
สภาพปัญหาและอุปสรรคที่ประสบในด้านหลักสูตรและการสอน
1.
ใช้หลักสูตรจากส่วนกลาง
ปรับเปลี่ยนไม่ได้
2.
หลักสูตรเน้นการท่องจำมากกว่าการวิเคราะห์
3.
ขาดสื่อ-อุปกรณ์ในการศึกษา ค้นคว้า
สภาพปัญหาและอุปสรรคที่ประสบในด้านอาคารสถานที่
1.
อาคาร สถานที่ไม่เพียงพอ ห้องเรียนไม่เพียงพอ
2.
สิ่งแวดล้อมไม่เอื้อต่อบรรยากาศการเรียนรู้
เสียสุขลักษณะ
3.
ขาดการรักษาความสะอาดของบริเวณอาคาร
สภาพปัญหาและอุปสรรคที่ประสบในด้านการประชาสัมพันธ์และการระดมทรัพยากร
1.
การประชาสัมพันธ์ยังไม่กระจายและขาดความต่อเนื่อง
2.
ขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านการประชาสัมพันธ์
3.
ผู้บริหารขาดความสนใจ
สภาพปัญหาและอุปสรรคที่ประสบในด้านการประเมินผลการจัดการศึกษา
1.
การประเมินในภาพรวมไม่สามารถทราบปัญหาที่แท้
2.
ครูสอนขาดการวางแผนการสอนเป็นระบบ
และขาดความรู้ด้านการประเมิน
3.
ผู้เรียนขาดความกระตือรือร้นในการศึกษา
4.
ขาดบุคลากรที่รับผิดชอบงานประเมินผลโดยเฉพาะ
5.
ทดสอบบ่อยเกินไป
5.2 สาเหตุที่ทำให้วัดประสบผลสำเร็จ
1.
ได้รับการสนับสนุนจากหลาย ๆ ฝ่าย
อาทิเช่น ฝ่ายราชการ เอกชน และชุมชน
ผู้ปกครอง
2.
เจ้าอาวาสเป็นบุคคลที่มีปฏิปทาน่าเคารพสามารถปลูกศรัทธาได้ดี
3.
บุคลากรต่างรู้หน้าที่ของตัวตามที่มอบหมาย
4.
ทุกคนเคารพและปฏิบัติตามกฎระเบียบของวัดที่ร่วมกันสร้างขึ้น
5.
จริยาวัตรของบุคลากรในวัดประพฤติตัวเหมาะสมน่าเคารพ
6.
การเอาใส่และกำกับควบคุมอย่างจริงจังของเจ้าอาวาส
ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไข
1.
อยากให้วางระบบการบริหารที่ชัดเจนและตรวจสอบได้
2.
ควรมีผู้รับผิดชอบร่วมกันแต่ละด้านมากกว่าปัจจุบัน
3.
ควรมีงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมจากทางราชการบ้าง
5.2 ด้านการเผยแผ่ศาสนธรรม
สภาพปัญหาและอุปสรรคที่ประสบในการบริหารเผยแผ่อบรม
1.
ครู
วิทยากรที่มีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศมีน้อย
2.
ขาดการบริหารและการจัดการที่ดี
สภาพปัญหาและอุปสรรคที่ประสบในด้านหลักสูตรและการฝึกอบรม
1.
ยังขาดความเข้าใจในปรัชญาของหลักสูตรอบรม
2.
การทำหลักสูตรฝึกอบรมยังไม่แยกระหว่างชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มารับการอบรม
3.
ขาดสื่ออุปกรณ์ด้านการฝึกอบรม
4. วิทยากรยังไม่แตกฉานด้านวิปัสสนา (สำหรับผู้สามารถทางด้านภาษา)
5.
ผู้เรียนใหม่ไม่แตกฉานในสภาวะธรรมที่ละเอียด
สภาพปัญหาและอุปที่ประสบในด้านอาคารสถานที่
1.
บรรยากาศสิ่งแวดล้อมในอาคารสถานที่ไม่สัปปายะเพียงพ้อ
2.
ไม่มีอาคารที่ใช้เป็นศูนย์รวมข้อมูล
3.
บริเวณคับแคบ เดินทางลำบาก และเป็นแหล่งท่องเที่ยว
สภาพปัญหาและอุปสรรคที่ประสบในด้านการประชาสัมพันธ์และการระดมทรัพยากร
1.
การบริหารไม่สามารถตรวจสอบได้
2.
การรวมกลุ่มของชุมชน
ยังไม่ค่อยรวมตัวกัน เนื่องจากขาดการประชาสัมพันธ์
3.
ไม่มีสื่อในการจัดทำ สำหรับประชาสัมพันธ์
4.
บุคลากรบอกปากต่อปาก
สภาพปัญหาและอุปสรรคที่ประสบในด้านการประเมินผลการฝึกอบรม
3.
การปฏิบัติกรรมฐานต้องมีการสอบอารมณ์ประจำอย่างสม่ำเสมอ
ครูไม่เพียงพอ
4.
ขาดการติดตามผลของการปฏิบัติกรรมฐานเมื่อจบหลักสูตร
5.
ไม่มีเกณฑ์มาตรฐานสำหรับตรวจวัดความก้าวหน้าของการปฏิบัติธรรมเป็นตาราง
สาเหตุที่ทำให้วัดประสบผลสำเร็จด้านการเผยแผ่ศาสนธรรม
6.
ผู้บริหารแบ่งหน้าที่การรับผิดชอบเป็นระบบ
7.
ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือและรับผิดชอบงานเป็นอย่างดี
8.
วิทยากรเป็นผู้รู้จริงปฏิบัติชอบจริง
9.
ได้รับความร่วมมือจากประชาชน
และพระวิทยากร
10.
เจ้าอาวาสให้ความเมตตาเอาใจใสนักปฏิบัติอย่างเสมอภาค
ข้อเสนอแนะอื่น
1. ควรเพิ่มบุคลากรที่มีคุณภาพมาร่วมงานให้มาก
2. ครูควรรับฟังความคิดเห็นของผู้เรียนและปฏิบัติ
3. ควรวางแผนการบริหารให้เป็นระบบมากกว่านี้
4.
รัฐบาลควรให้การสนับสนุนด้านงบประมาณบ้าง
เพื่อแบ่งเบาภาระทางวัดที่ต้องหารายได้เอง
5 ช่วยหาวิถีทางในอันสะดวกต่อการสื่อสารด้านภาษา
6. ทุนอุดหนุนด้านการส่งเสริมวิปัสสนาภาคภาษาอังกฤษ
7.
หาแนวทางเพื่อให้พระวิปัสสนาจารย์มีโอกาสได้ไปเผยแผ่พระศาสนาต่างประเทศ
โดยรัฐบาลเป็นภาระธุระ
บทที่
5
สรุป
วิจารณ์และเสนอแนะ
การวิจัยเพื่อให้เห็นเอกลักษณ์
กระบวนการทำงาน การบริหารจนประสบเชื่อเสียงและความสำเร็จด้านจัดการศึกษา
ด้านการเผยแผ่ศาสนธรรม จนได้รับการกล่าวขานอ้างอิงเสมอว่า
ถ้าการศึกษาพระปริยัติธรรมบาลีสมัยใหม่นี้ ต้องสำนักเรียนวัดนี้ การจัดการศึกษาแบบโรงเรียนการกุศลของวัด
ต้องที่นั่น หรือถ้าเป็นการสั่งสอนและอบรมการปฏิบัติ อาจะเป็นแนวสมถกรรมฐาน
หรือแนววิปัสสนากรรมฐานแล้ว ณ ขณะนี้ต้องเป็นวัดนี้ เป็นต้น
ได้ดำเนินการมาตามขั้นตอน จนถึงขั้นตอนสุดท้ายเสร็จสิ้นแล้ว ผู้วิจัยสามารถสรุป
ประเด็นที่โดดเด่นของวัดในโครงการนำร่องที่รับผิดชอบ ว่า วัดนี้ โรงเรียนนี้
มีรูปแบบของการจัดการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนธรรมเป็นอย่างไร
เพื่อเป็นทิฏฐานุคติให้วัดอื่นๆที่มีภารกิจทำนองนี้ หรือคล้ายเดียวกันนี้
ได้นำไปประยุกต์ใช้ อันอาจจะเกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนและสังคมในภาพรวม เป็นการขยายผลแห่งความสำเสร็จให้แพร่กระจายไปทั่วทุกแห่ง
ประการสำคัญ ก็ถือว่าเป็นภารกิจหลักของสถาบันสงฆ์
และบุคลากรคือพระสงฆ์และผู้เกี่ยวข้องทางวัดและโรงเรียนจำต้องปฏิบัติหน้าอยู่แล้วให้เพิ่มคุณภาพในระดับที่ตนประสงค์ได้
1. คำถามเพื่อการวิจัยส่วนที่เป็นข้อมูลด้านสภาพทั่วไป
ผู้วิจัยได้ตั้งคำถามหลักเพื่อการค้นคว้าเอาไว้
5 ประการ คือ
1.1 บริบททั่วไปของ
วัดและโรงเรียนในโครงการนำร่องเป็นอย่างไร
1.2. การจัดการศึกษา/การฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐานเป็นอย่างไร
1.3 การเผยแผ่ศาสนธรรม
เป็นอย่างไร
1.4 การบริหารการศึกษา/การฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐานเป็นอย่างไร
1.5 รูปแบบการจัดการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนธรรมเป็นอย่างไร
ด้วยการตั้งคำถามเหล่านี้เป็นเครื่องชี้ทางไปหาข้อมูล
ค้นคว้าและทำการวิจัย
ผู้วิจัยจึงได้ตำตอบมาสว่นหนึงจากตำหรับตาราหรือข้อมูลที่ทางวัดมีอยู่
และอีกหลายส่วนจากการออกแบบสอบถาม การออกไปสังเกต การสัมภาษณ์ พอจะประมวลได้ดังนี้
1.1
ด้านบริบททั่วไปของ
วัดและโรงเรียนในโครงการนำร่อง
วัดในโครงการนำร่อง
ส่วนใหญ่เป็นวัดที่ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนเมืองและความเจริญพรั่งพร้อมด้วยปัจจัย
สาธารณูปโภคสะดวกสบาย เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้นำมาใช้อย่างคุ้นเคย
และเป็นวัดที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธมานาน
สภาพทั่วไปทางภูมิศาสตร์การคมนาคมสะดวกสบาย สภาพทางเศรษฐกิจของวัดก็มีคณะศรัทธาให้การอุปถัมภ์ไม่ลำบากด้วยปัจจัย
4 ความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชน
ไม่เป็นปัญหาเพราะชุมชนถือว่าเป็นภาระหน้าที่จะต้องอุปถัมภ์และแสดงถึงความเป็นฐานทางวัฒนธรรมของกลุ่มตนเอง จึงภูมิใจ
สภาพการเป็นอยู่ของพระภิกษุสามเณรก็ไม่ลำบากด้วยอาหารบิณฑบาต
เสนาสนะที่พำนักก็สัปปายะเหมาะแก่สมณวิสัย
ในส่วนของโรงเรียนก็มีอาคารเรียนที่เอื้อต่อการขยายการศึกษาสามารถรองรับจำนวนผู้เรียนที่จะเข้าศึกษาในอนาคตได้
1.2 ด้านการจัดการศึกษา/การฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน
ในด้านการจัดการศึกษา
วัดในโครงการนำร่อง
มิได้เพียงจัดการศึกษาตามกรอบที่กลุ่มคณะวางแผนการวิจัยโครงการนำร่องได้กำหนดเป็นความโดดเด่นเอาไว้เท่านั้น
ยังได้จัดการศึกษาในหลักสูตรอื่นๆอีกด้วย
ทั้งนี้ แม้จะได้รับความนิยมว่า บริหารจัดการศึกด้านปริยัติธรรม นักธรรม
มีผู้เข้าเรียนเข้าสอบได้ปีละจำนวนเป็นร้อยๆ
แต่ก็ยังได้จัดการศึกษาเพื่อการอบรมเยาชนเป็นงานรับผิดชอบด้วย
เช่นมีโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์
วัดนำร่องบางวัดโดดเด่นด้านจัดโรงเรียนการกุศล
ระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย หรือจัดการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรมสายสามัญ
เป็นที่หมายปองอันดับต้นๆของผู้ประสงค์จะศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษา
แต่ทางวัดก็มิได้ละเลย การจัดการศึกษาในรูปแบบอื่น เช่น
มีการศึกษาระดับมหาวิทยาสงฆ์สังกัดอยู่ด้วย แต่บางวัดก็เน้นหนักเอาดีเพียงด้านเดียวให้โดดเด่น
เช่นที่วัดจองคำ เน้นการศึกษาบาลีเป็นหลัก
และส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนมีเป้าหมาย มีอุดมการณ์
บางวัดมีโรงเรียนพระอภิธรรม
การศึกษาในสถาบันสงฆ์
จะเป็นการขาดไปอีกครึ่งหนึ่งถ้าหากว่า ไม่ติดตามด้วยการปฏิบัติ
ทางวัดบางวัดในโครงการนำร่องก็มีระยะเวลาที่เปิดอบรมการปฏิบัตกรรมฐานเพื่อฝึกจิตของตนอีกด้วย
เช่นที่วัดพระธาตุศรีจองทอง จังหวัดเชียงใหม่
ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา
วัดต่างก็จะมีโครงการรักษาศีลในวันอุโบสถและนอนวัดค้างเพื่อฝึกกรรมฐาน เป็นระยะ
อุโบสถละ 2 วัน ตลอดพรรษก็จะได้จำนวนวันมิน้อยสำหรับผู้ตั้งใจจริง
1.3
ด้านการเผยแผ่ศาสนธรรม
พระสงฆ์นอกจากจะฝึกหัดอบรมตนเองเพื่อควบคุมสมดุลกายและจิตของตนแล้ว
หน้าที่หลักในฐานะพุทธบุตร คือการเผยแผ่พระศาสนา
พระบรมศาสดาฝากศาสนาไว้ที่ศาสนทายาทของพระองค์
พระสงฆ์จึงถือเป็นหน้าที่ต้องเผยแผ่ศาสนธรรม อบรมจริยธรรม ศีลธรรมเพื่อสร้างความสงบสันติ
ความสุขทั้งกายและใจแก่พหูชนตามคำสั่งพระบรมศาสดาที่ทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระพุทธศาสนาครั้งแรกเมื่อ
45
ปีก่อนพุทธศักราช
เป็นที่ยินดีที่วัดในโครงการนำร่องทัฃุกวัดมิได้ทอดธุระภารกิจการเผยแผ่ศาสนธรรม
มีโครงการอบรมต่างๆมากมาย แทบทุกเดีอน โดยเฉพาะโครงการพระธรรมจาริก
โครงการพระสงฆ์ช่วยสอนพระพุทธศาสนา หรือเป็นวิทยากรอบรมในโรงเรียน มิได้ขาด
วิทยากรได้ถูกรับเชิญไปบรรยายและอบรมอยู่เสมอ การเผแผ่ศาสนธรรม มิได้จำกัดอยู่ใน
ท้องถิ่นหรือประเทศไทย แต่บางวัดยังมีศักยภาพขยายภาระงานออกไปถึงต่างประเทศ
มีเครือข่าย สาขาของวัดเกิดขึ้นที่ต่างประเทศมากกว่า 20 ศูนย์การอบรม
วิทยากร
ได้ทำหน้าที่ทั้งการอบรม เผยแผ่โดยตรงสู่ประชาชนแล้ว
ยังได้เผยแผ่ผ่านทางสื่อสารมวลชน ทางสถานีวิทยุ
มีรายประจำเป็นของวัดและของโรงเรียนอีกด้วย
1.4
การบริหารการศึกษา/การฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน
วัดในโครงการนำร่อง
มีระบบการบริหารการศึกษาที่ชัดเจน เจ้าอาวาสมีภาวะผู้นำ มีวิสัยทัศน์
มีการแบ่งภาระงานให้ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือผู้ร่วมงาน รับผิดชอบตามความถนัด
ความสามารถ เหมาะกับทักษะ ความชำนาญของแต่ละบุคคล
มีการบริหารแบบกระจายอำนาจรับผิดชอบเป็นฝ่ายๆ เห็นได้จากแผนผังการบริหารโรงเรียนของวัดในโครงการนำร่อง
เพราะมีการสร้างตัวตายตัวแทน
วัดบางวัดจึงไม่มีปัญหาด้านความสืบเนื่องของบุคลากรด้านการศึกษา
แต่อาจจะเกิดปัญหาแก่บางวัดที่เพิ่งจะตั้งตัวใหม่ยังไม่มีการสร้างตัวตายตัวแทน
ด้านการฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน
มีน้อยวัดที่จัดโครงการเป็นประจำดุจวัดพระธาตุศรีจอมทอง
การบริหารการฝึกอบรมจะมีการกำหนดแผนการปฏิบัติ เอาไว้ชัดเจน มีโครงการอบรมระยะสั้น
ระยะกลาง ระยะยาว มีวิทยากร
มีหลักสูตรการอบรมที่เหมาะสมกับช่วงเวลาและระยะเวลาผู้จะมาฝึกอบรม
1.5 ด้านรูปแบบการจัดการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนธรรม
การจัดการศึกษาของแต่ละวัดแม้จะมีหลักสูตรกลางที่ออกมาจากส่วนกลาง
แต่ทางวัดเองก็มีเทคนิควิธีที่จะบริหารให้หลักสูตรนั้นๆเป็นที่สนในและตอบสนองความต้องการของผู้ประสงค์จะศึกษาซึ่งโดดเด่นแตกต่างกันออกไป
รูปแบบการเผยแผ่ศาสนธรรมนั้น มักจะไม่แตกต่างกัน แต่ผลสัมฤทธิ์ต่างกัน
ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะบารมีของผู้เป็นวิทยการก็ได้
แต่ทางวัดก็มีโครงการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
เช่นโครงการอบรมพระวิปัสสนาจารย์ประจำปี ๆ ละหลายรุ่นร่วมกับมหาวิทยาลัยสงฆ์
2. ผลการวิเคราะห์จากแบบสอบถาม
ผู้วิจัยได้ออกแบบสอบถามตอนที่
2 ส่วนที่เกี่ยวกับความคิดเห็นด้านการจัดการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนธรรม
กำหนดไว้ฝ่ายละ 5 ด้านและค้นพบข้อสรุปแต่ละด้าน
ของวัดพระธาตุศศรีจอมทองดังนี้
2.1 ด้านการจัดการศึกษา
2.1.1 การบริหารงานทั่วไป
โดยภาพรวมแล้วผู้ตอบแบบสอบถามของวัดพระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
มีความเห็นด้วยอย่างมากเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการศึกษาในด้านบริหารจัดการ ทั่วไป
(= 3.80) โดยเห็นด้วยมากในเรื่องที่ผู้บริหารมีการกำหนดนโยบายและเป้าหมายคุณภาพของสถานศึกษาอย่างชัดเจน (= 3.90) รองลงมาคือเห็นด้วยมากในเรื่องผู้บริหารจัดสิ่งอำนวยความสะดวก
เพื่อการปฏิบัติงานด้านศึกษาแก่ครู (= 3.86) และผู้บริหารกำกับติดตามด้วยการสอบถามการประชุมและการให้รายงานผลเป็นระบบ
(= 3.79) ตามลำดับ
2.1.1
รูปแบบการจัดการศึกษา(หลักสูตร)
โดยภาพรวมแล้วผู้ตอบแบบสอบถามของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่
มีความเห็นด้วยอย่างมากเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการศึกษาในด้านหลักสูตรและบริหารหลักสูตร
(= 3.81) โดยเห็นด้วยมากในเรื่องมีการแบ่งสายงานรับผิดชอบอย่างชัดเจน (= 4.00) รองลงมาคือเห็นด้วยมากในเรื่องมีการส่งเสริมให้ครูได้รับการศึกษาระดับที่สูงขึ้น (= 3.97) และ
ผู้บริหาร ครู มีส่วนร่วมในการวางแผนจัดการการศึกษาอย่างเป็นระบบ (= 3.93) ตามลำดับ
2.1.2
รูปแบบการจัดการศึกษา(นักเรียน)
โดยภาพรวมแล้วผู้ตอบแบบสอบถามของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่
มีความเห็นด้วยอย่างมากเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการศึกษาในด้านนักเรียน (= 3.74) โดยเห็นด้วยมากในเรื่องให้กำลังใจแก่ผู้เรียนทั้งในระหว่างการเรียนและประสบความสำเร็จในการเรียนอย่างทั่วถึง
(= 3.97) รองลงมา
คือ เห็นด้วยมากในเรื่องมีการวางแผนเพื่อแสวงหา กลุ่มนักเรียนใน เป้าหมายอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง (= 3.93) และ
มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าศึกษา อย่างชัดเจน (= 3.76) ตามลำดับ
แต่มีเพียงในเรื่องการกำกับดูแลเอาใจใส่ผู้เรียนอย่างทั่วถึง
มีความเห็นในระดับปานกลาง (= 3.45)
2.1.3
อาคารสถานที่
โดยภาพรวมแล้วผู้ตอบแบบสอบถามของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่ มีความเห็นด้วยอย่างมากเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการศึกษาในด้านอาคารสถานที่
(= 3.90) โดยเห็นด้วยมากในเรื่องมีอาคารสถานที่เพียงพอต่อการจัดการศึกษา มีการวางแผนการใช้อาคารและห้องเรียนอย่างเป็นระบบ (= 4.10) รองลงมา
คือ เห็นด้วยมากในเรื่องมี ห้องประชุม
ห้องปฏิบัติกิจกรรมที่เหมาะสมกับจำนวนผู้เข้าประชุมหรือปฏิบัติการ (= 3.93)
2.1.4
การประชาสัมพันธ์และการระดมทรัพยากร
พบว่าโดยภาพรวมแล้วผู้ตอบแบบสอบถามของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่ มีความเห็นด้วยอย่างมากเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการศึกษาในด้านการประชาสัมพันธ์และการระดมทรัพยากร (= 3.62) โดยเห็นด้วยมากในเรื่องมีการระดมทรัพยากร
ด้านบุคลากร ด้านงบประมาณอย่างสม่ำเสมอ (= 3.90) รองลงมาคือเห็นด้วยมากในเรื่องมีการแสวงหาแหล่งทุนเพื่อจัดการเรียนรู้ (= 3.83)
แต่สำหรับในเรื่องที่มีผู้รับผิดชอบการประชาสัมพันธ์และการระดมทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง
และมีการประเมินผลการประชาสัมพันธ์และการระดมทรัพยากร เพื่อการพัฒนาภารกิจของ
สถาบันมีความเห็นด้วยปานกลาง (= 3.48 และ
3.31) ตามลำดับ
2.2
ด้านการเผแผ่ศาสนธรรม
2.2.1
ด้านการบริหาร
โดยภาพรวมแล้วผู้ตอบแบบสอบถามของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่ มีความเห็นด้วยอย่างมากเกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัด/โรงเรียน ในด้านการบริหารจัดการทั่วไป
(= 3.79) โดยเห็นด้วยมากในเรื่องผู้บริหารให้กำลังใจแก่ครู/วิทยากรและ
ผู้รับการเผยแผ่ด้วยการชมเชย ยกย่อง การให้รางวัล (= 3.90) รองลงมา
คือ เห็นด้วยมากในเรื่อง
ผู้บริหารกำกับติดตามด้วยการสอบถาม
การประชุมและการให้รายงานผลการเผยแผ่อย่างเป็นระบบ
(= 3.83) และผู้บริหารมีการกำหนดนโยบายและเป้าหมาย
คุณภาพของการเผยแผ่ศาสนาธรรมอย่างชัดเจน (= 3.79)
2.2.2
ด้านบริหารหลักสูตร
โดยภาพรวมแล้วผู้ตอบแบบสอบถามของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่ มีความเห็นด้วยอย่างมากเกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัด/โรงเรียน ในด้านการด้านการหลักสูตรและการบริหารหลักสูตรเผยแผ่ (= 3.73) โดยเห็นด้วยมากในเรื่องการแบ่งภาระหน้าที่รับผิดชอบแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน (= 3.93) รองลงมา
คือ เห็นด้วยมากในเรื่องการประชุมครู/วิทยากรเพื่อการวิเคราะห์
ประเมินการบริหารหลักสูตรอย่างเผยแผ่ศาสนธรรมของวัดก่อนและหลังการทำกิจกรรม (= 3.76) และการระดม/แสวงหาครู/วิทยากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสม สำหรับการเผยแผ่อบรมมาปฏิบัติการ (ถ้าขาดแคลน) (= 3.72)
2.2.3
ด้านผู้ข้ารับการอบรม
โดยภาพรวมแล้วผู้ตอบแบบสอบถามของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่ มีความเห็นด้วยอย่างมากเกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัด/โรงเรียน ในด้าน
ผู้เข้ารับการอบรมเผยแผ่ (= 3.70) โดยเห็นด้วยมากในเรื่อง
การกำกับดูแลเอาใจใส่ผู้เข้ารับการ
ฝึกอบรมอย่างทั่วถึง (= 3.79) รองลงมา
คือ เห็นด้วยมากในเรื่องการกำหนดคุณสมบัติของผู้จะเข้ารับการฝึกอบรมเผยแผ่อย่างชัดเจน
และการให้กำลังใจแก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม
ทั้งในระหว่างการฝึกอบรมและหลังการฝึกอบรม (= 3.72) และการวางแผนเพื่อแสวงหากลุ่มผู้เข้ารับการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง (= 3.66)
2.2.4
ด้านอาคารสถานที่
โดยภาพรวมแล้วผู้ตอบแบบสอบถามของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่ มีความเห็นด้วยอย่างมากเกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัด/โรงเรียน ในด้าน
ด้านอาคารสถานที่ (= 3.98) โดยเห็นด้วยมากในเรื่อง ห้องประชุม ห้องปฏิบัติกิจกรรมที่ เหมาะสมกับจำนวนผู้เจ้าประชุมหรือปฏิบัติการ (= 4.03) รองลงมา
คือ เห็นด้วยมากในเรื่อง
ห้องปฏิบัติการที่เอื้อต่อการฝึกอบรมด้วยตนเอง (= 4.00)
แต่สำหรับในเรื่องอาคารสถานที่เพียงพอต่อการจัดการฝึกอบรมนั้น
ส่วนใหญ่เห็นด้วยในระดับปานกลาง (= 3.66)
2.2.5
ด้านประชาสัมพันธ์และการระดมทรัพยากร
โดยภาพรวมแล้วผู้ตอบแบบสอบถามของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่ มีความเห็นด้วยอย่างมากเกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัด/โรงเรียน ในด้าน
ด้านประชาสัมพันธ์และการระดมทรัพยากร (= 3.53) โดยเห็นด้วยมากในเรื่องการระดมทรัพยากรด้านบุคลากร
ด้านงบประมาณอย่างสม่ำเสมอ
การประเมินผลการประชาสัมพันธ์และการระดมทรัพยากรเพื่อการพัฒนาภารกิจของสถาบันการแสวงหาแหล่งทุนเพื่อการจัดกา
ฝึกอบรม
เท่ากัน (= 3.62) รองลงมา
คือ เห็นด้วยมากในเรื่อง ผู้รับผิดชอบการประชาสัมพันธ์และการ ระดมทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง (= 3.52)
3. ปัญหาอุสรรคและวิธีแก้ปัญหา
ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสภาพปัญหา/อุปสรรคและความสำเร็จที่มีต่อการจัดการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนธรรมนั้น
เป็นแบบสอบถามแบบปลายเปิด
โดยผู้ตอบแบบสอบถามได้ให้ข้อคิดเห็นสภาพ/อุปสรรคและความสำเร็จที่มีต่อการศึกษา และการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
ดังรายละเอียดดังนี้
ด้านการจัดการศึกษา
สภาพปัญหาและอุปสรรคที่ประสบในการบริหารการศึกษา
การบริหารยังไม่เป็นระบบ
ครูใหญ่ไม่สามารถรับรู้ปัญหาต่างๆของนักศึกษา
จึงไม่อาจแก้ปัญหาได้ตรงจุด
ความรู้พื้นฐานของนักศึกษาไม่ดีพอและไม่เท่ากัน
ต้องเสียเวลาในการปรับพื้นฐาน
สภาพปัญหาและอุปสรรคที่ประสบในด้านหลักสูตรและการสอน
ใช้หลักสูตรจากส่วนกลาง
ปรับเปลี่ยนไม่ได้
หลักสูตรเน้นการท่องจำมากกว่าการวิเคราะห์
ขาดสื่อ-อุปกรณ์ในการศึกษา ค้นคว้า
สภาพปัญหาและอุปสรรคที่ประสบในด้านอาคารสถานที่
อาคาร
สถานที่ไม่เพียงพอ ห้องเรียนไม่เพียงพอ
สิ่งแวดล้อมไม่เอื้อต่อบรรยากาศการเรียนรู้
เสียสุขลักษณะ
ขาดการรักษาความสะอาดของบริเวณอาคาร
สภาพปัญหาและอุปสรรคที่ประสบในด้านการประชาสัมพันธ์และการระดมทรัพยากร
การประชาสัมพันธ์ยังไม่กระจายและขาดความต่อเนื่อง
ขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านการประชาสัมพันธ์
ผู้บริหารขาดความสนใจ
สภาพปัญหาและอุปสรรคที่ประสบในด้านการประเมินผลการจัดการศึกษา
การประเมินในภาพรวมไม่สามารถทราบปัญหาที่แท้
ครูสอนขาดการวางแผนการสอนเป็นระบบ
และขาดความรู้ด้านการประเมิน
ผู้เรียนขาดความกระตือรือร้นในการศึกษา
ขาดบุคลากรที่รับผิดชอบงานประเมินผลโดยเฉพาะ
ทดสอบบ่อยเกินไป
สาเหตุที่ทำให้วัดประสบผลสำเร็จ
ได้รับการสนับสนุนจากหลาย
ๆ ฝ่าย อาทิเช่น ฝ่ายราชการ เอกชน
และชุมชน
ผู้ปกครอง
เจ้าอาวาสเป็นบุคคลที่มีปฏิปทาน่าเคารพสามารถปลูกศรัทธาได้ดี
บุคลากรต่างรู้หน้าที่ของตัวตามที่มอบหมาย
ทุกคนเคารพและปฏิบัติตามกฎระเบียบของวัดที่ร่วมกันสร้างขึ้น
จริยาวัตรของบุคลากรในวัดประพฤติตัวเหมาะสมน่าเคารพ
การเอาใจใส่และกำกับควบคุมอย่างจริงจังของเจ้าอาวาส
ข้อเสนอแนะอื่น
อยากให้วางระบบการบริหารที่ชัดเจนและตรวจสอบได้
ควรมีผู้รับผิดชอบร่วมกันแต่ละด้านมากกว่าปัจจุบัน
ควรมีงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมจากทางราชการบ้าง
ด้านการเผยแผ่ศาสนธรรม
สภาพปัญหาและอุปสรรคที่ประสบในการบริหารเผยแผ่อบรม
ครู
วิทยากรที่มีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศมีน้อย
ขาดการบริหารและการจัดการที่ดี
สภาพปัญหาและอุปสรรคที่ประสบในด้านหลักสูตรและการฝึกอบรม
ยังขาดความเข้าใจในปรัชญาของหลักสูตรอบรม
การทำหลักสูตรฝึกอบรมยังไม่แยกระหว่างชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มารับการอบรม
ขาดสื่ออุปกรณ์ด้านการฝึกอบรม
วิทยากรยังไม่แตกฉานด้านวิปัสสนา
(สำหรับผู้สามารถทางด้านภาษา)
ผู้เรียนใหม่ไม่แตกฉานในสภาวะธรรมที่ละเอียด
สภาพปัญหาและอุปสรรคที่ประสบในด้านอาคารสถานที่
บรรยากาศสิ่งแวดล้อมในอาคารสถานที่ไม่สัปปายะเพียงพอ
ไม่มีอาคารที่ใช้เป็นศูนย์รวมข้อมูล
บริเวณคับแคบ
เดินทางลำบาก และเป็นแหล่งท่องเที่ยว
สภาพปัญหาและอุปสรรคที่ประสบในด้านการประชาสัมพันธ์และการระดมทรัพยากร
การบริหารไม่สามารถตรวจสอบได้
การรวมกลุ่มของชุมชน
ยังไม่ค่อยรวมตัวกัน เนื่องจากขาดการประชาสัมพันธ์
ไม่มีสื่อในการจัดทำ สำหรับประชาสัมพันธ์
บุคลากรบอกปากต่อปาก
สภาพปัญหาและอุปสรรคที่ประสบในด้านการประเมินผลการฝึกอบรม
การปฏิบัติกรรมฐานต้องมีการสอบอารมณ์ประจำอย่างสม่ำเสมอ
ครูไม่เพียงพอ
ขาดการติดตามผลของการปฏิบัติกรรมฐานเมื่อจบหลักสูตร
ไม่มีเกณฑ์มาตรฐานสำหรับตรวจวัดความก้าวหน้าของการปฏิบัติธรรมเป็นตาราง
สาเหตุที่ทำให้วัดประสบผลสำเร็จ
ผู้บริหารแบ่งหน้าที่การรับผิดชอบเป็นระบบ
ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือและรับผิดชอบงานเป็นอย่างดี
วิทยากรเป็นผู้รู้จริงปฏิบัติชอบจริง
ได้รับความร่วมมือจากประชาชน
และพระวิทยากร
เจ้าอาวาสให้ความเมตตาเอาใจใสนักปฏิบัติอย่างเสมอภาค
ข้อเสนอแนะอื่น
1. ควรเพิ่มบุคลากรที่มีคุณภาพมาร่วมงานให้มาก
2.
ครูควรรับฟังความคิดเห็นของผู้เรียนและปฏิบัติ
3.
ควรวางแผนการบริหารให้เป็นระบบมากกว่านี้
4.
รัฐบาลควรให้การสนับสนุนด้านงบประมาณบ้าง เพื่อแบ่งเบาภาระทางวัดที่ต้องหารายได้เอง
5 ช่วยหาวิถีทางในอันสะดวกต่อการสื่อสารด้านภาษา
6. ทุนอุดหนุนด้านการส่งเสริมวิปัสสนาภาคภาษาอังกฤษ
7. หาแนวทางเพื่อให้พระวิปัสสนาจารย์มีโอกาสได้ไปเผยแผ่พระศาสนาต่างประเทศ
โดยรัฐบาลเป็นภาระธุระ
บรรณานุกรม
กรมการศาสนา. (2535). พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505
แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา.
กำจัด จันทวงษ์โส. (2536). การศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของผู้เรียน ตามหลักสูตรระดับชั้นสูงของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์
เขต กรุงเทพฯมหานคร. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ประสานมิตร.
คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, สำนักงาน. (2542). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542.
กรุงเทพฯ : บริษัทพริกหวานกร๊าฟฟิค
จำกัด.
คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, สำนักงาน. (2545) รายงานการเสวนาทางวิชาการเรื่อง
การศึกษาของ คณะสงฆ์กับการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ:
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, สำนักนายกรัฐมนตรี.
คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, สำนักงาน.(2544). รายงานผลการเสวนา
บทบาทที่พึงประสงค์ของวัด และพระสงฆ์กับการพัฒนาสังคมไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา แห่งชาติ,
สำนักนายกรัฐมนตรี.
คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, สำนักงาน. (2544). รายงานอภิปรายเรื่อง
พุทธธรรมนำการศึกษาได้ อย่างไร. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ,
สำนักนายกรัฐมนตรี.
คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, สำนักงาน. (2542). สาระสำคัญของภารกิจแต่ละด้าน.(เอกสาร
อัดสำเนา) กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ,
สำนักนายกรัฐมนตรี.
เจียมพงษ์ วงศ์ธรรม. (2519).
บทบาทของพระสงฆ์ในการพัฒนาสังคม.
วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตร มหาบัญฑิต
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ชำเลือง วุฒิจันทร์.(2526).
การพัฒนากิจการคณะสงฆ์และการพระศาสนาเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ.
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา.
ทวี บุญมี. (2535). การจัดการศึกษาด้านพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์
อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัญฑิต
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
นิตย์ สัมมาพันธ์. (2526).
กลวิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม : การบริหารเชิงพุทธ. กรุงเทพฯ
:
โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮาส์.
เนตรนริศ นาควัชระ. (2539).
ความสัมพันธ์ของวัดกับชุมชน.
เนื่องในงานสัมมนาเรื่อง บ้านและวัด : พื้นฐาน สำคัญทางสังคมคมไทย. 15-16 กันยายน 2529, สถาบันไทยคดีศึกษา จุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
บุญศรี พานะจิตต์, ศรีนวล ลัภกิตโร. (2545). รายงานการวิจัยเรื่อง
ความสำเร็จในการปฏิบัติภารกิจ
ของวัด : ศึกษาเฉพาะกรณีวัดชลประทานรังสฤษฏ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, สำนักนายกรัฐมนตรี.
ประชุม โพธิกุล. (2536). ยุทธศาสตร์แห่งผู้นำ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สายใจ.
ประยุทธ์ ปยุตฺโต. (2513). บันทึกการสัมมนาพุทธศาสนากับสังคมไทยปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : (ม.ป.ท.).
ประวิทย์ ตันตลานุกุล. (2542). ตำนานวัดพระธาตุหริภุญชัยลำพูน. เชียงใหม่ : หจก.เชียงใหม่โรงพิมพ์ แสงศิลป์.
ประเวศ วะสี. (2540). ปฏิรูปการศึกษาไทย. กรุงเทพฯ :
สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน.
ประเวศ วะสี. (2536). พุทธธรรมกับสังคม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน.
พนม พงษ์ไพบูลย์. (2536). จารึกไว้ในพระศาสนาจารึกไว้ในการศึกษา. กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์การศาสนา.
พระจรินทร์ ยังสังข์. (2542).
บทบาทพระสงฆ์ไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคม. วิทยานิพนธ์
ศึกษาศาสตรมหาบัญฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
พระธรรมปิฎก(ประยุทธ์ ปยุตฺโต). (2537). สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมล คีมทอง.
พระราชพรหมาจารย์(ทอง สิริมงฺคโล).(2544). คู่มือปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในแนวสติปัฏฐาน
4. เชียงใหม่ : (ม.ป.ท.).
พระราชวรมุนี(ประยุทธ์ ปยุตฺโต). (2539). การศึกษาของสงฆ์ปัญหาที่รอทางออก. กรุงเทพฯ : มูลนิธิ โกมล คีมทอง.
มนัส ภาคภูมิ. (2540). รายงานการวิจัยเรื่องปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของเจ้าอาวาสในการพัฒนา
วัดให้เป็นศุนย์กลางชุมชน.
กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์การศาสนา.
มาณี ไชยธีรานุวัฒนศิริและคณะ. (2541). รายงานการวิจัยเรื่องบทบาทพระสงฆ์ในยุคโลกาภิวัตน์
: กรณีศึกษาในภาคเหนือและภาคใต้. คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
นครปฐม : (เอกสารอัดสำเนา).
มาณี ไชยธีรานุวัฒนศิริและคณะ. (2540). รายงานการวิจัยเรื่องปัจจัยที่ส่งผลสำเร็จของพระนักพัฒนา.
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา.
รัชนีกร เศรษโฐ. (2528). สังคมวิทยาชนบท. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.
รอบ รักษาพราหมณ์. (2535).
บทบาทพระสงฆ์ในการจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบโรงเรียนใน
จังหวัดนครศรีธรรมราช. (งานวิจัย) สงขลา :
กรมการศึกษานอกโรงเรียน.
ลิ้นจี่ หะวานนท์. (2526).
การศึกษากับสังคมไทยก่อนปฏิรูปการศึกษา : วิเคราะห์จากศิลาจารึกหลัก
ที่ 1 และกฎหมายตรา 3 ดวง.
กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ลำเดือน นามเทพ, วิฑูรย์ วังตาล. (2545).
รายงานการวิจัยเรื่อง ความสำเร็จในการปฏิบัติภารกิจของวัด
: ศึกษาเฉพาะกรณีวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.
วัดพระธาตุศรีจอมทอง.(2543). ตำนานพระทักขิณโมลีธาตุ.
เชียงใหม่ : (มปท).
วัดพระธาตุศรีจอมทอง.(2545). สรุปผลงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ด้านวิปัสสนาธุระ. เชียงใหม่ : (เอกสารอัดสำเนา).
วัดพระธาตุศรีจอมทอง.(2545). วิธีการสอบอารมณ์กรรมฐาน.
เชียงใหม่ : (เอกสารอัดสำเนา).
วาสนา ยิ้มย่อง(2539).
การเปลี่ยนแปลงบทบาทของพระในชุมชน.
วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตร
มหาบัญฑิต
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ศุภกุล เกียรติสุนทร.2527. กิจกรรมของวัดซึ่งเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชน. กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์การศาสนา.
สมคิด บางโม. (2539). หลักการจัดการ. กรุงเทพฯ : บริษัทวิทยพัฒน์ จำกัด.
สมคิด เพ็งอุดม. (2535).
การศึกษาบทบาทของพระสงฆ์ที่มีต่อการพัฒนาชุมชนตามทรรศนะของ พระสงฆ์และเจ้าหน้าที่สี่กระทรวงหลักระดับตำบล
ในจังหวัดสมุทรสาคร. วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ประสานมิตร.
สมชาย เหล็กเพชร. (2538). วิเคราะห์งานของพระสงฆ์ในฐานะที่เป็นผู้นำพัฒนาชุมชน. วิทยานิพนธ์ ศึกษาศาสตรมหาบัญฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สุมน อมรวิวัฒน์. (2542).
การพัฒนาการเรียนรู้ตามแนวพุทธศาสตร์ : ทักษะกระบวนการเผชิญ สถานการณ์. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
กรุงเทพฯ : (ม.ป.ท.).
สุเมธ การศรีทอง, ประชุมวิบูลย์ศิลป์, ทิวา ยานไกล. (2545).
รายงานการวิจัยเรื่อง
ความสำเร็จในการ ปฏิบัติภารกิจของวัด :
ศึกษาเฉพาะกรณีวัดไผ่ล้อม
อำเภอเมือง จังหวัดตราด.
กรุงเทพฯ :สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
สำนักนายกรัฐมนตรี.
อานันท์ ปันยารชุน. (2542).
“ผู้นำ” คือผู้ที่คนอื่นอยากเดินตาม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน
อำนาจ บัวศิริ. (2528). คุณสมบัติและบทบาทของเจ้าอาวาสในพระพุทธศาสนาที่เอื้อต่อการพัฒนา
ชนบทยากจนในภาคเหนือ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา.
โครงและแผนการวิจัย
เรื่อง
รูปแบบการจัดการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนธรรม
ของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่
********
1.
ความเป็นมาของการวิจัย
ถ้าพิจารณาถึงความหมายของ “การศึกษา” ในแนวกว้าง จะเห็นว่าการเผยแผ่ศาสนธรรมโดยสถาบันทางศาสนา ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการให้การศึกษาแก่ประชาชนและเยาวชนทั่วไป
ซึ่งอาจจะเน้นเฉพาะด้านจริยศึกษา
หรืออาจจะจัดการศึกษาสายสามัญควบคู่กันไปด้วยก็ได้
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติจึงมีโครงการสนับสนุนการวิจัยเฉพาะกรณีวัดที่สมควรเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติภารกิจด้านการจัดการศึกษาและเผยแผ่ศาสนธรรม
โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งฝ่ายสงฆ์และฆราวาส เป็นผู้คัดเลือกวัดใน 4
ภูมิภาค ของประเทศ จำนวน 30 แห่ง
เป็นกรณีศึกษา
วัดพระธาตุศรีจอมทอง
ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่ ในทางประวัติศาสตร์ ตามตำนานพระทักขิณโมลีธาตุ เป็นวัดเก่าแก่สร้างมานาน นับแต่ ปีพ.ศ. 1995 โดยศรัทธา
นายสร้อย นางเม็ง มีศาสนสถานที่สำคัญคือ พระบรมธาตุที่บรรลุพระทักขิณโมลีธาตุ
ของพระพุทธเจ้า เป็นที่สักการะของพุทธศาสนิกชนและเจริญรุ่งเรืองตามยุคสมัย เป็นวัดแห่งหนึ่งในภาคเหนือที่ได้รับการคัดเลือกสำหรับการวิจัยในโครงการนี้
เพราะเป็นวัดที่มีชื่อเสียงโดดเด่นใน ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
โดยเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานทั้งในและต่างประเทศ นับแต่เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันได้ไปรับตำแหน่งในปี
พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา นอกจากนี้
เพื่อการสืบอายุพระพุทธศาสนา วัดพระธาตุศรีจอมทองยังได้เป็นเจ้าภาพในการรวบรวมและตีพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีและภาษาล้านนาขึ้นมา
ในปี พ.ศ. 2540 นับเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่โดดเด่นและสำคัญอย่างยิ่ง
ทั้งได้มีบทบาทในด้านอื่นๆที่สถาบันศาสนาพึงให้บริการแก่สังคม ทั้งนี้ได้การดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องและประสบผลสำเร็จด้วยดีเสมอมา
สมควรเป็นทิฏฐานุคติที่วัดอื่นๆควรศึกษาและดำเนินตามแบบที่ดี
ในบทบาทดังที่กล่าวแล้วเพื่อความสำเร็จของตน
2. วัตถุประสงค์ของการวิจัย
2.1
เพื่อศึกษาบริบททั่วไปของ วัดพระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
2.2
เพื่อศึกษาสภาพการจัดการศึกษา/การฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน
ของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
2.3
เพื่อศึกษาสภาพการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
2.4 เพื่อศึกษาสภาพการบริหารการศึกษา/การฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐานของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
2.5 เพื่อนำเสนอแผนภูมิและรูปแบบการจัดการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนธรรม
ของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
2.6 เพื่อส่งเสริมให้วัดพระธาตุศรีจอมทอง
ได้จัดทำโครงการเพื่อสนับสนุนการศึกษา/การฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน และเผยแผ่ศาสนธรรมอย่างน้อย
1 โครงการ
3
ขอบเขตของการวิจัย
3.1 ขอบเขตด้านเนื้อหา
3.1.1
บริบทของวัดพระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยครอบคลุมถึงสภาพทั่วไปทางภูมิศาสตร์
สภาพทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชน ประวัติวัดและเจ้าอาวาส
และความเป็นอยู่ของพระภิกษุสามเณรในวัด
3.1.2
สภาพการจัดการศึกษา/การฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน
ของวัดพระธาตุศรีจอมทอง ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2544 ในด้านหลักสูตรปริยัติธรรม/หลักสูตรฝึกอบรมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
และด้านการบริหารหลักสูตรและการสั่งสอนอบรม
3.1.3
สภาพการเผยแผ่ศาสนธรรมของวัดพระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ระหว่างปี
พ.ศ. 2542-2544
3.1.4
สภาพการบริหารการศึกษา/การฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐานของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยการวางแผน การจัดองค์กร การจัดและพัฒนาบุคลากร
การควบคุมกำกับ และติดตามประเมินผล และภาวะผู้นำของเจ้าอาวาส
3.1.5
การส่งเสริมให้วัดพระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
จัดทำโครงการเพื่อสนับสนุนการศึกษาอบรมและเผยแผ่ศาสนธรรมในช่วงดำเนินการวิจัย
3.2
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ประชากร
ได้แก่เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และพระภิกษุสามเณรทุกรูปในวัดพระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่พุทธศาสนิกชนในชุมชนที่ตั้งของวัด
และครูทั้งที่เป็นพระภิกษุและฆราวาสที่ปฏิบัติการสอน/ฝึกอบรมในวัด
กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ เจ้าอาวาส / รองเจ้าอาวาส พระภิกษุ / สามเณร รวม 20 รูป พุทธศาสนิกชน 20 คน พระภิกษุและฆราวาสที่เป็นครูฝึกอบรมในวัด 10 คน รวมทั้งสิ้น 50 รูป/คน
3.3
ตัวแปรที่จะศึกษาได้แก่
3.3.1
บริบทของวัด
3.3.2
การจัดการศึกษา/การฝึกอบรมภาคปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
3.3.3
การเผยแผ่ศาสนธรรม
3.3.4
การบริหารการศึกษา/การฝึกอบรมของวัด
3.3.5
การส่งเสริมโครงการเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาการฝึกอบรม
และเผยแผ่ศาสนธรรม
4
ระเบียบวิธีวิจัย
ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ
ผสมผสานกับการวิจัยและพัฒนาแบบมีส่วนร่วม ตามขั้นตอนการดำเนินงานดังนี้
4.1
นักวิจัยเดินทางไปที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
เพื่อชี้แจงกระบวนการดำเนินงานวิจัยแก่เจ้าอาวาส
และผู้ช่วยนักวิจัยซึ่งเป็นพระภิกษุ หรือฆราวาสที่เจ้าอาวาสมอบหมายในวัด 1 รูป/คน และปรึกษาหารือเกี่ยวกับแผนการและกระบวนการดำเนินงานร่วมกัน
4.2
นักวิจัยสัมภาษณ์เจ้าอาวาส/รองเจ้าอาวาส
และกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ตามที่ได้วางแผนไปก่อนแล้ว และขอข้อมูลเบื้องต้นของวัด
ตามขอบเขตของเนื้อหาที่ได้กำหนดไว้
4.3
นักวิจัยสร้างเครื่องมือวิจัย ได้แก่
แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต และแบบสอบถามชนิดตรวจสอบรายการ ประมาณค่า 5 ระดับ
และแบบสอบถามปลายเปิด
4.4
นักวิจัยออกเก็บข้อมูลด้วยตนเอง และฝึกให้ผู้ช่วยนักวิจัยช่วยดำเนินการเก็บข้อมูลอีกส่วนหนึ่ง
4.5
นักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีวิเคราะห์เนื้อหา
(Content
Analysis) และสถิติเบื้องต้น ได้แก่ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard
Deviation)
5
แผนการวิจัยและพัฒนา
ดำเนินการระหว่าง พฤษภาคม -
กันยายน 2545
ตามขั้นตอนดังนี้
กิจกรรม
|
พ.ค. |
มิ.ย. |
ก.ค. |
ส.ค. |
ก.ย. |
1. สร้างเครื่องมือวิจัย |
|
|
|
|
|
2. พบและปรึกษาหารือกับเจ้าอาวาส/รองเจ้าอาวาส |
|
|
|
|
|
3. ฝึกผู้ช่วยนักวิจัยในการเก็บข้อมูล |
|
|
|
|
|
4. ให้คำปรึกษาแก่วัดเกี่ยวกับโครงการฯ |
|
|
|
|
|
5. เก็บข้อมูลภาคสนาม |
|
|
|
|
|
6. วิเคราะห์ข้อมูล |
|
|
|
|
|
7. เขียนรายงานผลการวิจัย |
|
|
|
|
|
8. นำเสนอผลงานวิจัย |
|
|
|
|
|
9. ปรับปรุงรายงานผลการวิจัย |
|
|
|
|
|
10. ส่งรายงานผลการวิจัย
ฉบับสมบูรณ์ |
|
|
|
|
|
6
ประมาณการค่าใช้จ่าย
6.1
ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเก็บข้อมูลของนักวิจัย
จำนวน 3 ครั้ง ๆ ละ 5,000
บาท เป็นเงิน 15,000 บาท
6.2 ค่าตอบแทนผู้ช่วยนักวิจัย 10,000 บาท
6.3 ค่าอุดหนุนโครงการของวัด 10,000 บาท
6.4 ค่าจ้างวิเคราะห์ข้อมูลและจัดพิมพ์รายงานการวิจัย 10,000
บาท
6.5 ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 5,000 บาท
รวมทั้งสิ้น 50,000 บาท
7
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
7.1
วัดพระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ จะสามารถจัดการเรียนการสอน/การฝึกอบรมภาคปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานและเผยแผ่ศาสนธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
7.2
จะได้รูปแบบที่ดีในการจัดการเรียนการสอน/การฝึกอบรมและการจัดกิจกรรมเผยแผ่ศาสนธรรม
ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบอย่างที่ปฏิบัติได้สำหรับวัดอื่น ๆ
8. นักวิจัยและผู้ช่วยนักวิจัย
8.1
นักวิจัย : อาจารย์ ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
8.2
ผู้ช่วยนักวิจัย :
8.2.1
พระราชพรหมาจารย์(ทอง สิริมงคโล) เจ้าอาวาส
8.2.2
บุคคลผู้ที่เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่มอบหมาย
(ลงชื่อ)……………………………..ผู้เสนอโครงการ / นักวิจัย
(อาจารย์ ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์)
20 พฤษภาคม 2545
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น