แจ้งข่าวนักศึกษา012173

วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2562

พม่า เมืองพระเมืองพุทธ ตอนที่ 5 (มัณฑะเลย์ สถานที่ทำพุทธสังคายนาครั้งที่ 5 และจารึกพระไตรปิฎกฉบับหินอ่อน 729 แผ่น)


          
          2.2 พระพุทธศาสนาในอาณาจักรมัณฑะเลย์ 1907
                หากจะเล่าความทั้งหมดนับแต่พระพุทธศาสนาเถรวาทแบบพุกามมาจนถึง สมัยอาณาจักรมัณฑะเลย์ เห็นจะเกินหน้าหนังสือ จึงขอตัดตอนเฉพาะที่สำคัญ  เมื่อนึกถึงเมืองสำคัญของอาณาจักรพม่านับแต่โบราณมา จะได้ยินชื่อ สุธรรมวดี(มอญ) ศรีเกษตร(พยู) หงสาวดี/พะโค (มอญ) ตะโก้ง(ย้างกุ้ง) เมาะตะมะ เกตุมวดี  แปร  พุกาม(ถึง พ.ศ.1832)
ถัดมาจะได้ยินชื่อ อังวะ(บาลีเรียกว่า เมืองรัตนปุระ), ตองอู(พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้, พระเจ้าบุเรงนอง พม่าเรียกว่า บายินน็อง (Bayinnaung Kyawhtin Nawrahta) (พ.ศ. 20942124 ผู้มาพิชิตอยุทธยา เสียกรุงครั้งที่ 1) ก่อนสิ้นยุคตองอู มีพระเจ้ามังระ(ครองราชย์ 2306-2319)  ที่ส่ง เนเมียวสีหบดี เข้ามากวาดต้อนผู้คนและกำลังพลจากหัวเมืองทางเหนือของไทยก่อน ในปี พ.ศ. 2307 และได้ส่งทัพจากทางใต้ คือ มังมหานรธา เข้ามาเสริมช่วยอีกทัพหนึ่ง ทั้ง 2 ทัพได้ล้อมกรุงศรีอยุธยานานถึง 1 ปี 2 เดือน แม้ถึงฤดูน้ำหลากก็ไม่ยกทัพกลับ สามารถเข้าตีพระนครได้เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 ตรงกับวันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5  ปีกุน)
จากอังวะ มาสู่ อมรปุระ ในคัมภีร์สาสนวังสะ กล่าวว่า ยักษ์สร้างนครอมรปุระ  ในปี พ.ศ. 2325 ที่จริง “ยักษ์” ก็คือ พวกยะไข่ (Rakhine) หรือ ชาวอาระกัน อยู่ทางทิศตะวันตกของพม่า  พระเจ้าประดุง คัมภีร์ทางศาสนาเรียกว่า พระเจ้าสิริปวร หรือ ปดุงเมง (ครองราชย์ พ.ศ.2325-2362) เกี่ยวกับประเทศไทย ก่อให้เกิดสงคราม 9 ทัพ และศึกท่าดินแดง สมัย รัชกาลที่ 1) และ นครมัณฑะเลย์(สร้างในสมัยพระเจ้ามินดง (King Mindon) ภาษาศาสนาเรียกว่า พระธรรมิกราช  (ครองราชย์ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2396( ค.ศ. 1853) – 1 ตุลาคม 2421 (ค.ศ. 1878) ทรงย้ายเมืองหลวงจาก อมรปุระ มาตั้งที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ อิรวดี  เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2400 (1858) เมื่อเสียเอกราชแก่อังกฤษในสมัยพระเจ้า สีป้อ พ.ศ. 2429 เมืองหลวงย้ายไปที่ ย่างกุ้ง หรือ (Rangoon) ท้ายสุด หลังจากรับเอกราชแล้ว  ทางรัฐบาลทหารพม่า ก็ย้ายเมืองหลวงไปที่ เนปยีดอว์ สร้าง 2545 เสร็จ 2549
นครมัณฑะเลย์ (เมืองหลวงสุดท้ายของพม่า) สร้างเมื่อ พ.ศ.2400(1859) ล่มสลาย เมื่อ พ.ศ. 2429(1885)
การย้ายเมืองหลวงของแต่ละประเทศ ย่อมมีหลากหลายสาเหตุ เช่น จากภัยธรรมชาติ จากภัยสงคราม จากภัยเศรษฐกิจ แต่ส่วนใหญ่ในอดีต การย้ายเมืองหลวงเกิดการรุกรานของปัจจามิตร และต้องการกำแพงธรรมชาติป้องกันศัตรู เช่น อยุธยา มีแม่น้ำล้อมรอบเป็นกำแพงธรรมชาติ ในฤดูน้ำหลาก น้ำจะท่วมพื้นที่โดยรอบเป็นเวลาหลายเดือน กรุงเทพฯ ย้ายมาจากอีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา มาตั้งทางฝั่งซ้ายทิศตะวันออก และมีพื้นที่จากเหนือ ตะวันตก และตะวันออก โอบล้อมโดยแม่น้ำเจ้าพระยา ง่ายต่อการป้องกันข้าศึกษา ประเทศจีนสมัยโบราณ สร้างกำแพงเมืองจีน กั้นแดนตะวันตกป้องกันการรุกราน จากพวกตาด และมงโกล มีความยาวถึง 5,500 ไมล์  หรือ 8,850 กิโลเมตร 
หันมาดูที่พม่า  เมื่อถูกรุกรานโดยชนเผ่าโดยรอบ เช่น พวกยะไข่ พวกมอญ พวกไต  ก็ย้ายจากพุกาม มา อังวะ จากอังวะ มาอมรปุระ  ถึงรัชสมัยของพระเจ้ามินดง เพราะหนีภัยการล่าอาณานิคมของจรรกวรรดินิยมอังกฤษ ก็ย้ายจากอมรปุระ มาสร้างใหม่ที่ “มัณฑะเลย์” ในปีพ.ศ. 2400  ขณะที่อังกฤษยึดเอาเมืองย่างกุ้งเป็นศูนย์บัญชาการปกครองอาณานิคม  และเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมานี้ เมื่อรัฐบาลทหารพม่าปกครอง ก็ย้ายจากนครย่างกุ้งมาที่ เนปยีดอว์ (2549) ด้วยเห็นว่า ชัยภูมิเหมาะ ป้องกันตนเองได้ง่าย
ชื่อ มัณฑะเลย์ ได้ นิมิตนาม มาจาก ภูเขาชื่อ “มัณตละ” เพราะตั้งใกล้เชิงภูเขามัณตละ จึงเรียกว่า มัณฑะเลย์ ในภาษาบาลี เรียกว่า “รตนาปุณณะ”  เพราะเป็นแหล่งกำเนิดของรัตนชาติต่างๆ(the ‘City of Gems) เป็นศูนย์กลางตลาดการค้าขายของเหล่าพานิชชาวต่างประเทศทางตอนกลางของประเทศ ตั้งอยู่ติดแม่น้ำ อิระวดี เป็นเมืองที่มีความเจริญระดับที่สอง ของพม่า ดังความใน สาสนวํส ว่า
“เมื่อต้นปีมาถึงแล้ว(พ.ศ.2400) ครั้งนั้น พระราชาทรงสร้างนครขึ้นแห่งหนึ่งใกล้ภูเขามัณตละ และใกล้าแม่น้ำเอรวิดี นครนั้น ประกอบด้วยลักษณะภูมิประเทศที่ดี มีชื่อว่า รตตนาปุณณะ น่ารื่นยมย์ยิ่งนัก งดงามประนึ่งพระเจ้ามันธาตุสร้างนครราชคฤห์ฉะนั้น”[1]         
นครมัณฑะเลย์ใหม่นี้ มีกษัตริย์ปกครองเพียง 2 พระองค์  คือ พระเจ้ามินดง พ.ศ.2400-2422  และพระเจ้าสีป้อ(Thibo บางคนอ่านว่า ธีบอ) พระราชโอรส พ.ศ. 2422-2429) ก็พ่ายแพ้แก่อำนาจจักวรรดินิยมอังกฤษ  เสียเอกราช กลายเป็นประเทศอาณานิคม ตกเป็นเมืองขึ้นของของอังกฤษ ในสมัยรัชการที่ 5 กรุงรัตนโกสินทร์ของไทย
พระเจ้ามินดง ทรงอุปถัมภ์ศาสนา ให้จารึกพระไตรปิฎก (ลงแผ่นทองคำ ทองแดงและใบลาน เป็นต้นฉบับ ก่อนลอกลงจารึกในแผ่นหินอ่อน) ให้พระสงฆ์และพลเมืองท่องจำพระไตรปิฎกว่าปากเปล่าได้ 
พระเจ้ามินดง เป็นมหากษัตริย์ผู้ฝักใฝ่การกุศล และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง จนได้นามว่า พระมหาธรรมราชา  ในสาสนวํส กล่าวถึงพระราชกรณียกิจสำคัญของพระองค์ก็คือ พระองค์ประสงค์จะให้พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าตั้งอยู่ตลอดกาล จึงได้อาราธนาให้พระมหาเถระผู้เชี่ยวชาญในปริยัติช่วยกันสะสางให้บริสุทธิ์  ทรงประทานเงินค่าจ้างแก้คนรับจ้างจารหนังสือ ทรงพิจารณาวางหลักเกณฑ์พยัญชนะ อักขระให้ถูกตามฐานและกรณ์(ที่เกิดเสียง) และ สิถิล ธนิต โฆสะ อโฆสะ การเปล่งเสียงเบา หนัก ก้อง ไม่ก้อง)อย่างละเอียด แม้กระทั้งการจัดวรรคตอนของคำไม่ให้มีการผิดพลาด โปรดให้คนเขียนเข้าไปพระราชวัง ให้เขียนไตรปิฎกลงในแผ่นทองคำ แผ่นทองแดง  และในใบลาน
พระองค์ทรงคัดเลือกพระภิกษุที่ความรู้ให้ท่องวินัยเป็นแผนกๆ ให้ว่าปากเปล่าได้ตามกำลังสติปัญญา พระองค์โปรดให้ฝ่ายใน และหมู่อำมาตย์ ราชเสวก และพลเมืองให้ท่องสุตตันตปิฎก และอภิธรรมปิฎก โดยแบ่งออกเป็นแผนก ๆ ให้ท่องจำจนว่าปากเปล่าได้ ส่วนพระองค์ทรงท่องหลายพระสูตรเช่น อนัตตลักขณสูตรทุกวัน
ญาติโยมมีบิดามารดาเป็นต้น ของพระสงฆ์ที่ทรงความรู้มีความเชี่ยวชาญในปริยัติ ให้ยกเว้นไม้ต้องถูกเกณฑ์ราชการ ไม่ต้องเสียภาษีอากร ทรงอุปถัมภ์เป็นเจ้าภาพให้กุลบุตรบรรพชา อุปสมบท วันละ 1,000 รูป ส่วนพระองค์เอง เมื่อว่างจากพระราชกรณียกิจ ก็จะปฏิบัติวิปัสสนาอยู่เป็นนิตย์[2]
นี่คือความมั่นคงของพระศาสนา ที่นำโดยผู้ปกครองที่ “ทำให้ดู อยู่ให้เห็น”      ดังที่ท่านปัญญาสามี ผู้รจนาสาสนวํส กล่าวสรุปว่า “ศาสนาจะตั้งมั่นอยู่ได้ ก็เพราะอาศัยพระราชาผู้ทรงตั้งอยู่ในธรรม ทรงอุปการะศาสนา ประพฤติธรรม นับถือธรรม อนึ่ง เมื่อพระราชาตั้งอยู่ในธรรมแล้ว ราษฎรพลเมืองที่อาศัยพระราชา ก็พลอยอุปการศาสนา ประพฤติธรรม นับถือธรรมไปตามพระราชา ...ถ้าพระราชาประกอบอยู่ในธรรม ราษฎรพลเมืองทั้งปวง ย่อมอยู่เป็นสุข”[3]
          นครมัณฑะเลย์ จึงเป็นนครแห่งความรุ่งเรืองทางศาสนา พระสงฆ์ และฆราวาส มีความสามารถทรงจำเนื้อหาพระไตรปิฎกด้วยปากเปล่าตามกำลังแห่งสติปัญญาของตน ด้วยการอุปถัมภ์ของพระเจ้ามินดง ธรรมิกราชาพระองค์นี้ ต่อไปนี้ จะพาไปดูว่า ที่นครมัณฑะเลย์ มีอะไรที่เป็นมรดกตกมาถึงอนุชนรุ่นหลังบ้าง ที่ยังคงมนต์ขลัง สะท้อนออกมาในรูปแบบแห่งวิถีชีวิต หรือ ไลฟ์สไตล์ของชาวพุทธพม่าในยุคปัจจุบัน  หากมองอะไรผิดไปบ้าง ผู้เรียบเรียงเห็นจะต้องกราบคารวะ เพราะมีเวลาไปเห็นด้วยตาจริงน้อย แต่เห็นด้วยตาผ่านสื่อ ผ่านหนังสือ ผ่านข้อมูลเท่าที่เคยซึมซับเอามาที่ละเล็กละน้อย ก็พอจะขัดเกลาเหลาเป็นด้ามเป็นคันพอใช้สอยแก้ขัดได้อยู่
          2.7.1 มัณฑะเลย์ นครแห่งพระพุทธ พระมหามัยมุนี วัดมหามุนี หรือวัดยะไข่ [4]
                  แต่ละประเทศหรือแต่ละภูมิภาคที่นับถือพระพุทธศาสนา ย่อมมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นทีสักการะและเคารพ ในประเทศไทย มีพระแก้วมรกต ภาคกลางตอนบน เมืองพิษณุโลก มีพระพุทธชินราช ภาคเหนือ เชียงใหม่ คือ พระพุทธสิหิงค์  ภาคอีสาน จังหวัดหนองคาย คือ หลวงพ่อพระใส เมืองอุบลราชธานี หลวงพ่ออินทร์แปง เมืองเพชรบุรี หลวงพ่อบ้านแหลม เมืองฉะเชิงเทรา หลวงพ่อพุทธโสธร   ที่นครปฐม หลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นต้น
ประเทศพม่า ที่นครมัณฑะเลย์ มีพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืององค์สำคัญ คือ พระมหามัยมุนี หรือ  มหาเมียะมุนี   คำว่า มหามัยมุนี แปลว่า “ผู้รู้อันประเสริฐ” (The Great Sage) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยทรงเครื่องแบบกษัตริย์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดมหามุนี หรือ วัดยะไข่  พระพุทธรูปองค์นี้เดิมเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวยะไข่ ตามตำนานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยพระเจ้าจันทรสูรยะ เจ้าเมืองยะไข่ เมื่อพระเจ้าปดุง ขึ้นครองราชย์โดยการปราบดาภิเษกในปี พ.ศ. 2325 (ปีเดียวกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์) เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทำสงคราม เอาชนะยะไข่ ดินแดนทางตะวันตกซึ่งพม่าไม่เคยเอาชนะมาก่อนเลย หลังสงคราม  พระองค์ได้อัญเชิญพระมหามัยมุนี จากยะไข่ โดยล่องแพมาตามแม่น้ำอิระวดี  ประดิษฐานที่มัณฑะเลย์  ในปี พ.ศ. 2327
พระมหามัยมุนี สร้างด้วยทองสัมฤทธิ์หนัก 6.5 ตัน ความสูงรวมทั้งฐานสร้างบนฐานสูง 1.84 เมตร   รวมองค์พระมีความสูงทั้งหมดกว่า 3.82 เมตร  ไหล่กว้าง 1.84   และรอบเอวกว้าง 2.9 เมตร ปิดทองคำเปลวทั่วองค์ ยกเว้นบริเวณพระพักตร์ ทองคำเปลว ปิดมานาน ค่อยพอกขึ้นมาหลายชั้น จนกดดูเนื้อพระ รู้สึกได้ถึงความอ่อนนิ่มของทองคำเปลวที่ปิดทับซ้อนกันนับเป็นพันเป็นหมื่นชั้น ตลอดระยะเวลาหลายศตวรรษมา ทำให้พระมหามัยมุนีมีอีกชื่อหนึ่งว่า “พระเนื้อนิ่ม”.
พิธีสรงน้ำล้างพระพักตร์ และถวายแปรงฟัน ทุกเช้า ตั้งแต่เวลา 04.00-04.30 น. พิธีนี้ แต่ก่อนก็ไม่เคยมี เพิ่งมาเกิดขึ้นครั้งแรก ในเดือน กุมภาพันธ์ (ซ่วงมาฆบูชา) ปี พ.ศ. 2531(ค.ศ.1988)  โดยท่านเจ้าอาวาสวัด Htilin นามว่า ท่านภัททันตะ ปัญญาวังสะ (Bhuddhanta Panya Vamsa) และ ท่าน ปิฏกะ จอง(Pitaka Kyaung)  ในช่วงปัจจุบัน สืบทอดพิธีสรงน้ำพระพักตร์ โดยท่านเจ้าอาวาสวัด Htilin ใต้  รุ่นที่ 4  นามว่า พระอู อุตมะ[5]   น้ำที่ใช้ล้างเป็นน้ำหอมที่ฝนจากท่อนไม้ทานาคา และมีผ้าเช็ดหน้าที่ผู้มีจิตศรัทธาจะถวายทุกเช้า เมื่อเสร็จจากพิธี ชาวพุทธที่ไปร่วมพิธีจะมาขอแบ่งน้ำสรงพระพักตร์ไปบูชา และผ้าเช็ดหน้าที่ตนรับเป็นเจ้าภาพไปคนละผืน ประชาชนที่หลั่งไหลไปร่วมพิธีแต่ก่อนตีสี่ ไหว้พระ สวดมนต์ ทำสมาธิ ด้านหน้า ห้องโถง ไม่อนุญาตให้ผู้แสงบุญเข้าไปข้างใน ขณะประกอบพิธีกรรม  เมื่อเสร็จจากพิธีกรรม พวกผู้ชายก็สามารถขึ้นไปปิดทององค์พระได้ และผู้เรียบเรียงก็มีโอกาสได้ขึ้นไป กราบใกล้ๆ และปิดทองอธิษฐาน พร้อมกับ กดดูเนื้อพระที่เป็นตะปุ่มตะป่ำ ปรากฏว่า นิ่มและยืดหยุ่นสะท้อนแรงกดเหมือนหนังยาง สาธุ..
เมื่อจะออกจากวัด ก็ได้รับน้ำมนต์ล้างพระพักตร์มา 1 ขวด และ ได้ผ้าเช็ดหน้า พระมหามัยมุนีกลับบ้านอีก 1 ผืน สาธุ...
                             อิทธิพลจากความศักดิ์สิทธิ์ของ พระมหามัยมุนี มัณฑะเลย์ ชาวไทยได้จำลองมาสร้างเอาไว้ถึง 2 องค์ ซึ่งมีขนาดเท่าองค์จริง คือ พระเจ้าพาราละแข่ง (ภาษาไทใหญ่ แปลว่า พระพุทธรูปยะไข่) จำลองในปี (พ.ศ. 2460) ที่ประเทศพม่า และนำมาโดยทางเรือ ตามแม่น้ำสาละวิน เข้ามาทางน้ำแม่ปาย  ประดิษฐานที่วัดหัวเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในปีพ.ศ. 2479  และประกอบพิธีสรงน้ำพระพักตร์ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2560  อีกองค์หนึ่งคือ พระมหามัยมุนีสายสัมพันธ์ 2 แผ่นดิน จำลองในปี พ.ศ. 2557  นำประดิษฐาน  ณ วัดพระธาตุดอยแต ตำบลเหมืองจี้ อำเภอเมือง  จังหวัดลำพูน ทุกเช้าวันพระ จะมีพิธีสรงพระพักตร์ โดยพระสงฆ์ผู้ได้รับมอบหมายจากประเทศพม่าประกอบพิธี นับเป็นอีกพิธีกรรมเกี่ยวกับพระมหามัยมุนีที่นอกพื้นที่พม่า
2.7.2 มัณฑะเลย์ นครแห่งพระธรรม การสังคายนาพระพุทธศาสนาครั้งที่ 5 สถานที่เก็บพระไตรปิฎกฉบับหินอ่อน แห่งเดียวในโลก
ดอนที่ว่าด้วยพระราชกรณียกิจของพระเจ้ามินดง อุปถัมภ์ศาสนา ที่ว่า พระองค์ได้อาราธนาให้พระมหาเถระผู้เชี่ยวชาญในปริยัติช่วยกันสะสางให้บริสุทธิ์  ทรงประทานเงินค่าจ้างแก้คนรับจ้างจารหนังสือ ทรงพิจารณาวางหลักเกณฑ์พยัญชนะ อักขระให้ถูกตามฐานและกรณ์(ที่เกิดเสียง) และ สิถิล ธนิต โฆสะ อโฆสะ การเปล่งเสียงเบา หนัก ก้อง ไม่ก้อง)อย่างละเอียด แม้กระทั้งการจัดวรรคตอนของคำไม่ให้มีการผิดพลาด โปรดให้คนเขียนเข้าไปพระราชวัง ให้เขียนไตรปิฎกลงในแผ่นทองคำ แผ่นทองแดง  และในใบลาน แต่ไม่ปรากฏในหนังสือสาสนวังสะ ที่แต่งโดยท่านปัญญาสามี ร่วมสมัยพระเจ้ามินดง ว่าได้ทำฉบับศิลาจารึก เพราะหนังสือ สาสนวังสะ แต่งเสร็จ พ.ศ. 2405 แต่พระไตรปิฎกฉบับหินอ่อน และการทำสังคายนา เสร็จในปี พ.ศ. 2414
พระไตรปิฎกฉบับศิลาจารึก (ปัญจมสังคายนา)  พ.ศ. 2414  ในสมัยพระเจ้ามินดง ปี พ.ศ. 2414 (ค.ศ. 1871) ผู้ปกครองพม่า ณ เมือง มัณฑะเลย์ ได้อุปถัมภ์การทำสังคายนาพระไตรปิฎก เป็นครั้งแรกในประเทศพม่า แต่นับต่อยอด เป็นครั้งที่ 5 จากการทำสังคายนาที่อินเดีย 1-3 ครั้ง และครั้งที่ 4 ที่ประเทศศรีลังกา (นับการสังคายนา ปีพ.ศ. 433 ที่ยกคำสอนพระไตรปิฎกจากมุขปาฐะ มาจารึกลงในใบลาน) เมื่อเสร็จการทำสังคายนาครั้งนั้น ได้จารึกพระไตรปิฎกลงในหินอ่อน จำนวน 729 แผ่น  จารึกไว้ 2 ด้าน โดยด้านที่ 1 จารึกพระไตรปิฎก ภาษาบาลี อีกษรพม่า อีกด้านหนึ่ง จารึกเป็นคำแปลพระไตรปิฎก ภาษาพม่า ดังนั้น 729 แผ่น จึงมีจำนวน 1,428 หน้า นับเป็นพระไตรปิฎกฉบับที่ใหญ่ที่สุด  งานยิ่งใหญ่ที่สำเร็จลงได้ ด้วยมีพระเถรปราชญ์ และอุบาสกบัณฑิต จำนวน 2400 รูป/คน นำโดยพระมหาเถร 3 รูป ได้แก่  พระชาคราภิวังสะ  พระนรินทาภิชชะ และ พระสุมังคลสามี ที่ผลัดเปลี่ยนกันเป็นประธาน ใช้เวลา ทำอยู่ 5 เดือน  เรียกว่า เป็นหนังสือเล่มขนาดมหึมาที่สุดในโลก
          พระไตรปิฎกศิลาจารึก 729 แผ่น จำแนกหมวดหมู่ได้ดังนี้
               1.  พระวินัย 5 คัมภีร์  จารึกลง แผ่นที่ 1 ถึง แผ่นที่ 101   จำนวน 101 แผ่น
               2.  พระอภิธรรม 7 คัมภีร์  จารึกลง แผ่นที่ 102 ถึง แผ่นที่ 319   จำนวน 218 แผ่น
               3.  พระสุตตันตะ 3 คัมภีร์ จารึกลง แผ่นที่ 320 ถึง แผ่นที่ 355   จำนวน 36 แผ่น
               4.  (พระสุตตันตะ) ปัณณาสะ 3 คัมภีร์ จารึกลง แผ่นที่ 356 ถึง แผ่นที่ 417   จำนวน 62 แผ่น
               5.  (พระสุตตันตะ) สังยุตตะ 5 คัมภีร์ จารึกลง แผ่นที่ 418 ถึง แผ่นที่ 482   จำนวน  65 แผ่น
               6. (พระสุตตันตะ) อังคุตตระ  11 คัมภีร์ จารึกลง แผ่นที่ 485(483) ถึง แผ่นที่ 560  จำนวน 77(79) แผ่น [6]
               7.  (พระสุตตันตะ) ขุททกนิกาย 19 คัมภีร์ จารึกลง แผ่นที่ 561 ถึง แผ่นที่ 729   จำนวน 169 แผ่น
ภาพถ่ายโดย พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ 6 / 4 / 2019
พระไตรปิฎกศิลาจารึก 729 แผ่น จัดเก็บในถ้ำ อันที่จริงเรียกว่า พระเจดีย์ หรือ มณฑป นับจากเจดีย์ที่ 1 ไปจนเจดีย์องค์สุดท้าย โดยการเวียนแบบปทักษิณ หรือ ตามเข็มนาฬิกา[7] อยู่รอบพระเจดีย์มหาโลกมารชิน ที่สูง 30 เมตร  เป็นพระเจดีย์จำลองรูปแบบมาจาก พระมหาเจดีย์ชเวสิกอง แห่งเมืองพุกาม ตั้งเป็นศูนย์กลาง  ได้ดังนี้
               1.  ถ้ำ A   แผ่นที่ 1 ถึง แผ่นที่ 42   จำนวน 42 แผ่น
               2.  ถ้ำ B   แผ่นที่ 43 ถึง แผ่นที่ 110  จำนวน 68  แผ่น
               3.  ถ้ำ C   แผ่นที่ 111 ถึง แผ่นที่ 210   จำนวน  100 แผ่น
               4. ถ้ำ D   แผ่นที่ 211 ถึง แผ่นที่ 309  จำนวน 99 แผ่น
               5. ถ้ำ E  แผ่นที่ 310 ถึง แผ่นที่ 465   จำนวน 156 แผ่น
               6.  ถ้ำ F   แผ่นที่ 466 ถึง แผ่นที่ 603   จำนวน  138 แผ่น
               7. ถ้ำ G   แผ่นที่ 604 ถึง แผ่นที่ 729   จำนวน 126 แผ่น
               8. ถ้ำ H  เป็นการสรุปถึง วิธีการสร้างพระไตรปิฎกฉบับศิลาจารึกที่ใหญ่ที่สุดเอาไว้



ตัวอย่างศิลาจารึกพระไตรปิฎก ที่ถ่ายรูปมา 1 แผ่น 2 ด้าน ด้านภาษาบาลี
ภาพถ่ายโดย พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ 6 / 4 / 2019
ด้านที่ 1  หัวข้ออ่านว่า นิทาวัคคะสังยุตต ปาลิตอ
ตัวอย่างศิลาจารึกพระไตรปิฎก ที่ถ่ายรูปมา 1 แผ่น 2 ด้าน ด้านภาษาพม่า
ภาพถ่ายโดย พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ 6 / 4 / 2019
ด้านนี้ บอกวันที่ บอกปี พุทธศักราช 2417 วัน ...ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 11 สถานที่นครมัณฑะเลย์ โดยพระเจ้ามินดง
อ่านโดย นางหอมไตย์ แสนหน่อ

          2.7.3 มัณฑะเลย์ นครแห่งพระสงฆ์ ผู้ทรงจำพระไตรปิฎกได้หมด รูปแรกในพม่า
2.7.3.1 ในประเทศพม่า มีพระสงฆ์ผู้สามารถท่องจำพระไตรปิฎกได้หมดทุกคำ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2497(1954) สมกับคำที่ว่า “ติปิฏกธร ธัมมภัณฑาคาริก”(Tipitakadhara Dhammabhandagarika ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Bearer of the Three Pitakas and Keeper of the Dhamma Treasure.” และถูกบันทึกในหนังสือบันทึกระดับโลก(Guinness World Records or The Guinness Book of World Records) เมื่อ ปี พ.ศ. 1985 ว่า
“พระอาจารย์ใหญ่มินกุน สะยาดอ  ภัททันตะ วิจิตตสาระ มีความทรงจำ ท่องพระไตรปิฎก 16,000 หน้า ได้ เมื่อเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2497 (ค.ศ.1954) ซึ่งเป็นตัวอย่างของความทรงจำของมนุษย์ที่หาได้ยากมาก” [8]
ประวัติและผลงาน ท่านพระวิจิตตสาราภิวังสะ
พระเถระ “มินกุน สยาดอ” หรือ พระวิจิตตสาราภิวังสะ  เกิดวันที่ 1 พ.ย. 2454(1911) ชื่อ “หม่อง ขิ่น” (Maung Khin) บุตร ของ “อู โซน” (U Sone)   และ นาง “ดอว์ สิน”(Daw Sin) ที่หมู่บ้าน จยีปิน(Kyipin) อำเภอ มิงยัน(Myingyan) จังหวัด มัณฑะเลย์   บิดาเสียชีวิตตั้งแต่ อายุ 4 ขวบ มารดานำไปฝากเป็นเด็กวัดตั้งแต่อายุ 5 ขวบ บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 7 ขวบ ฉายแววความเป็นอัจฉริยะในการท่องจำตั้งแต่เด็ก ได้ฉายาว่า ชิน วิจิตสาระ(Shin Vicittasara) เมื่อเป็นสามเณร ศึกษาที่สำนักเรียน วัดนัน โอ (Nan Oo) สำนักที่มีชื่อเสียงของมัณฑะเลย์  เมื่อ พ.ศ.2473(1930) อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และย้ายไปจำพรรษาที่ มินกุน แขวง สะกาย(Sagaing)ทางฝั่งแม่น้ำอิรวะดี ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของมัณฑะเลย์ เพื่อศึกษาต่อที่วัดธัมมานันทะ(Dhammanada Monastery)  และจำพรรษาอยู่ที่มินกุน ตลอดชีวิต   ท่านได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2536 สิริอายุ 81 ปี พรรษา 61[9]
มีความทรงจำเป็นเลิศ ระดับโลก ขณะเป็นสามเณรอายุเพียง 13 ขวบ  ท่านสามารถท่องจำพระวินัยปิฎกได้  ในปีถัดมา ในการสอบก็สามารถท่องจำอภิธรรมได้อีก และต่อมา ในช่วง ปี 2493-2496(1950-1953)  ท่านได้เข้าสอบความสามารถในการท่องพระไตรปิฎก สอบผ่าน ชั้นติปิฏกธร  สามารถท่องจำไตรปิฎกได้หมด   ปี พ.ศ. 2497 กินเนสบันทึกโลก ได้ไปพิสูจน์ความทรงจำที่เป็นเลิศของท่าน ปรากฏว่า พระไตรปิฎกที่มีเนื้อหาจำนวน 16,000 หน้า นับได้ 2,400,000 คำ หรือ 84,000 พระธรรมขันธ์  สามารถท่องจำสาธยายออกมาด้วยปากเปล่าได้หมดโดยไม่ตกหล่นผิดพลาดแม้แต่คำเดียว   ทางคณะสงฆ์ประเทศพม่า ได้สอบทานไปพร้อมกันและให้การรับรอง จึงได้นามว่า “พระติปิฏกธร”  หมายความว่า “พระผู้ทรงจำพระไตรปิฎกได้ทั้งหมด”
การสอบความรู้การทรงจำพระไตรปิฎกในประเทศพม่า ถือว่า เป็นการสอบที่ยากที่สุดในโลก ยากกว่า การสอบเปรียญธรรม 9 ประโยค (เพราะมีการสอบการท่องจำคู่กับการสอบข้อเขียน) หลังจากท่านวิจิตตสาระสอบผ่าน เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน มีผู้สมัครเข้าสอบ จำนวน 5,474 รูป ที่สอบผ่านเบื้องต้น จำนวน 1,662 รูป  แต่ ที่สอบผ่านขั้นสูลสุดโดยสมบูรณ์ เป็น “ติปิฏกธร และ ติปิฏกโกวิทะ” เพียง 11 รูป (มรณภาพแล้ว 4 รูป) คงเหลือ เพียง 7 รูป  พระภิกษุที่ทรงจำพระไตรปิฎกได้ 2 ปิฎก มีจำนวน  13 รูป และที่ทรงจำได้ปิฎกเดียว มีจำนวน 114  รูป [10]
ทำไมการสอบนี้ สุดแสนจะยากเย็น  
ลักษณะการสอบ เป็นการสอบทั้งสอบปากเปล่า และสอบข้อเขียน มีเวลาสอบทั้งหมด 35 วัน  ผู้สมัครสอบ ต้องถูกตรวจสอบความรู้ ในปิฎกทั้ง 3 พระวินัย พระสัตตันตะ และพระอภิธรรม สำหรับการสอบปากเปล่า พระวินัยปิฎก  มี 5 คัมภีร์ ใช้หนังสือ 5 เล่ม จำนวน 2,260 หน้า พระสุตตันตปิฎก ครอบคลุม 3 คัมภีร์ ใช้หนังสือ 3 เล่ม จำนวน 482 หน้า และอภิธรรม ครอบคลุม 7 คัมภีร์ ใช้หนังสือ 12 เล่ม จำนวน 4,941 หน้า รวมเป็น คัมภีร์พระไตรปิฎกภาษาบาลีทั้งหมด 15 คัมภีร์ และ 20 เล่มหนังสือ จำนวน 7,983 หน้า หากถูกกรรมการทักท้วง 5 ครั้ง ขึ้นไป ให้ปรับเป็นตก
ไม่ใช่เท่านั้น ในการสอบข้อเขียน ผู้เข้าสอบต้องถูกสอบความทรงจำนอกจากในพระไตรปิฎกแล้ว  ต้องจำเนื้อหาใน คัมภีร์อรรรถกถาสำคัญ 10 เล่ม และคัมภีร์ฎีกาสำคัญ อีก 14 เล่ม (รวม 24 เล่ม) มีจำนวน 17,917  หน้า คำถามจะทดสอบความเข้าใจหลักธรรม ปรัชญาเปรียบเทียบ การวิเคราะห์เนื้อหา ความสัมพันธ์ของอรรถและพยัญชนะ หากไม่มีความทรงจำคัมภีร์ในสมอง ทั้งขาดความเข้าใจในความเชื่อมโยงในหลักธรรม ก็ไม่สามารถเขียนข้อสอบให้ผ่านได้ และผู้เข้าสอบ ต้องสอบผ่านทั้งข้อสอบปากเปล่าและข้อสอบเขียน จะผ่านเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ ถือว่า สอบไม่ผ่าน นี้คือกระบวนการสอบที่ยาวนานที่สุด คือ 33 วัน และ หินที่สุดในโลก
ผลงานและสมณะศักดิ์
1. เป็นกรรมการอำนวยการทำสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ 6 ที่ ย้างกุ้ง  ในการทำสังคายนาครั้งที่ 6 ของประเทศพม่า ที่ถ้ำ “มหาปาสาณคูหา”(Mahapasana Cave) ที่นครย่างกุ้ง ระหว่าง ปี 2497 2499(1954 to 1956) สนับสนุนโดย รัฐบาล อู นุ (U Nu) ท่านได้รับการคัดเลือกให้ทำหน้าที่สำคัญ คือ เป็นกรรมการอำนวยการ รับหน้าที่ตรวจทานและวิสัชชนาพระวินัยปิฎก ร่วมกับท่าน “พระมหาสี สยาดอ อู โสภณะ”(Mahasi Syadaw U Sobhana) ซึ่งเป็นพระมหาเถระผู้เชี่ยวชาญ เป็นพระอาจารย์ผู้สอนการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงกับชาวตะวันตก และชาวเอเชีย
2. ได้รับสถาปนาสมณศักดิ์ ตำแหน่ง  “อัคระ มหาปัณฑิตะ” ในปี พ.ศ. 2522(1979) รัฐบาลทหารพม่า นำโดยท่านนายพล เน วิน(Genereal Ne Win) ได้ถวายสมณศักดิ์เป็น อัคระ มหาปัณฑิตะ  ท้ายสุด “พระอภิธัชมหารัฏฐคุรุ”
3. ผลงานแต่งหนังสือ “มหาพุทธวํส”   ในช่วงของการทำสังคายนาครั้งที่ 6 ท่านได้รับการนิมนต์จาก ท่าน อู นุ นายกรัฐพม่า ให้ท่านรจนาวรรณกรรมทางศาสนา ท่านก็ได้แต่งหนังสือ ชื่อ มหาพุทธวํส (Maha Buddhavamsa) ระหว่างปี พ.ศ.(2498- 2503 (1955-1960)
(ปรดติดตาม ตอนที่ 6)



[1]  สาสนวํส, หน้า 218.
[2] สาสนวํส, หน้า 215-216.
[3] เรื่องเดียวกัน หน้า 218-219.
[4] https://th.wikipedia.org/wiki/พระมหามัยมุนี.
[5] https://pantip.com/topic/30478023.
[6] ข้อสังเกตของผู้เรียบเรียง จากแผ่นป้ายที่บอกจำนวน แผ่นศิลาจารึกพระไตรปิฎก ที่แสดงบน ผังย่อการ ทางเข้าพระเจดีย์ ในรายการที่ 6 หายไป 2 หมายเลข โดยกระโดดข้ามไปไปที่ หมายเลข 485 ขณะที่ ชุดที่ 5  หมายเลขสุดท้าย เป็น 482 น่าผิดพลาดในการตรวจสอบรายละเอียดไป (พิสิฏฐ์)
[7]  ภาพถ่ายแผ่นป้ายที่บอกจำนวน แผ่นศิลาจารึกพระไตรปิฎก ที่แสดงบน ผังย่อการ ทางเข้าพระเจดีย์
[8] The Guinness Book of Records of 1985 has this entry : Human memory: Bhandanta Vicitsara (sic) recited 16,000 pages of Buddhist cannocial texts in Rangoon, Burma in May 1954. Rare instances of eidetic memory the ability to project and hence "usually" recall material are known to science.
[10] https://dhammadharo.wordpress.com/ สืบค้นวันที่ 30 พฤษภาคม 2562.

พม่า เมืองพระเมืองพุทธ ตอนที่ 4 (ความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาใน พม่า จากรามัญ สู่พุกาม)


2. ความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในพม่า
          แม้ว่า พระพุทธศาสนาจะได้เข้ามาตั้งมั่นในรามัญประเทศ นับแต่ครั้งพระสมณะทูตของพระเจ้าอโศกมหาราช ในปีพ.ศ. 235 เป็นต้นมา ผ่านยุคสมัยมา  800 ปี เมืองรามัญ ได้เกิดภัย 3 ประการ คือ ภัยจากโจรผู้ร้าย ภัยจากไข้ป่า และภัยจากศัตรูทางศาสนา[1] ทำให้การพระพุทธศาสนาอ่อนกำลังลงมาเรื่อยๆ จนมาถึง พ.ศ. 1060   ในสมัยของพระเจ้าสุริยกุมาร พระศาสนาอ่อนกำลังลงมาก พระสงฆ์ไม่อาจบำเพ็ญสังฆกิจได้ดังต้องการ  ขณะที่ ชาวพยู ที่อาณาจักรศรีเกษตร ก็ไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ชาวพุทธพม่าก็สามารถดำรง ฟื้นฟู และยกย่องพระศาสนาให้สืบมาจนถึงอนุชนรุ่นหลังตราบปัจจุบัน ซึ่งจะนำเสนอข้อมูลโดยย่อ พอสืบเค้าที่ไปที่มาได้ ดังต่อไปนี้
          2.1 การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในสมัยก่อนอาณาจักรพุกาม
                   2.1.1 สมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์(พระสิริปรัมมหาธรรมราชา) แห่งนครหงสาวดี (พะโค) พ.ศ. 1262 พระองค์ได้ครองเมืองสำคัญ อีก 2 เมือง คือ  “กุสิมะ (พะสิม)” และ  “เมาะตะมะ(มุตติมะ)” พระองค์ทรงฉลาดในพระไตรปิฎก รู้พระเวท 4 และเชี่ยวชาญในศาสตร์ต่างๆ  ทรงเห็นว่า พระศาสนาในอาณาจักรของพระองค์ ปฏิบัติผิดเพี้ยนไปจากพระวินัย ด้วยเป็นสีมาวิบัติ(เป็นคามสีมา) และปริสวิบัติ(คณะสงฆ์ที่ทำสังฆกรรมอุปสมบทไม่ถูกพระวินัย) เคยทราบว่าพระพุทธเจ้า ทรงตั้งอายุพระพุทธศาสนาไว้ 5,000 พระวัสสา แต่กลับจะมาเสื่อมลงในสมัยปกครองของพระองค์ จึงได้แสวงหาหาวิธีฟื้นฟูพระพุทธศาสนา โดยเสด็จไปปรึกษาหารือกับพระสงฆเถระผู้ฉลาด ในพระไตรปิฎกว่า สมควรจะส่งพระสงฆ์ผู้ที่มีกำลังสติปัญญาไปเกาะสีหล รับสิกขาบทใหม่(บวชแปลงใหม่) ศึกษาพระธรรมวินัยจากต้นแบบที่ลังกาให้เชี่ยวชาญแล้ว กลับมาฟื้นฟูพระศาสนาที่หงสาวดี  เมื่อคัดเลือกพระสงฆ์ผู้มีคุณสมบัติได้แล้ว จึงได้ขอให้พระโมคคัลลานเถระกับพระโสมเถระไปเกาะสีหล เมื่อพระสงฆ์เหล่านี้ไปลังกา ได้รับการอุปสมบทแปลงใหม่ ที่อุทกุกเขปสีมา บนแพขนาน กลางแม่น้ำกัลยาณี และ อยู่ศึกษาพระพุทธศาสนาจนเกิดความเชี่ยวชาญ แล้วกลับมานครเมาะตะมะ เมื่อพระสงฆ์เหล่านั้นกลับมา พระองค์ก็ให้พระสงฆ์สวดถอนสีมาเก่าออกเสีย ให้ทำอุทกุกเขปสีมา โดยผูกแพขนานลอยท่ามกลางแม่น้ำ ให้พระสงฆ์ทำสังฆกรรม ที่แพกลางน้ำ จึงเรียกว่า “กัลยาณีสีมา”  นับแต่นั้นมา พระศาสนาก็เจริญรุ่งเรืองในรามัญประเทศ และเผยแผ่ไปทั่วรัฐพม่า เพราะพระสงฆ์จากต่างรัฐ ก็ได้มาศึกษาเพื่อสืบศาสนาที่นครพะโคแห่งนี้
                   พระเถระสังฆปราชญ์ชาวรามัญ ในเมืองสะเทิม (สุธรรมวดี /หงสาวดี) นับแต่นั้นมา จนถึงสมัยของพระเจ้า “มโนหาริ หรือ มาโนหาร์”  ล้วนเป็นผู้ทรงภูมิรู้ภูมิธรรมอย่างแตกฉานในพระไตรปิฎก สามารถนิพนธ์คัมภีร์ทางศาสนาหลายท่าน  ตัวอย่าง พระเมธังกร ชาวเมาะตะมะ ได้นิพนธ์คัมภีร์ โลกทีปสาระ พระอานันทะ ชาวหงสาวดี  นิพนธ์ฎีกาชื่อ มธุรสารัตถทีปนี อธิบายอภิธรรม พระธรรมพุทธะ ชาวหงสาวดี นิพนธ์คัมภีร์ กวีสาระ อธิบายฉันท์ และ พระสัทธัมมาลังการะ ชาวหงสาวดี นิพนธ์คัมภีร์ ปัฏฐานะสารัตถทีปนี นอกจากนี้ ยังมีคัมภีร์อีกหลายเล่ม ที่ไม่ปรากฏชื่อผู้นิพนธ์ [2]
                   2.1.2  ลัทธิและศาสนาเดิมของชาวพุกาม
2.1.2.1 การนับถือ นัต(Nat) หรือ นาถ(Nath)[3]
ทุกชนเผ่าที่มีประวัติยาวนาน ก่อนจะนับถือลัทธิหรือศาสนาใหม่ ย่อมเคยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่กลุ่มตนเคยนับถือมาก่อน อันเป็นวิวัฒนาการของความเชื่อ และความเชื่อดั้งเดิมบางอย่างยังคงนับถือผสมผสานกับความเชื่อทางศาสนาปัจจุบัน นับตั้งแต่นับถือพลังอำนาจธรรมชาติ(Naturalism) นับถือพลังลึกลับ/นับถือไสยศาสตร์(Mysticism) นับถือวิญญาณ(Animism/Spirit worship) นับถือบรรพบุรุษ(Ancestor- worship) นับถือเทพเจ้า(Deism)  นั่นคือสายพัฒนาการความเชื่อของมนุษย์ จนตกผลึกเป็นความเชื่อทางศาสนาปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ความเชื่อใหม่ ก็ไม่ใช่ใหม่ทั้งหมด เพราะมีความเชื่อเก่าผสมผสานกันอยู่ หรือยังมีเกลียวสัมพันธ์อยู่ ไม่อาจแยกจากกันอย่างเด็ดขาด แม้ว่า ชาวพม่าจะหันมานับถือพระพุทธศาสนา แต่เขาก็คงรักษาความเชื่อดั้งเดิม คือ การนับถือ “นัต” หรือ ต่อมาอาจจะเรียกว่า “เทพารักษ์” มาดูว่า นัต ที่ชาวพม่านับถือ คือ อะไร ซึ่งมีบทความที่เขียนโดย ดวงกมล การไทย เรื่อง “เมียนมา – ศาสนาและความเชื่อ” ลงในฐานข้อมูลสังคม – วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้เรียบเรียงเห็นว่า เป็นบทความที่กระชับ จึงขอเรียบเรียงใหม่นำมาลง ดังนี้
คำว่า “นัต” ปราชญ์ชาวพม่า เชื่อว่าคำนี้น่าจะมาจากคำว่า “นาถ” ในภาษาบาลี หมายถึง ผู้เป็นที่พึ่ง  ผู้ทรงฤทธิ์ เป็นได้ทั้งเทพยดาและวิญญาณศักดิ์สิทธิ์    นั่นก็คือ เหล่าเทพเทวาบนชั้นฟ้า ตลอดถึงวิญญาณของผู้ประเสริฐและผู้ทรงอำนาจบนโลกมนุษย์  นัตมี 3 ประเภท[4] ได้แก่ 1. เทพเจ้า ผู้ทรงฤทธิ์คุ้มครองมนุษย์ 2.วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ หรือ ขวัญ (เละปยา) ของผู้ตายร้าย สามารถให้คุณให้โทษแก่ผู้คนทั่วไปได้ และ 3. สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติด้วยอำนาจแห่งนัต     
นัตทั้งหมดมีจำนวน 37 ตน เป็นทั้ง นัตที่ดี และนัตที่ร้าย การติดต่อกับนัต ทำได้หลายรูปแบบ  การกราบไหว้ เซ่นสรวง ลงทรง เพื่อขอความคุ้มครอง บนบานศาลกล่าว หรือบัดพลีเมื่อคำขอเป็นผลสัมฤทธิ์ รูปแบบของการเซ่นไหว้นัต จะแตกต่างกันอยู่ขึ้นอยู่กับนัตแต่ละตน เช่น นัตบางตนนิยมมังสวิรัติ นัตบางตนชอบอาหารดิบ เช่น ปลาดิบ เนื้อดิบ นัตบางตนชอบของมึนเมา
ความเชื่อเกี่ยวกับนัตในรูปผีอารักษ์ เป็นความเชื่อพื้นถิ่นที่ปรากฏอยู่คู่สังคมพม่ามายาวนานยิ่งกว่าพุทธศาสนา มีบทบาทที่สำคัญถึงระดับร่วมสร้างบ้านแปงเมืองในพุกามยุคแรกๆ จนได้รับยกย่องเป็นมิ่งเมือง เมื่อพระเจ้าอโนรธา รับพุทธศาสนา  บทบาทของนัตถูกลดลงเป็นเพียงผู้คอยพิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา แต่ไม่อาจปฏิเสธอำนาจนัตได้อย่างสิ้นเชิง[5]  

2.1.2.2  นับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายาน  สมัยก่อนเมือง “พุกาม” ชื่อว่า “อริมัททนะ” แปลว่า “ย่ำยีข้าศึก”  นับแต่สมัยของพระเจ้าสมมุติราช จนถึงรัชสมัยของพระเจ้าอนุรุทธ หรือพระเจ้าอโนรธา ตั้งอยู่ที่ริมฝั่ง แม่น้ำอิรวดี พระพุทธศาสนาเผยแผ่อยู่ที่ อริมัททนะ สมัยนั้นเป็นพระพุทธศาสนานิกายย่อยหนึ่ง แบบมหายาน ที่ได้รับมาจากอาณาจักรปาละ(Pala) แคว้น เบงกอล ในอินเดีย ที่เบงกอลเขานับถือ พระโพธิสัตว์ พระโลกนาถ การปฏิบัติของพระสงฆ์สายมหายานในพม่า ไม่เคร่งครัดในพระวินัย จนถูกเรียกว่า “สมณะกุตตกะ” หมายถึง “สมณะปลอม” หรือ “พระอลัชชี” ดังข้อความในคัมภีร์สาสนวังสะ เล่าไว้ว่า
“สมณะกุตตกะ ให้โอวาทด้วยมิจฉาวาทะเป็นต้นว่า    ผู้ใดทำปาณาติบาต (ให้)สวดปริตรบทนี้ จะพ้น(จาก)บาปนั้น ผู้ใดทำอนันตริยกรรมฆ่ามารดาบิดา ใคร่จะพ้นจากอนันตริยกรรม (ให้)สวดปริตรบทนี้ ก็พ้นได้ ถ้าจะทำการสมรส(อาวาหะวิวาหะ) ต้องมอบตัว(จ้าสาว)ให้อาจารย์ก่อน ผู้ใดละเมิดจารีตนี้ ผู้นั้น ต้องประสบบาปอย่างมาก”[6]
ในสมัยที่พระเจ้าอโนรธา  ครองราชย์ที่นครอริมัททนะนั้น(พ.ศ.1587-1620)  สมณะกุตตกะ มีประมาณ 1,000 พวกๆ ละประมาณ 30 คน รวมจำนวนประมาณ 30,000 คน อยู่ในพื้นที่ เรียกว่า “สะมะติ”  พวกเขาอ้างว่า พวกตนก็เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า คำสั่งสอนของพวกตน เป็นทางสู่สวรรค์และมรรคผล  คฤหัสถ์ผู้ครองเรือนก็ประพฤติพรหมจรรย์ได้ ในสมัยช่วงแรก พระเจ้าอโนรธา ทรงมีเลื่อมใสและให้การอุปภัมภ์กลุ่มนักบวชเหล่านี้ตามประเพณี
   2.1.3 การนำพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทเข้ามาพุกาม   
   ต่อมา เมื่อพระเจ้าอโนรธา ได้พบและสนทนาธรรมกับ “พระธรรมทัสสี” ชาวเมืองสุธรรม อีกนามหนึ่งเรียกว่า “ชิน อรหันต์” ศิษย์ของพระสีลพุทธิเถระ ท่านเป็นผู้งดงามด้วยสีลาจารวัตรแบบเถรวาท จึงทรงเกิดความเลื่อมใส และทราบว่า พระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เรียกว่า พระไตรปิฎก ถูกจารึกลงใบลาน อย่างสมบูรณ์ เก็บรักษาที่ นครสุธรรม มีถึง 3 ชุด ดังที่ท่านชิน อรหันต์ ถวายเทศนาแก่พระองค์ว่า
“บรรดาศาสนาทั้ง 3 (ปริยัติศาสนา ปฏิบัติศาสนา และปฏิเวธศาสนา) เมื่อปริยัติศาสนามั่นคง ปฏิบัติศาสนาจึงจะมั่นคง เมื่อปฏิบัติศาสนามั่นคง ปฏิเวธศาสนาจึงจะมั่นคง เปรียบเหมือน มีโคผู้ตั้ง 100 ตัว 1,000 ตัว แต่ไม่มีโคตัวเมียที่จะรักษาเชื้อสายสืบพันธุ์  สายพันธุ์โค ย่อมจะสูญไป เช่นเดียวกัน ถ้าพระสงฆ์ปฏิบัติธุดงค์วัตร ตั้ง 100 หรือ 1,000 องค์ ถ้าปริยัติไม่มี ปฏิเวธก็มีไม่ได้ เหมือน ขุมทรัพย์ที่เราฝังและเขียนป้ายหินบอกที่ฝังเอาไว้ ตราบใด ตัวหนังสือป้ายบอกยังอยู่ ขุมทรัพย์ก็ยังไม่สูญหาย เช่นกัน ถ้ายังมีผู้เล่าเรียนจดจำปริยัติ ศาสนาก็ยังไม่สูญหาย และเหมือนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เมื่อขอบอ่างยังมั่นคง ก็กล่าวได้ว่า น้ำยังมีอยู่ และเมื่อยังมีน้ำ ก็กล่าวได้ว่า ดอกบัวยังบานสะพรั่งอยู่ พุทธวจนะคือพระไตรปิฎกยังมีอยู่ เปรียบเหมือขอบอ่างเก็บน้ำใหญ่ยังมั่นคงอยู่ ก็กล่าวได้ว่า กุลบุตรผู้บำเพ็ญการปฏิบัติซึ่งเปรียบเหมือนน้ำในอ่างเก็บน้ำยังมีอยู่ และเมื่อกุลบุตรผู้บำเพ็ญการปฏิบัติยังมีอยู่ ก็กล่าวได้ว่า ปฏิเวธ ซึ่งเปรียบเหมือนดอกบัวบานยังมีอยู่  ปริยัตินั่นแหละสำคัญที่สุด เมื่อปริยัติมีอยู่ ศาสนาก็ถือว่า ยังไม่สูญหาย ถ้าปริยัติสูญหายเสียแล้ว  การบรรลุธรรมของผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบย่อมมีไม่ได้ ...เมื่อปริยัติยังมีอยู่ การบรรลุธรรมจึงมีได้ บัดนี้ ปริยัติศาสนาของเรายังมีไม่ครบ พระสารีริกธาตุก็ยังไม่มี ...บ้านเมืองใดมีปริยัติศาสนาและพระสารีริกธาตุ  ควรจะส่งทูต พร้อมบรรณาการไปขอเชิญเอามา ศาสนาก็จะตั้งมั่นในรัฐของเราตลอดกาล ในเมืองสุธรรม รัฐสุวรรณภูมิ เขาจารพระไตรปิฎกจบ ถึง 3 ครั้ง เก็บไว้ที่ 3 จบ และพระสารีริกธาตุที่นั่นก็มีมาก”[7]
พระเจ้าอโนรธาจึงส่งราชทูตพร้อมเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้ามโนหาริ(Manohari) เมืองสุธรรม และขอแบ่งพระไตรปิฎก มาสัก 1 สำเนา แต่พระเจ้ามโนหาริ มีพระทัยตระหนี่ นอกจากจะไม่ประทานให้แล้ว แถมยังเยาะเย้ยให้เสียหน้าว่า “พระธรรมของพระพุทธเจ้า ย่อมสมควรแก่ฐานะบุคคลผู้เป็นสัมมาทิฏฐิเท่านั้น พวกท่านเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่สมควรจะได้รับพระไตรปิฎกและพระบรมสารีริกธาตุ”
เมื่อราชทูตกลับมาทูลความให้ทรงทราบ พระเจ้าอโนรธาทรงกริ้วจัด มีอาการเหมือนงาถูกคั่ว จึงสั่งยกกองทัพ ทั้งทัพเรือ และทัพบก ไปปราบพระเจ้ามโนหาริ ยึดเมืองสุธรรม จับพระเจ้ามโนหาริมาควบคุมที่นครพุกาม พร้อมกับสั่งให้อัญเชิญพระไตรปิฎกมาทั้งหมด  นอกจากพระไตรปิฎกแล้ว ยังนำพุทธศาสนาแบบเถรวาท โดยนิมนต์พระสงฆ์ที่ทรงพระไตรปิฎกจำนวน 1,000 รูป รับอักษรภาษา  และงานศิลปกรรม รวมทั้งกวาดต้อน (เชิญ)นักปราชญ์ราชบัณฑิต ช่างศิลปกรรมหลวงทุกแขนงไปพุกาม ในคราวเดียวกัน เมื่อปี พ.ศ. 1600 ดังปรากฏความในพงศาวดารพม่าฉบับหอแก้ว  ความว่า
“พระองค์ตรัสสั่งให้พลทหารเอาพระไตรปิฎก 30 สำรับ บรรทุกหลังช้างเผือก 32 ช้าง [ช้างเผือก 32 ช้างนี้เป็นของพระเจ้ากรุงสระถุง [สะเทิม – ผู้เขียน)] แล้วพระองค์ทรงตรัสให้พลทหารอาราธนาพระบรมธาตุ พระโลมา ซึ่งพระเจ้ากรุงสระถุงก่อนๆ ได้ทรงบรรจุไว้ในกระเช้าแก้วรัตนะนั้น ขึ้นบนหลังช้างเผือก 2 ช้าง แล้วพระองค์ก็รับสั่งให้พระเจ้ากรุงสระถุงแลพระมะเหสีทั้งปวง กับรับสั่งให้เก็บชาวช่างวิเศษแลช่างต่างๆ แลพลทหารราษฎรทั้งปวงกับสาตราอาวุธเครื่องประหลาดทั้งปวงเสร็จแล้ว พระองค์ก็เสด็จกลับกรุงภุกาม…”[8]
เมื่อพระเจ้าอนุรุทธได้พระไตรปิฎกมา พระองค์ส่งทูตให้ไปเกาะสีหล เพื่อนำพระไตรปิฎกฉบับสีหลมาสอบทานเทียบกับพระไตรปิฎกฉบับนครสุธรรม ปรากฏว่า ทั้งสองฉบับไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน จึงทรงเก็บรักษาไว้ที่หอไตร นับแต่นั้นมาพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบพุกาม ก็เจริญรุ่งเรืองในอริมัททนะ และได้แผ่อิทธิพลความรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนา ไปถึงประเทศชาวพุทธเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น อาณาจักรล้านนา อาณาจักรล้านช้าง
ต่อมา “อริมัททนะ” ก็เปลี่ยนชื่อเป็น “พุกาม” มีการอธิบายชื่อเมืองดังนี้ คำว่า “พุกาม” แผลงมา จาก คำว่า “ปุณณคาม”  แปลว่า “บ้านสมบูรณ์” หรือ เมืองสมบูรณ์ ที่เต็มไปด้วยพระรัตนตรัย จาก “ปุณณคาม” กลายเป็น “ปุคาม” โดยที่ ปุ(ณณ)คาม ณ เณร กร่อนไป) และกลายเป็น “ปุคํ”  
ผู้เขียนขอใช้อัตโนมติเดาคำว่า “พุกาม” น่าจะมาจาก “พยูคาม” แปลว่า “บ้านชาวพยู”  เพราะเคยเป็นเมืองเป็นบ้านของพวกพยู มาก่อน เหมือคำว่า “ปาฏลีคาม” “รามคาม” ขออย่าถือเอาเป็นประมาณ   
2.1.4 พระสังฆปราชญ์ในสมัยพุกาม ในสมัยพุกามนี้ พระสงฆ์ได้ศึกษาปริยัติจนเชียวชาญแตกฉาน แม่แพ้สมัยพะโค หลายรูปสามารถนิพนธ์คัมภีร์เป็นภาษามคธ(บาลี) ซึ่งเป็นการแสดงภูมิรู้ภูมิธรรม  ดังตัวอย่างต่อไปนี้
พระอัครวังสะ(พระตติยอัคคบัณฑิต) นิพนธ์คัมภีร์สัททนีติ หรือคัมภีร์สัททาวิเสส ตำราไวยากรณ์ คู่มือศึกษาศัพทฺนัย อันเป็นรากฐานให้เจ้าใจพระไตรปิฎก ในปีพ.ศ. 1670 รัชสมัยของพระเจ้านรปติ สิทธิสุ ตำราของท่าน ได้รับการตรวจสอบเนื้อหา โดยสังฆปราชญ์ชาวสีหล และได้รับการสรรเสริญว่า คัมภีร์แบบนี้ ในเกาะ    สีหล ก็ยังไม่ถึงขั้นนี้[9]
พระสัทธรรมสิริเถระ นิพนธ์คัมภีร์ สัททัตถเภทจินดา อธิบายถึงความหมายต่างๆของศัพท์ภาษามคธและเนื้อความอันลี้ลับ
พระสัทธรรมกิตติเถระ นิพนธ์ปทานุกรม ชื่อเอกักขรโกส ในปี พ.ศ. 2018

          สังฆปราชญ์ไทยกับการนิพนธ์คัมภีร์ภาบาลี การนิพนธ์คัมภีร์ทางศาสนาเป็นภาษาบาลีได้ แสดงถึงภูมิปราชญ์ทางศาสนาของบุคคลเหล่านั้น เกี่ยวกับการนิพนธ์คัมภีร์เป็นภาษาบาลี พระสังฆปราชญ์ชาวไทย ก็มีฝีมือเชิงนิพนธ์คัมภีร์ภาษาบาลี ไม่น้อยหน้าไปกว่า สังฆปราชญ์ชาวพม่า จะให้ข้อมูล นับตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยล้านนา  จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พอเป็นสังเขปดังนี้ [10]
พระพรหมราชปัญญา วัดภูเขาหลวง เมืองสุโขทัย นิพนธ์ “รตนพิมฺพวํส” (ตำนานพระแก้วมรกต)  เมื่อพ.ศ. 1972
พระโพธิรังสี ชาวเชียงใหม่ นิพนธ์คัมภีร์ 2 คัมภีร์ ได้แก่  “จามเทวีวํส”  เมื่อพ.ศ. 1950-2000 และ “สิหิงคนิทาน”(ตำนานพระพุทธสิหิงค์)  เมื่อพ.ศ. 1954-2000
พระธรรมเสนาบดีเถระ ชาวเชียงแสน นิพนธ์ “ปทักกมโยชนาสัททัตถเภทจินตา” พ.ศ. 2020-2045
พระญาณกิตติเถระ วัดปนสาราม (วัดสวนขนุน) ชาวเมืองเชียงใหม่ พระราชครูของพระเจ้าติโลกราช นิพนธ์ 12  คัมภีร์ ดังนี้ สมันตปาสาทิกาอัตถโยชนา,  ภิกขุปาฏิโมกขคัณฐิทีปนี, สีมาสังกรวินิจฉัย,  อัฏฐสาลินีอัตถโยชนา,  สัมโมหวิโนทนอัตถโยชนา,  ธาตุกถาอัตถโยชนา,  ปุคคลบัญญัติอัตถโยชนา, กถาวัตถุอัตถโยชนา, ยมกอัตถโยชนา, ปัฏฐานอัตถโยชนา, อภิธัมมัตถวิภาวินีปัญจิกา อัตถโยชนา, มูลกัจจายนอัตถโยชนา ในช่วง พ.ศ. 2028-2043
พระสัทธัมมกิตติมหาผุสสเทวเถระ วัดรัมมะ ชาวเมืองลำพูน ร่วมสมัยพับพระญาณกิตติ นิพนธ์ “สัททพินทุอภินวฎีกา” ที่อธิบายคัมภีร์ สัททพินทุ ที่นิพนธ์โดยพระเจ้า กยฺจวา แห่งพุกามที่กล่าวมา ไม่ทราบปีที่นิพนธ์   
พระญาณวิลาส ภิกษุชาวโยนกประเทศ (มีชีวิตร่วมสมัยกับ พระสิริมังคลาจารย์) นิพนธ์ สังขยาปกาสก พ.ศ. 2058
พระสิริมังคลาจารย์ วัดสวนขวัญ (วัดตำหนัก) ชาวเมืองเชียงใหม่ นิพนธ์ 4 คัมภีร์ ได้แก่ เวสันตรทีปนี พ.ศ. 2060, จักวาฬทีปนี,  สังขยาปกาสกฎีกา ปี พ.ศ. 2063, และ มังคลัตถทีปนี พ.ศ. 2067
พระรัตนปัญญาเถระ ชาวเชียงราย นิพนธ์ 3 คัมภีร์ ได้แก่ ชินกาลมาลีปกรณ์  พ.ศ. 2059, วชิรสารัตถสังคหะ พ.ศ. 2078และ มาติกัตถสรูปอภิธรรมสังคณี,
พระนันทาจารย์ ชาวเชียงใหม่ นิพนธ์ “สารัตถสังคหะ” (ไม่ทราบปีที่นิพนธ์)
พระสุวัณณรังสีเถระ ชาวเชียงใหม่ (สมัยต่อมาย้ายไปพำนักที่นครเวียงจันทน์) นิพนธ์ 2 คัมภีร์ ได้แก่    คันถาภรณฎีกา พ.ศ. 2128, และ ปฐมสมโพธิกถา  
พระมหามังคลสีลวังสะเถระ วัดโชติการาม ชาวเชียงใหม่ สมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน นิพนธ์ อุปปาตสันติ  พ.ศ. 1994 ทางล้านนา เรียกว่า “มหาสันติงหลวง” ชาวพม่านำไปคัดลอกปริวรรตเป็นอักษรพม่า ภาษาบาลี จารเป็นคัมภีร์ เรียกว่า “สิริมังคลาปริตตอ”[11]
พระอุตตรารามเถระ  ชาวโยนกประเทศ นิพนธ์ วิสุทธิมรรคทีปนี ไม่ปรากฎปีที่นิพนธ์
พระสังปราชญ์(หลายรูป) ชาวเชียงใหม่ ไม่ปรากฏนาม  นิพนธ์ “ปัญญาสชาดก”หรือ “พระเจ้า 50 ชาติ” เมื่อช่วง พ.ศ. 2000-2200 ต้นฉบับล้านนา หายไป  มีฉบับสำเนาที่คัดลอกปรากฏที่ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา และพม่า ซึ่งพม่าเรียกว่า “ซิมเม่ปัณณาส” หรือ เชียงใหม่ปัณณาส 
พระพุทธพุกาม วัดบุปผาราม(สวนดอก เชียงใหม่) นิพนธ์ ตำนานมูลศาสนา (ภาษาล้านนา)
สมเด็จพระวันรัตน์ วัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม  นิพนธ์ 3 คัมภีร์ ได้แก่  สังคีติยวํส พ.ศ. 2332, จุลยุทธกาลวํส, และ มหายุทธกาลวํส นิพนธ์ในสมัยรัชกาลที่ 1
พระวิชิรญาณภิกขุ, (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ครั้งผนวช) นิพนธ์ บทสวด บันทึกการเดินทาง และบทวิจารณ์ ที่เป็นภาษาบาลี ช่วง พ.ศ. 2380-2394

2.1.5 ปราชญ์ฆราวาส สมัยพุกาม
         ในอาณาจักรพุกาม ความเป็นปราชญ์ทางศาสนาที่สามารถนิพนธ์คัมภีร์ มิได้จำกัดวง เฉพาะต้องเป็นสังฆะ หรือ บรรพชิตเท่านั้น คฤหัสถ์ที่มีภูมิรู้ภูมิธรรมทางศาสนาและภาษามคธดี ก็สามารถนิพนธ์ตำราได้ มาดูว่า เป็นผู้ใดบ้างในสมัยอาณาจักรพุกาม
         พระเจ้ากยฺจวฺา ชาวไทยเรียกว่า “กะยอชะวา” ตามพระนามาภิไธยว่า “พระธรรมราชา” ครองนครพุกาม พ.ศ. 1762 พระองค์ทรงแตกฉานในพระไตรปิฎก เชี่ยวชาญในภาษาบาลี นิพนธ์คัมภีร์ ชื่อ “สัททพินทุ”   และ “ปรมัตถพินทุ” จากคัมภีร์ สัททพินทู ฉบับย่อของพระเจ้ากยฺจวา พระสงฆ์ไทยนามว่า “พระสัทธัมมกิตติมหาผุสสเทวเถระ” วัดรัมมะ ชาวเมืองลำพูน ได้นิพนธ์ “สัททพินทุอภินวฎีกา” อธิบายสูตรย่อให้เข้าใจมากขึ้น
แม้แต่พระราชธิดาของพระเจ้ากฺยจฺวา ก็ทรงมีความสามารถนิพนธ์คัมภีร์ ชื่อ “วิภัตยัตถะ.อีกด้วย
อันที่จริง ในสมัยพุกาม ยังมีพระราชา สังฆปราชญ์ และเมธีฆราวาส ที่นิพนธ์คัมภีร์ทางศาสนา แปลภาษาบาลีสู่ภาษาพม่าอีกจำนวนมาก เห็นว่า ข้อมูลส่วนนี้พอจะหาอ่านสืบค้นได้โดยทั่วไป หากนำมาใส่ในรายละเอียด เนื้อหาจะมากเกินไปไปจึงขอข้ามไป
2.1.6 การเขียนพระไตรปิฎกลงในเล่มสมุดทารักปิดทอง (เอกลักษณ์ของพม่า)
         ธรรมเนียมการจารคัมภีร์ทางศาสนา เช่น พระเวท พระไตรปิฎก  ในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ลังกา เนปาล หรือ กลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ย้อนอายุไปถึง 5 ศตวรรษ ก่อนคริสตศักราช ที่นิยมจารลงในใบลาน เพราะวัสดุใบลานอายุการใช้งานที่ยาวนาน บางคัมภีร์ที่เก็บรักษาอย่างดี มีอายุถึงปัจจุบัน(พ.ศ.2562) ได้ 1,291 ปี คือจารในช่วง คริสตวรรษที่ 9 ระบุประมาณ ปี ค.ศ. 828 (พ.ศ.1371) เป็นคัมภีร์ใบลานที่มีอายุมากที่สุดในโลก ได้แก่ คัมภีร์ ชื่อ Pārameśvaratantra (ปรเมศวรตันตระ), หมวด Śaiva Siddhānta (ศิวสิทธานตะ) ของศาสนาฮินดู ที่จารึก ด้วยภาษาสันสกฤต พบที่ประเทศเนปาล ปัจจุบัน เก็บรักษาไว้ที่ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร์ [12] ส่วนที่ประเทศไทย พบคัมภีร์ใบลานที่มีอายุเก่าที่สุด เป็นอันดับ 2 ของโลก มีอายุประมาณ 550 ปี  คือ คัมภีร์ “ติงสนิบาต” จารโดย พระญาณรังสี เมื่อ ปี พ.ศ. 2014  ใช้ภาษา บาลี และภาษาล้านนา จารด้วยอักษรยวน หรือ ล้านนา ยังเก็บรักษาอยู่ในสภาพดี พบที่ วัดไหล่หิน ตำบลไหล่หินอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง  
เราทราบมาว่า หลังการทำสังคายนาครั้งที่ 4 ที่ประเทศศรีลังกา พระสงฆ์ก็ได้จารพระไตรปิฎก คำสอนทางพระพุทธศาสนาที่แต่ก่อนสืบทอดโดยปากสู่ปาก ลงสู่ใบลาน ในปี พ.ศ. 433 แต่ฉบับดั้งเดิมคงเสื่อมสูญสลายไปตามกาลเวลา แต่มีการจารคัดลอกจากรุ่นสู่รุ่น เพราะการรักษาคำสอนด้วยการคัดลอกคัมภีร์ นอกจากจะเป็นสืบอายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวถึง 5000 พระวัสสาแล้ว ผู้จารคัดลอกคัมภีร์ หรือผู้อุปถัมภ์การคัดลอกคัมภีร์ ถือว่าได้สร้างมหากุศลที่ยิ่งใหญ่  เสมือนการสร้างพระพุทธรูปไว้บูชา ตีคุณค่าว่า “การจารอักขระคำสอนแต่ละตัว มีค่าเสมอเท่ากับการสร้างพระพุทธรูปแต่ละองค์ๆ ดังคำประพันธ์เป็นคาถาบาลี ในท้ายคัมภีร์ “สาสนวํส” ว่า
                   อกฺขรา เอกํ เอกญฺจ                 พุทฺธรูปํ สมํ สิยา
                   ตสฺมา หิ ปณฺฑิโต โปโส             ลิกฺเขยฺย ปิฏกตฺตยํ [13]
แปลความโดยศาสตราจารย์ แสง มนวิทูร)ว่า “อักษรตัวหนึ่ง เท่ากับพระพุทธรูปองค์หนึ่ง
          เพราะฉะนั้น คนที่เป็นบัณฑิต ควรเขียน(พิมพ์) พระไตรปิฎกเถิด”  
นอกจากใบลานแล้ว วัสดุอื่นที่นำมาจารึกคัมภีร์ ก็มีหลายอย่าง เช่น เปลือกต้นไม้ กาบหมาก กาบอินทผะลำ   ซี่ไม่ไผ่  แผ่นไม้  แผ่นทำจากเยื่อไม้(กระดาษปาปิรัส สมุดข่อย กระดาษสา) หนังสัตว์ เขาสัตว์ งาช้าง กระดูกสัตว์ แผ่นทองเหลือง-ทองแดง แผ่นสังกะสี ผืนผ้าและเท่าที่หาได้
การทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 4 ในประเทศอินเดีย ประมาณพ.ศ.643 โดยพระเจ้ากนิษกมหาราช ที่นครกัสมีระ ได้จารึกพระไตรปิฎก(ฉบับภาษาสันสกฤต) และอรรถกถาลงในแผ่นทองแดง
โดยทั่ว หากเป็นคัมภีร์สำคัญทางศาสนา ชาวพุทธที่ลังกา พม่า ไทย ลาว กัมพูชา นิยมใช้ใบลานจารและเก็บเป็นผูก รักษาไว้ที่หอไตร หากเป็นหนังสืออื่น นอกจากคัมภีร์ทางศาสนา แม้จะใช้ใบลานจารึก แต่เป็นใบลาน ขนาดเล็ก หรือ สั้นบ้าง แต่จะนิยมจารึกด้วยวัสดุอื่นๆ ทำนองเล่มสมุด หรือ พับสา
จุดเปลี่ยนการเขียนพระไตรปิฎกจากใบลานสู่เล่มสมุดของพม่า
ประมาณ ปีพุทธศักราช 2219 หรือ จุลศักราช 1038 ในรัชสมัยของพระเจ้าสิริปวรมหาราชา พระองค์ทรงโปรดให้สร้างพระไตรปิฎก โดยเอาสมุดมาขัดด้วยน้ำรักน้ำเกลี้ยง แล้วเขียนอักษรด้วยหรดาล(อ่านว่า หอระดาน) ปิดทองคำ เป็นลายรดน้ำ นับแต่นั้นเป็นต้นมาจนทุกวันนี้ ในรัฐพม่า ใช้เขียนหนังสือกันด้วยวิธีนี้[14]

2.1.7 พุกาม นครแห่งพระสถูปเจดีย์ 4,000 องค์
       เมื่อไปถึงพุกาม ก็เห็นพุกามใหม่ และพุกามเก่า ก่อนเข้าเขตนครโบราณก็เห็นพระสถูปเจดีย์เรียงรายตามหมู่บ้านในเส้นทางเป็นระยะห่าง แต่เห็นทุกหมู่บ้านมีพระเจดีย์ ทาสีทองอร่าม ยิ่งเข้ามาในพื้นที่โบราณ  จำนวน วัดและพระเจดีย์ ขนาดต่างๆ มีมากละลานตาไปหมด มองไปทางใด สุดขอบฟ้า สุดสายตาเรา จะเห็นแต่ยอดพระเจดีย์ ซ้อนๆกันเต็มพื้นที่ สมแล้วที่เขาเรียกว่า เมืองแห่งทะเลพระเจดีย์ เคยอ่านนิราศนรินทร์ โคลงบทที่  3 ที่กวีพรรณนาความรุ่งเรืองพระพุทธศาสนาในไทย ตอน “รินรสพระธรรม” ว่า
                       เรืองเรืองไตรรัตน์พ้น                      พันแสง
                รินรสพระธรรมแสดง                   ค่ำเช้า
                เจดีย์ระดะแซง                          เสียดยอด
                ยลยิ่งแสงแก้วเก้า                                แก่นหล้าหลากสวรรค์ [15]      

       แสดงว่า เพียงแค่ นครบางกอก ในสมัยรัชกาลที่ 2 วัดวาอารามเจริญรุ่งเรือง มองไปทางใด ก็เห็นยอดพระเจดีย์จากวัดต่างๆ สูงเสียดฟ้า ซ้อนๆกันสุดสายตา น่าอัศจรรย์ ยิ่งนัก นั่นที่เมืองไทย
แต่เมื่อมาถึงพุกาม ได้เห็นของจริง โอ.. ธัมโม.. สังโฆ... สถานที่ตั้งพระเจดีย์ ก็คือวัดต่างๆ พระเจดีย์ที่มีขนาดมหึมา ใหญ่โตพอๆ กับพระปฐมเจดีย์ ที่จังหวัดนครปฐม  เท่ากับพระเจดีย์ภูเขาทอง ที่วัดสระเกศ หรือ ขนาดเท่ากับพระปรางวัดอรุณ กรุงเทพฯ มีจำนวนเป็นครึ่งร้อยองค์ พระเจดีย์ที่มีขนาดย่อมลงมา เท่ากับพระเจดีย์วัดพระเชตุพนฯ ท่าเตียน  จำนวนเป็นพันองค์ ที่มีขนาดกระปริดกระปรอย เท่าพระเจดีย์ที่เราสร้างในวัดทั่วๆไป มีจำนวนหลายพันองค์   สมแล้วที่เรียกว่า “นครแห่งทะเลเจดีย์”
แต่ก่อน พุกามในสมัยรุ่งเรือง (มีระยะการปกครอง 250 ปี) เคยมีเจดีย์มากมายถึง 10,000(หมื่น)องค์ ที่ทำการสำรวจและบันทึกเอาไว้มีจำนวน 4,446 องค์ ปัจจุบัน เหลือพระเจดีย์เพียงแค่ 2,217 องค์(หายไปครึ่งหนึ่ง)  ทั้งนี้ เพราะเสื่อมและทรุดโทรมไปตามกาลเวลาบ้าง ถูกรื้อถอนเอาอิฐมาสร้างเป็นกำแพงเมือง ทำหอรบในสงครามครั้งสุดท้ายของพุกาม  กับพระเจ้ากุบไลข่าน แห่งมองโกลบ้าง    ที่น่าเสียดายมากก็คือ ภัยจากธรรมชาติ เมื่อ 2 ปี ที่ผ่านมา ประเทศพม่าประสบกับแผ่นดินไหวใหญ่ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 เวลา 16.40 น.(เวลาท้องถิ่น)  มีข่าวรายงานว่า พระเจดีย์โค่นล้มเสียหายไปกว่า 66 องค์ แต่มีรายงานบันทึกว่า เสียหายประมาณ 4 หลัง ในคราวแม่น้ำอิรวดีเกิดน้ำท่วมใหญ่ น้ำล้นตะหลิ่ง พลังน้ำได้กัดเซาะตะหลิ่งเข้ามาถึงฐานพระเจดีย์ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ และกระแสน้ำได้ดูดกลืนพระเจดีย์ทั้งองค์พังทะลายหายวับไปต่อหน้าต่อตา  นับแต่นี้ไป พระเจดีย์ที่พุกามก็ยิ่งนับวันจะเหลือน้อยลงไปทุกที
พระเจดีย์สำคัญที่พุกาม คือ  พระมหาธาตุเจดีย์ชเวสิกอง (Shwezigon Pagoda) เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ สวยงาม มีความสูงราว 53 เมตร หรือ 160 ฟุต สร้างถวายเป็นพุทธบูชา โดยพระเจ้าอนุรุทธ เพื่อบรรจุพระสารีริกธาตุส่วนพระนลาฏที่นำมาจาก สุธรรมนคร และ พระทันตธาตุ(พระเขี้ยวแก้ว) ที่อ้างว่า ได้รับมาจากศรีลังกา  เป็นเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์และเก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง เป็นที่เคารพนับถือของชาวพม่า และนับเป็น 1 ใน 5 มหาบูชาสถานของประเทศพม่า คือ
1. พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง บรรจุพระเกศาธาตุ นครย่างกุ้ง
2. พระมหาธาตุเจดีย์ชเวสิกอง บรรจุพระสารีริกธาตุส่วนพระนลาฏ และพระทันตธาตุ แห่งพุกาม
3. พระเจดีย์ชเวมอดอว์ หรือ พระธาตุมุเตา เป็น เจดีย์ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองหงสาวดี มีอายุเก่าแก่ยาวนานกว่า 2,000 ปี
4. พระเจดีย์ชเวซานดอร์ เมืองแปร(บางข้อมูล ให้นับพระธาตุอินแขวนแทนพระเจดีย์องค์นี้)   และ
5. พระมหามัยมุนี วัดมหามัยมุนี แห่งเมือง มัณฑะเลย์

พระเจดีย์ที่สูงที่สุดคือ พระเจดีย์วัดสัพพัญญู(Thatbyinnyu Temple) เป็นเจดีย์เก่าแก่ของเมืองพุกาม สร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 12 โดย พระเจ้าอลองสิทธู เป็นเจดีย์ที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดในบรรดาเจดีย์หลายพันองค์ทั่วเมือง โดยมีความสูงอยู่ที่ 61 เมตร ภายในมี 5 ชั้น เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปน้อยใหญ่ และมีส่วนที่เป็นหอพระไตรปิฎก วัดที่ใหญ่อีกวัดหนึ่งวิหารธรรมยังจี (Dhammayangyi Temple) สร้างขึ้นด้วยอิฐสีแดง อิฐทุกก้อนสมานกันแนบสนิท แม้เข็มเพียง 1 เล่ม ก็สอดเข้าไปไม่ได้
วัดที่สวยงามมีศิลปะแบบพุกาม ที่ละเลยมิได้เลยคือ วัดอานันดา หรือ อานันทะ วัดอนันดา สร้างขึ้นในปี พ.ศ.1633 ในสมัยของพระเจ้าจันสิทธา กษัตริย์พระองค์ที่ 3 แห่งอาณาจักรพุกาม เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนภูเขานันทมูล พื้นที่ของวัดอนันดา มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส และมีซุ้มประตูสี่ทิศ รูปทรงเหมือนไม้กางเขนแบบตะวันตก  เป็นวิหารที่เดินเข้าไปชมข้างในได้ มีซุ้ม 4 ซุ้ม ประดิษฐาน พระพุทธรูปยืนจาก ไม้สักแกะสลักท่อนเดียว สูง 9.5  เมตร ปิดทองทั้งองค์   มีจำนวน 4 องค์ ใน 4 ทิศ อยู่ภายในพระวิหาร เป็นตัวแทนพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้แล้ว 4 พระองค์ [16]
ชาวพุทธพม่าจึงนิยมสร้างพระสถูปเจดีย์ ขนาดที่พุกามถูกเรียกว่า ทะเลพระเจดีย์ ?
พระสถูป หรือ พระเจดีย์ ได้แก่ สิ่งที่ก่อขึ้น  ที่เคารพบูชา  สิ่งที่เตือนใจให้ระลึกถึง ในที่นี้หมายถึง สถานที่หรือสิ่งที่เคารพบูชาเนื่องด้วยพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธศาสนา เรียกเต็มว่า สัมมาสัมพุทธเจดีย์ หรือ พุทธเจดีย์ เป็นที่เก็บอัฐิธาตุ สารีริกธาตุ อังคารธาตุ หรือ อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของผู้ที่เราเคารพนับถือ เช่น พระศาสดา พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก หรือ พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม  และทำการกราบไหว้บูชา ผู้ที่เราควรเก็บธาตุและสร้างสถูปไว้บูชาเรียกว่า (ถูปารหบุคคล) การสร้างสถูป หรือเจดีย์ นับว่าเป็นการสร้างมหาบุญที่ยิ่งใหญ่ (ตำนานนอกพระไตรปิฎก ยังอ้างว่า ผู้ใดทำอนันตริยกรรม เช่น ปิตุฆาต มาตุฆาต ก็สร้างพระเจดีย์ หรือธาตุ ไถ่โทษบาปหนักได้ เช่น นิทานพระธาตุกล่องข้าวน้อยฆ่าแม่ เป็นต้น)    อานิสงส์ผู้สร้างสถูปเจดีย์ และบูชาพระเจดีย์จะไม่ไปสู่อบายภูมิ มีสุคติเป็นที่หวัง ดังความในมหาปรินิพพานสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า
 “ถูปารหบุคคล 4 จำพวก  คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า  สาวกของพระตถาคต พระเจ้าจักรพรรดิ ...บุคคลมีจิตให้เลื่อมใสว่า นี้เป็นสถูปของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า...เป็นสถูปของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า...เป็นสถูปของสาวก..เป็นสถูปของพระธรรมราชา...พวกเขายังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว ครั้นสิ้นชีวิต ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์”[17]
และที่ทรงตรัสเกี่ยวกับสังเวชนียสถานทั้ง 4 ว่า เป็น “เจดีย์” ที่เรียกว่า บริโภคเจดีย์ ในเจดีย์ 4 ประเภท คือ (1) ธาตุเจดีย์ (เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ)  (2) บริโภคเจดีย์ (เจดีย์คือสิ่งหรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย อย่างแคบหมายถึงต้นโพธิ์ อย่างกว้าง หมายถึงสังเวชนียสถาน) (4) ตลอดจนสิ่งทั้งปวงที่พระพุทธเจ้าเคยทรงบริโภค เช่น บาตร จีวร และบริขารอื่นๆ เป็นต้น   (3) ธรรมเจดีย์ (เจดีย์บรรจุพระธรรม เช่น บรรจุใบลานจารึกพุทธพจน์แสดงหลักปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น  (4) อุทเทสิกเจดีย์ (เจดีย์สร้างอุทิศพระพุทธเจ้า ได้แก่ พระพุทธรูป) [18]
  ดังความปรากฏในมหาปรินิพพานสูตรว่า
สังเวชนียสถาน 4 แห่ง เป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา คือ (1) สถานที่พระตถาคตประสูติ
(2) สถานที่พระตถาคตตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (3) สถานที่พระตถาคตทรงประกาศธรรมจักรและ (4) สถานที่พระตถาคตเสด็จปรินิพพาน ... ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จักมาด้วยความเชื่อว่า พระตถาคตประสูติในที่นี้...ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้...แสดงธรรมจักร...ปรินิพพานในที่นี้
...เที่ยวจาริกไปยังเจดีย์ มีจิตเลื่อมใสแล้ว จักทำกาละลง...จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์[19]
          ผู้เรียบเรียงพอจะถอดกระแสนิยมการสร้างพระสถูปเจดีย์ของชาวพุทธพม่าได้ ดังนี้
ประการที่ 1 เป็นการสร้างมหากุศลที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต ด้วยยึดถือทิฏฐานุคติจากคำสั่งสอนในมหาปรินิพพานสูตร ทั้งด้วยคติการสร้างมหากุศลที่ชาวพม่าถือตามประเพณีว่า “การทำบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต ก็คือการได้สร้างพระเจดีย์ หรือร่วมสร้างพระเจดีย์ จะได้ผลานิสงส์มหาศาล”  กษัตริย์ ขุนนาง เศรษฐี คหบดี พระสงฆ์ และชาวบ้านจึงถือเป็นประเพณีว่า เมื่อมีความสามารถก็ต้องสร้างพระเจดีย์และสร้างวัด
ประการที่ 2 เป็นการสร้างอนุสรณ์สถานและอนุสาวรีย์ประจำตะกูล จากตำนานปรัมปรา นับแต่นับถือพระพุทธศาสนา เมืองพม่า อุดมไปด้วยพระธาตุของพระพุทธเจ้า และพระอรหันตธาตุ เช่น ตปุสสะ ภัลลิกะ นำพระเกศาธาตุที่ได้รับประทานจากพุทธเจ้า 8 พระองค์ แล้วมาสร้างพระเจดีย์ชเวดากอง บรรจุพระเกศาธาตุเอาไว้บูชา ที่อุกกละ(ย้างกุ้ง), พระเจ้าทวัตโปงคะ เมืองศรีเกษตร สร้างพระเจดีย์ 6 องค์, ที่เมืองพะโค หรือ หงสาวดี มีพระเจดีย์ชื่อ ชเวดอมอร์ หรือพระธาตุมุเตา   ที่เมืองสะเทิม หรือ สุธรรมวดี การพระศาสนารุ่งเรือง พระสงฆ์ทรงไตรปิฎก พระราชารอบรู้พระไตรปิฎก มีการสร้าสถูปเจดีย์ที่บรรจุพระสารีริกธาตุมากมาย เมื่อพระอนุรุทธ ปราบราชามโนหาร์ได้ ก็ให้นำพระสารีริกธาตุ โดยเฉพาะ พระธาตุส่วนพนะนลาฏ และ พระทันตธาตุ จากสุธรรมนคร มาสร้างพระเจดีย์ชเวซิกองเป็นแบบอย่าง จากนั้น อนุชนราชา ต่างก็ได้ถือเป็นธรรมเนียมว่า ใครเป็นกษัตริย์ก็ต้องสร้างวัดและพระเจดีย์ประจำรัชกาล เป็นเวลา 250 ปี หากนับคร่าว สร้างปีละ 10 พระเจดีย์หรือวัด ก็จะมีเกือบ 3,000 พระเจดีย์
ประการที่ 3  เป็นการสร้างเพื่อประดิษฐานสิ่งเคารพบูชาอื่น ๆ การสร้างพระเจดีย์วิหาร ที่เป็นสถาปัตยกรรมทางศาสนา นอกจากการสร้างเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หรือ พระธาตุแล้ว ยังสร้างเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป  พระพุทธบาท พระไตรปิฎก ถือว่าเป็นการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา ได้อานิสงส์มหาศาล เรื่องความเชื่อทำนองนี้ มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์อปาทาน พระสุตตันตปิฎกที่เล่าถึงบุรพกุศลที่พระเถระ พระเถรี ที่ทำในบางก่อน ที่เกี่ยวกับการสร้างพระเจดีย์ สร้างวิหาร หรือการกราบไหว้บูชาพระเจดีย์วิหาร ทางล้านนาก็มีคัมภีร์อานิสงส์การสร้างเจดีย์ หลายสำนวน โดยอ้างพระปิณฑธานเถระ ที่ถวายเพียงก้อนดิน 1 ก้อน ช่วยเขาสร้างพระเจดีย์ ยังได้อานิสงส์ บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้
(โปรดอ่านต่อตอนที่ 5)



[1] ศาสนวงศ์, หน้า 56.
[2] สาสนวํส, หน้า 54-55.
[3] ดวงกมล การไทย, (2559), เมียนมา – ศาสนาและความเชื่อ, บทความลงในฐานข้อมูลสังคม – วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(Database of Southeast Asian Sociocultural Information) เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2559. สืบค้นจาก http://www.sac.or.th/databases/southeastasia/subject.php?c_id=6&sj_id=57 วีนที่ 26 พฤษภาคม 2562.
[4] วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, (2551):143-144.
[5] เรื่องเดียวกัน หน้า 168.
[6] สานสวํส, หน้า 64-65.
[7] สาสนวํส, หน้า 92-93.
[8] พงศาวดารพม่าฉบับหอแก้ว  แปลโดย นายต่อ. (2545). มหาราชวงษ์ พงศาวดารพม่า. กรุงเทพฯ : มติชน. ข้อมูลจากเพจ: รามัญคดี – MON Studies. เขียนโดย อาโด๊ด วันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2561
[9] สาสนวํส, หน้า 111.
[10] https://th.wikipedia.org/wiki/คัมภีร์ทางศาสนาพุทธในประเทศไทย สืบค้นวันที่ 22 พฤษภาคม 2562.
[11] พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, (2556), เวสสันตรทีปนี : สารคุณค่าและนัยสำคัญต่อวิถีสังคมและวัฒนธรรมล้านนา, ในหนังสือ ตามรอยพระสิริมังคลาจารย์, เชียงใหม่ :  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิยาเขตเชียงใหม่, หน้า 25-27.
[12] https://en.wikipedia.org/wiki/Palm-leaf_manuscript สืบค้น วันที่ 21 พฤษภาคม 2562  HomeSanskrit Manuscripts MS Add.1049.1 Pārameśvaratantra (MS Add.1049.1) One of the oldest known dated Sanskrit manuscripts from South Asia, this specimen transmits a substantial portion of the Pārameśvaratantra, a scripture of the Śaiva Siddhānta, one of the Tantric theological schools that taught the worship of Śiva as "Supreme Lord" (the literal meaning of Parameśvara). No other manuscript of this work is known, but nine chapters are transmitted in the Prāyaścittasamuccaya of Hṛdayaśiva (see Add. 2833), where the work is referred to as the Puskaratantra or Puṣkara-Pārameśvaratantra (see Goodall 1998, particularly p. xliii). According to the colophon, it was copied in the year 252, which some scholars judge to be of the era established by the Nepalese king Aṃśuvarman (also known as Mānadeva), therefore corresponding to 828 CE.
[13] สาสนวํส, หน้า 192.
[14] สาสนวํส, หน้า 171.
[15] นิราศนรินทร์, แต่งโดยนายนรินทร์ธิเบศ(อิน), 2352, อ้างอิงจาก พ. ณ ประมวญมารค, (2513), นิราศนรินทร์คำโคลงและนิราศปลีกย่อย. พระนคร : แพร่พิทยา..
[16] https://palanla.com/index.
[17] ที.ม.(มหาปรินิพพานสูตร), 9/134/
[18] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), (2547), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรรม ข้อ 141.
[19]  ที.ม.(มหาปรินิพพานสูตร), 9/131/