แจ้งข่าวนักศึกษา012173

วันพุธที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2561

คุณธรรมสำหรับการบริหารงานยุคใหม่

คุณธรรมสำหรับการบริหารงานยุคใหม่ [1]

ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์, รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
เรียบเรียงเพื่อการบรรยาย คุณธรรมและจริยธรรมในการบริหารงานยุคใหม่ แด่บุคลากรสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์กรมหาชน) ที่ห้องล้านนา โรงแรมเชียงใหม่ฮิลล์ เชียงใหม่ วันที่ 18 กันยายน 2555 เวลา 10.30 - 16.30 น.

--------------------
1. การบริหารงานยุคใหม่  Vision & Action
1. Vision without Action is merely a Dream
 วิสัยทัศน์ที่ปราศจากการปฏิบัติก็เป็นเพียงความฝัน
2. Action without Vision just passes time
 การปฏิบัติที่ปราศจากวิสัยทัศน์ ก็เป็นเพียงปล่อยเวลาให้ผ่านไป
3. Vision & Action can Change the World.
 วิสัยทัศน์ที่มีการปฏิบัติสามารถเปลี่ยนแปลงโลก
Joel A. Barker
2. เป้าหมายขององค์กรในการคัดเลือกคนร่วมงาน
          ต้องการคนทำงานที่มีความรู้ดี ความสามารถสูง(เก่ง)   มีบุคลิกดี มีมนุษยสัมพันธ์ดี วางตัวเหมาะสมและเป็นคนดี เรียกว่า “คนมีคุณภาพ”
3. คุณภาพของคน 
โบราณกล่าวไว้ว่า คุณภาพของคน แบ่งออกได้ 4 ประเภท คือ
1. ประเภทฉลาดและขยัน (ให้เลี้ยงไว้ ถ้าส่งเสริมให้ดีแล้วต่อไปภายภาคหน้าจะได้เป็นผู้นำเป็นหัวหน้าหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพ)
2. ประเภทฉลาดแต่ขี้เกียจ (ให้ทำงานในเรื่องที่เกี่ยวกับความคิด หรือ วางแผน)
3. ประเภทโง่และขี้เกียจ (คอยจับตาดูหรือคอยแนะนำให้ทำตามเท่านั้น ปล่อยให้ทำเองไม่ได้   มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่ง)
4. ประเภทโง่แต่ขยัน (มีอันตราย ไม่ว่าจะให้อยู่ในตำแหน่งหน้าที่ใด ก็ก่อความวุ่นวายเดือดร้อนได้ง่าย พวกที่จัดอยู่ในประเภทหลังนี้ เก็บไว้ไม่เป็นประโยชน์อะไรต่อหน่วยงานหรือสังคม)
          คนที่มีคุณภาพ พลัง สติปัญญา ที่สมดุล  ประกอบด้วย 5 Qs
IQ : Intelligence Quotient (William Stern; German psychologist)
EQ : Emotional Intelligence Quotient (Daniel Goleman)
MQ : Moral Quotient
(Loys de Fleuriot)
AQ : Adversity Quotient (Dr. Paul G. Stoltz)
OQ : Organizational  Quotient
(Katzenbach Partners)
4. ปัญหาหลักของคนทำงาน
 การทำงานในองค์กรใดๆ ผู้ทำงานย่อมหลีกเลี่ยงจากปัญหาได้ยาก ไม่ควรหลีกหนีปัญหา ควรมองให้เห็นปัญหา(จุดอ่อน) และหาทางแก้ไข เยียวยา และป้องกัน ปัญหาหลัก ๆ ประมวลออกมาได้ 4 ด้าน คือ
1. ปัญหาตน  คนเรามักไม่รู้จักตนดีพอ ทำอะไรก็เข้าข้างตนเอง และมุ่งตนเองเป็นหลัก
2. ปัญหาคน  คนเรามีจริต(อุปนิสัย)แตกต่างกัน ค่านิยม วิถีดำเนินชีวิต อุดมการณ์ต่างกัน
3. ปัญหางาน ภาระงานที่ปฏิบัติย่อมมีลักษณะเฉพาะ มีความละเอียดล้ำลึกแตกต่างกัน
4. ปัญหาเวลา  แม้ทุกคนจะมีเวลาเท่ากัน แต่ก็ไม่ง่ายในการจัดลำดับอะไรก่อนหลัง
5. หลักการตรวจสอบอุปนิสัยของคน
          การดูคนมีอยู่  7 วิธี คือ
1. ยุแหย่ด้วยเรื่องร้ายดีแล้วสังเกตดู “ปณิธาน” (ความตั้งมั่นในร้าย/ดี)
2. ติเตียน/กล่าวโทษให้อับจนแล้วสังเกตดู "ปฏิภาณ" (ไหวพริบ การเอาตัวรอด)
3. สอบถามซึ่งกลยุทธ์แล้วสังเกตดู “ปัญญา”
4. บอกกล่าวซึ่งเคราะห์ภัยแล้วสังเกตดู “ความกล้า”
5. มอมเมาด้วยสุราแล้วสังเกตดู “อุปนิสัย”
6. ผูกมัดด้วยอามิสสินจ้างแล้วสังเกตดู  “ความสุจริต”
7. มอบหมายภารกิจให้จัดการในเวลาอันจำกัดแล้วสังเกตดู “สัจจะ” 
พิเคราะห์นรลักษณ์ ดูจิตใจ พิเคราะห์ท่าทาง ดูความสง่า  พิเคราะห์วาจา ดูคุณธรรม
หยั่งปฎิภาณ ดูความคิด  หยอกล้อ ดูความหนักแน่น ยั่วยุ ดูความตั้งมั่น เยินยอ ดูสติ นิ่งเฉย ดูความเคลื่อนไหว
6. วิธีแก้ปัญหา
การแก้ปัญหาต้องให้เข้ากับเรื่อง เกาให้ถูกที่คัน ใช้เครื่องมือที่เหมาะสม ดุจแพทย์วางยาให้ถูกกับโรค ในทางศาสนาท่านแนะนำว่า ต้องแก้ด้วยการนำคุณธรรมมาใช้ คือ
                         1. ความซื่อสัตย์สุจริต  ใช้แก้ปัญหาตน
                         2. ความยุติธรรม        ใช้แก้ปัญหาคน
                         3. ใช้หลักวิชาการ       ใช้แก้ปัญหางาน
                         4. การรู้จักบริหารเวลา  ใช้แก้ปัญหาเรื่องเวลา
7. หลักการบริหารเวลา [2]
สถาบันศึกษาทุกแห่งที่สอนวิชาการบริหารธุรกิจจึงมีหลักสูตรเกี่ยวกับ การบริหารเวลา
 ครั้งหนึ่งใน “สามก๊ก” เล่าปี่ขอขงเบ้งให้แนะนำวิธีสร้างตนให้เป็นมหาเศรษฐีแห่งดินแดน  ขงเบ้งว่างานใหญ่เช่นนี้ต้องวางแผนและรู้จักบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ   
เล่าปี่กล่าวว่า “ข้าฯ เห็นด้วยในหลักการแต่ทว่าข้าฯมีงานมากมายที่ต้องทำทุกวันจนเวียนเกล้าเวียน ศีรษะ ไม่เคยมีเวลาพอที่จะจัดการทุกสิ่งทุกอย่างได้เลย
          ขงเบ้งบอกลูกน้องให้ไปเตรียมก้อนหิน ก้อนกรวด ก้อนทราย และน้ำจำนวนหนึ่งพร้อมถังเหล็กใหญ่หนึ่งใบ
          เล่าปี่ถามด้วยความแปลกใจ ท่านเตรียมสิ่งเหล่านี้ไว้เพื่ออะไร
          ขงเบ้งยิ้มอย่างมีเลศนัยพร้อมกับตอบด้วยคำถามว่า ท่านบริหารเวลาด้วยวิธีใด
          เล่าปี่ตอบว่า ข้าฯเคยคิดว่าข้าฯมีเทคนิคที่ดีอยู่แล้วคือใช้วิธีมอบหมาย ข้าฯมีผู้ช่วยอยู่รอบด้านตั้งแต่กวนอู เตียวหุย เจ้าหยุน ฯลฯ ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ด้านต่างๆ แต่งานทั้งหลายก็ยังพันกันอีนุงตุงนัง ไม่สามารถปรับให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีขึ้นได้ เดิมข้าฯคิดว่าข้าฯ คือ แมลงวันไม่มีหัวอยู่ตัวเดียว แต่หลังการใช้ระบบมอบหมายงานกลับกลายเป็นว่า ปัจจุบันมีแมลงวันหัวขาดเป็นฝูง
            ขงเบ้งฟังแล้วจึงเริ่มอธิบายว่าเทคนิคการบริหารเวลาสามารถแบ่งเป็นสูง กลาง และต่ำ สามขั้น  ขั้นต่ำเน้นการใช้เศษกระดาษบันทึก  ขั้นกลางเน้นการใช้แผนดำเนินงาน และตารางโปรแกรมประจำวันซึ่งสะท้อนความสำคัญของการวางแผน ส่วนขั้นสูงเน้นการจัดการโดยแบ่งแยกประเภทของหน้าที่การงานตามดีกรีความ สำคัญของงาน เพื่อพิจารณาลำดับความเร่งด่วนในการจัดการงานดังกล่าว  ทั้งสามขั้นต่างมีเรื่องการมอบหมายงานเกี่ยวข้องอยู่ด้วยตามความต้องการของ ปริมาณและลักษณะเฉพาะของงานแต่ละชิ้น
          เล่าปี่สารภาพว่า หากพิจารณาตามการแบ่งขั้นของเทคนิคการบริหารเวลาแล้ว ข้าฯ ยอมรับว่าวิธีของข้าฯอยู่ที่ขั้นต่ำ เพราะใช้แค่สลิปบันทึก
           ขงเบ้งชี้ไปที่ถังเหล็กกับกองวัสดุที่ผู้ช่วยได้เตรียมไว้มุมห้องพร้อมกล่าวว่า คำตอบของการบริหารขั้นสูงอยู่ในถังเหล็กใบใหญ่นี่แหละ!  ความจุของถังใบนี้ เปรียบเสมือนขีดความสามารถของคนคนหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง ก้อนกรวดเปรียบได้กับงานที่สำคัญและเร่งด่วน  ก้อนหินคือภาระที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน  เม็ดทรายเปรียบได้กับภาระที่เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ และน้ำคือหน้าที่ที่ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน
          ขงเบ้งอธิบายพลางวาดผังประกอบคำอธิบายดังตารางประกอบด้านล่างนี้
           “ปกติท่านเน้นงานประเภทใด”  ขงเบ้งถาม
          “ก็ต้องเป็นประเภท ก.”  เล่าปี่ตอบอย่างไม่ลังเล
          “แล้วงานประเภท ข. ล่ะ” ขงเบ้งถามต่อไป
          เล่าปี่ตอบ ข้าฯ ตระหนักถึงความสำคัญของงานประเภท ข. แต่ไม่มีเวลาพอที่จะสนใจมัน
          “เป็นอย่างนี้ใช่ไหม”  ขงเบ้งถามพลางใส่กรวดลงไปในถังเหล็กจนเต็มแล้วพยายาม
   ใส่ก้อนหินตามซึ่งใส่ไม่ได้ 
เล่าปี่ตอบ ใช่”
          “และหากเปลี่ยนวิธีบรรจุใหม่ล่ะ”  ขงเบ้งถามต่อพลางใส่ก้อนหินทีละก้อนเข้าไปในถังก่อนจนใส่ไม่ได้แล้วจึงถามเล่าปี่อีกว่า  “ตอนนี้ถังเหล็กเต็มแล้วจะใส่ลงไปอีกไม่ได้ใช่ไหม”  
เล่าปี่ตอบ ใช่“  
          “จริงหรือ”  ขงเบ้งถามแล้วหยิบก้อนกรวดใส่เข้าไปข้างบนถังแล้วเขย่าให้ก้อนกรวดตกลงไปในถังจนหมด 
บัดนี้ถังเหล็กใบนี้ใส่อะไรลงไปอีกได้หรือไม่ขงเบ้งพูดพลางเทเม็ดทรายลงไปจนหมด 
แล้วทีนี้ล่ะ ใส่อะไรลงไปอีกได้ไหม”  ขงเบ้งถามต่อ
แต่ก่อนที่เล่าปี่มีโอกาสตอบ ขงเบ้งก็ตักน้ำที่เตรียมไว้ใส่ลงไปในถังเหล็กอีกจนหมด  “ตอนนี้ท่านเข้าใจความหมายของการทดลองนี้หรือยัง”
 เล่าปี่ตอบ เข้าใจแล้ว นี่คือสิ่งที่ท่านกล่าวถึงเมื่อสักครู่เกี่ยวกับการจัดการแบบแยกประเภทและเลือกการจัดการก่อนหลังใช่ไหม
          ขงเบ้งตอบ ใช่แล้ว  การทดลองชี้ให้เห็นว่าหากถังเหล็กตั้งแต่แรกก็เติมเต็มด้วยก้อนกรวด ทราย  และน้ำ  ก็คงไม่มีโอกาสใส่ก้อนหินลงไปได้  แต่ถ้าใส่ก้อนหินลงไปก่อน  ในถังยังมีเนื้อที่ที่จะใส่สิ่งอื่นๆเข้าไปได้อีก ดังนั้น การบริหารเวลาที่ได้ผลต้องดูว่า อะไรคือก้อนหิน อะไรคือก้อนกรวด เม็ดทรายและน้ำ และไม่ว่าจะเป็นประการใดก็ต้องใส่ก้อนหินลงไปในถังเป็นอันดับแรก
เล่าปี่ยังถามว่า แล้วการวิเคราะห์แยกแยะเรื่องต่างๆออกเป็นสี่หมวดนี้มีผลอย่างไร
          ขงเบ้งตอบว่า บุคคลจำพวกที่ว้าวุ่นอยู่กับเรื่องราวประเภทก้อนกรวดย่อมมีความรู้สึกถูกเวลากดดันและวนเวียนอยู่ในแดนวิกฤตจนอ่อนล้า  พวกที่เน้นเรื่องประเภทเม็ดทรายจะขาดพลังสร้างสรรค์  ชอบฟังคำพูดเพราะหู คบคนแบบผิวเผิน  พวกที่นิยมเรื่องราวประเภทน้ำมักบกพร่องเรื่องสำนึกรับผิดชอบแม้กระทั่ง เรื่องสารทุกข์สุกดิบของตนเอง
          เล่าปี่ถามว่า เป็นไปได้ไหมที่ว่าถ้าเน้นก้อนหินมากเกินไปจะมองข้ามก้อนกรวด เพราะก้อนกรวดมากับความเร่งด่วน
          ท่านทราบไหมว่าก้อนกรวดมาจากไหน ก็มาจากก้อนหินที่แตกสลายขงเบ้งตอบ
คนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องประเภทก้อนหินจะมีก้อนกรวดน้อย  คนที่เน้นก้อนกรวดก็จะมีก้อนกรวดเยอะตลอด คนที่อิงเรื่องประเภทก้อนหินเป็นคนมีประสิทธิภาพ เพราะเขาจะเก่งในการวิเคราะห์สถานการณ์ เวลาและสิ่งแวดล้อม  สามารถจับประเด็นหลักของปัญหา สามารถจัดการกับเรื่องเร่งด่วนและควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกินกว่าเหตุ  กล้าฟันธงและใช้มาตรการป้องปราม  บุคคลจำพวกนี้จะมีวิสัยทัศน์  มีอุดมการณ์ เคารพ ระเบียบ สามารถควบคุมตัวเอง  ดำเนินชีวิตอย่างมีวินัย และสามารถทำงานชิ้นใหญ่ได้
การบริหารเวลา (Time Management)   การบริหารเวลามีหลักการที่สำคัญคือ
                   ทำทันเวลา 
ทำถูกเวลา 
ทำตามเวลา  
ทำตรงเวลา 
8. หลักธรรมสำหรับคนทำงาน (ราชวสตีธรรม)
ปญฺญวา พุทฺธิสมฺปนฺโน              วิธานวิธิโกวิโท
กาลญฺญู สมยญฺญู จ                 สราชวสตึ วเส.
(คำแปล) ผู้มีปัญญา, ถึงพร้อมด้วยความรู้, ฉลาดในวิธีการจัดงาน,
                   รู้กาลและรู้สมัย, เขาพึงอยู่ในราชการได้ดี.
เก็บความด้วยภาษาร่วมสมัยได้ว่า “เป็นข้าราชการต้องเป็นผู้สุขุมรอบคอบ ฉลาดในราชกิจ สามารถจัดการต่างๆ ให้ดำเนินไปโดยเรียบร้อย รู้จักกาล รู้จักสมัยว่าควรปฏิบัติอย่างไร”
          ที่มาของหลักธรรม
จากเรื่อง “วิธูรชาดก”  ในพระไตรปิฎก ขุททนิกาย  ชาดก  มหานิบาต เล่มที่ 28 และอรรถกถา      ขุททกนิกายชาดก มหานิบาต   ปุณณกยักษ์ ต้องการหัวใจของวิธูรบัณฑิต เพื่อไปเป็นค่าสินสอดแต่งภรรยานาคชื่อ อริทันตี ธิดาของพญานาควรุณ กลับ พระนางวิมลา ในนาคพิภพ
ราชวสดีธรรมอันเป็นธรรมสำหรับข้าราชการ จะพึงปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ในหน้าที่การงานและเพื่อเป็นหลักสำหรับ ยึดถือในการปฏิบัติหน้าที่และการแก้ไข ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น วิธูรบัณฑิตกล่าวเนื้อหาย่อๆ เกี่ยวกับราชวสดีธรรมว่า ในสมัยก่อน ผู้เข้าไปปฏิบัติราชกิจในราชสำนักจะต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ตั้งใจทำราชกิจทุกอย่างด้วยความเที่ยงตรง ต้องมีไหวพริบปฏิภาณ ต้องศึกษาข้อห้ามและข้ออนุญาตในราชสำนักจนแตกฉาน ต้องไม่คะนองกาย วาจา ไม่ขโมยทรัพย์จากพระคลังหลวง ไม่เห็นแก่นอน ไม่พึงดื่มสุราเมรัย ไม่พึงฆ่าเนื้อในสถานที่พระราชทานอภัยทาน
ไม่ควรวางใจว่า  พระราชาเป็นสหาย ไม่ควรถือตนว่าเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิตที่พระราชาทรงบูชา  เมื่อพระราชาทรงปูนบำเหน็จรางวัลให้แก่กรมกองต่างๆ ก็ให้มีมุทิตาจิต ต้องรู้โอนอ่อนผ่อนตามเหมือนคันธนู และพึงไหวตามเหมือนไม้ไผ่ พึงเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ต้องเลี้ยงดูมารดาบิดา หมั่นหาโอกาสเข้าหาสมณะพราหมณ์เพื่อสนทนาธรรมโดยเคารพ
สาธุนรธรรม 
          “ท่านจงเดินไปตามทางที่ท่านเดินไปแล้ว    จงอย่าเผาฝ่ามืออันชุ่ม  อย่าทำร้ายหมู่มิตรไม่ว่าในกาลไหน ๆ  และ อย่าตกอยู่ในอำนาจของสตรี (อสติ)
อธิบายสาธุนรธรรม
                             “ยสฺเสกรตฺติมฺปิ ฆเร วเสยฺย
                             ยตฺถนฺนปานํ ปุริโส ลเภถ
                             น ตสฺส ปาปํ มนสาปิ จินฺตเย
                             อลฺลญฺจ ปาณึ ทหเต มิตฺตทุพฺโภ ฯ
                  ยสฺส รุกฺขสฺส ฉายาย                 นิสีเทยฺย สเยยฺย วา
                น ตสฺส สาขํ ภญฺเชยฺย                  มิตฺตทุพฺโภ หิ ปาปโก
          (แปล) บุคคลอยู่ในเรือนของผู้ใดแม้คืนเดียว ได้กินข้าวและดื่มนํ้าแล้ว ไม่ควรคิดร้ายแก่ผู้นั้นแม้ด้วยใจ ผู้คิดร้ายต่อบุคคลเช่นนั้น ชื่อว่าเผาฝ่ามืออันชุ่ม และชื่อว่าประทุษร้ายมิตร บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่ควรหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม
ขยายความในสาธุนรธรรม
          บุคคลใดเชื้อเชิญคนที่ไม่รู้จักมักคุ้น ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนให้นั่งในบ้าน ควรทำประโยชน์แก่เขาคนนั้นโดยแท้   บัณฑิตทั้งหลายกล่าวสรรเสริญบุรุษนั้นว่า    ผู้เดินไปตามทางที่ท่านเดินแล้ว  
บุคคลพักอาศัยในเรือนของผู้ใด แม้แต่คืนเดียว  ได้รับการเลี้ยงดูด้วยข้าวน้ำโภชนาหารอย่างดี    แม้แต่ใจก็ไม่ควรคิดร้ายผู้นั้น ผู้คิดร้ายต่อบุคคลเช่นนั้น ชื่อว่า เผาฝ่ามืออันชุ่ม และชื่อว่าประทุษร้ายมิตร 
บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่ควรหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น  เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเช่นนั้น  เป็นคนเนรคุณ 
สตรีที่สามียกย่องอย่างดี  ถึงกับให้ดูแลทรัพย์สินทั้งหมด  ครั้นได้โอกาสแล้วกลับดูหมิ่นสามีของตน   บุคคลไม่ควรตกอยู่ในอำนาจของหญิงเช่นนั้น   ผู้ชื่อว่า  อสตี  
9. การปลูกฝัง ศีลธรรม จริยธรรม คุณธรรม
          ควรเกิดความชัดเจนใน  3 คำนี้ ก่อน
ศีลธรรม(Morality) : จริยธรรมที่ปลูกฝังไว้ในจิตสำนึก นำไปสู่การปฏิบัติชอบ รู้ชั่วดี ยึดมั่นในสิ่งที่ดี
จริยธรรม (Ethics) : การประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีงาม มีศีลธรรม นำไปสู่ความสุข เช่น ความมีระเบียบวินัย มีสัมมาคารวะ อ่อนน้อมถ่อมตน พูดจาไพเราะ สุภาพ ขยันหมั่นเพียร
คุณธรรม (Virtue ) : คุณความดีที่ประพฤติปฏิบัติ นำไปสู่ความพ้นทุกข์ ทำให้เกิดความสุข
การแก้ปัญหาทางจริยธรรม มี  2 กรอบแนวคิด
          1.  แก้รายบุคคล เชิงปัจเจก  เปลี่ยนค่านิยมสู่ทางที่ถูกต้อง ปฏิบัติตนตามหลักคุณธรรมที่ดีงาม
          2.  แก้ภาพรวม เชิงโครงสร้าง  หรือ ระบบ  ดูค่านิยมของสังคม กระแสโลกาภิวัตน์
10. หลักคุณธรรมในการครองตน
          เป็นคนดี (กัลยาณชน)
1. ดำเนินชีวิตตามหลักธรรมของศาสนา
สุจริต 3 (กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต) เว้นทุจริต
เบญจศีล เบญจธรรม
ห่างไกลอบายมุข(ทางแห่งความฉิบหาย, เหตุแห่งความ ฉิบหาย, มี 2หมวด คือ อบายมุข 4 ได้แก่ 1. เป็นนักเลงหญิง 2. เป็นนักเลงสุรา 3. เป็นนักเลงเล่นการพนัน 4. คบคนชั่วเป็นมิตร กับ อบายมุข 6 ได้แก่ 1. ดื่มนํ้าเมา 2. เที่ยวกลางคืน 3. เที่ยวดูการเล่น 4. เล่นการพนัน 5. คบคนชั่วเป็นมิตร 6. เกียจคร้านทําการงาน.
หลักธรรมเพื่อประโยชน์ปัจจุบัน  4 (อุ กา กะ สะ)
สัปปุริสธรรม 7 [3](ธรรมของสัตบุรุษ, ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ, คุณสมบัติของคนดี, ธรรมของผู้ดี — qualities of a good man; virtues of a gentleman)
                    1. ธัมมัญญุตา (ความรู้จักธรรม รู้หลัก หรือ รู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล เช่น ภิกษุรู้ว่าหลักธรรมข้อนั้นๆ คืออะไร มีอะไรบ้าง พระมหากษัตริย์ทรงทราบว่าหลักการปกครองตามราชประเพณีเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุอันนี้ๆ หรือกระทำตามหลักการข้อนี้ๆ จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการอันนั้นๆ เป็นต้น — knowing the law; knowing the cause)
                    2. อัตถัญญุตา (ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือ รู้จักผล คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำหรือความเป็นไปตามหลัก เช่น รู้ว่าหลักธรรมหรือภาษิตข้อนั้นๆ มีความหมายว่าอย่างไร หลักนั้นๆ มีความมุ่งหมายอย่างไร กำหนดไว้หรือพึงปฏิบัติเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร การที่ตนกระทำอยู่มีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้างดังนี้เป็นต้น — knowing the meaning; knowing the purpose; knowing the consequence)
                    3. อัตตัญญุตา (ความรู้จักตน คือ รู้ว่า เรานั้น ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลังความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น บัดนี้ เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป — knowing oneself)
                    4. มัตตัญญุตา (ความรู้จักประมาณ คือ ความพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ พระมหากษัตริย์รู้จักประมาณในการลงทัณฑอาชญาและในการเก็บภาษี เป็นต้น — moderation; knowing how to be temperate)
                    5. กาลัญญุตา (ความรู้จักกาล คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจ กระทำหน้าที่การงาน เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น — knowing the proper time; knowing how to choose and keep time)
                    6. ปริสัญญุตา (ความรู้จักบริษัท คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ เป็นต้น — knowing the assembly; knowing the society)
                    7. ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา (ความรู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใครๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่ จะใช้จะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น — knowing the individual; knowing the different individuals)

อริยทรัพย์ 7 (ทรัพย์อันประเสริฐ, ทรัพย์คือคุณธรรมประจำใจอย่างประเสริฐ — noble treasures)
                    1. ศรัทธา (ความเชื่อที่มีเหตุผล มั่นใจในหลักที่ถือและในการดีที่ทำ — confidence)
                    2. ศีล (การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ประพฤติถูกต้องดีงาม — morality; good conduct; virtue)
                    3. หิริ (ความละอายใจต่อการทำความชั่ว — moral shame; conscience)
                    4. โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อความชั่ว — moral dread; fear-to-err)
                    5. พาหุสัจจะ (ความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก — great learning)
                    6. จาคะ (ความเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ — liberality)
                    7. ปัญญา (ความรู้ความเข้าใจถ่องแท้ในเหตุผล ดีชั่ว ถูกผิด คุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ รู้คิด รู้พิจารณา และรู้ที่จะจัดทำ — wisdom)
2.  การดำเนินชีวิตในทางสายกลาง
มรรค 8 คือทางที่นำไปสู่การพ้นทุกข์
                    สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาเห็นชอบ หมายถึงเห็นถูกตามความเป็นจริงด้วยปัญญา
                    สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ หมายถึง การใช้สมองความคิดพิจารณาแต่ในทางกุศลหรือความดีงาม
                    สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ หมายถึงการพูดสนทนา แต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงาม
                    สัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติดีงาม ทางกายหรือกิจกรรมทางกายทั้งปวง
                    สัมมาอาชีวะ คือ การทำมาหากินอย่างสุจริตชน
                    สัมมาวายามะ คือ ความอุตสาหะ พยายาม ประกอบความเพียรในการกุศลกรรม
                    สัมมาสติ คือ การไม่ปล่อยให้เกิดความพลั้งเผลอ จิตเลื่อนลอย ดำรงอยู่ด้วยความรู้ตัวอยู่เป็นปกติ
                    สัมมาสมาธิ คือ การฝึกจิตให้ตั้งมั่น สงบ สงัด จากกิเลศ นิวรณ์อยู่เป็นปกติ
3. การดำเนินชีวิตตามครรลองของวัฒนธรรม
มนุษย์มีวงจรชีวิต : เกิด แก่ เจ็บ ตาย
มนุษย์มีวิถีชีวิต : ปัจจัย 4 อยู่รวมกันเป็นหมู่ขณะ เกิดวิถีชีวิต จนกลายเป็นประเพณี
มีกลุ่มคน : บรรพบุรุษ
มีการดำเนินชีวิต : เพื่อสนองความต้องการ
เกิดผู้นำ : มีคุณธรรม ผู้ริเริ่ม
คนรุ่นหลังยอมรับ : สืบทอดเป็นวัฒนธรรม
11. หลักคุณธรรมในการครองใจคน
สังคหวัตถุ 4 ธรรมยึดเหนี่ยวจิตใจ
                   1. ทาน การให้ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ
                   2. ปิยวาจา พูดถ้อยคำสุภาพ อ่อนหวาน
3. อัตถจริยา ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อกัน
4. สมานัตตตา วางตัวเหมาะสม เสมอต้นเสมอปลาย
ฆราวาสธรรม 4  ธรรมสำหรับผู้ครองเรือน
1.       สัจจะ ความซื่อสัตย์ รักษาคำมั่นสัญญา
2.       ทมะ รู้จักข่มจิตใจ ควบคุมอารมณ์
3.       ขันติ ความอดทน
4.       จาคะ ความเสียสละ
พรหมวิหาร 4 ธรรมอันประเสริฐ
1. เมตตา ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข มีความเป็นมิตรไมตรีต่อผู้อื่น มีน้ำใจ ปรารถนาดีต่อผู้อื่น
2. กรุณา ความต้องการช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน โดยเมื่อผู้อื่นมีทุกข์จะต้องมีกรุณา ช่วยบำบัดทุกข์ให้
3. มุทิตา ยินดีเมื่อพนักงาน เพื่อนร่วมงานมีความสุข ความสำเร็จมากขึ้น ผู้นำก็จะต้องพลอยยินดี ช่วยส่งเสริมสนับสนุน
4. อุเบกขา มีใจเป็นกลาง ไม่ลำเอียง ไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง
          ละอคติ 4
พระพุทธศาสนาแบ่งอคติออกเป็น 4 ประเภท ตามพื้นฐานแห่งจิตใจ คือ
1. ฉันทาคติ ความละเอียงเพราะความรักใคร่ หมายถึง การทำให้เสียความยุติธรรม เพราะอ้างเอาความรักใคร่หรือความชอบพอกัน ซึ่งมักเกิดกับตนเอง ญาติพี่น้อง และคนสนิทสนม การแก้ฉันทาคติ ต้องทำใจให้เป็นกลาง โดยการปฏิบัติต่อทุกคนให้เหมาะสมเหมือนๆกัน
2. โทสาคติ ความละเอียงเพราะความไม่ชอบ เกลียดชัง หรือโกรธแค้น หมายถึง การทำให้เสียความยุติธรรม เพราะความโกรธ หรือลุอำนาจโทสะ การแก้ไขโทสาคติ ทำได้ด้วยการทำใจให้หนักแน่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา และพยายามแยกเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงานออกจากกัน
3. โมหาคติ ความละเอียงเพราะความไม่รู้ หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หมายถึง การทำให้เสียความรู้สึกธรรมเพราะความสะเพร่า ความไม่ละเอียดถี่ถ้วน รีบตัดสินใจก่อนพิจารณาให้ดี วิธีแก้ไข ทำด้วยการเปิดใจให้กว้าง ทำใจให้สงบ มองโลกในแง่ดี และยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น
4. ภยาคติ ความละเอียงเพราะความกลัว หมายถึง การทำให้เสียความยุติธรรม เพราะมีความหวาดกลัว หรือเกรงกลัวภยันตราย วิธีแก้ทำได้ด้วยการพยายามฝึกให้เกิดความกล้าหาญ โดยเฉพาะความกล้าหาญทางจริยธรรม คือ กล้าคิด กล้าพูดในสิ่งที่ดีงาม
กัลยาณมิตตธรรม 7 (องค์คุณของกัลยาณมิตร, คุณสมบัติของมิตรดีหรือมิตรแท้ คือท่านที่คบหรือเข้าหาแล้วจะเป็นเหตุให้เกิดความดีงามและความเจริญ ในที่นี้มุ่งเอามิตรประเภทครูหรือพี่เลี้ยงเป็นสำคัญ — qualities of a good friend)
                   1. ปิโย (น่ารัก ในฐานเป็นที่สบายใจและสนิทสนม ชวนให้อยากเข้าไปปรึกษา ไต่ถาม — lovable; endearing)
                   2. ครุ (น่าเคารพ ในฐานประพฤติสมควรแก่ฐานะ ให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งใจ และปลอดภัย — estimable; respectable; venerable)
                   3. ภาวนีโย (น่าเจริญใจ หรือน่ายกย่อง ในฐานทรงคุณคือความรู้และภูมิปัญญาแท้จริง ทั้งเป็นผู้ฝึกอบรมและปรับปรุงตนอยู่เสมอ ควรเอาอย่าง ทำให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยซาบซึ้งภูมิใจ — adorable; cultured; emulable)
                   4. วตฺตา จ (รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไรอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี — being a counsellor)
                   5. วจนกฺขโม (อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถามคำเสนอแนะวิพากษ์วิจารณ์ อดทน ฟังได้ไม่เบื่อ ไม่ฉุนเฉียว — being a patient listener)
                   6. คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา (แถลงเรื่องล้ำลึกได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ให้เข้าใจ และให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป — able to deliver deep discourses or to treat profound subjects)
                   7. โน จฏฺฐาเน นิโยชเย (ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่แนะนำในเรื่องเหลวไหล หรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย — never exhorting groundlessly; not leading or spurring on to a useless end)

12. หลักธรรมเพื่อการครองงาน
ทำงานให้เสร็จ อย่าให้เป็นแบบดินพอกหางหมู (อะนากุลา จะ กัมมันตา เอตัมมังคะละมุตตะมัง) การงานที่ไม่อากูล(คั่งค้าง) เป็นมงคลอย่างสูงสุด
จะทำงาน การใด ตั้งใจมั่น
อย่าผัดวัน ทำเล่น เช้า เย็น สาย
ไม่ทิ้งคา อากูล มากมูลมาย
เร่งคลี่คลาย ให้เสร็จ สำเร็จการ
สาเหตุที่ทำให้งานคั่งค้างเป็นเพราะว่า
1. ทำงานไม่ถูกกาล
2. ทำงานไม่ถูกวิธี
3. ไม่ยอมทำงาน

          อิทธิบาท 4: ปัจจัยแห่งงานสำเร็จ  PDCA (Q.C.=Quality Control)
1. ฉันทะ ความรัก ความพึงพอใจในงานที่ทำ คือ การวางแผนงานตั้งแต่ต้นทุกขั้นตอนจนเสร็จสิ้น(P=Planning)
2. วิริยะ ความพากเพียร อดทนต่อเนื่อง ไม่ท้อถอย เรียกว่าสู้ตลอดรายการ(D=Doing)
3. จิตตะ ความเอาใจใส่ จดจ่อ เพ่งเล็งกับงานที่ทำ อยู่กับปัจจุบันขณะ โดยใช้สติสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อมเสมอในการทำงาน เท่ากับการตรวจสอบ ปัญหาอุปสรรคต่างๆในการทำงาน(C=Checking)
4. วิมังสา การใคร่ครวญ ทบทวนเรื่องราวทั้งหมดพร้อมทำการแก้ไขด้วยปัญญาให้งานนั้นๆลุล่วงสำเร็จ เสร็จสิ้นไปโดยสมบูรณ์ ตัวนี้สำคัญมากเป็นตัวปัญญา(A=Action, Acting)......
ทำงานที่ไม่มีโทษ เป็นมงคลสูงสุด(อนวัชชานิ กัมมานิ เอตัมมังคะละมุตตะมัง)
งานที่ไม่มีโทษ ประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้
1. ไม่ผิดกฏหมาย คือ ทำให้ถูกต้องตามกฏหมายของบ้านเมือง
2. ไม่ผิดประเพณี คือแบบแผนที่ปฏิบัติกันมาแต่เดิม ควรดำเนินตาม
3. ไม่ผิดศีล คือข้อห้ามที่บัญญัติไว้ในศีล ๕
4. ไม่ผิดธรรม คือหลักธรรมทั้งหลายอาทิเช่น การพนัน การหลอกลวง
          ส่วนอาชีพต้องห้ามสำหรับพุทธศาสนิกชนได้แก่
1. การค้าอาวุธ
2. การค้ามนุษย์
3. การค้ายาพิษ
4. การค้ายาเสพย์ติด
5. การค้าสัตว์เพื่อนำไปฆ่า
งานรับจ้าง ล้างชาม ก็ตามเถิด
หากไม่เกิด โทษทัณฑ์ นั่นสดใส
เมื่อได้ช่อง ต้องจำ กระทำไป
ได้กำไร ทุกทาง ไม่ว่างงาน.

13. การบริหารความขัดแย้งในองค์กร
การจัดการความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์[4]
          ทุกวันนี้เป็นทศวรรษแห่งเทคโนโลยีที่ทันสมัย  มีการชิงความได้เปรียบในเรื่องความเร็วของข้อมูลวัดผลแพ้-ชนะกันที่องค์ความรู้ที่แม่นยำและถูกต้อง  แต่ไม่ว่าความเปลี่ยนแปลงของอารยธรรมใหม่ ๆ จะล้ำหน้าไปเพียงใด  ปัจจัยแห่งความสำเร็จก็หนีไม่พ้นที่จะต้องอาศัย คน  แต่สิ่งที่หลีกไม่พ้นในการทำงานของคนก็คือ ความขัดแย้งทั้งหลายแหล่
          ความขัดแย้งเป็นกระบวนการที่เกิดจากความพยายามของฝ่ายหนึ่ง  ที่ไปขัดขวางความพยายามของอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามบรรลุเป้าหมาย  ได้รับความก้าวหน้าหรือผลประโยชน์ตามที่ต้องการ  ด้วยวิธีการใดวิธีหนึ่ง (Stephen P. Robbin,1991)
          ความขัดแย้งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นตอน ๆ  ในแต่ละตอนจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นตามลำดับ ตัวอย่างเช่นความขัดแย้งที่เกิดจาก  ความคับข้องใจ  ของฝ่ายหนึ่งที่ถูกอีกฝ่ายหนึ่งกระทำ  การกระทำที่ก่อให้เกิดความคับข้องใจดังกล่าว  เช่น  ไม่เห็นด้วย  ไม่ช่วยเหลือ  ดูถูก  เอาเปรียบ  ให้ร้าย  เสียศักดิ์ศรี  ฯลฯ  ดังนั้น  ต่างฝ่ายจึงต่างพยายามหาหลักฐานหรือเหตุผลเพื่อมาสนับสนุนความถูกต้องของตนเอง  และหาทางออกด้วยวิธีการเอาแพ้เอาชนะมากกว่าอย่างอื่น  จึงเกิดเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหารูปแบบต่าง ๆ  เช่น  การเอาชนะ  ต่อรอง  ร่วมมือ  หลีกเลี่ยง  ผ่อนปรนเข้าหากัน  เป็นต้น
          โบราณกล่าวไว้ว่า  มากคนก็มากความ  แถมบางคนยังไม่ได้ความอีกต่างหาก  ไม่ว่าหน่วยงานของเราจะมีคนเป็นแสนหรือมีแค่สองคน  เราก็ต้องทำให้คนเหล่านั้นทำงานเข้ากันให้ได้  คงไม่มีใครในโลกนี้ไม่เคยขัดแย้งกับคนอื่น  ทุกวันนี้ปัญหาความขัดแย้งที่พบในหน่วยงานต่าง ๆ มีเป็นจำนวนมาก  ทั้งที่เห็นได้จากพฤติกรรมที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน  หรือซ่อนเร้นอยู่ในใจของพนักงาน  แต่ร้อนรุ่มอยู่ตลอดเวลา  สิ่งนี้บั่นทอนสุขภาพจิตของพนักงานและสร้างความถดถอยให้แก่หน่วยงาน  ไม่ว่าความขัดแย้งนั้นจะอยู่ในรูปแบบใดหากยังคงอยู่ในองค์กรโดยไม่ได้รับการบริหารจัดการ  นั่นย่อมหมายความว่า  หน่วยงานของเรากำลังสูญเสียบางสิ่งบางอย่าง  หรือความสามารถในการแข่งขันของเรากำลังลดลง  เนื่องจากพนักงานของเรายังคงต้องทำงานร่วมกันต่อไปท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้น  ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ คน  มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น
          อย่างที่เราพอทราบเป็นนัย ๆ  แล้วว่า  สิ่งใดก็ตามที่มีคนเข้ามาเกี่ยวข้อง  การแก้ไขแทบจะไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว  และไม่มีวิธีใดที่ดีที่สุดเพียงวิธีเดียวที่สามารถใช้ได้กับทุกสถานการณ์  แต่แนวคิด  หลักคิดและความเข้าใจในปัญหา  ความเข้าใจในสภาพแวดล้อมของปัญหา  รวมทั้งความเข้าใจผู้อื่น  ความมีใจกว้างและเปิดใจยอมรับฟัง  จะช่วยให้การวิเคราะห์และตัดสินใจแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างราบรื่น  ลงตัวและเกิดความร่วมมือในที่สุด  ดังนั้น  ทุกครั้งที่เราจะต้องตัดสินใจเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง  ทุกคนต้องตั้งความหวังไว้เสมอว่าเมื่อความขัดแย้งสิ้นสุด  บทสรุปความสัมพันธ์ต้องเหมือนเดิม
แนวคิดเรื่องความขัดแย้ง
          แนวคิดดั้งเดิมเกี่ยวกับ  ความขัดแย้ง  เรามักมองว่าความขัดแย้งเป็นอุปสรรคของการทำงานเสียเวลา  คนที่มีความขัดแย้งจะถูกคนอื่นมองว่าเป็นพวกมองโลกในแง่ร้าย  พวกแกะดำ  ไม่มีสัมมาคารวะไม่ห่วงอนาคต แถมยังทำให้องค์กรไม่ก้าวหน้า  เสียเวลาในการทำงาน ฯลฯ  ด้วยเหตุนี้คนเราจึงไม่ค่อยกล้าแสดงความเห็นที่ขัดแย้ง  เพราะกลัวภาพลักษณ์ของตนเองจะถูกคนอื่นมองในด้านลบ  โดยมีความเชื่อว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องที่สามารถหลีกเลี่ยงได้
          แนวคิดใหม่  สำหรับความขัดแย้ง  มองว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  ความขัดแย้งสามารถส่งผลทั้งด้านบวกและด้านลบแก่องค์กร  ทำให้องค์กรไม่หยุดนิ่ง  ทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์  เกิดการยอมรับและไว้วางใจซึ่งกันและกัน  ช่วยในการสร้างทีมงานได้เป็นอย่างดี
          ความขัดแย้งอาจเกิดจากปัญหาในการทำงาน  แต่บ่อยครั้งก็มีสาเหตุมาจากเรื่องอื่น ๆ  ที่ไม่ใช่เรื่องงาน  แต่ส่งผลกระทบต่อการทำงานร่วมกัน  แล้วก็มีหลายครั้งที่มีสาเหตุมาจากเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน  แต่ส่งผลกระทบต่องานและเพื่อนร่วมงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ซึ่งท้ายสุดก็คืออาจส่งผลกระทบถึงลูกค้า  ทั้งลูกค้าภายในซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานและลูกค้าภายนอก  ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดล้วนมีผลต่อความผาสุกในการทำงานของมวลหมู่พนักงานและบริษัทอย่างแน่นอน
          การพิจารณาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง  จะต้องใช้ความรอบรู้และรู้รอบ  ต้องมีการวางแผน รู้จังหวะ และหาโอกาสที่เหมาะสม  นอกจากนี้  การได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองกับผู้เกี่ยวข้อง  ยังช่วยให้ได้ข้อมูลและพบทางออกที่ได้รับการยอมรับจากสังคมมากที่สุด
ประโยชน์ของความขัดแย้ง
          บางคนถามว่าความขัดแย้งดีหรือไม่เพราะแค่ได้ยินชื่อก็เกิดความรู้สึกในทางลบไปเรียบร้อยแล้วแต่ในความเป็นจริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่  ความขัดแย้งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย  ไม่ใช่ส่งผลร้ายเสมอไป
          เราพบความหลากหลายของคน  ทั้งที่มีความเชื่อ วิถีชีวิต ค่านิยม  ทัศนคติ ที่ต่างจากเราหรือคล้ายกับเรา  จนกระทั่งไม่เหมือนกับเราเลย  ดังนั้น  ทุกครั้งที่มีการตัดสินใจ  จึงยากมากที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง  คงไม่มีใครในโลกนี้ไม่เคยขัดแย้งกับคนอื่น  ไม่มีใครคนไหนจะมีความคิดเห็นที่ตรงกันไปได้ทุกเรื่องและทุกเวลา  แม้กระทั่งความขัดแย้งในตัวเอง  แต่ต้องถามกลับว่า  มีความขัดแย้งอีกมากเท่าไหร่  ที่เรายังไม่ได้จัดการ
          มีคำกล่าวว่า  อยากเป็นใหญ่ต้องผู้มิตรมากกว่าสร้างศัตรู  แต่คนที่ประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ล้วนมีศัตรูที่แข็งแกร่งและเข้มแข็งทั้งสิ้น  นั่นหมายความว่า  อุปสรรคยิ่งยาก  เราก็ยิ่งแข็งแกร่ง  ดังนั่น  องค์กรใดไม่มีความขัดแย้ง  องค์กรนั้นก็ยากที่จะบินขึ้นสู่ที่สูง
สาเหตุของความขัดแย้งที่สำคัญมี  6  ประการ
          1.  ความไม่พอเพียงของทรัพยากร  ทำให้เกิดการแข่งขัน  แย่งชิง  เพื่อให้ตนเองสามารถบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย  จนบางครั้งละเลยความรู้สึกและความสัมพันธ์ของทีมงานและเพื่อนร่วมงาน
          2.  ลักษณะของงานที่ต้องพึ่งพากัน  ถ้าหน่วยงานหรือบุคคลกลุ่มใดมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันความขัดแย้งก็จะมีความแปรผันและรุนแรงมากขึ้น
          3.  การสื่อสารที่ไม่ชัดเจน  การสื่อสารที่ดีจะต้องยึดหลัก  4Cs”  คือ
                     Correct         เนื้อหาต้องถูกต้อง  เป็นจริง ไม่ปิดบังซ่อนเร้น
                     Clear                      ต้องมีความชัดเจน ผู้รับข้อมูลจะต้องเข้าใจสิ่งที่ผู้ให้ข้อมูลต้องการสื่อสาร
ได้อย่างถูกต้อง
                     Concise        ข้อมูลต้อวกระชับ  ไม่เยิ่นเย้อ  เน้นประเด็นสำคัญของเนื้อหาที่ต้องการ
สื่อสาร
                     Complete      เนื้อหาจะต้องมีความสมบูรณ์  ไม่ตกหล่นสาระที่มีความสำคัญต่อการ
สื่อสารในครั้งนั้น ๆ
          4.  ความคลุมเครือในเรื่องขอบเขตของงานและหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้อง  ได้แก่  ความไม่ชัดเจนในเรื่องการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละคน  ความไม่ชัดเจนของขั้นตอนการทำงาน และความซ้ำซ้อนของการมอบหมายงานของผู้บริหาร
          5.  คุณลักษณะของแต่ละบุคคล  เนื่องจากแต่ละบุคคลมีความคิด  ความคาดหวัง  ความเชื่อ  ค่านิยม  ประเพณี  การอบรมเลี้ยงดู  การศึกษา  ประสบการณ์  ความฝังใจ  ที่แตกต่างกัน
          6  บทบาทและหน้าที่  เนื่องจากแต่ละท่านได้รับบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันไปในสถานการณ์นั้น ๆ นอกจากนี้  ภารกิจและเป้าหมายที่ได้รับก็แตกต่างกันไป  ดังนั้น  แนวคิด หลักคิดและบทบาทของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกัน  จึงเป็นเหตุของความขัดแย้งได้อย่างเป็นอย่างดี
การจำแนกความขัดแย้ง
                   1.  ความขัดแย้งภายในบุคคล
                   2.  ความขัดแย้งระหว่างบุคคล
                   3.  ความขัดแย้งภายในกลุ่ม
                   4.  ความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม
                   5.  ความขัดแย้งภายในองค์กร
                   6.  ความขัดแย้งระหว่างองค์กร
วิธีการจัดการกับความขัดแย้ง
          โทมัส และ คิลเมน (Kenneth W. Thomas and Ralph H. Kilmann)  ได้ศึกษาว่า  ในกรณีที่คนเราต้องเผชิญกับความขัดแย้ง  เราจะมีวิธีการจัดการ (หรือขจัด)  ความขัดแย้งนั้นอย่างไรซึ่งผลจากการศึกษาได้จำแนกวิธีการจัดการกับความขัดแย้งออกเป็น  5  แนวทาง ดังนี้
                    1.  การเอาชนะ (Competition)  เมื่อคนเราพบกับความขัดแย้ง  จะมีบางคนที่แก้ไขความขัดแย้งนั้น ด้วยวิธีการเอาชนะ  โดยมุ่งเน้นชัยชนะของตนเองเป็นสำคัญ  จึงพยายามใช้อิทธิพล  วิธีการหรือช่องทางต่าง ๆ เพื่อจะทำให้คู่กรณียอมแพ้หรือพ่ายแพ้ตนเองให้ได้  การแก้ไขความขัดแย้งในแนวทางนี้  จะทำให้เกิดผลลัพธ์ในลักษณะ ชนะ-แพ้
                    2.  การยอมรับ (Accommodation)  จะเป็นพฤติกรรมที่เน้นการเอาใจผู้อื่น อยากเป็นที่ยอมรับและได้รับความรัก  มุ่งสร้างความพอใจให้แก่คู่กรณี  โดยที่ตนเองจะยอมเสียสละ  แนวทางการแก้ไขความขัดแย้งแบบนี้ เกิดผลลัพธ์ในลักษณะ ชนะ-แพ้
                    3.  การหลีกเลี่ยง (Avoiding)  เป็นวิธีจัดการกับความขัดแย้งในลักษณะไม่สู้ปัญหา  ไม่ร่วมมือในการแก้ไขปัญหา  ไม่สนใจความต้องการของตนเองและผู้อื่น  พยายามวางตัวอยู่เหนือความขัดแย้ง  พูดง่าย ๆ ก็คือทำตัวเป็นพระอิฐพระปูนนั่นเอง  แนวทางการแก้ไขความขัดแย้งแบบนี้  มักเกิดผลลัพธ์ในลักษณะ แพ้-แพ้ เป็นส่วนใหญ่
                    4.  การร่วมมือ (Collaboration)  เป็นพฤติกรรมของคนที่มุ่งจัดการความขัดแย้ง  โดยต้องการให้เกิดความพอใจทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น  เป็นความร่วมมือร่วมใจในการแก้ไขปัญหาที่มุ่งให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่ายซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในแบบนี้  เรียกได้ว่าเป็นวิธีการแก้ไขความขัดแย้งที่ Win-Win  ทั้งสองฝ่ายแนวทางการแก้ไขแบบนี้จึงเกิดผลลัพธ์ในลักษณะ ชนะ-ชนะ
                    5.  การประนีประนอม (Compromising)  เป็นความพยายามที่จะให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้รับความพอใจบ้าง  และต้องยอมเสียสละบ้าง  แต่ก็มีแนวโน้มที่จะใช้วิธีที่ 1  คือวิธีเอาชนะมากกว่าวิธีอื่น แนวทางการแก้ไขความขัดแย้งแบบนี้  จึงเกิดผลลัพธ์ในลักษณะ แพ้-แพ้ หรือ ชนะ-แพ้

ประโยชน์และข้อควรระวังของความขัดแย้ง
ประโยชน์
ข้อควรระวัง
1. ป้องกันความเฉื่อยชา  เชื่องช้าขององค์กร
1. ขาดการยอมรับ ขาดความไว้วางใจ
2. เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง
2. ขาดความร่วมมือ ขวัญและกำลังใจถดถอย
3. เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานหรือระหว่างกลุ่ม จะส่งผลให้เกิดความสามัคคีภายในหน่วยงานหรือในกลุ่มของตนเอง
3. การสื่อสารถูกบิดเบือน คลุมเครือ
4. เกิดความรอบคอบและมีเหตุผล
4. ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
5. สร้างพฤติกรรมในการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระและได้รับการยอมรับ
5. เกิดความเฉื่อยในงาน เพราะขาดความมั่นใจ

แนวทางการลดข้อขัดแย้งในองค์กร
          จากประสบการณ์ของผู้เขียน พบว่า วิธีการลดความขัดแย้งภายในองค์กรที่นิยมปฏิบัติกันมา  คือการประชุมผู้เกี่ยวข้อง  การตั้งทีมงานเพื่อแก้ไขปัญหา การโอนย้านงาน  การทำงานแบบข้ามสายงาน  การเปิดรับข้อเสนอแนะ  การสำรวจความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง  การออกเสียงข้างมาก  แต่มีอยู่วิธีหนึ่งซึ่งผู้เขียนได้ทดลองนำไปใช้กับหน่วยงานบางแห่ง  ผลปรากฎว่า  กลุ่มคนที่ขัดแย้งกันเริ่มมีความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น  โดยทดลองให้พวกเขาเข้าร่วมกิจกรรม สุนทรียสนทนา หรือ Dialogue  ซึ่งถ้ามีโอกาสผมจะเขียนถึงเรื่องนี้ในคราวต่อ ๆ ไป  หรือผู้อ่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือวิชาการ
          กิจกรรม สุนทรียสนทนา เป็นเรื่องของการเปิดใจยอมรับฟัง  และการร่วมแสดงความคิดเห็นโดยมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาและการเสนอแนะ  ไม่ได้เน้นที่ตัวบุคคลหรือค้นหาผู้กระทำผิด  พร้อมทั้งสร้างทัศนคติที่ดีต่อกัน ผลลัพธ์สุดท้ายของกิจกรรมนี้ก็คือ  องค์กรจะเกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน  เกิดบรรยากาศในการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ  และรู้สึกปลอดภัยในการให้ข้อมูล  ซึ่งเมื่อเกิดความรู้สึกแบบนี้แล้ว  ความขัดแย้งก็จะสลายไปในที่สุด
บทส่งท้าย
          ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  แต่เราสามารถใช้ความขัดแย้งเป็นเครื่องมือ สร้างโอกาส ในการพัฒนาและปรับปรุงองค์กรได้เป็นอย่างดี  หากท่านมีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง  ท่านจะเลือกทางออกอย่างไร  ระหว่าง  การเอาชนะ  (Competition)  การยอมให้ (Accommodation)  การหลีกเลี่ยง (Avoiding)  การร่วมมือ  (Collaboration)  หรือการประนีประนอม (Compromising)  อย่างไรก็ดี  สิ่งสำคัญที่เราต้องตระหนักก็คือ  เรากำลังหาทางออกของปัญหา  ไม่ใช่การหาผู้กระทำผิดหรือผู้ที่มีความเห็นไม่ตรงกับเราและพยายามอย่างยิ่งในการหาทางออกแบบ ชนะ-ชนะ
          ทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งก็คือ  ทักษะในการฟัง  โดยต้องเป็นการฟังอย่าง เข้าอกและเข้าใจ  ดังคำว่า  “First to understand and then to be understood”  และทดลองใช้เครื่องมือเพื่อขอความคิดเห็น  ข้อเสนอแนะ  ขอความร่วมมือ  เพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง แบบเชิงรุก  โดยใช้ สุนทรียสนทนา (Dialogue)

14. ภาคปฏิบัติ วิปัสสนากรรมฐาน ตามแนวสติปัฏฐาน 4
การปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 ในขั้นต้นนั้น ต้องใช้สมาธิเป็นบาทฐานในการปฏิบัติ  เป็นการฝึกสมาธิและสติในขั้นแรกอย่างเข้มข้น เพื่อให้เกิดสมาธิที่ หมายถึงความตั้งใจมั่น แล้วน้อมจิตที่สงบตั้งมั่นดีแล้วอันย่อมมีกำลังแล้วนั้นไปพิจารณาสังเกต ศึกษาให้เห็นธรรม(สิ่ง)ต่างๆตามความเป็นจริงให้ชัดเจนขึ้น เช่นเห็นกาย  และดำเนินก้าวต่อไปโดยการสังเกตให้เห็นให้รู้เข้าใจเวทนา และจิตสังขารต่างๆที่เกิดขึ้น  ตลอดจนใช้พิจารณาธรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดภูมิรู้ภูมิญาณเข้าใจในสภาวะธรรมต่างๆอย่างปรมัตถ์ถูกต้อง  เมื่อปฏิบัติดังกล่าวดีแล้วก็ต้องนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันจึงจักถูกต้อง และบังเกิดผลสูงสุดขึ้นได้
          การปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 ในสมาธิในเบื้องต้นนั้น  หาที่สงัด  ตั้งกายให้ตรง  ดำรงจิตให้มั่นนั้น  วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้เกิดจิตเกิดความตั้งใจมั่นระดับเบื้องต้นก่อน คือ ไม่เลื่อนไหลไปสู่ฌานสมาธิระดับประณีตจนปฏิบัติไม่ได้  หรือลงภวังค์  หรือหลับไปอย่างง่ายๆ   เพื่อจะได้ปฏิบัติให้เกิดสติและสัมมาสมาธิ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพิจารณาทำความเข้าใจใน กาย เวทนา จิต และธรรมอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง(ปรมัตถ์)   ก็เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติจริงๆอีกครั้งในขณะดำรงชีวิตประจำวัน  ไม่ใช่เฉพาะในการปฏิบัติในรูปแบบแผนเท่านั้น  คือ ต้องนำไปฝึกฝนอบรมอีกครั้งหนึ่งในการดำเนินชีวิตประจำวันจนเป็นมหาสติ หรือเป็นดังเช่นสังขาร(ในปฏิจจสมุปบาท)แต่มิได้เกิดแต่อวิชชากล่าวคือเมื่อปฏิบัติโดยถูกต้องและประจำสมํ่าเสมอ จิตจะเริ่มกระทำตามสังขารที่ได้สั่งสมอบรมไว้เองโดยอัติโนมัติในชีวิตประจำ วัน  นั่นแหละมหาสติหรือสังขารธรรมอันถูกต้อง เป็นจุดมุ่งหมายอันสูงสุดในการปฏิบัติสติปัฏฐาน 4
การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
          ขณะดำเนินชีวิตประจำวันนั้น จะมีสิ่งต่างๆมากระทบผัสสะตลอดเวลา เมื่อธรรม(กาย เวทนา จิต ธรรม)ใดมากระทบและรู้เท่าทัน ก็ให้ปฏิบัติธรรม(กาย เวทนา จิต ธรรม)นั้น  ขยายความ เพราะธรรมหรือสิ่งที่มาผัสสะนั้นมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป ตลอดจนจริตของนักปฏิบัติเอง จึงมีความชำนาญชํ่าชองในการเห็นการรู้ในธรรมทั้ง 4 ที่ย่อมแตกต่างกันออกไปตามจริตและสังขารที่ได้สั่งสมไว้นั่นเอง  และธรรมทั้ง 4 นั้นเมื่อเห็นและรู้เท่าทัน ต่างก็ล้วนมีคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งสิ้น ดังนั้นในการดำรงชีวิตประจำวันแล้วมีสติเห็นในธรรม(กาย เวทนา จิต ธรรม)ใดก่อนก็ได้ เพราะย่อมเกิดคุณดังนี้
        รู้เท่าทันกาย  เพื่อทำให้เกิดนิพพิทาคลายความยึดความอยากในกายอันเป็น ที่รักยิ่งโดยไม่รู้ตัว เมื่อรู้ตามความเป็นจริงอย่างปรมัตถ์  ว่าล้วนสักแต่ธาตุ 4 หรือสิ่งปฏิกูล ล้วนต้องเน่าเสีย คงทนอยู่ไม่ได้ ฯลฯ. เห็นการเกิดดังนี้จนชํ่าชอง เช่น ส่องกระจกก็รู้เท่าทันว่าห่วงกาย  เห็นเพศตรงข้ามที่ถูกใจ ฯลฯ. ก็รู้เท่าทัน ว่าสักแต่ว่ากายล้วนเป็นดั่งนี้เป็นต้น  แล้วอุเบกขาไม่แทรกแซงเข้าไปคิดนึกปรุงแต่ง  ก็จะเห็นการดับในที่สุด
        รู้เท่าทันเวทนา เพื่อให้เกิดนิพพิทาคลายความยึดความอยากในเวทนาความรู้สึกรับรู้ในสิ่งที่ กระทบสัมผัส เมื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า สักแต่เกิดแต่เหตุปัจจัย มันต้องเป็นเช่นนั้นเอง แล้วอุเบกขาไม่แทรกแซงเข้าไปคิดนึกปรุงแต่ง ก็จะเห็นการเกิด การดับได้ด้วยตนเอง เช่น เห็นรูปที่ถูกใจหรือไม่ถูกใจ, ได้ยินเสียง(คำพูด)ที่ถูกใจหรือไม่ถูกใจ เห็นอาหารที่ถูกใจหรือไม่ถูกใจ  ก็ย่อมต้องเกิดความรู้สึก(เวทนา)ต่อสิ่งนั้นๆเช่นนั้นเอง ฯลฯ. เมื่อรู้เท่าทันจนชำนาญ จิตเมื่อเห็นความจริงการเกิดการดับและเพราะเหตุปัจจัยเช่นนี้บ่อยๆสักว่า เวทนาเป็นดังนี้เอง ก็จักเกิดนิพพิทาในเวทนาต่างๆเหล่านั้นในที่สุด
        รู้เท่าทันจิต  เพื่อให้เกิดนิพพิทาคลายความยึดความอยากในจิตสังขาร(ความคิด ความนึกต่างๆ) เมื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า สักแต่เกิดแต่เหตุปัจจัยต่างๆตามความเป็นจริงอย่างปรมัตถ์ เป็นสังขารต่างๆทางใจเกิดขึ้นเช่น โทสะ(โกรธ) โลภ หลง ดีใจ เสียใจ ต่างๆ  เมื่อเห็นว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย มันต้องเป็นเช่นนั้นเอง แล้วอุเบกขาไม่แทรกแซงเข้าไปคิดนึกปรุงแต่ง ก็จะเห็นการเกิด การดับได้ด้วยตนเอง จิตเมื่อเห็นความจริงเช่นนี้บ่อยๆสักว่าจิตเกิดเพราะเหตุปัจจัยเช่นนี้เอง ก็จักเกิดนิพพิทาในจิตสังขารความคิดปรุงแต่งเหล่านั้นในที่สุด
       รู้เท่าทันธรรม  เพื่อให้เกิดนิพพิทาและภูมิรู้ภูมิญาณความรู้ความเข้าใจอย่างปรมัตถ์ในสิ่ง ต่างๆนั่นเอง  เมื่อเกิดกาย เวทนา หรือจิตตามข้างต้น แล้วเกิดเห็นธรรมะใดๆก็หยิบยกขึ้นมาพิจารณาหรือคิดนึกสังเกต ในสิ่งเหล่า นั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างปรมัตถ์  การคิดนึกดังนี้ไม่ใช่การคิดนึกปรุงแต่งที่ก่อให้เกิดทุกข์  แต่เป็นคิดนึกที่จำเป็นในการดับทุกข์อย่างยิ่ง เช่นเห็นทุกข์หรือรู้ว่าเป็นทุกข์ก็รู้ว่าเกิดแต่เหตุปัจจัยใด(เห็นปฏิจจสมุ ปบาท)เห็นความไม่เที่ยง(เห็นพระไตรลักษณ์) ดังนี้เป็นต้น
15. การแผ่เมตตา  ความเข้าใจเรื่องการแผ่เมตตา[5]
          การแผ่เมตตา คือ การตั้งความปรารถนาดีไปในมวลสรรพสัตว์  ตลอดจนเทพเทวาภูติ ผี ปีศาจทั้งหลาย  ไม่มีประมาณ  ไม่มีขอบเขต  ไร้พรมแดนขีดขั้น ไม่ว่าเขาผู้นั้น หรือสัตว์นั้นจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนาอะไร จะเกี่ยวข้องกับเราโดยความเป็นญาติ  โดยความเป็นประเทศ เชื้อชาติ ศาสนาหรือไม่ก็ตาม ให้มีจิตกว้างขวางไร้พรมแดน ไม่มีขอบเขตขีดขั้น ขอให้เขาได้มีความสุข  อย่าได้มีความทุกข์ระทมขมขื่นใจ
              ตามหลักการแผ่เมตตาในทางพระพุทธศาสนานั้น ในชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง สิ่งที่ทุกคนปรารถนาก็คือความสุข และต้องการหลีกเลี่ยงจากภัยอันตรายต่างๆ  ซึ่งจะทำให้ชีวิตเป็นทุกข์  เราต้องการความสุขอย่างไรคนอื่นและสัตว์อื่นก็ต้องการความสุขอย่างนั้น 
               พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เอาความรู้สึกตัวเราเองเป็นเครื่องเปรียบเทียบ วัดความรู้สึกของคนอื่นและสัตว์อื่น จะได้เห็นอกเห็นใจมีเมตตาต่อคนอื่นและสัตว์อื่นมากขึ้น  แล้วไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน 
การแผ่เมตตาจึงควรแผ่ให้ทั้งแก่ตนและคนอื่นตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย  โดยตั้งความปรารถนาให้ทุกสรรพชีวิตมีความสุขเสมอกัน
              ก่อนแผ่เมตตาควรทำสมาธิ 3-5 นาที น้อยหรือมากกว่านั้นตามโอกาส  เพื่อให้จิตอ่อนโยน งดงาม  สว่าง  สะอาด  ผ่องแผ้ว  จิตที่ผ่องแผ้วอันเกิดจากกำลังสมาธิ แม้จะชั่วระยะเวลาอันสั้น  ก็เป็นจิตที่ว่างจากความอาฆาตพยาบาท ความอิจฉาริษยา ว่างจากกามราคะ และว่างจากความหม่นหมองเศร้าซึม ลังเลสงสัยจับจดไม่แน่นอน เป็นจิตที่มีพลัง จึงเหมาะแก่การแผ่เมตตา
             ในการแผ่เมตตา ไม่จำเป็นต้องกล่าวเป็นภาษาบาลีเสมอไป  จะนึกเป็นภาษาไทยก็ได้  แม้จะไม่กล่าวเป็นภาษาบาลีก็ให้นึกเป็นภาษาไทย  ขอให้เป็นภาษาของความรู้สึก  เรารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ  รู้สึกเมตตาสงสารการเกิดของตนเองที่ต้องเผชิญความทุกข์ ความเศร้าโศก โรคภัยไข้เจ็บ และต้องเผชิญกับความแก่ความเจ็บความตายไม่รู้จักจบสิ้น 
ความรู้สึกนี้ให้เกิดตลอดไปจนถึงสรรพสัตว์ทุกจำพวกทุกหมู่เหล่า ไร้ขอบเขต ไร้พรมแดน ไร้เชื้อชาติศาสนา แม้แต่ศัตรูที่จ้องทำลายล้างเราก็ให้รู้สึกเช่นนั้น  ให้นึกไปถึงสิ่งที่มองไม่เห็นเช่น เทวาอารักษ์พระภูมิเจ้าที่ทั้งหลายด้วย
          การแผ่เมตตานั้น แม้กล่าวเป็นภาษาบาลี แต่ความรู้สึกไม่ได้เป็นไปตามภาษาที่กล่าวก็ไม่มีประโยชน์อะไร
          คำแผ่เมตตาให้แก่ตนเอง
อะหัง   สุขิโต    โหมิ        ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุขเถิด
นิททุกโข   โหมิ               ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากความทุกข์
อะเวโร     โหมิ               ขอให้ข้าพเจ้าไม่มีเวรไม่มีภัย
อัพยาปัชโฌ   โหมิ           ขอให้ข้าพเจ้าไม่มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน
อะนีโฆ   โหมิ                  ขอให้ข้าพเจ้าไม่มีความทุกข์กายทุกข์ใจ
สุขี  อัตตานัง ปะริหะรามิ   ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด
คำแผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์
            สัพเพ สัตตา          สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่ เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
            อะเวรา โหนตุ         จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด    อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย
            อัพะยาปัชฌา โหนตุ  จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด   อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
            อะนีฆา โหนตุ        จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด  อย่าได้มีความทุกข์กาย ทุกข์ใจเลย
            สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ  จงมีความสุขกาย สุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยด้วยกันทั้งสิ้นเทอญฯ
-----------




[1] ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์, รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียบเรียงเพื่อการบรรยาย คุณธรรมและจริยธรรมในการบริหารงานยุคใหม่ แด่บุคลากรสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์กรมหาชน) ที่ห้องล้านนา โรงแรมเชียงใหม่ฮิลล์ เชียงใหม่ วันที่ 18 กันยายน 2555 เวลา 10.30 - 16.30 น.
[2] สารสิน  วีระผล, คอลัมน์ คลื่นความคิดหนังสือพิมพ์มติชนรายวันวันจันทร์ที่ 4 เมษายน 2548.

               [3] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ 12 พ.ศ. 2546
[4] นายสุรเชษฎ์  พลวณิช, Surachet@ftpi.or.th จากวารสาร  Productivity  word  สถานบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ. สืบค้นวันที่ 16 กันยายน 2555.

[5] หนังสือ ลูกผู้ชายต้องบวช ผู้แต่ง ญาณวชิระ.

1 ความคิดเห็น: