แจ้งข่าวนักศึกษา012173

วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2559

มูลกัมมัฏฐาน ฉบับวัดบ้านหลุก ตำบลเหมืองง่า ลำพูน

มูลกัมมัฏฐาน ฉบับวัดบ้านหลุก ตำบลเหมืองง่า  อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
เรียบเรียงโดย พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
ความเป็นมา  
      มูลกัมมัฏฐาน ฉบับวัดบ้านหลุก ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ฉบับนี้ เป็นคัมภีร์ใบลาน เส้นจาร จำนวน 5 ผูก 269 หน้าลาน แยกเป็น ผูกที่ 1 จำนวน 50 หน้าลาน, ผูกที่ 2 จำนวน 59 หน้าลาน,  ผูกที่ 3 จำนวน 72 หน้าลาน,  ผูกที่ 4 จำนวน 48 หน้าลาน, และ  ผูกที่ 5 จำนวน 40 หน้าลาน    ขนาดใบลาน กว้าง 5  ซม ยาว 57 ซม. เส้นจาร ลานละ 5 บรรทัด  อักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี-ไทยยวน สภาพลานสมบูรณ์  ผู้จาร มี 3 ท่าน คือ ลุงหนาน ผูกที่ 1 ปัญญาภิกขุ ผูกที่ 3   และ “สุนันทภิกขุ ผูกที่ 5( ส่วน ผูกที่ 2 และผูกที่ 4 ไม่ปรากฏนามผู้จาร)   ในปี จ.ศ. 1238  ตรงกับ พ.ศ.2419   
เก็บรักษาไว้ที่วัดบ้านหลุก    คณะนักวิจัย ได้ทำการสืบค้นและอนุรักษ์พระคัมภีร์โบราณล้านนาที่วัดบ้านหลุก พิจารณาเห็นว่า เรื่อง “มูลกัมมัฏฐาน” นี้ เป็นหลักการปฏิบัติของพระภิกษุสามเณร ในด้านวิปัสสนาธุระอีกสำนวนหนึ่ง สมควรทำการปริวรรตและนำออกมาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักว่า ครูบาอาจารย์สายปฏิบัติภาวนา ของอาณาจักรล้านนาในอดีต  ได้มีหลักคำสอนและวิธีการแนะนำศิษย์สู่การปฏิบัติภาวนาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ แต่มีเป้าหมายเดียวกัน ได้แก่ “วิมุติรส” หรือ ความหลุดพ้นจากสังสารวัฎฏ์ สอดคล้องกับหลักปฏิบัติตามแนววิสุทธิ 7 และ คัมภีร์วิสุทธิมรรคด้วย
สาระเนื้อหา (ให้อ่านผูกที่ 1 และ ผูกที่ 2 ก่อนนะครับ เพราะเนื้อหายาวมาก)
               มูลกรรมฐาน ผูกที่ 1 มี 50 หน้าลาน เริ่มต้นด้วย การปณามพระรัตนตรัย ประวัติของพระพุทธเจ้า ในช่วงปฐมโพธิกาล นับตั้งแต่พระองค์ทรงประสูติ  เปล่ง “อาสภิวาจา”  ที่ยืนยันว่า ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายที่จะต้องมาเกิดอีก  ในเอกสารยกย่องคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าต่าง ๆ  เช่น พระวาจาที่เปล่งหรือแสดงธรรมของพระพุทธเจ้ามีลักษณะ “แบบวจนวิลาส 5 ประการ”[1]  คือ สดใส รู้ง่าย  ฉลาด ลึกซึ้ง กึกก้อง  พระพุทธเจ้ามีความยอดเยี่ยม 4 ประการ ใครได้เห็น ได้ฟังธรรม ได้ถวายการอุปัฏฐากและได้รำลึกถึงพระองค์ก็ถือว่า เยี่ยมยอด(อนุตตริยะ) พระพุทธเจ้าบำเพ็ญจริยา 3 คือ บำเพ็ญประโยชน์แก่โลก แก่ญาติ พุทธัตถจริยา และบำเพ็ญตนด้วยสัพพัญญูตัญญาณ  พระองค์บรรลุวิชชา 3 อภิญญา 6 เป็นต้น  ในส่วนที่ว่าด้วย อารมณ์กรรมฐาน จำแนกออกเป็นเรื่องต่างๆ ดังนี้
      1. โลก(ภพ)ทั้ง 3 มี โอกาสโลก หมายถึงภพ  3 ที่เกิดของสรรพสัตว์  สัตตโลก หมายถึงสัตว์ทั้งหลายที่อยู่อยู่ในภพ 3 สังขารโลก หมายถึง  จิตและเจตสิก ที่อันเป็นเหตุปัจจัยให้สัตว์เวียนเกิดเวียนตายใน 3 ภพ ที่เรียกว่า โลก เพราะเป็นที่หลงมัวเมาของสัตว์ทั้งหลาย  พระโยคาวจรพึงพิจารณา ให้เห็นทุกข์และโทษของโลก(ภพ)แล้วจะเข้าสู่นิพพาน ภพ 3 มี กามภพ 11  ได้แก่ เทวโลก 6 ชั้น  มนุษย์โลก อบายภูมิ  4  ที่ชื่อว่า กามภพ เพราะเสวยกามคุณ 5 เป็นนิจ กามภพ อุปมา ดังขุมที่เต็มไปด้วยเลือด หนองฝี และหมู่หนอนทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติจงพิจารณาให้เห็น กามภพเป็นโทษ รูปภพ  ได้แก่  รูปพรหม 16 ชั้น มี พรหมปริสัชชา  เป็นต้นจนถึง อกนิฏฺฐาพรหม   และพรหมทั้งหลายที่อยู่ในรูปภพ มีเพียงประสาท 2 อย่าง คือ จักขุประสาท และ โสตประสาทเป็นหลัก  อรูปภพ  ได้แก่ อรูปพรหม 4 ชั้น มี อากาสานัญจายตนะ  วิญญาณัญจายตนะ  อากิญจัญญายตนะ และ เนวสัญญานาสัญญายตนะ อรูปพรหม มีเพียงนามขันธ์ 4 ไม่มีรูปขันธ์ อุปมาเป็นดังพยัพแดด   ภพทั้ง 3 นี้ อุปมาดังคอก 3 คอกที่คอยกักกันสัตว์ไว้ในวัฏฏสงสาร  ฝูงสัตว์ที่มีโทษน้อยก็ขังไว้คอกด้านบน ที่มีโทษ ปานกลางก็ขังไว้คอกกลาง ส่วนมีโทษหนัก ก็ขังคอกใต้ ให้พญามัจจุราช  มาฆ่าตายในคอกนั้น ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตายนับชาติไม่ได้ ที่ชื่อว่า ภพ  เพราะเหตุว่า สัตว์ทั้งหลายแน่นหนาไปด้วยกิเลสบาปธรรมมี ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ เป็นต้น ที่ชื่อว่า ภวสงสาร เพราะว่า สัตว์ทั้งหลาย หลงเวียนเกิดในสังสารวัฏฏ์เพราะ มีอวิชชา และตัณหามาก
      2. สถานที่เกิดและที่อยู่ของสัตว์ทั้งหลาย (มี 4 ประเภท) คือ  1. โยนิ(กำเนิด) 4  ได้แก่  1) ชลาพุชะ ถือปฎิสันธิด้วยน้ำ 2) อัณฑชะ ถือปฏิสันธิด้วยไข่ 3) สังเสทชะ ถือปฏิสันธิด้วยเหงื่อไคล 4)โอปปาติกะ ถือปฏิสันธิด้วยกรรมอันแรงกล้า เมื่อตายลงแล้วก็กลับเกิดเป็นร่างใหม่ เหมือนนอนหลับแล้วตื่น  2. คติ(ที่ไปเกิดแห่งสัตทั้งหลาย) มี 5 แห่ง ได้แก่  1) พรหมคติ  คือ พรหมโลก 20 ชั้น  2) เทวคติ คือ เทวโลก 6 ชั้น 3) มนุสสคติ คือ มนุษยโลก (และสัตว์เดียรัจฉาน) 4) นิริยคติ คือ นรก  5) เปตาคติ คือ เปตร และ อสุรกาย 3. วิญญาณฐิติ(ที่ตั้งวิญญาณ)มี  7  ประการ ได้แก่  1) นิริยะ นรก 2) เปตวิสัย 3) อสุรกาย   4) สัตว์ติรัจฉาน 5) มนุสโลก 6)  เทวโลก 7) พรหมโลก  4. สัตตาวาส(ที่อยู่อาศัยของสัตว์)  9 แห่ง ได้แก่  1. อรูปาวจรพรหม  2. อสัญญีพรหม 3. รูปาวจรพรหม 4. กามาวจร เทวโลก 5. มนุษย์โลก 6. นรก 7. อสุรกาย  8. เปตวิไสย 9. สัตว์ติรัจฉาน
      3. หลักปรมัตถสภาวธรรม  จำแนกเป็น รูป และ นามมี 2  หมายถึง ร่างกาย  และจิตใจ  “รูป” มีลักษณะแตกสลายไปเพราะปัจจัยต่างๆ “นาม” มีลักษณะ รู้ น้อมรับอารมณ์ รู้จักคิดอารมณ์เสมอ จำแนกโดยขันธ์ มี 5 หมายถึง รูปขันธ์ ได้แก่ รูป 28  เวทนาขันธ์ ได้แก่ เวทนาเจตสิกตัวเดียว (สัญญาขันธ์ ได้แก่ สัญญาเจตสิกตัวเดียว) สังขารขันธ์ ได้แก่ เจตสิก 50 ตัวที่เหลือ วิญญาณขันธ์ ได้แก่ โลกิยจิต 80(81) ดวง (ตามอภิธรรม วิญญาณขันธ์ หมายถึง จิตทั้งหมด 89 ดวงมีโลกิยจิต 81 และโลกุตตจิต 8)  ขันธ์ทั้ง 5 เป็นที่ตั้งอยู่แห่งทุกข์ มี ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิมรณทุกข์  เป็นที่เกิดแห่งโทษ  เมือทำบาปด้วยกิเลส ส่งโทษให้เกิดให้ตายในภพทั้ง 3 จำแนกโดยอายตนะมี  12  หมายถึงอายตนะภายใน 6 มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย  ใจ อันเป็นที่รับรู้อารมณ์ภายนอก  และอายตนะภายนอก 6 ที่เป็นอารมณ์ให้ถูกรับรู้ มี รูป เสียงกลิ่นรส สัมผัส และธรรมารมณ์   จำแนกโดยธาตุมี  18 หมายถึง อายตนะ 12 และรวมเอาวิญญาณอีก 6 ที่รับรู้อารมณ์ผ่านอายนตนะที่กล่าวมา(6x6x6 = 18) ที่ได้ชื่อว่าธาตุ เพราะเป็นที่ทรงทุกข์ทั้งมวล หรือ เพราะเหตุที่ว่างเปล่าจากสัตว์ บุคคล และตัวตน ชีพ จำแนกโดยส่วนของร่างกาย(โกฐากซากผี) มี 32  หมายถึง  ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ฯลฯ เยื่อสมองที่เป็นอาการ 32 ในร่างกาย
      4. สามัญลักษณะ 3 (ไตรลักษณ์)  สังขารธรรม หมายถึง ธรรมที่เกิดจากการปรุงแต่งของเหตุปัจจัย ปัจจัยภายใน หมายถึงอวิชชาเป็นต้น ปัจจัย ภายนอก หมายถึง ธาตุ 4 มีดิน น้ำ เป็นต้น ผสมรวมกันทำให้เกิดเป็นรูปร่างขึ้นมา  ธรรม(สังขาร)อันใดเกิดแต่เหตุและปัจจัย ธรรม(สังขาร)นั้น ย่อมเป็นอนิจจะ ไม่จิรัง ยั้งยืน เที่ยงแท้  ธรรม(สังขาร)อันใดที่ไม่เที่ยง ธรรม(สังขาร)นั้นย่อมเป็นทุกข์ ธรรมอันใดเป็นทุกข์ ธรรมอันนั้น ก็ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของตน เพราะหาแก่นสารไม่ได้ เป็นสภาพเปล่า สภาพว่างจากแก่นสารทั้งมวล  สังขารธรรมนั้น อุปมาเป็นดังหุ่นยนต์ ที่นายช่างได้สร้างขึ้นมา   อวิชชา ตัณหา อุปาทาน และกรรม อุปมาเป็นดังนายช่างคอยปรุงแต่งให้หุ่นยนต์เป็นไปตามที่ตนต้องการ
      เหตุนั้น โยคาวจร  ผู้มีปัญญา ควรพิจารณา ปรมัตถสภาวธรรม ที่กล่าวมา นับตั้งแต่นามรูปเป็นต้น จนถึงกองสังขารเป็นที่สุด ให้มองเห็นชัดเจน รู้ตามสภาะที่เป็นไป ก็จักได้เบื่อหน่ายกองสังขาร บรรลุพระนิพพานอันเป็นบรมสุข
      5. สัจจนิเทศ พระโยคาวจร ควรพิจารณาให้เห็นแจ้งอริยสัจ 4 ประการ คือ ทุกขสัจจะ หมายถึง อุปาทานขันธ์ ทั้ง 5 เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ ทั้งมวล มีชาติทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณะทุกข์เป็นต้น เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้  สมุทัยสัจจะ หมายถึง  เหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา 3 ประการ คือว่า กามตัณหา ภวตัณหา และ วิภวตัณหา เป็นสิ่งที่ควรละ นิโรธสัจจะ หมายถึง นิพพาน ได้แก่การดับตัณหาด้วยอริยมัคคญาณ เป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง และมัคคสัจจะ หมายถึง  มรรคที่ประกอบด้วยองค์ 8 มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น อันเป็นสิ่งกำจัดตัณหา เหตุแห่งทุกข์ และทำลายอวิชชา ที่ปิดกั้นการหยั่งเห็นอริยสัจจะ เป็นสิ่งที่ควรเจริญ
      ในการเจริญกรรมฐาน ควรชำระศีลให้บริสุทธิ์ เมื่อศีลบริสุทธิ สมาธิย่อมตั้งมั่น เมื่อสมาธิตั้งมั่นดีแล้ว สัมมาปัญญาที่อบรมด้วย สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ย่อมทำลายมิจฉาทิฏฐิ และวิปัลลาสให้หมดไปได้ การเจริญภาวนา พระโยคาวจร ต้องรักษาจิตที่มีปกติดิ้นรนกวัดแกว่งให้อยู่นิ่ง เหมือนช่างศร ดัดลูกสรให้ตรง เพราะจิตที่ฝึกดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้ ควรพิจารณาไตรลักษณะ มีอนิจจตา  ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทุกขตา ความเป็นทุกข์ และ อนัตตตา ความเป็นสิ่งที่ไม่มีแก่นสารสาระ ย่อมเกิดความเบื่อหน่ายในสังขาร เพราะเห็นการเกิดและการดับของสังขาร ย่อมทำที่สุดแห่งทุกข์ไปได้ (ต่อจากนั้น ก็เล่าถึงอนุปุพพิกถา มี ทานกถา ศีลกถา เป็นต้น แต่ในผูกที่  1 จบเพียงแค่ ทานกถา)   
มูลกัมมัฏฐาน ผูกที่ 2
  มูลกัมมัฏฐาน ผูกที่ 2  มีจำนวน 59 หน้าลาน เริ่มด้วยการผูกคำฉันท์ภาษาบาลีว่า
      นโม พุทฺธาย ทิวา วสติ                  วุฑฺฒิ ภวตุ สพฺพทา
วนฺทิตฺวา สิรสา พุทฺธํ                ธมฺมํ สงฺฆญฺจ อุตฺตมํ
เทยฺยสฺส ภาสาย ปวกฺขามิ          กมฺมฏฺฐานํ ทุวิธํ ฯ[2] 
      1. ปลิโพธ 10   โยคาวจรผู้ประสงค์จะปฏิบัติสมถะ วิปัสสนา ควรตัดปลิโพธ (ความกังวล) 10 ประการ[3]   ได้แก่ ปลิโพธด้วยที่อยู่ ปลิโพธด้วยญาติพี่น้อง ปลิโพธด้วยตระกูลท้าวพญาและตระกูลอุปฐากของตน ปลิโพธด้วยลาภ มักแสวงหาลาภ ปลิโพธด้วยหมู่คณะที่ตนพึงสั่งสอน ปลิโพธด้วยการงาน เช่น การก่อสร้าง ปลิโพธด้วยการเดินทางไกล ปลิโพธด้วยอาพาธ เช่น เป็นพยาธิเจ็บป่วย ต้องรักษาให้หายก่อน ปลิโพธด้วยการศึกษาเล่าเรียน ปลิโพธด้วยอิทธิริทธี อันเป็นของปุถุชน เช่น การเหาะไปทางอากาศเป็นต้น
                2. อสัปปายอาวาสะ 18  และ สัปปายะอาวาส   โยคาวจร ควรเลือกสถานที่ปฏิบัติภาวนา อาวาส(ที่อยู่)ใด เมื่อเข้าอยู่แล้ว สมาธิย่อมตั้งมั่นเร็ว  ทั้งได้นิมิตเร็ว  ที่นั้น ถือว่า เป็นสัปปายะ เหมาะแก่การเจริญภาวนา สถานที่ไม่เหมาะต่อการเจริญภาวนา ควรหลีกเว้นให้ไกล มี 18 ลักษณะ ได้แก่  อาวาสใหญ่ อาวาสใหม่ อาวาสเก่า อาวาสใกล้ทางสัญจร  อาวาสใกล้บ่อน้ำและสระน้ำ อาวาสที่มีผัก  อาวาสที่มีดอกไม้   อาวาสที่มีลูกไม้ อาวาสที่ฝูงชนมาปูชาสักการะมิได้ขาด อาวาสที่อยู่ใกล้เมือง อาวาสที่มีไม้และฟืน อาวาสที่อยู่ใกล้ที่ไร่และนา อาวาสที่มีชาวบ้านและภิกษุไม่ถูกกัน ขัดแย้งโต้เถียงกัน  อาวาสที่เป็นท่าน้ำ หรือ ทางบกที่ชุมนุมของคนที่สัญจรไปมา อาวาสที่อยู่ในปัจจันตชนบท บ้านนอกขอบเมือง อาวาสที่ยู่ระหว่างเขตแดนเมือง
                สถานที่อันเป็นสัปปายะที่ผู้ปฏิบัติควรอยู่ ได้แก่  “นาติทูรํ” ไม่ไกลนัก “นจฺจาสนฺนํ” ไม่ใกล้บ้านนัก “คมนาคมนสมฺปนฺนํ” สัญจรไปมาสะดวก, “ทิวา อปฺปสทฺทํ” เสียงเบาในเวลากลางวัน, “รตฺติยา อปฺปนิโฆสํ” ไม่มีเสียงดังในค่ำคืน, “สปฺปฑํสมกสวาตาตปสิริสปสมฺผสฺสา” ไม่ถูกรบกวนด้วย เหลือบ ยุง แดดลม และสัตว์ขบกัด มีงูใหญ่งูน้อย
      3. อัธยาศัยแห่งเนกขัมมะ  6 ประการ ได้แก่ ไม่โลภชื่อว่า “อโลภเนกขัมมะ” ไม่โกรธชื่อว่า “อโทสเนกขัมมะ” ไม่หลงตามมิจฉา(สิ่งที่ผิด)ชื่อว่า “อโมหเนกขัมมะ”  การข่มจิตใจไม่ให้น้อมไปสู่กามคุณทั้ง 5 ชื่อว่า “กามเนกขัมมะ” ยินดีอยู่ในที่สงัดคนเดียว ชื่อว่า “ปริวิเวกเนกขัมมะ”  น้อมใจสู่การออกจากวัฏฏทุกข์ มุ่งหน้าสู่นิพพาน ชื่อว่า “นิสรณเนกขัมมะ”  โยคาวจรถ้าปฏิบัติตามอัธยาศัยเนกขัมมะเหล่านี้ ย่อมเป็นปัจจัย แก่มรรคและผลโดยแท้  และผู้ปฏิบัติควรประกอบด้วยคลองปฏิบัติ 5 ประการ ได้แก่ “อปฺปิจฺฉตา” ความเป็นผู้มักน้อย  “สนฺตุฏฺฐิตา” ความเป็นผู้สันโดษยินดีในปัจจัยตามมีตามได้         “สลฺเลขตฺตา” ความเป็นผู้ขัดเกลาบาป “อิธ ปจฺจยตา” ไม่ทำบาปต่อหน้าและลับหลัง    “วิริยารมฺภตา” ความเป็นผู้ปราภความเพียรในสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน  ดำรงตนอยู่ในสุจริต 3 ประการ ผู้ปฏิบัติ ต้องปฏิบัติตนให้เว้นจากการทำงานมาก เว้นจากการเจรจามาก เว้นจากความพอใจการคลุกคลีด้วยด้วยหมู่คณะ เว้นจากความพอใจในการนอนมาก จงตั้งใจสละทุกอย่าง และถือธุดงตวัตร ตามที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ เพื่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติกัมมัฏฐาน ภิกษุผู้ทรงธุดงควัตรไม่ถูกตามคลองที่บัญญัติไว้  เรียกว่า “ธุดงค์แบบโจร” (โจรธุตังควัตร)  ย่อมนำไปสู่นรก จงประกอบความเพียรแบบผู้ตื่นอยู่เป็นนิจ และจงอย่าเกียจคร้าน
      4. ประเภทของสมาธิ มีหลายระดับ[4] ได้แก่   ปณีตสมาธิ(สมาธิอันละเอียด) มัชฌิมสมาธิ(สมาธิปานกลาง) มุทุสมาธิ(สมาธิที่มีกำลังอ่อน)  สุขสมาธิ อุปจารสมาธิ(สมาธิใกล้ต่อการบรรลุฌาน) อัปปนาสมาธิ(สมาธิดิ่งแนบแน่น เป็นเอกัคคตาสมาธิ)  นั้นคือ เมื่อสุขสมาธิ เกิด ย่อมอยู่สุขสำราญ  เมื่ออุปจารสมาธิ  เกิดขึ้นย่อมตั้งมั่นไม่หวั่นไหว   เมื่ออัปปนาสมาธิ เกิดขึ้นย่อมเป็นดังนั่งอยู่เหนืออากาศกลางหาว  หรือ เป็นเป็นดังนั่งอยู่เหนืออาสนะอันอ่อนนุ่มยุบลงเพียงสะเอว 
      5. ยุคละ หรือ  ชุดธรรมคู่กัน รวมทั้งการระงับกิเลส ด้วยชุดธรรมคู่ ซึ่งมี 6 คู่ ดังนี้
      ธรรมคู่ชุดที่ 1 กายปสฺสทฺธิ จิตฺตปสฺสทฺธิ  ความสงกายและสงบจิต (ในต้นฉบับว่าเป็นความเลื่อมใสแห่งกายและจิต)  ธรรมคู่นี้ ทำให้  อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจระงับไป
      ธรรมคู่ชุดที่ 2 กายลหุตา จิตฺตลหุตา ความเบาแห่งกายและจิต  ธรรมคู่นี้ ทำให้  ถีนมิทธะ ความง่วงเหงา หาวนอน (ต้นฉบับว่า ความหนักและความ(เชื่อง)ช้าแห่งกายและจิต)ระงับไป 
      ธรรมคู่ชุดที่ 3 กายมุทุตา จิตฺตมุทุตา ความอ่อนแห่งกายและจิต ธรรมคู่นี้ ทำให้  มานะ ความถือตัว และ ทิฏฐิ ความเห็นผิด ระงับไป
      ธรรมคู่ชุดที่ 4 กายกมฺมญฺญตา จิตฺตกมฺมญฺญตา  ความควรแก่การงานของกายและจิต ธรรมคู่นี้ ทำให้นิวรณ์ อันปิดกั้นกายและจิตไม่ให้ควรแก่การงาน ระงับไป
      ธรรมคู่ชุดที่ 5 กายปาคุญฺญตา จิตฺตปาคุญฺญตา ความคล่องแคล่ว ชำนาญแห่งกายและจิต ธรรมคู่นี้ ทำให้  อสทฺธา(ความไม่ปลงใจเชื่อ ลังเล สงสัย) การกระทำให้กายจิตลำบาก ระงับไป  
      ธรรมคู่ชุดที่ 6 กายุชุคฺคตา จิตฺตุชุคฺคตา  ความเชื่อตรงแห่งกายและจิต ธรรมคู่นี้ ทำให้  มายาสาเถยฺย (ความหลอกลวง อำพราง) ทำให้เกิดการคดเลี้ยวแห่งกายจิต คือ เช่นต่อหน้าว่าอย่าหนึ่ง ลับหลังกลับว่าเป็นอีกอย่างหนึ่ง ระงับไป 
      6. ปีติ ความเอิบอิ่มใจ นิมิตหมายของการเข้ากระแสธรรม  พระอาจารย์ผู้สอนกัมมัฏฐานกล่าวว่า บุคคลผู้มีบุญสมภาร เมื่อนั่งขัดสมาธิปฏิบัติภาวนาไป ถ้าเกิดปีติ มีขุทฺทกปีติ ได้แก่ อาการเกิดเส้นขนลุกเยือก ๆ (ขนชูชัน) ถือว่าดีนัก   สำหรับผู้ไม่มีบุญสมภารเลย แม้ปฏิบัติไปจนถึง 30 ปี  เพียงขนสักเส้นหนึ่ง ก็ไม่ลุกชูชัน ถ้ากำหนดได้ว่า ด้วยวิธีปฏิบัติอย่างไรทำให้เกิดปีติขึ้นมาได้ จงปฏิบัติตามวิธีเก่านั้นเรื่อยไป
      7. เกิดนิมิต (การเห็นในสมาธิ) บุคคลผู้เจริญพุทธานุสสติเป็นอารมณ์ บริกรรมว่า “พุทโธ พุทโธ” แล้วเห็นนิมิต เป็นต้นว่า  รูปที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม หรือ เห็นแสงสว่างลุกโพลงก็ตาม จงอย่ากลัว และอย่านำมาเป็นอารมณ์ และอย่าปล่อยวางการบริกรรม ถ้านิมิตยังไม่หาย ให้อธิษฐานว่า “เราไม่ต้องการนิมิตเหล่านี้ แต่ต้องการสมาธิในพระพุทธคุณ” นิมิตก็จะหายไป   แม้ว่า จะเกิดนิมิต เห็นเป็นรูปพระพุทธเจ้าก็ตาม ให้ละพุทธนิมิตนั้นเสีย เมื่อติดในนิมิต ย่อมเป็นอันตรายต่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติกัมมัฏฐาน จงถือเอาสภาวธรรม คือ พระพุทธคุณเท่านั้น มาเป็นอารมณ์
      8. อนิมิตตกัมมัฏฐาน  กัมมัฏฐาน ที่ไม่ถือนิมิตเป็นอารมณ์มี 18 ประการ ได้แก่ อนุสสติ 10 (มีพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ อุปสมานุสสติ มรณานุสสติ (ต้นฉบับขาดไป 2 คือ กายคตานุสสติ และ อานาปานสติ) 10 อย่างนี้ มีสัญญาเดียว มีวัตถุเดียวเป็นอารมณ์)  พรหมวิหาร 4 ได้แก่  เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และ อรูป 4 ได้แก่  อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ  เนวสัญญานาสัญญายตนะ  หมายเหตุ วิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ไม่ถือเอานิมิตเป็นอารมณ์
      9. จำแนกอารมณ์ของกัมมัฏฐาน  กัมมัฏฐาน 12  อย่าง ได้แก่ อนุสสติ 10 และ อรูป 2 คือ   วิญญานัญญจายตนะและ  เนวสัญญานาสัญญายตนะ  ถือสภาวธรรมเป็นอารมณ์  กัมมัฏฐานที่เหลือ 6 อย่าง  ได้แก่ พรหมวิหาร 4 และอรูป 2 คือ  อากาสานัญจายตน อากิญจัญญายตนะ   ถือบัญญัตติเป็นอารมณ์  ชื่อว่า นวตัพพารัมมณะ
      กัมมัฏฐาน 22 มี กสิณ 10 อสุภะ 10 อานาปานัสสติ และ กายคตานุสสติ  มีปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ กัมมัฏฐาน 8 อย่าง คือ  วิปุพพพกอสุภะ  โลหิตกอสุภะ  ปุฬุวกอสุภะ  อานาปานัสสติ อาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ และ อาโลก มีอารมณ์ไหว(ไม่นิ่ง)ในเบื้องต้น แต่เมื่อถึงปฏิภาคนิมิตแล้วย่อมไม่ไหว กัมมัฏฐานที่เหลือ 18 อย่าง ไม่เอานิมิตเป็นอารมณ์
      10. กัมมัฏฐานที่เอื้อให้บรรลุ /ไม่บรรลุฌาน  กัมมัฏฐานที่ไม่เอื้อให้ถึง ฌาน มี 10 อย่าง  ได้แก่  อนุสสติ 8  (เว้น กายคตานุสสติ แล อานาปานัสสติ)  อาหาเรปฏิกูลสัญญา  จตุ(ธาตุ)ววัตถาน(การกำหนดธาตุทั้ง 4)  ให้ถึงเพียง อุปจารสมาธิ เท่านั้น
      กัมมัฏฐาน 11 อย่าง ได้แก่ อสุภะ 10  และ กายคตานุสสติ ให้ถึงเพียง ปฐมฌาน เท่านั้น
      พรหมวิหาร 3 ข้อแรก  คือ เมตตา กรุณา มุทิตา ให้ถึงฌาน 3 ระดับ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน และ ตติยฌาน
      กัมมัฏฐาน 11 อย่าง  ได้แก่ กสิณ 10  และ อานาปานัสสติ ให้บรรลุ รูปฌานทั้ง 4 ได้หมด อุเบกขาพรหมวิหาร และ  อรูป 4  ให้บรรลุ จตุตถฌานได้ 
      11. การแผ่ปฏิภาคนิมิต ของอารมณ์กัมมัฏฐาน    ปฏิภาคนิมิต(นิมิตที่ติดตรึงแน่นแม้หลับตาก็มองเห็น) แห่งกสิณ 10   ผู้ปฏิบัติแผ่ขยายไปครอบพื้นที่ได้เท่าใด ความสามารถทางอิทธิวิสัย(การแสดงฤทธิ์)ก็มีเท่าพื้นที่นั้น  ไม่ควรแผ่นิมิตที่เหลือ เพราะไม่เกิดประโยชน์
      12. จำแนกโดยภูมิ  กัมมัฏฐาน 12 ข้อ ได้แก่  อสุภะ 10 กายคตานุสสติ 1       อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 ไม่มีอยู่ในเทวภูมิ  กัมมัฏฐาน 12 ข้างต้น และ อานาปานัสสติ รวม 13 ข้อ ไม่อยู่ในรูปภูมิ อรูปกัมมัฏฐาน 4  มีเฉพาะในอรูปภูมิ  กัมมัฏฐานที่เหลือ 23 ข้อ ไม่มีอยู่ในอรูปภูมิ  กัมมัฏฐานทั้งหมด 40 ข้ออยู่มีครบในมนุสสภูมิ
      13. จำแนกโดยการถือนิมิติ  ทิฏฐนิมิต[5] ถือเอาด้วยการเห็น มี 14 ข้อ คือ   กสิณ 9 (เว้นวาโยกสิณ) ตจปัญจกะ 5(กัมมัฏฐาน มีเกสาเป็นต้นและมีหนังห่อหุ้มร่างกาย เป็นที่ 5)  ได้แก่  เกสา(ผม) โลมา(ขน) นขา(เล็บ) ทันตา(ฟัน) ตโจ(หนังห่อหุ้มร่างกาย)
      สุตตนิมิต  ถือเอาด้วยการฟัง  มี กัมมัฏฐาน 18 ข้อ      
      ผุฏฐนิมิต ถือเอาด้วยการถูกต้อง มีกัมมัฏฐาน 1 ข้อ ได้แก่ อานาปานัสสติ 
      กัมมัฏฐานที่เหลือนอกนี้  สุดแต่โยคาวจรจะกำหนดถือเอานิมิต
                14 กัมมัฏฐาน เป็นปัจจัยแก่กันและกัน  
กสิณ 9  (เว้นอากาสกสิณ) เป็นปัจจัยแก่อรูป 4  กสิณ 10  เป็นปัจจัยแก่อภิญญา  พรหมวิหาร 3 ข้อต้น  เป็นปัจจัยแก่อุเบกขาพรหมวิหาร  อรูปกัมมัฏฐานลำดับต้น เป็นปัจจัยแก่ลำดับสูงขึ้นไป เนวสัญญานาสัญญายตนะ เป็นปัจจัยแก่นิโรธสมาบัติ วิปัสสนา เป็นปัจจัยแก่ภวสมบัติ
      15. กัมมัฏฐานที่เหมาะกับจริตชนิดต่าง ๆ
      อสุภะ 10 กับ กายคตานุสสติ เป็นสัปปายะแก่ผู้มีราคจริต  พรหมวิหาร 4   วัณณกสิณ 4 เป็นสัปปายะควรแก่ผู้มีโทสจริต  อานาปานัสสติ เป็นสัปปายะ แก่ผู้มีโมหจริต และ วิตกจริต อนุสสติ 6 ข้อลำดับต้น มีพุทธานุสสติ เป็นต้น เป็นสัปปายะแก่ผู้มีสัทธาจริต มรณานุสสติ  อุปสมานุสสติ (จตุ)ธาตุววัตถาน และ อาหาเรปฏิกูลสัญญา เป็นสัปปายะ แก่ผู้มีพุทธจริต  กสิณที่เหลือจากวัณณกสิณ อรูปกัมมัฏฐาน 4  ย่อมเป็นสัปปายะ แก่บุคคลผู้มีจริตทุกชนิด  กสิณขนาดเล็กหรือแคบ เป็นสัปปาย แก่ผู้มีวิตกจริต กสิณขนาดใหญ่เป็นสัปปายะแก่ผู้มีโมหจริต
       โยคาวจรผู้ที่ประสงค์จะปฏิบัติกัมมัฏฐาน  40 ข้อ ควรตั้งจิตศรัทธาเอาไว้ โดยเริ่มต้นจาก พุทธานุสสติพอให้เกิดปีติสมาธิจนมั่นคงดีเสียก่อนแล้ว จึงค่อยเปลี่ยนเป็นกัมมัฏฐานอย่างอื่น จงสังเกตสภาวะในจิตใจของตน(รู้ด้วยตนเอง)ว่า เมื่อปีติสมาธิมั่นคงดีย่อมทำให้กัมมัฏฐานที่จะปฏิบัติตามมาและสัมปยุตธรรมทั้งหลายเจริญขึ้น เป็นเหตุให้ศีลตั้งมั่น สมาธิที่ได้มานั้นจงค่อยรักษาไว้อย่าให้เสื่อมหายเสีย จงอย่าประมาท
      16. สมถกัมมัฏฐานมี(อารมณ์) 40 ชนิด คือ กสิณ 10 อสุภะ 10 อนุสสติ 10 พรหมวิหาร 4 อรูป 4 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุววัตถาน 1  ในสมถกัมมัฏฐาน 40 ข้อนี้ กสิณ 10 นั้น โยคาวจรทั้งหลายไม่นิยมปฏิบัติ  ผู้แต่งไม่บอกวิธีภาวนาเอาไว้ แต่จะอธิบายกัมมัฏฐานหมวดอื่น ๆ
      17. อธิบายลำดับวิธีการภาวนากัมมัฏฐาน (อารมณ์สมถกัมมัฏฐาน 40)
     วิธีภาวนาอสุภะ 10   โยคาวจรเมื่อจะภาวนาพิจารณาซากศพที่พองอืด จงยืนมองดูใกล้ๆ น้อมนำมาเป็นอารมณ์ เป็นนิมิต ภาวนา(บริกรรม)ว่า “อุทฺธุมาตกํ ปฏิกูลํ” ดังนี้ไปเรื่อย  นิมิตอารมณ์ คือ ซากศพที่พองอืดนั้น จะปรากฏในใจ  แม้หลับตาอยู่ก็เป็นดุจเห็นด้วยตา จากนั้นควรถือเอานิมิตที่ได้ให้มั่น ภาวนาไปเรื่อย ๆ อย่าละความเพียร ถ้ามีบุญสมภาร อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิย่อมเกิดขึ้น ในทำนองเดียวกัน ถ้าจะภาวนาเอาอารมณ์อสุภกัมมัฏฐานอื่นใด  โยคาวจรก็จงทำตามวิธีที่แนะนำใน อุทธุมาตกอสุภะนี้เถิด
    วิธีภาวนาอนุสสติ 10 (จะขอยกตัวอย่างวิธีการภาวนาพุทธานุสสติให้ไว้พอเป็นแนวทางปฏิบัติ รายละเอียดโปรดดูในฉบับปริวรรต) 
               โยคาวจรผู้จะภาวนาพุทธานุสสติ ให้ขอขมาพระแก้ว 5 จำพวกก่อน แล้วเข้าสู่ที่สงัดจากอารมณ์(อื่น ๆ) นั่งขัดสมาธิตั้งตัวให้ตรง หลับตาปิดปาก มือขวาทับมือซ้ายวางไว้บนหน้าตัก ตั้งจิตอธิษฐานมอบตนแก่พระพุทธเจ้าว่า “อิมาหํ ภนฺเต ภควา อิมํ อตฺตภาวํ สชีวิตํ ตุมฺหากํ สพฺพพุทฺธานํ ปริจฺจชามิ นิยฺยาเทมิ” 3 ครั้ง 
               คิดบริกรรมในใจว่า “อปฺปมาโณ พุทฺโธ อปฺปมาโณ ธมฺโม อปฺปมาโณ    สงฺโฆ  พระพุทธเจ้ามีคุณอันหาประมาณไม่ได้ พระนวโลกุตตรธรรมและปริยัติธรรมมีคุณอันมากไม่อาจนับได้  พระสังฆเจ้าก็ทรงคุณมาก อันหาประมาณไม่ได้   พุทฺโธ เม นาโถ พระพุทธเจ้าตนตรัสรู้จตุอริยสัจจธรรมเป็นที่พึ่งแก่ข้า,  ธมฺโม เม นาโถ พระนวโลกุตตรธรรมเจ้า 9 ประการ เป็น 10 กับทั้งปริยัติธรรมเป็นที่พึ่งแก่ข้า, สงฺโฆ เม นาโถ พระสังฆเจ้า 2 จำพวก คือ สมุตติสังฆเจ้าและอริยสังฆเจ้าเป็นอเนกคุณธารเป็นที่พึ่งแก่ข้า,  กมฺมฏฺฐานํ เม นาถํ กัมมัฏฐานเจ้า 2 จำพวก คือ สมถกัมมัฏฐานแลวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นที่พึ่งข้า, กมฺมฏฺฐานทายกาจริโย เม นาโถ อาจารย์เจ้าตนสอนธรรมกัมมัฏฐานทั้งมวล เป็นที่พึ่งแก่ข้า เพื่อให้หายอัชฌัตตพหิทธะอันตรายทั้งมวล บัดนี้ผู้ข้าจักภาวนาพุทธานุสสติกัมมัฏฐาน คือ ตั้งไว้ยังพุทธคุณเจ้าเป็นอารมณ์ พิจารณาเถิงคุณราสีอันเป็นอนันตามีอรหัตตาทิคุณเป็นต้น เพื่อให้เป็นปัจจัยแก่มัคคผล นิพพาน ปฏิเวธ ปีติสมาธิธรรมเจ้า ขอจงเกิดเป็นในตน ในใจ แห่งข้า ในอิริยาบถอันข้านั่งนี้  อิติปิ โส ภควา ฯลฯ พุทฺโธ ภควาติ   3 ว่าหน  โส ภควา อันว่าพระพุทธเจ้าตนนั้น อรหํ ได้ชื่อว่าอรหันต์ อิติปิ มักว่า อิมินา จ การเณน แม่นด้วยเหตุอันนี้ก็ดี พระพุทธเจ้าตนนั้นได้ ชื่อว่า อรหันต์ ด้วยเหตุอันกำจัดเสียยังสังสารจักรด้วยดาบแก้ว คือ อรหัตตมัคคญาณ ประการหนึ่ง พระพุทธเจ้าตนนั้น ได้ชื่อว่า อรหํ ด้วยเหตุอันไกลแต่ข้าศึก คือ ราคาทิปาปธรรม ประการหนึ่ง พระพุทธเจ้าตนนั้นได้ชื่อว่า อรหํ ด้วยการไม่กระทำปาปธรรมในที่สงัด เป็นดังสามัญญสัตว์ทั้งหลาย ประการหนึ่ง พระพุทธเจ้าตนนั้นได้ชื่อว่า อรหํ ด้วยเหตุเป็นอัครทักขิเณยยปุคคละ ผู้ประเสริฐยิ่งกว่าทักขิเณยยปุคคละทั้งหลายในโลกนี้ เป็นอรหันตาตนประเสริฐ ยิ่งกว่าอรหันตาในโลกนี้ ทรงพระคุณหาที่สุดไม่ได้ ควรเพื่อรับเอายังบูชาพิเศษแห่งนรเทวทั้งหลายอันนำมาบูชา”
      จงบริกรรม คำภาวนาว่า “อิติปิ โส ภควา อรหํ” 3 หน จากนั้น ให้ภาวนาคำว่า “อรหํ อรหํ” ไปตลอดจนกว่าจะหยุดพัก (และเมื่อจะปฏิบัติต่อ ก็ให้เริ่มลำดับตั้งแต่ต้น)
      หมายเหตุ การจะปฏิบัติภาวนา อนุสสติกัมมัฏฐานข้ออื่น ๆ ก็ให้เริ่มต้นตามแนวทางเดียวกัน จะแตกต่างกันก็เพียงแต่คำบริกรรมภาวนา  ดังตัวอย่าง ต่อไปนี้
      คำภาวนาธัมมานุสสติ  “สวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม”
      คำภาวนาสังฆานุสสติ “สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ”
      คำภาวนา สีลานุสสติ “อโห วต เม สีลานิ อขณฺฑานิ”
      คำภาวนาจาคานุสสติ “อโห วตาหํ วิคตมจฺเฉเรน เจตสา วิหรามิ”
      คำภาวนาเทวตานุสสติ “ยถา เทวา สุขํ ปปฺโปนฺติ ตถาหํ สุขํ ปาปุเณยฺยํ”
      คำภาวนาอุปสมานุสสติ “นิพฺพานํ อคฺคํ นิพฺพานํ อุตฺตมํ นิพฺพานํ อนุตฺตรํ”
      คำภาวนามรณานุสสติ “มรณํ เม ธุวํ มรณํ เม ธุวํ”
      คำภาวนากายคตานุสสติ ให้ถือเอา อาการใดอาการหนึ่งใน 32 อาการ มี ผม ขน เล็บ เป็นต้น ดังคำภาวนา เกสา ว่า “เกสา ปฏิกูลา”
      การภาวนาอานาปานัสสติ  เมื่อทำพิธีทุกอย่างเบื้องต้นเสร็จแล้ว การกำหนดลมหายใจ เข้า-ออก ลมต้อง(สัมผัส)ที่ใดชัด เช่น ที่ปลายจมูก หรือ ที่ริมฝีปาก ก็จงตั้งสติกำหนดที่นั่น  ให้นับลมหายใจเข้าว่า 1 1 ลมหายใจออกว่า 2 2 เป็นต้น นับเรื่อยไป ถึง 10 10 ที่นับเป็นคู่ สำหรับบางคนที่ลมหายใจเข้าออกไม่ปรากฏชัด แต่สำหรับผู้ที่ลมหายใจปรากฏชัด ให้นับ ลมหายใจเข้า 1 ลมหายใจออก 2 ไล่การนับไปเรื่อย ๆ จนถึง เข้า 9 ออก 10  ตั้งสติกำหนดที่ลมหายใจเข้า หายใจออก ตรงฐานที่ลมดังต้อง(สัมผัส) นั้น
      เมื่อภาวนาไป นิมิต(ลมหายใจ)ย่อมปรากฏ “ตุลปิจุ วิย” ประดุจจะดังปุยนุ่น  “กปฺปาสปิจุ วิย” เป็นดังปุยสำลีฝ้าย  “วาตาธาร วิย”  เป็นดังแถว(กระแส)ลมออกมา” นิมิตเช่นนี้เป็น “อุคคหนิมิต”  ถ้าปรากฏลักษณะ “ตารกรูปํ วิย”  เป็นดังรูปดาวมีรัสมี  เป็นทั้ง ไอุคคหนิมิต และ ปฏิภาคนิมิต”
      ถ้าปรากฏลักษณะต่าง ๆ เช่น “มณีคุฬิกา วิย” เป็นดังพวงแก้ว “มุตฺตาคุฬิกา วิย” เป็นดังแถวมุกดาหาร “กปฺปาส วิย” เป็นดังดอกฝ้าย “สารทารุสุจิ วิย” เป็นดังไม้แหลมแก่น  “ทีฆํ ปามงฺคสุตํ วิย”  เป็นดังใยกระวาวแผ่ไป “พลาหกปฏลํ วิย” เป็นดังแผ่นฝ้าเมฆ “ปทุมปุปฺผา วิย”  เป็นดังดอกบัว “รถจกฺกํ วิย”  เป็นดังกงจักรแก้ว “จนฺทมณฺฑลํ วิย”   เป็นดังมณฑลพระจันทร์ “สุริยมณฺฑลํ วิย”   เป็นดังมณฑลพระอาทิตย์
      นิมิตทั้งหลาย นับแต่ปรากฏดังพวงแก้ว จนถึง ดังมณฑลพระอาทิตย์ ชื่อว่า “ปฏิภาคนิมิต”
      พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า การปรากฏนิมิตย่อมมีมากอย่าง ขอให้โยคาวจรหมั่นกำหนดภาวนา ก็จะเกิดนิมิต จนเป็นอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ
      วิธีภาวนาเมตตาพรหมวิหาร มีคำภาวนา ที่ชาวพุทธส่วนใหญ่ท่องคำแผ่เมตตาได้คล่องปากอยู่แล้ว จะไม่นำมากล่าวไว้ โปรดดูในฉบับปริวรรตท้ายหนังสือนี้
      คำภาวนา อาหาเรปฏิกูลสัญญา “อโห วต โภ อาหาโร ปฏิกูโล”
      คำภาวนา จตุธาตุววัตถาน “อตฺถิ อิมสฺมึ กาเย ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ”
      คำภาวนา อรูปกัมมัฏฐาน ที่ 1 “อากาโส อนนฺโต อากาโส อนนฺโต”
      คำภาวนา อรูปกัมมัฏฐาน ที่ 2 “วิญฺญาณํ อนนฺตํ วิญฺญาณํ อนนฺตํ”
      คำภาวนา อรูปกัมมัฏฐาน ที่ 3 “นตฺถิ กิญฺจิ นตฺถิ กิญฺจิ”
      คำภาวนา อรูปกัมมัฏฐาน ที่ 4 “สนฺตเมตํ ปณีตเมตํ”
      (จบการกำหนดอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐาน)

               18. วิธีการเจริญวิปัสสนามูลกัมมัฏฐาน
                โยคาวจรจะภาวนาวิปัสสนา(กัมมัฏฐานต่อไป) ให้ขอขมาพระแก้ว 5 จำพวก  เข้าไปสู่ที่สงัด(วิเวก) มอบถวายตนให้กับพระพุทธเจ้า และทำตามลำดับทุกปนะการที่กล่าวไว้ในสมถกัมมัฏฐาน ตั้งใจอธิษฐานว่า
               “ผู้ข้าจักภาวนาวิปัสสนากัมมัฏฐานเจ้า เพื่อให้สิ้นทุกข์สุดทุกข์แห่งข้า ทิฏฺฐิวิสุทฺธิญาณ กงฺขาวิตรณวิสุทธิญาณ และวิปัสสนาญาณทั้งหลาย 10 ดวงอันประเสริฐ มีสัมมสนญาณเป็นต้น จงเกิดเป็นไปในกายจิตแห่งข้าในอิริยาบถนี้”
               จากนั้น จงพิจารณาส่วนของร่างกาย ไล่ไปตามอาการ 32 ให้เห็นว่า ส่วนทั้งหมด(อาการ 32 อย่าง) นี้รวมกันเข้าเป็นเพียงกองสังขาร (กองเดียว)  กองธาตุ  42  ปราศจากสัตว์บุคคล เป็นเพียงอุปาทานขันธ์ 5, อายตนะ 12,  ธาตุ 18,  สรุป มันเป็นเพียง นามและรูป 2 ประการ เรียกว่า กองสังขารธรรมอันเดียว  
      พิจารณาลักษณะของรูปและนาม
      ลักษณะของรูปธรรม  “(วิโรธปจฺจเยน) รูปนลกฺขณํ” มีการแตกทำลายไปด้วยวิรุทธปัจจัย มีความเย็นและร้อนเป็นต้นเป็นลักษณะ  ลักษณะของนามธรรม ได้แก่ “นมนลกฺขณํ” มีการน้อมไปสู่อารมณ์อย่างรวดเร็ว เป็นลักขณะ  รูปและนามทั้ง 2  อาศัยเซิ่งกันจึงทำให้กิจกรรม และ การเคลื่อนไหวอิริยาบถเป็นไปได้ “ปงฺคุลนฺธสทิสํ” เป็นดุจคนง่อยเปลี้ยและคนตาบอด(สองคน) อาศัยกันและกันสัญจรไปมาได้สำเร็จ
      มีคำภาวนาว่า “รูปนลกฺขณํ รูปํ นมนลกฺขณํ นามํ” การกำหนดรู้ลักษณะรูปนามเช่นนี้ เป็นการภาวนาทิฏฐิวิสุทธิ
      ต่อจากนั้น ให้ภาวนากังขาวิตรณวิสุทธิติดไปดังนี้ “อเหตุกํ อปจฺจยํ อิทํ นามรูปํ นุปฺปชฺชติ น ปวตฺตติ สเหตุกํ ปน สปฺปจฺจยํ นามรูปํ อุปฺปชฺชติ ปวตฺตติ” ชนกเหตุและอุปถัมภกปัจจัยให้นามรูปทั้ง 2 เกิด คือ อวิชชา ตัณหา อุปทาน ข้าวน้ำโภชนะอาหารอันสัตว์ทั้งหลายบริโภคทุกวัน เป็นอุปถัมภกปัจจัยค้ำชูเลี้ยงดูนามรูปไม่ให้เหี่ยวแห้ง นามรูปไม่ใช่สิ่งที่ผู้มีฤทธิดลบันดาลปรุงแต่งขึ้นมา แต่เพราะ อวิชชา ตัณหา อุปทาน กรรม อาหาร เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น 
      คำภาวนาว่า “สเหตุกํ สปจฺจยํ นามรูปํ สเหตุกํ สปจฺจยํ นามรูปํ” เป็นการภาวนากังขาวิตรณวิสุทธิ
      เมื่อภาวนากังขาวิตรณวิสุทธิแล้ว  จงยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาญาณ พิจารณารูปนาม ให้เห็นลักษณะ 3  ประการ คือ เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้ เกิดดับทุกขณะ  เป็นทุกข์ เป็นภัย  ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และเป็นอนัตตา  ความไม่มีตัวตน แก่นสารที่ยั่งยืน พระนิพพานเท่านั้น มีสภาวะยั่งยืน และสงบ
      ให้ใส่ใจบริกรรม ตามภาษาบาลี ดังนี้ “ยงฺกิญฺจิ นามรูปํ อตีตํ วา ปจฺจุปนฺนํ วา อนาคตํ วา อชฺฌตฺตํ วา พหิทฺธา วา โอฬาริกํ วา สุขุมํ วา หีนํ วา ปณีตํ วา ยํ ทุเร วา สนฺติเก วา สพฺพนฺตํ นามรูปํ อนิจฺจํ ขยตฺเถน หุตฺวา อภาวตฺเถน นิจฺจํ วต นิพฺพานํ   สพฺพนฺตํ นามรูปํ ทุกฺขํ ภยตฺเถน อภิณฺหํ อุทฺทยวยปฏิปิฬนฏฺเฐน สุขํ วต นิพฺพานํ  สพฺพนฺตํ นามรูปํ อนตฺตา อตฺตโน สนฺตกา อวสวตนฏฺเฐน อสสารกฏฺเฐน สารํ วต นิพฺพานํ”
               (คำแปลและความหมายโดยรายละเอียด โปรดดูในฉบับปริวรรต)
      คำภาวนาสำหรับพิจารณาไตรลักษณะสั้น ๆ นั้น เมื่อผู้ปฏิบัติจะพิจารณาปลงสังเวชบทใด ให้พิจารณาบทนั้น ดังนี้
อนิจจภาวนา “นามรูปํ อนิจฺจํ นามรูปํ อนิจฺจํ”
ทุกขภาวนา “นามรูปํ ทุกฺขํ นามรูปํ ทุกฺขํ”
อนัตตาภาวนา “นามรูปํ อนตฺตา นามรูปํ อนตฺตา”
วิปสฺสนามูลกมฺมฏฺฐานสมตฺตา วิปัสสนามูลกัมมัฏฐานผูก 2 จบ



[1] ในมหาโควินทสูตร พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย  มหาวรรค เล่มที่ 2 ภาคที่  2 ข้อที่  218  กล่าวว่า เสียงของสนังคกุมารพรหม มีลักษณะ  8 ประการ   คือ 1. แจ่มใส 2. ชัดเจน 3. นุ่มนวล 4. น่าฟัง 5. กลมกล่อม 6. ไม่พร่า 7.  ลึก 8. มีกังวาน และยกย่องว่า พระพุทธเจ้าก็มีเสียงดังเสียงพรหม “พฺรหฺมสโร”
[2] ความนอบน้อมแด่องค์พระพุทธเจ้า(ของเรา) ย่อมมีอยู่ตลอดไป ขอความเจริญ จงมีตลอดกาลทุกเมื่อ ข้าพเจ้า จะได้กล่าวถึง กัมมัฏฐาน ซึ่งมีอยู่ 2 ประการ ด้วยภาษาไทย (พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ แปล)   
[3] ต้นฉบับเป็น ปลิโพธิ  ดังบาลีว่า “อาวาโส ญาติ กุลํ                          ลาโภ ธนํ กมฺมญฺจ
                อทฺธานํ อาพาโธ คนฺโถ                  อิทฺธีติ เต ทสปลิโพธีติ”
[4] ในมูลกัมมัฏฐาน ฉบับนี้ ไม่กล่าวถึง ขณิกสมาธิ อันหมายถึง สมาธิที่เกิดขึ้นชั่วขณะใดขณะหนึ่ง และไม่มี คำอธิบาย ปณีตสมาธิ มัชฌิมสมาธิ และมุทุสมาธิ  พูดถึง สุขสมาธิ น่าจะหมายถึง ขณิกสมาธิที่เอื้อต่อสมาธิระดับที่ลึกละเอียดขึ้นไป (พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์)
[5] ทิฏฺฐ หมายถึง (สิ่งที่) ถูกเห็น ต ปัจจัย เป็น กิริยากิตก์ เขียนถูกแล้ว) มิใช่นามศัพท์ ทิฏฐิ อย่าสับสนไปเติม สระ อิ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น