แจ้งข่าวนักศึกษา012173

วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

คิดอย่างไท และเป็นไท

คิดอย่างไท และเป็นไท
 มีความคิดที่อยากแสดงกับผู้อ่านก็คือ การคิดอย่างไทและเป็นไท 
คนทางตะวันออกส่วนมากมักจะถูกดูหมิ่นในเชิงกระบวนความคิดความอ่านว่า ลอกกากเดนตะวันตกมาทั้งดุ้น ก๊อปเขามาทั้งหมด คิดอะไรเองไม่เป็น จึงถูกจูงจมูก  ตกเป็นทาสทางความคิด เป็นเมืองขึ้นแบบแดนอาณานิคม ชนิดที่หาโอกาสปลดเปลื้องตนได้ยาก พอฝรั่งคิดเขียนอะไรมา ก็เออ ออ ห่อหมกว่า สุดยอด รับมาทั้งหมด โดยไม่ได้คัดกรองว่า จะเหมาะกับสภาพสังคมของตนไหม
ระบอบการเมืองการปกครอง ที่เขาชี้ว่า เป็นระบอบที่เลวน้อยที่สุด ประเทศทางตะวันออก ก็สำเนาทฤษฎีการเมืองการปกครองจากตะวันตกมาชนิดที่ไม่ขาดหายแม้แต่ข้อเดียว ระบบสาธารณะสุขเอย ระบบสื่อสารเอย ระบบเศรษฐกิจเงินทุน ธนาคารเหล่านี้ชาวตะวันออกคิดระบบที่เป็นของตนเองไม่เป็น ทางที่ดีเมื่อมีใครไปเรียนมาจากเมืองนอกเมืองนามาก็เลยมาปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีดำเนินงานด้านต่างๆที่กล่าวมาแล้วให้เป็นแบบตะวันตก เพราะเขาการันตีว่า มันทันสมัย
 มิได้ปฏิเสธตะวันตกทั้งหมดว่า ไม่ดี  เพราะบางอย่างแบบตะวันตกก็คิดมาดี เพราะคนของเขาเอาจริงเอาจัง การที่เขาสามารถคิดเอาจริงเอาจัง และสามารถสรรค์สร้างผลงานอมตะแก่สังคมโลกได้นั้น ประการหนึ่ง เพราะเขาเป็นไททางความคิด ไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบทางวัฒนธรรม และประเพณีความเชื่อ ที่แห่ตามกันมา เขาจึงคิดอะไรที่ล้ำหน้า แปลกไปกว่าคนในสังคมของเขาที่จะคาดคิดได้ เรียกว่า ก้าวล่วงหน้าไปหลายไมล์
เช่น กรณีคนอยากบินไปในอากาศได้เหมือนนก เขาก็คิดเครื่องบินขึ้นมาได้ อยากอยู่ในน้ำได้เหมือนปลา ก็สร้างเครื่องประดาน้ำ และเรือดำน้ำขึ้นมา อยากสื่อสารกันในระยะทางที่ไกลพร้อมกับการเห็นหน้า ก็สร้างโทรศัพท์ วิทยุโทรทัศน์ขึ้นมา อยากให้มนุษย์มีอะหลั่ยเหมือนเครื่องจักเครื่องกล ก็คิดทำการโคลนนิ่งมนุษย์ขึ้นมา
การคิดพิเรน ๆ อย่างนี้ หากเกิดในสังคมตะวันออก โดยเฉพาะที่เมืองไทย เขาจะถูกหาว่า นายนี้ไม่บ้าก็บอ ใจวิปริต จิตวิปลาส เป็นคนหลุดโลก แต่ถ้าเกิดในสังคมตะวันตก เขากลับมองว่า นั่นคือความคิดสร้างสรรค์ และเขาเป็นอิสระที่จะคิดและทดลอง โดยที่สังคมไม่เข้าไปยุ่มย่ามมากนัก ถ้าการคิดค้นนั้น ไม่กระทบต่อความมั่นคงและการดำรงอยู่อย่างสันติ ผิดศีลผิดธรรมที่ทำให้สังคมลำบาก ที่เห็นเข้าไปก้าวก่ายบ้าง ก็ดูจะเป็นเพียงสายศาสนาที่กัดไม่ปล่อย เอาจริงเอาจัง บางยุคบางสมัย คนคิดเรื่องใหม่ ๆ กลับถูกหมายปองชีวิตก็มีถมไป แต่เขาก็สู้จนเป็นอิสระ เป็นไททางความความคิด และสร้างประโยชน์แก่โลกมานักต่อนักแล้ว
 ขอย้อนมาที่เมืองไทยบ้านเรา อยากตั้งคำถามว่า ตอนนี้พวกเราเป็นอิสระทางความคิดกันพอหรือยัง มีเสรีภาพทางวิชาการกันหรือยัง เห็นแต่ว่า พอใครจะคิดเรื่องอะไร จะทำอย่างไร ก็เอากรอบทางกฎหมายมาจับ อ้างกรอบทางประเพณีและอิงวัฒนธรรมมาเป็นเกณฑ์วัด และตีฝีปาก ตีความกันพวกอื่นเอาไว้ก่อน ชี้แต่ว่าไม่ได้ ๆๆๆ และที่จะได้นั้น จะต้องทำอย่างไร ไม่บอก...  กลับนั่งนิ่งอมน้ำลายเอาไว้ ไม่ได้คิดแก้ไขหรือหาทางออกประการใดเอาไว้
 ขอเสนอความคิดว่า อะไรที่ว่าไม่ได้ เช่น ผิดประเพณีอย่างนั้นอย่างนี้  ลงมือตรวจสอบกันหน่อยสิ  ใช้หลักกาลามสูตร อย่าเชื่อประเพณีมากนัก บางทีที่เราว่า ผิดประเพณี อันที่จริง ประเพณีที่ยึดตามกันมาผิดหรือไม่ ที่กันท่าว่า ผิดกฎหมายๆๆ ตรวจสอบเจตนารมณ์การออกกฎหมายให้ดีสิ เราตีความผิด ถือเอากฎหมายผิดหรือไม่ จะเป็นไปได้ไหม ที่จะกล้าชี้ว่า ตัวปัญหา ก็คือ  เจ้าตัวบทกฎหมายที่บัญญัติมานั้นแหละผิดเสียเอง
หลายปีมานี้ ดูเรื่องวิวาทะในการที่มีผู้หญิงคนหนึ่งบวชมาแล้ว และมาขอสถานภาพเป็นภิกษุณี ให้มหาเถระสมาคมรับรองฐานะ กลุ่มที่ยึดถือวินัยก็บอกว่าไม่ได้ ๆ ลองตรวจสอบพระวินัยดูสิว่า จะมีช่องทางใดให้เขาได้ปฏิบัติธรรมตามที่เขาชอบ โดยไม่อ้างระเบียบ ข้อบังคับนั่น ๆ นี่ ๆ ให้มากขี้ควายหลายขี้ช้าง หากพระวินัยไม่มีช่องทางให้เดิน จะมีช่อทางอื่นไหม ที่ว่า มิใช่การปรับวินัยให้เข้ากับคน  แต่อยากถามนอกกรอบว่า  ศาสนาพุทธแบบเถรวาทในประเทศอื่น ๆ อย่างศรีลังกาเป็นเถรวาทเหมือนพุทธไทย เขามีธรรมเนียมปฏิบัติกันอย่างไรในเรื่องนี้ เหตุใดศรีลังกาจึงสามารถตัดต่อพันธุกรรมให้เกิดภิกษุณีขึ้นมาได้?? มันน่าจะมีอะไรพอเป็นทางออกอยู่ที่ปลายอุโมงค์ หรือ ตันไม่มีทางออก
อีกประเด็นร้อนๆ ตอนนี้ คณะปฏิรูปศาสนา ต้องการปฏิรูปพระพุทธศาสนาในไทย ทั้งการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ การที่พระสงฆ์ต้องเสียภาษีรายได้ และกำหนดว่า ผู้บวชต้องสละโลกิยวิสัย มุ่งนิพพานเท่านั้น มองในมุมหนึ่งก็ควรไตร่ตรองผลดีผลเสียรอบด้านมิใช่มองเพียงด้านเศรษฐกิจ ด้านกฎหมาย เฉพาะหน้า มองให้ไกล อ่านให้ทะลุ ว่า ปมมันอยู่ที่ใด เจตนาของผู้โยนหินถามทางต้องการอะไร ก็ควรตรวจสอบด้วย
 อยากคิดอย่างไทเช่นนี้ เพราะยึดหลักกาลามสูตรที่พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้ในพระไตรปิฎก หากผมคิดผิด พร้อมที่จะแก้ทิฐิ หากพอจะมีส่วนคิดถูกอยู่บ้าง ก็ควรสนับสนุนให้เกิดการคิดทางสร้างสรรค์ให้มากยิ่งขึ้น เพราะการคิดเพื่อจรรโลงบ้านเมืองและศาสนานั้น มิใช่คิดด้านเดียว คำตอบเดียวก็เพียงพอแล้ว..ทางเลือกต้องมีให้เดิน...

พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ 

วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

วิถีไทย : วิถีพุทธ

วิถีไทย : วิถีพุทธ
อารัมภกถา
      แต่บรรพกาล ย้อนไปประมาณ พ.ศ. 612 สมัยอาณาจักรอ้ายลาวเมื่อขุนหลวงเม้า (ลิวเมา) เป็นกษัตริย์ครองอยู่ ในดินแดนจีน พระเจ้ามิ่งตี่ จักรพรรดิจีนแต่งทูตไปสืบศาสนาในประเทศอินเดีย และกลับสู่ประเทศจีนพร้อมนำสมณทูตชาวอินเดียไปด้วย เมื่อ พ.ศ. 608        
พระเจ้ามิ่งตี่ทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา และได้ส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรอ้ายลาว ขุนหลวงเม้าพิจารณาเห็นว่า พระพุทธศาสนานี้เหมาะอย่างยิ่งกับนิสัยใจคอของคนไท จึงได้ยอมรับเอามาเป็นศาสนาประจำชาติไทเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 612  (เป็นพระพุทธศาสนาแบบมหายาน)
      กาลผ่านมา เมื่อชนชาติไทยได้อพยพลงมาสู่ดินแดนตอนใต้ของจีน ในดินแดนอาณาจักรเชียงแสน ตามตำนานสิงหนวัติ ก็ได้นำศาสนาที่ตนนับถือติดตัวมาด้วย  หนังสือ จามเทวีวงส์  ก็ได้บันทึกว่า ในสมัยหริภุญชัย ประมาณ พ.ศ. 1200 พระนางจามเทวี มาครองนครที่สร้างใหม่ ก็ได้นับถือพระพุทธศาสนาตามแบบละโว้ นำพระสงฆ์ทรงไตปิฎกมาเผยแผ่ศาสนาด้วย   ตามตำนานมูลศาสนาและ ชินกาลมาลีปกรณ์ ก็บันทึกต่อว่า ดินแดนไทยถิ่นนี้ ได้รับพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบพุกาม สมัยพระเจ้าอโนรธามังฉ้อ ราวพุทธศตวรรษที่ 16  มาเสริมความแกร่งของศาสนาพุทธแบบพื้นเมือง เมื่อพระยามังราย มาตั้งอาณาจักรล้านนา ตั้งนครเชียงใหม่เป็นราชธานี ก็ได้รับสืบทอดพระพุทธศาสนาตามแบบหริภุญชัยเอาไว้
เมื่อชาวไทยทางตอนกลางได้ประกาศตั้งอาณาจักรสุโขทัยเป็นอิสระจากขอม ประมาณพุทธศตวรรษที่18 กษัตริย์ไทยก็ได้รับพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ที่เห็นว่าท่านปฏิบัติเคร่งครัดกว่าพระสงฆ์พื้นเมืองเดิม มาเป็นหลักบำรุงจิตใจ จนพระมหากษัตริย์ เช่น พระยาลิไท สามารถแต่งคัมภีร์ทางศาสนา เตภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง  แสดงหลักความรู้เรื่องปรมัตถธรรม ออกเผยแผ่ เป็นตำราที่กษัตริย์นิพนธ์ด้วยพระองค์เอง เล่มแรก ทางพระพุทธศาสนา  
ที่นครเชียงใหม่ ในสมัยพระยากือนา เห็นว่าพระพุทธศาสนาแบบลัทธิลังกาวงศ์เคร่งครัดจึงได้นิมนต์พระมหาสุมนะจากสุโขทัยขึ้นมาเผยแผ่ศาสนาที่อาณาจักรล้านนา มีหลักฐานคือการสร้างพระบรมธาตุดอยสุเทพ และวัดสวนดอก   
ลุถึงสมัยพระยาติโลกราช พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองถึงขนาดพระสงฆ์ไทยสามารถทำสังคายนาพระพุทธศาสนาด้วยภาษาบาลี ในดินแดนไทยเป็นครั้งแรก นับเป็นการทำสังคายนาครั้ง ที่ 8 ของโลก ที่วัดมหาโพธาราม(วัดเจ็ดยอด) นครเชียงใหม่  พ.ศ. 2020  พระสงฆ์ไทยสามารถแต่งคัมภีร์ทางศาสนาเป็นภาษาบาลีออกมาหลายคัมภีร์ เช่น มังคลัตถทีปนี  จักวาลทีปนีเป็นต้น เป็นที่ยอมรับในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา   
กล่าวได้ว่า  นับแต่อดีตกาลมาจวบปัจจุบัน พระพุทธศาสนาได้เป็นหลักคิด หลักดำเนินชีวิต เป็นบ่อเกิดขนบจารีตประเพณีและวัฒนธรรมของไทย สร้างนิสัยหล่อหลอมจิตใจของชาวไทยให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะเช่นนี้ เพราะเรานับถือพระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณมาช้านาน หลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวไทย คือ พระพุทธศาสนา
คนไทยผู้มีอำนาจทั้งหลาย อย่ามัวกระบิดกระบวน ดัดจริตเพราะภยาคติ โมหาคติ ด้วยความเกรงอกเกรงใจศาสนิกชนอื่น(คริสตชน และมุสลิมเข้ามาสมัยอยุธยา) ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เปรียบเสมือนแขกบ้าน แต่ตัวชาวพุทธเจ้าบ้านกลับไม่กล้าประกาศว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย จงองอาจกล้าประกาศเหมือนประเทศลาว บ้านพี่เมืองน้องหน่อยที่กล้าหาญปราศว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติลาว
มีเหตุผลอะไรมารองรับว่า วิถีไทย คือ วิถีพุทธ โปรดพิจารณา
วิถีพุทธเป็นอย่างไร
            พระพุทธศาสนาถูกมองแยกออกมาได้หลายฐานะ หากจะยกฐานะที่บริสุทธิ์สูงส่ง ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งความรู้ การตื่นจากความเขลางมงายไร้เหตุผล  เป็นศาสนาที่มุ่งสู่ความสะอาด สงบ และสว่าง ผู้ที่เป็นชาวพุทธพันธุ์แท้ จึงเน้นที่การรู้ตื่น สะอาด สงบ และสว่างด้วยสติปัญญา มากกว่าศรัทธาตาบอด
            แต่หากจะมองอีกฐานะที่เป็นเปลือกหุ้มหลักการศาสนา ก็จะพบพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนาพื้นบ้าน เป็นวิถีดำเนินชีวิตของชาวบ้าน ศาสนาพุทธได้กลายมาเป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นลมหายใจของชาวบ้าน เป็นวิถีชีวิตนับแต่เกิดจนกระทั้งสิ้นลมหายใจ เป็นทั้งวิธ๊การและจุดหมายสูงสุดของชีวิต คำสอนเรื่องความสะอาด สงบ สว่าง และทางสายกลาง จึงเป็นวัฒนธรรม เป็นจารีตประเพณีแบบไทยพุทธ วิถีพุทธจึงแตกต่างจากวิถีคริสต์ วิถีมุสลิมอย่างชัดเจน 
แม้ว่าเราจะมีหลักความเชื่อและหลักปฏิบัติที่ต่างกัน แต่เราปัจจุบันก็เป็นคนไทย อยู่ร่วมอาศัยแผ่นดินเดียวกันได้ โดยไม่เอาศาสนามาเป็นเครื่องมือสร้างความแตกแยก ผมมิได้มีเจตนาที่จะทำเช่นนั้น
            แต่ด้วยสถานการณ์ที่โลกตกอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ เห็นว่า หากเราปล่อยให้กระแสโลกย์พัดพาไปโดยไร้ทิศทาง ก็ไม่ทราบว่าจะพบ หายนะ หรือ พัฒนะ อะไรรออยู่เบื้องหน้า
วัฒนธรรมเก่า กับวิถีชีวิตใหม่ถึงดูแม้จะขัดแย้งกัน แต่น่าจะปรับจูนให้เข้ากันได้  ก็ไหนว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีรากฐานแบบวิทยาศาสตร์ แล้วมันจะขัดกันจนต้องกีดกันอีกฝ่ายหนึ่งตกถนนไปเลยหรือ
วิถีพุทธไทย VS วิถีโลกาภิวัตน์
          1. ตื่นเช้าทำบุญตักบาตร(สะอาด)
                สังคมไทยสมัยก่อน เป็นสังคมชนบท มีวัดวาอารามเป็นศูนย์รวมทางจิตใจ มีพระสงฆ์ผู้ทรงศีลเป็นที่เคารพศรัทธา เป็นเนื้อนาบุญกุศล ทุกเช้า ชาวบ้านจะเตรียมข้าวปลาอาหารเพื่อทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และสืบศาสนทายาท ได้ทุกวัน เพราะพระสงฆ์ออกบิณฑบาตทุกเช้า เราก็ได้ทำบุญให้ทานทุกวัน ดังจารึกสุโขทัยว่า ชาวสุโขทัยมักทำทาน โอยทาน
            หลายคนเข้าใจผิดว่า การที่พระสงฆ์ออกบิณฑบาต เป็นการขอทานเพื่อยังชีพ อันที่จริง การที่พระสงฆ์ออกบิณฑบาต เป็นการเปิดโอกาสให้คนได้เสียสละความตระหนี่ ได้บริจาคข้าวปลาอาหาร เป็นการทำบุญ ถือว่าพระสงฆ์ท่านออกไปโปรดสัตว์ให้ได้ทำบุญถึงที่ คุณจะไม่ทำท่านก็ไม่ว่าและไม่ขอ  สมัยก่อนเราได้ทำบุญตักบาตร  ได้สั่งสมบุญ  เก็บบุญทุกเช้า ด้วยอำนาจสังฆคุณบทสุดท้ายว่า ท่านเป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก ได้ฝากบุญเอาไว้ทุกวันเหมือนฝากเงินกับธนาคาร
            เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป สังคมชนบทแม้จะยังมีวัดและพระสงฆ์ออกบิณฑบาตอยู่ แต่วิถีชีวิต
แบบปัจจุบันไม่อำนวยให้ เพราะคนในชนบทส่วนใหญ่ไหลเข้าทำงานในเมืองใหญ่ กระโจนเข้าสู่สังคมที่มีแต่ความรีบเร่ง มีแต่การแข่งขัน ด้วยข้ออ้างภาวะเศรษฐกิจบีบรัด รีบออกจากบ้านไปทำงานตั้งแต่ก่อนพระสงฆ์จะได้ออกจากวัดมาบิณฑบาต เขาจึงไม่ได้ตักบาตร แม้ใจอยากจะทำ
            วิถีชีวิตแบบศตวรรษที่ 21 เป็นสังคมแบบหลวมๆ มีหมู่บ้านจัดสรรเกิดเป็นกลุ่มๆ รอบตัวเมือง เป็นสังคมแบบใหม่ที่อยู่แบบตัวใครตัวมัน คบกันเป็นทางการมากกว่าสังคมเดิม
เคยสังเกตไหมว่า โครงการหมู่บ้านจัดสรรที่ใหญ่โตมโหราฬ สร้างเครื่องอำนวยความสะดวกทุกอย่างล่อใจให้อยากไปอยู่  แต่ไม่เคยพบว่า มีโครงการบ้านจัดสรรใดๆเลยที่อ้างว่า จะสร้างวัด สร้างศาสนสถานที่ผู้เข้าอยู่จะได้สัมผัสบุญกุศลเหมือนสังคมแบบชนบท
เปล่าทั้งนั่น ไม่สร้างวัดในโครงการยังพอทำเนา แถมพระที่เข้าไปบิณฑบาตก็ไม่ทันเจ้าของบ้านที่เร่งรีบออกไปทำงานแต่เช้าตรู่ พระจึงแทบไม่ได้อาหารพอสืบอายุพระพุทธศาสนา
            เมื่อเป็นแบบนี้ ผู้ประสงค์บุญตามธรรมเนียม ตื่นเช้าทำบุญตักบาตร ทำบุญร่วมชาติตักบาตรร่วมขันวัดก็อยู่ไกล เวลาก็ไม่มี จะแก้ปัญหาอย่างไร
            ขอเสนอทางออกที่แสนง่าย ประหยัด และทำได้ทุกวัน แถมเลือกพระที่เคารพนับถือ และเลือกวัดก็ได้ด้วย เป็นการออมบุญแบบสะสมบุญ ทำนองฝากเงินในบัญชีสะสมทรัพย์อย่างไรอย่างนั้น        
ก็วิธี ออมบุญ แบบออมสินไงละครับ ไม่ต้องอ้างเวลาเร่งรีบ ไม่ต้องอ้างว่าอยู่ไกลวัด
            เมื่อผมตักบาตรพระสงฆ์ ที่สะดวกก็ไปจัดหาอาหารที่ตลาดสด อยากใส่อะไรก็สั่งแม่ค้าจัดให้ ทั้งอาหารคาว หวาน น้ำ ผลไม้  หรือไม่ก็ซื้อที่เขาจัดเป็นชุดตักบาตร คำนวณคร่าวๆ ของที่พระฉันได้ มีประโยชน์ ชุดหนึ่งก็ตกที่ประมาณ 25 หรือ 30 บาท  ทีนี้เราก็ไปหาซื้อบาตรออมสิน ที่ร้านสังฆภัณฑ์ หรือกระปุกออมสินมาสักใบ ทุกเช้า  ก็เอาเงิน 30 บาท(หรือแล้วแต่ท่านจะกำหนดตามศรัทธา) ใส่บาตรทุกวัน ด้วยจิตใจที่มุ่งอุทิศต่อพระสงฆ์ ตั้งใจใส่บาตรออมทุกวัน แล้วเมื่อถึงปลายเดือน วันหยุด หรือโอกาสพิเศษ เราก็นำกระปุกบาตรออมบุญนั้นไปถวายพระที่เราเคารพนับถือ หรือถวายเป็นค่าอาหารเช้าเพลที่วัดใดก็ได้
            นี่เท่ากับท่านได้ตักบาตรทำบุญทุกวัน กุศลเกิดทุกวัน ถ้าตอนเช้าลืมหยอดกระปุก กลับมาบ้านตอนเย็นก็หยอดได้ ต้องไม่ลืมหยอด พระพุทธเจ้าตรัสว่า  การทำบุญบ่อยๆ(สั่งสมบุญ)  นำความสุขมาให้
ไอเดียนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์  
          2. รักษาศีลเมื่อพรรษา(สะอาด)
            เคยอ่านจารึกสุโขทัยว่า ชาวสุโขทัย...ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน  เลยทำให้คิดไปว่า แล้วในเวลานอกพรรษาล่ะ เขาไม่รักษาศีลกันหรือ
            คงไม่ใช่เช่นนั้นแน่  จากข้อความเพียงนี้ ขอตีความว่า การทรงศีลเมื่อพรรษา หมายถึง การไปนอนวัดจำศีล ในวันพระ 8 ค่ำ 15 ค่ำ เพื่อรักษาอุโบสถศีล(ศีล 8) หนึ่งวันหนึ่งคืน  นอกนี้คงสมาทานศีล 5 เป็นนิจ ที่เรียกว่า นิจศีล เป็นปกติอยู่แล้ว
            คนทั่วไปมักเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ศีลต้องขอจากพระสงฆ์ และรับจากพระสงฆ์ เพราะมีพิธีกรรมอาราธนาศีล และมีคำสมาทานศีลอยู่
            ตามความเป็นจริง ศีลที่เราจะรักษามิได้อยู่กับพระสงฆ์ หรือฝากเอาไว้ที่พระสงฆ์ เหมือนวัตถุสิ่งของนอกกาย ถ้าอยากมีศีลจึงต้องขอมารักษาแล้วก็ว่า เรารับศีลทำนองนี้  ศีลเกิดจากการที่เรารักษากาย วาจา ให้สงบ ด้วยจิตใจที่เกรงชั่วกลัวบาป(หิริ โอตตัปปะ) ตั้งใจงดเว้น(วิรัติ)จากพฤติกรรมไม่ดีแสดงอาการออกมาทางกายและทางวาจาด้วยตัวเราเอง  เราก็มีศีลสมบูรณ์แล้ว รักษาศีลอยู่ตลอดเวลา  เพราะศีลก็คือการรักษาปกติทางกายวาจาด้วยเจตนาที่เกรงชั่วกลัวบาปนั่นเอง
            การที่มีพิธีกรรมขอศีลจากพระสงฆ์ เป็นเพียงต้องการอ้างพระสงฆ์เป็นพยาน มีผู้รู้ผู้เห็นประกาศว่า จะเว้นชั่ว กลัวบาป เราจะมีพฤติกรรมที่ สะอาด ทางกาย(กายกรรม) และทางวาจา(วจีกรรม)แล้วนะ การประกาศจึงเป็นสร้างเสริมความมั่นใจ ทำนองกล่าวคำสัตย์ปฏิญญาณต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วเราจะรักษาปฏิญญาณนั้น พระท่านจึงว่า ศีลเป็นเยี่ยมในโลก
            3. ไหว้พระสวดมนต์(สงบ)
            การไหว้พระสวดมนต์เป็นวิธีการหนึ่ง ที่ทำให้จิตใจสงบ ทุกศาสนาจะมีพิธีกรรมนี้ (คริสตศาสนามีพิธีอธิษฐาน อิสลามมีพิธีละหมาด พราหมณ์-ฮินดู ก็มีการสวดมนต์)
คนสมัยก่อนท่านตื่นแต่เช้ามืด สมัยผมเป็นเด็ก ได้ยินเสียงไหว้พระสวดมนต์ตอนเช้าจากคนเฒ่าเสมอ และเวลาค่ำก่อนจะเข้านอนก็เห็นท่านเข้าไปไหว้พระสวดมนต์ในห้องพระหรือต่อหน้าหิ้งบูชา ใช้เวลาไม่นานนัก
            เสียงไหว้พระสวดมนต์ที่เราเปล่งออกมา หากจิตใจไม่แน่วแน่จะสวดผิดสวดถูก การไหว้พระสวดมนต์จึงเป็นสื่อหรือช่องทางฝึกจิตใจให้สงบ ที่เราเรียกว่า มีสมาธิ
            สมาธิมีคุณประโยชน์มากประการ เราใช้ในชีวิตประจำวันทั้งในการทำงานหรือในการแข่งขันกีฬา  สมาธิเป็นตัวรวมพลังจิตให้ถึงจุดที่แกร่งหรือเข้มแข็ง สังเกตเห็นนักกีฬาที่จะเข้าแข่งขัน ยิ่งเป็นกีฬาที่ต้องการแต้มและรางวัลมาก เขาจะทำสมาธิ(จิตนิ่ง)สักครู่ก่อนแข่งขัน
ทราบว่า มีนักกีฬากอล์ฟชาวต่างประเทศ ระดับไทเกอร์วูด คนหนึ่ง ยังมาฝึกสมาธิที่ประเทศไทยกับพระสงฆ์รูปหนึ่งเลย
            สิ่งที่ตรงกันข้ามคือ หากเราต้องการจิตที่มีพลัง เราต้องทำให้จิตสงบนิ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน ซัดส่ายไปมา คือ ควบคุมการคิดไปเรื่อยของจิต ยิ่งจิตนิ่งเท่าใด ก็จะมีพลังมากเท่านั้น ส่วนพลังทางกาย หากต้องการให้เข้มแข็ง ต้องหมั่นเคลื่อนไหว ออกกำลังสม่ำเสมอ เป็นการเคลื่อนไหวอวัยวะทุกส่วน สร้างความแกร่งของกล้ามเนื้อ หมั่นออกกำลังกายทุกวัน โรคภัยไม่มาเยือน เป็นการสร้างภูมิคุมกันโรค สุขภาพดี  คนที่ไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ
ทุกวันนี้ คนเรามีสมาธิสั้น ทำจิตใจให้จดจ่อกับสิ่งใดได้ไม่นาน ทั้งนี้เพราะสิ่งเร้าภายนอกมีอิทธิพลดึงดูดความสนใจของเขาไปหมด เด็กที่มีสมาธิสั้นจะเรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ความจำก็ไม่ดี เพราะใจเขาไม่นิ่ง จับจดไปเรื่อยสุดแต่สิ่งเร้าจะเข้ามา เลยทำให้เป็นคนที่มีอารมณ์ไม่มั่นคง
อันที่จริง การไหว้พระสวดมนต์ ก็ไม่จำเป็นต้องหาสถานที่ก็ได้ นั่งทำงานก็ไหว้พระในใจสวดมนต์ได้เพียงชั่วครู่จะได้ไม่เสียงาน  หากจะฝึกเป็นอุปนิสัย  อย่างน้อยก่อนนอนควรไหว้พระสวดมนต์วันละครั้งก็ยังดี ทั้งนี้เพื่อสร้างเสริมพลังจิตขึ้นมา
เราใช้พลังจิตพลังความคิดไปกับการทำงานภายนอกพล่านไปหมด เปรียบเหมือนใช้พลังงานแบตเตอรีของอุปกรณ์เครื่องใช้แทบหมดทุกวัน เราไหว้พระสวดมนต์ฝึกสมาธิ เป็นการชาร์จพลังให้กับจิตใจ ตื่นนอนมาวันหลังจึงเต็มเปี่ยมด้วยพลัง พร้อมที่จะทำงานทำการอย่างไม่อ่อนล้าพลัง  
          4. อุทิศกุศลแผ่เมตตา(สงบ)
                คนสมัยก่อน เมื่อทำบุญใดๆ  ไม่ว่า ตักบาตร รักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์ ท้ายสุด ท่านก็มักจะกล่าวคำอุทิศส่วนกุศล และแผ่เมตตาแก่สรรพสัตว์ที่เกิดมาร่วมโลก ร่วมทุกข์ เพราะการเกิดแก่เจ็บตาย มีธรรมชาติที่เหมือนกัน ไม่เว้นชาติพันธุ์วรรณะ ทุกข์เท่ากัน
            เมตตา เป็นสื่อถึงมิตรไมตรี  เคยสังแกตไหม ผู้ใดมีเมตตาสูง ขนาดสัตว์ที่ดุร้ายยังยอมแพ้ ดังช้างนาคิรีที่เมาฟุ่งจะเข้าทำร้ายพระพุทธเจ้า แต่ด้วยนำคือเมตตา พระองค์ปราบพยสช้างลงได้ ที่เมืองไทยมีเรื่องเล่าว่า พระสงฆ์เปี่ยมเมตตาท่านหนึ่ง  ปฏิบัติธรรมในป่า สัตว์ป่าที่เชื่องยาก อย่างไก่ป่า ก็ยังเข้ามาคุ้ยเขี่ยหากินในสถานที่ท่านปฏิบัติธรรม เชื่องดุจไก่บ้าน จนท่านได้สมัญญานามว่า สมเด็จพระสังฆราชไก่ถื่อน
            ใครมีเมตตา พลังแห่งเมตตาจะแผ่สร้านออกมา คนที่จิตใจละเอียดอ่อนจะสัมผัสได้  แม้แต่สัตว์ก็สัมผัสได้ดังที่กล่าวมา
            พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดแผ่เมตตาตลอดเวลา ย่อมมีคุณานิสงส์ 11 ประการ เช่น นอนหลับดี ตื่นนอนมาสดชื่น ไม่ฝันร้าย ไม่เป็นอันตรายเพราะศาสตราอาวุธ และจิตใจไม่หลงเลอะเลือนเมื่อจะสิ้นใจ เป็นต้น
            การแผ่เมตตา ไม่อยากให้ทำเพียงเปล่งวาจาจากปากดุจนกแก้วนกขุนทอง  เมตตาต้องออกมาจากใจจริง แล้วแสดงอาการปรากฏให้เห็นชัดทางกายกรรมประกอบด้วยเมตตา วจีกรรมประกอบด้วยเมตตา มโนกรรมประกอบด้วยเมตตา
            พระพุทธเจ้าท่านว่า เราปรารถนาความสุขฉันใด คนอื่นสัตว์อื่นก็ปรารถนาความสุขฉันนั้น เราต้องการความสุขไฉนเล่า เราจึงก่อความทุกข์ให้ผู้อื่น
          5. จำเริญจิตภาวนาอย่าประมาท(สว่าง)
            คนไทยเข้าใจว่า ภาวนา หมายถึงการพร่ำบ่นคำใดๆไว้ในใจพร้อกับการเคลื่อนไหวทางกาย เช่น ทุกขณะลมหายใจเข้าออก ทุกขณะการพองขึ้นหรือยุบลงของท้อง เพราะการหายใจ หรือตามการเคลื่อนไหวของอิริยาบถหลัก นึกคำในในใจ เช่น พุท โธ    พองหนอ ยุบหนอ  หรือ สัมมาอะระหังๆ  นี่มิใช่ภาวนา แต่เป็นคำบริกรรมเพื่อดึงจิตให้เกิดสมาธิกับสิ่งที่กำลังปฏิบัติ
                การเจริญภาวนาตามหลักพระพุทธศาสนาที่แท้ คือ การใช้สติกำกับ รู้ตัวทั่วพร้อม เฝ้าดู เฝ้าพิจารณาความจริงของชีวิต ทุกขณะที่ทำกิจกรรม ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน  หายใจเข้าออก ต้องมีสติ กำกับ เพื่อให้เกิดปัญญารู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของชีวิต รู้เท่าทันกฎธรรมดาของโลกและสังขาร สรรพสิ่งมีการเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลง ไม่คงทน ไม่มีแก่นสารสาระที่ควรยึดมั่นถือมั่นเป็นของเราตลอดกาล  เพราะนี่คือกระแสแห่งสัจจธรรม
            หากเราเผลอสติ กำกับไม่ทัน เมื่ออารมณ์เร้าฝ่ายดีเข้ามา เราก็ร่าเริงยินดี ฟูใจ ปลื้มใจ ตรงกันข้ามเมื่อประสบอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ เราก็ผลักใส รังเกียจ เสียใจ เป็นทุกข์  หลักจากความจริงที่ว่า โลกมีทั้งดีและไม่ดี เราต้องมีสติประครองสติเราเราให้นิ่ง แล้วเราจะไม่ทุกข์ไปตามโลกธรรม พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า สติเป็นที่ต้องการทุกเวลาและทุกสถานที่
                การมีสติกำกับเสมอ ทำให้เกิดปัญญาเฉียบคมมากขึ้น ที่เรียกว่ามีสติยั้งคิด การเกิดปัญญาผ่านการใช้สติกำกับนี้แหละ พูดแบบภาษาพระว่า การภาวนา คือ การอบรมสติ เพื่อให้เกิดดวงปัญญาที่สว่าง มองทะลุสัจธรรม ผู้มีปัญญา รู้จักพิจารณาคุณและโทษของสรรพสิ่งอย่างมีสติ เขาจะดำรงตนในโลก อย่างผู้อยู่เหนือโลก ไม่ถูกโลกธรรมครอบงำ
            หลวงตาแพร เยื่อไม้ วัดประยูรวงศาวาสพูดว่า สติมาปัญญาเกิด ถ้าสติเตลิด ก็เกิดปัญหา
สรุป
            ในสภาพยุคโลกาภิวัตน์ที่วิ่งตามกระแสโลกอย่างทุกวันนี้ ยิ่งต้องการความโปร่งใส(สะอาด)ด้วยการมีศีล ต้องการเมตตาเพื่อสร้างสมานฉันท์การอยู่ร่วมกันในสังคมที่แตกต่างทางวัฒนธรรมและความคิด ต้องการความสงบทางจิตใจอารมณ์มั่นคง ที่เรียกว่า มี EQ ด้วยจิตที่เป็นสมาธิ(สงบ) ท้ายสุด เมื่อเกิดปัญหากระทบกระทั่งกัน เราต้องการผู้มีสติมั่นคง รู้จักยับยั้ง หยุดคิดใคร่ครวญด้วยเหตุด้วยผลแสดงพลังปัญญา(สว่าง) หาทางออกที่เหมาะสมกับปัญหาชีวิตและสังคม สร้างความยุติธรรมให้เกิดได้
            นี่แหละครับวิถีไทย วิถีพุทธ ทำตามไม่ยากเลย

พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
เคยออกรายการ เรื่องน่ารู้จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถานีวิทยุ FM 100 เสียงสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปี 2555

วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558

พระมหาเวสสันตรทีปนี : สาระ คุณค่า และนัยสำคัญต่อวิถีสังคมและวัฒนธรรมล้านนา

พระมหาเวสสันตรทีปนี :
สาระ คุณค่า และนัยสำคัญต่อวิถีสังคมและวัฒนธรรมล้านนา [1]
-----------------------พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
1. ความเป็นมา
          มหาเวสสันดร เป็นชาดกสำคัญเรื่องหนึ่งในบรรดาอดีตชาติ 10 เรื่อง(ชาวไทยนิยมเรียกว่า พระเจ้า 10 ชาติ) ได้แก่ เตมิยชาดก, มหาชนกชาดก, สุวรรณสามชาดก, มโหสถชาดก, ภูริทัตตชาดก, จันทกุมารชาดก, มหานารทกัสสปชาดก, วิธุรชาดก, และมหาเวสสันดรชาดก (ที่เรียกย่อ ๆ เพื่อให้จำได้ง่าย ๆ ว่า “เต, ชะ, สุ, เน, มะ, ภู, จะ, นา, วิ, เว”) ของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี 10 ทัศ(ทาน, ศีล, เนกขัมมะ, ปัญญา, วิริยะ, ขันติ, สัจจะ, อธิษฐานะ, เมตตา, และอุเบกขา) ให้บริบูรณ์ มหาเวสสันดรชาดก ถือว่า เด่นในการบำเพ็ญ “ทานบารมี” ชาวพุทธไทยนับแต่นับถือพระพุทธศาสนามาก็นิยมศึกษา อ่าน หรือ ฟังเทศน์มหาเวสสันดรชาดก ที่เรียกว่า ฟังเทศน์มหาชาติ  โดยถือคติตามเรื่องพระมาลัยเทวเถระ  ที่พระมาลัยสนทนากับเมตไตรยโพธิสัตว์ ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปว่า ผู้ใดตั้งจิต อุตสาหะสดับ(ฟัง)เทศน์มหาชาติ(มหาเวสสันดรชาดก)จนจบครบ 13 กัณฑ์ ในวันเดียว ผู้นั้นจะได้ผลานิสงส์มหาศาล เมื่อสิ้นชีวิตลง ย่อมไปบังเกิดในโลกสวรรค์ และเมื่อพระศรีอริยเมตไตรย มาตรัสรู้ประกาศศาสนา ผู้นั้นจะก็ได้มาบังเกิดในยุคพระศรีอริยเมตไตรย ในยุคนั้น ทุกคนล้วนมีความสุขดุจอยู่แดนสวรรค์ สนุกสนาน เพลิดเพลินตลอดเวลา ไม่ต้องตรากตรำ ทำงานหนัก อยากได้สิ่งของอะไร ไม่ว่าจะเป็น อาหาร หรือ เครื่องนุ่งห่ม ก็เพียงแต่ออกไปเอาไม้สอยของที่ห้อยอยู่ตามกิ่งของต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งเกิดอยู่ทั้ง  4 มุมเมือง ก็จะได้สิ่งของตามความประสงค์ทุกประการ  ของทุกสิ่งที่ห้อยอยู่ตามกิ่งต้นกัลปพฤกษ์นั้น ล้วนเป็นผลานิสงส์ของบุญใหญ่(มหากุศล)จากการตั้งใจฟังเทศน์ และการบูชามหาเวสสันดรชาดกเป็นสำคัญ ตามความเชื่อและคตินิยมที่สืบทอดกันมานานเช่นนี้ จึงทำให้เกิดประเพณีการฟังเทศน์มหาชาติ มหาเวสสันดรชาดกกันทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย เนื้อเรื่องและสำนวนที่นำมาเทศน์อาจจะแตกต่างกันไปบ้างในรายละเอียด เช่น “มหาชาติคำหลวง” แต่งในสมัยพระเจ้าบรมไตรโลกนาถเมื่อ พ.ศ.2025 หรือ “กาพย์มหาชาติ” พระราชนิพนธ์โดย พระเจ้าทรงธรรมกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อ  จ.ศ. 989 พ.ศ. 2170 
 “เทศน์ผะเหวด หรือ พระเวส” ของชาวไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ “ตั้งธัมม์หลวง” ของชาวไทยถิ่นล้านนา เป็นต้นก็ตาม แต่สาระโครงเรื่องส่วนใหญ่ก็ไม่ทิ้ง มหาเวสสันดรชาดก เพื่อรักษาประเพณีการฟังเทศมหาชาติ จำเป็นต้องจาร จารึกบันทึก คัดลอกสำนวนให้คงอยู่ สืบทอดต่อๆกันมาจนถึงสมัยปัจจุบัน
การเล่าเรื่องมหาเวสสันดรชาดก เกิดขึ้นมาเนื่องในสมัยที่พระพุทธเจ้าเสด็จนิวัติไปโปรดพระเจ้า       สุทโธทนะ พระพุทธบิดาและพระประยูรญาติ ที่นครกบิลพัสดุ์ หลังจากการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ตามคำอาราธนาของพระเจ้าสุทโธทนะ ที่ส่งทูตไปอาราธนาถึง 9 คณะ แต่ก็ไม่สำเร็จ จนถึงทูตคณะที่ 10 ซึ่งนำโดยกาฬุทายีอำมาตย์(พระสหชาติ) จึงอาราธนาได้สำเร็จ แต่เมื่อพระองค์เสด็จไปถึงนครกบิลพัสดุ์ พำนักที่นิโครธาราม พระประยูรญาติผู้ใหญ่ ต่างถือตัว มีมานะทิฏฐิกล้า ไม่ยอมถวายความเคารพ ด้วยถือตัวว่า ตนมีอายุมากกว่าพระพุทธเจ้า จึงปล่อยให้ราชกุมาร ราชกุมารีที่ทรงมีชันษาเยาว์เท่านั้นให้ถวายความเคารพ พระพุทธเจ้าจึงปราบมานะทิฏฐิอันแรงกล้าของพระประยูรญาติให้หมดลง จนอ่อนน้อมยอมตนถวายความเคารพ ทันใดนั้น ได้บังเกิด ฝนโบกขรพัสส์(บางทีสะกดเป็นโบกขรพรรษ ได้แก่ น้ำฝนที่มีสีแดง ตกลงมาใครไม่ต้องการให้เปียกก็ไม่เปียก เหมือนเม็ดฝนตกลงที่ใบบัว ไม่เปียกและไม่ค้างอยู่ที่ใบบัว กลิ้งลงไป เป็นอัศจรรย์) ตกลงมายังความชุ่มเย็นแก่ญาติสมาคม ทุกคนต่างมองเห็นว่าเป็นเรื่องอันน่าอัศจรรย์ยิ่ง พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า การที่ฝนโบกขรพัสส์ตกลงมาในสมาคมญาติเช่นนี้ มันก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตเช่นกัน เมื่อพระภิกษุอาราธนาให้ทรงเล่าเรื่องฝนโบกขรพัสส์ที่เคยตกลงมานั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงเล่า มหาเวสสันดรชาดก ชาติสุดท้ายที่เกิดเป็นมนุษย์ของพระองค์  พระสังคีติกาจารย์รวบรวมเฉพาะแก่นของเรื่องเป็นคำร้อยกรองได้ 1,000 คาถา[2]  บรรจุไว้ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 28  หมวดพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก ชุดมหานิบาต เรื่องที่ 10 [3]  เป็นคาถาล้วน(ปัชชพันธะ : คาถา หรือ คำร้อยกรอง) ไม่มีความเรียง(คัชชพันธะ : ความเรียง หรือ จุณณียบท)  หรือ การแต่งผสมระหว่างความเรียงกับคาถา (วิมิสสพันธะ : การแต่งเรื่องที่ใช้คาถาและความเรียงที่สองอย่างปะปนกัน)[4]
ต่อมาพระอรรถกถาจารย์ได้แต่งอรรถกถาชาดก มหานิปาตวรรณนา ภาคที่ 2 ในตอนที่ว่า “เวสฺสนฺตรชาตกวณฺณนา”[5] โดยการแต่งความเรียงบอกเล่าลำดับเหตุการณ์ของเรื่อง อิงอาศัยคาถาในพระไตรปิฎกที่สรุปเฉพาะพลความ  โยงเรื่องให้เห็นว่า ก่อนจะได้กล่าวคาถานี้ ท้องนิทานของเรื่องดำเนินมาอย่างไร จึงเติมเต็มให้ได้ความสมบูรณ์ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร  มีผลอะไรเกิดขึ้น ทั้งได้แทรกอธิบายคำ ความ และธรรมะ เรียงตามลำดับคาถา ให้ผู้อ่านได้เข้าใจเนื้อเรื่องพระมหาเวสสันดรชาดกปะติดปะต่อได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อเจริญศรัทธาปสาทะของพุทธศาสนิกชนในการบำเพ็ญทานบารมีตามอย่างพระเวสสันดร อนึ่งคำในพระบาลีและคำของพระอรรถกถาจารย์ ที่ใช้สื่อสารกันในยุคโน้น อาจจะเป็นที่เข้าใจยากของอนุชนผู้เกิดภายหลัง พระฎีกาจารย์ ก็ได้แต่งฏีกา อธิบายขยายความของคำ เพิ่มตัวอย่าง วิเคราะห์ศัพท์ให้เป็นที่เข้าใจง่าย ไม่ผิดไปจากความมุ่งหมายของผู้แต่งเรื่องเดิม ตรงตามข้อเท็จจริง สอดคล้องตามแก่นของเรื่อง และ มหาเวสสันตรทีปนี ก็เกิดขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์หลักคล้ายกันนี้
เวสสันตรทิปนี หรือ พระมหาเวสสันตรทีปนี เป็นผลงานวรรณกรรมบาลี แต่งเป็นภาษาบาลี โดยพระสิริมังคลาจารย์  พระมหาเถระปราชญ์ชาวเชียงใหม่ หรือ มหาปราชญ์ชาวล้านนา ในอดีต เพื่ออธิบายความหมายของคำและความ ของมหาเวสสันดรชาดก   ที่มีความโดดเด่นในเรื่องการบำเพ็ญทานบารมี เข้าชุด “ปัญจมหาบริจาค” หรือการบริจาคอันยิ่งใหญ่ 5 ประการ ได้แก่
1. ธนบริจาค การสละทรัพย์สมบัติเป็นทาน
2. อังคบริจาค การสละอวัยวะ(มีดวงตาเป็นต้น)ให้เป็นทาน
3. ชีวิตบริจาค การสละชีวิตให้เป็นทาน
4. ปุตตบริจาค การสละลูกให้เป็นทาน
5. ทารบริจาค(ภริยาบริจาค) การสละเมียให้เป็นทาน
พระเวสสันดร ได้สละทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของ เครื่องใช้มากมายให้เป็นทาน ทรงสละพระโอรสและพระธิดาให้เป็นทานแก่พราหมณ์ชูชก และสละพระนางมัทรี พระมเหสีให้เป็นทานแก่ท้าวสักกะ(พระอินทร์)ที่ปลอมเป็นพราหมณ์ชรามาขอ นับว่าเป็นการเสียสละให้ทาน(ทานบารมี)ที่คนปกติทั่วไปกระทำได้โดยยาก เพราะต้องการบรรลุพระโพธิญาณ[6] เพื่อโปรดสัตว์โลก  น้ำพระทัยของพระเวสสันดรทรงยินดีในการให้ทานเสมอ ไม่มีผู้ใดที่มาขอแล้วจะพกความผิดหวังกลับไป คือขอแล้วต้องได้ทุกคน จนมีคำตลาดเปรียบเทียบคนที่ชอบสละสิ่งของให้ทานโดยไม่รู้สึกเสียดายว่า “ใจกว้างเหมือนพระเวสสันดร”
ธรรมเนียมในการแต่งคัมภีร์เพื่ออธิบาย คำ และ ความ ในพระไตรปิฎก นักปราชญ์หลายท่านยืนยันว่ามีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เช่น คัมภีร์เนตติปกรณ์ และ เปฏโกปเทส แต่งโดยพระมหากัจจายนเถระ เอตทัคคะในด้านการขยายข้อธรรมที่ย่อให้พิสดาร  หลังจากนั้น ประมาณพุทธศักราช 400 ปี ก็มีคัมภีร์มิลินทปัญหา เป็นต้น การแต่งคัมภีร์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ที่เรียกว่า ยุคทองของการแต่ง ที่ประเทศอินเดียกลับไม่รุ่งเรือง แต่ไปเจริญเติบโตที่ประเทศศรีลังกา ในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 10 –13 ดังคำอธิบายของ สุภาพรรณ ณ บางช้างว่า
“ยุคที่มีการแต่งผลงานอรรถกถาบาลีมากที่สุด คือ ยุคอนุราธปุระ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 10-11 ในลังกา และยุคที่แต่งผลงานฎีกามีมากที่สุด คือ ยุคโปโลนารุวะ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13  ในลังกาเช่นกัน ในประเทศไทย ได้พบผลงานวรรณคดี อรรถวรรณนา พระไตรปิฎกที่เป็นงานสรรค์สร้างใหม่ มี 8 เรื่อง คือ เวสสันตรทีปนี, จักรวาลทีปนี, สังขยาปกาสกฎีกา, มังคลัตถทีปนี, วชิรสารัตถสังคหฎีกา, มาลัยยวัตถุทีปนีฎีกา, โลกสัณฐานโชตรตนคันฐี, และปริตตสังเขป เป็นงานประเภท ทีปนี ฎีกา และคัณฐี มีลักษณะบางอย่างได้รับอิทธิพลมาจากการแต่งอรรถวรรณนาของลังกา และมีลักษณะที่เป็นวิวัฒนาการเกิดขึ้นใหม่ในประเทศไทย” [7]
ในผลงาน ทั้ง 8 เล่มนั้น ครึ่งหนึ่ง คือ 4 เล่มแรก เป็นผลงานแต่งของพระสิริมังคลาจารย์ ผู้เขียนจะได้เรียบเรียง สาระ คุณค่า นัยสำคัญต่อวิถีวัฒนธรรมล้านนา โดยยกมาวิเคราะห์เฉพาะ เวสสันตรทีปนี หรือ พระมหาเวสสันตรทีปนี ส่วนคัมภีร์อื่นๆที่เป็นผลงานของพระสิริมังคลาจารย์ ก็มีนักวิชาการอีกหลายท่านช่วยกันเรียบเรียงเติมเต็ม เนื่องวโรกาสพิเศษเดียวกันนี้อยู่แล้ว
 พระสิริมังคลาจารย์แต่งพระมหาเวสสันตรทีปนี ขึ้นมา เพื่ออธิบายคำและความ รวมทั้งหลักธรรมที่เข้าใจยาก จากคำศัพท์ต่างๆ ที่ใช้ในสมัยนั้น ด้วยการเสริมความ ขยายความ และตีความ อย่างละเอียด  ใช้ประโยคสั้นๆ ภาษากระชับ แต่ไม่เสียความ อธิบายเป็นขั้นตอน ตามลำดับข้อของคาถา ไม่มีการตัดตอน เพื่อเป็นหลักในการศึกษาเวสสันดรชาดก จะได้เข้าใจตามเนื้อเรื่อง และเนื้อความ โดยอ้างอิงข้อมูล และหลักฐานจากคัมภีร์ต่างๆ ไม่น้อยกว่า 93 คัมภีร์ ผนวกด้วยการเสนอข้อคิดเห็นของพระเถระนักปราชญ์ล้านนา ร่วมสมัยที่ระบุนาม 3 รูป  คือ พระอโนมทัสสี พระมหาปุสสเทวะ และพระรัตนบัณฑิต[8] อาจกล่าวได้ว่า งานแต่งพระมหาเวสสันตรทีปนีนี้ เป็นดุจการวิจัยทางวิชาการที่ต้องการถอดสูตรองค์ความรู้จากพระมหาเวสสันตรชาดก ออกมาให้กระจ่าง มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งพยัญชนะ(คำ) และอรรถะ(ความ) นั่นเอง
พระมหาเวสสันตรทีปนี ที่ผู้เขียนใช้เป็นหลักในการเรียบเรียงผลงานนี้ ได้แก่ฉบับ “เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี”[9]  ที่หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ปริวรรตจากหนังสือชื่อ“พฺรมหาเวสฺสนฺตรทีปนี” จารในใบลาน อักษรขอม ภาษาบาลี มีจำนวน 19 ผูก เส้นจาร ฉบับล่องชาด   เลขที่ 10036/19, /ก/1-2, /ค/1-2, /ม/1, /ง/1, /จ/1, /ฉ/1, /ช/1, /ฌ/1, /ฐ/1, /ฑ/1,  เป็นอักษรไทย ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เนื่องในงาน พระราชทานเพลิงศพ พระเทพธรรมาภรณ์(สุรพงส์ ฐานวโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ในวันที่ 26 มีนาคม ปีพุทธศักราช 2540 มีจำนวนหน้าทั้งสิ้น  475  หน้า ส่วนข้อคิดเห็นบางอย่างที่เพิ่มเติมเข้า ผู้เขียนจะอาศัยอรรถกถา และคัมภีร์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง  เช่น  มหาเวสสันตรชาตกวรรณนา อรรถกถาชาดกมหานิบาตเรื่องอื่นๆ  ปฐมสัมโพธิกถา(ภาษาบาลี) นิพนธ์โดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตนิโนรส เป็นต้น มาประกอบเสริมความในรายการที่เห็นว่าจะได้ประโยชน์แก่ผู้ศึกษา

2. ผู้แต่ง ประวัติ และ ผลงาน
          ผู้แต่ง ประวัติ พระสิริมังคลาจารย์  สังฆปราชญ์แห่งล้านนา มีนามเดิม “ศรีปิงเมือง” เป็นชาวเชียงใหม่ โยมบิดามีอาชีพค้าช้าง สถานที่เกิด ซึ่งตรงกับสถานที่ปัจจุบัน ได้แก่ หมู่บ้านตำหนัก แขวงป่าซี่ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ท่านมีชีวิตอยู่ในช่วงประมาณปีพุทธศักราช 2000 -2100 (เกิดในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช ระหว่าง พ.ศ. 1985 -2030)   มรณภาพในรัชสมัยพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ พ.ศ. 2094 - 2117) แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดว่า  ในปีพุทธศักราชที่เท่าใด จึงทำให้การประมาณอายุของท่านไม่ได้ว่า ท่านมีอายุรวมทั้งสิ้นกี่ปี ตามประวัติพระสิริมังคลาจารย์เป็นพระอาจารย์ของพระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์ราชวงศ์มังราย องค์ที่ 14
สถานที่พำนัก พระสิริมังคลาจารย์ บรรพชาเป็นสามเณร ตั้งแต่อายุยังน้อย มีฉายาว่า “สิริมงฺคโล” ภาษาสามัญว่า “สิริมังคละ”  เมื่ออายุครบ(20 ปี) ก็ได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ท่านดำรงตนในสมณะเพศต่อเนื่องตราบจนอายุขัย  ท่านเป็นศิษย์ของพระพุทธวีระ  นับแต่บรรพชามา พระสิริมังคลาจารย์ จำพรรษาอยู่ที่วิหาร “สวนขวัญ”  ในช่วงที่แต่งคัมภีร์ “พระเวสสันตรทีปนี” พ.ศ. 2060 (จ.ศ. 879) [10]  ปัจจุบันชื่อ “วัดตำหนัก” ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดสีหฬาราม (วัดพระสิงห์) นครเชียงใหม่ และเมื่อแต่งคัมภีร์มังคลัตถทีปนี ในพ.ศ. 2067 (จ.ศ. 886)  ท่านระบุในตอนท้ายคัมภีร์ว่า ท่านอยู่ที่ สุญญาคาร แห่ง  “เวฬุวนาราม” หรือ “วัดไผ่เก้ากอ” อยู่ทางทิศใต้ของนครเชียงใหม่ ประมาณ 1 คาวุต[11] แม้ท่านอาจจะไปอยู่ที่อื่นบ้าง แต่ที่อยู่ประจำตลอดชีวิตส่วนใหญ่ของท่านก็คือ วัดเวฬุวนาราม หรือ วัดตำหนักถิ่นกำเนิดของท่านนั่นเอง
จุดที่ตั้งของวิหารสวนขวัญ วัดเวฬุวนาราม หรือ วัดไผ่เก้ากอ ว่าอยู่ตรงจุดใดในพื้นที่เขตทางทิศใต้ของนครเชียงใหม่นั้น  สุภาพรรณ ณ บางช้าง ได้สรุปความเห็นเอาไว้ว่า[12] “วิหารสวนขวัญซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดพระสิงห์ที่กล่าวถึงนั้น คือวัดตำหนัก หมู่บ้านตำหนัก   แขวงบ้านป่าซี่ นอกเวียงเชียงใหม่ ปัจจุบันเหลือแต่ซากกำแพง ซุ้มประตู เนินวิหาร และกุฏิเล็กๆล้อมรอบซากเนินวิหารนั้น ส่วนวัดตำหนักปัจจุบัน เป็นวัดสร้างขึ้นใหม่ โดยสร้างขึ้น ณ สถานที่บริเวณพระอุโบสถเดิม ... เรื่องระยะทาง 1 คาวุต ไปทางทิศใต้ของเชียงใหม่นั้น มาตรวัดระยะทาง 1 คาวุต เท่ากับ 2,000 วา แลทางวัดตำหนักเทียบกับหลักกิโลเมตรได้  2,000 วาตรงกัน คือนับแต่กำแพงเมืองชั้นใน หลัก ตลอดถึง หลัก 7 พระมหาหมื่น วุฑฺฒิญาโณ มีความเห็นว่า วัดตำหนัก คือ วัดเวฬุวนาราม และในภาษาบาลี ว่าอยู่ทางทิศใต้ หากกำหนดตามทิศ 8 ก็อยู่ทิศหรดี เพราะเฉียงไปทางทิศตะวันตก” (ตะวันตกเฉียงใต้)
          ผลงานการประพันธ์ วรรณกรรมบาลี พระสิริมังคลาจารย์ เป็นผู้มีการศึกษาดีเยี่ยม คงแก่เรียน มีความรู้ลุ่มลึกในภาษาบาลีที่เรียกว่าเป็นปราชญ์ทางด้านภาษาบาลี และมีความแตกฉานในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง แถมยังเป็นผู้มีความรอบรู้และชำนาญในคัมภีร์บาลีสายหลักและคัมภีร์อื่นๆ เช่น ไวยากรณ์ สัททนีติ เป็นต้น ที่ส่องถึงความสามารถชั้นครู คือ เป็นผู้สามารถประพันธ์(แต่งเรื่อง) โดยการผูกโครงเรื่อง สอดใส่สาระเนื้อหา สาธกนิทานประกอบ อ้างอิงหลักฐานที่สามารถจะใช้ค้นคว้าสืบศึกษาตามข้อมูลนั้นๆเป็นการอนุเคราะห์ให้ความสะดวกแก่ผู้ตามศึกษาภายหลังได้ (ดังคัมภีร์มังลัตถทีปนี) ประการสำคัญแสดงความเป็นนักปราชญ์ที่ไม่ครอบงำความคิดของผู้ใด เมื่อพบประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้ง หรือเชิงขัดแย้ง ท่านจะนำข้อมูลทั้งหมดมาแสดงเสียก่อน จะไม่ตั้งธงวินิจฉัยตัดสินเอาตามความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่  แต่จะให้อิสรภาพแก่ผู้ศึกษาว่า ความเห็นของท่านเป็นอย่างนี้ โปรดใช้ปัญญาไตร่ตรองให้รอบคอบว่า มันจะสมควร(ยุติ)กับข้อมูลใด นี่คือวิสัยของนักปราชญ์ที่ยากจะหาผู้เสมอเหมือนได้
          พระสิริมังคลาจารย์ ได้แต่งวรรณกรรมบาลี เอาไว้ 4 เรื่อง เรียงตามปีที่แต่ง ดังนี้
          1. เวสสันตรทีปนี  แต่งเสร็จในปี จุลศักราช 879 ตรงกับพุทธศักราช 2060 อยู่ ณ วิหารสวนขวัญ
          2. จักรวาลทีปนี แต่งเสร็จในปี จุลศักราช 882 ตรงกับพุทธศักราช 2063 อยู่ ณ วิหารสวนขวัญ
          3. สังขยาปกาสกฎีกา แต่งเสร็จในปี จุลศักราช 882 ตรงกับพุทธศักราช 2063 อยู่ ณ วิหารสวนขวัญ
          4. มังคลัตถทีปนี แต่งเสร็จในปี จุลศักราช 886 ตรงกับพุทธศักราช 2067 อยู่ ณ สุญญาคาร
ผลงานแต่งวรรณกรรมบาลีของท่าน ที่โดดเด่นและสำคัญ คือ“มังคลัตถทีปนี” ปราชญ์ทางศาสนายกย่องเทียบชั้นว่า “เป็นวรรณกรรมต้นแบบ” งดงามด้วยเค้าโครงเรื่อง ภาษาสละสลวย เลือกถ้อยคำได้เหมาะสม สมบูรณ์พร้อมทั้งศาสตร์และศิลปะแห่งการประพันธ์  ไม่ด้อยไปกว่า “คัมภีร์วิสุทธิมรรค” ของพระพุทธโฆสาจารย์ พระอรรถกถาจารย์ชาวอินเดีย ผู้ลือนาม เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 10 ที่ผ่านมา  ในประเทศไทยทางคณะสงฆ์เห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้ใช้คัมภีร์ “มังคลัตถทีปนี” เป็นหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี วิชาแปลมคธเป็นไทย ระดับชั้นเปรียญธรรม 4 ประโยค, เปรียญธรรม 5 ประโยค และ วิชากลับไทยเป็นมคธ ระดับชั้นเปรียญธรรม 7 ประโยค ขณะที่ “คัมภีร์วิสุทธิมรรค” เป็นหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี วิชาแปลมคธเป็นไทย ระดับชั้นเปรียญธรรม 8 ประโยค และ วิชากลับไทยเป็นมคธ ระดับชั้นเปรียญธรรม 9 ประโยค ในปัจจุบัน 
จะเห็นได้ว่าพระสิริมังคลาจารย์ แม้จะเป็นภิกษุชาวล้านนา ภาษาถิ่นของท่านมิใช่ภาษาบาลี แต่ก็มีความสามารถทางภาษาบาลีชั้นเอกอุ และมีความสามารถในการแต่งคัมภีร์ ผูกเรื่องวรรณกรรมดุจมหากวี ใช้ภาษาบาลีอย่างช่ำชอง อย่างผู้เป็นนายภาษา อ้างอิงหลักฐานแน่นหนา ซื่อตรงต่อข้อมูล ไม่ทำงานโดยจับเอาข้อมูลแบบลวก ๆ ผิวเผิน แต่สำรวจตรวจสอบเรื่องราวข้อเท็จจริงความเป็นมาเป็นไปให้ชัดเจน ด้วยจิตใจที่เป็นธรรม  ดุจนักวิชาการชั้นครู ทั้งชาวต่างประเทศ และชาวไทยที่เรียบเรียงตำราทางวิชาการในปัจจุบัน  
พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) ให้ความเห็นเกี่ยวกับนักวิชาการเอาไว้อย่างน่ารับฟัง ดังต่อไปนี้ 
“ในเรื่องที่พูดกันนี้ มี 2 อย่าง คือ
1. เรื่องราวคำสอนในพระพุทธศาสนา มิใช่ข้อมูลเพื่อให้เชื่อ แต่เป็นข้อมูลเพื่อให้รู้ เป็นข้อมูลเพื่อให้ศึกษา อย่างคัมภีร์ต่าง ๆ ในพระไตรปิฎก นักปราชญ์และผู้รู้ในวงการ ก็ศึกษาค้นคว้ากันมา พยายามให้ได้ความรู้ชัดลงไปว่าส่วนไหน ตอนใดเกิดมีในยุคไหนเมื่อใด ก็ได้ข้อยุติบ้าง ยังค้นคว้าต่อไปบ้าง ก็ยังอยู่ในเรื่องของการศึกษา ทั้งนี้จะได้ผลจริง เป็นการศึกษาสมประสงค์ ก็เมื่อเป็นความสงสัยด้วยใจซื่อ
2. ในการศึกษานั้น ย่อมต้องการความรู้เพื่อรู้จักของจริง และเข้าถึงความจริง ต้องการความคิดเพื่อขบขยายใช้ประโยชน์คืบเคลื่อนก้าวไปกับความรู้ ด้านความรู้เป็นเรื่องของหลักการ หลักฐาน ข้อมูล ข้อเท็จจริง ซึ่งมีความเป็นจริงอยู่ที่ความถูกต้อง ถ่องแท้ แน่และชัด ส่วนความคิดเห็นก็เป็นไปด้วยเหตุผล โดยมีความรู้เป็นฐาน ออกมาเป็นความคิดเห็นที่ดีงามแยบคาย
ด้วยเหตุนี้ ในด้านความรู้ที่เป็นเรื่องของความจริง และเป็นฐานของความคิด จึงได้เน้น หรือจะว่าเคร่งครัดเอาจริงเอาจังกับเรื่องความถูกต้อง แม่นยำ และความแน่แท้ ชัดเจนของหลักฐาน ข้อมูลข้อเท็จจริง...เรื่องอย่างนี้ จะเข้าใจได้ ก็ต้องตั้งจิตวางท่าทีให้ถูก ดูเรื่องราวข้อมูลให้ชัด ให้ตลอด ไม่ควรคิดอยู่แต่ในเหตุผลที่เป็นกรอบความคิดของตน ...ในการพัฒนาคน เพื่อความสะดวกในทางปฏิบัติ  ก็แยกกระบวน การหาและการใช้ความรู้เป็น 2 ด้าน ด้านความรู้ ต้องให้ได้ข้อมูลให้มีความรู้ที่ถูกต้อง ถ่องแท้แน่และชัด(ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างน้อยเพียงพอ) ด้านสภาพจิต ไม่อยู่ในอำนาจความรู้สึกชอบใจและไม่ชอบใจ แต่คิดและใช้ความรู้โดยมีความรู้สึกเป็นกลางๆ และถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนมนุษย์ หรือผู้ร่วมโลก ก็ให้คิดด้วยจิตเมตตา” [13]
ด้วยความเคร่งครัดทางวิชาการ เช่นนี้ ทำให้ผลงานของพระสิริมังคลาจารย์ได้รับการศึกษา  อ้างอิง จากผู้ใฝ่ศึกษา ผ่านยุคสมัยนับแต่อดีตมาจนกระทั่งปัจจุบัน นับเป็นเวลาเกือบ 500 ปี (พระมหาเวสสันตรทีปนี แต่งเมื่อ พ.ศ. 2060 ปัจจุบันที่เขียนเรื่องนี้เป็นปี พ.ศ. 2555 อายุคัมภีร์นับได้ 495 ปี ส่วนมังคลัตถทีปนี แต่งเมื่อ พ.ศ. 2067 ปัจจุบัน อายุคัมภีร์นับได้ 488 ปี) และจะยังใช้ผลงานนี้เป็นต้นแบบของการศึกษาทางวรรณกรรมบาลีต่อไปในอนาคตอีกนานแสนนาน สมควรนับได้ว่า เป็นผลงานอมตะอย่างแท้จริง
ยุคทองของการแต่งวรรณกรรมบาลี ในราชอาณาจักรล้านนา ช่วงเวลาที่พระสิริมังคลาจารย์ แต่งคัมภีร์ทั้ง 4 เรื่อง(พ.ศ. 2060-2067)นั้น ตรงกับรัชสมัยการครองราชย์ของ “พระเมืองแก้ว” หรือ “พระเจ้าติลกปนัดดาธิราช” เป็นพระเจ้าเหลนของพระเจ้าติโลกราช ผู้อุปถัมภ์การสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งนับเป็นการสังคายนาครั้งที่ 8 ของโลก ที่วัดมหาโพธาราม มหาวิหาร(วัดเจ็ดยอด) นครเชียงใหม่ ในปีพุทธศักราช  2020  
ราชอาณาจักรล้านนาในช่วงเวลาดังกล่าว นับได้ว่าเป็นยุคทองของวรรณกรรมบาลีจริง ๆ นอกจาก   พระสิริมังคลาจารย์แล้ว ยังมีพระสังฆเถระ มหาปราชญ์อีกหลายท่าน (บางท่านมีชีวิตอยู่ก่อน บางท่านอยู่ร่วมสมัยเดียวกัน และบางท่านมีชีวิตหลังจากนั้น) ที่แต่งวรรณกรรมบาลีสำคัญๆ ผีมือในการแต่งก็นับเป็นชั้นครูทั้งสิ้น แต่ที่มีชื่อเสียงเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระสิริมังคลาจารย์ คือ พระญาณกิตติ ผู้มีความละเอียดในเรื่องไวยากรณ์ มีความรู้ทั้งเชิงกว้างและเชิงลึกในคัมภีร์และคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา การอ้างอิงใช้ทั้งหลักฐานต้นแบบ คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา และคัมภีร์ฏีการุ่นหลังจำนวนหลายเล่ม   ผู้เขียนจะแสดงรายนามของพระเถระสังฆปราชญ์ล้านนา(ยกเว้นพระสิริมังคลาจารย์และผลงานที่กล่าวมาแล้ว)และคัมภีร์ที่ท่านแต่งเพื่อบันทึกยกย่องเชิดชูเกียรติเอาไว้ในที่นี้เป็นอีกหลักฐานหนึ่ง เท่าที่ผู้เขียนค้นหาได้ แม้จะได้มาไม่ครบทุกท่านและทุกเล่มก็ตาม ก็ยังพอเป็นแนวทางให้ผู้สนใจได้สืบค้นต่อ ดังรายการต่อไปนี้ [14]
1. พระโพธิรังสี พระภิกษุชาวลำพูน พระเถระสังฆปราชญ์ล้านา แต่งคัมภีร์ 2 เล่ม คือ
          1.1 จามเทวีวังสะ (ไม่ปรากฏปีที่แต่ง)        1.2 สิหิงคนิทาน  (ไม่ปรากฏปีที่แต่ง)
2. พระธรรมเสนาปติเถระ พระภิกษุชาวเชียงแสน แต่งคัมภีร์ (บาลีไวยากรณ์) 1  เล่ม คือ
            ปทักกมโยชนาสัททัตถเภทจินดา  หรือ สัททัตถเภทจินดาปทักกมโยชนา  
3. พระญาณกิตติ พระภิกษุชาวเชียงใหม่ พระราชครูของพระเจ้าติโลกราช แต่งคัมภีร์ 12 เล่ม คือ
          3.1 สมันตปาสาทิกาอัตถโยชนา             3.2 ภิกขุปาติโมกขคัณฐีทีปนี
3.3 สีมาสังกรวินิจฉัย                         3.4 อัฏฐสาลินีอัตถโยชนา
3.5 สัมโมหวิโนทนีอัตถโยชนา                3.6 ธาตุกถาอัตถโยชนา
3.7 ปุคคลปัญญัตติอัตถโยชนา               3.8 กถาวัตถุอัตถโยชนา
3.9 ยมกอัตถโยชนา                          3.10 ปัฏฐานอัตถโยชนา
3.11 อภิธัมมัตถวิภาวินี ปัญจิกา อัตถโยชนา 3.12 มูลกัจจายนโยชนา
4. พระสัทธัมกิตติมหาผุสสเทวะ พระภิกษุชาวหริภุญไชย ร่วมสมัยพระญาณกิตติ (คงเป็นรูปเดียวกับ“พระมหาปุสสเทวะ”  ที่พระสิริมังคลาจารย์อ้างถึง) แต่ง 1 คัมภีร์ คือ
          สัททพินทุอภินวฎีกา
5. พระญาณวิสาละ พระภิกษุชาวโยนกประเทศ(ที่ปรากฏในหลักฐานของพม่า ว่าท่านมีเชื้อสายชาวลาว มิใช่ชาวล้านนา) มีชีวิตร่วมสมัยกับพระสิริมังคลาจารย์ แต่งคัมภีร์ 1 เล่ม คือ
          สังขยาปกาสกะ (พระสิริมังคลาจารย์แต่ง สังขยาปกาสกฎีกา)
6. พระรัตนปัญญาเถระ พระภิกษุชาวเชียงรายหรือลำปาง ร่วมสมัยกับพระสิริมังคลาจารย์ (ไม่แน่ใจว่าเป็นจะเป็นรูปเดียวกันกับ “พระรัตนบัณฑิต” ที่พระสิริมังคลาจารย์อ้างถึงหรือไม่)  แต่งคัมภีร์ 3 เล่ม คือ
          6.1 ชินกาลมาลี (พ.ศ. 2059)                6.2 วชิรสารัตถสังคหะ(ไม่ปรากฏปีที่แต่ง) 
6.3 มาติกัตถสรูปะธัมมสังคณี (ไม่ปรากฏปีที่แต่ง) 
7. พระนันทาจารย์ พระภิกษุชาวเชียงใหม่ แต่งคัมภีร์ 1 เล่ม คือ
สารัตถสังคหะ
8. พระสุวัณณรังสีเถระ พระภิกษุชาวล้านนา ช่วงหลังย้ายไปอยู่นครเวียงจันทน์ แต่งคัมภีร์ 2 เล่ม คือ
          8.1 คันถาภรณฎีกา                           8.2 ปฐมสัมโพธิกถา
9. พระอุตตรารามเถระ  พระภิกษุชาวโยนกประเทศ(มิใช่ชาวล้านนา) แต่งคัมภีร์ 1 เล่ม คือ
            วิสุทธิมัคคทีปนี
10. พระมหามังคละสีลวังสะ พระภิกษุชาวเชียงใหม่ พำนักวัดโชติกา ในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน แต่งบทสวดมนต์พิเศษ 1 เล่ม คือ
            อุปปาตสันติ (แต่งเมื่อ พ.ศ. 1994 จุลศักราช  763) ล้านนาเรียกว่า มหาสันติงหลวง แต่งเป็นคาถา ภาษาบาลีล้วน 271 คาถา (ฉบับล้านนาสูญหายไป) พม่าได้นำไปคัดลอกจารเป็นภาษาบาลีอักษรพม่า เรียกว่า “สิริมังคลาปริตตอ” แปลว่า “บทสวดมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล” พระธรรมเมธาจารย์(เช้า ฐิตปุญฺโญ ป.ธ. 9) อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ ได้ฉบับอักษรพม่ามาจากวัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง  จึงทำการปริวรรตและแปลออกมาเป็นภาษาไทย เมื่อ มี พ.ศ. 2505
11.พระพรหมราชปัญญา[15] พระภิกษุชาวล้านนา แต่งคัมภีร์ 1 เล่ม คือ
            รัตนพิมพวังสะ หรือ ตำนานพระแก้วมรกต (พ.ศ. 1972)
ส่วนหนังสืออื่นๆ มีบางเรื่อง ที่แต่งเป็นภาษาบาลี และมีอีกหลายเรื่องที่มิได้แต่งเป็นภาษาบาลี แต่ยกบาลีมาเป็นบทตั้งแล้วเดินเรื่องเป็นภาษาล้านนา ที่เรียกว่า “นิสสัย” บางเรื่องปรากฏนามผู้แต่งเอาไว้ แต่บางเรื่องไม่ปรากฏนามผู้แต่ง แต่พอจะอนุมานทราบได้ว่าเป็นผลงานของปราชญ์ชาวล้านนา ได้แก่คัมภีร์ดังต่อไปนี้
1. “ปัญญาสชาดก” (พระเจ้า 50 ชาติ)  เป็นภาษาบาลีล้วน พระสังฆปราชญ์ล้านนา แต่งราว พ.ศ. 2000-2200 (ข้อสังเกต ภาษาบาลี ที่แต่งในชาดกเรื่องท้าย ๆ ยังไม่ถึงขั้นนับว่าสละสลวย งดงาม ดุจเรื่องต้นๆ อาจเป็นการฝึกแต่งโดยกวีหลายท่าน) ปัญญาสชาดกที่เป็นต้นฉบับอักษรล้านนาได้สูญหายไป แต่ฉบับที่คัดลอกยังมีที่ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา และประเทศเมียนม่า(พม่า) ซึ่งพม่าเรียกว่า “ซิมเม ปัณณาส” หรือ “เชียงใหม่ปัณณาส” สมาคมบาลีปกรณ์ นำไปปริวรรตเป็นบาลี อักษรโรมัน ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1981 และ 1983[16] (พ.ศ. 2524 และ 2526)
2. “ตำนานมูลสาสนา” พระพุทธพุกาม แต่งร่วมกับพระพุทธญาณ สันนิษฐานกันว่า ท่านได้แต่งก่อนหนังสือ “จามเทวีวังสะ”
3. “ตำนานพระเจ้าเลียบโลก” พระมหาสามีธรรมรส พระภิกษุชาวมอญ คัดลอกมาจากศิลาจารึกในประเทศศรีลังกา
4. “มาลัยยเทวเถรวัตถุ” ประวัติพระมาลัยโปรดสัตว์  ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

5. “ทนฺตธาตุนิธาน” หรือ ตำนานพระเขี้ยวแก้ว  โดยภิกษุปราชญ์ชาวล้านนา (สมัยพระเจ้าชัยสงคราม พ..1808-1860)


3. สาระของมหาเวสสันตรทีปนีและข้อมูลหลักในพระบาลี-อรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
3.1 มหาเวสสันตรชาดก พระสังคีติกาจารย์ ได้รวบรวมร้อยกรอง เป็นคาถาล้วนๆ เพื่อเป็นการจดจำแก่นของเรื่อง มีจำนวน 1,000 คาถา บันทึกในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก มหานิบาต เล่ม 28     บทประพันธ์เรื่องมหาเวสสันดรชาดกที่แต่งเป็นคาถาภาษาบาลีล้วน ๆ พันบทนี้ว่า“คาถาพัน”  ถ้านำไปเทศน์เฉพาะคาถาบาลีล้วน ๆ ก็เรียกว่า “เทศน์คาถาพัน”
ผู้เขียนขอเสนอเพียง 2 ประเด็นหลัก ๆ ดังนี้
1) รูปแบบการนำเสนอ
พระสังคีติกาจารย์ เล่าเรื่องโดยประพันธ์เป็นคาถา แบบ “ปัชชพันธะ” : คาถา หรือคำร้อยกรองล้วน ๆ  ไม่มีความเรียง ย่อเรื่องเฉพาะเหตุการณ์ หรือ ฉากตอนสำคัญ ๆ ทำนองบทประพันธ์ร้อยกรองเรื่อง “พระอภัยมณี” ของพระศรีสุนทรโวหาร (สุนทรภู่) กวีศรีรัตนโกสินทร์ เล่าความ เดินต่อเรื่องตามกลอนกวี ไม่มีความเรียง  เพราะต้องการให้จดจำ และคงสาระหลักไว้ การประพันธ์แบบร้อยกรอง จึงเป็นง่ายต่อการทรงจำ  พระสังคีติกาจารย์ จึงมิได้แต่งเรื่องให้ละเอียดแบบความเรียงร้อยแก้ว ที่เล่าปูพื้นเหตุการณ์ก่อน แล้วสรุปเป็นคาถา เหมือนที่รวบรวมพระสูตรต่างๆ  ดังที่พระอรรถกถาจารย์ แต่งผูกเรื่องราวเกริ่นและดำเนินท้องเรื่อง แล้วจึงเสริมต่อด้วยคาถาสรุปเรื่อง
2) เนื้อเรื่องที่แสดง
เนื้อความในมหาเวสสันตรชาดก ที่มี 1,000 คาถา แยกเนื้อหาออกเป็น 13 กัณฑ์ หรือ 13 ปัพพะ(ตอน)[17] เรื่องจบแต่ละตอน เมื่อขึ้นตอนใหม่ ความเชื่อมเรื่องตามลำดับก็หายไป ตัดตอนไปอย่างรวดเร็วดุจฉากในภาพยนตร์ ผู้อ่านต้องปะติดปะต่อเรื่องราวในรายละเอียดเอาเอง ก็จะสามารถลำดับความติดตามเรื่องได้ ดังจะได้ยกมาพอเป็นตัวอย่าง คาถาแรก กับ คาถาสุดท้าย[18] ของแต่ละกัณฑ์/ปัพพะ และจำนวนคาถาในแต่ละกัณฑ์ ดังต่อไปนี้
1. กัณฑ์ที่ 1 ทสวรคาถา หรือ ทสวรคาถาปัพพะ (ทศพร) ประกอบด้วยคาถา 13 คาถา
           คาถาที่ 1(1045)    ผุสฺสตี วรวณฺณาเภ      วรสฺสุ ทสธา วเร [19]
                                 ปฐพฺยา จารุปุพฺพงฺคี     ยํ ตุยฺหํ มนโส ปิยํ ฯ
           (แปล) ดูกรผุสดีผู้มีรัศมีแห่งผิวพรรณอันประเสริฐ ผู้มีอวัยวะส่วนเบื้องหน้างาม เธอจงเลือกเอาพร 10  ประการในปฐพีซึ่งเป็นที่รักแห่งหฤทัยของเธอ
           คาถาที่ 13 (1051) อิทํ วตฺวาน มฆวา       เทวราชา สุชมฺปติ
                                 ผุสฺสติยา วรํ ทตฺวา      อนุโมทิตฺถ  วาสโว ฯ
           (แปล) ครั้นท้าววาสวะมฆวาสุชัมบดีเทวราชตรัสอย่างนี้แล้ว ก็โปรดประทานพรแก่พระนางผุสดีเทพอัปสร
2. กัณฑ์ที่ 2 หิมวันตะ หรือ หิมวันตวรรรนา(หิมพานต์) ประกอบด้วยคาถา 86 คาถา
           คาถาที่ 14 (1051)  ตโต จุตา  ผุสฺสตี        ขตฺติเย อุปปชฺชถ
                                 เชตุตรมฺหิ นคเร         สญฺชเยน สมาคมิ ฯ
           (แปล)   พระนางผุสดีเทพอัปสรจุติจากดาวดึงสเทวโลกนั้น มาบังเกิดในสกุลกษัตริย์ ได้ทรงอยู่ร่วมกับพระเจ้าสัญชัยในพระนครเชตุดร
           คาถาที่ 99 (1077) ยทา เหมนฺติเก           มาเส  วนํ ทกฺขสิ ปุปฺผิตํ
                                 โอปุปฺผานิ จ ปทฺมานิ   น รชฺชสฺส สริสฺสสิ ฯ
           (แปล)เมื่อใด พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นหมู่ไม้มีดอกบานสะพรั่ง และปทุมชาติอันมีดอกร่วงหล่นในเดือนฤดูเหมันต์ เมื่อนั้น จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
3. กัณฑ์ที่ 3 ทานกัณฑ์   ประกอบด้วยคาถา 143 คาถา
           คาถาที่ 100 (1078)  เตสํ ลาลปิตํ สุตฺวา      ปุตฺตสฺส สุณิสาย จ
                                 กลูนํ ปริเทเวสิ           ราชปุตฺตํ ยสสฺสินี ฯ
           (แปล) พระนางผุสดีราชบุตรีผู้เรืองยศ ได้ทรงสดับคำที่ พระราชโอรสและพระสุณิสาพร่ำสนทนากัน ทรงคร่ำครวญละห้อยไห้
           คาถาที่ 242 (1107) ราชา กุมารมาทาย     ราชปุตฺตี จ ทาริกํ
                                  สมฺโมทมานา ปกฺกามุ    อญฺญมญฺญํ ปิยํ วทา ฯ
           (แปล) พระราชาทรงอุ้มพระโอรส ส่วนพระราชบุตรีทรงอุ้มพระธิดา ทรงยินดีร่วมกันดำเนิน ตรัสปราศรัยด้วยน้ำคำอันน่ารักกะกันและกัน
4. กัณฑ์ที่ 4 วนัปปเวสน์ หรือ (วนปเวสน์) ประกอบด้วยคาถา 59 คาถา
           คาถาที่ 243(1108)  ยทิ เกจิ มนุชา เอนฺติ   อนุมคฺเค ปฏิปเถ
                                  มคฺคนฺเต ปฏิปุจฺฉาม     กุหึ วงฺกตปพฺพโต ฯ
           (แปล) ถ้ามนุษย์บางพวกเดินมาตามทางหรือเดินสวนทางมา เราจะถามมรรคากะพวกเขาว่า ภูเขาวงกตอยู่ที่ไหน
           คาถาที่ 301 (1122) ตสฺสา อุตฺตรปุพฺเพน    ปณฺณสาลํ อมาปย
                                  ปณฺณสาลํ อมาเปตฺวา   อุญฉาจริยาย อีหก ฯ
           (แปล) พระองค์ควรทรงสร้างบรรณศาลาทางทิศอีสาน แห่งสระโปกขรณีนั้น ครั้นทรงสร้างบรรณศาลาสำเร็จแล้ว ควรทรงบำเพ็ญเพียรเลี้ยงพระชนม์ชีพ ด้วยการเที่ยวแสวงหามูลผลาหาร
5. กัณฑ์ที่ 5 ชูชกปัพพะ (ชูชก) ประกอบด้วยคาถา 78 คาถา
           คาถาที่ 302 (1123)อหุ วาสี กลิงฺครฏฺเฐ     ชูชโก นาม พฺราหฺมโณ
                                  ตสฺสาปิ ทหรา ภริยา    นาเมนามิตฺตตาปนา ฯ
           (แปล) พราหมณ์ ชื่อว่า ชูชก อยู่ในเมืองกลิงครัฐ ภรรยาของพราหมณ์นั้นเป็นสาวมีชื่อว่า อมิตตตาปนา
           คาถาที่ 379 (1138) ปิยสฺส เม ปิโย ทูโต     ปุณฺณปติตํ ททามิ เต
                                  อิมญฺจ มธุโน ตุมฺพํ       มิคสตฺถิญฺจ พฺราหฺมณ
                                 ตญฺจ เต เทสมกฺขิสฺสํ    ยตฺถ สมฺมติ กามโท ฯ (ประเภท 6 บาท คาถา)
           (แปล) ดูกรพราหมณ์ ท่านเป็นทูตที่รักของพระเวสสันดรผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้าข้าพเจ้าจะให้เต้าน้ำผึ้ง และขาเนื้อย่างเป็นบรรณาการแก่ท่าน และจักบอกประเทศที่พระเวสสันดรหน่อกษัตริย์ผู้ให้สำเร็จความประสงค์ประทับอยู่แก่ท่าน
6. กัณฑ์ที่ 6 จุลลวนวรรรนา  (จุลพน) ประกอบด้วยคาถา 55 คาถา
           คาถาที่ 380 (1139) เอส เสโล มหาพฺราหฺเม  ปพฺพโต คนฺธมาทโน
                                  ยตฺถ เวสฺสนฺตโร ราชา   สห ปุตฺเตหิ สมฺมติ ฯ
           (แปล) ดูกรมหาพราหมณ์ นั่นภูเขาคันธมาทน์อันล้วนแล้วด้วยหิน พระเวสสันดรเจ้า พร้อมด้วยพระโอรสพระธิดาและพระมเหสีทรงเพศนักบวชอันประเสริฐ
           คาถาที่ 434 (1143) อิทํ สุตฺวา พฺรหฺมพนฺธุ       เจตํ กตฺวา ปทกฺขิณํ
                                  อุทฺทคฺคจิตฺโต ปกฺกามิ       เยนาสิ อจฺจุโต อิสิ ฯ
           (แปล)ชูชกผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพราหมณ์ ได้ฟังคำของเจตบุตรดังนี้แล้ว มีจิตยินดีเป็นอย่างยิ่ง กระทำประทักษิณเจตบุตรแล้ว ได้เดินทางตรงไป ณ สถานที่อันอัจจุตฤาษีสถิตอยู่
7. กัณฑ์ที่ 7 มหาวนวรรณนา  (มหาพน) ประกอบด้วยคาถา 133 คาถา
           คาถาที่ 435 (1144)  คจฺฉนโต โส ภารทวาโช   อทฺทส อจฺจุตํ อิสึ
                                  ทิสฺวาน ตํ ภารทวาโช      สมฺโมทิ อิสินา สห
           (แปล)ชูชกพราหมณ์ภารทวาชโคตรนั้น เมื่อเดินไปตามทางที่เจตบุตรพรานป่าแนะให้ ก็ได้พบอัจจุตฤาษี ครั้นแล้วได้เจรจาปราศรัยกับอัจจุตฤาษี
           คาถาที่ 567 (1157) อิทํ สุตฺวา พฺรหฺมพนฺธุ      อิสึ กตฺวา ปทกฺขิณํ
                                  อุทฺทคฺคจิตฺโต ปกฺกามิ       ยตฺถ เวสฺสนฺตโร ราชาฯ
           (แปล) ชูชกผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพราหมณ์ ครั้นได้สดับถ้อยคำของอัจจุตฤาษีกระทำประทักษิณ มีจิตชื่นชมโสมนัส อำลามุ่งหน้าไปยังสถานที่ประทับของพระเวสสันดร
8. กัณฑ์ที่ 8 ทารกปัพพะ หรือ กุมารปัพพะ(กุมาร) ประกอบด้วยคาถา 121 คาถา
           คาถาที่ 568 (1158)  อุฏฐาหิ ชาลิ ปติฏฺฐ       โปราณํ วิย ทิสฺสติ
                                  พฺราหฺมณํ วิย ปสฺสามิ       นนฺทิโย มาภิกีรเร ฯ
           (แปล)ดูกรพ่อชาลี เจ้าจงลุกขึ้นยืนเถิด การมาของพวกยาจกในวันนี้ปรากฏเหมือนการมาของพวกยาจกครั้งก่อนๆ พ่อเห็นเหมือนดังพราหมณ์ ความชื่นชมยินดีทำให้พ่อเกษมศานติ์
           คาถาที่ 688 (1182) สูนา จ วต โน ปาทา       พาฬฺหํ ตาเรติ พฺราหฺมโณ  
                                  อิติ ตตฺถ วิลปึสุ              กุมารา มาตุคิทฺธิโน ฯ
           (แปล)  เท้าทั้งสองของเรา ฟกบวมหนอ พราหมณ์ก็เร่งให้เรารีบเดิน พระกุมารทั้งสองทรงรักใคร่ในพระมารดา ทรงกรรแสงพิลาปอยู่ ณ ที่นั้น ด้วยประการดังนี้
9. กัณฑ์ที่ 9 มัททีปัพพะ (มัทที) ประกอบด้วยคาถา 97 คาถา
           คาถาที่ 689 (1183)  เตสํ ลาลปิตํ สุตฺวา         ตโต วาฬา วเน มิคา
                                  สีโห พิยคฺโฆ จ ทีปิ จ       อิทํ วจนมพฺรวุ ฯ
           (แปล) เทวดาเหล่านั้นได้ฟังสองพระกุมารทรงพิลาปร่ำรำพันแล้ว จึงได้กล่าวกะเทพบุตรทั้ง 3 ว่า ท่านทั้ง 3 จงแปลงเพศเป็นสัตว์ดุร้ายในป่า คือ เป็นราชสีห์   เสือโคร่ง   เสือเหลือง
           คาถาที่ 785 (1201) อิติ มทฺที วราโรหา         ราชปุตฺตี ยสฺสินี
                                  เวสฺสนฺตรสฺส อนุโมทิ        ปุตฺตเก ทานมุตฺตมํ ฯ
           (แปล)พระนางเจ้ามัทรีผู้ทรงพระรูปพระโฉมอันอุดม เป็นพระราชบุตรีผู้มียศทรงถวายอนุโมทนาปุตตทาน อันอุดมของพระเวสสันดร ด้วยประการฉะนี้แล
10. กัณฑ์ที่ 10 สักกปัพพะ (สักกบรรพ์) ประกอบด้วยคาถา 49 คาถา
           คาถาที่ 786 (1202)  ตโตรตฺยา วิวสเน         สุริยสฺสุคฺคมนํ ปติ
                                  สกฺโก พฺรหฺมณวณเณน      ปาโต เนสํ อทิสฺสถ ฯ
(แปล) ลำดับนั้น เมื่อราตรีสิ้นไป พระอาทิตย์อุทัยขึ้นมา เวลาเช้าท้าวสักกเทวราชทรงแปลงเพศเป็นอย่างพราหมณ์ ได้ปรากฏแก่สองกษัตริย์นั้น
           คาถาที่ 834 (1214) อิทํ วตฺวาน มฆวา          เทวราชา สุชมฺปติ
                                  เวสฺสนฺตเร วรํ ทตฺวา        สคฺคกายํ  อปกฺกมิ ฯ
(แปล) ครั้นตรัสพระดำรัสเท่านี้แล้วท้าวสุชัมบดีมฆวาฬเทวราช ทรงพระราชทานพรแก่พระเวสสันดรแล้วได้เสด็จกลับไปยังหมู่สวรรค์
11. กัณฑ์ที่ 11 มหาราชปัพพะ (มหาราช) ประกอบด้วยคาถา 77 คาถา
           คาถาที่ 835(1215)  กสฺเสตํ มุขมาภาติ          เหมํวุตฺตตฺตมคฺคินา
                                  นิกฺขํว ชาตรูปสฺส            อุกฺกามุขปสํหิตํ ฯ
           (แปล) นั่นหน้าของใครหนองามยิ่งนัก ดังทองคำอันนายช่างหลอมด้วยไฟสุกใสหรือดังแท่งทองคำอันละลายคว้างที่ปากเบ้า
           คาถาที่ 911 (1240) เต คนฺตวา ทีฆมทฺธานํ      อโหรตฺตานมจฺจเย
                                  ปเทสนฺตํ  อุปาคญฺฉํ         ยตฺถ เวสฺสนฺตโร อหุ ฯ
           (แปล) พระเจ้าสัญชัยพร้อมทั้งราชบริพารเหล่านั้น เสด็จไประยะทางไกลล่วงหลายวันหลายคืน จึงบรรลุถึงประเทศที่พระเวสสันดรประทับอยู่
12. กัณฑ์ที่ 12 ฉักขัตติยปัพพะ หรือ ฉขัตฺติยปัพพะ(ฉกษัตริย์) ประกอบด้วยคาถา 43 คาถา
           คาถาที่ 912 (1241)  เตสํ สุตฺวาน นิคฺโฆสํ       ภีโต เวสฺสนิตโร อหุ
                                  ปพฺพตํ อภิรูหิตฺวา           ภีโต เสนํ อุทิกฺขติ ฯ
           (แปล)พระเวสสันดรได้ทรงสดับเสียงกึกก้องแห่งกองพลเหล่านั้น ก็ตกพระทัยกลัวเสด็จขึ้นภูเขา ทรงหวาดกลัวทอดพระเนตรดูกองพลเสนา
           คาถาที่ 954 (1256) เวสฺสนฺตรญฺจ มทฺทิญฺจ      สพฺเพ รฏฺฐา สมาคตา
                                  ตฺวํ  โนสิ อิสฺสโร ราชา      รชฺชํ กาเรถ โน อุโภ ฯ
           (แปล) พระองค์เป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งข้าพระบาททั้งหลาย ขอทั้งสองพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดรับเสวยราชสมบัติเป็นพระราชาแห่งข้าพระบาททั้งหลายเทอญ.
13. กัณฑ์ที่ 13 นครกัณฑ์ ประกอบด้วยคาถา 46 คาถา
           คาถาที่ 955 (1257)  ธมฺเมน รชฺชํ กาเรนฺตํ      รฏฺฐา ปพฺพาชยิตฺถ มํ
                                  ตฺวญฺจ ชานปทา เจว        เนคมา จ สมาคมา ฯ
(แปล)ฝ่าพระบาท ชาวชนบทและชาวนิคม พร้อมใจกันเนรเทศข้าพระบาทผู้ครองราชสมบัติโดยธรรม จากแว่นแคว้น
           คาถาที่ 1,000 (1269) ตโต เวสฺสนฺตโร ราชา       ทานํ ทตฺวาน ขตฺติโย
                                  กายสฺส เภทา สปฺปญฺโญ       สคฺคํ  โส อุปปชฺชถาติ ฯ
           (แปล) ลำดับนั้น พระเวสสันดรบรมกษัตริย์ผู้มีพระปัญญา ทรงบำเพ็ญทานแล้ว ครั้นสวรรคต พระองค์ก็ได้เสด็จเข้าถึงสวรรค์ ฉะนี้แล
           พระสังคีติกาจารย์ ได้รวบรวมเนื้อเรื่องพระเวสสันดรโดยย่อกว่าเอาไว้อีกที่หนึ่ง เรียกว่า “เวสสันตรจริยา” [20] (พระจริยาวัตรการสร้างทานบารมีของพระเวสสันดร)  ขอนำเสนอ ดังนี้  
               นางกษัตริย์พระนามว่าผุสสดีพระชนนีของเรา พระนางเป็นมเหสีของท้าวสักกะ ในชาติที่ล่วงมาแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพทรงเห็นว่าพระนางจะสิ้นอายุ จึงตรัสดังนี้ว่า เราจะให้พร 10 ประการแก่เธอ นางผู้เจริญ จะปรารถนาพรอันใด พอท้าวสักกะตรัสอย่างนี้เท่านั้น พระเทวีนั้นได้ทูลท้าวสักกะ ดังนี้ว่า หม่อมฉันมีความผิดอะไรหรือ หรือพระองค์เกลียดหม่อมฉันเพราะเหตุใด จึงจะให้หม่อมฉันเคลื่อนจากสถานอันรื่นรมย์เหมือนลมพัดให้ต้นไม้หวั่นไหว ฉะนั้นเมื่อพระนางผุสสดีตรัสอย่างนี้ ท้าวสักกะนั้นได้ตรัสกะพระนางดังนี้อีกว่า เธอไม่ได้ทำความชั่วเลย และจะไม่เป็นที่รักของเราก็หามิได้ แต่อายุของเธอมีประมาณเท่านี้เอง เวลานี้เป็นเวลาที่เธอจักต้องจุติ เธอจงรับเอาพร 10 ประการอันประเสริฐสุด ที่ฉันให้เถิด พระนางผุสสดีนั้น มีพระทัยยินดี ร่าเริงเบิกบานพระทัย ทรงรับเอาพร 10 ประการซึ่งเป็นพรอันท้าวสักกะพระราชทาน พระนางผุสสดีนั้น จุติจากดาวดึงส์นั้นแล้ว มาบังเกิดในตระกูลกษัตริย์ ได้เป็นมเหสีของพระเจ้าสัญชัย ในพระนครเชตุดร
               ในกาลเมื่อเราลงสู่พระครรภ์ของพระนางผุสสดี พระมารดาที่รัก ด้วยเดชของเรา พระมารดาของเราเป็นผู้ยินดีในทานทุกเมื่อ ทรงให้ทานแก่คนยากจน คนป่วยไข้ คนแก่ ยาจก คนเดินทาง สมณพราหมณ์คนสิ้นเนื้อประดาตัว คนไม่มีอะไรเลย พระนางผุสสดีทรงพระครรภ์ครบ 10 เดือน เมื่อพระเจ้าสัญชัยทรงทำประทักษิณพระนคร พระนางก็ ประสูติเรา ณ ท่ามกลางถนนของพวกคนค้าขาย นามของเราจึงไม่เนื่องข้างฝ่ายพระมารดา และไม่เกิดเนื่องข้างฝ่ายพระบิดา เพราะเราเกิดที่ถนนของคนค้าขายนี้ ฉะนั้น เราจึงมีชื่อว่า เวสสันดร
               ในกาลเมื่อเราเป็นทารกอายุ 8 ปี ในกาลนั้น เรานั่งอยู่ในปราสาทคิดเพื่อจะให้ทานว่า เราพึงให้หทัย จักษุ แม้เนื้อและเลือด เราพึงให้ทานทั้งกาย ถ้าใครได้ยินแล้ว พึงขอกะเรา เมื่อเราคิดถึงความเป็นจริง จิตของเราไม่หวั่นไหว ไม่หดหู่ ในขณะนั้น แผ่นดินเขาสิเนรุราชและป่าหิมพานต์ได้หวั่นไหว ในเดือนเต็มวันอุโบสถที่ 15 ทุกกึ่งเดือน เราขึ้นคอมงคลหัตถีปัจจัยนาค เข้าไปยังศาลาเพื่อจะให้ทานพราหมณ์ทั้งหลายชาวกาลิงครัฐ ได้มาหาเราได้ขอพระยาคชสารทรง อันประกอบด้วยมงคลหัตถีกะเราว่า ชนบทฝนไม่ตก เกิดทุพภิกขภัย อดอยากมากมาย ขอพระองค์ทรงโปรดพระราชทานพระยาคชสารตัวประเสริฐ เผือกผ่อง อันเป็นช้างมงคลอุดมพราหมณ์ทั้งหลายขอสิ่งใดกะเรา เราย่อมให้สิ่งนั้นไม่หวั่นไหวเลยเราไม่ซ่อนเร้นของที่มีอยู่ ใจของเรายินดีในทาน เมื่อยาจกมาถึงแล้วการห้าม (การไม่ให้) ไม่สมควรแก่เรา กุศลสมาทานของเราอย่าทำลายเสีย เราจักให้คชสารตัวประเสริฐ เราได้จับงวงพระยาคชสารวางลงบนมือพราหมณ์แล้วจึงหลั่งน้ำเต้าทองลงบนมือ ได้ให้พระยาคชสารแก่พราหมณ์ เมื่อเราให้พระยามงคลคชสารอันอุดม เผือกผ่อง แม้ในกาลนั้น แผ่นดินเขาสิเนรุราช และป่าหิมพานต์ก็ได้หวั่นไหว เพราะเราให้พระยาคชสารนั้น
               ชาวพระนครสีพีพากัน โกรธเคือง มาประชุมกันแล้ว ขับไล่เราจากแว่นแคว้นของตนว่า
 จงไปยังภูเขาวงกต เมื่อชาวพระนครเหล่านั้นขับไล่ จิตของเราไม่หวั่นไหว ไม่หดหู่ เราได้ขอพรอย่างหนึ่ง เพื่อจะยังมหาทานให้เป็นไป เมื่อเราขอแล้ว ชาวพระนครสีพีทั้งหมด ได้ให้พรอย่างหนึ่งแก่เรา เราจึงให้เอากลองคู่หนึ่งไปตีประกาศว่าเราจะให้มหาทานครั้นเมื่อเราให้ทานอยู่ในโรงทานนั้น เสียงดังกึกก้องอึงมี่ย่อมเป็นไปว่า ชาวพระนครสีพีขับไล่พระเวสสันดรนี้เพราะให้ทาน พระองค์จะยังให้ทานอีกเล่า เราได้ให้ช้าง ม้า รถ ทาสี ทาส แม่โค ทรัพย์
               ครั้นให้มหาทานแล้ว ก็ออกจากพระนครไปในกาลนั้น ครั้นเราออกจากพระนครแล้ว กลับผินหน้ามาเหลียวดู แม้ในกาลนั้น แผ่นดินเขาสิเนรุราชและป่าหิมพานต์ ก็หวั่นไหว เราให้ม้าสินธพ 4 ตัว
และรถ แล้วยืนอยู่ที่ทางใหญ่ 4 แยก ผู้เดียวไม่มีเพื่อนสอง ได้กล่าวกะพระนางมัทรีเทวีดังนี้ว่า ดูกรแม่มัทรี เธอจงอุ้มกัณหากุมารีเถิด เพราะเธอเป็นน้องคงเบากว่า พี่จะอุ้มพ่อชาลี เพราะเขาเป็นพี่คงจะหนักพระนางมัทรีทรงอุ้มแม่กัณหาผู้อ่อนนุ่ม ดังดอกปทุมและบัวขาว เราได้อุ้มพ่อชาลีหน่อกษัตริย์ เปรียบดังแท่งทองคำ
               ชนทั้ง 4 เป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติเกิดในสกุลสูง ได้เสด็จดำเนินไปตามทางอันขรุขระและราบเรียบ ไปยังเขาวงกต มนุษย์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เดินตามมาในหนทางก็ดี สวนทางมาก็ดี เราทั้งหลายได้ไต่ถามเขาถึง
หนทางว่า เขาวงกตอยู่ที่ไหน เขาเห็นเราทั้งหลาย ณ ที่นั้นแล้ว ได้เปล่งเสียงอันประกอบด้วยกรุณาว่า กษัตริย์เหล่านี้คงจะต้องได้เสวยทุกข์อย่างยิ่ง เพราะเขาวงกตยังไกล ถ้าพระกุมารทั้งหลายเห็นต้นไม้ อันมีผลในป่าใหญ่ พระกุมารกุมารีก็จะทรงกรรแสง เพราะเหตุแห่งผลไม้เหล่านั้น ต้นไม้ทั้งหลายอันสูงใหญ่ไพศาล เห็นพระกุมาร
กุมารีทรงกรรแสงก็โน้มยอดลงมาหาพระกุมารและพระกุมารีเอง พระนางมัทรีผู้ทรงความงามทั่วสรรพางค์ ทรงเห็นความอัศจรรย์นี้ อันไม่เคยมีมา น่าขนลุกขนพอง จึงยังสาธุการให้เป็นไปว่า ความอัศจรรย์อันไม่เคยมีในโลก บังเกิดขนชูชันหนอ หมู่ไม้น้อมยอดลงมาเอง ด้วยเดชแห่งพระเวสสันดร เทวดาทั้งหลายได้ย่นทางให้ ด้วยความเอ็นดูพระกุมารกุมารี ในวันที่เราออกจากพระนครสีพีนั้นเองเราทั้ง 4 ได้ไปถึงเจตรัฐ ในกาลนั้น พระราชา (เจ้า) หกหมื่นองค์อยู่ในพระนครมาตุละ ต่างก็ประนมกรอัญชลีพากันร้องไห้มาหา เราเจรจาปราศรัยกับโอรสของพระเจ้าเจตราชเหล่านี้อยู่ ณ ที่นั้น ให้โอรสของพระเจ้าเจตราชเหล่านั้นกลับที่ประตูนั้นแล้ว ได้ไปยังเขาวงกต ท้าวสักกะจอมเทวดา ตรัสเรียกวิสสุกรรมเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มาก แล้วรับสั่งให้ไปเนรมิตบรรณศาลาอย่างสวยงาม น่ารื่นรมย์สำหรับเป็นอาศรม เราทั้ง 4 คน มาถึงป่าใหญ่อันเงียบเสียงอื้ออึง
ไม่เกลื่อนกล่นด้วยฝูงชนอยู่ในบรรณศาลานั้น ณ เชิงเขา ในกาลนั้น พระนางมัทรีเทวี พ่อชาลีและแม่กัณหาทั้งสอง บรรเทาความเศร้าโศกของกันและกันอยู่ในอาศรม เรารักษาเด็กทั้งสองอยู่ในอาศรม อันไม่ว่างเปล่า พระนางมัทรีนำผลไม้มาเลี้ยงคนทั้งสาม
               เมื่อเราอยู่ในป่าใหญ่ ชูชกพราหมณ์เดินเข้ามาหาเรา ได้ขอบุตรทั้งสองของเรา คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินา เพราะได้เห็นยาจกเข้ามาหา ความร่าเริงเกิดขึ้นแก่เรา ในกาลนั้น เราได้พาบุตรทั้งสองมาให้แก่พราหมณ์ เมื่อเราสละบุตรทั้งสองของตนให้แก่ชูชกพราหมณ์ในกาลใด แม้ในกาลนั้น แผ่นดิน เขาสิเนรุราช และป่าหิมพานต์ ก็หวั่นไหว
               ท้าวสักกะทรงแปลงเพศเป็นพราหมณ์ เสด็จลงจากเทวโลก มาขอพระนางมัทรีผู้มีศีลมีจริยาวัตรอันงามกะเราอีก เรามีความดำริแห่งใจอันเลื่อมใส จับพระหัตถ์พระนางมัทรี ยังฝ่ามือให้เต็มด้วยน้ำ ได้ให้พระนางมัทรีแก่พราหมณ์นั้น เมื่อเราให้พระนางมัทรี หมู่เทวดาในอากาศเบิกบาน (พลอยยินดี) แม้ในกาลนั้น แผ่นดิน เขาสิเนรุราช และป่าหิมพานต์ ก็หวั่นไหว เราสละพ่อชาลีแม่กัณหาชินาผู้ธิดา และพระนางมัทรีเทวีผู้มีจริยาวัตรอันงาม ไม่คิดถึงเลย เพราะเหตุแห่งโพธิญาณนั่นเอง เราจะเกลียดบุตรทั้งสองหามิได้ จะเกลียดพระนางมัทรีก็หามิได้ แต่สัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา ฉะนั้นเราให้บุตรและภรรยาผู้เป็นที่รัก
               อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมารดาและพระบิดาเสด็จมาพร้อมกัน ณ ป่าใหญ่ ทรงกรรแสงสะอึกสะอื้นน่าสงสาร ตรัสถามถึงสุขทุกข์กันอยู่ เราได้เข้าเฝ้าพระมารดาและพระบิดาทั้งสองผู้เป็นที่เคารพด้วย
หิริและโอตตัปปะ แม้ในกาลนั้น แผ่นดินเขาสิเนรุราช และป่าหิมพานต์ ก็หวั่นไหวอีกครั้งหนึ่งเรากับบรรดาพระญาติของเราออกจากป่าใหญ่ จักเข้าสู่พระนครเชตุดร อันเป็นนครน่ารื่นรมย์ แก้ว 7 ประการตกลงแล้ว มหาเมฆยังฝนให้ แม้ในกาลนั้นแผ่นดิน เขาสิเนรุราชและป่าหิมพานต์ ก็หวั่นไหว แม้แผ่นดินนี้ไม่มีจิตใจไม่รู้สุขและทุกข์ก็หวั่นไหวถึง 7 ครั้ง เพราะกำลังแห่งทานของเรา ฉะนี้แล”
ครั้นได้อ่านเรื่องราวสรุปย่ออีกที ก็ปะติดปะต่อเรื่องพระเวสสันดรได้ครบดังที่เสนอมา
3.2 เวสสันตรชาตกวัณณนา (อรรถกถา มหาเวสสันดรชาดก) ผู้เขียนมีเหตุผลที่จำเป็นต้องเก็บความนำสาระย่อของ อรรถกถามหาเวสสันดรชาดก ตามข้อมูล ในอรรถกถาชาดก ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (โครงการชำระ ตีพิมพ์อรรถกถาบาลี โดย พร รัตนสุวรรณ), ภาคที่ 10  ชาดกเรื่องที่ 547  หน้า 287-460 ดังนี้
ประการหนึ่ง ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระอรรถกถาจารย์ได้เติมเต็มส่วนที่ผู้อ่านต้องปะติดปะต่อจากพระบาลีเรื่องมหาเวสสันตรชาดก ให้เนื้อเรื่องสมบูรณ์ดังที่กล่าวมา และ
อีกประการหนึ่ง เพื่อเทียบให้เห็นว่า การขยายความชาดกเรื่องเดียวกัน แหล่งข้อมูลมีเท่ากันระหว่างพระอรรถกถาจารย์ ผู้แต่งอรรถกถามหาเวสสันดรชาดก กับ พระสิริมังคลาจารย์ ผู้แต่งเวสสันตรทีปนี ที่มีท่วงทีและรูปแบบการประพันธ์ ทั้งหยิบประเด็นที่ตนเห็นว่าสำคัญจำต้องอธิบาย ขยายความของคำ และเรื่อง ย่อมมีความแตกต่างกัน แม้ดูเพียงฉาบฉวยจะแตกต่างกันบ้างตามวิธีการประพันธ์ ครั้นเมื่อพิจารณาในเชิงลึก กลับพบว่าไม่มีความแตกแยก แต่เป็นการแตกเติมให้แก่กันและกันอย่างสอดประสาน นับเป็นความงดงามอย่างยิ่ง
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้เขียนก็ขอเสนอ  2 ประเด็นหลัก ๆ ตามกรอบข้างต้น ดังนี้
1) รูปแบบการนำเสนอ
เวสสันตรชาตกวัณณนา เป็นเรื่องการเสวยพระชาติในอดีตของพระพุทธจ้า ที่ชาวพุทธรู้จักกันดีในนาม พระเจ้า 500 ชาติ(ที่จริงมี 547 ชาติ) มหาเวสสันดรชาดกเป็นเรื่องที่ 547 พระอรรถกถาจารย์ เริ่มนำเรื่องก่อน ชาดกเรื่องที่ 1 ในชาตฏฐกถา เล่มที่ 1 กว่าจะเล่าชาดกครบทั้ง  547 เรื่อง ก็แบ่งหนังสือเป็นเล่มได้ 10 เล่ม ท่านนำเข้าเรื่องตามรูปแบบ การแต่งผสมระหว่างความเรียงกับคาถา ที่เรียกว่า รูปแบบ “วิมิสสพันธะ” ได่แก่การแต่งเรื่องที่ใช้คาถาและความเรียงที่สองอย่างปะปนกัน
ธรรมเนียมของการแต่ง ท่านจะแต่ง “ปณามคาถา” คือ แสดงความเคารพนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย และปรารภเหตุที่ต้องแต่งอรรถกถานี้ บอกนามผู้แต่งว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน หากเป็นหนังสือชุดมีหลายเล่ม จะปรากฏ“ปณามคาถา” เฉพาะในเล่มที่ 1 เท่านั้น (หากเป็นเล่มเดียว ก็เริ่มด้วยปณามคาถา จบลงด้วยนิคมคาถาตามแบบอย่าง) ขอยกปณามคาถา หรือ “คันถารัมภกถา” พอเป็นตัวอย่าง ดังนี้
       “ชาติโกฏิสหสฺเสหิ              ปมาณรหิตํ หิตํ
       โลกสฺส โลกนาเถน              กตํ เยน มเหสินา
       ตสฺส ปาเท นมสฺสิตฺวา          กตฺวา ธมฺมสฺส จญฺชลึ
       สํฆญฺจ ปฏิมาเนตฺวา            สพฺพสมฺมานภาชนํ
       นมสฺสาทิโน อสฺส                ปุญฺญสฺส รตนตฺเย
       ปวตฺตสฺสานุภาเวน              เฉตฺวา สพฺเพ อุปทฺเวฯ”[21]
.............................
          (แปล) ข้าพเจ้า ขอนมัสการพระยุคลบาทของพระโลกนาถเจ้า ผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ทรงทำประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก อันประมาณนับมิได้ด้วยพันโกฏิพระชาติ ขอกระทำอัญชลีแต่พระธรรม และน้อมเคารพแด่พระสงฆ์ผู้เป็นดุจภาชนรองรับการเคารพทุกประการ ด้วยอานุภาพแห่งบุญมีการน้อมไหว้เป็นต้นที่เป็นไปในพระรัตนตรัยนี้ จงตัดทำลายอุบาทว์ทั้งปวงเสีย...
พระอรรถกถาจารย์เมื่อจะเข้าสู่ชาดกต่างๆ นิยมขึ้นต้นด้วยคาถาที่ยกอ้างมาจากพระบาลี ว่าพระพุทธเจ้า ประทับอยู่ที่ไหน อาศัยเหตุการณ์ใดจึงได้กล่าวคาถานี้ ดังความ ใน ทสวรกถาวณฺณนา ว่า “ผุสฺสตี วรวณฺณาเภติ อิทํ สตฺถา กปิลวตฺถุ อุปนิสฺสาย นิโคฺรธาราเม วิหรนฺโต โปกฺขรวสฺสํ อารพฺภ กเถสิ” แปลว่า “พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ นิโครธาราม อาศัยกรุงกบิลพัสดุ์ราชธานี ทรงปรารภฝนโบกขรพัสส์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ผุสฺสตี วรวณฺณาเภ ดังนี้ เป็นต้น และอธิบายเหตุการณ์ว่า ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะได้แสดงเรื่องเวสสันดรชาดกนี้ พระองค์เสด็จมาจากที่ไหน เกิดเหตุอะไรขึ้นมา จึงต้องเล่าเรื่องนี้ พระอรรถกถาจารย์ก็ได้ประพันธ์ตามลำดับกัณฑ์จนจบเรื่อง และสรุปชาดก ว่า ผู้ใดบ้างในชาติที่เป็นเวสสันดร ได้กลับมาเกิด เป็นใครบ้างในสมัยพุทธกาลนี้  
2) เนื้อเรื่องที่แสดง
พระอรรถกถาจารย์ ก็ดำเนินการอธิบายตามพระคาถาที่ปรากฏในประไตรปิฎก และเล่าถึงปฐมเหตุที่ต้องเล่าเรื่องเวสสันตรชาดก เพราะการปฐมนิวัติ เสด็จกลับไปนครกบิลพัสดุ์ของพระพุทธเจ้า โดยพระอรถถกถาจารย์เล่าว่า เกิดขึ้นเมื่อสิ้นสุดฤดูหนาว หลังการจำพรรษาแรกที่ ป่าอิสิปตนะ และเสด็จมาโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ประทับที่เวฬุวัน เมืองมคธ[22] นั่นคำนวณว่า หลังตรัสรู้ได้ 7 พรรษา และเมื่อกลับไปกบิลพัสดุ์ โปรดให้ประทานการบรรพาแก่ราหุลกุมาร เป็นสามเณรรูปแรก ก็ว่า ท่านมีอายุได้ 7 ขวบ(เพราะพระราหุลประสูติในวันที่พระสิทธัตถะเสด็จมหาภิเนษกรม ออกบรรพชา ในคืนนั้น) ก็ยังเป็นปัญหาที่ควรพิจารณาให้ละเอียดตามหลักความจริง เอาไว้ตอนท้ายงานเขียนนี้ จะนำเสนอเพื่อให้ข้อมูลเป็นเครื่องช่วยการลงความคิดเห็น)  ครั้นปรารภฝนโปกขรพัสส์ พระพุทธเจ้าก็แสดงมหาเวสสัตรชาดก พระอรรถกถาจารย์ก็นำเข้าสู่คาถาแรก ซึ่งจะเสนอโดยย่อดังนี้
1. ทสวรคาถา   ในกัณฑ์นี้ มีคำอธิบายเหตุการณ์ และศัพท์ต่าง ๆ เช่น ก่อนเกิดเป็นพระนางผุสสดี เป็นใคร มาจากไหน ทำบุญอะไรไว้ จุติจากชาตินั้นแล้ว มีคติที่ไปอย่างไร ซึ่งพระอรรถกถาจารย์ย้อนอดีตของพระนางผุสดีว่า เมื่อ 91 กัล์ปที่ผ่านมา สมัยพระพุทธเจ้านามว่า วิปัสสี พระนางเกิดเป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่ของพระเจ้าพันธุมราช ในนครพันธุมวดี ได้นำแก่นจันทน์ที่พระบิดาพระราชทานมาบดเป็นผงและถวายเป็นพุทธบูชา ปรารถนาอยากเกิดเป็นพระพุทธมารดาองค์ที่มาตรัสรู้ในอนาคต [23] ส่วนพระราชธิดาองค์น้อย ถวายเครื่องประดับทรวง ทั้งสองพระองค์ ครั้งล่วง 91 กัล์ปมา ได้มาเกิดเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากิกิ(บางแห่งกึกิ)  และได้สดับพระธรรมเทศนา ของพระพุทธเจ้านามว่า กัสสปะ ก็ได้บรรลุพระอรหันต์ ส่วนพระราชธิดาองค์พี่ นามว่า สุธรรมา ในพระราชธิดาอีก 7 พระองค์ของพระเจ้ากึกิ และในสมัยพระสิทธัตถะ ศากยโคตมพุทธเจ้า ก็ได้มาเกิดเป็นบุคคลต่างๆ ดังความว่า “นางสมณี นางสมณคุตตา นางภิกษุณี นางภิกขุทาสิกา นางธรรมา นางสุธรรมาและนางสังฆทาสีเป็นที่ 7  ราชธิดาทั้ง 7 เหล่านั้น ในพุทธุปบาทกาลนี้ มีนามปรากฏคือ นางเขมา นางอุบลวรรณา นางปฏาจารา พระนางโคตมี นางธรรมทินนา พระนางมหามายา และนางวิสาขาเป็นที่ 7 ในราชธิดาเหล่านั้น นางผุสดี ชื่อ สุธรรมา   พระนางผุสดีเป็นมเหสีของท้าวสักกะ หรือ พระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  เพราะสิ้นบุญจึงได้รับพร 10 ประการ และก็จุติ(เคลื่อน)มาเกิด(ปฏิสนธิ)เป็นพระนางผุสดี  และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าสัญชัย เป็นมารดาพระเวสสันดร และมาเกิดเป็นพระนางมหามายา พระพุทธมารดา มีการยกคำศัพท์มาวิเคราะห์อธิบาย เช่น ชื่อว่า ผุสฺสตี เพราะความเป็นผู้มีสรีระอ่อนนุ่ม ดุจถูกประพรมไว้ด้วยแก่นจันทน์แดง(รตฺตจนฺทนปริปฺโผสิเตน วิย สรีเรน ชาตตฺตา ผุสฺสตี นาม กุมาริกา)
2. หิมวันตวรรณนา ในกัณฑ์นี้ บาลีไม่ได้ระบุเหตุการณ์ชัด ๆ เพียงแต่บอกคร่าว ๆ ว่า นาง ผุสดีเกิดในสกุลกษัตริย์ และได้มาเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าสัญชัย แห่งนครเชตุดร หรือ นครสีพี แต่อรรถกถาขยายเรื่องว่า พระนางจุติจากสวรรค์ มาเกิดในพระครรภ์พระมเหสีพระเจ้ามัทราช เมื่ออายุได้ 16 พรรษา นางผุสดีจึงได้ถูกขอมาเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าสัญชัย  นางผุสดีได้พรครบ 10 ประการ คือ ทรงครรภ์และประสูติพระโอรสที่ถนนพ่อค้า พระโอรสจึงถูกขนานนามว่า “เวสสันดร” ดังความว่า “ชื่อของเราไม่ได้เกิดแต่พระมารดา ไม่ได้เกิดแต่พระบิดา เราเกิดที่ถนนพ่อค้า เพราะเหตุนั้น เราจึงชื่อว่า เวสสันดร[24]  นับแต่โอรสอยู่ในครรภ์ นางผุสดีมีใจอยากทำมหาทานบริจาค จึงให้สร้างโรงทาน 6 แห่ง สละทรัพย์วันละ 600,000 กหาปณะ เมื่อพระเวสันดรอายุได้ 16 ปี ได้สยุมพรกับพระนางมัทรี ธิดาของพระเจ้าอาว์ จากมัททราช ยินดีในการบริจาค ได้โอรสนามว่า “ชาลี” (เพราะเอาข่ายทองรองรับตอนประสูติ) และธิดานามว่า “กัณหาชินา” (เพราะเอาหนังหมีดำรองรับตอนประสูติ) ได้ชื่อตามเหตุการณ์ พระบิดามอบราชสมบัติให้พระเวสสันดรทรงปกครองราชสมบัติแทน
สาเหตุที่ต้องถูกชาวเมืองไม่พอใจ ขับไล่ออกจากเมือง เพราะพระราชทานช้างปัจจยนาค อันเป็นช้างมงคล พระราชพาหนะ พร้อมด้วยคชาภรณ์อันประมาณค่ามิได้ แก่พราหมณ์ชาวเมืองกาลิงคะที่มาขอเพื่อต้องการไปแก้ภัยฝนแล้ง ก่อนจะถูกเนรเทศ พระเวสสันดรยังขออยู่อีกวันเดียว เพื่อทำสัตตสดกมหาทาน (ทานสิ่งของอย่างละ 700 ชุด) แล้วจะเดินทางไปเขาวงกตในป่าหิมพานต์ พระเวสสันดรได้ซาบซึ้งต่อน้ำใจพระนางมัทรีว่าไม่ทิ้งพระองค์ในยามยาก ที่จริงพระองค์ประสงค์จะไปลำพังองค์เดียว ให้นางมัทรีและโอรสธิดาอยู่ที่พระราชวัง เพราะไม่อยากให้ลำบาก  นางมัทรีขอติดตามไปด้วย โดยไม่ทิ้งกันในยามทุกข์ยาก ดังกล่าวว่า “การตายพร้อมกับพระเวสสันดร หรือการมีชีวิตอยู่โดยพรากจากพระเวสสันดร พระนางมัทรีขอเลือกการตายดีกว่า พระนางและพระโอรส-ธิดาจะตามเสด็จ”[25] นายนักการบอกหนทางไปสู่เขาวงกต ส่วนพระนางมัทรีก็เล่าถึงสัตว์และสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในป่าหิมพานต์ว่าล้วนน่ารื่นรมย์ เมื่อพระเวสสันดรได้ทอดพระเนตรแล้วก็จะไม่คิดถึงราชสมบัติ พระนางมัทรีเล่าเสมือนว่าเป็นชาวพื้นถิ่นหิมพานต์
มีคำศัพท์หลายคำที่พระอรรถกถาจารย์นำมาขยาย เช่น คำว่า “มชเก” ได้แก่ มีเสียงไพเราะ มีถ้อยคำไพเราะ คำว่า “กเรณุสํฆสฺส” ได้แก่ หมู่ช้างพัง  คำว่า “ยูถสฺส” ได้แก่ ไปข้างหน้าโขลงช้าง คำว่า “วนวิกาเส” ได้แก่ ชัฏไพร คำว่า “กามทํ” ได้แก่ ผู้ให้สิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่างแก่หม่อมฉัน คำว่า “วสมานสฺสุลูกสฺส” ได้แก่ นกเค้าผู้อยู่ คำว่า “วรหํ” ได้แก่ ปกคลุมด้วยแพนหาง คำว่า “พิมฺพชาลํ” ได้แก่ ใบอ่อนแดง
                    3. ทานกัณฑวรรณนา    เมื่อชาวเมืองขับไล่ และพระเจ้าสัญชัยสั่งเนรเทศ นางผุสดีก็ทรงโทมนัสกันแสงว่า ลูกไม่มีความผิดเลย จะไปขอพระราชทานอภัยจากพระสวามี แต่ไม่ได้ เพราะราชาตรัสแล้วไม่คืนคำ ด้วยเป็นประเพณี ต้องรักษากฎหมาย จำต้องจะเนรเทศไป ดังคำว่า “เมื่อเราขับไล่ลูกที่รักผู้เป็นดุจธงชัยของชาวสีพี ก็ทำโดยเคารพต่อขัตติยราชประเพณีธรรมของโบราณ เพราะฉะนั้น ถึงลูกจะเป็นที่รักกว่าชีวิตของเรา เราก็ต้องขับไล่”
                   ในทานกัณฑ์นี้ เมื่อพระเวสสันดรขอบริจาคทานครั้งสุดท้าย  จึงได้บริจาคทั้งคน สัตว์และสิ่งของอย่างละ 700 (สัตตสตกมหาทาน) เช่น สตรีมีขัตติยกัญญาเป็นต้น 700 คน ทาส 700 คน ทาสี 700 คน ช้าง 700 เชือก ม้า 700 ตัว   รถ 700   แม่โคนม 700   ผ้าห่ม   เครื่องดื่มและโภชนาหารหาประมาณมิได้  แม้แต่น้ำเมา(วารุณี / สุรา) ก็ทรงโปรดให้พระราชทานแก่พวกนักเลงสุราด้วย   
                   สุรา หรือ น้ำเมา เป็นสิ่งที่ไม่ควรพระราชทาน เพราะการให้สุรา ไม่ถือว่าเป็นการให้ทานเพราะไม่มีผลก็จริง แต่พระเวสสันดร เกรงนักเลงคอสุราเมื่อมาขอไม่ได้ดื่ม และจะตำหนิเอาว่าใจไม่ถึง เรื่องนี้พระอรรถถกถาจารย์ได้ยกคำศัพท์มาขยายความว่า “บทว่า วารุณึ ความว่า พระเวสสันดรทรงทราบว่า การให้น้ำเมาเป็นทานไร้ผล แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็ทรงดำริว่า พวกนักเลงสุรามาถึงโรงทานแล้ว อย่าได้กล่าวว่า ไม่ได้ดื่มสุราในโรงทานของพระเวสสันดร จึงให้พระราชทาน”[26]
ในนาทีสุดท้าย เมื่อทรงขับราชรถเทียมม้า 4 ตัว เสด็จออกจากเมือง ยังมีคน 4 คนมาขอม้าเที่ยมราชรถไปทั้งหมด  และเมื่อเหลือเพียงราชรถก็ยังมีคนมาขอราชรถไปอีก พระเวสสันดรก็พระราชทานให้หมด แล้วเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาท พระองค์ทรงอุ้มพระชาลี ส่วนพระนางมัทรีอุ้มพระกัณหาชินา
                   4. วนัปปเวสวรรณนา    เมื่อกษัตริย์ทั้ง 4 พระองค์ดำเนินไปสู่ป่า พบคนเดินสวนทางมาก็ถามทางไปเขาวงกต  พวกเขาก็ตอบว่า เขาวงกตยังอยู่อีกไกล พระเวสสันดรเสด็จผ่านสถานที่ต่างๆ ดังนี้ “จากเชตุดรราชธานีถึงภูเขาชื่อสุวรรณคิรีตาละ 5 โยชน์ จากสุวรรณคิริตาละถึงแม่น้ำชื่อโกนติมารา 5 โยชน์ จากแม่น้ำโกนติมาราถึงภูเขาชื่ออัญชนคิรี 5 โยชน์ จากภูเขาอัญชนคิรีถึงบ้านพราหมณ์ชื่อตุณณวิถนาลิทัณฑ์ 5 โยชน์ จากบ้านพราหมณ์ตุณณวิถนาลิทัณฑ์ถึงมาตุลนคร หรือ เจตรัฐ 10 โยชน์ รวมตั้งแต่นครเชตุดรถึงแคว้นเจตรัฐเป็นระยะทาง 30 โยชน์”
พระยาเจตราชต้อนรับและวิงวอนให้อยู่ครองเมืองด้วย พระเวสสันดรตรัสว่า พระองค์เป็นคนถูกเนรเทศรับคำเชิญไม่ได้ หากอยู่ก็จะเป็นภัยแก่พระราชบิดาโดยชาวเมืองจะขับไล่พระราชบิดาอีก พระเวสสันดรพักที่นครเจตราช 1 ราตรี และขอลาไปยังเขาวงกต พระยาเจตราชตามมาส่งสิ้นระยะทางอีก 15 โยชน์ ถึงประตูป่าหิมพานต์ และทูลบอกหนทางว่า “ยังมีระยะทางมุ่งหน้าไปทางทิศเหนืออีก 15 โยชน์ ข้างหน้าด้านทิศเหนือนั้น คือ ภูเขาคันธมาทน์ ที่เหล่านักบวชบำเพ็ญพรต  ไปตามทางนี้จะถึง วิปุลบรรพต เมื่อเสด็จข้ามพ้นวิปุลบรรพตนั้นไป จะเป็น แม่น้ำเกตุมดี  ข้ามแม่น้ำไปจะถึง นาลิกบรรพต   มีสระมุจลินท์ อยู่ด้านทิศอีสาน ผ่านนาลิกบรรพตไป  จะถึงวนประเทศคล้ายหมอก มีหญ้าแพรกเขียวอยู่เป็นนิตย์ เข้าสู่ไพรสณฑ์ลึก  ถัดนั้น  จักเสด็จถึงซอกเขาอันเป็นทางกันดารเดินลำบาก เป็นแดนเกิดแห่งแม่น้ำทั้งหลาย(ต้นน้ำ หรือ ขุนน้ำ) จะได้ทอดพระเนตร เห็นสระโบกขรณี ปกคลุมด้วยสลอดน้ำและกุ่มบก มีหมู่ปลามากมาย มีท่าเรียบราบ มีน้ำมากเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ เป็นสระสี่เหลี่ยม มีน้ำจืดดี ไม่มีกลิ่นเหม็น ที่นั้นขอให้พระองค์สร้างบรรณศาลา ด้านทิศอีสานแห่งสระโบกขรณี ประทับอยู่เถิด ดำรงชีพด้วยการแสวงหามูลผลาหาร”
พระยาเจตราชจึงทูลลากลับ เพื่อจะบรรเทาภยันตรายแห่งพระเวสสันดร จึงให้เรียกพรานป่าคนหนึ่งชื่อ เจตบุตร เป็นคนฉลาดศึกษาดีแล้วมาสั่งว่า “เจ้าจงกำหนดตรวจตราคนทั้งหลายที่ไปๆ มาๆ   ให้อยู่รักษาประตูป่า”
กษัตริย์ทั้ง 4 พระองค์ดำเนินมุ่งหน้าเข้าสู่วงกตตามหนทางที่พระยาเจตราชชี้แนะ มุ่งสู่เขาคันธมาทน์พักแรม 1 ราตรี ข้ามเขาวิปุละ ข้ามน้ำเกตุมดี ข้ามเขานาลิกะ เข้าป่าลึก ซอกเหวสูงและชัน ที่เดินได้ทีละคน จนถึงสระโบกขรณี สุดท้าย(จากนครเชตุดร ถึงเขาวงกต(คันธมาทน์) เป็นระทางทั้ง หมด 60 โยชน์ ระยะทาง 1 โยชน์เท่ากับ 16 กิโลเมตร รวมทั้งหมด 960 กิโลเมตร) ที่เวิ้งเขาวงกตก็พบอาศรม 2 หลังที่พระอินทร์สั่งวิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตไว้ จารึกอักษรไว้ว่า “ท่านผู้หนึ่งผู้ใดใคร่จะบวช ก็จงใช้บริขารเหล่านี้”[27] พระเวสสันดรทรงเพศฤาษี และให้พระชายาและโอรสธิดาผนวชเป็นดาบสทั้งหมดด้วย ดำรงชีพด้วยมูลผลาหารในป่าโดยพระนางมัทรีเป็นผู้แสวงหา ประทับอยู่ ณ เวิ้งเขาวงกตสิ้นเวลาไป 7 เดือน
5. ชูชกปัพพวรรณนา พระอรรถกถาจารย์ บรรยายเรื่องว่า ในหมู่บ้านชื่อทุนนวิฏฐะ      กาลิงครัฐ ยังมีพราหมณ์แก่คนหนึ่งชื่อ ชูชก เที่ยวขอทานได้ทรัพย์ 100 กหาปณะ นำฝากไว้ที่สกุลพราหมณ์แห่งหนึ่ง แล้วไปเที่ยวขอทานอีก เมื่อชูชกไปช้านาน สกุลพราหมณ์นั้นก็ใช้กหาปณะไปจนหมด ภายหลังชูชกกลับมาทวงทรัพย์ ก็ไม่สามารถจะคืนทรัพย์นั้น จึงได้ยกธิดาที่อายุยังสาวรุ่นชื่อ นางอมิตตตาปนา ให้แทน     ชูชกจึงพานางอมิตตตาปนาไปอยู่บ้านตน  นางอมิตตตาปนาได้ปฏิบัติพราหมณ์ชูชกตามหน้าที่ของภรรยาอย่างดี ไปตักน้ำดื่มน้ำใช้ที่ท่าน้ำทุกวัน สามีหญิงชาวบ้านเห็นแล้วก็ชอบใจ โดยนำมาเปรียบกับภรรยาของตนที่เกียจคร้าน จึงพากันทุบตีภรรยาของตน นางพราหมณีทั้งหลายเจ็บปวดและเจ็บใจ จึงรวมหัวกันวางแผนขับไล่นางอมิตตาปนาให้ออกไป โดยไปด่าทอ เยาะเย้ยว่า “สาวน้อยมาได้สามีแก่เพราะทำกรรมไม่ดีมาแต่ก่อน การอยู่กับสามีแก่ตายเสียดีกว่า นางจงกลับไปอยู่บ้านเก่าเสียเถิด” นางมิตตาปนานำคำเสียดสีมาแจ้งชูชก และบอก ว่า นางจะไม่อยู่ด้วยแล้ว จะขอกลับคืนไปบ้านเดิมดีกว่า ชูชกอาสาทำงานบ้านแทนทุกอย่าง แต่นางอมิตตาปนา ห้ามว่า ไม่มีธรรมเนียมที่สามีจะทำงานบ้านแทนแม่บ้าน ทางที่ดีให้ชูชกออกไปหาทาสและทาสีมารับใช้นางจะดีกว่า แล้วบังคับให้ชูชกไปขอสองกุมารจากพระเวสสันดร
ชูชกจำใจต้องไป เพราะนางอมิตตาปนาขู่ว่า หากไม่ไปนางจะแต่งตัวยั่วชาย และมีสามีใหม่  ชูชกเดินทางไปสู่เมืองเชตุดรถามข่าวหาพระเวสสันดร ก็ทราบว่าพระองค์ไปอยู่เขาวงกต เพราะการให้ทานมากเกินไป ชาวเมืองจึงขับไล่จากเมือง ชูชกก็เดินทางไปสู่เขาวงกต เกิดหลงทางไปจนบรรลุถึงถิ่นที่นายพรานเจตบุตรรักษา ถูกฝูงสุนัขที่เจตบุตรเลี้ยงให้ช่วยเฝ้าด่านรุมล้อม มุ่งทำร้าย ชูชกหนีภัยปีนขึ้นไปบนต้นไม้ ปากตะโกนร้องขอความช่วยเหลือ พร้อมกับรำพันถึงพระเวสสันดร  พรานเจตบุตรมาเห็นเข้า จะยิงให้ตายด้วยธนู  ด้วยปฏิภาณไว ชูชกจึงลวงว่าตนเองเป็นราชทูตจากนครสีพี กำลังจะมาเชิญให้พระเวสสันดรกลับนคร พรานเจตบุตรหลงเชื่อจึงบำรุงชูชก ท่านทูตจำแลงอย่างดี จัดเตรียมเสบียงอาหารเพื่อการเดินทาง แถมอำนวยความสะดวกชี้บอกหนทางให้ด้วย
มีคำศัพท์น่าศึกษา ที่พระอรรถกถาจารย์นำมาแสดง ที่ความเชื่อของภรรยาพราหมณ์ ในสาเหตุที่จะได้สามีแก่ เช่น ทุยิฏฐนฺเต นวมิยํ ความว่า เจ้าจักบูชายัญไว้ไม่ดีในดิถีที่ 9 คือเครื่องบูชายัญของเจ้านั้น จักเป็นของที่กาแก่ถือเอาแล้วก่อน ปาฐะว่า ทุยิฏฐา เต นวมิยา ดังนี้ก็มี ความว่า เจ้าจักบูชายัญในดิถีที่ 9 ไว้ไม่ดี บทว่า อกตํ อคฺคิหุตฺตกํ ความว่า แม้การบูชาไฟท่านก็จักไม่กระทำ บทว่า อภิสฺสสิ ความว่า ด่าสมณะพราหมณ์ผู้มีบาปอันสงบแล้ว หรือผู้มีบาปอันลอยแล้ว หญิงทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ ด้วยความประสงค์ว่า นี้เป็นผลแห่งบาปของเจ้านั้น (จึงต้องได้สามีแก่ชรา)
                    6. จูฬวนกัณฑ   เมื่อพรานเจตบุตรบำรุงทูตปลอมด้วยดี ห่อเสบียงเดินทางมอบให้ด้วยแล้วจึงชี้บอกหนทางไปสู่เขาคันธมาทน์ ที่อาศรมพระเวสสันดรตั้งอยู่ และพรรณนาแมกไม้นานาพรรณ ไม้ผลไม้ดอก สัตว์ นกที่แวดล้อมอาศรมพระเวสสันดร น่าอยู่ดุจวิมานเทวดา
                   กัณฑ์จูฬวนนี้ มีศัพท์บาลีที่บอกชื่อแมกไม้ต่างๆ เช่น บทว่า จารุติมฺพรุกฺขา ได้แก่ ต้นมะพลับทอง บทว่า มธุมธุกา ได้แก่ มะซางมีรสหวาน บทว่า ปาเรวตา ได้แก่ ต้นกล้วยงาช้าง บทว่า ภเวยฺยา ได้แก่ กล้วยมีผลยาว บทว่า เภงฺควณฺณา ตทูภยํ ความว่า มะม่วงทั้งสองอย่างนั้นคือ ดิบบ้าง สุกบ้าง มีสีเหมือนสีของหลังกบทีเดียว บทว่า วิเภทิกา ได้แก่ ต้นตาล บทว่า กุฏชี กุฏตคฺรา ได้แก่ รุกขชาติอย่างหนึ่งชื่อว่าไม้มูกมัน กอโกฐ และกอกฤษณา บทว่า คิริปุนฺนาคา ได้แก่ บุญนาคใหญ่ บทว่า โกวิฬารา ได้แก่ ต้นทองหลาง บทว่า    อุทฺธาลกา ได้แก่ ต้นราชพฤกษ์ดอกสีเหลือง บทว่า ภลลิยา ได้แก่ ต้นรักดำ บทว่า ลพุชา ได้แก่ ต้นขนุนสำมะลอ บทว่า ปุตฺตชีวา ได้แก่ ต้นไทรใหญ่ บทว่า มกรนฺเทหิ ได้แก่ เกสร บทว่า ถูลา สึฆาฏกา ได้แก่ กระจับขนาดใหญ่ บทว่า สสาทิยา ได้แก่ ข้าวสาลีเล็กๆ ซึ่งเป็นข้าวสาลีที่เกิดเองตั้งอยู่ เรียกว่าข้าวสาลีบริสุทธิ์ บทว่า พฺยาวิธา ความว่า เหล่าสัตว์น้ำชนิดต่างๆ เที่ยวไปเป็นกลุ่มๆ ในน้ำใส ว่ายไปตามลำดับปรากฏอยู่ บทว่า  มูปยานกา ได้แก่ ปู
        ผู้เขียนลองนับพรรณไม้รุกขชาติได้ 45 ชนิด นับลดาชาติได้ 2 ชนิด  ธัญญชาติ ได้ 1 ชนิด(ข้าวสาลี) สกุณชาติ ได้ 6 ชนิด ปทุมชาติ 2 ชนิด  มัจฉาชาติได้ 3 ชนิด มีจำนวนยังไม่มากนัก จึงเรียกว่า  “จุฬวน” คือ ป่าน้อย มีเพียง 5 กลุ่ม  58 รายชื่อ
                    7. มหาวนวรรณนา  เมื่อพราหมณ์ชูชกได้หลอกพรานเจตบุตรให้ตายใจเชื่อว่าตนเป็นราชทูตจากนครสีพีนำสารมาทูลเชิญพระเวสสันดรกลับคืนนคร จึงดูแลอย่างดี และมอบเสบียงทางให้ บอกทางไปจนถึงอาศรมอัจจุตฤาษี แล้วให้ชูชกค่อยเรียนถามทางกับพระฤาษีอีกที  ชูชกเดินบุกป่าลึกเข้าไปถึงอาศรมพระอัจจุตฤาษี เข้านมัสการโอภาปราศัยถามถึงการเป็นอยู่ในป่าว่าสัปปายะดีไหม อัจจุตฤาษีก็ปฏิสันถารตอบว่า เราสบายดีไม่มีอาพาธใดเบียดเบียน และถามว่า พรามหณ์มาทำอะไร ชูชกเรียนว่า จะมานมัสการพระเวสสันดรเอาบุญ พระฤาษีก็สำทับดักคอว่า “จะมาขอทานหรือ พระเวสสันดรอยู่กันเพียงสี่คนไม่มีสมบัติอะไร เพราะพระองค์กำลังตกยากอยู่ แกคงจะมาขอพระนางมัทรี หรือ พระโอรสธิดาเป็นแน่” แต่ด้วยคารมชูชก อัจจุตฤาษีก็เชื่อเช่นนั้น จึงให้ชูชกนอนพักคืนหนึ่ง รุ่งเช้าจึงชี้ทางที่มุ่งไปยังภูเขาคันธมาทน์ให้
กัณฑ์ที่ 7 นี้ชาวไทยเรียกว่า “มหาพน” คือ ป่าใหญ่   เพราะป่าไม้และรุกขชาติที่จะต้องผ่านไปจนถึงอาศรมพระเวสสันดรมีมากมาย ชื่อต้นไม้นานาพรรณที่มีอยู่ในป่า เท่าที่ผู้เรียบเรียงลองนับดู พบว่า มีจำนวนมากกว่าที่กล่าวใสกัณฑ์จุฬวน คือ รุกขชาติมี 63 ชนิด  ลดาชาติมี 32 ชนิด ติณณชาติ มี  13 ชนิด  ปทุมชาติมี 5  ชนิด กีฎชาติ(แมลง) 3 ชนิด ธัญญชาติมี 12 ชนิด มฤคชาติมี  34  ชนิด ปักษีชาติมี 54 ชนิด    มัจฉาชาติได้ 7 ชนิด(ที่แปลกคือมีปลาฉลาม ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเค็ม ไม่น่าจะมีอยู่ที่สระมุจลินทร์น้ำจืดในป่าหิมพานต์)  รวมทั้งหมดได้ กลุ่ม จำนวนรายชื่อต่าง ๆ ถึง 223 ชนิด (ซึ่งอาจมีมากกว่าจำนวนนี้)
8. กุมารกัณฑ์  ชูชกเดินไปตามทางที่อัจจุตฤาษีบอก ไปถึงบริเวณอาศรมพระเวสสันดร แต่ก็หยุดพักแรมที่ชะง่อนผาก่อน คืนนั้นพระนางมัทรีทรงพระสุบินร้ายว่า “มีชายคนหนึ่งผิวดำ นุ่งห่มผ้าย้อมฝาดสองผืน หูทั้งสอง ทัดดอกไม้สีแดง มือถืออาวุธตะคอกขู่ มาเข้าสู่บรรณศาลาจับพระนางที่ชฎา ฉุดคร่ามาจนพระนางล้มหงายแล้วควักดวงพระเนตรทั้งสอง ตัดพระพาหาทั้งสอง แหวกพระอุระถือเอาเนื้อพระหทัยที่มีหยาดพระโลหิตไหลอยู่ แล้วหลีกไป” พระนางมัทรีสะดุ้งตื่นบรรทม ทั้งตกพระหทัยทั้งสะดุ้งหวาดกลัว ทรงรำพึงว่า เราฝันร้ายจึงไปทูลเล่าความฝันกับพระสวามี แต่พระสามีปลอบโยนว่าไม่เป็นไร แต่ความฝันกลับเป็นความจริงเมื่อพระนางไปป่าแสวงหาผลาผล  ชูชกก็เดินเข้ามาหาพระเวสสันดร เพื่อขอสองกุมาร พระเวสสันดรให้พระชาลีไปต้อนรับ แต่ชูชกเป็นคนอัปลักษณ์ มีอวัยวะเป็นโทษ ถึง 18 ประการ พระชาลีทอดพระเนตรดูก็พบลักษณะร้าย ดังนี้
“ชูชกนี้ประกอบด้วยบุรุษโทษ 18 ประการ คือ 1. ตีนแบ   2. เล็บเน่า   3. มีปลีน่องย้อยยาน 4. มีริมฝีปากบนยาว 5. น้ำลายไหล 6. มีเขี้ยวยาวออกจากริมฝีปากดังเขี้ยวหมู 7. จมูกหัก 8. ท้องโตดังหม้อ 9. หลังค่อม 10. ตาเหล่ 11. หนวดสีเหมือนทองแดง 12.  ผมสีเหลือง 13. เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง เกลื่อนไปด้วยกระดำ 14. ตาเหลือกเหลือง 15. เอวคด หลังโกง คอเอียง 16. ขากาง 17. เดินตีนลั่นดังเผาะๆ  18. ขนตามตัวดกและหยาบ”
 ชูชกได้ทูลขอสองกุมาร พระเวสสันดรตัดพระทัยสร้างบารมี “ปิยปุตฺตปริจฺจาค” แก่ชูชกเพื่อปรารถนาพระโพธิญาณ สองกุมารถูกชูชกมัดมือ เฆี่ยนตี ลากไปต่อหน้าต่อตา สองกุมารร่ำร้องขอความเมตตาจากพระบิดา แต่พระบิดาก็วางอุเบกขา
พระชาลีก็ตัดพ้อพระบิดาว่า “นรชนบางพวกในโลกนี้ กล่าวความจริงไว้อย่างนี้ว่า ผู้ใดไม่มีมารดาของตน ผู้นั้นเหมือนไม่มีทั้งบิดามารดา”
ส่วนพระนางกัณหาชินาตัดพ้อด้วยความน้อยพระทัยตัดพ้อพระเวสสันดร ความว่า “ข้าแต่เสด็จพ่อ พราหมณ์นี้ตีหม่อมฉันด้วยไม้ เหมือนนายตีทาสีที่เกิดในเรือน ข้าแต่เสด็จพ่อ ธรรมดาว่า พราหมณ์ทั้งหลายย่อมเป็นผู้ประกอบด้วยธรรม แต่ตาพราหมณ์นี้หาเป็นดังนั้นไม่ เป็นยักษ์มาด้วยเพศพราหมณ์ เพื่อจะนำหม่อมฉันสองพี่น้องไปเคี้ยวกิน หม่อมฉันสองพี่น้องอันปีศาจนำไปอยู่ พระองค์ทอดพระเนตรเห็นหรือไม่หนอ ข้าแต่เสด็จพ่อ ก็ตาพราหมณ์นี้นำหม่อมฉันสองพี่น้อง ไปยังไม่ทันถึงประตูป่าเลย แกมีตาทั้งคู่แดงเป็นเหมือนมีโลหิตไหล เพื่อจะเคี้ยวกิน คือนำไปด้วยหวังว่า จักเคี้ยวกินเสียทั้งหมด พระองค์ก็ทรงเห็น หม่อมฉันสองพี่น้องถูกนำไปเพื่อเคี้ยวกิน หรือเพื่อต้มเสีย ขอพระองค์จงมีความสุขทุกเมื่อเถิด”
เมื่อเห็นหมดที่พึงจริงๆจึงวิงวอนเทพเจ้าให้แจ้งข่าวแก่พระมารดาว่า “ลูกเสด็จมาทางนี้ แม่จงรีบตามมาให้ทันก่อนพราหมณ์ใจร้ายจะพาออกไปจากประตูป่า”
ราคาไถ่ค่าตัวของสองกุมาร แม้พระเวสสันดรดูจะวางอุเบกขา แต่พระทัยเต็มไปด้วยความทุกข์ ได้เห็นความห่วงของพ่อต่อลูก โดยบอกค่าไถ่ตัวลูกทั้งสองดังนี้ “แน่ะพ่อชาลี ถ้าพ่อใคร่เพื่อจะเป็นไท พ่อควรให้ทองคำ 1,000 ลิ่มแก่พราหมณ์ชูชก จึงควรเป็นไท ก็กนิษฐภคินีของพ่อเป็นผู้ทรงอุดมรูป ใครๆชาติต่ำพึงให้ทรัพย์เล็กน้อยแก่พราหมณ์ ทำกนิษฐภคินีของพ่อให้เป็นไท ทำให้แตกชาติ ยกเสียแต่พระราชา ใครจะให้สิ่งทั้งปวงอย่างละ 100 ย่อมไม่มี  เพราะเหตุนั้น กนิษฐภคินีของพ่ออยากจะเป็นไท พึงให้สิ่งทั้งปวงอย่างละ 100 อย่างนี้ คือ ทาสี ทาส ช้าง ม้า โค อย่างละ 100 และทองคำ 100 ลิ่ม แก่ชูชก แล้วจงเป็นไทเถิด”
          9. มัททีกัณฑปริจเฉท พระนางมัทรีเข้าป่าแสวงหาผลาผล เกิดลางร้าย “เสียมหลุดจากพระหัตถ์ กระเช้าก็หลุดจากพระอังสา พระเนตรเบื้องขวาก็เขม่น พฤกษาชาติที่มีผลก็เป็นเหมือนไม่มีผล  พฤกษาชาติที่ไม่เคยมีผล ก็ปรากฏเป็นราวกะว่ามีผล ทิศทั้งปวงก็ไม่ปรากฏ(หลงทาง)” [28]  พระนางมัทรีทรงพิจารณาว่า “นี่เป็นอย่างไรหนอ ไม่เคยมีมาแต่ก่อนก็มามี ในวันนี้เหตุการณ์อะไรจักมีแก่เรา แก่ลูกทั้งสองของเรา หรือแก่พระเวสสันดรราชพระสวามี กระมัง”
                    เมื่อพระนางมัทรีได้ผลาผลแล้วก็รีบกลับมา แต่กลับพบสัตว์ร้าย 3 ตัว คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง มานอนหมอบปิดกั้นทางเดินอยู่ พระนางมัทรีอ้อนวอนสัตว์จำแจงจนเกือบค่ำ จึงได้เปิดทางให้ เมื่อมาถึง ไม่เห็นสองกุมารวิ่งมาต้อนรับเหมือนเคย ทุกอย่างในอาศรมดูเงียบสงบ นกที่เคยร้องก็ไม่ร้อง แปลกประหลาดเป็นที่สุด จึงไปทูลถามพระเวสสันดร และพระเวสสันดรก็ทรงนิ่งไม่ตรัสอะไร พระนางมัทรีจึงทูลพ้อว่า “การที่พระองค์ไม่ตรัสกะหม่อมฉันนี้ เป็นทุกข์ยิ่งกว่า การที่วันนี้หม่อมฉันไม่เห็นชาลี และกัณหาชินาลูกรักทั้งสองนั้น เหมือนแผลที่ถูกแทงด้วยลูกศร การไม่เห็นลูกทั้งสองและพระองค์ไม่ตรัสกะหม่อมฉัน แม้นี้เป็นทุกข์ซ้ำสอง เหมือนลูกศรแทงหทัยของหม่อมฉัน ข้าแต่พระราชบุตร วันนี้ ถ้าพระองค์ไม่ตรัสกะหม่อมฉันตลอดราตรีนี้ พรุ่งนี้เช้า ชะรอยพระองค์จะได้ทอดพระเนตรเห็นหม่อมฉันปราศจากชีวิตตายเสียแล้ว”
พระเวสสันดรต้องการข่มความโศกของพระนางมัทรีเพราะการพรากจากสองกุมาร จึงแกล้งตำหนิให้นางโกรธ ว่าไม่สนใจลูกผัวกลับมาเสียจนมืดจนค่ำ มัวไปทำอะไรอยู่ แต่พระนางมัทรีก็บอกตามความจริง พระเวสสันดรก็ยังไม่ยอมตรัสอะไร นั่งนิ่งเสีย  พระนางมัทรี จึงเสด็จเที่ยวค้นหาพระโอรส พระธิดาทุกซอกทุกมุม  อาศัยเพียงแสงจันทร์ส่อง เสด็จถึงสถานที่ต่างๆ มีต้นหว้าเป็นต้น ซึ่งเป็นที่พระโอรสพระธิดาเคยเล่น พลางร้องเรียกชื่อหา คำตอบมีแต่ความเงียบ จึงกลับมาบอกพระเวสสันดรว่า “หม่อมฉันไม่พบคนที่นำลูกทั้งสองไป ลูกทั้งสองคงสิ้นชนม์ชีพแล้ว ฝูงกาฝูงนกทั้งหลายไม่มีอยู่ ลูกทั้งสองของหม่อมฉันคงสิ้นชนม์ชีพเสียแล้ว  ใครนำลูกของเราไป” พระเวสสันดรก็นิ่งเฉย พระนางออกตามหาอีกไปซ้ำตามทางเดิมถึง 3 รอบ สิ้นระทาง 15 โยชน์ (240กิโลเมตร) ตลอดคืนจนรุ่งเช้า และหมดความหวังกลับมาอาศรม ทรงประคองพระพาหากันแสงว่า “ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันไม่เห็นคนที่นำลูกทั้งสองของเราไป ลูกทั้งสองคงสิ้นชนม์ชีพแล้ว”   เมื่อความเศร้าโศกบีบคั้นหนัก ผสมกับการไม่ได้พักผ่อนเพราะหาผลไม่ทั้งวัน แถมยังมาเที่ยวตามหาลูกรักทั้งคืน เฉลี่ยชั่วโมงละ 30 กิโลเมตร ร่างกายพระนางก็สุดจะทนทานแบกความทุกข์ต่อไปเอาไว้ไม่ไหว จึงล้มลง ณ ภูมิภาคแทบพระยุคลบาทแห่งพระเวสสันดรนั่นเอง
พระเวสสันดรตระหนกพระทัยนึกว่าพระนางสิ้นพระชนม์ จึงรีบก้มลงเอาพระหัตถ์ช้อนพระเศียรประคองพระนางมัทรีไว้บนพระเพลา เอาน้ำมาพรม ไม่นานพระนางมัทรีก็ได้สติ จึงถามอีกว่า “ลูกเราไปไหน”  พระเวสสันดรบอกความจริงว่า มีคนมาขอ พระองค์ให้ทานเป็นทาสแก่พราหมณ์ไปแล้ว เราปรารถนาโพธิญาณ ขอให้น้องจงอนุโมทนา พระนางมัทรีก็บอกว่า พระองค์ทำทานยิ่งใหญ่ ขออนุโมทนาดังคำว่า “ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันขออนุโมทนาปิยบุตรทานอันอุดมของพระองค์ พระองค์ทรงบริจาคทานแล้ว จงยังพระหฤทัยให้เลื่อมใส ขอจงทรงบำเพ็ญทานให้ยิ่งๆ ขึ้นไปเถิด ข้าแต่พระชนาธิปราช ในเมื่อชนทั้งหลายมีความตระหนี่ พระองค์ผู้ยังแคว้นของชาวสีพีให้เจริญ ได้ทรงบริจาคบุตรทานแก่พราหมณ์”
พระอรรถกถาจารย์อธิบายธรรมเนียมคนโบราณว่า แม้ว่า มารดาจะคลอดบุตร เลี้ยงดู แต่บิดาเป็นเจ้าของบุตร ดังคำว่า บทว่า อนุโมทามิ เต ความว่า พระนางมัทรีทรงอุ้มพระครรภ์ 10 เดือน ประสูติแล้วให้สรงสนาน ให้ทรงดื่มให้เสวยวันละสองสามครั้ง ประคับประคองพระลูกน้อยทั้งสองนั้น ให้บรรทมบนพระอุรประเทศ ครั้นพระโพธิสัตว์พระราชทานพระลูกน้อยทั้งสองไป จึงทรงอนุโมทนาส่วนบุญเอง ... ด้วยเหตุนี้ พึงทราบว่า บิดาเท่านั้นเป็นเจ้าของเด็กๆทั้งหลาย บทว่า ภิยฺโย ทานํ ทโท ภว ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์จงเป็นผู้บริจาคทานบ่อยๆ ให้ยิ่งๆ ขึ้นไปเถิด ทานอันพระองค์ทรงบริจาคดีแล้ว   ขอพระองค์ผู้ได้พระราชทานพระปิยบุตรทั้งสอง ในเมื่อสัตว์ทั้งหลายมีความตระหนี่นั้น จงยังพระหฤทัยให้เลื่อมใสเถิด”
                    10. สักกปัพพปริจเฉท เมื่อกษัตริย์ทั้งสององค์ คือพระเวสสันดรและพระนางมัทรี ตรัสสัมโมทนียกถาต่อกันและกันอยู่อย่างนี้ ท้าวสักกเทวราชทรงดำริว่า “เมื่อวันวานนี้ พระเวสสันดรได้ประทานปิยบุตรแก่ชูชกพราหมณ์ บัดนี้ ถ้าจะมีคนต่ำช้าผู้หนึ่งไปเฝ้าพระเวสสันดร ทูลขอพระนางมัทรีผู้สมบูรณ์ด้วยลักษณะทั้งปวง มีศีลาจารวัตรบริบูรณ์ พาพระนางมัทรีไป ทำให้ท้าวเธออยู่คนเดียว ท้าวเธอก็จะขาดผู้ปฏิบัติเราจะจำแลงเพศเป็นพราหมณ์ ไปเฝ้าท้าวเธอ ทูลขอพระนางมัทรี ให้ถือเอาทานนั้นเป็นยอดแห่งทานบารมี ทำให้ไม่ควรสละแก่ใครๆ แล้วถวายพระนางเจ้านั้นคืนท้าวเธอไว้อีก แล้วกลับเทวสถานของเรา” ท้าวสักกเทวราชได้เสด็จไปสู่ สำนักแห่งพระโพธิสัตว์ ในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น แปลงเพศเป็นพราหมณ์ชรา ไปขอพระนางมัทรี   พระเวสสันดรจึงนำน้ำเต้ามาหลั่งน้ำลงในมือของพราหมณ์ พระราชทานปิยทารทาน(มเหสีที่รัก)แก่พราหมณ์แปลง  ในกาลนั้น พระนางมัทรีมิได้ทำพระพักตร์สยิ้วกริ้วพระภัสดา ไม่ทรงแสดงพระอาการขวยเขิน ไม่ทรงกันแสง เมื่อพระภัสดาทอดพระเนตรพระนางเจ้าก็ทรงดุษณีภาพ พระภัสดาก็ทรงทราบพระอัธยาศัยอันประเสริฐของพระนาง
ธรรมเนียมอินเดียโบราณ ภรรยาถือว่าเป็นทรัพย์สินของสามี โดยสามีจะทำอะไรก็ได้ ไม่ว่าการดีหรือการร้าย ดังพระนางมัทรีว่า “หม่อมฉันเป็นเทวีสาวของพระองค์ พระองค์นั้นแหละเป็นพระภัสดาด้วย เป็นใหญ่ด้วยของหม่อมฉัน พระองค์ท่านปรารถนาจะพระราชทานแก่ผู้ใด ก็พึงพระราชทานแก่ผู้นั้น หรือเมื่อต้องการทรัพย์ ก็พึงขายหม่อมฉัน หรือเมื่อต้องการเนื้อก็พึงฆ่าหม่อมฉัน เพราะฉะนั้น พระองค์จงกระทำสิ่งที่ทรงชอบพระทัยเถิด หม่อมฉันไม่โกรธ”
การที่พระเวสสันดรให้นางมัทรีเป็นทาน ไม่ใช่เพราะไม่รักพระนางมัทรี แต่เพราะพระองค์ปรารถนาโพธิญาณที่มีผลมากกว่าความรักพระมเหสี พระอรรถกถาจารย์ขยายความถึงการตั้งจิตอธิษฐานของพระเวสสันดรว่า “ดูก่อนพราหมณ์ผู้เจริญ พระสัพพัญญุตญาณเท่านั้นเป็นที่รักของอาตมา ยิ่งกว่าแม้พระนางมัทรีร้อยเท่าพันเท่าแสนเท่า ขอทานของอาตมานี้ จงเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ” ดังนี้แล้ว ได้ทรงบริจาคปิยทารทาน
พราหมณ์แปลง พาพระนางมัทรีไปหน่อยหนึ่งแล้วนำกลับมาถวายคืน บอกว่าอย่าให้ใครเป็นทานอีก และจะประทานพร 8 ข้อให้ พระเวสสันดรจึงตรัสว่า “ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่ของสรรพสัตว์ ถ้าพระองค์จะประทานพระพรแก่หม่อมฉัน  โปรดประทานพรตามลำดับดังนี้  
พรข้อที่ 1 ขอพระชนกของหม่อมฉันพึงทรงยินดี ให้หม่อมฉันกลับจากป่านี้สู่นิเวศน์ของหม่อมฉัน พึงเชื้อเชิญด้วยราชบัลลังก์  
พรข้อที่ 2 หม่อมฉันไม่ชอบการฆ่าคน แม้ทำผิดร้ายแรง พึงยังคนมีโทษให้พ้นจากการประหารชีวิต
พรข้อที่ 3 ชนเหล่าใดเป็นคนแก่ เป็นคนหนุ่ม และเป็นคนกลางคน ชนเหล่านั้นพึงอาศัยหม่อมฉันเลี้ยงชีพ  
พรข้อที่ 4 หม่อมฉันไม่พึงถึงภรรยาของชนอื่น พึงขวนขวายแต่ในภรรยาของตน และไม่พึงตกอยู่ในอำนาจแห่งสตรีทั้งหลาย     
พรข้อที่ 5 บุตรของหม่อมฉันที่พลัดพรากไปนั้น พึงมีอายุยืน พึงครองแผ่นดินโดยธรรม    
พรข้อที่ 6 เมื่อราตรีสิ้นไป พระอาทิตย์อุทัยขึ้นมา ขอให้ภิกษาหารอันเป็นทิพย์พึงปรากฏมี  
พรข้อที่ 7 เมื่อหม่อมฉันบริจาคทาน ทรัพย์สมบัติพึงไม่หมดสิ้นไป บริจาคแล้วไม่พึงเดือดร้อนภายหลัง เมื่อกำลังบริจาคพึงทำจิตให้ผ่องใส    
พรข้อที่ 8 เมื่อหม่อมฉันพ้นจากอัตภาพนี้ พึงไปสู่สวรรค์ถึงชั้นดุสิตอันวิเศษ จุติจากชั้นดุสิตนั้นมาเป็นมนุษย์ พึงเป็นผู้ไม่เกิดอีก”  
                   11. มหาราชปัพพปริจเฉท พระอรรถกถาจารย์ดำเนินเรื่องต่อว่า ครั้งนั้น พราหมณ์ชูชกพาชาลีและกัณหาชินา เดินทาง 60 โยชน์ ครั้นดวงอาทิตย์อัสดงคต ชูชกก็ผูกพระกุมารทั้งสองไว้ที่กอไม้ ให้บรรทมเหนือพื้นดิน ส่วนตนเองปีนขึ้นไปบนต้นไม้ นอนที่หว่างค่าคบไม้ ด้วยเกรงพาลมฤคที่ดุร้าย  เหล่าเทพเจ้าได้อารักขาพระกุมารกุมารี โดยเทพบุตรองค์หนึ่งแปลงเพศเป็นพระเวสสันดร และเทพธิดาองค์หนึ่งแปลงเพศเป็นพระนางมัทรี มาแก้เครื่องพันธนาการออกจากสองกุมาร นวดพระหัตถ์และพระบาทของสองกุมาร  สรงน้ำ ประดับ ให้เสวยทิพยโภชนาหาร ตกแต่งด้วยสรรพาลังการ ให้บรรทมบนพระยี่ภู่ทิพย์ พออรุณขึ้น ก็ให้บรรทมด้วยเครื่องพันธนาการตามเดิมอีก แล้วอันตรธานหายไป ราชกุมารกุมารีทั้งสองนั้น หาพระโรคมิได้ เสด็จไปด้วยเทวสงเคราะห์อย่างนี้  เมื่อสว่างแล้ว ชูชกลงจากต้นไม้ ล้างหน้าบ้วนปากสีฟัน แล้วบริโภคผลาผล และเดินทางต่อไป
ครั้งนั้น ชูชกพาสองกุมารเดินไปบรรจบทางสองแพร่ง ทางหนึ่งไปสู่กาลิงครัฐ ส่วนอีกทางหนึ่งไปสู่กรุงเชตุดร ชูชกคิดว่า เราจักเดินไปทางสู่กาลิงครัฐ แต่เทวดาดลใจ จึงละทางไปสู่กาลิงครัฐ กลับมุ่งหน้าดุ่มไปทางสู่กรุงเชตุดรแทน  ด้วยสำคัญผิดว่า ทางนี้เป็นทางไปสู่กาลิงครัฐ   ล่วงเชิงภูผาที่ไปยากทั้งหลายแห่ง บรรลุถึงกรุงเชตุดรโดยสิ้นเวลาเดินทางกึ่งเดือน(15 วัน)
พระเจ้าสัญชัย ทรงสุบินในเวลาใกล้รุ่งของคืนนั้นว่า “เมื่อพระองค์ประทับนั่ง ในสถานที่มหาวินิจฉัย มีชายคนหนึ่งผิวดำ นำดอกปทุมสองดอกมาวางไว้ในพระหัตถ์  พระองค์ทรงรับดอกปทุมทั้งสองดอกนั้นไว้ ทรงประดับที่พระกรรณสองข้าง ละอองเกสรแห่งดอกปทุมสองดอกนั้น ล่วงลงบนพระอุระแห่งพระองค์” พระเจ้าสญชัยตื่นบรรทม ตรัสเรียกพวกพราหมณ์ผู้รู้ทำนายสุบินมาตรัสถาม ได้รับคำพยากรณ์ว่า “พระประยูรญาติของพระองค์ที่จากไปนานจักมา” วันนั้นเอง พราหมณ์กับสองกุมาร มายืนปรากฏอยู่ที่พระลานหลวง  ขณะนั้น พระเจ้าสัญชัยทอดพระเนตรดูมรรคาทรงเห็นสองกุมาร มองดูคล้ายหลานของพระองค์จึงให้พนักงานไปตามมาเข้าเฝ้า ก็คาดคั้นชูชกว่า ได้เด็กสองคนมาแต่ไหน ก็ทราบว่าพระเวสสันดรให้ทานมา พระเจ้ากรุงสัญชัยเห็นหลานแล้วก็ถามว่า ทำไมไม่มานั่งที่ตักปู่และย่าเหมือนแต่ก่อน สองกุมารทูลว่า ยังเป็นทาสพราหมณ์  พระเจ้าสัญชัยจะไถ่พระนัดดา จึงถามถึงค่าตัวของแต่ละพระองค์แล้วก็เสียค่าไถ่พระนัดดาสองกุมารให้เป็นไทจากพราหมณ์ชูขก และมอบปราสาทให้ชูชก เลี้ยงดูอย่างดี พลางถามข่าวของพระเวสสันดร
พระนัดดาชาลีจึงทูลว่า “พระชนกชนนีทั้งสองของหม่อมฉัน ไม่ค่อยมีพระโรคาพาธ ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการเสาะแสวงหาผลาหารสะดวกดี และมูลผลาหารก็มีมาก อนึ่ง เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลาน มีบ้างก็เล็กน้อย ความเบียดเบียนให้ลำบาก ในวนประเทศที่เกลื่อนไปด้วยเนื้อร้าย ก็ไม่ค่อยมีแด่พระชนกพระชนนีทั้งสองนั้น พระชนนีของหม่อมฉันทั้งสองเสด็จไปขุดมัน กระชากมันอ่อน มันมือเสือ มันนก และนำผลกะเบา ผลจาก ผลมะนาว มาเลี้ยงกัน พระชนนีเป็นผู้หามูลผลในป่า ทรงนำมาซึ่งมูลผลใด หม่อมฉันทั้งหลายประชุมพร้อมกันเสวยมูลผลนั้น ในเวลากลางคืน ไม่ได้เสวยในเวลากลางวัน
                   “พระชนนีของหม่อมฉันทั้งสองเป็นสุขุมาลชาติ ต้องทรงหาผลไม้ในป่ามาเลี้ยงกัน จนทรงซูบมีพระฉวีเหลือง เพราะลมและแดด ดุจดอกปทุมอยู่ในกำมือ เมื่อพระชนนีเสด็จเที่ยวอยู่ในป่าใหญ่ ซึ่งเกลื่อนไปด้วยพาลมฤค มีแรดและเสือเหลืองอยู่อาศัย พระเกสาก็ยุ่งเหยิง พระองค์เกล้าพระชฎาบนพระเกสา ทรงเปรอะเปื้อนที่พระกัจฉประเทศ พระชนกทรงเพศบรรพชิตผู้ประเสริฐ ทรงถือไม้ขอ ภาชนะเครื่องบูชาเพลิงและชฎา ทรงหนังเสือเหลืองเป็นพระภูษา ทรงบรรทมเหนือแผ่นดิน นมัสการเพลิง”
ข้อสังเกต ของเสวยในป่าที่เสริมมา  มูลผลาหาร ก็คือ  มันอ่อน มันมือเสือ มันนก และมีชื่อผลไม้เพิ่มคือ ผลกะเบา ผลจาก ผลมะนาว   
การเสวยอาหาร อยู่ในป่ากษัตริย์ทั้ง 4 ได้เสวยเพียงวันละมื้อ และเฉพาะอาหารค่ำเท่านั้น เข้าทำนองลำบากมาก ดังคำพังเพยว่า หาเช้า กินค่ำแท้ มีคำที่พระชาลีทูลพระอัยกาว่า “พระชนนีเป็นผู้หามูลผลในป่า ทรงนำมูลผลใดมา หม่อมฉันทั้งหลายประชุมพร้อมกันเสวยมูลผลนั้น ในเวลากลางคืน ไม่ได้เสวยในเวลากลางวัน”
พระชาลีเมื่อจะทูลท้วงพระอัยกา จึงตรัสว่า “ลูกทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลก ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์ผู้เป็นพ่อแม่ทั้งหลาย พระอัยกาของหม่อมฉันทั้งสอง คงไม่เกิดเสน่หาในพระโอรสเป็นแน่ทีเดียว”
พระเจ้าสัญชัยเมื่อทราบว่าพระเวสสันดรพร้อมพระนางมัทรีดำรงชีวิตอยู่ป่าอย่างยากลำบากแสนเข็ญเช่นนี้ จึงตรัสว่า “เราทำผิดต่อลูกผู้ไม่มีความผิด เพื่อไถ่โทษพ่อจะยกราชสมบัติให้ครองสืบแทน” ที่พระอรรถกถาจารย์เสริมความว่า บทว่า ยํ เม กิญฺจิ ความว่า สิ่งอะไรๆของปู่มีอยู่ในพระนครนี้ สิ่งนั้นทั้งหมดปู่ยกให้แก่พระบิดาของหลาน  บทว่า สิวิรฏฺเฐ ปสาสตุ ความว่า ขอพระเวสสันดรนั้น จงเป็นราชาปกครองในพระนครนี้ แล้วให้พระชาลีนำพระเจ้าปู่ พระเจ้าย่าพร้อมกองทัพใหญ่ ไปอัญเชิญพระเวสสันดรถึงเขาวงกต ใช้เวลาเสด็จไปเชิญ ล่วงวันและคืนโดยมากก็ถึง ฝ่ายชาวกาลิงคราษฎร์ เมื่อฝนตกดีแล้วก็นำช้างปัจจัยนาคมาคืน  ช้างนั้นก็ได้ไปรับเสด็จนิวัติด้วย มีการเตรียมการต้อนรับอย่างมโหฬารจากประตูนครเชตุดร ถึงเขาวงกต
คำศัพท์ว่า “ปสาส” แปลว่า การปกครอง เรานำคำนี้มาใช้ในภาษาไทยว่า “รัฐปสาสนศาสตร์” คือวิชาว่าด้วยการปกครองบริหารรัฐ
ฝ่ายชูชกบริโภคอาหารเกินประมาณ ไม่อาจย่อยได้ ก็ทำกาลกิริยาในที่นั้นเอง พระเจ้าสัญชัยให้ทำฌาปนกิจชูชก และให้เที่ยวตีกลองไปป่าวประกาศในพระนครว่า ผู้ใดเป็นญาติของชูชก จงมารับเอาสมบัติที่พระราชทานเหล่านี้ไป  ก็ไม่พบคนที่เป็นญาติของชูชก จึงโปรดให้ขนทรัพย์ทั้งปวงคืนเข้าพระคลังหลวงตามเดิม
12. ฉักขัตติยปริจเฉท พระอรรถกถาจารย์ ดำเนินเรื่องต่อว่า ฝ่ายพระชาลีราชกุมารให้ตั้งค่ายแทบฝั่งสระมุจลินท์ ให้กลับรถหมื่นสี่พันคัน หันหน้ากลับทางที่มา  แล้วให้จัดการรักษาสัตว์ร้าย มีราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง และแรดเป็นต้น ในประเทศนั้น ๆ เสียงพาหนะทั้งหลาย มีช้าง เป็นต้น อื้ออึงสนั่น    พระเวสสันดรได้ทรงสดับเสียงนั้นก็ทรงหวดกลัวแต่มรณภัยด้วยเข้าพระทัยว่า “เหล่าปัจจามิตรของเราปลงพระชนม์พระชนกของเรา แล้วมาเพื่อต้องการตัวเรากระมังหนอ” จึงพาพระนางมัทรีเสด็จขึ้นยอดภูเขาทอดพระเนตรดูกองทัพ
พระนางมัทรีได้ทรงสดับพระราชดำรัส จึงทอดพระเนตรกองทัพ ก็ทรงทราบว่า เป็นกองทัพของตน แล้วทูลให้พระเวสสันดรคลายพระทัยว่า “ก็พรอันใดที่ท้าวสักกเทวราชประทานแด่พระองค์ตรัสว่า   ไม่นานนักพระชนกของพระองค์จะเสด็จมา ขอพระองค์จงพิจารณาพร้อมนั้นเถิด ความสวัสดีพึงมีแก่พวกเราจากพลนิกายนี้ เป็นแน่แท้”
พระเวสสันดรทรงบรรเทาความโศกให้เบาลงแล้ว เสด็จลงจากภูเขาพร้อมด้วยพระนางมัทรี ประทับ นั่งที่ทวารแห่งบรรณศาลา ส่วนพระนางมัทรีก็ประทับนั่งที่ทวารแห่งบรรณศาลาของพระองค์
พระเจ้าสัญชัยตรัสเรียกพระนางผุสดีมารับสั่งว่า “เมื่อพวกเราทั้งหมดไปพร้อมกัน จักมีความเศร้าโศกใหญ่ ฉันจะไปก่อน ต่อนั้น เธอจงกำหนดดูว่า เดี๋ยวนี้ พวกเข้าไปก่อนจักบรรเทาความเศร้าโศกนั่งอยู่แล้ว พึงไปด้วยบริวารใหญ่ ถัดจากนั้น พ่อชาลีและแม่กัณหาชินารออยู่สักครู่หนึ่ง แล้วจงไปภายหลัง”  พระองค์เสด็จลงจากคอช้างเสด็จไปสู่สำนักของพระราชโอรส
พระเวสสันดรและพระนางมัทรีทอดพระเนตร เห็นพระราชบิดาผู้มีความรักในพระโอรสนั้น เสด็จมา จึงเสด็จลุกขึ้นต้อนรับถวายบังคม ฝ่ายพระนางมัทรีทรงซบพระเศียรอภิวาทแทบพระบาทพระสัสสุระ กราบทูลว่า   “หม่อมฉันมัทรีผู้สะใภ้ของพระองค์ขอถวายบังคม ณ พระยุคลบาทของพระองค์” พระเจ้าสัญชัยทรงสวมกอดสองกษัตริย์ ฝ่าพระหัตถ์ลูบพระปฤษฎางค์อยู่ไปมา ณ อาศรมนั้น ทรงกันแสงคร่ำครวญ ครั้นสร่างโศกแล้วก็ไต่ถามความสุขความทุกข์กัน
พระเวสสันดรทูลว่า ข้าแต่พระบิดา ความเป็นอยู่ของหม่อมฉันทั้งหลายเป็นทุกข์ เพราะหม่อมฉันทั้งหลายมีชีวิตอยู่ด้วยการเที่ยวเสาะแสวงหามูลผลาหาร  หม่อมฉันทั้งหลายมีความเศร้าโศกอยู่ในป่า จะมีความสุขอย่างไรได้ แล้วถามข่าวหาพระโอรส-ธิดา
พระเจ้าสัญชัยตรัสว่า หลานทั้งสองคือชาลีและกัณหาชินา พ่อได้ให้ทรัพย์แก่พราหมณ์ชูชกไถ่ไว้แล้ว เจ้าอย่าวิตกเลย จงโปร่งใจเถิด
พระนางผุสดีเทวีทรงกำหนดว่า บัดนี้ กษัตริย์ทั้งสามจักทำความโศกให้เบาบางประทับนั่งอยู่ จึงเสด็จไปสู่สำนักพระโอรส พร้อมด้วยบริวารใหญ่ พระเวสสันดรก็เสด็จลุกขึ้นไปต้อนรับถวายบังคมพระมารดา และต่อมาพระชาลีและกัณหาชินาก็เสด็จตามมา พระนางมัทรีพอทอดพระเนตรเห็นพระโอรสธิดาโดยไม่มีอันตรายใดๆ  ก็ไม่สามารถจะทรงพระวรกายอยู่ด้วยภาวะของพระองค์   พระกายสั่นเทิ้ม ทรงคร่ำครวญด้วยพระสุรเสียงอันดัง ลุกขึ้นเสด็จไปแต่ที่นั้น ดุจแม่โคมีลูกอ่อน แล้วถึงวิสัญญีภาพล้มลงเหยียดยาวเหนือปฐพี ฝ่ายพระชาลีและพระกัณหาก็เสด็จมาโดยเร็วถึงพระชนนี ก็ถึงวิสัญญีภาพล้มลงทับพระมารดา ในขณะนั้น น้ำนมก็ไหลออกจากพระยุคลถันของพระนางมัทรี เข้าพระโอษฐ์แห่งกุมารทั้งสอง
ฝ่ายพระเวสสันดรทอดพระเนตรเห็นพระปิยบุตร-บุตรี ก็ไม่อาจทรงกลั้นโศกาดูรไว้ ถึงวิสัญญีภาพล้มลง    แม้พระชนกและพระชนนีก็ถึงวิสัญญีภาพล้มลง  เหล่าอำมาตย์หกหมื่นผู้สหชาติของพระมหาสัตว์ เห็นกิริยาของ 6 กษัตริย์ดังนั้น ก็ถึงวิสัญญีภาพล้มลงเหมือนกัน  ราชบริพารทั้งหลายที่เห็นเหตุการณ์อันน่าสงสารนั้น แม้คนหนึ่งก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้โดยภาวะของตน อาศรมบททั้งสิ้นได้เป็นเหมือนป่ารัง อันลมยุคันตวาตย่ำยีแล้ว
ท้าวสักกเทวราชทรงดำริว่า กษัตริย์ทั้ง 6 องค์ พร้อมด้วยราชบริษัทถึงวิสัญญีภาพ ไม่มีใครแม้คนหนึ่งที่สามารถจะลุกขึ้น รดน้ำลงบนสรีระของใครได้ เราจักให้ฝนโบกขรพัสส์ตกลงเพื่อชนเหล่านั้น จึงให้ฝนโบกขรพัสส์ตกลง ณ สมาคมแห่งกษัตริย์ทั้ง 6 พระองค์ ชนเหล่าใดใคร่ให้เปียกชนเหล่านั้นก็เปียก เหล่าชนที่ไม่ต้องการให้เปียก แม้สักหยาดเดียวก็ไม่ตั้งอยู่ในเบื้องบนแห่งชนเหล่านั้น เพียงดังน้ำกลิ้งไปจากใบบัว  กษัตริย์ทั้ง 6 พระองค์ก็กลับฟื้นพระองค์ มหาชนทราบความมหัศจรรย์ว่า ฝนโบกขรพัสส์ตก ณ สมาคมพระญาติแห่งพระมหาสัตว์ และแผ่นดินไหว นี้คือเหตุการณ์ที่ฝนโบกขรพัสส์เคยตกมาแล้วในอดีตท่ามกลางญาติสมาคม ดุจที่ตกในนครกบิลพัสดุ์
ชาวพระนคร ชาวนิคมและชาวชนบททั้งหมด ต่างประคองอัญชลี  หมอบลงแทบพระบาทแห่งพระเวสสันดร ร้องไห้คร่ำครวญวิงวอนว่า “ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์จงเป็นนาย เป็นใหญ่ เป็นบิดาของข้าพระองค์ทั้งหลาย มหาชนประสงค์จะอภิเษกทั้งสองพระองค์ ในที่นี้นี่แหละ แล้วนำเสด็จสู่พระนคร  ขอพระองค์จงรับเศวตฉัตร อันเป็นของมีอยู่แห่งราชสกุล”
                   13. นครกัณฑปริจเฉท พระเวสสันดร แม้ทรงใคร่จะครองราชสมบัติ แต่ก็ตรัสถามย้ำเมื่อความมั่นใจแสดงความเป็นผู้หนัก(แน่น) ว่า “พระบิดา และชาวชนบท ชาวนิคม ประชุมกันให้เนรเทศหม่อมฉันผู้ครองราชสมบัติโดยธรรม จากแว่นแคว้น”
พระเจ้าสัญชัย  เพื่อให้พระโอรสอดโทษให้ และอาราธนาให้กลับไปครองราชย์ว่า “ลูกรัก จริงทีเดียว การที่พ่อให้ขับไล่ลูกผู้ไม่มีโทษ เพราะถ้อยคำของชาวสีพีนั้น ชื่อว่าพ่อได้กระทำกรรมอันชั่วช้า ทำกรรมอันทำลายความเจริญแก่พวกเรา ... ธรรมดาบุตรพึงนำความทุกข์ เพราะความเศร้าโศกของบิดามารดาไปเสีย แม้ต้องสละชีวิต ลูกอย่าเก็บโทษของพ่อไว้ในใจ จงทำตามคำของพ่อ จงเปลื้องเพศฤาษีออก แล้วถือเพศกษัตริย์เถิด” พระเวสสันดรทรงรับว่า “สาธุ”
เจ้าพนักงานภูษามาลาขอให้สรงสนาน ชำระพระวรกาย พระเวสสันดรเข้าไปภายในบรรณศาลา เปลื้องเครื่องฤาษีเก็บไว้ ทรงเครื่องสีขาวออกมา ทำประทักษิณรอบบรรณศาลา  3 รอบ แล้วกราบเบญจางประดิษฐ์ ด้วยความกตัญญูต่อสถานที่ว่า เป็นที่ให้การพำนักเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ตั้ง 9 เดือนครึ่ง ทั้งเป็นที่เกิดแผ่นดินไหวเพราะการให้ปุตตบริจจาคะ และ ทารปริจจาคะ เป็นทาน
เจ้าพนักงานมีภูษามาลาเป็นต้น ก็ทำกิจมีเจริญพระเกสา และพระมัสสุเป็นต้น  ชนทั้งหลายได้อภิเษกพระเวสสันดร ผู้ประดับด้วยราชาภรณ์ทั้งปวงผู้รุ่งเรืองดุจเทวราช ในราชสมบัติ
ฝ่ายนางกัญญาทั้งปวงให้พระนางมัทรีสนานพระกาย แล้วตกแต่งพระองค์ถวายอภิเษก เมื่อถวายการรดน้ำสำหรับอภิเษก ณ พระเศียรแห่งพระนางมัทรี ได้กล่าวมงคลทั้งหลายเป็นต้นว่า “ขอพระเวสสันดรจงทรงอภิบาลพระแม่เจ้า ขอพระชาลีและพระกัณหาชินาทั้งสองพระองค์ จงอภิบาลพระแม่เจ้า อนึ่ง ขอพระเจ้าสัญชัยมหาราช จงคุ้มครองรักษาพระแม่เจ้าเถิด”
พระนางมัทรีได้ตรัสแก่พระโอรสพระธิดาว่า “แน่ะลูกรักทั้งสอง เมื่อก่อนแม่กินอาหารมื้อเดียว นอนเหนือแผ่นดินเป็นนิตย์ แม่ได้ประพฤติอย่างนี้ เพราะใคร่ต่อลูก วัตรนั้นสำเร็จแล้วแก่แม่ในวันนี้ เพราะอาศัยลูกทั้งสอง วัตรนั้นเกิดแต่แม่ก็ตาม เกิดแต่พ่อก็ตาม จงอภิบาลลูก อนึ่ง ขอพระมหาราชสัญชัยจงคุ้มครองลูก บุญอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งแม่และพ่อได้บำเพ็ญไว้ จงสำเร็จแก่ลูก ด้วยอำนาจบุญกุศลนั้นทั้งหมด ขอลูกจงอย่าแก่ (เร็ว) อย่าตาย (เร็ว)” พระอรรถกถาขยายความว่า “พระนางมัทรีตรัสว่า แน่ะลูกน้อยทั้งสอง แม่ปรารถนาลูก เมื่อลูกถูกพราหมณ์นำไปในกาลก่อน แม่กินอาหารมื้อเดียว นอนเหนือแผ่นดิน แม่มีความปรารถนาลูก จึงได้ประพฤติวัตรนี้  ....โสมนัสที่เกิดแต่แม่ก็ตาม เกิดแต่พ่อก็ตาม จงคุ้มครองลูกๆ คือบุญที่เป็นของแม่และพ่อ จงคุ้มครองลูก”
เครื่องทรงพระนางมัทรี พระนางผุสดีราชเทวีได้ประทานกัปปาสิกพัสตร์ โขมพัสตร์ และ   โกทุมพรพัสตร์ อันเป็นเครื่องทรงงดงามแก่พระนางมัทรีผู้พระสุณิสา แต่นั้น พระนางเจ้าประทานเครื่อง ประดับ พระศอแล้วไปด้วยทองคำ เครื่องประดับต้นพระกร เครื่องประดับบั้นพระองค์แล้วไปด้วยแก้วมณี เครื่องประดับพระศออีกชนิดหนึ่ง สัณฐานดุจผลอินทผลัมแล้วไปด้วยทองคำ เครื่องประดับพระศอแล้วไปด้วยรัตนะ เครื่องประดับพระนลาตซึ่งขจิตด้วยสุวรรณเป็นต้น เครื่องประดับวิการด้วยสุวรรณ ส่วนพระกายมีพระทนต์เป็นอาทิ เครื่องประดับมีพรรณต่างๆ แล้วไปด้วยแก้วมณี เครื่องประดับทรวง เครื่องประดับบนพระอังสา เครื่องประดับบั้นพระองค์ชนิดแล้วไปด้วยสุวรรณและหิรัญ เครื่องประดับที่พระบาทและเครื่องประดับที่ปักด้วยด้ายและมิได้ปักด้วยด้าย อันเป็นเครื่องงดงามแห่งพระนางมัทรีผู้พระสุณิสา
ความสง่างามของพระนางมัทรี พระนางมัทรีผู้ราชบุตรีทรงเพ่งพินิจพระวรกายอันยังบกพร่องด้วยเครื่องประดับนั้น ๆ ก็ทรงประดับให้บริบูรณ์ งดงามดุจเทพกัญญาในนันทวัน พระนางมัทรีสนานพระเศียร ทรงพระภูษาอันสะอาด ประดับด้วยราชปิลันธนาภรณ์ทุกอย่าง งามดุจเทพอัปสรในดาวดึงส์พิภพ  วันนั้น เสด็จลีลาศงามดังกัทลีชาติต้องลมที่เกิดอยู่ ณ จิตรลดาวัน สมบูรณ์ด้วยริมพระโอษฐ์มีสีแดง ดังผลตำลึงและพระนางมีพระโอษฐ์แดงดังผลนิโครธสุกงาม ประหนึ่งกินรี อันเรียกว่ามานุสินี เพราะเกิดมามีสรีระดุจมนุษย์ มีปีกอันวิจิตรกางปีกร่อนไปในอัมพรวิถี  
พระเวสสันดรและพระนางมัทรีทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จไปสู่กองทัพด้วยพระอิสริยยศใหญ่ ด้วยประการฉะนี้ ฝ่ายพระเจ้าสัญชัยประพาสเล่นตามภูผาและป่า ประมาณหนึ่งเดือนกับด้วยทวยหาญ 12 อักโขภิณี พาลมฤคและนกในป่าใหญ่ถึงเพียงนั้น มิได้เบียดเบียนสัตว์ไรๆ
พระเจ้าสัญชัยเรียกเสนาคุตอมาตย์มาตรัสถามว่า เราทั้งหลายอยู่ในป่ากันนานแล้ว มรรคาเสด็จของบุตรเรา พวกเจ้าตกแต่งแล้วหรือ ครั้นเหล่าอมาตย์กราบทูลว่า ตกแต่งแล้ว และทูลเชิญเสด็จว่า ถึงเวลาเสด็จแล้ว   จึงโปรดให้ทูลพระเวสสันดร ให้ตีกลองป่าวร้องให้ทราบกาลเสด็จกลับพระนคร แล้วทรงพากองทัพเสด็จกลับ พระเวสสันดรเสด็จนิวัติยาตราด้วยราชบริพารอันใหญ่ สู่มรรคาที่ตกแต่งแล้ว กำหนดได้ 60 โยชน์ตั้งแต่เวิ้งเขาวงกต จนถึงกรุงเชตุดร
พระเวสสันดรล่วงมรรคา 60 โยชน์ สิ้นเวลา 2 เดือนก็ถึงกรุงเชตุดร เสด็จเข้าสู่พระนครอันประดับตกแต่งแล้ว เสด็จขึ้นปราสาท พระเวสสันดรโปรดให้ปล่อยสรรพสัตว์จากที่ผูกขังไว้ โดยที่สุด แมวก็ให้ปล่อยไป
ในวันเสด็จเข้าพระนครนั่นเอง พระเวสสันดรทรงพระดำริ ในเวลาใกล้รุ่งว่า พรุ่งนี้ ครั้นราตรีสว่างแล้ว พวกยาจกรู้ว่าเรากลับมาแล้ว ก็จักพากันมา เราจักให้อะไรแก่ยาจกเหล่านั้น  ในขณะนั้น พิภพแห่งท้าวสักกเทวราชได้สำแดงอาการเร่าร้อน พระองค์ทรงอาวัชนาการก็ทรงทราบเหตุการณ์นั้น จึงยังพื้นที่ข้างหน้าและข้างหลังแห่งพระราชนิเวศน์ ให้เต็มด้วยรัตนะสูงประมาณเอวบันดาล ให้ฝนรัตนะเจ็ดตกเป็นราวกะฝนลูกเห็บ ให้ตกในพระนครทั้งสิ้นสูงประมาณเข่า  วันรุ่งขึ้น พระเวสสันดรโปรดให้พระราชทานทรัพย์ ที่ตกอยู่ในพื้นที่ข้างหน้าและข้างหลังแห่งตระกูลนั้นๆ ว่า จงเป็นของตระกูลเหล่านั้นแหละ แล้วให้นำทรัพย์ที่เหลือขนเข้าท้องพระคลัง กับด้วยทรัพย์ในพื้นที่แห่งพระราชนิเวศน์ของพระองค์ แล้วให้เริ่มตั้งทานมุข
แต่นั้น พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญทานบารมี หลังจากสิ้นพระชนม์ ก็เสด็จสู่สวรรคาลัย

 
         3.3 พระมหาเวสสันตรทีปนี
พระมหาเวสสันตรทีปนี หรือ เวสสันตรทีปนี   เป็นคัมภีร์ประเภท “ทีปนี” คือ คำอธิบายเรื่องใดเรื่องหนึ่งในพระไตรปิฎกออกไปอย่างพิสดาร และมีการอ้างอิงจากคัมภีร์ต่างๆ เป็นเครื่องประกอบ พระสิริมังคลาจารย์แต่ง เวสสันตรทีปนี เมื่อ พ.ศ. 2060 ตั้งใจว่าจะให้เป็นหนังสือส่องเนื้อความ(อธิบายเนื้อหา)เวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์  อาศัยอรรถกถาเวสสันดรชาดกเป็นโครงหลัก ขยายคำ และความออกไปอย่างพิสดาร เพื่อความปิติปราโมทย์ของสาธุชน ผู้เขียนก็จะขอเสนอตามกรอบเดิมใน 2 ประเด็นหลัก ๆ ดังนี้
1) รูปแบบการนำเสนอ
ศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา ให้ความเห็นว่า “โครงสร้างของเวสสันตรทีปนี พิเคราะห์ดูจะเห็นได้ว่า หนังสือเรื่องนี้ มีโครงสร้างสมบูรณ์แบบตามลักษณะคัมภีร์บาลีลายลักษณ์ คือ ขึ้นต้นด้วยปณามคาถา(คาถาน้อมไหว้ , คาถาแสดงความเคารพพระรัตนตรัย) เรียกกันง่ายๆ ว่า คาถาไหว้ครู ซึ่งตามปกติ พระอาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์ภาษาบาลี เช่น อรรถกถา ฎีกา เป็นต้น ถือเป็นธรรมเนียมที่เรียบเรียงไว้เป็นเบื้องต้น ก่อนขึ้นเนื้อความของคัมภีร์นั้นๆ ประกอบด้วยคำสรรเสริคุณพระรัตนตรัย คำบอกความมุ่งหมายในการแต่ง คำอ้างถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้อาราธนาให้แต่ง และข้อควรทราบอื่นๆ เป็นอย่างคำนำ หรือคำปรารภ แล้วจึงวกเข้าสู่เนื้อหาซึ่งลำดับเป็นบทเป็นตอนและจบลง ด้วยการบอกชื่อผู้แต่ง ในการแต่ง ท่านสิริมังคลาจารย์ได้ยกเอา อรรถกถาเวสสันดรชาดก เป็นที่ตั้ง เมื่อเห็นคำใดมีความหมายไม่ชัดเจน ควรแก่การอธิบายความหมาย ก็จะหยิบยกคำนั้นขึ้นอธิบาย ในการอ้างข้อมูล ถ้าข้อมูลมีความเห็นแตกต่างกัน โดยแต่ละข้อมูลมีเหตุผลเหมาะสมในตนเอง พระสิริมังคลาจารย์จะเสนอข้อมูลไว้ทั้งหมด แล้วยกให้ผู้อ่านพิจารณาตัดสินเอาเองว่าคำอธิบายใดเหมาะสมกว่ากัน”[29]  
   เวสสันตรทีปนี เป็นคัมภีร์เล่มแรกในผลงานบาลีของพระสิริมังคลาจารย์ ที่แสดงนิคมกถา หรือ บทส่งท้าย (Colophon) ไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า ผู้แต่งคือใคร สถานที่แต่ง ช่วงสมัยที่แต่ง และปีที่แต่งเสร็จ จากนั้นก็ขออานิสงส์แห่งการแต่งให้ผู้แต่งและบุคคลทั้งหลายมีความสุขความ เจริญในโภคสมบัติและธรรมสมบัติ ขอให้ผู้แต่งได้พบพระศรีอาริยเมตไตรย ได้ฟังธรรมะแล้วบรรลุอรหัตผลในที่สุด
2) เนื้อเรื่องที่แสดง
         ในส่วนของ อารัพภกถา หรือ การนำเข้าสู่เรื่อง มีหลายประเด็นที่น่าจะทำให้ชัดเจนตามข้อเท็จจริงและความน่าจะเป็นดังนี้
          (1) พระสิริมังคลาจารย์ ก่อนที่จะเข้าเรื่องชาดก ก็จะเกริ่นพุทธประวัติ นับย้อนไปถึงสมัยที่บำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ โดยแบ่งออกเป็น  3 ยุค คือ ทูเรนิทาน เรื่องราวที่เกิดในอดีตอันแสนไกลโพ้น คือนับแต่ครั้งเป็นสุเมธฤาษี ได้รับพุทธพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้าว่าจะได้มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จนมาถึงชาติเป็นพระเวสสันดร จุติไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต, อวิทูเรนิทาน เรื่องราวไม่ไกล คือนับจากพระเวสสันดรจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตมาบังเกิดเป็นพระสิทธัตถะ มาถึงการบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์, และสันติเกนิทาน เรื่องราวใกล้ หรือ เรื่องปัจจุบัน คือ นับแต่เหตุการณ์หลังการตรัสรู้ การจนถึงการเสด็จอยู่ที่นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ พระสิริมังคลาจารย์บอกว่า หากอยากทราบรายละเอียดเรื่องนี้ มีปรากฏอยู่ในอรรถกถาอปณฺณกชาดก [30] เล่าไว้ที่เดียว แล้วต่อด้วยชาดกต่างๆ จนจบ เวสสันตรชาดก เป็นเรื่องที่ 547
          (2) เรื่องสามเณรราหุลบรรพชาเมื่ออายุ 7 ขวบ ?? พระสิริมังคลาจารย์บอกไว้ตอนท้ายเวสสันตรทีปนี หน้า 473 ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จปฐมนิวัติสู่นครกบิลพัสดุ์ ท้ายฤดูหนาวหลังการออกพรรษาแรก(ที่ทรงจำ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน)  โดยออกจากนครราชคฤห์ ท่านก็อ้างตามพระอรรถกถาจารย์ว่า พระศาสดาทรงยังธรรมจักรอันบวรให้เป็นไปแล้ว เสด็จสู่กรุงราชคฤห์โดยลำดับ ประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์นั้นตลอดเหมันตฤดู มีพระอุทายีเถระเป็นมัคคุเทศก์ พระขีณาสพ 20,000 แวดล้อม เสด็จจนถึงกรุงกบิลพัสดุ์   เป็นการเสด็จครั้งแรก” แต่ท่านนับวันและเวลาโดยละเอียด ดังนี้คือ หลังการตรัสรู้ ทรงจำพรรษาแรกที่ป่าอิสิปตนะ เมืองพาราณสี ออกพรรษา เสด็จไปอุรุเวลา ประทับอยู่ที่ตำบลอุรุเวลา 3 เดือน เสด็จสูราชคฤห์เพ็ญเดือนยี่ อยู่ที่ราชคฤห์ 2 เดือน[31] เดินทางออกจากราชคฤห์ในวันแรม 1 ค่ำเดือน 4 ใช้เวลาเดินทาง 2 เดือน ถึงนครกบิลพัสดุ์ วันเพ็ญเดือน ในวันที่ 2 โปรดพระพุทธบิดาบรรลุมรรคผล 2 ชั้น(บรรลุสกทาคามิผล) พระน้านางปชาบดี บรรลุโสดาปิตติผล ให้พระนันทกุมาร(พระอนุชา)ผนวช และในวันที่ 7 ก็ให้พระราหุล บรรพชา และโปรดพุทธบิดาสำเร็จเป็นพระอนาคามี แล้วเสด็จกลับไปจำพรรษาที่ 2 ที่ พระเวฬุวันวิหาร เมืองราชคฤห์
ตีความได้ว่า พระสิทธัตถะออกผนวชในวันที่พระราหุลกุมารประสูติ ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ 6 ปี ตรัสรู้แล้วทรงจำพรรษาแรก 1 ปี รวมเวลาเป็น 7 ปี การเสด็จกลับกบิลพัสดุ์ครั้งแรกเกิดขึ้นหลังออกพรรษาที่ 1  โปรดให้พระราหุลบรรพชาเป็นสามเณร ในวันที่ 7 ที่ไปถึง จึงทำให้ทุกคนอ้างกันว่า สามเณรราหุลบรรพชาเมื่ออายุ 7 ขวบ
ตามความเห็นของผู้เขียน ขอแย้งเรื่องข้อมูลกับข้อเท็จจริงดังนี้ การที่พระเจ้าสุทโธทนะส่งทูตตั้ง 10 คณะ แต่ละคณะ มีคนติดตามเป็นเกียรติยศ 1,000 นาย (รวมทั้งสิ้น 10,000 นาย) ไปเชิญให้กลับไปเยี่ยมหลังจากรู้ว่าพระสิทธัตถะตรัสรู้แล้ว และพระพุทธเจ้าเสด็จไปกบิลพัสดุ์ หลังทูตคณะที่ 10 ได้กราบทูลเชิญตามคำของพระเจ้าสุทโธทนะ
ลองคิดหยาบๆ ระยะทางจากกบิลพัสดุ์สู่ราชคฤห์ ห่างกันประมาณ 60  โยชน์(พระพุทธเจ้าทรงดำเนินกลับตามสบายได้ระยะทางวันละ 1 โยชน์ ใช้เวลา 60 วัน เท่ากับ 2 เดือน)  คณะทูตเดินทางมาอย่างเร่งด่วนด้วยพาหนะเร็ว เช่น ม้าเร็ว คงวิ่งได้วันละ 10 โยชน์(160 กิโลเมตรต่อวัน) อย่างน้อยต้องใช้เวลา คณะละ 6 วัน และต้องกลับไปส่งข่าวอีก 6 วัน รวมระยะทางไป-กลับ เกือบ 15 วัน หรือครึ่งเดือน  ประการสำคัญ พระเจ้าสุทโธทนะ ต้องรอเวลาจนคาดการณ์ได้ว่า ทูตคณะแรกที่ส่งไปไม่กลับมาส่งข่าวแน่ จึงส่งทูตคณะที่ 2 ตามไป บวกลบการคาดคะเนเอาตามระยะทางและความจริงเช่นนี้ ทูตทั้ง 10 คณะ ต้องใช้เวลาทั้งหมด 5 เดือน เป็นอย่างต่ำ  หากคำนวณอย่างไม่เร่งรีบ ตกคณะละ 1 เดือน  ก็จะเป็น 10 เดือน
                    อนึ่ง การที่จะส่งคนไปตามหาใครก็ตาม ต้องทราบชัดว่าผู้นั้นมีแหล่งพำนักเป็นที่อยู่แน่นอน ว่าอยู่ที่ไหน และยังไม่เร่ร่อนไปทางใด หากพระเจ้าสุทโธทนะทราบว่า พระพุทธเจ้าอยู่วิหารเวฬุวัน นครราชคฤห์แน่ไม่ย้ายไปไหน จึงส่งคณะทูตไปเชิญที่เวฬุวัน ดังข้อความข้างบนระบุว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไปนครราชคฤห์ในเดือนยี่หลังโปรดชฏิลแล้ว นับจากเดือนยี่ไป 5 เดือน ทูตคณะสุดท้ายนำโดยพระกาฬุทายีไปถึง ก็คงเป็นเดือน 7 เกือบเข้าพรรษาแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่คณะทูตที่ 10 จะไปถึงก่อนเดือน 4 ท้ายฤดูหนาวพรรษาแรก ที่บอกว่าออกจากราชคฤห์ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ตามที่กล่าวมา ถ้ายิ่งขยายเวลายึดออกไป ทูต 10 คณะเป็น  10 เดือน นับแต่รู้ที่อยู่แน่นอน(เดือนยี่ หรือ เดือน 3 มาฆมาส) เวลาก็จะเข้ามาถึงเดือน 12 หรือ เดือน อ้าย หลังการจำพรรษาที่ 2 ณ เวฬุวันวิหาร เป็นเวลาที่เหมาะสมที่พระกาฬุทายี ออกบวชและรอเวลาให้หมดฝนต้นหนาว เดือน ยี่ ก็เลยทูลว่าพระราชบิดาให้เชิญเสด็จกลับไปเยี่ยม และกำหนดเดินทางในเดือน 4 หลังพรรษาที่ ถ้าการณ์เป็นจริงดังการคำนวณนี้ พระพระพุทธเจ้าต้องเสด็จปฐมนิวัตกบิลพัสดุ์หลังพรรษาที่ 2 และพระโอรสราหุลบรรพชาเมื่ออายุ 8 ขวบ
                    การสรุปเช่นนี้ ผู้เขียนมิใช่ว่าตามอำเภอใจ เห็นมีหลักฐานอื่นพอจะเป็นเครื่องช่วยให้มั่นใจข้อสันนิษฐานนี้ได้ คือ  ในปฐมสมโพธิ(ฉบับภาษาบาลี) คัดลอกจากคัมภีร์ใบลาน อักษรขอม ชำระและนิพนธ์โดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส(พระองค์เจ้าวาสุกรี พระราชโอรส องค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกับเจ้าจอมมาดาจุ้ย ต่อมาได้เป็นท้าวทรงกันดาลในรัชกาลที่ 2-3)  วัดพระเชตุพนฯ เมื่อครั้งเป็นพระสมณะ ฉายา สุวณณรังสี กรมหมื่นปรมานุชิตชิโนรส ในปีพ.ศ.  2388 (สมัยรัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์)
                    พระเจ้าสุทโธทนะ ทรงทราบแน่นอนว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ จึงส่งทูตไปครั้งแรก ดังความใน ปริจเฉทที่ 18  กปิลวตฺถุคมนปริวตฺต ว่า “ตถาคเต ปน ตสฺมึเยว เวฬุวนุยฺยาเน วิหรนฺเต สุทฺโทนมหาราชา ปุตฺโต กิร เม ฉ วสฺสานิ ทุกฺกรการิกํ จริตฺวา  ปรมาภิสมฺโพธึ ปตฺวา ปวตฺติตปวรธมฺมจกฺโก ราชคหํ อุปนิสฺสาย เวฬุวเน วิหรตีติ สุตฺวา...อมจฺจํ อามนฺเตสิ ...ปุตฺตํ เม คณฺหิตฺวา เอหิ... อาห.” [32] (แปลว่า ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระอุทยานเวฬุวันนั้นเอง พระเจ้าสุทโธทนะได้ทราบว่า บุตรของเราบำเพ็ญทุกรกิริยาสิ้น 6 ปี บรรลุการรู้แจ้งอย่างยอดเยี่ยมแล้ว แสดงธรรมจักรแล้วอาศัยนครราชฤห์พำนักที่พระเวฬุวัน ทรงเรียกอำมาตย์มา สั่งว่า ท่านจงไปพาบุตรเรามา)
                    ความในหน้า 164 ในปฐมสมโพธิ ก็ดูจะคล้อยตามอรรถกถาว่า พระกาฬุทายี มาถึงก่อนสิ้นเดือน 4 หลังออกจากพาราณสี มาอยู่ราชคฤห์เพียง 4 เดือน ความดูจะขัดๆกันอยู่ยกเว้นคณะทูต ทั้ง 10 คณะ ไล่กันมาโดยไม่รอคำตอบของคณะก่อนๆ และเดินทางแบบเร่งรีบเฉลี่ยคณะละ 20 โยชน์ (เท่ากับ 320 กิโลเมตร) ต่อวัน คณะละ 3 หรือ 4 วัน ก็ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หรือ เดือนครึ่ง ก็อาจเป็นได้ แต่คงไม่สมกับสภาพการคมนาคมที่กันดารในสมัยโบราณที่คนเป็นจำนวนพันหนึ่ง จะเดินทางได้วันละ 320 กิโลเมตร
                     แต่เมื่อไปดูความต่อไป ใน ปริจเฉทที่ 19 พิมฺพาพิลาปปริวตฺต หน้า 181 ตอนที่พระนางพิมพาจูงมือพระราหุลเข้าไปกราบพระพุทธเจ้าที่ทรงเสด็จเข้าโปรดถึงห้องบรรทม พระนางพิมพา ทั้งดีพระทัยและถูกความโศกครอบงำ ไม่อาจกลั้นอัสสุชล ที่ไหลหลั่งลงมา ปิดสายพระเนตรจนพล่ามัวที่ต้องการทอดพระเนตรพระสวามีให้ชัดเจน พระนาง ตัดพ้อน้ำตาว่า “...ภตฺตุทสฺสนาย อุสฺสุกฺกมาปนฺนา คงฺคาโสเตหิ วิย นยนสลิเลหิ สมาหตทิฏฺฐตาย ยถา สุขํ ปสฺสิตุ อสกฺโกนฺตี อสฺสุชลํ เอวมาห หาหานยนสลิล อฏฐสุ สํวจฺฉเรสุ ตุยฺหํ โอกาโส มยา ทินฺโน อิทานิ ปน เม สมาคตสฺส ภตฺตุโน ทสฺสนมตฺตมฺปิ น เทสิ...” พระนางพิมพา พยายามจะทอดพระเนตรพระภัสดา แต่ไม่อาจทอดพระเนตรได้อย่างสะดวก เพราะน้ำอัสสุชลไหลหลั่งลงมาดุจกระแสแห่งน้ำแม่คงคา จึงตัดพ้อน้ำอัสสุชลว่า โอหนอ เจ้าน้ำตาเอ๋ย ข้าให้โอกาสเจ้ามาตลอดทั้ง 8 ปี(กันแสงหลั่งน้ำตามตลอด 8 ปี) แล้ว แม้เดี๋ยวนี้เจ้าก็ยังไม่ให้โอกาสข้าได้แม้เพียงการทอดพระเนตรพระภัสดาที่มาถึงแล้วหรือไร..”[33]
                    ผู้อ่านจงตัดสินใจว่า จะความลงไปข้างใด พระพุทธเจ้าเสด็จไปกบิลพัสดุ์หลังพรรษาที่ 1 หรือ หลังออกพรรษาที่ 2 และพระราหุลพรรชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ 7 ขวบ หรือ อายุ 8 ขวบ
                    (3) พระสิริมังคลาจารย์ไม่เห็นด้วยกับพระอรรถกถาที่อ้างว่า พระนางผุสดี หรือพระนางมายา เป็นธิดาองค์ที่ชื่อว่า สุธรรมา ในธิดา 7 พระองค์ของพระเจ้ากึกิ ดังที่กล่าวมาในอรรถกถา เพื่อความกระจ่าง ท่านได้ค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งอื่น คือ คัมภีร์เถรีอปาทาน ของพระเถรีทั้งหลาย ที่ต่างเล่าอดีตชาติของตนว่า ตนเกิดเป็นธิดาของพระเจ้ากึกิ และธิดาที่ชื่อสุธรรมา มิใช่ พระนางผุสดีในเวสสันดร หรือ พระนางมายา พุทธมารดา ในปัจจุบันชาตินี้ เช่นที่พระอรรถกถาสรุปว่า  พระธิดาสมณี เป็นพระนางเขา พระธิดาสมณคุตตา เป็นพระนางอุบลวรรณา พระธิดาภิกขุณี เป็นพระนางปฏาจารา พระธิดาภิกขุทาสิกา เป็นพระนาง (กีสา)โคตมี พระธิดาธรรมา เป็นพระนางธรรมทินนา พระธิดาสุธรรมา เป็นพระนางมหามายา และพระธิดาสังฆทาสี เป็นนางวิสาขา
                    พระสิริมังคลาจารย์ว่า ผิดจาก กุณฑลเกสีภิกขุนีอปาทานบาลีว่า เราเกิดเป็นธิดาองค์ที่ 4 นามว่า ภิกขุทาสี  ดังนั้น ภิกขุทาสี หรือ ภิกขุทาสิกามิใช่พระนางกีสาโคตมี แต่เป็นพระนางกุณฑลเกสีเถรี และ ในกีสาโคตมีเถรีอปาทานบาลี ก็ว่า พระนางเกิดเป็นพระธิดาองค์ที่ 5 ชื่อ ธรรมา ส่วนพระธิดาองค์ที่ 6 เป็นพระนางธรรมทินนาเถรี ดังข้อมูลใน ธมฺมทินนาเถรี อปาทานบาลี ว่า เรานั้นเป็นธิดาองค์ที่ 6 นามว่า สุธรรมา ส่วนพระธิดาที่เหลือความตรงกัน ท่านจึงสรุปว่า “สมณี เขมา สมณคุตฺตา อุปลวณฺณา   ภิกขุณี ปฏาจารา  ภิกขุทาสิกา กุณฺฑลเกสี ธมฺมา กีสาโคตมี สุธมฺมา ธมฺมทินฺนา สํฆทาสี วิสาขา” [34]
                    การสลับคน ระหว่างพระนางมายา กับพระนางธรรมทินนาเถรี ที่อดีตพระธิดาพระนามว่า สุธรรมา ของราชากึกินั้น พระสิริมังคลาจารย์ก็เสนอว่า เป็นเพียงมติของพระชาตกภาณกาจารย์ ซึ่งเป็นการอ้างผิดจากพระบาลีเถรีอปาทาน เมื่อชั่งน้ำหนักของข้อมูลที่ควรให้ความสำคัญจริงๆ ต้องยกเอาพระบาลีเป็นหลัก แล้วผู้ใดในบรรดาพระธิดาของราชากึกิที่มาเกิดเป็นพระนางผุสดี ?  พระสิริมังคลาจารย์ให้ความเห็นว่า ในเมื่อพระเจ้ากึกิ เมืองกาสี  มีพระธิดาอื่นๆอีก เช่นพระนางอุรัจฉทา พระธิดาองค์น้อย  ดังนั้น พระธิดาองค์ใหญ่ก็น่าจะมีอีกพระองค์หนึ่ง[35] คือ ที่มาเกิดเป็นพระนางผุสดี (หรือพระนางมหามายาในชาติปัจจุบันสมัยพุทธกาล) ผู้เป็นต้นเรื่อง เวสสันตรชาดก ที่ขึ้นต้นด้วย ผุสฺสตี วรวณฺณาเภ นั่นเอง
          เนื้อเรื่องของเวสสันตรทีปนีแบ่งออกเป็น 13 ปริจเฉท หรือ 13 กัณฑ์ ตามแนวเดิมของเวสสันดรชาดก ในตอนนี้ ผู้เขียนจะนำเฉพาะ เหตุการณ์ คำศัพท์ หรือคำอธิบายที่พระสิริมังคลาจารย์วิเคราะห์ โดยอ้างข้อมูล หลักฐาน รวมทั้งคำวิจารณ์ เรียงลำดับตาม มหาเวสสันดร ทั้ง 13 กัณฑ์ โดยจะไม่นำเนื้อหามาแสดงให้เยิ้นเย้ออีก ดังนี้ คือ
1. ทสวรคาถาปริจเฉท  พระสิริมังคลาจารย์ จับความ วิเคราะห์ศัพท์ตั้งแต่ ชื่อพระนางผุสดี ชื่อเมืองกบิลพัสดุ และศัพท์อื่นๆที่ ควรสนใจที่ไปที่มา มีเรื่องที่น่ารู้ คือ ที่เรียกว่า ทารก ทาริกา หรือ กุมาร กุมารี กำหนดอายุเท่าใด ท่านก็บอกว่า ทารก(ทาริกา) หมายเอาเด็กชาย(หญิง)มีอายุ 8 ปี  กุมาร(กุมารี) หมายเอาเด็กชาย(หญิง) มีอายุ 12 ปี (อฏฺฐวสฺสิโก ปุริโส ทารโกนาม ฯ  ทวาทสวสฺสิโก กุมาโร ฯ)
          พระนางผุสดีเทวธิดาปรากฏปัญจบุรพนิมิต ซึ่งจะต้องจุติจากสวรรค์ภายใน 7 วันโดยวันของมนุษย์ บุรพนิมิต 5 ประการ คือ 1. ทิพยบุปผาที่ประดับกายเหี่ยวเฉา 2. อาภรณ์ทิพย์ภูษาทรงหม่อนหมอง 3. เหงื่อไหลออกจากซอกใต้วงแขน(รักแร้) 4.  ผิวพรรณวรรณะหมองคล้ำ(ความชราปรากฏ) 5. ไม่ยินดีในทิพยอาสน์ เฉพาะเรื่องบุรพนิมิต 5 ประการ พระสิริมังคลาจารย์ค้นคว้าข้อมูลว่าในอรรถกถากุสราชชาดก สัตตตินิบาต สลับกันระหว่างข้อที่ 3 เป็น ผิวพรรณวรรณะหมองคล้ำ(ความชราปรากฏ) และ ข้อที่ 4 เป็นเหงื่อไหลออกจากซอกใต้วงแขน(รักแร้)   ส่วนข้อที่เหลือตรงกัน และพระสิริมังคลาจารย์ก็นำเอาปัญจบุรพนิมิตมาเทียบกับพระภิกษุที่จะสึกออกจากเพศบรรพชิตว่าถ้าปรากฏนิมิต 5 ประการ คือ 1.  ดอกไม้ทิพย์คือศรัทธาเหี่ยวเฉา 2. เครื่องทรงคือศีลเศร้าหมองด่างพร้อย  3. ผิวพรรณหมองค้ำเพราะเป็นผู้เก้อเขินและเพราะความไม่มียศ 4. เหงื่อคือกิเลสย่อมไหลออก และ 5. ไม่ยินดีในเสนาสนะป่า โคนต้นไม้ และเรือนว่างเปล่า   แม้จะมีความสลับที่กันท่านบอกว่าควรให้ความสำคัญกับข้อมูลในอรรถกถาอัจฉริยธัมมสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์, อรรถกถาจตุตถสูตร ตติยวรรค ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ,  และอรรถกถามหาปัฏฐานสูตร มหาวรรค ทีฆนิกาย, และอรรถกถามหาปทานสูตร
2. หิมวันตวรรณนาปริจเฉท  ในกัณฑ์หิมพานต์ นี้ พระสิริมังคลาจารย์ก็เล่าต่อ เนื้อความยาวถึง 2 ผูก ว่า เมื่อพระอินทร์ประทานพรแก่พระนางผุสดีเทวกัญญา พระนางก็ลงมาเกิด เป็นมเหสีของพระเจ้าสัญชัย ได้พระโอรสนามว่าเวสสันดร ตามพระที่พระอินทร์ประทานให้ พระเวสสันดรมีมเหสีนามว่ามัทรี ได้พระโอรสนามว่า ชาลี พระธิดานามว่ากัณหาชินา เป็นผู้มีใจฝักใฝ่ให้ทาน จนเป็นเหตุให้ชาวเมืองขับไล่พระเวสสันดร เพราะพระราชทานช้างปัจจัยนาคคู่บ้านคู่เมืองแก่ชาวเมืองกาลิงคะ การเนรเทศต้องให้ออกไปอยู่ป่าหิมพานต์แสนไกล จึงมีพนักงานบรรยายสถานที่เขาวงกตในป่าหิมพานต์ว่าน่ารื่นรมย์ และพระนางมัทรีก็พรรณนาเสริมว่า ในป่าหิมพานต์มีสรรพสิ่ง พฤกษานานาพรรณ สัตว์ป่านานาชนิดน่าดูน่าชม เพลินจนลืมราชสมบัติได้
การอธิบาย ท่านจะบอกว่าคาถานี้ มีคำที่ควรอธิบาย ทั้งโดยศัพท์และเนื้อหาประกอบ ดังคำอธิบายเรื่องลักษณะบุตร 4 ประเภท แต่บอกเพียง 3 ประเภท คือ อัตรชบุตร (บุตรผู้เกิดจากตน) เขตรชบุตร (บุตรที่เกิดในที่ เช่น บนบัลลังก์ เป็นต้น) และ อันเตวาสิกบุตร (บุตรที่เรียนศิลปะวิชาด้วย) ต่อเมื่ออธิบายขยายความจึงได้บุตรครบ 4 ประเภท โดยเพิ่ม ทินนกบุตร(บุตรที่เขายกให้เลี้ยงดู) ดังความว่า “ปุตฺโต จ นาเมส อตฺรโช  เขตฺรโช อนฺเตสาวิโกคิ จตุพฺพิโธฯ ตตฺถ...โปสาวนตฺถาย ทินฺโน ทินฺนโกนามาติ กฏฺฐหาริกวณฺณนายํฯ” และคำว่า โอรส กับ อัตรช  เป็นคำไวพจน์กัน[36]
พระสิริมังคลาจารย์ ได้ยกคำมาอธิบายทั้ง รากศัพท์(ธาตุ) การประกอบปัจจัย และวิภัติ การแผลงรูปวิภัตติทั้งอาขยาตและนาม เช่น คำว่า มาลธาริเนติ วนปุปฺผธาริเน อีสฺส อิโน  โยสฺเสตฺตํ (บทว่า มาลธาริเน  คือผู้ทัดทรงดอกไม้ป่า เอา อี เป็น อิน เอา โย เป็น เอ  จากศัพท์เดิม มาลธารี)[37] และอธิบายไวยากรณ์บาลีทำนองนี้ตลอดเรื่อง
ได้พบว่า พระสิริมังคลาจารย์แสดงถึงอายุขัยของช้างโดยอ้างข้อมูล อย่างน้อย 3 ที่มา คือ อรรถกถากักกชาดก ในติกนิบาตรอรรถกถา สัพพูกิกชาดก และอ้างฎีกาอังคุตรนิกาย ว่า ช้างมีอายุเพียง 60 ปี ดังคำว่า สฏฺฐิหายนนฺติ ชาติยา สฏฺฐิวสฺสกาลสฺมึ กุญฺชรา ถามเมน ปริหายนฺติ(ช้างทั้งหลายมีกำลังเสื่อมถอยลงในเวลาเมื่อมีอายุได้ 60  ปี นับแต่เกิดมา[38]
3. ทานกัณฑปริจเฉท  พระสริมังคลาจารย์ก็อธิบายเนื้อความยาวอีก 2 ผูก โดยยกคาถาต่อจากกัณฑ์หิมพานต์ ว่าพระนางผุสดีได้สดับเสียงที่พระโอรสและพระสุณิสาสนทนากัน แล้วไขความคำว่า ผุสฺสตีปี มีวินิจฉัยดังนี้ หลังคำผุสสตี มีคำนิบาต อปิ หรือ ปิ ก็ได้ อปิ ศัพท์ยังเป็นอุปสัค ที่ใช้ในความหมายแยกเฉพาะ(อเปกขัตถะ) แปลว่า ส่วน หมายถึงการไปตำหนักพระนางมัทรี พระเวสสันดรไปก่อน ส่วนพระนางผุสดีก็ตามไปในภายหลัง มิได้เสด็จไปพร้อมกัน พระสิริมังคลาจารย์ก็ยกนักปราชญ์ คือท่านรัตนบัณฑิต(ไม่แน่ใจว่าเป็นท่านรัตนปัญญา หรือไม่)ว่า ผุสฺสตีปิ แปลว่า ส่วนพระนางผุสดี[39]
          ในทานกัณฑ์นี้ จุดใหญ่แสดงการให้ทานอันยิ่งใหญ่ เรียกว่า สัตตสตกมหาทาน คือ ให้ทานอย่างละ 700 ชุด รวมทั้งการให้สุรา(วารุณี)เป็นทานด้วย แม้การให้สุราเป็นทานจะไม่มีอานิสงส์ แต่ก็ต้องให้กับนักดื่มสุราที่มาขอแล้วต้องไม่พบความผิดหวังกลับไป ดังที่กล่าวมาในอรรถกถาเวสสันดรแล้ว
          พระสิริมังคลาจารย์ ยกตำนานการเกิดนำสุรามาเล่าด้วย โดยอ้างอรรถกถากุมภชาดก ว่า น้ำเมาที่มีชื่อว่า วารุณี เป็นน้ำดื่มที่ดาบสทุศีลนามว่า วรุณ ปรุงขึ้นมา และที่ชื่อว่า สุรา เพราะนายพรานป่าชื่อ สุระ ไปพบเข้า เพื่อขยายความการให้ทานสุราไม่มีผลดีนั้น จึงยกคำสนทนาในมิลินทปัญหามาอ้างดังนี้
พระยามิลินท์ถามว่า “ท่านพระนาคเสน การให้ 10 อย่างที่จัดป็นทานไม่ได้ ผู้ใดให้ต้องตกอบาย คือ อะไรบ้าง” พระนาคเสนถวายวิสัชชนาแด่พระยามิลินท์ว่า “1. ให้เนื้อสด (อมากมํสทานํ)  2. ให้หญิงแก่ชายเพราะหมายเพศสัมพันธ์(อิตฺถีทานํ)   3. ให้แม่โคเพื่อพ่อโค(อุสภทานํ)  4. ให้ทานน้ำเมา(มชฺชทานํ) 5. ให้จิตรกรรม (จิตฺกมฺมทานํ)  6. ให้ยาพิษ(วิสทานํ) 7. ให้เครื่องผูก คือ โซ่ตรวน(สํขลิกทานํ)  8. ให้ไก่ตัวเมียแก่ไก่ตัวผู้(กุกกุฏทานํ)  9. ให้สุกรตัวเมียแก่สุกรตัวผู้(สุกรทานํ) 10.  ให้เครื่องชั่ง เครื่องตวงโกง(กํสกูฏตุลากูฏมานกูฏทานํ)[40]
พระสิริมังคลาจารย์ให้ความเห็นว่า การที่พระเวสสันดรให้ทานสุราเพราะกรงข้อครหานั้น เป็นสัญญาวิปัลลาส เข้าข่ายทิฏฐุมมัตตโก(คนฟั่นเฟือนแปรปรวนเพราะทิฏฐิ คือความเห็นวิปัลลาส)ในจำนวนคนฟั่นเฟือน 8 ประเภท มีที่มาในทรีมุขชาดก และอรรถกถาทรีมุขชาดกที่  3 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก  ฉักกนิบาต เล่ม 3 ภาค 5 หน้าที่ 37-38 ว่า “ในโลกนี้ มีคนบ้า 8 จำพวก ได้แก่  1. กามุมมัตตโก(บ้าเพราะกามเพราะอำนาจความโลภ)  2. โกธุมมัตตโก(บ้าเพราะความโกรธ) 3. ทิฏฐุมมัตตโก(ฟั่นเผือนแปรปรวน บ้าเพราะทิฏฐิ) 4. โมหุมมัตตโก(บ้าเพราะความหลงเลือนไม่รู้) 5. ยักขุมมัตตโก(บ้าเพราะถูกยักษ์/ผีเข้าสิง) 6. ปิตตุมมัตตโก(บ้าเพราะดีเดือด 7. สุรุมมัตตโก(บ้าเพราะเหล้า) 8. พยสนุมมัตตโก(บ้าเพราะความทุกข์โศก)
มีการเข้าใจคลาดเคลื่อนโดยทั่วไประหว่างคำว่า “วนิพก(วณิพพก)” กับคำว่า “ยาจก”  ทั้งสองคำ หมายถึง ขอทานเหมือนกัน แต่ต่างกันที่วิธีการ วนิพก หมายถึงขอโดยการเล่นดนตรี ส่วน ยาจก คือขอทานทั่วไป ท่านแสดงหลักฐานหลายแห่งว่า สองคำนี้ต่างกัน เช่นใน อรรถกถาเทวปุตตสังยุตต์ อรรถกถาและฎีกากูฏทันตสูตร  ว่า  วณิพพก ได้แก่ ผู้ขอโดยประกาศคุณและผลกรรมของทายกตลอดถึงวงสกุลว่า ท่านให้สิ่งที่ถูกใจพอใจ เป็นสิ่งที่ไม่มีโทษเมื่อใจเลื่อมใส ขอให้ไปสู่ภพพรหมโลก(สุคติ) และ ยาจก ได้แก่พูดขอว่าจงให้สักกำหนึ่ง จงให้สักขันหนึ่ง โดยไม่ได้ประกาศคุณและผลบุญของผู้ให้[41]
เมื่อพระเวสสันดรให้ทาน ท่านตั้งความปรารถนาว่า สพฺพญฺญุตฺตญาณสฺส เม อิทํ ปจฺจโย โหตุ(ขอทานแห่งเรานี้จงเป็นปัจจัยแก่พระสัพพัญตตญาณเถิด)[42]
        4. วนัปปเวสปัพพปริจเฉท พระสิริมังคลาจารย์ อธิบายคำว่า เขาวงกต เป็นนามบัญญัติ ที่ระบุถึงภูเขาที่มียอดลดหลั่นเป็นหลืบชั้นวกวน พร้อมทำรูปศัพท์ให้เห็นถึงความรู้ทางไวยากรณ์บาลีว่า วงกต มาจากคำว่า วังก(คดเคี้ยว) ลง ต อาคม เพื่อการออกเสียงสะดวกประการหนึ่ง หรือวิธีหนึ่ง ลง ตา ปัจจัย แห่งภาวตัทธิต ดุจคำว่า เทวตา ก็คือ เทวะ ทิสตา ก็คือ ทิส(ทิศ) วังกตา จึงเป็นวังกตะ (รัสสะทำให้เสียงสระ อา สั้นลงเป็นเสียงสระ อะ) อีกประการหนึ่ง  ลง ต ปัจจัย ในอรรถแห่ง “มันตุ” ที่แปลว่ามี [43] คำว่า บรรพต หรือ ปัพพตะ มาจาก ปัพพ  คือ พับไปพับมา ลง ตา ปัจจัย เป็น ปัพพตา แปลว่า มีทิวเขาสลับซับซ้อนพับไปทบมา และเขาวงกต ก็คือ เขาคันธมาทน์ ที่แปลความหมายว่า ภูเขาที่ทำให้คนเมาด้วยกลิ่นหอมของต้นไม้(ราก เปลือก แก่น  ใบ ดอก ผล)ตามธรรมชาติ
ชื่อสถานที่ต้องผ่านไปจากนครเชตุดร ถึง นครมาตุละ หรือ เจตรัฐ นครของราชาเจตราช ในเวสสันตรทีปนี กล่าวชื่อบางแห่งผิดไปจากอรรถกถา ดังนี้
ภูเขาสุวรรณคิริตาละ  ยังคงชื่อเดิม แต่บาลีคฤนท์เรียกว่า สุวรรณหริตาละ
แม่น้ำโกนติมารา คงชื่อเดิม
ภูเขาอัญชนคิรี ท่านเรียกว่า มารัญชนาคิรี
บ้านพราหมณ์ตุณณวิถนาลิทัณฑ์  ท่านเรียกว่า ทัณฑพราหมณคาม  บาลีคฤนท์ เรียกว่า ทุนนวิฏฐพราหมณคาม[44]
พระสิริมังคลาจารย์ อธิบายคำต่าง ๆ อ้างแหล่งข้อมูลทั้งหลาย แสดงความเป็นผู้รอบรู้ และอ่านมาก  เช่น จากอรรถกถาวนวัจฉัตเถรคาถา คำว่า บรรพต(ภูเขา) จำแนกเป็น 2 ประเภท คือ เขาหินล้วน เรียกว่า “เสลบรรพต” เขาดินล้วน เรียกว่า “ปังสุบรรพต” ส่วนอรรถกถาอุโปสกขันธกะ เพิ่มประเภทที่ 3 ว่า เขาดินปนหิน ทั้ง 3 ประเภทเรียกชื่อ ดังนี้ เขาดินล้วน เรียก “สุทธปังสุบรรพต”  เขาหินล้วน เรียก “สุทธปาสาณบรรพต” เขาดินปนหิน เรียก อุภยมิสสกะบรรพต[45]
คำว่า นที  (แม่น้ำ) มีชื่อสามัญ 6 ชื่อ ท่านอ้างในมหาฎีกาอภิธานคันถะ คือ สวันตี นินนคา สินธู สริตา สรภู และนที  และชื่อสามัญที่เรียกปลาก็มี 6 ชื่อเช่นกัน คือ มัจฉา(มส ธาตุ ฉ ปัจจัย สัตว์ที่ลูปคลำคือว่านน้ำ)  มีนะ (มิ หรือ มร ธาตุ อีน ปัจจัย ลบ ร) ชลจร ปุถุโลมะ อัมพุชะ และ ฌสะ
คำว่า อาศรม ได้แก่ ที่อยู่ของพระมุนี และพระฤาษี คือ บรรณศาลา(ที่อยู่มุงด้วยใบไม้ มีคำขยายศัพท์อีกว่า ชื่อว่า อาศรม เพราะเป็นที่ระงับโกรธ หรือ ระงับกิเลศมีราคะเป็นต้น และในฎีกานิชตกนิทาน กล่าวว่า ที่ชื่อว่า อาศรม เพราะเป็นที่ปรับปรุงให้สม่ำเสมอ หรือ เป็นที่ปรับกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่ไม่สุภาพให้เรียบร้อย หรือ เป็นที่พักผ่อนให้คลายเหนื่อยจากการทำกสิกรรมเป็นต้น [46]
คำว่า ดาบส หมายถึง ผู้ประกอบด้วยธรรมยังกิเลสให้ร้อน คำว่า อิสิ หรือ ฤาษี ผู้ถึงฝั่งแห่งการเวียนว่ายตายเกิด  อิส ธาตุ หรือ สณ ธาตุ ใช้ในความหมายว่า แสวงหา หรือ ถึง ลง อิปัจจัย เป็น อิสิ
พระเวสสันดรผนวชเป็นดาบสประเภทใด ในบรรดาดาบส 8 ประเภท(ระดับการประพฤติพรต)ที่กล่าวไว้ในอรรถกถาหิริสูตร สุตตนิบาต สอบเทียบคู่กับอรรถกถาอัมพัฏฐสูตร ทีฆนิกาย สีลขนธวรรค คือ 1. ดาบสมีบุตรภรรยา(สปุตตภริยา 2. ดาบสเที่ยวขอเลี้ยงชีพ(อุญฉจาริกา ในอรรถกถาอัมพัฏฐสูตร เป็นอุญฉาจริยา) 3. ดาบสที่รับอาหารเลี้ยงชีพ(สัมปัตตกาลิกา ในอรรถกถาอัมพัฏฐสูตร เป็นอนัตตปักกิกา ดาบสขอข้าวสารมาหุงต้มเอาเอง)  4. ดาบสที่ไม่ได้หุงต้มด้วยไฟ/เคี้ยวกินใบไม้ผลไม้ดิบ(อนัคคิปักกิกา ในอรรถกถาอัมพัฏฐสูตร เป็นอสามปากา มิได้หุงต้มเองรับเฉพาะที่ปรุงสุกแล้ว) 5.  ดาบสใช้ท่อนหิน หรือ ศาสตราทุบหรือลอกเปลือกไม้เคี้ยวกิน(อัสสมุฏฐิกา ตรงกันกับอรรถกถาอัมพัฏฐสูตร) 6. ดาบสใช้ฟันกัดแทะเปลือกไม้เคี้ยวกิน(ทันตลุยยกา ในอรรถกถาอัมพัฏฐสูตร เป็นทันตวักกลิกา ความตรงกัน) 7. ดาบสเคี้ยวกินเฉพาะผลไม้ที่สุกตามธรรมชาติ(ปวัตตผลิกา ในอรรถกถาอัมพัฏฐสูตร เป็น ปวัตตผลโภชิโน ความตรงกัน) 8. ดาบสเคี้ยวกินใบไม้ ที่หลุดจากขั้วหล่นลงมาที่พื้นดิน(วัณฏมุตตกา ในอรรถกถาอัมพัฏฐสูตร เป็น ปัณฑุปลิกา ความตรงกันคือเคี้ยวกินใบไม้แห้ง)
พระสิริมังคลาจารย์จึงวินิจฉัยว่า การดำรงชีพเป็นดาบสของพระเวสสันดร ตามนัยอรรถกถาหิริสูตร จัดเข้าได้ 2 ประเภท คือ เป็นประเภทที่ 4  เป็น อนัคคิปักกิกา (ดาบสที่ไม่ได้หุงต้มด้วยไฟ) และประเภทที่ 7 ปวัตตผลิกา(ดาบสเคี้ยวกินเฉพาะผลไม้ที่สุกตามธรรมชาติ หากว่าตามนัยอรรถกถาอัมพัฏฐสูตรจัดเข้าได้ 2 ประเภท คือเป็นดาบสประเภท  ปวัตตผลโภชิโน (ที่ 7) และ ปัณฑุปลิกา ดาบสเคี้ยวกินใบไม้แห้ง ท่านบำเพ็ญพรตอย่างเพลา มิได้เคร่งครัด[47]
5. ชูชกกัณฑปริจเฉท พระสิริมังคลาจารย์อ้างคำพูดพระรัตนบัณฑิตว่า พระเวสสันดรและพระนางมัทรีพร้อมพระโอรสพระธิดา บวชเป็นดาบสและอยู่ที่เขาวงกตได้ 7 เดือน ก็เป็นเวลาที่ พราหมณ์ชูชก ยาจกชาวบ้านทุนนวิฏฐะเมืองกาลิงคะ ผู้จะไปขอสองกุมารไปถึง และท่านยังเอ่ยถึงพระอโนมทัสสีเถระว่า ระยะทางที่พระเวสสันดรอยู่ในเขาวงกต หรือภูเขาคันธมาทน์นั้น เป็นระยะทางถึง  500 โยชน์(9,000 กิโลเมตร) ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาคำพูดนี้ให้ถี่ถ้วน
ในกัณฑ์ชูชกนี้ มีคำเยาะเย้ยที่ภริยาพราหมณ์ในหมู่บ้านกล่าวแดกดันนางอมิตตาปนา ภริยาสาวรุ่นของชูชก ตอนที่ไปตักน้ำที่ท่าน้ำว่า ทุกข์ทางกายเพราะถูกงูขบ เพราะถูกอาวุธทิ่มแทงก็ยังไม่เป็นทุกข์ร้ายแรง(ติพพา)เท่ากับการที่สาวแรกรุ่นได้สามีแก่ชรา และเมื่อได้เห็นสามีผู้แก่ชรา(ตรุณิตฺถี ชิณฺณกํ ปสฺเส ปสฺเสยฺยฯ ปสฺสนํชิณฺณปติปสฺสนํ ฯ  ตญฺจ ตเทว ปสฺสนํ ติปฺปํ ทุกฺขญฺจ ตรุณิตฺถิยา ติปฺปทุกฺขเมว โหติ)[48]
ที่ระบุชูชกว่าเป็นชั้นวรรณะพราหมณ์นั้น ตามหลักฐานในทสพราหมณชาดก ปกิณณกวรรค ปรากฏความว่า (ความจริง ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น พราหมณ์ โดยเป็นเพียงโวหารที่เรียกขานกัน มี 10 ประเภท คือ  1. เวชพราหมณ์(พราหมณ์ที่ประกอบอาชีพหมอรักษา) 2. ทาสกรรมกรพราหมณ์(พราหมณ์ที่คอยบริการผู้มีอำนาจดุจข้าทาสช่วงใช้) 3. นิคคาหกพราหมณ์(พราหมณ์นักข่มขู่ ชอบถือคนโทน้ำ ข่มขู่เอาสิ่งของจากผู้อื่นจนได้)  4. ขาณุฆาตกพราหมณ์(พรามหณ์ที่ทำตัวสกปรกเที่ยวขอทาน)  5. วาณิชิกพราหมณ์(พราหมณ์ที่ประกอบอาชีพข้าขาย) 6. กุฏุมพิกคหปติกพราหมณ์(พราหมณ์ที่ประพฤติดังพวกกฎุมพี และพวกคหบดี)    7. โคฆาตกพราหมณ์(พราหมณ์ที่ประกอบอาชีพฆ่าสัตว์)  8. โคปาลคามฆาตกโจรพราหมณ์(พราหมณ์ที่เหมือนคนเลี้ยงโค และปล้นจี้ชาวบ้าน)  9. ลุทกพราหมณ์ (พราหมณ์ผู้ประกอบอาชีพเป็นพราน) และ 10. นหาปกพราหมณ์(พราหมณ์ที่อาบน้ำใต้เตียงพระราชาด้วยคิดว่าตัวลอยบาป)  เมื่อจำแนกพราหมณ์ออกเป็น 10 แบบเช่นนี้แล้ว พระสริมังคลาจารย์ก็จัดชูชกเข้าในพราหมณ์ประเภทที่ 3 นิคคาหกพราหมณ์(พราหมณ์ยอดนักข่มขู่ มีความตั้งใจเด็ดเดี่ยว ชอบถือคนโทน้ำติดตัวตลอด อาศัยพระเวสสันดรเป็นแรงผลักจึงเดินเข้าป่าทั้งที่ตัวก็ชรามากแล้ว ตั้งใจว่าเมื่อได้สองกุมารเท่านั้นจึงจะกลับไป[49]
พราหมณ์ชูชก อ้างว่าตัวเป็นทูตมาเชิญพระเวสสันดรกลับบ้านเมืองกับนายพรานเจตบุตร โดยอาจยกคนโทน้ำชูขึ้นอ้างว่า ข้างในบรรจุพระราชสาสฺน์ของราชาสัญชัย ขู่ว่าหากเจตบุตรทำร้ายแก ใครจะไปแจ้งข่าวพระเวสสันดร เข้าทำนองพราหมณ์ยอดนักข่มขู่อย่างที่กล่าวมา
6. จูฬวนกัณฑปริจเฉท เมื่อพรานป่าเจตบุตรหลงเชื่อ จึงได้ทำการต้อนรับท่านทูตอย่างสมเกียรติ แถมเตรียมเสบียงทางและชี้บอกทางไปอาศรมของพระเวสสันดรอีกด้วย ในกัณฑ์จุลพนนี้ มีศัพท์ที่เกี่ยวกับพรรณไม้ไม่มากนัก (มี 45 ชนิด ติณชาติ 2 ชนิด ธัญชาติ 5 ชนิด มี ชื่อนก 7 ชนิด)    จะขอยกมาเป็นตัวอย่างที่พระสิริมังคลาจารย์นำเสนอดังนี้
คำว่า ทุมา แปลว่า ต้นไม้ ท่านอ้างฎีกาอภิธานว่า เป็น ทุ ธาตุ(ทุ เป็นไปในความไป หรือ ถึง) ลง ม ปัจจัย ในหมวด ภู ธาตุ  มีวิเคราะห์ว่า ทวติ คจฺฉติ มูลขนฺธสาขาวิฏปปตฺตปุปฺผผเลหิ วุฑฺฒึ วิรุฬฺหึ เวปุลฺลํ ปาปุณาตีติ ทุโม แปล ชื่อว่า ทุโม เพราะไป คือถึง ได้แก่ บรรลุซึ่งความเจริญงอกงามไพบูลย์ ด้วย ราก ลำต้น กิ่ง ค่าคบไม้ ใบ ดอกและผลทั้งหลาย
มีวิเคราะห์อีกบทหนึ่ง ทุ ธาตุ(ทุ เป็นไปในความเบียดเบียน) ลง ม ปัจจัย ในหมวด กี ธาตุ ดังคำว่า   ทุนิยฺยติ เคหสมฺภาราทิอตฺถาย หึสิยติ ฉินฺทิยติ ปณฺณปุปฺผาทิอตฺถิเกหิ วา ปณฺณปุปฺผาทิหรเณน ปิฬิยตีติ ทุโม แปล ต้นไม้ใด อันบุคคลย่อมเบียดเบียน คือ ย่อมตัด ย่อมเด็ดเพื่อประโยชน์แก่เครื่องเรือนเป็นต้น หรือต้นไม้ใด อันบุคคลผู้มีความต้องการใบและดอกไม้เป็นต้น พากับเบียดเบียน โดยการนำใบและดอกเป็นต้นไป ต้นไม้นั้นชื่อว่า ทุโม
ชื่อต้นไม้ที่เป็นสมุนไพร โดยเรียกตามคุณสมบัติทางยาที่แสดงออก เช่น อกฺโข วิภิตโก แปลว่า สมอพิเภก ทำให้ถ่ายท้อง(กรีสผเล) หมายความว่า ต้นไม้ที่(เป็นยาถ่าย)ทำให้โรคหาย (โรคํ วิภิตํ กโรตีติ วิภิตโก)  คำว่า อภยา หรีตกี แปลว่า สมอไทย  หมายความว่า ต้นไม้ที่นำภัยคือโรคออกไป ให้หายโรค ชื่อว่า สมอไทย ( โรคภยํ หรติ อปเนตีติ หรีตโก)
ท่านยกคำอธิบายลักษณะของ ปู  ตามการวิเคราะห์ศัพท์  ดังนี้  คำว่า มูปยานกา  ได้แก่ ปู (กกฺกฎกา) สองคำว่า กกฺกฏโก กุฬิโร ได้แก่ ปู เหมือนกัน วิเคราะห์ว่า เก กฎตีติ กกฺกฎโก แปลว่า สัตว์ที่เดินย่ำไปน้ำ ลง ก ในอรรถว่า ของตน กฎ ธาตุ เป็นไปในความเหยียบย่ำ [50]
                   7. มหาวนกัณฑปริจเฉท กัณฑ์มหาพนนี้ มีการยกคำศัพท์ที่เกี่ยวกับพรรณไม้ นก และสิ่งอื่น ๆ ในป่าหิมพานต์มาอธิบาย พระอัจจุตฤาษีบรรยายให้ชูชกฟังว่า ระหว่างทางที่ไปสู่อาศรมของพระเวสสันดรนั้น จะพบต้นไม้อะไรบ้าง ในป่ามีนกอะไรบ้าง มีสัตว์ป่าอะไรบ้าง เป็นต้น  เช่น ชื่อพฤกษาชาติ 63 ชนิด ชื่อสกุณชาติ 54 ชนิด ชื่อมฤคชาติ 34 ชนิด  เหล่าติณณชาติ 32 ชนิด มัจฉาชาติ 7 ชนิด  ธัญญชาติ 12 ปทุมชาติ 4 ชนิด  ลดาชาติ 13 ชนิด  กีฏชาติ 4 ชนิด ซึ่งเป็นป่าใหญ่ จึงมีสัตว์และสิ่งต่างๆมากว่าที่ปรากฏในกัณฑ์จุลพน (จะไม่นำชื่อต้นไม้มาแสดงอีก) จะขอยกคำอธิบายเรื่องภูเขาคันธมาทน์ ที่พระเวสสันดร ตั้งอาศรมอยู่
                   พระสิริมังคลาจารย์ อ้างอรรถกถาสัมภวชาดก ว่า ที่ชื่อว่า คันธมาทน์  เพราะภูเขานี้ ย่ำยีคนที่มาถึงด้วยกลิ่นหอมที่เกิดจากสิ่งต่าง ๆ ในภูเขา และจากอาศรมพระอัจจุตฤาษีไปทางทิศเหนือ    พระฤาษีชี้ไปที่ภูเขานี้ เดินตามเชิงเขานี้ไปจะเป็น อาศรมพระเวสสันดร พระสิริมังคลาจารย์ก็บอกว่า ภูเขาคันธมาทน์ มี 2 ลูก ชื่อพ้องกัน ลูกที่ 1 นี้ ตั้งอยู่ระหว่างอาศรมพระอัจจุตฤษี และเขาวงกตเชิงเขาหิมพานต์  มิได้อยู่บนยอดภูเขาหิมพานต์ ภูเขาคันธมาทน์อีกลูกหนึ่ง เป็นยอดหนึ่งของภูเขาหิมพานต์ ตั้งอยู่ระหว่างยอดภูเขา กาฬกูธาร ที่ล้อมสระอโนดาดอยู่ และอยู่ไกลมาก จากเชิงเขาหิมพานต์ลึกเข้าไป ตั้ง 500 โยชน์ เกินกว่าที่คนจะเดินทางไปถึงได้  ส่วนภูเขาคันธมาทน์ที่พระเวสสันดรตั้งอาศรมอยู่ ห่างจากปากทางเข้าป่า(ประตูป่า)ไปเพียง 15 โยชน์ ประมาณ 240 กิเมตร) ถึงท้องภูเขา(หุบเขา)วงกต เป็นระยะทางที่คนสามารถเดินไปถึงได้ [51] ดังที่ท่านวิจารณ์ความเห็นของท่านอโนมทัสสีเถระไว้ในตอนอธิบายกัณฑ์ชูชกแล้ว
มีคำอธิบายลักษณะของสัตว์ ที่ชื่อว่า เม่น (สลฺล หรือ สลฺลก) หมายถึงสัตว์ที่เบียดเบียนสุนัขด้วยขนที่เกิดตามร่างกายของตน ร่างกายของเม่นมีเครื่องหุ่มห่อสีขาวเเข็งเหมือนเหล็ก(อตฺตโน สรีรชาเตน โลเมน สุนขํ สลฺลติ หึสตีติ สลฺโล, สลฺลโก จ, อยสุกสพณฺโฐ โน สลฺลกาโย) [52]
                    8. กุมารกัณฑปริจเฉท ในกุมารกัณฑ์ พระสิริมังคลาจารย์ เริ่มโดยยกคำบาลีมาอธิบายมากมายเป็นพิเศษ กินเนื้อที่หนังสือ ถึง 3 ผูก แต่ผู้เขียนจะยกมาพอเป็นตัวอย่างแสดงความเป็นผู้รอบรู้ทางไวยากรณ์และข้อมูลความรู้ของพระสิริมังคลาจารย์ ดังนี้ คำที่มีความหมายถึงผู้หญิง เพศแม่ แม้จะไม่ใช่อิตถีลิงค์ก็ตาม เช่น คำว่า มาตุคาโม โอโรโธ และ ทาโร เป็นปุงลิงค์(เพศชาย) แต่ก็บอกความแทน อิตถี(หญิง) ไม่ต้องเปลี่ยนลิงค์ ที่มาจากสัททนีติ และท่านวิเคราะห์คำว่า มาตุคาม แปลว่า ผู้ที่ถึงสภาวะเจือปนด้วยแม่, ผู้มีความรักดุจความรักของแม่(มาตุยา กาโม วิย ยสฺส สา มาตุกาโม), ผู้ไปดุจแม่(มาตา วิย คจฺฉตีติ มาตุคาโม) คม ธาตุ หมายถึง  ลง ณ ปัจจัย, ผู้กินดุจแม่(มาตา วิย คสตีติ มาตุคาโม) คส ธาตุ หมายถึง กิน ลงม ปัจจัย), ผู้ขับร้องดุจแม่(มาตา วิย คายตีติ มาตุคาโม) คา ธาตุ หมายถึง เสียง ม ปัจจัย)มีที่มาจากฎีกาอภิธานคันถะ [53]
คืนที่ชูชกนอนรอให้พระนางมัทรีออกป่า ก่อนรุ่งอรุณ พระนางมัทรีทรงพระสุบินร้าย และแม่นยำเป็นความจริง พระสิริมังคลาจารย์ก็อ้างอรรถกถาจตุตถปัณณาสก ในปัญจกนิบาติอังคุตตรนิกายว่า ฝันตอนกลางวันจะไม่เป็นจริง(แม่น)  ฝันตอนปฐมยามกับมัชฌิมยามแห่งราตรีก็ไม่เป็นจริงเหมือนกัน ส่วนความฝันที่ฝันเห็นจวนเจียนจะรุ่งสาง คือตอนย่ำรุ่งอรุณ เป็นตอนที่รสชาติอาหารเข้าไปยู่ในร่างกายที่เราได้กินได้ดื่มได้ขบเคี้ยวไปแล้ว ย่อมเป็นจริง(แม่นยำ)ได้ เมื่อฝันเห็นนิมิตแห่งสิ่งที่น่าปรารถนาก็จะได้สิ่งที่น่าปรารถนา แต่เมื่อฝันเมื่อฝันเห็นนิมิตแห่งสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาก็จะได้สิ่งไม่ที่น่าปรารถนา (...พลวปจฺจูเส...ทิฏฐสุปิโน สเมติ อิฏฐนิมิตฺตํ สุปินํ ปสฺสนฺโต อิฏฐํ ลภติ อนิฏฐนิมิตฺตํ สุปินํ ปสฺสนฺโต อนิฏฐนฺติ) สุบินนิมิตของพระนางมัทรีเป็นลางบอกเหตุร้ายว่าจะต้องพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก
บุคคลสามัญรวมไปถึงพระเสขอริยบุคคล(โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี) ยังนอนหลับฝัน เพราะยังละวิปัลลาสไม่ได้ ยกเว้นพระอรหันต์ท่านไม่ฝัน เพราะละวิปัลลาสได้
พระชาลีมองดูลักษณะบุรุษโทษของชูชก เป็นต้นว่า มีจมูกคด(ภัคคนาสโก) ฟันเหยิน(กฬาโร) ท้องมานพลุ้ย(กุมฺโภทโร) ตาเข (วิสมจกฺขุโก) ไม่อาจมองได้โดยตรง หรือ ดวงตาไม่เท่ากันข้างหนึ่งเล็กข้างหนึ่งโต ตาข้างหนึ่งเสือกขึ้น ตาข้างหนึ่งส่อนลง ขาเป๋เท้าแป(วิกโฏ วิกฏปาโท)  ส่อถึงคนไม่ดีนิสัยดุร้ายหยาบคาย
พระสิริมังคลาจารย์ อธิบายถึง ปัญจมหาบริจาค ซึ่งมีที่มาต่างกัน และวัตถุเครื่องบริจาคก็ต่างกัน ดังนี้ ในอรรถกถาเวสสันตรชาดก ปัญจมหาบริจาค คือ 1. ธนบริจาค(สละทรัพย์เป็นทาน) 2. อังคบริจาค(สละอวัยวะเป็นทาน) 3. ชีวิตบริจาค(สละชีวิตเป็นทาน) 4. ปุตตบริจาค(สละลูกที่รักเป็นทาน)  5. ภริยาบริจาค(สละภรรยาที่รักเป็นทาน) ส่วนในพราหมณวรรค และฎีกาพราหมณวรรค กล่าวถึงมหาบริจาค 5 ประการชุดหนึ่ง คือ 1. ทรัพย์อันประเสริฐ  2. บุตรและธิดา 3. ภรรยา 4. ราชสมบัติ และ 5. อวัยวะ (ไม่มีชีวิตบริจาค) และในอรรถกถาพุทธวงส์ ระบุปัญจมหาบริจาคอีกชุดหนึ่ง คือ  1. อวัยวะ 2. ทรัพย์ 3. ดวงตา  4. ภรรยา และ 5. ราชสมบัติ(ไม่มีบริจาคบุตร) แม้จะมีปัญจมหาบริจาคหลายชุด พระอรรถกถาจารย์กล่าวสรุปในอรรถกถาชาดก ว่า ที่มาทั้ง 3 แหล่งอ้างอิง ทุกชุดล้วนมีคำว่า บริจาคอวัยวะเป็นหนึ่งข้อ และมีภริยาบริจาค หรือ ทารบริจาค อันเดียวกันอีกข้อหนึ่ง ที่ต่างกัน เพิ่มเข้ามามี  ดวงตา ก็นับเข้าในบริจาคอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย  และ ราชสมบัติ ก็นับเข้าในทรัพย์สมบัติ(ธนบริจาค) พระสิริมังคลาจารย์ก็เห็นด้วยกับอรรถกถาเวสสันตรชาดก โดยย้ำว่า “สุนฺทรตโร” แปลว่า ดีกว่า[54]
ที่นับว่าเป็นมหาบริจาคมีเกณฑ์วัด คือ 1. เพราะบริจาคด้วยสิ่งของมากมาย และด้วยการบริจาคสูงสุด    2. การบริจาคเพื่อความยิ่งใหญ่หรือเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า(ปรารถนาโพธิญาณ) 3. เป็นการบริจาคที่ประเสริฐสุด เพราะคนธรรมดาสามัญทำได้ยากยิ่ง
กัณฑ์กุมารนี้ เน้นการบริจาคบุตรที่รักเป็นทาน ต้องข่มความรักเสน่หาในบุตร ข่มความโกรธด้วยขันติที่พราหมณ์ตีพระโอรสพระธิดาอย่างทารุณ ผูกแขนฉุดคร่าลากถูไปต่อหน้าต่อตาอย่างไม่เกรงใจ หากไม่ปรารถนาพระโพธิญาณอย่างแน่แน่ว คงตัดใจยาก นี่แหละมหาบริจาค จนเกิดแผ่นดินไหว
9. มัททีกัณฑปริจเฉท เมื่อพระเวสสันดรบริจาคบุตร โกลาหลเกิดขึ้นนับจากพื้นแผ่นดินไปจรดถึงอกนิฏฐพรหมโลกชั้นสูงสุด พระสิริมังคลาจารย์ก็บอกระยะว่า เป็นระทางถึง 49,824,000 โยชน์(ปถวิตลโต ยาว อกนิฏฐพฺรหฺมโลกา จตุวีสติโยชนสหสฺสาธิเก อฏฐนวุติ จตุสตโยชนสหสฺสเก ฐาเน เอกโกลาหลํ ชาตํ ทานเตเชน)
เมื่อพระนางมัทรีกลับมาจากป่า ไม่พบพระโอรสธิดาวิ่งเข้าต้อนรับเหมือนอย่างเคย จึงไปทูลถามกะพระเวสสันดร แต่พระเวสสันดรไม่ทรงตอบ แถมกล่าวหาว่าพระนางมัทรีมัวไปเล่นในป่า ลืมสามีและลูกพระนางมัทรีจึงออกตามหาลูกทั่วทั้งป่าตลอดคืน อาศัยแสงจันทร์ส่องทาง วิ่งเที่ยวร้องเรียกตามหาตลอดราตรี ตั้งสามรอบ สิ้นระยะทาง 15 โยชน์ ประมาณ 120,000 วา (ปณฺณรสโยชนมตฺตนฺติ ปณฺณรสโยชนปมาณํ พฺยามานํ วีสติสหสฺสลกขญฺจาตฺยาธิปาโย) ก็ไม่พบ จึงเสด็จกลับมาทูลถามพระเวสสันดรอีก ในที่สุดพระนางมัทรีก็เป็นลมสิ้นสติ ล้มสลบลงที่พื้นดินต่อหน้าพระเวสสันดร
พระสิริมังคลาจารย์นำฎีกาอรรถกถาเวสสันตรชาดกมาขยายว่า  ข้อว่า อิติมทฺที มีความว่า พระนางมัทรีผู้ทรงโฉมงามผู้ทรงมีพระสรีระยอดเยี่ยมนั้น เสด็จเที่ยวไป ณ โคนไม้เป็นอาทิ ไม่พบพระโอรสและพระธิดาก็ประคองพาหากันแสงว่า ลูกทั้งสองจักสิ้นชีพแล้ว โดยไม่ต้องสงสัยแล้ว ล้มลง ณ ภูมิภาคแทบบาทมูล ของพระเวสสันดรในสถานที่นั้นเอง เหมือนต้นกล้วยสีทองมีรากขาดแล้วล้มลง [55]
เมื่อพระเวสสันดรทรงช้อนพระเศียรของพระนางมัทรีขึ้น อุ้มพระนางมัทรีพาดไว้บนพระเพลา เอาน้ำมาพรม พระนางมัทรีก็ได้ฟื้นสติคืนมา พระเวสสันดรจึงบอกความจริงว่า พระองค์ให้ทานไปแล้วแต่ไม่บอกความจริงแต่ต้น เพราะเกรงพระนางจะอดกลั้นความทุกข์ และพระทัยวายสิ้นพระชนม์เพราะการพรากจากบุตร อีกอย่างหนึ่ง พวกเรายังมีชีวิตอยู่ ต้องได้พบบุตรแน่นอน  และขอให้พระนางอนุโมทนาการให้บุตรเป็นทานครั้งนี้ และพระนางมัทรีก็อนุโมทนาบุญ
พระสิริมังคลาจารย์ ให้ความเห็นเรื่องความหมายตามบริบทท้องเรื่องของคำว่า “อนุโมทหิ” ตามที่เราเข้าใจ ก็ต้องแปลว่า เธอจงยินดีด้วย  แต่ท่านแก้ว่า จงยกโทษให้ด้วย ดังความว่า คำว่า อนุโมทาหิ พึงกล่าวแก้ว่า เธอจงยกโทษ ได้แก่ จงทำการยกโทษ จงชื่นชมด้วยอำนาจการอนุโมทนา เพราะท่านกล่าวไว้ในอรรถกถามหาหงส์ว่า บทว่า อนุโมทามิ แปลว่า ฉันขอยกโทษให้(อนุโมทามีติ ขมามีติ มหาหํสวณฺณนายํ วุตฺตตฺตา อนุโมทาหีติ อนุโมทนาวเสน  ขมาหิ ขมนํ รุจฺจนํ กโรหีติ วตฺตพฺพํ) [56]
พระนางมัทรี อนุโมทนา เพราะถือธรรมเนียมว่า แม้ว่ามารดจะตั้งครรภ์คลอดบุตร เลี้ยงดูเอง แต่บิดาถือว่าเป็นใหญ่ เป็นเจ้าของบุตร แต่ไม่ใช่ว่าบิดาจะเป็นใหญ่ในบุตรทุกกรณี พระสิริมังคลาจารย์ก็อธิบายเสริมว่า ธรรมดาที่ว่าบิดาเป็นเจ้าของลูกนั้น เหมาะสมในเรื่องทานเท่านั้น(ทานาธิกาเรเอว ยุตฺตํ)  ไม่เหมาะสมในเรื่องการบวชลูก(น ปพฺพชฺชาธิกเร) ในพุทธบัญญัติที่ว่า  ในการบรรพชาบุตรที่บิดามามารดายังไม่อนุญาต บางคราวบิดาเป็นใหญ่(กทาจิ ปิตา อิสฺสโร) บางคราวทั้งบิดาและมารดาร่วมกันเป็นใหญ่ (กทาจิ อุโภปิ)  แต่ในการบวชลูกของทาส มารดาเท่านั้นเป็นใหญ่(ทาสปุตฺตปพฺพชฺชาธิกาเร ตุ มาตา ว อิสฺสโร) [57]
          คำอนุโมทนาของพระนางมัทรีก็กึกก้องไปถึงพรหมโลก ท่านอธิบายคำว่า หริหรพฺรหฺเมหิ  พฺยปฺปเทโสติ อ้างฎีกาสัคคกัณฑ์  ว่า คำว่า หริ หมายถึง พระนารายณ์  หรือ พระวาสุเทพ (หรีติ นารายโน โย วาสุเทโวติ วุจฺจติ)  หร หมาย ถึง พระศิวะ หรือ พระอีสาน หรือ องค์อิศวร(หราติ สิโว โย อีสาโนติปิ มหิสฺสโรติปิ วุจฺจติ) คำว่า พฺรหฺม ได้แก่ ท้าวมหาพรหม
          เกิดความสงสัยว่า แม้แต่พระยามารผู้มีใจบาปก็ยังให้การอนุโมทนาทานของพระเวสสันดร ความนี้ ดูกระไรอยู่  พระสิริมังคลาจารย์จึงถือโอกาสเฉลยว่า เทพบุตรมารตนเดียวกับพระยาวสตีมารที่ผจญพระพุทธเจ้าที่โคนต้นโพธินั่นแหละ  คราวใด มารมีจิตชั่วช้า ก็ทำชั่ว คราวใดมีจิตใจดี ก็จะทำความดี ด้วยเหตุผลที่ว่า มารเกิดบนเทวโลก(สวรรค์ชั้นสูงสุดเพราะความดี) เหมือนพระเทวทัตต์) หากมารมีจิตใจชั่วและทำความชั่วตลอดแล้วต้องตกนรกเท่านั้น จะบังเกิดบนสรวงสรรค์ได้อย่างไร และท่านย้ำว่า คำตอบนี้ควรยึดถือไว้ได้[58] และข้อความเช่นนี้ก็นำไปอธิบายในมัททีกัณฑ์ ตอนให้ภริยาเป็นทาน และพระยามารก็ยังอนุโมทนาด้วย
          มีข้อกังขาเรื่องบุคคลผู้รับทานเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์(ชูชก) เหตุใดจึงว่า ทานของพระเวสสันดรจึงมีเป็นทานสูงสุดยอด และมีอานิสงส์มาก จะไม่ขัดกันหรือ ที่ว่า ของที่ให้ต้องบริสุทธิ์ ผู้ให้ต้องใจบริสุทธิ์ และผู้รับ(ปฏิคาหก) ก็ต้องมีศีลบริสุทธิ์ ท่านแก้ว่า การให้บุตรเป็นทานมิใช่เพราะเห็นแก่หน้าพราหมณ์ชูชกคนทุศีล แต่เพราะทักขิณา(โอรสธิดา)บริสุทธิ์(พระองค์มีสิทธิ์) ประการสำคัญ ให้ทานพระปิโยรสเสมอด้วยชีวิตของพระองค์เป็นทานที่ผู้มุ่งสัพพัญญุตญาณให้ไว้ เป็นการพรรณนาคุณของผู้ให้ว่า สละชีวิตให้
                   10. สักกปัพพปริจเฉท ในกัณฑ์สักกบรรพ์นี้ พระสิริมังคลาจารย์แจงว่า พระเวสสันดรพระราชทานบุตรในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ พอวันแรม 1 ค่ำ พระอินทร์ก็แปลงเพศเป็นพราหมณ์ชรามาขอพระนางมัทรี เพื่อให้โอกาสแก่พระเวสสันดรได้บำเพ็ญบารมีสูงสุด เพราะการให้ภริยาเป็นทานถือว่าสุดยอดของทานบารมี(ปารมีกูกนฺตีติ สพฺพาสํ  ปารมีนํ กูฏํ กูฏภูตํ ภริยาทานสงฺขาตํ ทานปารมี)[59]
การให้ภริยาเป็นทาน คราวนี้ไม่ต้องยกนิทานประโลมใจ ดังเปรียบพระชาลีกัณหาชินาว่าเป็นดุจนาวานำพ่อข้ามห้วงน้ำ คือ โอฆสงสาร แต่พระนางมัทรีเข้าพระทัย และยินดี ไม่แสดงอาการขัดขืนและขัดเคือง เรียกว่า สมัครใจเป็นทานวัตถุให้พระสวามี เมื่อท้าวสักกะ รับแล้วเสด็จไปหน่อยหนึ่ง ก็นำพระนางมัทร๊กลับมาคืนให้ และแจ้งว่า พระองค์เป็นท้าวสักกะ ด้วยความเลื่อมใสในทานบารมีจึงจะประทานพรให้ 8 ประการดังที่กล่าวมาในอรรถกถาเวสสันตรชาดก  ทั้งให้ความมั่นพระทัยแก่พระเวสสันดรว่า อีกไม่นาน พระราชบิดาจะเสด็จมารับและเชิญไปครองราชสมบัติแน่นอน
มีการแสดงชื่อกำหนดความเจริญของเพศหญิง 3 ชื่อ อ้างในฎีกานรวรรคว่า ชื่อว่า นารี พึงมีอายุ 8 ปี ชื่อว่ากัญญา พึงมีอายุ 10 ปี ชื่อว่า กุมารี พึงมีอายุ 12 ปี (อฏฺฐวสฺสา ภเว นาริ ทสวสฺสา ตุ กญฺญา สมฺปตฺเต ทฺวาทสวสฺเส กุมารีตฺยภิธิยเต)[60] ส่วนที่ปรากฏในทสวรคาถา ทาริกา อายุ 8 ปี เท่ากับ นารี ไม่มีคำว่า กัญญา(นางสาวน้อย) ที่บอกว่า อายุ 10 ปี เอาไว้
พระสิริมังคลาจารย์นำข้อความที่เคยกล่าวไว้ในกัณฑ์ก่อนหน้านี้กลับมาอธิบายซ้ำอีก หลายหน้า เช่น ชื่อพระอินทร์ พระยายมราช ท้าวกุเวรหรือท้าวเสสุวรรณ พระยามาร เห็นว่าจะซ้ำซ้อนจึงไม่ขอนำมากล่าวอีก
11. มหาราชปัพพปริจเฉท อรรถกถาเวสสันตรชาดก เรียกพระเวสสันดรว่า พระโพธิสัตว์ บ้าง พระมหาสัตว์บ้าง แต่ไม่ได้วิเคราะห์ศัพท์ พระสิริมังคลาจารย์จึงนำมาแจงความตามอรรถกถามหาปทานสูตร ดังนี้  โพธิสตฺโตติ ปณฺฑิตสตฺโต พุชฺฌนกสตฺโต โพธิสงฺขาเตสุ วา จตูสุ มคฺเคสุ สตฺโต มคฺคมานโสติ โพธิสตฺโตติ วุตฺตํ (แปล สัตว์ผู้เป็นบัณฑิต คือสัตว์ผู้จะตรัสรู้ ชื่อว่า โพธิสัตว์ อีกอย่างหนึ่ง สัตว์ใดเกี่ยว คือ มีใจข้องในมรรคทั้ง 4 กล่าวคือ ญาณเครื่องตรัสรู้(โพธิ) เพราะฉะนั้น สัตว์นั้นจึงชื่อว่า พระโพธิสัตว์)และท่านได้แสดงที่มาของศัพท์เต็มๆ ว่า โพธิมา สตฺโต เท่ากับ โพธิสตฺโต เพราะลบคำท้าย (มา)ของบทแรกออกไป[61]
ตามความเห็นของอาจารย์บางพวกว่า บทว่า ชูชโกปิ ความว่า ส่วนพราหมณ์ชูชกเดินทางได้วันละ 4 โยชน์(เท่ากันทุกวัน) พระสิริมังคลาจารย์กลับเห็นว่า จะเดินทางวันละ 4 โยชน์ หรือเป็นอย่างอื่นจากนี้ ไม่เป็นประมาณ เอาเป็นว่า ชูชกเดินทางใช้เวลา  15 วันก็ลุถึงนครเชตุดร(ทิวเส ทิวเส จตุโยชนํ จตุโยชนํ ปฏิปชฺชติ เอวํ วา คจฺฉนฺโต โหตุ อญฺญถา วา อปฺปมาณํ...ปณฺณรสทิวเส หิ เชตุตฺตรํ  ปาปุณาติ ตถา ปฏิปชฺชตีติ ทฏฺฐพฺโพ)
พระเจ้าสัญชัยทรงพระสุบินนิมิตที่ดี ในเวลาย่ำรุ่งของวันที่ชูชกพาสองกุมารไปถึงว่า “มีชายผิวดำนำดอกบัว 2 ดอกมาถวาย” พระสิริมังคลาจารย์ก็ยกสาเหตุแห่งความฝัน 4 ประการมาเล่าซ้ำอีกพร้อมกับคำขยายความโดยนำเรื่องทั้งหมดเกี่ยวกับความฝันที่เล่าในกุมารปัพพะทั้งหมดมา ดังนี้ บุคคลเมื่อจะฝัน ย่อมฝันด้วยเหตุ 4 ประการ คือ ธาตุกฺโขภโต โดยธาตุกำเริบ อนุภูตปุพฺพโต โดยอารมณ์(เรื่องราวเก่าๆ)ที่เคยเสวยมาก่อน เทวโตปสํหารโต โดยเทวดาอุปสังหรณ์ ปุพฺพนิมิตฺตโต โดยนิมิตที่เคยเห็นมาก่อน(นิมิตบอกลางล่วงหน้า)[62]
พระเจ้าสัญชัยได้พระนัดดา(หลาน)คืนมา โดยการจ่ายพระราชทรัพย์ไถ่ค่าตัวพระนัดดาทั้งสอง จาความเป็นทาสของพราหมณ์ชูชก พระสิริมังคลาจารย์ก็อธิบาย ประเภทของทาส ตามนัยอรรถกถามหาวรรค ในพระวินัยว่า  ทาสมี 4 จำพวก คือ อนฺโต ชาโต ทาสเรือนเบี้ย(ทาสครอก) ธนกฺกีโต ทาสสินไถ่(ซื้อมา) กรมรานีโต ทาสที่ยอมตัวเป็นข้าเฝ้า(ทาสเชลย)  สามํ ทาสพฺยํ อุปคโต ยอมตนเป็นทาสรับใช้ กุมารสองพี่น้องนับว่าเป็นเพราะการยอมมอบตนเองเป็นทาส เจ้านายจะขายหรือฆ่าก็ได้ [63]
ชูชกได้รับการเลี้ยงดูด้วยอาหารดีๆ แต่ไม่อาจย่อยอาหารได้ ท่านยกคำศัพท์ว่า ชีราเปตุนฺติ ปาจคฺคินา อาหารสฺส ชรํ วิลยํ ปาเปตุ (น สกฺโกติ) โดยเทียบคำอธิบายในอรรถกถากูฏวาณิชชาดก ว่า “ยาวทตฺตํ สุโภชนํ ภุญชิตฺวา อชิรเกน มริสฺสติ”  (ตราบเท่าพราหมณ์ชูชกบริโภคโภชนะดีๆ ซึ่งพระราชทานให้ ทำกาลกิริยาด้วยอาหารที่ไม่ย่อย) ความหมายว่า ตาย ในภาษาบาลี คือ กาล(กิริยา) ท่านวิเคราะห์ความหมายดังนี้ บทว่า กาโล  หมายความว่า เป็นเครื่องให้ชีวิตเสื่อมไป คือให้ชีวิตสัตว์ทั้งหลายพินาสไปแห่งมฤตยู(มจฺจุ กาลยติ สตฺตานํ ชีวิตฺตํ นาเสติ) เมื่อตายก็ทำสรีรกิจ คือการเผาซากศพ(กเฬวรทหนกมฺมํ) แก่ชูชก
ครั้นชูชกตายลง สมบัติที่ได้รับพระราชทานเป็นค่าไถ่พระนัดดาทั้งสอง ต้องหาทายาทมารับ ตามธรรมเนียม พระเจ้าสัญชัยให้เสนาตีกลองประกาศหาญาติของชูชก ตลอด 7 วัน ก็ไม่พบใคร(อปสฺสิตฺวา)ที่อ้างตัวประกาศเป็นญาติ[64] สมบัติจึงตกเป็นของหลวงคืนท้องพระคลังไป
การกล่าวถึงเครื่องบูชาที่ว่ามีข้าวตอกเป็นที่ 5 (ลาชปัญจมัง) ที่พระเจ้าสัญชัยให้เตรียมการต้อนรับพระเวสสันดร พระสิริมังคลาจารย์ก็ยกมาอธิบายจากฎีกาชาดกนิทานว่า มีวัสดุอะไรบ้าง ดังคำว่า ลาชปญจมานิ ปุปฺผานิ ได้แก่ ดอกไม้ 5 ชนิดมีข้าวตอกเป็นที่ 5 คือ 1. ทุพฺพติณ(ทุพฺพปุปฺผํ)  หญ้าแพรก 2. สุทฺธตณฺฑุโล(ตณฺฑุโล) ข้าวสารบริสุทธิ์ 3.สิทฺธตฺโถ เมล็ดพันธุ์ผักกาด  4. สุมนกุลํ มะลิตูม 5. ลาชา ข้าวตอก  อีกมติหนึ่ง ไม่มีข้าวสาร แต่เอาดอกพุดซ้อนตูม(นนฺทิยาวตฺตมกุลํ) มาแทน[65]
นอกจากนี้ ท่านยังได้ยกคำที่เกี่ยวกับเครื่องดนตรี เครื่องประโคม ดุริยางค์ การจัดกองทัพ จำนวนอักโขภินี เท่ากับจำนวนนับอย่างสูง สิริมังคลาจารย์ยกข้อมูลความเห็นเรื่องจำนวน อักโขภินี จากที่อื่นๆมาไว้ให้พิจารณาดังนี้ บางท่านว่า เท่ากับ เลข 1 ตามด้วย เลขศูนย์ 17 ตัว บางท่านว่า เลข 1 ตามด้วย เลขศูนย์ 42 ตัว อาจารย์จตุรังคพลว่า เท่ากับ เลข 1 ตามด้วย เลขศูนย์ 47  ตัว พระมหากัจจายนะผู้กล่าวสูตรว่า คือ   1 ล้าน คูณด้วย 10  อธิบายว่า 10 ล้าน(นินฺนหุตสตสหสฺสานํ สตํ)[66]   โดยเทียบว่า มีไม้ไผ่ 60 มัดๆละ 60 ลำ ปูวางไว้ กองทัพเดินย่ำผ่านไป ไม้ไผ่เหล่านั้นแหลกเป็นผุยผง นั่นคือจำนวนพล[67] ในกองทัพ(มากเหลือคณานับได้) แสดงถึงการยกพลไปรับอย่างมโหฬารสมเกียรติพระโอรส
                   12. ฉักขัตติยปริจเฉท  ด้วยกองทัพกำลังมหึมาเช่นนี้ ไปถึงบริเวณภูเขาวงกต พระเวสสันดรจึงตระหนกพระทัย คิดว่า ข้าศึกจะมาจับพระองค์จึงเสด็จหนีขึ้นไปยอดเขา จนพระนางมัทรีพินิจดูอย่างแน่ชัดแล้วก็ทราบว่าเป็นกองทัพชาวสีพีนั่นเอง จึงลงมารอถ้าที่อาศรม เมื่อกษัตริย์ ทั้ง 6 พระองค์มาพบกันที่อาศรมเขาวงกต พระเจ้าสัญชัยเสด็จเข้าไปก่อน สวมกอดพระเวสสันดร จุมพิตที่ศีรษะ พระนางมัทรีถวายบังคม พระเจ้าสัญชัยทรงไต่ถามการเป็นอยู่ พระเวสสันดรก็ทูลว่า พระองคต์ทรงอยู่อย่างลำบาก (กสิร) และทูลถามถึงสองกุมารพระปิยบุตรที่พราหมณ์ชูชกนำไป ขอโปรดแจ้งข่าวให้ทราบด้วย ตอนนี้พระองค์เหมือนคนถูกงูขบกัด ข่าวที่พระบิดาตรัสบอกจะเป็นดุจเหมือนยาแก้พิษงู
พระสิริมังคลาจารย์ก็จำแนกพิษร้ายของงู ออกเป็น 4 ชนิด และอาการที่งูทำร้ายออกเป็น 4 ลักษณะ ดังนี้ คือ กฏฐมุโข งูปากไม้(กัดแล้วร่างแข็งเหมือนท่อนไม้)  ปูติมุโข งูปากเปื่อย(กัดแล้วแผลเปื่อยเน่า) อคฺคิมุโข งูปากไฟ(กัดแล้วแผลลุกลามปวดแสบร้อนเหมอนไฟไหม้) สตฺถมุโข งูปากศาสตราเหมือน(กัดแล้วอวัยวะขาดเหมือนสายฟ้าฟาด) ลักษณะการทำร้าย คือ ถูกกัด ถูกแสง เพียงสัมผัส และถูกลมพ่นใส่[68]
ส่วนพระนางผุสดีเข้าไปหาเป็นคนที่ 2 พระเวสสันดรและพระนางมัทรีถวายบังคมสรวมกอดกันและกัน กับทั้งทรงกันแสง ขณะนั้น พระชาลีและพระกัณหาชินเสด็จเข้ามา แลเห็นพระนางมัทรีก็ร้องเรียก แม่ และวิ่งเข้าหา พระนางมัทรีเองพอเห็นลูกรักก็ทรงลืมสติ พระวรกายสั่นเทิ้ม ลุกขึ้นวิ่งออกไปหาดุจหญิงแม่มดถูกนางยักษ์เข้าสิง(วาริณีว) เพื่อรับพระโอรสธิดาที่พรากจากไป ไม่คิดว่าจะได้เห็นหน้า เมื่อแม่ลูกต่างกันแสงจะวิ่งเข้าสรวมกอดกัน (กนฺทนฺตามธาวึสูติ กนฺทนฺตา อภิธาวึสุ) ทั้งความโศกและความดีใจอันสุดที่จะกลั้น ทั้งสามพระองค์ต่างเป็นลมล้มสลบลงตรงนั้น(วิสญฺญิโน หุตฺวา ตตฺเถว ปตึสุ) พระเวสสันดร รวมทั้งพระเจ้าสัญชัยและพระนางผุสดีก็กลั้นความสะเทือนใจเอาไว้ไม่ได้ก็สิ้นสติสลบลง แถมหมู่เสนาสหชาติที่เกิดพร้อมกันหกหมื่นคนที่ไปด้วยต่างสิ้นสติล้มสลบลงไป ไม่มีใครช่วยใครเอาน้ำมาพรม พระอินทร์จึงบันดาลฝนโบกขรพัสส์ประพรมให้ทุกคนฟื้นขึ้นมา(สพฺเพ สญฺญํ ปฏิลภึสุ)
พระสิริมังคลาจารย์ยกเหตุที่แผ่นดินไหว(ปถวีกมฺโป) พร้อมคำอธิบายมาแสดงไว้ในเวสสันตรทีปนี และสรุปสาเหตุเอาไว้ คือ ในอรรถถกถาพรหมชาลสูตร กล่าวว่า แผ่นดินไหวเพราะเหตุ 8 ประการ คือ 1. ธาตุโกเปน เพราะธาตุกำเริบ 2. อิทฺธานุภาเวน เพราะอานุภาพของผู้มีฤทธิ์ 3. คพฺโกนฺติยา เพราะการลงสู่ครรภ์มารดา 4. มาตุกุจฺฉิโตนิกฺขมเนน เพราะประสูติจากครรภ์ 5. สมฺโพธิปฺปตฺติยา เพราะการบรรลุโพธิญาณ  6. ธมฺมจกฺกปฺปวตฺตเนน เพราะการแสดงธรรมจักร  7. อายุสงฺขาโรสฺสชเนน เพราะการปลงอายุสังขาร 8. ปรินิพฺพาเนน เพราะการเสด็จปรินิพพาน(เหตุ 6 เรื่องหลังเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์)
ในแผ่นดินไหวทั้ง 8 ครั้ง จัดกลุ่มได้ คือ ครั้งที่ 1 เพราะธาตุ(ลม)กำเริบ(ลมอุกเขปกวาต พัดน้ำ แผ่นดินลอยบนน้ำ)   ครั้งที่ 2 เพราะอานุภาพของผู้มีฤทธิ์ (ฤทธิ์เกิดจากฌาน, ฤทธิ์เกิดจากวิบากของกรรม) ครั้งที่ 3 และ 4 เพราะเดชแห่งบุญ(ปุญฺญเตเชน)  คำว่า อานุภาพ คือ เดชแห่งรัศมี(ปภาเตช) มีบุญเดช หรือ บุญญานุภาพ) ครั้งที่ 5 พระเดชแห่งญาณ(ญาณเตเชน)  ปฏิเวธญาณ ครั้งที่ 6 เพราะอำนาจการให้สาธุการ (สาธุการานุภาเวน)  เทวตาฟังธรรมจักร พระโกญฑัญญะบรรลุโสดาบัน ให้สาธุการปฐมเทศนา ครั้งที่ 7 เพราะความสงสาร(การุญฺญภาเวน) เมื่อพระพุทธเจ้าประกาศปลงพระชนมาอายุสังขาร  ครั้งที่ 8  เพราะการร้องไห้ระงม(อาโรทเนน) เมื่อสูญเสียบุคคลสำคัญประดุจดวงตาของโลก จึงร้องไห้ระงม
พระสิริมังคลาจารย์ ให้ข้อมูลว่า ยังมีแผ่นดินไหวที่นับเป็นกรณีพิเศษ นอกจากสาเหตุแผ่นดินไหว 8 ประการที่กล่าวมา เช่น ในเวสสันดรชาดก แผ่นดินไหวนอกฤดูกาล(8 สาเหตุ) ถึง 7 ครั้ง(สตฺตกฺขตฺตุ อกมฺปถ)[69] คือ เพราะบำเพ็ญมหาบริจาค,  ในโคตมสูตร แผ่นดินไหว  ตอนที่พระพุทธเจ้าชักผ้าบังสุกุลจากซากศพ และซักผ้า ในพรหมชาลสูตร แผ่นดินไหวตอนที่พระพุทธเจ้าวิเคราะห์ทิฏฐิ 62 ออกเป็นกลุ่มๆ หลังพุทธกาล แผ่นดินไหว 3 ครั้ง คือ เมื่อพระมหินทะไปลังกา แสดงธรรมที่ป่าชาติวัน, เมื่อพระปิณฑปาติยะ วัดกัลยาญิยวิหาร ปัดกวาดลานเจดีย์ ยึดพุทธานุสติ เกิดปีติ สวดพรหมชาลสูตร, และเมื่อพระทีฆภาณกาจารย์(ผู้ทรงจำพระสูตรทีฆนิกาย)สาธยาย พรหมชาลสูตร แล้วสรุปว่า แผ่นดินไหวทั้ง 3 ครั้งนี้เกิด เพราะธรรมเดชานุภาพ
มีคำถามว่า เหตุใดพระพุทธเจ้าจึงแสดงสาเหตุแผ่นดินไหวเอาไว้เพียง 8 ประการ แต่พอเมื่อเล่าถึงอดีตชาดก บางเรื่องกลับมีแผ่นไหวนอกจากสาเหตุ 8 ประการ มีความเป็นมาอย่างไร พระสิริมังคลาจารย์แก้ข้อสงสัยว่า สาเหตุ 8 ประการนั้น นับเป็นสาเหตุหลัก และเกิดขึ้นแน่นอน ส่วนแผ่นดินไหวเพราะสาเหตุอื่นนอกจากนี้ เป็นเรื่องไม่แน่นอน บางคราวก็ไหว บางคราวก็ไม่ไหว จึงถือว่าเป็นสาเหตุพิเศษ
13. นครกัณฑปริจเฉท พระเจ้าสัญชัย และชาวเมืองทูลเชิญพระเวสสันดรให้สึกจากเพศฤาษี กลับไปครองราชย์สมบัติตามเดิม พระเวสสันดรก็ทรงพ้อว่า “เมื่อก่อนนี้ พวกท่านไล่เราผู้ไม่มีความผิดให้มาอยู่เขาวงกต แต่บัดนี้มาอ้อนวอนให้กลับไปครองราชย์สมบัติ”
          พระเจ้าสัญชัยก็ตรัสว่า “พ่อก็เป็นทุกข์เพราะเรื่องนี้ การคุ้ยเรื่องเก่าขึ้นมาก็มีแต่เสียดแทงหัวใจ เรื่องมันแล้วไปแล้ว ขอให้บุตร(พระเวสสันดร) จงเปลื้องความทุกข์นี้ ออกจากอกพ่อด้วยเถิด (ทุกฺขํ อุทพฺพเห)” [70]
                   พระสิริมังคลาจารย์ ได้นำเรื่องบุตร 4 ประเภทที่เคยกล่าวแล้วมาอธิบายอีก โดยชั้นของบุตรเป็น 3 ระดับ คือ 1. อติชาตบุตร(บุตรมีคุณธรรมมากกว่าบิดามารดา) 2. อนุชาตบุตร (บุตรมีคุณธรรมเสมอกับบิดามารดา) และ 3. อวชาตบุตร(บุตรเป็นผู้ทุศีล ปราศจากธรรม เหมือนบิดามารดาที่ทุศีล ไร้คุณธรรม) พระเวสสันดรซึ่งเป็นผู้มีศีลต้องประพฤติตามคำพระเจ้าสัญชัยผู้มีศีลทรงธรรมจัดว่าเป็น อนุชาตบุตร และเป็นอัตรชบุตร(สีลวา กลฺยาณธมฺโม เวสสนฺตโร ราชา ตถา ธมฺเม ฐิโต มหาราชา(สญฺชยราชา) [71]
                   พระสิริมังคลาจารย์นับเวลาการอยู่ในเขาวงกตจนถึงวันที่สึกจากเพศฤาษี ได้ทั้งหมด 9 เดือนครึ่ง ดังนี้  นับจากวันที่บวชเป็นฤาษีจนถึงวันที่พระราชทานพระโอรสพระธิดา เป็นเวลา 7 เดือน จากวันที่พระราชทานพระโอรสธิดาไปถึงวันไถ่คืน เป็นเวลา 15 วัน  จากวันไถ่คืนถึงวันที่สึกเป็นเวลาประมาณ 2 เดือน (1 เดือน กับ 23 วัน) [72]
                   ในเวสสันตรทีปนี พระสิริมังคลาจารย์ได้เล่าขั้นตอน  พระราชพิธีบรมราชาภิเษกทูลอัญเชิญพระเวสสันดรขึ้นครองราชย์เอาไว้อย่างละเอียด ตามความปรากฏในหน้า 438-9 (ผู้ประสงค์รายละเอียดพึงค้นคว้าจากที่อ้างไว้)  เป็นพิธีบรมราชาภิเษกพระเวสสันดรขึ้นเป็นราชาผู้ปกครองที่กลางป่าหิมพานต์นั้นเอง
                   ในส่วนของพระนางมัทรี ก็ต้องแต่งพระองค์ให้ครบเครื่องอย่างนางกษัตริย์ผู้จะเป็นราชินีคู่บัลลังก์ พระสิริมังคลาจารย์จึงใช้เนื้อที่อธิบายเครื่องประดับของพระนางมัทรี ด้วยเครื่องอาภรณ์ และภูษาทรงหลากหลาย(สพฺพาภรณภูสิตา) ให้สวยงามที่สุด(อโสภถ, อโสภิตฺถ) นับแต่ ภูษา ก็เป็นผ้าเนื้อดีที่นำมาจากกาสีรัฐ (ผ้าโกเสยยะ ผ้าที่ทอและสอดด้วยดิ้นทอง) โขมรัฐ และโกฏุมพรรัฐ และผ้าโกฏุมพร(โกทุมพร)  คือผ้าขนสัตว์ ที่ตัดเอามาจากขนสัตว์มาทำให้อ่อนนุ่มละเอียด
ส่วนเครื่องอาภรณ์เครื่องประดับ ก็ประดับทั่วร่างกาย มีเครื่องประดับคอ(กายุรํ) เครื่องประดับต้นแขน เครื่องประดับเอวทำด้วยแก้วมณี (องฺคทาภรณญฺจ มณิมยํ เมขลญฺจ) ผู้เขียนคิดว่า คงเป็นเครื่องเพชร เครื่องประดับหน้า (มุขผุลฺล) เครื่องประดับถัน(อุคฺคตฺถน) เครื่องประดับไหล่(คิงฺคมกํ)เครื่องประดับเท้า (ปาทปสาธนํ) เรียกว่า แต่งให้งามทั้งตัว   
ได้เห็นพ่อแม่ให้พรลูก เมื่อพระชาลีและพระกัณหาชินามากราบเฝ้า พระเวสสันดรและพระนางมัทรีได้ให้พรว่า “ด้วยอำนาจบุญที่เกิดจากแม่และพ่อ ขอให้บุญนั้นจงอภิบาลลูกด้วยเถิด(มาตาปิตูนํ สนฺตกํ  ปุญญํ ตํ ปาเลตุ)”
เมื่อการเตรียมทางราชมรรคาเพื่อการต้อนรับการเสด็จนิวัติจากเขาวงกตจนถึงพระนครสีพี เรียงรายเต็มไปด้วยเครื่องอลังการอันวิจิตรมีต้นกล้วย  หม้อน้ำเต็ม ธงชัย และธงแผ่นผ้า เป็นต้น  และเครื่องสักการะบูชาที่เรียกว่า ข้าวตอกดอกไม้(ลาชปญฺจมานิ ปุปฺผานิ) ทุกคนก็เคลื่อนพลทัพ โดยพระเวสสันดรทรงช้างปัจจัยนาค พระนางมัทรีทรงช้างรุ่น กลับสู่นคร เดินทางวันละโยชน์ ใช้เวลาในการเสด็จกลับ  2 เดือน
รวมเวลาในการถูกเนรเทศ อยู่เขาวงกตจนได้กลับคืนสู่นครสีพี ประมาณ 1 ปี นั้นคือ   นับแต่ออกจากนครไปถึงอาศรมเขาวงกต ระยะทาง 60 โยชน์ เทวดาย่นทางให้ 30 โยชน์ถึงเจตราช) 1 วัน ที่เหลือ อีก 30 โยชน์ ไม่ระบุชัด ว่าเดินทางวันละเท่าใดแต่บอกว่าพักระหว่างทาง 1 ราตรี หากเทียบชูชกกับสองกุมารกลับ เดินทางวันละ 4 โยชน์  จะใช้เวลา 7 วัน 7 เดือนที่อยู่ก่อนชูชกมาขอ 15 วันชูชกพากลับไปเชตุดร เดือนครึ่งพระบิดาเดินทางมารับ (ตรงนี้พระเวสสันดรว่าท่านอยู่ได้ 9 เดือนครึ่ง) พระบิดาพักอยู่ในป่าด้วย 1 เดือน   และเดินทางกลับจากเขาวงกต 2 เดือน) 
พระเวสสันดรครั้นขึ้นครองราชย์สมบัติ ปรารถนาจะทำมหาทานในวันรุ่งขึ้น ห่าฝนแก้วเจ็ดประการก็ตกลงมาตลอด 7 วัน 7 คืน ฝนแก้วตกลงไปที่บริเวณบ้านเรือนของผู้ใด ก็ทรงพระราชทานให้แก่ผู้เป็นเจ้าของสถานที่ ส่วนฝนแก้วตกลงในพื้นที่ที่เหลือ ให้พนักงานขนเข้าสู่ท้องพระคลังหลวง พระเวสสันดรทำบริจาคทานตลอดพระชนม์ชีพ สิ้นอายุขัยก็ไปอุบัติเป็นเทพบุตรนามว่า เสตเกตุ ในสวรรค์ชั้นดุสิต มีอายุขัยได้ 6 ล้านโกฏิ 57 ปี [73]
พระสิริมังคลาจารย์ให้ข้อสังเกตว่า เวสสันดรเทศนาดูจะเน้นการให้ทานเป็นหลักก็จริงแต่ หากดูการแสดงออกของพระเวสสันดรในเรื่องต่างๆแล้ว พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญบารมีได้ครบทั้ง 10 ทัศ ดังนี้ 1. ทานบารมี(ตลอดเรื่อง) 2. การสละราชสมบัติออกบวช เป็นเนกขัมบารมี  3. การรักษาศีลแบบฤาษี ไม่แตะเนื้อต้องตัวนางมัทรี 7 เดือน เป็นศีลบารมี 4. ความอุตสาหะในทานเป็นวิรยบารมี 5. ความอดทนอดกลั้น เป็นขันติบารมี 6. การให้ทานตามคำปฏิญญา เป็นสัจจบารมี 7. การไม่หวั่นไหวมั่นคงในการให้ทาน เป็นอธิษฐานบารมี 8. ความเป็นผู้มีอัธยาศัยเกื้อกูลในสรรพสัตว์ เป็นเมตตาบารมี 9. การงางใจเป็นกลางในการเปลี่ยนแปลงสังขารของสรรพสัตว์ เป็นอุเบกขาบารมี 10. ความฉลาดในอุบาย(ความเจริญ)ในทาน เป็นปัญญาบารมี [74]
การประชุมชาดก(ชาตกสโมธาน) เป็นมติของพระชาตกภาณกาจารย์ ดังที่กล่าวแล้ว แต่มีข้อที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า พระนางกัณหาชินา มิได้ปรารถนามาเกิดเป็นพระราชบุตรีของพระสิทธัตถะอีก เพราะน้อยพระทัยที่พระเวสสันดรไม่รักลูก ไม่พยายามปกป้องอะไรเลย นั่งดูตาปริบ ๆ ปล่อยให้ชูชกคร่าทุบตีต่อหน้าต่อตาอย่างไม่ปรานีปราศรัย จึงไปเกิดเป็นพระนางอุบลวรรณาธิดาเศรษฐีแทน ความข้อนี้ ขอให้ข้อสันนิษฐานหยาบ ๆ ว่า ในเมื่อ พระสิทธัตถะออกผนวชในวันที่พระราหุลประสูติ และพระราหุลเป็นพระราชโอรสองค์แรก เมื่อบิดาออกผนวชไปจึงเป็นอันหมดโอกาสที่จะมีพระโอรส หรือ พระธิดาองค์อื่น ๆ มาเกิดอีก
เมื่อจบการอธิบายขยายความเวสสันตรชาดกแล้ว ตอนสุดท้ายพระสิริมังคลจารย์ก็แต่งคำลงท้าย(นิคมกถา) ที่ตั้งความปรารถนาเอาไว้ จึงขอยกคำปรารถนาของท่านมาแสดง ดังนี้
อรหนฺตุ อุตฺตมํ ผลํ                  อรหตฺตนฺติ สญฺญิตํ
ลงฺกตํ สพฺพคุณหิ                     ลเภยฺยํ ภวอนฺติเม
ยทหฺยริยเมตฺเตยฺโย                  อุปฺปนฺโน โลกนายโก
ตสฺส ธมฺมํ สุณิตฺวาน                 คจฺเฉยฺยํ  ปรมํ ผลํ
ตทาหํ ลงฺกโต สิยํ                    คุเณหิ สกเลหิปิ
  (ในชาติสุดท้าย ขอให้ข้าพเจ้าได้บรรลุเป็นอรหันต์ ที่เป็นอุดมผล ประกอบด้วยคุณทุกอย่าง ถ้าพระศรีอาริยเมตไตรย มาตรัสรู้เป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์เมื่อใด ขอให้ข้าพเจ้าได้สดับพระธรรมเทศนาของพระองค์และได้บรรลุผลสูงสุดอันประกอบด้วยคุณทั้งมวลเทอญ)

4. เวสสันตรชาดก นัยสำคัญต่อวิถีสังคมและวัฒนธรรมล้านนา
          ชาวล้านนามีความผูกอันแนบแน่นอยู่กับพระพุทธศาสนา วิถีล้านนาเป็นวิถีพุทธ  แม้จะมีความเชื่อเรื่องผี และไสยศาสตร์ปนอยู่ก็ตาม แต่ความเด่นอยู่ที่วัฒนธรรมและประเพณีทางพระพุทธศาสนา มหาเวสสันดรชาดก สอนในเรื่องการให้ทาน การบริจาค ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ผลจากการซึมซับรูปแบบของคนดีน้ำใจงามจากพระเวสสันดร หล่อลอมให้ชาวล้านนานับแต่โบราณกาลจวบปัจจุบันมีอัธยาศัยงดงาม โอบอ้อมอารี อ่อนโยน อ่อนหวาน มีไมตรีจิตกับทุกคน เป็นที่ประทับจิตติดในความทรงจำของผู้ที่ได้มาสัมผัสกับชาวล้านนา หลงมนตร์เสน่ห์แห่งวิถีล้านนาวิถีพุทธยากที่จะลืมเลือนไปได้
          4.1 ประเพณีตั้งธัมม์หลวง[75] ประเพณี 12 เดือน ของชาวล้านนา ที่สัมพันธ์กับเวสสันดรชาดก ก็คือประเพณี ยี่เป็ง (เดือน 12 ภาคกลาง) นอกจากจะลอยกระทง ล่องสำเภา ตามประทีป ปล่อยโคมไฟแล้ว  ในเดือนนี้ หลายวัด หลายชุมชน จะประกอบพิธีฟังเทศน์ เรื่องพระเวสสันดร ที่เรียกว่า   “ตั้งธัมม์หลวง”  หมายถึงการฟังพระธรรมเทศนาเรื่องใหญ่หรือเรื่องสำคัญ เพราะธัมม์หลวงที่ใช้เทศน์มักจะเป็นเวสสันดรชาดก อันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะได้มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า     
          4.2 อานิสงส์ของการฟังเทศน์เวสสันตรชาดก        ชาวล้านนามีความเชื่อกันว่า หากได้ฟังเทศน์มหาชาติครบ13 กัณฑ์ ด้วยบุญผลานิสงส์ จะไปเกิดในยุคพระศรีอาริยเมตไตรยในอนาคต ที่มีความสุขดุจสรวงสรรค์ ไม่ต้องประกอบอาชีพทำมาหากินให้ลำบาก ในคัมภีร์มาลัยสูตรว่า เมื่อครั้งพระมาลัยขึ้นไปนมัสการพระเกศแก้วจุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์นั้น ได้พบพระอริยเมตไตรยเทพบุตร ท่านก็ได้บอกพระมาลัยว่า ให้คนทั้งหลายฟังธรรมมหาชาติจบทั้ง 13 กัณฑ์ในวันเดียวคืนเดียว แล้วจะได้ร่วมกับศาสนาของเรา  เมื่อพระมาลัยกลับจากสวรรค์แล้ว ก็นำเรื่องนี้มาบอก คนทั้งหลายได้ฟังก็เลยพากันฟังเทศน์มหาชาติจน ถือเป็นประเพณีสืบมา
          ในหนังสือมหาชาติภาคพายัพ สำนวนฉบับสร้อยสังกร เรียบเรียงโดย พระอุบาลีคุณูปมาจารย์(ฟู อตฺตสิโว) อดีตเจ้าอวาสวัดพระสิงห์ เชียงใหม่ กล่าวไว้ในอานิสงส์มหาเวสสันดรชาดกว่า “ปูชา ปาเก เตชยนฺติ ทุคฺคติ เตน ปุญฺญสฺส ปาเก ความว่า คนทั้งหลายฝูงใดได้บูชามหาเวสสันดรชาดก ผู้นั้นก็จักได้เป็นท้าวพระยาในเมืองคน ยศบริวารบ่จนมีมาก ช้างม้าหากเนืองนัน มีกองนันทเภรีเก้าพันลูก เพี๊ยะพิณผูกเก้าพันเสียง สัททะสำเนียงชมชื่น สนุกต้องตืนทุกรวายตรีทิวา ทาสีทาสามีมากพร้อม อยู่แวดล้อมปรนนิบัติ ทิพยสมบัติล้ำเลิศ ก็กลับเกิดมาตาม เล้มเงินเล้มคำแลเสื้อผ้า ทั้งช้างม้าแลข้าวเปลือกข้าวสาร จักมีตามคำปรารถนาทุกเมื่อ จำเริญเชื่อมงคล ยทา ในกาละเมื่อใด พระศรีอาริยเมตไตย มาตรัสผญาปัญญา เป็นพระภายหน้า บุญแก่กล้าก็จักได้หันหน้าท่านบ่สงสัย เหตุได้เป็นปาเถยยะ กันธรรมะเวสสันตรชาดก อันยกมีมาที่นี้แล้ว ก็จักเถิงซึ่งเวียงแก้วยอดมหาเนรพาน แลนา”[76]
          4.3 ธรรมเวสสันตรชาดกล้านนา มีหลายสำนวน สื่อถึงความนิยมฟัง ด้วยเหตุที่เทศน์มหาชาติเป็นที่นิยมมากนับแต่อดีต จึงมีนักปราชญ์ล้านนา แต่งธัมม์(เรียบเรียงด้วยสำนวนล้านนา) มีจำนวนประมาณ 237 สำนวน[77] จำแนกนับตามฉบับเท่าที่ค้นพบได้ มี 425 ฉบับ  เช่น ฉบับวิงวอนน้อย วิงวอนหลวง วิงวอนดอนกลาง หิ่งแก้วมโนวอน ท่าแป้น ริมฅง สร้อยสังกร ล้านช้างเวียงจันทน์ พุกาม พระงาม แม่กุ เมืองหาง พระสิงห์ โคมคำ เชียงของ น้ำดั้นท่อ ไผ่แจ้เรียวแดง พร้าวไกวใบ พร้าวหนุ่ม   อินทร์ลงเหลา ป่าซาง  สะเภาน้อย มหาเวสสันตระฉบับข้าว 49 ก้อน เวสสันตรฉบับนกเค้า มหาเวสสันตระฉบับโทน  ฯลฯ และที่นิยมอย่างมากในปัจจุบันได้แก่ฉบับ สร้อยสังกร แต่งโดยพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ฟู อตฺตสิโว) ได้รวมเอากัณฑ์ที่เด่นๆของฉบับต่างๆมารวมกัน เป็นฉบับใหม่ เป็นต้น ส่วนฉบับที่เป็นภาษาบาลีล้วนเรียกว่า คาถาพัน และฉบับที่แปลคาถาพันเรียกว่า จริยา
4.4 ลำดับพิธีการตั้งธัมม์หลวง เกี่ยวกับลำดับพิธีการตั้งธัมม์หลวงนี้ มีลำดับพิธีดังนี้ [78]  
วันแรก ในการเทศน์ นิยมเทศน์ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือนยี่เหนือ เวลาประมาณ 15.00 น ศรัทธาชาวบ้านจะมาฟังเทศน์คาถาพัน คือเรื่องราวของเวสสันดรชาดกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นภาษาบาลี รวมทั้งหมดมี 1,000 พระคาถา และเทศน์คัมภีร์ต่อไปอีก คือ คัมภีร์มาลัยต้น มาลัยปลายและอานิสงส์เวสสันตระ และธัมม์ไขวิบากเวสสันตระ
            วันที่สอง เป็นวันเพ็ญขึ้น 15  ค่ำ เดือนยี่เหนือ เวลาเช้าตรู่จะเริ่มฟังกัณฑ์ทศพรและกัณฑ์ต่อ ๆ มาตามลำดับ มีเวลาพักตักบาตรตอนเช้าและพระสงฆ์ฉันเพล จากนั้นจะเทศน์ติดต่อกันจนจบ การฟังเทศน์และเป็นเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์ สามารถเป็นเจ้าภาพร่วมกันหรือฟังแบบสืบชาตาต่ออายุ ตามปีเกิดของแต่ละคน เมื่อเทศน์กัณฑ์ใด ให้เจ้าภาพของกัณฑ์จุดธูปเทียน เท่าจำนวนพระคาถา เพื่อบูชาคาถาของกัณฑ์นั้น จนครบคาถา ดังนี้
กัณฑ์ทศพร มี 13 คาถา ปีใจ้(ปีชวด),  กัณฑ์หิมพานต์ มี 86 คาถา ปีเป้า(ฉลู),  ทานกัณฑ์ มี 143 คาถา ปียี(ปีขาล), กัณฑ์ประเวสน์ มี 57 คาถา ปีเหม้า(ปีเถาะ), กัณฑ์ชูชก มี  78 คาถา ปีสี(ปีมะโรง)}  กัณฑ์จุลพล มี 55 คาถา ปีใส้(ปีมะเส็ง), กัณฑ์มหาพน มี 133 คาถา ปีสะง้า(ปีมะเมีย), กัณฑ์กุมาร มี 121 คาถา ปีเม็ด(ปีมะแม), กัณฑ์มัทรี มี 97 คาถา ปีสัน(ปีวอก),  กัณฑ์สักกบรรพ มี 49 คาถา ปีเร้า(ปีระกา), กัณฑ์มหาราช มี 77 คาถา ปีเส็ด(ปีจอ), กัณฑ์ฉกษัตริย์ มี 43 คาถา ปีใค้(ปีกุน), นครกัณฑ์ มี 46 คาถา ทุกปีเกิด เป็นเจ้าภาพร่วมกัน
นี้นับได้ว่า เวสสันตรชาดก มีสาระ คุณค่า และนัยสำคัญต่อวิถีวัฒนธรรมและอารยธรรมของชาวล้านนาอย่างแท้จริง
___________________
หนังสืออ้างอิง
ขุททกนิกายสฺส อปทานสฺส ทุติโย ภาโค พุทฺธวํโส-จริยาปิฎกํ, เวสฺสนฺตรจริยํ, พระไตรปิฎกบาลี เล่มที่ 33, รื่องที่ 9, กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2523.
ขุทฺทกนิกาเย ชาตกปาฬิยา สํวณฺณนาภูตา ชาตกฏฺฐกถา ปฐโม ภาโค เอกนิปาตวณฺณนา, มหาจุฬาอรรถกถา, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 2535.
มหาเวสฺสนฺตรชาตกํ, ขุทฺทกนิกายสฺส ชาตกํ ปญฺญาส-มหานิปาตชาตกํ, สฺยามรฏฺฐสฺส เตปิฏกํ, กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2523.
เวสฺสนฺตรชาตกวณฺณนา, ขุทฺทกนิกาเย ชาตกปาฬิยา สํวณฺณนาภูตา ชาตฏฺฐกถา ทสโม ภาโค    มหานิปาตวณฺณนา ;  อรรถกถา ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, โครงการชำระ ตีพิมพ์อรรถกถาบาลี    โดย พร รัตนสุวรรณ, กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2535.
พระสังฆรักขิตมหาสามี, คัมภีร์สุโพธาลังการ, แปลโดย แย้ม ประพัฒน์ทอง, ธนบุรี : วัดภคินีนาถ, 2512.
พระสิริมังคลาจารย์, เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ, 2540
พระสิริมังคลาจารย์, มงฺคลตฺถทีปนียา ทุติโย ภาโค, พระนคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2529.
พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต), นักวิชาการเทศ-ไทย หาความรู้ให้แน่ ใช่แค่คิดเอา, (พิมพ์ครั้งที่ 2),  กรุงเทพฯ : เจริญดีมั่นการพิมพ์, 2554.
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ฟู อตฺตสิโว), มหาชาติภาคพายัพ ฉบับสร้อยสังกร, เชียงใหม่ สังฆการพิมพ์ 2508. และพิมพ์เนื่องในงานพระราชเพลิงศพ พระครูรัตนมานิตคุณ(แก้ว อินฺทวณฺโณ)  ผช.จล.วัดพระสิงหห์เชียงใหม่. 2554.
พระครูอดุลสีลกิตติ์ (ฐานวุฑโฒ) (สัมภาษณ์, 4 พฤศจิกายน 2551 อ้างในเว็บล้านนาคดี)
มณี พยอมยงค์, ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย, เชียงใหม่ :  ส.ทรัพย์การพิมพ์. 2543.
ลิขิต ลิขิตานันทะ, วรรณกรรมบาลีของประเทศไทย (The Pali Literature of Thailand),  วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต สาขาบาลีศึกษา มหาวิทยาลัยมคธ อินเดีย, 1969, (ฉบับพิมพ์ใหม่ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์).
ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา, วรรณคดีพุทธศาสนาพากย์ไทย, กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2545.
สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,  รายชื่อหนังสือโบราณล้านนา : เอกสารไมโครฟีล์ม(ฉบับปรับปรุง 2552), เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2552.
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส, ปฐมสมฺโพธิ (ภาษาบาลี).   กรุงเทพฯ : คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ จัดพิมพ์ครั้งที่ 1, 2537.
สุภาพรรณ ณ บางช้าง, วิวัฒนาการวรรณคดีบาลีสายพระสุตตันปิฎกที่แต่งในประเทศไทย,  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2539.
อุดม รุ่งเรืองศรี, สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ, กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542, 
Paññãsa-jãtaka or Zimme Pannãsa, 2 Vols., Pali Text Society, text series No. 173, Ed. By Padmanbh S.Jaini, London : The Pali Text Society, Vol. I, 1981 and Vol.II, 1983.

------------


                [1] พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ (อ.ดร.) อาจารย์ประจำสาขาวิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์พิเศษระดับบัณฑิตศึกษาและอนุกรรมการบริหารงานบุคคล มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ เรียบเรียงขึ้นเพื่อน้อมสักการบูชาพระคุณและคุณูปการของพระสิริมังคลาจารย์ พระสังฆเถระ ปราชญ์ชาวเชียงใหม่ แห่งราชอาณาจักรล้านนาในอดีต ผู้รังสรรค์ผลงานวรรณกรรมภาษาบาลี ชั้นยอดเยี่ยม เพื่อการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในโครงการตามรอยพระสิริมังคลาจารย์  สังฆปราชญ์แห่งล้านนา โดยสำนักวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ประจำปีพุทธศักราช 2555(เสนอในการสัมมนาวิชาการ วันที่ 20 ธันวาคม 2555)
                [2] คาถา เป็นคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง ตามแบบฉันทลักษณ์ ในภาบาลี  คาถาโดยทั่วไปจะประกอบไปด้วย 4 บาท  อัตราของฉันท์ คือ 4 บาท เป็น 1 คาถา(แต่ก็มีการประพันธ์ฉันท์ในรูปแบบอื่นๆ ประกอบไปด้วย 2 บาท คาถาบ้าง, 5 บาท คาถาบ้าง, 6 บาท คาถาบ้างดังคาถาที่ปรากฏใน มหาเวสสันตรชาดก) ตัวอย่าง 1 คาถา ที่ท่านประพันธ์แบบปัฐยาวัตรฉันท์ เรียงคำ บาทละ 8 คำ มีทั้งหมด 2 แถว  ในแถวที่ 1 มี 2 บาท คือ บาทที่ 1 และ บาทที่ 2  และแถวที่ 2 ก็มีอีก 2  บาท คือ บาทที่ 3 และบาทที่ 4 รวมทั้งคาถาจึงเป็น 4 บาท นับจำนวนคำประพันธ์ได้ 32 คำ ปัฏฐยาวัตรฉันท์ เป็นที่นิยมใช้มากที่สุด เพราะสำเนียงที่ไพเราะ เนื่องจากมีสำเนียงครุ(เสียงหนัก) และลหุ(เสียงเบา)อย่างละ  6 คำ จึงไพเราะงดงามประดุจนางหงส์ร้อง และนางนกยูงลำแพน ตัวอย่างคาถาที่ท่านประพันธ์ แบบปัฏฐยาวัตร ในชินาลังการ คาถาที่ 123 เห็นว่าเล่นคำได้งดงาม ดังนี้
             โนนานิโน นนูนานิ                      นาเนนานิ นนานิโน
             นูเนนานิ นูนํ น                           นานนนฺนานเนน โน ฯ
                [3] มหาเวสฺสนฺตรชาตกํ, ขุทฺทกนิกายสฺส ชาตกํ ปญฺญาส-มหานิปาตชาตกํ, สฺยามรฏฺฐสฺส เตปิฏกํ, (กรุงเทพฯ : มหา มกุฏราชวิทยาลัย, 2523). เล่ม 28 ข้อ 1045 -1269 หน้า 365-453.
   [4] พระสังฆรักขิตมหาสามี, คัมภีร์สุโพธาลังการ, แปลโดย แย้ม ประพัฒน์ทอง, (ธนบุรี : วัดภคินีนาถ, 2512), หน้า 10.
                [5] เวสฺสนฺตรชาตกวณฺณนา, ขุทฺทกนิกาเย ชาตกปาฬิยา สํวณฺณนาภูตา ชาตฏฺฐกถา ทสโม ภาโค มหานิปาตวณฺณนา;  อรรถกถา ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, โครงการชำระ ตีพิมพ์อรรถกถาบาลี โดย พร รัตนสุวรรณ, (กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2535), ชาดกเรื่องที่ 547  หน้า 287-460.
                [6] เวสสันตรจริยาที่ 9, พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 25,ขุททกนิกาย อปทาน ภาค 2, พุทธวังสะ-จริยาปิฎก :  “เราสละพ่อชาลี แม่กัณหาชินาผู้ธิดา และพระนางมัทรีเทวีผู้มีจริยาวัตรอันงาม ไม่คิดถึงเลย เพราะเหตุแห่งโพธิญาณนั่นเอง เราจะเกลียดบุตรทั้งสองหามิได้ จะเกลียดพระนางมัทรีก็หามิได้ แต่สัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา ฉะนั้น เราให้บุตรและภรรยาผู้เป็นที่รัก”
                [7] สุภาพรรณ ณ บางช้าง(รศ.ดร.), วิวัฒนาการวรรณคดีบาลีสายพระสุตตันปิฎกที่แต่งในประเทศไทย, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2539), หน้า 381-382.
                [8]  เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ, 2540), คำชี้แจงหน้า (2)-(4) เรียงคัมภีร์ได้ 93 เล่ม ;  สุภาพรรณ ณ บางช้าง(รศ.ดร.), เรื่องเดียวกัน, หน้า 402, บอกจำนวนคัมภีร์ที่ใช้อ้างอิงว่ามีจำนวนไม่น้อยกว่า 90 เล่ม.
                [9] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, ปริวรรตจากหนังสือ “พฺรมหาเวสฺสนฺตรทีปนี” จารลงใบลาน อักษรขอม ภาษาบาลี ซึ่งมีจำนวน 19 ผูก เส้นจาร ฉบับล่องชาด ไม่ปรากฏสถานที่จาร, ไม่ปรากฏปีที่จาร, เลขที่ 10036/19, /ก/1-2, /ค/1-2, /ม/1, /ง/1, /จ/1, /ฉ/1, /ช/1, /ฌ/1, /ฐ/1, /ฑ/1,  เป็นอักษรไทย ตีพิมพ์เผยแพร่เนื่องในงาน พระราชทานเพลิงศพ พระเทพธรรมาภรณ์(สุรพงส์ ฐานวโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพ เขตพระนคร กรุงเทพฯ (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ, 2540). 
                [10] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 473-473 ตอนสุดท้ายก่อน นิคมคาถา ความว่า “อิติ นวปุเร ปติฏฺฐิตสีหฬารามสฺส ทกฺขิณปจฺฉิมทิสายํ ปติฏฺฐิเต ทยฺยภาสาย สฺวนขฺวนฺอิติ ปากฏนาเม วิหาเร วสนฺเตน มหุสฺสาเหน ติปิฏกธเรน  สทฺธาพุทฺธิวิริยปฏิมณฑิเตน สปรานํ โกสลฺลมิจฺฉนฺเตน สิริมงฺคโลติครูหิ คหิตนาเมน มหาเถเรน ปรเมนฺเท นวปุเร อิสฺสรสฺส ลกวฺหยราชนตฺตุโน ราชาภิราชสฺส มุนินฺทสฺส สพฺพราชูนํ ติลกภูตสฺส ปรมสทฺธสฺส ปตฺถิตสพฺพญฺญุตฺญาณสฺส พุทธสาสเน ปสนฺนสฺส กาเล เอกูนสีตาธิกฏฺฐสตสกฺกราเช โควสฺเส กตา อยํ เวสฺสนฺตรทีปนี”
                [11] มงฺคลตฺถทีปนียา ทุติโย ภาโค(พระนคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2529), หน้า 479 ความว่า “อิจฺจายํ นวปุรสฺส ทกฺขิณทิสาภาเคน คาวุเต ฐาเน วิวิตฺเต สมฺปตฺตานํ ปสาทชนเก สุญฺญาคาเร วสนฺเตน วิเวกาภิรเตน มสุสฺสาเหน ติปิฏกธเรน...กาเล ฉฬาสีตยาธิกฏฺฐสตสกฺกราเช มกฺกฏวสฺเส กตา มงฺคลตฺทีปนี”.
                [12] สุภาพรรณ ณ บางช้าง(รศ.ดร.),  เรื่องเดียวกัน, หน้า 387-389,
                [13] พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต), นักวิชาการเทศ-ไทย หาความรู้ให้แน่ ใช่แค่คิดเอา (พิมพ์ครั้งที่ 2),  (กรุงเทพฯ : เจริญดีมั่นการพิมพ์, 2554.), หน้า 31,32, 51, 83.
                [14] ลิขิต ลิขิตานันทะ, วรรณกรรมบาลีของประเทศไทย (The Pali Literature of Thailand),  วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต สาขาบาลีศึกษา มหาวิทยาลัยมคธ อินเดีย, 1969, (ฉบับพิมพ์ใหม่ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยอาจารย์สมใจ นิลเกษ 2552), หน้า 133-135.
                [15] ลิขิต ลิขิตานันทะ ไม่ได้ระบุนาม พระพรหมราชปัญญา ผู้แต่ง “รัตนพิมพวังสะ” รวมเอาไว้ในวิทยานิพนธ์.
                [16] Paññãsa-jãtaka or Zimme Pannãsa, 2 Vols., Pali Text Society, text series No. 173, Ed. By Padmanbh S.Jaini, (London : The Pali Text Society, Vol. I, 1981 and Vol.II, 1983.
                [17] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 467. “คาถาสหสฺสปฏิมณฺฑิตนฺติ ทส วเร จ เตรส, หิมวนฺเต จ ตุนาสีติ, เตตาฬีสสตํ ทนกณฺเฑ, เอกูนสฏฺฐี ตุ วนปฺปเทเส,  ชูชเก อฏฺฐสตฺตติ ปญฺจปญฺญาสกา จุฬวเน, เตตฺตึสกา สตํ มหาวเน, กุมาเร ตุ เอกวีสาธิสตํ, มทฺทีปพฺเพ ตฺยูนสตํ, สกฺกปพฺเพ ตุ เอกูนปญฺญาสํ, สตฺตสตฺตติ มหาราเช,  ติตาฬีสํ ฉกฺขตฺติเย, ฉตาฬีสํ คาถาโย นคเรสิยุ ฯ”
                [18] มหาเวสฺสนฺตรชาตกํ, ขุทฺทกนิกายสฺส ชาตกํ ปญฺญาส-มหานิปาตชาตกํ, สฺยามรฏฺฐสฺส เตปิฏกํ, (กรุงเทพฯ : มหา มกุฏราชวิทยาลัย, 2523). เล่ม 28 ข้อ 1045 -1269 หน้า 365-453.
                [19] พร 10 ประการ คือ 1. ขอให้ได้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าสีพี  2. ขอให้มีนัยน์ตาดำ(บาลีว่า นีลเนตฺตา)  3. ขอให้มีขนคิ้วดำ (บาลีว่า นีลภมู) 4. ขอให้มีชื่อว่าผุสดีตามนามเดิม 5. ข้อให้ได้พระโอรส 6.  เมื่อมีครรภ์ขอให้ครรภ์ไม่นูนเด่น 7. ขออย่าให้ถันคล้อยยาน 8. ขออย่าให้ผมหงอก 9. ขอให้มีผิวละเอียด 10. ขอให้สามารถปล่อยนักโทษประหารได้
                [20]  พระไตรปิฎกบาลี เล่มที่ 33, ขุททกนิกายสฺส อปทานสฺส ทุติโย ภาโค พุทฺธวํโส-จริยาปิฎกํ, เวสฺสนฺตรจริยํ, เรื่องที่ 9, (กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2523). ข้อ 9, หน้า 559-565.
                [21] ขุทฺทกนิกาเย ชาตกปาฬิยา สํวณฺณนาภูตา ชาตฏฺฐกถา ปฐโม ภาโค เอกนิปาตวณฺณนา;  อรรถกถา ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ; โครงการชำระ ตีพิมพ์อรรถกถาบาลี โดย พร รัตนสุวรรณ, (กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2535), หน้า 1. หมายเหตุ คำแปลในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย 91 เล่ม ไม่ตรงตามคำบาลีอย่างที่ผู้เขียนแปลข้างบนนี้
            [22] เวสฺสนฺตรชาตกวณฺณนา, หน้า 386. : “ยทา หิ สตฺถา ปวตฺติตปวรธมฺมจกฺโก อนุกฺกเมน ราชคหํ คนฺตฺวา ตตฺถ เหมนฺตํ วีตินาเมตฺวา อุทายิตฺเถเรนมคฺคุทฺเทสเกน วีสติสหสฺสขีณาสวปริวุโต ปฐมคมเนน ยาวกปิลวตฺถุ อคมาสิ ฯ
                [23] ภนฺเต อนาคเต กาเล ตุมหาทิสสฺส พุทฺธสฺส มาตา ภเวยฺยนฺติ ปตฺถนํ อกาสิ
                        [24]  ขุททกนิกาย จริยาปิฏกํ เล่ม 33  ข้อ 77 หน้า 591,             “น มยฺหํ  มตฺติกํ นามํ                        นปิ เปตฺติกสมฺภวํ
                                                                                             ชาโตมฺหิ เวสฺสวิถียํ                ตสฺมา เวสฺสนฺตโร อหุ ฯ”
                [25]  ชาตฏฐกถา ทสโม ภาโค, หน้า 311,       “มรณํ วา ตยา สทฺธึ     ชีวิตํ วา ตยา วินา
                                                                             ตเทว มรณํ เสยฺโย        ยํ เจ ชีเว ตยา วินา ฯ”
                [26] ชาตฏฐกถา ทสโม ภาโค, หน้า 323, “วรุณินฺติ  มชฺชทานํ นาม นิปฺผลนฺติ ชานาติ, เอวํ สนฺเตปิ สุราโสณฺฑา ทานคฺคํ ปตฺตา เวสฺสนฺตรสฺส ทานคฺเค สุรํ น ลภิมฺหาติ วตฺตุ มา ลภนฺตูติ ทาเปสิ.”
                [27]  ชาตฏฐกถา ทสโม ภาโค, หน้า 346,  “เย เกจิ ปพฺพชิตุกามา, เต อิเม คณฺหนฺตุ.ชาตฏฐกถา ทสโม ภาโค, หน้า 323,
                [28] ชาตฏฐกถา ทสโม ภาโค, หน้า 402-3,  “อถสฺสา  หตฺถโต ขณิตฺติ ปติ, ตถา อํสโต อุคฺคีวญฺจ ปติ, ทกฺขิณกฺขิ จ ผนฺทติ, ผลิโน รุกฺขา อผลา วิย อผลา จ ผลิโน วิย ขายึสุ, ทส ทิสา น ปญฺญายึสุ”
                [29] ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา(ศ.ดร.), วรรณคดีพุทธศาสนาพากย์ไทย, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา, (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2545). หน้า 93-94.
                [30] ขุทฺทกนิกาเย ชาตกปาฬิยา สํวณฺณนาภูตา ชาตกฏฺฐกถา ปฐโม ภาโค เอกนิปาตวณฺณนา, มหาจุฬาอรรถกถา, 2535 หน้า2-139.
                [31] สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส, ปฐมสมฺโพธิ (ภาษาบาลี), (กรุงเทพฯ : คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ จัดพิมพ์ครั้งที่ 1, 2537), หน้า 164.  บอกต่างว่า ออกพรรษาแรก อยู่ที่พาราณสี อีกเดือนหนึ่ง หมดเดือน 12 จึงไปตำบลอุรุเวลา อยู่ที่นั่น 2 เดือน แล้วมาอยู่ที่ราชคฤห์ 2 เดือน พระกาฬุทายีมาถึง ประมาณ 7 หรือ 8 วัน ก่อนถึงวันเพ็ญเดือน 4 และเชิญพระพุทธเจ้าไปกบิลพัสดุ์

                        [32]  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส, ปฐมสมฺโพธิ (ภาษาบาลี), หน้า 163.
                [33] สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส, ปฐมสมฺโพธิ (ภาษาบาลี),  หน้า 181.
                        [34]  เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 26.
                [35] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 27.
                [36] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 65.
                [37] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 80.
                [38] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 81.
                [39] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 87.
                [40] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 110.
                [41] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 111-2.
[42] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 118.
                [43] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 137.
                [44] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 141.
                [45] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 154.
                [46] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 163.
                   [47] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 168-170.
                [48] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 176.
                [49] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 188-190.
                [50] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 205.
                [51] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 218.
                [52] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 235.
                [53] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 246.
                [54] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 296-7.
                [55] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 334. อิทฏฺฐกถายํ อิติ มทฺที ภิกฺขเว เอวํ สา อุตฺตมสรีรา วราโรหา มทฺที รุกฺขมูลาทีสุ วิจรนนตี ทารเก อทิสฺวา นิสฺสํสยํ มตา ภวิสฺสนฺตีติ พาหา ปคฺคยฺห กนฺทิตฺวา ตตฺเถว เวสฺสนฺตรสฺส  ปาทมูเล ฉินฺนมูลา  สุวณฺณกทลี วิย  ฉมายํ ปตตีติ วุตฺตํ.
                [56] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 336.
                [57] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 337.
                [58] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 338-339.
                [59] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 343.
                [60] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 355.
                [61] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 370.
                [62] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 373-375 และ ในกุมารปัพพะ หน้า248-251.
                [63] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 384.
            [64]เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 397-8.
                [65] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 395.
                [66] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 450.  
                [67] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 450. จำนวนพลทัพอักโขภินี ตามนัยสัททนีติปกรณ์  ประกอบด้วย 1. กองทัพช้าง 9,000 กอง ๆ ละ 100 เชือก, 2. กองทัพรถ 9,000 กอง ๆ ละ 100 คัน, 3. กองทัพม้า 9,000 กอง ๆ ละ 100 ตัว, 1. กองทัพทหารราบ 9,000 กอง ๆ ละ 100 นาย, 1. กองทัพหญิงสาว 9,000 กอง ๆ ละ 100 นาง (ช้าง 900,000 เชือก รถ 900,000 คัน ม้า 900,000 ตัว ทหารราบ(พลเดินเท้า)  900,000 นาย ทหารฆญิง 900,000 นาง เท่ากับ 5,600,000 คน/เชือก/ ตัว/ คัน แจงออกได้ รถศึก 900,000 คัน ช้างและม้า 1,800,000 ตัว  มนุษย์  4,500,000 คน [ควาญช้าง 900,00 ทหารม้า 900,00  สารถี 900,00 พลราบ 900,00. ทหารหญิง 900,00 ] 
                [68] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 416.
                [69]  เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 426.(หน้า 249 สรุป แผ่นดินไหว 7 ครั้งดังนี้  1. เมื่ออายุ 8 ขวบมีอัธยาศัยในทาน ตั้งปณิธานจะสละแม้ดวงใจแก่ผู้มาขอ 2. เมื่อให้ช้างปัจจนาคเป็นทาน 3.  เมื่อสละสตสดกมหาทานก่อนออกจากเมืองไปเขาวงกต 4. เมื่อเสด็จออกจากวังแลดูที่ประทับ 5. เมื่อพระราชทานพระโอรสและพระธิดาแก่ชูชก 6. เมื่อพระราชทานพระนางมัทรพระมเหสีแก่พระอินทร์ และ 7 เมื่อพระประยูรญาติประชุมกันที่เขาวงกต  (ส่วนการนับในอรรถกถาจริยาปิฎก นับครั้งที่ 7 เกิดขึ้นในวันที่กลับถึงนครมีฝนแก้วตกลงมา แต่ไม่นับการออกจากเมืองดูที่ประทับ ส่วนเวสสันตรชาดกอรรถกถา ไม่กล่าวถึงแผ่นดินไหวในวันที่กลับถึงนคร) นี้เป็นการแสดงความรอบรู้อย่างมหาปราชญ์ของพระสิริมังคลาจารย์
                [70] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 434.
                [71]  เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 435
                [72] เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 437.
                [73]  เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 465.
                [74]  เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า 466.
                [75] มณี พยอมยงค์, ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย, (2543), หน้า 245; อุดม รุ่งเรืองศรี, สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ,        (2542), หน้า 2340-2341.
  [76] พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ฟู อตฺตสิโว), มหาชาติภาคพายัพ ฉบับสร้อยสังกร, เชียงใหม่ สังฆการพิมพ์ 2508. และพิมพ์เนื่องในงานพระราชเพลิงศพ พระครูรัตนมานิตคุณ(แก้ว อินฺทวณฺโณ)  ผช.จล.วัดพระสิงหห์เชียงใหม่. 2554, หน้า 36.
                [77] สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,  รายชื่อหนังสือโบราณล้านนา : เอกสารไมโครฟีล์ม(ฉบับปรับปรุง), เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2552, รวบรวมรายชื่อฉบับที่ไม่ซ้ำกันได้ 237 สำนวน หากนับฉบับจะได้ทั้งหมด 425 ฉบับ นับแต่ลำดับเลขที่ 3106-3522, หน้า 259-294.
                [78] อุดม รุ่งเรืองศรี, สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ,  หน้า 2356 ;  มณี พยอมยงค์, ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย, หน้า 260 ;  พระครูอดุลสีลกิตติ์ (ฐานวุฑฺโฒ) (สัมภาษณ์, 4 พฤศจิกายน 2551 อ้างในเว็บล้านนาคดี)