อาสาฬหบูชา วันเปิดดวงตาส่องสัจธรรมแก่ชาวโลก
พิสิฏฐ์
โคตรสุโพธิ์
อนุกรรมการส่งเสริมศาสนา
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
23/11/2560
ความนำ
เมื่อก่อนพุทธศักราช 45 ปี หลังการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเพียง 2 เดือน(ตรัสรู้
ในวันเพ็ญเดือน 6 (วิสาขะ) เหตุการณ์สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งได้บังเกิดขึ้น
ในวันเพ็ญเดือน 8 ทางจันทรคติ ในภาษาบาลีเรียกว่า “อาสาฬหะ” ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน(สารนาถ) เมืองพาราณสี รัฐอุตตรประเทศ ในประเทศอินเดีย
นั่นก็คือ เป็นวันแห่งการเกิดขึ้นของพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก ทำให้ “พระรัตนตรัย” ภาษาทั่วไปเรียกว่า “แก้ว 3 ประการ” ซึ่งเป็นหลักเคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนครบ 3 องค์ คือ
พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และ พระสังฆรัตนะ การที่ “โกณฑัญญะ” หัวหน้ากลุ่มนักบวช
“เบญจวัคคีย์” เมื่อได้สดับ “ธรรมจักกัปปวัตนสูตร” พระปฐมธรรมเทศนา และได้ดวงตาเห็นสัจธรรม
สำเร็จเป็นพระอริยสาวกท่านแรก
นับเป็นการยืนยันความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ว่า “โพเธสิ ปโพเธยฺยํ
โอตาเรสิ โอตเรยฺยํ” แปลว่า “เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว ก็สามารถสั่งสอนให้ผู้อื่นรู้สัจธรรมตามได้
เมื่อพระองค์ข้ามพ้นสังสารวัฏฏะ(การเวียนว่ายตายเกิด) ได้
ก็สามารถช่วยผู้อื่นให้ข้ามพ้นไปได้” (ถ้าตนเองตรัสรู้ แต่สั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตามไม่ได้
ก็เป็นเพียงระดับพระปัจเจกพุทธเจ้า มิใช่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า) เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์แห่งการเกิดของพระอริยสาวกครั้งแรก
ชาวพุทธจึงเรียก วันเพ็ญเดือน 8 นี้ว่า “วันอาสาฬหบูชา” จัดเข้ากลุ่มวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
ครบ 3 วัน คือ มาฆบูชา วันพระธรรมรัตนะ, วิสาขบูชา
วันพระพุทธรัตนะ, และอาสาฬหบูชา วันพระสังฆรัตนะ (เรียงตามเดือนในรอบปี
มิได้เรียงตามเหตุการณ์)
สาระสำคัญเนื่องใน
วันอาสาฬหบูชา
โดยทั่วไป เมื่อถึงวันอาสาฬหบูชา
ชาวพุทธก็จะประกอบพิธีกรรมตามประเพณี คือ การทำบุญตักบาตรในเวลาเช้า
จะเป็นการไปร่วมทำบุญกันทำที่วัด หรือ ร่วมทำบุญในสถานที่ที่จัดพิธีขึ้นเป็นพิเศษ
ในภาคค่ำก็จะมีการสดับพระธรรมเทศนา และทำประทักษิณเวียนเทียนรอบพระสถูป พระเจดีย์ หรือ พระธาตุ ที่ศาสนสถาน บางคนจะถือศีลปฏิบัติธรรมนอนที่วัด
ที่กล่าวมานี้ เป็นจารีตประเพณีที่ชาวพุทธต่างได้รับรู้และปฏิบัติตามสืบๆกันมาเป็นวิถีชีวิต
แต่คงมีน้อยคนที่จะลงมือศึกษา ถอดแก่นความรู้ที่ทำให้เกิด
วันอาสาฬหบูชาอย่างจริงจัง ค้นหาว่า หลักการสำคัญอะไร ที่ทำให้คนธรรมดาสามัญอย่างพวกเรา
เกิดการหยั่งรู้สภาวธรรม เกิดดวงตาธรรม สามารถเปลี่ยนแปลงคุณภาพของตนจากความเป็นปุถุชน
เป็นพระอริยสาวกได้
เพื่อให้ผู้อ่านได้คิดตาม
เกิดเห็นภาพเหมือนอยู่ในเหตุการณ์ จะขอแบ่งประเด็นหลักและลำดับสาระสำคัญ
จากการที่นักบวชเบญจวัคคีย์ ผู้มีดวงตาถูกปิดด้วยอวิชชา แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาโปรด
ช่วยเปิดดวงตาให้สว่าง แสดงหลักการคิดและแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง จนเกิด
“ธรรมจักษุ” หยั่งเห็นสัจธรรมของชีวิต เป็นอิสระข้ามพ้นจากสังสารวัฎฎ์ ดังต่อไปนี้
1. กับดักหลักคิดและทฤษฎี
ทางตันแห่งความหลุดพ้นของนักบวชอินเดียสมัยพุทธกาล
ในสมัยพุทธกาล
นักบวชอินเดียจำแนกเป็นหลายกลุ่ม
รวมทั้งวิธีการปฏิบัติก็แตกต่างกันไป แยกเป็นกลุ่ม เป็นประเภท เช่น อาชีวกะ
อเจลกะ นิครนถ์ ฤาษี มุนี สายนักบวชเหล่านี้ เรียกรวมว่า “สายสมณะ” อันที่จริง พวกพราหมณ์ เป็นวรรณะนักบวช(ผู้มีหน้าที่ทำพิธีกรรมทางศาสนา)
โดยกำเนิด พวกพราหมณ์วางเป้าหมายชีวิตไว้ 4 ขั้น(อาศรม 4) แต่เมื่อผ่านวัยไป
หลังจากครองเรือนระยะหนึ่ง บางกลุ่ม ถือ การอยู่ป่า (วานปรัสถ์) บางกลุ่มถือเพศเป็นนักบวช(สันยาสี) เป้าหมายสูงสุดของชีวิตที่นักบวชต้องเข้าถึง
คือ “โมกษะ” แปลว่า “ความหลุดพ้น” ความเป็นอิสระจากความทุกข์เพราะการวนเวียนในการเกิด
แก่ ตาย และกลับมาวนซ้ำ เกิด แก่ ตาย ถือว่าเป็นความทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด หากจะนับกลุ่มหลักในสายความคิดและการปฏิบัติ
สมัยนั้นเรียกว่า ลัทธิครูทั้ง 6 จัดกลุ่มความคิด ได้ 3 สาย คือ สายจารวาก หรือ
กลุ่มวัตถุนิยม ไม่สนใจศีลธรรมความดีความงามอะไร
ใช้ชีวิตตามความคิดและต้องการของตนในปัจจุบัน
เพราะชีวิตสิ้นสุดเพียงแค่ตายลงเป็นอันสิ้นสุด อีกกลุ่มหนึ่ง ถือคำสอนในคัมภีร์พระเวทเป็นหลัก
เรียกว่า “สายอาสติกะ” หมายถึงผู้เชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธิ์ของพระเวทที่ฤาษีได้รับโองการมาจากพรหมัน
ชะตาชีวิตขึ้นอยู่กับบุรพกรรม และความการกำหนดโดยพรหมันผู้มีอำนาจชี้ขาด
กลุ่มสุดท้าย ไม่ยอมรับว่า
พระเวทมีความศักดิ์สิทธิ์ชี้ตายชี้เป็นและกำหนดชะตาชีวิตมนุษย์
แต่เชื่อการกระทำ(กรรม)และความพยายามของตน ที่เป็นตัวกำหนดจุดหมาย พึ่งตนเอง ไม่ต้องพึ่งอำนาจมหาเทพ
เรียกว่า “สายนาสติกะ”
สายจารวาก ที่ไม่ยอบรับระบบศีลธรรม
และกฎแห่งการกระทำดีหรือชั่วขอยกไว้ แต่สองสายที่เหลือ คือ สายคิดแบบอาสติกะ และ
สายนาสติกะ
ต่างล้วนเชื่อมั่นในระบบศีลธรรมและระบบกฎแห่งกรรม เชื่อในการเวียนเกิดเวียนตาย ที่ต้องเวียนว่ายตายเกิด
เพราะมีความไม่รู้ “อวิชชา” เป็นหลัก และยังมีกิเลสอื่นๆ
เป็นตัวเสริมทำให้ต้องตกในวงโคจร เวียนวน กิเลส เป็นเหตุให้ทำกรรม กรรมส่งวิบากผลให้เวียนว่ายตายเกิด
เพราะเมื่อยังมีอวิชชา เกิดมาก็ยังหลงทำกรรมใหม่ลงไปอีก กรรมนั้นก็จะส่งผลให้เกิดซ้ำซากต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด อย่างไรก็ตาม ความหวังที่จะหลุดพ้นจากสังสารวัฏฏ์ก็มีอยู่
และเชื่อว่ามีวิธีการทำให้สังสารวัฏฏ์สิ้นสุดลงได้
ก็คือ ทำให้จิตใจบริสุทธิ์ ทำให้กิเลสหมดไป หรือ ล้างกิเลสออกจากใจ
เมื่อใจบริสุทธิ์ ก็จะบรรลุความหลุดพ้น แต่วิธีการชำระล้างกิเลสให้หมดไปจากใจจะทำอย่างไร
สมัยนั้น ครูอาจารย์สอนกันมาว่า
ในการทำกิเลสให้หมดไปจากใจ มีแนวคิดและวิธีปฏิบัติ อยู่ 2 ประการ
คือ
แบบกามสุขัลลิกานุโยค(อย่างหย่อน)
และแบบอัตตกิลมถานุโยค(อย่างตึง)
1) แนวปฏิบัติแบบแรก เอาใจตนเองเข้าวัดว่า อะไรก็ตามที่เรารักเราชอบ
เช่น ความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ฉลองมันเสียให้อิ่ม ปรนเปรอมันให้หนำใจ อะไรที่เรามี
เราจมอยู่กับมันซ้ำๆ สุดท้ายจะถึงความเบื่อหน่ายไปเอง นี้เป็นกับดักที่ 1 พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“ไม่มีความอิ่มในการเสพบริโภคสิ่งที่ทำให้สนุกสนานแบบโลก”
เพราะมันเป็นเหมือนหลุมทรายดูด ยิ่งดิ้นก็ยิ่งจมลง
2) แนวปฏิบัติแบบที่ 2 คือ
การปฏิบัติบำเพ็ญตบะ ที่เคร่งครัดเกินไป ทรมานร่างกายของตนอย่างหนัก เช่น
การอดอาหาร ด้วยคิดว่า เมื่อร่างกายไม่มีแรงเอื้อสนองให้ทำการใดๆได้แล้ว
กิเลสก็จะหมดไปเอง การทรมานร่างกาย บำเพ็ญมหาพรตอย่างหนัก จึงเป็นกับดักที่ 2 พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“เป็นทุกข์เปล่า ทำไปก็ไม่เป็นประโยชน์ เป็นสิ่งที่ไม่ประเสริฐ” เพราะกิเลสไม่เกี่ยวกับร่างกายอย่างเดียว
มันอยู่ที่ใจ
การที่พระพุทธองค์แสดงหลักปฏิบัติ 2 ทางตันที่ขวางทางหลุดพ้น
แก่เบญจวัคคีย์ให้เห็นได้อย่างประจักษ์ชัดว่า
เป็นกับดักความคิดและแนวปฏิบัติที่ผิดพลาด
เป็นหล่มที่ลึกที่เมื่อจมลงไปแล้ว ถอนตนขึ้นได้ยากเช่นนี้ได้ ก็เพราะพระองค์ผ่านความทุกข์ยากมาพร้อมกับเบญจวัคคีย์
ที่ซึมซับทุกขั้นตอนของการบำเพ็ญทุกรกิริยา แต่เมื่อพระองค์เลิกละวิธีการทรมานร่างกาย
หันมาแสวงหาทางปฏิบัติใหม่ เริ่มรับประทานอาหารเพื่อฟื้นฟูพระกำลัง
เหล่านักบวชเบญจวัคคีย์ ต่างรู้สึกผิดหวัง เพราะคิดว่า พระองค์ไม่มีทางบรรลุความหลุดพ้นได้
ทั้งนี้ เบญจวัคคีย์ได้ติดหล่มกับดักทางความคิด ของครูโบราณอินเดียอย่างถอนไม่ขึ้นนั่นเอง
จึงได้พากันหลบหนีจากพระองค์ไป
2. มรรควิธีออกจากกับดักทางตัน
เมื่อพระพุทธเจ้าค้นพบทางออกจากทางตัน
กับดักทางความคิดและหล่มการปฏิบัติที่ดูดกลืนความพยายามให้เหลือเป็นศูนย์ได้แล้ว พระองค์จึงเสด็จมาโปรดนักบวชเบญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิมฤคทายวัน
ประกาศว่า พระองค์ตรัสรู้แล้ว ในครั้งแรก เบญจวัคคีย์ปฏิเสธที่จะรับฟังแบบหัวชนฝา ครั้นพระองค์แสดงความเป็นผู้ที่ตรัสแต่ความจริง
อันเป็นคุณสมบัติของพระองค์ ว่า ครั้งก่อนๆ พระองค์เคยยืนยัน ว่าบรรลุอะไรไหม
เบญจวัคคีย์ก็บอกว่า พระองค์ไม่เคยกล่าวอะไรที่ไม่จริงสักครั้ง จึงจำใจจำนนต่อความจริง
แล้วพระพุทธเจ้าทรงหลักปฏิบัติทางสายกลาง “มัชฌิมาปฏิปทา” ปรับทัศนะคติเบญจวัคคีย์ใหม่
ให้เห็นเป็นอีกทางเลือก และเป็นทางที่พระองค์ค้นพบ จนเกิดปัญญา
ด้วยหลักปฏิบัติแนวนี้ จึงพาให้บรรลุถึงความสงบ
ความรู้แจ้ง พระนิพพาน ซึ่งทางสายกลางนี้
มีองค์ประกอบ 8 ประการ
คือ ความเห็นที่ถูกต้อง ความคิดที่ถูกต้อง การพูด การทำการงาน การดำรงเลี้ยงชีพ
อย่างถูกต้อง ความเพียร การดำรงสติ และการมีความสงบอย่างถูกต้อง ซึ่งแนวปฏิบัตินี้
จัดลงเป็นกลุ่มสำหรับฝึกฝนตน เรียกว่า ไตรสิกขา คือ สองข้อแรก เป็นการฝึกปฏิบัติให้เกิดปัญญาอย่างถูกต้อง
อีกสามข้อถัดมา เป็นการฝึกฝนปฏิบัติให้เกิดความเป็นผู้มีศีล
และสามข้อสุดท้ายเป็นองค์ฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดสมาธิ
จะเห็นได้ว่า
แนวปฏิบัติตามหลักทางสายกลางนี้ ไม่มีส่วนใดที่บอกว่า ให้ปฏิบัติข้องแวะสิ่งที่น่ารักน่าใครอย่างสุดหัวจิตหัวใจ
แล้วจะเบื่อหน่ายเอง หรือ แม้แต่การฝึกหัดขัดเกลาในเรื่องศีล ก็ไม่ได้บอกว่า ต้องเคร่งเข้มเอาจริงเอาจังแบบสีลัพพตปรามาส
ต้องว่าไปตามกรอบเส้นที่ขีดให้เดิน และต้องเดินตามกรอบเท่านั้น ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ หากปฏิบัติออกนอกกรอบจะถือว่า
ล้มเหลว
ตามกรอบความคิดและแนวปฏิบัติใหม่
พระพุทธเจ้าให้รู้จักใช้ปัญญาคิดพิจารณาไตร่ตรองด้วยเหตุผล ชั่งผลดีผลเสีย
ประเมินคุณค่าอย่างถูกต้อง ตั้งเป็นธงนำไว้ก่อน เมื่อใดก็ตาม
ถ้าเราตั้งกรอบความคิดให้ถูกต้อง การแสดงออกทางกาย
วาจา แม้กระทั่งความรู้สึกทางอารมณ์ก็จะเบนไปสู่สิ่งที่ถูกต้องได้ พูดง่ายๆ ก็คือ กระบวนการจัดเรียงโมเลกุลทางร่างกายให้เป็นระเบียบ
วางความคิดให้เป็นระบบ รวมกายและใจเป็นหนึ่ง การปฏิบัติเช่นนี้
ย่อมทำให้เกิดการรวมพลังที่เข้มแข็ง เมื่อมีพลังที่เข้มแข็ง
ก็จะสามารถใช้ประโยชน์การชำระความเศร้าหมอง(กิเลส)ในจิตใจได้ เป็นมรรควิธีการชำระกิเลสอย่างเป็นระบบ
เมื่อปัญญา ความรู้แท้เกิดขึ้นมา
อวิชชาตัวการหลักที่ทำให้หลงเวียนว่ายในสังสารวัฏฏ์
ก็เป็นอันถูกชำระให้หมดออกจากใจได้
3. สัจธรรมอันประเสริฐ
ผู้หยั่งรู้สัจธรรม กลายเป็นผู้ประเสริฐ
ประเด็นต่อมาก็คือ ทำอย่างไร
การบวนการใช้ปัญญาในหลักมรรคมีองค์8 จึงจะนับว่า เป็นความเห็นที่ถูกต้อง
พระพุทธองค์ทรงวางกรอบการใช้ปัญญาญาณ ในการพิจารณาสัจธรรมเอาไว้ถึง 3 ระดับ ที่เรียกว่า
“ญาณ 3” คือ
1) ระดับต้น เรียกว่า “สัจจญาณ”
คือ การกำหนดรู้สัจธรรม ว่า สิ่งนี้ เป็นความจริงแท้ๆ
คือต้องเป็นจริงทั้งตามปรากฏการณ์และเป็นจริงตามสภาวะ
2) ระดับที่สอง “กิจจญาณ” คือ การกำหนดรู้หน้าที่ว่า
ในเรื่องนั้นๆ ควรทำหน้าที่อะไร ไม่มีการผิดฝาผิดตัว และ
3) ระดับสุดท้าย “กตญาณ” คือ การกำหนดตรวจสอบประเมินผลการปฏิบัติของการใช้ปัญญาว่า
ในแต่ละเรื่อง แต่ละหน้าที่ ได้ลงมือทำสำเร็จเสร็จสิ้นบริบูรณ์หรือไม่
คำถามว่า จะใช้ปัญญาญาณ 3
ระดับนี้ กำหนดพิจารณาอะไร คำตอบ คือ พิจารณา สัจจะ หรือ ความจริง 4 ประการ รวมทั้งหมด
เป็นการทบทวนพิจารณา 12 รอบ คือ
1) ความจริงข้อแรก
ทุกข์เป็นความจริงอย่างหนึ่งที่ทุกคนเห็นประจักษ์ อย่างหยาบ คือ เห็นการเกิด แก่
ตาย เป็นความทุกข์ อย่างละเอียด คือ สภาวะความทุกข์ประจำสังขารที่เปลี่ยนแปลง
ถูกบีบคั้น และไม่มีแก่สารสาระที่ควรยึดมั่นถือมั่น ในระดับ สัจจญาณ
ต้องให้ได้ความรู้จริงแท้ๆว่า นี้คือทุกข์จริงๆ ไม่ใช่คิดเอา ในระดับ กิจจญาณ ต้องกำหนดหน้าที่ควรทำกับเรื่องความทุกข์ว่า
ทุกข์นี้ เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ หน้าที่คือต้องตีโจทปัญหาให้แตก ในระดับ กตญาณ
ต้องประเมินผลการทำหน้ากับทุกข์ ตรวจสอบว่า ปัญญาญาณได้กำหนดรู้ทุกข์แล้วหรือไม่
2) ความจริงข้อที่ 2
สาเหตุแห่งความทุกข์ หรือ ทุกขสมุทัย ในชั้น สัจจญาณ
ต้องกำหนดรู้ให้เห็นแก่นแท้เบื้องหลังแห่งความทุกข์ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร
ในที่สุดก็ค้นพบว่า ตัณหา(ความอยาก) ที่มุ่งให้ร่าเริงยินดีในการมีการเป็น
เมื่อยังมีความอยากมีอยากเป็น ความทุกข์ก็ต้องมี เป็นเป็นความจริงแท้ๆ ตามนั้น
ในชั้น กิจจญาณ ต้องทำหน้าที่ คือ ต้องทำลายต้นตอแห่งความทุกข์เสีย
ดับภัยที่ต้นเหตุ คือละตัณหาเสีย ในชั้น กตญาณ ก็ตรวจสอบว่า ดวงปัญญาได้ละตัณหาเรียบร้อยหรือยัง
3) ความจริงข้อที่ 3 การดับความทุกข์(ทุกขนิโรธ)
ก็เป็นความจริง ในชั้น สัจจญาณ ก็ต้องกำหนดรู้ว่า นี้เป็นความดับความทุกข์จริง
ได้แก่ ความเบื่อหน่ายในตัณหา สละ สลัด ตัณหาให้หมด หลุดพ้นจากตัณหาไปโดยไม่มีส่วนเหลือ
ในชั้นกิจจญาณ หน้าที่ของญาณ ก็คือ การทำให้เกิด
หรือ การบรรลุถึงให้ได้ หรือ การทำได้จริง ในชั้น กตญาณ คือ ตรวจสอบหน้าที่ว่า
บรรลุถึง นิโรธ ความดับทุกจริงหรือยัง
4) ความจริงข้อที่ 4
ทางปฏิบัติเพื่อถึงความดับความทุกข์ ในชั้น สัจจญาณ ก็ต้องกำหนดรู้ว่า
นี้เป็นทางปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ความดับทุกข์ได้จริงๆ ซึ่งก็คือ
มัชฌิมาปฏิปทา(ทางปฏิบัติสายกลาง) มีองค์ประกอบ 8
ประการมีสัมมาทิฏฐิเป็นต้นมีสัมมาสมาธิเป็นที่สุด (ที่กล่าวมาแล้ว) ในชั้น กิจจญาณ
หน้าที่ของญาณนี้ ก็คือ ทำหน้าที่ให้มรรคองค์ 8 เจริญขึ้น แกร่งขึ้น
มีพลังกล้าแข็งขึ้น เฉียบคมมากขึ้น จนในที่สุดก็สามารถ
ถอนรากถอนโคนตัณหาออกไปได้หมด ในชั้น กตญาณ ก็เป็นการตรวจสอบว่า มรรคมีองค์ 8
ประการนี้ ได้ถูกเร่งพลังงาน สร้างความแกร่งแห่งพลังถึงขีดสุดตัดกิเลสตัณหาได้เสร็จสิ้นหรือยัง
ด้วยกระบวนการใช้ปัญญาญาณ
กำหนดรู้ ทำหน้าที่ และตรวจประเมินผลการทำหน้าที่ ในสัจจะ 4 ประการ ครบทั้ง 3 รอบ
ทำให้พระพุทธเจ้ากล้ายืนยันว่า
พระองค์ได้บรรลุความเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ จากสัจจะที่ทุกคนรู้แบบตาเนื้อ
แต่เมื่อเกิดกระบวนการรับรู้ด้วยตาใน หรือ ธรรมจักษุ (ดวงตาเห็นธรรม)
ก็กลายเป็นอริยสัจจ์ ความจริงอันประเสริฐ ทำให้ผู้รู้อริยสัจ กลายเป็นพระอริยบุคคล
ผู้เข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง ด้วยตนเอง ไม่ต้องมีใครมาบอกว่า
เป็นอย่างนั้นอย่างนี้
เมื่อท่านโกณฑัญญะ ได้รับฟังคำอธิบายกระบวนการพิจารณาสัจจะ
4 ประการ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นระบบ โดยไม่ปิดบัง ท่านก็ใช้ปัญญากำหนดพิจารณารู้ไปตามพระธรรมเทศนา
ในที่สุดท่านก็เกิดปัญญาหยั่งรู้ตามความเป็นจริงว่า “สิ่งใดก็ตาม เมื่อมีการเกิดขึ้น
ก็ย่อมถึงความดับไปเป็นธรรมดา” นั้นคือ ท่านได้เกิดดวงตาเห็นสัจธรรม
ว่า สรรพสิ่งล้วนมี สภาะการเกิดและการดับ ท่านโกณฑัญญะ เป็นพระอริยะสาวกรูปแรกที่รู้ตามและปฏิบัติตามหลักที่ถูกต้อง
สามารถรื้อถอนตนออกจากกับดักแห่งสังสารวัฏฏ์ได้จริงๆ นับได้ว่า ท่านโกณฑัญญะ เป็นพระสงฆ์สาวก คือ
พระอริยสงฆ์รูปแรก เป็นพยานแห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ดังนั้น
การเกิดขึ้นของพระอริยสาวกรูปแรกขึ้นมาในวันเพ็ญเดือน8
นอกจากตัวท่านโกณฑัญญะเองจะได้เข้าสู่กระแสแห่งความหลุดพ้น
(พระนิพพาน)ได้จริงแล้ว ยังเป็นข้อยืนยันความเป็นจริงอีก 2 ประการ คือ
มัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ได้จริง และ
พระพุทธเจ้าเป็นพระองค์แรกที่นำหลักปฏิบัติแนวทางสายกลางนี้มีแสดงแก่พระสาวก
อย่างได้ผลจริง
สรุป
วันอาสาฬหบูชา
หรือ การบูชาเนื่องวันเพ็ญเดือน 8 ทางจันทรคติ หากชาวพุทธเพียงแต่ทำตามจารีต
ประเพณี ปฏิบัติสืบต่อตามๆกันมา
โดยไม่ทราบแก่นสาระที่ไปที่มาของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 8 เมื่อครั้งพุทธกาล
การรักษาจารีตประเพณีเอาไว้แบบที่ว่ามานี้
คงป่วยการ เป็นเพียงแค่รักษาเปลือก กระพี้พิธีกรรมในพระศาสนา แต่ถ้าหากจะใส่ใจศึกษาแกนหลักของการที่มารำลึกถึงการเกิดขึ้นของพระอริยสาวกรูปแรก
เพราะได้สดับพระปฐมเทศนา ธรรมกัปปวัตนสูตร ที่เป็นหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา น้อมนำมาปฏิบัติ
รู้จักหลีกเว้นกับดักความคิดและอุดมการณ์ อันเป็นทางตัน ปิดกั้นความหลุดพ้นจากความทุกข์
ดำเนินชีวิตตามทางสายกลาง ที่ให้รู้จักการผ่อนหนักผ่อนเบา ไตร่ตรองด้วยสติปัญญาอย่างพินิจพิจารณา
มองขาดว่า สรรพสิ่งมีเกิดมีดับ รู้จักการปล่อยวางในสิ่งที่ควรปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นในสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน
ก็จะดำรงตนอยู่ในโลกอย่างผู้ไม่มีทุกข์
ถึงแม้มีความทุกข์เข้ามาเยือนบ้าง ก็สามารถทำใจปล่อยวางได้ว่า
เมื่อทุกข์เกิดขึ้นมาได้ ความทุกข์ก็ดับไปได้..