เอกสารประกอบการเสวนา
ยุทธวิธีในการเผยแผ่ศาสนาของพระสงฆ์ในยุคปัจจุบัน
รวบรวมโดย
พิสิฏฐ์
โคตรสุโพธิ์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559
เวลา 13.30-15.00 น.
ณ วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน มหาวิทยาลัย
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
ยุทธวิธีในการเผยแผ่ศาสนาของพระสงฆ์ในยุคปัจจุบัน[1]
บทนำ
สังคมโลกย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
ตามกฎแห่งอนิจจัง แต่การเปลี่ยนแปลงที่มีอิทธิพลสะเทือนต่อวิถีสังคมทั้งโลกประดุจคลื่นสินามิ
ที่กวาดล้างสรรสิ่งซึ่งขวางหน้าให้ยอมสิโรราบ เขาเรียกว่า คลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลง
หรือกระแสคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมี 3 ยุค
ทำให้สภาพสังคมมนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่เป็นแบบเรียบง่าย
อาศัยธรรมชาติ เข้าสู่ความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น วัฒนธรรมการดำรงชีวิตก็มีหลายแบบขึ้นอยู่กับบริบทของสภาพภูมิศาสตร์และกาลเวลา
ก่อให้เกิดสังคมที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคมแบบพหุวัฒนธรรม มีความเป็นเอกภาพในพหุภาพ ลักษณะของสังคมยุคใหม่เป็นสังคมที่ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารไร้พรมแดน
ข้ามพ้นข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์และช่องว่างแห่งเวลา
ความสัมพันธ์รวมทั้งการสื่อสารของมนุษย์ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่เดียวกัน
ในเวลาเดียวกันเหมือนยุคก่อน เช่น ยุคการสื่อสารระบบอะนาล็อก(Analog
Technology of Information )อีกต่อไป
ไม่ว่ามนุษย์จะอยู่สถานที่ใดบนโลก หรือนอกโลก ก็สามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน
เห็นหน้ากัน สนทนากัน ทำกิจกรรมร่วมกันอย่างชิดใกล้ในเวลาพร้อมกันได้
ในเมื่อมนุษย์ในสังคมยุคการสื่อสารระบบดิจิตัล(Digital Technology of
Information) เป็นสังคมแห่งความรวดเร็วด้วยการเข้าถึงข้อมูล
เป็นสังคมที่อ่อนไหว เปราะบางทางความรู้สึก และการใช้เหตุผลสูง เป็นสังคมออนไลน์ ที่เมื่อใดได้รับข้อมูลไม่ว่าถูกหรือผิด
จริงหรือเท็จ หากตนเองเห็นว่าดี ชอบใจ เป็นประโยชน์กับตัวเองและผองเพื่อน
ก็จะแสดงความคิดเห็นและช่วยกระจายเผยแพร่ออกไปดุจปฏิกิริยาทางนิวเคลียร์
ไม่สามารถสกัดกั้นได้ พระสงฆ์ หรือนักบวชในฐานะที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ จะมียุทธวิธีการเผยแผ่หลักคำสอนทางศาสนา
อย่างไร จึงจะสามารถแซกความมีเหตุผล ความสำนึกรับผิดชอบ ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมเข้าสู่วิธีคิด
และวิถีชีวิตแก่มนุษย์ในสังคมสมัยโลกาภิวัตน์ได้ และพระสงฆ์ก็ยังถูกยอมรับว่า
มีตัวตนอยู่ในสังคมนี้โดยมิได้ถูกลืมดูจอุปกรณ์ที่ล้าสมัย(out of date) พระสงฆ์ในฐานผู้เผยแผ่ศาสนา ต้องปรับปรุงตนเอง(up date) ให้ทันต่อแนวโน้มกระแสโลก(World Trend) อย่างไรบ้าง
บทความนี้ เป็นเพียง แนวคิดหนึ่งของผู้บรรยาย
ที่จะสะท้อนยุทธวิธีที่พระสงฆ์น่าจะลองนำไปขบคิด นำมาปฏิบัติในการเผยแผ่พระพุทธศาสนากับสังคมยุคปัจจุบันได้บ้าง
กระแสคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลง
[2]
โลกได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่มา
3 ยุค สาเหตุเพราะการเปลี่ยนวิธีคิด (paradigm shift) 3 ครั้ง
เรียกว่า คลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลง ขอนำบทความที่มีผู้เขียนไว้ มาให้เป็นข้อมูล
เพื่อพิจารณา ดังนี้
1. คลื่นลูกที่หนึ่ง การปฏิวัติเกษตรกรรม เกิดขึ้นเมื่อ 10,000 ปีที่ผ่านมา ในช่วงปลายยุคหินใหม่
มนุษย์ในยุคนั้นได้เปลี่ยนวิถีชีวิตจากการเร่ร่อน ล่าสัตว์
และเก็บพืชผลไม้ป่าเป็นอาหาร มาเป็นการเริ่มเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์
ตั้งหมู่บ้านอาศัยอยู่เป็นหลักแหล่ง อารยธรรมเริ่มแรกของมนุษย์จึงเริ่มปรากฏขึ้นเมื่อราว
3,000 ปีก่อนคริสตกาลในดินแดนเมโสโปเตเมีย
และที่ราบลุ่มแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์ในบริเวณตะวันออกกลาง
เทคโนโลยีทางด้านการชลประทานช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
ทำให้เมโสโปเตเมียเติบโตขึ้นเป็นนครรัฐที่เจริญรุ่งเรือง ในขณะที่อียิปต์เป็นอาณาจักรที่มีอำนาจ
การประดิษฐ์ตัวอักษร
และความเชื่อในเทพเจ้าเป็นลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของอารยธรรมของคลื่นลูกที่หนึ่ง
ทำให้ผู้ปกครองซึ่งเป็นกษัตริย์หรือนักนักบวชมีอำนาจดุจเทพเจ้า สามารถควบคุมแรงงาน
และทำให้ประชาชนอุทิศตนเพื่อความยิ่งใหญ่ของอาณาจักร เช่น การสร้างพีรามิด
รวมทั้งการขยายอำนาจไปในบริเวณใกล้เคียงจนเป็นจักรวรรดิในเวลาต่อมา
ยุคคลาสสิคยังเป็นยุคของนักคิดผู้ยิ่งใหญ่
อาทิ ขงจื๊อในจีน พระพุทธเจ้าในอินเดีย
โสเครติส เพลโต และอริสโตเติลในกรีก และพระเยซูคริสต์ในดินแดนปาเลสไตน์ ขงจื๊อมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการปกครองและระบบราชการของจีนมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น
จนกระทั่งจีนมีการเปลี่ยนแปลงเป็นประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในปัจจุบัน
ส่วนศาสนาพุทธแม้จะเกิดในอินเดียแต่กลับไปเจริญเติบโตในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น
และหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักคิดชาวกรีกคนสำคัญๆ
ได้เป็นที่มาของวิชาปรัชญาตะวันตกในปัจจุบัน
ส่วนศาสนาคริสต์ได้กลายเป็นศาสนาของจักรวรรดิโรมัน ก่อนที่จะแพร่หลายในยุโรป
รัสเซีย ทวีปอเมริกาเหนือและใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และดินแดนอื่นๆ ทั่วโลก
ในยุคนี้ศาสนามีบทบาทสำคัญ
ในการยึดเหนี่ยวจิตใจผู้คนในดินแดนต่างๆ ให้มีเอกภาพ
โดยอาศัยศรัทธาต่อศาสนาเป็นแรงผลักดัน
คริสต์ศาสนาช่วยยึดเหนี่ยวจักรวรรดิไบแซนไทน์
(Byzantine Empire) ให้ดำรงอยู่ตลอดมาในยุคกลาง
ในขณะที่จักรวรรดิอื่นๆ ล่มสลาย
คริสต์ศาสนายังก่อให้เกิดการขึ้นสู่อำนาจของพระเจ้าชาเลอมาญ (Charlemagne) ผู้สถาปนาระบบฟิวดัล (Fudalism) ด้วยการพระราชทานที่ดินผืนใหญ่แก่ขุนนาง
การเรียนรู้ในวัดวาอาราม และการยอมรับนับถือศริสต์ศาสนาในรัสเซีย
ศาสนาอิสลามได้ถือกำเนิดขึ้นในคริตศตวรรษที่
7 จนสามารถรวบรวมชาวอาหรับให้เป็นปึกแผ่น
พร้อมทั้งขยายอิทธิพลจากแอฟริกาเหนือ สเปน ไปสู่อินเดีย
ศาสนาพุทธเผยแผ่จากอินเดียไปยังจีนผ่านเส้นทางสายไหมและแพร่หลายในหมู่ประชาชน
ขณะที่จักรพรรดิจีนยึดถือลัทธิขงจื๊อเป็นหลักในการปกครอง
ศาสนาฮินดูจากอินเดียแพร่สู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ส่งผลให้เกิดอาณาจักรขอมที่เรืองอำนาจในเวลาต่อมา
2. คลื่นลูกที่สอง การปฏิวัติอุตสาหกรรม เริ่มต้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งมีภูมิหลังมาจาก “ยุคแห่งแสงสว่างทางปัญญา” (Age of Enlightenment) หรือ
“ยุคแห่งเหตุผล” (Age of Reason) ในคริสต์ศตวรรษที่
18 ที่พัฒนามาจาก “การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์”
(Scientific Revolution) ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้
ปัญญาชนในยุคนี้ปฏิเสธความคิดความเชื่อที่เกิดจากศรัทธาในศาสนาของยุคกลาง
นิยมการค้นหาความจริงโดยหลักของเหตุและผล มองโลกในแง่ดี
เชื่อมั่นในความก้าวหน้าของมนุษย์ นำความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ไปอธิบายปัญหาสังคม
จนนำไปสู่ความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์ นักปรัชญาในยุคแห่งแสงสว่างทางปัญญาที่สำคัญ
ได้แก่ จอห์น ล็อค (Johnlock) วอลแตร์ (Vottaire) มองเตสกิเออ (Montesquieu) และชอง ชาค รุสโซ (Jean
Jaque Rousseau)
การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เกิดประเทศมหาอำนาจจักรวรรดินิยม
เป็นยุคล่าอาณานิคม ของประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยไอน้ำและไฟฟ้าเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ
มีอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เยอรมนี
ค.ศ. 1858 อังกฤษปกครองอินเดียอย่างเป็นทางการ
หลังจากครอบงำเศรษฐกิจของอินเดียมาเป็นเวลานาน
ค.ศ. 1862 ฝรั่งเศสเข้าครอบครองอินโดจีนโดยเริ่มจากการยึดครองเวียดนามตอนใต้
ค.ศ.1884-1885 มหาอำนาจจักรวรรดินิยมพบปะกันที่กรุงเบอร์ลินเพื่อตกลงแบ่งแอฟริกาออกเป็นส่วนๆ
โดยไม่สนใจสิทธิของชนพื้นเมือง
ค.ศ. 1898 สหรัฐอเมริกาทำสงครามกับสเปน ได้ครอบครองคิวบาและฟิลิปปินส์ และก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจระดับโลก
มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงศูนย์อำนาจและศูนย์กลางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยข้ามฝากมหาสมุทรแอตแลนติก
ไปสู่สหรัฐอเมริกา
การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial
Revolution) ตอนกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 นับเป็นเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ
สังคม และการเมืองของโลก
การปฏิวัติอุตสาหกรรมได้นำไปสู่การให้ความสำคัญในเรื่องผลิตผลและประสิทธิภาพของสิ่งที่เรียกกว่า
“การทำลายที่สร้างสรรค์” ซึ่งนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ
หลายประการ
ขณะเดียวกันก็ให้ความสะดวกสบายและความเจริญก้าวหน้าแก่มนุษย์จวบจนทุกวันนี้
แบบแผนการทำงานในโรงงานยังเข้ามาแทนที่อุตสาหกรรมในครัวเรือน (Domeotic
System) ซึ่งต้องนำงานมาส่งให้แรงงาน อันทำให้รูปแบบของสินค้า
แรงงาน และสถานที่ทำงานเปลี่ยนแปลงไป โดยอาศัยพลังงานและเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ
ถ่านหิน และไอน้ำในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรก มาเป็นพลังงานไฟฟ้า เคมี
และน้ำมันในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 รวมทั้งการประดิษฐ์คิดค้น
วิทยุ โทรเลข โทรศัพท์ แม้กระทั่งระบบอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน
การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงต่อระบบการทำงานส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์แทบทุกด้าน
3. คลื่นลูกที่สาม
ยุคเทคโนโลยีการสื่อสาร คลื่นโลกาภิวัตน์ เป็นยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีระดับสูง
เป็นคลื่นลูกใหม่ซึ่งแทนที่คลื่นลูกเก่าที่กำลังมีอิทธิพลต่อสังคม เศรษฐกิจ
และการเมืองของโลกปัจจุบัน เริ่มด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรมเหล็กกล้า รถยนต์
และเครื่องบิน ซึ่งขยายตัวเต็มที่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ระหว่าง ค.ศ. 1950-1970 ท่ามกลางความขัดแย้งในยุคสงครามเย็น
(ค.ศ. 1945-1991) และการปลดปล่อยประเทศอาณานิคมต่างๆ
ให้เอกราช
หลายประเทศเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วท่ามกลางเศรษฐกิจโลกยุคโลกาวัตน์ที่ต้องพึ่งพากันและกันมากกว่าแต่ก่อน
การล่มสลายของค่ายสังคมนิยมนับเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามเย็น
ซึ่งเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ซึ่งได้แก่
ระบบคอมพิวเตอร์สารสนเทศ “ผู้ใดกุมเทคโนโลยี้ได้
ผู้นั้นจะกุมชะตาของโลก”
ลักษณะของสังคมยุคปัจจุบัน
สังคมโลกปัจจุบันยุคโลกาภิวัตน์ มีลักษณะหลายประการ สรุปได้ดังนี้
1. การใช้คอมพิวเตอร์เป็นกลไกสำคัญ ในสังคมโลกาภิวัตน์
คอมพิวเตอร์มีบทบาทสำคัญมาก
เพราะเป็นเครื่องมือที่จะรับและแปลงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและไม่ค่อยมีข้อจำกัด
คอมพิวเตอร์ได้ถูกนำมาใช้ในการจัดเก็บ บันทึกข้อมูล จัดระบบข้อมูล
และนำมาใช้สื่อสารถึงกันในเวลาอันรวดเร็วทุกมุมโลก
ในระยะไม่กี่ปีมานี้ได้มีการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ไปอย่างมาก
จากเครื่องที่มีขนาดใหญ่ ราคาแพง เป็นระบบคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่มีขนาดเล็ก
แต่มีคุณภาพและศักยภาพสูงมากและราคาถูกลง
เครื่องคอมพิวเตอร์จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการแพร่ข้อมูลข่าวสารในยุคโลกาภิวัตน์
2. การไหลบ่าของข้อมูลข่าวสาร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจและสังคมเจริญก้าวหน้า
เศรษฐกิจที่เจริญก้าวหน้าทำให้โลกตะวันตกมั่งคั่งร่ำรวย
ซึ่งมีผลทำให้เกิดการวิจัยและพัฒนา
เพื่อศึกษาค้นหาข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่างไม่หยุดยั้ง สถาบันการศึกษาต่างๆ
ก็ทำหน้าที่ค้นคว้าวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น
เทคโนโลยีสื่อสารอันทันสมัยมีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยน ถ่ายทอดข้อมูลใหม่ๆ
หมุนเวียนอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า
การไหลบ่าของข่าวสารข้อมูล
3. การเพิ่มขึ้นของแรงงานด้านข่าวสารข้อมูล
แรงงานที่ทำงานเกี่ยวกับข่าวสารข้อมูลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แรงงานเหล่านี้ ได้แก่
ผู้ที่อยู่ในวงการศึกษา การคมนาคม การพิมพ์ การโฆษณา ประชาสัมพันธ์
สื่อสารมวลชนทุกประเภท การเงิน การบัญชี
รวมทั้งอุตสาหกรรมผลิตคอมพิวเตอร์หรือชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และงานที่เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาจัดการกับข่าวสารทุกชนิด
กล่าวกันว่าปัจจุบันในอเมริกามีแรงงานที่ทำงานด้านข่าวสารมากกว่า ร้อยละ 50 ในขณะที่แรงงานเกษตรและอุตสาหกรรมลดลงมากกว่าร้อยละ
25
4. ความสำคัญของสถาบันวิจัยและพัฒนา
เนื่องจากสังคมเจริญรวดเร็วมากและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
การแสวงหาความรู้และค้นหาคำตอบ รวมทั้งการคาดหมายล่วงหน้าจึงมีความสำคัญยิ่ง
การวิจัยและพัฒนากลายเป็นกลไกสำคัญในการแสวงหาข้อมูล
ข่าวสารหรือความรู้ใหม่เพื่อประโยชน์ต่อการวางแผนและตัดสินในของนักธุรกิจและนักบริหาร
ประเทศที่เจริญทั้งหลายจึงมักให้ความสำคัญแก่การวิจัยและพัฒนา
และมีการสนับสนุนหรือให้ทุนแก่สถาบันวิจัยและพัฒนาอย่างมาก
5. ระบบเศรษฐกิจประสานเป็นหนึ่งเดียว
เศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์ เป็นเศรษฐกิจที่มีการประสานเป็นหนึ่งเดียว
ทำให้พรมแดนแต่ละประเทศไม่อาจขวางกั้นพลังทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ระบบเศรษฐกิจยังได้เปลี่ยนแปลงรากฐานจากระบบอุตสาหกรรม
มาเป็นระบบเศรษฐกิจแบบฐานข้อมูลข่าวสาร (Information based economy) ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรง
กับกระบวนการผลิต จัดการ และเผยแพร่ข่าวสาร ข่าวสารกลายเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง
ตัวอย่างธุรกิจชนิดนี้ ได้แก่ การผลิตคอมพิวเตอร์ เครื่องโทรคมนาคม วิทยุ โทรทัศน์
การพิมพ์ โทรศัพท์ หนังสือ วารสาร เป็นต้น ข่าวสารกลายเป็นเรื่องสำคัญ
และเป็นทรัพยากรที่สำคัญ ผู้ต้องการใช้ข่าวสารต้องเสียค่าใช้จ่าย
ข่าวสารกลายเป็นแหล่งลงทุน และเป็นบ่อเกิดของการว่าจ้างแรงงาน
6. ชุมชนมีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น
เทคโนโลยีข่าวสารทำให้มนุษย์ซึ่งอยู่ห่างไกลกันเป็นพันๆ ไมล์
หรืออยู่กันคนละมุมโลก สามารถติดต่อสื่อสารพูดคุยกันได้ มนุษย์ในยุคนี้สามารถรับรู้ข่าวสารเหตุการณ์ทุกชนิดที่เกิดขึ้นในดินแดนที่ห่างไกลออกไป
ทำให้มีโลกทัศน์กว้างขึ้นและมีผลต่อแนวคิดเกี่ยวกับ ชุมชน หมู่บ้าน
ประเทศที่เปลี่ยนไปเป็นชุมชนโลก มนุษย์ทุกคนย่อมตระหนักดีว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ณ จุดใดจุดหนึ่งของโลกอาจมีผลกระทบต่อโลกหรือมนุษย์ทั้งโลกได้
มนุษย์ในยุคนี้จะเกิดความรู้สึก ในฐานะประชากรของโลกแทนที่ความรู้สึกเกี่ยวกับรัฐ
หรือชาติของตนเหมือนแต่ก่อนอย่างไรก็ตาม แม้กระแสของข่าวสารจะมีมากเพียงใด
โอกาสในการรับรู้ข่าวสารก็อาจไม่เท่าเทียมกันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะ
ความเป็นอยู่ของมนุษย์ด้วย
ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ที่มีต่อสังคมโลกปัจจุบัน
ผลกระทบด้านสังคม
1. การครอบงำโลกทางวัฒนธรรม
เนื่องจากระบบสื่อสารไร้พรมแดนทำให้เกิดการครอบงำโลกทางวัฒนธรรม
อิทธิพลของวัฒนธรรม
และอำนาจของเศรษฐกิจจากประเทศที่พัฒนาแล้วได้ไหลบ่าเข้าสู่ประเทศอื่นอย่างรุนแรง
ก่อให้เกิดกระแสวัฒนธรรมโลก (Neo-Westernization) ครอบงำทางด้านความคิด การมองโลก
การแต่งกาย การบริโภคสิ่งเหล่านี้เข้าครอบคลุมเหนือวัฒนธรรมของประชาคมทั่วโลก
ทำให้เกิดระบบผูกขาดวัฒนธรรมไร้พรมแดน
2. การเกิดหมู่บ้านโลก (Global Village) จากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม
ทำให้สังคมโลกไร้พรมแดน โลกทั้งโลกเป็นเสมือนหมู่บ้านเดียวกัน สมาชิกของหมู่บ้านคนใดทำอะไร
ก็สามารถรับรู้ได้ทั่วกันทั่วโลก เมื่อมาอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน
สิ่งใดที่กระทบประเทศหนึ่งก็ย่อมกระทบไปถึงประเทศอื่นๆ ไปด้วย
อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในส่วนใดส่วนหนึ่งของโลก
สามารถรับรู้ได้อย่างฉับพลัน
3. การแสวงหากำไรแบบใหม่
การสื่อสารที่รวดเร็วทำให้เกิดสภาวการณ์ไร้พรมแดนของเงินตรา
ซึ่งสามารถไหลไปกระจุกตัวทุกหนทุกแห่งในโลกได้
ทุกครั้งที่เกิดการไหลเข้าของทุนมหาศาลจากทั่วโลกไปกระจุกตัวอยู่ที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง
ก็จะก่อให้เกิดการพองตัวของทุนอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการแสวงหากำไรแบบใหม่ขึ้น
4. การเกิดสังคมความรู้ยุคข่าวสารข้อมูล
การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถถ่ายทอดข่าวสาร ความรู้ ข้อมูล โดยผ่านอีเมล์
อินเตอร์เน็ต และเวิร์ล วายด์ เวป ข่าวสารความรู้ข้อมูล
จึงเข้าถึงประชาชนได้ง่ายดายและเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดการพัฒนาภูมิปัญญาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
การกระจายความรู้
การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศจะช่วยให้ประชาชนมีโอกาสรับรู้และเรียนรู้มากขึ้น
สังคมโลกกลายเป็นสังคมความรู้ (Knowledge based society)
ศาสนา เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มายาวนาน ตั้งแต่ยุคปฐมกาลที่ยังไม่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาการ จนถึงยุคโลกาภิวัฒน์ (globalization) ที่เต็มไปด้วยความทันสมัยและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง
ๆ นานา แต่ไม่ว่ายุคสมัยและวิถีชีวิตของมนุษย์จะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด
สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่คู่กับสังคมก็คือศาสนา
นั่นก็เพราะว่าศาสนาเป็นแนวทางแห่งการดำรงชีวิต
เป็นสถาบันทางสังคมที่คอยตอบสนองความต้องการต่าง ๆ ของมนุษย์ โดยเฉพาะทางด้านจิตใจ
อีกทั้งยังคอยควบคุมพฤติกรรมของสังคม
และเป็นปัจจัยในการสร้างคุณค่าทางจริยธรรมและศีลธรรมให้เกิดขึ้นอีกด้วย
ซึ่งสิ่งต่าง ๆ
เหล่านี้ล้วนแต่ทำให้ศาสนากลายเป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของสังคมอย่างแยกไม่ออก
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20
ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ของวิทยาศาสตร์ นักวิชาการหลาย ๆ
คนได้พยากรณ์ว่าศาสนากำลังจะดำเนินไปสู่การดับสูญ
และความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะเข้ามาแทนที่ อาทิ ออกุสต์ กงต์ (Auguste Comte)
นักสังคมวิทยาและนักปรัชญาแนวปฏิฐานนิยม (positivism) ที่แบ่งพัฒนาการของมนุษยชาติออกเป็น 4 ลำดับ[1] ซึ่งในลำดับสุดท้ายวิทยาศาสตร์จะมีอิทธิพลเหนือสิ่งอื่นใด หรืออย่างเช่น Anthony Wallace ที่พยากรณ์ไว้ว่า
“อนาคตของศาสนากำลังดำเนินไปสู่การดับสูญ
ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และอำนาจเหนือธรรมชาติที่ฝืนกับกฎธรรมชาติก็จะเสื่อมถอย
และกลายเป็นความทรงจำทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเท่านั้น...
ความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติมีแต่จะสูญสิ้นไปทั่วโลก อันเนื่องมาจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่แพร่หลายมากขึ้นทุกที”
จริงอยู่ที่วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่มีคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อความเจริญก้าวหน้าของมนุษยชาติ
และยังเป็นสิ่งที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์นานัปการ
แต่การยึดติดอยู่กับมันแบบสุดโต่งและลืมเลือนบทบาทที่สำคัญของศาสนาก็เป็นสิ่งที่ผิดพลาดอย่างมหันต์
เพราะถึงแม้ว่าวิทยาศาสตร์จะมีความสำคัญในการไขปริศนาที่ลี้ลับแห่งมนุษย์และจักรวาลมากเพียงใด
แต่ขอบเขตของมันก็ยังมีความจำกัดอยู่ในเรื่องของสสารและสิ่งที่สัมผัสได้
ในขณะที่ยังมีอะไรอีกมากมายที่มนุษย์ยังคงต้องอาศัยศาสนามาเป็นคำตอบ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะเยียวยาได้นอกจากการพึ่งพาคำสอนของศาสนาเท่านั้น
การขยายตัวของศาสนาในศตวรรษที่ 21
กาลเวลาได้พิสูจน์ให้ประจักษ์แล้วว่า
สังคมมนุษย์ไม่สามารถดำรงอยู่โดยปราศจากศาสนา และนับวันจำนวนของผู้ที่นับถือศาสนาก็มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น
ในทวีปแอฟริกา ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 360 ล้านคน
และในทวีปเอเชีย 300 ล้านคน หรือแม้แต่ศาสนาอิสลามเองก็มีศสนิกชนเพิ่มขึ้น
อย่างมากมาย ในบทสัมภาษณ์ของ Ingmar Karlsson สงกุลสวีเดนประจำตุรกีกับ
หนังสือพิมพ์ Todays Zaman กล่าวถึงจำนวนที่เพิ่มขึ้นของมุสลิมในยุโรปว่าเพิ่มขึ้นสูงถึง 3เท่าของประชากรยุโรปที่ไม่ใช่มุสลิม
และมีผู้ประมาณการณ์ว่าหากแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ ในอีก 30 ปีข้างหน้าจะมีประชากรมุสลิมในยุโรปถึง 65 ล้านคน[2] ส่วนศาสนาพุทธเองก็กลายมาเป็นศาสนาหนึ่งที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน
อย่างศาสนาพุทธนิกายเซ็นที่ได้รับความนิยมในยุโรปและอเมริกา
ก...ความเสื่อมถอยของชุมชนแบบดั้งเดิม
การที่กระแสความทันสมัยรวมถึงบริโภคนิยมซึมซาบเข้าไปสู่สังคมที่มีประเพณีแบบดั้งเดิม
ทำให้สังคมเสื่อมถอยและแตกสลาย ผู้คนเกิดความรู้สึกแปลกแยกและโดดเดี่ยว
ในสภาพดังกล่าว
ผู้คนพบว่าศาสนาหรือชุมชนทางศาสนานั้นสามารถช่วยให้ตนปรับตัวเข้ากับสังคมและวัฒนธรรมเมืองได้
จึงหันมาพึ่งพาศาสนา
ข...แรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจ การเมือง และการถูกผลักไสให้อยู่ชายขอบ
ในสภาพสังคมที่ยากจนและแร้นแค้น
ผู้คนพบว่าศาสนาเป็นที่พึ่งอีกแหล่งหนึ่งที่จะแก้ปัญหาความยากลำบากให้พวกเขาได้
เช่นกรณีของขบวนการอัลชัดได (El Shaddai) ในฟิลิปปินส์ที่มีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคนทั่วประเทศ และในการชุมนุมทุกวันเสาร์ในกรุงมะนิลา
ก็จะมีสมาชิกเข้าร่วมนับแสนคน
ค....การรุกรานของความเชื่อแบบโลกิยวิสัยและวัฒนธรรมเสรีนิยมที่มีต่อศาสนา
กระบวนการสร้างความทันสมัยและการแพร่หลายของแนวคิดแบบโลกิยนิยม (secularism) ซึ่งมีผลทำให้ศาสนาถูกลดบทบาทลง
ก่อให้เกิดปฏิกริยาโต้ตอบเชิงปฏิปักษ์จากกลุ่มคนเคร่งจารีต(fundamentalist)
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า สิ่งที่นักวิชาการหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะเป็น
ออกุสต์ กงต์ อันโทนี วัลเลซ มาลิโนฟสกี หรือคนอื่น ๆ ได้พยากรณ์ไว้ถึงอนาคตของศาสนานั้น
กลับกลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายไปทันที
เมื่อเราได้ทราบถึงสถิติการนับถือศาสนาของคนในยุคปัจจุบันที่นับวันก็ยิ่งจะมีมากขึ้นเรื่อย
ๆ อย่างไม่ขาดสาย
แต่อย่างไรก็ดี
ถึงแม้ว่าศาสนาจะเป็นสถาบันทางสังคมที่มนุษย์ต่างต้องการและเรียกร้องอยู่ตลอดเวลา
แต่หากว่าเมื่อใดที่มันไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์ (dysfunction)
สังคมมนุษย์ก็จะต้องแสวงหาสิ่งทดแทนที่ดีกว่า (functional alternative) ซึ่งสิ่งทดแทนในที่นี้อาจปรากฎให้เห็นในหลายรูปแบบ
ไม่ว่าจะเป็นศาสนาและลัทธิใหม่
การปฏิรูปศาสนาเดิมที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น
หรือแม้แต่การลดบทบาทของศาสนาลงและนำอุดมการณ์ทางการเมือง (ideology) เช่น ชาตินิยม สังคมนิยม หรือประชาธิปไตยมาแทนที่
และทำให้รัฐกลายเป็นรัฐแบบโลกิยนิยม (secular state)
โดยมีตัวผู้นำและรัฐธรรมนูญมาเป็นศูนย์รวมจิตใจและเครื่องยึดเหนี่ยวแทนศาสดาและคัมภีร์
ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ในประเทศตะวันตกหลาย ๆ ประเทศ
โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่พยายามทุกวิถีทางในการที่จะสร้างรัฐแบบโลกิยนิยม
โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นคัมภีร์ร่วมระหว่างคนที่นับถือศาสนาต่าง ๆ
หรืออย่างเช่นในยุคที่คอมมิวนิสต์เรืองอำนาจ ประเทศคอมมิวนิสต์หลาย ๆ
ประเทศก็มักจะยกตัวผู้นำขึ้นมาเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในระดับเดียวกับศาสดาหรือผู้นำศาสนา
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การนำอุดมการณ์ทางการเมืองมาแทนที่ศาสนาก็ยังคงไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก
เมื่อเทียบกับการก่อตั้งศาสนาและลัทธิใหม่ที่ถือเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าจับตามองในยุคปัจจุบัน
ศาสนาและลัทธิใหม่ในโลก
ศตวรรษที่ 20-21 เป็นช่วงเวลาที่มีศาสนาและลัทธิใหม่เกิดขึ้นอย่างมากมายในโลก
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะแยกตัวออกมาจากศาสนาเดิม ๆ ที่มีอยู่
โดยนำคำสอนส่วนหนึ่งของศาสนาเหล่านั้นมาปรับปรุงและแก้ไขใหม่ เช่น
ศาสนาบาไฮที่แยกตัวออกมาจากศาสนาอิสลาม
ลัทธิศรีสัตยะไสบาบาที่แยกตัวออกมาจากศาสนาฮินดู
และลัทธิมอร์มอนที่แยกตัวออกมาจากศาสนาคริสต์ เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีศาสนาใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยมิได้มีพื้นฐานมาจากศาสนาใดเลย เช่น
ลัทธิเซไกคิวเซเคียว หรือโยเร เป็นต้น
ในหนังสือ World Christian Encyclopedia มีการคาดการณ์ว่าปัจจุบันมีศาสนาอยู่ในโลกถึง 9,900 ศาสนา โดยมีศาสนาเกิดขึ้นใหม่ 2 หรือ 3 ศาสนาทุกวัน ในจำนวนดังกล่าวมีทั้งศาสนาเดิมที่เป็นศาสนาใหญ่ และศาสนาของชนเผ่าเล็ก ๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นศาสนาใหม่ การศึกษาบางแห่งคาดการณ์ว่าจำนวนของศาสนาอาจมีมากกว่า 10,000 ศาสนา ซึ่งเฉพาะในญี่ปุ่นประเทศเดียวก็มีศาสนาอยู่ถึง 2 หรือ 3 พันศาสนา ส่วนในยุโรปเองก็มีกลุ่มศาสนาใหม่ไม่น้อยกว่า 1,300 กลุ่ม
ในหนังสือ World Christian Encyclopedia มีการคาดการณ์ว่าปัจจุบันมีศาสนาอยู่ในโลกถึง 9,900 ศาสนา โดยมีศาสนาเกิดขึ้นใหม่ 2 หรือ 3 ศาสนาทุกวัน ในจำนวนดังกล่าวมีทั้งศาสนาเดิมที่เป็นศาสนาใหญ่ และศาสนาของชนเผ่าเล็ก ๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นศาสนาใหม่ การศึกษาบางแห่งคาดการณ์ว่าจำนวนของศาสนาอาจมีมากกว่า 10,000 ศาสนา ซึ่งเฉพาะในญี่ปุ่นประเทศเดียวก็มีศาสนาอยู่ถึง 2 หรือ 3 พันศาสนา ส่วนในยุโรปเองก็มีกลุ่มศาสนาใหม่ไม่น้อยกว่า 1,300 กลุ่ม
การเกิดขึ้นของศาสนาและลัทธิใหม่สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของศาสนาเดิมในการทำหน้าที่ทางสังคม
(social function) ในการตอบสนองความต้องการในด้านต่าง ๆ
ทั้งในทางปัจเจกและส่วนรวม อันเป็นเหตุให้คนกลุ่มหนึ่งละทิ้งศาสนาเดิมและแสวงหาสิ่งทดแทนใหม่ที่ดีกว่า
อนึ่ง การศึกษาขบวนการทางศาสนาใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันทำให้เราเห็นได้ว่า
ศาสนามิได้บทบาทในตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทางด้านจิตใจเพียงอย่างเดียว
แต่ยังรวมไปถึงการตอบสนองความต้องการทางด้านวัตถุอีกด้วย เช่นตัวอย่างของอภิมหาโบสถ์
(Megachurch) ซึ่งได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกา
ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากการที่โบสถ์ดังกล่าวมีการจัดสถานที่ให้ผู้คนพาครอบครัวไปพักผ่อนหย่อนใจ
และยังมีการสนับสนุนมีการสังคมสงเคราะห์และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
หรืออย่างกรณีของโบสถ์มวลชน (People Temple) ที่ก่อตั้งโดย Jim
Jones ในปี 1957 ซึ่งเป็นลัทธิที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลาหนึ่ง
ก็เพราะนโยบายของโจนส์เกี่ยวกับการช่วยเหลือคนผิวดำและคนยากจน
รวมไปถึงการสร้างความเสมอภาคในสังคม
ศาสนาสากล
นอกจากการเกิดขึ้นของศาสนาและลัทธิใหม่แล้ว
ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากกระแสโลกาภิวัฒน์ก็คือ
ความพยายามในการก่อตั้งศาสนาสากล (Universal Religion) ซึ่งอาจจะเป็นการก่อตั้งศาสนาใหม่ขึ้นโดยอ้างอิงไปยังศาสนาเดิมที่มีอยู่
อย่างกรณีของศาสนาบาไฮ หรือเป็นการผนวกเอาคำสอนของศาสนาต่าง ๆ มารวมกัน
อย่างกรณีของลัทธิเรลีอังส์ (Raelians) ในแคนาดา
ที่รวมเอาคำสอนของพระพุทธเจ้า พระเยซู มุฮัมมัด และโมเสสเข้าด้วยกัน สาเหตุหลัก ๆ
ที่ก่อให้เกิดแนวคิดศาสนาสากลก็คือ การมีศาสนาหลายศาสนาเป็นเหตุให้มนุษย์แตกแยกกัน
เกิดการต่อสู้และเข่นฆ่าล้างผลาญที่นำมาซึ่งความสูญเสียอย่างไม่รู้จักจบสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นการสู้รบกันระหว่างคนต่างศาสนา
เช่นสงครามครูเสดระหว่างชาวคริสต์และมุสลิมที่กินเวลายาวนานเกือบ 200 ปี หรือการเข่นฆ่ากันระหว่างคนศาสนาเดียวกันแต่ต่างนิกายกัน
เช่นการสู้รบระหว่างชาวคริสต์นิกายคาทอลิกกับโปรเตสแตนท์
ซึ่งกลุ่มคนที่สนับสนุนแนวคิดศาสนาสากลเชื่อว่าปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ
เหล่านี้จะยุติลงได้หากว่ามนุษย์ทั้งหมดบนโลกมีศาสนาและความเชื่อเดียวกัน
ดร. เกดาร์ นาถ ติวารี ได้กล่าวไว้ว่า ศาสนาสากลอาจเกิดได้ด้วยวิธี 3 วิธีด้วยกัน คือ
1....ยกเอาศาสนาใดศาสนาหนึ่งที่มีอยู่แล้วมาเป็นศาสนาสากล
2....เลือกเอาลักษณะเด่น ๆ ของศาสนาต่าง ๆ
ที่คนทั่วไปจะยอมรับได้มารวบรวมตั้งเป็นศาสนาใหม่
การนำแนวทางทั้งสามนี้มาใช้สร้างศาสนาสากลก็ยังดูเหมือนจะเป็นไปได้ยากในโลกแห่งความเป็นจริง
เพราะเป็นการยากที่จะให้คนที่นับถือศาสนาต่าง ๆ
ยอมละทิ้งศาสนาเดิมของตนมานับถือศาสนาใหม่ที่เป็นศาสนาสากล ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นศาสนาที่ยกขึ้นมาจากศาสนาใดศาสนาหนึ่ง
หรือเป็นศาสนาใหม่ที่เลือกเอาลักษณะเด่นของศาสนาต่าง ๆ มารวมกัน
หรือไม่ว่าจะเป็นศาสนาที่ตั้งขึ้นมาใหม่โดยไม่อ้างอิงศาสนาใดเลยก็ตาม
ดังนั้นการตั้งศาสนาขึ้นมาใหม่ก็คงจะไม่ก่อให้เกิดผลทางบวกเท่าไรนัก
เมื่อเทียบกับผลทางลบที่จะเกิดขึ้นตามมา
ดังกรณีของศาสนาซิกข์ในอินเดียที่ก่อตั้งมาเพื่อสร้างสันติภาพระหว่างชาวฮินดูกับมุสลิม
แต่ท้ายที่สุดก็กลายเป็นศาสนาใหม่ที่มาสร้างความแตกต่างมากขึ้น
การมีอัตลักษณ์เป็นของตนเองในศาสนาต่าง ๆ
และสิทธิเสรีภาพในการคิดต่างที่มนุษย์ทุกคนมี ทำให้การรวมกันเป็นหนึ่งเดียวทางศาสนาเป็นสิ่งที่ยากเกินกว่าจะทำได้
และถึงแม้ว่าศาสนาต่าง ๆ จะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว
ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่าความขัดแย้งระหว่างมนุษย์จะจบสิ้นลง
ทั้งนี้ก็เพราะว่าศาสนามิใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดความแตกแยก
อีกทั้งตัวของศาสนาเองก็ไม่ใช่สาเหตุที่ก่อให้เกิดความแตกแยกเสียด้วยซ้ำ
แต่เป็นการยึดติดกับอัตตาของมนุษย์มากกว่า
โดยจะเห็นได้จากการที่คนศาสนาเดียวกันเอง หรือแม้แต่เชื้อชาติเดียวกัน
แต่บางครั้งก็เกิดข้อพิพาทกันจนนำไปสู่การทำลายล้างที่นำไปสู่ความสูญเสียที่ประเมินค่ามิได้
การสร้างสันติภาพนั้นไม่จำเป็นจะต้องมาจากการก่อตั้งศาสนา ลัทธิใหม่
หรือการลบล้างศาสนาให้หมดสิ้นไป
แต่มันควรจะมาจากการสร้างความเข้าอกเข้าใจกันทางศาสนา
การสร้างความรู้สึกให้อภัยและผ่อนปรนทางศาสนา และการเคารพในความแตกต่างของผู้อื่น
และนอกจากนี้ยังมีนักปราชญ์บางท่านได้เสนอแนะวิธีการสร้างสันติภาพไว้โดยการที่ให้คนทุกคนสละละทิ้งสิ่งที่กระพี้และพยายามเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนาที่ตนนับถือ
เพราะว่าเมื่อใดที่มนุษย์เข้าถึงอันติมะสัจจะในศาสนาของตนได้
ความขัดแย้งและความแตกแยกระหว่างศาสนาต่าง ๆ ก็จะสิ้นสุดลง
อนาคตของศาสนา
ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ศาสนาต้องเผชิญหน้ากับการท้าทายจากลัทธิวัตถุนิยม (materialism) ความทันสมัย (modernity) และกระแสโลกิยนิยม (secularization)
คำถามหนึ่งที่ถูกตั้งขึ้นมาเป็นประเด็นถกเถียงก็คือ อนาคตของศาสนาจะเป็นเช่นไร
ศาสนาจะสามารถดำรงอยู่ท่ามกลางกระแสแห่งการท้าทายนี้ได้หรือไม่ ?
จะอย่างไรก็ดี ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า
ถึงแม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะพัฒนาก้าวหน้าไปมากแค่ไหน
สถาบันศาสนาก็จะยังคงอยู่คู่กับสังคม นั่นก็เพราะว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่มีศาสนา
ดังนั้นสังคมมนุษย์กับศาสนาจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ศาสนาก็ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยเพื่อความอยู่รอด
ต้องมีการปฏิรูปและปรับปรุงเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ทั้งทางด้านจิตใจและวัตถุอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
ทั้งนี้ก็เพราะว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่มีส่วนประกอบทั้งทางด้านสสารและวิญญาณ
ดังนั้นศาสนาที่จะอยู่รอดในอนาคตก็จะต้องเป็นศาสนาที่สามารถตอบสนองแก่ทั้งสองมิติของมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์
อีกทั้งยังต้องสามารถที่จะให้คำตอบแก่ปัญหาใหม่ ๆ ของยุคสมัยได้อย่างสมเหตุสมผล
มิใช่เพียงจะใช้ศรัทธาเป็นเครื่องมือตอบคำถามเพียงอย่างเดียว
สิ่งหนึ่งที่น่าจับตามองก็คือ
ในอนาคตความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับผู้นิยมแนวคิดแบบโลกิยวิสัย (secularism) จะดำเนินไปสู่ทิศทางใด จะดำเนินไปสู่ความขัดแย้งในระดับที่ไม่สามารถหันหน้าเข้าหากันได้
หรือจะดำเนินไปสู่ความประนีประนอมระหว่างกัน โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มจารีตนิยม (fundamentalist) หันมาใช้ความรุนแรงเพื่อต่อต้านพวกโลกิยนิยม
ในขณะที่พวกโลกิยนิยมก็ออกมาประท้วงเรียกร้องสิทธิทางโลกย์ของพวกเขามากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการทำแท้ง รักร่วมเพศ ฯลฯ
ซึ่งล้วนแต่ขัดแย้งกับหลักคำสอนทางศาสนาทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม อนาคตที่เป็นสิ่งยากแก่การพยากรณ์
เพราะมันขึ้นอยู่กับปัจจัยและองค์ประกอบทางกาลเวลา
รวมถึงบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
สิ่งที่เราทำได้ก็คงจะมีแต่การเฝ้าสังเกตการณ์ต่อไปว่าศาสนาในอนาคตกาลจะดำเนินไปสู่ทิศทางใด
จะดำเนินไปสู่ความตกต่ำท่ามกลางความรุ่งเรืองของโลกทัศน์แบบโลกิยวิสัย
หรือจะไม่เป็นเช่นนั้น
แต่จะดำเนินไปสู่ความรุ่งโรจน์ในขณะที่โลกิยนิยมต้องพบกับความตกต่ำและสูญสลายไปในที่สุด
?
ยุทธวิธีการเผยแผ่ศาสนาของพระสงฆ์
จากข้อมูลที่ได้เสนอมา
เป็นการบอกสภาพสังคมยุคใหม่ แรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่ของมนุษย์ในสังคมยุคใหม่ คือ ลัทธิวัตถุนิยม (materialism) ความทันสมัย (modernity)
และกระแสโลกิยนิยม (secularization) ขณะที่ศาสนจักรรังรักษาแนวคิดแบบจารีตนิยม (fundamentalism) พระสงฆ์คงต้องปรับยุทธศาสตร์จากการเผยแผ่แบบเชิงรับ(Passive ) มาเป็นเชิงรุก ดังบทความในรายงานวิจัยเรื่อง “ยุทธศาสตร์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก”(
STRATEGIES FOR
PROACTIVE BUDDHISM PROPAGTION) โดย กรกต ชาบัณฑิต, เกษมชาติ นเรศเสนีย์, ภิศักดิ์
กัลยาณมิตร [4] โดยแบ่ง ยุทธวิธีการเผยแผ่ศาสนาออกเป็นรูปแบบตามเป้าหมายแต่ละยุค
ดังนี้
1.
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอดีต มีเป้าหมายที่ชัดเจนคือ
เพื่อประโยชน์สุขแก่เวไนยสัตว์ทั้งหลาย และเพื่อให้เวไนยสัตว์ทั้งหลายได้บรรลุมรรค
ผลและนิพพาน สำหรับรูปแบบการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอดีตนั้น มีทั้งเชิงรับและเชิงรุก
ส่วนวิธีการเผยแผ่ของพระพุทธองค์ทรงมีพุทธวิธีการเผยแผ่หลายแบบ
ซึ่งพระองค์ทรงประยุกต์วิธีการเผยแผ่ให้เข้ากับบุคคล สังคม และสิ่งแวดล้อม
ซึ่งรูปแบบและวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอดีตล้วนมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จทั้งสิ้น
2.
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในปัจจุบัน
มีเป้าหมายการเผยแผ่เพื่อมุ่งเน้นให้พุทธศาสนิกชนมีความรู้
ความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง
และสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
สำหรับรูปแบบการเผยแผ่นั้นในปัจจุบันเป็นแบบเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ ส่วนวิธีการเผยแผ่นั้นขึ้นอยู่กับความสามารถและเชี่ยวชาญของผู้เผยแผ่
ซึ่งมีวิธีการเทศนาธรรมปาฐกถาธรรม อภิปรายธรรม สนทนาธรรม การสอนกรรมฐาน
และการสอนแบบประยุกต์ ยุทธศาสตร์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกของพระสงฆ์ไทย
มีเป้าหมาย 3 ด้าน คือ
(1) ด้านการศึกษา เป็นการศึกษาเรื่องไตรสิกขา
(2) ด้านศาสนาคือ การเรียนรู้
และเข้าใจศาสนพิธีต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา และ
(3) ด้านวัฒนธรรม คือ
การตระหนักถึงคุณค่าทางประเพณีและวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา
สำหรับรูปแบบและวิธีการเผยแผ่พระศาสนานั้นต้องเป็นแบบเชิงรุกโดยผู้เผยแผ่พระศาสนา
แต่ละท่านต้องประยุกต์ความถนัดของตนให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
3.
ยุทธศาสตร์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก เพื่อบรรลุเป้าหมายที่กล่าวมา
พระสงฆ์ควรมียุทธศาสตร์การเผยแผ่ศาสนาแบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ
1)
ยุทธศาสตร์การสร้างเครือข่าย โดยใช้ความร่วมมือจากทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง
2)
ยุทธศาสตร์การขยายพลัง โดยสนธิความสามารถของกลุ่มศาสนิกชนต่างๆ
ให้เกิดพลัง
3)
ยุทธศาสตร์การปลูกฝังศรัทธา
กระทำโดยพัฒนาแบบการปฏิบัติในการเข้าถึงหลักธรรมอย่างถูกต้อง
4)
ยุทธศาสตร์การแสวงหาความหลุดพ้นกระทำโดยมุ่งเน้นปฏิบัติต่อกลุ่มพุทธศาสนิกชนที่เหมาะสม
เพื่อการหลุดพ้นทุกข์อย่างแท้จริง
ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สามารถใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติของคณะสงฆ์
เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกต่อไป
สรุป
นักเผยแผ่ศาสนา
ควรเตรียมตัวเองให้พร้อมในเรื่องต่อไปนี้
1.
มีความรู้ลุ่มลึกในหลักคำสอนทางศาสนา
เป็นพหูสุตร
2.
มีความรู้บริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่ตนเองต้องเข้าไปปฏิบัติศาสนกิจ
3.
มีความสามารถใช้ภาษาร่วมสมัยในการสื่อสารกับสังคมยุคโลกาภิวัตน์
4.
มีมนุษย์สัมพันธ์ดี
ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้
5.
เป็นผู้ประพฤติและดำรงตนเหมาะสมกับสมณภาวะ
6.
สามารถใช้สื่อที่หลากหลาย
มีช่องทางที่หลายในการเผยแผ่ ทั้งเชิงรับและเชิงรุก
7.
ปรับปรุงตนเองให้มีความรู้ก้าวทันต่อความรู้และเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่เสมอ
บรรณานุกรม
จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์. สังคมวิทยาศาสนา. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2525.
ณรงค์ เส็งประชา. มนุษย์กับสังคม. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2530.
บุญสนอง บุณโยทยาน. มนุษย์กับสังคม. กรุงเทพฯ : คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2518.
พระไพศาล วิสาโล. “พลวัตของศาสนาในยุคโลกาภิวัฒน์” <
http://www.visalo.org/ article/ budPolawat.htm>(16 September 2010)
สันติ ตั้งรพีพากร (ผู้แปล) จอห์น ไนซ์บิต (เขียน). อภิแนวโน้มโลก. กรุงเทพฯ : โกลเบิ้ล เบรน, 2534.
แสง จันทร์งาม. ศาสนศาสตร์. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2531.
Crawford Robert. What
is Religion. London : Routledge, 2002.
Tiwari Kedar
Nath. Comparative Religion. Delhi : Motilal Banarsidass, 1983.
http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-3/worldview_of_the_modern_age/01.html
http://aldoraji.blogspot.com/2011/01/globalization-auguste-comte-positivism.html
http://www.tci-thaijo.org/index.php/JournalGradVRU/article/view/31385