ภาคที่ ๒
ประเพณีตั้งธรรมหลวง
:
เทศมหาชาติ มหาเวสสันตระชาดก
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
2.1 ความเป็นมาของประเพณี
ชาวล้านนามีความผูกอันแนบแน่นอยู่กับพระพุทธศาสนา วิถีล้านนาเป็นวิถีพุทธ แม้จะมีความเชื่อเรื่องผี
และไสยศาสตร์ปนอยู่ก็ตาม แต่ความเด่นอยู่ที่วัฒนธรรมและประเพณีทางพระพุทธ ศาสนา มหาเวสสันตระชาดก
สอนในเรื่องการให้ทาน การบริจาค ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
ผลจากการซึมซับรูปแบบของคนดี น้ำใจงาม จากพระเวสสันดร หล่อหลอมให้ชาวล้านนา นับแต่โบราณกาลจวบปัจจุบันเป็นผู้มีอัธยาศัยงดงาม
โอบอ้อมอารี อ่อนโยน อ่อนหวาน มีไมตรีจิตกับทุกคน
เป็นที่ประทับจิตติดในความทรงจำของผู้ที่ได้มาสัมผัสกับชาวล้านนา
หลงมนตร์เสน่ห์แห่งวิถีล้านนา วิถีพุทธยากที่จะลืมเลือนไปได้
2.2 ประเพณีตั้งธัมม์หลวง[1]
ประเพณี ๑๒ เดือน ของชาวล้านนา
ที่สัมพันธ์กับเวสสันดรชาดก ก็คือประเพณี ยี่เป็ง (เดือน ๑๒ ภาคกลาง)
นอกจากจะลอยกระทง ล่องสำเภา ตามประทีป ปล่อยโคมไฟแล้ว ในเดือนนี้ หลายวัด หลายชุมชน
จะประกอบพิธีฟังเทศน์ เรื่องพระเวสสันดร ที่เรียกว่า “ตั้งธัมม์หลวง” หมายถึง การฟังพระธรรมเทศนาเรื่องใหญ่ หรือ เรื่องสำคัญ
เพราะธัมม์หลวงที่ใช้เทศน์ มักจะเป็นเวสสันดรชาดก อันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์
ก่อนจะได้มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
๓.๓ ธัมม์มหาเวสสันตระชาดกล้านนา
มหาเวสสันตระชาดกมีหลายสำนวน
สื่อถึงความนิยมฟัง ด้วยเหตุที่เทศน์มหาชาติเป็นที่นิยมมานับแต่อดีต จึงมีนักปราชญ์ล้านนา
แต่งธัมม์(คัมภีร์ เรียบเรียงด้วยสำนวนล้านนา) มีประมาณ ๒๓๗ สำนวน[2]
จำแนกนับตามฉบับ เท่าที่ค้นพบได้ มี ๔๒๕ ฉบับ เช่น ฉบับวิงวอนน้อย วิงวอนหลวง วิงวอนดอนกลาง
หิ่งแก้วมโนวอน ท่าแป้น ริมฅง สร้อยสังกร ล้านช้างเวียงจันทน์ พุกาม พระงาม แม่กุ
เมืองหาง พระสิงห์ โคมคำ เชียงของ น้ำดั้นท่อ ไม้ไผ่แจ้เรียวแดง พร้าวไกวใบ
พร้าวหนุ่ม อินทร์ลงเหลา ป่าซาง สะเภาน้อย มหาเวสสันตระฉบับข้าว ๔๙ ก้อน
เวสสันตรฉบับนกเค้า มหาเวสสันตระฉบับโทน และอีกมากมาย
สำนวนอันเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน ได้แก่ ฉบับสร้อยสังกร แต่งโดย พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
(ฟู อตฺตสิโว) อดีตเจ้าอาวาส วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เชียงใหม่ ได้รวมเอาสำนวนกัณฑ์ที่เด่น ๆ ของฉบับต่าง ๆ
มารวมกันขึ้นมาเป็นฉบับใหม่ เป็นต้น ส่วนฉบับที่เป็นภาษาบาลีล้วนเรียกว่า คาถาพัน
และฉบับที่แปลจากคาถาพัน เรียกว่า จริยา
2.3 ลำดับพิธีการตั้งธัมม์หลวง
เกี่ยวกับพิธีการตั้งธัมม์หลวงนี้
มีลำดับพิธีดังนี้ [3]
(๑) เทศน์คาถา ๑,๐๐๐, มาลัยต้น มาลัยปลาย และ อานิสงส์เวสสันตระ
วันแรก ในการเทศน์ นิยมเทศน์ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ
เดือนยี่เหนือ(ตรงกับเดือน ๑๒ ภาคกลาง) เวลาประมาณ ๑๕.๐๐ นาฬิกา ศรัทธาชาวบ้าน
จะพากันมาฟังเทศน์คาถาพัน คือ เรื่องราวของเวสสันดรชาดกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นภาษาบาลี
รวมทั้งหมด ๑,๐๐๐ คาถา
จำแนกจำนวนคาถาของแต่ละกัณฑ์ ได้ดังนี้
1. ทศพร มี ๑๓ คาถา
2. หิมพานต์ มี ๘๖ คาถา
3. ทานกัณฑ์ มี ๑๔๓ คาถา
4. วนประเวศน์ มี ๕๗ คาถา
5. ชูชก มี ๗๘
คาถา
6. จุลพล มี ๕๕ คาถา
7. มหาพน มี ๑๓๓ คาถา
8. กุมาร มี ๑๒๑ คาถา
9. มัทรี มี ๙๗ คาถา
10. สักกบรรพ มี ๔๙ คาถา
11. มหาราช มี ๗๗ คาถา
12. ฉกษัตริย์ มี ๔๓ คาถา
13. นครกัณฑ์ มี ๔๖ คาถา
เมื่อเทศน์จบคาถาพัน ก็จะเทศน์คัมภีร์อื่น คือ คัมภีร์มาลัยต้น มาลัยปลาย
อานิสงส์เวสสันตระ และ
ธัมม์ไขวิบากเวสสันตระ ต่อไป เป็นอันสิ้นสุดพิธีการเทศน์ในวันแรก
รุ่งขึ้นวันที่สอง เป็นวันเพ็ญขึ้น
๑๕ ค่ำ เดือนยี่เหนือ เวลาเช้าตรู่
จะเริ่มฟังเทศน์มหาชาติ หรือ “ธัมม์หลวง” ที่แต่งเป็นสำนวนล้านนา
สุดแต่จะเลือกสำนวนที่เห็นว่า มีเนื้อหาไพเราะและเป็นที่นิยม เช่น ฉบับวิงวอนน้อย วิงวอนหลวง
วิงวอนดอนกลาง หิ่งแก้วมโนวอน สร้อยสังกร
น้ำดั้นท่อ ไม้ไผ่แจ้เรียวแดง
อินทร์ลงเหลา โดยเริ่มจากเทศน์กัณฑ์ทศพร เป็นกัณฑ์แรก
และเทศน์กัณฑ์ต่อ ๆ ไปตามลำดับ มีเวลาพัก ในเวลาตักบาตรตอนเช้า และเวลาพระสงฆ์ฉันเพล
จากนั้นก็จะเทศน์ติดต่อกันจนถึงนครกัณฑ์ อันเป็นกัณฑ์สุดท้าย
ในมหาเวสสันตระชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์นั้น
จะมีบางกัณฑ์ที่คนนิยมฟังเป็นพิเศษและมักจะนิยมกำหนดเสียงพระนักเทศน์เอาไว้ คือ
๑. กัณฑ์ชูชก นิยมเสียงใหญ่ หรือค่อนข้างใหญ่
๒. กัณฑ์มัทรี นิยมเสียงเล็ก คล้ายเสียงผู้หญิง
๓. กัณฑ์กุมาร
นิยมเสียงเล็ก กลมกล่อม นุ่มนวล
๔. กัณฑ์สักกบรรพ
นิยมเสียง คล้ายกับกัณฑ์กุมาร หรือกัณฑ์มัทรี
๕. กัณฑ์มหาราช
นิยมเสียงใหญ่ หนักแน่น
๖. กัณฑ์ฉกษัตริย์
นิยมเสียงเด็ก ส่วนมากจะเป็นสามเณรองค์เล็ก ๆ เทศน์
๗. นครกัณฑ์
นิยมเสียงใหญ่ ทุ้มกังวาน
ในการเทศน์กัณฑ์สำคัญ
ๆ เช่น ชูชก, กุมาร, มัทรี, มหาราช
ก็เจาะจงนิมนต์พระนักเทศน์ผู้มีสุ้มเสียงดี ทั้งมีลีลาใส่กาพย์ด้วยท่วงทำนองพิเศษในการเทศน์แต่ละกัณฑ์
เพื่อเป็นธรรมหรรษา ปลูกปสาทะแก่คณะศรัทธาผู้ฟัง ส่วนกัณฑ์อื่น ๆ ที่เหลือ
ก็เทศน์ด้วยทำนองธรรมวัตร
(๒) การรับเป็นเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์
ในการฟังเทศน์และเป็นเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์นั้น
ศรัทธาสาธุชนสามารถรับเป็นเจ้าภาพส่วนบุคคล หรือจะรับเป็นเจ้าภาพร่วมกันก็ได้
เมื่อพระองค์เทศน์จะเริ่มเทศน์กัณฑ์ใด ก็ให้เจ้าภาพของกัณฑ์นั้น ๆ จุดธูปเทียน
เท่ากับจำนวนพระคาถา เพื่อบูชาคาถาของกัณฑ์นั้น ๆ ไปจนครบจำนวนของแต่ละกัณฑ์
(๓) การฟังเพื่อสืบชะตาต่ออายุตามปีเกิด
ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติมา
นอกจากจะฟังเอาอานิสงส์ดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีการฟังด้วยวัตถุประสงค์พิเศษ เพื่อเป็นการสืบชะตาต่ออายุ
ตามนักษัตรปีเกิดของแต่ละคน ซึ่งปราชญ์ล้านนาได้กำหนด ปีนักษัตร
ตามลำดับกัณฑ์ของมหาเวสสันตระชาดก ดังนี้
1. กัณฑ์ทศพร สำหรับคนเกิด ปีใจ้(ปีชวด),
2. กัณฑ์หิมพานต์
สำหรับคนเกิด ปีเป้า(ฉลู),
3. ทานกัณฑ์
สำหรับคนเกิด ปียี(ปีขาล),
4. กัณฑ์ประเวศน์
สำหรับคนเกิด ปีเหม้า(ปีเถาะ),
5. กัณฑ์ชูชก
สำหรับคนเกิด ปีสี(ปีมะโรง)
6. กัณฑ์จุลพล
สำหรับคนเกิด ปีใส้(ปีมะเส็ง),
7. กัณฑ์มหาพน
สำหรับคนเกิด ปีสะง้า(ปีมะเมีย),
8. กัณฑ์กุมาร
สำหรับคนเกิด ปีเม็ด(ปีมะแม),
9. กัณฑ์มัทรี
สำหรับคนเกิด ปีสัน(ปีวอก),
10 กัณฑ์สักกบรรพ
สำหรับคนเกิด ปีเร้า(ปีระกา),
11. กัณฑ์มหาราช
สำหรับคนเกิด ปีเส็ด(ปีจอ),
12. กัณฑ์ฉกษัตริย์
สำหรับคนเกิด ปีใค้(ปีกุน),
13. นครกัณฑ์
สำหรับคนทุกปีเกิด ได้เป็นเจ้าภาพร่วมกัน
2.4 อานิสงส์ของการฟังเทศน์เวสสันตระชาดก
ชาวล้านนามีความเชื่อกันว่า
หากได้ฟังเทศน์มหาชาติครบ ๑๓ กัณฑ์ ในวันเดียว ด้วยบุญผลานิสงส์ จะนำพาให้ไปเกิดในยุคพระศรีอาริยเมตไตรยในอนาคต
ที่จะมีแต่ความสุขสบาย ดุจเสวยวิมานในสรวงสรรค์ ไม่ต้องประกอบอาชีพ
ทำมาหากินให้ลำบาก ในคัมภีร์มาลัยสูตรกล่าวว่า เมื่อครั้งพระมาลัยเถระขึ้นไปนมัสการพระเกศแก้วจุฬามณี
ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น ได้พบกับพระโพธิสัตว์อริยเมตไตรยเทพบุตร
ท่านก็ได้บอกพระมาลัยเถระว่า
“ให้คนทั้งหลายฟังธรรมมหาชาติจบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ในวันเดียวคืนเดียว แล้วจะได้ไปเกิดร่วมกับศาสนาของเรา”
เมื่อพระมาลัยเถระกลับจากสวรรค์ ก็ได้นำเรื่องนี้มาบอก ครั้นคนทั้งหลายได้ฟัง
ก็พากันตั้งใจฟังเทศน์มหาชาตินับแต่นั้น จนถือเป็นประเพณีสืบมาจวบปัจจุบัน
หนังสือมหาชาติภาคพายัพ
ฉบับ สร้อยสังกร เรียบเรียงสำนวนโดย พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ฟู อตฺตสิโว) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์
จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวไว้ในอานิสงส์มหาเวสสันตระชาดกว่า
“ปูชา ปาเก เตชยนฺติ ทุคฺคติ เตน
ปุญฺญสฺส ปาเก ความว่า คนทั้งหลายฝูงใดได้บูชามหาเวสสันตระชาดก
ผู้นั้นก็จักได้เป็นท้าวพระยาในเมืองคน ยศบริวารบ่จนมีมาก ช้างม้าหากเนืองนัน
มีกองนันทเภรีเก้าพันลูก เพี๊ยะพิณผูกเก้าพันเสียง สัททะสำเนียงชมชื่น
สนุกต้องตืนทุกรวายตรีทิวา ทาสีทาสามีมากพร้อม อยู่แวดล้อมปรนนิบัติ
ทิพยสมบัติล้ำเลิศ ก็กลับเกิดมาตาม เล้มเงินเล้มคำแลเสื้อผ้า ทั้งช้างม้าแลข้าวเปลือกข้าวสาร
จักมีตามคำปรารถนาทุกเมื่อ จำเริญเชื่อมงคล ยทา ในกาละเมื่อใด พระศรีอาริยเมตไตย
มาตรัสผญาปัญญา เป็นพระภายหน้า บุญแก่กล้าก็จักได้หันหน้าท่านบ่สงสัย
เหตุได้เป็นปาเถยยะ กันธรรมะเวสสันตรชาดก อันยกมีมาที่นี้แล้ว
ก็จักเถิงซึ่งเวียงแก้วยอดมหาเนรพาน แลนา”[4]
[1] มณี พยอมยงค์, ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย, (๒๕๔๓), หน้า
๒๔๕; อุดม รุ่งเรืองศรี, สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ, (๒๕๔๒), หน้า ๒๓๔๐-๒๓๔๑.
[2]
สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, รายชื่อหนังสือโบราณล้านนา : เอกสารไมโครฟีล์ม(ฉบับปรับปรุง), เชียงใหม่ :
สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๒๕๕๒, รวบรวมรายชื่อฉบับที่ไม่ซ้ำกันได้ ๒๓๗ สำนวน หากนับฉบับจะได้ทั้งหมด ๔๒๕
ฉบับ นับแต่ลำดับเลขที่ ๓๑๐๖-๓๕๒๒, หน้า ๒๕๙-๒๙๔.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น