ภาคที่ ๑
อารัมภกถา
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
๑.๑ ความเป็นมา
มหาเวสสันตระชาดก หรือ
เวสสันตระชาดก(เวสสันดรชาดก)
เป็นชาดกสำคัญเรื่องหนึ่งในบรรดาอดีตชาติ ๑๐ เรื่อง (ชาวไทยนิยมเรียกว่า
พระเจ้า ๑๐ ชาติ) ได้แก่ เตมิยชาดก, มหาชนกชาดก, สุวรรณสามชาดก, มโหสถชาดก, ภูริทัตตชาดก,
จันทกุมารชาดก, นารทกัสสปชาดก, วิธุรชาดก, และ เวสสันตระชาดก (ที่เรียกย่อ ๆ
เพื่อให้จำได้ง่าย ๆ ว่า “เต, ชะ, สุ, เน, มะ, ภู, จะ, นา, วิ, เว”)
ของพระสิทธัตถโคตมพุทธเจ้า เมื่อครั้งยังเสวยชาติเป็นพระโพธิสัตว์ บำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ
หรือ บารมี ๑๐ ทัศ [1]
ประกอบด้วย ทานบารมี, ศีลบารมี, เนกขัมมะบารมี, ปัญญาบารมี, วิริยะบารมี,
ขันติบารมี, สัจจะบารมี, อธิษฐานะบารมี, เมตตาบารมี, และอุเบกขาบารมี ให้บริบูรณ์ครบ ๓ ระดับ หรือ ๓ ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ ๑ ขั้นบารมี เป็นระดับสามัญ เช่น ทานบารมี ได้แก่
ให้ทรัพย์สินเงินทอง สมบัตินอกกาย ขั้นที่ ๒ ขั้นอุปบารมี เป็นระดับรอง หรือ จวนจะสูงสุด เช่น
ทานอุปบารมี ได้แก่ การเสียสละอวัยวะเป็นทาน และขั้นที่ ๓ ขั้นปรมัตถบารมี เป็น ระดับสูงสุด เช่น
ทานปรมัตถบารมี ได้แก่ การสละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น การบำเพ็ญบารมี 10
ให้ครบทั้ง ๓ ขั้นนี้ เรียกว่า “สมตึสปารมี” หรือ “สมดึงสบารมี” แปลว่า บารมี ๓๐ ถ้วน
ชาดกเรื่องมหาเวสสันตระ ถือว่า เด่นในการบำเพ็ญ “ทานบารมี”
ถึงขั้นอุปบารมี เข้าชุด “ปัญจมหาบริจาค” หรือ การบริจาคอันยิ่งใหญ่ ๕ ประการ
ได้แก่
๑. ธนบริจาค การสละทรัพย์สมบัติเป็นทาน
๒. อังคบริจาค
การสละอวัยวะ(มีดวงตาเป็นต้น)ให้เป็นทาน
๓. ชีวิตบริจาค การสละชีวิตให้เป็นทาน
๔. ปุตตบริจาค การสละลูกให้เป็นทาน
๕. ทารบริจาค(ภริยาบริจาค) การสละเมียให้เป็นทาน
พระเวสสันดร ได้สละทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของ
เครื่องใช้มากมายให้เป็นทาน ทรงสละพระโอรสและพระธิดาให้เป็นทานแก่พราหมณ์ชูชก
และสละพระนางมัทรี
พระมเหสีให้เป็นทานแก่ท้าวสักกะ(พระอินทร์)ที่ปลอมเป็นพราหมณ์ชรามาขอ
นับว่าเป็นการเสียสละให้ทาน(ทานบารมี)ที่คนปกติทั่วไปกระทำได้โดยยาก
เพราะต้องการบรรลุพระโพธิญาณ เพื่อโปรดสัตว์โลก
น้ำพระทัยของพระเวสสันดรทรงยินดีในการให้ทานเสมอ
ไม่มีผู้ใดที่มาขอแล้วจะพกความผิดหวังกลับไป คือขอแล้วต้องได้ทุกคน
จนมีคำตลาดเปรียบเทียบคนที่ชอบสละสิ่งของให้เป็นทานโดยไม่รู้สึกเสียดายว่า “ใจกว้างเหมือนพระเวสสันดร”
ชาวพุทธไทยตั้งแต่ได้นับถือพระพุทธศาสนามา ก็นิยมศึกษา อ่าน หรือ
ฟังเทศน์มหาเวสสันตระชาดก ที่เรียกว่า “ฟังเทศน์มหาชาติ” โดยถือคติตามเรื่องพระมาลัยเทวเถระ ที่พระมาลัยสนทนากับเมตไตรยโพธิสัตว์
ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปว่า ผู้ใดตั้งจิตอุตสาหะสดับ(ฟัง)เทศน์มหาชาติ(มหาเวสสันตระชาดก)จนจบครบ
๑๓ กัณฑ์ ในวันเดียว ผู้นั้นจะได้ผลานิสงส์มหาศาล
เมื่อสิ้นชีวิตลงย่อมไปบังเกิดในโลกสวรรค์ และเมื่อพระศรีอริยเมตไตรย
มาตรัสรู้ประกาศพระศาสนา ผู้นั้นจะก็ได้มาบังเกิดในยุคพระศรีอริยเมตไตรย ในยุคนั้น
ทุกคนล้วนมีความสุขดุจอยู่แดนสวรรค์ สนุกสนาน เพลิดเพลินตลอดเวลา ไม่ต้องตรากตรำ
ทำงานหนัก อยากได้สิ่งของอะไร ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือ เครื่องนุ่งห่ม
ก็เพียงแต่ออกไปเอาไม้สอยของที่ห้อยอยู่ตามกิ่งของต้นกัลปพฤกษ์
ซึ่งเกิดตั้งอยู่ทั้ง ๔ มุมเมือง
ก็จะได้สิ่งของตามความประสงค์ทุกประการ
ของทุกสิ่งที่ห้อยอยู่ตามกิ่งต้นกัลปพฤกษ์นั้น ล้วนเป็นผลานิสงส์ของบุญใหญ่(มหากุศล)จากการตั้งใจฟังเทศน์
และการบูชามหาเวสสันตระชาดกเป็นสำคัญ
ตามความเชื่อและคตินิยมที่สืบทอดกันมานานเช่นนี้
จึงทำให้เกิดประเพณีการฟังเทศน์มหาชาติ
มหาเวสสันตระชาดกกันทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย
เนื้อเรื่องและสำนวนที่นำมาเทศน์อาจจะแตกต่างกันไปบ้างในรายละเอียด เช่น
“มหาชาติคำหลวง” แต่งในสมัยพระเจ้าบรมไตรโลกนาถ เมื่อ พ.ศ.๒๐๒๕ หรือ
“กาพย์มหาชาติ” พระราชนิพนธ์โดย พระเจ้าทรงธรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๐
“เทศน์ผะเหวด” หรือ “พระเวส”
ของชาวไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ “ตั้งธัมม์หลวง” ของชาวไทยล้านนาเป็นต้นก็ตาม
แต่สาระโครงเรื่องส่วนใหญ่ ก็ไม่ทิ้งมหาเวสสันตระชาดก
เพื่อรักษาประเพณีการฟังเทศมหาชาติ จำเป็นต้องจาร จารึก บันทึก
คัดลอกสำนวนให้คงอยู่ สืบทอดต่อ ๆ กันมาจนถึงสมัยปัจจุบัน
๑.๒ ปฐมเหตุของการเล่าเรื่อง มหาเวสสันตระชาดก
การเล่าเรื่องมหาเวสสันตระชาดก เกิดขึ้นมา
เนื่องในสมัยที่พระพุทธเจ้าเสด็จนิวัติไปโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ
พระพุทธบิดาและพระประยูรญาติ ที่นครกบิลพัสดุ์ หลังจากการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
ตามคำอาราธนาของพระเจ้าสุทโธทนะ ที่ส่งทูตไปอาราธนาถึง ๙ คณะ แต่ก็ไม่สำเร็จ
จนถึงทูตคณะที่ ๑๐ ซึ่งนำโดยกาฬุทายีอำมาตย์(พระสหชาติ) จึงอาราธนาได้สำเร็จ
แต่เมื่อพระองค์เสด็จไปถึงนครกบิลพัสดุ์
พำนักที่นิโครธาราม พระประยูรญาติผู้ใหญ่ ต่างถือตัว มีทิฏฐิกล้า มานะแข็ง
ไม่ยอมก้มพระเศียรถวายความเคารพ ด้วยถือตัวว่า ตนมีอายุมากกว่าพระพุทธเจ้า
จึงปล่อยให้ราชกุมาร ราชกุมารีที่ทรงมีชันษาเยาว์ ให้ถวายความเคารพ
พระพุทธเจ้าจึงปราบมานะทิฏฐิอันแรงกล้าของพระประยูรญาติให้หมดลง
จนอ่อนน้อมยอมตนถวายความเคารพ ทันใดนั้น ได้บังเกิด ฝนโบกขรพัสส์(บางทีสะกดเป็นโบกขรพรรษ
ได้แก่ น้ำฝนที่มีสีแดง บางทีก็เรียกว่า “ฝนแก้ว” ตกลงมา ใครที่ไม่ต้องการให้เปียก
ก็ไม่เปียก เหมือนเม็ดฝนตกลงบนใบบัว ไม่เปียกและไม่ค้างอยู่ที่ใบบัว กลิ้งลงไป
เป็นอัศจรรย์) ยังความชุ่มเย็นแก่ญาติสมาคม
ทุกคนต่างมองเห็นว่าเป็นเรื่องอันน่าอัศจรรย์ยิ่ง
พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า
การที่ฝนโบกขรพัสส์ตกลงมาในท่ามกลางสมาคมญาติเช่นนี้
มันก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตเช่นกัน
เมื่อพระภิกษุอาราธนาให้ทรงเล่าเรื่องฝนโบกขรพัสส์ที่เคยตกลงมานั้น
พระพุทธเจ้าจึงทรงเล่า มหาเวสสันตระชาดก ชาติสุดท้ายที่เกิดเป็นมนุษย์มาบำเพ็ญบารมีของพระองค์
พระสังคีติกาจารย์รวบรวมเฉพาะแก่นของเรื่องเป็นคำร้อยกรองได้ ๑,๐๐๐ คาถา[2] บรรจุไว้ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ หมวดพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก ชุดมหานิบาต
เรื่องที่ ๑๐ [3] เป็นคาถาล้วน(ปัชชพันธะ : คาถา
หรือ คำร้อยกรอง) ไม่มีความเรียง(คัชชพันธะ : ความเรียง หรือ
จุณณียบท) หรือ
การแต่งผสมระหว่างความเรียงกับคาถา (วิมิสสพันธะ : การแต่งเรื่องที่ใช้คาถาและความเรียงที่สองอย่างปะปนกัน)[4]
ต่อมา พระอรรถกถาจารย์ได้แต่งอรรถกถาชาดก
มหานิปาตวรรณนา ภาคที่ ๒ ในตอนที่ว่า “เวสฺสนฺตรชาตกวณฺณนา”[5]
โดยการแต่งความเรียงบอกเล่าลำดับเหตุการณ์ของเรื่อง
อิงอาศัยคาถาในพระไตรปิฎกที่สรุปเฉพาะพลความ
โยงเรื่องให้เห็นว่า ก่อนจะได้กล่าวคาถานี้
ท้องนิทานของเรื่องดำเนินมาอย่างไร จึงเติมเต็มให้ได้ความสมบูรณ์ว่า ใคร ทำอะไร
ที่ไหน อย่างไร มีผลอะไรเกิดขึ้น
ทั้งได้แทรกอธิบาย คำ ความ และธรรมะ เรียงตามลำดับคาถา
ให้ผู้อ่านได้เข้าใจเนื้อเรื่องพระมหาเวสสันตระชาดก สามารถปะติดปะต่อได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้
เพื่อเจริญศรัทธาปสาทะของพุทธศาสนิกชนในการบำเพ็ญทานบารมีตามอย่างพระเวสสันดร
อนึ่ง คำในพระบาลีและคำของพระอรรถกถาจารย์
ที่ใช้สื่อสารกันในยุคโน้น อาจจะเป็นที่เข้าใจยากของอนุชนผู้เกิดภายหลัง
พระฎีกาจารย์ ก็ได้แต่งฎีกา อธิบายขยายความของคำ เพิ่มตัวอย่าง วิเคราะห์ศัพท์ ให้เป็นที่เข้าใจง่าย
ไม่ผิดไปจากความมุ่งหมายของผู้แต่งเรื่องเดิม ตรงตามข้อเท็จจริง
สอดคล้องตามแก่นของเรื่อง และ มหาเวสสันตรทีปนี ก็เกิดขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์หลักคล้ายกันนี้
[1]
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
(ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์
ฉบับประมวลธรรม ข้อ ๓๒๕ กล่าวว่า
“ทศบารมี (ปฏิปทาอันยวดยิ่ง, คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติอย่างยิ่งยวด
คือ ความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุซึ่งจุดหมายอันสูง เช่น
ความเป็นพระพุทธเจ้า และ ความเป็นมหาสาวก”
[2]
คาถา เป็นคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง ตามแบบฉันทลักษณ์ ในภาบาลี คาถาโดยทั่วไปจะประกอบไปด้วย ๔ บาท อัตราของฉันท์ คือ ๔ บาท เป็น ๑ คาถา(แต่ก็มีการประพันธ์ฉันท์ในรูปแบบอื่นๆ
ประกอบไปด้วย ๒ บาท คาถาบ้าง, ๕ บาท คาถาบ้าง, ๖ บาท คาถาบ้างดังคาถาที่ปรากฏใน
มหาเวสสันตรชาดก) ตัวอย่าง ๑ คาถา ที่ท่านประพันธ์แบบปัฐยาวัตรฉันท์ เรียงคำ
บาทละ ๘ คำ มีทั้งหมด ๒ แถว ในแถวที่ ๑ มี
๒ บาท คือ บาทที่ ๑ และ บาทที่ ๒
และแถวที่ ๒ ก็มีอีก ๒ บาท คือ
บาทที่ ๓ และบาทที่ ๔ รวมทั้งคาถาจึงเป็น ๔ บาท นับจำนวนคำประพันธ์ได้ ๓๒ คำ ปัฏฐยาวัตรฉันท์
เป็นที่นิยมใช้มากที่สุด เพราะสำเนียงที่ไพเราะ เนื่องจากมีสำเนียงครุ(เสียงหนัก)
และลหุ(เสียงเบา)อย่างละ ๖ คำ
จึงไพเราะงดงามประดุจนางหงส์ร้อง และนางนกยูงลำแพน ตัวอย่างคาถาที่ท่านประพันธ์
แบบปัฏฐยาวัตร ในชินาลังการ คาถาที่ ๑๒๓ เห็นว่าเล่นคำได้งดงาม ดังนี้
โนนานิโน นนูนานิ นาเนนานิ นนานิโน
นูเนนานิ นูนํ น นานนนฺนานเนน
โน ฯ
[3]
มหาเวสฺสนฺตรชาตกํ, ขุทฺทกนิกายสฺส
ชาตกํ ปญฺญาส-มหานิปาตชาตกํ, สฺยามรฏฺฐสฺส เตปิฏกํ,
(กรุงเทพฯ : มหา มกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๓). เล่ม ๒๘ ข้อ ๑๐๔๕ -๑๒๖๙ หน้า ๓๖๕-๔๕๓.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น