แจ้งข่าวนักศึกษา012173

วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2568

พุทธนวัตศิลป ภาคที่ ๔ การเทศน์มาลัยเค้า(ต้น) มาลัยปลาย

 

ภาคที่ ๔

การเทศน์มาลัยเค้า(ต้น) มาลัยปลาย

พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์

 

          พระมาลัย คือ พระอรหันตสาวกในพระพุทธศาสนา ปรากฏใน “คัมภีร์มาลัยสูตร” กล่าวถึง พระอรหันต์ชาวลังการูปหนึ่งนามว่า “พระมาลัยเทวเถระ” อาศัยอยู่บ้านกัมโพช แคว้นโลหะชนบท ทวีปลังกา เป็นพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์ สามารถจาริกไปยังนรกและสวรรค์[1] เพื่อนำความที่พบเห็นมาเทศนาแก่มนุษย์ ทำให้เกิดความเชื่อในเรื่องผลของบาปบุญ คุณโทษ 

          ความเชื่อเรื่องพระมาลัยเถระ สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศพม่า ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๘ และได้แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย ผ่านทางล้านนาและสุโขทัย ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐  ต่อมา ได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งเห็นได้จากการแต่งวรรณกรรมพระมาลัย เช่น คัมภีร์มาลัยเค้า(ต้น) มาลัยปลาย ในภาคเหนือ คัมภีร์มาลัยหมื่น มาลัยแสน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พระมาลัยคำหลวง พระมาลัยกลอนสวด นิทานพระมาลัย ในภาคกลาง และ พระมาลัยคำกาพย์ในภาคใต้ 

 

๔.๑ คัมภีร์พระมาลัยทางล้านนา

          ธรรมเนียมทางล้านาที่เทศมหาชาติ หรือ ตั้งธรรมหลวง ก่อนการเทศเวสสันดรชาดก ก็จะเทศน์กัณฑ์พิเศษ นอกจาก คาถาพัน (๑,๐๐๐ )แล้ว ก็จะเทศน์คัมภีร์พระมาลัย ซึ่งทางล้านนาเรียกว่า มาลัยเค้า มาลัยปลาย หรือ ปฐมมาลัย ทุติยมาลัย  ซึ่ง มี ๒ คัมภีร์ คือ

                     ๑) มาลัยเค้า หรือ มาลัยต้น (ปฐมมาลัย) กล่าวถึงพระอรหันต์มาลัยเถระ พระสงฆ์ชาวลังกา เดินทางไปเยี่ยมแดนนรก ได้พบกับพญายมราชและเห็นสัตว์นรกจำนวนมากที่ถูกลงโทษเสวยผลแห่งอกุศกรรมที่ทำมาในชาติก่อน พญายมราชบอกกับพระมาลัยว่า การทำบุญ ทำทาน การฟังเทศน์ และอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตายนั้น อาจทำให้ผู้ที่ตกทุกข์อยู่ในนรกพ้นจากความทุกข์ได้

          ๒) มาลัยปลาย (ทุติยมาลัย) กล่าวถึงพระมาลัยเถระเดินทางไปเยี่ยมสวรรค์ ได้พบพระอริยะเมตไตยเทวบุตร ผู้ซึ่งจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป พระมาลัยเถระถามว่า ทำอย่างไรจึงจะได้เกิดไปเกิดร่วมศาสนากับพระศรีอริยะเมตไตย ได้คำตอบว่า ผู้ที่ได้สดับฟังการเทศมหาชาติตั้งแต่ต้นจนจบ จะได้พบกับศาสนาพระศรีอริยะเมตไตยพุทธเจ้า

          นอกจาก มาลัยเค้า-มาลัยปลาย แล้ว การเทศน์เพื่อสั่งสอนศีลธรรมโดยทั่วไป ก็มี คัมภีร์ธัมม์  “มาลัยโผดโลก” ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของคัมภีร์ใบลานล้านนา ที่กล่าวถึง พระมาลัย  เป็นพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์และทรงญาณอันสูงสุด ดุจพระโมคคัลลาน์ สามารถเดินทางไปยังเทวโลก(สวรรค์) และยมโลก(นรก)ได้ พระมาลัยได้นำเรื่องราวความสุขในสวรรค์ และความทุกข์ในนรก มาแจ้งแก่มนุษย์ เกี่ยวกับเรื่องกฎแห่งกรรมชั้วและกรรมดี

โดยเฉพาะเรื่องราวในนรก แบ่งเป็นขุมใหญ่และขุมย่อยคือ นรกขุมใหญ่ ๘ ขุม มีชื่อว่า สัญชีว นรก กาฬสุตานรก สังฆาตนรก โรรุวนรก มหาโรรุวนรก ตาปนนรก มหาตาปนนรก อเวจีนรก มีบริวาร นรกทิศละ ๔ ขุม มีขุมเล็กอีก ๑๐ ขุม นอกจากมีนรกขุมใหญ่ ๆ แล้วยังมีนรกชั้นนอกอีก ๑๐ ขุม สภาพการณ์ในนรก คือ เป็นที่เสวยกรรมของผู้ทำบาป ทำชั่ว มีการทรมานที่น่ากลัวหลากหลายรูปแบบ  บรรดาสัตว์นรกต้องทนทุกขเวทนาเป็นช่วงเวลายาวนาน

ส่วนภาคที่พระมาลัยไปสวรรค์ เพื่อจะไปถวายดอกบัวบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี และได้พบพระศรีอาริยเมตไตรย ผู้ที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ท่านฝากพระมาลัยมาเผยแผ่ว่า หากใครอยากพบพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ต้องหมั่นทำบุญทำทานรักษาศีลภาวนาและเป็นคนดีไม่ทำชั่วมีจิตใจบริสุทธิ์ หรือจะฟังธรรมเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์จบภายในวันเดียวก็สามารถได้ไปเสวยสุขบนสวรรค์และได้พบพระพุทธเจ้าศรีอาริยเมตไตรยในอนาคตกาลได้ พระมาลัยได้นำเรื่องราวจากนรกและสวรรค์มาบอกเล่าชาวบ้าน เพื่อให้หมั่นทำความดี อยู่ในศีลในธรรม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

รูป

มาลัยต้น

พระมาลัยโปรดสัตว์นรก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

๔.๒ คัมภีร์พระมาลัยทางภาคอีสาน

ในภาคอีสาน ก็มีคัมภีร์พระมาลัยโปรด นรก - สวรรค์ ที่เรียกว่า มาลัยหมื่น-มาลัยแสน เป็นการพรรณนาเรื่องราวของพระมาลัยเถระ ได้นำดอกบัวขึ้นไปบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬาลมณี ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และพระมาลัยได้เห็นหมู่เทพยดา กำลังเดินเวียนประทักษิณ บูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี เป็นหมู่ ๆ จำนวนร้อยบ้าง จำนวนพันบ้าง จำนวนหมื่นบ้าง และจำนวนแสนถึงหลายแสน จนนับไม่ถ้วน 

 คำว่า “มาลัยหมื่น-มาลัยแสน”[2] จึงมาจากจำนวนเทวดาเป็นที่จำแนกเป็นกลุ่ม เป็นหมู่ ๆ ที่พากันมาบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี    มาลัยหมื่น – มาลัยแสน เป็นวรรณกรรมอีสาน พรรณนาเรื่องพระมาลัยไปเยี่ยมแดนสวรรค์ ซึ่งจารจารึกไว้ในหนังสือผูกใบลานด้วยอักษรธรรมอีสาน และมีการถอดความเป็นภาษาไทยโบราณสำนวนอีสานตลอดทั้งเรื่อง แบ่งเป็น ๒ กัณฑ์ คือ

กัณฑ์ที่ ๑ เรียกว่า “มาลัยหมื่น” แบ่งเป็น ๒ ตอน คือ ตอนรับดอกบัวจากบุรุษเข็ญใจแล้วขึ้นไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และได้พบสนทนากับพระอินทร์ และตอนได้พบกับเทวดาจำนวนร้อย จำนวนพัน และจำนวนหมื่น กระทำประทักษิณบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี

กัณฑ์ที่ ๒ เรียกว่า “ มาลัยแสน” แบ่งเป็น ๒ ตอน คือ ตอนไปไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีพบเทวดาจำนวนแสน และตอนได้พบสนทนากับพระศรีอริยเมตไตรยเทพบุตร ผู้ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

รูป

มาลัยปลาย

พระมาลัยไปเยี่ยมเทวโลก

โปรด เทวดา พระพระศรีอาริยเมตไตย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

๔.๓ คัมภีร์พระมาลัยทางภาคกลาง

ทางภาคกลาง มีคัมภีร์ “พระมาลัยคำหลวง และ พระมาลัยคำสวด” โดยที่พระมาลัยคำหลวง สันนิษฐานว่าเป็นพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร  มีลักษณะเป็นร้อยกรองที่โดดเด่นด้านวรรณศิลป์อย่างยิ่ง มีการใช้ศัพท์สูงทั้งภาษาบาลี สันสกฤต และขอม เล่นเสียง เล่นคำ อย่างไพเราะ  บ่งบอกถึงความแตกฉานของผู้นิพนธ์เป็นอย่างยิ่ง และเนื่องจากพระมาลัยคำหลวงเป็นวรรณกรรมชั้นสูง จึงนิยมสวดในพิธีหลวงสำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น

ในขณะเดียวกัน ก็ปรากฏมีพระมาลัยอีกสำนวนหนึ่งเรียกว่า “พระมาลัยคำสวด” หรือ “พระมาลัยกลอนสวด” มีลักษณะเป็นวรรณกรรมพื้นบ้าน ที่เเต่งในรูปร้อยกรองประเภทคำฉันท์และกาพย์ ด้วยถ้อยคำที่เรียบงาย กระชับกว่าฉบับหลวงมาก เพื่อให้ชาวบ้านสามารถฟังและเข้าถึงได้ง่ายกว่า โดยไม่ปรากฏว่า ผู้ใดเป็นผู้รจนาไว้ อีกทั้งยังมีปรากฏหลากหลายสำนวน

อย่างไรก็ตาม คัมภัร์เรื่องพระมาลัยเถระ แต่ละฉบับ แต่ละสำนวน ล้วนมุ่งหมายรักษาหัวใจสำคัญของพระมาลัยสูตรเอาไว้ นั่นคือ คำสอนเรื่องบาปบุญคุณโทษ และการไปเกิดในยุคพระศรีอาริยเมตไตย

 



[1] เรื่อง นรก-สวรรค์ โปรดอ่านในพระไตรปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่มที่ ๑๔ เรื่อง เทวทูตรสูตร ม.อุปริ.๑๔/๕๐๔-๕๒๕/๒๘๕-๒๙๖.

[2] พระมหาประมวล ฐานทตโต, มาลัยหมื่น – มาลัยแสน ปริทรรศน์. ขอนแก่น: จัดพิมพ์โดย วัดธาตุ (พระอารามหลวง) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เป็นหนังสือที่ได้นำเสนอเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจความเป็นมาเรื่องพระมาลัยได้ชัดเจน เพราะการเทศน์มาลัยหมื่นมาลัยแสนตามหนังสือผูกใบลานเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก โดยการประยุกต์ให้เป็นสำนวนที่เข้าใจง่ายในการศึกษา มีทั้งหมด ๑๑๐ หน้า สืบค้นจาก http://www.m-culture.in.th/album/๑๔๐๑๐๗.วันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๕.

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น