แจ้งข่าวนักศึกษา012173

วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2559

มูลกัมมัฏฐาน ผูกที่ 4 และ ผูกที่ 5 ( เป็นอีกสำนวนหนึ่ง เหมือนทบทวนจากการปฏิบัติภาวนา สมถะและตามด้วยวิปัสสนา ของ 3 ผูกแรก (ท้ายใบลาน มีคำสำหรับภาวนาแบบล้านนาที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง))

มูลกัมมัฏฐาน ผูกที่ 4
เรียบเรียงโดย พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์

มูลกัมมัฏฐานผูกที่ 4 นี้ มี จำนวน 48 หน้าลาน, เนื้อความจะไม่ต่อกับผูกที่ 1 ถึงผูกที่ 3 และคนจารคัดลอกก็เป็นอีกท่านหนึ่งในท้ายผูก 4 ก็ไม่บอกนามผู้จาร มีปรากฏแสดงไว้ ท้ายผูกที่ 5 ชื่อ “สุนันทภิกขุ” และข้อความของเรื่อง จากผูกที่ 4 และผูกที่ 5 ก็ต่อกันไปเป็นเรื่องเดียวกัน จากผูกที่ 4 จึงยืนยันได้ว่า “สุนันทภิกขุ” เป็นผู้แต่งทั้ง 2 ผูก 
วิธีการอธิบายกัมมัฏฐาน ก็เป็นการนำเสนอวิธีปฏิบัติ เริ่มจากสมถภาวนา และ ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา  นับตั้งแต่ การเริ่มพิธีกรรมในเบื้องแรกทั้งหมด ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติจริง มีพลความคล้ายกับผูก ที่ 1-3 
ผู้เรียบเรียงจะขอนำเสนอแบบย่อ ไม่พิสดารนัก ส่วนใดที่มีข้อความซ้ำกัน ก็จะขอละไว้ ไม่เก็บความทั้งหมด ส่วนใดเห็นว่า แปลกกว่าที่เคยเรียบเรียงมา ก็จะนำเสนอเอาไว้ พอเป็นแบบอย่างของการปฏิบัติกัมมัฏฐาน ตามคำสอนของพระโบราณาจารย์ล้านนา มีสาระดังต่อไปนี้
1. ภาวนาอนุสสติกัมมัฏฐาน 3 (พุทธา ธัมมา และสังฆานุสสติ)
โยคาวจรผู้จะทำกัมมัฏฐาน นับแต่พุทธคุณ(พุทธานุสสติ) เป็นต้น นั้น ในเบื้องต้นควรชำระศีลของตนให้บริสุทธิ์เสียก่อน โดยพระภิกษุ ควรชำระปาริสุทธิศีล 4 สามเณรควรชำระศีล 10 อุบาสกอุบาสิกา ควรชำระศีล 5 หรือ ศีล 8 ตามระดับของตน
ให้จัดเตรียมเครื่องสักการบูชามีข้าวตอกดอกไม้ แบ่งเป็น 5 โกฐาก(ส่วน) ไว้ต่อหน้าพระพุทธเจ้า(พระพุทธรูป) เพื่อแสดงความเคารพ นั่งขัดสมาธิ เอาปลายเท้าซ้าย ซุกเข้าข้างแข้งน่องข้างขวา ให้ส้นเท้าข้าขวาชนหน้าแข้งข้างซ้าย  ให้หัวเข่าทั้ง 2 ติดอาสนะ ตั้งลำตัวให้ตรง เอามือขวาทับมือซ้าย วางซ้อนกันบนหน้าตัก หลับตา ระลึกถึงพระพุทธคุณในใจว่า
“พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งแก่ข้า พระธัมมเจ้าเป็นที่พึ่งแก่ข้า พระสังฆเจ้าเป็นที่พึ่งแก่ข้า อาจารย์เจ้าเป็นที่พึ่งแก่ข้า กัมมัฏฐานของพระพุทธเจ้าทั้งมวล เป็นที่พึ่งแก่ข้า ข้าจักภาวนาพุทธคุณเจ้า ให้ได้สมาธิ ในอิริยาบถอันข้านั่ง  ผิไม่ได้สมาธิ แม้ชิ้นบก(เหี่ยวแห้งไป) เลือดข้าแห้ง เท่ายังเหลือ เอ็นคาดหนังอยู่ก็ดี ข้าก็จักภาวนาพุทธคุณเจ้าให้ได้ปีติสมาธิ ขอจงให้สำเร็จแก่ข้า” 
หลังจากนั้น ก็สาธยาย พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ (อิติปิ โส ภควา .... สวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม....สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ ...อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ)  ว่าตามลำดับ หรือจะว่า พุทธคุณ 9 ห้อง  เช่น “อิติปิ โส ภควา อรหํ, อิติปิ โส ภควา        สมฺมาสมฺพุทฺโธ, อิติปิ โส ภควา วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน, อิติปิ โส ภควา สุคโต, อิติปิ โส ภควา โลกวิทู, อิติปิ โส ภควา อนุตฺตโร, อิติปิ โส ภควา ปุริสทมฺมสารถิ, อิติปิ โส ภควา สตฺถา เทวมนุสฺสานํ, อิติปิ โส ภควา พุทฺโธ, อิติปิ โส ภควา ภควา” ก็ได้ ถ้าแปลได้ก็ว่าคำแปลด้วย
(การถอดคำแปล ในสาระจากเอกสารนี้ จะเป็นการยืดยาวเกินไป ผู้ประสงค์จะรู้ความหมาย โปรดอ่าน รายละเอียดจากฉบับปริวรรตที่แนบท้ายนี้เถิด : ผู้เรียบเรียง)
1.1 บทภาวนาพุทธานุสสติ และอารมณ์กัมมัฏฐาน
หลังจากภาวนาพุทธคุณ “อิติปิ โส พุทฺโธ ภควาติ”จบแล้ว จะภาวนาเป็นบท ๆ ไปนั้น มีวิธีภาวนาและอารมณ์ ดังนี้
เมื่อภาวนาบทว่า “อรหํ” ให้น้อมเอาอรหัตตมัคค อรหัตตผล เป็นอารมณ์  เข้ามาไว้ในใจ ให้เจริญภาวนาว่า “อรหํ ๆ”  
เมื่อภาวนาบทว่า “สมฺมาสมฺพุทฺโธ” ให้น้อมเอาสัพพัญญูตัญญาณเป็นอารมณ์ เข้ามาไว้ในใจ ให้เจริญภาวนาว่า “สมฺมาสมฺพุทฺโธ ๆ”
เมื่อภาวนาบทว่า “วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน” ให้น้อมนำวิชชา /ปัญญา / ญาณ   8 ประการ มี วิปัสสนาญาณ, (สัมมสนญาณ   อุทยวยญาณ   มุญจิตุกัมยตา  ปฏิสังขารญาณ   สังขารุเปกขญาณ)   อนุโลมญาณ,  มโนมยิทธิญาณ,   อิทธิวิธีญาณ,   ทิพพโสตญาณ,   ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ,   ปรจิตตวิชานนญาณ,   อาสวักขยญาณ, และจรณะ  15 มี สีลสังวร, อินทรียสังวร,  โภชเน มัตตัญญุตา,   ชาคริยานุโยค,   สัทธา,   หิริ,  โอตตัปปะ,   พาหุสัจจะ, วิริยะ,  สติ,   ปัญญา, และ รูปฌาน 4  (ตามจตุกกนัย) มาเป็นอารมณ์ เข้ามาไว้ในใจ ให้เจริญภาวนาว่า “วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน ๆ”
เมื่อภาวนาบทว่า “สุคโต” ให้น้อมเอามัคคญาณทั้ง 4 หรือ สัพพัญญูตัญญาณเป็นอารมณ์แล ให้เจริญภาวนาว่า “สุคโต ๆ”
เมื่อภาวนาบทว่า “โลกวิทู” ให้น้อมนำทศพลญาณมาเป็นอารมณ์ เข้ามาไว้ในใจ ให้เจริญภาวนาว่า “โลกวิทู ๆ”
เมื่อภาวนาบทว่า “อนุตฺตโร” ให้น้อมเอาพุทธคุณทั้งหมด เป็นต้นว่าอรหัตตมัคคญาณ สัพพัญญูตัญญาณเป็นอารมณ์  เข้ามาไว้ในใจ ให้เจริญภาวนาว่า “อนุตฺตโร ๆ”
เมื่อภาวนาบทว่า “ปุริสทมฺมสารถิ” ให้น้อมเอา อสาธารณญาณ 6 ประการ มี   มหากรุณาสมาบัติญาณ ยมกปฏิหาริยญาณ อินทรียปโรปริยัติญาณ อาสยานุสสติญาณ อนาวรณญาณ สัพพัญญูตัญญาณ เป็นอารมณ์ เข้ามาไว้ในใจ ให้เจริญภาวนาว่า
 “ปุริสทมฺมสารถิ ๆ”
เมื่อภาวนาบทว่า “สตฺถา เทวมนุสฺสานํ”  ให้น้อมเอา อิทธิวิธีญาณ เทสนาญาณ อสาธารณญาณ 3 เป็นอารมณ์ เข้ามาไว้ในใจ ให้เจริญภาวนาว่า “สตฺถา เทวมนุสฺสานํ ๆ” 
เมื่อภาวนาบทว่า “พุทฺโธ”  ให้นำเอามัคคญาณ และ สัพพัญญูตัญญาณ เป็นอารมณ์ เข้ามาไว้ในใจ ให้เจริญภาวนาว่า “พุทฺโธ ๆ”
เมื่อภาวนาบทว่า “ภควา”  ให้นำเอา บารมี 30 ทัศ อรหัตตผละ สัพพัญญูตัญญาณ เป็นอารมณ์ เข้ามาไว้ในใจให้ เจริญภาวนาว่า  “ภควา ๆ”
1.2 บทภาวนาธัมมานุสสติ และอารมณ์กัมมัฏฐาน
หลังจากภาวนาธรรมคุณ 6 ประการ ว่า “สฺวากขาโต ภควตา ธมฺโม สนฺทิฏฺฐิโก อกาลิโก เอหิปสฺสิโก โอปนยิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหีติ”จบแล้ว จะเจริญเป็นบท ๆ ให้นำคำว่า “ธมฺโม” มาต่อท้ายธรรมคุณทุกบท  มีวิธีภาวนาและอารมณ์ ดังนี้
เมื่อภาวนาบทว่า “สฺวากฺขาโต ภคตา ธมฺโม”    ให้น้อมเอา โลกุตรธรรม 9 (มัคค์ 4 ผล 4 และนิพพาน 1) และปริยัติธรรมอีก 1 รวมเป็น 10 อย่าง เป็นอารมณ์ เข้ามาไว้ในใจ ให้เจริญภาวนาว่า “สฺวากฺขาโต ภคตา ธมฺโม ๆ ”     
เมื่อภาวนาบทว่า “สนฺทิฏฺฐิโก  ธมฺโม”    ให้น้อมเอา โลกุตรธรรม 9 (มัคค์ 4 ผล 4 และนิพพาน 1)   เป็นอารมณ์ เข้ามาไว้ในใจ ให้เจริญภาวนาว่า “สนฺทิฏฺฐิโก  ธมฺโม ๆ ”     
เมื่อภาวนาบทว่า “อกาลิโก  ธมฺโม”    ให้น้อมเอา มัคคญาณ 4 เป็นอารมณ์ เข้ามาไว้ในใจ ให้เจริญภาวนาว่า “อกาลิโก  ธมฺโม ๆ ”     
เมื่อภาวนาบทว่า “เอหิ ปสฺสิโก  ธมฺโม”    ให้น้อมเอา โลกุตรธรรม 9 เป็นอารมณ์ เข้ามาไว้ในใจ ให้เจริญภาวนาว่า “เอหิ ปสฺสิโก  ธมฺโม ๆ ”     
เมื่อภาวนาบทว่า “โอปนยิโก  ธมฺโม”    ให้น้อมเอา โลกุตรธรรม 9 เป็นอารมณ์ เข้ามาไว้ในใจให้ เจริญภาวนาว่า “โอปนยิโก  ธมฺโม ๆ ”     
เมื่อภาวนาบทว่า “ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ ธมฺโม วิญฺญูหิ ”    ให้น้อมเอา โลกุตรธรรม 9 เป็นอารมณ์ เข้ามาไว้ในใจ ให้เจริญภาวนาว่า “ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ  ธมฺโม วิญญูหิ ๆ ”     
1.3 บทภาวนาสังฆานุสสติ และอารมณ์กัมมัฏฐาน
เมื่อภาวนาสังฆคุณ 9 ประการ ว่า “สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ อาหุเนยฺโย ปาหุเนยฺโย ทกฺขิเณยฺโย อญฺชลีกรณีโย อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ” จบแล้ว จะเจริญเป็นบท ๆ มีวิธีภาวนาและอารมณ์ ดังนี้
ในเจริญสังฆานุสสติ   ทั้ง 9 บท เมื่อภาวนาบทใดบทหนึ่ง เช่น  “สุปฏิปนฺโน   ภควโต สาวกสงฺโฆ”    ให้น้อมเอา มัคค์ 4 และ ผล 4 เป็นอารมณ์ เข้ามาไว้ในใจ ให้เจริญภาวนาว่า “สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ ๆ” เป็นต้น และสังฆคุณอีก 8 บทที่เหลือ ให้น้อมเอา มัคค์ 4 และ ผล 4 เป็นอารมณ์ เหมือนกันหมด ต่างแต่คำภาวนา
ผู้เขียนมูลกัมมัฏฐาน แต่งคำแปลสังฆคุณไว้ จะขอนำมาพอเป็นตัวอย่างดังนี้
1) สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สังฆะ คือ หมู่แห่งสาวกอันฟังคำสอนพระพุทธเจ้าปฏิบัติดีนัก อันควรแก่โลกุตตรธรรมดีหลี
2) อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สังฆะ คือ หมู่แห่งสาวกอันฟังคำสอนพระพุทธเจ้าปฏิบัติซื่อนัก เหตุสังฆะปฏิบัติเพื่อให้ละเสียยังอันคดด้วยตน(กาย) ด้วยปาก(วาจา) ด้วยใจแล
3) ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สังฆะ คือ หมู่แห่งสาวกอันฟังคำสอนแห่งพระพุทธเจ้า ปฏิบัติเพื่อผะโยชนะนิพพานสิ่งเดียว
4) สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สังฆะ คือ หมู่แห่งสาวกอันฟังคำสอนแห่งพระพุทธเจ้า ปฏิบัติควรครบควรยำยิ่งนัก(ควรเคารพยำเกรง)
ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อันว่าคุณแห่งปุริสะ 4 อันฝูงใดชา คือ ผู้ตั้งอยู่ใน โสตาปัตติมัคคะ ในโสตาปัตติผละ เป็นคู่หนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในสกิทาคามิมัคคะ  ในสกิทาคามิผละ เป็นคู่หนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมัคคะ ในอนาคามิผละ เป็นคู่หนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมัคคะ ในอรหัตตผละเป็นคู่หนึ่งแล  ยทิทํ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา บุคคล 8 จำพวกฝูงใดชา คือ บุคคลอันตั้งอยู่ในมัคคะ 4 อันตั้งอยู่ในผละ 4
5) เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ สังฆะ คือหมู่แห่งสาวกอันฟังคำสอนพระพุทธเจ้าอันเป็นคู่ 4 อัน อันเป็นบุคคล 8 จำพวกนั้น  “อาหุเนยฺโย” อันควรรับเอาทานอันคนแลเทวดานำมาแต่ไกลแลให้
6) เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ สังฆะคือหมู่แห่งสาวกอันฟังคำสอนแห่งพระพุทธเจ้าอันเป็นคู่ 4 อัน อันเป็น บุคคล 8 จำพวกนั้น  “ปาหุเนยฺโย” อันควรรับเอาทานอันคนทั้งหลายแต่งไว้แก่คนฝูงมาเป็นแขก
7) เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ สังฆะคือหมู่แห่งสาวกอันฟังคำสอนแห่งพระพุทธเจ้าอันเป็นคู่ 4 อัน อันเป็นบุคคล 8 จำพวกนั้น “ทกฺขิเณยฺโย” อันควรรับเอาทานแห่งคนแลเทวดาอันเชื่อปรโลกภายหน้าแล้วแลให้
8) เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ สังฆะ คือ หมู่แห่งสาวกอันฟังคำสอนแห่งพระพุทธเจ้าอันเป็นคู่ 4 อัน อันเป็นบุคคล 8 จำพวกนั้น “อญฺชลีกรณีโย” อันควรเซิ่งกัมม์อันคนแลเทวดายอมือไว้ทั้ง 2 ตั้งไว้ในหัวแล้วแลไหว้นบครบยำ
9) เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ สังฆะคือหมู่แห่งสาวกอันฟังคำสอนพระพุทธเจ้าอันคู่ 4 อัน อันเป็นบุคคล 8 จำพวกนั้น   “อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส” อันเป็นที่เกิดแห่งบุญเป็นดังนาเป็นที่เกิดแห่งข้าวกล้า อันอุตตมะดีนักแก่โลกทั้งมวล
 สรุปคุณแห่งสังฆะ มี 9 บท คือ 1) สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ 2) อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ 3) ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ 4)  สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ 5) อาหุเนยโย สงฺโฆ 6) ปาหุเนยโย สงฺโฆ 7) ทักขิเณยโย สงฺโฆ 8) อัญชลีกรณีโย สงฺโฆ 9) อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ
2. การเจริญภาวนาเมตตา พรหมวิหารธรรม
โยคาวจรผู้จะเจริญเมตตา ให้ทำพิธีเหมือนที่กล่าวมา ตั้งจิตภาวนาแผ่เมตตา ในตนก่อนแล้ว จึงแผ่แมตตาในสรรพสัตว์ แผ่เมตตาสำหรับตนให้ว่า “อหํ สุขิโต โหมิ นิทฺทุกฺโข” 3 หน ว่า “อหํ สุขํ(สุโข)” ไปเรื่อย ๆ  แผ่เมตตาแก่สัตว์ “สพฺเพ สตฺตา สุขิตา โหนฺตุ” 3 หน   “สตฺตา สุขี” 3 หน ภาวนาว่า “สัตว์สุข สัตว์สุข” ไปตลอดเวลาที่ปฏิบัติเถิด
 3. การเจริญวิสุทธิ 7 และวิปัสสนาญาณกัมมัฏฐาน (ถึงญาณที่ 1 อุทยัพยญาณ)
    3.1 พิธีขึ้นกัมมัฏฐาน เริ่มจากสถมภาวน ได้อุปจารสมาธิแล้ว ปลงสมถกัมมัฏฐาน ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาภาวนา ตามลำดับ
         ในเบื้องต้น พระภิกษุผู้จะปฏิบัติ ประกอบพิธีกรรมในเบื้องต้นตามที่กล่าวมาในการเจริญภาวนา จัดท่านั่งให้เป็นสัปปายะแล้ว ภาวนาสมถกัมมัฏฐาน คือ พุทธานุสสติกัมมัฏฐาน หรือ เมตตากัมมัฏฐานไปก่อน พอให้เกิดอุปจารสมาธิ หรือ อัปปนาสมาธิแล้ว ให้ปลงสมถกัมมัฏฐานเอาไว้ ประครองอัญชุลีขึ้นเหนือศีรษะ รำลึกถึงพระพุทธคุณเป็นที่พึ่งว่า “อปฺปมาโณ พุทฺโธ อปฺปมาโณ ธมฺโม อปฺปมาโณ สงฺโฆ  ต่อด้วย  พุทฺโธ เม นาโถ ฯลฯ กมฺมฏฺฐานทายกาจริโย เม นาโถ”  แล้วอธิษฐาน “ขอให้ ขอให้ทิฏฐิวิสุทธิญาณ กังขาวิตรณ  วิสุทธิญาณ และวิปัสสนาญาณ จงเกิดเป็นไปในกายและจิตแห่งข้า ในอิริยาบถที่ปฏิบัตินี้”
จบการอธิษฐานแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพิจารณา ร่างกายที่ปฏิกูลด้วยอาการ 32   ไม่มีสัตว์และบุคคล จำแนกส่วนประกอบ เป็นขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18  สรุปแล้ว ได้แก่นามรูป นามรูป 2 ประการ จัดเป็นเพียงกองสังขารกองเดียว
(อารมณ์ของวิปัสสนากัมมัฏฐาน เหมือนกับที่กล่าวผูกก่อนหน้านี้  เข้าใจว่า ผูกที่ 4 นี้ คนเขียน เพื่อสรุปหลักปฏิบัติกัมมัฏฐาน เนื้อหาจึงไม่ต่อเนื่องจากผูกก่อน และวิธีการปฏิบัติ ลำดับการปฏิบัติไม่แตกต่างในหลักการมากนัก จะขอนำเสนอเฉพาะส่วนที่เห็นว่า แตกต่างจากผูกก่อนหน้านี้ ดังต่อไปนี้)
3.2 อุทยัพพยญาณ/อุทยวยญาณ(ปัญญากำหนดทันการเกิดและการดับของรูปนาม)
เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณารูปนาม ตามกรอบของไตรลักษณะ (อนินจัง ทุกขัง อนัตตา) จนเห็นการเกิดและการดับของรูปนามชัดเจน เรียกว่า  เกิดวิปัสสนาญาณที่ 1 ชื่อ อุทยัพยญาณ  พิจาณาต่อเนื่องไปก็จะเกิดความเบื่อหน่ายในกองสังขาร เรียกว่า เกิดนิพพิทาญาณ ที่เป็นกำลังแก่วิปัสสนา พิจารณารูปและนามเป็นอารมณ์ต่อไป ก็จะเกิด สันติปทญาณ [1] 
3.3 ตรุณวิปัสสนาญาณ(วิปัสสนาญาณอย่างอ่อน(อุทยวยญาณ ดวงแรก) เมื่อเกิดแล้วจะได้ประสบกับอุปกิเลสของวิปัสสนา 10 ประการ
เมื่อโยคาวจร พิจารณารูปและนามเป็นอารมณ์ต่อไป พร้อมกันนั้น ก็จะเกิด สันติปทญาณ [1] และจักได้เห็นอัศจรรย์ 10 จำพวก คือว่า อุปกิเลส 10 ตัว อันเกิดขึ้นมา และ(รู้สึก)สุขสำราญบานใจ
ลักษณะของอุปกิเลส 10 ตั  ภาษาบาลีว่า “โอภาโส ปีติ ปสฺสทฺธิ อธิโมกฺโข ปคฺคโห สุขํ ญาณํ อุปฏฺฐานํ อุเปกฺขา จ นิกฺกนฺติ จ” 
คำอธิบายโดยย่อของอุปกิเลสแต่ละอย่าง มีดังนี้
1) โอภาส ได้แก่ แสงสว่าง คือ รัสมีอันปรากฏแจ้งรุ่งเรืองต่าง ๆ เกิดแต่วิปัสสนาจิตตุบาท เห็นแจ้งในญาณ บางทีลืมตาอยู่ก็ยังเห็นได้
2) ปีติ ความอิ่มใจ มี 5 ประการ ดังบาลีว่า
“ขุทฺทกา โลมหํสญฺจ       ขณิกา วิชฺชุลตา ตถา
โอกฺกนฺติกา อุมฺมเวโค ว    อุพฺเพงฺคา กายลงฺฆกา
ผรณา ปริปุปฺปาเจว       ปญฺจธา ปีติโย มตา ฯ
(1) ขุททกาปีติ โลมหํสญฺจ เกิดขนสยอง เส้นขนลุกเยือก ๆ
(2) ขณิกาปีติ เกิดพอมีความยินดีแว้บเดียวแล้วหายไป ดังสายฟ้าแลบ
(3) โอกฺกนฺติกาปีติ ยินดีพอซาบทั่วตนทั้งมวล ยินดีชื่นบานใจมากนัก เป็นดังระลอกคลื่นมหาสมุทรที่สาดซัดฝั่งเป็นระยะ
(4) อุพฺเพงฺคาปีติ ความยินดีมีกำลังขึ้นมากนัก พอให้ตนลอยไปในอากาสได้ทีเดียว
(5) ผรณาปีติ ความยินดีซาบทั่วตนทุกแห่ง เกิดความสุขสำราญบานใจหาที่อันจักเปรียบเทียมได้
3) ปสฺสทฺธิ ความสงบ  2 ประการ คือ กายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิ  และธัมมยุคคละอีก 5 คือ กายลหุตา จิตตลหุตา กายมุทุตา จิตตมุทุตา กายกัมมัญญตา จิตตกัมมัญญตา กายปาคุญญตา จิตตปาคุญญตา กายอุชุกตา จิตตอุชุกตา ก็เกิดขึ้นมาพร้อมกัน (โปรดดูคำอธิบายชุดธรรมคู่ที่กล่าวมาในผูกก่อน ๆ)
4) อธิโมกฺโข คือ สัทธาปสาทอันมีกำลังมากกว่าทุกวัน
5) ปคฺคโห  คือ ความเพียรอันเสมอดีนัก ในวันนั้นพอใจในกัมมัฏฐานมากกว่าทุกวัน
6) สุขํ  คือ ความสุขอันประณีต ที่ไม่เคยได้พบมาก่อน
7) ญาณํ  คือ วิปัสสนาญาณ ยามนั้นหากกล้า หากมีผลมากนัก พิจารณาสังขารธรรมลักขณะก็ปรากฏ เห็นแจ้งไตรลักษณ์ประจักษ์ชัดกว่าทุกวัน
8) อุปฏฺฐานํ  คือ สติอันกล้าคมนัก อาจระลึกรู้กิจที่ทำแล้วสิ้นกาลนานเป็นอเนกชาติก็ได้
9) อุเปกขา คือ การตั้งอยู่ด้วยอาการไม่ยินดียินร้ายไม่รักไม่ชังในสัตว์และสังขารธรรมทั้งภายในและภายนอก
10) นิกฺกนฺติ คือ ตัณหาอันละเอียดนัก อันเกิดเป็นด้วยความรักยินดีในกัมมัฏฐานมากในวันนั้น มีความสุขสำราญบานใจนัก จะให้นั่งภาวนาตลอดคืนยันรุ่ง ตลอดวันยันค่ำก็ได้  ไม่รู้สึกเหนื่อยหน่ายต่อกัมมัฏฐาน
  โยคาวจรหากได้พบสุขอันสำราญบานใจมากนักแทบจะหาที่เทียมไม่ได้เช่นนี้ ก็จะเข้าใจว่า ตนได้บรรลุมัคคผละธรรม หยุดเสีย ไม่ภาวนาต่อไป  ธรรม 10 ตัว จึงชื่อว่าวิปัสสนูปกิเลส เหตุเข้ามาเป็นอารมณ์แก่คาหะ(การถือมั่น  3 ตัว  ได้แก่ ตัณหาคาหะ มานคาหะ และ ทิฏฐิคาหะ ถ้ายังไม่หน่ายธรรม 10 ตัวนี้ ก็จะนิ่งติดคาอยู่ที่นั้น ไม่เจริญต่อไปได้
จงอธิษฐานให้หน่ายต่ออุปกิเลส 10 ดังที่อธิบายในผูกก่อนหน้านี้แล้ว
ในตอนท้ายมูลกัมมัฏฐานผูกที่ 4 นี้ จึงได้บอกว่า ทั้งหมดที่เขียนไว้ เป็นขั้นตอนปฏิบัติวิปัสสนาญาณที่ 1 อุทยวยญาณอุปกิเลส (จบเนื้อหาผูกที่ 4)

มูลกัมมัฏฐาน ผูกที่ 5
        มูลกัมมัฏฐานผูกที่ 5 นี้ มีจำนวน 40 หน้าลาน จะอธิบายขั้นตอนการปฏิบัติวิปัสสนาญาณ ต่อจากผูกที่ 4 ซึ่งจบลงที่วิปัสสนูปกิเลสในช่วงหลังจากได้ผ่านวิปัสสนาญาณที่ 1 คือ เกิด อุทยัพพยญาณ ท้าวความถึงตอนอธิษฐานให้หน่ายจากวิปัสสนูปกิเลส  จะได้เรียบเรียงเนื้อหาตามลำดับ ดังต่อไปนี้
1. ภาวนาให้เกิดอุทยวยญาณ ดวงที่ 2 ระดับที่ญาณแก่กล้ากว่าลำดับแรก เพื่อข้ามพ้นวิปัสสนูปกิเลส 
            โยคาวจรผู้จะภาวนาญาณต่อไป แต่อุปกิเลสยังอยู่ อาจเป็นเพราะสมภาร(บารมี) และอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า  จึงวางอุปกิเลสไม่ตก อินทรีย์ยังอยู่เสวยอุทยวยญาณดวงต้น ไม่ข้ามไปเสวยอุทยวยญาณระดับที่สูงขึ้นไป  วิสุทธิญาณ 2 ดวง ก็ไม่อาจเกิดได้ ญาณ 9 ดวง ก็จะไม่เกิดขึ้นได้ ผู้ปฏิบัติจงหมั่นภาวนา อบรมให้อินทรีย์แก่กล้า แล้วอุปกิเลส 10 ตัว ก็จะระงับดับหายไป   เมื่อนั้น มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ  2 ดวง ก็จะเกิดได้ เมื่อวิสุทธิญาณ 2 ดวงเกิดแล้ว  วิปัสสนาญาณ  9 ดวง ก็จะเกิดขึ้นตามดับ(และส่งให้ถึง มัคคญาณ ที่ตัดกิเลสได้เด็ดขาด) ดังนี้ 
1) อุทยวยญาณ คือ ปัญญาพิจารณาเห็นการเกิดและดับแห่งนามรูปอย่างชัดแจ้ง(ดวงที่ 2)
2) ภังคญาณ คือ ปัญญาพิจารณาเห็นความดับของรูปนาม (ในต้นฉบับจารผิดเป็น ญาณเห็นภัยภวะในสงสาร) อย่างชัดแจ้ง
3) ภยญาณ คือ ปัญญาพิจารณาเห็นและสดุดตกใจกลัวแต่ภัยในสงสารอย่างชัดแจ้ง
4) อาทีนวญาณ คือ ปัญญาดวงพิจารณาเห็นนามรูปว่า เป็นโทษมากนัก
5) นิพพิทาญาณ คือ ปัญญาที่หน่ายในนามรูปและภัยในสงสารทั้งมวลอยู่ตลอดเวลา
6) มุญจิตุกัมยตาญาณ คือ ปัญญาพิจารณาเห็นว่า นามรูปอันนี้เป็นโทษมาก  อยากจะพ้นจากนามรูปอันนี้อยู่ตลอดเวลา
7) ปฏิสังขาญาณ คือ ปัญญาพิจารณาเห็นอุบายที่จะทำให้พ้นจากสงสารอย่างชัดแจ้งแท้
8) สังขารุเปกขาญาณ คือ ปัญญาพิจารณาวางเฉย ไม่รัก ไม่ชัง ไม่ยินร้ายไม่ยินดีในสังขารธรรมภายนอกภายในสักอัน
9) อนุโลมญาณ คือ ปัญญาพิจารณานามรูปที่คล้อยต่อการตรัสรู้อริยสัจ (ต้นฉบับไม่ได้แปลไว้ แต่บอกว่า ปัญญาพิจารณาเห็นมีอภาวะมาก มีกำลังมากนัก ซึ่งไม่สื่อความอะไร)
เมื่อวิปัสสนาญาณ 9 ดวงเกิดครบแล้ว ต่อไป โคตรภูญาณ คือ ปัญญาที่ละนามรูปแต่น้อมนิพพานมาเป็นอารมณ์(ภาษาปากว่า ญาณที่เกิดในระหว่าง จะข้ามพ้นจากความเป็นปุถุชน สู่ความเป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่ระดับ โสดา ถึง อรหันต์ หรือ ญาณตัดโคตร   ปุถุชุน)   และ โสตา(ปัตติ)มัคคญาณ ที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ตัดกิเลส 3  ตัวเบื้องต่ำ[2]ได้เด็ดขาด ก็เกิดในลำดับต่อมา
ข้อสังเกต โยคาวจรผู้ใด ภาวนาเอาปัญญา ชื่อว่า อุทยวยญาณลูกปลาย(ระดับกล้า) ถ้าไม่พบอุปกิเลส 10 ตัว โยคาวจรผู้นั้น   ได้ชื่อว่า อารัทธวิปัสสโก(ผู้มุ่งปฏิบัติวิปัสสนา)  ครั้นยังไม่บรรลุมัคคผละในชาตินี้ ก็จักเป็น “ขิปปาภิญญา” (ผู้เกิดญาญรู้เร็ว) ในศาสนาของพระสัพพัญญูองค์ภายหน้าแน่นอน ขอจงอย่าถอยความเพียรเสีย
2. ภังคญาณ และ การภาวนา
โยคาวจรผู้จะภาวนาเอาปัญญาภังคญาณ ให้พิจารณา(นามรูปตามไตรลักษณ์ นับแต่ อนิจจา ความไม่เที่ยง ถึง อนัตตา ความไม่มีตัวตน” ดังเช่น คำภาวนา ในข้อ  “อนิจจัง”  ว่า
“นามรูปํ อนิจฺจํ ขยตฺเถน สาธุ นิจฺจํ วต นิพฺพานํ ฯลฯ สาธุ สารํ วต นิพฺพานํ” 3 หน  แล้วบริกรรม “นามรูปํ อนิจฺจํ” ไปเรื่อย 40 หน 50 หน 
พิจารณาโวหาร(คำอธิบาย)ว่า “นามรูปํ” นามรูปแห่งกูอันกว้างศอกยาววาหนาคืบมือหนึ่งนี้ อันเท่ารู้ตาย(มีความตายเป็นธรรมดา) ด้วยภัยยะทั้งหลาย คือ หอก ดาบ ก้องนาด(ปืน) หากฆ่าให้ตาย อนิจฺจํ มันไม่หมั้นไม่เที่ยงแก่กูแท้แล อันหมั้นอันเที่ยงแท้นั้น เท่ามีนิพพานเจ้าสิ่งเดียวแล “สาธุ นิจฺจํ วต นิพฺพานํ” อันว่านิพพานเจ้าอันไม่รู้เฒ่าไม่รู้ตายนั้น หมั้นเที่ยงแท้สิ่งเดียวแล นามรูปแห่งกูอันเท่ารู้ตายด้วยภัยยะทั้งหลาย คือ สัตว์ต้องตายนี้ ไม่หมั้นไม่เที่ยงสักอันแก่กูแท้แล” (หมายเหตุ โวหารอธิบายนามรูปตามไตรลักษณะจะไม่แตกต่างกันในเบื้อ้งต้น เพียงแต่ต่างกันที่ ข้อธรรมพิจารณา)  ในลักษณะที่ เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา จะละไว้ในฐานที่เข้าใจ) 
โยคาวจรผู้ภาวนาภังคญาณ “ทุกขัง” ให้พิจารณาว่า “นามรูปํ ทุกฺขํ ไป 40 หน 50 หน   ... นามรูปแห่งกูอันเท่ารู้ตาย(มีความตายเป็นธรรมดา) ด้วยภัยยะทั้งหลาย หากฆ่าให้ตาย เท่าเป็นที่เกิดแห่งทุกข์ทั้งมวล ไม่ใช่สุขสักอันแก่กูแท้แล”
โยคาวจรผู้ภาวนาภังคญาณ “อนัตตา” ให้พิจารณาว่า “นามรูปํ อนตฺตา  ไปเรื่อยๆ 40 หน 50 หน ...   อันว่านามรูปแห่งกู... ไม่ใช่แก่นไม่ใช่สาร ไม่ใช่ตนไม่ใช่ใจแก่กู”
3. วิปัสสนาญาณที่เหลือ (อาทีนวญาณ -สังขารุเปกขาญาณ) และการภาวนา
โยคาวจรผู้ภาวนา ญาณที่เหลือ มี อาทีนวญาณ,  นิพพิทาญาณ, มุญจิตุกัมยตาญาณ, ปฏิสังขาญาณ, สังขารุเปกขาญาณ, ให้พิจารณาครบอาการของไตรลักษณ์ ให้เห็น โทษ เกิดความเบื่อหน่าย อยากจะให้หลุดพ้นไป และแสวงหาทางเพื่อความหลุดพ้น เมื่อไม่พ้นก็ถึงญาณที่วางใจเป็นกลางในนามรูป ไม่ยินดียินร้าย อาจจะทำให้ไม่อยากทำกัมมัฏฐานต่อ พระอาจารย์กัมมัฏฐาน แนะนำให้กระทำเพียรเคร่งเข้าไปอีก ก็จะไม่ยินดีความสุขในภพทั้ง 3 และไม่ยินร้ายความทุกข์ในอบายภูมิเลย แต่จิตใจกลับยินดีในนิพพาน อันเป็นสุขยิ่งกว่าสุขทั้งมวล เมื่อสภาวะญาณเกิดขึ้งมาอย่างนี้สม่ำเสมอแล้ว
จงรู้ตนเองเถิดว่า  ปัญญาแก่กล้าแล้ว มองในด้านสมาธิ ก็เกิดแต่พื้นเท้าจรดศีรษะ ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ตรงนี้ โยคาวจร ควรใส่ใจในกัมมัฏฐาน พิจารณาดูสังขารให้เห็นแจ้ง ปรับ(อินทรีย์)ให้ศรัทธาและ ปัญญา เกิดเสมอกัน  อย่าให้ศรัทธาเอานิพพานเป็นอารมณ์แรงเกินไป สมาธิก็จะแปรเป็น “อุปสมานุสสติสมถสมาธิ”ไป   จงค่อย ๆ น้อมเอานิพพานเป็นอารมณ์บ้าง แต่ต้องพิจารณาสังขารให้เห็นสภาวธรรมแจ่มแจ้ง ให้ปัญญาแก่กล้าขึ้นมา  
ครั้นสังขารุเปกขาญาณเกิดในสันดานของโยคาวจรใด ก็จะเป็นปัจจัยแก่ อนุโลมญาณ
4. อนุโลมญาณ (หรือ สัจจานุโลมิกญาณ) คือ เมือวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลาย ไม่พะวง และญาณ แล่นมุงตรงนิพพานแล้ว ญาณอันคล้อยต่อการรู้อริยสัจจ์ ย่อมจะเกิด,พระธรรมปิฎกม พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม(2540) 296.
เมื่ออนุโลมญาณเกิดขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยแก่โคตรภูญาณ
ถัดจากโคตรภูญาณเกิดแล้ว
มัคคญาณก็เกิดขึ้น  สภาวธรรมขั้นโลกุตระนี้ ไม่กลับกลายแปรเปลี่ยน เสื่อมถอย ตราบต่อเท่าเข้าไปสู่ขันธะปรินิพพาน
5. โคตรภูญาณ
 เงื่อนไขที่โคตรภูญาณ และ มัคคญาณไม่เกิดแก่โยคาวจรบางคน
        เมื่อพิจารณานามรูป  ตามลักษณะทั้ง 3 คือ อนิจจลักขณะ ทุกขลักขณะ อนัตตลักขณะ ได้วิปัสสนาญาณตามลำดับถึงสังขารุเปกขาญาณแล้ว สมถสมาธิที่เกิดมาตั้งแต่ภาวนาพุทธคุณ เมตตาภาวนานั้น ครั้นภาวนาวิปัสสนากัมมัฏฐาน  วิปัสสนาสมาธิก็เกิดขึ้นมา ทั้งสมถและวิปัสสนาสมาธิทั้ง 2 นี้ เป็นโลกิยสมาธิ เมื่อมีสมาธิมากก็จะติดสมาธิ จิตจะนิ่งสงบ ไม่อาจยกจิตขึ้นภาวนาบริกรรมว่า “นามรูปํ อนิจฺจํ   นามรูปํ ทุกฺขํ   นามรูปํ อนตฺตา” ต่อเนื่องไป เมื่อจิตตกสู่สมาธิ  ก็จะภาวนาไม่ได้ ขาดความต่อเนื่องสิ้นเวลาประมาณเคี้ยวหมากแดงคำหนึ่งแล้ว จึงหายใจได้แล้ว เกิดความรู้ตัว ติดเอานิพพานเป็นอารมณ์  ยินดีในนิพพานอยู่ ก็เลยไม่อยากภาวนาต่อ  ก็จะละวางกัมมัฏฐานเสียเพราะสมาธิเกิดแรงมาก โยคาวจรก็ไม่สมารถปรับความเสมอกันของคู่อินทรีย์  (สมาธิ ต้องเสมอกับ วิริยะ และ ปัญญา ต้องเสมอกับ ศรัทธา) เป็นเหตุไม่ให้ โคตรภูญาณ และมัคคญาณเกิด แต่ก็จะเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุโลกุตรธรรม ในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ที่จะมาตรัสรู้ต่อไปภายหน้า
        ในช่วงกลางของเอกสาร ดูเหมือนจะกลับมากล่าวถึงลำดับการปฏิบัติกัมมัฏฐาน ย้อนขั้นตอน และเสริมด้วยบทสวดบริกรรมยาวๆ  และมาสิ้นสุดถึงตอนอธิบายปีติ 5 ประการ ผู้เรียบเรียงเห็นว่า เยิ้นเย้อเกินไป จึงไม่นำมากล่าวซ้ำอีก
     6. ลักษณะของที่จงกรม และการเดินจงกรม มี  2 ประเภท
        วิธีการเดินจงกรมน้อย ทางสำหรับเดินจงกรมขนาดเล็ก มีความยาว 15 วา หรือมากกว่านั้นก็ดี ความกว้าง 1 คืบ 8 นิ้วมือขวาง  ก่อนจะเดินจงกรม  อาบน้ำชำระตนให้สะอาดเสียก่อน  เมื่อจะเริ่มเดินจงกรม จงปูชาพระแก้วเจ้าทั้ง 5 จำพวก ด้วยเครื่องสักการะมีข้าวตอกดอกไม้  5 โกฐาก และขอขมา  กราบ 3 หน ตั้ง นโม 3 จบ  (ไตร)สรณคมน์ 3 จบ แล้วว่า
“พุทฺธํ ชีวิตํ ยาว นิพฺพานํ สรณํ คจฺฉามิ” 3 หน ทั้ง 3 บั้น (ธมฺมํ ชีวิตํ ยาว นิพฺพานํ สรณํ คจฺฉามิ, สงฺฆํ  ชีวิตํ ยาว นิพฺพานํ สรณํ คจฺฉามิ)
แล้วว่า            “นมามิ พุทฺธํ คุณสาครนฺตํ
นมามิ ธมฺมํ มุนิราชเทสิตํ
นมามิ สงฺฆํ มุนิราช สาวกํ
นมามิ กมฺมฏฺฐานํ นิยฺยานิกํ
นมามิ กมฺมฏฺฐานทายกาจริยํ คุณาติเรกํ”
ว่า “อิติปิ โส...(พุทธคุณ) สฺวากฺขาโต...(ธรรมคุณ) สุปฏิปนฺโน...(สังฆคุณ) ... อเนกชาติ สํสารํ ... ตณฺหานํ ขยมชฺฌคาติ (พุทธอุทานคาถา)” 3 หน
ปูชาที่จงกรม  3 แห่ง คือ ที่ ด้านหัว ด้านกลาง และด้านท้าย
อธิษฐานดิน(ที่จงกรม)ว่า “อิมํ ปถวียํ อทิฏฺฐามิ” 3  หน 
อธิษฐาน(การปฏิบัติ)จงกรมว่า “อิมํ จงฺกมํ อทิฏฺฐามิ” 3 หน
แล้วลุกเดินไป พร้อมกับบริกรรมว่า  “ม อ อุ สิวํ ภุมฺมํ ม ทุกฺขํ อ อนิจฺจํ อุ อนตฺตา พุทฺโธ จงฺกมํ เสฏฺฐํ ธมฺโม ปาปํ วินาสนฺตุ รูปขนฺโธ เวทนาขนฺโธ สญฺญาขนฺโธ สงฺขารขนฺโธ วิญฺญาณขนฺโธ อนิจฺโจ นิจฺจํ (นิพฺพานํ) ทุกฺโข สุขํ นิพฺพานํ, นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ   อิติปิ อรหํ  เตรส สงฺฆาทิเสสา ธมฺมา เทฺว อนิยตา ธมฺมา ตึส นิสฺสคฺคียา ปาจิตฺตียา ธมฺมา ทฺวานวุตฺติ ปาจิตฺตียา ธมฺมา จตฺตาโร ปาฏิเทสนิยา ธมฺมา ปญฺจสตฺตติ เสขิยา ธมฺมา สตฺตาธิกรณสมถา ธมฺมา สงฺขารวูปสโม ปรโม ชีวิตํ อธุวํ มรณํ ธุวํ รูปพุทฺโธ ธาตุ พุทฺโธ นิมิตฺตพุทฺโธ สุญฺโญ พุทฺโธ นิพฺพานปจฺจโย โหตุ นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ” 3 หน 7 หน 20 หน 100 หน 1,000 หน  ตามศรัทธา ให้พิจารณาในใจ หลับตาปิดปากเดินไปมา
 ถ้าจะปลงการจงกรม ให้ภาวนาว่า  “อิมํ ปถวียํ นิกฺขิปามิ”  3 หน  “อิมํ จงฺกมํ นิกฺขิปามิ” 3 หน ไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วเดินออกจากที่จงกรมไปเถิด
วิธีการเดินจงกรมใหญ่ ในที่จงกรมขนาดใหญ่
กิจที่ต้องบำเพ็ญในเบื้องต้น ก็เป็นดังวิธีการเดินจงกรมน้อยทุกอย่าง  เมื่อจะลงมือเดินจงกรม
ให้สมาทานดิน(ที่จงกรม)ว่า “อิมํ ปถวียํ อทิฏฺฐามิ” 3 หน
อธิษฐานจงกรมว่า “อิมํ จงฺกมํ สมาทิยามิ” 3 หน
ครั้นเสร็จจากการอธิษฐานจงกรม และจะลุกขึ้นไปเดินจงกรม  ให้ภาวนาว่า
“พุทฺโธ จงฺกมํ เสฏฺฐํ  ธมฺโม ปาปํ วินาสนฺตุ อโห สุขํ นิพฺพานํ อารมฺมณํ ภควา
รูปขนฺโธ ทุกฺโข สุขํ นิพฺพานํ รูปขนฺโธ อนิจฺโจ นิจฺจํ นิพฺพานํ รูปขนฺโธ อนตฺตา ปรมฏฺฐสุญฺญํ นิพฺพานํ
เวทนาขนฺโธ ทุกฺโข สุขํ นิพฺพานํ เวทนาขนฺโธ อนิจฺโจ นิจฺจํ นิพฺพานํ เวทนาขนฺโธ อนตฺตา ปรมฏฺฐสุญฺญํ นิพฺพานํ
สญฺญาขนฺโธ ทุกฺโข สุขํ นิพฺพานํ สญฺญาขนฺโธ อนิจฺโจ นิจฺจํ นิพฺพานํ สญฺญาขนฺโธ อนตฺตา ปรมฏฺฐสุญฺญํ นิพฺพานํ
สงฺขารขนฺโธ ทุกฺโข สุขํ นิพฺพานํ สงฺขารขนฺโธ อนิจฺโจ นิจฺจํ นิพฺพานํ สงฺขารขนฺโธ อนตฺตา ปรมฏฺฐสุญฺญํ นิพฺพานํ
วิญฺญาณขนฺโธ ทุกฺโข สุขํ นิพฺพานํ  วิญฺญาณขนฺโธ อนิจฺโจ นิจฺจํ นิพฺพานํ วิญฺญาณ ขนฺโธ อนตฺตา ปรมฏฺฐสุญฺญํ นิพฺพานํ
โส ภควา อิติปิ อรหํ นิพฺพานํ ภควา สุคโต” ให้ภาวนา 108 ครั้ง
เมื่อภาวนาแล้วให้ปลงว่า “อทาทิ อิมํ ปทิสนฺติ ยสฺส ติคติ ปนฺทุเว สุขสนฺตํ กโร เอโส นิพฺพานํ ปทํ ปจฺฉิสนฺติ”  ว่า 3 หน
อีกนัยหนึ่ง ว่า “ออาทิติ ปทํ ตานฺตํ ยสฺส ติฏฺฐติ ปณฺฑเร  ทุกฺขสนฺตํ กโร เอโส   นิพฺพานํ ปาปุณิสฺสนฺติ” 3 หน 7 หน
ที่จงกรมอันใหญ่ ขนาดยาว 15 วา ให้ภาวนา 15 วัน ๆ ละ 15 รอบ  ถ้าขนาดยาว 4 วา เดิน 8 วัน ๆ ละ 7 รอบ
7. คำอธิษฐานก่อนจะออกเดินไปบิณฑบาต
 คำอธิษฐานจะไปเดินบิณฑบาตว่า  “อยนฺทานิ โข สา สพฺพญฺญูพุทฺธปจฺเจกพุทฺธพุทฺธสาวเกหิ ปฏิปนฺนา อิมํ เนกฺขมฺมปฏิปทํ ปูเรสึ ปูเรสฺสามิ อิมาย ปฏิปทาย ชาติชราพฺยาธิมรณทุกฺขมฺหา ปริมุญฺจิสฺสามิ” ฯ 3 หน
เนื้อความของคำอธิษฐาน ได้แก่ อยํ โข สา เนกฺขมฺมปฏิปทา อันว่าปฏิบัติออกจากตัณหา คือ ปฏิบัติจะเดินหาอาหารบิณฑบาตนี้ สพฺพญฺญูพุทฺธปจฺเจกพุทฺธพุทฺธสาวเกหิ อันสัพพัญญูพระพุทธเจ้า  พระปัจเจกเจ้า และ สาวกแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย  ปฏิปนฺนา หากปฏิบัติแล้ว อิทานิ ในกาลบัดนี้ อหํ อันว่าข้า ปูเรสึ ก็บำเพ็ญปฏิบัติแล้ว ปูเรสฺสามิ ก็จักบำเพ็ญ อิมํ ปทํ ยังข้อปฏิบัติออกจากตัณหา คือ ปฏิบัติจะเดินหารอาหารบิณฑบาตนี้  อหํ อันว่าข้า ปริมุญฺจิสฺสามิ ก็จักปล่อยพ้น ชาติ ชรา พฺยาธิ มรณ ทุกฺขมฺหา จากชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ อิมาย ปฏิปทาย ด้วยปฏิบัติอันนี้
8. คำภาวนาเบ็ดเตล็ด ท้ายใบลาน
คำทักผ้าบังสุกุลว่า “อิมํ เกน ปติตํ” เนื้อความของคำทักได้แก่  อิทํ อันว่าของ(ผ้า)อันนี้ เกน อันบุคคลผู้ใด ปติตํ หาก(ทำ)ตกหายเสีย
คำอธิษฐานเอาผ้าบังสุกุลว่า “อสฺสามิกํ อิทํ ปํสุกุลจีวรํ ปรมเชคุจฺฉํ อิมํ ปฏิคณฺหามิ อิทํ จีวรํ จ อหํ จ สงฺขารคตา อนิจฺจา ทุกฺขา อนตฺตา วิปริณามธมฺมา” 3 หน เนื้อความได้แก่  อิทํ จีวรํ อันว่าผ้าอันนี้ อสฺสามิกํ หาเจ้าไม่ได้ ปํสุกุลจีวรํ เป็นผ้าบังสุกุล ปรมเชคุจฺฉํ อันควรรังเกียจมากนัก อหํ อันว่าข้า ปฏิคณฺหามิ ก็จักถือเอา อิมํ ปํสุกุลจีวรํ ยังผ้าบังสุกุลอันนี้ อิทํ จีวรํ อันว่าผ้าอันนี้ก็ดี อหํ จ อันว่ากูก็ดี สงฺขารคตา เป็นหมู่เป็นกองสังขารธรรม อนิจฺจา ไม่หมั้นไม่เที่ยง ทุกฺขา เป็นทุกข์ อนตฺตา ไม่ใช่ของตน วิปริณามธมฺมา มีสภาวะรู้ปลิ้นรู้แปรแท้แล(มีการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา) แล้วกระทำปัจจเวกขณะว่า “ยถาปจฺจยํ ....ยทิทํ จีวรํ....ชายติ” 3 หน

9. คาถาหยาดน้ำบังสุกุลให้ผู้ตาย(กรวดน้ำอุทิศ) ว่า
 “ยถา ทณฺเฑน โคปาโล            คาโว (ปา)เชนฺติโคจรํ
เอวํ ชรา จ มจฺจุ จ                  อายุํ ปาเชนฺติ ปาณินํ [3] 3 หน
ว่าดังนี้อีก “เยเกจิ ปานภูตฏฺฐิ ฯลฯ สุขี สตฺตา สพฺเพปิ ปาณิโน ทุกฺขปฺปตฺตา..”
“อิมินา ปุญฺญเตเชน                 สุขิตา โหนฺตุ นิรุปทฺทวา
ราชาโน อนุรกฺขนฺตุ                 ธมฺเมน สาสนํ ปชํ
มาตาปิตา (จ)  โว ภาตา            มิตฺตา มจฺจา จ ญาตกา
อุปชฺฌายาจริยา สพฺเพ              จญฺเญ คุณสํยุตฺตา
อิมินา ปุญฺญเตเชน                  สุขิตา โหนฺตุ สพฺพทา” 
(ว่าคำแปล) “ราชาโน อันว่าท้าวพญาทั้งหลาย สุขิตา อันเป็นสุข นิรุปทฺทวา อันหาอุปัททวะอันตรายไม่ได้ อิมินา ปุญฺญเตเชน ด้วยเตชบุญอันนี้ โหนฺตุ จงมี อนุรกฺขนฺตุ จงรักสา สาสนํ ยังสาสนา ปชํ ยังหมู่สัตทั้งหลายเทอะ มาตาปิตา อันว่าพ่อและแม่ก็ดี ภาตา อันว่าพี่น้องก็ดี มิตฺตา มจฺจา จ อันว่ามิตรสหายและคนรักทั้งหลายก็ดี ญาตกา อันว่าญาติสัมพันธ์ก็ดี อุปชฺฌายาจริยา อันว่าอุปัชฌาย์และอาจารก็ดี โว แห่งท่านทั้งหลาย เย ปุคฺคลา อันว่าบุคคลทั้งหลายฝูงใด อญฺเญ ฝูงอื่น คุณสํยุตฺตา อันมีคุณ โว แก่สูท่านทั้งหลาย สพฺเพ ปุคฺคลา อันว่าบุคคลทั้งหลายมวลฝูงนั้นก็ดี สุขิตา อันอยู่เป็นสุขหาทุกข์ไม่ได้ อิมินา ปุญฺญเตเชน ด้วยเตชบุญอันนี้ โหนฺตุ จงมี สพฺพทา ในกาลทุกเมื่อเทอะ
อิมินา ทายกา สุขิตา โหนฺตุ สงฺกปฺปา  โว สมิชฺฌนฺตุ   ทายกา อันว่าทายกฝูงให้ทานนั้น สุขิตา อันเป็นสุขหาทุกข์ไม่ได้ อิมินา ปุญฺญเตเชน ด้วยเตชทานอันนี้ โหนฺตุ จงมีเทอะ สงฺกปฺปา อันว่าความปรารถนามัก โว แห่งสูท่านทั้งหลาย สมิชฺฌนฺตุ จงสมริทธิ(สำเร็จ)พลันนักเทอะ”
10 คำภาวนาเมื่อชักผ้าบังสุกุล
เมื่อจะชักผ้าบังสุกุลที่ซากผีตาย(ศพ) ให้ภาวนาว่า “เอกาหมตํ วา ทฺวิหมตํ(ทฺวาหมตํ) วา อุทฺธมาตกํ วินีลกํ วิปุพฺพกํ อยมฺปิ โข กาโย เอวํ ธมฺโม เอวํ ภาวิโตติ(อนติโต)” 3 หน 7 หน 
อธิษฐาน ชักผ้าด้วยบทว่า “อสฺสามิกํ อิทํ ฯลฯ นามธมฺมา” 3 หน  แล้วให้ พิจารณาปัจจเวกขณะเช่นเดียวกัน
11. กถาวัตถุ(เรื่องที่ควรเจรากันของพระสงฆ์)มี 10 ประการได้แก่ อปฺปิจฺฉกถา สนฺตุฏฺฐิกถา สีลกถา ปวิเวกกถา อสงฺสคฺคกถา วิริยารมฺภกถา สมาธิกถา ปญฺญากถา วิมุตฺติกถา วิมุตฺติญาณทสฺสนกถารวมเป็น 10 ประการ
12. ทานวัตถุ(ของที่ควรให้ทาน) มี 10 ประการ ดังนี้ อนฺนํ(ข้าว) ปานํ(น้ำ) วตฺถํ(ผ้า) ยานํ(ยานพาหนะ) มาลา(เครื่องประดับกาย) คนฺธํ(เครื่องหอม) วิเลปนํ(เครื่องทาลูบไล้) เสยฺยํ(เครื่องนอน) อาวาสตฺถํ(ที่อยู่) ปทีปํ(ดวงประทีปให้แสงสว่าง)  มาในพระสุตตันตะ
ส่วนที่ว่า ปัจจัย 4 มี จีวรํ(ผ้านุ่งผ้าห่ม) ปิณฺฑปาตํ(อาหาร เครื่องบริโภค) เสนาสนํ(ที่อยู่อาศัย) คิลานปจฺจยเภสชฺชปริกฺขารํ(เครื่องยาสำหรับรักษาอาการป่วย) มาในพระวินัย
ส่วนที่ว่า อารมณ์เครื่องรับรู้ทางอายตนะ มี 6 ชนิด ได้แก่  รูปํ(สีแสง) สทฺทํ(เสียง) คนฺโธ(กลิ่น) รสํ(รส) โผฏฺฐพฺพา(สัมผัส) ธมฺมา(เรื่องสำหรับให้นึกคิด) มาในพระอภิธัมมา
มูลกัมมัฏฐานผูกที่ 5 โดยย่อ จารโดย สุนันทภิกขุ แต่งไว้ไว้ค้ำชูพระศาสนาให้ได้ 5,000 พระวรรษา   นิพฺพานปจฺจโย โหตุ โน นิจฺจํ ธุวํ ธุวํ  ปางเมื่อข้าอยู่....( ไม่ปรากฏชัด)
ปริวรรตโดย   วิโรจน์ อินทนนท์, ยศพล เจริญมณี, และ ยี่ จันทร์  มกราคม 2559
ตรวจสอบและเรียบเรียงใหม่ โดย  พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ พฤษภาคม 2559




[1] ลำดับวิปัสสนาญาณ ที่เล่าในมูลกัมมัฏฐานผูกนี้ ไม่ตรงกับลำดับ วิปัสสนาญาณ 9 ในวิสุทธิ 7 (หรือญาณ 10 ที่เพิ่ม สัมมสนญาณ เข้ามาก่อน) ซึ่งมีลำดับดังนี้ 1. อุทยัพพยญาณ 2. ภังคญาณ 3. ภยญาณ 4. อาทีนวญาณ 5. นิพพิทาญาณ 6. มุญจิตุกัมยตาญาณ 7. ปฏิสังขาญาณ 8. สังขารุเปกขาญาณ 9.(สัจจ)อนุโลมญาณ (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) และวิปัสสนูปกิเลส เกิดขึ้นเมื่อได้วิปัสสนาญาณอ่อน(ตรุณวิปัสสนาญาณ) คือ ได้ญาณที่ 1  อุทยัพพยญาณ
[2] กิเลส 3 ตัว เบื้องต่ำ สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่ามีตัวตน(ถาวร) วิจิกิจฉา ความสงสัยลังเลใจ ในสัจจธรรม และ สีลัพพตปรามาส การยึดติดในศีลและพรตบางอย่างไม่ปล่อยวาง
[3] ยถา ทณฺเฑน โคปาโล                คาโว ปาเชติ โคจรํ.
   เอวํ ชรา จ มจฺจุ จ,                    อายุ ปาเชนฺติ ปาณินํ.
แปล นายโคบาล ย่อมต้อนฝูงโคทั้งหลายไปสู่ที่หากินด้วยท่อนไม้ ฉันใด ชราและมัจจุ ย่อมต้อนอายุของสัตว์ไป ฉันนั้น(ขุ. ธ. 25/33/162)

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559

มูลกัมมัฏฐาน ผูกที่ 3 ข้อแนะนำการถือธุดงควัตร 13 ข้อ

มูลกัมมัฏฐาน ผูกที่ 3
เรียบเรียงโดย พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์

          มูลกัมมัฏฐาน ผูกที่ 3 นี้ มีจำนวน 72 หน้าลาน เริ่มจากการปฏิบัติธุดงควัตร ผู้แต่งเริ่มต้นด้วยภาษาบาลีว่า “นโม พุทฺธาย ภควติ หิ ปริจตฺตา โลกามิสฺสา น กาเย จ ชีวิตา จ อนุเปกฺขานํ อนุโลมปฏิปทํเยว อาราเธตุกามานํ กุลปุตฺตานํ เตรส ธูตงฺคานิ อนุญฺญาตานิ” ความว่า ธุดงควัตรทั้งหลาย 13 ข้อนี้  พระพุทธเจ้าอนุญาตแก่กุลบุตรผู้มุ่งนิพพาน สละโลกามิส ไม่มีความอาลัยในตนและชีวิต สำหรับผู้ติดโลกามิส มีความอาลัยในตนและชีวิต ไม่ควรถือธุดงควัตร หากถือโดยไม่มีความตั้งใจ เรียกว่า เป็นโจรในศาสนาของพระพุทธเจ้า
          การถือธุดงค์ เป็นประเพณีของพระอริยเจ้าทั้งหลาย
  1. ธุตังควัตรมี 13 ข้อ ได้แก่ 
1) ปังสุกุลิกังคะ วัตรถือการทรงผ้าบังสุกุล  
2) เตจีวริกังคะ วัตถือการทรงผ้า 3 ผืน
3) ปิณฑปาติกังคะ วัตรถือการบิณฑบาต
4) สปทานจาริกังคะ วัตรถือการบิณฑบาตตามลำดับประตูเรือน
5) เอกาสนิกังคะ วัตรถือการฉันอาหารคราบเดียว(ฉันเอกา)
6) ปัตตปิณฑิกังคะ วัตรถือการฉันอาหารในบาตร
7) ขลุปัจฉาภัตติกังคะ วัตรถือการไม่ฉันข้าวเมื่อภายหลัง(จากการห้ามภัต)
8) อรัญญิกังคะ วัตรถือการอยู่ในป่า
9) รุกขมูลิกังคะ วัตรถือการอยู่ที่โคนไม้
10) อัพโภกาสิกังคะ วัตรถือการอยู่กลางแจ้ง (ที่โล่ง ไม่มีสิ่งมุงบัง)
11) โสสานิกังคะ วัตรถือการอยู่ในป่าช้า
12) ยถาสันถติกังคะ วัตรถือการอยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดแต่งไว้ให้
13) เนสัชชิกังคะ วัตรถือการไม่นอน(เอนหลังหลับ)
            2. ลักษณะการสมาทาน
            เมื่อภิกษุจะสมาทานธุตังควัตร ควรไปสมาทานในสำนักของพระภิกษุรูปที่ถือธุตังควัตรนั้น ผู้จะปฏิบัติธุดงค์ ควรขอนิสสัยเพื่อฝากตนเป็นศิษย์ และขอให้ท่านเป็นอาจารย์ แล้วสมาทานธุดงค์  ถ้าไม่มีภิกษุที่ถือธุดงควัตรในที่นั้น ให้ไปสมาทานเอาที่พระเจติยสรีรธาตุของพระพุทธเจ้าก็ได้   เมื่อจะสมาทานธุตังควัตรในสำนักเจติยะ ควรไปกวาดชำระลานเจติยะให้สะอาดแล้วสมาทานเอา  ด้วยใส่ใจเลื่อมใส เป็นดังสมาทานในสำนักพระพุทธเจ้า
  ธุตังควัตร 3 ข้อ ได้แก่ วัตรถือการทรงผ้าบังสุกุล วัตรถือการบิณฑบาตร วัตรถือการฉันอาหารคาบเดียว ย่อมเป็นสัปปายะ(เหมาะ) แก่โยคาวจรภิกษุทั้งมวล ภิกษุควรสมาทานธุตังควัตรทั้ง 3 ข้อ ให้เป็นหลักเบื้องต้นก่อน ถ้าต้องการปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไป จึงค่อยสมาทานเพิ่มเอา ถ้าไม่ประสงค์ เพียงถือธุตังควัตร 3 ข้อ ก็ถือว่าเป็นการเหมาะสมแล้ว
  3. วิธีการการปฏิบัติธุดงค์แต่ละข้อ
      1) ปังสุกุลิกังคะ วัตรถือการทรงผ้าบังสุกุล  ภิกษุจะสมาทานวัตรทรงผ้าบังสุกุล ให้เปล่งคำสมาทานว่า “คหปติทานจีวรํ ปฏิกฺขิปามิ” 3 หน หรือ “ปํสุกูลิกงฺคํ สมาทิยามิ” 3 หน (2 บทนี้ จะว่าอันใด หรือจะว่าทั้ง 2 ก็ได้) 
      ผ้าบังสุกุลมี 23 ชนิด[1] ได้แก่ 1. โสสานิกํ  ผ้าที่เขาละเสียในป่าช้า เช่น ผ้าบังสุกุลในงานศพ หรือ ผ้าห่อซากศพทิ้งในป่าช้า  2. ปาปณิกํ ผ้าที่ตกหล่นในแทบประตูตลาด ที่เจ้าของไม่ต้องการ  3. รถิยโจฬํ [2] ผ้าที่ผู้ประสงค์บุญทอดในหนทางหลวงให้แก่ภิกษุ 4. สงฺการโจฬํ [3] ผ้าที่เขาทอดทิ้งในกองหยากเหยื้อ  5. โสตฺถิยํ [4] ผ้าที่เปื้อนมลทินครรภ์เขาทิ้ง คือ ผ้าที่เช็ดคราบทารกแรกเกิด   6. นฺหานโจฬํ ผ้าอันหมอผีนุ่ง หรือ ให้คนนุ่งไปบูชาผี กลับมาอาบน้ำ ดำหัว ทอดทิ้งเสียด้วยถือว่าเป็นจังไร  7. ติตฺถโจฬํ ผ้าที่คนทอดทิ้งในท่าอาบน้ำ 8. คตปจฺจาคตํ [5] ผ้าที่คนนุ่งไปป่าช้าผี กลับคืนมาอาบน้ำ ทอดทิ้งเสีย 9. อคฺคิทฑฺฒํ ผ้าที่ถูกไฟไหม้แล้วคนคิดว่ามันเป็นสิ่งไม่ดีทอดทิ้งเสีย 10. โคขายิตํ ผ้าที่ถูกวัวเคี้ยว(ถือว่าเป็นกาลกิณี)  11. อุปจิกาขายิตํ[6] ผ้าที่ถูกปวกแทะ(ถือว่าเป็นกาลกิณี)   12. อุนฺทูรขายิตํ[7] ผ้าที่ถูกหนูกัด (ถือว่าเป็นกาลกิณี)   13. อนฺตฉินฺนํ ผ้าที่ชายผ้าขาดไป(ถือว่าเป็นกาลกิณี)  ที่คนเขาทิ้ง 14. ธชาหฏํ ผ้าทำธงที่ท่าเรือ หรือ ที่สนามรบเขาละทิ้ง 15. ถูปจีวรํ ผ้าที่พันไว้รอบจอมปวกปูชาพลีกรรม  16. สมณจีวรํ ผ้าที่ภิกษุให้ ได้แก่ ผ้าที่ภิกษุทอดถวาย  17. อาภิเสกิกํ [8] ผ้าที่เขาใช้ในพิธีอภิเสกท้าวพญาและทิ้งเสีย  18. อิทฺธิมยํ ผ้าที่ได้ด้วยริทธี เช่น การบวชเป็นภิกขุด้วยเอหิภิกขุ 19. ปนฺถิกํ [9] ผ้าที่ตกหายเสียในละแวกหนทาง(ถ้ารอเจ้าของแล้วไม่กลับมาเอา) 20. วาตาหฏํ ผ้าที่ถูกลมพัดหอบขึ้นไปตกที่ไกล เจ้าของผ้าไม่เห็น  21. ทสฉินฺนํ[10] ผ้าขาดที่หัวมุม  อันตสินัง ผ้าหัวเงินขาด ได้แก่  ผ้านุ่งที่คนนุ่งแล้วขาดเสีย 2 หัวเงินก็ดี หรือหัวเงินหนึ่งก็ดี ไม่เย็บ แต่เอาไปทิ้งเสีย 22. เทวทตฺติยํ ผ้าที่เทวดาให้ 23. สามุทฺทิยํ ผ้าที่ถูกคลื่นลมซัดจากมหาสมุทรมาเกยหาด ได้แก่ ผ้าที่ตกในน้ำมหาสมุทรถูกคลื่อนซัดมาเกยบก  ผ้าชนิดอื่นๆ จากที่กล่าวมาแล้ว ไม่ถือว่าเป็นผ้าปังสุกุล
                ภิกษุผู้ถือระดับเคร่ง(อุกกฤต) หาผ้าจากป่าช้าอย่างเดียว ผู้ถือระดับปานกลาง(มัชฌิมะ) ไปชักเอาผ้าที่เขาทอดทิ้งไว้ในที่ต่างๆ ผู้ถือระดับหย่อน(มุทุ) ชักเอาเฉพาะผ้าที่เขามาทอดแทบเท้า
      คำภาวนาในตอนไปชักผ้าบังสุกุล ภิกษุผู้ถือวัตรปังสุกูลิกังคะ เห็นผ้าที่ตกหล่น ในที่ต่างๆ เมื่อเห็นว่า ไม่มีเจ้าของหวงแหน
      พึงกล่าวคำร้องทักก่อนว่า  “อิทํ เกน ปติตํ” 3 หน แล้ว
      นั่งกระโหย่งเอามือกำผ้ากล่าวว่า  “อสฺสามิกมิทํ ปงฺสุกุลจีวรํ ปรมเชคุจฺฉํ อิมํ ปฏิคณฺหามิ อิทํ จีวรํ จ อหํ จ สงฺขารคตา อนิจฺจา ทุกฺขา อนตฺตา วิปริณามธมฺมา” 3 หน  แล้ว
      พิจารณาปัจจเวกขณะว่า “ยถาปจฺจยํ ปวตฺมานํ (...ยทิทํ จีวรํ)  จนถึง ชายนฺติ” แล้วนำไปใช้เถิด
      เมื่อจะเอาผ้าบังสุกุลที่คนมาทอดให้ในที่แทบเท้า ไม่ควรร้องทัก เพียงเอามือกำผ้านั้นแล้วกล่าวว่า “ปาทมูลจีวรมิทํ อริยตนฺตึ อริยปเวณึ อริยวํสํ อิมํ ปฏิคณฺหามิ อิทํ จีวรํ จ อหํ จ สงฺขารคตา อนิจฺจา ทุกฺขา อนตฺตา วิปริณามธมฺมา”  3 หน และพิจารณาปัจจเวกขณะ ดังที่กล่าวมา
      อานิสงส์ การที่ภิกษุทรงวัตรถือผ้าบังสุกุล ถือว่าได้ ปฏิบัติควรแก่นิสัย 4  เป็นผู้ตั้งอยู่ในอริยวังสะ ได้ละความโลภในผ้าจีวร ได้บรรเทาตัณหา มีบริขารอันสมควรแก่สมณะ เป็นผู้น่าเลื่อมใส  เป็นผู้มักน้อย เป็นแบบอย่างแก่อนุชน
      2) เตจีวริกังคะ วัตรถือการทรงผ้า 3 ผืน คำสมาทานว่า “จตุตฺถจีวรํ         ปฏิกฺขิปามิ” 3  หน “เตจีวริกงฺคํ สมาทิยามิ” 3 หน (2 บทนี้ว่าอันใด หรือ ทั้ง 2 ก็ได้)  ผ้า 3 ผืน ได้แก่ ผ้าสบง จีวร สังฆาฏิ ผ้าใหญ่ควรทรง 3 ผืน  ผ้าน้อย เป็นต้นว่า กายพันธน์(ประคตเอว)  ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดเหงื่อ ผ้าเช็ดมือ สลุบบาตร(ถุงหุ้มบาตร/สลกบาตร) ผ้านิสีทนะ(ผ้ารองนั่ง) ถุง ผ้าเหล่านี้ ไม่นับเข้าในผ้าจีวรหลัก 3 ผืน  ก็ควรใช้ได้ แม้ผ้าห่ม ผ้าจีวรทาน ผ้าอาบน้ำ เครื่องลาด ที่ถวายประจำเสนาสนะ  กุฏิ หรือ เจดีย์ ใช้ได้ วัตรไม่ขาด
      ผู้ถือวัตรทรงไตรจีวร มี 3 ระดับ คือ ระดับเคร่ง ระดับปานกลาง และระดับหย่อน ผู้ถือระดับเคร่ง ไม่ควรนุ่งหรือหุ่มผ้าผืนอื่น อยู่ในที่ใกล้บ้าน จะย่อมผ้า ให้ย้อมทีละผืน คือ นุ่งสบง ย้อมจีวร และสังฆาฏิ หรือ นุ่งจีวร ย้อมสบง และสังฆาฏิ ห้ามนุ่งผ้าสังฆาฏิ ย้อมผ้าที่เหลือ ถ้าอยู่ในเสนาสนะป่า จะย้อมพร้อมกันทั้ง 3 ผืนก็ได้ (ไม่ให้นำผ้าอื่นมานุ่ง) อนุญาตให้เปลือยกายได้ แต่ต้องนั่งใกล้ผ้าของตน ผู้ที่ถือขนาดกลางและขนาดหย่อน ใช้นุ่งผ้าอื่นได้ เมื่อย้อมทั้ง 3 ผืน อังสกาสาวะ ได้แก่ ผ้าปกไหล่  กว้างคืบหนึ่ง ยาว 3 ศอก ผู้ถือ ติจีวระใช้ได้
      อานิสงส์  วัตรถือทรงผ้า 3 ผืน  ถือได้ว่า ได้ละตัณหาโลภในผ้าอันเหลือ ได้บรรเทาตัณหายินดีในเครื่องบริโภค หาปลิโพธในผ้าไม่ได้  มีปริขารอันน้อยอันเบา  ไม่มีกิจธุระอันมาก  เป็นผู้ประพฤติเบา เป็นผู้ประพฤติขัดเกลากิเลส เป็นผู้มีความปรารถนาน้อย เป็นเหตุอันใกล้นิพพาน
      3) ปิณฑปาติกังคะ วัตรถือการบิณฑบาต
      คำสมาทาน “อติเรกลาภํ ปฏิกฺขิปามิ” 3 หน “ปิณฺฑปาติกงฺคํ สมาทิยามิ” 3 หน (2 บทนี้ว่าอันใด หรือ ทั้ง 2 ก็ได้)   ผู้ถือวัตรข้อนี้ เที่ยวบิณฑบาตฉันเท่านั้น ไม่รับอาหารที่ได้นอกเหนือการออกบิณฑบาต เรียกว่า อติเรกลาภ มี 14 ชนิด ได้แก่ 1. สงฺฆภตฺตํ อาหารที่ทายกนำมาสู่วิหารถวายแก่สังฆะทั้งหลาย 2. อุทฺเทสภตฺตํ คืออาหารที่เขาถวายเจาะจงพระภิกษุกรือสงฆ์ตามลำดับวันละ 1 ตน 2 ตนไปทุกวัน 3. นิมนฺตนํ อาหารที่เขานิมนต์ไปรับ 4. สลากภตฺตํ  อาหารที่ถวายด้วยวิธีจับฉลาก 5. ปกฺขิกํ อาหารที่ถวายในวันปักขสีลทุกวันไม่ขาด 6. อุโปสถิกํ อาหารที่คนมารักษาอุโปสถศีลเตรียมไว้บริโภค แต่นำมาถวายทานแก่สงฆ์ทุกวันอุโบสถ 7. ปฏิปาทิกํ อาหารที่เขาถวายหลังวันศีล 1 วัน  8. อาคนฺตุกภตฺตํ อาหารที่เตรียมสำหรับพระอาคันตุกะผู้มาใหม่  9. คมิกภตฺตํ อาหารที่เตรียมถวายภิกษุผู้จะเดินทาง 10. คิลานภตฺตํ อาหารที่เตรียมถวายภิกษุอาพาธ 11. คิลานุปฏฺฐากภตฺตํ อาหารที่เตรียมถวายภิกษุผู้เฝ้าพระอาพาธ 12. วิหารภตฺตํ อาหารที่เขานำมาให้กับกุฎีวิหาร 13. ธุรภตฺตํ(นิจฺจภตฺตํ) อาหารที่เขายินดีนำมาถวายประจำ 14. วารภตฺตํ อาหารที่คนแบ่งกันเป็นวาระให้นำมาถวายเมื่อถึงวาระของตน
      การใส่ใจภาวนาขณะออกเดินบิณฑบาต
      ภิกษุผู้ถือวัตรบิณฑบาต ก่อนจะเดินออกไปบิณฑบาต ให้เอาน้ำล้างบาตร หุ่มผ้าสังฆาฏิกลัดลูกกระดุมผ้าให้เรียบร้อย  เอามือประคองบาตร  กล่าวคำสมาทานวัตรที่จะเดินบิณฑบาตว่า
      “อยนฺทานิ โข สา สพฺพญฺญูพุทฺธปจฺเจกพุทฺธพุทฺธสาวเกหิ ปฏิปนฺนา อิมํ เนกฺขมฺม- ปฏิปทํ ปูเรสึ ปูเรสฺสามิ  อิมาย ปฏิปทาย ชาติชราพยฺาธิมรณทุกฺขมฺหา ปริมุญฺจิสฺสามิ”  
      เอา(สาย)บาตรห้อยไหล่  เข้าไปสู่บ้านอันเป็นที่โคจรคาม สำรวมกายตามหลักเสขิยวัตร จงทำมนสิการกัมมัฏฐานขณะที่เดินไป ด้วยอนุสสติถึงพุทธคุณ 10 ประการ (ตามพระบาลี พุทธคุณมี 9 ประการ)ว่า
      “โส ภควา อรหํ อิติปิ” เป็นต้น จนถึง “โส ภควา (พุทฺโธ) อิติปิ” เป็นที่สุด  และบริกรรม พุทธคุณข้อใดข้อหนึ่งไปตลอด
      ถ้าบริกรรมพุทธคุณ ก็ให้บริกรรมลักษณะทั้ง 3 (ไตรลักษณ์) ของนามรูปว่า
      “นามรูปํ อนิจฺจํ นามรูปํ ทุกฺขํ นามรูปํ อนตฺตา” แล้วบริกรรมเพียง ลักษณะนาม/รูป ข้อใดข้อหนึ่งไปตลอด
      เมื่อเข้าไปในหมู่บ้านให้บริกรรมคำแผ่เมตตาว่า “สพฺเพ สตฺตา สุขีตา โหนฺตุ” ไปจนถึงประตูเรือน
      เมื่อเถิงเรือนนั้น ให้ยืนอยู่ที่ตรงกับประตูเรือน อย่าให้ไกลหรือใกล้เรือนนัก อย่ารีบด่วนหนีไปเร็วนัก อย่ารอนานจนเกินไปนัก เมื่อคนนำอาหารมาใส่บาตร ให้พิจารณา (ธาตุ)ปัจจเวกขณะว่า
      “ยถาปจฺจยํ ปวตมานํ ธาตุมตฺตเมเวตํ ยทิทํ ปิณฺฑิปาโต”
      ให้รำพึงอนุโมทนาในใจว่า “อิมินา ทายกา สุขิตา โหนฺตุ สงฺกปฺปา  โว สมิชฺฌนฺตุ” ดังนี้ ทุกแห่ง
      เมื่อได้อาหารแล้ว ถอยออกมาจากบ้านขณะเดินกลับมาสู่เสนาสนะ  ก็ควรบริกรรมกัมมัฏฐานมา โดยนัยะดังที่กล่าวไว้ตอนเข้าไปสู่บ้าน
      อานิสงส์  ภิกษุผู้ถือวัตรการบิณฑบาต ถือว่า ได้ปฏิบัติอันควรแก่นิสสัย 4 อันว่าด้วย การบรรพชาอาศัยการบิณฑบาตเลี้ยงชีพ  ได้ตั้งอยู่ในอริยวังสะ ได้ปฏิบัติเสขิยวัตร ได้ละมานะ ได้ละตัณหาอันโลภในลาภ ได้บรรเทาตัณหาอันยินดีในลาภ ได้ละความตระหนี่ในลาภ มีชีวิตอันบริสุทธิ์ ได้เจริญวัตรปฏิบัติอันดี ประพฤติความเป็นผู้ปรารถนาน้อย ไม่เป็นบุคคลผู้เลี้ยงยาก เรียกว่า ได้โปรดพุทธบริษัท เป็นที่รักใคร่ของเทวดาทั้งหลาย เป็นเหตุอันใกล้นิพพาน
      4) สปทานจริกังคะ วัตรถือการบิณฑบาตตามลำดับประตูเรือน
      โยคาวจรจะถือสปทานจาริกังคะ เปล่งคำสมาทานว่า “โลลุปฺปจารํ ปฏิกฺขิปามิ” 3 หน “สปทานจาริกงฺคํ สมาทิยามิ” 3  (2 บทนี้ว่าอันใดหรือทั้ง 2 ก็ได้)   เมื่อสมาทาน เข้าไปบิณฑบาตจงไปตามลำดับประตูเรือน  ยืนอยู่แทบประตูบ้าน  พิจารณาดูอันตรายต่างๆ เป็นต้นว่า หมาว้อ(บ้า)  ช้าง ม้า วัว ควายที่ดุร้าย ทุกประการที่จะมาทำอันตรายการเดินตามลำดับประตูบ้าน ถ้าเห็นว่า จะมีอันตราย ให้เว้นไปทางอื่นก็ไม่เสียวัตร ถ้าเข้าไปแล้วไม่ได้อาหาร ก็ให้เว้นไปเสีย ทำในใจว่า “ที่นี่ไม่บ้านไม่ใช่เรือน” ถ้าได้อาหารแม้เล็กน้อยก็ไม่ควรเว้นไป แต่ถ้าไม่ได้เลย จะเว้นไปเสียก็สมควร ถือว่าเป็นที่ไม่สัปปายะ ที่ใดสัปปายะก็ให้ไปที่นั้นตามลำดับประตูบ้าน โดยลำดับอย่าเว้นสักแห่ง ถ้ามีคนจะมาให้ทานในวิหาร แต่มาไม่ถึงวิหาร พบภิกษุผู้ถือสปทาจริกังควัตรในหนทางก่อน ขอเอาบาตร แม้จะให้บาตรเขาไปใส่อาหารมาถวาย วัตรก็ไม่ขาด
      สำหรับภิกษุผู้ถือวัตรเคร่ง จะรับเฉพาะตรงประตูบ้านที่เขานำอาหารออกมาถวายเท่านั้น  ผู้ที่ถือปานกลาง ไปยืนอยู่แทบประตูบ้าน เจ้าของบ้านมารับเอาบาตรไปใส่อาหารมาถวายก็ควรให้บาตรแก่เขา ผู้ถือธุตังควัตรข้อนี้ ไม่มีผู้ใดถือได้เคร่ง ดังพระมหากัสสปเถรเจ้าสักตน ผู้ถืออย่างหย่อน เขานิมนต์ให้อยู่รอรับอาหารในวันนั้นก็ยังได้
      อานิสงส์  ภิกษุผู้ถือวัตรข้อนี้ ถือว่า ได้ละตัณหาอันโลภในอาหาร ได้บรรเทาตัณหาอันรักในอาหาร ได้ละตัณหาอันโลภในตระกูล ได้ละเสียยังความตระหนี่ในตระกูลอุปัฏฐาก  ได้กรุณาตระกูลทั้งหลายเสมอกันเหมือนดังพระจันทร์  ไม่มีปลิโพธเรื่องตระกูล ได้เจริญวัตรปฏิบัติ ในข้อความเป็นผู้ปรารถนาน้อย  เป็นเหตุอันใกล้นิพพาน
      5) เอกาสนิกังคะ วัตรถือการฉันอาหารคราบเดียว
      เมื่อจะถือวัตรเอกาสนิกังคะ ให้เปล่งคำสมาทาน “นานาสนโภชนํ ปฏิขิปฺปามิ” 3 หน “เอกาสนิกงฺคํ สมาทิยามิ” 3 หน (2 บทนี้ว่าอันใด หรือ ทั้ง 2 ก็ได้)   ผู้สมาทานธุดงค์ข้อนี้ ควรฉันอาหารวันละคาบเท่านั้น  โภชนะ(ของที่กินเป็นอาหาร)มี 5 ประการ คือ “โอทนํ” เข้าสุก  “สตุ” เข้าสะตูที่ทำเป็นก้อน เป็นแผ่นหรือเป็นเส้น “กุมฺมาโส” ขนมกุมมาสที่ทำด้วยแป้งและถั่ว “มจฺโฉ” เนื้อปลา “มํสํ(มังสัง)” ชิ้นเนื้อ อาหาร 5  อย่างนี้ เรียกว่า โภชนียะ สำหรับ  หมาก เหมี้ยง พลู ชื่อว่า ขาทนียะ(ของเคี้ยว)   ของกินชนิดอื่นๆ เช่น ราก หัว หน่อ ลำ เปลือก ใบ ยอด ดอก ลูก(ผล) เหล่านี้ เรียกว่า “โภชนะขาทนิยะ”
      ภิกษุผู้ถือวัตรการฉันอาหารคาบเดียว ควรฉันในขณะเดียว ถ้าลุกจากที่แล้วไม่ควรฉันโภชนะต่ออีก ผู้ถือเอกาสนิกังควัตรมี 3 ระดับ ผู้ถือเคร่ง เมื่อนำอาหารใส่บาตรแล้ว ก็มุ่งหน้าฉันให้อิ่ม จะไม่เพิ่มอาหารอีก แต่ถ้าทายกนำเนยใส น้ำผึ้ง น้ำอ้อยมาถวาย ก็ควรให้ถือว่าเป็นยา แต่อย่ารับในฐานะเป็นอาหาร สำหรับผู้ถือปานกลาง ตราบใดข้าวในบาตรยังเหลืออยู่ จะเพิ่มอาหารอีกก็ได้บ้าง แต่จะไม่รับเพิ่มเมื่ออาหารในบาตรหมด สำหรับผู้ถือชนิดหย่อน ตราบใดที่ตนยังไม่ลุกจากที่ฉัน ถ้ายังไม่อิ่มจะเติมเท่าใดก็ได้ อาจารย์บางท่านว่า ตราบใดที่ยังไม่ล้างบาตร ก็ยังรับอาหารใหม่มาฉันได้  ข้อสำคัญต้องไม่ลุกจากที่ฉันไป
      อานิสงส์  ภิกษุผู้ถือธุดงค์ข้อนี้ ถือว่า “สุภโร” เป็นคนเลี้ยงง่าย  “อปฺปาพาโธ” ไม่มีพยาธิมาก  “สลฺลหุกวุตฺติ” มีความประพฤติเบา ไม่ต้องอาบัติ ที่ชื่อว่า “อนติริตฺตํ” คืออาหารที่ไม่เป็นเดนภิกษุผู้อาพาธ  “โภชนนิกนฺติ วิโนทนํ” ได้บรรเทาตัณหาที่ติดในรสโภชนะ “อปฺปมิทฺโธ” ไม่มีความง่วงเหงา เมาหลับ “ปญฺญาวุฒานํ” เจริญด้วยปัญญา “โภชนโลลุปฺปหานํ” ได้ละความโลภในโภชนะ “อปฺปกิจฺโจ” ไม่มีกิจจะมาก “อปฺปิฉตาทนํ อนุโลมวุตฺติ” ประพฤติตนเพื่อความเป็นผู้ปรารถนาน้อย เป็นเหตุอันใกล้นิพพาน
      6) ปัตตปิณฑิกังคะ วัตรถือการฉันอาหารในบาต
                เมื่อจะถือปัตตปิณฑิปาติกังคธุดงค์ ให้เปล่งคำสมาทานว่า “ทุติยภาชนํ ปฏิกฺขิปามิ” 3 หน “ปตฺตปิณฺฑิปาติกงฺคํ สมาทิยามิ” 3 หน (2 บทนี้ว่าอันใดหรือ ทั้ง 2 ก็ได้)   ผู้ถือวัตรข้อนี้ ต้องฉันอาหารที่ใส่ในบาตรเท่านั้น จะใช้ภาชนะอย่างอื่นแทนบาตรไม่ได้ อนึ่งอาหารในบาตร อาจมีทั้งของเหลวและของข้น หากไม่รังเกียจก็ฉัน(คลุก)ปนกันไป  แม้อาหารรสหวาน รสเปรี้ยว ก็ควรจัดแยกที่ในบาตรฉันนั้น ควรรู้จักประมาณในการฉัน นั่นคือบรรจุอาหารแต่พออิ่ม อย่าให้เหลือเป็นเดน  จำพวกผักก็ใช้มือหยิบฉันได้  กรณีที่มีคนถวายมะพร้าวเพื่อให้ดื่มน้ำ ก็ควรวางไว้บนบาตรดื่มน้ำ หรือไม่ก็รินน้ำมะพร้าวใส่บาตรยกดื่มเถิด
      ภิกษุผู้ถือปัตตปิณฑิปาติกังคะ มี 3 ระดับเช่นกัน ผู้ถือเคร่ง เมื่อฉันอาหารพบชิ้นกระดูก หรือ ก้างปลาในปาก ยังไม่ให้นำออก คือ ให้อมในแก้มข้างหนึ่งฉันต่อไปก่อน เมื่ออิ่มจึงบ้วนออกมาพร้อมกับน้ำบ้วนปาก หรือจะคายนำออกมาเก็บไว้ข้างในบาตร และเทออกพร้อมกับน้ำล้างบาตรทีเดียว จำพวกของเคี้ยว หรือ อาหารชิ้นโต ไม่ควรแบ่ง  ใส่ปากได้เท่าใด ก็ให้ฉันเท่านั้น  ผู้ถือปานกลาง ถ้าอาหารชิ้นใหญ่จะฉีกแบ่งฉันก็ได้ สำหรับผู้ถืออย่างหย่อน ถ้ามีกระดูกหรือก้างปลาให้หยิบออกก่อนได้ อาหารชิ้นโตเหลือปาก จะถือไว้ในมือข้างหนึ่ง หรือ ใช้สองมือ ฉีกแบ่งออกฉันก็ได้
      อานิสงส์  ภิกษุผู้ถือธุดงค์ข้อนี้ ถือว่า  ได้ละความโลภในโภชนะที่มีรสต่างๆ ได้บรรเทาตัณหาที่ติดในในอาหาร   ได้ละความอันโลภในภาชนะอันน้อยใหญ่  ไม่มีปลิโพธในภาชนะ   มีใจไม่ฟุ้งซ่านในการฉันอาหาร ไม่มีกิจจะมาก    ประพฤติตนเพื่อความเป็นผู้ปรารถนาน้อย เป็นเหตุอันใกล้นิพพาน
      7) ขลุปัจฉาภัตติกังคะ วัตรถือการไม่ฉันข้าวเมื่อภายหลัง
                เมื่อจะถือวัตรขลุปัจฉาภัตติกังคะ ให้เปล่งคำสมาทานว่า อติริตฺตโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ” 3 หน “ขลุปจฺฉาภตฺติกงฺคํ สมาทิยามิ” 3 หน (2 บทนี้ว่าอันใด หรือ ทั้ง 2 ก็ได้)   การที่ได้ชื่อว่า ขลุปัจฉาภัตติกังคะ  มีที่มาดังนี้   ยังมีนกตัวหนึ่ง ชื่อ “ขลุ” นกตัวนั้น ถ้าคาบลูกไม้ที่เป็นประโยชน์สำหรับกินได้ในปาก ถ้าลูกไม้นั้น พลัดตกหล่นจากปากไป ในวันนั้น นกขลุจะไม่กินอาหารอย่างอื่นอีก ภิกษุผู้ถือวัตรข้อนี้ ก็ทำตนเสมอดังนกขลุนั้น
                ครั้นสมาทานวัตรข้อนี้แล้ว เมื่อภิกษุกำลังฉันอาหารอยู่ และมีทายกนำอาหารมาถวายอีก ท่านจะห้ามว่า “อาหารเท่านี้พอ เราฉันแล้ว  อย่าเพิ่มอีกเลย”  ถ้าเอยปากห้ามแล้ว จะฉันอาหารต่อไปอีกไม่ควร ผู้ถือขลุปัจฉาภัตติกังคะมี 3 ระดับเช่นกัน คือ ระดับเคร่งนั้น ภิกษุกำลังฉันอาหารแม้เพียงคำเดียว ทายกนำอาหารมาถวายและกล่าวห้ามเสีย ก็ควรหยุดฉันอาหารทันที ในวันนั้น ก็เท่ากับว่าท่านได้ฉันคำเดียวเฉพาะคำที่ใส่ปากคำแรก  จะฉันเพิ่มอีกคำก็ไม่ได้ ยกเว้นแต่ว่า ท่านยังไม่ได้ลงมือฉันอาหาร ทายกนำมาถวายก็ห้ามเสียก่อน ถือว่าไม่ผิดวัตรแต่อย่างใดเลย ผู้ถือระดับปานกลาง เมื่อบรรจุอาหารใส่ในบาตรมากหรือน้อยเท่าใดกำลังฉันอาหารอยู่ มีทายกนำอาหารมาถวายเพิ่มและกล่าวห้ามเสีย ก็สามารถฉันอาหารเท่าที่ใส่ในบาตร จะเอามาเติมอีกไม่ได้ แต่ถ้าไม่เอยปากห้าม ก็ยังเพิ่มอาหารได้อยู่ สำหรับผู้ถืออย่างหย่อน ตราบใดที่ยังไม่ได้ลุกจากที่นั่ง ยังฉันอาหารได้ตราบนั้น ถ้าลุกจากที่นั่งแล้ว จะฉันอาหารอีกไม่ได้  แม้จะทำให้เป็นเดนภิกษุไข้ด้วยคำว่า     “อลเมตํ สพฺพํ”แล้วนำมาฉันก็ไม่ได้ อันนี้อธิบายให้รู้วิธีปฏิบัติ
      อานิสงส์  ภิกษุผู้ถือธุดงค์ข้อนี้ ถือว่า  ได้ละความโลภในโภชนะ ได้บรรเทาเความติดในรสโภชนะ ได้ปิดกั้นอารมณ์แห่งตัณหา  ทำให้ตัณหาเสื่อมถอย ไม่มีปลิโพธในโภชนะ ประพฤติตนเพื่อความเป็นผู้ปรารถนาน้อย ปราศจากอาบัติอันเกิดแต่ อนติริตตสิกขาบท มีสภาวะเลี้ยงง่าย  ไม่ได้สันนิธิ(สั่งสม)อาหารเพื่อเก็บไว้ฉันภายหลัง  เป็นผู้มักน้อย  เป็นเหตุอันใกล้นิพพาน
      8) อรัญญิกังคะ วัตรถือการอยู่ในป่า
                เมื่อโยคาวจรจะถือธุตังควัตรข้ออรัญญิกังคะ จงเปล่งคำสมาทานว่า “คามนฺตเสนาสนํ ปฏิกฺขิปามิ” 3 หน “อรญฺญิกงฺคํ สมาทิยามิ” 3 หน (2 บทนี้ว่าอันใดหรือทั้ง 2 ก็ได้)   เมื่อสมาทานวัตรแล้ว ไม่ควรอยู่เสนาสนะที่ใกล้บ้าน จงไปอยู่ในป่า 
               ที่เรียกว่า “เสนาสนะป่า” นั้น วัดระยะทางประมาณเท่าใด อาจารย์อธิบายว่า คำว่า “บ้าน(คาโม)” หมายถึง มีเรือนหลังหนึ่งหรือมากกว่านั้น  เรื่อนั้น จะล้อมรั้วหรือไม่ก็ตาม หรือ บ้านเก่าเป็นที่พักของพวกพ่อค้าพักแรมเพียง 4 เดือนก็ชื่อว่า “บ้าน”  บ้านที่มีรั้วล้อม ชายผู้มีกำลังแรงยืนอยู่ที่ตีนรั้วบ้านขว้างก้อนดินออกไปสุดแรง ก้อนดินไปตกที่ใด ที่นั้นชื่อว่า “คามุปจาระ” (เขตบ้าน)
               ถ้าบ้านไม่มีรั้วล้อม ให้ถือบ้านหลังสุดท้าย ผู้หญิงที่อยู่เรือนหลังนั้น ซัดน้ำล้างถ้วยไปถึงที่ใด หรือ ฝัดข้าวแกลบปลิวตกไปถึงที่ใด จากที่น้ำสาดถึง หรือ ที่แกลบปลิวตกเข้ามา เรียกว่า “ฆรุปจาระ” (เขตเรือน)หลังนั้น  ขว้างก้อนดินจาก เขตเรือนออกไปอีก   ตกที่ใด ที่นั้นเรียกว่า “คาโม”(บ้าน) จากจุดที่ก้อนดินตก ขว้างก่อนดินไปอีกครั้ง ตกที่ใด  ก็นับจากที่ที่ก้อนดินตกลงนั้นเข้ามาหาบ้าน ชื่อว่า “คามุปจาระ”(เขตบ้าน) ข้อนี้กำหนดเอาบ้านที่ไม่มีรั้วล้อม เพื่อให้รู้จักเขตบ้าน และ อุปจารบ้าน
      อารามป่าที่มีรั้วและกำแพงล้อม ก็ขว้างก้อนดินออกไป ที่ที่ก้อนดินตกนั้น เรียกว่า “อุปจารอาราม”(เขตวัด)  ท่านให้วัดระยะจาก อุปจารอาราม ถึง อุปจารบ้าน ได้ 500  ชั่วขาธนู หรือ ประมาณ 500 วา  จึงจะเรียกได้ว่า “เสนาสนะป่า”  ระยะหย่อนกว่านั้นไม่เหมาะ  ข้อนี้กำหนดอารามที่มีรั้วและกำแพงล้อม ถ้าไม่มีรั้วหรือกำแพงล้อม ให้ขว้างก้อนดินจากวิหารหลังสุดท้ายที่ใกล้มาทางบ้าน จุดที่ก้อนดินตกเข้ามาหาวิหาร เรียกว่า “อุปจารอาราม” ระยะระหว่างอุปจารอาราม กับ อุปจารบ้านให้ไกลกันได้ 500 วา จึงเรียกว่า “เสนาสนะป่า”
      (หมายความว่า เขตแดนจากอุปจารบ้าน ถึงเขตแดนอุปจารอาราม วัดระยะให้ได้ 500 ชั่วขาธนู หรือ 500 วา มิใช่วัดจากกำแพงบ้าน ชนกำแพงวัด หรือ จากเรือนหลังสุดท้าน ถึงวิหารหลังสุดท้ายได้ 500 วา แบบนี้เป็นการไม่ถูกต้อง)
      ในการวัดระยะห่าง ให้ถือเอาทางสัญจรตามปกติทั้งทางน้ำและทางบก การจะทำหนทางใหม่ให้คดเคี้ยว เลี้ยว วก วน ทบไป ทบมา  ให้ได้ระยะ 500 วา นั้น ถือว่าไม่ดี เป็นโจรธุตังควัตร
      ภิกษุผู้อยู่เสนาสนะป่าระยะไกลจากบ้านประมาณที่กล่าวมา เรียกว่า “อรญฺญิโก”(ผู้อยู่ป่า)  ถ้ามีพระอุปัชฌาย์ หรือ อาจารย์อาพาธ จงนำกลับไปดูแลพยาลในเสนาสนะใกล้บ้านก็ได้ แต่ตนเองต้องกลับไปเสนาสนะป่าที่ถูกขนาดที่กล่าวมา รอให้สายอรุณขึ้นมาในป่าแล้ว จะกลับมาสู่อารามใกล้บ้านก็ควร ถ้าอุปัชฌาย์ อาจารย์เป็นอาพาธหนักไม่อาจพรากไปได้ ก็จงอยู่อุปัฏฐากอุปัชฌาย์ อาจารย์ก่อน  ไม่ไปรับอรุณในป่าก็ได้ ไม่เสียวัตร
      ผู้ถือธุตังควัตรข้ออรัญญิกังคะ ก็มี 3 ระดับ ผู้ถือเคร่ง ต้องอยู่เสนาสนะป่าตลอด 3 ฤดู หรือไม่ก็ต้องไปรับอรุณในป่าตลอด 3 ฤดู(12 เดือน) จึงจะถือว่า อยู่ป่าเป็นวัตร ผู้ถือระดับกลางให้อยู่ป่า 8 เดือน คือ ในฤดูหนาว 4 เดือน และฤดูร้อนอีก 4 เดือน เมื่อถึงฤดูฝนให้มาอยู่ในอารามใกล้บ้าน 4 เดือนก็ควร สำหรับผู้ถืออย่างหย่อน ให้อยู่ป่าเพียง 4 เดือน คือในฤดูร้อน  เมื่อถึงฤดูหนาว และฤดูฝน จะกลับมาอยู่อารามใกล้บ้านก็ควร  ผู้ถือธุดงค์อยู่ป่าถ้าอยากจะมาฟังธรรม ออกจากป่ามาฟังธรรมเทศนายังไม่จบ แต่สายอรุณขึ้นมาก่อน กลับไปเสนาสนะป่าไม่ทันอรุณ ธุตังควัตรก็ไม่ขาด หรือฟังธรรมจบแล้วเดินกลับไปสายอรุณขึ้นมาระหว่างเดินทาง ธุตังควัตรก็ไม่ขาด แต่ถ้าฟังธรรมจบแล้ว ผู้แสดงธรรมลงจากธรรมาสน์แล้ว ตนเองมัวรีรอ โอ้เอ้ว่าจะขอพักอยู่สักยาม แล้วเดินทางกลับ อรุณขึ้นมาระหว่างทางเช่นนี้ ธุตังควัตรก็เป็นอันขาดเสีย ยกเว้นมีเหตุจำเป็นอย่างอื่น
      อานิสงส์  ผู้ถืออรัญญิกังควัตร ย่อมได้บรรลุคุณที่ตนยังไม่ได้ และคุณที่ตนได้แล้วก็สามารถรักษาเอาไว้ได้  ได้ละความรักชีวิต ได้บรรเทาการคลุกคลีกับหมู่คณะ ได้อยู่เสนาสนะอันสงัด ไม่ได้เห็นรูปารมณ์ที่ไม่เป็นสัปปายะเหตุให้อวิชชาโทมนัสสเกิด ไม่ได้เสพบุคคลผู้ไม่เป็นสัปปายะทำให้อุทธัจจกุกกุจจะเกิด  มีใจไม่ฟุ้งซ่าน  ได้สมาธิที่ยังไม่เกิด สามารถรักษาสมาธิที่ได้แล้วเอาไว้ได้ ไม่ระคนเจือปนกับผู้อื่น ได้เสวยยังสุขอันวิเวกหลายประการ  ประพฤติตนเพื่อความเป็นผู้ปรารถนาน้อย  ควรแก่การทรงผ้าบังสุกุล และเป็นเหตุไปใกล้นิพพาน สามารถปราบข้าศึกคือกิเลสปาปธรรมได้โดยง่าย
      9) รุกขมูลิกังคะ วัตรถือการอยู่ที่โคนไม้
                โยคาวจรเมื่อจะถือ รุกขมูลิกังคะจงสมาทานเอาวัตรว่า “ฉนฺนํ ปฏิกฺขิปามิ” 3 หน “รุกฺขมูลิกงฺคํ สมาทิยามิ” 3 หน (2 บทนี้ว่าอันใด หรือ 2 ก็ได้)   ภิกษุผู้ถือวัตรอยู่โคนไม้ ไม่ควรอยู่เสนาสนะที่มุงด้วยเครื่องมุงบัง  จะเข้ามานั่งในร่มของกุฎีวิหารไม่ได้  ต้องอยู่ที่ใกล้โคนไม้เท่านั้น การเลือกโคนไม้ ต้องพิจารณาให้ดีว่า เป็นโคนต้นไม้ที่ควรอยู่ได้หรืออยู่ไม่ได้  อาจารย์อธิบายว่า ต้นไม้ที่ไม่ควรอาศัยเป็นที่อยู่ เป็นต้นว่า ต้นไม้ที่เป็นเขตแดนของพญา 2 ตน ต้นไม้ที่มียาง  เช่น ไม้รัง ไม้ยางยิ้ง(?)  ที่มนุษย์ต้องการยางจากต้นไม้นั้น  ไม้ที่มีลูกสำหรับคนบริโภค ต้นไม้เป็นที่นอนของสัตว์ทั้งหลาย มีค้างคาว เป็นต้น ต้นไม้ที่มีโพรงภายใน  จักมีโทษหลายประการ  ต้นไม้ที่เป็นสีมันตะริกแห่งสังฆะ  ต้นไม้ที่อยู่กลางอาราม เป็นต้น ส่วนต้นไม้ที่อยู่บริเวณขอบอาราม หรือ ต้นไม้ในป่าควรอยู่ได้
      ภิกษุผู้ถือรุกขมูลิกังคะมี 3 ระดับ ผู้ถือเคร่งจะไปอาศัยโคนไม้ต้นใด จะให้คนไปทำความสะอาดก่อนไม่ได้ แม้ว่าจะรกรุงรังไปด้วยกองใบไม้ก็ตาม จงเอาเท้ากวาดเองแล้วอาศัยอยู่เถิด ผู้ถือระดับปานกลาง จะไปอยู่ใต้ร่มไม้ใด เก็บกวาดเองให้สะอาดก็ได้ แต่จะใช้ผู้อื่นทำไม่ควร แต่ถ้าเขามาเก็บกวาดเองไว้ก่อนแล้วก็ควร ผู้ถือระดับหย่อน จะใช้คนวัด หรือศิษย์วัดไปกวาดทำความสะอาด ปราบพื้นที่ให้เรียบ ให้ไปขนทรายมาเกลี่ย ให้สร้างรั้วล้อม ทำประตูเข้าออกเอาไว้ก็ได้ ถ้าไม่รู้และได้ไปอยู่โคนไม้เสื้อบ้านเสื้อเมืองที่คนทั้งหลายปูชา ให้หนีจากที่นั้นเสีย ไปหาที่อยู่อื่น ผู้ถือรุกขมูลิกังควัตร เข้ามาในที่มุงบังจนอรุณขึ้น วัตรก็ขาด นอกเสียจากมาร่วมเข้าสังฆกรรมในโรงอุโบสถ และอรุณรุ่งขึ้นมาก่อน  หรือไปฟังธรรม เรียนธรรม สอนธรรม  เพื่อถามปัญหา  เพื่อชำระเก็บงำเสนาสนะไว้ภายใน กิจกรรมเหล่านี้ ไม่ทำให้เสียวัตร หากฝนตก จะแวะหลบฝนในที่ร่มเงาจนกว่าฝนจะหยุดตกก็ไม่เสียวัตร  หรือมีเหตุจำเป็นรบกวน จนต้องเข้าไปสู่ร่มและออกมารับอรุณที่โคนไม้ก็ได้
      ข้อสังเกต การรับอรุณกำหนดไว้ในธุดงควัตร 3 อย่าง ได้แก่  อรัญญิกังควัตร  รุกขมูลิกังควัตร  อัพโภกาสิกังควัตร
      อานิสงส์ ภิกษุผู้ถือรุกขมูลิกังคะ เรียกว่า ได้กระทำตามนิสสัยที่ตนได้รับในวันที่ตนได้รับอุปสัมปทากัมม์ที่โรงอุโบสถว่า “รุกฺขมูลเสนาสนํ นิสฺสาย ปพฺพชา” อันเป็นวงศ์แห่งพระอริยะข้อที่ 3  ได้ละเสียความโลภในเสนาสนะ ได้บรรเทาความยึดติดในเสนาสนะ ได้ละเสียยังความตระหนี่อาวาส  ไม่วุ่นเรื่องงาน ได้ยังอนิจจสัญญากำหนดเห็นความไม่เที่ยงในปัญจขันธะ ด้วยเห็นตัวอย่างใบไม้ที่มีใบสีเขียว แล้วกลายเป็นสีแดง และสีเหลือง แล้วล่วงหล่นไปไม่ขาดสาย ประพฤติตนเพื่อความเป็นผู้ปรารถนาน้อย    ได้ที่อยู่อันวิเวก(สงัด)ควรแก่การภาวนาเสมอด้วยโคนไม้ไม่มี แม้พระพุทธองค์ก็ทรงอาศัยโคนไม้จนได้ตรัสรู้พระสัพพัญญูตัญญาณ และเสด็จปรินิพพานก็อยู่ที่โคนไม้เช่นกัน ถือว่าได้อยู่กับเทวดา เป็นเหตุให้ใกล้นิพพาน
      10) อัพโภกาสิกังคะ วัตรถือการอยู่กลางแจ้ง
       โยคาวจรผู้จะอัพโภกาสิกังควัตรให้เปล่งคำสมาทานว่า  “ฉนฺนญฺจ รุกฺขมูลญฺจ ปฏิกฺขิปามิ “3 หน “อพฺโภกาสีกงฺคํ สมาทิยามิ” 3 หน (2 บทนี้ว่าอันใดหรือทั้ง 2 ก็ได้)   ผู้ถือวัตรข้อนี้ ไม่ควรอยู่ในอาคารมีที่มุงที่บัง หรือในร่มไม้ ควรทำกุฎีที่มุงด้วยผ้าอยู่กลางแจ้ง ไม่ควรเลือกสถานที่พลุกพล่านไปด้วยผู้คน ควรเลือกด้านริมขอบของวัดอยู่  หากมีกิจสงฆ์ เช่น การเข้าฟังธรรม กระทำสังฆกรรม การศึกษาปริยัติ จนเลยอรุณก็ได้ หรือ จำเป็นต้องหลบฝน   เมื่อฝนหยุดตกก็ควรออกมาจากวิหาร  หรือ มีกิจด้วยอุปัชฌายวัตร อาจาริยวัตร การเก็บงำเสนาสนะที่จะเสียหายหากตั้งไว้ภายนอก เก็บกวาดโคนไม้พระศรีมหาโพธิ์ ก็ควร
      ผู้ถืออัพโภกาสิกังคะมี 3 ระดับ ผู้ถือระดับเคร่ง จะไปอาศัยร่มไม้ เงาภูเขา เงาบ้านเรือน หรือ เงากุฏิวิหารไม่ได้  ทำหอผ้า(กระโจม)อยู่กลางลานก็ได้ ให้ดูร่มไม้เมื่อตะวันเที่ยง  เงาร่มไม้ไปถึงที่ใดอย่าอยู่ที่นั้น ผู้ถือปานกลาง จะเข้าพึ่งเงาต้นไม้ เงาภูเขาหรือเงากุฏิวิหารก็ได้ แต่ต้องไม่เข้าในที่บริเวณโคนไม้ หรือเข้าไปภายในกุฏิวิหาร ผู้ที่ถือระดับหย่อน จะอยู่ในเงื้อมหน้าผา และปะรำที่มุงด้วยใบไม้ก็ได้ ตูบนา เถียงไร่ที่เขามุงบังด้วยกิ่งไม้ และเจ้าของละทิ้งไปแล้วก็ได้  เกจิอาจารย์กล่าวว่า  รุกขมูลิกังคะ และ อัพโภกาสิกังคะจะถือพร้อมกันไม่ได้ มหาอุปคุตตเถรกล่าวว่า ถ้าสมาทานรุกขมูลิกังคะแล้ว ก็ให้ไปอยู่ใต้ร่มไม้นั้นก่อน ภายหลังออกมาจากร่มไม้ จึงมาสมาทาน อัพโภกาสิกังควัตร ครั้นสมาทานอัพโภกาสิกังคะแล้ว อย่าเข้าไปอาศัยรุกขมูล จงอยู่นอกร่มไม้ รุกขมูลิกังควัตร ก็ไม่ขาด และอัพโภกาสิกังคะก็ไม่ขาด เพราะ รุกขมูลิกังควัตร ไม่ห้ามอัพโภกาสกังคะ แต่ปฏิบัติพร้อมกันไม่ได้  มติของเกจิอาจารย์บางท่านกล่าวว่า
      ถ้าอยากปฏิบัติให้ได้พร้อมกันทั้ง 2 วัตรนั้น ให้ไปอยู่ร่มรั้วที่กั้นข้างบนก็ได้  คำอันนี้ไม่ถูกต้อง
      อานิสงส์ ภิกษุผู้ถืออัพโภกาสิกังคะ ได้ละความโลภในที่อยู่อาศัย  ได้บรรเทาความยึดติดที่  ได้บรรเทา ถีนะ ที่ทำให้เบื่อหน่ายคลายจากความเพียร และ มิทธะ ที่ทำให้ง่วงเหงาเมาหลับ  ได้ตัดอาวาสปลิโพธ   ไม่ยุ่งยากด้วยที่อยู่  มีกิจธุระน้อย  ประพฤติตนเพื่อความเป็นผู้ปรารถนาน้อย  ประพฤติขัดเกลากิเลส ไม่ระคนด้วยคณะ เป็นเหตุอันใกล้แห่งนิพพาน    ถีนมิทธะไม่ครอบงำ ใจมีปกติอันตื่นชื่นทุกเมื่อแล มีปกติไม่ประมาท เจริญความรู้สึกตื่นอยู่เสมอ(ชาคริยานุโยค) สามารถกำจัดกิเลสมารและปาปธรรมทั้งหลาย
      11) โสสานิกังคะ วัตรถือการอยู่ในป่าช้า
                โยคาวจรผู้จะถือโสสานิกังควัตร จงสมาทานวัตรว่า  “น สุสานํ ปฏิกฺขิปามิ” 3 หน “โสสานิกงฺคํ สมาทิยามิ” 3 หน (2 บทนี้ว่าอันใดก็ได้ จะว่าทั้ง 2 ก็ได้)   เมื่อสมาทานเอาวัตรข้อนี้แล้ว จงเข้าไปอาศัยอยู่ใกล้ป่าช้า(สุสาน)  
                เหตุใดจึงเรียกว่า “สุสาน” หรือ “ป่าช้า”  มีธรรมเนียมว่า มนุษย์ทั้งหลาย เมื่อจะตั้งหมู่บ้านใหม่ในที่ใด ก็จะเข้าไปเลือกดูสถานที่ควรจะเป็นสุสาน หรือ ป่าช้าก่อน แล้วกำหนดเขตแดนว่า  “ที่นี่ควรให้เป็นป่าช้า” แต่ยังไม่เรียกว่า ป่าช้า เพราะยังไม่ได้เผาศพ (หรือ ฝังศพคนที่เสียชีวิต) ต่อเมื่อได้เผา(ฝัง)ศพที่นั่นแล้ว จึงเรียกว่า “ป่าช้า” (สุสาน)  อีกอย่างหนึ่ง ถึงแม้จะเป็นป่าช้าเก่าที่ถูกทิ้งร้างไปนานถึง 12 ปี ก็ยังนับได้ชื่อว่า “ป่าช้า”อยู่เช่นกัน
      ข้อห้ามสำหรับผู้จะไปอยู่ป่าช้า ไม่ควรที่ภิกษุจะตั้งตูบ(กระท่อม) กุฏี วิหาร มณฑปที่จงกรมอยู่(ถาวร)ในป่าช้า ไม่สมควรจะจัดตั้งภาชนะใส่น้ำดื่มน้ำใช้ในป่าช้า ไม่ควรแสดงธรรม และสวดสาธยายในป่าช้า ท่านว่า การถือธุดงตวัตรข้อนี้ เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ยากนักหนา 
      ธรรมเนียมของภิกษุผู้จะเข้าไปอยู่ในป่าช้า มีดังนี้
      1) ให้ไปแจ้งแก่สังฆเถรเจ้า แจ้งแก่ เสนาอามาตท้าวพญา(สมัยก่อนหมายถึงผู้ปกครองบ้านเมือง  สำหรับ ปัจจุบัน ให้แจ้งแก่ ผู้นำหมู่บ้าน  หรือ ตำบล) ได้รับการอนุญาตแล้วจึงเข้าไปอยู่ เพื่อป้องกันอันตราย ป้องกันความเข้าใจผิด ป้องกันความสงสัย ถ้ามีเหตุ ท่านเหล่านั้น จะสามารถช่วยเหลือป้องกันเอาไว้ได้
      2) ไม่ควรฉันอาหารอันเป็นที่ชอบใจผี(อมนุษย์)  เช่น อาหารทำด้วยแป้ง งา และข้าวสุกที่คลุก(ผสม)ด้วยถั่ว ชิ้น(เนื้อ) ปลา ข้าวต้ม ขนม  ข้าวแป้ง น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำมัน น้ำนมวัว เพราะเป็นอาหารที่ผี(อมนุษย์)ชอบ  ท่านว่า อมนุษย์จะดูถูก ข้อห้ามเรื่องอาหารบางชนิดนี้(มังสวิรัติ จำพวกข้าวสุกและผักฉันได้)  มีเฉพาะภิกษุผู้จะถือโสสานิกธุดงค์เท่านั้น ธุดงควัตรข้ออื่น ๆ ไม่ห้ามในเรื่องชนิดของอาหาร 
      3) ไม่ควรเข้าไปสู่ตระกูลบ่อยนัก  ผีจะดูแควน(ดูถูก)
      คติปรัมปราไม่ปรากฏหลักฐานในพระบาลี อรรถกถาและฎีกา ไม่ควรถือเอาเป็นธรรมเนียม ได้แก่
(1) เกจิอาจารย์บางท่านกล่าวว่า ให้ไปสร้างกุฏิวิหารในป่าช้าเพื่อโผดผี  ความข้อก็นี้ไม่ถูกต้องตามบาลี ไม่ควรทำตาม
(2)  อาจารย์บางท่านกล่าวว่า ภิกษุผู้ถือวัตรโสสานิกังคะ  ต้องนำผงอัฐิ หรือฝุ่นอังคาร(ขี้เถ้า) ที่เผาศพติดตัวไปด้วยตลอดเวลา จึงจะดี(เหมือนเป็นเครื่องรางป้องกัน) ถ้าเดินทางก็ห่อใส่บาตรนำไป จะพักนอนที่ใด ให้นำผงอัฐิหรือฝุ่นอังคารนั้นออกมาปูที่จะนอน(ทับด้วยผ้าปูนอน)ทุกแห่งไป ความข้อนี้ ก็ไม่มีในพระบาลีเช่นกัน
      4) เมื่อจะเข้าไปสู่ป่าช้า ในเวลากลางวัน  จงแอบหนีไป อย่าให้คนเห็น  อย่าใช้ทางหลวง จงใช้ทางน้อย เมื่อถึงป่าช้า จงกำหนดว่า ก้อนหิน ท่อนไม้ พุ่มไม้ ขอนน้อย ขอนใหญ่ ทุกอันว่า อยู่ที่ไหน ให้ชัดเจน ไม่อย่างนั้น ในเวลากลางคืน(แสงสว่างไม่พอ) จะถูกสายตาตนเองหลอนเอา กลับแลเห็นหลากรูปปรากฏขึ้นมาได้ ก็จะเกิดความกลัว, หรือ จะไปในเวลามัชฌิมยามก็ได้ และควรกลับมาอาราม ก่อนที่คนจะตื่นในตอนเช้า
      5) ให้เพ่งดูอารมณ์กัมมัฏฐานในป่าช้า กองฟอนที่เผาศพ ให้นั่ง หรือ ยืน หันหน้าดูกองฟอนที่เผาศพ พิจารณาปลง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อสุภะลงในปัญจขันธ์  เมื่อเดินจงกรมรอบกองฟอนที่เผาศพ ใช้ชำเลืองดูกองฟอนเดินไป กำหนดปลง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อสุภะ ลงในปัญจขันธ์ไป เพื่อให้ได้อนิจจสัญญา ทุกขสัญญา อนัตตาสัญญา อสุภสัญญา ในปัญจขันธ์ จนถึงเวลาดึกมาก เป็นเวลาที่พอคนจะตื่นขึ้นมา จึงค่อยกลับอาราม
      วัตรข้อโสสานิกธุดงค์นี้ ต้องไปป่าช้าทุกวัน  วันใดไม่ไป ธุตังควัตรก็ขาด นอกเสียจากมีเหตุอันตรายเกิดขึ้นมาเป็นอุปสรรค ไม่ไปก็ได้  ถ้าปรากฏเห็นรูปร่างของผีเดินไปมาในเวลากลางคืน ไม่ควรทุบตีด้วยไม้ค้อน หรือ ก้อนดิน
      ผู้ถือโสสานิกังควัตร มี 3 ระดับ ผู้ถือเคร่ง ควรเลือกไปสู่ป่าช้า ที่ประกอบด้วยองค์ 3 คือว่า “ธุวฑาหะ” มีการเผาศพไม่ขาดสายสาย “ธุวกณปะ” มีซากผีอันทอดเสียเหนือดินไม่ขาดสาย “ธุวโรทะ” มีเสียงร่ำไห้ไม่ขาดสาย ผู้ถือปานกลางจะไปอยู่ป่าช้าที่มีเพียงองค์ประกอบเดียวก็ได้ สำหรับผู้ถือหย่อน ไปในที่มีกองฟอนเป็นประมาณ หรือจะไปดูที่เผาในป่าช้าเก่าที่ร้างมา 12 ปี ก็ควร
      อานิสงส์  ภิกษุผู้ถือได้เจริญมรณานุสสติกัมมัฏฐาน ได้เห็นสภาวะอันเป็นซากผีแห่งกายไม่ขาดสาย ได้ละความรักยึดมั่นในร่างกาย ได้ยังอนิจจสัญญา ทุกขสัญญา อนัตตาสัญญาให้เกิดในปัญจขันธ์ ได้ความสังเวคในตนมาก ได้ละความมัวเมาแห่งตัณหา มานะ ทิฏฐิ   ได้ยังอสุภนิมิต เป็นต้นว่า อุทธุมาตกนิมิต   ได้บรรเทากามราคะเสีย   มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท ได้ครอบงำกำจัดความกลัวทั้งหลาย ผี(อมนุษย์)ทั้งหลายเคารพยำเกรง ประพฤติตนเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย เป็นที่ใกล้แห่งนิพพาน
      12) ยถาสันถติกังคะ วัตรถือการอยู่ในเสนาสนะตามที่เขาแต่งไว้
                โยคาวจรจะถือ ยถาสันถติกังคะ ให้สมาทานวัตรว่า  “เสนาสนํ โลลุปฺปํ      ปฏิกฺขิปามิ” 3 หน “ยถาสนฺถติกงฺคํ สมาทิยามิ” 3  หน  (2 บทนี้ว่าอันใด หรือ ทั้ง 2 ก็ได้)    เมื่อพระเสนาสนปัญญาปกะ(ผู้จัดการเสนาสนะแก่สงฆ์) แจกกุฏิ วิหาร มาภิกษุผู้ถือ ยถาสันถติกังควัตร ด้วยคำว่า  “กุฏิวิหารหลังนี้ ถึงแก่ท่าน” หรือ เดินทางไปถึงวัดใด เขาจัดที่อยู่ที่พักให้กล่าวว่า  “กุฏิวิหารหลังนี้ถึงแก่ท่าน”  ก็จงรับเอาด้วยดีเถิด ไม่ต้องเลือก  ไม่ต้องตกแต่ง หรือ ให้ใครช่วยตกแต่งเสนาสนะให้เป็นไปตามใจชอบของตน
      ผู้ถือยถาสันถติกังควัตรมี 3 ระดับ ผู้ที่ถือระดับเคร่ง เมื่อพระสงฆ์แจกจ่ายกุฏิวิหารให้ตนอยู่หลังใด ก็จะไม่ถามสักคำว่า “ที่นั้นอยู่ใกล้หรือไกล มีอันตรายหรือไม่มี เป็นที่ร้อนหรือหนาว”  ก็จะมุ่งตรงไปอยู่ที่กุฏิวิหารนั้น โดยไม่มีเงื่อนไข ผู้ถือระดับปานกลาง จะถามดูบ้างก็ยังได้ ถ้าถามดูแล้วยังไม่พึงใจ ตราบที่ตนยังไม่ไปเห็น จะขอแลกเอาหลังอื่นก็ควร  แต่เมื่อไปดูแล้วต้องอยู่ตามที่ตนเลือกเท่านั้น สำหรับผู้ที่ถือระดับหย่อน แม้จะเดินไปตรวจดูก็ยังได้ ถ้ายังไม่เป็นที่พอใจ จะแลกกันกับภิกษุอื่นก็ได้ แต่ไม่ควรตกแต่งกุฏิวิหารนั้นให้เป็นที่พอใจของตน ขืนกระทำ ธุตังควัตรก็จะขาด
      อานิสงส์ ภิกษุผู้ถือ ยถาสันถติกังคะ เรียกว่าได้กระทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า” ยํ ลทฺธานุทุฏฺฐพฺพํ” ได้ละความโลภในเสนาสนะ ได้กระทำตามคำสอนเรื่องสันโดษได้ลาภอันควรพึงใจก็ไม่ควรยินดี ลาภอันไม่พึงใจก็ไม่ควรยินร้าย จงพอใจในสิ่งที่ตนได้ ได้ละตัณหาความทะยานอยากในสิ่งที่ยังไม่ได้  ได้สละกริยาที่ถ่อยทราม ได้ละตัณหาอันเป็นเหตุให้รักหรือชัง ได้บรรเทาตัณหาที่ติดข้องในอารมณ์ที่พึงใจ ประพฤติตนเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย   เป็นประโยชน์แก่สพรหมจารี ได้ละการถกเถียงเนื่องด้วยกุฏิวิหารเป็นที่ใกล้แห่งนิพพาน
                13) เนสัชชิกังคะ วัตรถือการไม่นอน(เอนหลังหลับ)
                โยคาวจรผู้จะถือ เนสัชชิกังคะ ให้สมาทานว่า “เสยฺยํ ปฏิกฺขิปามิ” 3 หน “เนสชฺชิกงฺคํ สมาทิยามิ” 3 หน (2 บทนี้ว่าอันใด หรือ ทั้ง 2 ก็ได้)   ภิกผู้ที่สมาทานวัตรถือการไม่นอนนั้น ไม่ควรอยู่ด้วยอิริยาบถนอนตลอดเวลาที่ถือวัตร แต่จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนการเป็นอยู่ด้วยอิริยาบถทั้ง 3 มี นั่ง ยืน และ เดิน เท่านั้น
               ถ้าจะปฏิบัติให้เป็นสัปปายะสบายแก่ตน ตลอดยาม 3 ในเวลากลางคืนนั้น ให้ลุกเดินตลอด 1 ยามก่อน ต่อมาให้นั่ง และ ยืน อีก 2 ยามที่เหลือ จนกว่าจะถึงเวลาแจ้ง
      ภิกษุผู้ถือเนสัชชิกธุดงค์ มี 3 ระดับ ผู้ที่ถือระดับเคร่ง จะใส่สายโยกผ้า และสายโยกมือ ไม่ได้ จะเอาหลังเพียงข้างเดียวอิงก็ไม่ได้  ต้องนั่งตัวตรงเท่านั้น  ผู้ถือขนาดปานกลาง จะใส่สายโยกผ้า สายโยกมือก็ยังได้ หรือ จะเอาหลังอิงข้างหนึ่งก็ได้ สำหรับผู้ถือหย่อน จะใส่สายโยกหรือจะอิงหมอนอิงก็ได้ จะนั่งชอง(เก้าอี้)ชื่อ “ปัญจังคะ, สัตตังคะ” ก็ได้  ลักษณะเก้าอี้แบบ “ปัญจังคะ” มีไม้แม่ 4 อัน กับไม้แป้นอิงหลัง 1 แผ่น รวมเป็น 5 ชิ้น   ลักษณะของเก้าอี้แบบ “สัตตังคะ”  มีไม้แม่ 4 อัน ไม้แป้น 2 ฟากข้าง และไม้แป้นอิงด้านหลัง รวมเป็น 7 ชิ้น ด้วยอาศัยเก้าอี้แบบสัตตังคะนี้ พระมหาจุฬาภยเถรเจ้า ทรงธุดงค์เนสัชชิกังคะ ยังได้บรรลุถึงขั้น อนาคามี ภายหลังก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
                ธุดงค์วัตรจะขาด เมื่อเอนหลังลงนอน แต่ถ้าถีนมิทธะครอบงำมาก เผลอม่อยหลับไป เอนตัวล้มนอนลงโดยไม่รู้สึกตัว ก็ไม่เสียวัตร
      อานิสงส์ ภิกษุผู้ถือวัตรข้อนี้ เรียกว่า ได้ละความสุขเพราะการนอนและความสุขเพราะการหลับที่เป็นเหตุให้อยู่อย่างประมาท ได้กำจัดความง่วงเหงาเมาหลับ เป็นสัปปายะแก่การประกอบความเพียรในกัมมัฏฐานภาวนา มีใจปราศจากมิทธะ(ความง่วง)  สมควรแก่การปรารภความเพียรภาวนา มีใจไม่หดหู่ในการภาวนา  มีใจตั้งมั่นในการทำความเพียร ควรแก่บรรลุอุปจารฌาน และ อัปปนาฌาน มีอิริยาบถอันงดงามตลอดทุกส่วน ประพฤติตนเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย  ได้บำเพ็ญข้อปฏิบัติอันชอบ เป็นที่ใกล้นิพพาน
            สรุปธุดงค์ 13 ข้อ
      ธุตังควัตร  13 ข้อ นี้ ช่วยระงับกิเลสเป็นลักขณะ กำจัดกิเลสเป็นกิจจะ ปรากฏด้วย ภาวะอันบริสุทธ์จากกิเลส มีอริยธรรม เป็นต้นว่า ความปรารถนาน้อย เป็นเหตุใกล้นิพพาน จึงเรียกว่า ธุตังควัตร ตัวองค์ธรรม ได้แก่ ญาณ(ปัญญา) อันเป็นในวัตรทั้ง 13 ข้อ  โยคาวจรผู้ยังมีกิเลสมาก เมื่อลงมือกระทำกัมมัฏฐานภาวนาอยู่ก็ไม่เจริญ(ไม่ดีขึ้น) ควรจะถือธุตังควัตร เพื่อให้กัมมัฏฐานภาวนาเจริญแก่ตน  สำหรับโยคาวจรผู้มีกิเลสน้อยบางเบา แม้จะยังไม่ได้ถือธุตังควัตร กระทำกัมมัฏฐานภาวนาก็เจริญอยู่แล้วก็ตาม ถึงอย่างนั้น ก็ควรถือธุตังควัตรทั้งหลาย เพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่กุลบุตรที่เกิดมาภายหลัง ได้เห็นแบบอย่าง จะได้ดำเนินรอยตามสู่ทางแห่งพระนิพพาน อีกประการหนึ่ง เป็นการอนุรักษ์สืบสานคลองแห่งพระอริยเจ้า(อริยวังสะ)อย่าให้สูญหายไปเสีย
      ธุตังควัตรทั้ง  13 ข้อ เป็นสัปปายะแก่บุคคลผู้มากด้วยราคะจริต มีปกติรักสวยรักงาม เป็นสัปปายะแก่บุคคลผู้มากด้วยโมหจริต มีปกติไม่พิจารณาเห็นสภาวธรรมทั้งหลาย
ธุตังควัตรเป็นข้อปฏิบัติอันลำบาก แต่เป็นการปฏิบัติเพื่อกำจัดขัดเกลากิเลส ทำให้ราคะ โมหะเบาบางลงไป
      ธุตังควัตร 2 ข้อ ได้แก่ อรัญญิกังคะ และ รุกขมูลิกังคะ  เป็นสัปปายะแก่บุคคลผู้มากด้วยโทสจริต มีปกติยินร้ายในอารมณ์อันไม่พึงใจเสมอ
      ธุตังควัตรที่เกี่ยวกับจีวร มี 2 ข้อ ได้แก่ ปังสุกุลิกังควัตร และ เตจีวริกังควัตร
      ธุตังควัตรที่เกี่ยวกับอาหารบิณฑบาตมี 5 ข้อ ได้แก่  ปิณฑปาติกังควัตร  สปทานจาริกังควัตร เอกาสนิกังควัตร ปัตตปิณฑิกังควัตร  และ ขลุปัจฉาภัตติกังควัตร 
      ธุตังควัตรที่เกียวกับเสนาสนะมี 5 ข้อ อรัญญิกังคะ รุกขมูลิกังคะ อัพโภกาสิกังคะ โสสานิกังคะ ยถาสันถติกังคะ
      ธุตังควัตรที่เกี่ยวกับ อิริยาบถ มีข้อเดียว คือ เนสัชชิกังควัตร
      ธุตังควัตรที่เป็นประธานแก่ธุตังควัตรอื่นๆ มี 3 ข้อ  ได้แก่  สปทานจาริกังคะ เอกาสนิกังคะและ อัพโภกาสิกังคะ หมายถึง ผู้ทรงธุดงค์ข้อ “สปทานจาริกังคะ” ถือว่าได้ปฏิบัติข้อ ปิณฑปาติกังควัตร  ถ้าทรงธุดงค์ข้อ “เอกาสนิกังคะ” ถือว่าได้ปฏิบัติข้อ ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ผู้ทรงธุดงค์ข้อ “อัพโภกาสิกังคะ” ถือว่า ได้ปฏิบัติ รุกขมูลิกังคะ และ ยถาสันถติกังคะ
      ธุตังควัตรทั้ง  13 ข้อ ควรแก่พระภิกขุทั้งหลาย
      ธุตังควัตร 12 ยกเว้น เตจีวริกังคะ  ควรแก่สามเณรทั้งหลาย
      ธุตังควัตร  2 ข้อ  ได้แก่ เอกาสนิกังคะ และ ขลุปัจฉาภัตติกังคะ  ควรแก่อุปาสก และอุปาสิกาทั้งหลาย
      กุลบุตรผู้มีปัญาพิจารณาเห็นภัยทุกข์ และโทษในสังสารวัฏฏ์ อยากพ้นจากบ่วงแห่งมาร  คือ อวิชชา และ ตัณหา อันผูกตนไว้ในภวสังสาร จงตั้งใจสมาทานเอาธุดงค์ข้อที่เป็นสัปปายะแก่ตน ด้วยความไม่ประมาท ก็จะเป็นเครื่องช่วยนำตนให้พ้นจากความทุกข์ในภวสงสาร บรรลุถึงนิพพานอันเป็นแดนแห่งความสุขเกษม ปราศจากภัย  ทุกข์ และ โทษ ในกาลภายหน้า
                การอธิบายธุตังควัตร 13 ข้อ ตามนัยะแห่งพระบาลี และ อรรถถกถา ที่มาในวิสุทธิมัคค์ ก็จบลง  ในปี จุลศักราช  1238   (พ.ศ.2329) เดือน 4 ออก 9 ค่ำ เมงวัน 1 ไทยรวายยี่ ยามแตรสู่ค่ำ  “ปัญญาภิกขุ” อุตสาหะจารไว้ เพื่อค้ำชูยกย่องพระศาสนา จะได้เกิดประโยชน์ แก่กุลบุตรทั้งหลายผู้ปรารถนาจะปฏิบัติในภายหน้า เพื่อให้เป็นหนทางเข้าสู่เมืองฟ้าและนิพพาน ค่อยปฏิบัติบำเพ็ญไปตามสติกำลังแห่งตน ก็จะสำเร็จดังความปรารถนาทุกประการ




[1] ในวิสุทธิมัคค์ภาค ที่ 1 (วิสุทธิมคฺคสฺส นาม ปกรณวิเสสสฺส  ปฐโม ภาโค  ธุตงฺคนิทฺเทโส) หนาที่ 77 กล่าวถึงผ้าบังสุกุล 23 ชนิด คือ “โสสานิก, ปาปณิก, รถิยโจฬ, สงฺการโจฬ, โสตฺถิย, นฺหานโจฬ, ติตฺถโจฬ, คตปจฺจาคต, อคฺคิทฑฺฒ, โคขายิต, อุปจิกาขายิต, อุนฺทูรขายิต, อนฺตจฺฉินฺน, ทสจฺฉินฺน, ธชาหฏ, ถูปจีวร, สมณจีวร, อาภิเสกิก, อิทฺธิมย, ปนฺถิก,      วาตาหฏ, เทวทตฺติย, สามุทฺทิยํ” เพื่อให้ภาษาบาลีถูกต้องตามวิสุทธิมัคค์ จึงได้แก้ไขให้ถูกเสียตามหลักภาษาบาลี
[2] ต้นฉบับเป็น รพฺพิยโจลํ
[3]  ต้นฉบับเป็น สกฺการโจลํ 
[4] ต้นฉบับเป็น โสฏฺฐิยํ
[5] ต้นฉบับเป็น คตํปจฺฉาคตํ
[6] ต้นฉบับเป็น อุปปจิกขายิตํ
[7] ต้นฉบับเป็น อุนตราขายิตํ
[8] ต้นฉบับเป็น อภิเสยฺยิกํ
[9] ต้นฉบับเป็น ปกฺขิกํ
[10] ต้นฉบับเป็น อนฺตสินํ แปลว่า ผ้าหัวเงินขาด จะซ้ำกับ อนฺตฉินฺนํ ข้อ 13 ที่ผ้าขาดที่ริมหรือชายผ้า