ภาคที่
๓
สาระสรุปของมหาเวสสันตระชาดก
๑๓ กัณฑ์
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
เนื้อหาโดยย่อเรื่องเวสสันดรที่ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ที่นำเสนอต่อไปนี้
ผู้เรียบเรียงได้นำมาจากหนังสือ “ปริทรรศน์
เวสสันดรชาดก”[1] ของ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารีเถระ) ราชบัณฑิต อดีตเจ้าคณะจังหวัดชลบุรี
จัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระราชธรรมภาณี (เอิบ ฐิตปญฺโญ)
อดีตเจ้าคณะจังหวัดปราจีนบุรี ปี ๒๕๒๘
ผู้เรียบเรียง เห็นว่า เป็นเนื้อความย่อ ที่น่าอ่าน และควรแก่การนำมาเล่าใหม่
นอกจากนี้ ยังได้นำภาษาบาลีเริ่มต้นจากคัมภีร์พระไตรปิฎกของแต่ละกัณฑ์มาลงไว้
ตามที่ พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
ได้เรียบเรียงในหนังสือ “ตามรอยพระสิริมังคลาจารย์ สังฆปราชญ์ล้านนา”[2]
และบางข้อความจากแหล่งที่มาอื่น ๆ ตามที่อ้างอิงไว้ ในเล่มนั้น ๆ
เนื้อความในมหาเวสสันตระชาดก
ฉบับภาษาบาลีที่มี ๑,๐๐๐ คาถา แยกเนื้อหาออกเป็น ๑๓ กัณฑ์ หรือ ๑๓ ปัพพะ(ตอน)[3] เรื่องจบลงแต่ละตอน และเมื่อขึ้นตอนใหม่
ความเชื่อมเรื่องตามลำดับก็หายไป ตัดตอนไปอย่างรวดเร็ว ดุจฉากในภาพยนตร์ ผู้อ่านพระไตรปิฎกต้องปะติดปะต่อเรื่องราวในรายละเอียดเอาเอง
ก็จะสามารถลำดับความติดตามเรื่องราวโดยตลอดได้ ดังจะได้ยกมาพอเป็นตัวอย่าง คาถาแรก
กับ คาถาสุดท้ายของแต่ละกัณฑ์ ต่อไปนี้
๓.๑
กัณฑ์ที่ ๑ ทศพร (ทสวรคาถา หรือ ทสวรคาถาปัพพะ (ทศพร) ประกอบด้วยคาถา ๑๓ คาถา)
ว่าด้วยพร ๑๐
ประการ ที่พระอินทร์ประทานแก่นางผุสดีก่อนจุติลงมาเกิดโลกมนุษย์
บาลี
คาถาที่ ๑ (๑๐๔๕)
ผุสฺสตี วรวณฺณาเภ วรสฺสุ
ทสธา วเร
ปฐพฺยา จารุปุพฺพงฺคี ยํ ตุยฺหํ มนโส ปิยํ ฯ
(แปล) ดูกรผุสดี ผู้มีรัศมีแห่งผิวพรรณอันประเสริฐ
ผู้มีอวัยวะส่วนเบื้องหน้างาม เธอจงเลือกเอาพร
๑๐ ประการ ในปฐพี ซึ่งเป็นที่รักแห่งหฤทัยของเธอ
คาถาที่ ๑๓ (๑๐๕๑) อิทํ
วตฺวาน มฆวา เทวราชา สุชมฺปติ
ผุสฺสติยา วรํ ทตฺวา อนุโมทิตฺถ วาสโว ฯ
(แปล) ครั้นท้าววาสวะ มฆวา สุชัมบดีเทวราชตรัสอย่างนี้แล้ว
ก็โปรดประทานพร แก่พระนางผุสดี เทพอัปสร
ความไทย
จําเนียรกาลมา พระนางผุสดีเทพอัปสรจะสิ้นบุญ ต้องจุติ
ท้าวสักกะพระสวามีทรงทราบ จึงพาพระนางไปประทับยังสวนนันทวันในเทวโลก
เพื่อความสําราญพระทัย แล้วตรัสบอกว่า บัดนี้ เธอสิ้นบุญ จะต้องจุติไปบังเกิดในโลกมนุษย์แล้ว
ฉันจะให้พร ๑๐ ประการ (ทศพร: ทศ = ๑๐, พร = สิ่งที่เลิศ ) เธอจงเลือกเอาตามใจเถิด
พระนางผุสดีได้ทูลขอรับพร ๑๐ ประการ ตามที่พอใจ ดังนี้
๑.
ขอให้หม่อมฉัน ได้อยู่ในปราสาทของพระเจ้าสีวิราชแห่งพระนครสีพี
๒.
ขอให้หม่อมฉัน มีจักษุดํา ดุจนัยน์ตาลูกเนื้อ
๓.
ขอให้หม่อมฉัน มีคิ้วดําสนิท
๔.
ขอให้หม่อมฉัน มีนามว่า
“ผุสดี”
๕.
ขอให้หม่อมฉัน มีพระโอรสที่ทรงเกียรติยศ เหนือกษัตริย์ทั้งหลาย และมีใจบุญ
๖.
ในเวลาทรงครรภ์ ขออย่าให้ครรภ์ของหม่อมฉันนั้นนูนปรากฏดังสตรีสามัญ
๗.
ขอให้หม่อมฉัน มีถันงามในเวลาทรงครรภ์ก็อย่ารู้ดำและต่อไปก็อย่าให้หย่อนยาน
๘.
ขอให้หม่อมฉัน มีเกศาดําสนิท
๙.
ขอให้หม่อนฉัน มีผิวงาม
๑๐.
ขอให้หม่อนฉัน ทรงอํานาจปลดปล่อยนักโทษได้[4]
หมายเหตุ
พระอรรถกถาจารย์ ท้าวความย้อนอดีตชาติของพระนางผุสดีว่า
เมื่อ ๙๑ กัล์ปที่ผ่านมา สมัยพระพุทธเจ้า พระนามว่า
วิปัสสี พระนางผุสดีเกิดเป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่ ของพระเจ้าพันธุมราช นครพันธุมวดี พระนางได้นำแก่นจันทน์ที่พระบิดาพระราชทาน
มาบดเป็นผงและถวายเป็นพุทธบูชา ปรารถนาอยากเกิดเป็นพระพุทธมารดาองค์ที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต
[5]
ส่วนพระราชธิดาองค์น้อย ถวายเครื่องประดับทรวง ทั้ง 2 พระองค์ ครั้งล่วงเวลา ๙๑ กัล์ปมา
ก็ได้มาเกิดเป็นพระราชธิดาของพระเจ้า กิกิ(บางแห่งกึกิ) นามว่า อุรัจฉทา และได้สดับพระธรรมเทศนา
ของพระพุทธเจ้านามว่า กัสสปะ ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ส่วนพระราชธิดาองค์พี่
นามว่า สุธรรมา ในพระราชธิดาอีก ๗ พระองค์ของพระเจ้ากึกิ และในสมัยพระสิทธัตถะ
ศากยโคตมพุทธเจ้า ก็ได้มาเกิดเป็นบุคคลต่างๆ ดังความว่า “นางสมณี นางสมณคุตตา
นางภิกษุณี นางภิกขุทาสิกา นางธรรมา นางสุธรรมาและนางสังฆทาสีเป็นที่ ๗ ราชธิดาทั้ง ๗ เหล่านั้น
ในพุทธุปบาทกาลนี้ มีนามปรากฏคือ นางสมณี คือ นางเขมา นางสมณคุตตา คือ นางอุบลวรรณา
นางภิกษุณี คือ นางปฏาจารา นางภิกขุทาสิกา คือ พระนางโคตมี นางธรรมา
คือ นางธรรมทินนา นางสุธรรมา คือ พระนางมหามายา และ นางสังฆทาสี
คือ นางวิสาขาเป็นที่ ๗ ตามลำดับ
ในราชธิดา 7 นางเหล่านั้น นางสุธรรมา
ครั้นจุติจากภพนั้นก็อุบัติไปเกิดเป็นเทพธิดา มีนามว่า “ผุสดี”
พระนางผุสดีเป็นมเหสีของท้าวสักกะ หรือ พระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะพระนางสิ้นบุญลงก่อนจะลงมาเกิดจึงได้รับพร
๑๐ ประการจากพระอินทร์ แล้วพระนางก็จุติ(เคลื่อน)มาเกิด(ปฏิสนธิ)เป็นพระนางผุสดี คงชื่อเดิม
และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าสัญชัย ผู้ครองนครสีพี เป็นพระมารดาพระเวสสันดร
และมาเกิดเป็นพระนางสิริมหามายา
พระพุทธมารดาในพุทธุบาทกาลนี้
อนึ่ง พร ๑๐ ประการนี้ ถ้าจะกล่าวย่นย่อลงมา ก็คือ นางผุสดี ขอรูปงาม
นามเพราะ จำนวน ๗ พร อีก ๓ พร คือ
เป็นสมบัติ ๑ พร และอำนาจเกียรติยศ อีก ๒ พร ดังนี้
ก. ขอรูปงาม มี ๖ พร คือ พรข้อที่ ๒ ตางาม, พรข้อที่ ๓ คิ้วงาม, พรข้อที่
๖ ครรภ์งาม, พรข้อที่ ๗ ถันงาม, พรข้อที่ ๘ ผมงาม และพรข้อที่ ๙ ผิวงาม
ข. ขอนามเพราะ คือ พรข้อที่ ๔
ขอให้มีนาม ผุสดี เหมือนเดิม คำว่า ผุสฺสตี
เพราะความเป็นผู้มีสรีระอ่อนนุ่ม ดุจถูกประพรมไว้ด้วยแก่นจันทน์แดง (รตฺตจนฺทนปริปฺโผสิเตน วิย สรีเรน ชาตตฺตา ผุสฺสตี นาม กุมาริกา)
ค. ขอสมบัติ คือ พรข้อที่ ๑ ขอให้อยู่ในปราสาท
ราชวัง
ง. ขออำนาจเกียรติยศ คือ พรข้อที่ ๕
ขอพระโอรสที่ทรงเกียรติยศเหนือกษัตริย์ทั้งหลาย และ พรข้อที่ ๑๐
ขอให้นางทรงอํานาจสามารถปลดปล่อยนักโทษจากที่คุมขังได้
ในที่สุด ท้าวสักกะ องค์อัมรินทราธิราช ก็ทรงประสาทพรทั้ง ๑๐
ประการ ให้พระนาง ผุสดี สมมโนรถดังที่พระนางปรารถนาทุกประการ
รูป
ที่ ๑
จิตรกรรมกัณฑ์ทศพร
พระอินทร์ประทาน
พร ประการแด่พระนางผุสดี
๓.๒ กัณฑ์ที่ ๒ หิมพานต์ (หิมวันตะ
หรือ หิมวันตวรรณนา(หิมพานต์) ประกอบด้วยคาถา ๘๖ คาถา)
ว่าด้วยพระนางผุสดี
จุติลงมาเกิด และได้เป็นมเหสีของเจ้าสีพี ประสูติพระเวสสันดร
และพระเวสสันดรให้ให้ทานช้างมงคลแก่พราหมณ์ 8 คน ราชทูตชาวกาลิงครัฐที่มาขอ ประชาชนชาวนครสีพีไม่พอใจ
จึงประชุมพากันขับไล่ เนรเทศให้ไปอยู่เขาวงกต(เขาคันธมาทน์) ในป่าหิมพานต์
บาลี
คาถาที่ ๑๔ (๑๐๕๑) ตโต จุตา ผุสฺสตี ขตฺติเย
อุปปชฺชถ
เชตุตรมฺหิ นคเร สญฺชเยน
สมาคมิ ฯ
(แปล) พระนางผุสดีเทพอัปสร
จุติจากดาวดึงสเทวโลกนั้น มาบังเกิดในสกุลกษัตริย์ ได้ทรงอยู่ร่วมกับพระเจ้าสัญชัย
ในพระนครเชตุดร(สีพี)
คาถาที่ ๙๙ (๑๐๗๗)
ยทา เหมนฺติเก มาเส วนํ ทกฺขสิ ปุปฺผิตํ
โอปุปฺผานิ จ ปทฺมานิ น
รชฺชสฺส สริสฺสสิ ฯ
(แปล) เมื่อใด
พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นหมู่ไม้มีดอกบานสะพรั่ง และปทุมชาติอันมีดอกร่วงหล่น ในเดือนฤดูเหมันต์
เมื่อนั้น จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
ความไทย
เมื่อพระนางผุสดี
เทพอัปสร จุติจากสวรรค์ ลงมาเกิดเป็นราชธิดาของพระเจ้ามัททราช ครั้น เจริญวัย ก็มีพระสิริรูปงดงามสมตามที่ปรารถนาไว้
เมื่อมีพระชนมายุได้ ๑๖ ปี ก็ได้รับการอภิเษกให้เป็นมเหสี ของพระเจ้าสัญชัยสีวีรัฐนคร
ครั้นทรงครรภ์ถ้วนกําหนดทศมาส(10 เดือน) เป็นเวลาบังเอิญที่พระนางกำลังเสด็จประพาสพระนคร
ถึงระหว่างถนนพ่อค้า ก็ทรงประสูติพระโอรสที่ตรอก หรือถนนพ่อค้า ในเวลาขณะประพาสพระนครนั้น
เนื่องเพราะพระโอรสประสูติในท่ามกลางถนนพ่อค้า(เวสสะ+อันตระ)
พระประยูรญาติจึงถวายพระนามพระโอรสว่า “เวสสันดร”พระกุมารน้อยพอประสูติจากครรภ์พระมารดา
ก็ทูลขอเงินกะพระมารดาเพื่อบริจาคทาน นับเป็นเหตุการณ์อัศจรรย์ปรากฏแก่ชุมนุมชน
และในวันนั้นเอง นางช้างตระกูลฉัตทันต์เชือกหนึ่ง ได้นําเอาลูกช้างเผือก สีขาวบริสุทธิ์วิเศษมาไว้ในโรงช้างต้น
ประชาชนต่างก็ชื่นชมพระบารมี ให้ชื่อช้างนั้นว่า “ปัจจัยนาค”
ถือเป็น บุรพนิมิตมงคลของพระนครสีพียิ่งนัก
เวสสันดรกุมาร
มีน้ำพระทัยมากไปด้วยเมตตากรุณา ทรงบริจาคทานเป็นเนืองนิตย์ ครั้นมีพระชนมายุได้
๑๖ พรรษา พระราชบิดาก็มอบราชสมบัติให้ครอง ทั้งสู่ขอพระนางมัทรี
พระราชธิดาของราชวงศ์กษัตริย์มัททราชมาอภิเษกให้เป็นพระมเหสี
และเมื่อพระเวสสันดรได้ครองพระนครสีพีแล้ว ก็รับสั่งให้สร้างโรงทาน ถึง ๖ แห่ง
เพื่อการบริจาคทานแก่ยาจกเข็ญใจ ต่อมาพระองค์มีพระโอรส ๑ องค์ ประทานนามว่า “ชาลี”
และพระธิดาอีก ๑ องค์ ประทานนามว่า “กัณหา”หรือ “กัณหาชินา”
อนึ่ง ช้างปัจจัยนาคนั้น
ปรากฏว่า เป็นช้างแก้ว อุดมด้วยมงคลลักษณะอันเลิศยิ่งนัก
ไม่ว่าจะขับขี่ไปในประเทศที่ใด แม้ที่นั้นจะมีภัยแห้งแล้ง ฝนก็จะบันดาลตกลงมา
ทําให้ประเทศนั้นสดชื่น ด้วยฝนฉ่ำน้ำฉ่ำ ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์บริบูรณ์ทันที
กิตติศัพท์อันนี้ฟุ้งขจรไปไกลว่า พระเวสสันดรเป็นกษัตริย์ มีบุญญาธิการมาก เสมอด้วยพระเจ้าจักรพรรดิ์มหาราช
จึงได้ทรงมีช้างแก้วเช่นนี้เป็นราชพาหนะ
ต่อมา พระเจ้ากาลิงคะ
มหากษัตริย์แห่งกาลิงครัฐ ได้ส่งพราหมณ์ 8 คน เป็นราชทูตมาขอช้างปัจจัยนาค
โดยอ้างว่า พระนครของพระองค์เกิดข้าวยากหมากแพง ฝนแล้ง
แม้จะได้พยายามบําเพ็ญพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ฝนตก เช่น
รักษาอุโบสถศีลเป็นต้นก็แล้ว ฝนฟ้าก็หาตกลงไม่ จึงจําเป็นต้องมาขอพึ่งพระบารมีโพธิสมภาร
ขอพระราชทานช้างปัจจัยนาคไป เพื่อความสวัสดีแก่ชาวนครกาลิงคะ พระเวสสันดร ก็พระราชทานให้ตามพระราชประสงค์
ประชาชนชาวพระนครสีพีต่างไม่พอใจ
โกรธแค้นต่อพระเวสสันดร ที่ได้พระราชทานช้างมงคลเช่นนั้นออกไป จึงได้พากันเข้าไปเฝ้าพระเจ้าสัญชัย
ยกโทษกล่าวฟ้องว่า การที่พระเวสสันดรให้ช้างปัจจัยนาคเป็นทานนั้น ไม่เป็นที่ปรารถนาของประชาชนทั่วหน้า
ขอให้พระเจ้าสัญชัยขับไล่เนรเทศพระเวสสันดรไปเสียจากพระนคร
พระเจ้าสัญชัยจึงมีพระราชโองการให้เนรเทศพระเวสสันดรจากพระนครสีพีไป
ตามมติของประชาราษฎร์ ในที่สุดพระเวสสันดรพร้อมด้วยพระนางมัทรี กับชาลี กัณหา
โอรสธิดาทั้งสองพระองค์ ก็ต้องพากันเนรเทศออกจากพระนครที่รักไป ด้วยความระทมใจ
ตั้งพระทัยไปอยู่ ณ เขาวงกต ตามที่ อำมาตย์ ผู้จงรักภักดี ต่อพระองค์ถวายคำแนะนำ
ก่อนที่จะเสด็จออกจากพระนคร
พระเวสสันดรได้ทูลขอพระราชทานโอกาสยับยั้งอยู่เพียง 1 วัน เพื่อให้พระองค์ได้บําเพ็ญ “สัตตสตกมหาทาน” คือ
ให้ของสิ่งละ ๗๐๐ เป็นพิเศษ เป็นการบําเพ็ญครั้งใหญ่
ก่อนจะจากนครเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อพระองค์ออกจากนครไปด้วยราชรถ
พอพ้นประตูเมือง แม้รถทรง ม้าคู่เทียมรถ
ก็มียาจกตามมาขอ ก็ทรงเปลื้องปลดให้เป็นทานสิ้น แล้วพระองค์ทรงอุ้มพระโอรสชาลี
พระนางมัทรีทรงอุ้มพระธิดากัณหา ทั้ง 4 พระองค์ พากันเสด็จดําเนินด้วยพระบาท จากพระนครไปสู่เขาวงกต
โดยมุ่งจะไปบําเพ็ญพรตเป็นฤาษี ณ ที่นั้น [6]
หมายเหตุ
ในกัณฑ์นี้ พระบาลีไม่ได้ระบุเหตุการณ์ชัด
ๆ เพียงแต่บอกคร่าว ๆ ว่า นาง ผุสดีเกิดในสกุลกษัตริย์
และได้มาเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าสัญชัย แห่งนครเชตุดร หรือ นครสีพี
แต่อรรถกถาขยายเรื่องราวว่า เมื่อพระนางจุติจากสรวงสวรรค์
มาเกิดในพระครรภ์พระมเหสีพระเจ้ามัทราช เมื่ออายุได้ ๑๖ พรรษา
นางผุสดีจึงได้ถูกขอมาเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าสัญชัย นางผุสดีได้พรครบ ๑๐ ประการ คือ
ทรงครรภ์และประสูติพระโอรสที่ถนนพ่อค้า พระโอรสจึงถูกขนานนามว่า “เวสสันดร”
ดังความว่า “ชื่อของเราไม่ได้เกิดแต่พระมารดา ไม่ได้เกิดแต่พระบิดา เราเกิดที่ถนนพ่อค้า
เพราะเหตุนั้น เราจึงชื่อว่า เวสสันดร”[7]
นับแต่พระโอรสอยู่ในครรภ์ นางผุสดีก็มีใจอยากทำมหาทานบริจาคมาก
จึงให้สร้างโรงทาน ๖ แห่ง สละทรัพย์วันละ ๖๐๐,๐๐๐ กหาปณะ (2,400,000 บาท โดย 4 บาท
เป็น 1 กหาปณะ) เมื่อพระเวสันดรอายุได้ ๑๖ พรรษา ได้สยุมพรกับพระนางมัทรี
ธิดาของพระเจ้าอาว์จากมัททราช พระองค์ยินดีในการบริจาคตลอดเวลา ทรงได้โอรสนามว่า “ชาลี”
(เพราะนำข่ายทองรองรับตอนประสูติ) และธิดานามว่า “กัณหาชินา” (เพราะนำหนังหมีดำรองรับ:
กัณหะ = สีดำ, อชินะ =
หนังหมี) พระนามของโอรส และพระธิดา ต่างได้ตามเหตุการณ์นั้น ๆ พระเจ้าสัญชัย พระบิดามอบให้พระเวสสันดรทรงปกครองราชสมบัติแทน
สาเหตุที่พระเวสสันดรต้องถูกชาวเมืองไม่พอใจ
ขับไล่ออกไปจากเมืองนั้น เพราะพระองค์พระราชทานช้างปัจจัยนาค อันเป็นช้างมงคล
พระราชพาหนะ พร้อมด้วยคชาภรณ์อันประมาณค่ามิได้ แก่พราหมณ์ 8 คน ราชทูตชาวเมืองกาลิงคะที่มาขอ
เพื่อต้องการไปแก้ภัยฝนแล้ง
และก่อนที่จะออกจากพระนครเพราะถูกเนรเทศนั้น
พระเวสสันดรขอโอกาสอยู่อีกวันเดียว เพื่อทำสัตตสตกมหาทาน
(ทานสิ่งของอย่างละ ๗๐๐) แล้วจะเดินทางไปอยู่ที่เขาวงกตในป่าหิมพานต์
พระเวสสันดรได้ซาบซึ้งต่อน้ำใจของพระนางมัทรีว่า
พระนางจะไม่ทอดทิ้งพระองค์ไปในยามทุกข์ยาก อันที่จริงแล้ว พระองค์ประสงค์จะไปแต่ลำพังพระองค์เดียว
เพราะทำความผิดเพียงคนเดียว ต้องการให้นางมัทรีและโอรสธิดาอยู่ที่พระราชวัง ด้วยไม่อยากให้ไปตกระกำ
ลำบาก ทุกข์ยาก แต่นางมัทรีพร้อมโอรสธิดาตัดสินพระทัยขอติดตามไป
โดยจะไม่ทิ้งกันในยามยาก ดังที่นางมัทรีกล่าวว่า
“การตายพร้อมกับพระเวสสันดร
หรือ การมีชีวิตอยู่โดยพรากจากพระเวสสันดรนั้น พระนาง ขอเลือกเอาการตายดีกว่า ที่ต้องอยู่อย่างปราศจากพระองค์[8] พระนางและพระโอรส-ธิดาจะตามเสด็จไปทุกที่ที่พระองค์เสด็จ”
นายนักการ ได้บอกหนทางที่จะไปสู่เขาวงกต
ส่วนพระนางมัทรีเองก็เล่าถึงสัตว์และสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในป่าหิมพานต์ว่า
สรรพสิ่งล้วนน่ารื่นรมย์ เมื่อพระเวสสันดรได้ทอดพระเนตรสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นแล้วพระทัยของพระองค์ก็จะไม่คิดถึงราชสมบัติ
พระนางมัทรีเล่าเสมือนว่าเป็นชาวพื้นถิ่นหิมพานต์
รูปที่ ๒
จิตรกรรม กัณฑ์หิมพานต์
พระเวสสันดรประทานช้างปัจจัยนาค
แก่พราหมณ์ชาวกาลิงครัฐ 8 คน ที่มาขอ
๓.๓ กัณฑ์ที่ ๓ ทานกัณฑ์ ประกอบด้วยคาถา ๑๔๓ คาถา
ว่าด้วยก่อนจะออกจากเมือง
พระเวสสันดรขอโอกาสทำมหาทาน คือ การให้สิ่งของอย่างละ ๗๐๐ เป็นมหาทาน(สัตตสตกมหาทาน)
บาลี
คาถาที่ ๑๐๐ (๑๐๗๘) เตสํ ลาลปิตํ สุตฺวา ปุตฺตสฺส สุณิสาย จ
กลูนํ ปริเทเวสิ ราชปุตฺตํ
ยสสฺสินี ฯ
(แปล) พระนางผุสดีราชบุตรีผู้เรืองยศ ได้ทรงสดับคำที่
พระราชโอรสและพระสุณิสาพร่ำสนทนากัน ทรงคร่ำครวญละห้อยไห้
คาถาที่ ๒๔๒ (๑๑๐๗) ราชา
กุมารมาทาย ราชปุตฺตี จ ทาริกํ
สมฺโมทมานา ปกฺกามุ อญฺญมญฺญํ ปิยํ วทา ฯ
(แปล) พระราชาทรงอุ้มพระโอรส ส่วนพระราชบุตรีทรงอุ้มพระธิดา
ทรงยินดีร่วมกันดำเนิน ตรัสปราศรัยด้วยน้ำคำอันน่ารักกะกันและกัน
ความไทย
เมื่อพระนางผุสดีทรงทราบว่า
พระเวสสันดรโอรส ถูกประชาชนกล่าวโทษว่า พระราชทานช้างปัจจัยนาคเป็นทาน
และถูกลงโทษให้เนรเทศจากพระนครสีพี ก็ตกพระทัย
รีบเสด็จมาพบพระเวสสันดรและนางมัทรีที่กำลังปรับทุกข์กันอยู่ ก็ทรงกรรแสงโศกาอาดูร
แล้วเสด็จเข้าไปเฝ้าพระเจ้ากรุงสัญชัย ทูลขอประทานอภัยโทษ แต่ก็ไม่สําเร็จ
ด้วยท้าวเธอตรัสว่า ให้เนรเทศตามกฎของธรรมศาสตร์ราชประเพณี ครั้นพระนางผุสดีทรงสดับ
ก็จํานน ก่นแต่โศกร่ำไรรําพันมากมายตามวิสัยมารดาที่รักบุตร ตลอดจนสาวสนมกํานันนางใน
และประชาชนที่รักใคร่ พากันอาลัยทั่วหน้า
รุ่งขึ้น ได้เวลา
พระเวสสันดรได้ทรงบริจาคสัตตสตกมหาทาน คือ การให้ครั้งใหญ่
โดยกําหนดจำนวนของที่จะบริจาค ไว้สิ่งละ ๗๐๐ คือ
๑.
ช้าง ๗๐๐ เชือก
๒.
ม้า ๗๐๐ ตัว
๓.
โคนม ๗๐๐ ตัว
๔. รถ
๗๐๐ คัน
๕.
นารี ๗๐๐ นาง
๖.
ทาส ๗๐๐ นาย
๗. ทาสี ๗๐๐
นาง
๘. สรรพวัตถาภรณ์ต่าง
ๆ อย่างละ ๗๐๐ ชิ้น
๙.
ที่สุดแม้สุราบาน ก็ได้ประทานแก่นักเลงสุรา
ครั้นเสร็จการทำสัตตสตกมหาทานแล้ว
พระเวสสันดรก็ทรงพานางมัทรี ไปทูลลาพระชนกและพระชนนี
เพื่อออกไปบําเพ็ญพรตอยู่เขาวงกต พระเจ้ากรุงสัญชัยขอให้พระนางมัทรี ชาลี และกัณหาอยู่ในนคร พระนางมัทรีไม่ยอมยั้งอยู่
ทั้งไม่ยอมให้โอรสธิดาอยู่ด้วย เป็นอันถูกเนรเทศด้วยกันทั้งหมด
รุ่งขึ้น พระเวสสันดร
พระนางมัทรีพร้อมด้วยพระโอรสทั้งสอง ก็เสด็จทรงรถม้าพระที่นั่ง เสด็จออกจากพระนคร
บ่ายพระพักตร์เข้าสู่ไพร ก่อนที่จะลับพระนครไป ทรงหันกลับมามองพระนครด้วยความอาลัย
แล้วก็เสด็จประเวศ ยังมิทันที่จะพ้นเขตชานพระนคร ก็ทรงประทานม้าเทียมรช และราชรถ
แก่พราหมณ์ในระหว่างทางที่ตามมาทูลขอ แล้วต่างองค์ก็ทรงอุ้มพระโอรสดําเนินเข้าไพร
โดยตั้งพระทัยมุ่งหน้าไปสู่เขาวงกต[9]
หมายเหตุ
สุรา หรือ น้ำเมา เป็นสิ่งที่ไม่ควรพระราชทาน
เพราะการให้สุรา ไม่ถือว่าเป็นการให้ทาน เพราะไม่มีผลก็จริง แต่พระเวสสันดร
เกรงนักเลงคอสุรา เมื่อมาขอแล้วไม่ได้ดื่ม และจะตำหนิเอาว่าใจไม่ถึง เรื่องนี้ พระอรรถถกถาจารย์ได้ยกคำศัพท์มาขยายความว่า
“บทว่า วารุณึ ความว่า พระเวสสันดรทรงทราบว่า การให้น้ำเมาเป็นทานไร้ผล
แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็ทรงดำริว่า พวกนักเลงสุรามาถึงโรงทานแล้ว อย่าได้กล่าวว่า
ไม่ได้ดื่มสุราในโรงทานของพระเวสสันดร จึงให้พระราชทาน”[10]
ในนาทีสุดท้าย
เมื่อทรงขับราชรถเทียมม้า ๔ ตัว เสด็จออกจากเมือง ยังไม่พ้นชานเมือง ยังมีคน ตามมาขอม้าเทียมราชรถไปทั้งหมด และเมื่อเหลือเพียงราชรถ ก็ยังมีคนมาขอไปอีก
พระเวสสันดรก็พระราชทานให้หมด เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาท พระองค์อุ้มโอรสชาลี
ส่วนพระนางมัทรีอุ้มธิดากัณหาชินา
เวสสันตรจริยากล่าวสรุปว่า “ครั้นให้มหาทานแล้ว
ก็ออกจากพระนครไปในกาลนั้น ครั้นเราออกจากพระนครแล้ว กลับผินหน้ามาเหลียวดู
แม้ในกาลนั้น แผ่นดินเขาสิเนรุราชและป่าหิมพานต์ ก็หวั่นไหว เราให้ม้าสินธพ ๔ ตัว และรถ
แล้วยืนอยู่ที่ทางใหญ่ ๔ แยก ผู้เดียวไม่มีเพื่อนสอง ได้กล่าวกะพระนางมัทรีเทวี ดังนี้ว่า
“ดูกรแม่มัทรี
เธอจงอุ้มกัณหากุมารีเถิด เพราะเธอเป็นน้องคงเบากว่า พี่จะอุ้มพ่อชาลี
เพราะเขาเป็นพี่คงจะหนัก พระนางมัทรีทรงอุ้มแม่กัณหาผู้อ่อนนุ่ม ดังดอกปทุมและบัวขาว
เราได้อุ้มพ่อชาลีหน่อกษัตริย์ เปรียบดังแท่งทองคำ”[11]
รูป
จิตรกรรม ทานกัณฑ์
พระเวสสันดรประทานม้า และราชรถแก่พราหมณ์ ที่ตามมาขอขณะออกจากตัวเมือง
๓.๔ กัณฑ์ที่ ๔ วนประเวศน์ วนัปปเวสน์ หรือ (วนปเวศน์)
ประกอบด้วยคาถา ๕๙ คาถา
ว่าด้วย กษัตริย์ทั้ ๔
พระองค์ ต้องพากันระหกระเหินออกจากนครสีพี เดินดงมุ่งหน้าสู่เขาวงกต หรือ
เขาคันธมาทน์ ป่าหิมพานต์
บาลี
คาถาที่ ๒๔๓ (๑๑๐๘) ยทิ เกจิ มนุชา เอนฺติ อนุมคฺเค ปฏิปเถ
มคฺคนฺเต
ปฏิปุจฺฉาม กุหึ วงฺกตปพฺพโต ฯ
(แปล) ถ้ามนุษย์บางพวกเดินมาตามทางหรือเดินสวนทางมา เราจะถามมรรคากะพวกเขาว่า
ภูเขาวงกต อยู่ที่ไหน
คาถาที่ ๓๐๑ (๑๑๒๒) ตสฺสา
อุตฺตรปุพฺเพน ปณฺณสาลํ อมาปย
ปณฺณสาลํ อมาเปตฺวา อุญฉาจริยาย อีหก ฯ
(แปล) พระองค์ควรทรงสร้างบรรณศาลาทางทิศอีสาน
แห่งสระโปกขรณีนั้น ครั้นทรงสร้างบรรณศาลาสำเร็จแล้ว ควรทรงบำเพ็ญเพียร เลี้ยงพระชนม์ชีพ
ด้วยการเที่ยวแสวงหามูลผลาหาร
ความไทย
เมื่อกษัตริย์ทั้ง
๔ พระองค์ คือ พระเวสสันดร พระนางมัทรี พร้อมด้วยพระโอรส-ธิดาเสด็จดําเนินจากพระนครสีพีไปสู่ป่า
พบคนเดินสวนทางมา ก็ถามทางไปสู่เขาวงกต
พวกเขาก็ตอบว่า เขาวงกตยังอยู่อีกไกล พระเวสสันดรเสด็จผ่านสถานที่ต่าง ๆ
ดังนี้
จากเชตุดรราชธานี
ถึงภูเขาชื่อสุวรรณคิรีตาละ ๕ โยชน์
จากสุวรรณคิริตาละ
ถึงแม่น้ำชื่อโกนติมารา ๕ โยชน์
จากแม่น้ำโกนติมารา
ถึงภูเขาชื่ออัญชนคิรี ๕ โยชน์
จากภูเขาอัญชนคิรี
ถึงบ้านพราหมณ์ชื่อตุณณวิถนาลิทัณฑ์ ๕ โยชน์
จากบ้านพราหมณ์ตุณณวิถนาลิทัณฑ์
ถึงมาตุลนคร หรือ เจตรัฐ ๑๐ โยชน์
ทางจากนครเชตุดรถึงแคว้นเจตรัฐ
รวมระยะทาง ๓๐ โยชน์ (30
x 16 = 480 กิโลเมตร)
พระองค์ประสบความลําบากตลอดเส้นทาง
ที่สุดก็ถึงเมืองเจตราช จึงแวะเข้าประทับพักพระวรกายอยู่ที่ศาลาหน้านคร
ครั้นชาวนครเจตราชได้พบเห็นและทราบความจริง
ก็ตกใจรีบส่งข่าวสารไปกราบทูลกษัตริย์นครเจตราช ต่อนั้น บรรดากษัตริย์ขัตติยวงศ์ทั้งหมด
ก็พากันเสด็จออกมาเฝ้าเยี่ยมแล้วทูลว่า[12]
เทวะ ข้าแต่พระร่มเกษตระกูลแก่นกษัตริย์
อันว่าสิ่งสรรพพิบัติบ่บีฑา พระร่มเกล้า ยังค่อยครองพาราเป็นบรมสุข
สิ่งสรรพทุกข์พยาธิ ทั้งองค์สมเด็จพระชนนีชนกนาถ ยังค่อยเสวยสุข นิราศโรคันตราย
ทั้งประชาชนชาวสีพีราชทั้งหลาย ไม่เดือดร้อน ยังค่อยเป็นสุขถาวรอยู่ฤา
พระพุทธเจ้าข้า
นุ. ดังข้ามาสงกากินแหนงในยุบลเหตุ
ดังฤา พระจอมปิ่นปกเกษมาเดินไพรนิราศร้างแรมไร้พารา ปราศจากจตุรงค์คณานิกรราชรถ
ทั้งม้ามิ่งมงคลคชที่เคยทรง มาดําเนินแต่สี่พระองค์ดูอนาถ ฤาว่า มีหมู่อรินทราชมาราวี
เสียพระนครสีพีพินาศแล้ว ทูลกระหม่อมแก้วจึงจาก พรากพลัดขัตติยวงศ์ มาบุกป่าฝ่าพงพูนเทวศ
จนถึงนคเรศข้าพระบาท ขอพระองค์จงตรัสประภาส ให้ทราบเกล้า แก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงเถิด
พระเวสสันดรได้ทรงสดับสาร
จึงมีพระราชบรรหารเฉลยเหตุว่า ดูกรพระสหายผู้ผ่านนคเรศ เจตราช
เราขอบพระทัยที่ท่านไต่ถามถึงประยูรญาติราชปิตุรงค์ ซึ่งท้าวเธอก็ทรงสุขสถาพร
ทั้งประชาชนชาวสีพีราชไม่เดือดร้อนระงับภัย ซึ่งเรานิราศเวียงชัยมาสู่ป่า เพราะว่า
เราทรงพระราชศรัทธามาเสียสละ พระยาเศวตกุญชรพาหนะพระที่นั่งต้น
อันเป็นศรีสวัสดิ์มงคลคู่นคร แก่พราหมณ์ทิชากร ชาวกลิงคราช
ชาวพระนครเขามิยอมอนุญาตชวนกันกริ้วโกรธ ยกอธิกรณ์โทษทูลพระปิตุเรศ
ท้าวเธอจึงสั่งให้เนรเทศเราจากพารา ด้วยเราทําผิด ขัตติยราชจรรยาอย่างบุราณ
พระเจ้าเจตราช พระพุทธเจ้าข้า
พระองค์เสด็จเดินพนัสกันดารดูลําบาก เป็นกษัตริย์ตกยาก มิควรเลย ขอเชิญเสด็จหยุดพักพอเสวยสุทธาโภชน์
สิ่งสรรพรสเอมโอชกระยาหาร ให้บรรเทาที่ทุกข์ ทรมานลําบากองค์
พระเวสสันดรจึงตรัสว่า
สิ่งซึ่งท่านจํานงนํามาพระราชทานให้แก่เราผู้เข็ญใจอันมาถึง
ก็ขอบพระทัยที่ท่านยังคํานึงนับว่าญาติ พระคุณนั้นยิ่งกว่าพื้นพสุธาอากาศไม่เทียมเท่า
แต่สมเด็จพระปิตุเรศเจ้าทรงพระพิโรธ ขับเราผู้ต้องโทษจากพระนคร
แล้วตัวเราจะรีบบทจรไปวงกต ท่านช่วยแนะนำตําแหน่งพนัสบรรพตให้เราจร
พระเจ้าเจตราช พระพุทธเจ้าข้า
พระองค์อย่าได้อาวรณ์ วิตกด้วยความเข็ญ โทษเท่านั้นพิเคราะห์เห็นไม่เป็นไร
ข้าพระบาทจะชวนกันไปทูลขอโทษ ท้าวเธอจะทรงพระกรุณาโปรดให้ขึ้นครอง
จึงจะเชิญเสด็จละอองธุลีพระบาท คืนพระนครสีพีราช ด้วยดิเรกยศ
มิให้พระองค์อัปยศแก่ชาวเมือง
พระเวสสันดรจึงตรัสว่า
ประชาชนเขาแค้นเคืองทูลให้เนรเทศ เรานิราศนคเรศมาแรมไพร พระบิดาก็มิได้เป็นใหญ่แต่พระองค์
ย่อมประพฤติโดยจํานงชาวสีพีราช ถึงว่าท่านจะไปทูลให้ท้าวเธออนุญาตให้คืนกรุง
ชาวเมืองก็จะหมายมุ่งประทุษจิต ในสมเด็จบรมบพิตรผู้ร่มเกล้า
เพราะเหตุด้วยรับเราเข้านคร
พระเจ้าเจตราช พระพุทธเจ้าข้า
เมื่อมิพอพระทัยคืนพระพิไชยเชตุดรก็ตามแต่พระอัธยา
จะขอเชิญเสด็จขึ้นผ่านพาราเจตราช เป็นจอมมิ่งมงกุฏมาตุลนคร เป็นปิ่นปกประชากรเกษมสุข
มิให้ท้าวเธอเสด็จไปทนทุกข์ที่กลางดง อันข้าพระบาทจะขอรองบทบงสุ์บรมกษัตริย์
พระเวสสันดรครั้นพระองค์ได้ทรงฟัง
จึงบัญชาตอบว่า ซึ่งท่านจะมามอบเมืองเจตราช ให้แก่เราในครั้งนี้
เราก็มิได้มีพระทัยเสวยสิริสมบัติ ด้วยชาวเชตุดรเขาแค้นจัดให้เนรเทศ ท่านจะมามอบนคเรศให้ครอบครอง
พระนครทั้งสองสิเป็นราชสัมพันธมิตร ก็จะเกิดกลวิปริตร้าวฉาน จากจารีตบุราณ
แต่ปางก่อน จะไม่สมัครสโมสรเสียประเพณี เกิดมหากลหโกลีเดือดร้อน
ทุกไพร่ฟ้าประชากรทั้งสองฝ่าย ต่างจะมุ่งหมายประทุษกัน
ก็จะเกิดมหาพิบัติไภยันไม่มีสุข เหตุด้วยเราผู้เดียวจะมาทําทุกข์ให้ท่านทั้งปวง
สมบัติอันใดในเมืองหลวงเจตราช ซึ่งท่านทั้งหลายมาอนุญาตยกให้
เราขอคืนถวายไว้เสวยสุข ท่านจงอยู่นฤทุกข์อย่ามีภัย อันตัวเรานี้จะลาไปสู่วงกต
จะทรงประพฤติพรหมพรตอิสีเพศ เชิญท่านช่วยแนะแนววิถีเทศให้เรา
จรไปยังวงกตสิงขรโน้นเถิด
เมื่อกษัตริย์เจตราชทั้งหลายทูลเชิญเสด็จไว้
ครั้นแล้วท้าวเธอมิตามพระทัยก็สุดคิด เจตราช
จึงทูลเชิญสมเด็จบรมบพิตรให้ประเวศพระนคร หวังจะให้เสวยสุขไสยากรเกษมอาสน์
เวลาสุริโยภาศจึงค่อยครรไล
พระเวสสันดรก็ถ่อมพระองค์ว่า
เข็ญใจไร้ศักดิ์ มิได้เสด็จเข้าไปสํานักในพระพารา ฯลฯ
ที่สุดกษัตริย์เจตราช ก็ให้ตกแต่งศาลาที่ประทับ
ปิดบังด้วยม่าน แล้วถวายอารักขาให้ดีที่สุดจนสว่าง แล้วถวายพระกระยาหารให้เสวย เสร็จแล้วอัญเชิญไปยังประตูป่า
ต้นทางที่จะไปยังเขาวงกต
แนะนํามรรคาให้ทรงกําหนดหมาย
ทรงตั้งเจตบุตรพรานไพร ให้เป็นพนักงานรักษาประตูป่า
ถวายอารักขาคุ้มภัยให้เป็นพิเศษ [13]
กษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์ดำเนินมุ่งหน้าเข้าสู่วงกต
ตามหนทางที่พระยาเจตราชชี้แนะ มุ่งสู่เขาคันธมาทน์ พักแรม ๑ ราตรี
ข้ามเขาวิปุละ ข้ามน้ำเกตุมดี ข้ามเขานาลิกะ เข้าป่าลึก ซอกเหวสูงและชันที่เดินได้ทีละคน
จนถึงสระโบกขรณี สุดท้าย(จากนครเชตุดร ถึงเขาวงกต / คันธมาทน์ เป็นระทางทั้ง
หมด ๖๐ โยชน์ ระยะทาง ๑ โยชน์เท่ากับ ๑๖ กิโลเมตร รวมทั้งหมด ๙๖๐ กิโลเมตร)
ที่เวิ้งเขาวงกต ก็พบอาศรม
๒ หลัง ที่พระอินทร์สั่งวิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตไว้ จารึกอักษรไว้ว่า “ท่านผู้หนึ่งผู้ใดใคร่จะบวช
ก็จงใช้บริขารเหล่านี้”[14]
พระเวสสันดรทรงเพศฤาษี ให้พระชายาและโอรสธิดาผนวชเป็นดาบสและตาปสินีทั้งหมด
ดำรงชีพด้วยมูลผลาหารในป่า โดยพระนางมัทรีเป็นผู้แสวงหา ประทับอยู่ ณ เวิ้งเขาวงกตสิ้นเวลา
๗ เดือน
รูป
จิตรกรรม กัณฑ์วนประเวศน์
พระเวสสันดร นางมัทรี อุ้มสองกุมาร
๓.๕ กัณฑ์ที่ ๕ ชูชก (ชูชกปัพพะ
(ชูชก) ประกอบด้วยคาถา ๗๘ คาถา)
ว่าด้วยพราหมณ์
“ชูชก” เป็นยาจกนักขอ ชาวบ้านทุนวิฏฐะ แคว้นกาลิงคะ ได้นางอมิตตา มาเป็นภรรยา
เพราะพ่อแม่นางใช้สอยเงิน 100 กหาปณะ ที่ชูชกฝากไว้จนหมด
ด้วยคิดว่าคงไม่กลับมาแล้ว เมื่อชูชกกลับมาทวงเงินที่ฝาก
ก็จนใจ จึงต้องยกลูกสาวให้ชูชกเป็นการล้างหนี้ ชูชกพานางไปอยู่บ้านทุนวิฏฐะ พวกพราหมณ์หนุ่ม
ๆ ที่หมู่บ้าน เห็นนางปฏิบัติสามีชราดีกว่าภรรยาของพวกตน
ก็พากันตบตีด่าว่าภรรยาของตน พวกภรรยา เจ็บกายและเจ็บใจมาก
เมื่อเห็นนางอมิตตดามาสู่ท่านํ้า ก็รุมกันเข้าตบตีด่าว่าเหน็บแนมต่าง ให้นางช้ำใจ จนนางร้องไห้กลับบ้าน
ชูชกเห็นนางเดินร้องไห้กลับมาจึงถาม นางบอกว่า ถูกภรรยาพราหมณ์รุมกันตบตีก่นด่า
นับแต่นี้ไป นางจะไม่ทำงานบ้านอีกแล้ว แถมขัดให้ชูกขกไปขอชาลีกัณหามาเป็นทาส
ชูชกด้วยความรักภรรยา จำใจอาสาออกเดินทางไปขอชาลีกัณหา เที่ยวถามจนเข้าไปถึงประตูป่า แดนพรานเจตบุตร
นายด่าน ที่พระเจ้าเจตราชสั่งให้เฝ้าอารักขาด่าน ต้นทางที่จะไปสู่อาศรมพระเวสสันดร
บาลี
คาถาที่ ๓๐๒ (๑๑๒๓) อหุ
วาสี กลิงฺครฏฺเฐ ชูชโก นาม
พฺราหฺมโณ
ตสฺสาปิ ทหรา ภริยา นาเมนามิตฺตตาปนา
ฯ
(แปล) พราหมณ์ ชื่อว่า ชูชก อยู่ในเมืองกลิงครัฐ
ภรรยาของพราหมณ์นั้นยังสาว มีชื่อว่า อมิตตาปนา
คาถาที่ ๓๗๙ (๑๑๓๘) ปิยสฺส
เม ปิโย ทูโต ปุณฺณปติตํ ททามิ เต
อิมญฺจ มธุโน ตุมฺพํ มิคสตฺถิญฺจ พฺราหฺมณ
ตญฺจ เต เทสมกฺขิสฺสํ ยตฺถ สมฺมติ กามโท ฯ (๖ บาท คาถา)
(แปล) ดูกรพราหมณ์ ท่านเป็นทูตที่รักของพระเวสสันดรผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจะให้เต้าน้ำผึ้ง และขาเนื้อย่างเป็นบรรณาการแก่ท่าน
และจักบอกประเทศที่พระเวสสันดรหน่อกษัตริย์ผู้ให้สำเร็จความประสงค์ประทับอยู่แก่ท่าน
ความไทย
สมัยนั้น
ในแคว้นกาลิงคะ มีพราหมณ์คนหนึ่ง ชื่อว่า “ชูชก” อยู่ในบ้าน “ทุนวิฏฐะ”
เป็นนักขอทานที่เชี่ยวชาญ เที่ยวขอไปถึงต่างแคว้น เก็บทรัพย์ที่เหลือกินเหลือใช้ไว้ได้ถึง
๑๐๐ กหาปณะ ชูชกได้นําทรัพย์จํานวนนี้ไปฝากพราหมณ์ผัวเมียตระกูลหนึ่งไว้
แล้วออกเที่ยวขอทานต่อไปเรื่อย ๆ
ต่อมาพราหมณ์ผัวเมียคู่นั้น
ได้นำทรัพย์ของชูชกไปใช้สอยเสียหมด ครั้นชูชกกลับมาขอทรัพย์คืน
ก็ขัดสนจนใจไม่สามารถจะหามาใช้คืนได้ จึงต้องยกนางอมิตตา หรือ อมิตตาปนา
ลูกสาวให้แก่ชูชกทดแทนเงินที่เอาไปใช้ ชูชกจึงพานางอมิตตา ภริยาสาวไปอยู่บ้านทุนวิฏฐะ
นางอมิตตาได้ปฏิบัติชูชกในหน้าที่ของภรรยาที่ดีทุกประการ
เมื่อผู้ชายในบ้านทุนวิฏฐะเห็นอย่างนั้นเข้า
ก็พากันสรรเสริญ นางอมิตตา แต่กลับมา ดุว่าภรรยาของตนที่เกียจคร้าน
เอาแต่เที่ยวแต่เล่น สู้นางอมิตตาเป็นเด็กกว่าก็ไม่ได้ นางพราหมณีทั้งหลาย
ในบ้านนั้น ถูกสามีตําหนิ ก็เจ็บใจ แทนที่จะรู้สึกปรับปรุงตัว กลับพากันเคียดแค้น ชิงชังนางอมิตตา
จึงรวมหัวกันวางแผนขับไล่นางอมิตตาปนาให้ออกไปจากบ้าน ชวนกันออกไปชี้หน้าด่าว่านางอมิตตาที่ท่าน้ำอย่างสาดเสียเทเสีย
โดยไปด่าทอเยาะเย้ยว่า “สาวน้อยมาได้สามีแก่เพราะทำกรรมไม่ดีมาแต่ก่อน
การอยู่กับสามีแก่ตายเสียดีกว่า นางจงกลับไปอยู่บ้านเก่าเสียเถิด”
หมายจะให้นางอมิตตาโกรธและหนีจากหมู่บ้านไปเสีย
นางอมิตตาเสียใจ คับอกคับใจ
นำคำด่าทอเสียดสีมาแจ้งชูชก และบอกว่า นางจะไม่อยู่ด้วยแล้ว จะขอกลับคืนไปอยู่บ้านเดิมดีกว่า
ชูชกอาสาทำงานบ้านแทนทุกอย่าง แต่นางอมิตตาปนา ห้ามว่า มีธรรมเนียมที่ไหนกัน
ที่สามีจะทำงานบ้านแทนแม่บ้าน
ทางที่ดีให้ชูชกออกไปหาทาสและทาสีมารับใช้นางจะดีกว่า
ในที่สุดเทวดาดลใจให้นางใช้ชูชกไปขอชาลี-กัณหา สองกุมาร พระโอรสของพระเวสสันดรมาเป็นทาสช่วงใช้
และบังคับให้ชูชกไปขอสองกุมารจากพระเวสสันดร
ชูชกจำใจต้องไป
เพราะนางอมิตตาปนาขู่ว่า หากไม่ไปนางจะแต่งตัวยั่วชายและมีสามีใหม่ ชูชกเดินทางไปสู่เมืองเชตุดรสีพี
ถามข่าวหาพระเวสสันดร ก็ทราบว่าพระองค์เสด็จไปอยู่เขาวงกต
แม้ว่า
ชูชกจะแก่เกินกว่าจะเดินทางไปเขาวงกตเพื่อขอสองกุมาร แต่เมื่อถูกเมียสาว
ขู่บังคับเช่นนั้น ก็ต้องฝืนใจไป ในที่สุดชูชกก็หอบร่างแก่ไปถึงพระนครสีพี
เมืองของพระเวสสันดร เพราะความรุกรี้รุกรนใคร่จะเดินทางไปให้ถึงพระเวสสันดรโดยเร็ว
ทำให้ชูชกขาดความรอบคอบ ไม่เหมือนคราวก่อน ๆ ที่เดินทางมาขอทาน เห็นกลุ่มชนที่ใด
เป็นถามถึงที่อยู่ของพระเวสสันดร พร้อมทั้งทางที่จะเดินไปให้ถึงที่หมายด้วย
ชาวเมืองสีพีเกลียดหน้านักขอเป็นทุนอยู่แล้ว
ก็พาโลรี่เข้าใส่ชูชก ด่าว่า
เจ้ามาเบียดเบียนพระเวสสันดรด้วยให้ท้าวเธอพระราชทานจนเกินไป
ถึงถูกขับไล่ทั้งพระชายาและพระโอรสให้ออกไปอยู่วงกต แล้วเจ้ายังจะมาเอาอะไรอีก
ต่างพากันถือไม้ค้อนก้อนดินขับไล่ชูชกหนีเข้าป่าไป
ฝ่ายชูชก
เวลาหนีชาวเมืองสีพีขับไล่ ก็มุ่งหน้าไปทางเขาวงกต ขณะเดินเลาะลัดไปในไพรพง
ก็ถูกสุนัขของพรานเจตบุตรไล่ล้อม ได้หนีขึ้นต้นไม้ นั่งบนค่าคบ พลางร้องไห้รําพันถึงคุณพระเวสสันดรเป็นอย่างมาก
ฝ่ายเจตบุตรเจ้าของสุนัขติดตามมา
เห็นชูชกอยู่บนต้นไม้ ก็คิดว่า ชูชกจะมาร้าย คงจะไปทูลขอพระนางมัทรี หรือ
พระโอรสเป็นแน่ ก็พลันคิดว่า จะต้องฆ่ามันเสีย จึงเดินเข้าไปใกล้
พลางน้าวหน้าไม้ขึ้น พร้อมกับร้องสำทับว่า แน่พราหมณ์ พวกแกเบียดเบียนพระเวสสันดรด้วยให้พระราชทานเกินไป
จนพระองค์ต้องถูกขับไล่จากแคว้น เสด็จหนีไปอยู่เขาวงกต มนุษย์บัดซบอย่างแก
ยังจะติดตามมาเบียดเบียนขอพระโอรสอีก เหมือนนกยางย่องตามหาปลาฉะนั้นหรือ
ข้าจะไม่ไว้ชีวิตแก จะยิงแกให้ตายด้วยหน้าไม้นี้
ชูชกตกใจกลัวตาย
จึงใช้อุบายหลอกเจตบุตรพร้อมด้วยการขู่ว่า
“ช้าก่อน
เจตบุตร ข้าเป็นพราหมณ์เป็นราชทูต ซึ่งใคร ๆ ไม่ควรจะฆ่า จงฟังข้าก่อน
บุคคลไม่ควรฆ่าราชทูตนี้เป็นประเพณีมาเก่าแก่ ดูก่อนเจตบุตร
บัดนี้ชาวเมืองสีพีหายขัดเคืองแล้ว พระชนกก็ปรารถนาจะพบพระเวสสันดรปิโยรส
พระราชชนนีก็ชรา นัยน์ตาก็มืดมนธ์ ท้าวเธอให้ข้าฯ เป็นราชทูต
มาเชิญพระเวสสันดรพระโอรสกลับ ฉะนั้น เจ้าจงบอกแก่ว่า บัดนี้พระเวสสันดรอยู่ที่ไหน
?”
เจตบุตรดีใจหลงเชื่อในคำลวงของชูชก
เชื่อว่า ชูชกเป็นราชทูตที่พระเจ้ากรุงสัญชัยพระราชบิดา
ให้มาเชิญพระเวสสันดรกลับจริง จึงผูกสุนัขทั้งหลายไว้ แล้วเชิญชูชกลงจากต้นไม้
ให้นั่งที่มีใบไม้ลาด ให้โภชนาหารกิน ปฏิสันถารว่า
“ท่านพราหมณ์
ลุงเป็นราชทูตมาเชิญพระเวสสันดรที่รักของข้าฯ ข้าฯ จะให้กระบอกน้ำผึ้งและเนื้อย่างแก่ลุง
ข้าฯ จะบอกสถานที่พระเวสสันดรประทับอยู่ให้”[15]
หมายเหตุ
ผู้แต่งมหาชาติล้านนา
สำนวนอินทร์ลงเหลากล่าวว่า การที่ชูชกได้อมิตตาผู้ยังอยู่ในวัยสาวรุ่น มาเป็นภรรยา
เพราะชูชกได้นำดอกไม้ที่ยังตูม ๆ และทำการบูชาพระ ในเวลาตอนเช้าตรู่ แต่นางอมิตตา
นำดอกบัวที่บานแล้วไปบูชาพระ แถมยังบูชาเวลากลางคืนอีก นางจึงได้ชายแก่ชราเป็นสามีคู่ครอง
ดังความว่า
"บุญเฒ่าได้พำเพ็งมาเมื่อก่อน ปู่พราหมณ์ได้เอาดอกไม้จี๋บูชาพระเจ้า
ในกาละเมื่อเช้ายามดี
มันจึงได้เมียสาวหนุ่มน้อย"
"ส่วนนางอมิตตาปันนา ได้เอาดอกบัวบานปูชาพระเจ้ายามค่ำ
ว่าแม่นวันยามมหาสูญ
จึงได้เฒ่าหัวปูนหงอก ตามดวงดอกไม้อันนางทาน"
ที่เล่ามานี้
เป็นความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพระด้วยดอกไม้ตูม หรือ บาน
ก็จะได้ครู่ครองที่ต่างวัย
ชูชกและนางอมิตตา
หากพิจารณาแล้วจะเห็นว่า
เป็นตัวละครที่น่าสนใจและมีความสำคัญต่อการดำเนินเรื่องอยู่มาก วรรณคดีมหาชาติ ๑๓
กัณฑ์ เรื่องราวเกี่ยวกับชูชกก็มีปรากฏอยู่ถึง ๕ กัณฑ์ คือ กัณฑ์ชูชก กุมาร จุลพน มหาพน
และมหาราช เฉพาะในล้านนา กัณฑ์ชูชก กัณฑ์มหาราชซึ่งเป็นที่นิยมเทศน์ในงานต่าง ๆ
เพราะมีความสนุกสนาน ชูชก มีส่วนสำคัญในการช่วยให้พระเวลสันดรได้บำเพ็ญทานบารมิได้ครบถ้วน
แต่พวกเราก็มักนึกถึงชูชกในฐานะที่เป็นตัวละครที่เด่นในทางเป็นผู้ร้าย ส่วนนางอมิตตาก็นับว่าเป็นตัวละครที่สำคัญ
เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่ผลักดันให้ชูชกด้นดั้น
เข้าป่าไปขอสองกุมารจากพระเวสสันดรมาเป็นข้ารับใช้
รูป
จิตรกรรม กัณฑ์ชูชก
รูปที่ ๑
นางอมิตตา ถูกภรรยาพราหมณ์ด่าว่า
ที่ท่าน้ำ
รูป
จิตรกรรม กัณฑ์ชูชก
รูปที่ ๒
ชูชกออกเดินทางไปขอ สองกุมาร
๓.๖
กัณฑ์ที่ ๖ จุลพน (จุลลวนวณฺณนา ประกอบด้วยคาถา ๕๕ คาถา)
ว่าด้วยชูชกได้รับการต้อนรับจากพรานเจตบุตร
ด้วยหลงเชื่อว่าเป็นราชทูตจากนครสีพี เข้ามาอัญเชิญพระเวสสันดร กลับเมือง พร้อมกับชี้ทิศทางเข้าไปสู่ป่าที่พระเวสสันดรอยู่
ให้อย่างละเอียด พร้อมกับพูดถึงป่าไม้นานาพรรณในป่าข้างหน้าจากด่าน ประตูป่า
ที่กำลังเข้าไป จุลพน แปลว่า ป่าน้อย
บาลี
คาถาที่ ๓๘๐ (๑๑๓๙) เอส
เสโล มหาพฺราหฺเม ปพฺพโต คนฺธมาทโน
ยตฺถ เวสฺสนฺตโร ราชา สห
ปุตฺเตหิ สมฺมติ ฯ
(แปล) ดูกรมหาพราหมณ์ นั่นภูเขาคันธมาทน์อันล้วนแล้วด้วยหิน
พระเวสสันดรเจ้า พร้อมด้วยพระโอรสพระธิดาและพระมเหสีทรงเพศนักบวชอันประเสริฐ
คาถาที่ ๔๓๔ (๑๑๔๓) อิทํ
สุตฺวา พฺรหฺมพนฺธุ เจตํ กตฺวา
ปทกฺขิณํ
อุทฺทคฺคจิตฺโต
ปกฺกามิ เยนาสิ อจฺจุโต อิสิ
ฯ
(แปล) ชูชกผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพราหมณ์
ได้ฟังคำของเจตบุตรดังนี้แล้ว มีจิตยินดีเป็นอย่างยิ่ง กระทำประทักษิณเจตบุตรแล้ว
ได้เดินทางตรงไป ณ สถานที่อันอัจจุตฤาษีสถิตอยู่
ความไทย
พรานเจตบุตร
นายด่านประตูป่า ฟังคารมชูชกเจ้าเล่ห์หลอกลวงว่าเป็นราชทูต
ถือสาส์นมาเชิญพระเสสันดรกลับนคร จึงหลงเชื่อ พอใจ เลื่อมใส นับถือ ยําเกรง ถึงกับเสียสละอาหารต้อนรับ
เลี้ยงดูชูชกอย่างเต็มที่ แล้วก็พาชูชกไปยังต้นทาง ชี้บอกทางให้ชูชกกําหนด หมายภูเขา
และป่าไม้ กับพรรณนาความงามนานาของพฤกษชาติ สร้างความยินดี ให้มีกําลังใจ
หายสะดุ้งหวาดกลัวต่อภัยในป่า ทั้งบอกระยะทางที่จะไปพบอาศรมอัจจุตฤาษี
ซึ่งเป็นดุจสถานีที่พักในการเดินทาง และจะได้รับความปราณี จากอัจจุตฤาษีบอกทางให้ต่อไป
จนถึงอาศรมของพระเวสสันดร[16]
กัณฑ์จุลพนนี้
มีศัพท์บาลีที่บอกชื่อแมกไม้ และสัตว์น้ำต่างๆ เช่น จารุติมฺพรุกฺขา ได้แก่ ต้นมะพลับทอง มธุมธุกา ได้แก่ มะซางมีรสหวาน ปาเรวตา ได้แก่ ต้นกล้วยงาช้าง ภเวยฺยา ได้แก่ กล้วยมีผลยาว วิเภทิกา ได้แก่ ต้นตาล กุฏชี กุฏตคฺรา ได้แก่ รุกขชาติอย่างหนึ่งชื่อว่าไม้มูกมัน
กอโกฐ และกอกฤษณา คิริปุนฺนาคา ได้แก่ บุญนาคใหญ่ โกวิฬารา ได้แก่ ต้นทองหลาง อุทฺธาลกา
ได้แก่ ต้นราชพฤกษ์ดอกสีเหลือง ภลลิยา
ได้แก่ ต้นรักดำ ลพุชา ได้แก่ ต้นขนุนสำมะลอ ปุตฺตชีวา ได้แก่ ต้นไทรใหญ่ มกรนฺเทหิ ได้แก่ เกสร ถูลา สึฆาฏกา ได้แก่ กระจับขนาดใหญ่ สสาทิยา
ได้แก่ ข้าวสาลีเล็ก ๆ เป็นข้าวสาลีที่เกิดเอง เรียกว่า ข้าวสาลีบริสุทธิ์ พฺยาวิธา ความว่า เหล่าสัตว์น้ำชนิดต่าง
ๆ เที่ยวไปเป็นกลุ่ม ๆ ในน้ำใส ว่ายไปตามลำดับปรากฏอยู่ มูปยานกา ได้แก่ ปู
หมายเหตุ
มหาเวสสันดร สำนวนอินลงเหลา กล่าวว่า
สุนัขของพรานเจตบุตร ซึ่งมีอยู่มากมายหลายตัวนั้น ที่ไล่ขบชูชกต้องหลบเขี้ยวคม ปีนหนีขึ้นไปนั่งที่ค่าคบไม้
เดิมเล่าว่า มี ๗ ตัว เป็นสุนัขพันธุ์ต่าง ๆ อย่างละตัว ได้แก่ พันธุ์ไทย
พันธุ์พม่า พันธุ์ฮ่อ พันธุ์ญวน พันธุ์ไทใหญ่ พันธุ์ฝรั่ง และพันธุ์ไทลื้อ ดังสำนวนว่า
“เค้ามันแท้ไส้มีอยู่
๗ ตัว เอาปัดปัวเลี้ยงข้าว
ตัวแม่เฒ่านั้นเป็นเชื้อหมาไทย
ตัวแม่แดงผิวใสเป็นเชื้อหมาม่าน
ตัวแม่มุกแคว้นส้มแสวเป็นเชื้อหมาเงี้ยว
ตัวแม่นาคช่างสอดเสี้ยวเป็นเชื้อหมากุลวา
แม่ขาวนั้นนาเป็นเชื้อหมาลื้อ”
ส่วนสำนวนไม้ไผ่แจ้เรียวแดงและสำนวนสร้อยสังกรให้รายชื่อสุนัขด้วย
แต่ทั้งสองสำนวน กลับมีจำนวนสุนัขไม่เท่ากัน สำนวนไม้ไผ่แจ้เรียวแดงมีจำนวน ๒๒ ตัว
สำนวนสร้อยสังกรมีจำนวน ๒๔ ตัว แต่ทั้งสองสำนวนก็ยืนยันว่า
สุนัขที่กลุ้มรุมกัดชูชกนั้นมีจำนวน ๓๒ ตัว ดังคำว่า
"หมู่หมาดีมี ๓๒ ตัว ก็มาหุมเห่า เฒ่าเล้าเก่ากลัวตาย" (สำนวนไม้ไผ่แจ้เรียวแดง) และ
"หมู่หมาดี ๓๒ ตัว ก็มาห้อมเห่า เถ้าเล้าเก่ากลัวตาย มันก็คะยุยคะยายขึ้นต้นไม้ส้าน
ต้านหย้านต้นไม้กว่าว ปาวหวาวตกไม้มี่" (สำนวนสร้อยสังกร)
รูป
จิตรกรรม กัณฑ์จุลพน
พราหมณ์ชูชก ปีนต้นไม้หนีฝูงสุนัข
พรานเจตบุตรจะยิงด้วยหน้าไม้
๓.๗
กัณฑ์ที่ ๗ มหาพน (มหาวนวรรณนา ประกอบด้วยคาถา ๑๓๓ คาถา)
ว่าด้วย
ชูชกเดินทางมาถึงป่าลึกถึงอาศรมของอัจจุตฤาษี
ได้รับการชี้ทางเข้าไปที่อยู่ของพระเวสสันดร และลักษณะกายภาพของที่อยู่นั้น
บาลี
คาถาที่ ๔๓๕ (๑๑๔๔) คจฺฉนโต โส ภารทวาโช อทฺทส อจฺจุตํ อิสึ
ทิสฺวาน
ตํ ภารทวาโช สมฺโมทิ อิสินา สห
(แปล) ชูชกพราหมณ์ภารทวาชโคตรนั้น
เมื่อเดินไปตามทางที่เจตบุตรพรานป่าแนะให้ ก็ได้พบอัจจุตฤาษี
ครั้นแล้วได้เจรจาปราศรัยกับอัจจุตฤาษี
คาถาที่ ๕๖๗ (๑๑๕๗) อิทํ
สุตฺวา พฺรหฺมพนฺธุ อิสึ กตฺวา
ปทกฺขิณํ
อุทฺทคฺคจิตฺโต
ปกฺกามิ ยตฺถ เวสฺสนฺตโร
ราชาฯ
(แปล) ชูชกผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพราหมณ์
ครั้นได้สดับถ้อยคำของอัจจุตฤาษีกระทำประทักษิณ มีจิตชื่นชมโสมนัส
อำลามุ่งหน้าไปยังสถานที่ประทับของพระเวสสันดร
ความไทย
ชูชกครั้นเดินทางไปตามคําแนะนําของพรานเจตบุตรก็พบอัจจุตฤาษีที่อาศรม
ไต่ถามทุกข์สุขตามธรรมเนียม เมื่อได้รับการปฏิสันถารจากอัจจุตฤาษีเป็นที่พอใจแล้ว
ก็ขอให้ช่วยบอกที่ที่อยู่ และหนทางที่จะไปถึงที่อยู่ของพระเวสสันดร
อัจจุตฤาษีถามพลางสำทับดักคอว่า
“จะมาขอทานหรือ พระเวสสันดรอยู่กันเพียงสี่คนไม่มีสมบัติอะไร
เพราะพระองค์กำลังตกยากอยู่ แกคงจะมาขอพระนางมัทรี หรือ พระโอรสธิดาเป็นแน่”
ชูชกแก้ตัวว่า “ท่านอาจารย์เข้าใจผิด
ผมไม่โกรธดอก คนอย่างผมหรือจะมาเที่ยวขอให้เสื่อมเสียพงศ์พราหมณ์ ผมมาเพื่อมานมัสการพระเวสสันดรเอาบุญ
มาเยี่ยมท่านจริง ๆ ได้เห็นท่านเป็นกุศล ได้สมาคมกับท่านเป็นความสุข
ตั้งแต่ท่านจากเมืองมา ยังไม่ได้เคยพบปะเลย กรุณาแนะนําให้ได้พบท่านสักหน่อยเถิด”
เมื่อชูชกเอาความดีเข้าต่อ อัจจุตฤาษีก็ใจอ่อน หลงเชื่อว่าเป็นความจริง
จึงให้พักค้างที่อาศรมคืนหนึ่ง ครั้นรุ่งเช้า ให้ชูชกบริโภคผลไม้และเผือกมัน แล้วก็พาไปส่งต้นทาง
ชี้บอกทางไปสู่อาศรมพระเวสสันดรอย่างละเอียด พรรณาถึงภูเขา ป่าไม้ ฝูงสัตว์ต่าง ๆ ด้วยเป็นป่าใหญ่
สมกับที่เรียกว่า “มหาพน” ชูชกกําหนดจดจําคําแนะนําของอัจจุตฤาษีจนเป็นที่พอใจ แล้วก็นมัสการลาไป[17]
หมายเหตุ
“มหาพน” คือ ป่าใหญ่ เพราะป่าไม้และรุกขชาติที่จะต้องผ่านไป จนถึงอาศรมของพระเวสสันดรมีมาก
ชื่อต้นไม้นานา เท่าที่ผู้เรียบเรียงลองนับดู
มีจำนวนมากกว่า กัณฑ์จุลพน คือ รุกขชาติ ๖๓ ชนิด ลดาชาติ ๓๒ ชนิด ติณณชาติ ๑๓ ชนิด
ปทุมชาติ ๕ ชนิด กีฏชาติ(แมลง) ๓ ชนิด
ธัญญชาติ ๑๒ ชนิด มฤคชาติ ๓๔ ชนิด
ปักษีชาติ ๕๔ ชนิด มัจฉาชาติ ๗ ชนิด(ที่แปลกคือมีปลาฉลาม
ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเค็ม ไม่น่าจะมีอยู่ที่น้ำจืดในสระมุจลินทร์ป่าหิมพานต์) รวมทั้งหมดได้ ๙ กลุ่ม จำนวนรายชื่อต่าง ๆ ถึง
๒๒๓ ชนิด (ซึ่งอาจมีมากกว่าจำนวนนี้)
รูป
จิตรกรรม กัณฑ์มหาพน
อัจจุตฤาษีชี้บอกหนทางไปสู่เขาวงกต
อาศรมของพระเวสสันดร แก่พราหมณ์ชูชก
๓.๘ กัณฑ์ที่ ๘
กุมาร (ทารกปัพพะ
หรือ กุมารปัพพะ ประกอบด้วยคาถา ๑๒๑ คาถา)
ว่าด้วย เมื่อพรหมาณ์ชูชกมาขอพระโอรส
พระเวสสันดรได้บริจาค ๒ กุมาร (ปุตตปริจจจาคะ) ให้เป็นทานแก่พราหมณ์ชูชก
บาลี
คาถาที่ ๕๖๘ (๑๑๕๘) อุฏฐาหิ ชาลิ ปติฏฺฐ โปราณํ วิย ทิสฺสติ
พฺราหฺมณํ
วิย ปสฺสามิ นนฺทิโย
มาภิกีรเร ฯ
(แปล) ดูกรพ่อชาลี เจ้าจงลุกขึ้นยืนเถิด
การมาของพวกยาจกในวันนี้ปรากฏเหมือนการมาของพวกยาจกครั้งก่อน ๆ
พ่อเห็นเหมือนดังพราหมณ์ ความชื่นชมยินดีทำให้พ่อเกษมศานติ์
คาถาที่ ๖๘๘ (๑๑๘๒) สูนา จ
วต โน ปาทา พาฬฺหํ ตาเรติ
พฺราหฺมโณ
อิติ
ตตฺถ วิลปึสุ กุมารา
มาตุคิทฺธิโน ฯ
(แปล) เท้าทั้งสองของเรา
ฟกบวมหนอ พราหมณ์ก็เร่งให้เรารีบเดิน พระกุมารทั้งสองทรงรักใคร่ในพระมารดา
ทรงกรรแสงพิลาปอยู่ ณ ที่นั้น ด้วยประการดังนี้
ความไทย
เมื่อชูชกเดินทางไปตามที่อัจจุตฤาษีแนะนํา
เวลาเย็นก็เข้าถึงเขาวงกต ใกล้อาศรมพระเวสสันดรสมความคิด แกก็ดีใจมาก ตรึกตรองหาโอกาสจะเข้าพบพระเวสสันดร
เห็นว่า เวลานี้ พระนางมัทรีกลับจากป่าแล้ว หากด่วนไปขอ จักไม่สําเร็จ ควรไปขอเวลาเช้า
เมื่อพระนางมัทรีเข้าป่าแล้ว ครั้นขอสองกุมารได้แล้ว ก็จะรีบกลับไป ก่อนที่พระนางมัทรีจะกลับมาจากป่า
ดําริแล้วก็หลบเข้าไปนอนในซอกเขาเพื่อลี้ภัยจากสัตว์ร้าย
คืนนั้นพระนางมัทรีเห็นสุบิน(ฝัน)ร้าย
เป็นลางบอกให้รู้ล่วงหน้าว่า จะพลัดพรากจากพระโอรส ในพระสุบินมีว่า
“มีชายคนหนึ่งผิวดำ
นุ่งห่มผ้าย้อมฝาดสองผืน หูทั้งสอง ทัดดอกไม้สีแดง มือถืออาวุธตะคอกขู่ มาเข้าสู่บรรณศาลาจับพระนางที่ชฎา
ฉุดคร่ามาจนพระนางล้มหงายแล้วควักดวงพระเนตรทั้งสอง ตัดพระพาหาทั้งสอง
แหวกพระอุระถือเอาเนื้อพระหทัยที่มีหยาดพระโลหิตไหลอยู่ แล้วหลีกไป”
พระนางมัทรีสะดุ้งตื่นบรรทม
ทั้งตกพระหทัยทั้งสะดุ้งหวาดกลัว ทรงรำพึงว่า เราฝันร้ายจึงไปทูลเล่าความฝันกับพระเวสสันดร
ทูลขอให้ทรงแก้ความฝันนั้น แต่พระเวสสันดรก็ไม่ทรงแก้ ตรัสบ่ายเบี่ยงว่า พระนางมาตกระกําลําบาก
หลับนอนก็ไม่ผาสุก เหมือนอยู่ในราชวัง ก็ฝันไปตามสภาพยากไร้
พระนางมัทรีหาแน่พระทัยเชื่อไม่
ครั้นรุ่งเช้า ได้เวลาจะเข้าป่า เป็นห่วงพระโอรส
จึงได้พาพระลูกเจ้าทั้งสององค์มาฝากพระเวสสันดรให้ทรงช่วยดูแล
ทั้งกําชับพระโอรสไว้แข็งแรงมิให้ออกไปนอกบริเวณพระอาศรม จึงได้เข้าป่าแสวงหา
ผลไม้ รากไม้ หัวมัน อันเป็นกิจวัตรประจําวันที่ทรงทําอยู่
ฝ่ายชูชก
ครั้นเห็นว่า เวลานี้พระนางมัทรีเข้าป่าแล้ว
จึงได้เดินทางเข้าไปเฝ้าพระเวสสันดรที่อาศรม พระเวสสันดร ให้พระชาลีออกไปต้อนรับแขก
แต่ชูชกตะหวาดและตะเพิดไล่ให้หลีกไป เมื่อชูชกมาถึงก็ชักแม่น้ำทั้ง ๕ ทูลขอสองกุมาร พระเวสสันดรก็จะประทานให้
แต่ตรัสว่า ขอให้รอพบพระนางมัทรีก่อน ขอให้ชูชกนอนค้างสัก ๑ ราตรี แต่ชูชกไม่เห็นด้วย
ทูลว่า ถ้ารอพระนางมัทรีกลับมาก็จะเป็นเหตุขัดข้อง
พระเวสสันดรรับสั่งว่า
เมื่อเอาสองกุมารไป จงเอาไปถวายพระเจ้าสัญชัย
ณ พระนครสีพี จะได้รับพระราชทานรางวัลมาก
ชูชกค้านว่า
ถ้าไปพบพระเจ้าสัญชัย
อาจถูกจับว่าไปลักพระเจ้าหลานมา กลับจะเป็นโทษ ต้องการจะเอาไปใช้เป็นทาสเอง
ขณะที่ชูชกกำลังทูลขอสองกุมารอยู่นั้น
ชาลี-กัณหา สองกุมารได้ยินเช่นนั้น กลัวจะถูกชูชกเอาตัวไป
จึงพากันหนีลงไปซ่อนตัวอยู่ในสระน้ำ เอาใบบัวบังศีรษะเสีย
เมื่อชูชกไม่เห็นสองกุมาร
ก็ทูลตัดพ้อพระเวสสันดร จนท้าวเธอต้องเสด็จไปติดตามหา
ครั้นทราบว่ากุมารทั้ง ๒ องค์ ไปซ่อนตัวอยู่ในสระน้ำ ก็ตรัสเรียกขึ้นมา
แล้วตรัสปลอบโยน ให้หายกลัวและคลายเศร้าโศก พร้อมกับคาดราคาค่าไถ่ตัว โดยสั่งชาลีกุมารไว้ว่า
“ถ้าจะไถ่ตัวให้พ้นจากทาส
สําหรับชาลีกุมารต้องไถ่ ด้วยทองแท่งหนักหนึ่งหมื่นห้าพันตําลึง(๑๕,๐๐๐) ส่วน กัณหานั้น ต้องไถ่ ด้วยทาสชายหญิง ช้าง ม้า
โค รถ อย่าง ๑๐๐ และทองคำแท่งหนัก
ห้าพันตําลึง(๕,๐๐๐)”
แล้วทรงพามามอบโอรสให้ชูชกไป
สองกุมารถูกชูชกมัดมือ
เฆี่ยนตี ลากจูงไปต่อหน้าต่อตา เมื่อสองกุมารอิดเอื้อนร้องไห้ไม่ด่วนตามไปตามประสงค์ของแก ก็ตีด่าตามประสาคนสันดานทราม ถึงกับดาลใจพระเวสสันดรให้พลุ่งด้วยโทสะเกิดโทมนัส
น้อยพระทัย คิดจะประหารชูชก นำเอาพระโอรสคืนมาเสีย แต่แล้วก็กลับหักพระทัยด้วยขันติคุณไว้ได้
ปล่อยให้ชูชกพาสองกุมารไปตามปรารถนา[18]
สองกุมารร่ำร้องขอความเมตตาจากพระบิดาตลอดเวลาที่ถูกลากจูงไป
แต่พระบิดาก็วางอุเบกขา เฉยเสีย ทำเป็นไม่ได้ยิน
พระชาลีก็ตัดพ้อพระบิดาว่า “นรชนบางพวกในโลกนี้
กล่าวความจริงไว้อย่างนี้ว่า ผู้ใดไม่มีมารดาของตน ผู้นั้นเหมือนไม่มีทั้งบิดามารดา”
ส่วนพระนางกัณหา
ตัดพ้อพระเวสสันดรด้วยความน้อยพระทัยความว่า
“ข้าแต่เสด็จพ่อพราหมณ์นี้ตีหม่อมฉันด้วยไม้
เหมือนนายตีทาสีที่เกิดในเรือน ข้าแต่เสด็จพ่อ ธรรมดาว่า พราหมณ์ทั้งหลายย่อมเป็นผู้ประกอบด้วยธรรม แต่ตาพราหมณ์นี้หาเป็นดังนั้นไม่
เป็นยักษ์มาด้วยเพศพราหมณ์ เพื่อจะนำหม่อมฉันสองพี่น้องไปเคี้ยวกิน
หม่อมฉันสองพี่น้องอันปีศาจนำไปอยู่ พระองค์ทอดพระเนตรเห็นหรือไม่หนอ
ข้าแต่เสด็จพ่อ ก็ตาพราหมณ์นี้นำหม่อมฉันสองพี่น้อง ไปยังไม่ทันถึงประตูป่าเลย แกมีตาทั้งคู่แดงเป็นเหมือนมีโลหิตไหล
เพื่อจะเคี้ยวกิน คือนำไปด้วยหวังว่า จักเคี้ยวกินเสียทั้งหมด พระองค์ก็ทรงเห็น
หม่อมฉันสองพี่น้องถูกนำไปเพื่อเคี้ยวกิน หรือเพื่อต้มเสีย
ขอพระองค์จงมีความสุขทุกเมื่อเถิด”
เมื่อเห็นว่าหมดที่พึงจริง ๆ
ทั้งสองพระองค์จึงวิงวอนเทพเจ้าให้แจ้งข่าวแก่พระมารดาว่า
“ลูกเสด็จมาทางนี้
แม่จงรีบตามมาให้ทัน ก่อนที่พราหมณ์ใจร้ายจะพาออกไปจากประตูป่า”
หมายเหตุ
ในฉบับภาษาบาลี กัณฑ์กุมาร ชาลีกล่าวว่า
ชูชกมีลักษณะบุรุษโทษ ๑๘ ประการ ดังนี้
“พลงฺกปาโท
อทฺธนโข อโถ โอพทฺธปิณฺฑิโก
ทีโฆตฺตโรฏฺโฐ
จปโล กฬาโร
ภคฺคนาสโก
กุมฺโภทฺโร
ภคฺคบิฏฺฐี อโถ
วิสมจกฺขุโก
โลหมสฺสุ
หริตเกโส วลีนํ ติลกาหโต
บิงฺคโล
จ วินโต จ วิกโฏ จ พฺรหา ขโร”[19]
คำแปล “พราหมณ์ผู้หยาบช้านี้ ประกอบด้วยบุรุษโทษ
๑๘ ประการ คือ มีเท้าคดทู่ตะแคง ๑ เล็บเน่า ๑ ปลีน่องย้อยยาน ๑
ริมฝีปากบนยาว ๑ น้ำลายไหลยืด ๑ เขี้ยวงอกออกเหมือนเขี้ยวหมู ๑ จมูกหักฟุบ ๑
ท้องพลุ้ยดังหม้อ ๑ หลังค่อม ๑ ตาข้างหนึ่งเล็กข้างหนึ่งใหญ่
๑ หนวดแดง ๑ ผมบางเหลือง ๑ หนังย่นเป็นเกลียว ตัวตกกระ ๑ ตาเหลือง ๑ คดสามแห่ง คือ
ที่สะเอว หลัง และคอ ๑ ขากาง ๑ เดินดังกฏะกฏะ ๑ ขนตามตัวยาวและหยาบ ๑”[20]
ถอดความได้ว่า ชูชกเป็นคนอัปลักษณ์
มีอวัยวะเป็นโทษ ถึง ๑๘ ประการ พระชาลีทอดพระ เนตรดูก็พบลักษณะร้าย ดังนี้ “ชูชกนี้ประกอบด้วยบุรุษโทษ
๑๘ ประการ คือ ๑.
ตีนแบ ๒. เล็บเน่า
๓.
มีปลีน่องย้อยยาน ๔. มีริมฝีปากบนยาว ๕.
น้ำลายไหล ๖. มีเขี้ยวยาวออกจากริมฝีปากดังเขี้ยวหมู
๗. จมูกหัก ๘. ท้องโตดังหม้อ ๙.
หลังค่อม ๑๐. ตาเหล่ ๑๑. หนวดสีเหมือนทองแดง ๑๒. ผมสีเหลือง ๑๓. เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง
เกลื่อนไปด้วยกระดำ ๑๔. ตาเหลือกเหลือง ๑๕. เอวคด หลังโกง คอเอียง ๑๖. ขากาง ๑๗. เดินตีนลั่นดังเผาะๆ ๑๘. ขนตามตัวดกและหยาบ”
ชูชกตามเรื่องในฉบับบาลี สันนิษฐานว่า
อาจไม่ได้มีลักษณะน่าเกลียดน่ากลัวอย่างนี้ แต่พระชาลี มองด้วยสายตาของเด็ก
เห็นว่า ชูชก รูปร่างน่าเกลียด น่ากลัว
ซึ่งพระชาลีเอง เมื่อออกไปต้อนรับ ก็ถูกชูชก ขู่ตะคอก ตะหวาดไล่
ก็รู้สึกเกรงกลัวชูชกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งถูกลากจูงเฆี่ยนตี เช่นนี้เข้า จึงมองเห็นเป็นเช่นนั้น
รูป
จิตรกรรม กัณฑ์กุมาร
รูปที่ ๑
รูป
จิตรกรรม กัณฑ์กุมาร
รูปที่ ๒
รูป
จิตรกรรม กัณฑ์กุมาร
รูปที่ ๓
๓.๙ กัณฑ์ที่ ๙ มัทรี (มัททีปัพพะ ประกอบด้วยคาถา ๙๗ คาถา)
ว่าด้วยพระนางมัทรีเห็นสุบินเป็นลางร้ายว่าจะพลัดพรากจากโอรส
จึงนำไปฝากไว้กับพระเวสสันดรก่อนออกไปหาผลหมากรากไม้ในป่า เมื่อกลับมาไม่พบพระโอรส
จึงออกติดตามหาทั้งคืนจนหมดพระกำลัง กลับมาสลบสิ้นสติต่อพักตร์พระเวสสันดร
บาลี
คาถาที่ ๖๘๙
(๑๑๘๓) เตสํ ลาลปิตํ สุตฺวา ตโต วาฬา วเน มิคา
สีโห พิยคฺโฆ
จ ทีปิ จ อิทํ วจนมพฺรวุ
ฯ
(แปล) เทวดาเหล่านั้นได้ฟังสองพระกุมารทรงพิลาปร่ำรำพันแล้ว
จึงได้กล่าวกะเทพบุตรทั้ง ๓ ว่า ท่านทั้ง ๓ จงแปลงเพศเป็นสัตว์ดุร้ายในป่า คือ เป็นราชสีห์ เสือโคร่ง
เสือเหลือง
คาถาที่ ๗๘๕
(๑๒๐๑) อิติ มทฺที วราโรหา ราชปุตฺตี
ยสฺสินี
เวสฺสนฺตรสฺส
อนุโมทิ ปุตฺตเก
ทานมุตฺตมํ ฯ
(แปล)
พระนางเจ้ามัทรีผู้ทรงพระรูปพระโฉมอันอุดม
เป็นพระราชบุตรีผู้มียศทรงถวายอนุโมทนาปุตตทาน อันอุดมของพระเวสสันดร
ด้วยประการฉะนี้แล
ความไทย
ราตรีนั้น พระนางมัทรีทรงสุบินร้าย สะดุ้งตื่น
รีบมาเล่าให้พระเวสสันดรฟัง พระเวสสันดรปลอบว่า
เพราะพระนางเคยอยู่เสวยสุขสบายในราชวัง เมื่อมาตกระกำลำบางในป่าพงไพร อาจเป็นเหตุให้พระนางต้องทรงสุบินร้ายได้
ไม่มีอะไรร้ายแรงหรอก ก่อนที่จะออกจากอาศรมเข้าไปหาผลไม้มาตามภารกิจประจำวัน
พระนางมัทรีจึงขอทูลฝากพระโอรสทั้งสองแด่พระเวสสันดรให้ดูแล ด้วยหัวใจเป็นห่วง
เพราะหวาดหวั่นภัยที่อาจเกิดจากฝันร้ายเมื่อคืนนี้ก็เป็นได้
แล้วนางก็เดินทางเข้าป่า เก็บผลไม้ตามเคย โดยที่จิตใจยังห่วงหน้าพะวงหลัง
พระนางมัทรีเข้าป่าแสวงหาผลาผล เกิดลางร้าย “เสียมหลุดจากพระหัตถ์
กระเช้าก็หลุดจากพระอังสา พระเนตรเบื้องขวาก็เขม่น
พฤกษาชาติที่มีผลก็เป็นเหมือนไม่มีผล พฤกษาชาติที่ไม่เคยมีผล
ก็ปรากฏเป็นราวกะว่ามีผล ทิศทั้งปวงก็ไม่ปรากฏ(หลงทาง)” [21]
พระนางมัทรีทรงพิจารณาว่า “นี่เป็นอย่างไรหนอ
ไม่เคยมีมาแต่ก่อนก็มามี ในวันนี้เหตุการณ์อะไรจักมีแก่เรา แก่ลูกทั้งสองของเรา
หรือแก่พระเวสสันดรราชพระสวามี กระมัง”
ในเวลาเย็น ตอนเดินทางกลับอาศรม
แม้พระนางมัทรีจะพยายามรีบกลับให้เร็ว แต่บังเอิญได้มาพบสัตว์ร้าย ๓ ตัว คือ
ราชสีห์ เสื้อโคร่ง และเสือเหลือง นอนหมอบขวางทางอยู่ พระนางก็ผ่านมาไม่ได้
จนถึงเวลาย่ำค่ำ สัตว์ร้ายทั้งสาม ซึ่งกล่าวว่าเป็นเทวดาจำแลงกายมา ก็ได้หลีกออกจากทางให้ พระนางมัทรีจึงได้เดินทางกลับมาถึงอาศรม ก็ต่อเมื่อเวลาผ่านไปถึงค่ำคืนแล้ว
การที่เทพยาดาแปลงกายเป็นสัตว์ร้ายมาขวางทาง
ก็เพื่อมิให้พระนางมัทรีได้เดินทางกลับมาเร็ว ด้วยเกรงว่าเมื่อไม่เห็นพระโอรส
พระนางจะต้องรีบติดตามพระโอรสไปได้ทัน แล้วก็จะเกิดการพิพาทกับชูชก
เรื่องปุตตปริจาค การให้โอรสเป็นทาน ของพระเวสสันตร ก็จะไม่เกิดผลดีดังที่มุ่งหมาย
ครั้นพระนางกลับมาไม่เห็นพระโอรสทั้งสอง
แม้จะส่งเสียงเรียกร้อง และออกติดตามหาทุกสถานที่
ที่โอรสทั้งสองเคยเที่ยวเล่นก็ไม่พบ พระทรงกันแสง จึงเข้าไปทูลถามพระเวสสันดร
ขั้นต้น
พระเวสสันดรทรงนิ่งเฉยเสีย
พระนางมัทรีจึงทูลพ้อว่า
“การที่พระองค์ไม่ตรัสกะหม่อมฉันนี้
เป็นทุกข์ยิ่งกว่า การที่วันนี้หม่อมฉันไม่เห็นชาลี และกัณหาชินาลูกรักทั้งสองนั้น
เหมือนแผลที่ถูกแทงด้วยลูกศร การไม่เห็นลูกทั้งสองและพระองค์ไม่ตรัสกะหม่อมฉัน แม้นี้เป็นทุกข์ซ้ำสอง
เหมือนลูกศรแทงหทัยของหม่อมฉัน
ข้าแต่พระราชบุตร
วันนี้ ถ้าพระองค์ไม่ตรัสกะหม่อมฉันตลอดราตรีนี้ พรุ่งนี้เช้า ชะรอยพระองค์จะได้ทอดพระเนตรเห็นหม่อมฉันปราศจากชีวิตตายเสียแล้ว”
เมื่อพระนางมัทรีตรัสพ้อว่า
ถามก็ไม่ตอบ เป็นเพราะอะไรแน่ พระเวสสันดรก็ใช้อุบายเพื่อดับ
คลายความโศกเพราะการไม่พบพระโอรสของพระนาง ด้วยการกล่าวโทษทำนองว่า พระนางนอกพระทัย
เพลินสนุกจนกลับมาจากป่าเมื่อค่ำมืด แม้อุบายนี้ ตอนแรกดูจะได้ผลก็จริง
แต่ก็กลับเป็นผลร้าย เมื่อพระนางมัทรีทรงน้อยพระทัยในพระสามี
พระนางมัทรี
จึงเสด็จเที่ยวค้นหาพระโอรส พระธิดาทุกซอกทุกมุม อาศัยเพียงแสงจันทร์ส่อง และแสงดาวริบหรี่
เสด็จถึงสถานที่ต่างๆ มีต้นหว้าเป็นต้น ซึ่งเป็นที่พระโอรสพระธิดาเคยเล่น
พลางร้องเรียกชื่อหา คำตอบมีแต่ความเงียบ จึงกลับมาบอกพระเวสสันดรว่า
“หม่อมฉันไม่พบคนที่นำลูกทั้งสองไป
ลูกทั้งสองคงสิ้นชนม์ชีพแล้ว ฝูงกาฝูงนกทั้งหลายไม่มีอยู่
ลูกทั้งสองของหม่อมฉันคงสิ้นชนม์ชีพเสียแล้ว
ใครนำลูกของเราไป”
พระเวสสันดรก็ยังนิ่งเฉย
พระนางออกตามหาอีกไปซ้ำตามทางเดิมถึง
๓ รอบ สิ้นระทาง ๑๕ โยชน์ (๒๔๐กิโลเมตร) ตลอดคืนจนรุ่งเช้า
และหมดความหวังกลับมาอาศรม ทรงประคองพระพาหากันแสงว่า
“ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันไม่เห็นคนที่นำลูกทั้งสองของเราไป
ลูกทั้งสองคงสิ้นชนม์ชีพแล้ว”
เมื่อความเศร้าโศกบีบคั้นหนัก
ผสมกับการไม่ได้พักผ่อนเพราะหาผลไม้ทั้งวัน แถมยังมาเที่ยวตามหาลูกรักทั้งคืน
เฉลี่ยชั่วโมงละ ๓๐ กิโลเมตร
ร่างกายพระนางก็สุดจะทนทานแบกความทุกข์ต่อไปเอาไว้ไม่ไหว
เพราะหมดเรี่ยวแรงที่จะทรงพระวรกายไหวเสียแล้ว พระนางมัทรีก็จึงหมดสติล้มลง ณ
ภูมิภาคแทบพระยุคลบาทต่อพระพักตร์ของพระเวสสันดร ที่ลานอาศรมนั้นเอง
ครั้นพระเวสสันดรทอดพระเนตรเห็นพระชายาสิ้นสติสลบล้มลงไปเช่นนั้น
ก็ตกพระทัย ลืมพระองค์ไปว่า ยังถือเพศเป็นดาบส
ตรงเข้าช้อนอุ้มร่างพระนางมัทรีขึ้นมาวางบนพระเพลาของพระองค์ ทรงกันแสง
หัตถ์บีบนวดพระวรกายตามประสายาก ครั้นทรงได้สติรู้สึกสัมผัสว่า
พระกายของพระนางมัทรียังอุ่นอยู่ มีความหวังว่า
พระนางยังไม่ถึงแก่การสิ้นพระชนม์ชีพ จึงลุกไปหยิบเต้าน้ำ เทน้ำออกมาพรม
ใช้หัตถ์ลูบชะโลมลงบนพระวรกายพระนางมัทรี อย่างจดจ่อและกังวล
ครั้นเมื่อพระนางมัทรีทรงฟื้นพระองค์ขึ้นมา
ทรงรู้สึกละอายพระทัยที่พระนางกำลังบรรทมอยู่บนเพลาของพระเวสสันดร ก็ค่อยขยับลุกขึ้นนั่ง
และทรงเลื่อนพระวรกายลงจากพระเพลา มาก้มถวายบังคมที่พื้นและขอประทานโทษ
พร้อมกับทูลถามถึงความจริงเกี่ยวกับพระโอรสทั้งสอง
พระเวสสันดร์จึงทรงบอกความจริงว่า พระองค์ได้ให้ทานแก่ชูชกไปแล้ว
และแจ้งความประสงค์ของพระองค์ว่า เพื่อบำเพ็ญบารมีจะได้บรรลุพระสัมโพธิญาณในภายหน้า พร้อมกับทรงประเล้า ประโลมพระทัยพระนางมัทรีว่า
“ถ้าเราทั้งสองยังไม่สิ้นพระชนม์เสียก่อน จะต้องได้ประสบพระโอรส
ลูกน้อยทั้งสองเป็นแน่แท้”
ครั้นได้รับฟังดังนั้น พระนางมัทรีก็ทรงสร่างโศกหายเศร้า และทรงอนุโมทนาต่อการพระราช
ทานโอรสทั้งสองเป็นทานให้แก่พราหมณ์ชูชกไป[22]
หมายเหตุ
จะยกสำนวนล้านนา มหาเวสสันตระ สำนวนสร้อยสังกร ตอน พระเวสสันดรทรงเข้าพระทัยว่า
พระนางมัทรีสิ้นพระชนม์ ก็คร่ำครวญด้วยความเสียพระทัย ทรงกันแสง พลางทรงเรียกพระขวัญทั้ง
๓๒ ของพระนางมัทรีให้กลับคืนมา ดังนี้
"ก็ร้องร่ำไห้เรียกขวัญพลางว่า
ลุกขึ้นเทอะยอดบุญขวางเฮยเมียมิ่ง
ลุกขึ้นมาเทอะเมียรักยิ่งเสมอตา
สามสิบสองขวัญนางอย่าไปล่าดงหนาเถื่อนถ้อง
ที่น้ำไหลหลิ่งช่วยด่านผาชัน
สามสิบสองขวัญนางอย่าไปอยู่ป่าไม้จวงจันทน์
ที่ดอยดงตันหนาหลืบแหน้น
ขวัญนางอย่าไปคัดคั่งแค้นมากเมามัว
บัดนี้
กูพี่เป็นผัวก็มาก้มหัวเรียกร้อง สามสิบสองขวัญมัทรีนาฏน้องจุ่งรีบเร็วมา" [23]
รูป
จิตรกรรม กัณฑ์มัทรี
รูปที่ ๑
รูป
จิตรกรรม กัณฑ์มัทรี
รูปที่ ๒
รูป
จิตรกรรม กัณฑ์มัทรี
รูปที่ ๓
๓.๑๐
กัณฑ์ที่ ๑๐ สักกบรรพ (สักกปัพพะ ประกอบด้วยคาถา
๔๙ คาถา)
ว่าด้วยพระอินทร์แปลงกายเป็นพราหมณ์แก่
แกล้งมาทูลขอพระนางมัทรี และถวายคืนพร้อมกับกำชับว่า อย่าบริจาคให้นางเป็นทานแก่ใครอีก
สุดท้ายทรงประทานพร ๘ ประการ แด่พระเวสสันดร
บาลี คาถาที่ ๗๘๖ (๑๒๐๒)
ตโตรตฺยา วิวสเน สุริยสฺสุคฺคมนํ ปติ
สกฺโก พฺรหฺมณวณฺเณน ปาโต เนสํ อทิสฺสถ ฯ
(แปล) ลำดับนั้น
เมื่อราตรีสิ้นไป พระอาทิตย์อุทัยขึ้นมา
เวลาเช้าท้าวสักกเทวราชทรงแปลงเพศเป็นอย่างพราหมณ์ ได้ปรากฏแก่สองกษัตริย์นั้น
คาถาที่ ๘๓๔
(๑๒๑๔) อิทํ วตฺวาน มฆวา เทวราชา
สุชมฺปติ
เวสฺสนฺตเร วรํ ทตฺวา สคฺคกายํ อปกฺกมิ ฯ
(แปล) ครั้นตรัสพระดำรัสเท่านี้แล้วท้าวสุชัมบดีมฆวาฬเทวราช
ทรงพระราชทานพรแก่พระเวสสันดรแล้วได้เสด็จกลับไปยังหมู่สวรรค์
ความไทย
ท้าวสักกะ
อมรินทร์ ราชาแห่งเทวโลกชั้นดาวดึงส์ ทรงดำริว่า
“เมื่อวันวานนี้
พระเวสสันดรได้ประทานปิยบุตรแก่ชูชกพราหมณ์ บัดนี้
ถ้าจะมีคนต่ำช้าผู้หนึ่งไปเฝ้าพระเวสสันดร ทูลขอพระนางมัทรีผู้สมบูรณ์ด้วยลักษณะทั้งปวง
มีศีลาจารวัตรบริบูรณ์ พาพระนางมัทรีไป ทำให้ท้าวเธออยู่คนเดียว
ท้าวเธอก็จะขาดผู้ปฏิบัติ เราจะจำแลงเพศเป็นพราหมณ์ ไปเฝ้าท้าวเธอ
ทูลขอพระนางมัทรี ให้ถือเอาทานนั้นเป็นยอดแห่งทานบารมี ทำให้ไม่ควรสละแก่ใคร ๆ
แล้วถวายพระนางเจ้านั้นคืนท้าวเธอไว้อีก แล้วกลับเทวสถานของเรา”
ท้าวสักกเทวราชก็ได้เสด็จไปสู่สำนักพระโพธิสัตว์
ในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น แปลงเพศเป็นพราหมณ์ชรา ไปขอพระนางมัทรี พระเวสสันดรจึงนำน้ำเต้ามาหลั่งน้ำลงในมือของพราหมณ์
พระราชทานปิยทารทาน(มเหสีที่รัก)แก่พราหมณ์แปลง
พระเวสสันดรก็พระราชทานให้
พร้อมกับรับสั่งว่า พระนางมัทรีนั้น พระองค์รักใคร่ดังดวงเนตร แต่รักสัพพัญญุตญาณยิ่งกว่ามากจึงยินดีให้
เสมือนแลกเอาพระสัพพัญญุตญาณไว้
แม้พระนางมัทรีก็ยินดีอนุโมทนา
ในการพระราชทานของพระเวสสันดร เพื่อร่วมทานบารมี ให้สําเร็จแก่พระสัมโพธิญาณ
เป็นเหตุให้แผ่นดินไหว เป็นอัศจรรย์
ต่อนั้นท้าวสักกะ
พราหมณ์แปลง พาพระนางมัทรีไปหน่อยหนึ่ง แล้วนำกลับมาถวายคืน ฝากพระนางมัทรีไว้
ยังไม่รับไป ขอให้อยู่ปฏิบัติพระเวสสันดร และทรงบอกว่า ตนมิได้เป็นพราหมณ์เข็ญใจ แต่หากเป็นท้าวสักกะ
จึงสําแดงกายเป็นพระอินทร์ให้ปรากฏ เหาะลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า และจะขอถวายพร ๘
ประการแก่พระองค์
พระเวสสันดรจึงตรัสว่า “ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่ของสรรพสัตว์ ถ้าพระองค์จะประทานพระพรแก่หม่อมฉัน โปรดประทานพรตามลำดับดังนี้
๑. ขอพระชนกของหม่อมฉันพึงทรงยินดี ให้หม่อมฉันกลับจากป่านี้สู่นิเวศน์ของหม่อมฉัน
พึงเชื้อเชิญด้วยราชบัลลังก์
๒. หม่อมฉันไม่ชอบการฆ่าคน แม้ทำผิดร้ายแรง พึงยังคนมีโทษให้พ้นจากการประหารชีวิต
๓. ชนเหล่าใดเป็นคนแก่
เป็นคนหนุ่ม และเป็นคนกลางคน ชนเหล่านั้นพึงอาศัยหม่อมฉันเลี้ยงชีพ
๔. หม่อมฉันไม่พึงถึงภรรยาของชนอื่น
พึงขวนขวายแต่ในภรรยาของตน และไม่พึงตกอยู่ในอำนาจแห่งสตรีทั้งหลาย
๕.
บุตรของหม่อมฉันที่พลัดพรากไปนั้น พึงมีอายุยืน พึงครองแผ่นดินโดยธรรม
๖.
เมื่อราตรีสิ้นไป พระอาทิตย์อุทัยขึ้นมา ขอให้ภิกษาหารอันเป็นทิพย์พึงปรากฏมี
๗. เมื่อหม่อมฉันบริจาคทาน
ทรัพย์สมบัติพึงไม่หมดสิ้นไป บริจาคแล้วไม่พึงเดือดร้อนภายหลัง เมื่อกำลังบริจาคพึงทำจิตให้ผ่องใส
๘. เมื่อหม่อมฉันพ้นจากอัตภาพนี้
พึงไปสู่สวรรค์ถึงชั้นดุสิตอันวิเศษ จุติจากชั้นดุสิตนั้นมาเป็นมนุษย์
พึงเป็นผู้ไม่เกิดอีก”
สรุปพร ๘
ประการ ด้วยภาษาสามัญ ดังนี้
๑.
ขอให้พระบิดามีพระเมตตาเสด็จออกมารับกลับเข้าไปครองราชสมบัติในพระนครสีพี
๒.
ขอให้ปลดปล่อยนักโทษออกจากเรือนจําทั้งมวล
๓.
ขอให้ได้อนุเคราะห์คนยากจนในแว่นแคว้น ให้บริบูรณ์ด้วยสรรพโภคสมบัติ
๔. ขออย่าให้ลุอํานาจสตรี
ก้าวล่วงภรรยาผู้อื่น ให้พอใจเฉพาะในชายาของพระองค์เท่านั้น
๕.
ขอให้เห็นพระโอรสทั้งสอง คือ พระชาลีกุมาร และนางกัณหา ทรงมีชนมายุยืน
และได้เป็นพระมหากษัตริย์ สืบราชสมบัติต่อไป
๖. ขอให้ฝนแก้ว
๗ ประการ ตกลงในเมืองสีพี ขณะเมื่อพระองค์ไปถึงพระนคร
๗. ขอให้สมบัติในท้องพระคลังอย่ารู้หมดสิ้น
ในเวลาบริจาคแก่ยาจกทั่วเมือง ด้วยน้ำพระทัยไม่ท้อถอยในเวลาบําเพ็ญทาน
๘.
เมื่อทิวงคตแล้ว ขอให้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต เมื่อจุติลงมาเป็นมนุษย์
ให้ได้บรรลุพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ
ท้าวสักกะเทวราช
ก็ตรัสประสิทธิ์ประสาทให้สมมโนรถ และตรัสว่าในไม่ช้า พระชนกก็จะเสด็จออกมารับพระองค์กลับคืนเข้าไปครองราชสมบัติ
อย่าทรงวิตก อาดูรพระทัย อุตสาห์บำเพ็ญเนกขัมมบารมีตามทางพุทธางกูรสืบไปเถิด
แล้วพระอินทร์ก็เสด็จกลับเทวโลก[24]
รูป
จิตรกรรม กัณฑ์สักกบรรพ์
พระอินทร์
พราหมณ์แปลงมาขอนางมัทรี
๓.๑๑
กัณฑ์ที่ ๑๑ มหาราช (มหาราชปัพพะ
ประกอบด้วยคาถา ๗๗ คาถา)
ว่าด้วย ชูชกนำ ๒ กุมาร เดินทางจากเขาวงกต ตลอดเวลาที่รอนแรมในป่า ชูชกจะผูกเปลนอนที่ค่าคบไม้ เอาเถาวัลย์ผูกข้อมือล่าม ๒
กุมารไว้ที่โคนต้นไม้ ให้นอนบนพื้นดิน กันการหลบหนี เทวดาก็มาปกป้อง
เหมือนพ่อแม่มาคุ้มครองทุกราตรี จนเดินทางไปถึงนครสีพี พระเจ้าปู่สัญชัย
ได้ไถ่ตัวหลาน รับขวัญและมอบสมบัติใหชูชก เลี้ยงดูถึงขนาด ชูชกยาจกนักขอกินอาหารไม่รู้จักประมาณ
อาหารไม่ย่อย สิ้นชีพลง และพระเจ้าสัญชัยก็เตรียมทัพ กำหนดวันออกไปอัญเชิญพระเวสสันดรกลับคืนนคร
จากเขาวงกต ตามคำขอของพระชาลี ดังความว่า
บาลี
คาถาที่ ๘๓๕
(๑๒๑๕) กสฺเสตํ มุขมาภาติ เหมํ วุตฺตตฺตมคฺคินา
นิกฺขํว ชาตรูปสฺส อุกฺกามุขปสํหิตํ ฯ
(แปล) นั่นหน้าของใครหนองามยิ่งนัก
ดังทองคำอันนายช่างหลอมด้วยไฟสุกใส หรือดังแท่งทองคำอันละลายคว้างที่ปากเบ้า
คาถาที่ ๙๑๑
(๑๒๔๐) เต คนฺตวา ทีฆมทฺธานํ อโหรตฺตานมจฺจเย
ปเทสนฺตํ อุปาคญฺฉํ ยตฺถ
เวสฺสนฺตโร อหุ ฯ
(แปล) พระเจ้าสัญชัยพร้อมทั้งราชบริพารเหล่านั้น
เสด็จไประยะทางไกลล่วงหลายวันหลายคืน จึงบรรลุถึงประเทศที่พระเวสสันดรประทับอยู่
ความไทย
เมื่อชูชกได้รับพระราชทานสองกุมาร คือ
พระชาลีและพระนางกัณหาจากพระเวสสันดรแล้ว ก็พาเดินมาตามทางในป่าใหญ่
ค่ำลงที่ไหนก็ผูกสองกุมารไว้ที่โคนต้นไม้ ตัวแกเองปีนขึ้นต้นไม้ผูกเปลนอนเพื่อให้พ้นภัยจากสัตว์ร้ายหากจะพึงมีขึ้นในค่ำคืนนั้น
ๆ
ในเวลากลางคืน
ก็มีเทพบุตรเทพธิดา ๒ ตน มีความสงสารสองกุมารมาก จึงแปลงร่างกายคล้ายพระเวสสันดร
และพระนางมัทรี เดินมาพบกุมารทั้งสองแล้ว ก็จัดแจงแก้เถาวัลย์ที่ผูกข้อมือออก
จัดให้อาบน้ำชําระร่างกาย ให้บริโภคอาหารอันเป็นทิพย์ และให้นอนเหนือตัก กล่อมให้หลับสนิท
ครั้นจวนสว่าง ก็จัดแจงผูกสองกุมารไว้เช่นเดิม แล้วก็อันตรธานไป
พากันบํารุงสองกุมารโดยวิธีนี้ ตลอดเส้นทางที่พักแรมในป่าทุกราตรี
ครั้นเวลาเช้า
ชูชกลงจากต้นไม้ พาสองกุมารเดินทางต่อไป ค่ำลงที่ไหนก็พักแรมที่นั่น
โดยวิธีการดังกล่าวข้างต้น
ครั้นเดินมาถึงทางแยกสองแพร่ง
ทางหนึ่งจะนำไปนครกาลิงคะ อีกทางหนึ่งจะนำไปนครสีพี
เทพเจ้าดลใจให้ชูชกหลงทาง
เลือกเดินไปทางที่จะไปสู่นครสีพี
เป็นเวลาเวลา ๑๕
ราตรี ชูชกก็พาสองกุมารมาถึงพระนครสีพี
ในคืนวันสุดท้าย
ที่ชูชกจะพาสองกุมารมาถึงนครสีพีนั้น พระเจ้ากรุงสัญชัย ทรงสุบินในเวลาใกล้รุ่งว่า
มีบุรุษผู้หนึ่ง นําดอกบัวงามสองดอกมาถวาย
พระองค์ทรงรับไว้ด้วยพระหัตถ์แล้วยกขึ้นทัดพระกรรณ กลิ่นดอกบัวหอมตลบชื่นพระนาสา
เมื่อทรงตื่นบรรทม
โปรดให้โหรหลวงมาทํานายพระสุบินนิมิต โหรทํานายว่า
จะทรงพบพระญาติที่สนิทในเร็ววันนี้ พระองค์ทรงปราโมทย์ยินดียิ่งนัก
ครั้นได้เวลา
ก็เสด็จออกมาประทับยังหน้าพระลานหลวง ไม่ช้า ชูชกก็พาสองกุมารเดินทางมาถึงหน้าพระที่นั่ง
เทพเจ้ากําบังมิให้ใครรู้จัก หรือทักท้วงห้ามปรามแต่อย่างใด
จนพระเจ้ากรุงสัญชัยทอดพระเนตรเห็นสองกุมาร ก็โปรดให้อํามาตย์นักการไปนําชูชกและสองกุมารมาเข้าเฝ้า
และบัญชาให้ชูชกเล่าถึงการไปนําสองกุมารมาแต่เขาวงกตจนถึงนครสีพี ดังความว่า
ขณะนั้น พระเจ้าสัญชัยทอดพระเนตรดูมรรคา
ทรงเห็นสองกุมาร มองดูคล้ายหลานของพระองค์ จึงให้พนักงานไปตามมาเข้าเฝ้า
ก็คาดคั้นชูชกว่า ได้เด็กสองคนมาแต่ไหน ก็ทราบว่าพระเวสสันดรให้ทานมา
พระเจ้ากรุงสัญชัยเห็นหลานแล้วก็ถามว่า
“ทำไมไม่มานั่งที่ตักปู่และย่าเหมือนแต่ก่อน”
สองกุมารทูลว่า “ยังเป็นทาสพราหมณ์”
พระเจ้าสัญชัยจะไถ่พระนัดดา
จึงถามถึงค่าตัวของแต่ละพระองค์ ก็เสียค่าไถ่พระนัดดาสองกุมารให้เป็นไทจากพราหมณ์ชูชก
โปรดให้เจ้าพนักงานเชิญพระชาลีและพระนางกัณหาเข้าห้องสรง
ชําระพระองค์ให้หมดจดด้วยสุคันธรสวารี ตกแต่งพระอินทรีย์ด้วยเครื่องกษัตริย์ คือ
อาภรณ์โขมพัสตร์ และสร้อยสุพรรณรัตนสังวาลย์
แล้วอัญเชิญเข้าสู่งานพระราชพิธีสมโภชรับขวัญ
ในการกลับมาจากป่าหิมวันต์เข้าสู่พระนครโดยสวัสดี ทรงมอบปราสาทให้ชูชก
เลี้ยงดูอย่างดี พลางถามข่าวของพระเวสสันดร
พระชาลีก็รําพันความทุกข์ร้อนของพระบิดาและพระมารดา
ตั้งต้นแต่การแสวงหาผลไม้และรากไม้ในป่า อันเป็นความทุกข์ทรมานสุดประมาณ
ก่อให้เกิดความสงสารแก่พระอัยกาเป็นอย่างหนักว่า
“พระชนกชนนีทั้งสองของหม่อมฉัน
ไม่ค่อยมีพระโรคาพาธ ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการเสาะแสวงหาผลาหารสะดวกดี และมูลผลาหารก็มีมาก
อนึ่ง เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลาน มีบ้างก็เล็กน้อย ความเบียดเบียนให้ลำบาก
ในวนประเทศที่เกลื่อนไปด้วยเนื้อร้าย ก็ไม่ค่อยมีแด่พระชนกพระชนนีทั้งสองนั้น
พระชนนีของหม่อมฉันทั้งสองเสด็จไปขุดมัน กระชากมันอ่อน มันมือเสือ มันนก
และนำผลกะเบา ผลจาก ผลมะนาว มาเลี้ยงกัน พระชนนีเป็นผู้หามูลผลในป่า
ทรงนำมาซึ่งมูลผลใด หม่อมฉันทั้งหลายประชุมพร้อมกันเสวยมูลผลนั้น ในเวลากลางคืน ไม่ได้เสวยในเวลากลางวัน”
“พระชนนีของหม่อมฉันทั้งสองเป็นสุขุมาลชาติ ต้องทรงหาผลไม้ในป่ามาเลี้ยงกัน
จนทรงซูบมีพระฉวีเหลือง เพราะลมและแดด ดุจดอกปทุมอยู่ในกำมือ
เมื่อพระชนนีเสด็จเที่ยวอยู่ในป่าใหญ่ ซึ่งเกลื่อนไปด้วยพาลมฤค
มีแรดและเสือเหลืองอยู่อาศัย พระเกสาก็ยุ่งเหยิง พระองค์เกล้าพระชฎาบนพระเกสา
ทรงเปรอะเปื้อนที่พระกัจฉประเทศ พระชนกทรงเพศบรรพชิตผู้ประเสริฐ ทรงถือไม้ขอ
ภาชนะเครื่องบูชาเพลิงและชฎา ทรงหนังเสือเหลืองเป็นพระภูษา ทรงบรรทมเหนือแผ่นดิน
นมัสการเพลิง”
การเสวยอาหารขณะอยู่ในป่า กษัตริย์ทั้ง
๔ ได้เสวยเพียงวันละมื้อ และเฉพาะอาหารค่ำเท่านั้น
เข้าทำนองลำบากมาก ดังคำพังเพยว่า หาเช้า กินค่ำแท้ ๆ
พระชาลีเมื่อจะทูลท้วงพระอัยกา
จึงถามว่า
“ลูกทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลก
ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์ผู้เป็นพ่อแม่ทั้งหลาย พระอัยกาของหม่อมฉันทั้งสอง คงไม่เกิดเสน่หาในพระโอรสเป็นแน่ทีเดียว”
พระเจ้าสัญชัยเมื่อทราบว่า
พระเวสสันดรพร้อมพระนางมัทรีดำรงชีวิตอยู่ป่าอย่างยากลำบากแสนเข็ญเช่นนี้
จึงเพิ่มพูนความรักในพระโอรสด้วยระลึกถึงความหลัง จึงตรัสว่า
“ใช่พระอัยกาจะชิงชังแล้วขับพระพ่อเจ้าก็หาไม่
หากเพราะชาวเมืองมันใส่ไคล้ให้เชื่อด้วยมารยา
จึงขับพระบิดาและพระมารดาให้นิราศไปหิมพานต์
เราทำผิดต่อลูกผู้ไม่มีความผิด เพื่อไถ่โทษพ่อจะยกราชสมบัติให้ครองสืบแทน”
พระชาลีจึงทูลวิงวอนพระเจ้ากรุงสัญชัย
ให้ยกทัพแสนยากรครรไลไปรับพระบิดาและพระมารดา กลับคืนยังพระพาราสีพี
พระอัยกาก็ทรงยินดีดังคําพระนัดดา จึงตรัสสั่งให้เกณฑ์โยธากระบวนทัพ
เร่งรัดให้สรรพเสร็จในเจ็ดวัน ไปเขาวงกต ไปเชิญพระโอรสทั้งสองกลับคืนมาครองธานี
ส่วนชูชกนักภิกขาจาร กินอาหารเกินขนาด
เตโชธาตุไม่ย่อย พยุงเอาชีวิตไม่รอด ในที่สุดก็ดับจิต ชีวิตตักษัย
พระเจ้ากรุงสัญชัย
จึงให้ประกาศหาทายาทของชูชก มารับมรดกที่ได้รับพระราชทานไว้ เมื่อไม่มีผู้ใดมารับ ก็โปรดให้นํากลับเข้าเป็นของหลวงตามประเพณี
ครั้นใกล้เวลาจะให้เคลื่อนโยธีทวยทหาร
ก็พอดีพระเจ้ากรุงกาลิงคะ โปรดให้พราหมณ์นำ
คชสารปัจจัยนาค ที่พระเวสสันดรทรงบริจาค กลับไปคืนถวายยังพระนครสีพีเหมือนเดิม
พระเจ้ากรุงสัญชัยก็ทรงเปรมปรีดิ์ปราโมทย์ โปรดให้นําช้างปัจจัยนาคเข้ากระบวนทัพ
เพื่อให้รับพระเวสสันดรยังสิงขรเขาวงกต ตามกําหนดรุ่งอรุณราตรี
โปรดให้พระชาลีทรงช้างปัจจัยนาคนํากระบวนทัพ
เสียงช้างม้าร้อง ฆ้องแตรกระแสศัพท์ ดังสนั่นมี่ ครั้นได้ฤกษ์กษัตริย์ทั้งสี่คือ
พระเจ้ากรุงสัญชัย พระนางผุสดี พระชาลี และพระนางกัณหา พร้อมด้วยกระบวนทัพ ก็ยาตราจากพระนคร
มุ่งหน้าตรงยังเขาวงกต ซึ่งเป็นที่ตั้งอาศรมแห่งแห่งพระเวสสันดรราชฤาษี ได้ ห้าสิบสาม(53)
ราตรี จึงถึงอาศรมสถาน พระเวสสันดรและพระนางซึ่งทรงเพศเป็นพระฤาษี สํารวมกายใจ สมควรแก่วิสัยผู้ประพฤติพรหมจรรย์ [25]
รูป
จิตรกรรมกัณฑ์มหาราช
เทพบุตร
เทพธิดาแปลงเป็นพระเวสสันดร พระนางมัทรี มาปกปักรักษาในกลางป่า ยามราตรี
๓.๑๒ กัณฑ์ที่ ๑๒ ฉกษัตริย์ (ฉขัตติยปัพพะ
ประกอบด้วยคาถา ๔๓ คาถา)
ว่าด้วยกษัตริย์ ทั้ง ๖ พระองค์ได้มาพบกันที่อาศรมพระเวสสันดร
ต่างกันแสงโศกเศร้า พิไรรำพันที่ต้องพลัดพรากกันจนสิ้นสติลง พระอินทร์ก็บันดาลฝนแก้ว โบกขรพัสส์ตกลงมา
ชำระความโศกของทุกคนให้ชื่นใจ
ชาวนครสีพีก็ขอเชิญพระเวสสันดรลาผนวชจากฤาษี กลับไปครองนครสีพีดังเดิม
บาลี
คาถาที่ ๙๑๒ (๑๒๔๑) เตสํ สุตฺวาน นิคฺโฆสํ ภีโต เวสฺสนฺตโร อหุ
ปพฺพตํ อภิรูหิตฺวา ภีโต
เสนํ อุทิกฺขติ ฯ
(แปล) พระเวสสันดรได้ทรงสดับเสียงกึกก้องแห่งกองพลเหล่านั้น
ก็ตกพระทัยกลัวเสด็จขึ้นภูเขา ทรงหวาดกลัวทอดพระเนตรดูกองพลเสนา
คาถาที่ ๙๕๔
(๑๒๕๖) เวสฺสนฺตรญฺจ มทฺทิญฺจ สพฺเพ
รฏฺฐา สมาคตา
ตฺวํ โนสิ อิสฺสโร ราชา รชฺชํ กาเรถ โน อุโภ ฯ
(แปล) พระองค์เป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งข้าพระบาททั้งหลาย
ขอทั้งสองพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดรับเสวยราชสมบัติเป็นพระราชาแห่งข้าพระบาททั้งหลายเทอญ.
ความไทย
เมื่อพระเจ้ากรุงสัญชัย
ทรงดําเนินทัพไปตามระยะทางโดยไม่เร่งร้อน ทรงอาศัยพระชาลีกุมาร นําทางมาโดยลําดับ
เป็นเวลา ๑ เดือนกับ ๒๓ วัน (53 วัน) ก็ถึงเขาวงกต
ใกล้อาศรมพระเวสสันดรแล้ว โปรดให้หยุดทัพอยู่ในที่ใกล้สระโบกขรณีมุจจลินทร์
ให้บ่ายหน้ารถกลับพระนครสีพี ด้วยถึงสุดที่หมายปลายทางแล้ว เสียงทหารทั้ง ๔ เหล่า
ต่างโห่ร้อง กึกก้องกัมปนาท สะเทือนสะท้านลั่นป่าหิมพานต์
พระเวสสันดรทรงสดับเสียงทวยทหารบรรลือลั่นเช่นนั้น
ก็ทรงตกพระทัย คิดไปว่าชะรอยจะเป็นอริราช ข้าศึกยกมาตีพระนครสีพีได้แล้ว ก็รีบเดินทัพมุ่งมาจะจับพระองค์ไปประหารพระชนม์ชีพ
พระเวสสันดรจึงตรัสชวนพระนางมัทรีขึ้นไปแอบดูทหารบนภูเขา แม้อย่างนั้นแล้ว
ก็ยังทรงแน่พระทัยว่าเป็นข้าศึกใหญ่อยู่ ถึงกับทรงกันแสงกับพระนางมัทรีว่า
“ถึงวาระของพระองค์จะต้องสิ้นพระชนม์ครั้งนี้แล้ว
ไม่มีวิธีหลีกเลี่ยงให้พ้นได้ เพราะเวรกรรมแต่ปางก่อน”
ส่วนพระนางมัทรีกลับเห็นต่างไปว่า
นั่นเป็นกองทัพของพระราชบิดายกมารับพระองค์กลับพระนคร
จึงมีหน้าตาเบิกบานยิ้มแย้มแจ่มใส ทูลพระเวสสันดรว่า
“กองทัพที่ยกมาหาใช่เป็นอริราชศัตรูติดตามมาจับไม่
ชะรอยจะเป็นทัพของสมเด็จพระราชบิดา ยกมารับกลับพระนครเป็นแน่
สมดังกระแสพระดําริที่ทรงคิดไว้แล้ว และสมกับพรที่ท้าวสักกอมรินทร์
ทรงประทานไว้ด้วย เพราะทวยทหารที่ยกมาแต่งเครื่องเป็นมงคล ไม่ใช่ลักษณะออกศึกเลย
ขอพระองค์อย่าได้กินแหนงแคลงพระทัยเลย”
พระเวสสันดรทรงกลับได้สติ
เพ่งพิจารณาลักษณะการแต่งกายของทหารตามคําทูลของพระนางมัทรี ก็ทรงเห็นสอดคล้องด้วย
มีความปีติโสมนัส ชวนพระนางมัทรีเสด็จลงจากภูเขามาประทับนั่งที่หน้าพระอาศรม
ทําพระทัยให้มั่นคง มิให้ความยินดีดาลใจให้ฟูจนลิงโลดออกมาทางกาย วาจา
ให้เสียภูมิปราชญ์ คอยต้อนรับพระราชบิดาด้วยพระอาการปรกติ
ก่อนที่พระเจ้ากรุงสัญชัยจะเสด็จเข้าไปพบพระเวสสันดร
ได้ทรงรับสั่งกำชับกะพระนางผุสดีว่า
“เมื่อพวกเราทั้งหมดเข้าไปพร้อมกัน
จักมีความเศร้าโศกใหญ่ ฉันจะไปก่อน ต่อนั้น เธอจงกำหนดดูว่า เดี๋ยวนี้
พวกเข้าไปก่อนจักบรรเทาความเศร้าโศกนั่งอยู่แล้ว พึงไปด้วยบริวารใหญ่ ถัดจากนั้น
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินา รออยู่สักครู่หนึ่ง แล้วจงไปภายหลัง”
พระเจ้าสัญชัยเสด็จลงจากคอช้างเสด็จไปสู่สำนักของพระราชโอรส
พระเวสสันดรและพระนางมัทรีทอดพระเนตร
เห็นพระราชบิดาผู้มีความรักในพระโอรสนั้น เสด็จมา จึงเสด็จลุกขึ้นต้อนรับถวายบังคม
ฝ่ายพระนางมัทรีทรงซบพระเศียรอภิวาทแทบพระบาทพระสัสสุระ กราบทูลว่า
“หม่อมฉันมัทรีผู้สะใภ้ของพระองค์
ขอถวายบังคม ณ พระยุคลบาทของพระองค์”
พระเจ้าสัญชัยทรงสวมกอดสองกษัตริย์
ฝ่าพระหัตถ์ลูบพระปฤษฎางค์อยู่ไปมา ณ อาศรมนั้น ทรงกันแสงคร่ำครวญ
ครั้นสร่างโศกแล้วก็ไต่ถามความสุขความทุกข์กัน
พระเวสสันดรทูลว่า
“ข้าแต่พระบิดา ความเป็นอยู่ของหม่อมฉันทั้งหลายเป็นทุกข์
เพราะหม่อมฉันทั้งหลายมีชีวิตอยู่ด้วยการเที่ยวเสาะแสวงหามูลผลาหาร หม่อมฉันทั้งหลายมีความเศร้าโศกอยู่ในป่า
จะมีความสุขอย่างไรได้”
แล้วถามข่าวหาพระโอรส-ธิดา
“ทายาทผู้มีมโนรถยังไม่สำเร็จ
ของพระองค์ผู้ประเสริฐของชาวสีพี คือพ่อชาลีและแม่กัณหาชินาทั้งสองตกอยู่ในอำนาจของพราหมณ์ร้ายกาจเหลือเกิน.
แกตีพ่อชาลีและแม่กัณหาชินา ดุจคนตีฝูงโค. ถ้าพระองค์ทรงทราบ
หรือได้สดับข่าวลูกทั้งสองของพระราชบุตรีมัทรีนั้น.
ขอได้โปรดตรัสบอกแก่หม่อมฉันทั้งสองทันที ดุจหมองูเยียวยามาณพที่ถูกงูกัด ฉะนั้น”
“หลานทั้งสอง คือ ชาลีและกัณหาชินา
พ่อได้ให้ทรัพย์แก่พราหมณ์ชูชกไถ่ไว้แล้ว เจ้าอย่าวิตกเลย จงโปร่งใจเถิด”
ต่อนั้นพระนางผุสดี
พระมารดา ก็เสด็จเข้าไป และทะทอยตามด้วยสองกุมาร เสด็จเข้าไปยังอาศรม
พระนางมัทรี พอทอดพระเนตรเห็นพระโอรสธิดาปลอดภัยโดยไม่มีอันตรายใด
ๆ ก็ไม่สามารถจะทรงพระวรกายอยู่ด้วยภาวะของพระองค์ได้ พระวรกายสั่นเทิ้ม
คร่ำครวญด้วยพระสุรเสียงอันดัง ลุกขึ้นเสด็จไปจากที่นั้น ดุจแม่โคมีลูกอ่อน
แล้วถึงวิสัญญีภาพล้มลงเหยียดยาวเหนือปฐพี
ฝ่ายพระชาลีและพระกัณหาก็เสด็จมาโดยเร็วถึงพระชนนี
ก็ถึงวิสัญญีภาพล้มลงทับพระมารดา
ในขณะนั้น พระขีรธารน้ำนมก็ไหลออกจากพระยุคลถันของพระนางมัทรี
เข้าสู่พระโอษฐ์แห่งกุมาร กุมารี ทั้งสอง
ฝ่ายพระเวสสันดรทอดพระเนตรเห็นพระปิยบุตรและพระปิยบุตรี
ก็ไม่อาจทรงกลั้นโศกาดูรไว้ ก็ถึงวิสัญญีภาพล้มลง
แม้พระชนกและพระชนนีก็ถึงวิสัญญีภาพล้มลง
เหล่าอำมาตย์หกหมื่นผู้เป็นสหชาติของพระมหาสัตว์
เห็นกิริยาของ ๖ กษัตริย์ดังนั้น ก็ถึงวิสัญญีภาพล้มลงเหมือนกัน
ราชบริพารทั้งหลายที่เห็นเหตุการณ์อันน่าสงสารนั้น
แม้คนหนึ่งก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้โดยภาวะของตน อาศรมบททั้งสิ้นได้เป็นเหมือนป่ารัง อันลมยุคันตวาตย่ำยีแล้ว
ท้าวสักกเทวราชทรงดำริว่า
กษัตริย์ทั้ง ๖ องค์ พร้อมด้วยราชบริษัทถึงวิสัญญีภาพ ไม่มีใครแม้คนหนึ่งที่สามารถจะลุกขึ้น
รดน้ำลงบนสรีระของใครได้ เราจักให้ฝนโบกขรพัสส์ตกลงเพื่อชนเหล่านั้น
จึงบันดาลให้ฝนโบกขรพัสส์ตกลง
ณ สมาคมแห่งกษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ ประพรมให้ได้สติคืนชื่นบานพระทัย ยังกษัตริย์ทั้ง
6และมหาชนให้สร่างโศก เพราะอัญญมัญญวิปโยค ดังพรรณนามา
ต่อนั้นมหาอํามาตย์
ราชปุโรหิต จึงได้พร้อมกันทูลอัญเชิญให้พระเวสสันดรทรงลาผนวช
เสด็จกลับไปครองราชสมบัติ ในพระนครสีพีเหมือนเดิม ซึ่งทวยราษฎร์ทั้งมวลล้วนมีความยินดีพร้อมกันถวายให้พระองค์เป็นกษัตริย์ปกครองราชอาณาจักรสืบไป[26] ดังคำว่า
“ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์จงเป็นนาย เป็นใหญ่ เป็นบิดาของข้าพระองค์ทั้งหลาย มหาชนประสงค์จะอภิเษกทั้งสองพระองค์
ในที่นี้นี่แหละ แล้วนำเสด็จสู่พระนคร ขอพระองค์จงรับเศวตฉัตร
อันเป็นของมีอยู่แห่งราชสกุล”
ในเวสสันตรจริยา
ก็เล่าสรุปว่า
“เมื่อพระมารดาและพระบิดาเสด็จมาพร้อมกัน ณ ป่าใหญ่
ทรงกรรแสงสะอึกสะอื้นน่าสงสาร ตรัสถามถึงสุขทุกข์กันอยู่
เราได้เข้าเฝ้าพระมารดาและพระบิดาทั้งสอง ผู้เป็นที่เคารพ ด้วยหิริและโอตตัปปะ
แม้ในกาลนั้น แผ่นดินเขาสิเนรุราช และป่าหิมพานต์ ก็หวั่นไหวอีกครั้งหนึ่ง เรากับบรรดาพระญาติของเราออกจากป่าใหญ่
จักเข้าสู่พระนครเชตุดร อันเป็นนครน่ารื่นรมย์ แก้ว ๗ ประการ ตกลงแล้ว
มหาเมฆยังฝนให้ตก แม้ในกาลนั้นแผ่นดิน เขาสิเนรุราชและป่าหิมพานต์ ก็หวั่นไหว
แม้แผ่นดินนี้ ไม่มีจิตใจ ไม่รู้สุขและทุกข์ ก็หวั่นไหวถึง ๗ ครั้ง
เพราะกำลังแห่งทานของเรา”[27]
รูป
จิตรกรรม
กัณฑ์ฉกษัตริย์
กษัตริย์ 6 พระองค์พบกันที่
อาศรมในเขาวงกต
๓.๑๓ กัณฑ์ที่ ๑๓
นครกัณฑ์ (ประกอบด้วยคาถา ๔๖ คาถา)
ว่าด้วย
พระเจ้ากรุงสัญชัย และชาวนครสีพี ได้ขอขมาโทษต่อพระเวสสันดรที่ได้ขับไล่เนรเทศออกไปจากเมืองโดยไม่พิจารณา
ครั้นพระเวสสันดรลาผนวช ก็ประกอบพิธีราชาภิเศกที่พลับพลามงคล บริเวณอาศรมนั้น ครั้นได้เวลากำหนดฤกษ์ ก็ยกขบวนเสด็จนิวัตกลับพระนคร
พร้อมด้วยพระเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ ด้วยจาตุรงคเสนา พระเวสสันดรเสด็จขึ้นคอคชสารปัจจัยนาค
ช้างพระที่นั่งท่ามกลางเสนาอามาตย์ราชบริพาร เดินทางรอนแรมกลับมาอย่างสบาย
มิได้เร่งร้อน เป็นเวลาสองเดือน (60 วัน) ก็ถึงพระนครสีพี
บาลี
คาถาที่ ๙๕๕
(๑๒๕๗) ธมฺเมน รชฺชํ กาเรนฺตํ รฏฺฐา ปพฺพาชยิตฺถ มํ
ตฺวญฺจ ชานปทา
เจว เนคมา จ สมาคมา ฯ
(แปล) ฝ่าพระบาท
ชาวชนบทและชาวนิคม พร้อมใจกันเนรเทศข้าพระบาทผู้ครองราชสมบัติโดยธรรม จากแว่นแคว้น
คาถาที่ ๑,๐๐๐
(๑๒๖๙) ตโต เวสฺสนฺตโร ราชา ทานํ
ทตฺวาน ขตฺติโย
กายสฺส เภทา สปฺปญฺโญ สคฺคํ โส อุปปชฺชถาติ ฯ
(แปล) ลำดับนั้น
พระเวสสันดรบรมกษัตริย์ผู้มีพระปัญญา ทรงบำเพ็ญทานแล้ว ครั้นสวรรคต พระองค์ก็ได้เสด็จเข้าถึงสวรรค์
ฉะนี้แล
ความไทย
เมื่อพระเวสสันดรราชฤาษีได้สดับคําพระราชบิดา
ตรัสเชื้อเชิญให้ลาผนวชออกไปครองราชสมบัติ ก็รับสั่งทูลพ้อพระราชบิดา
ประวิงการรับอาราธนาไว้พลางก่อนว่า
“เมื่อกระหม่อมฉันปฏิบัติราชการกรณียกิจโดยทศพิธราชธรรมแล้ว
ไฉนพระราชบิดาจึงลงโทษเนรเทศจากพระนคร มารับความทุกข์ยากแค้นแสนสาหัส ในพงไพรไม่สมควรเลย
พระเจ้าข้า ?”
พระเจ้ากรุงสัญชัยตรัสสารภาพรับผิด
“เป็นด้วยพ่อ
เขลาหลงเชื่อคนยุยง ลงโทษลูกผู้ซึ่งหาความผิดมิได้”
ตรัสขอขมาโทษ
และตรัสวอนขอพระราชโอรสให้ลาผนวชออกไปรับราชสมบัติ
ต่อนั้น พระเวสสันดรก็รับอัญเชิญ
พร้อมทั้งนางมัทรี ทรงลาผนวช เจ้าพนักงานภูษามาลาขอให้สรงสนาน ชำระพระวรกาย พระเวสสันดรเข้าไปภายในบรรณศาลา
เปลื้องเครื่องฤาษีเก็บไว้ ทรงเครื่องสีขาวออกมา ทำประทักษิณรอบบรรณศาลา
๓ รอบ แล้วกราบเบญจางคประดิษฐ์ ด้วยความกตัญญูต่อสถานที่ว่า
เป็นที่ให้การพำนักเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ตั้ง ๙ เดือนครึ่ง
เจ้าพนักงานมีภูษามาลาเป็นต้น
ก็ทำกิจ มีเจริญพระเกสา และพระมัสสุเป็นต้น(ตัดผม โกนหนวด) ชนทั้งหลายก็ได้อภิเษกพระเวสสันดร ผู้ประดับด้วยราชาภรณ์ทั้งปวง
เป็นผู้รุ่งเรืองดุจเทวราช ในราชสมบัติ
ฝ่ายนางสนมกัญญาทั้งปวงให้พระนางมัทรีสนานพระวรกาย
แล้วตกแต่งพระองค์ถวายอภิเษก เมื่อถวายการรดน้ำสำหรับอภิเษก ณ
พระเศียรแห่งพระนางมัทรี ได้กล่าวมงคลทั้งหลายเป็นต้นว่า
“ขอพระเวสสันดรจงทรงอภิบาลพระแม่เจ้า
ขอพระชาลีและพระกัณหาชินาทั้งสองพระองค์ จงอภิบาลพระแม่เจ้า อนึ่ง ขอพระเจ้าสัญชัยมหาราช
จงคุ้มครองรักษาพระแม่เจ้าเถิด”
พระนางมัทรีได้ตรัสให้พรแก่พระโอรสและพระธิดาว่า
“ลูกรักทั้งสองของแม่
เมื่อก่อน แม่กินอาหารมื้อเดียว นอนเหนือแผ่นดินเป็นนิตย์ แม่ได้ประพฤติอย่างนี้
เพราะใคร่ต่อลูก(อยากพบหน้าลูกเปฺ็น ๆ) วัตรนั้นสำเร็จแล้วแก่แม่ในวันนี้
เพราะอาศัยลูกทั้งสอง วัตรนั้นเกิดแต่แม่ก็ตาม เกิดแต่พ่อก็ตาม จงอภิบาลลูก อนึ่ง
ขอพระมหาราชสัญชัยจงคุ้มครองลูก บุญอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งแม่และพ่อได้บำเพ็ญไว้
จงสำเร็จแก่ลูก ด้วยอำนาจบุญกุศลนั้นทั้งหมด ขอลูกจงอย่าแก่ (เร็ว) อย่าตาย
(เร็ว)”
เครื่องทรงพระนางมัทรี
พระนางผุสดีราชเทวีได้ประทาน
กัปปาสิกพัสตร์ โขมพัสตร์ และ โกสุมพรพัสตร์
อันเป็นเครื่องทรงงดงามแก่พระนางมัทรีผู้พระสุณิสา แต่นั้น พระนางเจ้าประทานเครื่องประดับพระศอแล้วไปด้วยทองคำ
เครื่องประดับต้นพระกร เครื่องประดับบั้นพระองค์แล้วไปด้วยแก้วมณี เครื่องประดับพระศออีกชนิดหนึ่ง
สัณฐานดุจผลอินทผลัมแล้วไปด้วยทองคำ เครื่องประดับพระศอแล้วไปด้วยรัตนะ
เครื่องประดับพระนลาตซึ่งขจิตด้วยสุวรรณเป็นต้น เครื่องประดับวิการด้วยสุวรรณ
ส่วนพระกายมีพระทนต์เป็นอาทิ เครื่องประดับมีพรรณต่างๆ แล้วไปด้วยแก้วมณี
เครื่องประดับทรวง เครื่องประดับบนพระอังสา เครื่องประดับบั้นพระองค์ชนิดแล้วไปด้วยสุวรรณและหิรัญ
เครื่องประดับที่พระบาทและเครื่องประดับที่ปักด้วยด้ายและมิได้ปักด้วยด้าย อันเป็นเครื่องงดงามแห่งพระนางมัทรีผู้พระสุณิสา
ความสง่างามของพระนางมัทรี
พระนางมัทรีผู้ราชบุตรีทรงเพ่งพินิจพระวรกายอันยังบกพร่องด้วยเครื่องประดับนั้น
ๆ ก็ทรงประดับให้บริบูรณ์ งดงามดุจเทพกัญญาในนันทวัน พระนางมัทรีสนานพระเศียร ทรงพระภูษาอันสะอาด
ประดับด้วยราชปิลันธนาภรณ์ทุกอย่าง งามดุจเทพอัปสรในดาวดึงส์พิภพ วันนั้น เสด็จลีลาศงามดังกัทลีชาติต้องลมที่เกิดอยู่
ณ จิตรลดาวัน สมบูรณ์ด้วยริมพระโอษฐ์มีสีแดง ดังผลตำลึงและพระนางมีพระโอษฐ์แดงดังผลนิโครธสุกงาม
ประหนึ่งกินรี อันเรียกว่า มานุสินี เพราะเกิดมา มีสรีระดุจมนุษย์ มีปีกอันวิจิตรกางปีกร่อนไปในอัมพรวิถี
พระเวสสันดรและพระนางมัทรี
กษัตริย์ทั้งสองพระองค์เสด็จเข้ามงคลราชพิธีราชาภิเศก
ในมงคลสถานซึ่งเจ้าพนักงานจัดสร้างขึ้นในบริเวณอาศรม และเสด็จไปสู่กองทัพด้วยพระอิสริยยศใหญ่
ฝ่ายพระเจ้าสัญชัยประพาสเล่นตามภูผาและป่า
ประมาณหนึ่งเดือนกับด้วยทวยหาญ ๑๒ อักโขภิณี พาลมฤคและนกในป่าใหญ่ถึงเพียงนั้น
มิได้เบียดเบียนสัตว์ไรๆ
พระเจ้าสัญชัยเรียกเสนาคุตอมาตย์มาตรัสถามว่า
เราทั้งหลายอยู่ในป่ากันนานแล้ว มรรคาเสด็จของบุตรเรา พวกเจ้าตกแต่งแล้วหรือ
ครั้นเหล่าอมาตย์กราบทูลว่า ตกแต่งแล้ว และทูลเชิญเสด็จว่า ถึงเวลาเสด็จแล้ว จึงโปรดให้ทูลพระเวสสันดร ให้ตีกลองป่าวร้องให้ทราบกาลเสด็จกลับพระนคร
แล้วทรงพากองทัพเสด็จกลับ พระเวสสันดรเสด็จนิวัติยาตราด้วยราชบริพารอันใหญ่
สู่มรรคาที่ตกแต่งแล้ว กำหนดได้ ๖๐ โยชน์ตั้งแต่เวิ้งเขาวงกต จนถึงกรุงเชตุดร
ครั้นได้ฤกษ์กําหนดกาลกลับคืนเข้าพระนคร
ก็ทรงเครื่องราชูปโภคแบบพระมหากษัตริย์ เสด็จนิวัตกลับพระนคร พร้อมด้วยพระเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ด้วยจาตุรงคเสนา
พร้อม ด้วยสรรพาวุธ เสด็จขึ้นคชสารปัจจัยนาค
นาคช้างพระที่นั่งท่ามกลางเสนามาตย์ราชบริพาร
เดินทางรอนแรมมาอย่างสบาย
มิได้เร่งร้อน เป็นเวลา 2 เดือนก็ถึงพระนครสีพี
ซึ่งได้รับการตกแต่งให้งดงามเป็นอย่างดีด้วยธงชัย และต้นกล้วยต้น
อ้อยสองข้างมรรคาประชาชนพากันมาต้อนรับเนืองแน่นโห
ร้องถวายพระพรชัยให้ทรงพระเจริญในราชสมบัติอย่ารู้โรยรา ทั้งพระนางมัทรีราชชายา
และพระชาลีพระนางกัณหา ตลอดพระบรมวงศานุวงศ์ทั่วกัน
เมื่อพระเวสสันดรเสด็จขึ้นปราสาทแล้วรับสั่งประกาศ
ให้ชาวเมืองปล่อยสัตว์ที่กักขังไว้ให้หมด ครั้นเวลาราตรี ก็ทรงรําพึงว่า
พรุ่งนี้ประชาชีต่างก็จะแตกตื่นกันมาคอยรับพระราชทานแล้วจะได้สิ่งใดแจกจ่ายให้แก่ประชาชนทั้งหลายเหล่านั้น
ทันใดนั้นท้าวโกสีย์ทรงทราบความปริวิตกของพระเวสสันดร
ก็ทรงบรรดารฝนแก้ว ๗
ประการให้ตกลงในพระนครสีพี สูงถึงหน้าแข้ง เฉพาะในพระราชวัง ท่วมถึงสะเอว
พระเวสสันดรก็ทรงประกาศให้ประชาชน
มาขนเอาไปตามปรารถนาเหลือนั้นก็ให้ขนเข้าท้อง พระคลังหลวง
พระเวสสันดรเสด็จเถลิงราชสมบัติปกครองพระนครสีพี
โดยทศพิธราชธรรม ให้บ้านเมืองเป็นสุขตลอดพระชนมายุ เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ขึ้นไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตเทวโลก[28]
รูป
จิตรกรรม
นครกัณฑ์
ที่ ๑
รูป
จิตรกรรม
นครกัณฑ์
ทีี่ ๒
รูป
จิตรกรรม
นครกัณฑ์
ที่ ๓
[1] พระธรรมโกศาจารย์
(ชอบ อนุจารีเถระ), ปริทรรศน์ เวสสันดรชาดก, กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๘ หน้า ๓๕-๔๗๖.
[2] พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, “พระมหาเวสสันตรทีปนี
: สาระ คุณค่า และนัยสำคัญต่อวิถีสังคมและวัฒนธรรมล้านนา”,
ตามรอยพระสิริ
มังคลาจารย์ สังฆปราชญ์ล้านนาม สำนักวิชาการ
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่, ๒๕๕๕.
[3]
เวสสันตรทีปนี ภาคภาษาบาลี, หน้า ๔๖๗.
“คาถาสหสฺสปฏิมณฺฑิตนฺติ ทส วเร จ เตรส, หิมวนฺเต จ ตุนาสีติ,
เตตาฬีสสตํ ทนกณฺเฑ, เอกูนสฏฺฐี ตุ วนปฺปเทเส,
ชูชเก อฏฺฐสตฺตติ ปญฺจปญฺญาสกา จุฬวเน, เตตฺตึสกา สตํ มหาวเน, กุมาเร ตุ
เอกวีสาธิสตํ, มทฺทีปพฺเพ ตฺยูนสตํ, สกฺกปพฺเพ ตุ เอกูนปญฺญาสํ, สตฺตสตฺตติ
มหาราเช, ติตาฬีสํ ฉกฺขตฺติเย, ฉตาฬีสํ
คาถาโย นคเรสิยุ ฯ”
[7] ขุททกนิกาย
จริยาปิฏกํ เล่ม ๓๓ ข้อ ๗๗ หน้า ๕๙๑, “น มยฺหํ
มตฺติกํ นามํ นปิ
เปตฺติกสมฺภวํ
ชาโตมฺหิ
เวสฺสวิถียํ ตสฺมา เวสฺสนฺตโร
อหุ ฯ”
[8]
ชาตฏฐกถา ทสโม ภาโค, หน้า
๓๑๑, “มรณํ วา ตยา
สทฺธึ ชีวิตํ วา ตยา วินา
ตเทว มรณํ เสยฺโย ยํ เจ ชีเว ตยา วินา ฯ”
[10]
ชาตฏฐกถา ทสโม ภาโค, หน้า ๓๒๓, “วรุณินฺติ มชฺชทานํ นาม นิปฺผลนฺติ ชานาติ, เอวํ สนฺเตปิ
สุราโสณฺฑา ทานคฺคํ ปตฺตา เวสฺสนฺตรสฺส ทานคฺเค สุรํ น ลภิมฺหาติ วตฺตุ มา
ลภนฺตูติ ทาเปสิ.”
[11]
พระไตรปิฎกบาลี เล่มที่ ๓๓, ขุททกนิกายสฺส
อปทานสฺส ทุติโย ภาโค พุทฺธวํโส-จริยาปิฎกํ, เวสฺสนฺตรจริยํ, ข้อ ๙, หน้า ๕๕๙-๕๖๕ และ พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์,
“พระมหาเวสสันตรทีปนี : สาระ คุณค่า
และนัยสำคัญต่อวิถีสังคมและวัฒนธรรมล้านนา”, ตามรอยพระสิริมังคลาจารย์
สังฆปราชญ์ล้านนา, สำนักวิชาการ
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่, ๒๕๕๕.
[12]
ต่อไปนี้เป็นถ้อยคําสํานวนร่ายในหนังสือมหาเวสสันดรชาดกที่ไพเราะด้วยสํานวนจํากัดความ
ไม่เยิ่นเย้อ เรียบร้อยเป็นตัวอย่างของการโอภาปราศัย
ถามทุกข์สุขในระหว่างมิตรสหายดีมาก จึงขออัญเชิญมาใส่ไว้เพื่อศึกษา
[13] พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารีเถระ), เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๑๕.
[14]
ชาตฏฐกถา ทสโม ภาโค, หน้า ๓๔๖, “เย เกจิ ปพฺพชิตุกามา, เต อิเม คณฺหนฺตุ.
ชาตฏฐกถา ทสโม ภาโค, หน้า ๓๒๓,”
[19] ขุ.ชา.ภาค
๒ (บาลี) 28/1173/418.
[20] ขุ.ชา.ภาค ๒ (ไทย) 28/1173/288.
[21]
ชาตฏฐกถา ทสโม ภาโค, หน้า ๔๐๒-๓, “อถสฺสา หตฺถโต ขณิตฺติ ปติ, ตถา
อํสโต อุคฺคีวญฺจ ปติ, ทกฺขิณกฺขิ จ ผนฺทติ, ผลิโน รุกฺขา อผลา วิย อผลา จ ผลิโน
วิย ขายึสุ, ทส ทิสา น ปญฺญายึสุ”
[23]
ประคอง นิมมานเหมิน, มหาชาติลานนา :
การศึกษาในฐานะที่เป็นวรรณคดท้องถิ่น, ลิขสิทธิ์ภาษาไทยของมูลนิธิโครงการดำราสำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, กรุงเทพฯ : บริษัทสำนักพิมพ์ ไทยวัฒนาพานิช
จำกัด ๒๕๒๖, หน้า ๓๓.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น