แจ้งข่าวนักศึกษา012173

วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559

คติการสร้างพระพุทธรูปในล้านนาจากเอกสารโบราณ

เอกสารประกอบการบรรยาย
เรื่อง “คติการสร้างพระพุทธรูปในล้านนาจากเอกสารโบราณ”
เสนอในการสัมมนา โครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ณ ห้องราชาวดี โรงแรมคุ้มภูคำ เชียงใหม่
จัดโดยพิพิธภัณฑสถานเชียงใหม่
วันที่ 30 มีนาคม 2559
โดย ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์[1] 
-----------

“คติการสร้างพระพุทธรูปในล้านนาจากเอกสารโบราณ”
โดย ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์[1] 
-----------

ความนำ
          พุทธศาสนิกชนถือว่า พระพุทธรูปเป็นสิ่งแทนพระศาสดา คือ พระสิทธัตถะ โคตมะ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ก่อตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นมาในโลก  ณ ดินแดนชมพูทวีป หรือ ประเทศอินเดียปัจจุบัน เมื่อวันเพ็ญเดือนวิสาขะ[2] (วันเพ็ญเดือน 6 จันทรคติ)  ก่อนพุทธศักราช  45 ปี นับเวลาล่วงเลยมาถึงปัจจุบันได้  2,604 ปี (ปีนี้ พุทธศักราช 2559) คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ปฏิรูปและปฏิวัติ ความเชื่อ ความคิด และวิถีปฏิบัติของศาสนาพราหมณ์ ฉีกแนวออกมาส่องให้เห็นหลักการ อุดมการณ์ วิธีการ และวิถีชีวิตแบบพุทธอย่างแหลมคม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่เป็นหลักสำคัญแตกต่างจากศาสนาพราหมณ์ในสมัยนั้น ก็คือ การหลีกเว้นจากความชั่ว, การสั่งสมความดี, และการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จากกิเลส,(โอวาทปาติโมกข์ 3) สัจธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ ได้แก่ อริยสัจ 4 ที่เป็นความจริงสากล ผู้ใดก็ตามหยั่งรู้อริยสัจ ย่อมบรรลุถึงความสงบสันติสุขทางจิตได้ กระบวนการมองเห็นว่า โลกและสรรพสิ่งย่อมหมุนไปตามกฎไตรลักษณ์ 3 ได้แก่ อนิจจัง(สรรสิ่งย่อมเปลี่ยแปลงเสมอ) ทุกขัง (สรรพสิ่งถูกบีบคั้น ไม่คงทนอยู่ในภาพเดิม) อนัตตา (สภาวะทั้งปวง ไม่มีตัวตน ไม่มีแก่นสารที่เที่ยงแท้ ถาวร)  แนวปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายชีวิตอันสูงสุด คือ ความเป็นอิสรภาพนั้น ได้แก่ “มัชฌิมาปฏิปทา” ที่รู้จักกันดีว่า “ทางสายกลาง” หรือ “มรรคมีองค์ 8” พระพุทธเจ้าทรงประกาศสัจธรรมเป็นเวลานานถึง 45 พรรษา เพื่อปลดปล่อยมวลมนุษย์จากอวิชชา(ความลุ่มหลงเพราะความไม่รู้สัจธรรมและกฎไตรลักษณ์) หลังจากพุทธปรินิพพานไป บรรดาพระสาวกทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ก็ ต่างก็กันช่วยทำนุบำรุงเผยแผ่พระพุทธศาสนา นับจากอินเดียแดนต้นกำเนิด ให้ขยายกว้างไกล แพร่หลายออกไปสู่นานาอารยประเทศอย่างต่อเนื่องมิได้ขาดสาย ปัจจุบัน มีพุทธศาสนิกชนกระจายอาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ ไม่น้อยกว่า 100 ประเทศ  
          เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไป ทางกายภาพก็ถือว่าหมดสิ้นตัวตนไปแล้ว แต่ชาวพุทธยังต้องการเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ที่เป็นรูปธรรม สามารถแตะต้องสัมผัสได้อยู่ แม้พระพุทธเจ้าจะทรงเตือนชาวพุทธว่า “เมื่อท่านจากไปแล้ว  ธรรมะ และ วินัยที่ทรงแสดงและบัญญัติเอาไว้ จะเป็นศาสดา” อย่างไรก็ตาม มนุษย์ก็อดไม่ได้ที่จะสร้างสัญลักษณ์เป็นสื่อ หรือช่องทางส่งความรำลึก ความเคารพ และสักการะถึงบุคคลที่ตนเคารพเอาไว้ ชาวพุทธจึงได้สร้างวัตถุเคารพบูชาแทนพระศาสดาขึ้นมา ด้วยรูปแบบต่าง ๆ  ที่เรียกกันว่า “เจดีย์” ซึ่งมี 4 ประเภท (พระธรรมปิฎก, พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์, 2540 หน้า 136.) ดังนี้ 1. การนำพระสารีริกธาตุไปสร้างสถูปเป็นอนุสรณ์ เรียกว่า “ธาตุเจดีย์”  2. สถานที่พระพุทธเจ้าใช้สอย อยู่อาศัย เช่น ต้นพระศรีมหาโพธิ์ หรือนำบริขารที่พระพุทธเจ้าเคยใช้ มาจัดเก็บรักษาไว้เพื่อเป็นที่สักการะ เรียกว่า “บริโภคเจดีย์”  3. การรวบรวมพระคัมภีร์จาร/จารึกพระธรรมคำสั่งสอน จัดเก็บไว้ในที่อันเหมาะสม เช่น หอไตร หอคัมภีร์ หรือ จารึกในแผ่นศิลา แผ่นโลหะต่างๆ เก็บไว้ เรียกว่า “ธัมมเจดีย์” และ 4. การสร้างรูปเคารพขึ้นมา เป็นอนุสรณ์ถึงพระศาสดาด้วยรูปแแบบและวัสดุต่าง ๆ เรียกว่า “อุทเทสิกเจดีย์”
          ธรรมเนียมการสร้างพระพุทธรูปถือว่าเป็นบุญกิริยาที่ได้อานิสงส์มหาศาล นับเป็นจำนวนปีไม่ได้ แต่นับด้วยมาตราที่ใหญ่กว่าปี เรียกว่า “กัป(กัลป์)”  ชาวพุทธ แต่อดีตจนปัจจุบัน จึงได้สืบทอดคติการสร้างพระพุทธรูปขึ้นมา  มีขนาดและรูปแบบต่าง ๆ กัน นับแต่พระพุทธรูปขนาดเล็ก จนถึงพระพุทธรูปขนาดใหญ่ เพื่อสักการบูชา ดังที่ปรากฏในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา หรือ ในประเทศที่เคยนับถือพระพุทธศาสนามาก่อน
พระพุทธเจ้า ถือว่า เป็นบุคคลที่พุทธศาสนิกชนสร้างรูปเคารพแทนพระองค์มากที่สุด คงไม่สามารถกำหนดนับเป็นตัวเลขได้ว่า พระพุทธรูปที่ชาวพุทธทั่วโลกสร้างกันมาจากอดีตถึงปัจจุบันนั้นมีอยู่เป็นจำนวนเท่าใด  นี้คือความสำคัญของพระพุทธรูป ในฐานะผู้แทนพระศาสดาที่ชาวพุทธ สามารถแตะต้องสัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรม

1. พระพุทธรูปสำคัญในอาณาจักรล้านนา
          ดินแดนล้านนา มีอาณาจักรโบราณที่เคยเจริญรุ่งเรืองหลายอาณาจักร  จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ สามารถย้อนอดีตไปได้ ไม่น้อยกว่า 1,000 ปี เช่น อาณาจักรหริภุญชัย  อาณาจักรหิรัญเงินยางเชียงแสน และอาณาจักรล้านนา  แม้จะมีอายุน้อยที่สุดในบรรดาสามอาณาจักร แต่อาณาจักรล้านนาก็กำลังจะมีอายุครบรอบ 720 ปี ใน พ.ศ. 2559 ชาวล้านนานับถือพระพุทธศาสนา สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษอย่างยาวนานมิได้ขาดสาย เมื่อนับถือพระพุทธศาสนาเป็นประทีปส่องทางชีวิต  ล้านนาวิถีจึงผูกพันอยู่กับพระพุทธศาสนานับตั้งแต่เกิดจนกระทั้งตาย ชาวล้านนาจะโยงชะตาชีวิตปีกำเนิด(12 ปีนักษัตร) เข้ากับพระธาตุสำคัญในดินแดนของตน เรียกว่า “ชุธาตุ” เช่น คนเกิดปีชวด ให้นับพระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นธาตุประจำปีเกิด    ไล่วนไปสู่ พระธาตุหลวงลำปาง  จังหวัดลำปาง, พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่, และพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน จัดให้เป็นพระธาตุประจำคนเกิดปีถัดไป คือ  ปีฉลู ปีขาล และปีเถาะ ตามลำดับ นอกจากนี้ ชาวล้านนายังมีประเพณีและพิธีกรรมที่ยึดโยงกับความเชื่อทางศาสนา ผ่านเทศกาล ในเดือนต่าง ๆ ตลอดปี เรียกว่า “ประเพณี 12 เดือน”   เช่น ประเพณียี่เป็ง(เดือนยี่, ประเพณีตั้งธัมม์หลวง, ประเพณีปีใหม่(สงกรานต์) ประเพณีเหล่านี้ ผูกพันให้ทุกชนชั้นในสังคมล้านนาเข้าร่วมพิธีกรรมด้วยความเต็มใจ จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่งดงามของชาวล้านนา
          เมื่อผู้ปกครองสร้างบ้านแปลงเมืองใหม่ หรือขึ้นมาปกครองอาณาจักร นอกจากจะสร้างศาสนสถาน เช่น อาราม หรือ พระธาตุ เจดีย์แล้ว สิ่งหนึ่งที่สร้างคู่พระอาราม ก็คือ พระพุทธรูป ไว้เป็นที่สักการะบูชา เป็นหลักบ้านหลักเมือง ดังพระเจ้ามังราย เมื่อสถาปนาอาณาจักรล้านนา สร้างเวียงนพบุรีศรีนครพิงค์ (เชียงใหม่)  ก็สร้างวัดเชียงมั่น(พ.ศ. 1839) และอัญเชิญพระเสตังคมณี(พระแก้วขาว) จากหริภุญชัยมาประดิษฐานไว้  ขณะที่ทางกรุงสยาม เมื่อสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ องค์พระปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อสถาปนากรุงเทพมหานคร(พ.ศ. 2325) ก็ทรงสร้างวัด และอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ เรียกว่า “วัดพระแก้วฯ” เป็นตัวอย่าง
ชาวล้านนาเรียกพระพุทธรูปว่า “พุทธพิมพา”  หรือ “พระเจ้า” (อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว, 2554  : พระพุทธรูปในล้านนา)  ได้พบว่า ผู้เป็นเจ้าศรัทธาที่สร้างพระพุทธรูปให้เป็นต้นเบ้าแบบอย่าง นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ ขุนนาง เศรษฐี กฎุมภี พระภิกษุ(สมณะศรัทธา) และประชาชนชาวบ้านทั่วไป(ศรัทธา) มีมากมาย ปรากฏในตำนานโบราณทางล้านนา เช่น ตำนานมูลศาสนา, จามเทวีวังสปกรณ์, ชินกาลมาลีปกรณ์. สิหิงคนิทาน, รัตนพิมพวังสะ เป็นต้น  ซึ่งได้บันทึกรายนามพระพุทธรูปสำคัญในล้านนา และเจ้ามูลศรัทธาผู้สร้าง เช่น พระเจ้าแก่นจันทน์ พระเสตังคมณี(พระแก้วขาว) พระพุทธสิหิงค์ หรือ พระสิงห์ พระแก้วอมรโกฏิ(พระแก้วมรกต) เป็นต้น ที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นถึง ความศรัทธาในการสร้างพระพุทธรูป และการเคารพบูชาพระพุทธรูปมีกระจายทั่วทุกพื้นที่ในอาณาจักรล้านนา  จะนำเสนอรายนามพระพุทธรูปสำคัญของล้านนาตามจังหวัด พอเป็นตัวอย่างดังนี้
1.1 พระพุทธรูปสำคัญในจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย  พระเสตังคมณี(วัดเชียงมั่น), พระพุทธสิหิงค์(วัดพระสิงห์),  พระเจ้าเก้าตื้อ(วัดสวนดอก), พระเจ้าแฅ่งคม(วัดศรีเกิด), พระเจ้ามังราย(วัดพญาเม็งราย), พระอัฎฐารส(วัดเจดีย์หลวง), พระพระพุทธนเรศร์สักชัยไพรีพินาศ(วัดบุพพาราม), พระเจ้าทองทิพย์(วัดพระสิงห์), พระฝนแสนห่า(วัดช่างแต้ม), พระเจ้าอมลิ้น(สำนักสงฆ์พระเจ้าอมลิ้น; หางดง)เป็นต้น
1.2 พระพุทธรูปสำคัญในจังหวัดเชียงราย  ประกอบด้วย พระพุทธสิหิงค์/พระสิงห์(วัดพระสิงห์), พระเจ้าล้านทอง(วัดพระเจ้าล้านทอง; เชียงแสน), พระเจ้าสองสี(วัดบุนนาค; เทิง), พระเจ้าทองทิพย์(วัดพระเจ้าทองทิพย์), หลวงพ่อผาเงา(วัดพระธาตุผาเงา), พระเจ้าแสนแซ่(วัดอภัยภิมุข หรือ วัดต้าหลวง), พระพุทธรตนากร(วัดพระแก้ว) เป็นต้น
1.3 พระพุทธรูปสำคัญในจังหวัดพะเยา ประกอบด้วย พระเจ้าตนหลวง(วัดศรีโคมคำ), พระเจ้านั่งดิน(วัดพระเจ้านั่งดิน; เชียงคำ), พระเจ้าทองทิพย์(วัดศรีสุพรรณ; แม่ใจ), พระยิ้ม(วัดลี), พระศิลา(วัดติโลกอาราม) เป็นต้น
1.4 พระพุทธรูปสำคัญในจังหวัดเเพร่  ประกอบด้วย พระพุทธโกศัยฯ(วัดพระบาทมิ่งเมือง), พระพุทธมหาธรรมราชา(วัดไตรภูมิ), พระเจ้าแสนทอง(วัดบ้านแป้น; ลอง), พระเจ้าตอกสาน(วัดจอมสวรรค์), พระเจ้าพร้าโต้(วัดพระธาตุศรีดอนคำ; ลอง) เป็นต้น
1.5 พระพุทธรูปสำคัญในจังหวัดน่าน ประกอบด้วย พระเจ้าหลวง(วัดช้างค้ำ), พระพุทธมหาพรหมอุดมศักดิ์มุณี พระประธานจตุรพักตร์(วัดภูมินทร์), พระเจ้าทองพิพย์(วัดสวนตาล), พระเจ้าฝนแสนห่า หรือ  พระเจ้าสายฝน(วัดพญาวัด), พระประธาน(วัดบุญยืน), พระพุทธมหาอุตมมงคลนันทบุรีศรีเมืองน่าน(วัดพระธาตุเขาน้อย), พระพุทธนาคินทรารักษ์ (สร้าง 2558 ณ ค่ายลูกเสือจังหวัดน่าน ตรงข้ามพระตำหนักธงน้อย ตำบลดู่ใต้ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน) เป็นต้น
1.6 พระพุทธรูปสำคัญในจังหวัดลำปาง  ประกอบด้วย พระเจ้าองค์หลวง(วัดพระธาตุลำปางหลวง), พระแก้วดอนเต้า(วัดพระแก้วดอนเต้า), พระเจ้าล้านทอง(วัดพระธาตุลำปางหลวง), พระเจ้าแสนแซ่ทองคำ(วัดเจดีย์ซาวหลัง), พระเจ้าทองทิพย์(วัดบ้านลู), พระประธาน(วัดไหล่หินหลวง), พระเจ้าศิลา(วัดพระธาตุลำปางหลวง) เป็นต้น
1.7 พระพุทธรูปสำคัญในจังหวัดลำพูน ประกอบด้วย  พระศรีสามเมือง(ดอยขุนตาน), พระเจ้าบอกเกลือ หรือ พระเจ้าแดง, พระเจ้าฉันสมอ(วัดพระธาตุหริภุญชัย), พระยืน(วัดพระยืน), พระเจ้าตาเขียว(วัดบ้านเหล่า), พระเจ้าสะเลียมหวาน(วัดพระเจ้าสะเลียมหวาน; บ้านโฮ่ง), เป็นต้น
1.8 พระพุทธรูปสำคัญในจังหวัดเเม่ฮ่องสอน ประกอบด้วย พระเจ้าพลาละแข่ง(วัดหัวเวียง), พระเจ้าพาราเหม่ป๊อก(วัดกลางทุ่ง), หลวงพ่อโต(วัดจองคำ), พระเจ้าอินทร์สาน พระพุทธรูปไม้ไผ่สาน(วัดจองกลาง) เป็นต้น

2.วัสดุที่ใช้สร้างพระพุทธรูปในล้านนา
          เมื่อต้องการจะสร้างพระพุทธรูปไว้สักการบูชา ผู้สร้างส่วนใหญ่จะหาวัสดุตามธรรมชาติ เช่น ดิน หิน ไม้ งาช้าง แร่โลหะต่าง ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้สร้าง กรรมวิธีและเทคนิควิธีที่นายช่างจะเลือกใช้ ว่าจะยากหรือง่าย ดังที่ อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว สรุปว่า วัสดุที่ล้านนานำมาสร้างพระพุทธรูป มี 13   ชนิด ได้แก่ ใบไม้, ดิน, ครั่ง, ไม้, งาช้าง, หิน, ตะกั่ว/ดีบุก, สำริด, ทองคำ, เงิน, อัญมณี, ขี้เถ้า(มุก), และ ผืนผ้า(อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว :  2554 หน้า 10-14)

3. เทคนิคในการสร้างพระพุทธรูป
          เทคนิคหลักในการสร้างพระพุทธรูปโดยทั่วไปมี 5 วิธี คือ การปั้น, การพิมพ์, การหล่อ, การแกะสลัก, และการเขียน   พระพุทธรูปสำคัญในจังหวัดต่างที่กล่าวมามีรายนามที่แปลก ๆ เช่น พระเจ้าแสนแซ่ (แสว้), พระเจ้าตอกสาน  พระเจ้าพร้าโต้ เป็นต้น ซึ่งสะท้อนถึงกรรมวิธีสร้าง ที่นายช่างใช้เทคนิคหลักทั้ง 5 มาผสมผสาน จนได้เทคนิคย่อย ๆ ออกไปเรียกว่า “เทคนิคผสม” มี 9 วิธี (อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว: 2544 หน้า 9-10)  ดังนี้
          3.1  สร้างพระพุทธรูปโดยการขึ้นหุ่นจากอิฐ พอกปูนแล้วใช้ปูนปั้น เรียกว่า พระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน
3.2 สร้างพระพุทธรูปโดยการใช้ดินเหนียวเฉพาะ ปั้น หรือ กดพิมพ์ แล้วนำไปเผา
3.3 สร้างโดยวิธีหล่อแยกส่วน แล้วใช้สลัก(แสว้ หรือ แซ่) เป็นตัวเชื่อมส่วนต่าง ๆ ประกอบเข้า
3.4 สร้างด้วย “มุก” หรือ ขี้เถ้า ที่เผาจากวัสดุต่าง ๆ เช่น ดอกไม้ เกสรดอกไม้ ข้าวแห้ง หญ้าคา เป็นต้น นำมาผสมกับยางรัก ปั้นขึ้นรูป
3.5 สร้างจากวัสดุต่าง ๆ (ขึ้นเป็นรูปร่าง) แล้วนำมาหุ้มด้วยแผ่นโลหะ แผ่นเงิน แผ่นทอง เรียกว่า “หลูบ”
3.6 สร้างโดยวิธีสานจากวัสดุต่าง ๆ  เช่น ตอกไม้ไผ่ เส้นหวาย แล้วปั้นแต่งด้วยรักสมุก หรือ มุก
3.7 สร้างโดยใช้มีดหรือพร้า แกะ เจาะ สลัก เช่น “พระเจ้าพร้าโต้” ที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่
3.8 สร้างโดยนำพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ ไปจัดเรียง  หรือ ตอกแผ่นไม้แกะสลักทำเป็นกลุ่ม เรียกว่า “พระแผง”
3.9 สร้างโดยการวาด เขียน หรือ แต้ม ลงบนแผ่นผืนผ้า เรียกว่า “พระบฏ”

4. การสร้างพระพุทธรูป ข้อมูลจากเอกสารโบราณล้านนา
          เมื่อได้ทราบวัตถุประสงค์การสร้างพระพุทธรูป วัสดุที่ใช้สร้าง และเทคนิควิธีการสร้างมาพอเป็นแนวแล้ว ต่อไปนี้ จะได้นำเสนอแนวคิด กระบวนการ และพิธีกรรมในการสร้างพระพุทธรูป มรดกทางภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษชาวล้านนาได้บันทึกฝากเอาไว้ในเอกสารโบราณ ทั้งที่เป็นคัมภีร์ใบลาน และพับสา(สมุดข่อย)  ผู้เรียบเรียง ได้สืบค้นจากฐานข้อมูลเอกสารคัมภีรใบลาน ฝ่ายล้านนาคดี สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ด้วยเวลาที่แสนจำกัด) แต่ก็สามารถค้นคว้าเอกสารสำคัญ  เกี่ยวกับการสร้างพระพุทธรูป มาจำนวนหนึ่ง   รายการเอกสารโบราณ ที่จารึกด้วยอักษรและภาษาไทยยวน(ล้านนา) เกี่ยวกับการสร้างพระพุทธรูปที่นำมาแสดงนี้ มีจำนวน 7 รายการ ดังนี้
          4.1 โหราศาสตร์ ตำราสร้างปราสาท สมสะตาย  ก่อเจดีย์ ฯลฯ   วัดแม่ทะหลวง ตำบลแม่ทะ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง   คัมภีร์ล้านนา หมายเลข 81.078.11.090-090  ภาษาและอักษรไทยยวน มีจำนวน 1 ผูก  96 หน้าลาน ปรากฏในตอนท้ายคัมภีร์หน้าที่ 79-82 (ปริวรรตโดย ยศพล เจริญมณี 18 มีนาคม 2559 เรียบเรียงโดย พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์)
          4.2 พิธีสวดถอนคนตายกลมตายมาน จักสร้างพระพุทธรูปให้ถูกลักษณะ.ฯลฯ  วัดคะตึกเชียงมั่น ตำบลหัวเวียง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง คัมภีร์ใบลาน หมายเลข 80. 055. 010. 043-043 ภาษาและอักษรไทยยวน  จำนวน  1 ผูก  26 หน้าลาน  ปรากฏในหน้าลานที่ 16-17,  21-22 (ปริวรรตโดย นงเยาว์ อินทะวัน (เมษายน 2557) เรียบเรียงโดย พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, ชนินทร์ เขียวสนุก (เมษายน 2557)
4.3 พิธีกรรมการก่อพระพุทธรูปและอานิสงส์การสร้างพระพุทธรูปด้วยวัสดุต่างๆ . วัดป่าบงจันจว้า ตำบลจันจว้า อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย คัมภีร์ใบลาน หมายเลข 87.0156.11.050-050 ภาษาและอักษรไทยยวน จำนวน 1 ผูก  18 หน้าลาน ปรากฏในหน้าลานที่ 1- 10   (ปริวรรตโดย ยศพล เจริญมณี 22 มีนาคม 2559 เรียบเรียงโดย พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์)
4.4 สร้างพระพุทธรูปตามลักษณะดี / ตำรายา.  วัดสุกศรี  ตำบลและ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน หมายเลข 87.155.11.012-012 เอกสารสมุดข่อย(พับสา)  จำนวน 1 เล่ม 52   หน้า ปรากฏในหน้าที่  1-3  (ปริวรรตโดย ยศพล เจริญมณี 18 มีนาคม 2559 เรียบเรียงโดย พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์)
          4.5 ตำราสร้างพระพุทธรูป. วัดแม่ต๋ำ  ตำบลแม่ต๋ำ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย หมายเลข  86.150.01.004-004 ภาษาและอักษรไทยยวน จำนวน 1 ผูก มี 35 หน้าลาน
4.6 ยันต์ และพิธีดูวิญญาณคนตาย ยันต์ใส่พุทธรูป. วัดป่าสา ตำบลสันทราย อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่  หมายเลข 80.049.09.008-009  จำนวน 1 แผ่น
4.7 พิธีการพุทธาภิเษกของพระมหามหินทเถร สืบมาแต่เมืองพุกาม ฉบับใบลานของวัดขุนคงหลวง ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ จารเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือนเกี๋ยง จ.ศ.1188 ปีรวายเส็ด พ.ศ.2369 อายุลานได้ 178 ปี พระปลัดนิพันธ์ รกฺขิตสีโล ได้มอบให้แปลถวายเป็นอุปัชฌายาจะริยะบูชา
          ในการนำเสนอ ผู้เรียบเรียงจะขอเก็บความเล่าสาระสำคัญ จำแนกเป็นประเด็นต่าง ๆ ตามลำดับเอกสาร ดังต่อไปนี้
ก.      ขนาดและสัดส่วนของการสร้างพระพุทธรูป
จากคัมภีร์โหราศาสตร์ฯ ฉบับวัดแม่ทะหลวง ตำบลแม่ทะ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง   แสดงสัดส่วนต่างๆ ของพระพุทธรูปที่จะสร้างเอาไว้ ดังนี้  
หน้าลาน ที่ 79 “... สิทธิการ จักแปลงรูปพระเจ้า ให้แทก[3] แต่หัวเข่าทั้งสอง ลวงกว้างอันนั่งอยู่นั้น แล้วหักเป็น 3(4) พุ่น[4] มาแทกที่นั่งถึงสะดือพุ่นหนึ่ง, แต่สะดือถึงนมพุ่นหนึ่ง, นมถึงคางพุ่นหนึ่ง, (คาง)ถึงตีนผมพุ่นหนึ่ง
หน้าลานที่ 80 ปล้องข้อมือเอาเท่าหน้าฝ่ามือ นิ้วมือเอาเท่าเกิ่งหน้า หักนิ้วมือเป็น 3 พุ่น เป็นข้อมือ ฝ่ามือกว้างค่านิ้วมือ ปล้องขาเท่าหน้าปล้องแข้ง เท่าหน้าฝ่าตีน กว้างเกิ่งหน้า ยาวเท่าหน้า แล้วหัก 2 พุ่น   3 พุ่นเป็นฝ่าตีนพุ่นหนึ่ง หักไม้นิ้วตีนเป็น 2 พุ่น เป็นข้อตีน หว่างรักแร้ทั้งสองให้แทกปากเป็น 3 ส่วน เสียหนึ่ง เอา 2 พุ่น เอาพุ่นหนึ่งแทกให้เป็น 4  เท่าไม้นั้นแล้ว หว่างนมทั้งสอง ให้แทกหน้า หักเป็น 4 พุ่น เสียหนึ่ง เอา 3 พุ่น เป็นหัวนม แต่หว่างนมถึงจอมบ่า
หน้าลานที่ 81 เท่าหน้า แต่ต้อมคอ(ลูกกระเดือก)ถึงบ่า เท่าแทกหน้า หักเป็น 4 ส่วน เอา 2 พุ่นเป็นผ้าสังฆาฏิ ทังหน้าทังหลังเท่ากัน แทกหน้า หักเป็น 3 พุ่น พุ่นหนึ่งเป็นปาก พุ่นหนึ่งเป็นตา พุ่นหนึ่งหน้าผากแล ตุ่มตาให้กลมดังกลีบงัวอุสุภราช หน่วยตาให้กลมดังกลีบหอมเทียมดีแล  รูปพระยืนเล่า จักเพิงใจสูงเท่าใด เอาเท่านั้น แต่พื้นตีนถึงขม่อม หักเป็น 4 พุ่น พุ่นหนึ่งเป็นสะดือ พุ่นหนึ่งเป็นศอกแล
หน้าลานที่ 82 ปลายมือเพียงหัวเข่า  แทกปมบ่าถึงปลายมือ หักเกิ่งเป็นศอก คู่ฝ่ามือเท่าหน้าแล  จาด้วยลักษณะพุทธรูปเจ้าก็แล้วเท่านี้ก่อนแล เจ้าเหย ค่อยดูเถอะเน้อ ..”
ในทำนองเดียวกัน ใน คัมภีร์พิธีสวดถอนคนตายกลมตายมาน จักสร้างพระพุทธรูปให้ถูกลักษณะ ฉบับวัดคะตึกเชียงมั่น ตำบลหัวเวียง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง  ก็ได้บอกขนาดและสัดส่วนการสร้างพระพุทธรูป แต่บางรายการมีละเอียดออกไปบ้าง ดังนี้
หน้าลานที่ 16 “.. จักสร้างพระพุทธรูปให้ถูกลักษณะ  หื้อแทกหว่างหัวเข่ามา หักเป็น 3 ส่วน[5]  หนึ่งส่วนชื่อว่า “ปาทะ” เอาปาทะทั้งแต่แท่นขึ้นถึงสะดือปาทะหนึ่ง, สะดือขึ้นถึงนมปาทะหนึ่ง, (นม)ขึ้นถึงจอมคางปาทะหนึ่ง, หว่างนมทั้งสอง
หน้าลานที่ 17 ปาทะหนึ่ง, นมทั้งสองขึ้นถึงจอมบ่าปาทะหนึ่ง, จอมบ่าลงไปศอกปาทะหนึ่ง, ศอกไปถึงข้อแขนปาทะหนึ่ง, ข้อแขนไปถึงปลายนิ้วมือปาทะหนึ่ง, หูปาทะหนึ่ง, จอมดังไปหูปาทะหนึ่ง, ปาทะหักเกิ่ง ชื่อ     “สัลลิงคะ”  สัลลิงคะหักเกิง ชื่อ “เภยยะ” หนึ่ง จอมคางขึ้นถึงดังเภยยะหนึ่ง) ดังถึงหว่างคิ้วเภยยะหนึ่ง,  หว่างคิ้วถึงตีนผมเภยยะหนึ่ง,  ยาวบ่าเภยยะหนึ่ง, ยาวตาเภยยะหนึ่ง, สร้างพระพุทธนั้นถูกลักษณะมีสันนี้ แล ... จักสร้างพระพุทธรูปยืน ลวงสูงตั้งตีนขึ้นถึงหัวเข่าปาทะหนึ่ง หัวเข่าถึงสะดือปาทะหนึ่ง ขึ้นถึงหว่างนมปาทะหนึ่ง  ขึ้นถึงจอมคางปาทะหนึ่ง จอมคาง....
          ตอนท้ายเอกสารบอกคำสวดเบิกเนตร พระพุทธรูป เอาไว้ดังนี้
หน้าลานที่  21-22  “คาถาไขตาพระเจ้า  “สิทธิกิจจัง สิทธิกัมมัง สิทธิตะถาคะโต สิทธิอิติปิ โส ภะคะวา
สิโร เม พุทธะเทวัญจะ              นะลาเฏ[6] พรัหมมะเทวะตา
หะทะเย พิสฺนูกัญเจวะ              (สัพพะสิทธิ) ปะสิทธิ เม”

ข.      วัสดุที่จะนำมาสร้างพระว่าจะเป็นมงคล หรืออวมงคล  ดิถี เดือน และพิธีกรรม
จากคัมภีร์ พิธีกรรมการก่อพระพุทธรูปและอานิสงส์การสร้างพระพุทธรูปด้วยวัสดุต่างๆ คัมภีร์ใบลาน   วัดป่าบงจันจว้า ตำบลจันจว้า อำเภอแม่จัน  จังหวัดเชียงราย  กล่าวว่า
หน้าลานที่ 1.
“.... สะหรีสวัสดีจุ่งจักมีแด่ข้าเทอะ ผู่ใดต้องการสิ่งที่เป็นมงคลบังเกิดแก่ตนอยู่เสมอ จงกระทำบุญกิริยา ตามที่จะกล่าวต่อไปนี้
หน้าลานที่  2. (ลักษณะของวัสดุที่นำมาก่อ)
          “ที่นี้จักล่าว ดินที่ใช้ก่อพระเจ้า ..ให้เอาดินดิบ  จักบังเกิดความร่มเย็นเป็นสุข(ดินดิบก็ใช้ฉาบผนังวิหาร) ห้ามนำดินจี่[7] มาก่อเป็นพระพุทธรูป เพราะดินเผา(อิฐ) มันร้อน เขานิยมใช้ก่อเจดีย์ กำแพงวัด บ่อน้ำ หนทาง เพื่อให้เกิดความสุขสวัสดิ และเกิดความเคารพยำเกรง ถ้านำมาก่อเป็นพระพุทธรูป จะเกิดขึ๋ด(กฤตย์ = ดำ มืด) แก่พระ(สงฆ์) และชาวบ้านในภายหลัง
          ...(สีของดิน) .. อย่านำดินที่มีสีดังต่อไปนี้ คือ ดินดำ ดินก่ำ ดินหม่น ดินก่ำดังเลือดเน่า ดินจอมปลวก ดินป่าเฮ่ว(ดินจากสุสาน; ป่าช้า) ดินบวกควาย บวกหมู  มาก่อพระพุทธรูป เจดีย์ จะให้ให้เกิดอุบาทว์ภัยแก่ผู้สร้าง แก่ช่างผู้ก่อ แก่วัด  ควรนำดินสีขาว,  สีเหลือง ดินสีแดงดังหาง...(...ความไม่ชัด).เป็นดินที่ดีมาก่อพระเจ้า
หน้าลานที่  3.(ว่าด้วยเดือนที่เป็นมงคลในการก่อพระเจ้า)
          เดือน เจี๋ยง ออก[8] 1,3,7,13 ค่ำ ดี ควรสร้างพระเจ้า จักได้ช้างม้า งัวควาย ข้าทาสหญิงชาย ท้าวพญาเสนาอำมาตย์ ข้า..คน...ทั้งหลายจักหุม(นิยมรักใคร่)ยิ่งหนัก
          เดือน ยี่ ผู้สร้างจักมีฤทธี ผจญแพ้(ชนะ) แก่ข้าศึกศัตรูทั้งมวล อยู่ดีมีลาภมากนัก
          เดือน 3 (ไม่ดี) ไฟจักไหม้(อัคคีภัย) ผู้คนจะทะเลาะถุ้มเถียง(วิวาท)กัน  สัตว์ร้ายจะจักมีมาก
เดือน 4 (ดี)  คนและเทวดานิยมชมชอบ(หุม) จะนำทรัพย์สมบัติมากมายมาสู่บ้านเมือง
          เดือน 5 (ไม่ดี) จักมีอันตราย วิวาท เภทภัย จักวินาสฉิบหายด้วยเงินและทองมากนัก
เดือน 6 (ดี) จักเจริญด้วยลาภ มียศสมบัติเป็นที่ยอย่อง(สรรเสริญ)บูชาแก่คนมากนัก
หน้าลานที่  4.
เดือน 7 (ไม่ดี) จักข้าวของวินาสฉิบหาย พลัดพรากจากที่อยู่อาศัย โจรภัยจักเบียดเบียน หาความสุขมิได้
          เดือน 8 (ดี) วุฒิ จำเริญใจ อยู่เย็นเป็นสุข มีข้าวของ สมบัติ เครื่องบริโภคอุดมสมบูรณ์
          เดือน 9 (ไม่ดี) ทุกข์ยากเข็ญใจ หาผู้ค้ำชูอุดหนุนไม่ได้
          เดือน 10 และ 11(ไม่ดี) จักมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ มีคดีความ(ถ้อยความ)มิได้ขาด
          เดือน 12 (ดี) จักมีข้าวของสมบัติวุฒิจำเริญใจ คิดหวังสิ่งใดก็สมฤทธีทุกประการ
หน้าลานที่  6.   (ว่าด้วยดิถี อันไม่ควรสร้างพระเจ้า)
          ถ้าดิถีดีออกทั้งหลาย ตรงกับวันโลกาวินาส ปะจุ(บรรจุ/บรรจบ) วันเม็ง วันไทยที่ไม่ดี ก็ไม่ควรสร้างในดิถีนั้น
          แรม 1, 2, 3, 7 13  ค่ำ ดีพอใช้  แต่ยังไม่ถือว่า ดีเหมือนเดือนออก
          วันแรมอื่นๆ ถือว่าเป็นวันที่ไม่เหมาะสมที่ควรสร้างพระเจ้า

          พิธีกรรมการก่อพระพุทธรูป
ว่าด้วยเรื่องขันตั้ง[9] (ควรเตรียมของที่ใส่ขั้นตั้ง)ดังนี้  มีเบี้ยหมื่น  หมากหมื่น เงินสามร้อย
คำสามสิบ เทียนเงินสี่คู่  เทียนคำสี่คู่  เทียนเล่มบาท 1 คู่  เทียนน้อย 8 คู่ มะพร้าว  1 คู่ ลูกตาล 1 คู่
แผ่นขาว แผ่นแดง(ผ้าขาว ผ้าแดง) ผืนละ 1 วา ช่อขาว 8 (ช่อ) ดอกไม้สีขาว 8 ดอก ข้าวตอก 8 สวย กล้วย 8 ลูก
อ้อย 8 ท่อน ข้าวเปลือก 1 กระบุง ข้าวสาร 4 พัน (4,000 กรัม) สะตวง[10] ทำด้วยกาบกล้วย 4 อัน แกงส้ม แกงหวาน 4 อย่าง เทียน 4 คู่  หมาก เมี่ยง พลู
หน้าลานที่  7.
ดอกไม้ มะแค่ง(มะเขือพวง) มะเขือ ผลไม้ต่างชนิด กล้วยอ้อย ข้าวดำ ข้าวแดง ข้าวเหลือง ข้าวขาว อย่างละ 4,  ช่อ (สี)ดำ (สี)แดง (สี)เหลือง (สี)ขาว อย่าง ละ 4  เครื่องทั้งหลายก็ให้มีอย่างละ 4 ทุกอัน เอาใส่ในสะตวง
เครื่องดำส่งทางตะวันตก, เครื่องแดง ส่งทางตะวันออก, เครื่องเหลือส่งทิศใต้, เครื่องขาว ส่งทิศเหนือ,
 ให้นายช่างที่จะเป็นผู้ก่อพระเจ้าเป็นคนกล่าวคำส่งสะตวงทั้ง 4 ทิศ
อนึ่งให้ตั้ง หอท้าวทั้งสี่  ไว้ 4 ทิศ  หอพญาอินทร์  ไว้ตรงกลาง
เอา “ขตฑมท”[11] (ข้าวตอกดอกไม้เทียน) ช่อตุง หมากพลู เครื่องบูชา ใสไว้พร้อมทุกอันแล้ว ให้กล่าวคำโอกาส (อา)ราธนา...
หน้าลานที่  8.
การจัดสร้างสถานที่เพื่อก่อพระพุทธรูป
          ให้แต่งรั้วราชวัตร ขัดตาแหลวด้วย(หญ้า)คาเขียว ฝาสุด หมุนเกลียว 4 รอบ ปลูกต้นกล้วย ต้นอ้อย ช่อน้อย ตุงชัย ปักไว้  ให้แต่งเครื่องไหว้ บูชา เทวดาอารักษ์ประจำวัด เครื่องบูชา ประกอบด้วย เบี้ยพันสาม หมากพันสาม ผ้าขาวผ้าแดงอย่างละวา “ขตฑมท” ช่อทั้งหลายมวล อย่างละ 4 ยอขึ้นบูชาไว้ที่ควร.
          ขออาราธนา สังฆะ  4 ตน(รูป) ก็ดี  8  ตน(รูป) ยิ่งมากยิ่งดี ให้สวดมหาสมัยสูตร
หน้าลานที่  9.
สวดมูลหลบ(พระปริตร หลายรอบ)
(พิธีวางดินเพื่อก่อทีแรก)
เมื่อจักก่อ ถึงยามดี ให้อาราธนา ภิกษุสงฆ์ 4 รูป ถือเอาแผ่นดิน(ก้อนดิน) ที่พอกด้วยคำ(ดินปิดแผ่นทองคำเปลว) รูปละ 1 แผ่น ยืนอยู่ 4 ทิศ แล้ว ...
ตนที่อาวุโสที่สุด ให้ใส่ชื่อว่า “พุทธรักขิตา” ให้อยู่หนเหนือ วางแนบแผ่นดินคำที่หัวเข่าด้านซ้าย
ตนที่อาวุโสรองลงมา ให้ใส่ชื่อว่า “ธัมมรักขิตา” ให้อยู่หนใต้ วางแนบแผ่นดินคำที่เข่าด้ายขวา
อีกสองรูป ให้ใส่ชื่อว่า “สังฆรักขิตา” เหมือนกัน รูปหนึ่งให้เอาแผ่นดินคำวางแนบที่เค้าคาม(ต้นขา)ด้านขวา อีกรูปให้วางแนบที่เค้าคาม(ต้นขา)ด้านซ้าย

หน้าลานที่  10. 
แล้วให้สังฆสมมุติแปลงยังชื่อช่างก่อนั้น ผู้เป็นเค้า(หัวหน้าช่าง)ชื่อว่า“ธัมมะปัญญา” ให้นุ่งเสื้อผ้าสีเผือก ขึ้นมาก่อ อีกคนหนึ่งใส่ชื่อว่า“ชัยยะมังคละ” ให้นุ่งเสื้อผ้าสีเผือกขึ้นมาก่อ แล้วให้ศรัทธาทั้งหลายช่วยก่อให้แล้วเส็จ
          การสร้างหัวใจบรรจุพระเจ้า
          ให้เอาเงิน คำ แก้ว หล่อเป็นธาตุ ใส่หัวใจ  น้ำมันผักกาดก็ดี น้ำมันอย่าก้อน ก็ดี น้ำมันงาก็ดี ให้เอาใส่ในหัวใจ”
          ตำราการสร้างพระพุทธรูปตามลักษณะดี / ตำรายา  ฉบับวัดสุกศรี  ตำบลและ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน  ก็พูดถึง ดิถีที่ดีและไม่ดี ในการจัดสร้างพระพุทธรูป ทั้งได้บรรยายลักษณะรูปแบบของพระพุทธรูป 3 แบบ  มาตรากำหนดสัดส่วนพระพุทธรูปเอาไว้  แต่ไม่มีรายละเอียดดังเอกสารที่เสนอมาแล้ว  จึงขอนำเสนอเป็นข้อมูลเพื่อเทียบเคียงดังนี้
แผ่นที่ 1-2.
          “พระครูบาปัญญา จักกล่าวเรื่องก่อสร้างพระพุทธรูป
เดือนใดก็ดี ออก 1 แรม 1 ค่ำ ดีแท้แล  แม่นผู้ชังก็ชอบเข้ามา
          ออก 2 แรม 2 ค่ำ บ่ดี มารผจญ
          ออก 3 แรม 3 ค่ำ  สวัสดี มีโชคลาภ
          ออก 4 แรม 4 ค่ำ บ่ดี มีโสกทุกข์
          ออก 5 แรม 5 ค่ำ ฟ้าจะผ่า จะผิดเถียงเกิดคดีความ
          ออก 6 แรม 6 ค่ำ บ่ดี
ออก 7 แรม 7 ค่ำ ดี ทุกประการ
ออก 8 แรม 8 ค่ำ เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ
ออก 9 แรม 9 ค่ำ บ่ดี ศัตรูมาเบียนเบียน วัดจะร้าง
ออก 10 แรม 10 ค่ำ อยู่สวัสดี
ออก 11 แรม 11 ค่ำ บ่ดี จะเกิดศึกสงคราม ฆ่าฟันกันตาย
ออก 12 , 13 และ 14 แรม 12,13 และ 14 ค่ำ บ่ดี
ออก 15 แรม 15 ค่ำ ดีนักแล

แผ่นที่ 3.
ที่นี้จักกล่าวลักษณะพระเจ้ามี 3 ประการ
          1. สีหลักษณะ 2. คชลักษณะ 3. โคณ(โฆธ)ลักษณะ
สีหลักษณะนั้น ให้แทกหว่างหัวเข่าทั้งสองขึ้นเพียงดัง(จมูก) ให้หัก 5 ส่วน เอา 1 ส่วน มาแทกหน้าแข้งไปหาท้องน้อย, ตั้งท้องน้อยขึ้นไปหว่างนม, ตั้งหว่างนมขึ้นถึงคาง, ตั้งคางขึ้นถึงตีนผม, ตั้งตีนผมขึ้นถึงโมลี,
          พุทธรูปใหญ่   เอาหว่างเพลา(เพลา หรือ หน้าตัก) มาหักเป็น 3 ส่วน  แทกแขนพุ่นหนึ่ง, ศอกพุ่นหนึ่ง, ซ้ำมาหักเป็น(อีก) 3 พุ่น เป็นฝ่าตีน, ฝ่ามือ, เอา1/3 (ที่หักมาแล้ว ขนาดฝ่าเท้า ฝ่ามือ) เอามาหัก อีก 3 พุ่น เป็น ปล้องมือ นิ้วมือทั้ง สาม ปล้อง ...”

5. พิธีพุทธาภิเษก หรือ พิธีบวชพระเจ้า
พระพุทธรูปที่สร้าง จะมีพลังศักดิ์สิทธิ์ และทรงเดชานุภาพ ตามคติทั่วไป ต้องนำเข้าสู่พิธีพุทธาภิเษกก่อน ภาษาล้านนา เรียกว่า การบวชพระเจ้า เป็นพิธีสำคัญ ที่จะเรียกศรัทธา ของพุทธศาสนิกชนได้มาก ผู้เรียบเรียงได้พบ สมุดข่อย เกี่ยวกับขั้นตอนการประกอบพิธีโดยละเอียด คือ “พิธีการพุทธาภิเษกของพระมหามหินทเถร”   สืบทอดมาแต่เมืองพุกาม เป็นฉบับใบลาน สมบัติของวัดขุนคงหลวง ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ จารเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือนเกี๋ยง จ.ศ.1188 ปีรวายเส็ด พ.ศ.2369 อายุใบลานได้ 178 ปี พระปลัดนิพันธ์ รกฺขิตสีโล ได้มอบให้แปล(ปริวรรต)ถวายเป็นอุปัชฌายาจะริยะบูชา เมื่อเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2558  ผู้เรียบเรียง กับ ผศ. ดร.วิโรจน์ อินทนนท์ อาจารย์ภาควิชาปรัชญาและศาสนา  คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ไปที่วัดขุนคงหลวง ท่านเจ้าอาวาสได้ขอให้นำข้อมูลดังกล่าว ไปตรวจสอบคำสวดพุทธาภิเษกที่เป็นภาษาบาลี   ทั้งได้สอบเทียบกับฉบับอักษรไทยยวนที่ได้มาจาก จังหวัดเชียงตุง  ประเทศเมียนม่า  จึงขอนำมาแสดงเฉพาะ กระบวนการของพิธีสวดพุทธาภิเษกให้เห็นว่า มีขั้นตอน อย่างไร  เพื่อให้พระพุทธรูปที่สร้างเสร็จใหม่จะได้เป็นพระพุทธรูปสมบูรณ์ สมควรแก่การกราบไหว้สักการบูชา  ต้องผ่านพิธีมหาพุทธาภิเษก ที่ภาษาไทยยวนเรียกว่า “บวชพระเจ้า” และมีพิธีสวดเบิกสุดท้าย (ส่วนบทสวดพุทธาภิเษก ที่ขึ้นต้นด้วย เอโส โน สัตถา... เห็นว่าจะยาวเกินไป ไม่ขอนำมากล่าว) ดังข้อมูลจากเอกสารต่อไปนี้
          “ที่นี้เราจักกล่าววิธีอุปเทส อันเบิกบายสะหรีพุทธรูปาภิเษกหื้อเป็นปะทัด[12] ไว้แก่คนทั้งหลายฝูงมีสัทธา เราก็อิงบาลีและอัฏฐกถา ฎีกา อุปะเทสนิยะ อันมหามหินทเถรเจ้า ตนอยู่ป่าหน่อ เท่าได้เอาแต่เมืองพุกามมา จิ่งกล่าวไว้แล
          อันว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันจิ่งสร้างใหม่ก็ดี ตนเก่าแลใคร่หื้อมีริทธี[13]มากก็ดี หื้อชำระอาบองค์สะหรงเกศ[14] เยียะดีแล้ว เขียนปัจจยาการ[15] เป็นอนุโลมะ ปฏิโลมะ เสี้ยงทั้งมวลใส่ใบลานไว้ในอกพระพุทธรูปแล้ว เถิงวันเดือนเพ็ง[16] หื้อแต่งข้าวมธุปายาส 49 ก้อนใส่ในถะไหลทอง[17]ปูชาเมื่อเช้าก่อน แล้วเยียะชำระกวาดเผี้ยว[18] เค้าไม้มหาโพธิหื้อบัวริสุทธิ์ดี ผิบ่อั้น ก็หื้อเอามหาโพธิต้นหน้อยอันดีพูนนั้นมาไว้ที่ดีงาม แล้วเอาคาแปดกำ[19]มาปูเจือเค้าไม้มหาโพธิกล้ำวันออก แล้วเอาพระพุทธรูปนั่งเหนือคาไม้ นั่งอว่ายหน้า[20] เมือวันออก แล้วเอาผ้าขาวอันบัวริสุทธิ์ปกไว้ ผิบ่อั้น (นำขี้)เผิ้งอันดีมาติดตาพุทธรูปไว้ก่อน แล้วหื้อแต่งน้ำสูตรมนต์ 4 ไห เอาปูนก็ดี ดินขาวก็ดี ทาไหหื้อขาวชุไห เอาไว้ 4 แจ่ง[21] เอาฝ้าย 7 เส้นคบกัน(ควบ)แวดรอด แล้วแต่งเครื่องปูชา “ขฏฑมทธปะทีป”; (ข้าวตอก ดอกไม้ เทียนธูป ประทีป) ปูชา แต่งน้ำต้น[22]ใหม่ 4 ต้น (มะ)พร้าวหนุ่ม 4 ลูก เข้าเปลือกหมื่นหนึ่ง เข้าสารพันหนึ่ง ถั่ว งา น้ำอ้อย น้ำตาล หื้อพร้อมชุอัน เอาแว่น[23] มา 3 ลูก และติดเทียนเหล้มหนักบาทหนึ่ง แล้วเอาตั้งไว้พายหน้าพระพุทธรูป ลูกหนึ่งข้างซ้าย ลูกหนึ่งข้างขวา แล้วเถิงยามค่ำนิมนต์ชาวเจ้า[24] มานั่งแวดพุทธรูปแต่พายหลัง ซ้าย ขวา เท่าอย่านั่งซองหน้าเทอะ แล้วหื้อ สัคเค[25] 3 ที(จบ) แล้วหื้อตั้ง(เริ่มสวด)มหาสมัย[26] ก่อนแล้วเยียะสูตรมังคะละ(มังคลสูตร) ระตะนะสูตรมนต์ เมื่อแล้ว ตั้งสูตรปาลี ปะปันธะ(ปะพันธะ) แต่ เอโส โน สัตถา ไปต่อเท้าเถิง        ขะยะมัชฌะคาติ นั้นแล้ว ซ้ำสูตรไปเล่าหื้อเสี้ยง(สิ้น)ปะฐะมะยาม[27]ทั้งมวล
          แล้วตั้ง(สวด)บาลี ปะปันธะ แต่ อะถะ โข ภะคะวา ไปต่อเท้าเถิงบทว่า ขะยะมัชฌะคาติ นั้นหื้อเสี้ยงมัชฌิมะยาม [28]ทั้งมวล
          แล้วตั้งสูตรบาลี ปะปันธะ แต่ อะถะ โข ภะคะวา ปัจฉิมะยามัง ไปคันเถิง(ครั้นถึง)บทว่า นิโรโธ โหติ นั้น หื้อไขผ้า[29] อันหุ้มพระเจ้าเสีย คันว่าติด(ขี้)เผิ้งยังตาก็เอา(ออก)เสียเทอะ แล้วสูตรไปเถิงคาถาบทว่า เย เทวา เย จะ มานุสสา นั้นแล้ว ผิบ่เสี้ยงปัจฉิมะยาม ซ้ำสูตรเล่าหื้อเสี้ยงปัจฉิมะยามเถิงพาดรุ่ง[30] แล้วเยียะสูตรธัมมะจักกะ(ธัมมจักกัปปวัตนสูตร) สูตรมังคะละ(มังคลสูตร) แล้วสูตรคาถา สุโข พุทธานัง แล้วตีกลอง ตีค้อง(ฆ้อง) เป่าแถร(แตร)สังข์ ปูชา ทานเข้าน้ำโภชนะอาหาร ซ้ำทานเข้า 49 ก้อนเล่าก็ดี บ่เป็น 49 ก้อนก็ดีแล แล้วเอาพระเจ้า[31]ไว้ที่สำราญเทอะ แล้ว เทสนา สุโข พุทธานัง แลที่ว่า ตัปปะติ อาทิจโจ นั้น เมื่อกระทำตามวิธีอันกล่าวมานี้ พระพุทธเจ้าองค์นั้นไว้ที่ใด[32]รุ่งเรือง มีเตชะอานุภาพมากนัก ชุ่มเนื้อเย็นใจ แก่คนและเทวดาทังหลายแล
          กล่าวอุปเทสเบิกบายสะหรีพุทธรูปาภิเษก จะบับ(ฉบับ)พุกามก็แล้วแล.”
6. อานิสงส์ของการสร้างพระพุทธรูป
          คติความเชื่อการสร้างพระพุทธรูปในล้านนา พบคัมภีร์อานิสงส์(ผลบุญตอบสนองที่ยิ่งใหญ่) หลายสำนวน ผู้เรียบเรียงขอสรุปแก่นสาระว่า เมื่อใช้วัสดุชนิดใดสร้างพระเจ้า แล้วจะได้อานิสงส์เป็นอย่างไร (บางคัมภีร์นับระยะเวลาที่เสวยผลบุญเป็นจำนวนกัปเอาไว้) ดังนี้ [33] 
ผู้สร้างพระพุทธรูปด้วยดิน (ปูนปั้น) จักได้เป็นเทพยดาผู้มีฤทธิ์
          ผู้สร้างพระพุทธรูปด้วยศิลา (หินแกะสลัก) จักได้เป็นพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ในดาวดึงส์
          ผู้สร้างพระพุทธรูปฉายเจ้า (เขียนเป็นรูปภาพ)  “พระบฏ”  จักได้เป็นท้าวมหาพรหม
          ผู้สร้างพระพุทธรูปด้วยไม้โพธิ์และไม้แก่นจันทน์  จักได้เป็นใหญ่ในประเทศราช ประกอบด้วยจตุรงคเสนาทั้ง 4
          ผู้สร้างพระพุทธรูปด้วยทองเหลืองและสำริด จักได้เป็นกษัตริย์ มีสมบัติเป็นอันมาก
          ผู้สร้างพระพุทธรูปด้วยเงิน จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช มีแก้ว 7 ประการ เป็นใหญ่ในแผ่นดิน
          ผู้สร้างพระพุทธรูปด้วยทองคำ แม้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ก็อาจสำเร็จตามความปรารถนา
นี้คือแรงบันดาลใจ หรือ ความปรารถนาผลอันยิ่งใหญ่ ในอนาคต ผลักดันให้พุทธศาสนิกชนเป็นเจ้าภาพสร้าง หรือ ร่วมกันสร้างพระพุทธรูป นับตั้งแต่อดีตมาจวบปัจจุบัน

7. สรุป
          การสร้างพระพุทธรูป หรือ สร้างพระเจ้า ตามธรรมเนียมล้านนาที่ปรากฏในคัมภีร์โบราณ(ใบลานและพับสา)ดังที่กล่าวมา แสดงถึงความพิถีพิถัน เอาใจใส่ต่อการเลือกวัสดุ ที่จะนำมาสร้าง การเลือกดิถี วันออก วันแรม เดือนที่เป็นมงคลในการสร้างพระพุทธรูป จะสร้างแต่ความสุขสงบร่มเย็น มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ ลาภสักการะ ยศศักดิ์ ฐานะตำแหน่งที่ดี หากเลือกวันและเดือนผิดไป จะก่อให้เกิดอุปสรรค เภทภัยต่าง ๆ ทั้งแก่เจ้าศรัทธาผู้สร้าง นายช่างผู้ก่อสร้าง รวมทั้งพระสงฆ์และประชาชนที่ร่วมสร้างพระพุทธรูปนั้น บ้านเมืองจะเกิดยุคเข็ญ วุ่นวายโกลาหล สำคัญที่สุด เมื่อสร้างพระพุทธรูปเสร็จแล้ว คติทางล้านนายังได้สร้างหัวใจพระพุทธรูป เรียกว่า “หัวใจพระเจ้า” และบรรจุด้วยสิ่งที่มีค่า และน้ำมันงา ถือว่า พระพุทธรูปก็มีชีวิต มีฤทธีเดชานุภาพ อำนวยผลที่สังคมพึงปรารถนาได้ พิธีกรรมสำคัญท้ายที่สุด หากพระพุทธรูปที่สร้างแล้วแต่ยังไม่ผ่านพิธีสวดพุทธาภิเษก ที่เรียกว่า “บวชพระเจ้า” สวดเบิกบายศรีให้สมบูรณ์ พระพุทธรูปก็ยังไม่ถือว่าเป็นพระเจ้าโดยสมบูรณ์ คงเป็นรูปหุ่นพระพุทธรูปที่เขาตั้งไว้ในสถานที่ดาด ๆ เพื่อเป็นสินค้าจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป แต่เมื่อพระพุทธรูปได้ผ่านพิธีพุทธาภิเษกแล้ว พระพุทธรูปจะเกิดความศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อที่ถือมาโดยคติประเพณี สมควรหาสถานที่ประดิษฐานให้เหมาะสม ยกฐานชุกชีแท่นพระให้สูงสง่าขึ้น ประกอบด้วยเครื่องสักการะบูชาให้สมกับเป็นพระพุทธรัตนะ ที่พึ่งพิงทางจิตใจ เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของสังคม
บทความนี้ คงจะเกิดประโยชน์ไม่มากก็น้อย หากได้ใส่ใจพิเคราะห์ถึงสาระที่อยู่เบื้องหลังการสร้างพระพุทธรูปจะพบคุณค่าของมรดกคติธรรมทางวัฒนธรรม มรดกทางศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมที่บรรพชนมอบให้แก่เรา  สมควรที่จะอนุรักษ์และสืบสานต่อไปให้นานเคียงคู่อยู่กับสังคมล้านนาตลอดไป.
ฐะเปตวา วะระสัมพุทโธ                      พุทธะรูปัง สะธาตุกัง
สาสะนัง  ปัญจะสะหัสสัญจะ                อัตถายะ เทวะมะนุสสานัง
เย เทวา เย จ มะนุสสา                       อินทะพรัหมา สะมาระกา
สัพเพ เต พุทธะรูปัมหิ                        รักขันตุ ยาวะ สาสะนัง ฯ

หนังสืออ้างอิง
ก. พระคัมภีร์ใบลาน และพับสา(เอกสารชั้นต้น)   
ตำราสร้างพระพุทธรูป. (มปป.). วัดแม่ต๋ำ ตำบลแม่ต๋ำ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย หมายเลข  86.150.01.
004-004 ภาษาและอักษรไทยยวน จำนวน 1 ผูก 35 หน้าลาน สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พิธีกรรมการก่อพระพุทธรูปและอานิสงส์การสร้างพระพุทธรูปด้วยวัสดุต่างๆ.  (มปป.). วัดป่าบงจันจว้า ตำบล
          จันจว้า อำเภอแม่จัน  จังหวัดเชียงราย. ภาษาไทยยวนจำนวน 18 หน้าลาน  หมายเลข
870156.11.050-050 สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พิธีสวดถอนคนตายกลมตายมาน จักสร้างพระพุทธรูปให้ถูกลักษณะ.(มปป.).  วัดคะตึกเชียงมั่น ตำบลหัวเวียง
อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง. ภาษาไทยยวน จำนวน  1 ผูก 18 หน้าลาน  หมายเลข 80 055 010
043-043 สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ยันต์ และพิธีดูวิญญาณคนตาย ยันต์ใส่พุทธรูป.(มปป.). วัดป่าสา ตำบลสันทราย อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
 หมายเลข 80.049.09.008-009  จำนวน 1 แผ่น.  สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สร้างพระพุทธรูปตามลักษณะดี / ตำรายา. (มปป.).  วัดสุกศรี ตำบลและ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน. 
สมุดข่อย(พับสา)  หมายเลข 87.155.11.012-012. ภาษาไทยยวนจำนวน 1 ผูก 52 หน้า  สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โหราศาสตร์ ตำราสร้างปราสาท สมสะตาย ก่อเจดีย์ ฯลฯ (มปป.).  วัดแม่ทะหลวง ตำบลแม่ทะ
          อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง. หมายเลข 81.078.11.090-090 ภาษาไทยยวน จำนวน 1 ผูก
96 หน้าลาน  สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงไหม่
พิธีการพุทธาภิเษก ของพระมหามหินทเถร สืบมาแต่เมืองพุกาม(2369) ฉบับใบลานของวัดขุนคงหลวง
ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่  พระปลัดนิพันธ์ รกฺขิตสีโล.
ข. หนังสือ(เอกสารชั้นรอง)
พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต).(2540). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัทพ์. กรุงเทพฯ :
 โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์.(2557). พิธีกรรมในวิถีชีวิตล้านนาจากเอกสารโบราณ. เชียงใหม่ นพบุรีการพิมพ์.
อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว.(2554) พระพุทธรูปในล้านนา. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์ตะวันเหนือ.
---------------






[1] อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิและชำนาญการพิเศษ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
[2] องค์การสหประชาชาติ ประกาศ ใน ปี พ.ศ. 2542 ว่า วันวิสาขะ(เพ็ญเดือน 6) หรือ วันแห่งการตรัสรู้สัจธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นวันสำคัญสากลของโลก  ชาวโลกไม่ว่า ประเทศใด จะนับถือศาสนาใด ให้จัดพิธีรำลึกและให้ความสำคัญพระพุทธเจ้า พระศาสดาของศาสนาพุทธ.
[3] “แทก” หมายถึง ทำการวัดขนาด
[4] “พุ่น” แปลว่า ส่วน ในที่นี้ ระบุตัวเลข 3 พุ่น แต่เมื่อนับตามเอกสาร เป็น 4 พุ่น
[5] ในฉบับนี้ ก็ให้แบ่งเป็น 3 ส่วน(ปาทะ) ใช้วัดจาก แท่นพื้นมาถึงสะดือ จากสะดือถึงนม และจากนมถึงจอมคาง และจากนั้นไป ไม่กล่าวถึงขนาด มาตรา ว่าสัดส่วนจากคางถึงตีนผม หรือถึงพระโมลี จะเป็นเท่าใด
                        [6] ต้นฉบับว่า “เตละลา”
[7] ดินเผา (อิฐ)
[8] “ออก” หมายถึง ดิถีจันทรคติข้างขึ้น ตรงกันข้ากับข้าง “แรม” ;  เดือนในที่นี้ หมายถึงการนับเดือนคติล้านนา ที่นับเร็วกว่าทางภาคกลางไป 2 เดือน คือ เดือนเจี๋ยง(เดือนอ้าย) เดือนยี่ ตรงกับเดือนทางใต้ว่า เดือน 11 และเดือน 12
[9] “ขันตั้ง” เครื่องครัว(อุปกรณ์)ต่าง ๆ ที่ นำมาใช้ในพิธีกรรม
[10] “สะตวง” กระทงทำด้วยกาบกล้วยแบ่งเป็นตาราง เพื่อบรรจุ เครื่องบัดพลีสังเวย
[11] “ขตฑมท” ต้นฉบับเขียนอักษรอย่างย่อ ถอดรหัสได้ว่า “ข้าวตอกดอกไม้เทียน” ฑ. นางมณโฑ ออกเสียง ด.เด็ก
[12] บรรทัด รูปแบบ หรือ ต้นแบบ
[13] ฤทธี อำนาจดลบันดาล
[14] อาบน้ำ สระเกล้า
[15] ปัจจยาการ 12 หรือ ปฏิจจสมุปปาทะ 12 อาการ มีอวิชชา ปัจจยา สังขารา เป็นต้น
[16] วันพระจันทร์ เต็มดวง ขึ้น 15 ค่ำ
[17] ถะไหลทอง หมายถึง ถาดทอง
[18] ปัดกวาด ทำความสะอาด
[19] นำหญ้าคา แปดกำ
[20] นั้งหันหน้า
[21] วางไห ไว้ สี่ มุม
[22] น้ำต้น ภาชนะใส่น้ำดื่ม ทำด้วยดินเผา
[23] แว่น คือ กระจกเงา
[24] พระภิกษุสงฆ์
[25] กล่าวชุมนุมเทวดา หรือ คำอัญเชิญเทวดา  เริ่มคำว่า สัคเค กาเม จะ รูเป เป็นต้น
[26] สวดมหาสมยสูตรก่อน
[27] ปฐมยาม หมายถึง ยามต้น ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น. 4 ชั่วโมง
[28] มัชฌิมยาม หมายถึง ยามกลาง ตั้งแต่เวลา 22.00-02.00 น. 4 ชั่วโมง
[29] เปิดผ้า
[30] ปัจฉิมยาม ถึงรุ่งสาง หมายถึง ยามสุดท้าย ตั้งแต่เวลา 02.00-06.00 น. 4 ชั่วโมง
[31] พระเจ้า หมายถึง พระพุทธรูป
[32] ไว้ที่ใด หมายถึง นำไปประดิษฐานไว้ในที่ใดก็ตาม
[33] เก็บความจาก อานิสงส์สร้างพระพุทธรูป ของ อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และข้อความจากhttp://www.komchadluek.net /detail/20090320/6007/พระเจ้าตอกสาน วัดจอมสวรรค์  แพร่.