แจ้งข่าวนักศึกษา012173

วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2568

4 โขน วิเคราะห์สาระและคุณค่าจากการอนุรักษ์หัวโขนไทย

 

4

วิเคราะห์สาระและคุณค่าจากการอนุรักษ์หัวโขนไทย

                                                                                            พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์

                                                                                                                                                                               มจร วข ชม 

ความนำ

               หลังจากที่ได้ศึกษาองค์ความรู้ว่าด้วยความเป็นมาของโขน ศิลปะการแสดงนาฏกรรมที่เรียกว่า โขน เรื่องราวที่โขนแสดง ตัวละครสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ในเรื่องที่แสดงโขน จนมาถึง ประเภทของหัวโขน และการสร้างหัวโขน ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นศิลปะวัฒนธรรมทางคติความเชื่อ  นาฏศิลป์ที่เป็นอัตลักษณ์ของชาติ อันทรงคุณค่า ในฐานะที่เป็นมรดกของชาติ  ต่อไปนี้ ผู้เรียบเรียง จะได้นำเสนอสาระและคุณค่า การอนุรักษ์ศิลปะหัวโขน ที่ศิลปินได้ทำการสร้าง สืบทอด และส่งผ่านมาจากรุ่นสู่รุ่น สู่อนุชน เป็นองค์ความรู้ทางประณีตศิลป์ ความงดงาม ทางวรรณศิลป์ บทพากย์ บทเจรจา วรรณกรรมทางภาษา  ที่ทรงคุณค่า ควรแก่การเรียนรู้  การใช้โขนเป็นศิลปะบำบัด การสร้างสรรค์นวัตกรรมหัวโขน เป็นมรดกของโทยและของโลก จะได้วิเคราะห์ตามประเด็นต่อไปนี้

 4.1  คุณค่าด้านวัฒนธรรม คติความเชื่อ

4.1.1  คุณค่าด้านวัฒนธรรม

          พบว่า โขน เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะการแสดงไทย มีหัวโขนเป็นองค์ประกอบสำคัญของการแสดงโขน ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงที่สะท้อนให้เห็นอัตลักษณ์ของไทย หัวโขนและเครื่องแต่งการนักแสดง ผ่านการออกแบบที่ประณีต สื่อถึงตัวละครเอกจากเรื่องรามเกียรติ์ เช่น พระราม ทศกัณฐ์ และหนุมาน การสร้างหัวโขน แสดงถึงฝีมือช่างไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพราะกระบวนการสร้างหัวโขนต้องใช้ทักษะเฉพาะด้าน หลายด้าน เช่น การปั้น การลงรักปิดทอง และการลงสี ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน

4.1.2 คุณค่าด้านคติความเชื่อ

        สาระที่พบ จะมีความเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมและการเคารพพระคุณครู ทำพิธีไหว้ครูของศิลปินโขนและนาฏศิลป์ไทย โดยใช้หัวโขนเป็นสัญลักษณ์ คือต้องมีการครอบหัวโขน หรือ ครอบครู โดยครูโขน จะเป็นผู้ครอบให้นักแสดงทุกคน   พิธีกรรมไหว้ครูนี้ ถือว่าเป็นการขอพรจากครูบาอาจารย์เพื่อความเป็นสิริมงคล และขอให้การแสดงราบรื่น   มีคติความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับหัวโขน ดังนี้

1) หัวโขนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชาวไทยถือว่า หัวโขนไม่ได้เป็นเพียงเครื่องแต่งกายของนักแสดงเท่านั้น แต่ยังถือเป็นวัตถุมงคลที่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่า หากผู้แสดงปฏิบัติต่อหัวโขนด้วยความเคารพ จะช่วยปกป้องคุ้มครองผู้ครอบครองหัวโขนนั้นๆ   

๒) ถือเป็นสิ่งเคารพสูงสุด ตามคติความเชื่อของช่างทำหัวโขนและนักแสดง หัวโขนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องวางไว้ในที่สูงหรือบนแท่นบูชา เพื่อแสดงความเคารพ ห้ามวางหัวโขนไว้ต่ำหรือในที่ไม่เหมาะสม

๓)  ความเชื่อด้านโชคลาง คนไทยบางกลุ่มเชื่อว่าหั วโขนของตัวละครอย่างหนุมาน และ ทศกัณฐ์มีพลังช่วยเสริมบารมี และป้องกันภัย จึงมีการบูชาและเก็บสะสมหัวโขนขนาดเล็กเป็นเครื่องราง

๔) ประกอบพิธีกรรมครอบหัวโขน  การครอบหัวโขนเป็นพิธีกรรมที่มีมาแต่โบราณ เชื่อว่า การครอบหัวโขนเป็นการรับพรและพลังจากครูบาอาจารย์ ช่วยเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ผู้แสดง นอกจากนี้ คติความเชื่อเกี่ยวกับหัวโขน ช่วยเสริมสร้างจิตสำนึกในการเคารพครูบาอาจารย์ และแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและความศรัทธาของคนไทย

4.1.3  คุณค่าด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม  หัวโขนสามารถสร้างรายได้ผ่านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น การผลิตของที่ระลึก งานออกแบบ และการแสดงโขน ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ หรือ นำเสนอในเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติ เป็นแหล่งรายได้ให้กับช่างฝีมือและผู้ผลิตหัวโขน

4.2 คุณค่าด้านศิลปะและการแสดง

          หากพิจารณา การแสดงนาฏกรรมโขน และ การสร้างหัวโขน จะพบคุณค่าในด้านศิลปะและการแสดง

ผู้เรียบเรียง จะวิเคราะห์คุณค่าสำคัญผ่านมุมมองในด้านศิลปะและการแสดง ดังนี้

4.2.1 คุณค่าในด้านศิลปะ

๑)     หัวโขนเป็นงานศิลปะชั้นสูงของไทย เพราะ หัวโขนเป็นศิลปกรรมที่มีความละเอียดอ่อน ประณีต  ต้องอาศัยฝีมือของช่างชั้นสูง ทั้งการปั้น ลงรักปิดทอง ลงสี และประดับตกแต่งให้สวยงาม

๒)     หัวโขน เป็นสื่อสะท้อนเอกลักษณ์ของตัวละคร เพราะหัวโขนแต่ละแบบมีลักษณะเฉพาะตัวที่แสดงถึงอุปนิสัยและบทบาทของตัวละคร เช่น หัวพระ (พระราม) จะดูมีหน้าตาสงบงาม หัวยักษ์ (ทศกัณฐ์) จะดูมีหน้าลักษณะดุดัน ส่วนหัวลิง หรือ วานร (หนุมาน) จะดูมีความคล่องแคล่วและซุกซน

๓)     เป็นการผสมผสานศิลปะแขนงต่าง ๆ เข้าด้วยกัน นั่นคือ การทำหัวโขน จะรวมเอาศิลปะหลายแขนง เช่น งานช่างฝีมือ งานประติมากรรม งานจิตรกรรม และการประดับตกแต่ง ทำให้หัวโขนเป็นผลงานประณีตศิลปะที่สมบูรณ์แบบ

๔) เป็นการพัฒนาและต่อยอดสู่ศิลปะยุคสมัยใหม่ นอกจากจะทำการอนุรักษ์หัวโขนในแบบดั้งเดิมเอาไว้แล้ว ยังมีการนำเอาหัวโขนมาประยุกต์ใช้ในงานศิลปะสมัยใหม่ เช่น งานออกแบบแฟชั่น งานตกแต่ง งานประติมากรรม และของที่ระลึก เป็นต้น

4.2.2 คุณค่าในด้านการแสดง

๑) หัวโขนเป็นส่วนสำคัญของการแสดง ถือว่าเป็นเครื่องแต่งกายที่ช่วยให้นักแสดงโขนแสดง อารมณ์และบุคลิกของตัวละครได้อย่างชัดเจน เนื่องจากนักแสดงโขน จะไม่ใช้การแสดงสีหน้า แต่ใช้ท่าทางและการเคลื่อนไหวแทน

๒) ช่วยเสริมความสมจริงของตัวละคร หัวโขนแต่ละแบบ ได้ถูกออกแบบมาให้ตรงกับบุคลิกของตัวละครเอกในเรื่อง ทำให้ผู้ชมสามารถแยกแยะและเข้าใจบทบาทของตัวละครที่ออกมาโลดเล่น แสดงได้ง่ายขึ้น

๓) เป็นสื่อที่มีบทบาทในการเผยแพร่ศิลปะไทยสู่สากล การแสดงโขนไทยได้รับการยกย่องในระดับสากล และหัวโขนเป็นองค์ประกอบที่ช่วยสร้างความประทับใจแก่ผู้ชมทั่วโลก เป็นส่วนหนึ่งของโขนไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก โดยที่ โขนไทยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติจากยูเนสโกในปี 2561 หัวโขนจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ต้องอนุรักษ์ควบคู่ไปกับศิลปะการ แสดง

4.3 คุณค่าด้านวรรณกรรม

ในการแสดงโขน ต้องมีบทพากย์ เจรจา ซึ่งบทพากย์โขนไทยมีคุณค่าด้านวรรณกรรมที่สำคัญ ในหลายแง่มุม  จำแนกได้่ดังนี้

1) คุณค่าด้านวรรณศิลป์ บทพากย์ เจรจา จะใช้ฉันทลักษณ์ไทย เช่น กลอนบทละคร และกาพย์ต่าง ๆ ซึ่งมีความไพเราะ และเหมาะสมกับการขับร้องและเจรจา มีการเล่นคำ สัมผัสสระ สัมผัสพยัญชนะ และการใช้โวหาร ภาพพจน์ ทำให้เนื้อความ มีชีวิตชีวา และทรงพลัง

ตัวอย่างบทพากย์ตอนที่ พระรามจำต้องเนรเทศนางสีดาออกจากวัง ฉาก: พระรามจำต้องเนรเทศ นางสีดาไปยังอาศรมฤๅษี

พระราม:

โอ้อนาถนวลนางผู้ร่วมจิต                     แม้สุดคิดฤๅอาจจะพรากห่าง
แต่เวรกรรมลิขิตต้องอำพราง                 จำใจร้างรสสมภิรมย์ไป

เจ้าอย่าหมองโศกศัลย์จาบัลย์นัก             ถึงจำพรากแต่รักไม่สูญได้
แม้กายห่างแต่จิตพินิจใน                      ยังห่วงใยเกินพรรณนานารี

นางสีดา:

โอ้พระองค์เอกองค์แห่งไตรภพ               ข้าเคารพรักแท้แน่หนักหนา
ไยต้องให้ข้านี้มีโศกา                          พรากพี่ยาพ้นไกลให้หม่นใจ

ข้าบริสุทธิ์ดุจจันทร์วันเพ็ญพ้น                เหตุไฉนสุริยนจึ่งผลักไส
หากจำพรากขอฝังซากร่างกายไป            อย่าหวังให้ชีวิตจะอยู่เลย

(สิ้นคำ สีดาโศกา พระรามกลั้นน้ำตา ต้องจากไปด้วยความจำใจ)

๒) คุณค่าด้านเนื้อหา บทพากย์ เจรจา จะช่วยถ่ายทอดเรื่องราวจากวรรณคดี เช่น รามเกียรติ์ ซึ่งมีแง่คิดเกี่ยวกับคุณธรรม ความจงรักภักดี ความกล้าหาญ และการต่อสู้ระหว่างความดีและความชั่ว อันแสดงให้เห็นโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมของไทยในอดีต รวมถึงความเชื่อเกี่ยวกับกษัตริย์ เทพเจ้า และชะตากรรม

๓) คุณค่าด้านการใช้ถ้อยคำและสำนวนอย่างมีอรรถรส ซึ่งบทพากย์จะทำหน้าที่กำกับอารมณ์และจังหวะของการแสดงโขน ทำให้เรื่องราวมีอรรถรส ช่วยให้ตัวละครมีเอกลักษณ์ชัดเจน ทั้งการใช้ถ้อยคำและสำนวนเฉพาะของตัวละครแต่ละประเภท เช่น ยักษ์ ลิง เทวดา และมนุษย์ ตัวอย่าง บทหนุมาน เจรจากับ   ทศกัณฑ์

หนุมาน: “เหม่! ไอ้สิบหน้าสิบเศียรสิบมือ
อหังการ์ถือว่าเป็นเจ้า
หลงใหลในเดชตนเอง
ฤๅเจ้าไม่รู้ว่าเราเป็นผู้ใด ?
เราเป็นบุตรพญาลม
กำเนิดสูงศักดิ์พิลาสล้ำ
มีฤทธิ์กำแหงแรงร้าย
เคยขย่มเขาไกรลาสหวั่นไหว
จะฆ่าแกให้ม้วยบรรลัยในบัดนี้”

๔) คุณค่าด้านประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาไทย บทพากย์ เจรจาได้สะท้อนการพัฒนาแนวคิดและรูปแบบการประพันธ์ในสมัยต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาไทยในการผสมผสานศิลปะแขนงต่างๆ เช่น วรรณกรรม ดนตรี นาฏศิลป์ และเครื่องแต่งกาย

 ดังนั้น บทพากย์โขนไทย ไม่เพียงแต่จะเป็นเครื่องมือในการดำเนินเรื่องราวของการแสดงให้น่าติดตาม และมีชีวิตชีวา แต่ยังเป็นมรดกทางวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าของชาติ

 4.4 คุณค่าด้านการเสริมสร้างสุขภาวะ ด้วยศิลปะบำบัด (Art Therapy)  

          การสร้างหัวโขนก็ดี จิตรกรรมการวาดหัวโขน หรือ การระบายสีหัวโขนก็ดี แม้กระทั้งการไปชมพิพิธภัณฑ์หัวโขนที่จัดแสดงในสถานที่ต่าง ๆ ก็ดี ล้วนเป็นการเสริมสร้างสุขภาวะ  ที่เรียกว่า  ศิลปะบำบัด  (Art Therapy) เป็นกระบวนการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการบำบัด เยียวยาทางอารมณ์และจิตใจ โดยเน้นให้ผู้เข้ารับการบำบัดสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อสะท้อนความรู้สึก และใช้กระบวนการนี้ในการช่วยพัฒนาสุขภาวะทางจิตใจ โดยมีหลักการสำคัญ ได้แก่:

๑) การแสดงออกอย่างอิสระ  ผู้เข้ารับการบำบัดสามารถใช้ศิลปะเป็นช่องทางแสดงอารมณ์และความรู้สึกที่อาจไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้

๒) การสื่อสารผ่านศิลปะ   ผลงานศิลปะเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดปัญหา ความคิด และอารมณ์ของบุคคล

๓) การบำบัดผ่านกระบวนการสร้างสรรค์   การทำงานศิลปะช่วยลดความเครียด ส่งเสริมสมาธิ และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์

๔) การเชื่อมโยงระหว่างร่างกาย จิตใจ และอารมณ์  การใช้ศิลปะสามารถช่วยให้ผู้เข้ารับการบำบัดเข้าใจตนเองมากขึ้น

 ในงานวิจัยการอนุรักษ์หัวโขนวิถีไทย และนำมาใช้เป็นศิลปะมาบำบัดผ่านจิตรกรรม ของนักเรียน ตั้งแต่ประถมศึกษา ถึงมัธยมศึกษา ด้วยการวาดลายเส้น การลงสี จากลายจิตรกรรมที่เป็นโครร่าง ไม่สลับซับซ้อน เช่น หน้าพระ นาง เทวดา ถึงลายเส้นที่ละเอียดสลับซับซ้่อน เช่น หน้า ยักษ์ หน้าลิง เหมาะกับวัยของผู้ที่เข้ามารับการบำบัด ได้ใช้หัวโขน ประเภทต่าง ๆ  เป็นเครื่องมือในการบำบัด  แสดงถึง ศิลปะบำบัดในด้านหนึ่งก็ใช้หัวโขน ภาพหน้าโขน มาเป็นเครื่องมือ ดังนี้

1) ความสัมพันธ์ระหว่างหัวโขนกับศิลปะบำบัด หัวโขนไทยไม่เพียงแต่เป็นงานศิลปะที่สะท้อนภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม แต่ยังสามารถนำมาใช้ในกระบวนการ ศิลปะบำบัด (Art Therapy) เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ศิลปะในการช่วยบำบัดอารมณ์ ความเครียด และพัฒนาคุณภาพชีวิต การเสริมสร้างสุขภาวะผ่านศิลปะบำบัดจากหัวโขน มีผลที่เกิดตามมาดังนี้

 (๑) สุขภาวะทางจิตใจ (Emotional Well-being) ช่วยผ่อนคลายและลดความเครียด

การสร้างหัวโขนเป็นกระบวนการที่ต้องใช้สมาธิ เช่น การปั้น ลงสี และประดับตกแต่ง ซึ่งช่วยให้ผู้ทำมีความสงบและจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน

การรับชมความงามของหัวโขนสามารถกระตุ้นอารมณ์เชิงบวกและช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย

ช่วยพัฒนาอารมณ์และจิตสำนึก หัวโขนแสดงออกถึงบุคลิกของตัวละคร เช่น พระรามที่มีความสงบสุขุม หรือหนุมานที่มีพลังและความกล้าหาญ ซึ่งช่วยให้ผู้ชมสามารถเชื่อมโยงอารมณ์ของตนเองกับศิลปะ

การใช้หัวโขนในการแสดง สามารถช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้รับการปลดปล่อยอารมณ์ และช่วยพัฒนาการแสดงออกของตนเอง

เสริมสร้างความมั่นใจและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมในศิลปะที่เกี่ยวข้องกับมรดกวัฒนธรรมช่วยเสริมสร้างความภาคภูมิใจในตนเองและอัตลักษณ์ของชุมชน

(๒)  สุขภาวะทางสังคม (Social Well-being) เชื่อมโยงผู้คนและสร้างความสัมพันธ์ในชุมชน

การทำหัวโขนและการแสดงโขนเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเป็นทีม ซึ่งช่วยส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

การสืบทอดและสอนการทำหัวโขนในโรงเรียนหรือศูนย์ศิลปะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่

เป็นเครื่องมือสื่อสารทางอารมณ์และความรู้สึก ผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจหรือผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะการสื่อสาร สามารถใช้ศิลปะของหัวโขนเป็นสื่อในการแสดงออก

(3) สุขภาวะทางร่างกาย (Physical Well-being) พัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวและการใช้มือ

กระบวนการทำหัวโขนช่วยเสริมสร้างการทำงานของกล้ามเนื้อมือและนิ้ว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการฝึกฝนการใช้มือให้แข็งแรง

สำหรับเด็ก การลงสีและประดับหัวโขนช่วยฝึกพัฒนาการทางด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก เสริมสร้างพลังงานและการเคลื่อนไหวผ่านการแสดงโขน

การแสดงโขนต้องใช้พลังงานและการเคลื่อนไหวที่ประณีต ซึ่งช่วยพัฒนาความแข็งแรงของร่างกายและการควบคุมสมดุล

(๔) สุขภาวะทางปัญญาและจิตวิญญาณ (Cognitive & Spiritual Well-being) ช่วยเสริมสร้างสมาธิและความคิดสร้างสรรค์

การทำหัวโขนต้องใช้สมาธิและความละเอียดอ่อน ซึ่งช่วยฝึกให้ผู้ทำมีความอดทนและรอบคอบ

การออกแบบและตกแต่งหัวโขนช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหา

ส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาตนเอง การศึกษาศิลปะหัวโขนช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย

การแสดงโขนช่วยให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้เรื่องราวของวรรณคดีไทย เช่น รามเกียรติ์ และเสริมสร้างคุณค่าทางศีลธรรม

เสริมสร้างจิตวิญญาณและความสงบภายใน

หัวโขนเกี่ยวข้องกับพิธีกรรม เช่น พิธีไหว้ครู ซึ่งช่วยเสริมสร้างความศรัทธาและความเป็นสิริมงคล

ศิลปะการแสดงโขนและการสร้างหัวโขนสามารถช่วยให้ผู้เข้าร่วมเกิดความรู้สึกเชื่อมโยงกับจิตวิญญาณและสุนทรียภาพทางศิลปะ

๒)  แนวทางการนำหัวโขนมาใช้ในศิลปะบำบัด

(๑) จัดเวิร์กช็อปการทำหัวโขนสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่ต้องการบำบัดอารมณ์

(๒) ช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้ฝึกสมาธิและการใช้มือ

(๓) เป็นกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันเป็นครอบครัวหรือชุมชน

(๔) ใช้การแสดงโขนเป็นกิจกรรมศิลปะบำบัด

(๕) สร้างโครงการอนุรักษ์หัวโขนควบคู่กับกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะ เช่น การจัดนิทรรศการหัวโขนในโรงพยาบาลหรือศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ 

4.5 สรุป

สาระสำคัญของการอนุรักษ์หัวโขนไทย มีข้อสังเกต คือ หัวโขนเป็นศิลปะที่เกี่ยวข้องกับโขน ซึ่งเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยา การอนุรักษ์หัวโขนจึงเป็นการรักษามรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ ในการทำหัวโขนต้องใช้ฝีมือและความชำนาญของช่างฝีมือ ทั้งการปั้น การลงรักปิดทอง และการลงสี ในด้านการอนุรักษ์ได้ช่วยรักษาความรู้และทักษะที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน

อนึ่ง หัวโขนไม่ได้เป็นเพียงเครื่องแต่งกายของนักแสดงโขน แต่ยังมีความศักดิ์สิทธิ์ เช่น การครอบหัวโขนที่แสดงถึงการเคารพครูบาอาจารย์และศิลปะการแสดง ประการสำคัญ โขนไทยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติจากยูเนสโกในปี 2561 หัวโขนจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ต้องอนุรักษ์ควบคู่ไปกับศิลปะการแสดง

มองในด้านคุณค่าของการอนุรักษ์หัวโขนไทย    หัวโขนมีรายละเอียดที่ประณีตและแสดงถึงเอกลักษณ์ของตัวละครในโขน เช่น พระ ยักษ์ ลิง นาง การอนุรักษ์ช่วยให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและชื่นชมความงามของศิลปะไทย นอกจากนี้ หัวโขนสะท้อนถึงยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลงของศิลปะแต่ละช่วงเวลา โดยรูปแบบของหัวโขนมีการพัฒนาไปตามสมัย แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์เดิมไว้ ในด้านการอนุรักษ์หัวโขนช่วยสร้างจิตสำนึกให้คนไทยภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมของตน และส่งเสริมให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรม ประการท้ายสุด หัวโขนสามารถสร้างรายได้ผ่านการผลิตและจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดความสนใจของผู้ที่สนใจศิลปวัฒนธรรม

คุณค่าทางสังคมและอัตลักษณ์ของชาติ หัวโขนเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทยที่สะท้อนถึงความประณีตของงานฝีมือ การอนุรักษ์จึงช่วยเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติให้คงอยู่ การอนุรักษ์หัวโขนไทยไม่เพียงเป็นการรักษาศิลปะแขนงหนึ่ง แต่ยังเป็นการสืบทอดคุณค่าทางวัฒนธรรมและความเชื่อที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ซึ่งช่วยให้มรดกทางศิลปะนี้คงอยู่และได้รับการสืบทอดต่อไปในอนาคต

ประการสำคัญ โขนสามารถใช้ประโยชน์ เป็นเครื่องมือในฐานะศิลปะบำบัด เพื่อเสริมสร้าง สุขภาวะทางจิตใจ สังคม ร่างกาย และจิตวิญญาณ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการทำหัวโขนเพื่อฝึกสมาธิ การใช้การแสดงโขนในการบำบัดอารมณ์ หรือการสืบทอดศิลปะนี้เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางสังคม การผสม ผสานศิลปะหัวโขนกับศิลปะบำบัดจึงเป็นแนวทางที่สามารถช่วยให้ผู้คนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น