1
บทนำ
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่
1.1
โขน
: ประวัติและความเป็นมา
1) ความเป็นมา
คนไทยมีศิลปะแห่งการเล่นหลายอย่างสืบมาแต่โบราณ
และการเล่นที่ปรากฏเป็นมหรสพสำคัญในภายหลังนี้ ก็น่าจะได้แก่การเล่นที่เรียกรวมกันว่า
“ระบำ รำ เต้น” จาก 3 คำนี้ อาจแยกการเล่นออกได้ตามประเภท เช่นที่ปรากฏต่อมาเป็น ๓
อย่าง[1] คือ
ระบำ ได้แก่
ศิลปะแห่งการรำที่ผู้แสดงรำพร้อมกันเป็นหมู่ เช่น ระบำชุดเทพบุตร นางฟ้า ระบำเบิกโรงชุดเมขลารามสูร
หรือ ถ้าเป็นชุดระบำมีศิลปะแบบไทยเหนือ เรียกกันว่า
“ฟ้อน” เช่น ฟ้อนเมือง ฟ้อนเงี้ยว
จึงเรียกเป็นคำรวมว่า ฟ้อนรำ หรือ ระบำรำฟ้อน
รำ ได้แก่ ศิลปะแห่งการรำเดี่ยว รำคู่ รำประกอบเพลง รำอาวุธ
รำใช้บทของการรำโดยเฉพาะก็มี เช่น รำเขนง
รำพัดชา รำแพน เรียกพวกที่หนักไปทางเต้นก็มี
เช่น รำโคม
เต้น ได้แก่ ศิลปะแห่งการยกขาขึ้นลงให้เป็นจังหวะ
เช่น เต้นเขน เต้นโขน
การเล่นทั้ง ๓ ประเภทนี้ แสดงว่ามีมาแต่โบราณ
มักล่าวถึงไว้ในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยว่า ย่อมเรียงขันหมากขขันพลู
บูชาพิลม ระบำรำเต้น เล่นทุกวัน ครั้นสืบมาในตอนหลัง
เมื่อศิลปะแห่งการเล่นทั้ง ๓ อย่าง วิวัฒนาการขึ้น และเมื่อได้กำหนดรูปแบบการเล่นเป็นที่แน่นอนแล้ว
จึงหาคำมาบัญญัติเป็นทางการว่า “โขนละครฟ้อนรำ” จึงสรุปว่า ศิลปะการเต้น
เป็นโขน เรียกว่า เต้นโขน ศิลปะแห่งการรำและเล่นเป็นเรื่องราว
เรียกว่า ละคร ส่วนศิลปะแห่งการรำสวย
ๆ งาม ๆ เล่นไม่เป็นเรื่องราว เรียกว่า ระบำ
หรือ ฟ้อนรำ รำละคร
โขน เป็น ศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทย ที่ต้องรวบรวมศิลปินผู้มีความสามารถจำนวนมาก
มาร่วมถ่ายทอดความงดงามของศิลปะหลากชนิด เช่น นาฏศิลป์ วรรณคดี การขับร้อง การบรรเลงปี่พาทย์หรือดนตรี
การจัดเครื่องแต่งกายให้ถูกต้องตามแบบแผนของโขน การจัดฉากและเวที เป็นต้น ไปสู่ผู้ชม
เมื่อการแสดงโขน มิใช่จัดขึ้นได้โดยง่าย จึงทำให้ปัจจุบันหาชมโขนได้ยากยิ่ง[2]
อีกประการหนึ่ง โขน เป็นการแสดงในพระราชพิธี “อินทราภิเษก” การเล่นโขน มีมาแต่ครั้งสมัยกรุงอยุธยา
เป็นการเล่นที่แสดงตำนานในพระราชพิธี เพื่อแสวงสวัสดิมงคล และถวายพระพร แด่พระมหากษัตริย์
ไม่ได้เป็นการแสดงมหรสพ หรือ นาฏกรรมเพื่อความบันเทิงใจเช่นทุกวันนี้ ดังที่ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายในหนังสือ
“ตำนานเรื่องละครอิเหนา พ.ศ 2464” ว่า
ตำนานของการเล่นโขนในประเทศนี้ มีเค้ามูลอยู่ในกฎมณเฑียรบาล
ตอนตำราพระราชพิธีอินทราภิเษก มีเนื้อความว่า ในพระราชพิธีอินทราภิเษกนั้น ปลูกเขาพระสุเมรุสูง
1 เส้น 5 วา ที่ท้องสนามหลวง และที่เชิงเขา ทำเป็นรูปนาค 7 เศียร
เกี้ยวเขาพระสุเมรุ แล้วเลกตำรวจ แต่งเป็นอสูร 100 มหาดเล็ก แต่งเป็นเทพยดา
100 และ เป็นพาลี สุครีพ มหาชมภูและบริวารวานรอีก 100
ชักนาคดึกดำบรรพ์ คือ อสูร อยู่หัวนาค เทวดาและลิงอยู่ปลายหาง และวันที่
6 เป็นวันชุบน้ำอมฤต เทพยดาผู้เล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ พร้อมด้วยรูปพระอิศวร
พระนารายณ์ พระอินทร์ พระวิษณุกรรม ถือเครื่องสำหรับธรรมเนียมเข้ามาถวายพระพร ลักษณะการที่ทำพระราชพิธีอินทราภิเษกดังกล่าวมานี้
ก็คือการเล่นแสดงตำนานในไสยศาสตร์ เพื่อแสวงสวัสดิมงคล บางที ที่เกิดมีกรมโขนขึ้น ก็จะมาแต่
“การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ในพระราชพิธีอินทราภิเษก” นี้เอง จึงเป็นเหตุให้ฝึกหัดโขนหลวงขึ้นไว้สำหรับเล่นในพระราชพิธี
และเอามหาดเล็กหลวงมาหัดเป็นโขน ตามแบบแผนซึ่งมีอยู่ในตำราพระราชพิธีอินทราภิเษก เพราะเป็นลูกผู้ดี
ฉลาด เฉลียว ฝึกหัดเข้าใจง่าย จะเห็นได้ว่า มูลเหตุที่ “เล่นโขน” กับ “เล่นละคร” ในประเทศนี้ผิดกันห่างไกล
โขน เป็นการเล่นของผู้ดีมีบรรดาศักดิ์ เล่นในพระราชพิธี ละคร เป็นการเล่นของราษฎรที่รับจ้างหาเลี้ยงชีพ[3]
2) วิวัฒนาการโขนผสมละคร
ต่อมา ในสมัยรัตนโกสินทร์ การเล่นโขนเกิดความเปลี่ยนแปลง ด้วยมีการผสมผสานกับละครใน
และได้มีวิวัฒนาการจากเดิม ซึ่งเป็นการแสดงในพระราชพิธี มาเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงรูปแบบหนึ่ง
ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและชื่นชมได้เช่นมหรสพอื่น ๆ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่
3 ถึงรัชกาลที่
5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ว่า ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่โปรดการมหรสพต่าง ๆ ทรงเห็นว่าเป็นการละเล่นที่ไร้สาระไม่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง
และผิดหลักธรรมของพระพุทธศาสนา เป็นการบำรุงบำเรอตนเองเกินกว่าเหตุผล โขน ละครหลวง
จึงร่วงโรยไปพักหนึ่ง ตั้งแต่รัชกาลที่ 3 ลงมา
พอถึงรัชกาลที่ 5 เจ้าพระยาเทเวศวงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์ หลาน) ได้เข้าบัญชาการมหรสพและได้ฟื้นฟูโขนหลวงขึ้น
ในตอนนั้น ครูโขนหลวงที่เป็นผู้ชายได้แก่เฒ่าร่วงโรยไปหมด คงเหลือแต่ครูละครในซึ่งเชี่ยวชาญในการแสดงละครในเรื่องรามเกียรติ์
อันเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และการแสดงในละครนั้น ก็มีการฝึก
ท่ายักษ์ ท่าลิง และมีการใช้หน้าพาทย์ต่าง ๆ เช่นเดียวกับการแสดงโขน เจ้าพระยาเทเวศ
จึงให้หาครูละครในผู้หญิง ซึ่งยังเหลืออยู่นั้น มาหัดโขน ซึ่งเป็นผู้ชายตามลักษณะของโขนขึ้น
แต่ครูละครในเหล่านั้น นอกจากจะมาหัดท่ารำหน้าพาทย์ และท่ารำอื่น ๆ ให้แก่โขนหลวงแล้ว
ก็ยังได้นำอิทธิพลของละครใน มาสู่โขนเป็นอย่างมาก เช่น การรำ ใช้บทเช่นเดียวกับละครใน ตัวพระและตัวนางของโขน ก็ต้องหัดรำแบบละครใน คือ
เริ่มต้นด้วยเพลงช้า เพลงเร็ว ตลอดจนให้ตัวพระ ตัวนางหรือเทวดาเปิดหน้าโขนออก แล้วผัดหน้าเหมือนละคร
การแสดงโขนตั้งแต่นั้นมา ก็มีแบบแผนและมีวิธีการของละครในเข้ามาแทรก กล่าวได้ว่า การแสดงโขนในปัจจุบัน
มีส่วนการเป็นแสดงละครในอยู่มากกว่าการแสดงโขนอย่างแท้จริง[4]
เมื่อการเล่นโขนเปิดหน้า
และผัดหน้าเช่นเดียวกับละคร รูปแบบการแต่งหน้าของตัวละครโขนที่เปิดหน้ามักจะตามรูปแบบการแต่งหน้าที่ละครนิยมกันในสมัยนั้น
เป็นไปตามข้อจำกัดทางด้านวัสดุอุปกรณ์และวิทยาการของการแต่งหน้าละครในแต่ละยุคสมัย
ปัจจุบัน ยังไม่เคยมีการออกแบบ รูปแบบการแต่งหน้าโดยเฉพาะที่เหมาะกับลักษณะการแต่งโขน
ในการแสดงโขน มีตัวละครที่เปิดหน้าอยู่หลายตัว อาทิ เหล่ามนุษย์ เช่น พระราม
นางสีดา พระลักษมณ์ เสนา นางกำนัน ตัวตลก เหล่าเทพและชาวหิมพานต์ เช่น พระศิวะ พระอุมา
พระนารายณ์ พระพรหม พระอินทร์ พระอาทิตย์ เทวดา นางฟ้า นักสิทธิ์ คนธรรพ์ วิทยาธร นาค
ฤาษี เหล่ายักษ์ ลิง
ในอดีต นาฏศิลป์ โขน ละคร ถือเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์
และเป็นหน่วยงานสำคัญหน่วยงานหนึ่งในราชสำนัก สมัยกรุงศรีอยุธยาเชื่อกันว่า สงวนไว้สำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น
เรียกว่า ของหลวง ละครหลวง เจ้านายและสามัญชนมิอาจมีได้ ความเชื่อนี้ได้สืบมาถึงสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
แต่ในที่สุดก็ได้ถูกยกเลิกไป ในสมัยรัชกาลที่ 3
การที่โขนละครหลวงเป็นเครื่องประกอบพระราชพิธีอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ เกิดจากระบบการปกครองที่ไทยรับมาจากขอมในสมัยอยุธยาตอนต้น
เมื่อได้รับอิทธิพลจากขอม ซึ่งเป็นระบอบเทวราชาหรือพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ ก็ย่อมจะมีข้าราชการฟ้อนรำถวาย
ดุจเดียวกับเทพเจ้า ที่มีนางอัปสรขับบำเรอและเป็นต้นเค้าให้เกิดละครนางใน หรือ ละครข้างในวังขึ้น
ส่วนโขน เป็นการแสดงตำนานสรรเสริญพระเป็นเจ้า เห็นได้จากโขน แสดงเรื่องรามเกียรติ์ [5]
โขน เป็นมหรสพที่ท่านผู้รู้ได้ค้นคว้าเรียบเรียงไว้ว่า
มีกำเนิดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะคำว่า โขน มีหลักฐานปรากฏชัด ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
พ.ศ 2199 ถึง 2231 การแสดงโขน ถือได้ว่า
ได้รับอิทธิพลจากรูปแบบการแสดงที่สำคัญ 3 ประการคือ
(1)
การเต้น การพากย์ การเจรจา เชื่อว่า มาจากการแสดงหนังใหญ่
หนังใหญ่เป็นมรดกที่ใช้แผ่นหนังวัวขนาดใหญ่ ฉลุฉลากเป็นลวดลายตัวโขนละคร จากนั้น ใช้ไม้ไผ่ประกับเป็นด้ามสำหรับผู้เชิดจับ การแสดงหนังใหญ่ใช้ศิลปะการเต้นตามจังหวะดนตรีหน้าพาทย์
และดำเนินเรื่องด้วยการเจรจา เรื่องที่ใช้แสดง มักเป็นเรื่องรามเกียรติ์เป็นพื้น และ
มีการแสดงเรื่องชาดก ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา หรือเรื่องราวจากคัมภีร์ปุราณะต่าง ๆ ด้วย
หนังใหญ่ เชื่อว่า เป็นมหรสพที่รับวัฒนธรรมอินเดีย ผ่านมาทางขอมและเข้าสู่ประเทศไทย
ในสมัยอยุธยาตอนต้น สันนิษฐานว่า หนังใหญ่เป็นต้นเค้าศิลปะการแสดงโขน
(2) การแต่งกาย เชื่อว่า มาจากการแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์
คำว่า ดึกดำบรรพ์ สันนิษฐานว่า
มาจากคำเขมร “ ทึก + ตํบาร” ทึก (ดึก, ตึก) แปลว่า น้ำ ตฺบาร แปลว่า ปั่น “ทึกตฺบาร”
แปลว่า ปั่นน้ำ กวนน้ำ[6] การแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์เป็นการแสดงตำนานสรรเสริญเทพเจ้าที่เชื่อกันว่า
ได้รับอิทธิพลมาจากขอมโดยตรง ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น วิธีแสดงกล่าวไว้ในหนังสือกฎหมายตราสามดวง
มีเนื้อความว่า การแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์ เป็นการแสดงตำนานเทพเจ้ากลางท้องสนามหลวง โดยสร้างภูเขาจำลอง
เป็นเขาพระสุเมรุแล้ว สร้างพญานาคขนาดใหญ่พันรอบเขา ใช้มหาดเล็กเป็นเทวดา อสูร วานร
อสูรชักนาคด้านศีรษะ เทวดา วานรชักนาคด้านหาง คล้ายการเล่นชักคะเย่อ สิ่งสำคัญในการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์
คือการใช้ผู้แสดงแต่งกายเป็นพวก ๆ คือ เป็นพวกเทวดา อสูร วานร เชื่อกันว่า เป็นต้นเค้าของการแต่งกายผู้แสดงโขน
พิธีชักนาคดึกดำบรรพ์
เป็นการแสดงตำนานที่เทวดาสามารถเอาชนะอสูรได้ หลังจากที่เทวดาล้มตายเป็นจำนวนมากจากการสู้รบกับอสูร
จึงคิดอุบายกวนเกษียรสมุทร(ทะเลน้ำนม) เพื่อให้ได้น้ำอมฤต เนื้อเรื่องจากตำนานตอนนี้
กล่าวว่า ขณะเทพ อสูรช่วยกันดึงชักพญานาคได้ 3 รอบนั้น พญานาคก็คายพิษออกมา
พิษนาคนี้เป็นอันตรายมาก ตกน้ำ น้ำจะเหือดแห้ง ตกลงพื้นดิน จะเกิดลุกเป็นไฟเผาผลาญมอดไหม้หมด พระอิศวรจึงสละพระองค์ โดยการยอมเสวยพิษนาคจนหมด
จนพิษนาคได้เผาผลาญพระศอจนมีสีคล้ำดำ ด้วยเหตุนี้ พระอิศวรจึงมีอีกนามหนึ่งว่า “นีลกัณฐ์” แปลว่า “ผู้มีพระศอสีดำ”
ในที่สุดน้ำอมฤตเกิดขึ้นมา แต่เพราะพวกอสูรฉุดที่หัวนาค จึงได้สูดเอาควันพิษนาคเข้าเต็ม
ๆ ทำให้เหน็ดเหนื่อย อ่อนแรงลง ส่วนเทวดาผู้ชักทางหาง ไม่เป็นอันตราย จึงถือโอกาสแบ่งน้ำอมฤตดื่มกันจนหมด
ทำให้เทวดาเป็นอมตะ และรบเอาชนะพวกอสูรแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พิธีการชักนาคดึกดำบรรพ์ ปรากฏในพงศาวดาร 2
ครั้ง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ
ครั้งที่ 1 ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่
2 และครั้งที่ 2 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
(3) การกระบวนท่าการต่อสู้ เชื่อว่า มาจากท่าการต่อสู้ที่เรียกว่า “รำกระบี่กระบอง”
กระบี่กระบองเป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวที่ชายไทยในอดีตนิยมเรียนรู้ จึงเป็นต้นเค้าของการใช้อาวุธต่อสู้
ท่าทางการร่ายรำอาวุธของโขน เชื่อว่า ได้รับอิทธิพลมาจากท่ารำกระบี่กระบอง ส่วนการขึ้นลอย
การเหยียบ หรือ ยกตัวในการแสดงโขน สันนิษฐานว่า ได้มาจากภาพ ในหนังใหญ่ โดยนำมาปรับเปลี่ยนรูป
ให้เหมาะสมกับสรีระร่างกายของมนุษย์
1.2
เหตุใดจึงจึงเรียกว่าโขน
ไม่มีคำว่า โขน ในจารึกเอกสารโบราณของไทย แต่มีคำที่กล่าวไว้
โรงโขน โรงรำ แต่คำว่า โขนปรากฏ ในหนังสือของชาวต่างประเทศ กล่าวถึงศิลปะการแสดงของไทยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เรียกนาฏกรรมชนิดนี้ เหตุใดจึงเรียกนาฏกรรมนี้ว่า โขน และคำว่า โขน และเป็นคำบัญญัติขึ้นในภาษาไทยก็พอจะมีเค้าที่กล่าวไว้
ดังนี้
ในภาษาบังกาลี[7] มาจากคำว่า โขละ หมายถึง ดนตรีเครื่องหนังชนิดหนึ่ง
ใช้ตีรูปร่างเหมือน มฤทังคะ รูปร่างเหมือนตะโพนปัจจุบัน
แต่มีสายโยงคล้องคอผู้ตี
ในภาษาทมิฬ มีคำที่ใกล้เคียงกับคำว่า โขล คือ โกละ หรือ
โกลัม ซึ่งแปลว่า เพศชาย เพศหญิง หรือการประดับแต่งตัวตามลักษณะของเพศ
ให้รู้ว่าเป็นเพศชาย เพศหญิง
ในภาษาอิหร่าน มีคำว่า ซูรัต ควาน (surat khwan) หมายถึง ผู้ซึ่งแสดงภาพของเทวดาและมนุษย์ที่จะได้รับรางวัลและการลงโทษในวันกลับฝื้นคืนชีพ
ผู้แสดงนั้นรับสินจ้างรางวัลจากการแสดงจากบรรดาผู้ดูทั้งหลาย คำว่า ซูรัต หมายถึง ตุ๊กตา
หรือ หุ่น ในละครซึ่งเป็นนิยมการแพร่หลายของชาวอิหร่าน
ส่วนคำว่า ควาน หมายถึง ผู้อ่าน หรือ ผู้ขับร้องแทนตัวตุ๊กตหรือตัวหุ่นนั้น
ควาน
หรือ โคลน(Khon) คือ ผู้อ่าน หรือ ผู้ขับร้อง ในที่นี้
ก็หมายถึงผู้เจรจา หรือผู้พากย์ อย่างคนเจรจาและพากย์โขนของเราก็ได้ ดังนั้น Kola
ทมิฬ และ Khwan หรือ Khon ของอิหร่าน มีความหมายใกล้กับคำว่า โขน ซึ่งเป็นนาฏกรรมของเราในบัดนี้
[8]
1.3 เนื้อเรื่องที่ใช้แสดงโขน รามเกียรติ์
เนื้อเรื่องในการแสดงโขนตั้งแต่เดิมมาจนถึงปัจจุบัน นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์
ซึ่งเป็นเรื่องราวจากมหากาพย์รามายณะของประเทศอินเดีย ในอดีต รามเกียรติ์ เป็นเรื่องของวีระกษัตริย์ชาวอารยัน
ทำสงครามต่อสู้กับฝ่ายทมิฬ โดยอารยันมีกษัตริย์ชื่อว่า ราม ได้มีพวก มิลักขะ ชาวป่าเป็นไพร่พล
ยกทัพไปทำสงครามกับทมิฬซึ่งมี ราพณะ ในนามของ ทศกัณฐ์ เป็นจอมทัพ การสงครามครั้งนี้
เกิดจากสาเหตุแย่งชิงนางสีดามเหสีของรามที่ถูกฝ่ายทศกัณฐ์ลักพาตัวไป เรื่องรามเกียรติ์
จึงเป็นเรื่องราวที่แพร่หลายเข้ามาจากชมพูทวีปและมีอิทธิพลต่อขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลเรื่องรามเกียรติ์นี้
ปรากฏในวรรณกรรมล้านนา ชาดกนอกนิบาต “พรหมจักร รามเกียรติ์ฉบับสำนวนล้านนาไทย”[9] ดังเห็นได้จากชื่อบ้านนามเมือง เช่น อยุธยา
ลพบุรี พิษณุโลก และนามพระราชวงศ์ พระนามพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ เช่น พระรามาธิบดี
พระราเมศวร พระนารายณ์มหาราช การแสดงโขนที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
เป็นศิลปะการแสดงแบบละครโรงใน หรือ โขนที่นำศิลปะการขับร้องเพลงเข้ามาประกอบการแสดงมากยิ่งขึ้น
ในอดีต โขน ละคร อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คราวหลังจัดแบ่งเป็นหน่วยงานแต่งตั้งขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ธนิต อยู่โพธิ์ เสริมว่า
“ถ้าจะลองคิดวาดภาพดูว่า
ศิลปะแห่งการเล่นโขนได้วิธีเล่นและวิธีแต่งตัวบางอย่างมาจากการชักนาคดึกดำบรรพ์ และได้ท่าต่อสู้
โลดโผน ท่ารำท่า เต้นมาจากบางส่วนของรำกระบี่กระบองซึ่งผู้เล่นหนังเอามาเล่นก่อน และได้ศิลปะอย่างอื่นของการเล่นหนังมาใช้
เช่น คำพากย์ คำเจรจา หน้าพาทย์เพลงดนตรี ตลอดจนได้ท่าเต้นของผู้เชิดหนังมาอีกด้วย
ทั้งจะได้ประดิษฐ์แก้ไขวิธีแต่งตัวให้งดงามยิ่งขึ้น ถ้าเครื่องสวมศีรษะ ได้เคยมีมาแต่ครั้งเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์บ้างแล้ว
ก็คงจะได้แก้ไขดัดแปลงแล้วประดิษฐ์สร้างขึ้นมาใหม่ให้เหมาะสมกับเรื่อง และด้วยเหตุที่ผู้เต้นผู้รำศิลปะประเภทนี้
ต้องสวมหัวปิดศีรษะเป็นหน้าตายเสียหมด ไม่สามารถพูดและขับร้องได้ด้วยตนเอง จึงต้องมีคนพากย์และเจรจาแทน
โดยนำเอาบทพากย์และบทเจรจาของการเล่นหนังมาใช้ แม้จะปรากฏในชั้นหลังว่าผู้เล่นเป็นตัวเทวดาและมนุษย์ชายหญิงไม่ต้องสวมหัว
แต่ผู้เล่นนั้น ๆ ก็ไม่พูดและไม่ขับร้องเอง คงแสดงหน้าตายของตนเช่นเดียวกับผู้สวมหัวโขนซึ่งประดิษฐ์ขึ้น
เมื่อนำเอาศิลปะเหล่านี้มาคลุกคลีการเข้าด้วยกัน ก็เกิดเป็นนาฏกรรมไทยแบบใหม่ ซึ่งเป็นของแปลกและน่าดูอีกอย่างหนึ่งในสมัยนั้น
ปัญหาจึงเกิดขึ้นมาว่า ควรจะเรียกศิลปะการเล่นแบบนี้ใหม่ว่าอะไรดีและอาจจะตกลงกันในที่สุดก็เรียกว่า
โขน” [10]
[1] ธนิต
อยู่โพธิ์, โขน, (พระนคร : กรมศิลปากร
พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าเฉลิมเขตมงคล.
2500), หน้า 1.
[2]
ปรเมษฐ์ บุญชัย และสุรัตน์ จงคา. วิวัฒนาการเครื่องแต่งกายโขน-ละคร
สมัยรัตนโกสินทร์. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ
ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กองศิลปาชีพ สวนจิตรลดา) 2552. หน้า ๓.
[3] กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานเรื่องละครอิเหนา, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน,2546 หน้า 228
-229.
[4] คึกฤทธิ์ ปราโมช
หม่อมราชวงศ์และคณะ, ลักษณะไทยเล่ม 3 ศิลปะการแสดง, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช 2541, อ้างในหนังสือ
หน้าโขน โดย มนตรี วัดละเอียด) หน้า 183.
[5] ปรเมษฐ์
บุญชัย และสุรัตน์ จงคา, วิวัฒนาการเครื่องแต่งกายโขน-ละคร สมัยรัตนโกสินทร์,
หน้า 9
[6] กรมศิลปากร,
โขน อัจฉริยลักษณ์แห่งนาฏศิลป์ไทย, (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร,
2552) หน้า 15.
[7] ธนิต อยู่โพธิ์, โขน, หน้า 17.
[8]
ธนิต อยู่โพธิ์, หน้า 23.
[9] สิงฆะ
วรรณสัย(ปริวรรต), ชาดกนอกนิบาต พรหมจักร รามเกียรติ์ฉบับสำนวนล้านนาไทย, (กรุงเทพฯ
: มิตรนราการพิมพ์, 2522)
[10]
ธนิต อยู่โพธิ์, โขน, หน้า 18.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น