แจ้งข่าวนักศึกษา012173

วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

แดนพุทธภูมิ บทที่ 5 พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้

 

บทที่ 5

พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้

(Bodh Gaya The Enlighten Place)

           โดย 
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์

                                                                                                                                    Phisit Kotsupho

ความนำ

            ในวันเพ็ญที่พระจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์ หรือวันเพ็ญเดือน 6 ในราตรีนั้น พระโพธิสัตว์  ได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ  โพธิ  หมายความว่า การตรัสรู้ ความรู้ ความตื่น หรือ ความเบิกบาน จึงเรียกพระนามผู้ตรัสรู้ว่า พระพุทธเจ้า  แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น  ผู้เบิกบาน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ใต้ต้นไม้ อัสสัตถะ  หรือไม้ไทร เพราะพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใต้ต้นไม้อัสสัตถะ ต้นไม้นี้ จึงได้เรียกว่า โพธิพฤกษ์   ภาษาปากว่า ต้นโพธิ์   สถานที่ ตรัสรู้นั้นอยู่ไกล้ฝั่ง แม่น้ำ เนรัญชรา คำสันสกฤตว่า ไนยรัญจนะแปลว่า แม่น้ำที่มีสีใสสะอาด ปัจจุบัน  ชาวบ้านแถบนั้นเรียกว่า ลิลาชัน(Lilajan) หรือ แม่น้ำ ฟัลดูร์ สมัยพุทธกาล แม่น้ำคงใสสะอาด เป็นร่องลึก แต่ปัจจุบัน เนรัญชรา มีแต่ทรายเต็มไปหมด ทางน้ำไหลก็ตื้นเขินมาก และผู้คนสามารถเดินข้ามฝั่งไปมาได้ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในแคว้นมคธ ซึ่งมีเมืองราชคฤห์ เป็นเมืองหลวง

แม่น้ำเนรัญชรา หน้าฝน

            พระศรีมหาโพธิ์ สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นสังเวชนียสถานที่สำคัญเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าแห่งที่ 2   ปัจจุบัน สถานที่ตรัสรู้นี้เรียกว่า ตำบลพุทธคยา หรือ โพธิคยา จังหวัดคยา รัฐพิหาร เมืองหลวงชื่อ ปัฏนะ  สมัยอโศกมหาราช  ชื่อเมือง ปาฏลีบุตร พุทธคยาห่างจากจังหวัดคยา  ประมาณ 12 กิโลเมตร  ตำนานพุทธประวัติเล่าถึงความสำคัญของพระศรีมหาโพธิ์ไว้ว่า  ต้นโพธิ์นี้ เกิดขึ้นในวันเดียวกับการประสูติของพระสิทธัตถะ เป็น 1 ใน สหชาติ 7 ประการ คือ    

            1. พระนางพิมพาหรือพระนางยโสธรา พระราชบุตรีของประเจ้าสุปปพุทธะ กรุงเทวทหะ พระชายาของพระสิทธัตถะ  เป็นพระมารดาของพระราหุล เมื่อออกบวชมีนามว่า พระนางภัททกัจจานาเถรี

            2. พระอานนท์  โอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ ซึ่งเป็นพระเจ้าอาของเจ้าชายสิทธัตถะ  ออกบวชพร้อมเจ้าชายศากยะ 6 พระองค์และ อุบาลีช่างกัลบก รวม เป็น 7 คน ในในคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับไปเยือนนครกบิลพัสดุหลังการตรัสรู้ ต่อมาพระอานนท์ได้รับเลือกเป็นพุทธอุปัฏฐากประจำพระพุทธเจ้า ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะหลายด้าน  บรรลุพระอรหัตหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว 3 เดือน และเป็นพระสังฆเถระสำคัญรูปหนึ่ง ในการทำสังคายนาครั้งแรก ที่กรุงราชคฤห์ เล่าว่าพระอานนท์เป็นผู้มีอายุยืนถึง 120 ปี ตามประวัติพระอานนท์กล่าวว่า ท่านปรินิพพานในอากาศเหนือแม่น้ำโรหิณี ซึ่งเป็นเส้นกั้นแดนระหว่างแคว้นสักกะ และโกลิยะ

            3. นายฉันนะ เป็นอำมาตย์คนสนิท  เป็นสารถีของเจ้าชายสิทธัตถะในคืนที่เสด็จออกบรรพชา นายฉันนะตามเสด็จไปพร้อมม้ากัณฑกะ เมื่อพระสิทธัตถะผนวชแล้ว ได้เป็นผู้นำเครื่องอาภรณ์พร้อมทั้งคำกราบทูลลาของเจ้าชายสิทธัตถะกลับกรุงกบิลพัสดุ์   ต่อมาได้ออกบวชเป็นภิกษุ แต่มีมานะจัดถือตัวว่าเป็นข้าเก่าคนใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามาก่อน ใครตักเตือนมิได้ หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพาน  จึงถูกสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ ตามคำแนะนำของพระพุทธเจ้า พระฉันนะจึงได้ละพยศ กลับใจบำเพ็ญสมณธรรมจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์อีกองค์หนึ่ง

            4. กาฬุทายีอำมาตย์  สหายของเจ้าชายสิทธัตถะแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทราบข่าวการตรัสรู้ ประสงค์จะเชิญพระพุทธเจ้าเสด็จเยี่ยมนครกบิลพัสดุ์ ได้ส่งทูตไปหลายคณะ แต่เหลวหมด สุดท้าย ในหนที่ 10 ส่งกาฬุทายีอำมาตย์ไป เมื่อกาฬุทายีไปเผ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเวฬุวัน  ได้ฟังพระธรรมเทศนา บรรลุเป็นพระอรหันต์  ได้รับอุปสมบทเป็นภิกษุจากพระพุทธเจ้าแล้ว จึงได้ทูลเชิญพระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จนิวัติกรุงกบิลพัสดุ์

                5. ม้ากัณฐกะ เป็นม้าพระที่นั่งของเจ้าชายสิทธัตถะ ตัวม้ายาวจากคอถึงหาง 18 ศอก ส่วนสูงก็เหมาะสมกับส่วนยาว มีขนสีขาวผ่องเหมือนเปลือกหอยสังข์ที่ขาวสะอาด ในราตรีที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช พระองค์ทรงม้ากัณฐกะไปกับนายฉันนะ เดินทางนับแต่เวลาเที่ยงคืน ถึงรุ่งสางถึงแม่น้ำอโนมามีระยะทาง 30 โยชน์ เจ้าชายสิทธัตถะครั้งอธิษฐานเพศนักบวชแล้ว จึงรับสั่งนายฉันนะให้นำม้ากัณฐกะกลับไปยังเมืองกบิลพัสดุ์ ตำนานเล่าว่า ม้ากัณฐกะ ไม่อยากจากเจ้าชาย แต่จำใจกลับ ด้วยความอาลัย เดินไป มองเจ้าชายสิทธัตถะไป พอเจ้าชายเสด็จลับสายตาไป ม้ากัณฑกะก็ถึงสิ้นใจล้มลง เนื่อง จากเสียใจ ด้วยผลานิสงส์ที่พาเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช จึงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีนามว่า กัณฐกเทวบุตร

            6. ต้นโพธิ์  จะได้เล่าในรายละเอียดต่อไป

            7. ขุมทรัพย์ทั้งสี่   หรือ นิธิกุมภี ได้แก่ ขุมทอง 4 ขุม ประกอบด้วย สังขนิธิ  เอลนิธิ อุบลนิธิ ปุณฑริกนิธิ เกิดขึ้นที่ มุมกำแพงพระนครทั้ง 4 ด้าน

 

เหตุการณ์ในวันตรัสรู้

            ในเพลาเย็นของวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6  ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี  พระโพธิสัตว์ เสด็จไปยังต้นโพธิ์ ห่างออกไป ประมาณ 200 เมตร จากริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา  ในระหว่างทาง รับฟ่อนหญ้าคาจาก โสตถิยะพราหมณ์  8  ฟ่อน นำไปปูลาดเป็นบัลลังก์ที่โคนต้นโพธิ  ทรงบำเพ็ญเพียร  โดยตั้งสัจจะอธิษฐานแบบบุรุษใจเพชร ดังข้อความที่ปรากฏในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ภิกขุสังยุตต์  เล่มที่ 16 ข้อ 693 ว่า

            กามํ ตโจ จ นหารุ จ อฏฺฐิ จ อวสิสฺสตุ สรีเร อวสุสฺสตุ  มํสโลหิตํ  ยนฺตํ ปุริสถาเมน   ปุริสวิริเยน ปุริสปรกฺกเมน ปตฺตพฺพํ  น ตํ อปาปุณิตฺวา วิริยสฺส สณฺฐานํ ภวิสฺสติ [1]

            แปลว่า แม้เลือดเนื้อจะแห้งเหือดไป เหลือเพียง หนัง เอ็นและกระดูกก็ตามที  หากไม่บรรลุธรรมที่ควรบรรลุ ด้วยเรี่ยวแรง ความพยายามและความบากบั่นแบบลูกผู้ชายแล้วไซร้  ก็จะไม่เลิกความเพียร

            เมื่อตั้งพระทัยเด็ดเดี่ยวประทับนั่งที่บัลลังก์เช่นนี้  ที่บัลลังก์นั่น ก็ได้นามว่า พระแท่นวัชรอาสน์ แปลว่า ที่นั่งของคนใจเพชร พระองค์ทรงเริ่มบำเพ็ญเพียรทางจิตพิจารณาเหตุปัจจัยตามลำดับ และทรงบรรลุญาณตามลำดับยาม คือ                                               
            ครั้นล่วงเข้าราตรีปฐมยาม พระมหาบุรุษเจริญสมาธิภาวนา ยังสมาบัติ 8 ให้บังเกิดขึ้น  ทรงบรรลุญาณอันเป็นปัญญาที่ 1 คือ  “ปุพเพนิวาสานุติญาณ ”  คือ ความรู้สามารถระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่นได้ด้วยกำลังอภิญญา โดยปฏิโลมถอยหลังตั้งแต่นั่งบนบัลลังก์อาสน์ หนึ่งชาติ สองชาติ จนหาประมาณมิได้ ทรงเปล่งอุทานในยามต้นว่าเมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะการรู้แจ้งว่า ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ

            พอล่วงเข้ามัชฌิมยาม   ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ ” หรือทิพจักษุญาณ พระองค์ทรงมีจักษุ ล่วงจักษุมนุษย์ เห็นเหล่าสัตว์ที่จุติและบังเกิด ในกำเนิดที่ตำทรามหรือกำเนิดสูง ในทุคติ หรือสุคติ สมควรแก่กรรมที่ตนได้กระทำไว้ เหมือนคนที่ยืนบนที่สูงใกล้ทาง 4 แพร่ง  สามารถเห็นผู้สัญจรจากทิศนี้ สู่ทิศโน้นได้  ทรงเปล่งอุทาน ในยามที่สองว่า เมื่อใด ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้ความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย ว่าเป็นเหตุสิ้นไปแห่งผลทั้งหลายด้วย

            เมื่อล่วงปัจฉิมยามสมัยใกล้รุ่ง ทรงหยั่งญาณพิจารณาปัจจยาการ ในปฏิจจสมุปบาทธรรม อันปัจจัยอาศัยกันและกันบังเกิดขึ้น เป็นลำดับ นับว่าเป็นที่เกิดแห่งทุกข์ทั้งปวง แล้วพิจารณาถึงการดับแห่งกองทุกข์ทั้งปวง ว่า เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับเป็นต้น  ทรงพิจารณาทั้งโดยส่วนอนุโลมและปฏิโลม  ในขณะที่แสงทองจับขอบฟ้า พระองค์บรรลุ อาสวักขยญาณ”  หรือ สัพพัญญุตญาณ ดับสูญสิ้นกิเลสาสวะ เป็นสมุจเฉทปหาน  เป็นอันตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันเพ็ญเดือน วิสาขะพอดี ทรงเปล่งอุทาน ในยามสุดท้ายว่า  เมื่อใด ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้ ดุจอาทิตย์อุทัยกำจัดความมืด ทำอากาศให้สว่างฉะนั้น

 

พระพุทธรูปศิลปะลังกา องค์ที่ประดิษฐานที่มหาโพธิคยาเจดีย์

           

            การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นการประกาศอิสรภาพของมนุษย์จากอำนาจบงการ และการชักใยกุมชะตาของเทพเจ้าเบื้องตน ถ้ามนุษย์ใช้ปัญญาและความเพียรพยายามของตนอย่างเต็มที่ มนุษย์ก็สามารถปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระ ออกจากห้วงแห่งความทุกข์ เพราะการเกิดแก่เจ็บตายได้บรรลุอมตะ คือพระนิพพานด้วยตนเองได้  การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มิใช่เกิดจาก อำนาจเทพบันดาล มิใช่เกิดจากการประทานของพระเป็นเจ้า   แต่เกิดจากน้ำอดน้ำเพียรของมนุษย์ล้วนๆ  การตรัสรู้ของพระองค์ คือ การเกิดขึ้นของ พระพุทธรัตนะ ซึ่งเป็นองค์ประกอบแรก ของพระรัตนตรัย ในพระพุทธศาสนา

 

สิ่งสำคัญในสถานที่ตรัสรู้

            1. ต้นพระศรีมหาพธิ์

            ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ถือว่าเป็นต้นไม้คู่พระบารมี  พระโพธิสัตว์ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ โดยการประทับที่ใต้ต้นโพธิ์  ซึ่งเป็นต้นโพธิ์ต้นที่ 1 เกิดพร้อมกับเจ้าชายสิทธัตถะ และมีอายุยืนประมาณ 339 ปี ก็ตายลง ด้วยชาวพุทธเห็นว่า ต้นโพธิ์เป็นต้นไม่ที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา จึงได้นำหน่อจากต้นเดิมมาเพาะให้เกิดใหม่ ปลูกในที่เดิมเป็นต้นที่ 2  และก็มีอายุยืนประมาณ 884 ปี ก็ล้มลง ปลูกต้นที่ 3 ในที่เดิมอีก ต้นนี้มีอายุยืนกว่าต้นอื่นๆ คือมีอายุถึง 1,275 ปี  ส่วนต้นโพธิ์ที่พุทธคยาในปัจจุบันเป็นรุ่นเหลน นับเป็นหน่อที่ 4 ได้รับปลูกในที่เดิมในปีพุทธศักราช 2418  ปัจุบัน พุทธศักราช 2548 มีอายุ 130 ปีที่ประเทศศรีลังกาก็มีต้นโพธิ์ เป็นกิ่งจากต้นที่ 1 ที่พระนางสังฆมิตตาเถรี พระธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราชนำไป ในการส่งสมณทูตไปศรีลังกา หลังสังคายนาครั้งที่ 3  ในปี พุทธศักราช 228 เล่าว่า ต้นโพธิ์ที่ตอนกิ่งไปปลูกที่ศรีลังกานั้น ยังมีอายุยืนสืบมาตราบปัจจุบันนี้

            ต้นโพธิ์แต่ละต้นกว่าจะยืนตระหง่านสืบต่อมาให้พวกชาวพุทธได้กราบไหว้บูชา มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจไม่แพ้ชีวิตของมนุษย์ ต้นโพธิ์ ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการถูกทำร้าย แทบไม่เหลือซาก และหมดอายุเองด้วยก็มี แต่ด้วยแรงศรัทธาชาวพุทธผู้ยึดมั่นในพระศาสนา เคารพในพระบรมศาสดา  ต่างก็ได้อุปถัมภ์ บำรุง เพาะปลูกหน่อ ที่เมล็ดงอกสืบมาแต่ต้นเดิมให้เหลือรอดมาจนปัจจุบันเป็นต้นที่ 4  ผู้เขียนขอนำประวัติต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยา มาเล่าไว้เพียงย่อๆ พอเป็นเครื่องประโลมใจ ดังนี้

            พระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ 1 เกิดเมื่อ ก่อน พ.ศ. 80 ปี พร้อมกับพระสิทธัตถะ  มีอายุยืนยาวมาถึง ประมาณปี พุทธศักราช 252 สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้ ได้ถูกทำลายด้วยความริษยาของพระนางติษยรักษิตา  พระมเหสีองค์ที่ 4 ของพระเจ้าอโศกมหาราช ไม่พอพระทัยที่พระเจ้าอโศกทรงให้ความสนพระทัย  เอาพระทัยใส่ต้นพระศรีมหาโพธิ์  (ต้นโพธิ์ตรัสรู้ที่พุทธคยา)  จึงสั่งสาวใช้ให้นำยาพิษ และน้ำร้อนไปรดที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์จนตายในที่สุด ในปี พุทธศักราช 252 ดังบันทึกหลวงจีนฟาเหียนผู้จาริกมาอินเดียสมัยนั้นว่า

            พระเหสีได้รับสั่งถามว่า พระเจ้าอโศกเสด็จไปที่ไหนเนืองๆ พวกอำมาตย์กราบทูลว่า เห็นพระองค์เสด็จไปประทับอยู่ภายใต้ต้นปัทร(ต้นโพธิ์) เสมอ พระเหสีทรงคอยเฝ้าดู จนครั้งหนึ่งเมื่อ     พระเจ้าอโศกมิได้เสด็จไปในที่นั้น พระนางก็ส่งคนไปตัดต้นไม้ให้ล้มลง

            นั่นคือ การสิ้นไปของต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งตรัสรู้ เกิดในช่วงปี พุทธศักราช 252   นับอายุได้ 332 ปี(ก่อน พุทธศักราช 80 ปี ถึง พุทธศักราช 252) 

            พระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ 2 ต้นโพธิ์เดิมเมื่อถูกตัดโค่นลง โดยคำสั่งพระนางติษยรักษิตา พระเจ้าอโศกได้เสด็จมาเห็นการกระทำที่เกิดขึ้นเช่นนั้นแล้ว จึงสลบเป็นลมล้มลงบนแผ่นดิน ด้วยความเสียพระทัย พวกเสนาอำมาตย์ที่ตามเสด็จ ต่างเอาน้ำประพรมพระพักตร ครั้นพระองค์ฟื้นขึ้นมา  ทรงใช้ความพยายามสุดกำลังความสามารถเพื่อชุบชีวิต ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ด้วยการทรงให้ ก่ออิฐเป็นฐานขึ้นรอบตอต้นโพธิ์นั้น ให้เทน้ำนมโค 100 หม้อ รดลงบนตอไม้โพธิ์นั้น ส่วนพระองค์ก็ทอดพระวรกายลงบรรทมเหยียดพระหัตถ์และพระบาทที่พื้นดินบริเวณนั้น  ตั้งสัตย์ปฏิญญาว่า

             ถ้าต้นไม้นี้ไม่คงคืนชีวิต(ไม่งอกขึ้นมาใหม่) ข้าพเจ้าจะไม่ลุกขึ้นจากที่นี้เลย

            ดังปาฏิหาริย์  เมื่อสิ้นคำสัตย์ปฏิญญาของพระเจ้าอโศก  กิ่งโพธิ์ก็แตกงอกขึ้นมาจากตอเจริญงอกงามขึ้นมา นับเป็นต้นที่ 2 ที่งอกขั้นมาใหม่ เป็นอัศจรรย์ ในปีพุทธศักราช 252  พระศรีมหาโพธิ์ต้น ที่ 2 นี้ ได้มีชีวิตสืบต่อมาจนถึงสมัยที่หลวงจีนฟาเหียนไปนมัสการนั้น มีความสูงเกือบจะถึง 100  ศอก แต่วิบากต้นโพธิ์ ก็ยังไม่สิ้น กลับถูกพวกนอกศาสนาทำลายลงอีก โดย พระเจ้าสาสังกะ กษัตริย์แคว้น      เบงกอล ได้ยกทัพมาทำลายต้นพระศรีมหาโพธิ์ ตัดลำต้น ขุดรากถอนโคน ราดน้ำมันจุดไฟจนตายสิ้น ประมาณ พุทธศักราช 1143  พระศรีมหาโพธิ์ต้นที่ 2 มีอายุประมาณ 891 ปี(พุทธศักราช 252- 1143)

            พระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ 3 ครั้นพระเจ้าสาสังกะ ทำลายพระศรีมหาโพธิ์แล้ว ตำนานเล่าว่า ท่านกระอักเลือดตายภายใน 7 วัน  ทัพก็แตกพ่ายไป ในเวลา 1 เดือนต่อมา ในปีพุทธศักราช 1143 นั่นเอง  พระเจ้าปูรณวรมา กษัตริย์ชาวพุทธแคว้นมคธได้เสด็จมาถึงพุทธคยา จึงโปรดให้รดพื้นที่ตรงโคนต้นพระศรีมหาโพธิ์เดิมด้วยนมวัวสด ที่รีดจากแม่วัวนม 1,000  ตัว  ในเพลาคืนนั้น  ต้นพระศรีมหาโพธิ์ก็งอกขึ้นมาใหม่สูงประมาณ 10 ฟุตดังปาฏิหาริย์เช่นกัน เพื่อปกป้องต้นพระศรีมหาโพธิ์จะถูกทำลายอีก พระเจ้าปูรณวรมา รังสั่งให้สร้างกำแพงล้อมรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์สูงถึง 24 ฟุต ถวายเป็นพุทธบูชา และรักษาสืบมา พระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้ มิได้ถูกผู้ใดรบกวนทำลาย ดำรงอยู่จนอายุขัย ล้มลงเองในปี  พุทธศักราช 2418 ตามบันทึกของ เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม นักโบราณคดีชาวอังกฤษที่ขุดข้นโบราณสถานอินเดียสมัยนั้น กล่าวไว้ ว่า

            ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2405 (ค.ศ.1862) ข้าพเจ้าได้พบต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ชรามาก ลำต้นเอนไปทางทิศตะวันตก มีสามกิ่งใหญ่ที่ยังคงมีความเขียวขจีอยู่ แต่กิ่งอื่นที่เหลือ เปลือกหลุดหมดและผุพัง

ข้าพเจ้าได้มาพบต้นพระศรีมหาโพธิ์อีกในปี พ.ศ. 2414  และอีกครั้งในปี พ.ศ. 2418 กิ่งส่วนหนึ่งได้ถูกลมพายุพัดหักตกลงไปทางแนวกำแพงด้านตะวันตก ต้นเก่าได้ล้มลง อย่างไรก็ตามเมล็ดพันธ์จำนวนมากได้ถูกเก็บรวมรวมไว้และต้นอ่อนก็ได้ถูกเก็บรักษาและปลูกใหม่ตรงที่เก่า  พระศรีมหาโพธิ์ต้นที่ 3 นี้ มีอายุยืนประมาณ 1275 ปี (พุทธศักราช 1143-2418)

           

            พระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ 4 ครั้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่ 3 ล้มลงโดยกาลเวลา ในปี พุทธศักราช 2418 และยังมีเมล็ดหล่นอยู่รอบบริเวณนั้นมากมาย มีผู้เก็บรวบรวมและเพาะเมล็ด ก็เกิดหน่อต้นอ่อนที่สืบมาจากต้นเดิม  ในปีพุทธศักราช 2418 นั่นเอง เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม ก็ได้นำต้นอ่อน 2 ต้นมาปลูกแทนไว้ โดยต้นที่โตกว่า ปลูกไว้แทนที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่ 3  ส่วนที่ขนาดย่อมกว่า ปลูกเคียงคู่ เยื้องไปทางทิศเหนือ ห่างจากต้นโพธิ์เดิมประมาณ 20 เมตร จนถึงปัจจุบัน(พุทธศักราช 2548)ต้นโพธิ์ต้นที่ 4 มีอายุแล้ว 130 ปี  

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ปัจจุบัน

           

            ชาวพุทธทั่วโลกต่างได้ช่วยกันบำรุงรักษาเป็นอย่างดี รัฐบาลอินเดียสั่งการให้ผู้เชี่ยวชาญทางพฤกษศาสตร์มาดูและตลอดปี ชาวพุทธทั้งที่อินเดียและต่างประเทศแวะเวียนไปนมัสการมิได้ขาด แต่เวลาเช้ามืดจนถึงมืดค่ำ เสียงสวดมนต์ภาวนา จากปากชาวพุทธก้องกังวานทั่วโพธิมณฑล พร้อมกับการเดินประทักษิณรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์ ด้วยความเคารพศรัทธา ประหนึ่งว่า ชาวพุทธศาสนิกชนเหล่านั้น ได้มาเข้าเฝ้าต่อเบื้องพระพักตร์ องค์พระบรมศาสดา ผู้เขียนได้พบแล้วก่อให้เกิดปิติเอิมอิ่มใจตราบชั่วชีวิต

 

             ต้นโพธิ์ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าในอดีตและจะมาตรัสรู้ในอนาคต

            เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับต้นโพธิ์ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทั้งในอดีต และที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต หลักฐานที่ปรากฏในพระสุตตันปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ (พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล 91 เล่ม) หน้า 745 -746  และตามตำนานมูลศาสนา และ ชินกาลมาลีปกรณ์ [2]  กล่าวว่า พระพุทธเจ้าในอดีต ประทับนั่งตรัสรู้ที่ต้นไม้ใด ต้นไม้นั้น ก็ได้ชื่อว่า ต้นโพธิ์  เช่นกันหมด  แม้ว่า  ชื่อต้นไม้ในภาษาบาลีและแปลภาษาไทย อาจจะต่างกัน แต่ไม่มากนัก ไม่น่าจะมีปัญหา ผู้เขียนจะนำมารวบรวบไว้ในแหล่งเดียวกันในบทความนี้ เพื่อเป็นข้อมูลเชิงลึกดังต่อไปนี้

            พระศรีมหาโพธิ์สำหรับพระพุทธเจ้าในอดีต 28 พระองค์ และ พระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต 10 พระองค์ ดังนี้

            1. พระตัณหังกร (ผู้กล้าหาญ)        ตรัสรู้ที่ต้นสัตตบรรณ หมายถึง ต้นตีนเป็ดขาว
            2. พระเมธังกร (ผู้มียศใหญ่)         ตรัสรู้ที่ต้นกิงสุกะ หมายถึง ต้นทองกวาว
            3. พระสรณังกร (ผู้เกื้อกูลแก่ชาวโลก) ตรัสรู้ที่ต้นปาฏลี หมายถึง ต้นแคฝอย
            4.พระทีปังกร (ผู้ทรงไว้ซึ่งปัญญาอันรุ่งเรือง) ตรัสรู้ที่ต้นกปิตนะ หรือต้นมะขวิด ในหลักฐานอื่นว่าเป็นต้น ปิปผลิ หมายถึง ต้นเลียบ
            5.พระโกณฑัญญะ (ผู้เป็นประมุขแห่งหมู่ชน) ตรัสรู้ที่ต้นสาลกัลยาณี หมายถึง ต้นขานาง
            6.พระสุมังคละ (ผู้องอาจและประเสริฐ) ตรัสรู้ที่ต้นนาคะ หมายถึง ต้นกากะทิง บางแห่ง ว่า ต้นบุนนาค
            7.พระสุมนะ (ผู้มีพระหฤทัยงาม) ตรัสรู้ที่ต้นนาคะ หมายถึง ต้นกากะทิง
            8.พระเรวตะ (ผู้เพิ่มพูนความยินดี) ตรัสรู้ที่ต้นนาคะ หมายถึง ต้นกากะทิง
            9.พระโสภิตะ (ผู้สมบูรณ์ด้วยพระคุณ) ตรัสรู้ที่ต้นนาคะ หมายถึง ต้นกากะทิง เช่นกัน
            10.พระอโนมทัสสี (ผู้สูงสุดในหมู่ชน) ตรัสรู้ที่ต้นอัชชุนะ หมายถึง ต้นกุ่ม ที่อื่นว่าต้นรกฟ้า
            11.พระปทุมะ (ผู้ทำให้โลกสว่าง) ตรัสรู้ที่ต้นมหาโสณะ หมายถึง อ้อยช้างใหญ่
            12.พระนารท (ผู้เป็นสารถีประเสริฐ) ตรัสรู้ที่ต้นมหาโสณะ หมายถึง อ้อยช้างใหญ่
            13.พระปทุมุตตระ (ผู้เป็นที่พึ่งของหมู่สัตว์) ตรัสรู้ที่ต้นสลละ หมายถึง สาละ ที่อื่นว่า ต้นสน
            14.พระสุเมธ (ผู้หาบุคคลเปรียบมิได้) ตรัสรู้ที่ต้นนีปะ (กะทุ่ม) ที่อื่นว่า นิมพะ หมายถึง สะเดา
            15.พระสุชาต (ผู้เลิศกว่าสัตว์โลกทั้งปวง) ตรัสรู้ที่ต้นเวฬุ หมายถึง ต้นไผ่
            16.พระปิยทัสสี (ผู้ประเสริฐกว่านรชน) ตรัสรู้ที่ต้นกกุธะ หมายถึง กุ่ม
            17.พระอัตถทัสสี (ผู้มีพระทัยกรุณา) ตรัสรู้ที่ต้นจัมปกะ หมายถึง จำปาป่า
            18.พระธัมทัสสี (ผู้บรรเทาความมืด) ตรัสรู้ที่ต้นรัตตกุรวกะ หมายถึง ซ้องแมวแดง ในบาลีธัมมทัสสีพุทธวงศ์ ข้อ 16 คือต้น พิมพชาละ หมายถึง ต้นมะพลับ
            19.พระสิทธัตถะ (ผู้หาบุคคลเสมอมิได้ในโลก) ตรัสรู้ที่ต้นกณิการะ หมายถึง กรรณิการ์
            20.พระติสสะ (ผู้ประเสริฐกว่านักปราชญ์ทั้งหลาย) ตรัสรู้ที่ต้นอสนะ หมายถึง ประดู่ลาย
            21.พระปุสสะ (ผู้ประทานธรรมอันประเสริฐ) ตรัสรู้ที่ต้นอาลมกะ หรือ อามัณฑะ หมายถึง ต้นมะขามป้อม
            22.พระวิปัสสี (ผู้หาที่เปรียบมิได้) ตรัสรู้ที่ต้นปาฏลี หมายถึง แคฝอย
            23.พระสิขี (ผู้เป็นศาสดาเกื้อกูลแก่สรรพสัตว์) ตรัสรู้ที่ต้นปุณฑริกะ หมายถึง กุ่มบก ที่อื่นแปลว่า มะม่วงป่า
            24.พระเวสสภู (ผู้ประทานความสุข) ตรัสรู้ที่ต้นสาละ หมายถึง ต้นรัง

            25.พระกกุสันธะ (ผู้นำสัตว์ออกจากกันดารกิเลส) ตรัสรู้ที่ต้นสรีสะ หมายถึง ซึก(กามพฤกษ์)
            26.พระโกนาคมนะ (ผู้หักกิเลส) ตรัสรู้ที่ต้นอุทุมพระ หมายถึง มะเดื่อ
            27.พระกัสสปะ (ผู้สมบูรณ์ด้วยสิริ) ตรัสรู้ที่ต้นนิโครธ หมายถึง ไทร หรือ กร่าง
            28.พระโคตมะ (ผู้ประเสริฐแห่งหมู่ศากยราช) ตรัสรู้ที่ต้นอัสสัตถะ หมายถึง โพธิพฤกษ์

            ตามคัมภีร์อนาคตวงศ์ พระโพธิสัตว์ที่ได้รับการพยากรณ์จากพระโคตมพุทธเจ้าว่าจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตอีก 10 พระองค์  ได้บอกถึงต้นไม้ที่จะประทับนั่งในวันตรัสรู้ มีชื่อต่างๆ ดังนี้
            1. พระอชิตราชกุมาร เป็น พระศรีอาริยเมตไตรย์ จะตรัสรู้ที่ต้นนาคะ หมายถึง กากะทิง
            2. พระราม เป็น พระรามสัมพุทธะ จะตรัสรู้ที่ต้นรัตตจันทนะ หมายถึง จันทน์แดง
            3. พระเจ้าปัสเสนทิโกศล ราชาแห่งโกศล เป็น พระธรรมราชสัมพุทธะ จะตรัสรู้ที่ต้นนาคะ หมายถึง กากะทิง
            4. พระยามาร(ปรนิมมิตสวัตตี) เป็น พระธรรมสามีพุทธะ จะตรัสรู้ที่ต้นสาละ หมายถึง ต้นรัง
            5. อสุรินทราหู เป็น พระนารทสัมพุทธะ จะตรัสรู้ที่ต้นรัตตจันทนะ หมายถึง จันทน์แดง
            6. โสณะพราหมณ์ เป็น พระพุทธรังษี จะตรัสรู้ที่ต้นปิปผลิ หมายถึง ดีปลีใหญ่(ต้นเลียบ)
            7. สุภะพราหมณ์ เป็น พระเทวพุทโธ  จะตรัสรู้ที่ต้นจัมปกะ หมายถึง จำปาป่า
            8. โตเทยยะพราหมณ์ เป็น พระนรสีหะ จะตรัสรู้ที่ ต้นปาฏลี หมายถึง ต้นแคฝอย
            9. ช้าง นาฬาคีรี เป็น พระติสสะพุทธะ จะตรัสรู้ที่ต้นนิโครธะ หมายถึง ต้นไทร
            10.ช้างปาเลไลยก์ เป็น พระสุมังคละ จะตรัสรู้ที่ต้นนาคะ หมายถึง กากะทิง

 

            2. พระแท่นวัชรอาสน์

            ที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทางด้านทิศตะวันออก ห่างมหาเจดีย์โพธิคยาวิหารประมาณ 4 เมตร มีแท่นสำคัญแท่นหนึ่ง ได้แก่ "พระแท่นวัชรอาสน์"  ขนาดยาว 7 ฟุต 6 นิ้ว กว้าง 4 ฟุต 10 นิ้ว หนา 5 นิ้วครึ่ง  พระแท่นวัชรอาสน์นี้ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว 250 ปี     เพื่อเป็นการรำลึกถึง พระอาสน์หรือ รัตนบัลลังก์ที่พระพุทธองค์ทรงนั่งบำเพ็ญจนตรัสรู้ ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้ [3]

แท่นวัชรอาสน์ และต้นโพธิ์ ถ่ายไว้ก่อนการบูรณะ ในพ.ศ.2437

            ตัวพระแท่นสร้างด้วยหินทรายสีแดง ขัดเงาเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นด้านบนแกะสลักเป็นรูปแหวนเพชรและเพชรซีกประดับอยู่รอบเรือนแหวน ฐานด้านกว้างสลักเป็นรูปดอกมณฑารพ สลับกับพระยาหงส์ 5 ตัว ฐานด้านยาวแกะสลักเป็นรูปดอกมณฑารพจำนวน 16 ดอก ในปี พุทธศักราช 2423   เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮมได้ขุดค้นพบพระแท่นวัชรอาสน์จมอยู่ใต้กองอิฐซึ่งสูงหนาถึง 20 ฟุต และแตกกระจายเป็น 5 ส่วน ในสมัยพระเจ้าอโศมหาราช พระแท่นนี้ได้ประดิษฐานไว้ที่บริเวณที่ตั้งของพระมหาเจดีย์โพธิคยาองค์ปัจจุบัน เมื่อมีการสร้างพระเจดีย์ขึ้นในราวพุทธศักราช 683 - 694  ในสมัยพระเจ้าหุวิชกะ พระแท่นก็ถูกยกออกมา ณ ที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ปัจจุบัน

แท่นวัชรอาสน์

 

            เมื่อหลวงจีนเฮี่ยงจัง สงฆ์จีนรูปที่ 2 จาริกมาอินเดีย ได้เดินทางมายังพุทธคยาในปี พุทธศักราช1270 ท่านไม่ได้พบพระแท่นวัชรอาสน์ แต่ได้บันทึกไว้ว่า ในท่ามกลางบริเวณนี้(โพธิมณฑล) เป็นที่ตั้งวชิรบัลลังก์อันสำเร็จขึ้นเมื่อต้นภัทรกัลป์ พร้อมกับเมื่อมีฟ้าและมหาตรีสหัสสโลกธาตุ บัลลังก์อาสน์ส่วนล่างจดลงถึงสุวรรณจักร เบื้องบนอยู่เพียงพื้นปฐพีที่ใช้คำว่า วชิร นั้น หมายความว่าแข็งแกร่งไม่สลาย สามารถต้านทานสรรพสิ่งทั้งปวงได้...สืบแต่เวลาหนึ่งร้อยหรือสองร้อยปีมานี้ บุญกุศลของมนุษย์เสื่อมลงเมื่อมาถึงพระศรีมหาโพธิ์พฤกษ์นี้แล้ว ก็ไม่สามารถจะได้เห็นวชิรบัลลังก์นี้อีกได้     ความหมายของเนื้อความตอนนี้   เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม บอกว่า ทรายจากแม่น้ำเนรัญชราพัดทรายมาทับจนมิด เพราะบริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์ตั้งอยู่ตรงคุ้งน้ำ

 

            ความหมายของภาพแกะสลัก

            พระราชโพธิวิเทศ (ทองยอด ภูริปาโล) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา อินเดีย รูปปัจจุบัน ได้ให้ความหมายของสัญลักษณ์ต่างๆ ที่สลักบนพระแท่นวชิรอาสน์ดังต่อไปนี้ [4]

                        1) พื้นที่ด้านหน้าที่แกะสลักเป็นลวดลายแบบหัวแหวนเพชร มีรัศมีพุ่งไปโดยรอบสี่ด้านนั้น หัวแหวนเพชร หมายถึง ความเด็ดเดี่ยวและเข้มแข็งแห่งน้ำพระทัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ประทับนั่งบนรัตนบัลลังก์นั้น พร้อมด้วยอธิษฐานจิตอย่างเด็ดเดี่ยวว่าถึงเนื้อและเลือดจะเหือดแห้งไป คงเหลือแต่เอ็นและกระดูกก็ตามที หากว่าข้าพเจ้าไม่ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วไซร้ ข้าพเจ้าจะไม่ยอมลุกจากอาสนะนี้  ส่วนพระรัศมี  หมายถึง สัจธรรมที่แผ่ออกไปทุกสารทิศทั่วโลก

                        2) รูปดอกบัวด้านข้าง หมายถึง เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ได้เป็นที่ยอมรับนับถือของชนทุกหมู่เหล่าและได้รับการเทิดทูนยิ่งกว่าคำสอนของศาสนาอื่นใด เหมือนดังดอกบัวที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ เป็นดอกไม้ที่งดงามต้องตาต้องใจของประชาชนทั่วไป

                        3) รูปพระยาหงส์นั้น เสมือหนึ่งพระองค์หลังจากที่ได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์เสด็จจาริกไปประกาศสัจธรรมแก่ชาวโลกทุกหมู่เหล่า ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งที่ยั่วยวนประเล้าประโลมให้ลุ่มหลง แต่สิ่งเหล่านั้นก็ไม่อาจที่จะทำให้พระองค์จมลงสู่ห้วงแห่งกิเลสนั้นได้ เสมือนหนึ่งว่าพระยาหงส์เมื่อปล่อยลงในน้ำก็ไม่จมลงในน้ำฉันนั้น

                        4) รูปสลักที่แกะเป็นดอกมณฑารพนั้น หมายถึง ในกาลนี้ จะมีแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ที่ตรัสรู้ธรรมอันถูกต้องและสามารถที่จะให้หมู่สัตว์ข้ามพ้นห้วงน้ำแห่งทุกข์ได้ เหมือนดอกมณฑารพต้นหนึ่งจะมีดอกเพียงดอกเดียวเท่านั้น

            3. มหาโพธิคยาวิหาร

            มหาเจดีย์โพธิคยาวิหาร หรือ พระวิหารพุทธคยา        เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งทางพระพุทธศาสนา ด้านหลังของพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานต้นพระศรีมหาโพธิ์  ที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับ และตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อครั้ง พระถังซัมจั๋ง  สมณะจากประเทศจีน เดินทางมาถึงบริเวณนี้ ได้บันทึกถึงพระสถูปนี้ โดยเรียกว่า "มหาโพธิ์วิหาร"

 

พระเจดีย์โพธิคยา

            ในปีพุทธศักราช 236 พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงริเริ่มสร้างองค์พระเจดีย์โพธิคยา เป็นมหาวิหาร พระองค์ได้สั่งให้สร้าง "วิหาร" ไว้อย่างมากมาย ทั่วประเทศอินเดีย กล่าวว่า มีถึง 84,000 องค์  และเฉพาะรัฐพิหาร ให้สร้างเอาไว้ทั่วรัฐพิหาร เหมือนประเทศไทย สร้างวัดไว้อย่างมากมาย ไปบ้านไหนเมืองใดก็จะพบแต่วัดที่สวยงาม   ที่ได้ชื่อว่า "รัฐพิหาร"   ก็เพราะมี "วิหาร" เต็มทั่วไปหมด เกิดในยุคสมัยที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองที่สุด [5] แต่การสร้างพระสถูปเจดีย์สมัยพระเจ้าอโศกนั้น คงมิได้มีรูปทรงเช่นที่เห็นในปัจจุบัน       ต่อมาในระหว่างปี พุทธศักราช 683 - 694  ในสมัยพระเจ้าหุวิชกะ แห่งแคว้นมคธ พิจารณาเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนาและเพื่อเป็นศูนย์รวมศรัทธา และในฐานะที่พุทธคยาเป็นพุทธสถานต้นกำเนิดพระพุทธศาสนา จึงได้ให้ช่างออกแบบสร้าง "เจดีย์ศรีมหาโพธิ์"  เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า          แล้วทรงสร้างองค์ใหม่แทนวิหารที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้   "เจดีย์ศรีมหาโพธิ์"  กอรปด้วยลักษณะเป็นเจดีย์ 4  เหลี่ยมขนาดใหญ่  ตามแบบสถาปัตยกรรมอินเดีย สูงจากฐานถึงยอด 170 ฟุต วัดโดยรอบฐาน 121.29 เมตร รูปทรงเรียวรี สมส่วน สวยงาม สร้างเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นที่กราบน้อมนมัสการ ชั้นบนเป็นห้องภาวนาเพื่อสงบจิตใจ พระเจดีย์สง่างาม ตรึงตาประทับใจแก่ทุกท่านที่ได้เห็นเป็นอย่างมาก

 

ลามะทิเบตประชุมสวดมนต์ที่ บริเวณต้นโพธิ์

            เนื่องจากองค์พระเจดีย์มีอายุยืนนาน จึงได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์โดยลำดับมา เมื่อปลายปี    พุทธศักราช 2519 (5 ธันวาคม 2519) คณะกรรมการองค์พระเจดีย์ได้ขอร้องให้ พระธรรมมหาวีรานุวัตร (บุญเลิศ ท. คล่องสั่งสอน) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา และหัวหน้าพระธรรมทูตไทย ในอินเดีย (ในสมัยนั้น) ในนามชาวพุทธไทย ให้บูรณะชั้นบนองค์พระเจดีย์ (สร้างเป็นห้องไทย) และช่วยสร้างกำแพงแก้วรอบองค์พระเจดีย์ทั้งหมด 80 ช่องพร้อมทั้งซุ้มประตูศิลปะ แบบอโศก 2 ซุ้ม ทำให้องค์พระเจดีย์ได้รับการดูแลสะอาดเรียบร้อยดีงามขึ้น ส่วนยอดองค์พระเจดีย์ ชาวพุทธไทยได้ขอติดตั้งไฟแสงจันทร์ให้งามสว่างไสว แก่องค์พระเจดีย์มาจนบัดนี้

 

สถานที่ควรชมในพุทธคยา

            เมื่อไปนมัสการสังเวชนียสถานที่พุทธคยา บริเวณมณฑลพระศรีมหาโพธิ์  ท่านจะได้นมัสการ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พร้อมกับพระแท่นวัชรอาสน์ มหาเจดีย์โพธิคยา(เสวยวิมุติสุขสัปดาห์ที่ 1)  แล้ว ในที่นั่น ยังได้ตามรอยบาทพระศาสดาที่เสด็จเสวยวิมุติสุข 7 สัปดาห์ ซึ่งมีศาสนสถานที่เกี่ยวกับ 7 สัปดาห์แห่งเสวยวิมุติสุขหลังการตรัสรู้ คือ อนิมิสเจดีย์ เป็นสถูปที่อยู่เยื้องต้นโพธิ์ด้านทิศอีสาน(เสวยวิมุติสุขสัปดาห์ที่ 2) รัตนจงกรมเจดีย์ ระหว่างต้นโพธิ์กับอนิมิสเจดีย์ชิดกับฐานมหาโพธิคยาเจดีย์ (เสวยวิมุติสุขสัปดาห์ที่ 3) รัตนฆรเจดีย์ ในทิศพายัพ ที่ทรงพิจารณามหาปัฏฐาน หลายท่านกล่าวว่าทรงตรึก          พระอภิธรรม (เสวยวิมุติสุขสัปดาห์ที่ 4)   อชปาลนิโครธ(เสวยวิมุติสุขสัปดาห์ที่ 5) ทางทิศบูรพา ที่พราหมณ์คนหนึ่งชอบตวาดผู้อื่นด้วยคำว่า หึ หึ มาสนทนา และธิดามารมาร่ายรำยั่วยวน  สระมุจจลินท์(ต้นจิก) ด้านทิศอาคเนย์ (เสวยมุติสุขสัปดาห์ที่ 6) ที่พระยานาคมุจจลินท์ มาขนดกายแผ่พังพานป้องกันฝนพรำตลอด 7 วันให้ เป็นสาเหตุการสร้างพระนาคปรก   ต้นราชายตนะ หรือต้นเกด อยู่ทางทิศใต้ เป็นสถานที่โปรดตปุสสะและภัลลิกะ ชาวโภคนคร  เป็นสองอุบาสกคู่แรกของพระพุทธศาสนา ที่ถวายข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง และเล่าว่า ท้าวมหาราชทั้ง 4 นำบาตรมาถวาย (พอสิ้น 7 สัปดาห์ พระพุทธเจ้ากลับไปพักผ่อนที่อชปาลนิโครธอีก ที่นี่ ท้าวมหาพรหมสหัมบดีมาอาราธนาให้แสดงธรรม โดยนึกถึงความแตกต่างของบุคคล 4 ประเภท เปรียบด้วยบัว 4 เหล่า จึงตัดสินพระทัยแสดงธรรม

            หากยังใคร่จะไปชมที่อื่นๆต่อ เห็นจะต้องออกกำลังเดินไปลุยข้ามแม่น้ำเนรัญชรา ที่เหลือแต่ผืนทรายในหน้าแล้ง เหลือน้ำลึกเพียงครึ่งแข้ง ไปเยี่ยมบ้านนางสุชาดา ปัจจุบันเป็นบ้านชาวนาไปหมดแล้ว คงมีซากเนินอิฐสูงประมาณ 4 หรือ 5 เมตร เป็นกองอยู่  แวะย้อนมาที่อธิษฐานลอยถาดที่นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส   สถานที่เหล่านี้ สามารถเยี่ยมชมได้หมดในวันเดียวได้

เขาดงคสิริ ที่บำเพ็ญทุกกรกิริยา

            หากมีเวลา  ยังมีถ้ำที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ที่ภูเขาดงคสิริ อยู่ทางทิศตะวันออก ห่างออกไป ประมาณ 4 5 กิโลเมตร ต้องเดินข้ามแม่น้ำเนรัญชรา ผ่านทุ่งนาข้าวสาลี ของชาวบ้านไป  เป็นสถานที่พระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา 6 ปี ก่อนการตรัสรู้ ที่เชิงเขา มีถ้ำแห่งหนึ่ง  ที่จริงคงเป็นเพียงเพิงหินธรรมชาติเว้าเข้าไปไม่ลึกเกินกว่า 4 เมตร  มีเนื้อที่ใช้สอยประมาณ 10 กว่าตารางเมตร สูงจากพื้นดินเชิงเขาประมาณ 50 เมตร ปัจจุบันได้รับการพัฒนาเป็นวัดของชาวทิเบต สร้างบันไดขึ้น สะดวกแก่ผู้แสวงบุญ สร้างอาคารคอนกรีตเป็นที่พำนักสงฆ์หลังใหญ่พอประมาณ มีลามะเฝ้าวัดอยู่ 2-3 รูป ไปถึงที่นั่น จะได้รับน้ำชาแบบทิเบตดับกระหายลากการต้อนรับของท่านลามะ ในถ้ำ มีพระพุทธรูปแบบทิเบต และเทพารักษ์หน้าตาดุร้าย สีสันสดใส บนยอดเขาดงคสิริ พวกเราเคยปีนขึ้นไปดูในปี     พุทธศักราช 2530 ก็พบซากฐานสถูปมีฐานอิฐขนาด 5 เมตร เรียงรายอยู่เป็นระยะ  3 แห่งด้วยกัน ห่างกันประมาณ 200 เมตร พื้นที่บนสันยอดเขา มีแต่หินแหลม ไม่มีที่ราบ เดินลำบาก บนนั้นอากาศเย็นสบาย มองลงมาเห็นท้องทุ่งทั้งสองฟากภูเขาสุดลูกหูลูกตา ทำให้เกิดจินตนาการหลากหลาย ย้อนอดีตไปไกลถึงสมัยพุทธกาล ที่นี้ น่าจะสงัดจากการสัญจรของผู้คน เหมาะสำหรับการบำเพ็ญเพียรของผู้แสวงหาโมกษธรรมโดยแท้

            ศาสนสถานของชาวพุทธชาติต่างๆ

            ที่พุทธคยา มีวัดจากประเทศชาวพุทธหลายแห่ง ที่มาร่วมกันสร้างถวายเป็นพุทธบูชา ในเขตที่รัฐบาลอินเดียมอบให้ประเทศชาวพุทธมาร่วมสร้าง อยู่ในบริเวณ ไม่ไกลกันนัก  ผู้แสวงบุญสมควรแวะเข้าชมนมัสการเพื่อดูศิลปะและสถาปัตยกรรมชาติต่างๆที่เป็นแบบพุทธทรงค่าควรชมอย่างยิ่ง   ผู้เขียนจะให้แต่รายนามวัดต่างๆ ดังนี้

                        1) วัดไทยพุทธคยา WAT THAI BHUDDHAGAYA BODH-GAYA, GAYA, BIHAR INDIA พระราชโพธิวิเทศ เจ้าอาวาส สร้างโดยรัฐบาลไทย พุทธศักราช 2500 ตั้งอยู่ทิศทางตะวันตกห่างพระศรีมหาโพธิ์ เกือบ 2 กิโลเมตร

                        2) สมาคมมหาโพธิ แห่งอินเดีย Mahabodhi Society of India
                        3) วัดทิเบต Tibitan Monastery
                        4)  วัดจีนChina Temple
                        5) ศูนย์วิปัสสนานานาชาติ สร้างโดยท่าน ดร. พระราษฎร์ปาล พ.ศ. 2513 Int.’l Meditation Centre
                        6)  วัดภูฏาน Royal Bhutan Temple
                        7)  วัดอินโดซาน นิปปอนจิ สร้างโดยชาวพุทธญี่ปุ่นทุกนิกาย Indosan Nipponji
                        8)  วัดศากยะ Sakya Temple
                        9)  วัดไดโจเกียว พุทธไดบุตสุ สร้างโดยท่านสุกิยาว่า พ.ศ. 2526 Daijokyo Buddhist Temple
                        10) วัดการ์มา (วัดการ์มาปะ นิกายเกยุคปะของธิเบต)Karma Temple
                        11)  วัดพม่า(สร้างโดยพระเจ้าหมิ่นหมาง (มินดง) พ.ศ. 2418 Burmese Vihar
                        12) วัดไทยโพธิคัม สร้างโดย ดร. พระธัมมวังสะ
                        13) วัดป่าพุทธคยา สร้างโดยพระครูวชิรจิตโสภณ พ.ศ. 2537
                        14) วัดตะมัง เนปาล สร้าง พ.ศ. 2515
                        15) วัดชาวพุทธจักมา(จักมา เป็นตระกูลชาวพุทธที่สืบเชื้อสายจากตระกูลศากยะ
ของพระพุทธเจ้า อีกสายหนึ่ง) สร้างโดยชาวพุทธจักมา พ.ศ. 2515
                        16) วัดไต้หวัน สร้างโดยท่านพระ วอน วู พ.ศ. 2530
                        17) วัดบังคลาเทศ สร้าง พ.ศ. 2535

 

 

การต่อสู้เพื่อได้พุทธคยากลับคืนมาจากพระฮินดูนิการมหันต์ 

            พุทธคยาถูกยึดครอบครองโดยนักบวชินดูนิกายมหันต์

            ดินแดนพุทธคยาแต่ก่อนเคยเจริญรุ่งเรืองเป็นที่แสวงบุญของชาวพุทธมาช้านาน แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป กษัตริย์ที่นับถือพระพุทธศาสนาในอินเดียหมดไป ก็ขาดกำลังที่จะอุปถัมภ์บำรุง แถมถูกกษัตริย์ที่ไม่นับถือพระพุทธศาสนาปล่อยปละละเลย นอกจากนั้น เมื่อถูกภัยจากการยึดครองของกองทัพมุสลิม ได้บุกเข้ามาโจมตีอินเดีย พุทธคยาก็ถูกปล่อยให้รกร้างไม่มีผู้คอยเฝ้าดูแล
             ราวปี พุทธศักราช 2133  นักบวชฮินดูนิกายมหันต์รูปหนึ่ง ชื่อ โคเสนฆมัณฑิคีร์ ได้เดินทางมาถึงพุทธคยา และเกิดชอบใจในทำเลนี้ จึงได้ตั้งสำนักเล็กๆใกล้กับ พระมหาเจดีย์โพธิคยา  พออยู่ไปนานๆ ก็คล้ายๆกับเป็นเจ้าของที่ไปโดยปริยาย และพวกมหันต์นี้ ก็คือนักธุรกิจการค้าที่มาในรูปนักบวชฮินดู  กล่าวกันว่า พวกมหันต์ร่ำรวยติดอันดับ มหาเศรษฐี 1 ใน 5 ของรัฐพิหาร ผู้นำของมหันต์ปัจจุบัน นี้เป็นองค์ที่ 15   สืบทอดทายาทมาตั้งแต่ โคเสณฆมัณฑิคีร์ การที่พวกมหันต์ ได้ครอบครองพุทธคยานั้น ไม่ได้ดูแลพุทธคยาแต่อย่างไร  เพียงแต่ใช้พื้นที่ เพื่อหาประโยชน์เข้าตน
             ในปี พุทธศักราช 2417 พระเจ้ามินดง แห่งพม่า ได้ส่งคณะทูตมายังอินเดียที่อยู่ในการปกครองของอังกฤษสมัยนั้น  เพื่อขอบูรณะ ปฏิสังขรณ์พระวิหารพุทธคยา และจัดการบาง ประการเพื่อดูแลรักษาพุทธสถานแห่งนี้ เมื่อได้รับการยินยอมจากพวกมหันต์และรัฐบาลอินเดีย จึงได้เริ่มทำการบูรณะ ทางรัฐบาลอินเดีย ได้ส่ง เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม กับ ดร.ราเชนทรลาล มิตระ เข้าเป็นผู้ดูแลกำกับการบูรณะ หลังจากนั้นคณะผู้แทนจากพม่าจำเป็นต้องเดินทางกลับ ทางรัฐบาลอินเดียจึงรับงานบูรณะ ทั้งหมดมาทำแทน และเสร็จสมบูรณ์ ในปี พุทธศักราช 2427 จนมหาโพธิคยาเจดีย์ ปรากฏให้ เห็นดังในปัจจุบัน

            แต่พุทธคยาก็ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของพวกมหันต์ ดังที่ เอ็ดวิน อาร์โนลด์ ผู้เขียนประทีปเอเชีย มาอินเดียบันทึก[6]  ไว้ว่า  ความจริงในเรื่องนี้ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13  กล่าวคือ 1400 ปีมาแล้ว สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่พิเศษสุดและชาวพุทธรักษาไว้ แต่ได้ทรุดโทรมลงและถูก ปล่อยปละละเลย เหมือนกับ วัดพุทธศาสนาแห่งอื่นๆ จากการอันตรธานสูญหายของพุทธศาสนาจากอินเดีย 300 ปีต่อมา นักบวชศาสนาพราหมณ์ที่ นับถือพระศิวะมาถึงที่นี้ และตั้งหลักปักฐาน ณ ที่ตรงนี้ ได้เริ่มครอบครองสิ่งที่อยู่รอบๆ ซึ่งได้เห็นและก่อตั้งโรงเรียนสอนศาสนาขึ้นมา พวกเขามีกำลังมากจึงเข้ายึดครองเป็นเจ้าของวัดพุทธคยา ซึ่งรัฐบาลเบงกอลได้เข้ามาบูรณะ และพื้นที่ รอบพุทธคยา ในปี พุทธศักราช 2423 (ค.ศ.1880) และได้ขอส่วนหนึ่งของรั้วเสาหินสมัยพระเจ้าอโศก จากพวกมหันต์ ซึ่งพวกเขาได้นำไปสร้างบ้าน เพื่อนำกลับมาตั้งไว้ ณ ที่เดิม แต่พวกมหันต์ไม่ได้ให้คืนมา และ เซอร์ อาชเลย์ อีเด็น (Sir Ashley Eden) ที่กำกับการบูรณะ ต่อจากชาวพุทธพม่า ก็ไม่สามารถผลักดันการบูรณะให้แล้วเสร็จได้

             ชาวพุทธทั่วโลกได้ลืมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นศูนย์กลางที่ยิ่งใหญ่ของศรัทธา ดังเช่น นครเมกกะ(Mecca) และเยรูซาเล็ม (Jeruzaiem) เป็นศูนย์กลางศรัทธาของผู้ศรัทธานับล้านคน เมื่อข้าพเจ้าได้พักที่โรงแรม ที่พุทธคยาปีสองปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าใจที่เห็นเครื่องบูชา ศราทธ์ (Shraddh) ของพวกฮินดูในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ และวัตถุโบราณที่มีค่าจำนวนมากหลายพันชิ้น ซึ่งจารึก ด้วยภาษาสันสกฤตได้ถูกทิ้งจมอยู่ในดิน ข้าพเจ้าได้ถามนักบวชฮินดูว่า

            ข้าพเจ้าจะขอใบโพธิ์จากต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ได้หรือไม่

            เจ้านาย จงหักเอาเท่าที่คุณชอบ มันไม่มีค่าอะไรสำหรับเรานี้เป็นคำตอบจากพวกเขา

             ไม่มีความละอายจากอาการที่พวกเขาไม่สนใจใยดี ข้าพเจ้าเก็บใบโพธิ์ 3-4 ใบอย่างเงียบๆ ซึ่งพวกมหันต์ได้หักมาจาก กิ่งบนหัวของพวกเขา และข้าพเจ้าได้นำใบโพธิ์ไปยังศรีลังกา เมื่อได้คัดลอกจารึกที่เป็นภาษาสันสกฤต ที่นั้น (ศรีลังกา) ข้าพเจ้า ได้พบว่า ใบโพธิ์เป็นสิ่งมีค่าสำหรับชาวพุทธที่ศรีลังกา ซึ่งต้อนรับด้วยความกระตือรือร้นและศรัทธา ใบโพธิ์ที่ข้าพเจ้าถวาย ได้ถูกนำไปที่เมืองแคนดี้ (Candy) และได้ใส่ไว้ในผอบที่มีค่าและได้รับการบูชาทุกๆ วัน

            อาร์โนลด์ เล่าต่ออีกว่า  “แต่ 2-3 ปีผ่านไป ในขณะที่ความคิดไปแผ่ขยายไปทั่วเอเชีย และสมาคมอย่างมากมายได้ก่อตั้งขึ้น ด้วยจุดประสงค์พิเศษ เพื่อเรียกร้องดินแดนศักดิ์สิทธิ์คืนมา พวกมหันต์ได้เรียกร้องเอาทรัพย์สินมากเกินไป และเข้ายึดครองวัดมากขึ้นทุกที จดหมาย ที่ข้าพเจ้าได้รับจากทางตะวันออก แสดงว่า พวกรัฐบาลได้นึกถึงคำขู่ของพวกพราหมณ์และผู้บริหารท้องถิ่น ได้มีท่าทีเปลี่ยนไป ในการเจรจา

             ข้าพเจ้าคิดว่า พวกมหันต์เป็นคนดี ข้าพเจ้าไม่ได้ปรารถนาอย่างนี้มาก่อนเลย แต่มิตรภาพและความพอใจที่พวกเขามีให้ ถ้าคุณเดินเข้าไปในสถานที่ซึ่งผู้คนที่ศรัทธานับล้าน เลื่อมใสศรัทธา อยู่ คุณอาจสังเกตเห็นสิ่งที่น่าอดสูและระทมใจในสวนมะม่วง ด้านตะวันออกของแม่น้ำ ลิลาจัน(Lilajan) พระพุทธรูปสมัยโบราณได้ถูกนำมาติดไว้ที่คลองชลประทานใกล้กับหมู่บ้านมุจลินท์ คือ สระมุจลินท์ และได้เห็นพระพุทธรูปใช้เป็นฐานรองรับบันไดที่ท่าตักน้ำ
             ข้าพเจ้าได้พบชาวนาในหมู่บ้านรอบๆ วิหารพุทธคยา พวกเขาใช้แผ่นสลักที่มีความงดงามจากวิหาร มาทำเป็นขั้นบันได ของพวกเขา ข้าพเจ้าได้พบภาพสลักสูง 3 ฟุต ซึ่งมีสภาพดีเยี่ยม จมอยู่ใต้กองขยะด้านตะวันอกของวังมหันต์ อีกส่วนหนึ่ง ติดอยู่กับผนังด้านตะวันออกของสวนมะม่วงริมแม่น้ำ และรั้วเสาหินพระเจ้าอโศกซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุดของอินเดีย ซึ่งล้อมวิหาร แต่ปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของห้องครัวพวกมหันต์

 

 

อนาคาริกธรรมปาละกับภารกิจการกอบกู้ฟื้นฟูพุทธคยา

            ธรรมปาละเป็นชาวศรีลังกา นามเดิมว่า   ดอน เดวิด เหวะวิตารเน เกิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2407  ในตระกูลชาวพุทธผู้มั่งคั่ง ซึ่งทำธุรกิจเฟอนิเจอร์ในเมืองโคลัมโบ ตำบลเปตตาห์ เป็นบุตรของดอน คาโรลิส เหวะวิตารเน และนางมัลลิกา เหวะวิตารเน (นามสกุลเดิม - ธรรมคุณวัฒนะ)  ตระกูลของฝ่ายบิดา เป็นชาวพุทธมีอาชีพกสิกรรมในเมืองมาตะระ ตอนใต้ของศรีลังกา ปู่มีนามว่า ทินคิรี อัปปุฮามี มีบุตร 2 คน คนหนึ่งออกบวชเป็นพระภิกษุ นามว่า หิตตะติเย อัตถทัสสี เป็นเจ้าอาวาสแห่งวัดหิตตะติยะมหาวิหาร ส่วนบุตรคนที่ 2 คือ บิดาของธรรมปาละ ได้เดินทางมาทำงาน ตั้งรกรากในกรุงโคลัมโบ สมรสกับนางมัลลิกา ธรรมคุณวัฒนะ สาวตระกูลชาวพุทธผู้มั่งคั่ง ในกรุงโคลัมโบ และตระกูลนี้ ได้อุทิศที่ดินแปลงหนึ่ง สร้างมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา ให้ชื่อว่า วิทโยทัยปริเวณะ ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยวิทโยทัย

อนาคาริก ธรรมปาละ ชาวศรีลังกา
             ธรรมปาละ เป็นชาวพุทธผู้ศรัทธาอุทิศตนอย่างยิ่ง มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา พอถึงราว พุทธศักราช 2427  ได้เดินทางไปร่วมงานของ สมาคมธีออสโซฟี่ อัทยาและได้ศึกษาพระพุทธศาสนา  ภาษาบาลีเพิ่มเติม ตามคำแนะนำช่วยเหลือของนางบลาวัตสกี ผู้ก่อตั้งสมาคม  ท่านได้ประกาศสละบ้านเรือน เพื่อถือเพศ เป็นอนาคาริก  แต่ยังทำงานที่สมาคมธีออสโซฟี่   ช่วงหนึ่งเข้ารับราชการเป็นเสมียนระดับผู้น้อย ในกรมศึกษาธิการ  
            จวบกับพันเอกโอลคอตต์และเพื่อนต้องการเดินทาง จาริกทั่วลังกา เพื่อพบปะชาวพุทธ และต้องการล่าม ธรรมปาละอาสาเป็นล่ามคณะนี้ จึงได้ขอยื่นใบลาออก จากราชการ โดยให้เหตุผลว่า "เพื่อทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา" ได้พบปะกับชาวพุทธมากมาย ทำให้ทราบปัญหา ความเดือดร้อนที่ถูกกดขี่ ทั้งด้านการศาสนา และการทำงาน หรืออื่นๆ  ผลงานที่ท่านทำไว้ในประเทศลังกามีมาก เช่น การทำให้เกิดโรงเรียนสอนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์เป็นครั้งแรก   โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษด้านพระพุทธศาสนา ซึ่งต่อมากลายเป็นวิทยาลัย ที่มีชื่อเสียง คือ อานันทะคอลเลจ

            ธรรมปาละได้เดินทางไปหลายประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา เช่น ญี่ปุ่น พม่า อินเดีย ในปีพุทธศักราช 2434  เพื่อนมัสการพุทธสถาน และสังเวชนียสถาน โดยเดินทางมากับ พระภิกษุชาวญี่ปุ่น ชื่อ พระโกเซน คุณรัตนะ มาถึงพุทธคยา ในวันที่ 22 มกราคม 2434 มูลเหตุที่ต้องมาอินเดียเพราะได้อ่าน บทความของ เซอร์ เอดวิน อาโนลด์  จึงได้เกิดแรงบันดาลใจยิ่งขึ้น ที่จะมาดูพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ด้วยตาตนเอง เมื่อมาถึง ธรรมปาละได้บันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ว่า

             หลังจากขับรถออกมาจากคยา 6 ไมล์(ประมาณ 10 กม.) พวกเราได้มาถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ภายในระยะทาง 1 ไมล์ สามารถเห็นซากปรักหักพังและภาพสลักที่เสียหายเป็นจำนวนมาก ที่ประตู ทางเข้าวัดของพวกมหันต์ ตรงหน้ามุข ทั้งสองด้าน มีพระพุทธรูปปางสมาธิและปฐมเทศนาติดอยู่ จะแกะออก ได้อย่างไร พระวิหารที่ศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูป ประดิษฐานอยู่ บนบัลลังก์ งดงามมาก ซึ่งแผ่ไปในใจ ของพุทธศาสนิกชนสามารถทำให้หยุดนิ่งได้ ช่างอัศจรรย์จริงๆ ทันใดนั่นเอง ข้าพเจ้าได้มานมัสการ พระพุทธรูป ช่างน่าปลื้มอะไรเช่นนี้ เมื่อข้าพเจ้าจดหน้าผาก ณ แท่นวัชรอาสน์ แรงกระตุ้นอย่างฉับพลัน ก็เกิดขึ้นในใจ แรงกระตุ้นดังกล่าวนั้นกระตุ้นให้ข้าพเจ้าหยุดอยู่ที่นี่ และ ดูแลรักษาพุทธสถาน           อันศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นสถานที่ตั้งแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเจ้าชายศากยะสิงหะ (พระสิทธัตถะ) ได้ประทับตรัสรู้ และเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์อย่างไม่มีที่แห่งใดในโลกมาเทียมเท่านี้ (As soon as I touched with my forehead the Vajrasana a sudden impulse came to my mind to stop here and take care of this sacred spot, so sacred that nothing in the world is equal to this place where Prince Sakya Sinha attained enlightenment under the Bodhi Tree) เมื่อมีแรงบันดาลใจ ข้าพเจ้าถามท่านโกเซน คุณรัตนะ ว่า ท่านจะร่วมมือกับข้าพเจ้าหรือไม่ และท่านโกเชนตอบตกลงอย่างเต็มใจ และมากไปกว่านั้นท่านเองก็มีความคิด เช่นเดียวกัน เราทั้งสองสัญญากันอย่างลูกผู้ชายว่า พวกเราจะพักอยู่ที่นี้ จนกระทั่งมีพระสงฆ์บางรูปมาดูแล สถานที่แห่งนี้

             ธรรมปาละและพระโกเซน พักอยุ่ที่พุทธคยาชั่วคราว ที่ศาลาพักของพม่า ซึ่งคณะทูตของพระเจ้ามินดง ได้สร้างไว้เป็นที่พัก เรียกง่ายๆว่า วัดพม่า ธรรมปาละก็เริ่มงานโดยการเขียนจดหมายบอกเล่าสภาพของ พุทธคยา ส่งไปยังบุคคลแทบทุกวงการของพม่า ลังกา อินเดีย และเรียกร้อง ชักชวนให้ร่วมมือกัน เพื่องานฟื้นฟูพระพุทธศาสนา และพุทธสถานในอินเดีย
             ธรรมปาละได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของจังหวัดคยา ด้วยจุดประสงค์ที่จะฟื้นฟูพุทธคยา ได้รับการชี้แจง ว่าพระวิหารมหาโพธิพร้อมกับรายได้ที่เกิดขึ้นนั้น ตอนนี้กลายเป็นของมหันต์ แต่ว่าด้วย ความช่วยเหลือของรัฐบาลก็อาจมีทางเป็นไปได้ที่จะขอซื้อพระวิหาร และบริเวณดังกล่าว จากมหันต์ (น่าแปลกอยู่เหมือนกัน ที่ว่าเราต้องขอซื้อ ขอมีกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ที่ควรจะเป็น ของพวกเราชาวพุทธเอง)

            ก่อตั้งสมาคม พุทธคยามหาโพธิ
             ธรรมปาละได้เดินทางกลับมายังโคลัมโบ เพื่อที่จะไปจัดตั้งสมาคมขึ้น เพื่อการนำ พุทธคยากลับคืนมาสู่ชาวพุทธ  ในวันที่ 31 พฤษภาคม พุทธศักราช 2434  ก่อตั้ง  "สมาคมพุทธคยามหาโพธิ"  ขึ้น ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ประธานนายกะ เอช. สุมังคลมหาเถระ เป็นนายกสมาคม พันเอก โอลคอตต์ เป็นผู้อำนวยการ  ธรรมปาละ เป็นเลขาธิการ

            นอกนี้ก็มีผู้แทนจากประเทศและกลุ่มชาวพุทธต่างๆ เข้าร่วมก่อตั้ง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีผู้แทนจากประเทศไทยเข้าร่วม  คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า จันทรทัตจุฑาธร (His Royal Highness Prince Chandradat Chudhadharn) ชื่อของสมาคมนี้ ต่อมาได้ตัดคำว่า พุทธคยาออก คงไว้แต่ สมาคมมหาโพธิดังในปัจจุบัน
            ในวันเพ็ญเดือน 8 อนาคาริกธรรมปาละได้กลับไปพุทธคยา พร้อมกับพระภิกษุลังกาอีก 4 รูป ที่จะมาร่วมงานกัน ได้ขอติดต่อกับมหันต์ อย่างยากลำบาก จนกระทั่งพวกมหันต์ ในยุคของ เหมนารยันตี มหันต์ ยอมตกลงให้เช่าที่แปลงเล็กๆ ส่วนหนึ่งในพุทธคยา เพื่อทำเป็นที่พัก ต่อมาในเดือนตุลาคม ปีนั้น ธรรมปาละได้จัดให้มีการประชุมชาวพุทธระหว่างชาติขึ้นที่พุทธคยา โดยมีผู้แทนชาวพุทธจากลังกา จีน ญี่ปุ่น และจิตตะกอง เข้าร่วมประชุม ในวันที่ 31 ตุลาคม ต้องการความสนับสนุนทางฝ่ายอินเดีย แต่ด้วยเหตุผลทางการเมือง ได้รับคำตอบว่า พุทธคยาเป็นของมหันต์ รัฐบาลไม่ประสงค์จะไปยุ่งเกี่ยวใดๆกับเรื่องนี้ ในการที่ชาวพุทธ ได้เรียกร้องนั้น สรุปว่าหนทาง ที่จะได้พุทธคยาคืนมาเป็นของชาวพุทธ ก็กลับมืดมนไปอีก
            ในปีต่อมา สมาคมมหาโพธิ ย้ายมาตั้งที่นครกัลกัตตา อินเดีย  ได้ออกวารสาร สมาคมมหาโพธิ

(Mahabodhi Review ) ซึ่งยังคงอยู่จนปัจจุบันนี้(พ.ศ.2548) มีอายุ 114 ปี แล้ว เป็นวารสารที่โด่งดังในทั้งตะวันออก และตะวันตก
             วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2436 ธรรมปาละและพันเอก โอลคอตต์ เดินทางจากศรีลังกามาที่พุทธคยา ก็ได้รับข่าวทันที่ว่า พระภิกษุที่จำพรรษาประจำอยู่ที่พุทธคยา ขณะกำลังนั่งสนทนาธรรมกันอย่างสงบในที่พักวัดพม่า ก็ถูก พวกมหันต์ยกพวกมารุมทุบตี รูปหนึ่งอาการสาหัสต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล พันเอก โอลคอตต์ เข้าพบมหันต์ทันที เพื่อเจรจาและขอเหตุผลกับเรื่องที่เกิดขึ้น ปรากฏว่าพวกมหันต์ไม่ยอมรับการเจรจาใดๆ และยังปฏิเสธไม่ยอมขายที่ ไม่ยอม ให้เช่า ไม่ว่าจะด้วยกรณีใดๆ ไม่ยอมให้สร้างแม้แต่ที่พักสำหรับชาวพุทธผู้มาแสวงบุญ เป็นอันว่าเรื่องของพุทธคยา ก็ยังตก อยู่ในภาวะยุ่งยากลำบากต่อมา

             ในเดือนกันยายน 2436  ธรรมปาละได้รับเชิญในฐานะผู้แทนชาวพุทธ ให้เข้าร่วมการประชุมสภาศาสนา (parliament of religion) ที่เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา การที่ ธรรมปาละได้เดินทางไปครั้งนี้ นับว่าเกิดผลอย่างมาก ต่อพระพุทธศาสนา  ท่าน ได้กล่าวปราศัยในหลายๆเรื่อง ทำให้ที่ประชุมรู้สึกทึ่ง ในคำสอนของ พระพุทธศาสนา ถึงกับมีนักการศาสนาและปรัชญาท่านหนึ่ง คือ มิสเตอร์ ซี. ที. เสตราส์ ประกาศปฏิญาณตนเป็น พุทธมามกะ  ท่านจึงได้จัดให้มีการปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะที่ สมาคมธีออสโซฟี่ แห่งชิคาโก นับว่าเป็นอุบาสกคนแรก ในประเทศอเมริกาทีเดียว

             หลังจากนั้น ท่านได้เดินกลับจากอเมริกาผ่านประเทศญี่ปุ่น จีน ไทย สิงคโปร์ และลังกา เพื่อพบปะ กับผู้นำฝ่ายศาสนาและบ้านเมือง ขอความร่วมมือด้านกิจกรรมฟื้นฟู พระพุทธศาสนา ที่กำลังทำอยู่ ที่ประเทศไทย ได้เฝ้า กรมหมื่นเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น และพบกับเจ้านายอีกหลายพระองค์พำนักอยู่ในไทย 3 สัปดาห์ จึงเดินทางกลับศรีลังกา  หลังจากนั้นท่านได้เดินทางมาประเทศไทยในฐานะตัวแทนชาวพุทธลังกา ในปี 2453  เพื่อมาขอรับ ส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับทูลถวายจากรัฐบาลอินเดีย ซึ่งเป็นส่วนพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดได้จากสถูปในบริเวณกรุงกบิลพัสดุ์ ที่ผู้เขียนได้เล่าไว้ในบทที่ 1 ว่าด้วยกบิลพัสดุ์
             หลังจากนั้นท่านได้เดินทางผ่านประเทศญี่ปุ่น ได้รับพระพุทธรูปเก่าแก่ ถึง 700 ปี จากชาวพุทธญี่ปุ่น ซึ่งมีความประสงค์ จะขอให้ท่านนำพระพุทธรูปนี้ ไปประดิษฐาน ที่พุทธคยาด้วย และพระพุทธรูปนี้เอง ต่อมาเป็นชนวนการขัดแย้ง ครั้งประวัติศาสตร์ ระหว่างท่านธรรมปาละ และมหันต์
             ธรรมปาละได้เดินทางกลับมายังอินเดีย  ติดต่อขอนำพระพุทธรูปที่ได้รับมาจาก ชาวญี่ปุ่น มาประดิษฐานยังพุทธคยา  แต่มิสเตอร์ แมคเฟอร์สัน เจ้าหน้าที่ ฝ่ายปกครองของอังกฤษประจำคยา ได้แนะนำให้ท่านธรรมปาละ ลองหาเสียงสนับสนุนจากชาวฮินดูทั่วๆไปก่อน ได้รับคำตอบจากพราหมณ์ชั้นบัณฑิตที่เมืองพาราณสี ว่า  พระพุทธเจ้าเป็นปางหนึ่งของพระนารายณ์ ดังนั้นพระวิหาร พุทธคยาจึงเป็นของฮินดู ชาวพุทธไม่มีสิทธิอะไร ในวิหารนั้น พวกมหันต์ก็ยืนยันไม่ยอมให้นำพระพุทธรูป เข้าไปยัง วิหารพุทธคยาเป็นอันขาด พร้อมกับประกาศว่า หากยังขืนดึงดันจะนำเข้ามา ก็จะจ้างคนห้าพันคน มาคอยดักฆ่า และได้เตรียม เงิน ไว้ถึงแสนรูปีเพื่อการนี้แล้วด้วย ทำให้ เรื่องการนำพระพุทธรูป มาประดิษฐาน ยังวิหารพุทธคยา จึงต้องพักไว้ก่อน

             วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2438 ธรรมปาละก็ได้นำพระพุทธรูปมายังวิหารพุทธคยา โดยไม่กลัวการขู่จากพวกมหันต์   แต่ผลก็คือว่า เมื่อท่านได้นำพระพุทธรูปญี่ปุ่นองค์นั้นไปถึงองค์พระเจดีย์พุทธคยา พร้อมกับพระภิกษุ อีก 4 รูป ซึ่งประจำอยู่ที่นั่น กำลังจะยกพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐาน ปรากฏว่าพวกมหันต์ หลายสิบคนกรูกันเข้ามาบังคับ สั่งให้ธรรมปาละเอาพระพุทธรูป ออก และทำการทุบตีทำร้ายอีกด้วย ธรรมปาละกล่าวไว้ในบันทึกว่า มันช่างเจ็บปวดเหลือแสน ชาวพุทธถูกห้ามไม่ให้บูชาในวิหารที่เป็นสิทธิ์ของตนเอง
             เมื่อเป็นคดีความกัน ศาลประจำจังหวัดคยา ได้ตัดสินความผิดกับพวกมหันต์ ในขณะที่ศาลสูงของกัลกัตตา กลับตัดสินให้พวกมหันต์ชนะคดี แต่ทางศาลสูงของกัลกัตตาก็มีความเห็๋นใจชาวพุทธ ได้ พิจารณาว่าอย่างไรก็ตาม พุทธคยานั้นเป็นพุทธสถานและสมบัติของชาวพุทธ อย่างชัดเจน
            หลังจากนั้นท่านก็ได้เดินทางไปยังจังหวัด เขต ตำบลต่างๆในอินเดีย เพื่อชี้แจงเรื่อง ปัญหาของชาวพุทธกับกรรมสิทธิ์ของชาวพุทธในพระเจดีย์พุทธคยา ชาวอินเดีย ที่มีการศึกษา และประเทศใกล้เคียง ต่างก็ให้ความสนใจ หลายฝ่ายเทคะแนนให้กับชาวพุทธ และเห็นว่า พุทธคยานั้น เป็นกรรมสิทธิ์ ของชาวพุทธอย่างไม่ต้องสงสัย แม้แต่ท่าน รพินทร์นาถ ฐะกูร นักกวี และ นักวรรณคดีชาวอินเดีย ปราชญ์ที่ได้รับการยกย่องอย่างยิ่งในอินเดีย ก็เห็นว่า พระวิหารพุทธคยานั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของชาวพุทธอย่างแน่นอน
             ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2437  เป็นต้นมา ธรรมปาละได้ดำเนินการเรียกร้องเรื่องของพุทธคยา ทั้งในอินเดียและลังกา เป็นประเด็นที่ชาวอินเดียต่างให้ความสนใจ อย่างมาก จนถึงบั้นปลายชีวิต ในวันที่ 29 เมษายน พุทธศักราช 2476  ก็สิ้นนักบุญธรรมปาละ ผู้อุทิศตนเพื่อฟื้นฟูและนำพระพุทธศาสนากลับคืนถิ่นมาตุภูมิ  ตลอดชั่วชีวิตของธรรมปาละ ท่านมิได้เห็นพุทธคยาเป็นกรรมสิทธิ์ของชาวพุทธให้ชื่นใจ  เพราะพุทธคยาก็ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของมหันต์อยู่

            ชัยชนะของชาวพุทธได้สิทธิในพุทธคยา

            อย่างไรก็ตาม งานหนักใดๆ อาจไม่สำเร็จในช่วงชีวิตคนหนึ่ง แต่อาจจะสำเร็จในรุ่นต่อมา ผลจากการทำงานอย่างอภิมหาพุทธบูชา   การกระทำของท่านก็เป็นกระแสผลักดันสังคมชาวอินเดียหลายฝ่าย นักปราชญ์หลายท่าน ก็ได้แสดงความเห็นควรว่า พุทธคยาเป็นสิทธิ์ของชาวพุทธอย่างแน่นอน ต่อมา เป็นผลให้ รัฐบาล แห่งรัฐพิหาร ได้ผ่านพระราชบัญญัติวิหารพุทธคยา ในเดือนเมษายน ปีพุทธศักราช 2499  ซึ่งให้ส่วนหนึ่ง อยู่ในการดูแลของชาวพุทธ โดยมีกรรมการชาวพุทธ 4 ท่าน ชาวฮินดู 4 ท่าน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดคยาเป็นประธาน รัฐบาลอินเดียได้ถวายเป็นพุทธบูชาในช่วงเฉลิมฉลองพุทธชยันตีที่พระพุทธศาสนามีอายุครบรอบ 25 พุทธศตวรรษ  ประกาศให้ปีนั้นเป็นปีสำคัญเพื่อรำลึกถึงพระพุทธเจ้า มหาบุรุษรัตน์ชาวอินเดีย และยกวันวิสาขะเป็นวันหยุดราชการทุกปีของอินเดียอีกด้วย

ข้อมูลระยะทาง

ระยะทางจาก
                        เมืองคยา - พุทธคยา (Gaya to Bodhgaya ) 11 กิโลเมตร
                        เมืองคยา -  พุทธคยา ผ่านโด มุฮัน (Gaya to Bodhgaya via Do-muhan) - 14 กิโลเมตร
                        เมืองปัฏนะ - คยา (Patna to Gaya) 101 กิโลเมตร
                        เมืองโกลกะตา - คยา (Kolkata to Gaya) 483 กิโลเมตร
                        กรุงเดลี- คยา (Delhi to Gaya) 998 กิโลเมตร
            สถานที่ใกล้พุทธคยา

            (1). สนามบินพุทธคยา ระยะทาง 7 กิโลเมตร

            (2). สนามบินปัฏนะ ระยะทาง106 กิโลเมตร

            (3) สถานีรถไฟคยา (Railway Station : Gaya Rly St.) ระยะทาง 14 กิโลเมตร)

สรุป

            การที่ผู้เขียนจงใจให้บทความตอนว่าด้วยพุทธคยา ยาวเป็นพิเศษโดยการปะติดปะต่อจากสาระที่นักปราชญ์หลายท่านรวบรวมไว้ต่างกรรมต่างวาระ และต่างภาษาเช่นนี้ เพราะสถานที่นี้ เป็นจุดเริ่มต้น เป็นจุดเกิดของพระพุทธศาสนา และพระบรมศาสดาตรัสรู้ที่นี่ จึงทำให้เราชาวพุทธได้ดื่มด่ำซาบซึ้งในพระธรรมคำสั่งสอนที่ทันสมัย ตรงตามหลักสัจธรรม ไม่บิดเบือนกฎธรรมชาติ ไม่อ้างอำนาจเหนือธรรมชาติและปาฏิหาริย์ใดๆมาสนับสนุนคำสั่งสอน ทั้งประวัติการกอบกู้พระพุทธศาสนาให้ฟื้นฟูกลับคืนถิ่นเดิมดินแดนแม่อินเดียของท่านอนาคาริก ธรรมปาละและสมาคมมหาโพธิโซไซเอตีด้วยความยากลำบาก  แต่ก็เป็นผลสำเร็จ ทำให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มานมัสการ เข้าเฝ้าพระบรมศาสดาในสถานที่พระองค์ตรัสรู้อย่างสะดวกสบาย ควรต้องรำลึกถึงงานของผู้เสียสละหลายท่านทั้งที่กล่าวนามมาและมิได้เอ่ยถึง ของให้พระพุทธศาสนาจงดำรงมั่นในโลกตราบนานแสนนาน สาธุ..

 

 



                [1] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค  ภิกขุสังยุตต์ ภาษาบาลี  เล่มที่ 16 ข้อ 693

[2] มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่, ตำนานมูลศาสนา, (เชียงใหม่ :  อนุพงษ์การพิมพ์, 2544 และ http://www.moe.go.th/webrad/tree/tree.htm สืบค้นวันที่ 14 มีนาคม 2548.

 

                [3] ซูม ซอกแซก, ส่งท้ายที่พุทธคยา, สกู๊ฟหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทรัฐ  ปีที่ 56 ฉบับที่ 17246 วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน 2548

                [4] พระมหาสุวิทย์ ธัมมสิริ, สาญจิ. บทความลงในเวบพระพุทธศาสนา

 

[5] หนังสือสมุดภาพ แดนพุทธภูมิฉลองชนมายุ 80 ปี พระสุเมธาธิบดี

                [6] เซอร์ เอ็ดวิน อาร์โนลด์,  East and West ; A Splendid Opportunity (ตะวันตกและวันออก โอกาสแจ่มจรัส โอกาสแห่งความรุ่งโรจน์), อ้างในประวัติอนาคาริกธรรมปาละ.

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น