แจ้งข่าวนักศึกษา012173

วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

แดนพุทธภูมิ บทที่ 1 นครกบิลพัสดุ์ ปิตุภูมิ

 

บทที่ 1

กบิลพัสดุ์  ปิตุภูมิ   (Kapilvastu)

           โดย 
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์

                                                                                                                                    Phisit Kotsupho

ประวัติและความเป็นมา :            

            นครกบิลพัสดุ์  เกิดขึ้นมาจากน้ำพักน้ำแรงของพระโอรสและพระธิดาของพระเจ้าอุกกากราช หรือ โอกกากราช (ผู้สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าอิกศวากุ ในตำนานมหากาพย์)  ผู้ครองนครแห่งหนึ่ง  ในอินเดียภาคเหนือ  ท้าวความจากเมื่อพระอัครมเหสีทิวงคต  ทิ้งพระโอรส 4 พระองค์ [1] นามว่า อุกกามุข กรกัณฑฑะ หัตถินีกะ และ สินีปุระ   และพระธิดา  5  พระองค์  เอาไว้ให้ดูต่างพระพักตร ต่อมาพระเจ้าโอกกากราชได้อภิเษกมเหสีใหม่ นามว่า ชยันตี  มีพระโอรสใหม่นามว่าชยันตะและพระนางมีพระประสงค์ให้พระโอรสชยันตะเป็นกษัตริย์ครองนคร  จึงปฏิบัติเอาพระทัย จนพระเจ้าโอกกากราชหลงเสน่ห์ทรงพลั้งพระโอษฐ์ประทานพรให้ตามที่พระนางประสงค์  พระนางชยันตีจึงถือโอกาสขอ        ราชสมบัติพระราชทานแด่พระโอรสชยันตะ 

เพื่อรักษาสัจจะ เป็นกษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ พระเจ้าโอกกากราชก็ประทานราชสมบัติให้  ชยันตะกุมาร  รับสั่งให้พระโอรสและพระธิดาผู้น่าสงสารทั้ง  9  พระองค์  พร้อมด้วยข้าราชบริพารเสด็จออกจากราชอาณาจักรไป พระโอรสและพระธิดาทั้ง 9 พระองค์ก็เสด็จมุ่งหน้าสู่ป่าหิมพานต์  พระกุมารและพระกุมารี 9 ศรีพี่น้อง เสด็จมาถึงป่าไม้สักกะอันเป็นที่อยู่ของกบิลดาบส [2] (อดีตกษัตริย์ออกผนวชเป็นดาบส)  พระดาบสถามสาเหตุที่เสด็จมาจนถึงที่นี่ ทราบความว่า เหล่าราชกุมารต้องการสถานที่สร้างนคร เพราะความที่เป็นผู้รู้วิชาภูมิพยากรณ์ด้วย กบิลดาบสจึงชี้ลงตรงพื้นที่ที่ตนสร้างอาศรมอยู่กล่าวว่าที่นี้เป็นที่ชัยภูมิวิเศษและมอบที่ให้ ราชกุมารก็สร้างราชวังขึ้นมาตรงที่พระดาบสปลูกอาศรมนั้น  นครที่สร้างใหม่จึงมีนามตามผู้ให้ว่า  กบิลพัสดุ์  และเพราะสร้างในท่ามกลางป่าไม้สากะ หรือ สักกะ  จึงได้อีกชื่อว่า  สักกะชนบท  และเรียกพวกตนว่า  ชาวศากยะ

            ครั้นพระกุมารและกุมารีทั้ง 9 พระองค์ จัดการสร้างบ้านแปลงเมืองเสร็จแล้ว  พระโอรสและพระธิดา 4 คู่ (ยกพระธิดาองค์พี่เสียองค์หนึ่ง)  นอกนั้น ต่างจับคู่อภิเษกสมรสอยู่กินกันในหมู่พี่น้อง  เพราะไม่ต้องการให้เลือดกษัตริย์ศากยะต้องผสมกับกษัตริย์ตระกูลอื่น  ได้โอรส ธิดามากมาย นับได้ว่า  พระโอรส พระธิดา 8 พระองค์ ของพระเจ้าโอกกากราชเป็นต้นวงศ์ศากยะ  มาตั้งแต่บัดนั้น  ส่วนพระพี่นางเธอภายหลังได้อภิเษกกับเจ้ารามนคร  มีพระโอรส และธิดาสืบเชื้อสายต่อมา  และนับเป็นต้นวงศ์  โกลิยะ  ซึ่งต่อมาก็เป็นราชวงศ์ฝ่ายพระมารดาของพระพุทธเจ้า

            ศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ต่างสืบเชื้อสายต่อมาโดยไม่ขาด จนมาถึงสมัยพระเจ้าสุทโธทนะ ฝ่ายศากยวงศ์  พระองค์ก็ได้อภิเษกสมรสกับพระนางสิริมหามายาฝ่ายโกลิยวงศ์   ประสูติพระโอรสนามว่า          สิทธัตถะและพระสิทธัตถะกุมารก็ได้อภิเษกกับพระนางยโสธราแห่งวงศ์โกลิยะอีกเช่นกัน ได้พระโอรสนามว่า ราหุล  ภายหลัง พระสิทธัตถะราชกุมารเสด็จออกผนวช แสวงหาโมกษธรรม ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า  เป็นผู้ก่อตั้งพระพุทธศาสนา

นครกบิลพัสดุ์ หลังจากพระเจ้าสุทโธทนะสิ้นพระชนม์ รัชทายาทนับตั้งแต่พระสิทธัตถะ      พระนันทะ พระราหุล ต่างออกผนวชสิ้น ไม่มีรัชทายาทสายตรงจากพระเจ้าสุทโธทนะสืบราชสมบัติ เป็นเหตุให้ราชสมบัติกบิลพัสดุ์ตกแก่พระมหานามะ พระเชษฐาของพระอนุรุทธเถระ พระโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ พระเจ้าอาว์ของพระพุทธเจ้าปกครองสืบมา แต่ก็มีเหตุให้เมืองกบิลพัสดุ์ต้องถูกภัยสงครามย่อยยับ เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศล ราชาแห่งสาวัตถี แคว้นโกศล ประสงค์จะเกี่ยวดองเป็นพระญาติกับพระพุทธเจ้า ทรงขอราชธิดาศากยะมาเป็นมเหสี แต่ชาวศากยะหยิ่งในศักดิ์ศรีเลือดศากยะ จึงส่งธิดาของเจ้ามหานามะ ชื่อ วาสภขัตติยา ที่เกิดจากสนมทาสีไปถวาย ภายหลังพระนางวาสภขัตติยา ได้ประสูติโอรส นามว่าวิฑูฑภะ  ครั้นวิฑูฑภะ ราชกุมาร เจริญพระชันษา มีพระประสงค์จะไปเยี่ยมญาติฝ่ายพระมารดาที่นครกบิลพัสดุ์ จึงเสด็จไปพร้อมทหารกองเกียรติยศ  การต้อนรับของชาวศากยะไม่สมพระเกียรติ เพราะดูหมิ่นว่า เป็นหลานนางทาสีพระสนม คล้อยหลังวิฑูฑภะราชกุมารกลับไป ก็ช่วยกันชำระที่นั่งที่นอนของวิฑูฑภะ พร้อมนินทาลับหลังว่า “แผ่นกระดานนี่ บุตรของนางทาสีชื่อวาสภขัตติยานั่งความลับไม่มีในโลก ทหารชาวสาวัตถีคนหนึ่ง เกิดลืมอาวุธส่วนตัวในที่พัก จึงรีบกลับมาเอาอาวุธ พร้อมกับได้ยินคำกล่าวนินทาเป็นนัยๆ ถอบถามได้ความว่า วิฑูฑภะราชกุมาร เจ้านายเขาเอง  มีชาติกำเนิดต่ำ เป็นลูกนางทาสี  ทหารคนนั้นจึงนำความมาเล่าบอกแก่หมู่ทหาร เหล่าทหารก็นำความไปทูลวิฑูฑภะอีกทอด    วิฑูฑภะ รู้ึกเจ็บแค้นที่พระญาติดูหมิ่นเช่นนั้น ผูกใจเจ็บอาฆาตเอาไว้ว่า บัดนี้ ขอให้ชาวศากยะเอาน้ำเจือน้ำนมล้างแผ่นกระดานที่เรานั่งไปก่อนเถอะ ส่วนเราจะเอาเลือดจากลำคอของพวกมันล้างแผ่นกระดานนั้น [3] ต่อมา พระองค์ได้เป็นกษัตริย์ครองโกศลรัฐ จึงยกกองทัพมหึมาจากสาวัตถีเพื่อมาเข่นฆ่าชาวศากยะ  ในระหว่างศึกล้างอายกำลังประชิดพรมแดนนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จเพื่อมาห้ามทัพที่พรมแดนโดยแสดงพระองค์เป็นนัยๆ ด้วยการประทับใต้ต้นไม้ที่มีเงาโปร่ง แดดส่องลอดได้ ในแดนศากยะ และราชาวิฑูฑภะทูลเชิญให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาที่ร่มไม้ใบดกที่ฝั่งของตน แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่เสด็จตามคำเชิญ พลางตรัสว่า “ร่มเงาของพระญาติย่อมเป็นของเย็น”[4] แสดงให้เห็นว่า การเป็นญาติกัน ย่อมไม่เดือดร้อนมีแต่ความร่มเย็น แต่วิฑูฑภะ พระทัยถูกเผาด้วยความอาฆาตพยาบาท คำพูดของพระพุทธเจ้าไม่สามารถดับความโกรธได้ สุดท้ายสงครามก็เกิดขึ้น ชีวิตชาวศากยะถูกผลาญเป็นเบือจนไม่สามารถสืบได้ว่า ยังเหลือผู้ใดเป็นกษัตริย์ครองนครต่อมา 

อย่างไรก็ตาม นครกบิลพัสดุ์คงไม่พินาสล่มสลายจนหมด จากหลักฐานในมหาปรินิพพานสูตรก็แน่ใจว่าคงต้องมีกษัตริย์ครองนครสืบต่อมาอยู่  เพราะเมื่อหลังพระพุทธเจ้าปรินิพานและถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระนั้น  ปรากฏว่ามีทูตจากกษัตริย์แห่งสักกชนบทมาขอแบ่งบรมสารีริกธาตุจาก กษัตริย์มัลละ ผู้ครองนคร กุสินารา ดังความว่า

“พวกเจ้าชาวศากยะชาวกบิลพัสดุ์ ได้ทรงสดับพระผู้มีพระภาคปรินิพพาน ในกรุงกุสินารา จึงส่งทูตไปถึงพวกเจ้ามัลละ ผู้ครองกุสินาราว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระญาติผู้ประเสริฐของพวกเรา พวกเราควรจะได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุบ้าง จะได้สร้างสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลอง” [5]

ครั้นได้พระบรมสารีริกธาตุ 1 ทะนานแล้ว นำกลับไปสร้างสถูปเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเอาไว้เป็นหลักฐาน ปรากฏอยู่ที่บ้านปิปราหวา (Piprahwa Village) ใกล้สถานีรถไฟเนาตันวา(Naotanwa)  พรมแดนอินเดีย - เนปาลปัจจุบัน

 

กบิลพัสดุ์ในปัจจุบัน :

         หลายคนตั้งคำถามว่าที่ตั้งกบิลพัสดุ์ อยู่ที่ใดแน่ มีหลักฐานอันใดปรากฏพอให้เป็นที่แน่ใจได้ว่า นี้คือ กบิลพัสดุ์  เมืองของพระพุทธเจ้า จากหลักฐานของหลวงจีนฟาเหียน(Fa Hien)  ซึ่งเดินทางมาสืบพุทธศาสนาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่  9 และหลวงจีนเฮี่ยงจัง (Hiuen Tsang) หรือพระถังซำจั๋ง  เดินทางมาสืบพุทธศาสนาในราวพุทธศตวรรษที่ 12[6] ตรงกับสมัยของพระเจ้าหรรษะ วรรธนะ(สมณะฟาเหียนมาอินเดีย เมื่อ พ.. 946 ส่วนสมณะเฮี่ยงจัง มาอินเดียเมื่อ พ.. 1179) ได้บันทึกเอาไว้เป็นระบบชัดเจน จนสามารถใช้เป็นเข็มทิศให้นักสำรวจคลำหานครกบิลพัสดุ์ได้อย่างถูกต้อง โดยท่านฟาเหียนบันทึกว่า เมืองที่ท่านไปพบครั้งนั้น ชื่อ นคร เคเว้ โลเว้ เป็นเมืองร้างแล้ว ไม่มีกษัตริย์ปกครอง ไม่มีพลเมืองอาศัยอยู่ มองดูเวิ้งว้างน่าใจหาย เห็นพระสงฆ์ 2 หรือ 3 รูป มีบ้านเรือนตั้งเป็นหย่อมๆ ประมาณ 20 หลังคาเรือน นอกนั้นเป็นที่ว่างเปล่า แห้งแล้ง ดังจดหมายเหตุโบราณว่า

          ไม่มีราชาปกครองเมืองกบิลพัสดุ์ บ้านเมืองสกปรกเต็มไปด้วยฝุ่น ครอบครัวศากยะมีประมาณ   20 คน สืบเชื้อสายจากพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นกำลังสำคัญแก่พระพุทธศาสนาสืบมา และยังมีศรัทธาในพระพุทธศาสนามั่นคงอยู่ [7]

         ส่วนหลวงจีนเฮี่ยงจัง บันทึกว่า นคร กิ บิ โล ฟะ เส ลี(กบิลพัสดุ์) เป็นหัวเมืองใหญ่ ของแคว้นโบราณที่มีเนื้อที่โดยรอบประมาณ 400 ลี้ หรือ 66.6 ตารางไมล์  (มาตรา 6 ลี้ ประมาณ 1 ไมล์) มีเมืองรกร้าง ประมาณ 10 หัวเมือง ทุกเมืองเหลือแต่ซากปรักหักพัง  ซากเมืองกบิลพัสดุ์ มองเห็นอิฐหัก และกากปูน ราชสำนักภายในกรุงกบิลพัสดุ์ กะว่า ยาวประมาณ 15 ลี้ ประมาณ 2 ไมล์ ครึ่ง หรือ ราว  4 กิโลเมตร  ตัวเมืองก่อด้วยอิฐ ฐานรากกำแพงยังแข็งแรง ตั้งอยู่ให้เห็นเป็นแนวยาว มีสังฆารามร้างอยู่หลายหลัง มีสงฆ์สาวกอาศัยอยู่จำนวนน้อย มีเทวสถาน 2 แห่ง มีรูปเทวมากมาย ภายในบริเวณพระราชฐาน มีกำแพงกั้นเป็นสัดส่วน พระราชวังของกษัตริย์สุทโธทนะยังเหลือเป็นซากอยู่ ในวิหาร มีรูปปั้นกษัตริย์             สุทโธทนะ และวิหารเล็กเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นพระนางสิริมหามายา [8]

อดีตนครกบิลพัสดุ์  ตั้งอยู่ในดินแดนรัฐอุตตระประเทศ ของอินเดีย ต่อมาเมื่ออังกฤษปกครองอินเดียเป็นเมืองขึ้น ได้แบ่งดินแดนส่วนนี้ให้ประเทศเนปาล นครกบิลพัสดุ์ จึงตกเป็นของประเทศเนปาล   ห่างจากด่านเนาก้า(Naoka) ลากเป็นเส้นตรงเข้าไปจากพรมแดนอินเดีย ประมาณ 5 กิโลเมตร จะเป็นที่ตั้งเมืองกบิลพัสดุ์(ปัจจุบันด่านเนาก้าปิดแล้ว) 

แผนที่อินเดีย เนปาล แสดงให้เห็นเมืองกบิลพัสดุ์เก่า และลุมพินี

หากจะเดินทางอีกเส้นหนึ่ง จากชายแดนอินเดีย ผ่านด่านโสเนาลี(Sonauli) ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 25 กิโลเมตร จะถึงลุมพินี สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าก่อน  และจากลุมพินีมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกอีก เป็นถนนคันดินอัดแน่น ระยะทางประมาณ  22  กิโลเมตร  เป็นที่ตั้งนครกบิลพัสดุ์  เดินทางด้วยรถยนต์ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง  ก่อนจะถึงซากเมืองเก่ากบิลพัสดุ์  จะผ่านตลาดเตาลีหวา (Taulihwa  Baza)  ที่เตาลีหวานี้ ชาวบ้านก็เรียกว่า  กบิลพัสดุ์เช่นกัน   แต่ไม่ใช่ตัวเมืองกบิลพัสดุ์เก่า ตลาดเตาลีหวา   ขึ้นอยู่กับแขวง เตไร (Terai  Region) อำเภอ บัสติ(Basti) เป็นตลาดใหญ่ มีร้านตลาดและบ้านเรือนไม่ต่ำกว่า  1,000  หลังคาเรือน  มีความเจริญแบบสมัยใหม่ดุจเมืองใหญ่ของเนปาล

จากตลาดเตาลิหวาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ  2  กิโลเมตร  จะถึงซากพระราชวังเก่าของนครกบิลพัสดุ์  ซึ่งล้อมรอบด้วยกำแพงอิฐเป็นคันรอบ ๆ รูปกลมรี มีเนื้อที่คำนวณกะด้วยสายตาประมาณ 5 X  7 ไร่ กำแพงเมือง เป็นอิฐโบราณ มีฐานกว้างประมาณ  10  ฟุต  ไม่ทราบว่าส่วนสูงเป็นเท่าใด  มีประตูใหญ่  4  ทิศ  บริเวณซากเมืองเก่า เป็นสนามว่างเปล่า มีเนินดินสูงประมาณ 2-3 เมตร และใต้เนินดิน  กรมศิลปากรเนปาลได้ขุดสำรวจลงไปในพื้นดิน หลายหลุม  จะพบฐานรากอาคารต่างๆ  มากมาย  ส่วนด้านบนเนินดินมีต้นไม้ หลากชนิด เช่น มะม่วง ไทร ทองกวาว  เป็นต้น  ขนาดลำต้นใหญ่โต คงมีอายุไม่น้อยกว่า 100 ปี แผ่เงาปกคลุมร่มรื่นไปหมด ปัจจุบันนี้ นครกบิลพัสดุ์ เรียกชื่อว่า            ติเลาราโกตะ (Tilaurakota)” หรือ ติเลาราโกฏ

ซากเมืองกบิลพัสดุ์

            ลักษณะผังเมืองกบิลพัสดุ์  บริเวณที่ตั้งพระราชวัง เป็นเนินดินสูง  มีประตูใหญ่ที่กำแพงทั้ง       4 ทิศ  ในทางทิศเหนือ มีสระน้ำขนาดใหญ่ 1 สระ บริเวณรอบ ๆ  มีซากอาคารที่อยู่อาศัยซึ่งน่าจะเป็นวังและตำหนักต่าง ๆ  ส่วนบริเวณตรงกลางพระราชวังนั้น จะมีซากฐานอิฐแบ่งเป็นห้องๆ  ลักษณะคล้าย  ที่ประชุม  ซากอาคารหลังใหญ่ประมาณ 15 ´ 15  เมตร  ที่นี่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็น  สัณฐาคาร  หรือ รัฐสภา (Meeting Hall)  ซึ่งกษัตริย์ศากยะเพิ่งจะสร้างเสร็จใหม่ๆ  เมื่อคราวพระพุทธเจ้าเสด็จเยี่ยมเมืองกบิลพัสดุ์  และได้ทำพิธีเปิดรัฐสภาหลังใหม่นี้เป็นครั้งแรก  ภายใต้เนินดินซึ่งปกคลุมด้วยต้นมะม่วง  ต้นกุ่ม ต้นไทรและทองกวาวอันร่มรื่นดารดาษอยู่นั้น หากกรมศิลปากรเนปาล จะได้ทำขุดค้นแสดงซากนคร และอาคารต่อมาเอาไว้อีก คงจะได้พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ  อันจะเป็นประโยชน์ทางการศึกษาอีกมาก  น่าเสียดายที่รัฐบาลเนปาลได้สั่งให้งดการขุดค้นเสียตั้งแต่ พ.. 2447 [9]  หลักฐานและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ จึงยังจมฝังอยู่ใต้เนินดินติเลาราโกตะ  จวบจนบัดนี้

           

ซากที่ตั้งอาคาร กบิลพัสดุ์

            เมืองกบิลพัสดุ์ เป็นเมืองมีอาณาบริเวณกว้างขวาง น่าจะครอบคลุมเนื้อที่หลายตารางกิโลเมตร  เริ่มนับแต่บริเวณรอบตลาดเตาลิหวา (กบิลพัสดุ์ใหม่)  ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้  ไปจนจรดแม่น้ำ       บันคงคา (Ban Ganga River)  ในทิศตะวันตก  ในทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะทางจาก       พระราชวัง  2  กิโลเมตรเศษ  จะถึงหลักศิลาจารึกพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ริมสระน้ำนิคาลิ (Nigali Tank)  และลากผ่านมาทางทิศใต้ ซึ่งห่างจากระราชวังเป็นระยะทางประมาณ  3  กิโลเมตร  จนถึงหลักศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชอีกหลักหนึ่ง  ผู้เขียนมีความเห็นว่า ทั้งในทางด้านทิศเหนือ และทางทิศตะวันตก น่าจะมีหลักศิลาอโศกมหาราชอีกสัก  2  หลัก ซึ่งปักเขตเอาไว้(แต่ไม่พบหลักฐาน)  เนื้อที่ร่วมในจากเขตแดนดังกล่าวมาแล้ว  ถือว่า เป็นบริเวณนครกบิลพัสดุ์เท่านั้น  ไม่ใช่เขตของราชอาณาจักร         ทั้งหมด 

            ที่กล่าวมานี้ว่าตามหลักฐานที่ปรากฏในจารึกของพระสมณะจีน  ฟาเหียน  ที่จาริกมาอินเดียเมื่อ พ.. 946 (.. 403) [10]  และของพระสมณะจีน  เฮี่ยงจัง  ซึ่งได้จาริกมาอินเดียอีกเมื่อ พ.. 1179 (.. 636)  หลวงจีนทั้ง  2  รูป บันทึกเอาไว้ว่า อาณาเขตตัวนครกบิลพัสดุ์มีเนื้อที่ประมาณ  1,000  ลี้  มาตรา  1  ลี้จีน มีระยะเท่ากับ  500  เมตร หรือ ประมาณ ครึ่งกิโลเมตร

 

สถานที่และสมาคมสำคัญในบริเวณเมืองกบิลพัสดุ์

            นอกจากบริเวณพระราชวัง  ซึ่งมีอาคาร  สัณฐาคาร   กำแพงเมือง  สระน้ำ และประตูแล้ว     บริเวณรอบๆ  เมืองกบิลพัสดุ์  ยังมีเนินดินและสถูปสำคัญๆ หลายแห่ง ดังนี้

            1.  เนินกัณฐกะ     ห่างออกไปประมาณ  200  เมตร  จากประตูทางทิศตะวันออก เป็นเนินดินกลม ๆ  สูงประมาณ  2 - 3  เมตร  ลักษณะเป็นเจดีย์หรือสถูป  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง  8  เมตร  มีซากอิฐก่อเอาไว้เป็นฐานรอบ ๆ  หรือไม่ก็คงจะเป็นป้อมหรือหอรบ  ชาวบ้านที่อยู่บริเวณนั้น ในปัจจุบันเรียกว่าเนินกัณฐกะ  อ้างตำนานว่า เมื่อพระสิทธัตถะกุมารเสด็จออกผนวชโดยทรงม้ากัณฐกะ มีนายฉันนะ สารถีเก่า เป็นเพื่อน  ได้ออกมาทางประตูด้านทิศตะวันออกของพระนคร  ครั้นบรรพชาที่ฝั่งแม่น้ำ    อโนมาเสร็จแล้ว  นักบวชใหม่สิทธัตถะ  สั่งให้นายฉันนะนำม้ากัณฐกะและเครื่องทรงราชกุมารของพระองค์กลับเมืองกบิลพัสดุ์  เพื่อจะให้นายฉันนะได้แจ้งข่าวการออกผนวชของพระองค์ แด่พระชนกและพระชนนี(พระน้านาง ปชาบดีโคตมี)ด้วย  แต่ปรากฏว่า ม้ากัณฐกะที่พาออกผนวช ได้หัวใจวายล้มลงเสียก่อนที่จะได้กลับถึงนครกบิลพัสดุ์  พระอรรถกถาจารย์ บรรยายว่า ม้ากัณฐกะ กลั้นความอาลัยรักต่อเจ้าชายสิทธัตถะไม่ได้ จึงสิ้นใจลง ณ ตรงริมฝั่งอโนมานทีนั่นเอง  นายฉันนะเพียงลำพังผู้เดียว   จึงต้องนำข่าวการออกผนวชกลับคืนไปทูลแด่พระเจ้าสุทโธทนะ   และพระเจ้าสุทโธทนะก็รับสั่งให้สร้างอนุสรณ์แห่งความภักดีของม้ากัณฐกะซึ่งเป็นพาหนะให้เจ้าชายได้เสด็จออกแสวงหาโมกษธรรม   เอาไว้ ตรงด้านประตูทิศตะวันออก

            เรื่องการออกผนวชด้วยทรงม้าเป็นพาหนะ มีหลักฐานจากพระไตรปิฎกอยู่  การออกผนวชตามพุทธประวัติเล่าว่า ทรงหนีออกในเวลากลางคืนทรงม้ากัณฐกะที่กล่าวแล้ว ไปถือเพศบวชที่ ริมฝั่ง      แม่น้ำอโนมา แต่หลักฐานจากพระไตรปิฎกอีกที่หนึ่ง กล่าวว่า พระองค์มิได้ทรงเล็ดลอดหนีบวช แต่ทรงปลงผมบวช ต่อหน้าพระราชบิดา และพระญาติ ในเวลากลางวัน ท่ามกลางราชวังนครกบิลพัสดุ์นั้นแหละ พระบิดาและพระญาติต่างกันแสง น้ำอัสสุชลหลั่งนองหน้าทุกพระองค์ จะเชื่อฝ่ายตำนานพุทธประวัติอย่างที่เล่ากัน หรือ ออกบวชท่ามกลางพระญาติ ต่างก็มีหลักฐานอ้างในพระไตรปิฎกทั้งคู่  ผู้อ่านลองค้นหาความจริงเพิ่มอีก ก็น่าจะดีไม่น้อย   

            2.  สถูปบรรจุอัฐิธาตุพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางมหามายา     ห่างจากนครกบิลพัสดุ์ ออกไปทางทิศเหนือ ระยะทางประมาณครึ่งกิโลเมตรเศษๆ  จะพบซากสถูปทรงกลม  2  องค์  องค์ใหญ่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง  10  เมตร  เป็นที่บรรจุพระอัฐิธาตุของพระเจ้าสุทโธทนะ  ซึ่งบรรจุในผอบหินขุดพบโดยกรมศิลปากรเนปาล  นอกจากผอบหินบรรจุพระอัฐิธาตุแล้ว  ภายในสถูปยังคงพบเหรียญเงินตราชนิดต่างๆด้วย ส่วนสถูปองค์เล็กตั้งคู่กันถัดมาหน่อย มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง  4  เมตร  กล่าวว่าเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุของพระนางสิริมหามายาเทวี  พระพุทธมารดา   บริเวณพื้นที่รอบสถูปนั้น ไม่ปรากฏว่า กรมศิลปากรของเนปาลขุดพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่น่าจะเป็นซากกุฏิ วิหาร เสนาสนะหรืออารามเหลืออยู่แต่อย่างใด

 

                            

สถูปบรรจุอัฐิพระเจ้าสุทโธทนะ                             สถูปบรรจุอัฐิพระนางมหามายา

 

            3.  หลักศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช   ระยะทาง  2  กิโลเมตรครึ่ง  จากเมืองกบิลพัสดุ์เก่า ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ  หรือระยะทาง  6  กิโลเมตร(ตามคลองชลประทาน)จากตลาด       เตาลิหวา  หรือ กบิลพัสดุ์ใหม่ ไปทางทิศเหนือ  มีหมู่บ้านนามว่า  นิคาลิหวา (Nigalihwa Villege)  และห่างออกไปจากบ้านนิคาลิหวาประมาณครึ่งกิโลเมตรทางทิศตะวันออก มีสระน้ำใหญ่ประมาณ  1 ´ 3   เส้น  ชื่อสระนิคาลิ” (Nigali Tank)  ตรงขอบสระด้านตะวันตก  มีเสาศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช [11]  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 50 เซ็นติเมตร ซึ่งหักเป็น  2  ท่อน วางอยู่ โดยท่อนหนึ่งนอน  ท่อนหนึ่งปักเฉียงๆ  ท่อนที่วางนอนอยู่ริมขอบสระนิคาลิ มีความยาว  15  ฟุต  มีอักษรทิเบตจารึกเป็น      มหามนต์  2  แถวว่า  โอม มะณี ปัทฺเม หุม” (OM MANI PADME HUM)   ใต้อักษร มีภาพแกะสลักเป็นรูปนกยูง  2  ตัว  เป็นศิลปะเก่าโบราณมาก  สัญลักษณ์นกยูง  หรือ  โมระ  น่าจะหมายถึง             โมริยะวงศ์  ของพระเจ้าอโศกมหาราชกระมัง?    นอกจากนี้มีจารึกบอกเลข   1234 (ไม่ทราบหมายความถึงอะไร น่าจะเป็นเลขจำนวนนับธรรมดา?) 

ศิลาจารึกพระเจ้าอโศกที่สระนิคาลิ

ส่วนอีกท่อนหนึ่งไม่ทราบขนาดว่ายาวเท่าใด  เพราะฝังลึกจมลงดินเฉียงๆ  โผล่พ้นดินราว        1 เมตรเศษๆ  ท่อนนี้ นับว่าเป็นส่วนที่มีความสำคัญที่สุด เพราะมีอักษรพราหมี จารึกเอาไว้เป็น  4  แถวกล่าวถึงการเสด็จมากบิลพัสดุ์ของอโศกมหาราช  หลังจากเสด็จไปลุมพินีแล้ว ค้นพบเมื่อ ปี พ.. 2442 (.. 1899)  จารึกท่อนนี้มีความว่า

                        เทวาน  ปิเยน  ปิยทสิน  ลาชิน  โจทสวส  (ภิสิ)  เตน

                        พุทธส  กรนก  มนส  ถุเอ  ทุติยํ  พุทฺธิเต

                        (พิสตะ  ติว)  สภิเตน    อตนิ  อคฉ  มหิยิเต

                        (สิล  ถุเภย    อุส)  ปปิเต…” [12]

            แปลเป็นไทยว่า   พระเจ้าปิยทัสสี  ผู้เป็นที่รักของทวยเทพ  ครั้นครองราชย์ได้  14  วัสสา  ทรงรับสั่งให้ขยายสถูปของพระกรนกพุทธเจ้าเป็นสองเท่า  และเมื่อครองราชย์ได้  20  วัสสา  พระองค์เสด็จมา (ลุมพินี)  ได้ถวายสักการะแล้ว (ตอนเสด็จกลับ ผ่านกบิลพัสดุ์)  รับสั่งให้ปักเสาศิลาหลักนี้เอาไว้…”

            ทางทิศใต้ของนครกบิลพัสดุ์  3  กิโลเมตรเศษ ๆ  พบเสาศิลาอีกหลักหนึ่ง  ลักษณะเป็นเสาศิลาสีดำ  รูปกลมเกลี้ยงเป็นเงา ตั้งฝังดิน มีรั้วหินเป็นกำแพงกั้นรอบไว้ ส่วนสูงจากพื้นดินประมาณ 2 เมตร ชาวบ้านถิ่นนั้นเรียกว่าศิวลึงค์   คณะสำรวจพิเคราะห์โดยรอบเสาศิลาแล้วไม่ปรากฏว่ามีจารึกอักษรใด ๆ  เสาศิลานี้ สีแปลกกว่าเสาอื่น ซึ่งตามปกติทั่ว ๆ ไป เสาศิลาของพระเจ้าอโศกมหาราช  จะทำด้วยหินทรายสีน้ำตาล  น่าจะเป็นเพราะหินทรายง่ายแก่การแกะสลัก หรือมีหินชนิดนี้อยู่ดาษดื่นกระมัง    พระเจ้าอโศกไม่นิยมใช้ศิลาชนิดอื่นๆ นำมาทำ ลักษณะเสาทั้งต้น สัณฐานกลมเกลี้ยง ขัดเป็นเงาแวววาว  ไม่ทราบว่า ใช้วัสดุอะไรเคลือบ ถึงได้มันเป็นแวววาวมาจนบัดนี้ร่วม 2300 ปีแล้ว  

                        ณ สถานที่แห่งใด  พบว่ามีเสาศิลาพระเจ้าอโศกมหาราชปักเอาไว้ ก็เป็นอันแน่ใจได้ว่า    ที่ตรงนั้นหรือบริเวณนั้น ย่อมเป็นสถานที่สำคัญเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าแน่นอน เพราะพระเจ้าอโศกมหาราช  จะรับสั่งให้ปักเสาเอาไว้ ณ ที่ใด  พระองค์ต้องมั่นพระทัยและทรงใคร่ครวญรอบคอบแล้ว ว่า ใช่แน่   หาได้รับสั่งให้ปักส่งเดชลงไปแต่ประการใดไม่ [13] นี้คือ  หลักฐานทางประวัติศาสตร์  ซึ่งคล้อยหลังพุทธกาลเพียง  230 - 250 ปีเท่านั้น [14]  ระยะเวลาเพียงเท่านี้ การสืบค้นเสาะหาพื้นที่ ย่อมจะง่ายและได้หลักฐานแน่นอนกว่าเพราะหลักฐานร่วมสมัยหลายอย่างย่อมยังคงปรากฏอยู่จะเป็นอื่นไปไม่ได้

สถานทีค้นพบจารึกของพระเจ้าอโศกในอินเดีย-เนปาล

4.  กุดัน (Kudan)  หรือ นิโครธาราม    จากตลาดเตาลีหวา ทางทิศใต้ ระยะทางเพียง                 2  กิโลเมตรเศษไปตามถนนมุ่งสู่เนากา (ด่านอินเดีย - เนปาล)  มีบ้านชื่อว่า  กุดัน (Kudan)  และบริเวณทางด้านขวาของทางจะมีเนินดินและซากปรักหักพังของสถูปหรือวิหาร  2  แห่ง  ซึ่งก่อด้วยอิฐ และเนินสถูป  2  เนินนั้น เรียกว่า  โล-ริ-กิ-กุดัน (Lori-ki-kudan)  ตามบันทึกกล่าวว่าเป็นที่ที่พระพุทธเจ้าได้ไปพบพระพุทธบิดาครั้งแรก (ตอนเสด็จออกบิณฑบาต ในเมืองกบิลพัสดุ์) [15]   และเป็นที่กษัตริย์ศากยะ  500   พระองค์เสด็จออกผนวช  

            จากหลักฐานดังกล่าวมานี้  กุดันจะเป็นชื่อนิโครธาราม  พระอารามร่มไทรซึ่งกษัตริย์ศากยะ  พระประยูรญาติได้สร้างถวายเพื่อต้อนรับคราวเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์     วัดนิโครธารามนี้  พระพุทธเจ้าทรงให้การบรรพชา ศากยกุมารมากมาย  และทรงแสดงพระธรรมเทศนา  เทวธรรม (Laws of gods)   อีกด้วย  วัดนิโครธาราม เป็นวัดกว้างใหญ่  สามารถรับพระสงฆ์ให้อยู่อาศัยได้ไม่ต่ำกว่า  25,000 - 30,000  รูป  ระยะตั้งของวัดอยู่ห่างจากชานเมืองพอสมควร นับเป็นสถานที่สัปปายะแก่การปฏิบัติธรรม  บริเวณวัดนิโครธาราม มีสระน้ำขนาดใหญ่  1  สระ  ในหนังสือปฐมสมโพธิกถา  กล่าวเอาไว้ว่า       พระพุทธเจ้าเสด็จจากเมืองราชคฤห์พร้อมด้วยพระสงฆ์บริวาร  20,000  รูป  มาสู่นครกบิลพัสดุ์ และมาพักที่วัดนิโครธารามนี้  จากซากสถูปหรือวิหารซึ่งปรักพังเหลือแต่ฐานปรากฏ ก็ยังแสดงให้เห็นว่า เป็นวัดใหญ่ มีเสนาสนะ สิ่งก่อสร้างซึ่งมั่นคงและสวยงาม  (ดูตามลายแกะสลักที่ฐานวิหาร)  ณ ที่กุดันนี้ ไม่ปรากฏว่ากรมศิลปากรเนปาลได้ขุดพบอะไร  เป็นต้นว่า  เหรียญ หรือ อัฐิธาตุ

              หมู่บ้าน  ปิปราหวา  (Piprahwa  Villege)  ห่างออกไปทางทิศใต้ของกบิลพัสดุ์  หรือทางทิศตะวันตกเฉียงใต้  ของลุมพินี  14  กิโลเมตร  มีสถูปองค์หนึ่ง  นายดับบริว  ซี  เปปเป (Mr.  W. C.  Peppe)  ได้สำรวจและขุดค้น เมื่อเดือนมกราคม พ.. 2441 (.. 1898) [16]  ได้พบพระบรมสารีริกธาตุ  ของพระผู้มีพระภาค (พระพุทธเจ้า)  บรรจุในผอบ ซึ่งมีแผ่นจารึกเป็นอักษรพราหมี (Brahmi)  ก่อนสมัยอโศกมหาราช มีความหมายว่า

            พระบรมสารีริกธาตุของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า  ได้รับการบรรจุเอาไว้ โดยกษัตริย์ศากยะพระประยูรญาติของพระพุทธองค์ [17]

ผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ขุดจากสถูปปิปารหวา

 

                        ดังนั้น สถูปที่บ้านปิปราหวานี้ จึงเป็นสถูปที่บรรจุบรมสารีริกธาตุอันสำคัญ  1  ใน   8  แห่ง[18]  ซึ่งรับส่วนแบ่งมาจากนครกุสินารา  ครั้งถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ  และพระบรมสารีริกธาตุที่ได้จากสถูปที่ปิปราหวานี้  ท่านมาเควส  เคอร์สัน  อุปราชผู้ครองอินเดียอยู่สมัยนั้น  ซึ่งแต่ก่อน ท่านผู้นี้เคยมาอยู่ที่กรุงเทพฯ  โดยส่วนตัวมีความคุ้นเคยกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ปรารภว่า  สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินที่เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ที่มีอยู่ในโลกปัจจุบันนี้  คงมีแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียว จึงมีความประสงค์จะถวายพระบรมสารีริกธาตุนั้นแด่พระมหากษัตริย์สยาม เมืองพุทธศาสนา  และมีหนังสือกราบบังคมทูล ถวายมาให้ทราบ สมเด็จพระปิยมหาราช จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม เปรียญ)  แต่ครั้งเป็นพระยาสุขุมนัยพินิต และหลวงพินิจอักษร เป็นผู้แทนประเทศสยามเดินทางไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศอินเดีย มาไว้ที่เมืองไทย  ความทราบถึงกลุ่มประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั่วโลก ประเทศเหล่านั้นประกอบด้วยประเทศ ญี่ปุ่น พม่า ลังกา และไซบีเรีย  จึงส่งทูตมาขอส่วนแบ่งปันพระบรมสารีริกธาตุจากชาวไทย พระปิยมหาราชจึงแบ่งประทานพระบรมสารีริกธาตุให้ไปตามประสงค์ ส่วนพระสารีริกธาตุที่เหลือ ก็โปรดให้สร้างพระเจดีย์สำริดเป็นที่บรรจุ  ประกอบพิธีบรรจุในพระเจดีย์บนยอดพระบรมบรรพต(ภูเขาทอง)              วัดสระเกศ กรุงเทพฯ  เมื่อวันที่  23  พฤษภาคม 2442 (วันวิสาขบูชา) โดยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอัษฏางค์เดชาวุธ  กรมขุนนครราชสีมา เสด็จแทนพระองค์  เนื่องจากพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระประชวร [19]

            5.  สมาคมชาวพุทธนครกบิลพัสดุ์   ที่ตลาดเตาลิหวา  มีหัวหน้าตำบล  ชื่อว่า  มังคละมาลัย   วัชราจารย์  เป็นชาวพุทธโดยบรรพบุรุษ ได้รวบรวมชาวพุทธที่หลงเหลือในหมู่บ้านก่อตั้งสมาคมชาวพุทธขึ้นมา ได้เป็นหัวหน้าสมาคม ทั้งได้ร่วมกันต่อสู้เรียกร้องสิทธิของชาวพุทธจากชาวมุสลิมที่เป็นคนส่วนมากในหมู่บ้านนั้น  จนได้สิทธิ จึงสร้างพุทธวิหารประจำตลาดเตาลีหวา เอาไว้ พุทธวิหารมีเนื้อที่    2  ตารางไร่  สิ่งปลูกสร้างก็มีกุฏิที่พำนักสงฆ์  1  หลัง   วิหาร  1   หลัง   มีสระน้ำ  1  สระ    เพื่อการเผยแพร่พุทธธรรม นายมังคละมาลัย ก็ได้สร้างโรงพิมพ์มหามายาเพรส  เพื่อพิมพ์หนังสือออกเผยแพร่  เขาเสียชีวิตเมื่อ  10  ปีล่วงแล้ว  ปัจจุบัน(.. 2531) เหลือแต่ภรรยาของเขา นามว่า เฉมะ  กุมารี (Chema  Kumari)  และบุตรธิดา  สะใภ้ หลาน ๆ  อีกจำนวนหนึ่ง   พุทธวิหารนี้ ตั้งอยู่ในตลาดห่างจากบ้านอุบาสิกา เฉมะ กุมารี ราว ๆ  50 เมตร  ยังไม่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา  จากการสนทนา ทราบความประสงค์ว่า ชาวพุทธกบิลพัสดุ์ ต้องการพระภิกษุไปอยู่ประจำอย่างยิ่ง เพื่อจะได้ถวายพุทธวิหารหลังนี้แด่สงฆ์ต่อไป

 

สรุป     

            ผลแห่งการสำรวจ ด้วยการลงภาคสนาม เพื่อการพื้นฟูพระพุทธศาสนา ในดินแดนต้นกำเนิด คณะสำรวจก็มีกำลังใจว่า แม้กบิลพัสดุ์ปัจจุบัน เป็นเมืองชื่อใหม่ และคนที่นับถือศาสนาใหม่มาอาศัยอยู่ แต่ก็โชคยังดี ที่ยังเหลือพุทธศาสนิกชนผู้มั่นคงศรัทธาสืบทอดคำสอนจากบรรพบุรุษมิได้ขาดสาย  ถึงจะมีจำนวนน้อย แต่สายเลือดรักพระพุทธศาสนาฝังลึกยากที่จะล้างออกได้ ก็ได้ส่องประกายวับแวม สร้างพุทธวิหารขึ้นมาเป็นพุทธบูชา  อดีตอันรุ่งเรืองผ่านไปแล้ว การสูญสลาย ย่อมเป็นไปตามกฎสัจธรรม สรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลง หวังว่า คราวหน้าคงจะได้ไปเยือน กบิลพัสดุ์ อีกสักครั้ง

 

 



                [1] ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค, อัมพัฏฐสูตร  เล่ม 9 ข้อ 149 หน้า 120  และ พุทธทาสภิกขุ อ.ป., พุทธประวัติจากพระโอษฐ์, พิมพ์ครั้งที่ 9, (ไชยา ธรรมทานมูลนิธิ, 2523), หน้า 21.

                        [2]  V. J.  Srivastwa, Guide to Kapilavastu and Lumbini,(Varanasi :  Shri B. Dutt. Press, 1956), p.1.

                [3] ธัมมปทัฏฐกถา แปล ภาค 3 เรื่อง วิฑูฑภะ, หน้า 22.

                [4] เรื่องเดียวกัน, หน้า 32.

    [5] ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร เล่ม 10 ข้อ 236 หน้า 177 พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ.2539 (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 2539).

                [6] V. J. Srivastava,  Guide to Kapilavastu and Lumbini,  pp.  5 - 7

                [7]  พิเยนทรนาถ เชาธุรี, พุทธสถานในอินเดียโบราณ, (กรุงเทพฯ : สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย , 2514), หน้า 52.

                [8] พระวิเทศโพธิคุณ(ว.ป.วีรยุทฺโธ), สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล, (กรุงเทพฯ :  ธรรมสภาและสถาบันบันลือธรรม, 2544), หน้า 333.

                [9] อ้างแล้ว หน้า  14

                        [10]  อ้างแล้ว หน้า  4  หนังสือของดีอินเดียของหลวงวิจิตรวาทการ  กล่าวว่า  .. 942  หน้า  289

                [11]Mahapatra,  The Real Birth Place of Buddha,  p. 1

                [12] นำเที่ยวเมืองกบิลพัสดุ์ ลุมพินี,  หน้า  10 - 11

                [13] หลวงวิจิตรวาทการ,  ของดีอินเดีย,  หน้า  333, อ้างแล้ว หน้า  11  (นายวิลเลียม  แคลกตัน  เปปเป); Encyclopaedia Britainica,  p.  32

                [14] นำเที่ยวเมืองกบิลพัสดุ์ ลุมพินี,  หน้า 30

                [15]อ้างแล้วหน้า  12

                [16] วิลเลียม  แคลกตัน  เปปเป; Encyclopedia Britainica,  หน้า  32

                [17] อ้างแล้วหน้า  1

[18]  ที.มหา.10/161/159 มหาปรินิพพานสูตร, มหาพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในที่ต่างๆ 8 แห่ง ได้แก่ พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่า อชาตศัตรู เวเทหีบุตร ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาค ใน พระนครราชคฤห์ พวกกษัตริย์ลิจฉวีเมืองเวสาลี ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองเวสาลี พวกกษัตริย์ศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ ก็ได้กระทำพระสถูป และการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองกบิลพัสดุ์ พวกกษัตริย์ถูลีเมืองอัลกัปปะ ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมือง

อัลกัปปะ พวกกษัตริย์โกลิยะเมืองรามคาม ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองรามคาม พราหมณ์ผู้ครองเมืองเวฏฐทีปกะ ก็ได้ กระทำพระสถูป และการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองเวฏฐทีปกะ พวกเจ้ามัลละเมืองปาวา ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองปาวา พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลอง พระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองกุสินารา โทณพราหมณ์ ก็ได้กระทำสถูปและการฉลองตุมพะ พวกกษัตริย์โมริยะเมืองปิปผลิวัน ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระอังคารในเมืองปิปผลิวัน (พระสถูปบรรจุพระสรีระมี ๘ แห่ง เป็นเ ๙ แห่งทั้งสถูปบรรจุตุมพะ
เป็น ๑๐ แห่งทั้งพระสถูปบรรจุพระอังคาร)

                [19]  วัดสระเกศ, ประวัติวัดสระเกศ,   หน้า  10 - 11

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น