แจ้งข่าวนักศึกษา012173

วันศุกร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560

พระพุทธรูป : คติการสร้างและพิธีกรรมจากเอกสารโบราณเมืองพะเยา


          พระพุทธรูป : คติการสร้างและพิธีกรรมจากเอกสารโบราณเมืองพะเยา
              หนังสือเรื่อง “พระพุทธรูป : คติการสร้างและพิธีกรรมจากเอกสารโบราณเมืองพะเยา” เล่มนี้ เกิดจากโครงการวิจัยการสืบค้นและอนุรักษ์เอกสารคัมภีร์โบราณของวัดในจังหวัดพะเยาและการสร้างแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น ปีพ.ศ. 2559 ที่ผู้เรียบเรียงเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เมื่อเสร็จสิ้นงานอนุรักษ์เป็นระบบเรียบร้อยแล้ว เจตนาหลัก อยากให้ท้องถิ่นที่ลงไปทำการสำรวจอนุรักษ์ ได้ตระหนังถึงคุณค่าของพระธัมม์คัมภีร์และเอกสารโบราณอื่นๆ ที่เหล่าปราชญ์ล้านนาเมื่ออดีต ได้ประมวลองค์ความรู้ท้องถิ่น เช่น ตำนานประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ชุมชน สังคม ศาสนา วัฒนธรรม ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม โหราศาสตร์ พยากรณ์ศาสตร์ ตำรายา แม้กระทั้ง ตำราทางพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า คัมภีร์ธัมม์ และพิธีกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้รับการค้นคว้าขึ้นมาศึกษา ถอดองค์ความรู้เอาไว้อย่างเป็นระบบ ด้วยภาษาปัจจุบัน รวมรวมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนนั้นๆ และช่วยกันบำรุงรักษา ให้ความรู้ที่บันทึกอยู่ในเอกสารโบราณ ได้ต่อลมหายใจฟื้นมามีชีวิต สนองตอบต่อความอยากรู้อยากเห็นของอนุชนรุ่นหลังต่อไป
          เนื่องจากเมืองพะเยา เป็นเมืองโบราณ มีอายุเก่ากว่านครเชียงใหม่  ตามตำนานเมืองพะเยาระบุว่า เมืองนี้สร้างขึ้นประมาณ ปี พ.ศ. 1638 โดยขุนศรีจอมธรรม ราชบุตรขุนลาวเงิน หรือ ขุนเงิน เจ้าผู้ครองนครเงินยางเชียงแสน และสืบทอดการปกครองจนมาถึงพญางำเมือง เจ้าเมืองพะเยา  เมื่อสร้างเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 1839 พญางำเมืองแห่งเมืองพะเยา ยังมาช่วยพญามังราย คัดเลือกชัยภูมิสร้างเมือง นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่
          กาลผ่านไป เมืองพะเยาได้ประสบความเจริญและความเสื่อม บางช่วงได้เป็นเมืองร้างเพราะภัยสงคราม บ้านเมืองและวัดวาศาสนาก็ถูกทิ้งร้างห่างเหินไปนาน   พระสงฆ์และนักปราชญ์ท้องถิ่น ก็ต้องหลบหนีภัยสงคราม หลบหลีกไปอาศัยที่มีความสงบและปลอดภัย ทำให้เอกสารโบราณเมืองพะเยาที่หลงเหลืออยู่ ยากแก่การสืบค้น ว่ายังมีเก็บรักษาอยู่ในที่ใดบ้าง หลังสงครามสงบ เมื่อมีการรื้อฟื้นตั้งเมืองขึ้นมาเป็นปึกแผ่น ก็ต้องทำการฟื้นฟูบูรณะ ปฏิสังขรณ์บ้านเมืองขึ้นมา ชักชวนประชาชนให้กลับมาอยู่ สร้างวัดใหม่ บูรณะ ปฏิสังขรณ์วัดเก่า บำรุงวัดวาศาสนา นิมนต์พระสงฆ์มาฟื้นฟูศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง 
          เท่าที่คณะนักวิจัยสำรวจคัมภีร์ในเมืองพะเยา  อายุของเอกสารมากที่สุด ก็ตกอยู่ประมาณปี พ.ศ. 2309 (จ.ศ. 1128) ของวัดศรีโคมคำ คือ เรื่อง “ธรรมคำสอนมหาเถรจันทร์”  อีกคัมภีร์หนึ่ง “กฎหมายโบราณ”  จารึก  พ.ศ. 2359(จ.ศ. 1178)  คัมภีร์ที่เหลือ ส่วนมากเป็นการจารในระหว่าง ปี พ.ศ. 2395-2430  แม้จะได้พบบางคัมภีร์ที่มีอายุการจารึก ก่อนปี พ.ศ. 2330  และก่อนที่เมืองพะเยาจะเป็นเมืองร้างเพราะภัยสงคราม คงเป็นเอกสารที่ได้คืนจากผู้คนที่อพยพกลับคืนถิ่น นำมรดกภูมิปัญญาโบราณกลับคืนติดตัวมา หรือส่งคืนต้นแหล่ง ดังที่ชาวเวียงจันทน์ล้านช้าง เมื่ออพยพกลับไปเวียงจันทน์ แต่เพราะเคยมาตั้งรกรากที่เมืองพะเยา ก็ได้ส่งคืน “ตำนานพระเจ้าตนหลวง” แก่วัดศรีโคมคำ สมัย พระครูศรีวิราชวชิรปัญญา ผู้นำสงฆ์ วัดราชคฤห์  (เจ้าคณะแขวงบริเวณเมืองพะเยา พ.ศ. 2451 เมืองพะเยา) และสั่งให้ทำการคัดลอกสืบต่อมาในสมัยหลัง โดยพระสงฆ์และปราชญ์ท้องถิ่น
          ประกอบกับเมืองพะเยา เป็นเมืองแห่งช่างแกะสลักพระพุทธด้วยหินทราย ที่เราพบเห็นพระพุทธรูปหินทราย ซึ่งประดิษฐานตามวัดต่างๆ ในจังหวัดพะเยาปัจจุบัน เป็นฝีมือการแกะสลักของช่างพะเยาในอดีต มีศิลปะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถบอกได้ว่า เป็นพระพุทธรูปที่ทำจากฝีมือสกุลช่างพะเยา ส่วนมากพระพุทธรูปที่พบ จะ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พระพักตร์เป็นรูปไข่ค่อนข้างกลม พระนลาฏแคบ พระโอษฐ์เล็ก ปลายพระโอษฐ์เป็นมุมโค้งขึ้น และพระหนุเป็นปม พระวรกายไม่อวบอ้วนเหมือนศิลปะเชียงแสน ประทับนั่งเหนือกระดานเกลี้ยง หรือ ฐานเขียง
          ในเมื่อเมืองพะเยา เป็นแหล่งสกุลช่างที่สร้างพระพุทธรูปหินทราย ผู้วิจัยก็มั่นใจว่า น่าจะมีตำราว่าด้วยการสร้างพระพุทธรูป ที่กำหนดขนาด สัดส่วน รวมทั้งพิธีกรรมในการสร้าง จึงพยายาม หาตำราว่าด้วยการสร้างพระพุทธรูปที่เป็นของเมืองพะเยา แม้จะไม่พบว่าช่างพะเยาทำอย่างนี้ แต่ก็ได้พบตำราการสร้างพระพุทธรูปที่วัดเชียงหมั้น ตำบลดงเจน อำเภอภูกามยาม จังหวัดพะเยา ที่บันทึกไว้ในพับสา มีอายุเก่าแก่พอสมควร จึงได้ทำการปริวรรต และถอดสาระออกมา ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของหนังสือเล่มนี้
          ในภาพรวม ของหนังสือเล่มนี้ เริ่มจากประวัติการสำรวจพระธัมม์คัมภีร์โบราณโดยคณะต่างๆ แล้วมาถึงกระบวนการสำรวจอนุรักษ์ของคณะนักวิจัยชุดนี้ จากนั้น นำเสนอถึงพะเยาในฐานะที่เป็นแหล่งกำเนิดสกุลช่างสร้างพระพุทธรูปและแกะสลักพระพุทธรูปด้วยหินทรายว่า ในเมืองพะเยา มีพระพุทธรูปสำคัญองค์ใดบ้าง ตามด้วย คติการสร้างพระพุทธรูปของล้านนาทั่วไป ด้วยการเสนอข้อมูลจากเอกสารโบราณ ต่อจากนั้น สาระสำคัญที่สุด ก็คือ การถอดองค์ความรู้การสร้างพระพุทธรูปจาก พับก้อม ตำราสร้างพระพุทธรูปของวัดเชียงหมั้นโดยละเอียด  และนำเสนอภูมิปัญญาพะเยาว่าด้วยการบันทึกประวัติศาสตร์การสร้างพระเจ้านั่งดิน เมืองเชียงคำ และ ตำราพยากรณ์โชคชะตา ด้วย คัมภีร์เมื่อชาง ฉบับวัดไชยพรหม เมืองเชียงคำ เพื่อสร้างพระพุทธรูปเสร็จ ต้องการให้องค์พระมีอภินิหารยิ่งขึ้น ก็เสริมด้วยพิธีพุทธาภิเษก ที่ได้รายละเอียดมาจากวัดขุนคง อำเภอหางดง เชียงใหม่ 
           ขณะที่ลงมือสำรวจคัมภีร์เมืองพะเยาอยู่นั้น ก็ได้ชำระตรวจสอบไชยย์ทั้ง 7 ที่คุณเกริก อัครชิโนเรศ คัดลอกและปริวรรตมาจากเอกสารที่พบในพื้นที่ อำเภอเชียงคำ เนื้อหาสาระของบทสวดไชยย์ ก็เป็นการสรรเสริญพระพุทธคุณ คล้ายกับคำที่นำมาเป็นบทสวดในพิธีพุทธาภิเษก จึงได้ลงใส่ไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย  การสวดไชยย์นี้ ส่วนมากจะใช้สวดในพิธีสืบชะตาบ้าน ชะตาเมือง เพื่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง แต่เมื่อเกิดเภทภัยต่อบ้านเมือง เพื่อการขจัดปัดเป่าเภทภัยให้หายไป ล้านนาสมัยก่อนสวดอุปาตสันติ หรือ มหาสันติงหลวง ก็ด้วยวัตถุประสงค์คล้ายกัน
          อีกประการหนึ่ง มิใช่ผู้เรียบเรียงจะละเลยตำนานสร้างพระเจ้าตนหลวง แต่เห็นว่า ปราชญ์เมืองพะเยาท่านได้ปริวรรตและชำระมาแล้ว ด้วยความเคารพยิ่งต่อภูมิปัญญามหาปราชญ์แห่งเมืองพะเยา    จึงได้นำตำนานพระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ ที่ปริวรรตโดย พระธรรมวิมลโมลี(ปวง ธมฺมปญฺโญ)        เจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ มาลงไว้ด้วย  ตามด้วย ตำราสร้างพระเจ้า วัดเชียงหมั้น ฉบับปริวรรต ต่อท้าย
          การอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะ เอกสารโบราณยิ่งนับวันผู้คนก็ยิ่งมองไม่เห็นคุณค่า เพราะข้อจำกัดที่ตนเองอ่านภาษาล้านนาที่เป็นภาษาบรรพบุรุษไม่ได้ จึงได้จัดการสัมมนาทางวิชาการ ร่วมกับปราชญ์เมืองพะเยา และนักวิชาการด้านล้านนาหลายท่าน เพื่อแสวงหาแนวร่วมและทิศทางในการอนุรักษ์ สืบสานภูมิปัญญาพะเยา ซึ่งเสนอในหนังสือนี้แล้ว ในส่วนภาคผนวก ได้ให้คู่มือการสำรวจ อนุรักษ์คัมภีร์โบราณที่จัดเรียบเรียง เป็นแบบให้นักวิจัยเมื่อลงมาทำการวิจัยในจังหวัดพะเยา จะได้ใช้เป็นแนวทางการสำรวจพระธัมม์คัมภีร์ของนักวิชาการต่อไป
                ขอขอบพระคุณ ท่านเจ้าอาวาส ทั้ง 10 วัดที่อนุญาตให้ทำการอนุรักษ์และอำนวยความสะดวกช่วยเหลือทุกประการ ขอบคุณทีมนักวิจัยทุกท่านที่สละเวลาทำงานโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย เป็นเวลาเกือบ 2 ปี ขอขอบคุณท่านที่ปริวรรตคัมภีร์โบราณซึ่งมีรายนามบันทึกในท้ายเอกสารนั้นๆ และกราบขอบพระคุณบรรพบุรุษชาวล้านนา โดยเฉพาะชาวเมืองพะเยา ที่รักษามรดกเอาไว้อย่างดี ตกสืบทอดมาถึงชั่วลูกชั่วหลาน ให้ได้เป็นข้อมูลทำการศึกษาถึงรากเหง้าของตนโดยไม่ลำบาก ไว้ ณ โอกาสนี้
          หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือ “พระพุทธรูป : คติการสร้างและพิธีกรรมจากเอกสารโบราณเมืองพะเยาเล่มนี้ จะเป็นดุจหินเหล็กไฟที่จุดประกายความคิดให้นักวิชาการ และท่านผู้สนใจ ได้ตระหนักถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นของตน เป็นการย้อนรอยเจาะเวลาเข้าถึงรากเหง้าของตนที่มีประวัติศาสตร์อันน่าภูมิใจ และนำออกมาเผยแพร่แก่สาธารณชน หากเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ มีส่วนใดผิดพลาดโดยไม่เจตนา คงจะได้รับคำชี้แนะ เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป.
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์  
17 กันยายน 2560

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น