วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

แดนพุทธภูมิ บทที่ 7 พุทธกิจ 45 พรรษา

 

บทที่ 7

พุทธกิจ 45 พรรษา และสถานทรงจำพรรษา

(The 45 years of Buddha’s  Mission and Living Places)

           โดย 
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์

                                                                                                                                    Phisit Kotsupho

ความนำ

            ในบทนี้ จะได้นำเสนอภารกิจที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญ ที่เรียกว่า พุทธกิจ นับตั้งแต่การประกาศพระพุทธศาสนาครั้งแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน หรือ สารนาถ ในปัจจุบัน จนถึงวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ เป็นเวลา 45 พรรษาเต็ม ที่พระพุทธเจ้าทรงทุ่มเท อุทิศแรงพระวรกาย และแรงสติปัญญาในการประดิษฐานพุทธธรรมให้ตั้งมั่น ในดินแดนอินเดีย ที่สมัยนั้น เรียกว่า ชมพูทวีป พระองค์จาริกไปตามคาม นิคม เมืองน้อยเมืองใหญ่ แคว้นน้อยแคว้นใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่อินเดียตอนเหนือ รอยพระบาทที่พระเสด็จไปนั้น มิได้ทรงเหยียบย่ำไปบนความทุกข์และความเกลียดชังของชาวโลก แต่การเสด็จไปของพระองค์เพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ สร้างความสุขแก่มหาชน ตามพระอุดมการณ์ที่พระองค์ทรงมอบเป็นเข็มทิศให้พระสาวกทุกรูปได้อนุวัตรตาม จะได้ไม่หลงทาง ทำงานการเผยแผ่พระศาสนาตามเป้าหมาย  พระพุทธเจ้าเสด็จไปที่ใด ด้วยพระจริยาวัตรอันงดงาม แม้จะถูกเสียดสี  ก็ทรงอดทน อดกลั้น แก้ความเข้าใจผิดของเขาด้วยพระทัยกรุณา จึงได้รับการต้อนรับและให้ความนับถือจากมหาชนทุกหมู่เหล่า

            ชมพูทวีปในสมัยพุทธกาลมีความเจริญก้าวหน้าในด้านศาสนาและปรัชญาอย่างสูง พระพุทธเจ้าจึงเปรียบด้วยประทีปดวงใหญ่ในท่ามกลางดวงประทีปเป็นอันมาก ชนชาวชมพูทวีปรอคอยศาสดา เช่น พระพุทธองค์มานาน เมื่อบังเกิดขึ้นในโลกจริง ๆ จนมีพยานยืนยันการตรัสรู้ของพระองค์เป็นอันมาก และคนที่มายอมตนเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าในยุคแรก ล้วนเป็นคนชั้นนำในสังคมทั้งนั้นคือ คณาจารย์นักบวช พระราชา เศรษฐี ขุนนาง อำมาตย์ ข้าราชการผู้ใหญ่ การทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระองค์ จึงก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็วมาก

            ในช่วงตอนต้นพุทธกาลนั้นมีกษัตริย์ระดับมหาราช 4 ประองค์ คือพระเจ้าพิมพิสาร (แคว้นมคธ) พระเจ้าปเสนทิโกศล (แคว้นโกศล) พระเจ้าจัณฑปัชโชติ (แคว้นอวันตี) และพระเจ้าอุเทน (แคว้นวังสะ) ทรงแสดงตนเป็นอุบาสกนับถือพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้าสู่แคว้นต่าง ๆ ในชมพูทวีป การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยที่พระพุทธเจ้าไม่ได้อาศัยพระราชอำนาจของพระราชาเหล่านั้นเข้าช่วยสนับสนุน แต่พระพุทธเจ้ามีหลักการในการแสดงธรรมของพระองค์ซึ่งอาจจัดได้เป็น 4 วิธี [1] คือ

             1. ยอมรับ พระพุทธเจ้าทรงยอมรับนับถือคำสอนของนักปราชญ์ต่าง ๆ ที่มีมาก่อนหรือร่วมสมัยกับพระองค์ ในกรณีที่คำสอนนั้นเป็นเรื่องจริงในธรรม มีประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติ

             2. ปฏิวัติ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงแบบตรงกันข้าม เช่นคนในสมัยพุทธกาลถือว่า การทรมานตนให้ได้รับความลำบาก กับการแสวงหาความสุขจากกามคุณ เป็นทางแห่งความสุข ความหลุดพ้นพระพุทธเจ้าทรง ปฎิเสธตั้งแต่พระธรรมเทศนาครั้งแรกว่าเป็น หนทางที่บรรพชิตไม่ควรเสพ หรือเขาถือว่าการทรมานตนเป็นตบะ แต่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าขันติเป็นบรมตบะ เขาสอนว่า การอยู่ร่วมกับปรมาตมัน บรมพรม พระพรหมว่าเป็นบรมธรรม พระบรมศาสดาทรงแสดงว่า นิพพานเป็นบรมธรรม

             3. ปฏิรูป คือการเปลี่ยนแปลงหลักการ เจตจำนง และวิธีการที่มีอยู่ก่อนแล้ว อย่างเช่น เรื่องการจำพรรษา การลงอุโปสถเป็นข้อปฏิบัติที่ทำกันมาก่อน พระพุทธเจ้าทรงปฏิรูป คือการเปลี่ยนแปลงหลักการเจตจำนง และวิธีการที่มีอยู่ก่อนแล้ว อย่างเช่น เรื่องการจำพรรษา การลงอุโบสถเป็นข้อปฏิบัติที่ทำกันมาก่อน พระพุทธศาสนาว่าภิกษุ สมณะ บรรพชิต นักบวช เป็นต้น ทรงปฏิรูปโดยนิยามความหมายเสียใหม่เพราะการเผยแผ่ศาสนาจำต้องอาศัยถ้อยคำที่เขาพูดกันในสมัยนั้นจึงต้องใช้ตามโดยการนิยามความหมายเสียใหม่ คำในพระพุทธศาสนาเป็นอันมากที่ทรงแสดงจึงต้องมีการไขความให้เข้าใจตามหลักของพระพุทธศาสนา หลักการปฏิรูปจึงหมายถึงการกระทำความเชื่อนั้น ๆ มีส่วนดีอยู่บ้าง แต่ยังมีความบกพร่องอยู่ จึงทรงปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติสมบูรณ์ขึ้น

             4. หลักการใหม่ พระพุทธเจ้าทรงตั้งหลักการขึ้นใหม่ คือเรืองนี้ไม่มีการสั่งสอนกันในสมัยนั้นเช่น หลักอริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาท อนัตตา นิพพาน เป็นต้น

            ด้วยปฏิปทาที่กล่าวมา เสียงสรรเสริญพระพุทธคุณ จึงแพร่ขจรขจาย ทั้งตามลมและทวนลม สมเป็นพระศาสดาเอกของโลก กิติศัพท์ของพระองค์ มีดังนี้

พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์   ทรงตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงบรรลุวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก ทรงเป็นสารถีฝึกบุคคลทีควรฝึกไม่มีใครยิ่งกว่า ทรงเป็นศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเป็นพุทธ เป็นผู้จำแนกธรรม พระองค์ทรงทำให้โลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก และพรหมโลกให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทพ ให้รู้แจ้งธรรม ที่งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามในที่สุด  ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถะ และพยัญชนะ ครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์[2]

            กว่าจะได้รับการสรรเสริญเช่นนี้ มิใช่เกิดขึ้น เพาะการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ ใช้สื่ออย่างปัจจุบัน  แต่เกิดจากคำบอกเล่าของผู้ที่พบและเฝ้าพระองค์ ดื่มด่ำในพระธรรมเทศนา จากปากสู่ปาก เกิดจากพุทธจริยาที่เอื้อสงเคราะห์ต่อชาวโลก อย่างแท้จริง มาดูกันว่า พระพุทธเจ้า ทำอะไร ที่ไหน กับใคร หากจะนำมาเล่าทั้งหมด หนังสือเพียงบทเดียวนี้ไม่อาจบรรจุเนื้อความได้หมด เห็นจะขอเล่าย่อๆ พอให้เห็นพระปฏิปทา และพุทธกิจในช่วงที่ทรงมีพระชนม์ชีพ

             พระองค์ทรงย่ำพระบาทไปครอบคลุมพื้นที่เกือบ 1 ใน 3 ของดินแดนชมพูทวีปสมัยนั้นที่การคมนาคมสัญจรยังต้องอาศัยพระบาทเปล่าและกำลังพระชงฆ์เป็นหลัก แม้จะมีทางสัญจรด้วยหมู่เกวียน ทางน้ำด้วยนาวา แต่หลักฐานที่ปรากฏในพระไตรปิฎก พบน้อยมากที่พระพุทธเจ้าทรงอาศัยยานพาหนะเป็นเครื่องทุนแรง สงวนพระกำลังในการเสด็จประกาศพระศาสนา

แผนที่ 16 มหารัฐโบราณ ของอินเดีย

 

 

มหาชนบท 16 ในสมัยพุทธกาล

            ชมพูทวีป เป็นประเทศใหญ่ มีอาณาเขตกว้างขวาง ครอบคลุมพื้นที่หลายประเทศในปัจจุบัน  นับแต่ ประเทศอาฟกานิสถาน ปากีสถาน เนปาล อินเดีย บังคลาเทศ ในสมัยพุทธกาล แบ่งการปกครองออกเป็น มหารัฐ  หรือ มหาชนบท 16  รัฐ และอนุรัฐที่ปกครองตนเอง แต่บางคราวก็เป็นเมืองขึ้นของมหารัฐ อีก 7 รัฐตามแต่สถานะและโอกาส 

            มหาชนบท  หมายถึง แคว้นขนาดใหญ่ หรือมหารัฐ 16 รัฐ มีเมืองหลวงตามที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ปัจจุบันตั้งอยู่ในส่วนต่างๆของชมพูทวีปไล่ตามลำดับอักษร [3]ดังนี้

             1. แคว้นกัมโพชะ เมืองหลวงชื่อ ทวารกะ  ตั้งอยู่เหนือแคว้นคันธาระ เหนือสุดของชมพูทวีป ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศอัฟกานิสถาน เมืองใหม่ชื่อกันดาหาร
             2. แคว้นกาสี เมืองหลวงชื่อ พาราณสี ปัจจุบันเรียกว่า วาราณสี ตั้งอยู่ตอนบรรจบของแม่น้ำคงคาและยมุนา ตั้งอยู่เหนือแคว้นมคธ อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ ของแคว้นโกศล มีแคว้นวัชชีและแคว้นวิเทหะอยู่ทางตะวันออก มีแคว้นวังสะอยู่ทางตะวันตก ในสมัยพุทธกาลแคว้นกาสีถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นโกศล ปัจจุบันขั้นอยู่กับรัฐอุตตรประเทศ
             3. แคว้นกุรุ เมืองหลวงชื่อ อินทปัตถะ ตั้งอยู่บนลุ่มแม่น้ำยมุนาตอนบนอยู่เหนือแคว้นมัจฉะ สุรเสนะ และปัญจาละ ปัจจุบันเป็นดินแดนในรัฐปัญจาบ รัฐหรายนะบางส่วน และครอบพื้นที่กรุงเดลลี นครหลวงของประเทศอินเดีย
             4. แคว้นโกศล เมืองหลวงชื่อ สาวัตถี (สราวัสตี Sravasti) ตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขาหิมาลัยกับแม่น้ำคงคาตอนกลาง ทิศเหนือจดภูเขาหิมาลัยตะวันตก ทิศใต้จดแม่น้ำคงคา ทิศตะวันออกจดแคว้นกาสีต่อกับแคว้นมคธ สมัยนี้ คือดินแดนของรัฐอุตตรประเทศในปัจจุบัน  ซากเมืองสาวัตถีเก่า บัดนี้เรียกว่า สาเหต-มะเหต ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำอจิรวดีหรือราปติ ห่างจากเมืองอโยธยาไปทางทิศเหนือประมาณ 80 กิโลเมตร และห่างจากเขตแดนประเทศเนปาลทางทิศใต้ประมาณ 50 กิโลเมตร

             5. แคว้นคันธาระ เมืองหลวงชื่อ ตักศิลา ตั้งอยู่ทางลุ่มแม่น้ำสินธุตอนบน อยู่ทางเหนือสุดของชมพูทวีป มีเพียงแคว้นกัมโพชะอยู่เหนือขึ้นไป นครหลวงชื่อตักศิลา ปัจจุบันเป็นดินแดนนี้อยู่ในพรมแดนทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ตรงกับรัฐปัญจาบภาคเหนือ อยู่ติดกับแคว้นกัษมีระหรือแคชเมียร์ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในดินแดนประเทศปากีสถาน
             6. แคว้นเจตี เมืองหลวงชื่อ โสตถิวดี ตั้งอยู่ลุ่มแม่น้ำคงคา ติดต่อกับแคว้นวังสะทางทิศตะวันออก มีแคว้นอวันตีอยู่ทางทิศตะวันตก
             7. แคว้นปัญจาละ เมืองหลวงชื่อ กัมปิลละ ตั้งอยู่ลุ่มแม่น้ำคงคาตอนบน มีแม่น้ำภาคีรถีซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำคงคาตอนบนไหลผ่าน มีแคว้นโกศลอยู่ทางทิศตะวันออก มีแคว้นกุรุอยู่ทางทิศตะวันตก ภูเขาหิมาลัยอยู่ทางทิศเหนือแม่น้ำคงคาอยู่ทางทิศใต้ เมืองหลวงของแคว้นนี้เดิมชื่อ หัสดินาปุระหรือหัสดินต่อมาจึงแยกไปตั้งนครหลวงใหม่คือกัมปิลละตั้งอยู่เหนือแม่น้ำคงคา ถัดลงมาถึงเมืองสังกัสสะ และถึงเมืองกันยากุพชะ บัดนี้เรียกว่ากะเนาซ์ปัจจบันดินแดนแห่งนี้ อยู่ราวเมืองอัคระ(Agra)
             8. แคว้นมคธ เมืองหลวงชื่อ ราชคฤห์  หรือ ราชคีร์ (Rajgir) ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ใต้แม่น้ำคงคาตอนกลางมีแม่น้ำคงคาอยู่ห่างทิศเหนือ มีภูเขาวินธัยอยู่ทางทิศใต้และทิศตะวันตก อยู่ระหว่างแม่น้ำโสน(Sone)กับแคว้นอังคะ   ราชคฤห์ อยู่ในเขตภูเขา 5 ลูกล้อมรอบคือ ภูเขาคิชกูฏ อิสิคิสิ ปัพภาระ เวภาระ และเวปุลละเรียกว่าเบญจคีรีนคร ต่อมาพระเจ้าอุทัยนัดดาของพระเจ้าอชาตศัตรูได้ย้ายนครหลวงไปที่เมืองปาฏลีบุตร บนฝั่งแม่น้ำคงคา เหนือเมืองราชคฤห์ขึ้นไป ดินแดนแถบนี้ ปัจจุบัน คือ รัฐพิหาร        ราชคฤห์ห่างจากเมืองปาฏลีบุตร หรือ ปัตนะ เมืองหลวงปัจจุบันรัฐพิหารไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 65 กิโลเมตร

             9. แคว้นมัจฉะ เมืองหลวงชื่อ วิราฎะ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสินธุกับยมุนาตอนบน มีแคว้นโกศลอยู่ทางทิศตะวันออก มีแคว้นกุรุอยู่ทางทิศเหนือ มีแคว้นสุรเสนะ อยู่ทางทิศใต้

             10. แคว้นมัลละ เมืองหลวงชื่อ กุสาวดี  แต่ภายหลังแยกเป็นกุสินาราและปาวา) ตั้งอยู่ถัดจากแคว้นโกศลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ทางเหนือของแคว้นวัชชี และทางทิศตะวันออกของแคว้นสักกะ  นครปาวา นครกุสินารา ตั้งอยู่ในจุดบรรจบของแม่น้ำราปติและคันถัก ส่วนนครปาวาอยู่ระหว่างนครกุสินารากับนครเวสาลีเมืองหลวงของแคว้นวัชชี กุสินาราอยู่ในเขตประเทศอินเดียเหนือ ติดกับประเทศเนปาล เรียกว่าเมืองกาเซีย(Kasia)  ส่วนปาวา คือ เมืองปัทระโอนะ
             11. แคว้นวังสะ เมืองหลวงชื่อ โกสัมพี ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของแม่น้ำยมุนา ทิศใต้ของแคว้นโกศล และทางทิศตะวันตกของแคว้นกาสี ปัจจุบันโกสัมพี เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ชื่อว่า โกสัมอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองอัลลาหะบัด(Allahabad) รัฐอุตตรประเทศ

             12. แคว้นวัชชี เมืองหลวงชื่อ เวสาลี ตั้งอยู่บนฝั่งทิศตะวันออกของแม่น้ำคันถัก ทางทิศตะวันออกของแคว้นมัลละ ทางทิศเหนือของแคว้นมคธ นครหลวงชื่อ เวสาลี หรือ ไพศาลี ปัจจุบันเรียกว่า เบสาห์ อยู่ห่างจากเมืองปัตนะไปทางทิศเหนือประมาณ 45 กิโลเมตร
             13. แคว้นสุระเสนะ เมืองหลวงชื่อ มถุรา ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสินธุกับยมุนาตอนล่าง ตั้งอยู่ทางใต้ของแคว้นกุรุ อยู่ทางทิศตะวันออก แคว้นปัญจาละ ปัจจุบันดินอยู่ในพื้นที่ของรัฐราชสถาน มถุรา ตั้งอยู่ในพื้นที่เมือง มัตตรา

             14. แคว้นอวันตี เมืองหลวงชื่อ อุชเชนี หรือ แคว้นมาลวะ ตั้งอยู่เหนือภูเขาวินธัย ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของแคว้นอัสสกะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของแคว้นวังสะ บัดนี้คือเมืองอุชเชน(Ujjain)

             15. แคว้นอังคะ เมืองหลวงชื่อ จัมปา ตั้งอยู่ปลายเหนือฝั่งขวาแม่น้ำคงคา ทางทิศตะวันออกของแคว้นมคธ มีแม่น้ำจัมปากั้นแดน ปัจจุบันอยู่ในรัฐเบงคอลตะวันตก นครจัมปา ปัจจุบันเรียกว่า ภคัลปูร์(Bhagalpur)

             16. แคว้นอัสสกะ เมืองหลวงชื่อ โปตลิ หรือโปตละ ตั้งอยู่ลุ่มแม่น้ำโคธาวรี ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้นอวันตี อยู่ติดแนวของดินแดนทักขิณาบถ คือ เมืองแถบใต้
                                     

ในสมัยพุทธกาล อนุชนบทหรืออนุอาณาจักร แคว้นเล็กแคว้นน้อยที่ปกครองตนเองอิสระมีชื่อปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาหลายแคว้น คือ

             1. แคว้นโกลิยะ เมืองหลวงชื่อ เทวทหะ (รามคาม) ปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาล ติดกับอุตตรประเทศ ผู้เขียนได้เล่าเรื่องเมืองเทวทหะไว้ก่อนหน้าแล้ว
             2. แคว้นภัคคะ เมืองหลวงชื่อ สุงสุมารคีระ
             3. แคว้นมัททะ เมืองหลวงชื่อ สาคละ ในเวสสันดรชาดก เป็นเมืองของพระนางมัทรี มเหสีพระเวสันดร
             4. แคว้นวิเทหะ เมืองหลวงชื่อ มิถิลา ชื่อนี้ปรากฏในมโหสถชาดก ที่พระเจ้าวิเทหราช รับมโหสถกุมารเข้าเป็นราชบัณฑิตแต่เด็ก ต่อมามโหสถบัณฑิตก็ได้เป็นเสนาบดีผู้สำเร็จราชการ

             5. แคว้นสักกะ เมืองหลวงชื่อ กบิลพัสดุ์ ปัจจุบันอยู่ในเนปาลติดพรมแดนอินเดีย ห่างจากพรมแดนราว 10 กิโลเมตรได้เล่าไว้ในตอนแรกของหนังสือเล่มนี้แล้ว
             6. แคว้นสุนาปรันตะ เมืองหลวงชื่อ สุปปารกะ
             7. แคว้นอังคุตตราปะ เมืองหลวงเป็นเพียงนิคมชื่ออาปณะ

 

ในหนังสือพุทธประวัติ เล่าตอนประสูติ สามารถดำเนินได้ 7 ก้าว หมายถึงหลังการตรัสรู้ จะประกาศพระพุทธศาสนาไปได้ 7 แคว้น ครั้นตรัสรู้แล้ว มาตามรอยบาทพระพุทธเจ้าดูว่าพระองค์เสด็จไปแคว้นใดบ้างด้วยพระองค์เอง  ก็พบว่า มีแคว้นใหญ่ต่างๆ มากกว่า 7 แคว้น เช่น 1. มคธ  2.  กาสี  3. โกศล 4. วัชชี  5. มัลละ 6. วังสะ  7.สุรเสนะ  8. อังคะ 9. มัจฉะ  10. กุรุ และแคว้นเล็กๆ ก็มี 11. สักกะ 12. โกลิยะ 13. วิเทหะ  14.  ภัคคะ  ส่วนการเผยแผ่พระศาสนา ปรากฏว่า แผ่ไปอีกหลายแคว้น ในสมัยพระพุทธเจ้า โดยพระสาวก คือ อวันตี พระมหากัจจายนะโปรดพระเจ้าจันทปัชชติ แคว้นเจดีย์  แคว้นอัสสกะ ที่พราหมณ์พาวรี ส่งลูกศิษย์ 16 คนมาถามปัญหา  และแคว้นปัญจาละ

แผนที่อินเดียปัจจุบัน

 

พุทธกิจ 5 ประการ

            ตามตำนานเล่าว่าพระพุทธเจ้าทรงงานหนักตลอดวันและคืน มิได้เห็นแก่ความสบาย เสวยน้อย บรรทมน้อย เวลาทรงพักผ่อนก็มีน้อย แต่ทรงบำเพ็ญพุทธกิจมาก พระพุทธองค์ทรงบริหารเวลาอย่างเป็นระบบ ตลอดวัน ตอนเช้าหลังเสวยอาหารบิณฑบาต  ก็เป็นเวลาต้องทรงต้อนรับอาคันตุกะ ผู้มาเยือนอยู่เนืองๆ หลังเที่ยงเป็นเวลาพักผ่อนเจริญวิหารธรรม ตอนบ่ายพบประชาชน ตอนต่ำให้พระสงฆ์เข้าเฝ้า กลางคืนให้โอกาสอิสรชนเข้าพบเพื่อแลกเปลี่ยนสนทนา ดังนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา แสดงพุทธกิจประจำวันของพระพุทธเจ้าว่า มีถึง 5 ประการ คือ

              1. ปุพฺพณฺเห ปณฺฑปาตญฺจ ตอนเช้า เสด็จออกบิณฑบาตโปรดสัตว์  แม้ในคราวที่เสด็จนิวัติเยือนนครกบิลพัสดุ์ เพราะพระราชบิดามิได้อาราธนารับอาหารเช้าที่ราชวัง  พระพุทธเจ้า พร้อมเหล่าสาวกจึงเสด็จออกบิณฑบาต ทำให้พระบิดาทรงโทมนัสมาก ว่าทำตนเป็นคนขอทาน ผิดประเพณีกษัตริย์  แต่พระพุทธเจ้าตรัสให้สบายพระทัยว่า การออกบิณฑบาต เป็นพุทธประเพณี และการออกบิณฑบาต ก็ถือโอกาสโปรดสัตว์ไปด้วย ตัวอย่างมีมากปรากฏในพระไตรปิฎก
                2. สายณฺเห ธมฺมเทสนํ ตอบบ่าย ทรงแสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชนที่มาเฝ้า ณ ที่ประทับ
ซึ่งปรากฏว่าไม่ว่าพระองค์จะประทับอยู่ที่ใด ประชาชนทุกหมู่ทุกเหล่าตลอดถึงผู้ปกครองนคร เจ้าแคว้นจะชวนกันมาเฝ้าเพื่อสดับพระธรรมเทศนาทุกวันมิได้ขาด อย่างที่ปรากฏในวัดเชตวัน เพลาเย็น ฝูงชนจะถือดอกไม้ น้ำปานะ เข้าไปวัด เพื่อฟังพระธรรมเทศนาจนหนาแน่น  ทำให้นักบวชนอกศาสนาอิจฉา หาทางทำลายป้ายสี ด้วยแผนปัจจุบันที่เรียกว่า นารีพิฆาต  โดยส่งไส้สึก อย่างนางจิญจมาณวิกา และนางสุนทรี แกล้งทำท่าเข้าวัดในตอนเย็น สวนทางกับมหาชนที่ทยอยกันกลับบ้าน เมื่อถูกถามว่าจะไปไหน ก็บอกว่าตนจะเข้าวัดเช่นกัน แต่แอบเลยออกไปนอนค้างที่สำนักเดียรถีย์ เมื่อตอนเช้า ก็ออกมาสวนทางฝูงชนที่เข้าวัดไปถวายอาหารบิณฑบาต เมื่อถูกถามว่าเมือคืนอยู่ที่ไหน ก็พูดใบ้เป็นทำนองว่า อยู่ที่วัด เป็นการสร้างความแคลงใจแก่ชาวบ้าน   ต่อมานางจิญจมาณวิกาก็กล่าวโจทย์ว่า ตนมีครรภ์กับพระพุทธเจ้า ในท่ามกลางมหาสมาคมที่วัดพระเชตวันเมืองสาวัตถี อีกกรณีหนึ่ง นางสุนทรี ถูกพวกทำฆาตกรรม ซ่อนศพที่กองดอกไม้ที่วัด แล้วทำท่าว่า สาวิกาสุนทรีของตนหายตัวไป จึงเที่ยวค้นหา และไปพบศพนางสุนทรีที่กองดอกไม้หลังวัดพระเชตวัน ก็เลยใส่ความกล่าวว่า สาวกพระพุทธเจ้าฆ่าปิดปากนางสุนทรีเสีย เพื่อปกปิดความชั่วพระศาสดาของตน
                3. ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ ตอนเย็น ทรงเเสดงโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ที่พำนักอยู่กับพระองค์  บางวันก็มีภิกษุจากที่อื่นมาสมทบด้วยเป็นจำนวนมาก การให้โอวาทพระสงฆ์ ก็เพื่อให้คำแนะนำในการปฏิบัติด้วยการมอบหลักปฏิบัติกรรมฐานเป็นเรื่องเฉพาะองค์จะได้นำไปปฏิบัติ หรือเพื่อรับฟังความก้าวหน้าผลการปฏิบัติของสาวกที่ไปปฏิบัติมา ว่าได้ผลหรือไม่ประการใด หากผิดพลาดในขั้นตอนใด พระพุทธองค์จะทรงแก้ไขให้ หากได้ผลพระพุทธองค์จะทรงยกย่องให้ปรากฏเป็นแบบอย่างที่พระสงฆ์รูปอื่นจะได้เอาอย่าง  ตัวอย่าง กรณีที่พระพุทธเจ้า เสด็จอยู่ที่ชีวกัมพวัน ทรงให้โอวาทพระสงฆ์จำนวนหลายร้อยนั่งฟังอย่างสงบ ไม่มีเสียอึกทึกทั้งที่คนจำนวนหลายร้อยนั่งประชุมกัน จนพระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จไปเฝ้าเพื่อทูลถามปัญหาคาใจเพราะการทำปิตุฆาต ก็ยังรู้สึกเสียวว่า หมอชีวก โกมารภัจจ์ลวงพระองค์มาปลงพระชนม์เสียกระมัง แต่ เมื่อเสด็จไปจนถึง ก็พบว่าพระพุทธเจ้ากำลังให้โอวาทพระสงฆ์จริงๆ   
                4. อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ ตอนเที่ยงคืน ทรงแก้ปัญหาหรือตอบปัญหาเทวดา หมายถึง เทพพวกต่าง ๆ หรือกษัตริย์ซึ่งเป็นสมมติเทพผู้สงสัยในปัญหาทั่วไป หรือปัญหาธรรมจะมาเข้าเฝ้า ดังตัวอย่างในเรื่องมงคลสูตร ที่เทวดาในแดนดาวดึงส์ ต่างถกเถียงกันว่า อะไรเป็นมงคล  หลายท่านเห็นว่า สิ่งที่เห็น ย่อมเป็นมงคล(ทิฏฐมงคล) หลายท่านเห็นว่า สิ่งที่ฟังย่อมเป็นมงคล(สุตตมงคล) ส่วนอีกหลายท่านเห็นว่า สิ่งที่ได้รู้ย่อมเป็นมงคล(มุตตมงคล)  เถียงกันอยู่ 12 ปี ก็ไม่เป็นอันยุติ จึงส่งเทวดาให้เป็นตัวแทนมาถามเรื่องมงคล กะพระพุทธเจ้าที่พระเชตวัน ในเวลาประมาณเที่ยงคืน พระองค์จึงแสดงมงคล 38 ประการ ให้ฟัง (ผู้ใดสนใจรายละเอียด โปรดอ่านจากหนังสือเรื่องมงคล 38 มีนักปราชญ์อธิบายขยายความไว้หลากสำนวน น่าอ่านทั้งนั้น)

               5. ปจฺจูเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ ตอนเช้ามืด จวนสว่าง ทรงแผ่ข่ายพระญาณ(ญาณชาลํ)  พิจารณาสัตว์โลกผู้มีอุปนิสัยที่พระองค์จะเสด็จไปโปรดได้ เช่น เห็นโอกาสที่จะต้องไปโปรดโจรองคุลีมาล หากไม่ไปเขาจะทำมาตุฆาต เสื่อมจากมรรคผลที่ควรบรรลุในชาตินี้   จึงทรงอนุเคราะห์เสด็จไปโปรดแต่เช้าตรู่ ก่อนที่มารดาองคุลิมาลจะไปถึง  จนองคุลิมาลละทางชั่วมาบวช ปฏิบัติตามโอวาทจนบรรลุพระอรหัตต์  อีกตัวอย่างหนึ่ง ทรงเห็นอุปนิสัยของนางทาสีคนหนึ่งนามว่า ปุณณาทาสี ว่าจะได้บรรลุธรรม หากพระองค์เสด็จไปโปรด และพระองค์เสด็จไปบิณฑบาตรับอาหารเพียงแป้งข้าวจี่ ที่นางทาสีเตรียมเป็นอาหารเช้าของนาง แต่เมื่อนางได้เห็นพระพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใส จึงตัดใจอดอาหารเช้าของตน นำแป้งข้าวจี่มาใส่บาตรถวาย ส่วนนางก็กริ่งเกรงใจว่า พระพุทธเจ้ามักจะได้รับบิณฑบาต รสเลิศจากคนมั่งมี พระองค์คงจะไม่ฉันอาหารชนิดเลวที่ตนถวายเป็นแน่  พระพุทธเจ้าทราบวาระจิตนางจึงสั่งพระอานนท์ให้ปูผ้าสังฆาฏิ รองเป็นที่ประทับ ทรงนั่งเสวยแป้งข้าวจี่ต่อหน้านางปุณณาทาสี  นางทาสีเห็นเช่นนั้นก็ปลื้มใจมาก และพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรด นางปุณณาทาสีก็ได้บรรลุธรรม

 

 พุทธกิจ 45 พรรษา และสถานที่ทรงจำพรรษา

            ในระหว่างเวลา 45 ปีแห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับจำพรรษา
ณ สถานที่ต่างๆ ซึ่งท่านได้ประมวลไว้ พร้อมทั้งเหตุการณ์สำคัญบางอย่างอันควรสังเกตจดจำดังนี้  

พรรษาที่ 1 จำพรรษาที่อิสิปตนมฤคทายวัน

            พุทธกิจ คือ โปรดเบญจวัคคีย์ สังฆรัตนะ เกิดขึ้นครั้งแรกในโลก โปรดพระยสะ และสหาย 54 คน  ครั้นออกพรรษา  ส่งสาวก 60 รูปไปประกาศศาสนา  อนุญาตให้บวชกุลบุตร ได้โดยวิธีติสรณคมนูปสัมปทา พระองค์ก็เดินทาง มุ่งสู่แคว้นมคธ ระหว่างทาง โปรดภัททวัคคีย์ 30 รูป 

พรรษาที่ 2 จำพรรษาที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์

            เหตุการณ์สำคัญ คือ หลังออกพรรษาแรก ที่อิสิปตนมฤคทายวัน ก่อนจำพรรษา ที่ 2 เสด็จไปพุทธคยา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม โปรดชฎิลสามพี่น้องพร้อมบริวาร 1,000 บวชเป็นเอหิภิกขุ 1,003 รูป แสดงอาทิตตปริยายสูตร โปรดปุราณชฎิล สำเร็จพระอรหันต์หมด เสด็จไปนครราชคฤห์ พักที่ ลัฏฐิวัน สวนตาล โปรดชาวเมืองราชคฤห์และพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระโสดาบัน  

            พระเจ้าพิมพิสารถวายวัดเวฬุวัน(สวนไผ่) เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา ทรงอนุญาตให้พระสาวกรับอาราม(วัด)ที่มีผู้ถวายได้

            ได้พระอัครสาวก อุปติสสะ(พระสารีบตุร)และโกลิตะ(พระโมคคัลาน์) พร้อมด้วยบริวาร 250 คน  มาบวช บรรรลุเป็นพระอรหันต์ ทรงอนุญาตการอุปสมบทแด่พระมหากัสสปะด้วยการประทานโอวาท 3 ข้อ (หากนับจำนวนพระสงฆ์ปีแรกจะได้ จำนวน 1346 รูป (60 + 30 + 1,003 + 252 + 1) แต่แยกย้ายกันไปประกาศพระพุทธศาสนา

            ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ในวันเพ็ญเดือน 3 เป็นจาตุรงคสันนิบาต หลังการตรัสรู้ 9 เดือน มีพระสงฆ์มาประชุมมิได้นัดหมาย 1,250 รูป ที่วัดเวฬุวัน นครราชคฤห์ เป็นจุดเริ่มของวันมาฆบูชาในพระพุทธศาสนา

พรรษาที่ 3  คงจำพรรษาที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์

            มีเหตุการณ์เกิดขึ้นดังนี้     หลังออกพรรษาที่ 2 พระกาฬุทายี ทูตจากพระเจ้สุทโธทนะ อัญเชิญพระกระแสจากพระราชบิดาอาราธนาเสด็จเยือนกบิลพัสดุ์ พระองค์เสด็จนิวัติไปกบิลพัสดุ์ครั้งแรก พักที่นิโครธาราม เหล่ากุมารศากยะ ออกผนวช มาก เจ้าชายนันทะ ก็ออกผนวช ในวันอภิเษกสมรสของพระองค์  รวมกุมาร  6 องค์ พระอนุรุทธ พระอานนท์ พระภัคคุ พระกิมพิละ พระภัททิยะ           พระเทวทัตต์ และนายช่างกัลบก 1 คือ พระอุบาลี ออกบวช โปรดพระพุทธบิดา บรรลุโสดาปัตติผล

            ราหุล ได้บรรพชาเป็นสามเณรรูปแรก พระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์   (หากนับปีตามนี้ สามาเณรราหุลบรรพชา หลังจากตรัสรู้พรรษาที่ 2 จะมีอายุ เต็ม 8 ขวบ นั่น คือ 6 + 2 = 8 ) 

            ราชคฤหเศรษฐี ขอสร้างเสนาสนะถวายสงฆ์ เป็นที่พำนักถาวร  อนุญาตเภสัช 5 ชนิด และภัตร ประเภทต่างๆ

            อนุญาตการอุปสมบทโดยวิธีญัตติจตุตถกรรมวาจา พระสารีบุตรบวชให้ราธะพราหมณ์เป็นรูปแรก

            อนุญาตวันประชุมสงฆ์ และแสดงธรรมใน 14 คํ่า 15 คํ่า และ 8 คํ่า ของข้างขึ้นและข้างแรม

            อนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้ฟังธรรมเป็นอุบาสก ถวายพระเชตวัน ที่นครสาวัตถี

 

พรรษาที่ 4 คงจำพรรษาที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์

            มีเหตุการณ์เกิดขึ้นดังนี้    ทรงโปรดหมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นพระโสดาบัน และถวายชีวกัมพวัน อีกวัดหนึ่ง  ทรงอนุญาตผ้าไตรจีวร 3 ผืน ผ้าทำจีวรได้ 6 ชนิด

            ออกพรรษา เสด็จกลับไปนครกบิลพัสดุ์ ครั้งที่ 2 เพื่อเทศน์โปรดพุทธบิดาที่ประชวรหนัก  สำเร็จพระอรหันต์และนิพพาน และถวายเพลิงพระบรมศพจนเสร็จ

 

 

พรรษาที่ 5 จำพรรษาที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน นอกเมืองเวสาลี

            มีเหตุการณ์เกิดขึ้น ดังนี้ หลังการสิ้นพระชนม์พระเจ้าสุทโธทนะ พระนางประชาบดีโคตมี พร้อมเหล่าสากิยานีถือเพศนักบวช เสด็จตามมาขออนุญาตบวช พระพุทธเจ้าประทานคุรุธรรม 8 ประการเป็นเงื่อนไขของการบวช พระนางปชาบดีโคตมีบวชเป็นภิกษุณีองค์แรก แล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์

            พระนางยโสธราบวชในสำนักพระนางประชาบดีเถรี บรรลุเป็นพระอรหันต์   นางรูปนันทา บวชตามหมู่ญาติ ทรงแสดงธรรมโปรด สำเร็จเป็นพระอรหันต์

            ออกพรรษา เสด็จไปภัททิยนคร แคว้นอังคะ โปรดเมณฑกะเศรษฐี ธนัญชัยเศรษฐี นางวิสาขาและหมู่ญาติ เป็นพระโสดาบัน ทรงอนุญาตโครสทั้ง 5 ทรงอนุญาตน้ำปานะ (นํ้าผลไม้ทุกชนิด เว้นนํ้าข้าวเปลือก) นํ้าใบไม้ทุกชนิด(เว้นนํ้าผักดอง) นํ้าดอกไม้ทุกชนิด(เว้นนํ้าดอกมะซาง) นํ้าอ้อยสด ทรงอนุญาตให้ฉันผักสดทุกชนิด และของขบฉันที่ทำด้วยแป้ง ให้ฉันผลไม้ได้ทุกชนิด

            ทรงแสดงหลักมหาปเทส 4 สิ่งที่ควรและไม่ควรสำหรับสงฆ์

พรรษาที่ 6 จำพรรษาที่ มกุลบรรพต  แคว้นมคธ

            เหตุการณ์สำคัญ คือ พระปิณโฑลภารทวาชะ แสดงฤทธิ์ เหาะไปรับบาตรไม้ที่ห้อยไว้บนยอดเสาสูง ตามเงื่อนไขของราชคฤห์เศรษฐี  พระพุทธเจ้าทรงห้ามพระภิกษุแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เหล่าเดียรถีย์ ท้าแข่งขันการแสดงฤทธิ์ พระองค์ตรัสว่า จะแสดงยมกปาฏิหาริย์เอง

            ออกพรรษา เดียรถีย์สร้างสำนักหลังวัดเชตวัน พระเจ้าปเสนทิโกศล เปลี่ยนเป็นสร้างอารามสำหรับภิกษุณี เรียกราชการาม เพ็ญเดือน 8 แสดงยมกปาฏิหาริย์ ที่คัณฑามพฤกษ์  นอกเมืองสาวัตถี

พรรษาที่ 7  จำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

            เหตุการณ์สำคัญ คือ ทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดาตลอดไตรมาสจนบรรลุเป็นพระโสดาบัน วันออกพรรษา แรม 1 ค่ำ เดือน 11 เสด็จลงจากชั้นดาวดึงส์ ที่ประตูเมืองสังกัสสะ ปัจจุบันอยู่ใกล้เมือง อาลิกาห์  เรียกว่า วันเทโวโรหนะ

            เสด็จกรุงสาวัตถี พำนักที่วัดเชตวัน นางจิญจมาณวิกา ใส่ความพระพุทธเจ้าว่ามีครรภ์กับตน ไม่รับผิดชอบ   ความจริงเปิดเผย นางก็ถูกธรณีสูบลงอเวจีมหานรก

พรรษาที่ 8 จำพรรษาที่เภสกลาวันใกล้เมืองสุงสุมารคีรี แคว้นภัคคะ หรือภัคคชนบท

            เหตุการณ์สำคัญ คือ พบ นกุลบิดา และ นกุลมารดา บิดาของสิงคาลกมานพบวช บรรลุพระอรหันต์

            ออกพรรษา โปรดมาคันทิยะพราหมณ์และภรรยา ขอบวชทั้ง 2 คน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ นางมาคันทิยาผู้เป็นธิดาผูกจิตอาฆาตในพระพุทธเจ้า เพราะตำหนิโทษความงามของเธอว่าเต็มไปด้วยสิ่งอสุภะ เศรษฐีชาวโกสัมพี 3 คน ตามไปฟังธรรมที่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี บรรลุเป็นพระโสดาบันกลับมาได้สร้างโฆสิตาราม ปาวาริการาม และกุกกุฏาราม ถวาย ที่นคร โกสัมพี

พรรษาที่ 9 จำพรรษาที่โฆสิตาราม นครโกสัมพี

            เหตุการณ์สำคัญ คือ นางสามาวดีมเหสีพระเจ้าอุเทน พร้อมบริวาร ที่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า  ถูกนางมาคันทิยา มเหสีฝ่ายซ้าย ที่ผูกใจอาฆาตพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว วางแผนเผาทั้งปราสาทถูกไฟครอกจนตายพร้อมสนมบริวาร

            ออกพรรษา พระสงฆ์ 2 กลุ่ม คือ พระธรรมธร และพระวินัยธร  ที่โฆสิตาราม นครโกสัมพี แตกความสามัคคี เพราะการผิดวินัยเรื่องเหลือน้ำสำหรับชำระค้างไว้ที่หม้อชำระ พระพุทธเจ้าทรงตักเตือน และทรงห้ามจนระอาพระทัย พวกพระสงฆ์ทั้ง 2 กลุ่มก็ไม่ฟัง พุทธบริษัทก็ถือข้างกลุ่มของใครของมัน แตกเป็น 2 ฝ่าย ปรองดองสามัคคีกันไม่ได้ พระพุทธเจ้าเสด็จปลีกวิเวกพระองค์เดียว

พรรษาที่ 10 จำพรรษาที่รักขิตวัน

            เหตุการณ์สำคัญ คือ หลังจากพระองค์หลีกจากพระสงฆ์ทะเลาะกัน ที่โฆสิตาราม แล้ว ก็เสด็จปลีกวิเวกพระองค์เดียว มาถึงป่ารักขิตวัน หรือ ป่าปาริเลยยกะ อยู่ระหว่างนคร โกสัมพีกับ นครสาวัตถี ตัดสินพระทัยจำพรรษาที่รักขิตวันนั้น ในป่านั้น พระองค์ได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากสัตว์ใจสูง 2 ตัว คือ ช้างปาริเลยยกะและวานร  เป็นเหตุให้เกิดพระพุทธรูปปางป่าเรไลย์ ที่ประทับห้อยพระบาท มีช้างและลิงหมอบเฝ้าแทบพระบาท เป็นพระประจำวันคนที่เกิดวันพุธกลางคืน

            ออกพรรษา  พระพุทธเจ้าเสด็จไปสาวัตถี หมู่สงฆ์ชาวโกสัมพี ถูกพุทธบริษัทคว่ำบาตร สำนึกผิด ปรองดองกันได้ แต่ชาวพุทธบริษัท มีเงื่อนไขว่า ต้องให้พระพุทธเจ้าอภัยให้ก่อน จึงตามมาขอขมาต่อพระพุทธเจ้าจนถึงสาวัตถี ชาวสาวัตถีแสดงอาการไม่ต้อนรับ ขนาดพระเจ้าปเสนทิโกศลออกปากว่าจะไม่ให้เข้าเมือง แต่พระพุทะเจ้าตรัสอภัยว่า เหล่าสงฆ์สำนึกผิดแล้ว จึงยอมให้เข้าเมืองพระองค์ทรงทำให้เกิดสังฆสามัคคีเช่นเดิม

พรรษาที่ 11 จำพรรษาที่หมู่บ้านพราหมณ์ เอกนาลา ใต้เมืองราชคฤห์ 

            พรรษานี้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระองค์โปรดผู้ใด

พรรษาที่ 12 จำพรรษาที่ควงไม้สะเดา เมืองเวรัญชา

            เหตุการณ์สำคัญ คือ พระสุทินต้องอาบัติปาราชิกเพราะเสพเมถุนกับภรรยา ตามคำขอของแม่  สมัยนั้นยังทรงไม่มีการบัญญัติสิกขาบท บัญญัติพระวินัย ปรารภเหตุนี้ จึงบัญญัติพระวินัย ปฐมปาราชิก  ออกพรรษา พระนางปชาบดีเถรี ทูลลานิพพาน ประชุมเพลิง

พรรษาที่ 13 จำพรรษาที่จาลิกบรรพต เมืองจาลิกา

            เหตุการณ์สำคัญ คือ มีเรื่องเกี่ยวกับพระพระเมฆิยะ ออกพรรษา เสด็จกลับวัดเชตวัน ทรงแสดงมงคลสูตร 38 ประการ แก่เทวดาที่มาถามปัญหา ทรงแสดงกรณียเมตตสูตร มีเรื่องเกี่ยวกับพระพาหิยะทารุจิริยะ พระอัญญาโกณฑัญญะ สาวกรูปแรกทูลลานิพพาน

พรรษาที่ 14 จำพรรษาที่วัดเชตวัน สาวัตถี

            เหตุการณ์สำคัญ คือ สามเณรราหุลอุปสมบท เมื่ออายุ 20 ปี ที่วัดเชตวัน

            ทรงแสดง ภัทเทกรัตตคาถา นิธิกัณฑสูตร ออกพรรษา บัญญัติวิธีกรานกฐิน อนุญาตให้สงฆ์รับการปวารณาปัจจัยเภสัชเป็นนิตย์

พรรษาที่ 15 จำพรรษาที่นิโคธาราม กรุงกบิลพัสดุ์

            เหตุการณ์สำคัญ คือ เจ้าศากยะถวายสัณฐาคารห้องประชุมใหญ่

            ทรงแสดงสัปปุริสธรรม 7 ประการ พระเจ้าสุปปพุทธะ ทรงห้ามการบิณฑบาตของพระพุทธเจ้า ถูกธรณีสูบลงอเวจี

พรรษาที่ 16 เมืองอาฬวี

            เหตุการณ์สำคัญ คือ ทรมานอาฬวกยักษ์
 พรรษาที่ 17 จำพรรษาที่วัดเวฬุวัน

            เหตุการณ์สำคัญ คือ  พระทัพพมัลลบุตร ผู้เชี่ยวชาญการบริหารงานวัด ทูลลานิพพาน

            ออกพรรษา โปรดพระวักกลิ ที่บวชเพราะติดใจในรูปโฉมพระพุทธเจ้า

พรรษาที่ 18 จำพรรษาที่จาลิยะะบรรพต เมืองจาลิกา

            เหตุการณ์สำคัญ คือ หลังออกพรรษา เสด็จเมืองอาฬาวี ครั้งที่2 โปรดธิดาช่างหูกบรรลุโสดาปัตติผล ช่างหูกผู้เป็นบิดาขอบวชสำเร็จอารหัตตผล  แสดงอริยทรัพย์ 7 ประการ

พรรษาที่ 19 จำพรรษาที่จาลิยะบรรพต เขตเมืองจาลิกา

            เหตุการณ์สำคัญ คือ หลังออกพรรษา  เสด็จไปสาวัตถี โปรดโจรองคุลีมาล

            สันตติมหาอำมาตย์บรรลุอรหัตตผลแล้วนิพพาน

พรรษาที่ 20 จำพรรษาที่เวฬุวัน เมืองราชคฤห์

            เหตุการณ์สำคัญ คือ  พระอานนท์ได้เป็นอุปัฏฐากประจำพระองค์   พระอานนท์ทูลขอพร 8 ประการ เพื่อเป็นเงื่อนไขสะดวกในการอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า

พรรษาที่ 21-44 จำพรรษาที่วัดเชตวัน หรือ วัดบุพพาราม สลับกันไป เป็นเวลา 24 พรรษา

            ออกพรรษาที่จาริกไปตามตำบลต่างๆ เพื่อโปรดเวไนยสัตว์

            ประมาณพรรษาที่21 จำพรรษาที่ บุพพาราม วัดของนางวิสาขา เมืองสาวัตถี

            พระองค์ทรงแสดงปาฏิโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ครั้งแรก

            ประมาณพรรษาที่ 26 พระราหุลนิพพาน(พระราหุล อายุขัยเพียง 32 ปี)

            พรรษาที่ 37 พระเทวทัตต์ คิดปกครองคณะสงฆ์ ทูลขอบัญญัติ 5 ประการ   วางแผนปลงพระชนม์พระศาสดา  หลอกพระเจ้าอชาตศัตรูให้ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร พระเทวทัตต์ทำอนันตริยกรรม สังฆเภท  พระเทวทัตถูกธรณีสูบ ที่หน้าพระชเตวัน เมืองสาวัตถี

            พรรษาที่ 38 ทรงแสดงสามัญญผลสูตรโปรดพระเจ้าอชาตศัตรู แสดงตนเป็นพุทธมามกะ

ที่กรุงสาวัตถี  อำมาตย์ก่อการขบถ  พระเจ้าปเสนทิโกศลสิ้นพระชนม์   พระเจ้าวิฑูฑภะฆ่าล้างวงศ์ศากยะ พระพุทธเจ้าเสด็จห้ามทัพ  พระเจ้าวิฑูฑภะสิ้นพระชนม์

            พรรษาที่ 43 พระยโสธราเถรีนิพพาน(อายุรวม 78 ปี)

            พรรษาที่ 44  ตอบปัญหาเทวดา ออกพรรษา พระสารีบุตรทูลลานิพพาน พระสารีบุตรโปรดมารดาจนบรรลุโสดาปัตติผล พระสารีบุตรนิพพาน  พระโมคคัลลานะถูกโจรที่เดียรถีย์จ้างมาทำร้าย

พระโมคคัลลานะนิพพาน  นางอัมพปาลีถวายอาราม อัมพปาลีวัน  นางอัมพปาลีบรรลุธรรม

พรรษาที่ 45 จำพรรษาที่ เวฬุวคาม ใกล้นครเวสาลี

            พรรษาที่ 45 นี้ ขอนุญาตให้ข้อมูลมากหน่อย เพราะเป็นวาระสุดท้าย  พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาอยู่ที่ ตำบลเวฬุวคาม ใกล้นครเวสาลี แคว้นวัชชี พระพุทธเจ้าทรงทำนิมิตรเปล่งแสงโอภาส ให้พระอานนท์เห็นเป็นครั้งสุดท้าย และทรงปลงอายุสังขาร ในวันเพ็ญ เดือน 3 ณ ปาวาลเจดีย์ ว่าพระตถาคตจักปรินิพพานแต่นี้ไปอีก 3 เดือน
             ในกาลต่อมา พระพุทธเจ้าทรงพาพระภิกษุสงฆ์ 500 เสด็จไปนครเวสาลี เสด็จประทับอยู่ที่กูฏาคารในป่ามหาวัน ทรงประทานพระธรรมเทศนาโปรดกษัตริย์ลิจฉวี จากนั้นทรงพาพระภิกษุสงฆ์เสด็จออกจากพระนครเวสาลี  เมื่ออกขากเมือง พระพุทธเจ้าประทับยืนอยู่หน้าเมืองเสาลี เยื้องพระกายผินพระพักตร์กลับมาทอดพระเนตรเมืองเวสาลี รับสั่งกับพระอานนท์ พุทธอุปัฏฐากว่า
             อานนท์ การเห็นเมืองเวสาลีของตถาคตครั้งนี้เป็นปัจฉิมทัศนา สถานที่ประทับยืนทอดพระเนตรโดยพระอาการที่แปลกจากเดิมพร้อมทั้งรับสั่งเป็นนิมิตเช่นนั้น เป็นเจดีย์สถานอันสำคัญเรียกว่า นาคาวโลกเจดีย์นาคาวโลก คือ การเหลียวมองอย่างพญาช้าง มองอย่างช้างเหลียวหลัง คือ เหลียวดูโดยหันกายกลับมาทั้งหมด ซึ่งเป็นอาการที่พระพุทธเจ้าทรงทำเป็นครั้งเดียว
แล้วเสด็จกลับไปประทับที่กูฏาคารในป่ามหาวัน จุดหมายการเดินทาง มุ่งกุสินารา จึงเสด็จจากกูฏาคาร  ผ่านบ้านภัณฑุคาม บ้านหัตถีคาม บ้านอัมพะคาม บ้านชัมพุคาม และโภคนครโดยลำดับ  พระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปถึงเมืองปาวานคร ประทับพำนักอยู่ที่อัมพวัน สวนมะม่วงของนายจุนทะกัมมารบุตร ซึ่งอยู่ใกล้เมืองปาวานั้น
              ครั้นนายจุนทะได้ทราบข่าว รีบเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และฟังพระธรรมเทศนาพร้อมกับได้นิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ให้รับอาหารบิณฑบาตที่บ้านของตนในวันรุ้งขึ้น ครั้นรุ่งเช้าเมื่อได้เวลา พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังบ้านของนายจุนทะ  ทรงตรัสแก่นายจุนทะว่า สุกรมัททวะซึ่งท่านตกแต่งไว้อย่างดีนั้น จงอังคาส(ถวาย) เฉพาะคถาคตผู้เดียว ที่เหลือนั้นให้ขุดหลุมฝังเสีย และจงอังคาสภิกษุสงฆ์ทั้งหลายด้วยอาหารอย่างอื่นๆ
              หลังภัตตาหารเช้า พระองค์เสด็จกลับสู่อัมพวัน และทรงประชวรพระโรคโลหิตปักขันทิกาพาธ คือโรคท้องร่วงเป็นโลหิต  พระกำลังเหนื่อยล้าลง เกิดทุกขเวทนามาก ทรงรับสั่งพระอานนท์ว่า Wอานนท์  พวกเราไปเมืองกุสินารากันพระอานนท์จึงรีบแจ้งให้พระสงฆ์ทั้งหลายเตรียมตามเสด็จไว้พร้อม
             ระหว่างทางที่เสด็จไปยังกุสินารา พระพุทธเจ้าทรงกระหายน้ำมาก ตรัสสั่งพระอานนท์ไปตักน้ำในแม่น้าสายเล็กมีน้ำน้อยและกองเวียน 500 เล่มเพิ่งผ่านข้ามไปมาดื่ม  ครั้นพระอานนท์ไปตักน้ำที่ขุ่นข้นได้กลับกลายเป็นน้ำใสสะอาดปราศจากมลทิน  นับเป็นครั้งแรกที่พระพุทธเจ้าทรงขอน้ำเสวยในขณะเดินทางยังไม่ถึงที่พัก
             พระพุทธเจ้า เสด็จผ่านข้ามแม่น้ำกกุธานทุนี พระอานนท์ทูลเชิญให้เสวยน้ำและสรงชำระพระวรกายที่ตรากตรำมาในระยะทาง แล้วเสด็จมาประทับที่ร่มไม้และเสด็จบรรทมพักเอาแรง ครั้งพักพอได้กำลัง พระองค์เสด็จต่อไป ข้ามแม่น้ำหิรัญวดี  แม่น้ำสายสุดท้ายที่จะถึงสาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ
             เวลาใกล้ค่ำของวันเพ็ญ เดือน 6 พระพุทธเจ้าสั่งให้พระอานนท์ปูลาดที่บรรทมระหว่างต้นสาละใหญ่ 2 ต้น ทรงเอนพระวรกายลงโดยหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ประทับไสยาสน์แบบสีหไสยา เป็นอนุฏฐานไสยา คือ การนอนครั้งสุดท้ายไม่ลุกขึ้นจนกระทั่งสังขารดับ

            ทรงรับการกราบไหว้ของมัลลกษัตริย์ และชาวเมืองที่รู้ข่าวการจะปรินิพพานในคืนนี้ ที่พระอานนท์ไปแจ้ง มหาชนมาด้วยความอาลัยและใบหน้าเปื้อนน้ำตา พระอานนท์เองก็ทรงกลั้นความโศกไม่ไหว แอบไปยืนเกาะกิ่งไม้สะอื้นอยู่คนเดียวในที่ไม่ไกลนัก พระพุทธเจ้ารับสั่งหาไปเฝ้า

            ขณะนั้นก็มีปริพพาชกคนหนึ่งชื่อสุภัททะ ตั้งใจมาถาปัญหา พระอานนท์ไม่ให้เข้าเฝ้ากรงจะรบกวนพระพุทธเจ้า เสียโต้เถียงกันดังได้ยินถึงพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงอนุเคราะห์ให้สุภัททะเข้าเฝ้า สุภัททะตั้งใจจะถามปัญหาคาใจ แต่พระพุทธเจ้า ตรัสว่า เวลาน้อย จงฟังธรรมเถิด แล้วแสดงธรรมโปรดสุภัททะ บรรลุเป็นพระอรหันต์ ทันการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เป็นปัจฉิมสาวกองค์สุดท้ายที่ทันเห็นพระพุทธเจ้า และพระองค์ประทานให้สงฆ์การอุปสมบทต่อหน้าพระพักตรของพระองค์ 
             ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าได้ประทานโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

            อานนท์ เมื่อตถาคตปรินิพานและหากจะมีภิกษุบางรูปดำริว่า พระศาสดาของเราปรินิพพานแล้ว อานนท์ เธอทั้งหลายไม่ควรดำริอย่างนั้น ไม่ควรเห็นอย่างนั้น แท้จริง ธรรมที่เราแสดงแล้วก็ดี วินัยที่เราได้บัญญัติแล้วก็ดี เมื่อเราล่วงไป ธรรมและวินัยนั้นๆ  จักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย
             ลำดับต่อมา พระพุทธเจ้าได้ประทานปัจฉิมโอวาทความว่า

            ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั่งหลายจงบำเพ็ญไตรสิกขาให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด
             เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสประทานโอวาท เป็นวาระสุดท้ายเพียงเท่านี้แล้วก็หยุด มิได้ตรัสอะไรอีกเลย ทรงทำปรินิพพานบริกรรมด้วยอนุปุพพวิหารสมาบัติ โดยอนุโลมลำดับ จนกระทั่งสัญญาเวทยิตนิโรธ จากนั้นถอยออกมาเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยปฏิโลมเป็นลำดับจนถึงปฐมฌาน จากนั้น ละจากปฐมฌาน เข้าทุติยฌาน อีกวาระหนึ่ง ออกจากทุติยฌาน เข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌาน ทรงเข้าจตุตถฌาน เมื่อออกจากจตุตถฌานแล้ว พระพุทธเจ้าก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพาน ณ ปัจฉิมยามแห่งราตรีวันวิสาขปูรณมี เพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 1 ปี 

 

วัดและถานที่สำคัญเกี่ยวกับพระศาสดา

            1. วัดเวฬุวัน วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา  เมืองราชคฤห์

            เวฬุวัน หมายถึง พระวิหารที่เป็นสวนป่าไผ่ (The bamboo grove temple) ชื่อเต็มคือ เวฬุวนาราม กลันทกะนิวาปะสถาน คือ สวนป่าไผ่ที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เหตุที่ได้ชื่อนี้ เพราะเดิมเป็นป่าไผ่ และ พระเจ้าพิมพิสาร ครั้งหนึ่งเคยรอดชีวิตจากงู เพราะการเตือนของกระแต ทรงสำนึกในบุญคุณของกระแต จึงพระราชทานสวนป่าไผ่ เป็นเขตอภัยทาน และพระราชทานเหยื่อ อาหาร แก่กระแตทุกวันๆ

            สวนไผ่เวฬุวัน แยกเป็น 2 ส่วน คือ  กลันทกะนิวาปะ ที่พระราชทาน เหยื่อแก่กระแตส่วนหนึ่ง ต่อมาได้ถวาย เป็นพระอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนา  อีกสวนหนึ่ง เรียกว่า โมรนิวาปะ ที่พระราชทาน เหยื่อ แก่นกยูง เป็นที่พัก ของพวกนักบวชปริพาชก


ศาลาไทย วัดเวฬุวัน ราชคฤห์

            เวฬุวนารามเป็นสถานที่ที่ พระพุทธองค์ทรงประชุมสงฆ์ แสดงโอวาท ปาฏิโมกข์ เมื่อวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ในที่ประชุมจาตุรงคสันนิบาต คือ การประชุมที่ประกอบด้วยองค์ 4 ประการ
คือ
            1. พระภิกษุที่มาประชุม มีจำนวน 1,250 องค์ ล้วนเป็นเอหิภิกขุ  ได้บวชเป็นพระภิกษุโดยพระพุทธเจ้าทรงประทานให้เอง
            2. พระภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ 

            3. พระภิกษุเหล่านั้นมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมายกัน
            4. วันนั้นเป็นวันมาฆปูรณมี คือ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือนมาฆะ จึงเรียกว่า มาฆบูชา

อันเป็นต้นกำเนิดพิธีวันมาฆบูชา

 

ที่แสดงโอวาทปาฏิโมกข์ เวฬุวัน

             ปัจจุบัน วัดเวฬุวัน ได้รับการบูรณะปรับปรุงให้สวยงาม เมื่อครั้งฉลองพุทธชยันตี 25 พุทธศตวรรษ  มีต้นไผ่เขียวขจี ร่มเย็น พร้อมด้วย สระน้ำกลันทกะ    ทำให้เห็นว่ายังรักษารูปเดิมในครั้งพุทธกาลไว้ได้อย่างสมบูรณ์ โดยรอบบริเวณมีถนนตัดเป็นสี่เหลี่ยม มีศาลาทรงไทย ที่สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธา ของพุทธบริษัทชาวไทย  ศาลาไทยเวฬุวัน เมื่อ พุทธศักราช  2513 พระสุเมธาธิบดี (บุญเลิศ ทตฺตสุทฺธิมหาเถระ) ครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา เป็น ผู้ดำเนินการจัดการก่อสร้าง พร้อมทั้งรูปภาพ ติดฝาผนังหลังพระพุทธรูป ครั้งพระพุทธเจ้าทรงรับสวน เวฬุวันจาก พระเจ้าพิมพิสาร และมีพระพุทธปฏิมากรศิลปกรรมไทย ตั้งไว้เป็นที่สักการะ

ภาพพระเจ้าพิมพิสารถวายเวฬุวัน

 

            2. วัดเชตวัน มหาวิหาร เมืองสาวัตถี

            เมืองสาวัตถี เป็นเมืองที่มีชื่อคู่กับพระเชตวัน มหาวิหาร ที่อนาถปิณฑิกเศรษฐีสร้างถวายพระพุทธเจ้า สาวัตถี เมืองหลวงของแคว้นโกศล มีพระราชา นามว่า ปเสนทิโกศล เป็นผู้ปกครอง ผู้นำรัฐมคธ กับผู้นำรัฐโกศล มีความเกี่ยวดองทางการแต่งงาน โดยราชาพิมพิสาร อภิเษกสมรสกับพระกนิษฐาของ ราชาปเสนทิ และในทำนองกลับกัน ราชาปเสนทิ ก็รับพระกนิษฐาของราชาพิมพิสารเป็นมเหสี อำนาจของโกศล ครอบงำไปถึงแคว้นสักกะ ดังที่กล่าวมาแล้ว

ทางไปเมืองสาวัตถีเก่า

            คำว่า สาวัตถี แปลว่า มีทุกอย่างเป็นศูนย์กลางของการค้าขายที่มีชื่อเสียง มีความสมบูรณ์พูนสุขด้วยข้าวและน้ำ มีถนนหลายสายเชื่อมกับเมืองใหญ่ ๆ หลายเมืองจนถึงกรุงราชคฤห์

ปัจจุบัน สาวัตถีเหลือซาก ดุจเมืองเก่าศรีสัชชนาลัย สุโขทัย ซากโบราณสถานที่ขุดค้น ได้ข้อสรุปว่า บริเวณที่เรียกว่า สาเหต(Sahet)  คือ พระเชตวันวิหาร ส่วน มาเหต(Mahet) คือ ตัวเมืองสาวัตถี ปัจจุบันคำว่า สาเหตมาเหต  เรียกกันน้อยลง ชาวอินเดียรู้จักกันในชื่อ ศราวัสตี ซึ่งเป็นรูปสันสกฤต ของคำว่า สาวัตถี

ฐานพระราชวังสาวัตถี

            วัดเชตวันมหาวิหาร วัดที่ซื้อด้วยจำนวนเหรียญทองที่ปูเต็มพื้นที่

             ประวัติวัดพระเชตวัน กล่าวว่า มีเศรษฐีนามว่าสุทัตตะ หรือ อีกนามหนึ่งคือ อนาถบิณฑิกเศรษฐี แปลว่า ผู้ให้ทานแก่คนยากไร้ ได้พบกับพระพุทธเจ้าที่ป่าสีตวัน ได้ฟังพระธรรม เทศนา จนได้บรรลุโสดาปัตติผล เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา ปรารถนาจะสร้างอารามขึ้นในเมืองสาวัตถี เพื่อเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ จักได้มาโปรดชาวเมืองสาวัตถี

            เมื่อกลับไปสาวัตถี จึงแสวงหาที่สร้างวัด ได้พบว่าสวนของเจ้าเชต ราชกุมาร ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองสาวัตถี มีบรรยากาศน่ารื่นรมย์ เหมาะสมที่จะสร้างเป็นสังฆาราม จึงได้ไปทูลขอซื้อที่สวนของเจ้าเชต  อันที่จริงเจ้าเชตไม่อยากขายเพราะเป็นที่มรดก  แต่อยากดูความตั้งใจของผู้ซื้อว่าจะเอาจริงหรือไม่ แถมโก่งราคาแบบที่ใครก็คงซื้อยากว่า ถ้าจะซื้อจริงๆ  ก็ให้ขนเอาเงินมาปูให้เต็มทั้งสวนนี้โดยไม่คาดคิดว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐี จะทำเช่นนั้นได้ และถอดใจยอมถอยออกไปไม่ซื้อ

            แต่การณ์กลับมิได้เป็นเช่นนั้น ท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีเอาจริงตามคำท้า และเป็นข้อสัญญา  จัดการให้คนขนเอาเงินจากคลังของตนมาปูเป็นจำนวนหลายสิบโกฏิ เจ้าเชตเห็นแล้วรู้สึกเลื่อมใสอย่างยิ่ง จึงได้ยอมลดราคาให้ เหลือเพียง 18 โกฏิ และขอมีส่วนร่วมบุญด้วย อนาถบิณฑิกจึงขอให้สร้างซุ้มประตูวัด และนำเอานามของเจ้าเชตมาเป็นชื่อพระวิหาร คือ พระวิหารเชตะวัน   ค่าก่อสร้างวัดเชตวัน เป็นค่าที่ดิน 18 โกฏิ  ค่าสร้างมหาวิหาร อาราม กุฏิสงฆ์อีก 18 โกฏิ ทำการฉลองพระวิหารอีก 18 โกฏิ รวมทั้งสิ้น 54 โกฏิ

   

อนาถปิณฑิกเศรษฐี สร้างวัดเชตวัน สาวัตถี ด้วยเงิน 54 โกฎิ

 

             พระเชตวันสร้างด้วยพลังศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ เป็นมหาวิหารที่สวยงามมาก ทั้งอยู่ในเมืองใหญ่ มหาอำนาจ เจริญด้วยเศรษฐกิจ พลเมืองก็มาก พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงประทับในกรุงสาวัตถีถึง 25 พรรษา โดยจำพรรษา เฉพาะที่ พระวิหารเชตวัน ถึง 19 พรรษา อีก 6 พรรษา ประทับจำที่บุพพาราม วิหารซึ่งนางวิสาขา สร้างถวาย แต่มิใช่การอยู่ประจำตลอดปี ฤดูนอกพรรษา พระพุทธเจ้าและเหล่าสาวกจะเสด็จจาริกโปรดสัตว์ตามคามนิคมน้อยใหญ่ เมื่อเข้าพรรษา จึงเสด็จกลับมาจำพรรษา

            ที่วัดเชตวัน มีเหตุการณ์มากมายทั้งดีและร้าย เพราะการที่ พระพุทธเจ้า มาประทับที่กรุงสาวัตถีนี้ ทำให้พวกเดียรถีย์บางลัทธิไม่พอใจ ได้หาทางทำลายชื่อเสียง ของพระพุทธเจ้า บางครั้งจึงเกิดเรื่องการใส่ร้ายป้ายสี ครั้งหนึ่ง เดียรถีย์พวกหนึ่งให้สาวิกาของตน คือนางจิญจมาณวิกา มาใส่ร้ายพระพุทธองค์ แกล้งทำเป็นเดินเข้าวิหารเชตวันในตอนเย็น เดินออกจากวิหารเชตวันตอนเช้า ให้คนสงสัย ต่อมาครบ 9 เดือนก็เอาไม้มาคลุมท้อง แล้วก็โพนทะนาว่า ตนเองเป็นผู้ร่วมอภิรมย์กับพระพุทธเจ้า ซึ่งเรียกว่าเป็นแผนนารีพิฆาตจริงๆ แต่แผนนี้ ก็มาแตก เพราะนางได้ไปด่าว่าพระพุทธเจ้าขณะที่พระองค์ทรงแสดงธรรม แสดงสมบทบาทดิ้นมากไปหน่อย ไม้ที่มัดไว้หลุดลงมา  ประชาชนเห็นความจริงประจักษ์ตา จึงขับไล่นางออกไปจาก พระวิหาร เพราะบังอาจมาใส่ร้ายพระพุทธเจ้า พอออกไปพ้นวิหาร ก็ถูกแผ่นดินสูบเพราะกรรมอันหนัก

            การที่พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาที่เชตวันนานที่สุด จึงทำให้เกิดพระธรรมเทศนา หลายสูตร พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทหลายสิกขาบทที่นี่  ดังข้อความในพระไตรปิฎกปรากฏหลายพระสูตรและหลายสิกขาบท ซึ่งทรงบัญญัติและแสดงที่พระวิหารเชตวันมากกว่า 200 ครั้ง
           
            สภาพปัจจุบัน
            วัดเชตวัน ตั้งอยู่ ฝั่งเหนือ อยู่ห่างจากถนน พัลรามปูร์ พาไลจห์ ประมาณ 300 เมตร รัฐบาลอินเดียล้อมรั้วเป็นโบราณสถานเอาไว้  เมื่อเดินเข้าประตูวัดจะมองเห็นอิฐเรียงรายเป็นระเบียบทุกแห่ง แสดงถึงการบูรณะไว้อย่างดี เสนาสนะที่อยู่ของภิกษุสงฆ์อยู่ด้านหน้า ทางเข้าใหญ่กว้างขวางมาก เดินผ่านมาถึงที่ประชุมสงฆ์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับพระคันธกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้า ข้างในเป็นห้องขนาดเล็กกะทัดรัด ลงมาจากพระคันธกุฎีทางด้านขวามือจะเป็นบ่อน้ำสรง โบกปูนไว้อย่างดีมี น้ำมากถึงครึ่งบ่อ

      

ซากเชตวันมหาวิหาร สาวัตถี

 

การไปนมัสการพระเชตวัน สาวัตถี

            ผู้แสวงบุญชาวไทยประสงค์ จะเดินทางไปสาวัตถี ส่วนมากจะไปกับคณะผู้นำเที่ยว และเดินทาง ไปนมัสการลุมพินี เนปาลก่อน จึงมักจะเริ่มจากลุมพินีแล้วเดินทางมาถึงสาวัตถี  ระยะทาง 175 .. ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ 8.35 .. ปัจจุบันบริเวณพระเชตวัน และ กรุงสาวัตถี เรียกกันว่า สาเหต - มาเหต (เรียกคู่กัน) อาณาเขตติดต่อ ระหว่าง จังหวัดบาไรจห์(Baraich) กับจังหวัดโคณฑา(Gondha) หรือ เมือง สาเกตุ สมัยพุทธกาล  ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดลัคเนาว์(Lucknow) ห่างจากบาไรจห์ 46 กิโลเมตร  จากโคณฑา 59 กิโลเมตร และห่างจากพัลรามปูร์ ของจังหวัดโคณฑา อันเป็นชุมทาง รถยนต์และรถไฟที่ใกล้ที่สุด ไปทางตะวันตก 16 กิโลเมตร

            ที่สาวัตถี มีวัดไทยสาวัตถี สร้างไว้ เมื่อ พ.. 2525 โดยคณะศรัทธาชาวไทย และกัมพูชา มีท่านพระมหาประเสริฐ คนไทยคุ้นชื่อท่านว่า หลวงพ่อฤาษีมหาประเสริฐ พื้นเพเป็นชาวกัมพูชา แต่บวชแล้วมาจำพรรษาที่วัดพระเชตุพน ท่าเตียน เป็นพระธรรมทูตไทยประจำอินเดียรุ่นแรก ไป ประจำที่วัดไทยพุทธคยา ต่อมาเห็นความลำบากของชาวพุทธ ที่ไม่มีที่พักระหว่างทางการแสวงบุญ จึงได้รวบรวมปัจจัยซื้อที่ดิน สร้างวัดขึ้นมา มีอาคาร ศาลาที่พัก รวมทั้งอุโบสถ แม้จะมีพื้นที่ไม้กว้างนัก ก็พอจะเป็นที่ พักแรมได้ เพราะในเขตนั้น เมืองที่อยู่ใกล้ก็คือ พัลรามปูร์ 16 กิโลเมตร เป็นอำเภอชนบท ที่พักอาจจะเต็มหากไม่จองล่วงหน้า หรือกว่าจะเดินทางถึงเมือง ลัคเนาว์ ก็ อีก 8 ชั่วโมง โดยรถยนต์

 

สรุป

            พุทธกิจ 45 และสถานที่ทรงจำพรรษา รวมทั้งวัดสำคัญในพระพุทธศาสนาโดยย่อนี้ ทำให้เห็นพระมหาวิริยะของพระพุทธเจ้า ที่ทรงงานหนัก ทุ่มเทให้กับงานพระศาสนาทรงโปรดคนทุกระดับชั้น ไม่เลือกเพศและวัย ไม่ถือชั้นวรรณะ แม้พระองค์จะปรินิพพานไปแล้ว 2548 ปี แต่พระพุทธคุณก็ยังไม่จางหายจากดินแดนพุทธภูมิ บางสมัยอาจจะถูกบดบังด้วยคนต่างลัทธิความเชื่อ บางสมัยอาจจะถูกทำลายอย่างหนักด้วยกองทัพที่มุ่งล่าอาณาเขต และบางสมัยจะถูกปกครองแบบเมืองขึ้น แต่เพราะพุทธานุภาพ ดินแดนพุทธภูมิ ก็ได้กลับมาฟื้นฟูโดยชาวพุทธทั่วโลกช่วยกันทำงานเป็นพุทธบูชา  เป็นเวลา เกือบ 150 ปี มานี้ ทำให้พุทธศาสนิกชนได้กลับไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ถึงดินแดนที่พระพุทธองค์ทรงย่ำรอยพระบาท ดำเนินโปรดสัตว์ มาก่อนหน้า อย่างไม่ลำบากนัก



                [1] http://www.dhammathai.org/buddha/g53.php สืบค้นวันที่ 10 เมษายน 2548

                [2]  วินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม 1 ข้อ 1 หน้า 1

                        [3] http://www.dhammathai.org/buddha/g53.php สืบค้นวันที่ 12 เมษายน 2548

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น