วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

แดนพุทธภูมิ บทที่ 8 สาลวโนทยาน กุสินารา สถานที่ปรินิพพาน

 

 

บทที่ 8

สาลวโนทยาน  เมืองกุสินารา :  สถานที่ปรินิพพาน

(Salavanodayan, Kusinara : The Death Place)

   

พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์

                                                                                                                                    Phisit Kotsupho

ความนำ

             หลังจากพระพุทธเจ้าทรงใช้เวลา 45 พรรษา เผยแผ่พระศาสนา สั่งสอนประชาชน จนถึงพระชนมายุได้ 80 พรรษา พระองค์ก็เสร็จดับขันธปรินิพาน ณ สาลวโนทยาน ระหว่างต้นสาละทั้งคู่  แขวงเมืองกุสินารา แคว้น ตรงกับวันอังคารขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ก่อนพุทธศักราช 1 ปี ดวงประทีปแห่งเอเชียดวงนี้ก็มอดแสงลงเพราะสิ้นเชื้อ  แต่พระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงและบัญญัติไว้ รวมทั้งมรรคปฏิปทาที่พระองค์ทรงประทานไว้ ยังเป็นทางประพฤติปฏิบัติที่ผู้มุ่งสันติ สามารถดำเนินรอยตามยุคลบาทของพระองค์ ได้บรรลุความสงบสันติสมตามวิริยะอุตสาหะที่ตนอุทิศทุ่มเท สมควรแก่ฐานนุรูปแห่งตน

 

ดอกสาละ

 

            กุสินารา เป็นเมืองที่พระพุทธเจ้า เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน สถานที่ปรินิพพาน เนื้อที่กว้างขวาง มีต้นไม้ขนาดใหญ่นานาพันธุ์ บังแสงแดดให้เงาร่มรื่น โดยเฉพาะหน้าพระคันธกุฏี ซึ่งเป็นโบราณวัตถุ มีต้นสาละปลูกไว้ล้อมรอบ เพื่อเป็นอนุสสติ ถึงพระพุทธเจ้า   เดิมเป็นสวนของพระเจ้ามัลลกษัตริย์ หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว และถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ แล้ว โทณะพราหมณ์ ผู้เป็นที่เคารพและเกรงใจ ได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ออกเป็น 8 ส่วน แจกแก่เมืองทั้ง 8 ที่ยกทัพมาขอ ในส่วนของเมืองกุสินารา มัลลกษัตริย์ได้สร้างสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเอาไว้ ที่สาลวโนทยานนั่นเอง  ปัจจุบัน ได้พบพระเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช คงจะเสริมสถูปที่มัลลกษัตริย์สร้างเอาไว้หลังก่อน  และมีพระพุทธรูปปางปรินิพพานอยู่ 1 องค์

ต้นสาละ

              สาลวโนทยาน คือ สวนไม้สาละ ซึ่งไม้ สาละ  เป็นไม้ในตระกูลยาง  ชาวพุทธไทย แปลว่า  ไม้รัง  แต่ไม้สาละอินเดียนั้นเป็นคนละพันธ์กับไม้รังในประเทศไทย    การผลิดอก หรือ ผลัดใบ ของสาละอินเดีย จะเริ่มประมาณต้นเดือน ถึงกลางเดือนเมษายนของทุกปี ระยะเวลาออกดอก 15-20 วัน ซึ่งแสดงว่า ที่มีในพระไตรปิฎกว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานนั้น ไม้สาละผลิดอกในฤดูไม่ใช่กาล ก็เป็นไปได้ และไม้สาละนี้ พบมากในเขตอินเดีย ตอนเหนือ บริเวณรัฐอุตตรประเทศ และบริเวณประเทศเนปาลเท่านั้น ไม่พบในรัฐอื่นเลย

 

 

ต้นสาละ ที่ออกดอกบานสะพรั่ง ในช่วงกลางเดือนเมษายน

           

สถานที่ตั้งกุสินารา

            กุสินารา ปัจจุบัน คือ ตำบลกุสินคร(Kusinagar) หรือ กาเซีย(Kasia) หรือ กาศยา อยู่ในเขตจังหวัดเดวเรีย (Deoria) หรือ เทวริยา รัฐอุตรประเทศ  พื้นที่แคว้นมัลละได้แก่บริเวณจังหวัดเทวริยา จังหวัดโครักขปูร์ กับบางส่วนของ จังหวัดอซัมคาร์ห(Ajamgarh)   บริเวณของกุสินารา ตั้งอยู่ทางเหนือของจังหวัดเดวเรีย ระยะทาง 34  กิโลเมตร  ทางตะวันออกของจังหวัดโครักขปูร์ ระยะทาง 65 กิโลเมตร   กุสินาราห่างจากสารนาถ เมืองพาราณสี   260 กิโลเมตร กุสินคร แต่ก่อนขึ้นอยู่กับจังหวัดโครักขปูร์ ปัจจุบัน ขึ้นกับ จังหวัดเดวเรีย


สาลวโนทยาน

            สาลวโนทยาน ตรงจุดที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานนั้น ยังเป็นเป็นข้อยุติมิได้ว่าจุดใดแน่นอน  ความเห็นแรกก็ว่าเป็นสถานที่รัฐบาลอินเดียทำสวนป่าอนุรักษ์  มีสถูปปรินิพพาน พร้อมกับพระพุทธรูปปางปรินิพพาน พร้อมด้วยซากมหาวิหารปรากฏเป็นพยานอยู่  ได้แก่ สถานที่ตั้งปัจจุบัน ที่ชาวพุทธไปนมัสการแสวงบุญทุกวันนี้  แต่อีกความเห็นหนึ่งว่า อัน สาลวโนทยานของเก่าดั้งเดิมที่พระพุทธเจ้าประทับในคืนปรินิพพานนั้น ตั้งอยู่ในตำบล มถา กุนวาระ กา โกฎ ในภาษาฮินดี แปลว่า ตำบลเจ้าชาย สิ้นชีพ” (คงหมายถึงพระพุทธเจ้า)   


สถูปปรินิพพานสร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมาหราช

 

            ตามความเห็นของผู้เขียน คงปลงใจเชื่อลงที่สาลวโนทยาน ตรงที่มีปรินิพพานสถูปและวิหารครอบพระพุทธรูปปางปรินิพพานตั้งอยู่ ซึ่งเป็นสาลวโนทยานปัจจุบัน มั่นใจสถูปของพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นสำคัญ ตำนานเล่าว่า ปรินิพพานสถูป สร้างในรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อพระองค์ได้เสด็จมานมัสการสังเวชนียสถานที่กุสินารานี้ตามคำแนะนำพระโมคคัลลีบุตร ติสสะเถระ    เกิดความทรงเศร้าโศก พระทัย เพราะอาลัยถึงพระพุทธเจ้า ถึงกับทรงวิสัญญีล้มสลบ ด้วยพระราชศรัทธาในสังเวชนียสถานทุกแห่งที่เสด็จไป ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์หนึ่งแสน โปรดให้ ก่อสร้างพระสถูปขนาดใหญ่ ขึ้นในบริเวณที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน โดยสร้างคร่อมพระแท่นที่ปรินิพพาน พร้อมด้วยต้นสาละนั่นเอง สถูปมีลักษณะทรงบาตรคว่ำ สูงราว 70 ฟุต บนยอดมีฉัตร 3 ชั้น 
             ต่อจากสมัยนั้นมา พระสถูปองค์นี้ ก็ได้รับการบูรณะขึ้นอีกหลายสมัย ได้มีการขุดค้นภายในพระสถูป พบภาชนะเครื่องใช้ ทำด้วยทองเหลือง ทองแดงและเงินตราในสมัยพระเจ้ากุมารคุปต์ (ยุคคุปตะ) ราวๆ พ.. 956 ภาชนะทองแดงบางส่วน จารึกว่า "นี่เป็นของหริพละ สวามี" ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกับที่ให้สร้างพระพุทธรูปปางปรินิพพาน ที่ประดิษฐานในปรินิพพานวิหาร อาจเป็นไปได้ว่า หริพละสวามีผู้นี้ ได้บูรณะพระสถูปนี้ขึ้นในกาลต่อมา             ในบริเวณตำบลนี้  มีอนุสรณ์สถานที่ให้ระลึกพระพุทธองค์ อยู่  2 แห่ง ตั้งอยู่ ไม่ไกลกันนัก ได้แก่

 

ด้านหน้าปรินิพพานวิหาร กุสินารา

            แห่งที่ 1 คือ ปรินิพพานวิหาร เป็นวิหารที่พุทธศาสนิกชนผู้จาริกแสวงบุญ เข้าไปสวดมนต์ ทำจิตภาวนาเพื่อระลึกถึงพระพุทธองค์ ในพระวิหารนี้ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ หรือ ปางปรินิพพาน ที่มีพุทธศิลปะงดงามมาก มีขนาดความยาว 23 ฟุต 9 นิ้ว(ราวๆ 7 เมตร) กว้าง 5 ฟุต 6 นิ้ว มีอายุถึง 1,500ปี  ผู้จัดสร้าง คือ หริพละสวามี นายช่างผู้แกะสลัก ชื่อว่า ธรรมทินนา เป็นชาวมถุรา สร้างขึ้นในราว  พุทธศตวรรษ ที่ 9 น่าจะศิลปะแบบมถุรา  พระพุทธรูปปางปรินิพพานนี้งดงามมาก  แสดงท่าที่พระพุทธเจ้าทรงบรรทมหลับ ด้วยท่าตะแคงราบลงด้านขวา ส่วนพระเศียรก็วางราบกับพระเขนยบางๆ พระพาหาก็วางราบด้านหน้า อย่างสบายๆ ไม่นำมาค้ำพระเศียร หรือบรรทมแบบไม่สบายอย่างพระปางไสยาสน์ สกุลพุทธศิลป์ในประเทศไทย  พระพุทธรูปนี้ มองอย่างไรก็เหมือนกับว่า พระพุทธเจ้าเพิ่งทรงปรินิพพานไปไม่นาน ผู้แสวงบุญหลายท่านเห็นภาพพระพุทธองค์ปรินิพพานนี้แล้ว จำลองภาพที่เป็นธรรมชาติจริงๆ เสมือนหนึ่งพระพุทธเจ้าเพิ่งดับขันธ์จากไปใหม่ๆ จึงทำให้น้ำตาซึมไปตามๆ กัน ด้วยความเคารพสักการะในพระพุทธเจ้า
 

พระพุทธรูปปางปรินิพพาน ศิลปะแบบมถุรา  ในวิหารกุสินารา

            แห่งที่ 2 คือ มถากัวร์วิหาร  วิหารนี้อยู่ริมถนน ห่างจากสถูปที่ปรินิพพาน ประมาณ 500 เมตร ชาวพื้นเมืองเรียกว่า มถา บาบากิ มูรติ มัณฑีร (มณฑปพระตาย) หรือ ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางภูมิสัมผัส(ปางมารวิชัย) สร้างด้วยหินสีดำ สมัยปาละ ขุดพบโดย เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม  พบพระพุทธรูปนี้ เมื่อปี พุทธศักราช 2404 เป็นพระพุทธรูปแบบมหายาน สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากนิษกะ สูง 5 ฟุต 9 นิ้ว  ประดิษฐานไว้บนแท่นหินที่เดิม จนกระทั่ง พุทธศักราช 2469 นางอู โฟ เที้ยว เศรษฐินีชาวพม่า ผู้บูรณะปรินิพพานสถูป ได้มาสร้างวิหารมถากัวร์นี้ขึ้น เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปนั้น สาเหตุที่สร้างวิหารเป็นอนุสรณ์ไว้ที่นี้ ถือตามตำนานว่า สถานที่แห่งนี้เป็นที่พระพุทธเจ้าประทับพักระหว่างทาง ก่อนที่จะเสด็จไปถึงสาลวโนทยาน และให้พระอานนท์ไปตักน้ำในแม่น้ำกกุธานทีมาให้เสวย


มถากัวร์วิหาร  

             ปูชนียสถานที่สำคัญที่เห็นในปัจจุบันเรียกว่า สาลวโนทยาน ที่ปรินิพพาน มีซากอิฐบริเวณที่รัฐบาลรักษาไว้ นอกจากปรินิพพานสถูป ปรินิพพานวิหารที่ด้านในมีพระพุทธรูปปางปรินิพพานแล้ว บริเวณรอบๆ มีซากเจดีย์ วิหาร สระน้ำ ต้นสาละ และสวนสาธารณะ

พระพุทธรูปดำ พบที่มถากัวร์ กุสินารา

             ห่างจากมหาปรินิพพานสถูป ออกไป 1 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออก เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เป็นเนินดินกองอิฐขนาดใหญ่ เรียกว่า มกุฏพันธนเจดีย์ หรือชาวท้องถิ่นเรียกว่า รัมภาร์สถูป รัฐบาลอินเดียจัดรักษาให้มีรั้วล้อมรอบขอบชิดเป็นอย่างดี

มกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ กุสินารา

 

หลักธรรมที่ตรัสในสาลวโนทยานและมรดกธรรม [1]

            1.  เรื่องการบูชา 2 อย่าง

            ในมหาปรินิพพานสูตร พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกายมหาวรรค เล่ม 10  ข้อ129 หน้า 112 พระพุทธเจ้าทรงปรารภสักการะบูชาและปฏิบัติบูชา ยกย่อมปฏิบัติบูชาเหนืออามิสสบูชา ดังความว่า  

             “ครั้งนั้น ต้นรังทั้งคู่ เผล็ดดอกบานเต็มต้น ล่วงหล่นมายังพระพุทธสรีระ บูชาพระตถาคตเจ้า เป็นมหัศจรรย์ แม้ดอกมณฑาในเมืองสวรรค์ ตลอดทิพยสุคนธชาติก็ตกลงมาจากอากาศ บูชาพระตถาคตเจ้า ใช่แต่เท่านั้น ยังเทพเจ้าทั้งหลายก็ประโคมดนตรีทิพย์ บรรลือลั่นเป็นมหานฤนาท บูชาพระตถาคตเจ้าในอวสานกาล

              ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแก่พระอานนท์เถระว่า "อานนท์ การบูชาพระตถาคตด้วยอามิสบูชา แม้มากเห็นปานนี้ ก็ไม่ชื่อว่า บูชาพระตถาคตอันแท้จริง อานนท์ ผู้ใดแล มาปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่งในธรรม ผู้นั้นชื่อว่า บูชาพระตถาคตด้วยการบูชาอย่างยิ่ง

 

 

 

 

            2.  เรื่องถูปารหบุคคล

            ผู้ที่สมควรนำอัฐิบรรจุสถูปมี 4 ประเภท คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า  พระสาวกของพระตถาคต และ พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ใครได้มาไหว้ระลึกถึง ถือเป็นความดี บุญกุศลจะนำไปสู่สวรรค์ได้ (ที.มหา 10/134/116)

            3.  เรื่องสังเวชนียสถาน

            ในมหาปรินิพพานสูตรข้อ 131- 132 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 2 ทีฆนิกาย มหาวรรค หน้า 113-114 พระอานนท์ ทูลถามพระพุทธเจ้า เมื่อสิ้นพระองค์จะทำอย่างไร สาวกจะได้ไม่ว้าเหว่ พระพุทธเจ้าตรัสตอบพระอานนท์ ดังบทสนทนาว่า

             ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อน พวกภิกษุผู้อยู่จำพรรษาในทิศทั้งหลาย ย่อมมาเพื่อเฝ้าพระตถาคต พวกข้าพระองค์ย่อมได้เห็น ได้เข้าไปนั่งใกล้ ภิกษุเหล่านนั้นผู้ให้เจริญใจ โดยกาลล่วงไปแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า พวกข้าพระองค์จักไม่ได้เห็น ไม่ได้เข้าไปนั่งใกล้ พวกภิกษุผู้ให้เจริญใจ 

            พระพุทธเจ้าตอบว่า  ดูก่อนอานนท์   สังเวชนียสถาน 4  แห่งเหล่านี้ เป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา คือ

            1. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา ด้วยมาระลึกว่า พระตถาคตประสูติที่นี้

            2. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา ด้วยมาระลึกว่า พระตถาคตตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณที่นี้

            3. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา ด้วยมาระลึกว่า พระตถาคตทรงยังอนุตตรธรรมจักรให้เป็นไปที่นี้

            4. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา ด้วยมาระลึกว่า พระตถาคตเสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุที่นี้

            สังเวชนียสถาน 4 แห่งนี้แล เป็นสิ่งที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา

            ดูก่อนอานนท์ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จักมาด้วยความเชื่อว่า พระตถาคตประสูติที่นี้ก็ดี พระตถาคตตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณที่นี้ก็ดี พระตถาคตทรงยังอนุตตรธรรมจักรให้เป็นไปที่นี้ก็ดี พระตถาคตเสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุที่นี้ก็ดี  ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เที่ยวจาริกไปยังเจดีย์ มีความเลื่อมใสแล้ว จักทำกาละลง (ตาย) ชนเหล่านั้นทั้งหมด จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

            4.  เรื่องการปฏิบัติต่อสตรี

            พระอานนท์ทูลถามว่า จะปฏิบัติต่อสตรีอย่างไร  พระพุทธเจ้าตรัสวิธีที่พระสงฆ์จะเกี่ยวข้องกับสตรี 3 ประการ คือ 1. การไม่เห็นเป็นการดี  2. ถ้าจำเป็นต้องเห็น อย่าเจรจาด้วย และ 3. ถ้าจำเป็นต้องเจรจา พึงเจรจาด้วยการมีสติ (ที.มหา.10/132/114)

            5. โปรดสุภัททะ ปัจฉิมสาวก (ที.มหา.10/138-9/120-122)

            ในราตรีที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน บรรทมบนพระแท่นปรินิพพาน รอเวลาจะดับขันธ์ มหาชนและพระสงฆ์ที่เข้าเฝ้า ต่างถูกท่วมทับด้วยความโสกาดูร บรรยากาศเงียบเหงา แต่ปรากฏว่า มีปริพพาชก นักบวชนอกศาสนา ชื่อ สุภัททะ อาศัยที่เมืองกุสินาราพอดี มีความสงสัยมานานแล้วว่า ในอินเดียมีนักบวชเจ้าลัทธิมากมาย ต่างคนต่างอวดอ้างคุณสมบัติของตน ว่าตนเองเป็นผู้ตรัสรู้ ทุกคนจะตรัสรู้หรือว่า ตรัสรู้ได้เพียงบางคน กันหนอ ครั้นทราบว่าพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานในยามที่ 3 แห่งราตรีนั้น  อยากถามพระพุทธเจ้าด้วยตนเองว่า ใครกันแน่ที่เป็นพระอรหันต์จริง ประกอบกับที่ตนมีความเลื่อมใสว่า พระพุทธเจ้ามิได้เกิดมาง่ายๆในโลก บางครั้งเท่านั้นจึงจะเกิด พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น จะแสดงธรรมโปรดให้เขาคลายสงสัยได้ และพระองค์ก็นิพพานแล้ว  จึงรีบมาถึง          สาลวโนทยาน  ไม่สนใจว่า ใครจะเศร้าโศก โสกาดูร ใจอยากจะถามพระพุทธเจ้าด้วยตนเอง อยากฟังจากปากให้ได้ พระอานนท์ห้ามการรบกวน ว่าอย่าเบียดเบียนพระตถาคตเลย เพราะเป็นเวลาที่ไม่เหมาะจะเข้าเฝ้าแล้ว สุภัททะ ไม่ยอม ขืนจะเข้าเฝ้าให้ได้ จึงยื้อกันไปมา เถียงจะเข้าเฝ้าให้ได้ด้วยเสียงดัง

            พระพุทธเจ้าทรงสดับเสียง จึงถามว่าเรื่องอะไร ทราบเหตุแล้ว ก็ตรัสอนุญาตปล่อยให้สุภัททะเข้ามาเผ้าด้วยความเข้าใจว่า เขามาด้วยความตั้งใจแสวงหาความรู้ มิใช่เพื่อรบกวน สุภัททะ เข้าเฝ้า และถามปัญหาอย่างที่กล่าวมา พระพุทธเจ้าตรัสว่า

            อย่าถามเรื่องอื่นเลย ตถาคตจะแสดงธรรมให้ฟัง ในธรรมวินัยใด ไม่มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 ในธรรมวินัยนั้น ไม่มีสมณะที่ 1(พระโสดาบัน) สมณะที่ 2(พระสกทาคามี) ไม่มีสมณะที่ 3 (พระอนาคามี) ไม่มีสมณะที่ 4 (พระอรหันต์)  ดูก่อนสุภัททะ ในธรรมวินัยนี้(ศาสนาพุทธ)   มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น มีสมณะที่ 1  สมณะที่ 2  สมณะที่ 3 และสมณะที่ 4 ลัทธิอื่น ๆว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง(ตรัสรู) ก็ภิกษุเหล่านี้ พึงเป็นอยู่โดยชอบ โลกก็จะไม่พึงว่าจากพระอรหันต์

            พระพุทธเจ้าตรัสอีกว่า ดูก่อนสุภัททะ เรามีอายุได้ 29 ปี ออกบวช บวชมาได้ 51 ปี แสวงหาธรรมเป็นกุศล นอกจากพระธรรมวินัยนี้แล้ว สมณะอื่น จะเป็นผู้มีส่วนแห่งธรรมที่ที่สลัดออก(จากทุกข์) ไม่มีเลย สมณะที่ 2  สมณะที่ 3 และสมณะที่ 4 มิได้มี ในลัทธิอื่นจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง

            เขาได้ฟังแล้วเกิดศรัทธาอย่างยิ่ง จึงขอบวช เพราะเขาเป็นนักบวชนอกศาสนา พระพุทธเจ้าแจ้งเงื่อนไขว่า การที่นักบวชในลัทธิอื่นมาขอบวช ต้องอยู่ติตถิยปริวาส(คือทดลองฝึกปฏิบัติ) 4 เดือนก่อน ภิกษุสงฆ์พอใจแล้ว จึงจะบวชให้ สุภัททะ กราบทูลว่า ถ้าอย่างนั้น จะขอปฏิบัติติตถิยปริวาส 4 ปี พ้นกำหนด 4 ปี และภิกษุสงฆ์พอใจ จึงให้บวชตามเงื่อนไขนั้น

            ด้วยความตั้งใจแรงกล้าเช่นนี้ และพระพุทธเจ้าทรงอ่านคนออก จึงให้สงฆ์บวชให้ต่อหน้าพระพุทธเจ้าทีเดียว เป็นสาวกองค์สุดท้าย บวชแล้วปฏิบัติ และบรรลุเป็นพระอรหันต์ทันเวลาก่อนการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

 

            6. การลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ (ที.มหา.10/ 141/123

            พระฉันนะ ถือตัวว่าเป็นข้าเก่าของพระพุทธเจ้า ถือตัวคนเดียวตามเสด็จพระพุทธเจ้าออกผนวชในราตรีนั้น เมื่อมาบวชก็มีมานะจัด ใครตักเตือนไม่ฟัง อ้างว่า พระพุทธเจ้ายังไม่ว่าอะไร  พระอานนท์จึงทูลถามวิธีกำหราบพระฉันนะหัวดื้อ ว่าจะให้จัดการอย่างไร พระองค์ตรัสว่า  อานนท์ สงฆ์พึงลงพรหมทัณฑ์แก่ฉันนะ โดยที่ ฉันนะพึงพูดได้ตามปรารถนา ผู้ใดไม่พึงว่ากล่าวสั่งสอน

            ครั้นพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว สงฆ์ประกาศลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ ทำให้พระฉันนะเสียใจมาก จึงสำนึกกลับตัวกลับใจ มุ่งปฏิบัติ ไม่นานก็บรรลุพระอรหันต์ นับเป็นวิธีกำหราบคนดื้อได้ผลจริงๆ

            7.  เรื่องการถอนสิกขาบทเล็กน้อยที่บัญญัติไว้(ที.มหา.141/123

            พระพุทธเจ้า ทรงอนุญาตว่า ถ้าสงฆ์จำนง จะถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียได้บ้าง แสดงถึงความเป็นผู้รู้มองการณ์ไกลว่า อนาคต สิกขาบทเล็กน้อยบางข้ออาจจะไม่เอื้อหรือเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่ในการทำสังคายนาครั้งที่ 1 พระสงฆ์มีมติไม่ถอนแม้แต่ข้อเดียว เพราะตกลงไม่ได้ ขนาดไหนพอจะเรียกได้ว่าสิกขาบทเล็กน้อย อนึ่ง ต้องการรักษามรดกที่พระศาสดาประทานไว้ หากเลิกสิกขาบทไปเรื่อยๆ ตามความเห็นของตนภายหลัง อาจจะถอนถึงสิกขาบทใหญ่ก็ได้ ดังปัจจุบัน พระสงฆ์บางนิกายไม่เอื้อเฟื้อรักษาสิกขาบท กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว

            8. ธรรมวินัยคือผู้แทนพระศาสดา (ที.มหา.141/123)

            พระพุทธเจ้าทรงวางหลักการแทนตัวบุคคล ดังที่ตรัสว่า

            อานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า  ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น  ธรรมและวินัยอันใด เราแสดงและบัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา

            8. เรื่องอนุญาตให้พระสงฆ์ถามข้อสงสัยที่คาใจ (ที.มหา.142/123)

            ก่อนวาระสุดท้าย พระพุทธเจ้าให้โอกาสพระสงฆ์ทูลถามเรื่องที่คาใจตนว่า ภิกษุทั้งหลาย ความเคลือบแคลงสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรคหรือในข้อปฏิบัติจะพึงมีแก่ภิกษุรูปใด จงถามเถิด จะได้ไม่ร้อนใจภายหลังว่า เมื่อพระศาสดายังอยู่ต่อหน้าพวกเราพวกเรามิได้ถามกะพระองค์โดยตรง   ตรัสถาม 3 ครั้ง พระสงฆ์ทุกรูปก็เงียบเสีย จึงทรงแนะอีกว่า บางที่ตนเองไม่กล้าถาม ให้เพื่อนภิกษุถามให้ก็ได้ ก็เงียบหมด ไม่มีผู้ใดถามเลย

            9. ปัจฉิมวาจา (ที.มหา.143 /124)

            สุดท้ายก่อนจะเข้านิพพาน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจังยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด

            นี้คือ ปัจฉิมวาจา และสรุปคำสอนทั้งปวงว่า อย่าประมาท เป็นยอดแห่งการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา นำมาใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย และทุกชนชั้น ทุกสถานการณ์ ใครก็ตามหากทำอะไรด้วยความระมัดระวังไม่ประมาท โอกาสผิดพลาดจะเกิดขึ้นได้ยากมาก อย่าประมาท คือ อมตวาจาจากพระพุทธเจ้า

 

เหตุการณ์ภายหลังการปรินิพพาน 

            หลักจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ได้ 7 วัน  กษัตริย์มัลละ ก็ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ตามคำพระอานนท์ ที่มกุฏพันธนเจดีย์ มีพระมหากัสสปะเดินทางมาทันถวายพระเพลิงพอดี เมื่อถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว ทูตจากกษัตริย์ต่างเมือง 8 เมือง ก็มาขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุที่กล่าวมาในบทก่อน มัลลกษัตริย์เกิดหวงแหนอ้างว่า พระพุทธเจ้านิพพานที่เมืองเรา เราไม่ให้ เกือบยกทัพแย่งชิงพระธาตุ พอดีโทณพราหมณ์ ผู้เฒ่าเห็นท่าที่จะลุกลามไปกันใหญ่ จึงเตือนว่า  พวกเราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้สรรเสริญขันติธรรม ไม่ควรจะประหัตประหารกันแย่งสรีระของพระพุทธเจ้าผู้มีอุดมการเช่นนี้  จงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุกันเถิด

            โทณพราหมณ์จึงเป็นผู้แบ่งออกเป็น 8 ส่วนเท่าๆกัน แก่ทูตกษัตริย์ 8 หัวเมือง ไปก่อสถูปที่เมืองของตน โทณพราหมณ์ ขอทะนานตวงไว้สร้างสถูปบูชา อีก 1 ที่  สถานที่โทณพราหมณ์ สร้างตุมพะสถูปอยู่ที่ ชุมชนโทณะ ออกเสียงตามอินเดียว่า โดณะ บ้านเกิดของโทณพราหมณ์ ปัจจุบันคือหมู่บ้านโดณะ อำเภอสีวัน รัฐพิหาร ห่างจากเมืองกุสินารา ไป ประมาณ 50 กิโลเมตร ซึ่งห่างจาก อุตตรประเทศไปเพียง 26 กิโลเมตรเศษ   พบซากสถูปโบราณ ไม่ไกลจากวัดชาวฮินดูนัก พระมหาดาวสยาม วชิรปญฺโญ ผู้สืบค้น พุทธสถานที่ถูกลืมในอินเดีย ได้ไปสำรวจพบว่า ยังมีซากสถูป เป็นเนินดินปกคลุมด้วยหญ้า พบพระพุทธรูปสลักบนหินสีดำ และเทวรูปพระนางตารา เทพีของพระพุทธศาสนามหายาน ลัทธิตันตระ แต่ชาวอินเดียบูชาว่า เป็นพระแม่ทุรคา[2]   ผู้ และก็มีทูตกษัตริย์โมริย จากบิปผลิวันมาไม่ทันการแจกส่วนแบ่ง จึงขอเอาอังคารไปก่อสถูปที่บิปผลิวัน เป็น 10  สถูป กระจายทั่วชมพูทวีป ตอนเหนือ

            หลักจากนั้น 3 เดือน พระมหากัสสปะ สาวกผู้ใหญ่ก็ียกสงฆ์ชุมนุมทำสังคายนา ที่ถ้ำสัตตบรรณ ภูเขาเวภารบรรพต  นครราชคฤห์ เพราะหนักใจที่พระแก่ชื่อสุภัททะ(คนละองค์ที่บวชในวันปรินิพพาน) แสดงอาการลิงโลดเมื่อทราบข่าวการนิพพาน ว่า ดีแล้ว หมดคนคอยห้ามว่าอันนี้ก็ไม่ได้ อันนั้นก็ไม่ได้ ต่อไปนี้พวกเราเป็นอิสระ ทำอะไรได้ตามใจชอบ  คำเช่นนี้ เป็นเสี้ยนหนามแก่พระศาสนา จึงได้ประชุมใหญ่ เพื่อวางรากฐานและสถาบันพระศาสนาให้มั่นคง แม้จะไม่มีพระศาสดาแล้วก็ตาม พวกเราชาวพุทธจึงได้มรดกศาสนา เป็นหนี้รพระคุณของพระสงฆ์เถระเจ้าผู้มองการณ์ไกล สืบทอดสังคายนารุ่นแล้วรุ่นเล่า จนมาถึงพวกเราเป็นเวลา 2548 ปี เข้านี่แล้ว คำสั่งสอนของพระศาสดายังคงบริสุทธิ์ ไม่มีการบิดเบือนเพื่อประโยชน์พวกพ้องตนแต่ประการใด.    

 

การเดินทางสู่กุสินารา
             ผู้เดินทางจาริกแสวงบุญสู่กุสินารา ส่วนใหญ่จะเริ่มเดินทางจากพาราณสี หลังจากนมัสการสังเวชนียสถานที่สารนาถแล้ว หากเดินทาง โดยรถยนต์จากพาราณสี ต้องใช้เวลา 1 วันเต็ม  ข้ามแม่น้ำใหญ่แห่งหนึ่ง คือแม่น้ำสรายุ เป็นแม่น้ำกว้างและลึก มีน้ำมากตลอดปี  ถึงโครักขปูร์ เข้าทางแยกซ้ายไปเมืองกาเซีย หรือ กุสินารา ระยะทางจากโครักขปูร์ ประมาณ 65 กิโลเมตร ตามเส้นทางจากโครักขปูร์-   กุสินารา ตามรายทางสองฟากข้าง มีป่าสาละขึ้นเป็นดง เป็นป่าสงวน ดูแลโดยรัฐบาลอินเดีย ปลูกขึ้นในคราวฉลอง 25 พุทธศตวรรษ

            ที่กุสินารา มีวัดชาวพุทธหลายชาติ  ไทย 2 วัด คือ วัดไทยกุสินารา วัดไทยกุสาวดี พม่า 1 วัด ลังกา 1 วัด จีน 1 วัด  ญี่ปุ่นเป็นอาคาร 1 แห่ง อยู่ในบริเวณสาลวโนทยาน พร้อมที่พำนักแรมสะดวกสบายตามสมควร ควรแวะชมให้กำลังใจพระสงฆ์ผู้เสียสละเฝ้าพุทธสถานด้วย จะเป็นการดียิ่ง



                [1] เก็บความจาก มหาปรินิพพานสูตร พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกายมหาวรรค, เล่ม 10  ข้อ129-143หน้า 112-124.

                [2] พระมหาดาวสยาม วชิรปญฺโญ, พุทธสถานที่ถูกลืมในอินเดีย, (กรุงเทพฯ :  ห้างหุ้นส่วนจำกัด เม็ดทรายพรินติ้ง, 2547 หน้า 112-113.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น