วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

แดนพุทธภูมิ บทที่ 6 อิสิปตนมฤคทายวัน ที่แสดงปฐมเทศนา

 

บทที่ 6

อิสิปตนมฤคทายวัน(สารนาถ) ที่แสดงปฐมเทศนา

(Isipatanamigadayavan : The First Sermon Place)

           โดย 
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์

                                                                                                                                    Phisit Kotsupho

 

ความนำ

            ครั้นพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์ทรงเสวยวิมุตติสุข  เป็นเวลา 7 สัปดาห์ ในสัปดาห์ที่ 7 เสด็จกลับไปประทับที่ต้นอชปาลนิโครธอีกครั้ง  ณ ที่นั้น พระองค์ทรงดำริว่า พระธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้น ลึกซึ้ง ยากที่ผู้มีธุลีในดวงตาจะเข้าใจตามได้   ขั้นแรก ทรงน้อมพระทัยไปในทางที่จะไม่แสดงธรรม ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมทราบพระปริวิตกของพระพุทธเจ้า จึงได้ลงมาทูลอาราธนา ให้ทรงแสดงธรรม  และอาศัยพระมหากรุณาของพระองค์เองด้วยที่ทรงตระหนักถึงการบำเพ็ญบารมีมาในอดีตชาติ โดยจุดมุ่งหมายเพื่อจะพาหมู่สัตว์ ข้ามห้วงโอฆะกันดารจากทุกข์ในสังสารวัฏเป็นหลัก

            พระองค์ทรงพิจารณาเห็นความต่างแห่งอัธยาศัยของสรรพสัตว์ทั้งหลายว่าเป็นดุจดอกบัว 3 เหล่า [1]  คือ บัวพ้นน้ำเป็นพวก อุคฆติตัญญูบุคคล  บัวปริ่มน้ำ เป็นพวกวิปปจิตัญญูบุคคล  บัวกลางน้ำเป็นพวก เนยยะบุคคล ทั้ง 3 กลุ่ม พอจะแนะนำสั่งสอนได้ จึงตกลงพระทัย ที่จะแสดงธรรม ในขั้นแรกทรงพิจารณาว่า ควรจะเสด็จไป โปรดใครก่อน ก็ทรงระลึกถึง อาฬารดาบส และอุทกดาบส ผู้ทรงเคยเป็นอาจารย์ สมัยที่แสวงหาโมกษธรรมอยู่  แต่ทรงทราบด้วยพระญาณว่า อาจารย์ทั้งสองได้เสียชีวิตแล้ว จึงระลึกถึง นักบวชเบญจวัคคีย์ผู้ที่เคยมาอุปัฏฐากพระองค์ในครั้งบำเพ็ญทุกกรกิริยา  นักบวชเบญจวัคคีย์เป็นผู้ที่มีกิเลสในดวงตาเบาบาง ซึ่งละพระองค์เมื่อครั้งเลิกทำทุกกรกิริยา หนีไปพำนักอยู่ที่ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี  พระองค์ จึงตัดสินพระทัยเสด็จไปแสดงธรรมโปรด โดยดำเนินจากพุทธคยามุ่งสู่พาราณสี ในวันขึ้น 4  ค่ำ เดือน 8
       
การพบเบญจวัคคีย์
             พระพุทธเจ้าเดินทางจากพุทธคยาโดยไม่เร่งรีบ เสด็จตามสบาย เป็นเวลา ทั้งสิ้น 11 วัน ได้ระยะทางประมาณ 240 กิโลเมตร ตามทางรถยนต์ ปัจจุบัน  ในเวลาบ่ายคล้อยของวันเพ็ญเดือน 8 ก็เสด็จถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พบกับเบญจวัคคีย์ 5 ท่านคือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ  จุดที่ทรงพบกันนั้น ปัจจุบันสร้างสถูปเอาไว้ เรียกว่า เจาคันฐี อยู่ทางตอนใต้ของ สารนาถ  ประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ

เจาคันฐี ที่พบเบญจวัคคีย์ครั้งแรก

            เมื่อพบกัน ในขั้นแรก เบญจวัคคีย์ ไม่เชื่อว่า พระองค์จะตรัสรู้ แถมเรียกพระองค์ด้วยคำที่ไม่แสดงการเคารพ ด้วยทักออกชื่อและใช้โวหารเรียกว่า อาวุโส(แปลว่า เธอ เป็นถ้อยคำที่ผู้สูงอายุเรียกผู้ด้อยพรรษากว่า)  พระองค์เตือนว่า อย่าทักพระองค์ด้วยคำว่า อาวุโส และบอกว่า พระองค์ตรัสรู้แล้ว เบญจวัคคีย์ ปฏิเสธถึง 3 หนแต่พระองค์ทรงย้ำ และขอให้เบญจวัคคีย์ระลึกดูว่า เรื่องนี้ตลอดเวลาที่เบญจวัคคีย์ยังอยู่รับใช้พระองค์ ที่พุทธคยาเคยตรัสมาก่อนหรือไม่  เบญจวัคคีย์ทบทวนระลึกดูแล้ว เห็นจริงว่า พวกเขาไม่เคยได้ยินพระองค์ตรัสเรื่องการตรัสรู้เลย  อนึ่ง เพราะความที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระวาจาจริงไม่เคยตรัสเหลาะแหละ  มีพระวาจาที่น่าเชื่อถือได้ เบญจวัคคีย์จึงตระหนักว่า น่าที่พระองค์จะได้ตรัสรู้แล้วเป็นแน่ จึงได้น้อมใจยอมรับฟังพระธรรมเทศนาจากพระองค์ ในเย็นวันเพ็ญ เดือน 8 ก่อน พุทธศักราช 45 ปีนั่นเอง

 

ปฐมเทศนา

พระธรรมเทศนากัณฑ์แรก คือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร[2] ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านได้ผ่านเนื้อความ เต็มสูตร มีดังนี้

                สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะเบญจวัคคีย์ว่า   ดูกรภิกษุทั้งหลาย   ที่สุดสองอย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย   เป็นธรรมอันเลว   เป็นของชาวบ้าน  เป็นของปุถุชน  ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์    การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบ ด้วยประโยชน์

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น   นั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น เป็นไฉน ?

ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรค มีองค์ 8 นี้แหละคือ  ปัญญาอันเห็นชอบ ความดำริชอบ เจรจาชอบ   การงานชอบ   เลี้ยงชีวิตชอบ  พยายามชอบ   ระลึกชอบ  ตั้งจิตชอบ        ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่งทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้เพื่อนิพพาน.

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจ คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์   ความแก่ก็เป็นทุกข์   ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์   ความตายก็เป็นทุกข์   ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์   ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักก็เป็นทุกข์   ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์   โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขสมุทัยอริยสัจ คือตัณหาอันทำให้เกิดอีก  ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน  มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา  ภวตัณหา  วิภวตัณหา

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ตัณหานั่นแลดับโดยไม่เหลือ  ด้วยมรรคคือ วิราคะ  สละ  สละคืน  ปล่อยไป  ไม่พัวพัน

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คืออริยมรรคมีองค์ 8 นี้แหละ คือ ปัญญาเห็นชอบ... ตั้งจิตชอบ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ดวงตา  ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า  นี้(คือ)ทุกขอริยสัจ (ญาณทัสสนะอาการที่ 1)

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ... แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล ควรกำหนดรู้  (ญาณทัสสนะอาการที่ 2)

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ... แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล เราก็ได้กำหนดรู้แล้ว  (ญาณทัสสนะอาการที่ 3)

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ... แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้(คือ)ทุกขสมุทัยอริยสัจ  (ญาณทัสสนะอาการที่ 4)

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ...  แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล ควรละเสีย  (ญาณทัสสนะอาการที่ 5)

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ... แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล เราได้ละแล้ว  (ญาณทัสสนะอาการที่ 6)

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ... แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้(คือ)ทุกขนิโรธอริยสัจ  (ญาณทัสสนะอาการที่ 7)

              ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ... แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล ควรทำให้แจ้ง  (ญาณทัสสนะอาการที่ 8)

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ... แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล เราทำให้แจ้งแล้ว  (ญาณทัสสนะอาการที่ 9)

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ... แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้(คือ)ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ (มรรค)  (ญาณทัสสนะอาการที่ 10)

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ... แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั้นแล ควรให้เจริญ  (ญาณทัสสนะอาการที่ 11)

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา  ... แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั้นแล เราให้เจริญแล้ว (ญาณทัสสนะอาการที่ 12)

ญาณทัสสนะ มีรอบ 3(รอบ) มีอาการ 12

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเราในอริยสัจ 4 นี้ มีรอบ 3 มีอาการ 12 อย่างนี้ ยังไม่หมดจดดีแล้วเพียงใด  ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังยืนยันไม่ได้ว่า  เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น.  

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเรา ในอริยสัจ 4 นี้ มีรอบ 3 มีอาการ 12 อย่างนี้ หมดจดดีแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้น เราจึงยืนยันได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์.

             อนึ่ง ปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า ความพ้นวิเศษของเราไม่กลับกำเริบ ชาตินี้เป็นที่สุด ภพใหม่ไม่มีต่อไป.

             ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่   ดวงตาเห็นธรรม  ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา  สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับเป็นธรรมดา.

             ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว เหล่าภุมมเทวดาได้ บันลือเสียงว่า นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือ  ใครๆ  ในโลก จะปฏิวัติไม่ได้

             เทวดาชั้นจาตุมหาราช ได้ยินเสียงของพวกภุมมเทวดาแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป  

             เทวดาชั้นดาวดึงส์ ได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป

             เทวดาชั้นยามา ...  เทวดาชั้นดุสิต ...  เทวดาชั้นนิมมานรดี ...  เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดี ...

             เทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม  ได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดีแล้ว ก็  บันลือเสียงต่อไปว่า นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม  หรือใครๆ  ในโลก จะปฏิวัติไม่ได้

             ชั่วขณะกาลครู่หนึ่งนั้น เสียงกระฉ่อนขึ้นไปจนถึงพรหมโลก  ด้วยประการฉะนี้แล

             ทั้งหมื่นโลกธาตุนี้ได้หวั่นไหวสะเทือนสะท้าน ทั้งแสงสว่างอันยิ่งใหญ่หาประมาณมิได้  ได้ปรากฏแล้วในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย

             ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานว่า ท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะ  ได้รู้แล้วหนอ ท่านผู้เจริญ   โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ เพราะเหตุนั้น คำว่า อัญญาโกณฑัญญะนี้ จึงได้เป็นชื่อของท่านพระโกณฑัญญะ ด้วยประการฉะนี้

พระธรรมจักร กงล้อแห่งพระธรรม

สรุปสาระพระปฐมเทศนา

พระพุทธเจ้าทรงแสดงถึง  การประพฤติปฏิบัติ ที่สุดโต่งเกินไป 2 ประการ คือ การหมกมุ่นในกามคุณ (กามสุขัลลิกานุโยค)  และการทรมานตนให้ลำบาก (อัตตกิลมถานุโยค)  ไม่ควรปฏิบัติ และสิ่งที่ควรปฏิบัติ คือทางสายกลาง ที่รัยกว่า มัชฌิมาปฏิปทา และแสดงอริยสัจ 4  ด้วยการหยั่งรู้อริยสัจ 4 อย่างละเอียด ทำให้พระองค์บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์
             ครั้นจบพระธรรมเทศนา
โกณฑัญญะ ได้พิจารณาตามพระธรรมเทศนา ก็เกิดธรรมจักษุ หรือดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น ย่อมดับไปเป็นธรรมดา บรรลุโสดาปัตติผล เป็นอริยสาวกองค์แรกในพระพุทธศาสนา ได้รับการยกย่องว่า เป็นรัตตัญญู แปลว่า ผู้รู้ก่อนผู้อื่น  

 

พระสงฆ์รูปแรกเกิดในพระพุทธศาสนา

โกณฑัญญะ หัวหน้าเบญจวัคคีย์ ได้ทูลขอบวช พระองค์ทรงประทาน เอหิภิกขุอุปสัมปทา นับเป็นพระภิกษุรูปแรก ในพระพุทธศาสนา ที่ได้รับการประทานอุปสมบทจากพระศาสดา ในวันต่อๆ มา พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรม ปรดเบญจวัคคีย์อื่นๆอีก คือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ และทุกคนก็บรรลุธรรมและขอบวชตามลำดับ และในวันแรม 5 ค่ำ  เดือน 8 นั่นเอง พระองค์ได้ทรงแสดงเทศนากัณฑ์ที่ 2 ชื่อ อนัตตลักขณสูตร แก่พระเบญจวัคคีย์ทั้ง 5 รูปบรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านผู้ประสงค์จะศึกษา อนัตตลักขณสูตรอย่างละเอียด โปรดศึกษาจากพระไตรปิฎก จะได้เห็นวิธีการซักไซ้ไล่เลียงความคิดเห็นแต่ละระดับๆ จนเกิดความเข้าใจเองในเรื่องอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ซึ่งถือว่า เป็นหลักปรัชญาชั้นสูงของพระพุทธศาสนา ที่ปฏิเสธทฤษฎีอัตตาของพวกพราหมณ์ในสมัยนั้น

       

การที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร อันเป็นเทศนากัณฑ์แรก เทศนา อนัตตลักขณะสูตร โปรดเบญจวัคคีย์ 5 รูป อนุปุพพิกถา โปรด พระยะสะ และสหายอีก 54   และมีผู้รู้ตามเป็นประจักษ์พยานแห่งการตรัสรู้ของพระองค์ จำนวน 60 รูปในปีแรกนี้เอง ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ การเผยแผ่พุทธธรรม ประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้ตั้งมั่นขึ้นมา   อิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสีแห่งนี้ จึงเรียกได้ว่าเป็นที่อุบัติของหลายสิ่งในพระพุทธศาสนา คือ

1. การขึ้นแห่งพระธรรมรัตนะ หรือ ปฐมเทศนาธรรมจักร ที่เป็น พระธรรมประทีป ส่องสว่างกำจัดความมืดแห่งอวิชชาในสรรพสัตว์ทั้งหลาย

            2. การเกิดขึ้นของพระสังฆรัตนะ  คือ พระโกณฑัญญะ ที่ได้ฟังพรธรรมแล้วเกิดการหยั่งรู้ตามบรรลุเป็นพระอริยสาวก และขอบวชเป็นภิกษุรูปแรก และรูปอื่นตามมาอีก  เป็น 60 รูป

            3. เป็นสังเวชนียสถานแห่งที่ 3 ที่ชาวพุทธควรจะไปกราบไหว้ แสวงบุญ สำคัญไม่น้อยไปกว่า ลุมพินี พุทธคยา ที่เขียนมาแล้ว

 

อิสิปตนมฤคทายวันในปัจจุบัน

            อิสิปตนมฤคทายวัน ปัจจุบันเรียกว่า สารนาถ อยู่ในแขวง พาราณสี ตั้งอยู่ทางทิศเหนือห่างจากตัวเมืองพาราณสี ประมาณ 10 กิโลเมตร ขึ้นอยู่ในเขตรัฐอุตตรประเทศ คำว่า สารนาถ มีความหมายว่า สวนกวาง กร่อนมาจากคำว่า สารังคนาถ ( คำว่า สารังค แปลว่า กวาง + นาถ แปลว่าที่พึ่ง รวมความหมายถึง สวนเป็นที่พึ่งของกวาง ) คือ เป็นที่อยู่อาศัยของกวาง อันเป็นความหมายเดียวกับคำว่า มฤคทายวัน ในอดีต  เป็นสถานที่อภัยทานแก่สัตว์มาแต่ครั้งก่อนพุทธกาล ในสมัยพระพุทธเจ้ายัง บำเพ็ญบารมี เสวยพระชาติเป็นพญากวางโพธิสัตว์ ดังปรากฏในมิคราชชาดก ได้ทรงสละชีวิตพระองค์ ให้พระราชา ในเมือง นั้น แทนกวางสองแม่ลูก พระราชาทรงเลื่อมใสในคุณธรรมของพญากวาง จึงได้ทรงปล่อยไป และประกาศให้เขตป่านั้น เป็น สถานที่อภัยทาน และเป็นที่อยู่อาศัยของกวางมาจนถึงปัจจุบัน แม้ปัจจุบันจะมีการอนุรักษ์กวางเอาไว้โดยรัฐบาล แต่ก็มีจำนวนน้อยลง


            คำว่า
อิสิปตนมฤคทายวัน  นอกจากจะหมายถึงป่าอันเป็นที่ให้อภัยทานแก่เนื้อ ยังเป็นที่ประชุมสนทนาธรรม ของ พวกฤาษี มาแต่ครั้งก่อนพุทธกาล คำว่า อิสิปตนะ แปลว่า ที่ฤาษีตก ซึ่งหมายถึง ฤาษีผู้ได้ฌานสมาบัติ มักเหาะมาลงที่ตรงนี้ เป็นที่พำนักและเป็นที่ชุมนุมของบรรดาฤาษีทั่วไป ดังนั้น เมื่อเบญจวัคคีย์ ละจากพระสิทธัตถะในคราวที่ทรงเลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยา มาบำเพ็ญตามแบบทางสายกลาง จึงได้พากัน หลีกหนี มายังอิสิปตนะนี่เอง

 

 

ธัมเมกขสถูป ที่สารนาถ

สิ่งปลูกสร้างที่ สารนาถ

            1.  ธัมเมกขสถูป             

            ระหว่าง พุทธศักราช 238-260  ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ได้เสด็จมานมัสการพุทธสถานแห่งนี้ และทรงสร้างถาวรวัตถุ ไว้มากมาย เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานถึงพระพุทธเจ้า โดยสร้างวิหาร สถูปเอาไว้ พระสถูปนี้ตั้งอยู่บนที่เนิน ขนาดของพระสถูป เส้นผ่าศูนย์กลาง 28 เมตรครึ่ง มียอดทรงกรวย สูงประมาณ 80 ฟุต วัดโดยรอบประมาณ 120 ฟุต  เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดพระเบญจวัคคีย์ ส่วนล่างก่อด้วยหิน มีภาพสวัสดิกะ เป็นแผ่นหินอยู่โดยรอบ สูงขึ้นไป    อีกชั้นหนึ่ง ทำเป็นช่องเล็กๆ แต่ละช่องประดิษฐาน พระพุทธรูป แบบต่างๆ ช่องเหล่านั้นมีขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง คละกันไป ช่องใหญ่รอบองค์พระสถูปนั้นมี 8 ช่อง ซึ่งมีความหมายถึง มรรคมีองค์ 8 ประการ (อัฏฐังคิกมรรค) พระสถูปนี้ ชื่อว่า ธัมเมกขสถูป หรือ ธรรเมกขสถูป ซึ่งมีหลายท่าน สันนิษฐานว่า     มาจากคำว่า ธัมม + มุข  หมายถึง พระธรรมจากพระโอษฐ์ บางท่านก็สันนิษฐานว่า มาจากคำว่า           ธัมมะ+อิกข  ตามหลักไวยากรณ์บาลี แปลงตัว อิ ให้เป็น เอ สนธิ กับคำว่า ธัมมะ เป็น ธัมเมกขะ หมายถึง เห็นธรรม สรุปคือ พระสถูปนี้ เป็นตัวแทนแห่งการเห็นธรรมจักษุ หรือในอีก ความหมายหนึ่ง สถูปนี้สร้างขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ท่านผู้เห็นธรรมจักษุ คือพระอัญญาโกณฑัญญะ นั่นเอง

             เมื่ออกพรรษาแรก  ณ ที่แห่งนี้ พระพุทธองค์ทรงใช้เป็นที่ชุมชนของพระอรหันตพุทธสาวก 60 องค์ ก่อนที่จะส่งออกประกาศพระพุทธศาสนา  เป็นพระธรรมทูตชุดแรก    พระพุทธเจ้า ตรัสแก่ภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพทั้งหลายว่า

            "ภิกษุทั้งหลาย เราได้พ้นจากบ่วงทั้งปวงทั้งชนิดที่เป็นทิพย์ และชนิดที่เป็นของมนุษย์แล้ว แม้ท่านทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน  เธอทั้งหลายจงพากันจาริกไปยังชนบททั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุขแก่มหาชนเถิด อย่าไปรวมกันทางเดียว ถึงสองรูปเลย จงแสดงธรรมให้งามทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ เถิด จงประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสเบาบางนั้นมีอยู่ เพราะโทษที่ไม่ได้ฟังธรรม ย่อมจะเสื่อมจากคุณที่จะพึงได้ถึง ผู้รู้ทั่วถึงธรรมคงจักมีอยู่ แม้ตัวเราก็จะไปยัง อุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดง ธรรมเช่นกัน " [3]

            แล้วพระองค์ ทรงส่งสาวกออกประกาศ ศาสนาพร้อมกันทีเดียว 60 องค์ ไป 60 สาย ทุกสารทิศพระองค์เองก็กลับไปที่พุทธคยาอีก

            ในสมัยราชวงศ์คุปตะ สารนาถเจริญถึงขีดสุด มีมหาวิหารที่พำนักสงฆ์ขนาดใหญ่  พระสมณะจีน เฮี่ยงจัง หรือ พระถังซำจั๋ง เดินทางมา ได้บันทึกไว้ว่า มีพระภิกษุ ประจำอยู่ 1,500 รูป มีพระสถูปสูงประมาณ 100 เมตร และมีอนุสรณ์สถานมากมาย จนมาถึงในสมัย พ.. 1700 พวกกองทัพมุสลิม ได้ยกทัพมาตีอินเดีย และทำลายทั้งพุทธสถาน เทวสถาน ของพราหมณ์ ทั่วอินเดียตอนเหนือ เสียมาก แม้แต่ที่สารนาถนี้ก็ถูกทำลายด้วย  จนกระทั่งในสมัยอังกฤษปกครองอินเดีย สถานที่แห่งนี้ก็ถูกฟื้นฟูขึ้น โดยการขุดค้นพบ ของนักโบราณคดีชาวอังกฤษ คือท่าน เซอร์ คันนิ่งแฮม และต่อมา ท่านอนาคาริกธรรมปาละ ชาวพุทธศรีลังกา ได้เดินทาง มาที่นี่และฟื้นฟูบูรณะขึ้นใหม่อีกครั้ง ผู้เดินทางไปแสวงบุญที่อินเดีย นิยมมาเจริญภาวนาบูชาสักการะกันในบริเวณนี้  

 

2. ธรรมราชิกสถูป สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์ในสถานที่ๆเชื่อว่า เป็นที่ประทับแสดงทุติยเทศนา คือ อนัตตลักขณสูตร แก่ เบญจวัคคีย์หลังจากวันที่ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตรแล้ว ปัจจุบัน เหลือแต่ฐานราก อยู่บริเวณซากพระวิหาร ติดกับมูลคันธกุฎีเดิม


ธัมมราชิกสถูป

             3. เจาคันฐีสถูป  เป็นจุดที่กล่าวกันว่า พระพุทธเจ้า ทรงพบเบญจวัคคีย์เมื่อเสด็จมาถึง อิสิปตนมฤคทายวัน วันแรก อยู่ห่างจากสถานที่แสดงปฐมเทศนา ไม่ไกลนัก ประมาณ 1 กิโลเมตรกว่า  ได้มีการสร้างพระสถูปเป็น เครื่องระลึกว่า นี่เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้า ทรงพบกับเบญจวัคคีย์  สันนิษฐานว่า สร้างราวๆ พุทธศักราช 1000 ช่วงราชวงศ์คุปตะ   เดิม พระสถูปนี้มีความสูง 300 ฟุต แต่ผุพังไปตามกาลเวลา เหลือส่วนสูงเพียง 70 ฟุต ลักษณะส่วนบนเบี่ยงเบนไปจากพุทธศิลป์ดั้งเดิมมาก ด้วยว่า พระเจ้า หุมายุน บิดาของ พระเจ้าอักบาร์มหาราช กษัตริย์มุสลิมวงศ์โมกุล ได้เสด็จลี้ภัยทางการเมือง และมาหลบซ่อน ข้าศึกที่สถูปนี้ เมื่อพ้นจากข้าศึกแล้ว พระเจ้าอักบาร์มหาราช ทรงสำนึกบุญคุณ ของพระสถูป ที่ทำให้พระบิดามาหลบซ่อน และรอดพ้นจากข้าศึกได้ จึงทรงให้มีการก่อสร้าง ต่อเติมพระสถูป ขึ้นไปอีก เนื่องด้วยพระองค์เป็นมุสลิม ทำให้ศิลปะของพระสถูป ที่ถูกต่อเติมนี้ ออกมาในแนวศิลปะแบบมุสลิม เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระเจ้าหุมายุน พระสถูปนี้ จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า สถูปหุมายุน

4.  วัดมูลคันธกุฎีวิหารและอนาคาริกธรรมปาละ       เมื่อมีการขุดค้นพบซากพระมูลคันธกุฎีเดิมของพระพุทธเจ้าที่สารนาถ อนาคาริก ธรรมปาละ ผู้ก่อตั้งสมาคมมหาโพธิ ที่กล่าวมาแล้ว ได้ใช้เงินส่วนตัว สร้างวัดมูลคันธกุฎีขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ห่างจากบริเวณพระมูลคันธกุฎี เดิม ไม่มากนัก ตั้งชื่อว่า วัดมูลคันธกุฏีวิหาร ซึ่งถือว่าเป็นวัดแห่งแรกของพระพุทธศาสนาในอินเดีย

วัดมูลคันธกุฎีวิหาร สารนาถ

วัดมูลคันธกุฎิวิหาร ธรรมปาละริเริ่มการสร้างขึ้น ตั้งแต่ปี 2444 หลังจากที่ พระพุทธศาสนา ถูกลืมเลือนไปจากความทรงจำของชาวอินเดียกว่า 700 ปี ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2474 วัดมูลคันธกุฎีวิหารก็ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็น ทางการ และมีการผูกพัทธสีมาเป็นวัดโดยสมบูรณ์ โดยคณะสงฆ์ลังกา สิ้นเงินการสร้างวัด ตลอดจนเงินค่าจ้างช่างชาวญี่ปุ่นคือ โกเซทซุ โนสุ มาเขียนภาพฝาผนัง พุทธประวัติ รวมทั้งหมด 130,000 รูปี


ภาพเขียนฝาผนัง พุทธประวัติ มูลคันธกุฎีใหม่

 

             ในวันเปิดมูลคันธกุฎีวิหาร มีชาวพุทธและข้าราชการ รัฐบาลอินเดียหลายท่าน และชาวพุทธจากต่างประเทศมากมาย ได้มาร่วมงานกว่าพันคน รัฐบาลอินเดียได้มอบ พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ให้กับผู้แทนสมาคม ได้มีพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริธาตุขึ้นหลังช้าง แห่รอบพระวิหารสามรอบแล้ว จึงนำขึ้นประดิษฐานยังยอดพระเจดีย์ในพระวิหาร(ประเพณีแห่พระธาตุ จะจัดขึ้นเพื่อการฉลองนับแต่นั้นทุกปี)    ท่านธรรมปาละได้กล่าวปราศัยในงานเปิดวันนั้น ความตอนสุดท้าย ที่น่า ประทับใจ ว่า
             "...หลังจากที่พระพุทธศาสนาได้ถูกเนรเทศออกไปเป็นเวลานานถึง 800 ปี ชาวพุทธทั้งหลายก็ได้กลับคืนมา ยังพุทธสถานอันเป็นที่รักของตนนี้อีก ... เป็นความ ปรารถนาของสมาคมมหาโพธิ ที่จะมอบพระธรรมคำสอนอันเปี่ยม ด้วย พระมหากรุณา ของพระพุทธองค์ ให้แก่ประชาชนชาวอินเดียทั้งมวล ไม่เลือกชาติชั้นวรรณะ และลัทธินิกาย.. ข้าพเจ้ามั่นใจ ว่าท่านทั้งหลาย จะพร้อมใจกันเผยแผ่ "
อารยธรรม " (ธรรมอันประเสริฐ) ของพระตถาคตเจ้า ไปให้ตลอดทั่วทั้งอินเดีย... "

             อนาคาริก ธรรมปาละ ได้ตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้นว่า หากท่านจะตาย ขอตายในเพศบรรพชิต ดังนั้น ท่านจึงได้รับการบรรพชา (บวชเป็นสามเณร) ที่ วัดมูลคันธกุฎีวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นในบริเวณห่างจากสารนาถ ซึ่งเป็นสถานที่แสดงปฐมเทศนา ของพระพุทธองค์ ในวันที่ 13 กรกฏาคม ปี 2474 โดยมีพระเรวตเถระ จากศรีลังกา มาบวชให้

            ในปลายปี พุทธศักราช 2475   ท่านธรรมปาละได้ล้มเจ็บหนักอีกครั้ง เมื่อพอสบายดีขึ้น ท่านรู้ว่าใกล้จักถึงวาระสุดท้ายของท่านแล้ว ประสงค์ที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ จึงได้นิมนต์ พระเถระชั้นผู้ใหญ่จากลังกา 10 รูป มีท่านพระสิทธัตถะอนุนายกเถระ คณะสยามนิกาย วัดมัลวัตวิหาร เป็นประธาน และเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ทำการอุปสมบทท่านธรรมปาละ ได้รับภิกษุฉายาว่า "ภิกฺขุ ศรี เทวมิตฺร ธมฺมปาล"  มูลคันธกุฎีวิหาร นั่นเอง

             เมื่อได้อุปสมบท  ปรากฏว่าพระธรรมปาละ เกิดมีกำลังกายกลับคืนมาอีก แต่เป็นการ กลับคืนมาเหมือนกับเปลวเทียนที่กำลังจะหมดไส้ ซึ่งจะสว่างได้ไม่นาน ในเดือนเมษายน 2476  ได้ล้มเจ็บลงอีก วันที่ 28 เมษายน 2476  อาการโรคหัวใจ กำเริบเพียบหนักถึงที่สุด แต่ก็ยังพอจะพูดได้บ้าง และสิ่งที่พระธรรมปาละกล่าวย้ำบ่อยๆ ในขณะเวลา ที่เหลืออีกไม่นานก็คือ " ขอให้ข้าพเจ้าได้มรณะเร็วๆ เถิด แต่ข้าพเจ้าจักกลับมาเกิดใหม่อีก 25 ครั้ง เพื่อเผยแผ่ ประกาศพระธรรมของพระพุทธเจ้า "
           เวลาเช้าของวันที่ 29 เมษายน ท่านแทบไม่รู้สึกตัวอะไรอีก จนถึงเวลา 14.00 . อุณหภูมิในร่างกายของท่านสูงขึ้น จนถึง 104.6 องศา   ทุกคนที่อยู่รอบๆ ก็ทราบว่า พระธรรมปาละกำลังจะมรณภาพ พระภิกษุสามเณรจากประเทศลังกาและอินเดียที่อยู่ที่นั่น ได้ล้อมรอบพระธรรมปาละ พร้อมกันเจริญพระพุทธมนต์ไปอย่างต่อเนื่อง พอสิ้นเสียงเจริญพระพุทธมนต์ ชีวิตของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ผู้เกิดมาเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนรวม และเชิดชูพระศาสนา ได้ดับลง  ในเวลา 15.00 . วันที่ 29เมษายน 2476

พระพุทธรูป ประธานมูลคันธกุฎี

 

5. พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา     ภายในมูลคันธกุฎีวิหาร ได้ประดิษฐานพระประธานปางปฐมเทศนา เนื้อทองคำ ศิลปะคุปตะ อันงดงาม ซึ่งจำลองแบบ มาจากพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ศิลปคุปตะ ที่ทำจากหินทรายแดง ที่มีความเป็นพุทธศิลปะงดงามมากที่สุด ที่ค้นพบได้ ปัจจุบัน พระพุทธรูปองค์ต้นแบบเดิม  ได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สารนาถ

 

พระพุทธรูปปางปฐมเทศนาองค์เดิม พิพิธภัณฑ์ สารนาถ

 

            6. วัดไทยสารนาถ ตั้งอยู่ก่อนที่จะถึงธัมเมกขสถูป ประมาณ 300 เมตร มีเนื้อที่ประมาณ เกือบ 10 ไร่ (คะเนด้วยสายตา)  ก่อสร้างโดยชาวพุทธไทย เมื่อประมาณปีพุทธศักราช 2512 นำคณะศรัทธาชาวไทยสร้างโดย พระครูประกาศสมาธิคุณ จากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และศิยษ์สำคัญ คือ คุณศศิธร ธนานาถ ผู้อุปถัมภ์หลัก ปัจจุบัน มีกุฎีสงฆ์ อาคารสี่ด้าน รอบพื้นที่โล่งตรงกลางเป็นสนาม สร้างด้วยคอนกรีต 2 ชั้น ขนาดใหญ่ มีห้องรับผู้แสวงบุญได้พักแรม ประมาณ  40 ห้อง มีพระอุโบสถศิลปะแบบไทย สวยงาม  มีกุฏีสงฆ์ขนาดเล็กหลายหลัง สมัยที่ผู้เขียนยังเป็นนักศึกษาปริญญาเอก สาขาปรัชญา อยู่ที่ มหาวิทยาลัยสันสกฤต(.. 2529-2532) บางเวลา ได้มาอาศัยใบบุญวัดไทยสารนาถเป็นที่พำนักเขียนวิทยานิพนธ์ เพราะบรรยากาศสงบเงียบ ช่วงเย็น๐ ก็ชอบที่ออกมาไหว้พระสวดมนต์ นั่งภาวนา ที่ธัมเมกขสถูปประจำ ช่วงนั่น มีพระสงฆ์ชาวอินเดียแต่อุปสมบทที่ประเทศไทยเป็นเจ้าอาวาส นามท่าน คือ พระศาสนรังษี รูปร่างสันทัด อัธยาศัยไมตรี ยิ้มแย้ม ปฏิสันถารด้วยเสียงดัง สำเนียงไทยปนแขก  มีพระสงฆ์อยู่ประจำ 3 รูป มีพระภิกษุชาวไทย หลานท่านพระครูประกาศฯ 1 รูป ผู้เขียนเรียกท่านว่า พระขุน  ปัจจุบันนี้ ไม่มีข้อมูลที่ทันสมัย ต้องกราบขออภัยท่านผู้อ่านไว้ตรงนี้ด้วย

            7. วัดชาวพุทธชาติอื่นๆ เช่น วัดจีน วัดพม่า วัดชาวทิเบต วัดญี่ปุ่น วัดเกาหลี ก็เรียงรายในบริเวณสารนาถ  นอกจากนี้ ยังมีห้องสมุดสมาคมมหาโพธิ ให้บริการความรู้ด้านพระพุทธศาสนา แก่ผู้สนใจ มีหนังสือเอกสารทางประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนาเก็บไว้ เป็นข้อมูลที่น่าจะไปแวะชม

            8. พิพิธภัณฑ์สารนาถ เป็นที่เก็บพระพุทธรูปต่างๆ ที่ทรงคุณค่าทางศิลปะ และประวัติศาสตร์มากมาย ประการสำคัญ พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา องค์ที่สวยงามที่สุด ก็เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ แห่งนี้   หัวสิงห์ยอดเสาศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชก็เก็บไว้เช่นกัน  ควรๆม่พลาดที่จะเข้าชมเป็นบุญตา ได้ทั้งความรู้และความสุขไปพร้อมกัน 

 

หัวสิงห์ ยอดเสาศิลาอโศก สารนาถ

พาราณสี เมืองศักดิ์ศิทธิ์ เมืองแห่งพระแม่คงคา

พาราณสี นามนี้ คุ้นหูคนไทยมาก เวลาอ่านนิทานชาดก จะปรากฏนาม พระเจ้าพรหมทัต ผู้ครองนครแทบทุกเรื่อง บางทีเรียกกาสิกราช ก็มี  ในสมัยพุทธกาล เมืองนี้ อยู่ในแคว้นกาสี หนึ่งในมหาชนบท 16 แห่ง เชื่อเสียงของพาราณสี ที่โดดเด่น ก็เป็นผ้าไหมเนื้อละเอียดดีเยี่ยม สำหรับเป็นผ้าโพกเศียรของ ราชา ราชกุมาร และอิสระชนผู้มีอำนาจ หรือเป็นผ้าส่าหรีของสตรีอินเดียผู้มีอันจะกิน เรียกว่า ผ้ากาสี  ปัจจุบัน ยังมีโรงงานทอผ้าอนุรักษ์กรรมวิธีการทอผ้าไหมกาสีแบบโบราณเอาไว้ สมัยก่อนพาราณสี เป็นแหล่งการค้าของพ่อค้าวานิช ชาวอินเดียเรียกว่า วาราณสี(Varanasi) ชาวอังกฤษ เรียกว่า บนารัส(Banaras หรือ  Banares)

                แม่น้ำคงคา(Ganga)ไหลผ่านเมืองพาราณสี เป็นเมืองแห่งศาสนาพราหมณ์ที่อนุรักษ์จารีตสืบมาไม่น้อยกว่า 4,000 ปีแม้กองทัพบุกก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เลย  มีท่าน้ำ ที่เรียกตามภาษาพื้นเมืองว่า ฆาฏ สำหรับผู้แสวงบุญได้สรงสนานนับ 100 ท่า เรียงรายตามคุ้งริมฝั่งคงคา ชาวอินเดีย มาอาบน้ำลอยเคราะห์ ลอยบาปนับตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ผู้ที่มาอาบน้ำชำระบาปวันหนึ่งๆ เป็นจำนวนหมื่น ยิ่งเทศกาลสำคัญ วันมหาสนาน  จำนวนเพิ่มเป็นล้านคน ชาวอินเดียหวังว่า ในชั่วชีวิต แม้เพียงครั้งเดียวก็ขอให้ได้ไปอาบน้ำที่พระแม่คงคา

                นอกจากนี้ ยังมีท่าสำหรับเผาศพ มากกว่า 10  แห่ง ท่าสำหรับเผาศพที่สำคัญคือ ท่ามณิกานิกาฆาฏ  เป็นกองฟอนและสุสานเผาศพกลางแจ้งที่ริมฝั่งพระแม่คงคา ไฟจากเชิงตะกอนมิเคยดับส่องแสงวับแวมเป็นเวลา หลายพันปี เพราะความเชื่อว่า ถ้าได้เผาศพแล้วนำอังคารลอยที่แม่น้ำคงคา วิญญาณจะได้ขึ้นสวรรค์  ริมฝั่ง เต็มไปด้วยไม้ฟืนสำหรับเผาศพตั้งสุมกองเป็นพะเนินภูเขาเลากา

                มีศาสนสถาน เทวาลัยทุกซอกทุกมุม บ้านเรือนตั้งอยู่อย่างแออัด ถนนก็แคบ ประชากรก็มาก สัญจรกันอย่างลำบาก  มีร้านตลาดขายสินค้าแพรพรรณ ของที่ระลึก เครื่องประดับ สารพัด วางตั้งวกวนดุจเขาวงกต ทางเดินก็แคบ ชนิดที่ต้องเบียดเสียดกันไป ยิ่งใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา อาคารสร้างอย่างถาวร สวยงาม หลายชั้น เล่าทำนองตลกว่า อาคารหลายหลัง เป็นที่พำนักหรือเป็นคอนโดมิเนียมก่อนตายของผู้ศรัทธา เป็นสำนักของสตรีหม้ายไร้ที่พึ่ง ขอทานมีมากที่สุด

                อย่างไรก็ตาม พาราณสีเป็นเมืองใหญ่ มีประชากรไม่น้อยกว่า 10 ล้าน เป็นที่รวมวัฒนธรรมโบราณ กับอารยธรรมใหม่ มีสถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัย หลายแห่ง เช่น  มหาวิทยาลัย พาราณสี ฮินดู(Banaras Hindu University) มีนักศึกษาจากประเทศไทยที่ไปศึกษาติดต่อกันมา นับแต่ปีพุทธศักราช 2500 มา จนทางมหาวิทยาลัยได้เอื้อเฟื้อที่พำนักให้หอพักพิเศษสำหรับพระนักศึกษาไทย มหาวิทยาลัย สัมปูรณานันท์ สันสกฤต(Sampurnananda Sanskrit University) ที่ผู้เขียนได้ไปศึกษาจนสำเร็จปริญญาเอกสาขาปรัชญา ในต้นปี 2533   มหาวิทยาลัย กาสีวิทยาปิฐ(Kasi Vidhyapith) และที่ สารนาถ มี สถาบันการศึกษาทิเบต(The Tibetan Higher Institute) เป็นต้น

                การคมนาคม มีสถานีรถไฟ  สนามบิน สถานีขนส่งรถประจำทาง ระหว่างจังหวัด มีรถขนส่งมวลชนหลายสาย

                การสัญจรบนท้องถนน สับสนพลุกพล่าน ยานพาหนะมีทุกประเภท นับแต่จักรยาน สามล้อปั่น รถลากเข็น เกวียนที่ใช้แรงสัตว์ลาก รถม้า รถสามล้อเครื่องที่อินเดียเรียกว่า ริกชอว์ (Rikshaw) รถยนต์ส่วนตัว รถบรรทุก รถเมล์ ฝูงสัตว์ เช่น วัว ม้า แพะ แกะ เดินกันขวักไขว่ แทรกไปกับฝูงมนุษย์ น่าเวียนหัว แต่นั้น คือ เสน่ห์แห่งดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ นามว่า พาราณสี   

 

การเดินทางสู่สารนาถ(อิสิปตนะฯ)
            ผู้จาริกแสวงบุญ สามารถเดินทางสู่สารนาถ ได้หลายทาง เช่น ทางอากาศ  พาราณสีมีท่าอากาศยานชื่อ บาบัตปูร์ อยู่ห่างจากสารนาถประมาณ 32 กิโลเมตร มีเที่ยวบินติดต่อกับนครสำคัญหลายเมือง อาทิ เดลลี  อัคระ ภูบันเนสวอร์ กัลกัตตา กะชุระโห และกาฏมัณฑุจากเนปาล และเดินทางจากท่าอากาศยานบาบัตปูร์ มาถึงสารนาถ ได้โดยไม่ยากนัก ทางบกโดยทั่วไป ชาวพุทธผู้เดินทางจาริกนมัสการสังเวชนียสถาน มักเดินทางจากพุทธคยา ถึงสารนาถ ระยะทาง 240 .. โดยรถยนต์ จะใช้เวลา 11.15 .. เกือบเต็มวันกว่าจะเดินทางถึงเพราะถนนหลวง การจราจรไม่ค่อยสะดวกและคล่องตัวเหมือนเมืองไทย

            ถ้าเลือกใช้ ทางรถไฟจะสะดวกกว่า เพราะอินเดียได้พัฒนาการขนส่งทางรถไปทันสมัยมาก รางรถไฟกว้างประมาณ 1.5 เมตร เป็นรถไฟขนาดใหญ่ มีรถด่วนพิเศษ วิ่งเร็ว แม้จะไม่เท่าญี่ปุ่น แต่ก็เร็วกว่ารถไฟที่การรถไฟแห่งประเทศไทย

 

สรุป

            อิสิปตนะมฤคทายวัน หรือ สารนาถ เป็นสังเวชนียสถานที่สำคัญ พระบรมศาสดา ทรงทำหน้าที่บรมครูอย่างสมบูรณ์  จนได้พระสาวกรูปแรก คือพระโกณฑัญญะ  ทำให้ครบองค์พระรัตนตรัยในพระพุทธศาสนา เป็นที่แสดงหลักธรรมชั้นสูงของพระพุทธศาสนา คือ อนัตตลักขณะสูตร เป็นที่ได้อุบาสก และอุบาสิกาผู้ถึงพระรัตนตรัยครบ 3 (เตวาจิกะ) คือ บิดาและมารดาของพระยสะ  เป็นจุดกำเนิดการส่งพระธรรมทูตออกประกาศพระพุทธศาสนาชุดแรกจำนวน 60 รูปไปยังทิศต่างๆ  เป็นที่เสด็จจำพรรษาปีแรกของพระพุทธเจ้าหลังการตรัสรู้ เป็นที่เกิดวัดพระพุทธศาสนาแห่งแรก หลังจากที่พระพุทธศาสนาได้สูญสิ้นไปจากอินเดีย ร่วม 800 ปี กลับมาฟื้นฟูใหม่ในดินแดนมาตุภูมิ โดย อนาคาริก ธรรมปาละ ชาวศรีลังกา  คือ วัดมูลคันธกุฎีวิหาร เมื่อ 74 ปีที่แล้ว เป็นที่แสวงบุญของชาวพุทธทั่วโลกที่ต้องการมาเฝ้าแทบบาทพระบรมศาสดา เพียงเท่านี้ก็น่าจะปลูกปสาทะในดวงจิตของท่านไม่มากก็น้อย

 



[1] พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม 4 ข้อ 9 หน้า 11 ความตอนนี้ ไม่ปรากฏ ว่าทรงพิจารณาถึงอัธยาศัยบุคคลเปรียบดุจบัว  4 เหล่า ที่มีพวกบัวใต้น้ำ เพิ่งงอก ซึ่งอาจเป็นอาหารของเต่าและปลา  เป็นพวก ปทปรมะบุคคล ดังนั้น เรื่อง ดอกบัว 4 เหล่า น่าจะปรากฏในพระไตรปิฎกตอนอื่น

[2]   วินัยปิฎก มหาวรรค (บาลี) เล่ม 4 ข้อ 15-17 หน้า 17-20  และ สำนวนแปล พระไตรปิฎก ฉบับสมาคมศิษย์เก่ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ข้อ13 – 17

 

                [3]  วินัยปิฎก มหาวรรค (บาลี) เล่ม 4 ข้อ 32 หน้า 39.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น