วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2562

พม่า เมืองพระเมืองพุทธ ตอนที่ 2 (กลุ่มชาติพันธุ์พม่า)


1. พระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้าสู่ประเทศพม่า[1]
          1.1 กลุ่มชาติพันธุ์ในดินแดนพม่า
          ประเทศสหภาพพม่า (The Union of Burmar) หรือ เรียกเป็นทางการว่า “สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์(Republic of the Union of Myanmar) ในอดีต ประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์หลักๆ 4 กลุ่ม คือ มอญ(The Mon),  พยู(The Pyu), พม่า/เมียนม่า(Myanmar) และ ฉาน / ไต หรือ ไท (Shan/ Tai or Thai) โดยชาวมอญ(The Mon) อาศัยอยู่ทางตอนใต้พม่า มีเมือง “สะเทิม” หรือ “สุธรรม”,  “หงสาวดี” หรือ “พะโค(Pegu)”  และบางส่วนติดกับภาคตะวันตกของไทย (เชื้อชาติมอญมีความสัมพันธ์กับเชื้อชาติเขมร : มอญ-เขมร), ชาวพยู(The Pyu), มีเชื้อสาย แบบทิเบต-พม่า คล้ายกับชาวพม่า อาศัยอยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำอิราวดี(the Irrawaddy valley) ตอนกลางประเทศ ก่อนที่ชาวพม่าจะอพยพลงมาจากทางเหนือ ตั้งอาณาจักรที่เรียกว่า “ศรีเกษตร”,  ขณะที่ชาวพม่า/เมียนม่า(Myanmar)  อาศัยอยู่ดินแดนทางตอนเหนือ ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง หรือ อพยพมาจากจากที่ราบเอเชียกลาง เข้ามาประมาณช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 10 ตั้งอาณาจัก “พุกาม” (Pugam or Pegan / Began),  กลุ่มสุดท้าย ชาวฉาน หรือชาวไต อาศัยอยู่บริเวณทางตอนเหนือของพม่าและบางส่วนทางตอนเหนือของประเทศไทย[2]   พม่าปัจจุบัน ประกอบไปด้วยเผ่าพันธุ์หลักๆ  8 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ พม่า (Bamar) ฉิ่น (Chin) กะฉิ่น (Kachin) คะยิ่น (Kayin) คะยา (Kayah) มอญ (Mon) ยะไข่ (Rakhine) และ ฉาน (Shan) ยังมีชนกลุ่มน้อยอยู่หลากหลายมากกว่า 135 เผ่า  
          พระพุทธศาสนา กำเนิดขึ้นที่ประเทศอินเดีย หรือ ชมพูทวีป เมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช ได้เผยแผ่จำกัดวงพื้นที่ เฉพาะในประเทศอินเดีย แดนมาตุภูมิ เป็นเวลาถึง 280 ปี โดยประมาณ(45+235)[3]  ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกลของพระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ และพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้อุปถัมภ์การทำตติยสังคีติ(สังคายนาครั้งที่ 3) ในปี พ.ศ. 235 ณ ปาฏลีบุตร ปัจจุบัน เรียกว่า “ปัตนะ(Patna)”  ทั้งสองท่านพิจารณาว่า  “ในอนาคตพระพุทธศาสนาเหมาะที่จะไปเจริญรุ่งเรืองใน ปัจจันตชนบท”[4] (หมายถึง ขยายพื้นที่ออกไปจากศูนย์กลางอินเดียสู่พื้นที่อื่นๆ ) จึงได้ส่งพระสมณะทูตออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดนถึง 9 สาย ดังที่ทราบกัน
แต่พระสมณะทูตที่สัมพันธ์กับประเทศพม่าและประเทศไทย มี 2 สาย คือ สมณะทูตสายที่ 8 นำโดยพระโสณและพระอุตระ ไปสู่สุวรรณภูมิ ในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 12  ปี พ.ศ. 235  และ สมณะทูตสายที่ 9 นำโดย พระมหามหินทเถระ พระราชโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช ไปสู่เกาะสีหล หรือ เกาะลังกา ในกลางเดือน 7 ปี พ.ศ. 236 ช้ากว่า พระสมณะทูตสายอื่นๆ ที่ไปสู่ต่างแดนถึง 7 เดือน [5]
          กล่าวได้ว่า ประมาณ พ.ศ. 235 พระพุทธศาสนาจากประเทศอินเดียได้เข้าสู่แดนสุวรรณภูมิ  เรื่อง ดินแดน “สุวรรณภูมิ”นี้ ต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่า “สุวรรณภูมิ” เป็นดินแดนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ประเทศของตน  เช่น  กลุ่มพม่า (อันที่จริงน่าจะเป็นกลุ่มมอญ) ก็อ้างว่า สุวรรณภูมิ คือ เมืองสะเทิม หรือ สุธรรมวดี ขณะที่ไทยสยาม ก็อ้างว่า สุวรรณภูมิ ก็คือ ทวาราวดี หรือ นครปฐม เพราะมีพระปฐมเจดีย์ตั้งตระหง่านเป็นประจักษ์พยาน ขณะที่ชาวอินโดนีเซีย ก็จะดึงสุวรรณภูมิไปที่เกาะสุมาตรา แถมชาวล้านนาสมัยก่อนบางท่านอ้างว่า สุวรรณภูมิ อาจหมายถึงอาณาจักรหริภุญไชย ของพระนางจามเทวี อย่างไรก็ตาม สุวรรณภูมิ จะเป็นพื้นที่ใด หรือได้แก่เมืองใดแน่ๆ ก็สุดที่จะชี้ชัดลงไปได้
          หลักฐานจากคัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยปิฎก ภาษาบาลี พระพุทธโฆสาจารย์(ราว พ.ศ. 956) กล่าวว่า เมื่อพระโสณะและพระอุตระ พร้อมด้วยพระสงฆ์ รวม 5 รูป เดินทางมาถึงสุวรรณภูมินั้น ชาวบ้านครั้งเห็นกลุ่มท่านเข้ามา ต่างช่วยกันถืออาวุธมุ่งจะเข้ามาทำร้าย ท่านจึงถามว่า เหตุใจจะเข้ามาทำร้าย ก็ได้รับคำตอบว่า ที่เมืองนี้ มีนางผีเสื้อสมุทรตนหนึ่ง(ผีเสื้อน้ำ) ขึ้นมาจากมหาสมุทร และชอบมาจับทารกที่เกิดในราชตระกูลไปกินเป็นอาหารเสมอ และวันนี้พอดี มีทารกเกิดมาในราชตระกูลด้วย เมื่อเห็นพวกท่านมา ก็เดาเอาว่า ท่านต้องเป็นพวกนางผีเสื้อสมุทรแปลงกายมาจะมาจับทารกกินเป็นแน่ จึงรีบจะมาเพื่อช่วยกันประหารกำจัดภัยเสีย พระเถระก็บอกว่า ท่านเป็นสมณะ เป็นผู้ทรงศีล ประพฤติพรหมจรรย์ ดำรงตนในธรรมที่ดี (จะเป็นพวกนางผีเสื้อสมุทรไปได้อย่างไร)[6]  จากข้อความนี้ จึงชี้ลงไปว่า“สุวรรณภูมิ” จึงเป็นเมืองท่าสำคัญตั้งอยู่ที่ “ริมฝั่งมหาสมุทร” เมืองท่าฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย หรือ เมืองท่าปากอ่าวอันดามัน แต่ตั้งอยู่ ณ ตรงจุดใด ในพื้นชายทะเล ที่เป็นเมืองท่าค้าขาย การสัญจรทางน้ำที่เก่าแก่ของโลกทางตะวันออกแน่ ?
(โปรดอ่านต่อตอนที่ 3)



[1]  ชื่อประเทศพม่า ภาษาบาลีเรียกว่า “มรมฺมปเทส” และ คำว่า “มอญ” ภาษาบาลี เรียกว่า “รามญฺญ”
[2] Roger Bischoff, (1966), Buddhism in Myanmar: A Short History. สืบค้นจาก
https://www.accesstoinsight. org/lib/authors/bischoff/wheel399.html วันที่ 10 เมษายน 2562.
[3] พระปัญญาสามี; ภิกษุชาวพม่า, (2405), สาสนวํส, หน้า 18 ;  แสง มนวิทูร, แปล, (2506), ในชื่อ ศาสนวงศ์ หรือประวัติศาสนา, พิมพ์เพื่อเป็นอนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โสม ฉนฺโน), หน้า 25.
[4] สมนฺตปาสาทิกา วินยฏฺฐกถา ปฐโม ภาโค, นิพนธ์โดย พระพุทธโฆสาจารย์, (2515) ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย (ภาษาบาลี หน้า 63.
[5] เรื่องเดียวกัน หน้า 23-24.
[6]  สมนฺตปาสาทิกา วินยฏฺฐกถา ปฐโม ภาโค,  (2515), ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย, (ภาษาบาลี หน้า 68-69 โสณกตฺเถโรปิ สทฺธึ อุตฺตรตฺเถเรน สุวณฺณภูมึ อคมาสิ. เตน จ สมเยน ตตฺถ เอกา รกฺขสี สมุทฺทโต นิกฺขมิตฺวา ราชกุเล ชาเต ชาเต ทารเก ขาทติ. ตํทิวสเมว ราชกุเล เอโก ทารโก ชาโต โหติ. มนุสฺสา เถรํ ทิสฺวา รกฺขสานํ สหายโก เอโสติ มญฺญมานา อาวุธานิ คเหตฺวา เถรํ ปหริตุกามา คจฺฉนฺติ . ... เถโร น มยํ รกฺขสสหายกา สมณา นาม มยํ วิรตา ปาณาติปาตา ...สีลวนฺโต พฺรหฺมจาริโน กลฺยาณธมฺมาติ อาห.    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น