วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2562

พม่า เมืองพระเมืองพุทธ ตอนที่ 3 (สุวรรณภูมิ คือ เมือง สะเทิม สุธรรมปุระ?)


          1.2 เมืองสะเทิม(Thaton) หรือ เมืองสุธรรม(Sutham)  คือ สุวรรณภูมิ ???
          พระปัญญาสามี สังฆปราชญ์ชาวพม่า ผู้รจนาคัมภีร์ “สาสนวํส”  หรือ ศาสนวงศ์ อ้างว่า “สุวรรณภูมิ” เป็นชื่อรัฐหนึ่ง ในรัฐรามัญ ทั้ง 3 คือ หงสาวดี(พะโค) เมาะตะมะ(บาลี ว่า มุตติมะ) และ สุวรรณภูมิ ซึ่งก็คือ       “สุธรรมนคร”  อาณาจักรมอญในอดีต หรือ เมือง “สะเทิม(Thaton)” ในปัจจุบัน  โดยให้เหตุผลประกอบข้อควรพิจารณา 2 ประเด็น คือ  โดยการอนุมานจากระยะทาง(มคฺคานุมานโต) และ   โดยการอนุมานทางพื้นที่(ฐานานุมานโต)
ประเด็นที่ 1 การอนุมานจากระยะทาง(มคฺคานุมานโต)   ท่านปัญญาสามีกล่าวว่า ระยะทางจากเกาะสีหล(ลังกา) ถึง สุวรรณภูมิ มีระยะทางเท่ากันกับระยะทางจากเมืองสุธรรมสู่สีหล(ลังกา) คือ ประมาณ 700 โยชน์  โดยแล่นเรือใบจากเกาะสิงหล มาสู่เมืองสุธรรม ใช้เวลาเดินทาง 7 วัน 7 คืน และในทางกลับกัน เมื่อเดินทาง โดยแล่นเรือใบ จากสุธรรมนคร ถึง เกาะสิงหล ก็ใช้เวลา 7 วัน 7 คืนถึงเช่นกัน แสดงว่า โดยการเดินทางด้วยเรือใบ ระยะเดินทางเท่ากัน [1]
ประเด็นที่ 2 การอนุมานโดยสถานที่(ฐานานุมานโต)  ท่านปัญญาสามีอธิบายว่า จากอรรถกถา ดินแดนสุวรรณภูมิตั้งอยู่ใกล้ฝั่งมหาสมุทร เป็นเมืองท่าใหญ่ พวกพ่อค้าชาวต่างประเทศ ต่างมารวมตัวกันประกอบอาชีพค้าขายที่นั่น แม้เมืองสุธรรม ในปัจจุบัน ก็ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งมหาสมุทร [2] นี่ว่าโดยตำแหน่งพิกัดสถานที่
ดังนั้น เมืองสะเทิม หรือ สุธรรมปุร / สุธรรมวดี ก็คือ สุวรรณภูมิ ที่พระโสณะ พระอุตตระมาเผยแผ่พระพุทธศาสนานับแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 3 คือ ในปี พ.ศ. 235  นี่ว่าโดยหลักฐานจากเอกสาร
ต่อไปว่าโดย ตำนานปรัมปรา ก่อนมาถึงของพระโสณะและพระอุตตระ
ตำนานปรัมปราที่เล่าขานสืบมาได้อ้างว่า ชาวพม่าได้นับถือพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ปฐมโพธิกาล ดังนี้
พระพุทธศาสนาเข้ามาครั้งที่ 1. ที่นครย่างกุ้ง ชาวพม่าเชื่อว่า พานิช 2 พี่น้อง คือ ตปุสสะ และ ภัลลิกะ จากอุกกละชนบทนั้น เป็นชาวพม่า เพราะเมือง “อุกกละ” ก็คือ “ย่างกุ้ง” (Yangon) พวกเขาไปค้าขายที่ แดนชมพูทวีป ไปถึงตำบลอุรุเวลา และได้พบพระพุทธเจ้า ขณะเสวยวิมุติสุขหลังการตรัสรู้ใหม่ๆ ในสัปดาห์ที่ 7 ที่ใต้ต้นไม้เกตุ พวกเขาได้ถวายข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง และประกาศตนเป็นอุบาสก ผู้นับถือพระพุทธและพระธรรม เป็นสรณะ ที่เรียกว่า “ทะเววาจิกอุบาสก” พระพุทธเจ้าทรงมอบพระเกศาให้เขามา 8 เส้น เมื่อพวกเขากลับมา ก็ได้นำมาสร้างพระเจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าเอาไว้ที่เมืองพม่า นั่นก็คือ “พระมหาเจดีย์ชเวดากอง” (Shwedagon Pagoda) ที่นครย่างกุ้ง [3]
พระพุทธศาสนาเข้ามาครั้งที่ 2 พระอินทร์ สร้างเมืองสุธรรม  มอบให้ พระยาสีหราช ซึ่งเป็นมนุษย์ที่เกิดจากไข่นาคครองเมือง  พระยาสีหราช มีน้องชายคนหนึ่ง แต่น้องชายได้ตายไปเกิดในเมืองมิถิลา ประเทศอินเดีย มีชื่อ “ควัมปติ” ต่อมา เขาได้บวชในสำนักพระพุทธเจ้า บรรลุเป็นพระอรหันต์ มีฤทธิมาก มีทิพยจักขุ เล็งเห็นว่า มารดาที่สิ้นชีวิตไปนั้น ได้ไปเกิดที่เมืองสุธรรม จึงเดินทางมาโปรด รวมทั้งได้โปรดพระยาสีหราช  หลังจากพุทธปรินิพพานไป 8 ปี พระควัมปติ ก็นำพระทันตธาตุ 33 องค์ มาประดิษฐานไว้ที่ สุธรรมนคร
ตำนานปรัมปราทำนองนี้ มีเล่าอย่างดาษดื่น ในวรรณกรรมทางศาสนาแต่ก่อน ของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา เช่น สยาม ล้านช้าง ล้านนา เป็นต้น  เพื่อสร้างตำนานท้องถิ่น เชื่อมโยงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเคารพนับคือ เช่น โยงว่า สถานที่เหล่านี้ พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาด้วยพระองค์เอง และทำนายว่า อะไรจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมา ภายหลังจากที่พระองค์ปรินิพพานไปแล้ว  หรือ พระองค์สั่งมอบให้ใครมาสานต่อภารกิจที่พระพุทธองค์ทรงมอบหมายให้มาดำเนินการ   
ขอให้ผู้อ่าน จงฟังเอาศรัทธา แต่อย่าถามหาเหตุผล เพราะจะไม่มีหลักฐานเชิงวัตถุมายืนยัน แต่มีความเชื่อเต็มหัวใจ ความเชื่อจึงเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ ยึดเหนี่ยว เกาะกุม มนุษย์ที่มีความเชื่อแบบเดียวกัน ให้มาอยู่รวมกัน สร้างศาสนา สร้างประเทศชาติ และ สร้างวัฒนธรรมประเพณีเป็นเอกลักษณ์ของตน
(โปรดอ่านต่อ ตอนที่ 4)



[1] พระปัญญาสามี; ภิกษุชาวพม่า, (2405), สาสนวํส, หน้า 12.(“เตสุ ปน นวสุ ฐาเนสุ สุวณฺณภูมินาม อธุนา สุธมฺมนครเมว.  กถํ มคฺคานุมานโต? อิโต กิร สุวณฺณภูมิ สตฺตมตฺตานิ  โยชนสตานิ โหนฺติ...สธมฺมปุรโต กิรั หิ สีหฬทีปํ สตฺตมตฺตานิ โยชนสตานิ โหนฺติ อุชํวายุ – อาคมนกาเล คจฺฉนฺตี วายุนาวา สตฺตหิ อโหรตฺเตหิ สมฺปาปุณาติ”)
[2] เรื่องเดียวกัน, (“กถํ ฐานานุมานโต?  สุวณฺณภูมิ กิร มหาสมุทฺทสมีเป ติฏฺฐติ นานาเวรชฺชกานํ ปิ วานิชานํ อุปสงฺกมนฏฺฐานภูตํ มหาติตฺถํ โหติ... สุธมฺมปุรมฺปิ อธุนา มหาสมุทฺทสมีเป เยว ติฏฺฐติ”)
[3] Roger Bischoff, (1966), Buddhism in Myanmar: A Short History. (“Tapussa and Bhallika made an offering of rice cake and honey to the Buddha and took the two refuges, the refuge in the Buddha and the refuge in the Dhamma (the Sangha, the third refuge, did not exist yet). As they were about to depart, they asked the Buddha for an object to worship in his stead and he gave them eight hairs from his head. After the two returned from their journey, they enshrined the three hairs in a stupa which is now the great Shwedagon Pagoda in Yangon.”) สืบค้นจาก https://www.accesstoinsight.org/lib/authors /bischoff/ /wheel399.html วันที่ 10 เมษายน 2562.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น