วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2562

พม่า : เมืองพระเมืองพุทธ ตอนที่ 1 (บุณยยาตรา มัณฑะเลย์ พุกาม)


พม่า : เมืองพระเมืองพุทธ
Myanmar : The Buddhist Country
พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
ผู้ร่วมแสวงบุญยาตรา พุกาม-มัณฑะเลย์
5-8 เมษายน 2562
มีภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า “เมื่อเป็นชาวพม่าก็เท่ากับการเป็นชาวพุทธ”
There is a proverb that states, To be Burmese is to be Buddhist.”
ตัวแปรของสมการนี้ คือ อะไร ถ้ากลับข้างสมการแล้ว จะได้ค่าเท่ากันหรือไม่ นั่นคือ
“การเป็นชาวพุทธ ก็เท่ากับ การเป็นชาวพม่า”
อยากรู้คำตอบ ต้องถอดดีเอ็นเอชองพม่า
ความเบื้องต้น
          นโยบายของหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต  สาขาพระพุทธศาสนา ของศูนย์บัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่  ที่ทุกปีจะจัดโครงการพัฒนาคุณภาพทางวิชาการ โดยคณาจารย์และนิสิตพากันไปศึกษาดูงานพระพุทธศาสนา ในประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของพระพุทธศาสนา หรือประเทศที่เคยนับถือพระพุทธศาสนามาก่อน และหรือประเทศที่นับถือประพุทธศาสนาในปัจจุบัน  ตัวอย่างเคยไป ประเทศอินเดีย -เนปาล หลายครั้ง  เคยไปประเทศเวียดนาม และประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมาแล้ว แต่พวกเราชาวบัณฑิตศึกษา ยังไม่เคยไปประเทศศรีลังกา กัมพูชา และพม่า หรือ “เมียนมาร์” ในปัจจุบัน
ทุกครั้งที่บัณฑิตศึกษาจัดโครงการไปศึกษาดูงานทางพระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ด้วยเหตุผลหลายประการ ผู้เขียนไม่มีโอกาสไปร่วมเลยสักครั้ง แต่คราวนี้ คณาจารย์บัณฑิตศึกษา วิทยาเขตเชียงใหม่ ได้ปรึกษากันว่า ประเทศพม่ามีประวัติศาสตร์ทางพุทธศาสนาที่เจริญรุ่งเรือง เคียงบ่าเคียงไหล่กับสยามมาตั้งแต่อดีต ย้อนไปไกลถึงราวพุทธต้นศตวรรษที่ 3  เมื่อ “ชาวสุวรรณภูมิ” (พม่าและสยาม) รับเอาพระพุทธศาสนาที่นำมาเผยแผ่ โดยพระสมณทูตสายที่ 8 ซึ่งมีพระโสณเถระกับพระอุตตระเถระเป็นหัวหน้า ที่พระเจ้าอโศกมหาราช แห่งปาฏลีบุตร ประเทศอินเดีย ส่งมาประกาศถึงดินแดนแถบนี้  เป็นการสมควรที่โครงการศึกษาพระพุทธศาสนาในปีนี้ ต้องไปศึกษาดูงานที่ประเทศพม่า   และช่วยกันเลือกพื้นที่สำคัญหลายแห่งมาชั่งกันดูว่า ในเวลาที่จำกัด ควรไปสถานที่ใดบ้าง ก็เลยมาตกผลึกเลือกสถานศึกษาที่ นครพุกาม(Pegan หรือ Began) ซึ่งเป็นดินแดนแห่งทะเลพระเจดีย์ และ มัณฑะเลย์(Mandalay) เมืองที่พระเจ้ามินดงทรงอุปถัมภ์การจัดทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 5 และจารึกพระไตรปิฎกลงในแผ่นหินอ่อน มีจำนวนถึง 729 แผ่น ด้านหนึ่งจารึกเป็นภาษาบาลี และอีกด้านหนึ่งจารึกคำแปลเป็นภาษาพม่า และสร้างเจดีย์ขนาดเหมาะสม ครอบศิลาจารึกพระไตรปิฎกแต่ละแผ่นเอาไว้ ที่วัดกุโสดอ(Kuthodaw Temple) นี้คือมรดกของโลก   
ทั้งได้ทราบว่า ที่มัณฑะเลย์แห่งนี้ มีมหาวิทยาลัยสงฆ์ของรัฐ เป็นสถาบันที่จัดการศึกษาถึงระดับปริญญาเอก แห่งที่ 2 ของประเทศ (แห่งที่ 1 ตั้งอยู่ที่ นครย่างกุ้ง) หากคณะศึกษาดูงานได้เข้าไปจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับระบบการจัดการศึกษาของที่นี่ คงจะเป็นกำไรที่ไม่อาจประมาณค่าได้
           ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา บัณฑิตศึกษา ก็ตัดสินใจไปศึกษาดูงานที่ประเทศพม่า  ครั้งแรกผู้เขียนถอดใจแล้วว่า คงไม่มีโอกาสไปร่วมบุญยาตราด้วย แม้ว่าปรารถนาอยากไปเป็นที่สุด เพราะติดภาระงานสอนนักศึกษาชาว อเมริกา ในโครงการ USAC : Spring Season 2019 (The University Abroad Consortium) ที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ด้วยปีนี้ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่  ได้เกิดสภาพมลภาวะฝุ่นในบรรยากาศ (PM 2.5) ที่เข้มข้นเกินกว่าระดับมาตรฐานความปลอดภัย ขึ้นถึงขีดอันตราย สูงที่สุดในโลก ทางโครงการ USAC จึงได้งดการเรียนการสอนในชั้นเรียน เป็นเวลา 1 อาทิตย์ และให้คณาจารย์บันทึกเทปวีดิทัศน์การบรรยายและส่งทางออนไลน์ ส่งให้นักศึกษาเรียนรู้ด้วยสื่อการสอนออนไลน์ ด้วยบุญนี้ ทำให้ผู้เขียนได้ไปแสวงบุญยาตรา
จะได้เห็นด้วยตาว่า ชาวพุทธพม่าที่มัณฑะเลย์ ตื่นแต่ตีสี่และตั้งใจเดินทางออกจากบ้านมาวัดมหามัยมุนี เพื่อไปเข้าคิวร่วมพิธีสรงน้ำพระพักตร “พระมหามัยมุนี” ต้องการดูด้วยตาว่า ยังมีชาวพุทธ ทุกเพศ ทุกวัย เข้าไปวัดกราบไหว้พระเจดีย์ เดินเวียนเทียน และนั่งสวดมนต์ภาวนาที่รอบฐานพระเจดีย์ ตลอดวัน จนมืดจนค่ำ แม้จะเป็นเวลา สองทุ่ม-สามทุ่ม(20 -21 นาฬิกา) ก็ยังมีผู้คนหนาตา หลั่งไหลพากันเดินเข้าวัดมามิได้ขาด
ทั้งอยากจะเห็นว่า เมืองพุกาม มีพื้นที่ไม่น้อย เป็นร้อยตารางกิโลเมตร แต่มีพระสถูปเจดีย์ ทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก ตั้งเรียงราย กระจายเต็มผืนดิน มองไปทิศทางใด ไกลสุดลูกหูลูกตา ก็เห็นแต่ยอดพระเจดีย์
และที่อยากเห็นเป็นบุญตาอีกอย่างหนึ่งก็คือ ที่ประเทศพม่าปัจจุบัน ยังมีพระภิกษุ ที่สามารถท่องจำเนื้อหาพระไตรปิฎกได้หมดทั้งสามปิฎก และท่านเหล่านั้นยังมีชีวิตอยู่ มีจำนวนเป็น 10 รูป หากมีบุญจะได้เห็น
          ที่จาระไนมานี้ เป็นเพียงดอกผลที่ผลิบาน หรือ ปลายน้ำที่ปากอ่าวเมาะตะบันของพระพุทธศาสนาในพม่า เมื่อผู้เขียนได้โอกาสมาเยือนจริงๆ จึงอยากจะย้อนรอยถอยลึกเข้าไปดู กิ่ง ก้าน ลำต้น และราก โดยผ่าน ปลายน้ำกลางน้ำ และ สืบถึงต้นน้ำ อันเป็นกระบวนการที่สร้างความเป็นชาวพุทธแบบพม่าที่ยิ่งใหญ่ นับแต่ พระเจ้าอนุรุทธ[1] หรือ พระเจ้าอโนรธา ที่ฟื้นฟูพระพุทธศาสนา“เถรวาทแบบพุกาม”ขึ้นมา  พระเจ้ามินดง ผู้สร้างพระไตรปิฎกฉบับหินอ่อน ที่วัดกุโสดอ ถ้าข้อมูลเกี่ยวโยงถึงอดีตอาณาจักรมอญ เช่น ศรีเกษตร หรือ หงสาวดี ก็จะเล่าเท่าที่จำเป็น
มาดูกันว่า ในเวลาเพียง 4 วัน 3 คืน ผู้เขียนจะค้นพบอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ที่เป็นรากฐานแห่งพระพุทธศาสนาของชาวพม่าในอดีต ที่พอนำมาย่อยเป็นสาระได้บ้าง โปรดติดตาม
(โปรดอ่านต่อ ตอนที่ 2)



[1]  บางทีเรียกว่า “อนิรุทธ์” หรือ “อโนรธามังช่อ” ในเอกสารนี้ จะใช้คำว่า “อนุรุทธ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น