วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2565

จุลกฐิน : สาระและคุณค่าต่อประเพณีและวัฒนธรรมพุทธศาสนา

 จุลกฐิน : สาระและคุณค่าต่อประเพณีและวัฒนธรรมพุทธศาสนา[1]

Culla Kathina : Essence and Value for Buddhist Tradition and Culture

 พระอธิวัฒน์ รตนวณฺโณ, ดร. เจ้าอาวาสวัดธาราทิพย์ชัยประเดิฐ์ อาจารย์หลักสูตรปรัชญา 

ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรศูนย์บัณฑิตศึกษา วิทยาเขตเชีงใหม่

ผศ. ดร.เยื้อง ปั้นเหน่งเพ็ชร์ หัวหน้าสาขาปรัชญา 

บัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่

-------------------

          มีวลีที่ติดปากชาวไทยมานานที่ว่า “วุ่นเป็นจุลกฐิน” คำวลีนี้เมื่อเอ่ยขึ้นมาคราวใด ทั้งผู้ฟังและผู้พูดจะรู้สึกไปพร้อมกัน  คือ เป็นภารกิจรีบด่วนที่จำต้องทำให้เสร็จตามกำหนดเวลาอันสั้น ถ้าภารกิจไม่สำเร็จตามเวลา ก็ถือว่า ล้มเหลว ภารกิจที่ทำมาทั้งหมดเหลือเป็นศูนย์ ในเมื่อภารกิจที่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของเวลา จำเป็นต้องระดมสรรพกำลังทุกชนิด ทั้งคน สัตว์ วัสดุ อุปกรณ์ และองค์ความรู้ มาช่วยกันผลักเข็นภารกิจนี้ให้สำเร็จทันเวลา และต้องทันเวลาเท่านั้น จึงจะไม่เสียแรงที่ลงทุนเสียสละน้ำพักน้ำแรงทำมา ครั้นเมื่อทำสำเร็จทันกาลเวลา สิ่งเกิดตามมาก็คือ “มหาปีติ” ความรู้สึกชื่นอกชื่นใจอย่างหาประมาณมิได้ และจะทรงจำไว้เป็นอนุสรณ์มิรู้ลืมตลอดชีวิต ยิ่งถ้าเป็นภารกิจตัวงานของ “จุลกฐิน” เสียเอง จงจินตนาการว่า ความโกลาหล จะมีเป็นร้อยเท่าพันทวีขนาดใด และอานิสงส์ของผู้ถวายจุลกฐิน คงไม่อาจประมาณค่าเป็นมาตราว่า มีเท่านั้นเท่านี้ได้

          จุลกฐิน คือ อะไร เพราะเหตุใดจึงต้องเป็น จุลกฐิน?

. กฐิน ความหมายและความเป็นมา

.๑ ความหมาย ในพระวินัยปิฎกไม่ได้ให้ความหมายของคำว่า “กฐิน” ไว้โดยเฉพาะ จะอธิบายความหมายที่เกี่ยวข้องกับกฐิน โดยสรุป ได้ ๔ ประการ[2] คือ

๑.๑.๑ กฐิน เป็นชื่อของกรอบไม้ ที่นำเป็นกรอบ หรือ ไม้แม่แบบสำหรับทำจีวร หรือ ตัดเย็บจีวร ภาษาไทยเรียก กรอบไม้แม่แบบนี้ว่า “สะดึง” หรือ “ไม้สะดึง”  เนื่องจากจีวร คือ ผ้านุ่งห่มของภิกษุนั้นจะใช้เป็นแผ่นผ้าผืนเดียวไม่ได้ ต้องตัดแบ่งออกเป็นชิ้นๆ ที่เรียกว่า “กระทง” หรือ “ขัณฑ์” อาจมี ๕ ขัณฑ์  ๗ ขัณฑ์ หรือ  ๙ ขัณฑ์ ตามที่พระวินัยกำหนดเอาไว้

๑.๑.๒ กฐิน เป็นชื่อของผ้า “จีวร” ที่ถวายแก่สงฆ์เพื่อทำจีวร ตามแบบหรือกรอบไม้แบบ เรียกว่า “ผ้ากฐิน” ซึ่งผ้าที่ถวายให้เป็นกฐิน เป็นเพียงผ้าผืนใดผืนหนึ่ง ใน ไตรจีวร คือ ผ้าอันตรวาสก(ผ้าสำหรับนุ่ง) ที่เรียกว่า ผ้าสบง หรือ ผ้าอุตราสงค์(ผ้าสำหรับห่ม) ไทยเรียกว่า ผ้าจีวร หรือ ผ้าสังฆาฏิ(ผ้าสำหรับห่มซ้อน) สงฆ์ไทยใช้ ผ้าสังฆาฏิสำหรับพาดทับจีวรด้านไหล่ข้างขวา

๑.๑.๓ กฐิน เป็นชื่อของบุญกิริยา “กฐินทาน” ในการถวายผ้าเพื่อให้สงฆ์ทำเป็นจีวร ที่รู้จักกันว่า “ทอดกฐิน” การถวายผ้ากฐินพระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบ ๓ เดือน เพื่อสงเคราะห์ภิกษุให้มีผ้านุ่งหรือผ้าห่มใหม่ ใช้ผลัดเปลี่ยนของเก่าที่จะขาดหรือชำรุด ต้องถวายภายในกาหนดกาล ๑ เดือน หลังออกพรรษา คือนับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เรียกว่า “กาลทาน”ผ้าที่จะถวายนั้นจะเป็นผ้าใหม่ หรือ ผ้าเทียมใหม่ เช่น ผ้าฟอกสะอาด หรือผ้าเก่า หรือ ผ้าบังสุกุล คือ ผ้าที่เขาทิ้งแล้วเป็นผ้าเปื้อนฝุ่น หรือ ผ้าสำเร็จรูปที่วางขายในร้านค้า  ผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์ พระภิกษุ หรือ สามเณรก็ได้ ถวายแก่สงฆ์ ในช่วงเวลาดังกล่าว การทำบุญถวายผ้าจีวรก่อนหรือหลังจากเวลา ๑ เดือนหลังออกพรรษา ไม่เป็นกฐินทาน จึงถือว่าเป็นโอกาสที่ทำได้ยาก แต่ถ้าเป็น จุลกฐิน ต้อง เตียมผืนผ้า ตัด เย็บตามแบบไม้สะดึง เป็นจีวร ย้อม ตาก พับเป็นจีวร ให้เสร็จแล้ว นำไปถวายสงฆ์ภายในวันนั้น จึงเป็นโอกาสที่ทำได้ยากกว่า

๑.๑.๔ กฐิน เป็นชื่อ ของสังฆกรรม คือกิจกรรมของสงฆ์ที่จะต้องมีการสวดประกาศ(ญัตติกรรมวาจา) ขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ เพื่อมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่มีคุณสมบัติถูกต้องตามพระวินัย ที่เรียกว่า “กรานกฐิน”  ธรรมเนียมกรานกฐินสมัยพุทธกาล  พระสงฆ์ผู้จำพรรษาครบไตรมาส ในวัดเดียวกัน จำนวนตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป ประชุมกัน มีมติมอบผ้าที่หามาได้ หรือได้รับมาโดยวิธีที่ถูกต้อง ให้แก่พระภิกษุรูปหนึ่งในคณะของตน พระภิกษุผู้ได้รับ จะนำผ้าไปตัด เย็บ ย้อม ทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งในจำนวนผ้า ๓ ผืน ซึ่งหมายถึง ผ้านุ่งและผ้าห่ม อันได้แก่ สังฆาฏิ (ผ้าห่มซ้อนทับจีวร) อุตราสงค์ (ผ้าจีวรสำหรับห่ม) และอันตรวาสก (สบง สำหรับนุ่ง) แต่นิยมเรียกรวมกันว่า “ไตรจีวร” โดยให้เสร็จภายในวันเดียวนั้น จากนั้นมาแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ เมื่อที่ประชุมอนุโมทนา ณ ปัจจุบัน ใช้จีวรที่ทำสำเร็จแล้ว พระภิกษุผู้กรานกฐิน เพียงทำพนทุ กัปปะ และ อธิษฐานให้แทนจีวรเก่า  เป็นอันเสร็จพิธี

๑.๒ ความเป็นมา พระวินัยปิฎก มหาวรรค กฐินขันธกะว่าด้วยเรื่องพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุกรานกฐิน เป็นที่มาของกฐิน ขอยกข้อความจากพระวินัยปิฎกมาเป็นข้อมูล ดังนี้

“สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตะวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะ ๓๐ รูป ทั้งหมดสมาทานอารัญญิกธุดงค์(การอยู่ป่าเป็นวัตร) ปิณฑปาติกธุดงค์(การออกบีณฑบาตเป็นวัตร)  และเตจีวริกธุดงค์(การถือครองจีวร ๓ ผืน เป็นวัตร)  เดินทางมากรุงสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค

เมื่อใกล้วันเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดินทางไปให้ทันวันเข้าพรรษาในกรุงสาวัตถีได้ จึงเข้าจำพรรษาในเมืองสาเกตระหว่างทาง(ก่อนถึงนครสาวัตถี) ภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะเหล่านั้นมีใจรัญจวน อยู่จำพรรษาด้วยคิดว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ใกล้ ๆ พวกเราห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระองค์

ครั้นล่วงไตรมาส ภิกษุเหล่านั้นออกพรรษาแล้ว เมื่อปวารณาแล้ว ฝนยังตกชุกอยู่ พื้น แผ่นดินชุ่มชื้นไปด้วยน้า เป็นหล่มเลน พวกเธอมีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้า เหน็ดเหนื่อย เดินทางเข้า ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี . . .

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า ‚ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกันร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน อยู่จา พรรษาเป็นผาสุกหรือ และบิณฑบาตไม่ลำบากหรือ

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ยังสบายดี ยังพอเป็นอยู่ได้  อนึ่ง พวกข้าพระองค์เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกันอยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และบิณฑบาตไม่ลำบาก พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานวโรกาส พวกข้าพระองค์ มีประมาณ ๓๐ รูป เป็นภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะ เดินทางมากรุงสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อใกล้ถึงวันเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดินทางมาให้ทันวันเข้าพรรษาในกรุงสาวัตถีได้ จึงจำพรรษาที่เมืองสาเกตระหว่างทางพวกข้าพระองค์รัญจวนใจ อยู่จำพรรษาด้วยคิดว่า ‘พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ใกล้ ๆ พวกเราห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระองค์’ ครั้นล่วงไตรมาส พวกข้าพระองค์ออกพรรษาแล้ว เมื่อปวารณาแล้ว ฝนยังตกชุกอยู่ พื้นแผ่นดินเต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ เหน็ดเหนื่อย เดินทางไกลมา

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาแล้วกรานกฐิน”[3]

ในสมัยนั้น นางวิสาขา มหาอุบาสิกา ก็อยู่ที่วัดพระเชตวัน มหาอุบาสิกา จึงได้ขอโอกาสกราบทูลขอถวายผ้าจีวรแด่พระสงฆ์ชาวปาเฐยยะ   มีปรากฏอีกหลักฐานเรื่องนางวิสาขาขอพร ๘ ประการ ตอนที่นิมนต์พระสงฆ์ไปฉันภัตตาหารที่บ้าน บังเอิญฝนตกหนักเป็นมหาเมฆที่ตกใหญ่ในตอนเช้า ก่อนเวลาไปฉันภัตตาหาร พระพุทธเจ้าอนุญาตให้พระสงฆ์สรงน้ำ พระสงฆ์ได้เปลือยกายสรงน้ำ เมื่อคนใช้นางวิสาขาไปวัด ไม่เห็นพระครองจีวร เห็นแต่คนเปลือยกายอาบน้ำ ก็นึกว่า วัดถูกนักบวชชีเปลือยยึด รีบกลับมาบอก นางวิสาขาก็เข้าใจเหตุการณ์จึงให้กลับไปนิมนต์ใหม่ ก็ได้พบพระสงฆ์ครองจีวรเรียบร้อย นางวิสาขาเห็นโอกาสประเสริฐที่จะได้ทำบุญใหญ่ จึงขอพรจากพระพุทธเจ้า ๘ ประการ[4]  พระพุทธองค์ทรงถามถึงความตั้งใจที่ขอพรแต่ละข้อ นางได้เล่าถวายเป็นข้อๆ จนพระพุทธองค์เข้าใจว่านางต้องการบำเพ็ญกุศลเป็นบุญจริยาประจำ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตและประทานพรแก่นางวิสาขา มหาอุบาสิกา นี้คือ ที่มาของการถวายผ้าอาบน้ำฝน ต่อมาได้รวมถึงการถวายผ้ากฐินตั้งแต่สมัยพุทธกาล และสืบต่อเป็นประเพณีชาวพุทธมาถึงทุกวันนี้

๑.๓ ประเพณีทอดกฐิน การทอดกฐิน สมัยปัจจุบัน อุบาสกอุบาสิกา สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการกรานกฐินของภิกษุได้ คือ แทนที่จะให้พระภิกษุจะทำจีวรกันเอง  ก็รับหน้าที่อาสานำ“ผ้ากฐิน” มาถวายให้สงฆ์ พระสงฆ์ก็ตัดขั้นตอนการทำจีวรออกไป ถึงตอนนี้ก็เกิดเป็นความร่วมแรงร่วมใจระหว่างพุทธบริษัท ฝ่ายฆราวาสก็พร้อมใจกันนำผ้ากฐินมาถวาย ฝ่ายพระภิกษุก็พร้อมใจมอบผ้าให้แด่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ดังที่กล่าวมาแล้ว และการที่อุบาสกอุบาสิกา นำผ้ากฐินมาถวายโดยไม่เจาะจงพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งนี้ เรียกว่า “ทอดกฐิน”  เห็นได้ว่ากฐิน ตามความหมายเดิมแท้ๆ คือ ผ้าผืนเดียว” ส่วนที่เหลือนั้นเป็นองค์ประกอบ ที่เรียกว่า “บริวารกฐิน” [5]

          ๑.๔ ประเภทของกฐิน ตามพระวินัย ไม่ได้จำแนกกฐิน (การถวายผ้ากฐินแก่พระสงฆ์) ออกเป็นชนิดๆ ไว้แต่อย่างใด หากพิจารณาจากประเพณีการทอดกฐินที่นิยมปฏิบัติกันในสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จำแนกชนิดของการทอดกฐินได้ ๒ ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้ คือ[6] 

๑.๔.๑  กฐินหลวง เมื่อพระพุทธศาสนาได้แพร่หลายมาประดิษฐานในประเทศไทย และประชาชนชาวไทยได้นับถือพุทธศาสนา  การทอดกฐินก็ได้กลายเป็นประเพณีของบ้านเมืองมาโดยลำดับ  พระเจ้าแผ่นดินผู้ปกครองบ้านเมืองก็ได้ทรงรับเรื่องกฐินเป็นพระราชพิธีอย่างหนึ่ง การที่พระเจ้าแผ่นดินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเกี่ยวกับกฐินเป็นพระราชพิธีดังกล่าว เป็นเหตุให้เรียกกันว่า “กฐินหลวง”

ดังนั้น วัดใดก็ตามไม่ว่า วัดหลวง หรือ วัดราษฎร์ ที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐินแล้ว ก็เรียกว่า กฐินหลวงทั้งสิ้น แต่สมัยต่อมา กฐินหลวงได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะการของบ้านเมือง เช่น ประชาชนมีศรัทธา เจริญรอยตามพระราชศรัทธาของพระเจ้าแผ่นดินและได้รับพระกรุณาให้ถวายผ้าพระกฐินตามควรแก่ฐานะ กฐินหลวงปัจจุบันจึงได้แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ คือ [7]

 ๑) กฐินที่กำหนดเป็นพระราชพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ หรือองคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์ ไปถวายเป็นประจำ ณ วัดสำคัญๆ ปัจจุบันมี ๑๖ วัด เช่น  วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์วัดสุทัศน์เทพวราราม วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นต้น

๒) กฐินต้น หมายถึง กฐินที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดที่มิใช่วัดหลวงและมิได้เสด็จไปอย่างเป็นทางการหรืออย่างเป็นพระราชพิธีแต่เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพระองค์

๓) กฐินพระราชทาน เป็นกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานผ้าของหลวงแก่ผู้ที่กราบบังคมทูลขอพระราชทานไปถวายยังวัดหลวง ที่นอกเหนือไปจากวัดสำคัญ ๑๖ วัดที่กำหนดไว้เหตุที่มีกฐินพระราชทาน ก็เพราะปัจจุบันวัดหลวงมีจำนวนมาก จึงเปิดโอกาสให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ตลอดจนคณะบุคคลต่างๆ ที่สมควรขอพระราชทานผ้าพระกฐินไปถวายได้ ซึ่งกฐินดังกล่าว ส่วนใหญ่ก็คือกฐินที่หน่วยงานราชการต่างๆ นำไปถวายนั่นเอง ทั้งนี้ ผู้ที่จะรับพระราชทานผ้ากฐินไปถวาย ณ วัดหลวงวัดใด ต้องติดต่อไปยังกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ตามระเบียบเพื่อเป็นการจองไว้ก่อน

 ๑.๔.๒ กฐินราษฎร์ หมายถึง กฐินที่ราษฎรหรือประชาชนผู้มีศรัทธานา ผ้ากฐินของตนไปถวาย

ตามวัดต่างๆ ยกเว้นวัดหลวง ๑๖ วัดที่กล่าวไว้แล้ว ซึ่งจะมีชื่อเรียกต่างๆ ตามลักษณะของการทอด คือ

๑) กฐิน หรือ มหากฐิน เป็นกฐินที่ราษฎรนำไปทอด ณ วัดใดวัดหนึ่งที่ตนศรัทธา

เป็นการเฉพาะ ผ้าที่เป็นองค์กฐินจะเป็นผืนเดียวหรือหลายผืนก็ได้ จะเย็บแล้วหรือไม่ก็ได้ แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นผ้าสำเร็จรูปแล้ว และนิยมถวายของอื่นๆ ที่เรียกว่า บริวารกฐิน ไปพร้อมกับองค์กฐินด้วย เช่น เครื่องอุปโภคบริโภคของพระภิกษุสงฆ์ อย่างหมอน โอ่งน้า เตา ไม้กวาด จอบ เสียบ อาหาร ยาต่างๆ เป็นต้น

๒) จุลกฐิน เป็นกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบเร่ง เดิมเรียกแบบไทยๆ ว่า กฐินแล่น

เจ้าภาพที่จะทอดกฐินเช่นนี้ได้ต้องมีพวกและกำลังมาก เพราะมีขั้นตอนพิธีการมากกว่าจะแล้วเสร็จคือต้องเริ่มตั้งแต่ปั่นฝ้ายเป็นด้าย ทอด้ายให้เป็นผ้า ตัดผ้าและเย็บผ้าเป็นจีวร ย้อมสี และต้องทอดถวายภายในวันนั้น และพระสงฆ์ก็ต้องกรานและอนุโมทนาในวันนั้นด้วย เรียกว่าเป็นกฐินที่ต้องทำทุกอย่างให้เสร็จภายในวันเดียว

๓) กฐินสามัคคี เป็นกฐินที่มีเจ้าภาพหลายคนร่วมกัน ไม่จำเป็นว่าใครบริจาค มากน้อยแต่มักตั้งเป็นคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการและมีหนังสือบอกบุญไปยังผู้อื่น เมื่อได้ปัจจัยมาเท่าไรก็จัดผ้าอันเป็นองค์กฐิน รวมทั้งบริวารไปทอด ณ วัดใดวัดหนึ่งที่จองไว้ ซึ่งกฐินชนิดนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพราะนอกจากทำบุญกฐินแล้ว ยังนำปัจจัยที่เหลือไปช่วยทำนุบำรุงวัด เช่น ก่อสร้างศาสนสถาน บูรณะปฎิสังขรณ์โบสถ์ เจดีย์ เป็นต้น

๔) กฐินตกค้าง หรือ กฐินโจร กล่าวคือในท้องถิ่นที่มีวัดมากๆ อาจจะมีวัดตกค้าง ไม่มีใครไปทอด จึงมีผู้มีจิตศรัทธาเสาะแสวงหหาวัดอย่างนี้ แล้วนำกฐินไปทอด ซึ่งมักจะเป็นวันใกล้สิ้นเทศกาลกฐินหรือวันสุดท้าย จึงเรียกว่า กฐินตกค้าง หรือ อาจเรียกว่า กฐินโจร เพราะกิริยาอาการที่ไปทอดอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวจู่ๆ ก็ไปทอด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าให้วัดรู้เพื่อเตรียมตัว คล้ายโจรบุก ซึ่งกฐินแบบนี้ต่างกับกฐินอื่นคือ ไม่มีการจองล่วงหน้า และจะทอดเฉพาะวัดที่ยังไม่มีใครทอด จะทอดหลายวัดก็ได้ และสามารถเอาของไทยธรรมที่เหลือจากวัดที่ไม่ได้ทอด (กรณีไปหลายวัด) ไปจัดเป็นผ้าป่า เรียกว่า “ผ้าป่าแถมกฐิน” ก็ได้[8]

๓. จุลกฐิน : สาระคุณค่าต่อประเพณีและวัฒนธรรมพุทธ

          ๓.๑ ความหมาย จุลกฐิน ตรงกันข้ามกับ “มหากฐิน” ที่แปลว่า “กฐินใหญ่” ซึ่งมหากฐินเป็นภารกิจที่ต้องเตรียมการใช้เวลานานเป็นปี ไม่ใช่เรื่องเร่งรีบต้องลงมือทำให้เสร็จวันเดียวแบบจุลกฐิน  แม้โดยศัพท์ “จุลกฐิน” จะแปลว่า “กฐินน้อย”  แต่เป็นกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบเร่ง เรียกแบบไทยๆ ว่า “กฐินแล่น” ดังกล่าวมา เจ้าภาพที่จะทอดจุลกฐินได้ ต้องมีพวกและกำลังมาก เพราะมีขั้นตอนพิธีการมากกว่าจะแล้วเสร็จ คือต้องเริ่มตั้งแต่ปั่นฝ้ายเป็นด้าย ทอด้ายให้เป็นผ้า ตัดผ้าและเย็บผ้าเป็นจีวร ย้อมสี และต้องทอด ภายในวันนั้น และพระสงฆ์ก็ต้องกรานและอนุโมทนาในวันนั้นๆ ด้วย เรียกว่าเป็นกฐินที่ต้องทำทุกอย่างให้เสร็จภายในวันเดียว อย่างที่กล่าวมาว่า “วุ่นเป็นจุลกฐิน” นั้นเอง

          ๓.๒ ความเป็นมา จุลกฐินไม่ปรากฏความเป็นมาในพระไตรปิฎก แต่มีเค้าโครงเรื่องการทำผ้าจีวรถวายพระอนุรุทธเถระที่ปรากฏในธรรมบท อรรถกถา ขุททกนิกาย ว่า

                    “สมัยหนึ่ง พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภพระอนุรุทธเถระ ตรัสพระ

ธรรมเทศนานี้ว่า “ยสฺสาสวา ปริกฺขีณา” เป็นต้น ความพิสดารว่า ในวันหนึ่ง พระเถระมีจีวรเก่าแล้ว แสวงหาจีวรในที่ทั้งหลายมีกองหยากเยื่อเป็นต้น หญิงภรรยาเก่าของพระเถระนั้น ในอัตภาพที่ ๓ แต่อัตภาพนี้ได้เกิดเป็นเทพธิดาชื่อชาลินีในดาวดึงส์ นางชาลินีเทพธิดานั้น เห็นพระเถระเที่ยวแสวงหาท่อนผ้าอยู่ถือผ้าทิพย์ ๓ ผืน ยาว ๑๓ ศอก กว้าง ๔ ศอก แล้วคิดว่า “ถ้าเราจักถวายโดยทำนองนี้ พระเถระจักไม่รับ”จึงวางผ้าไว้บนกองหยากเยื่อแห่งหนึ่ง ข้างหน้าของพระเถระนั้นผู้แสวงหาท่อนผ้าทั้งหลายอยู่ โดยอาการที่เพียงชายผ้าเท่านั้นจะปรากฏได้

พระเถระเที่ยวแสวงหาท่อนผ้าอยู่โดยทางนั้นเห็นชายผ้าของท่อนผ้าเหล่านั้นแล้ว จึงจับที่ชายผ้านั้นนั่นแลฉุดมาอยู่เห็นผ้าทิพย์มีประมาณดังกล่าวแล้ว ถือเอาด้วยคิดว่า “ผ้านี้เป็นผ้าบังสุกุลอย่างอุกฤษฏ์หนอ” ดังนี้แล้วหลีกไป

ครั้นในวันทำจีวรของพระเถระนั้น พระศาสดามีภิกษุ ๕๐๐ รูปเป็นบริวาร เสด็จไปวิหารประทับนั่งแล้ว แม้พระเถระผู้ใหญ่ ๘๐ รูปก็นั่งแล้วอย่างนั้นเหมือนกัน พระมหากัสสปเถระ นั่งแล้วตอนต้น เพื่อเย็บจีวร พระสารีบุตรเถระนั่งในท่ามกลาง, พระอานนทเถระนั่งในที่สุด ภิกษุสงฆ์กรอด้าย พระศาสดาทรงร้อยด้ายนั้นในรูเข็ม พระมหาโมคคัลลานเถระ นำวัตถุต่างที่จำเป็นต้องใช้มาให้

แม้เทพธิดาเข้าไปสู่ภายในบ้านแล้ว ชักชวนให้รับภิกษาว่า“ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พระศาสดาทรงทำจีวรแก่พระอนุรุทธเถระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลายวันนี้ อันพระอสีติมหาสาวกแวดล้อมประทับนั่งอยู่ในวิหารกับภิกษุ ๕๐๐ รูปพวกท่านจงถือข้าวยาคูเป็นต้นไปวิหาร” แม้ พระมหาโมคคัลลานเถระนาชิ้นชมพู่ใหญ่มาแล้วในระหว่างภัตภิกษุ ๕๐๐ รูปไม่อาจเพื่อขบ ฉันให้หมดได้ท้าวสักกะได้ทรงทำการประพรมในที่เป็นที่กระทำจีวร พื้นแผ่นดินได้เป็นราวกะว่าย้อมด้วยน้ำครั่ง กองใหญ่แห่งข้าวยาคูของควรเคี้ยวและภัต อันภิกษุทั้งหลายฉันเหลือ ได้มีแล้ว”[9]

จากการที่พระสงฆ์ ในสมัยพุทธกาล อันมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานในการทำผ้าจีวรถวายพระอนุรุทธเถระนั้นเป็นการทำที่รีบด่วนต้องอาศัยคนจำนวนมาก อาศัยเหตุนี้จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดประเพณีการทอดผ้าจุลกฐิน

จึงเห็นว่า จุลกฐินต้องอาศัยความร่วมมือกำลังคนของคนหมู่มากและทุนทรัพย์มากในการเร่งรีบดำเนินการจนแล้วเสร็จ จึงส่งผลให้ผู้ที่รับเป็นเจ้าภาพจัดทำจุลกฐินส่วนมาก มักจำต้องเป็นผู้มีทรัพย์ เป็นผู้กว้างขวาง มีบารมี มีพวกพ้องและบริวารคอยช่วยเหลือ ในยุคหลังพุทธกาลนี้จะเห็นได้ว่าความยากลำบากในการจัดทำจีวรจึงกลับตกอยู่แก่ผู้ทอดเพราะต้องจัดการทำทุกสิ่งทุกอย่าง พระภิกษุสงฆ์เป็นเพียงผู้รับผ้ากฐินและนำไปกรานกฐินเท่านั้น [10]

          ๓.๓ สาระและกระบวนการทอดจุลกฐิน จุลกฐินโดยเฉพาะในถิ่นล้านนา ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องค้นคว้าศึกษาอีกมาก เนื่องด้วยหลักฐานเอกสารโบราณเรื่องจุลกฐินมีปรากฏอยู่น้อยมาก และในปัจจุบัน ก็ยังไม่มีเอกสารทางวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจุลกฐินโดยเฉพาะ และเท่าที่สภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ได้ศึกษาค้นคว้า ก็ยังไม่มีการจัดทำเผยแพร่อย่างเป็น ทางการ”เพราะยังขาดหลักฐานข้อมูลที่ชัดเจนเท่าที่ควร

๓.๓.๑ สาระ เท่าที่สภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ เผยแพร่ข้อมูลเรื่องจุลกฐินกล่าวเพียงว่า จุลกฐิน คือ คำเรียก การทอดกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบด่วน โดยต้องอาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทธาจำนวนมาก เพื่อผลิตผ้าไตรจีวรให้สำเร็จด้วยมือภายในวันเดียว กล่าวคือ ต้องเริ่มตั้งแต่เก็บฝ้าย ตัดเย็บ ย้อม และถวายให้พระสงฆ์กรานกฐินให้เสร็จภายในเวลาเช้าวันหนึ่งจนถึงย่ำรุ่งของอีกวันหนึ่ง ดังนั้นโบราณจึงถือกันว่าการถวายจุลกฐินจึงมีอานิสงส์มาก เพราะต้องใช้ความอุตสาหะ พยายามมากกว่ากฐินแบบธรรมดา และต้องกระทำภายในระยะเวลาอันจำกัด

และจากการที่ ชูกลิ่น อุนวิจิตร คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้ทำ การศึกษาวิจัยเรื่องรูปแบบและการปรับงานบุญจุลกฐินเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย ได้กล่าวถึงตำนานจุลกฐินของล้านนาว่า มีเค้าโครงมาจากตำนานพื้นเมืองของเชียงตุง ดังใจความว่า

“มีพระเถระผู้เป็นอรหันต์ซึ่งในพรรษาหนึ่งท่านได้บำเพ็ญสมาบัติจนจะล่วงพ้นเวลาแห่งกฐิน   คือเหลือเวลาอีกเพียงหนึ่งวันที่จะหมดกาลเวลาที่พระสงฆ์จะรับกฐินจีวรได้ ตามพระพุทธานุญาต เทพธิดาผู้เคยเกิดเป็นภรรยาของพระเถระดังกล่าวในอดีต ได้ทราบเรื่องราว เกรงว่าพระเถระจะไม่มีโอกาสรับผ้ากฐินตาม    พระพุทธานุญาต จึงได้จำแลงแปลงกายเป็นมนุษย์ เนรมิตสวนฝ้ายขึ้นกลางป่า พร้อมป่าวประกาศชักชวนเหล่าหมู่เทวดาและมนุษย์ให้มาช่วยกัน และเมื่อเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายทราบเรื่องของพระเถระจากเทพธิดา จึงพากันร่วมแรงสามัคคีช่วยกันถัก ทอ เย็บ ย้อม ผ้ากฐินจีวร อันประณีตและบริสุทธิ์ แล้วร่วมอนุโมทนาในมหกรรมบุญนี้ขึ้นจนแล้วเสร็จพร้อมถวายในชั่วเวลา ๕ วัน”[11]

 ตำนานจุลกฐินดังกล่าวก็มีเรื่องราวคล้ายคลึงกับข้อมูลที่ปรากฏใน เรื่องพระอนุรุทธใน คัมภีร์อรรถกถา ขุททกกนิกาย ธรรมบท ที่กล่าวมา โดยไม่ได้ต่างกันในส่วนของโครงเรื่อง แต่อาจแตกต่างกันในรายละเอียดที่แสดงมาแล้ว  

อีกหลักฐานหนึ่ง สาระของประเพณีทอดจุลกฐินนี้ มีความสอดคล้องกับ “ประเพณีทอผ้าทันใจ” ของกลุ่ม “ชาวไทลื้อ-ไทเขิน” ซึ่งรอง ศาสตราจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว นักวิชาการด้านล้านนาคดี ได้กล่าวไว้ว่า “ชาวไทลื้อนับถือ พระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด ซึ่งประเพณีทางพระพุทธศาสนาของชาวไทลื้อคล้ายคลึงกับชาวไท- ยวนในล้านนา”  และชาวไทลื้อจะมีประเพณีการทำบุญถวายทานในแต่ละเดือนที่คล้ายคลึงกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทในกลุ่มอื่นๆ สิ่งของในเครื่องไทยทานเหล่านั้นก็มักจะมี “ผ้าทอ” เป็นส่วนประกอบเสมอ เช่นในช่วงวันสงกรานต์มีการทอ “ตุง” ไปถวายวัด และในช่วงก่อนออกพรรษามีประเพณีทอ“ผ้าทันใจ” โดยรวมกันทอผ้า “ไตรจีวร” ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งวันเพื่อถวายพระสงฆ์[12]  

 จึงอาจเป็นไปได้ว่า การจัดพิธีจุลกฐินในล้านนานั้น น่าจะเริ่มจากกลุ่มชาวไทลื้อ-ไทเขิน ที่อาศัยอยู่ในดินแดนล้านนาดังที่กล่าวมา นอกจากนี้วารสารวัฒนธรรมไทย กระทรวงวัฒนธรรม ได้ให้ข้อมูลว่า จุลกฐินเป็นประเพณีที่เก่าแก่ประเพณีหนึ่งในสังคมชาวพุทธที่พบในประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีความหมายว่า เป็นกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบด่วน เป็นงานที่ต้องอาศัยความสามัคคีในกระบวนการผลิตผ้าให้สำเร็จได้ด้วยมือของชาวบ้าน

          ๓.๓.๒ กระบวนการทอดจุลกฐิน  จากตำนานพื้นเมืองของเชียงตุง ที่เล่าว่าเทพธิดาได้จำแลงแปลงกายเป็นมนุษย์ เนรมิตสวนฝ้ายขึ้นกลางป่า พร้อมป่าวประกาศชักชวนเหล่าหมู่เทวดาและมนุษย์ให้มาช่วยกัน ร่วมแรงสามัคคีช่วยกันถัก ทอ เย็บ ย้อม ผ้ากฐินจีวร จากฝ้ายในสวนนั้น ให้กระบวนการเตรียมการเพื่อทอดถวายจุลกฐิน จึงเป็นงานเตรียมการเอาไว้ให้พร้อมก่อนวัน ทอผ้า และตัดเย็บจีวร จึงขอนำกระบวนการ เตรียมทอดจุลกฐินของวัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ บ้านห้วยชมพู อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้

) การปลูกฝ้ายโดยจะกำหนดเอาวันเริ่มพิธีปลูกฝ้ายกะระยะเวลาที่ดอกฝ้ายจะบานได้ทันใช้งานโดยคัดเลือกพันธุ์ฝ้ายและพื้นที่ทำแปลงปลูกฝ้าย ซึ่งทางวัดได้เตรียมแปลงปลูกที่ พื้นที่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และที่พื้นที่ทำการเกษตรที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

๒) การแลต้นฝ้าย ในส่วนการดูแลต้นฝ้ายจะเป็นหน้าที่ของชาวบ้าน ผู้ที่มีความชำนาญในการ

เพาะปลูกพืชผักต่างๆ เข้ามาปลูกและดูแลฝ้าย เพราะรู้วิธีการบำรุงดูแลรักษา ในระยะดังกล่าว ทางวัดและคณะกรรมการทอดกฐิน ต้องเอาใจใส่ติดตามเป็นระยะ เพื่อมิให้ต้นฝ้ายต้องตายก่อนที่จะถึงช่วงพิธีใหญ่  

๓) พิธีจุลกฐิน เมื่อถึงกำหนดช่วงวันถวายผ้าจุลกฐิน ก็จะเริ่มต้นด้วยพิธีเก็บเกี่ยวฝ้าย เพื่อนำมาทำเป็นผ้าจุลกฐิน  ทางเจ้าภาพหนดเอาวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ เป็นวันเริ่มพิธีเก็บฝ้ายและเริ่มกิจกรรมอื่นๆการเตรียมงานจุลกฐินตามประเพณีดั้งเดิมล้านนา จะแตกต่างจากการเตรียมกฐินแบบทั่วไป เพราะต้องงจัดเตรียมสถานที่ในการปั่นด้าย ทอผ้าและจะเริ่มต้น พิธีกรรมการทำนผ้าตั้งแต่ผ่านพ้น เวลาเที่ยงคืน ของวันที่ ๒๘ ตุลาคมที่ผ่านมา โดยการจัดแบ่งพื้นที่เป็นข่วงๆ (ข่วงความหมายตรงตัว แปลว่า ลาน คือเป็นพื้นที่ว่างๆ โล่ง สำหรับเป็นสถานที่จัดพิธีกรรมต่างๆ หรือกิจกรรมของชุมชน) ซึ่งในพื้นที่จัดงานภายในวัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ ได้แบ่งออกเป็นพื้นที่ข่วงต่างๆ เช่น ข่วงโรงทาน ข่วงกอบฝ้าย เก็บฝ้าย ข่วงอีดฝ้าย ข่วงดีดฝ้ายการปั่นฝ้าย ข่วงกวักฝ้าย ข่วงทอหูก วิธีการทอผ้า ข่วงตัดเย็บ  ทำผืนจีวร ข่วงย้อมสีจีวร การย้อม การตาก การนพับเก็บ ซึ่งคณัศรัทธาเจ้าภาพ ก็จะลงมือปฏิบัติเพื่อที่จะทำผ้าจุลกฐิน ให้เสร็จทันเวลา[13]

งานทอดจุลกฐินบางพื้นที่ คณะเจ้าภาพจะเริ่มดำเนินการกันตั้งแต่หลังพระอาทิตย์ตกดิน และร่วมกันทำ งานตลอดทั้งคืนจนกว่าจะแล้วเสร็จในเช้าของวันรุ่งขึ้น ในขั้นตอนของการจัดเตรียมผ้าจีวรนี้สำคัญที่สุดที่จะต้องจัดหาอุปกรณ์ ของใช้ที่จำเป็นมาให้ครบและมากพอเพียง ทั้งผู้ที่มาช่วยกันทำ ควรจะเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำ นาญในด้านงานทำผ้าเพื่อป้องกัน ไม่ให้เกิดความล่าช้าจนไม่ทันกำหนดเวลา

          ๓.๔ คุณค่าของประเพณีและวัฒนธรรมการทอดจุลกฐิน ประเพณีทอดจุลกฐินก่อให้คุณค่า ข่อประเพณีและวัฒนธรรมในด้านต่างๆ ดังนี้

                   ๓.๔.๑ คุณค่าต่อประเพณีสังคม  เห็นได้ชัดเจนคือ ความสามัคคีที่เกิดขึ้นในการจัด

งานทอดจุลกฐิน นับตั้งแต่การประชุมจัดเตรียมงาน  โดยเฉพาะในวันจัดงานต้องอาศัยคนจำนวนมาเพื่อมาช่วยกัน ทำผ้าจีวรที่จะทอดถวายแก่พระสงฆ์เพราะการถวายผ้าจุลกฐิน ต้องเริ่มตั้งแต่การเก็บฝ้าย นาฝ้ายมาแยกเมล็ดออกแล้วปั่นฝ้ายให้เป็นด้าย จากด้าย นำมาทอเป็นผืน จากผืนนำมาตจัดเย็บให้เป็นจีวรพร้อมที่ถวายสงฆ์เป็นผ้ากฐิน นอกจากความสามัคคีแล้วจุลกฐินยังทำให้คนในชุมชนเห็นถึงคุณค่าภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดไว้ให้ความเสียสละ ความมีน้ำใจความรักในชุมชน เมื่อทราบถึงหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง ประเพณีจุลกฐิน จะเป็นการสืบสานประเพณีที่ดีงามเป็นไปตามหลักพระวินัยทางพุทธศาสนา   ในปัจจุบันงานบุญจุลกฐิน แม้ว่าจะได้รับความนิยมน้อยลงไป แต่ก็มีประชาชนบางกลุ่มที่ยังคงอนุรักษ์สืบทอดให้มีประเพณีนี้สืบต่อไป

๔.๓.๒ คุณค่าต่อวัฒนธรรม  เนื่องจากพระพุทธศาสนาเป็นบ่อเกิดของศิลปวัฒนธรรมไทยทุกแขนงเช่น ศิลปะ ทางด้านจิตรกรรม ประติมากรรม หัตถกรรม วรรณกรรม เป็นต้น ประเพณีจุลกฐินก็ถือว่า เป็นศิลปะแขนงหนึ่งและได้ปรากฏเป็นเอกลกัษณ์ของชาติไทยอยู่ทุกวันนี้ จุลกฐินมีศิลปะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่นการแสดงวิธีการทอผ้า การแสดงธงกฐิน เป็นรูปจระเข้และนางมัจฉา หรือขบวนแห่องค์พระกฐินเป็นศิลปะสัญลักษณ์อย่างหนึ่งงของประเพณีจุลกฐิน  ศิลปะเหล่านี้เกิดจากชาวพุทธมีจิตศรัทธาอันบริสุทธิ์ได้คิดค้นต้นแบบมาสอดใส่ความวิจิตรบรรจงลงไปให้้เป็นศิลปะทรงคุณค่าคู่ควรแก่การถวายเป็น พุทธบูชาธรรมบูชาและสังฆบูชา เพื่อยกย่องเชิดชูบูชาพระพุทธศาสนาให้ดีเลิศ และจูงใจให้สาธุชน มีความตระหนักในคุณค่าเคารพและยำเกรง อิทธิพลของกฐินในด้านศิลปะได้วัฒนธรรมช่วยให้ประเพณีที่ดีงามนี้เป็นมรดกคู่กับสังคมและวัฒนธรรมไทยสืบไป

 

๔. องค์กฐิน

แม้ว่า จุลกฐิน จะเน้นถวายผ้าเพื่อกรานกฐินเพียงผืนใดผืนหนึ่งก็สำเร็จเป็นกฐินทาน แต่ในปัจจุบัน ในการถวายผ้ากฐินทั่วไป เจ้าภาพก็จะตั้งองค์กฐิน ซึ่งเป็นคำเรียกองค์ประกอบ ของใช้ของพระภิกษุที่ใช้ร่วมถวายกับไตรจีวรแก่พระภิกษุผู้ครองผ้ากฐินในปีนั้นๆ    ได้แก่ ๑  ผ้าไตรจีวร ๒  บาตร ๓  ตาลปัตร ๔  ย่าม ๕ ร่ม ๖ รองเท้า หรือ อาจจะมีมากกว่านี้ก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความตั้งใจของแต่ล่ะที่ ซึ่งเป็นธรรมเนียมเป็นที่รู้กันว่าองค์กฐินจะต้องถวายกับพระภิกษุผู้ครองผ้ากฐินในปีนั้น ซึ่งแตกต่างจากบริวารกฐิน หมายถึง เครื่องไทยธรรม ที่จะตกเป็นของสงฆ์หรือของวัด ซึ่งองค์กฐินนั้น จะเป็นเครื่องประกอบเสริมไตรจีวรที่เป็นเครื่องนุ่งห่ม โดยทั้งบาตร ตาลปัตร ย่าม รองเท้า ต่างก็เป็นสิ่งที่ประดับประดาการตกแต่งร่างกาย เหมือนเครื่องนุ่งห่มทางอ้อม จึงมีอานิสงส์เช่นเดียวกับจีวรไปด้วย คือทำให้มีรูปงาม และองค์กฐินต้องเป็นของใหม่ทุกปี โดยมีคติเช่นเดียวกับไตรจีวร ที่ถ้าใครมีจีวรเก่า ก็จะได้มีของจีวรใหม่เปลี่ยนบ้าง บาตรตาลปัตร ย่าม รองเท้า ก็เช่นกัน จะได้มีของใหม่มาทดแทนของเก่าบ้าง ทำให้วัดมีของใหม่เวียนเข้ามาแทนที่ของเก่าที่นับวันอาจผุพังไปจนหมด เพื่อให้เป็นประเพณี เพื่อให้พระภิกษุเบาใจ ไม่อยู่อย่างลำบากเกินไปนัก อันอาจเกิดจากการไม่มีบริขารเพียงพอ ส่วนเครื่องกฐินหมายถึงสิ่งที่จะใช้ในงานทอดกฐินทั้งหมด คือ องค์กฐิน บริวารกฐิน ธงกฐิน และอื่นๆ ฯลฯ มักใช้ในตอนซื้อของเพื่อเตรียมงานกฐินว่าขาดเหลืออะไรบ้าง[14]

๕. ธงจระเข้-นางมัจฉา ในประเพณีทอดกฐิน

สมัยโบราณนิยมแห่ผ้ากฐินไปทอดตามวัดต่าง ๆ โดยอาศัยเรือเป็นสำคัญ การเดินทางไปตามลำน้ำมักมีอันตรายจากสัตว์น้ำต่าง ๆ เนือง ๆ เช่น จระเข้ขึ้นมาหนุนเรือให้ล่ม ขบกัดผู้คนบ้าง คนแต่ก่อนหวั่นเกรงภัยเช่นนี้ จึงคิดอุบายทำธงจระเข้ปักหน้าเรือไปเป็นทำนองประกาศให้สัตว์ร้ายในน้ำ เช่น จระเข้ ซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่และดุร้ายกว่าสัตว์อื่น ๆ ในน้ำ ให้รับทราบการบุญการกุศล จะได้พลอยอนุโมทนาและมีจิตใจอ่อนลง ไม่คิดที่จะทำอันตรายแก่ผู้คนในขบวนซึ่งเดินทางไปประกอบพิธีการทางศาสนา

เนื่องจากถือกันว่าดาวจระเข้เป็นดาวสำคัญ การเคลื่อนขบวนทัพในสมัยโบราณต้องคอยดูดาวจระเข้ขึ้น ซึ่งเป็นเวลาจวนสว่างแล้ว การทอดกฐินเป็นพิธีทำบุญที่มีอานิสงส์ไพศาลเพราะทำในเวลาจำกัด มีความสำคัญเท่ากับการเคลื่อนขบวนทัพในชั้นเดิมผู้จะไปทอดกฐินต้องเตรียมเครื่องบริขารและผ้าองค์กฐินไว้อย่างพร้อมเพรียง แล้วแห่ไปวัดในเวลาดาวจระเข้ขึ้น ไปแจ้งเอาที่วัด ต่อมาจึงมีผู้คิดทำธงจระเข้โดยถือว่า ดาวจระเข้เป็นดาวบอกเวลาเคลื่อนองค์กฐิน[15]

 เรื่องเล่าว่า มีอุบาสกคนหนึ่งนำองค์กฐินแห่ไปทางเรือมีจระเข้ตัวหนึ่ง อยากได้บุญในการทอดกฐิน จึงว่ายน้ำตามเรืออุบาสกนั้นไปด้วย แต่ไปได้พักหนึ่งจึงบอกแก่อุบาสกนั้นว่า ตนตามไปด้วยไม่ได้แล้วเพราะเหนื่อยอ่อนเต็มที ขอให้อุบาสกจ้างช่างเขียนภาพของตนที่ธง แล้วยกขึ้นไว้ในวัดที่ไปทอดด้วยอุบาสกรับคำของจระเข้ แล้วก็ทำตามที่จระเข้สั่ง ตั้งแต่นั้นมาธงรูปจระเข้จึงปรากฏตามวัดต่าง ๆ ในเวลามีการทอดกฐิน

อีกตำนานหนึ่ง เรื่องเล่าว่ามีเศรษฐีขี้เหนียวคนหนึ่ง เมื่อมีชีวิตอยู่ไม่เคยทำบุญเลย ต่อมาตายไป ได้เกิดเป็นจระเข้ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ เพราะหวงแหนทรัพย์ของตนที่แอบฝังไว้ที่ริมแม่น้ำ ต่อมาจึงไปเข้าฝันภรรยาบอกตำแหน่งขุมทรัพย์ที่ตนแอบฝังไว้ ให้ภรรยามาขุด เพื่อให้นำไปทำบุญ เพื่อจะได้หมดกรรมไม่ต้องอยู่เฝ้าทรัพย์ต่อไป ภรรยาจึงนำทรัพย์เหล่านั้น ไปทอดกฐิน ขณะที่ขบวนทอดกฐินของภรรยาเศรษฐีไปวัดที่โดยสารไปทางเรือ ก็ปรากฎว่ามีจระเข้ของเศรษฐีขึ้นมาว่ายน้ำนำหน้าเรือของขบวนกฐิน จึงเป็นธรรมเนียมให้มีธงจระเข้นำขบวนแห่ขบวนกฐินตั้งแต่นั้นมา

 มีข้อความในจาตุมสูตรตอนหนึ่ง แสดงภัยที่จะเกิดกับพระโดยเฉพาะพระใหม่หรือพระหนุ่มเณรน้อยไว้ ๔ อย่างด้วยกัน ซึ่งเปรียบด้วยภัยที่เกิดแก่บุคคลที่ลงในแม่น้ำหรือทะเล คือ

ภัยเกิดแต่ความอดทนต่อโอวาทคำสอนมิได้ ท่านเปรียบเสมือนคลื่น เรียกว่า อุมฺมิภยํ (ใช้ตะขาบที่สื่อถึงความขี้โกรธจนไม่สามารถอดทนต่อคำสั่งสอนได้)

ภัยเกิดแต่การเห็นแก่ปากแก่ท้อง ทนความอดอยากมิได้ท่านเปรียบเสมือนจระเข้ เรียกว่า กุมฺภีลภยํภัยเกิดแต่ความยินดีในกามคุณ ๕ ท่านเปรียบเสมือนวังน้ำวน เรียกว่า อาวฏฺฏภยํ (ใช้เต่าที่สื่อถึงการที่ต้องรู้จักระวังในการรักษาอายตนะทั้ง ๖ ให้ดี ไม่ให้กามคุณทั้ง๕ครอบงำได้)

ภัยเกิดแต่การรักผู้หญิง ท่านเปรียบเสมือนปลาร้ายเรียกว่า สุสุกาภยํ เมื่อพิจารณารูปธงที่ช่างประดิษฐ์ขึ้น จะเห็นว่ามีภัย ๔ อย่างอยู่ครบ ต่างแต่ว่าเด่นมาก เด่นน้อย หรือเป็นเพียงแทรกอยู่ในความหมายที่เด่นมาก คือ รูปจระเข้ รองลงไปคือ รูปคลื่น ส่วนอีก ๒ อย่างคือ รูปวังน้ำวนและปลาร้าย ปรากฏด้วยรูปน้ำเป็นสำคัญ บางรายเขาเพิ่มธงปลาร้ายขึ้นอีกธงหนึ่ง เรียกว่า ธงมัจฉา

ธงกฐินนั้นจะมีอยู่ ๔ อย่างคือ ๑ รูปจระเข้ ๒ รูปนางมัจฉา ๓ รูปตะขาบ ๔ รูปเต่า ซึ่งเป็นปริศนาธรรม มีความหมายว่า ๑. จระเข้หมายถึงความโลภ สื่อที่ปากจระเข้มีขนาดใหญ่ ๒ ตะขาบ หมายถึงความโกรธ สื่อถึงพิษของตะขาบ ๓. นางมัจฉา หมายถึงความหลง ใช้รูปนางเงือกที่เป็นหญิงสาวรักสวยรักงาม ๔ เต่า หมายถึงสติ การระวังป้องอายตนะทั้ง ๖ เหมือนเต่าที่หด หัว ขา หาง ป้องกันอันตราย เพื่อสอนว่า ความโลภ โกรธ หลง ต้องรู้จักควบคุมจิตใจด้วยการมีสติ นั่นเอง  

ธงกฐินโบราณ ๔ แบบ

๑) ธงจระเข้ ใช้ในการแห่ขบวนกฐิน (ตามตำนานที่ว่าจระเข้ว่ายน้ำตามขบวนกฐิน)

๒) ธงนางมัจฉา ใช้ประดับงานกฐินที่วัด (เพื่อแสดงถึงอานิสงส์การถวายผ้ากฐินว่าจะทำให้ผู้ถวายเกิดมาจะมีรูปงาม)

๓) ธงตะขาบ ติดที่หน้าวัดเพื่อแจ้งเตือนว่าวัดนี้มีผู้จองกฐินแล้ว จะได้ไม่ต้องเสียเวลาแวะถาม

๔) ธงเต่า ติดไปที่หน้าวัดเพื่อแจ้งว่าวัดนี้ทอดกฐินเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจะปลดลงหลังสิ้นเทศกาลทอดกฐินแล้ว

ดังนั้น ธงจระเข้กับธงนางมัจฉาจะอยู่คู่กันใช้ประดับประดางาน และธงตะขาบกับเต่าจะอยู่คู่กันประดับประดาที่หน้าวัด

ปัจจุบัน มักจะเหลือเพียงธงจระเข้กับธงนางมัจฉา ส่วนธงตะขาบกับธงเต่าจะมีเพียงวัดที่รักษาธรรมเนียมโบราณไว้เท่านั้นที่ยังใช้อยู่ ปัจจุบันธงทั้ง ๔ มักไม่ได้ทำหน้าที่สื่อความหมายต่าง ๆ ดังในอดีต แต่จะทำหน้าที่ประดับงานทอดกฐิน และทำหน้าที่ร่วมงานแห่องค์กฐินเท่านั้น

โดยธงกฐินนั้น ทางวัดมักมอบให้แก่ญาติโยมที่มาทอดกฐิน โดยเชื่อว่า ๑) ธงจระเข้ จะทำให้ค้าขายดี มีโชคลาภ ๒) ธงนางมัจฉา จะทำให้มีเมตตามหานิยมแก่ผู้พบเห็น ๓) ธงตะขาบ จะทำให้แคล้วคลาดปลอดภัย ขับไล่สิ่งชั่วร้ายทั้งปวงที่จะเข้ามา ทำให้ศัตรูยำเกรง ปกป้องให้พ้นภัยจากภยันตรายทั้งปวง ๔) ธงเต่า จะทำให้สุขภาพ แข็งแรง[16]

๖. คำถวายผ้ากฐิน

คำถวายผ้ากฐินภาษาบาลี

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส” (๓ จบ)

กล่าวคำถวายผ้ากฐิน

อิมํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม

ทุติยมฺปิ อิมํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม

ตติยมฺปิ อิมํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม

สาธุ โน ภนฺเต สงฺโฆ อิมํ สปริวารํ กฐินทุสฺสํ ปฏิคฺคณฺหาตุ อมฺหากํ หิตาย สุขาย

คำแปล

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าจีวรกฐิน กับทั้งบริวารนี้ แด่พระสงฆ์ ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าจีวรกฐิน กับทั้งบริวารนี้ แด่พระสงฆ์ แม้ในวาระที่สองข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าจีวรกฐิน กับทั้งบริวารนี้ แด่พระสงฆ์ แม้ในวาระที่สาม ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงรับ ซึ่งผ้ากฐิน กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญฯ

 คำถวายผ้ากฐินภาษาบาลี แบบใหม่

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส” (๓ จบ)

คำถวายผ้ากฐิน

อิมํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต สงฺโฆ, อิมํ สปริวารํ กฐินทุสฺสํ, ปฏิคฺคณฺหาตุ, ปฏิคฺคเหตฺวา จ, อิมินา ทุสฺเสน กฐินํ อตฺถรตุ, อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย

คำแปล

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินกับทั้งผ้าบริวารนี้ แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐิน กับทั้งบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย ครั้นรับแล้ว จงกรานกฐิน ด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนาน เทอญ [17]

 

สรุป

จุลกฐิน คือคำเรียกการทอดกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบด่วน โดยต้องอาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทธาจำนวนมาก โบราณจึงถือกันว่า การทำจุลกฐินมีอานิสงส์มาก เพราะต้องใช้ ความอุตสาหะ พยายามมากกว่ากฐินแบบธรรมดา (มหากฐิน) ประเพณีจุลกฐิน พบเฉพาะในภาคอีสานและในภาคเหนือ และในอดีตงานจุลกฐินไม่ได้ปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายคงมีเฉพาะกลุ่ม เช่น ชาวไทลือบ้านศรีดอนไชย จังหวัดเชียงราย  วัดท่ากระดาษ จังหวัดเชียงใหม่และวัดปงสนุกเหนือ จังหวัดลำปาง

เนื่องในวโรกาสที่วัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ ได้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลถวายผ้าพระจุลกฐิน องค์ประธานโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ในปี ๒๕๖๕ นี้ นับเป็นการสืบสานสาระคุณค่าที่เป็นประเพณีและวัฒนธรรมชาวพุทธอันควรถือเป็นทิฏฐานุคติสู่อนุชนสืบไปนานแสนนาน.

 

แหล่งอ้างอิง

พระไตรปิฎก อรรถกถา

พระวินัยปิฎก มหาวรรค กฐินขันธกะ. (ไทย) ๕/๓๐๖/๑๔๔-๑๔๖.

พระวินัยปิฎก มหาวรรค วิสาขวัตถุ. (ไทย) ๕/๓.๔-๓๕๒/๒๑๘-๒๒๕.

ขุททกนิกาย ธรรมบท อรรถกถา เรื่องพระอนุรุทธ. (ไทย) ๑/๒/๒/๓๓๗.

หนังสือทั่วไป

กรมศาสนา, ความรู้เรื่องกฐิน”, พระอารามหลวง เล่ม ๑,  กรุงเทพฯ : กรมศาสนา, ๒๕๕๑.

ชูกลิ่น อุนวิจิตร, รูปแบบและการปรับงานบุญจุลกฐินเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย,  เชียงราย : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, ๒๕๔๖.

พระครูปลัดพิศิษฐ์ เมตฺตจิตโต (พลชานวพงศ), ศึกษาวิเคราะห์ประเพณีจุลกฐินของชาวพุทธล้านนา : กรณีศึกษา วัดอนาลโยทิพยาราม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา, วิทยานิพนธ์ พุทธศาสตรมหาบัณฑิต (พระพุทธศาสนา), บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๕๕๔.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), ปัญหาขัดแย้งในโลกแก้ได้ด้วยกฐิน.กรุงเทพฯ : พิมพ์สวย จำกัด, ๒๕๔๙.

พิสิฐ เจริญสุข, ความรู้เรื่อง กฐิน”. พระอารามหลวง เล่ม ๑. กรุงเทพฯ: กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. ๒๕๕๑.

เพิ่มศักดิ์ วรรลยางกูล. "ประเพณีทอดกฐิน". เมืองไทยในอดีต. พระนคร : วัฒนาพานิช, ๒๕๐๓.

วิจิตร สมบัติบริบูรณ์, กฐินทาน. กรุงเทพฯ : รุ่งแสงการพิมพ์, ๒๕๔๘.

เสฐียรโกเศศ, การศึกษาเรื่องประเพณีไทยและชีวิตชาวนาไทยสมัยก่อน. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา,

๒๕๒๐.

อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว, ไทลื้อในสิบสองพันนาและล้านนา”, เอกสารการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง มรดกสิ่งทอไทลื้อกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมในล้านนา, เชียงราย : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนบนร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, ๒๕๓๕.

https://krupiyarerk.wordpress.com/tag/องค์กฐิน/. สืบค้นวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๕.

https://th.wikipedia.org/wiki/กฐิน#cite_note-เพิ่มศักดิ์-๙. สืบค้นวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๕.

ผู้เรียบเรียง ในนามคณาจารย์บัณฑิตศึกษา

          ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์บัณฑิตศึกษา วิทยาเขตเชียงใหม่ และผู้อำนวยการหลักสูตรพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่

          ผศ.ดร.เยื้อง ปันเหน่งเพ็ชร์ อาจารย์ประจำบัณฑิตศึกษา และ หัวหน้าสาขาวิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่

 



[1] บทความนี้  ดร.พระอธิพัฒน์ รตนวณฺโณ เจ้าอาวาสวัดธาราทิพย์ชัยประเดิฐ์ อาจารย์หลักสูตรปรัชญา  ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรศูนย์บัณฑิตศึกษา มจร และ ผศ. ดร.เยื้อง ปั้นเหน่งเพ็ชร์ หัวหน้าสาขาปรัชญา อาจารญประจำบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ เรียบเรียงเพื่อเป็นปฏิการะแด่พุทธศาสนิกชนผู้มาร่วมกุศลโดยเสด็จ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ในวโรกาสเสด็จเป็นองค์ประธานพิธีบวงสรวงหอเสื้อวัด และบำเพ็ญพระกุศลถวายผ้าพระกฐิน ที่วัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ บ้านห้วยชมภู ตำบลแม่แตงอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่  ระหว่างวันที่ ๒๗-๒๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๕

[2] กรมศาสนา, ความรู้เรื่องกฐิน”, พระอารามหลวง เล่ม ๑, (กรุงเทพฯ : กรมศาสนา, ๒๕๕๑), หน้า ๔๑๕.

[3] พระวินัยปิฎก มหาวรรค กฐินขันธกะ. (ไทย) ๕/๓0๖/๑๔๔-๑๔๖.

[4] พระวินัยปิฎก มหาวรรค วิสาขวัตถุ. (ไทย) ๕/๓.๔-๓๕๒/๒๑8-๒๒๕.

[5] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), ปัญหาขัดแย้งในโลกแก้ได้ด้วยกฐิน,  (กรุงเทพฯ : พิมพ์สวย จำกัด, ๒๕๔๙),     หน้า ๖-๘.

[6] เสฐียรโกเศศ, การศึกษาเรื่องประเพณีไทยและชีวิตชาวนาไทยสมัยก่อน, (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, ๒๕๒๐), หน้า ๑๖ – ๒๐.

[7] วิจิตร สมบัติบริบูรณ์, กฐินทาน, (กรุงเทพฯ : รุ่งแสงการพิมพ์, ๒๕๔๘), หน้า ๒๗.

[8] เสฐียรโกเศศ, การศึกษาเรื่องประเพณีไทยและชีวิตชาวนาไทยสมัยก่อน, (กรุงเทพฯ : สานักพิมพ์

คลังวิทยา, ๒๕๒๐), หน้า ๒๔-๒๖.

[9] ขุททกนิกาย ธรรมบท อรรถกถา เรื่องพระอนุรุทธ. (ไทย) ๑/๒/๒/๓๓๗.

[10] พระครูปลัดพิศิษฐ์ เมตฺตจิตโต (พลชานวพงศ), ศึกษาวิเคราะห์ประเพณีจุลกฐินของชาวพุทธล้านนา : กรณีศึกษา วัด อนาลโยทิพยาราม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา, วิทยานิพนธ์ พุทธศาสตรมหาบัณฑิต (พระพุทธศาสนา), บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๕๕๔, หน้าง ๓๑.

[11] ชูกลิ่น อุนวิจิตร, รูปแบบและการปรับงานบุญจุลกฐินเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย, (เชียงราย : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, ๒๕๔๖),หน้า ๔๒-๔๖. อ้างใน พระครูปลัดพิศิษฐ์ เมตฺตจิตโต,ศึกษาวิเคราะห์ประเพณีจุลกฐินของชาวพุทธล้านนา : กรณีศึกษา วัดอนาลโยทิพยาราม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา, หน้า ๓๗.

[12] อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว, ไทลื้อในสิบสองพันนาและล้านนา”, เอกสารการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง มรดกสิ่งทอไทลื้อกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมในล้านนา, (เชียงราย : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนบนร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, ๒๕๓๕), หน้า ๗.

 [13] พระครูปลัดพิศิษฐ์ เมตฺตจิตโต (พลชานวพงศ), เรื่องเดียวกัน, หน้า. ๕๑-๕๓.

[15][15] เพิ่มศักดิ์ วรรลยางกูล. “ประเพณีทอดกฐิน”. เมืองไทยในอดีต. พระนคร : วัฒนาพานิช, ๒๕๐๓, หน้า ๔๐๔๒.

 [16]  https://th.wikipedia.org/wiki/กฐิน#cite_note-เพิ่มศักดิ์-๙.

[17] พิสิฐ เจริญสุข, ความรู้เรื่อง กฐิน”. พระอารามหลวง เล่ม ๑. กรุงเทพฯ: กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. ๒๕๕๑. หน้า ๔๒๘.

 


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น