วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2562

พม่า เมืองพระเมืองพุทธ ตอนที่ 5 (มัณฑะเลย์ สถานที่ทำพุทธสังคายนาครั้งที่ 5 และจารึกพระไตรปิฎกฉบับหินอ่อน 729 แผ่น)


          
          2.2 พระพุทธศาสนาในอาณาจักรมัณฑะเลย์ 1907
                หากจะเล่าความทั้งหมดนับแต่พระพุทธศาสนาเถรวาทแบบพุกามมาจนถึง สมัยอาณาจักรมัณฑะเลย์ เห็นจะเกินหน้าหนังสือ จึงขอตัดตอนเฉพาะที่สำคัญ  เมื่อนึกถึงเมืองสำคัญของอาณาจักรพม่านับแต่โบราณมา จะได้ยินชื่อ สุธรรมวดี(มอญ) ศรีเกษตร(พยู) หงสาวดี/พะโค (มอญ) ตะโก้ง(ย้างกุ้ง) เมาะตะมะ เกตุมวดี  แปร  พุกาม(ถึง พ.ศ.1832)
ถัดมาจะได้ยินชื่อ อังวะ(บาลีเรียกว่า เมืองรัตนปุระ), ตองอู(พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้, พระเจ้าบุเรงนอง พม่าเรียกว่า บายินน็อง (Bayinnaung Kyawhtin Nawrahta) (พ.ศ. 20942124 ผู้มาพิชิตอยุทธยา เสียกรุงครั้งที่ 1) ก่อนสิ้นยุคตองอู มีพระเจ้ามังระ(ครองราชย์ 2306-2319)  ที่ส่ง เนเมียวสีหบดี เข้ามากวาดต้อนผู้คนและกำลังพลจากหัวเมืองทางเหนือของไทยก่อน ในปี พ.ศ. 2307 และได้ส่งทัพจากทางใต้ คือ มังมหานรธา เข้ามาเสริมช่วยอีกทัพหนึ่ง ทั้ง 2 ทัพได้ล้อมกรุงศรีอยุธยานานถึง 1 ปี 2 เดือน แม้ถึงฤดูน้ำหลากก็ไม่ยกทัพกลับ สามารถเข้าตีพระนครได้เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 ตรงกับวันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5  ปีกุน)
จากอังวะ มาสู่ อมรปุระ ในคัมภีร์สาสนวังสะ กล่าวว่า ยักษ์สร้างนครอมรปุระ  ในปี พ.ศ. 2325 ที่จริง “ยักษ์” ก็คือ พวกยะไข่ (Rakhine) หรือ ชาวอาระกัน อยู่ทางทิศตะวันตกของพม่า  พระเจ้าประดุง คัมภีร์ทางศาสนาเรียกว่า พระเจ้าสิริปวร หรือ ปดุงเมง (ครองราชย์ พ.ศ.2325-2362) เกี่ยวกับประเทศไทย ก่อให้เกิดสงคราม 9 ทัพ และศึกท่าดินแดง สมัย รัชกาลที่ 1) และ นครมัณฑะเลย์(สร้างในสมัยพระเจ้ามินดง (King Mindon) ภาษาศาสนาเรียกว่า พระธรรมิกราช  (ครองราชย์ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2396( ค.ศ. 1853) – 1 ตุลาคม 2421 (ค.ศ. 1878) ทรงย้ายเมืองหลวงจาก อมรปุระ มาตั้งที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ อิรวดี  เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2400 (1858) เมื่อเสียเอกราชแก่อังกฤษในสมัยพระเจ้า สีป้อ พ.ศ. 2429 เมืองหลวงย้ายไปที่ ย่างกุ้ง หรือ (Rangoon) ท้ายสุด หลังจากรับเอกราชแล้ว  ทางรัฐบาลทหารพม่า ก็ย้ายเมืองหลวงไปที่ เนปยีดอว์ สร้าง 2545 เสร็จ 2549
นครมัณฑะเลย์ (เมืองหลวงสุดท้ายของพม่า) สร้างเมื่อ พ.ศ.2400(1859) ล่มสลาย เมื่อ พ.ศ. 2429(1885)
การย้ายเมืองหลวงของแต่ละประเทศ ย่อมมีหลากหลายสาเหตุ เช่น จากภัยธรรมชาติ จากภัยสงคราม จากภัยเศรษฐกิจ แต่ส่วนใหญ่ในอดีต การย้ายเมืองหลวงเกิดการรุกรานของปัจจามิตร และต้องการกำแพงธรรมชาติป้องกันศัตรู เช่น อยุธยา มีแม่น้ำล้อมรอบเป็นกำแพงธรรมชาติ ในฤดูน้ำหลาก น้ำจะท่วมพื้นที่โดยรอบเป็นเวลาหลายเดือน กรุงเทพฯ ย้ายมาจากอีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา มาตั้งทางฝั่งซ้ายทิศตะวันออก และมีพื้นที่จากเหนือ ตะวันตก และตะวันออก โอบล้อมโดยแม่น้ำเจ้าพระยา ง่ายต่อการป้องกันข้าศึกษา ประเทศจีนสมัยโบราณ สร้างกำแพงเมืองจีน กั้นแดนตะวันตกป้องกันการรุกราน จากพวกตาด และมงโกล มีความยาวถึง 5,500 ไมล์  หรือ 8,850 กิโลเมตร 
หันมาดูที่พม่า  เมื่อถูกรุกรานโดยชนเผ่าโดยรอบ เช่น พวกยะไข่ พวกมอญ พวกไต  ก็ย้ายจากพุกาม มา อังวะ จากอังวะ มาอมรปุระ  ถึงรัชสมัยของพระเจ้ามินดง เพราะหนีภัยการล่าอาณานิคมของจรรกวรรดินิยมอังกฤษ ก็ย้ายจากอมรปุระ มาสร้างใหม่ที่ “มัณฑะเลย์” ในปีพ.ศ. 2400  ขณะที่อังกฤษยึดเอาเมืองย่างกุ้งเป็นศูนย์บัญชาการปกครองอาณานิคม  และเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมานี้ เมื่อรัฐบาลทหารพม่าปกครอง ก็ย้ายจากนครย่างกุ้งมาที่ เนปยีดอว์ (2549) ด้วยเห็นว่า ชัยภูมิเหมาะ ป้องกันตนเองได้ง่าย
ชื่อ มัณฑะเลย์ ได้ นิมิตนาม มาจาก ภูเขาชื่อ “มัณตละ” เพราะตั้งใกล้เชิงภูเขามัณตละ จึงเรียกว่า มัณฑะเลย์ ในภาษาบาลี เรียกว่า “รตนาปุณณะ”  เพราะเป็นแหล่งกำเนิดของรัตนชาติต่างๆ(the ‘City of Gems) เป็นศูนย์กลางตลาดการค้าขายของเหล่าพานิชชาวต่างประเทศทางตอนกลางของประเทศ ตั้งอยู่ติดแม่น้ำ อิระวดี เป็นเมืองที่มีความเจริญระดับที่สอง ของพม่า ดังความใน สาสนวํส ว่า
“เมื่อต้นปีมาถึงแล้ว(พ.ศ.2400) ครั้งนั้น พระราชาทรงสร้างนครขึ้นแห่งหนึ่งใกล้ภูเขามัณตละ และใกล้าแม่น้ำเอรวิดี นครนั้น ประกอบด้วยลักษณะภูมิประเทศที่ดี มีชื่อว่า รตตนาปุณณะ น่ารื่นยมย์ยิ่งนัก งดงามประนึ่งพระเจ้ามันธาตุสร้างนครราชคฤห์ฉะนั้น”[1]         
นครมัณฑะเลย์ใหม่นี้ มีกษัตริย์ปกครองเพียง 2 พระองค์  คือ พระเจ้ามินดง พ.ศ.2400-2422  และพระเจ้าสีป้อ(Thibo บางคนอ่านว่า ธีบอ) พระราชโอรส พ.ศ. 2422-2429) ก็พ่ายแพ้แก่อำนาจจักวรรดินิยมอังกฤษ  เสียเอกราช กลายเป็นประเทศอาณานิคม ตกเป็นเมืองขึ้นของของอังกฤษ ในสมัยรัชการที่ 5 กรุงรัตนโกสินทร์ของไทย
พระเจ้ามินดง ทรงอุปถัมภ์ศาสนา ให้จารึกพระไตรปิฎก (ลงแผ่นทองคำ ทองแดงและใบลาน เป็นต้นฉบับ ก่อนลอกลงจารึกในแผ่นหินอ่อน) ให้พระสงฆ์และพลเมืองท่องจำพระไตรปิฎกว่าปากเปล่าได้ 
พระเจ้ามินดง เป็นมหากษัตริย์ผู้ฝักใฝ่การกุศล และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง จนได้นามว่า พระมหาธรรมราชา  ในสาสนวํส กล่าวถึงพระราชกรณียกิจสำคัญของพระองค์ก็คือ พระองค์ประสงค์จะให้พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าตั้งอยู่ตลอดกาล จึงได้อาราธนาให้พระมหาเถระผู้เชี่ยวชาญในปริยัติช่วยกันสะสางให้บริสุทธิ์  ทรงประทานเงินค่าจ้างแก้คนรับจ้างจารหนังสือ ทรงพิจารณาวางหลักเกณฑ์พยัญชนะ อักขระให้ถูกตามฐานและกรณ์(ที่เกิดเสียง) และ สิถิล ธนิต โฆสะ อโฆสะ การเปล่งเสียงเบา หนัก ก้อง ไม่ก้อง)อย่างละเอียด แม้กระทั้งการจัดวรรคตอนของคำไม่ให้มีการผิดพลาด โปรดให้คนเขียนเข้าไปพระราชวัง ให้เขียนไตรปิฎกลงในแผ่นทองคำ แผ่นทองแดง  และในใบลาน
พระองค์ทรงคัดเลือกพระภิกษุที่ความรู้ให้ท่องวินัยเป็นแผนกๆ ให้ว่าปากเปล่าได้ตามกำลังสติปัญญา พระองค์โปรดให้ฝ่ายใน และหมู่อำมาตย์ ราชเสวก และพลเมืองให้ท่องสุตตันตปิฎก และอภิธรรมปิฎก โดยแบ่งออกเป็นแผนก ๆ ให้ท่องจำจนว่าปากเปล่าได้ ส่วนพระองค์ทรงท่องหลายพระสูตรเช่น อนัตตลักขณสูตรทุกวัน
ญาติโยมมีบิดามารดาเป็นต้น ของพระสงฆ์ที่ทรงความรู้มีความเชี่ยวชาญในปริยัติ ให้ยกเว้นไม้ต้องถูกเกณฑ์ราชการ ไม่ต้องเสียภาษีอากร ทรงอุปถัมภ์เป็นเจ้าภาพให้กุลบุตรบรรพชา อุปสมบท วันละ 1,000 รูป ส่วนพระองค์เอง เมื่อว่างจากพระราชกรณียกิจ ก็จะปฏิบัติวิปัสสนาอยู่เป็นนิตย์[2]
นี่คือความมั่นคงของพระศาสนา ที่นำโดยผู้ปกครองที่ “ทำให้ดู อยู่ให้เห็น”      ดังที่ท่านปัญญาสามี ผู้รจนาสาสนวํส กล่าวสรุปว่า “ศาสนาจะตั้งมั่นอยู่ได้ ก็เพราะอาศัยพระราชาผู้ทรงตั้งอยู่ในธรรม ทรงอุปการะศาสนา ประพฤติธรรม นับถือธรรม อนึ่ง เมื่อพระราชาตั้งอยู่ในธรรมแล้ว ราษฎรพลเมืองที่อาศัยพระราชา ก็พลอยอุปการศาสนา ประพฤติธรรม นับถือธรรมไปตามพระราชา ...ถ้าพระราชาประกอบอยู่ในธรรม ราษฎรพลเมืองทั้งปวง ย่อมอยู่เป็นสุข”[3]
          นครมัณฑะเลย์ จึงเป็นนครแห่งความรุ่งเรืองทางศาสนา พระสงฆ์ และฆราวาส มีความสามารถทรงจำเนื้อหาพระไตรปิฎกด้วยปากเปล่าตามกำลังแห่งสติปัญญาของตน ด้วยการอุปถัมภ์ของพระเจ้ามินดง ธรรมิกราชาพระองค์นี้ ต่อไปนี้ จะพาไปดูว่า ที่นครมัณฑะเลย์ มีอะไรที่เป็นมรดกตกมาถึงอนุชนรุ่นหลังบ้าง ที่ยังคงมนต์ขลัง สะท้อนออกมาในรูปแบบแห่งวิถีชีวิต หรือ ไลฟ์สไตล์ของชาวพุทธพม่าในยุคปัจจุบัน  หากมองอะไรผิดไปบ้าง ผู้เรียบเรียงเห็นจะต้องกราบคารวะ เพราะมีเวลาไปเห็นด้วยตาจริงน้อย แต่เห็นด้วยตาผ่านสื่อ ผ่านหนังสือ ผ่านข้อมูลเท่าที่เคยซึมซับเอามาที่ละเล็กละน้อย ก็พอจะขัดเกลาเหลาเป็นด้ามเป็นคันพอใช้สอยแก้ขัดได้อยู่
          2.7.1 มัณฑะเลย์ นครแห่งพระพุทธ พระมหามัยมุนี วัดมหามุนี หรือวัดยะไข่ [4]
                  แต่ละประเทศหรือแต่ละภูมิภาคที่นับถือพระพุทธศาสนา ย่อมมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นทีสักการะและเคารพ ในประเทศไทย มีพระแก้วมรกต ภาคกลางตอนบน เมืองพิษณุโลก มีพระพุทธชินราช ภาคเหนือ เชียงใหม่ คือ พระพุทธสิหิงค์  ภาคอีสาน จังหวัดหนองคาย คือ หลวงพ่อพระใส เมืองอุบลราชธานี หลวงพ่ออินทร์แปง เมืองเพชรบุรี หลวงพ่อบ้านแหลม เมืองฉะเชิงเทรา หลวงพ่อพุทธโสธร   ที่นครปฐม หลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นต้น
ประเทศพม่า ที่นครมัณฑะเลย์ มีพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืององค์สำคัญ คือ พระมหามัยมุนี หรือ  มหาเมียะมุนี   คำว่า มหามัยมุนี แปลว่า “ผู้รู้อันประเสริฐ” (The Great Sage) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยทรงเครื่องแบบกษัตริย์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดมหามุนี หรือ วัดยะไข่  พระพุทธรูปองค์นี้เดิมเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวยะไข่ ตามตำนานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยพระเจ้าจันทรสูรยะ เจ้าเมืองยะไข่ เมื่อพระเจ้าปดุง ขึ้นครองราชย์โดยการปราบดาภิเษกในปี พ.ศ. 2325 (ปีเดียวกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์) เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทำสงคราม เอาชนะยะไข่ ดินแดนทางตะวันตกซึ่งพม่าไม่เคยเอาชนะมาก่อนเลย หลังสงคราม  พระองค์ได้อัญเชิญพระมหามัยมุนี จากยะไข่ โดยล่องแพมาตามแม่น้ำอิระวดี  ประดิษฐานที่มัณฑะเลย์  ในปี พ.ศ. 2327
พระมหามัยมุนี สร้างด้วยทองสัมฤทธิ์หนัก 6.5 ตัน ความสูงรวมทั้งฐานสร้างบนฐานสูง 1.84 เมตร   รวมองค์พระมีความสูงทั้งหมดกว่า 3.82 เมตร  ไหล่กว้าง 1.84   และรอบเอวกว้าง 2.9 เมตร ปิดทองคำเปลวทั่วองค์ ยกเว้นบริเวณพระพักตร์ ทองคำเปลว ปิดมานาน ค่อยพอกขึ้นมาหลายชั้น จนกดดูเนื้อพระ รู้สึกได้ถึงความอ่อนนิ่มของทองคำเปลวที่ปิดทับซ้อนกันนับเป็นพันเป็นหมื่นชั้น ตลอดระยะเวลาหลายศตวรรษมา ทำให้พระมหามัยมุนีมีอีกชื่อหนึ่งว่า “พระเนื้อนิ่ม”.
พิธีสรงน้ำล้างพระพักตร์ และถวายแปรงฟัน ทุกเช้า ตั้งแต่เวลา 04.00-04.30 น. พิธีนี้ แต่ก่อนก็ไม่เคยมี เพิ่งมาเกิดขึ้นครั้งแรก ในเดือน กุมภาพันธ์ (ซ่วงมาฆบูชา) ปี พ.ศ. 2531(ค.ศ.1988)  โดยท่านเจ้าอาวาสวัด Htilin นามว่า ท่านภัททันตะ ปัญญาวังสะ (Bhuddhanta Panya Vamsa) และ ท่าน ปิฏกะ จอง(Pitaka Kyaung)  ในช่วงปัจจุบัน สืบทอดพิธีสรงน้ำพระพักตร์ โดยท่านเจ้าอาวาสวัด Htilin ใต้  รุ่นที่ 4  นามว่า พระอู อุตมะ[5]   น้ำที่ใช้ล้างเป็นน้ำหอมที่ฝนจากท่อนไม้ทานาคา และมีผ้าเช็ดหน้าที่ผู้มีจิตศรัทธาจะถวายทุกเช้า เมื่อเสร็จจากพิธี ชาวพุทธที่ไปร่วมพิธีจะมาขอแบ่งน้ำสรงพระพักตร์ไปบูชา และผ้าเช็ดหน้าที่ตนรับเป็นเจ้าภาพไปคนละผืน ประชาชนที่หลั่งไหลไปร่วมพิธีแต่ก่อนตีสี่ ไหว้พระ สวดมนต์ ทำสมาธิ ด้านหน้า ห้องโถง ไม่อนุญาตให้ผู้แสงบุญเข้าไปข้างใน ขณะประกอบพิธีกรรม  เมื่อเสร็จจากพิธีกรรม พวกผู้ชายก็สามารถขึ้นไปปิดทององค์พระได้ และผู้เรียบเรียงก็มีโอกาสได้ขึ้นไป กราบใกล้ๆ และปิดทองอธิษฐาน พร้อมกับ กดดูเนื้อพระที่เป็นตะปุ่มตะป่ำ ปรากฏว่า นิ่มและยืดหยุ่นสะท้อนแรงกดเหมือนหนังยาง สาธุ..
เมื่อจะออกจากวัด ก็ได้รับน้ำมนต์ล้างพระพักตร์มา 1 ขวด และ ได้ผ้าเช็ดหน้า พระมหามัยมุนีกลับบ้านอีก 1 ผืน สาธุ...
                             อิทธิพลจากความศักดิ์สิทธิ์ของ พระมหามัยมุนี มัณฑะเลย์ ชาวไทยได้จำลองมาสร้างเอาไว้ถึง 2 องค์ ซึ่งมีขนาดเท่าองค์จริง คือ พระเจ้าพาราละแข่ง (ภาษาไทใหญ่ แปลว่า พระพุทธรูปยะไข่) จำลองในปี (พ.ศ. 2460) ที่ประเทศพม่า และนำมาโดยทางเรือ ตามแม่น้ำสาละวิน เข้ามาทางน้ำแม่ปาย  ประดิษฐานที่วัดหัวเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในปีพ.ศ. 2479  และประกอบพิธีสรงน้ำพระพักตร์ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2560  อีกองค์หนึ่งคือ พระมหามัยมุนีสายสัมพันธ์ 2 แผ่นดิน จำลองในปี พ.ศ. 2557  นำประดิษฐาน  ณ วัดพระธาตุดอยแต ตำบลเหมืองจี้ อำเภอเมือง  จังหวัดลำพูน ทุกเช้าวันพระ จะมีพิธีสรงพระพักตร์ โดยพระสงฆ์ผู้ได้รับมอบหมายจากประเทศพม่าประกอบพิธี นับเป็นอีกพิธีกรรมเกี่ยวกับพระมหามัยมุนีที่นอกพื้นที่พม่า
2.7.2 มัณฑะเลย์ นครแห่งพระธรรม การสังคายนาพระพุทธศาสนาครั้งที่ 5 สถานที่เก็บพระไตรปิฎกฉบับหินอ่อน แห่งเดียวในโลก
ดอนที่ว่าด้วยพระราชกรณียกิจของพระเจ้ามินดง อุปถัมภ์ศาสนา ที่ว่า พระองค์ได้อาราธนาให้พระมหาเถระผู้เชี่ยวชาญในปริยัติช่วยกันสะสางให้บริสุทธิ์  ทรงประทานเงินค่าจ้างแก้คนรับจ้างจารหนังสือ ทรงพิจารณาวางหลักเกณฑ์พยัญชนะ อักขระให้ถูกตามฐานและกรณ์(ที่เกิดเสียง) และ สิถิล ธนิต โฆสะ อโฆสะ การเปล่งเสียงเบา หนัก ก้อง ไม่ก้อง)อย่างละเอียด แม้กระทั้งการจัดวรรคตอนของคำไม่ให้มีการผิดพลาด โปรดให้คนเขียนเข้าไปพระราชวัง ให้เขียนไตรปิฎกลงในแผ่นทองคำ แผ่นทองแดง  และในใบลาน แต่ไม่ปรากฏในหนังสือสาสนวังสะ ที่แต่งโดยท่านปัญญาสามี ร่วมสมัยพระเจ้ามินดง ว่าได้ทำฉบับศิลาจารึก เพราะหนังสือ สาสนวังสะ แต่งเสร็จ พ.ศ. 2405 แต่พระไตรปิฎกฉบับหินอ่อน และการทำสังคายนา เสร็จในปี พ.ศ. 2414
พระไตรปิฎกฉบับศิลาจารึก (ปัญจมสังคายนา)  พ.ศ. 2414  ในสมัยพระเจ้ามินดง ปี พ.ศ. 2414 (ค.ศ. 1871) ผู้ปกครองพม่า ณ เมือง มัณฑะเลย์ ได้อุปถัมภ์การทำสังคายนาพระไตรปิฎก เป็นครั้งแรกในประเทศพม่า แต่นับต่อยอด เป็นครั้งที่ 5 จากการทำสังคายนาที่อินเดีย 1-3 ครั้ง และครั้งที่ 4 ที่ประเทศศรีลังกา (นับการสังคายนา ปีพ.ศ. 433 ที่ยกคำสอนพระไตรปิฎกจากมุขปาฐะ มาจารึกลงในใบลาน) เมื่อเสร็จการทำสังคายนาครั้งนั้น ได้จารึกพระไตรปิฎกลงในหินอ่อน จำนวน 729 แผ่น  จารึกไว้ 2 ด้าน โดยด้านที่ 1 จารึกพระไตรปิฎก ภาษาบาลี อีกษรพม่า อีกด้านหนึ่ง จารึกเป็นคำแปลพระไตรปิฎก ภาษาพม่า ดังนั้น 729 แผ่น จึงมีจำนวน 1,428 หน้า นับเป็นพระไตรปิฎกฉบับที่ใหญ่ที่สุด  งานยิ่งใหญ่ที่สำเร็จลงได้ ด้วยมีพระเถรปราชญ์ และอุบาสกบัณฑิต จำนวน 2400 รูป/คน นำโดยพระมหาเถร 3 รูป ได้แก่  พระชาคราภิวังสะ  พระนรินทาภิชชะ และ พระสุมังคลสามี ที่ผลัดเปลี่ยนกันเป็นประธาน ใช้เวลา ทำอยู่ 5 เดือน  เรียกว่า เป็นหนังสือเล่มขนาดมหึมาที่สุดในโลก
          พระไตรปิฎกศิลาจารึก 729 แผ่น จำแนกหมวดหมู่ได้ดังนี้
               1.  พระวินัย 5 คัมภีร์  จารึกลง แผ่นที่ 1 ถึง แผ่นที่ 101   จำนวน 101 แผ่น
               2.  พระอภิธรรม 7 คัมภีร์  จารึกลง แผ่นที่ 102 ถึง แผ่นที่ 319   จำนวน 218 แผ่น
               3.  พระสุตตันตะ 3 คัมภีร์ จารึกลง แผ่นที่ 320 ถึง แผ่นที่ 355   จำนวน 36 แผ่น
               4.  (พระสุตตันตะ) ปัณณาสะ 3 คัมภีร์ จารึกลง แผ่นที่ 356 ถึง แผ่นที่ 417   จำนวน 62 แผ่น
               5.  (พระสุตตันตะ) สังยุตตะ 5 คัมภีร์ จารึกลง แผ่นที่ 418 ถึง แผ่นที่ 482   จำนวน  65 แผ่น
               6. (พระสุตตันตะ) อังคุตตระ  11 คัมภีร์ จารึกลง แผ่นที่ 485(483) ถึง แผ่นที่ 560  จำนวน 77(79) แผ่น [6]
               7.  (พระสุตตันตะ) ขุททกนิกาย 19 คัมภีร์ จารึกลง แผ่นที่ 561 ถึง แผ่นที่ 729   จำนวน 169 แผ่น
ภาพถ่ายโดย พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ 6 / 4 / 2019
พระไตรปิฎกศิลาจารึก 729 แผ่น จัดเก็บในถ้ำ อันที่จริงเรียกว่า พระเจดีย์ หรือ มณฑป นับจากเจดีย์ที่ 1 ไปจนเจดีย์องค์สุดท้าย โดยการเวียนแบบปทักษิณ หรือ ตามเข็มนาฬิกา[7] อยู่รอบพระเจดีย์มหาโลกมารชิน ที่สูง 30 เมตร  เป็นพระเจดีย์จำลองรูปแบบมาจาก พระมหาเจดีย์ชเวสิกอง แห่งเมืองพุกาม ตั้งเป็นศูนย์กลาง  ได้ดังนี้
               1.  ถ้ำ A   แผ่นที่ 1 ถึง แผ่นที่ 42   จำนวน 42 แผ่น
               2.  ถ้ำ B   แผ่นที่ 43 ถึง แผ่นที่ 110  จำนวน 68  แผ่น
               3.  ถ้ำ C   แผ่นที่ 111 ถึง แผ่นที่ 210   จำนวน  100 แผ่น
               4. ถ้ำ D   แผ่นที่ 211 ถึง แผ่นที่ 309  จำนวน 99 แผ่น
               5. ถ้ำ E  แผ่นที่ 310 ถึง แผ่นที่ 465   จำนวน 156 แผ่น
               6.  ถ้ำ F   แผ่นที่ 466 ถึง แผ่นที่ 603   จำนวน  138 แผ่น
               7. ถ้ำ G   แผ่นที่ 604 ถึง แผ่นที่ 729   จำนวน 126 แผ่น
               8. ถ้ำ H  เป็นการสรุปถึง วิธีการสร้างพระไตรปิฎกฉบับศิลาจารึกที่ใหญ่ที่สุดเอาไว้



ตัวอย่างศิลาจารึกพระไตรปิฎก ที่ถ่ายรูปมา 1 แผ่น 2 ด้าน ด้านภาษาบาลี
ภาพถ่ายโดย พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ 6 / 4 / 2019
ด้านที่ 1  หัวข้ออ่านว่า นิทาวัคคะสังยุตต ปาลิตอ
ตัวอย่างศิลาจารึกพระไตรปิฎก ที่ถ่ายรูปมา 1 แผ่น 2 ด้าน ด้านภาษาพม่า
ภาพถ่ายโดย พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ 6 / 4 / 2019
ด้านนี้ บอกวันที่ บอกปี พุทธศักราช 2417 วัน ...ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 11 สถานที่นครมัณฑะเลย์ โดยพระเจ้ามินดง
อ่านโดย นางหอมไตย์ แสนหน่อ

          2.7.3 มัณฑะเลย์ นครแห่งพระสงฆ์ ผู้ทรงจำพระไตรปิฎกได้หมด รูปแรกในพม่า
2.7.3.1 ในประเทศพม่า มีพระสงฆ์ผู้สามารถท่องจำพระไตรปิฎกได้หมดทุกคำ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2497(1954) สมกับคำที่ว่า “ติปิฏกธร ธัมมภัณฑาคาริก”(Tipitakadhara Dhammabhandagarika ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Bearer of the Three Pitakas and Keeper of the Dhamma Treasure.” และถูกบันทึกในหนังสือบันทึกระดับโลก(Guinness World Records or The Guinness Book of World Records) เมื่อ ปี พ.ศ. 1985 ว่า
“พระอาจารย์ใหญ่มินกุน สะยาดอ  ภัททันตะ วิจิตตสาระ มีความทรงจำ ท่องพระไตรปิฎก 16,000 หน้า ได้ เมื่อเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2497 (ค.ศ.1954) ซึ่งเป็นตัวอย่างของความทรงจำของมนุษย์ที่หาได้ยากมาก” [8]
ประวัติและผลงาน ท่านพระวิจิตตสาราภิวังสะ
พระเถระ “มินกุน สยาดอ” หรือ พระวิจิตตสาราภิวังสะ  เกิดวันที่ 1 พ.ย. 2454(1911) ชื่อ “หม่อง ขิ่น” (Maung Khin) บุตร ของ “อู โซน” (U Sone)   และ นาง “ดอว์ สิน”(Daw Sin) ที่หมู่บ้าน จยีปิน(Kyipin) อำเภอ มิงยัน(Myingyan) จังหวัด มัณฑะเลย์   บิดาเสียชีวิตตั้งแต่ อายุ 4 ขวบ มารดานำไปฝากเป็นเด็กวัดตั้งแต่อายุ 5 ขวบ บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 7 ขวบ ฉายแววความเป็นอัจฉริยะในการท่องจำตั้งแต่เด็ก ได้ฉายาว่า ชิน วิจิตสาระ(Shin Vicittasara) เมื่อเป็นสามเณร ศึกษาที่สำนักเรียน วัดนัน โอ (Nan Oo) สำนักที่มีชื่อเสียงของมัณฑะเลย์  เมื่อ พ.ศ.2473(1930) อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และย้ายไปจำพรรษาที่ มินกุน แขวง สะกาย(Sagaing)ทางฝั่งแม่น้ำอิรวะดี ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของมัณฑะเลย์ เพื่อศึกษาต่อที่วัดธัมมานันทะ(Dhammanada Monastery)  และจำพรรษาอยู่ที่มินกุน ตลอดชีวิต   ท่านได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2536 สิริอายุ 81 ปี พรรษา 61[9]
มีความทรงจำเป็นเลิศ ระดับโลก ขณะเป็นสามเณรอายุเพียง 13 ขวบ  ท่านสามารถท่องจำพระวินัยปิฎกได้  ในปีถัดมา ในการสอบก็สามารถท่องจำอภิธรรมได้อีก และต่อมา ในช่วง ปี 2493-2496(1950-1953)  ท่านได้เข้าสอบความสามารถในการท่องพระไตรปิฎก สอบผ่าน ชั้นติปิฏกธร  สามารถท่องจำไตรปิฎกได้หมด   ปี พ.ศ. 2497 กินเนสบันทึกโลก ได้ไปพิสูจน์ความทรงจำที่เป็นเลิศของท่าน ปรากฏว่า พระไตรปิฎกที่มีเนื้อหาจำนวน 16,000 หน้า นับได้ 2,400,000 คำ หรือ 84,000 พระธรรมขันธ์  สามารถท่องจำสาธยายออกมาด้วยปากเปล่าได้หมดโดยไม่ตกหล่นผิดพลาดแม้แต่คำเดียว   ทางคณะสงฆ์ประเทศพม่า ได้สอบทานไปพร้อมกันและให้การรับรอง จึงได้นามว่า “พระติปิฏกธร”  หมายความว่า “พระผู้ทรงจำพระไตรปิฎกได้ทั้งหมด”
การสอบความรู้การทรงจำพระไตรปิฎกในประเทศพม่า ถือว่า เป็นการสอบที่ยากที่สุดในโลก ยากกว่า การสอบเปรียญธรรม 9 ประโยค (เพราะมีการสอบการท่องจำคู่กับการสอบข้อเขียน) หลังจากท่านวิจิตตสาระสอบผ่าน เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน มีผู้สมัครเข้าสอบ จำนวน 5,474 รูป ที่สอบผ่านเบื้องต้น จำนวน 1,662 รูป  แต่ ที่สอบผ่านขั้นสูลสุดโดยสมบูรณ์ เป็น “ติปิฏกธร และ ติปิฏกโกวิทะ” เพียง 11 รูป (มรณภาพแล้ว 4 รูป) คงเหลือ เพียง 7 รูป  พระภิกษุที่ทรงจำพระไตรปิฎกได้ 2 ปิฎก มีจำนวน  13 รูป และที่ทรงจำได้ปิฎกเดียว มีจำนวน 114  รูป [10]
ทำไมการสอบนี้ สุดแสนจะยากเย็น  
ลักษณะการสอบ เป็นการสอบทั้งสอบปากเปล่า และสอบข้อเขียน มีเวลาสอบทั้งหมด 35 วัน  ผู้สมัครสอบ ต้องถูกตรวจสอบความรู้ ในปิฎกทั้ง 3 พระวินัย พระสัตตันตะ และพระอภิธรรม สำหรับการสอบปากเปล่า พระวินัยปิฎก  มี 5 คัมภีร์ ใช้หนังสือ 5 เล่ม จำนวน 2,260 หน้า พระสุตตันตปิฎก ครอบคลุม 3 คัมภีร์ ใช้หนังสือ 3 เล่ม จำนวน 482 หน้า และอภิธรรม ครอบคลุม 7 คัมภีร์ ใช้หนังสือ 12 เล่ม จำนวน 4,941 หน้า รวมเป็น คัมภีร์พระไตรปิฎกภาษาบาลีทั้งหมด 15 คัมภีร์ และ 20 เล่มหนังสือ จำนวน 7,983 หน้า หากถูกกรรมการทักท้วง 5 ครั้ง ขึ้นไป ให้ปรับเป็นตก
ไม่ใช่เท่านั้น ในการสอบข้อเขียน ผู้เข้าสอบต้องถูกสอบความทรงจำนอกจากในพระไตรปิฎกแล้ว  ต้องจำเนื้อหาใน คัมภีร์อรรรถกถาสำคัญ 10 เล่ม และคัมภีร์ฎีกาสำคัญ อีก 14 เล่ม (รวม 24 เล่ม) มีจำนวน 17,917  หน้า คำถามจะทดสอบความเข้าใจหลักธรรม ปรัชญาเปรียบเทียบ การวิเคราะห์เนื้อหา ความสัมพันธ์ของอรรถและพยัญชนะ หากไม่มีความทรงจำคัมภีร์ในสมอง ทั้งขาดความเข้าใจในความเชื่อมโยงในหลักธรรม ก็ไม่สามารถเขียนข้อสอบให้ผ่านได้ และผู้เข้าสอบ ต้องสอบผ่านทั้งข้อสอบปากเปล่าและข้อสอบเขียน จะผ่านเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ ถือว่า สอบไม่ผ่าน นี้คือกระบวนการสอบที่ยาวนานที่สุด คือ 33 วัน และ หินที่สุดในโลก
ผลงานและสมณะศักดิ์
1. เป็นกรรมการอำนวยการทำสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ 6 ที่ ย้างกุ้ง  ในการทำสังคายนาครั้งที่ 6 ของประเทศพม่า ที่ถ้ำ “มหาปาสาณคูหา”(Mahapasana Cave) ที่นครย่างกุ้ง ระหว่าง ปี 2497 2499(1954 to 1956) สนับสนุนโดย รัฐบาล อู นุ (U Nu) ท่านได้รับการคัดเลือกให้ทำหน้าที่สำคัญ คือ เป็นกรรมการอำนวยการ รับหน้าที่ตรวจทานและวิสัชชนาพระวินัยปิฎก ร่วมกับท่าน “พระมหาสี สยาดอ อู โสภณะ”(Mahasi Syadaw U Sobhana) ซึ่งเป็นพระมหาเถระผู้เชี่ยวชาญ เป็นพระอาจารย์ผู้สอนการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงกับชาวตะวันตก และชาวเอเชีย
2. ได้รับสถาปนาสมณศักดิ์ ตำแหน่ง  “อัคระ มหาปัณฑิตะ” ในปี พ.ศ. 2522(1979) รัฐบาลทหารพม่า นำโดยท่านนายพล เน วิน(Genereal Ne Win) ได้ถวายสมณศักดิ์เป็น อัคระ มหาปัณฑิตะ  ท้ายสุด “พระอภิธัชมหารัฏฐคุรุ”
3. ผลงานแต่งหนังสือ “มหาพุทธวํส”   ในช่วงของการทำสังคายนาครั้งที่ 6 ท่านได้รับการนิมนต์จาก ท่าน อู นุ นายกรัฐพม่า ให้ท่านรจนาวรรณกรรมทางศาสนา ท่านก็ได้แต่งหนังสือ ชื่อ มหาพุทธวํส (Maha Buddhavamsa) ระหว่างปี พ.ศ.(2498- 2503 (1955-1960)
(ปรดติดตาม ตอนที่ 6)



[1]  สาสนวํส, หน้า 218.
[2] สาสนวํส, หน้า 215-216.
[3] เรื่องเดียวกัน หน้า 218-219.
[4] https://th.wikipedia.org/wiki/พระมหามัยมุนี.
[5] https://pantip.com/topic/30478023.
[6] ข้อสังเกตของผู้เรียบเรียง จากแผ่นป้ายที่บอกจำนวน แผ่นศิลาจารึกพระไตรปิฎก ที่แสดงบน ผังย่อการ ทางเข้าพระเจดีย์ ในรายการที่ 6 หายไป 2 หมายเลข โดยกระโดดข้ามไปไปที่ หมายเลข 485 ขณะที่ ชุดที่ 5  หมายเลขสุดท้าย เป็น 482 น่าผิดพลาดในการตรวจสอบรายละเอียดไป (พิสิฏฐ์)
[7]  ภาพถ่ายแผ่นป้ายที่บอกจำนวน แผ่นศิลาจารึกพระไตรปิฎก ที่แสดงบน ผังย่อการ ทางเข้าพระเจดีย์
[8] The Guinness Book of Records of 1985 has this entry : Human memory: Bhandanta Vicitsara (sic) recited 16,000 pages of Buddhist cannocial texts in Rangoon, Burma in May 1954. Rare instances of eidetic memory the ability to project and hence "usually" recall material are known to science.
[10] https://dhammadharo.wordpress.com/ สืบค้นวันที่ 30 พฤษภาคม 2562.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น